แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันศุกร์ที่ ๑๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระธรรม ตอนที่ ๔๗ ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ช่วงนี้ก็เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนได้พากันกลับบ้าน ที่ไปทำงานที่อยู่ทุกหนทุกแห่ง เพื่อกลับบ้านหาพ่อหาแม่ เพื่อกลับไปถิ่นฐานบ้านเกิด บางคนก็ไปถือศีลปฏิบัติธรรม หมู่มวลมนุษย์ของเราทุกคนคือผู้ที่ประเสริฐเกิดมาต้องพากันมามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องผ่านการปฏิบัติให้ถูกต้อง พัฒนาจิตพัฒนาใจให้มีสัมมาทิฏฐิ เพื่อที่จะไม่ให้ตัวเองมีความทุกข์ในสิ่งที่คิดพูดและการกระทำ ต้องมีสัมมาทิฏฐิทางจิตใจ พร้อมทั้งมีสัมมาทิฏฐิในธุรกิจหน้าที่การงาน เพราะเราต้องพัฒนาใจและพัฒนาวัตถุไปพร้อมๆ กัน เหมือนกับที่พวกเราไปอยู่ทุกหนทุกแห่งตามแหล่งของอาหาร ทั้งในประเทศต่างประเทศ คือไปตามแหล่งของอาหาร ชีวิตสังขารของแต่ละคนที่จะอยู่ได้ในปัจจุบันก็ไม่เกินร้อยปีในทางส่วนของร่างกาย ทางส่วนทางจิตใจก็แล้วแต่เหตุแล้วแต่ปัจจัย เพราะกายของมนุษย์ก็ส่วนหนึ่ง ใจก็ส่วนหนึ่ง มันคนละอย่าง ทุกอย่างก็ทำหน้าที่ของเขาด้วยเหตุด้วยปัจจัย ถ้าเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราก็ปฏิบัติไปเพื่อความดับทุกข์อย่างนี้แหละ เรียกว่ารู้ความจริงทางวัตถุรู้ความจริงทางจิตใจ ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ
เรื่องธรรมะนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เขามีนาฬิกาก็เพื่อปรับเข้าหาธรรมะ เพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้อง ความถูกต้องนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เราต้องเอาความถูกต้องทางด้านจิตใจและคุณธรรม เพราะความถูกต้องนั้นไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวตน เป็นเพราะเหตุเพราะปัจจัย ที่เราเป็นตัวเป็นตนเป็นความรู้สึกน่ะ มันก็คือเหตุปัจจัย รู้ว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นเพียงพระไตรลักษณ์ ที่มันเกิดจากเหตุเกิดจากปัจจัย เพราะต้องพัฒนาทั้งใจทั้งวัตถุเพื่อความสอดคล้องกัน เพื่อให้เป็นศิลปะแห่งชีวิตที่ประเสริฐที่ได้เกิดมา ที่เป็นศีล เป็นสมาธิความตั้งมั่น และเป็นปัญญาที่ต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เรื่องความกตัญญูกตเวที เรื่องความถูกต้องเป็นสิ่งที่สำคัญ
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ใน ทุลลภสูตรว่า บุคคล ๒ จำพวก ที่หาได้ยากในโลก คือ บุพการีบุคคล และกตัญญูกตเวทีบุคคล บุคคล ๒ จำพวกนี้แล หาได้ยากในโลก
ผู้ที่ทำคุณงามความดีมีอุปการคุณต่อผู้อื่นก่อน โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทำไปด้วยใจบริสุทธิ์ล้วนๆ ใครทำอย่างนี้ได้ จึงได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่หาได้ยากในโลก ท่านเรียกว่า บุพการีบุคคล เช่น บิดามารดาของเรา เป็นต้น
เพราะฉะนั้น เราควรจะเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที รู้อุปการคุณของผู้อื่น แม้เพียงเล็กน้อย แล้วหาโอกาสตอบแทนอยู่เสมอ เมื่อถึงวาระสำคัญในการทดแทนพระคุณบิดามารดา เราก็ควรจะแสดงออกซึ่งความเป็นลูกกตัญญู เพราะโอกาสอย่างนี้หาได้ยากอย่างยิ่ง บัณฑิตจึงกล่าวว่า นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี
สิ่งที่ควรแก่ความกตัญญู คือทุกสิ่งที่มีบุญแก่เรา ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น ๕ ประการ ได้แก่
๑. กตัญญูต่อบุคคล คือใครก็ตามที่เคยมีพระคุณต่อเรา ไม่ว่าจะมากน้อยเพียงไร จะต้องกตัญญูรู้คุณท่าน ติดตามระลึกถึงเสมอด้วยความซาบซึ้ง พยายามหาโอกาสตอบแทนคุณท่านให้ได้ โดยเฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสงฆ์ บิดามารดา ครู อุปัชฌาย์อาจารย์ พระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครอง ที่ทรงทศพิธราชธรรม จะต้องตามระลึกนึกถึงพระคุณของท่านให้จงหนัก ให้ปฏิบัติตัวให้เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นศิษย์ที่ดีของครูอาจารย์ เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติและเป็นพุทธมามกะสมชื่อ
อย่าทิ้งฅน ที่ร่วมสู้ อยู่เคียงข้าง อย่าลืมฅน ที่ช่วยสร้าง ทางยิ่งใหญ่
อย่าละเลย ฅนที่เคย มีน้ำใจ อย่าลืมเป็นผู้ให้เมื่อได้ดี
เมื่อมีกิน อย่าลืมถิ่น ที่เคยอยู่ เมื่อรอบรู้ อย่าลืมครู ที่เคยสอน
เจอรักแท้ อย่าลืมแม่ ที่กอดนอน หายทุกข์ร้อน อย่าลืมธรรม ที่นำทาง ฯ
๒. กตัญญูต่อสัตว์ คือสัตว์ที่มีคุณต่อเรา เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ที่ใช้งาน จะต้องใช้ด้วยความกรุณาปรานี ไม่เฆี่ยนตีมันจนเหลือเกิน อย่าใช้งานหนักจนเป็นการทรมาน ขณะเดียวกันต้องเลี้ยงดูให้อาหารอย่าให้อดอยาก ให้ได้กินได้นอนได้พักผ่อนตามเวลา
๓. กตัญญูต่อสิ่งของ คือของสิ่งใดก็ตามที่มีคุณต่อเรา เช่น หนังสือธรรมะ หนังสือเรียน สถานศึกษา วัด ต้นไม้ ป่าไม้ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการหาเลี้ยงชีพ ฯลฯ จะต้องปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ให้ดี ไม่ลบหลู่ดูแคลน ไม่ทำลาย
ตัวอย่างเช่น ไม้คานที่ใช้หาบของขาย เมื่อเจ้าของตั้งตัวได้ ร่ำรวย ขึ้นก็ไม่ทิ้ง ยังคิดถึงคุณของไม้คานอยู่ ถือเป็นของคู่ชีวิตช่วยเหลือตนสร้าง ฐานะมา จึงเลี่ยมทองเก็บไว้เป็นที่ระลึก ไว้เป็นเครื่องเตือนใจ อย่างนี้ก็มี
มีกล่าวไว้ในเตมียชาดกว่า “อย่าว่าถึงคนที่เราได้พึ่งพาอาศัยกันเลย แม้แต่ต้นไม้ที่ได้อาศัยร่มเงาก็หาควรจะหักกิ่งริดก้านรานใบของมันไม่ ผู้ใดพำนักอาศัยนั่งนอนใต้ร่มเงