แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระธรรม ตอนที่ ๕๒ อุปกรณ์ดับไฟภายในต้องใช้ธรรมะ คือใน วันอาทิตย์ที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ การให้อภัย มีเมตตา มีสติและปัญญา
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การประพฤติการปฏิบัติของเราให้ทุกๆ คนพากันเข้าใจ เราพัฒนาใจแล้วก็พัฒนาวัตถุไปพร้อมๆ กัน ทางรูปธรรมนามธรรม ทางจิตใจก็ถูกต้อง ทางวัตถุก็ถูกต้อง เป็นทางสายกลางไปพร้อมๆ กัน พระพุทธองค์ทรงมีพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ ได้ทรงมาบอกมาสอน เพราะทุกคนมีโอกาสที่จะรู้ธรรมะและประพฤติปฏิบัติได้ ถึงแม้เราจะเป็นนักบวช ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ก้าวไปไม่ได้ ยกตัวอย่างชฎิล ๓ พี่น้อง ที่เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เราจะเอาตาหูจมูกลิ้นกายใจเป็นเราไม่ได้ เมื่อมีผัสสะมากระทบมันก็ยิ่งกว่าถูกฟ้าผ่า อายตนะทั้ง ๖ ถ้าเราไม่รู้จักอริยสัจ ๔ มันก็เป็นภัย ตลอดทั้งวันมีการทำงานของตาหูจมูกลิ้นกายใจ ถ้าเอาตาหูจมูกนี้กายใจเป็นเรา ก็ยิ่งหลงไปเรื่อย ชีวิตประจำวันของเราก็แล้วแต่ผัสสะ แต่ต้องให้เป็นพุทธะคือมีสติสัมปชัญญะให้เท่าทัน
คนเราน่ะต้องรู้จัก ถ้าไม่รู้จักจะนำเอาไวรัสมาสู่ตัวเรา ไวรัสทางด้านจิตด้านใจ เราไม่รู้ทุกข์ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ มันจะนำไวรัสแห่งความหลงมาครอบงำธรรม เราจะมีความเห็นผิดเข้าใจผิดปฏิบัติผิดคิดว่าถ้าไม่โกงไม่กินไม่คอรัปชั่นมันจะรวยไม่ได้ ไม่จริง ความมีพุทธะทางจิตใจมีพุทธะทางวัตถุ ย่อมจะรวยได้ รวยอย่างปลอดภัย เป็นข้าราชการที่มีความสุขเป็นนักการเมืองที่มีความสุข เป็นนักบวชอย่างมีความสุข เป็นอะไรทุกๆ อย่างที่มีความสุข ด้วยบอลรู้ความจริงรู้สัจธรรมและก็มีความสุข แต่ก่อนเราไม่เข้าใจ เพราะไม่มีสัมมาทิฏฐิจึงไม่เข้าใจ เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ก็เป็นเหมือนชฎิล ๓ พี่น้อง เหมือนอาจารย์สัญชัยปริพาชกที่เป็นอาจารย์ของพระสารีบุตรก่อนที่ท่านจะบวช
ครั้นพระบรมศาสดาทรงส่งพระสาวกเหล่าภัททวัคคีย์ไปแล้ว ก็เสด็จตรงไปยังอุรุเวลาประเทศ อันตั้งอยู่ในเขตเมืองราชคฤห์มหานคร ซึ่งเป็นที่อยู่ของอุรุเวลกัสสปะอาจารย์ใหญ่ของชฎิล ๕๐๐ ราชคฤห์นครนั้นเป็นเมืองหลวงแห่งมคธรัฐ ซึ่งเป็นมหาประเทศ พระเจ้าพิมพิสารมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ปกครองโดยสิทธิ์ขาด เป็นเมืองที่คับคั่งด้วยผู้คน เจริญวิทยาความรู้ตลอดการค้าขาย เป็นที่รวมอยู่แห่งบรรดาคณาจารย์ เจ้าลัทธิมากในสมัยนั้น
ในบรรดาคณาจารย์ใหญ่ๆนั้น ท่านอุรุเวลกัสสปะ เป็นคณาจารย์ใหญ่ผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนเป็นอันมาก ท่านอุรุเวลกัสสปะเป็นนักบวชจำพวกชฎิล ท่านมีพี่น้องด้วยกัน ๓ คน ออกบวชจากตระกูลกัสสปะโคตร ท่านอุรุเวลกัสสปะเป็นพี่ชายใหญ่ มีชฎิล ๕๐๐ เป็นบริวาร ตั้งอาศรมสถานที่พนาสณฑ์ ตำบลอุรุเวลา ต้นแม่น้ำเนรัญชรานทีตำบลหนึ่งจึงได้นามว่า อุรุเวลกัสสปะ
น้องคนกลางมีชฎิลบริวาร ๓๐๐ ตั้งอาศรมสถานที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ถัดเข้าไปอีกตำบลหนึ่ง จึงได้นามว่า นทีกัสสปะ ส่วนน้องคนเล็กมีชฎิลบริวาร ๒๐๐ ตั้งอาศรมสถานอยู่ที่คุ้งใต้แห่งแม่น้ำเนรัญชรานั้นค่อไปอีกตำบลหนึ่ง ซึ่งมีนามว่าตำบลคยาสีสะประเทศ จึงได้นามว่า คยากัสสปะ ชฎิลคณะนี้ทั้งหมดมีลัทธิหนักในการบูชาเพลิง
พระพุทธองค์เสด็จถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์มากถึง ๓,๕๐๐ อย่าง เพื่อให้ชฎิลละความเห็นผิด พระบรมศาสดาเสด็จไปถึงอาศรมสถานของท่านอุรุเวลกัสสปะในเวลาเย็น จึงเสด็จตรงไปพบอุรุเวลกัสสปะทันที ทรงรับสั่งขอพักแรมด้วยสัก ๑ ราตรี อุรุเวลกัสสปะรังเกียจ ทำอิดเอื้อนไม่พอใจให้พัก เพราะเห็นพระบรมศาสดาเป็นนักบวชต่างลัทธิของตน พูดบ่ายเบี่ยงว่า “ไม่มีที่ให้พัก” ครั้นพระบรมศาสดาตรัสขอพักที่โรงไฟ ซึ่งเป็นสถานที่บูชาเพลิงของชฎิล ด้วยเป็นที่ว่างไม่มีชฎิลอยู่อาศัย ทั้งเป็นที่อยู่ของนาคราชดุร้ายด้วย อุรุเวลกัสสปะได้ทูลว่า "พระองค์อย่าพอใจพักที่โรงไฟเลย ด้วยเป็นที่อยู่ของพญานาคมีพิษร้ายแรง ทั้งดุร้ายที่สุดอาศัยอยู่ จะได้รับความเบียดเบียนจากนาคราชนั้น ให้ถึงอันตรายแก่ชีวิต”
เมื่อพระบรมศาสดารับสั่งยืนยันว่า นาคราชนั้นจะไม่เบียดเบียนพระองค์เลย ถ้าท่านอุรุเวลกัสสปะอนุญาตให้เข้าอยู่ ท่านอุรุเวลกัสสปะจึงได้อนุญาตให้เข้าไปพักแรม
(พระพุทธเจ้าแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๑) ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จเข้าไปยังโรงไฟนั้น ประทับนั่งดำรงพระสติต่อพระกัมมัฏฐานภาวนา ฝ่ายพญานาคเห็นพระบรมศาสดาเสด็จเข้ามาประทับในที่นั้น ก็มีจิตคิดขึ้งเคียดจึงพ่นพิษตลบไป ในลำดับนั้นพระบรมศาสดาก็ทรงพระดำริว่า ควรที่ตถาคตจะแสดงอิทธานุภาพให้เป็นควันไปสัมผัสมังสฉวีและเอ็นอัฐิแห่งพญานาคนี้ ระงับเดชพญานาคให้เหือดหาย แล้วก็ทรงสำแดงอิทธาภิสังขารดังพระดำรินั้น
พญานาคมิอาจจะอดกลั้นซึ่งความพิโรธได้ ก็บังหวนควันพ่นพิษเป็นเพลิงพลุ่งโพลงขึ้น พระบรมศาสดาก็สำแดงเตโชกสิณสมาบัติ บันดาลเปลวเพลิงรุ่งโรจน์โชตนาการ และเพลิงทั้งสองฝ่ายก็บังเกิดขึ้นแสงแดงสว่าง ดุจเผาผลาญซึ่งโรงไฟนั้นให้เป็นเถ้าธุลี ส่วนชฎิลทั้งหลายก็แวดล้อมโรงไฟนั้น ต่างเจรจากันว่า “พระสมณะนี้มีสิริรูปงามยิ่งนัก เสียดายที่เธอมาวอดวายเสียด้วยพิษแห่งพญานาคในที่นี้”
ครั้นล่วงสมัยราตรีรุ่งเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าก็กำจัดฤทธิเดชพญานาคให้อันตรธานหาย บันดาลให้นาคราชนั้นขดกายลงในบาตร แล้วทรงสำแดงแก่อุรุเวลกัสสปะ ตรัสบอกว่า "พญานาคนี้สิ้นฤทธิเดชแล้ว”
อุรุเวลกัสสปะเห็นดังนั้นก็ดำริว่า "พระสมณะนี้มีอานุภาพมาก ระงับเสียซึ่งฤทธิพญานาคให้อันตรธานพ่ายแพ้ไปได้ ถึงดังนั้นไซร้ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา” มีจิตเลื่อมใสในอิทธิปาฏิหาริย์ จึงกล่าวว่า "ข้าแต่สมณะ นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าอยู่ ณ อาศรมของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะถวายภัตตาหารให้ฉันทุกวันเป็นนิตย์”
คืนต่อมา ท้าวมหาราชทั้งสี่ เสด็จจากสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกามาเฝ้าพระองค์ จากนั้น พระอินทร์ ก็เสร็จลงมาทำให้บริเวณที่พักของพวกชฎิลสว่างไสวเหมือนเวลากลางวัน พวกชฎิลเกิดความอัศจรรย์ใจ พากันมาไต่ถามพระพุทธองค์ว่า ผู้ที่มาเยี่ยมพระองค์เป็นใคร ทำไมจึงมีรัศมีกายสว่างไสวเหลือเกิน ครั้นรู้ความจริงแล้ว ก็ยังไม่ยอมละทิฏฐิอยู่ดี
บางวันชฎิลมานิมนต์ให้พระพุทธองค์ไปฉันอาหาร พระองค์ทรงให้เหล่าชฎิลล่วงหน้าไปก่อน ส่วนพระองค์จะตามไปทีหลัง เมื่อชฎิลไปแล้ว พระองค์ได้เหาะไปเก็บผลหว้าซึ่งเป็นผลไม้ประจำชมพูทวีป จากนั้นเสด็จไปประทับนั่งรอก่อน บางครั้งพระองค์เสด็จเหาะไปเก็บดอกปาริฉัตรบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาให้เหล่าชฎิลดู ทำให้ชฎิลเกิดความอัศจรรย์ใจ แต่ก็ยังมีทิฐิมานะว่า ถึงอย่างไรสมณะนี้ก็ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์เช่นตน
บางคราวเมื่อชฎิลจะบูชาไฟ ต้องช่วยกันหาฟืนมาผ่าให้เป็นกองๆ ถ้าฟืนท่อนใหญ่ผ่าไม่ได้ เมื่อไปขอความช่วยเหลือจากพระพุทธเจ้า ท่านก็ผ่าเพียงครั้งเดียวเท่านั้นได้ฟืนถึง ๕๐๐ ท่อน ครั้นถึงคราวจะก่อไฟ ไฟก็ไม่ติด แต่เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสบอกว่า ให้จุดได้แล้ว ทันทีที่สิ้นพระสุรเสียงแห่งพระพุทธองค์ไฟก็ติดทั้ง ๕๐๐ กอง พร้อมๆ กัน และเมื่อจะเลิกบูชาไฟ อยากจะดับก็ดับไม่ได้ ต้องมาขอร้องให้พระพุทธองค์ช่วย ท่านก็ดับไฟทั้ง ๕๐๐ กอง นั้นพร้อมกันเป็นอัศจรรย์ แต่พวกชฎิลก็ยังคงมีทิฐิมานะเช่นเดิม
วันหนึ่ง เกิดพายุใหญ่ฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน เหลือเพียงบริเวณรอบๆ ที่พระพุทธเจ้าประทับเท่านั้น พระองค์เสด็จจงกรมไปมาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ฝ่ายชฎิลต่างคิดว่า สงสัยพระมหาสมณะคงถูกน้ำพัดไปแล้ว จึงพากันเอาเรือพายเที่ยวตามหาพระองค์ เมื่อไปถึงบริเวณที่พักของพระองค์ ต่างเกิดความอัศจรรย์ที่น้ำไม่ท่วมบริเวณนั้น พวกชฎิลได้ทูลเชิญให้พระองค์เสด็จขึ้นทรงเรือ พระพุทธองค์เสด็จเหาะขึ้นไปประทับนั่งบนเรือ ชฎิลต่างสรรเสริญว่า พระมหาสมณะนี้เป็นผู้มีฤทธานุภาพมากจริงหนอ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงแสดงปาฏิหาริย์อย่างอื่นอีกมาก เพื่อให้เหล่าชฎิลเริ่มคลายทิฐิมานะ แต่กัสสปชฎิลก็ดำริว่า พระมหาสมณะนี้มีอิทธิฤทธิ์เป็นอันมาก แต่ถึงมีอานุภาพมากเช่นนั้น ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา
แท้จริง ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จจากป่าอิสิปปตนมิคทายวัน ในวันแรมค่ำหนึ่ง เดือนกัตติกมาส (เดือน ๑๒) มาประทับอยู่ที่อุรุเวลประเทศ จนตราบเท่าถึงวันเพ็ญเดือน ๒ เป็นเวลาสองเดือน ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ทรมานอุรุเวลกัสสปะโดยอเนกประการ อุรุเวลกัสสปะก็ยังมีสันดานกระด้าง ถือตนว่าเป็นพระอรหันต์อยู่อย่างนั้น ด้วยทิฏฐิอันกล้ายิ่งนัก จึงทรงพระดำริว่า ตถาคตจะยังชฎิลให้สลดจิตคิดสังเวชตนเอง จึงมีพระวาจาตรัสแก่อุรุเวลกัสสปะว่า “กัสสปะ! ตัวท่านมิได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งทางปฏิบัติของท่านก็ยังห่างไกล มิใช่ทางมรรคผลอันใด ไฉนเล่าท่านจึงถือตนว่าเป็นพระอรหันต์ เท็จต่อตัวเอง ทั้งๆ ที่ท่านเองก็รู้ตัวดีว่า ตัวยังมิได้บรรลุโมกขธรรมอันใด ยังทำตนลวงคนอื่นว่าเป็นพระอรหันต์อยู่อีก กัสสปะ! ถึงเวลาอันควรแล้วที่ท่านจะสารภาพแก่ตัวของท่านเองว่า ท่านยังมิได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งยังมิได้ปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นพระอรหันต์ด้วย กัสสปะ! แล้วท่านจะได้เป็นพระอรหันต์ในกาลไม่นาน”
เมื่ออุรุเวลกัสสปะได้สดับพระโอวาท ก็รู้สึกตัว ละอายแก่ใจ เพราะรู้ว่าตนเองยังเป็นผู้มากไปด้วย ราคะ โทสะ โมหะอยู่ ซบเศียรลงแทบพระยุคลบาท แล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระองค์ ขอถึงพระองค์ และพระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง”
พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า “กัสสปะ! ตัวท่านเป็นอาจารย์ยิ่งใหญ่ เป็นประธานแก่หมู่ชฎิล ๕๐๐ ท่านจงชี้แจงให้ชฎิลบริวารยินยอมพร้อมกันก่อน แล้วตถาคตจึงจงยอมให้บรรพชาอุปสมบท” อุรุเวลกัสสปะก็กราบถวายบังคมลามายังอาศรม แล้วก็บอกชฎิลอันเป็นศิษย์ ศิษย์ก็ยินยอมพร้อมกันจะบรรพชาในสำนักพระบรมครูสิ้น แล้วชฎิลทั้งหลายก็ชวนกันลอยเครื่องบริขารและเครื่องตกแต่ง ผม ชฎา สาแหรก คาน เครื่องบูชาเพลิง ทั้งน้ำเต้า หนังเสือ ไม้สามง่าม ในแม่น้ำทั้งสิ้น แล้วก็พากันมาเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายอภิวาทแทบพระยุคลบาท ทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระบรมศาสดาก็ทรงพระกรุณาโปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเสมอกัน
ครั้งนั้น ท่านนทีกัสสปะดาบส ผู้เป็นน้องกลางเห็นเครื่องบริขารทั้งปวงลอยน้ำมา ก็ดำริว่าชะรอยอันตรายจะมีแก่ดาบสผู้พี่ชาย จึงใช้ให้ชฎิลสองสามอันเป็นศิษย์ไปสืบดู รู้เหตุแล้ว นทีกัสสปดาบสก็พาดาบสทั้ง ๓๐๐ อันเป็นศิษย์ มาสู่สำนักของท่านอุรุเวลกัสสปะ ถามเหตุนั้น ครั้นทราบความแล้วก็เลื่อมใส ชวนกันลอยเครื่องดาบสบริขารลงในแม่น้ำนั้น พากันเข้าถวายอัญชลีทูลขอบรรพชา พระบรมศาสดาก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาด้วยกันทั้งสิ้น ดุจชฎิลพวกก่อนนั้น
ฝ่ายคยากัสสปะดาบส ผู้เป็นน้องน้อยเห็นเครื่องดาบสบริขารของพี่ชายลอยน้ำลงมาจำได้ ก็คิดดุจนทีกัสสปชฎิลผู้เป็นพี่นั้น แล้วพาดาบสทั้ง ๒๐๐ อันเป็นศิษย์ไปสู่สำนักพระอุรุเวลกัสสปะ ไปถามทราบความแล้วเลื่อมใส ชวนกันลอยเครื่องบริขารลงในกระแสชลดุจหนหลัง แล้วก็เข้าทูลขอบรรพชาต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา
พระพุทธเจ้าทรงทรมานชฎิลทั้ง ๓ พี่น้อง มีอุรุเวลกัสสปะ เป็นต้น กับทั้งชฎิลบริวาร ๑,๐๐๐ ให้สละเสียซึ่งทิฎฐิแห่งตนแล้ว โปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้งสิ้น เสร็จแล้วก็ทรงพาพระภิกษุสงฆ์พวกนั้นไปสู่คยาสีสะซึ่งอยู่ใกล้แม่น้ำคยา ครั้นแล้วได้ทรงแสดงธรรมให้ฟัง ความว่า “สิ่งทั้งปวงนั้นคือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ จักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ จักษุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส สุข ทุกข์ หรือความไม่สุข ไม่ทุกข์ ที่เกิดเพราผัสสะต่างๆ ดังกล่าวเป็นปัจจัย ต่างล้วนเป็นของร้อน เพราะถูกเผาด้วยไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส...” พระธรรมเทศนากัณฑ์นี้มีชื่อเรียกว่า ‘อาทิตตปริยายสูตร’ (สูตรว่าด้วยสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน) จบพระธรรมเทศนา พระชฎิล ๓ พี่น้องพร้อมด้วยบริวารก็ได้บรรลุอรหัตผล
ครั้นโปรดพระชฏิล ๓ พี่น้องพร้อมด้วยบริวารให้ได้บรรลุอรหัตผลแล้ว พระพุทธเจ้าทรงพาพระทั้งหมดเดินทางเข้าเมืองราชคฤห์เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ตามที่ทูลขอไว้ตั้งแต่ครั้งยังมิได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า กล่าวคือ คราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกผนวชใหม่ๆ นั้น ได้เสด็จมาพบพระเจ้าพิมพิสารที่ภูเขาปัณฑวะ เขตเมืองราชคฤห์ หลังจากทรงทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จออกแสวงหาโมกขธรรม (ความหลุดพ้นจากทุกข์) พระเจ้าพิมพิสารจึงตรัสอนุโมทนา และขอให้เสด็จกลับมาโปรดพระองค์หลังจากได้ตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงรับคำขอ และการเสด็จไปเมืองราชคฤห์ครั้งนี้ ก็เป็นการเสด็จไปตามคำขอครั้งนั้น
เมื่อถึงเมืองราชคฤห์แล้ว พระพุทธเจ้าได้พาพระสาวกใหม่ทั้ง ๑,๐๐๓ รูปไปประทับในสวนตาลหนุ่ม (ลัฏฐิวัน) ข่าวคราวที่พระองค์พร้อมด้วยพระสาวกจำนวนมากประทับอยู่ที่นั้นระบือไปทั่ว พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบ จึงพร้อมด้วยพราหมณ์และคหบดีชาวมคธจำนวน ๑๒ นหุตเสด็จมาเฝ้า ครั้นถวายบังคมพระพุทธเจ้าแล้ว พระเจ้าพิมพิสารก็ได้ประทับนั่ง ณ ที่ที่สมควรแก่พระองค์ ส่วนพราหมณ์และคหบดีที่ตามเสด็จมานั้นต่างแสดงกิริยาอาการต่างๆ กัน บางพวกถวายบังคมพระพุทธเจ้าแล้วก็นั่ง ณ ที่ที่สมควรแก่ตน บางพวกไม่ถวายบังคม เป็นแต่ทูลสนทนาปราศรัยพอให้คุ้นเคยกันแล้วก็นั่ง ณ ที่ที่สมควรแก่ตน บางพวกเพียงแต่ประคองอัญชลีไหว้ บางพวกเพียงแต่ประกาศชื่อและสกุล (โคตร) และบางพวกได้แต่นั่งเฉย เหตุที่พราหมณ์และคหบดีชาวมคธแสดงกิริยาอาการต่างๆ นั้นเป็นเพราะยังไม่แน่ใจว่า ระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระอุรุเวลกัสสปะใครเป็นศาสดาของใคร พระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของพราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นเป็นอย่างดี ทรงหวังว่าจะเปลื้องความสงสัยของพวกเขา จึงหันมาสนทนากับพระอุรุเวลกัสสปะ
พระพุทธเจ้า : กัสสปะ เธออยู่ในอุรุเวลเสนานิคมมานาน เคยเป็นอาจารย์สั่งสอนชฎิลให้บำเพ็ญพรตจนร่างกายซูบผอม แต่เธอมาได้เห็นอะไรจึงยอมเลิกบูชาไฟเสียเล่า
พระอุรุเวลกัสสปะ : การบูชายัญ กล่าวยกย่องรูป เสียง กลิ่น และรสที่น่าปรารถนา และกล่าวยกย่องสตรีทั้งหลาย ข้าพระพุทธเจ้ารู้ว่านั่นเป็นมลทิน เพราะเหตุนั้นจึงไม่ยินดีในการเซ่นสรวงบูชา
พระพุทธเจ้า : กัสสปะ ใจของเธอไม่ยินดีแล้วในอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส แล้ว บัดนี้ใจของเธอยินดีในสิ่งใดเล่า ยินดีในเทวโลกหรือมนุษยโลก
พระอุรุเวลกัสสปะ : ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นทางอันสงบ ไม่มีการยึดถือ ไม่มีกังวล ไม่ติดอยู่ในกามภพ ไม่ผันแปร ไม่ใช่ธรรมที่ผู้อื่นแนะให้บรรลุ เพราะฉะนั้นข้าพระพุทธเจ้าจึงไม่ยินดีในการเซ่นสรวงบูชา
อุรุเวลกัสสปะเมื่อกราบทูลแล้ว ก็ลุกขึ้นไปซบศีรษะอยู่แทบพระบาทของพระพุทธเจ้าแล้ว ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระบรมศาสดา พระองค์เป็นพระศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นพระสาวก”
จากกิริยาอาการและคำพูดของพระอุรุเวลกัสสปะ ส่งผลให้พราหมณ์และคหบดีทั้ง ๑๒ นหุตนั้นเข้าใจได้ถูกต้องว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระศาสดาของพระอุรุเวลกัสสปะซึ่งตนเคยเคารพนับถือ จึงคลายความสงสัยและเพิ่มพูนศรัทธายิ่งขึ้นในพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่า บัดนี้พราหมณ์และและคหบดีเหล่านั้นมีจิตอ่อนโยนสมควรที่จะฟังพระธรรมเทศนาได้แล้ว จึงทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ให้ฟัง
ผลจากการที่ได้ฟังพระธรรมเทศนา พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยพราหมณ์และคหบดี ๑๑ นหุตได้บรรลุโสดาปัตติผล ส่วนพราหมณ์และคหบดีที่เหลือ ๑ นหุต แม้จะไม่ได้บรรลุโสดาปัตติผลแต่ก็ได้ศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย ได้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ
การที่พราหมณ์และคหบดี ๑๒ นหุตได้บรรลุโสดาปัตติผลและได้ศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัยนั้น ถือได้ว่า พระอุรุเวลกัสสปะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยพระพุทธเจ้าเผยแผ่พระพุทธศาสนาครั้งนั้น
โลกนี้กำลังลุกร้อนเป็นไฟ เพราะสาเหตุที่สังคมไร้ความเมตตา ถ้าในครอบครัวก็เป็นครอบครัวแตกแยกบ้านแตกสาแหรกขาด มีปัญหาหย่าร้าง พ่อก็ไปทางหนึ่ง แม่ก็ไปทางหนึ่ง ลูกก็ไปทางหนึ่ง มันเป็นสิ่งที่อเนจอนาถ เป็นสิ่งที่ตกนรกทั้งเป็น ถ้าเป็นประเทศก็ทำแต่สงคราม มีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น แย่งเก้าอี้แย่งยศตำแหน่ง แบ่งพรรคแบ่งพวก มีการชุมนุม มีการเดินขบวนนั่งขบวน
ไฟที่ไหม้ในภายนอก แม้จะรุนแรงแค่ไหน ก็ไม่อันตรายเท่ากับไฟภายใน ความรัก ความหึงหวง ความผูกพัน (ราคะ) ความหงุดหงิด วู่วามง่าย ความโกรธ ผูกใจเจ็บ อาฆาตพยาบาท (โกรธ) และความหลงงมงาย ขาดสติ (โมหะ) จัดเป็นไฟภายใน ไฟชนิดนี้แหละที่อันตรายและเป็นไฟไหม้ฟางที่ค่อยๆ เผาใจเราโดยไม่รู้ตัว
พระพุทธองค์ตรัสว่า "กิเลสทั้งสามประการนี้ย่อมเผาบุคคลผู้ยอมอยู่ใต้อำนาจของมัน ให้รุ่มร้อนกระวนกระวายเหมือนไฟเผาไหม้ท่อนไม้และแกลบให้แห้งเกรียม ข้อแตกต่างแห่งกิเลสทั้งสามประการนี้ก็คือ ราคะนั้นมีโทษน้อยแต่คลายช้า โทสะมีโทษมากแต่คลายเร็ว โมหะมีโทษมากด้วยคลายช้าด้วย บุคคลซึ่งออกบวชแล้วประพฤติตนเป็นผู้ไม่มีเรือนเรียกว่า ได้ชักกายออกห่างจากกามราคะ แต่ถ้าใจยังหมกมุ่นพัวพันอยู่ในกามก็หาสำเร็จประโยชน์แห่งการบวชไม่ คือเขาไม่สามารถจะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบได้ อุปมาเหมือนไม้สดชุ่มอยู่ด้วยยาง แม้จะวางอยู่บนบก บุคคลผู้ต้องการไฟก็ไม่อาจนำมาสีให้เกิดไฟได้ เพราะฉะนั้น ภิกษุ ภิกษุณีผู้ชักกายออกจากกามแล้ว พยายามชักใจออกจากกามความเพลิดเพลินหลงใหลเสียด้วย"
จริงทีเดียวในจักรวาลนี้ไม่มีไฟอะไรร้อนแรงและดับยากเท่าไฟรัก ความรักเป็นความเรียกร้องของหัวใจ มนุษย์เราทำอะไรลงไปเพราะเหตุเพียงสองอย่างเท่านั้น คือเพราะหน้าที่อย่างหนึ่ง และเพราะความเรียกร้องของหัวใจอีกอย่างหนึ่ง ประการแรกแม้จะทำสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง มนุษย์ก็ไม่ค่อยจะเดือนร้อนเท่าใดนัก เพราะคนส่วนมากหาได้รักหน้าที่เท่ากับความสุขส่วนตัวไม่ แต่สิ่งที่หัวใจเรียกร้องนี่ซิ ถ้าไม่สำเร็จ หรือไม่สามารถสนองได้ หัวใจจะร่ำร้องอยู่ตลอดเวลา มันจะทรมานไปจนกว่าจะหมดฤทธิ์ของมัน หรือมนุษย์ผู้นั้นตายจากไป พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "ไม่ควรปล่อยตนให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งความรัก เพราะการพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักเป็นเรื่องทรมาน และเรื่องที่จะบังคับมิให้พลัดพรากก็เป็นสิ่งสุดวิสัย ทุกคนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง"
ขณะนี้ เรากำลังถูกเผาอยู่ตลอดเวลา เมื่อใดเราหยุดดิ้นรนให้อภัย ฝึกใจให้สงบ มีสติอยู่ตลอดเวลา เมื่อนั้นไฟย่อมดับไป แต่ยังมีโอกาสเกิดขึ้นอีก ไฟชนิดนี้แหละที่ร้ายแรงที่สุด อย่าปล่อยให้มันไหม้จนลุกลามไปทั่ว
พระพุทธเจ้าทรงข้ามพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะแล้ว ตรัสไว้ในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต ว่า “ดูก่อน! ภิกษุทั้งหลาย ไฟ ๓ กองนี้ ได้แก่ ไฟราคะ ๑ ไฟโทสะ ๑ ไฟโมะ ๑ ดูก่อน! ภิกษุทั้งหลาย ไฟ ๓ กองนี้แล ย่อมเผาผลาญสัตว์ทั้งหลาย”
“ไฟคือราคะ ย่อมเผาผลาญสัตว์ทั้งหลายผู้กำหนัดแล้วหมกมุ่นอยู่แล้วในกามทั้งหลาย ยังติดใจ ยินดีในรสกาม”
แต่ไฟคือโทสะ ย่อมเผาผลาญนรชนทั้งหลาย ผู้อาฆาตพยาบาทซึ่งชอบฆ่าสัตว์ ชอบรังแกข่มเหงทรมาน
ส่วนไฟคือโมหะ ย่อมเผานรชนทั้งหลาย ผู้หลงงมงายหลงยึดถือตัวตนเราเขา อันขัดกับอริยสัจจธรรม
ไฟทั้ง ๓ กองนี้แล! ย่อมเผาหมู่สัตว์ผู้ไม่รู้สึกว่าเป็นไฟ ผู้หลงใหลหมกมุ่นยินดียิ่งในร่างกายของตน สัตว์เหล่านั้นพอกพูนนรก กำเนิดสัตว์เดรัจฉาน อสุรกาย และเปรตวิสัยอยู่ (ทำผู้ที่เกิดในอบายทั้ง ๔ ให้มีปริมาณมากขึ้น) จึงไม่อาจพ้นจากบ่วงแห่งมาร (กิเลสมาร) ไปได้”
ส่วนชนทั้งหลายผู้หมั่นอบรมตนในศาสนธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งกลางวันและกลางคืน หมั่นเจริญอสุภสัญญาเป็นนิตย์ ย่อมทำไฟคือราคะให้ดับลงได้
ชนทั้งหลายที่มีคุณธรรมสูง ย่อมดับไฟคือโทสะลงได้ ด้วยเมตตา และย่อมดับไฟคือโมหะ ด้วยปัญญา อันเป็นเครื่องทำลายกิเลสได้เด็ดขาด
ชนผู้มีปัญญารักษาตนเหล่านั้น ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน ดับไฟทั้ง ๓ กองนั้นได้แล้ว ชื่อว่าดับกิเลสได้สิ้นเชิง ล่วงพ้นทุกข์ได้ทั้งสิ้น
อุปกรณ์ดับไฟภายในต้องใช้ธรรมะ คือ การให้อภัย มีสติ มีเมตตา ไม่ใช่น้ำที่ไหน เมื่อมีธรรมะก็เหมือนน้ำเย็นชนิดวิเศษที่ช่วยดับไฟประเภทนี้ได้
ความไม่รู้ความไม่เข้าใจ ถึงแม้เราจะบวชกับพระพุทธเจ้า ก็ไม่สามารถจะรับผลัดคือมรรคผลพระนิพพานจากพระพุทธเจ้าได้ เพราะเราไม่เอาความถูกต้อง จะรับผลัดจากท่านได้อย่างไร ถ้าเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ความยากจนมันจะมาจากไหน เพราะเราพัฒนาทางใจพัฒนาทั้งวัตถุ ความเป็นพุทธะก็จะนำหน้าโดยทั้งทางใจทางวัตถุไปพร้อมๆ กัน อย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องงอมืองอเท้าคอยขอคอยรอคอยรับจากคนอื่น เรามีตัวมีตนก็จะคอยอาศัยแต่บุคคลอื่น
อย่าไปคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ มันทำให้เราต้องเรียนว่ายตายเกิด ไม่ใช่เรื่องธรรมดานะ อะไรที่เป็นตัวทำให้เราเกิด ก็คือการที่เราเอาตัวตนเป็นใหญ่ เราจึงต้องมารู้จักกลไกรู้จักวงจร รู้จักต้นสายปลายเหตุ ที่คนทั้งโลกพากันทุกข์ ไม่มีปัญหาก็พากันสร้างปัญหา ไม่ว่าจะเป็นคนเป็นสัตว์ แม้จะเป็นเทวดาก็มีความทุกข์ เป็นพรหมก็ยังมีความทุกข์ เราทุกคนเป็นผู้โชคดีได้ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า เพราะเราจะไปหาแก้ภายนอกมันแก้ไม่ได้หรอก เพราะปัญหามันอยู่ที่เรา การที่แก้ปัญหาของเราทุกคน ถึงต้องแก้ที่ตัวเราเอง ไม่ได้ไปแก้ปัญหาที่คนอื่น ทุกท่านทุกคนต้องพากันทำอย่างนี้ ปัญหาของตนเองถึงจะคลี่คลายและหมดปัญหาไปในที่สุด ใจของเราก็จะเข้าสู่กายวิเวก คือกายที่สงบวิเวกอันมาจากใจที่มีความเห็นถูกต้อง ที่ไม่คิดไม่พูดไม่ทำ จึงนำเราสู่กายวิเวก พัฒนาสู่จิตวิเวก และอุปธิวิเวกในที่สุด
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee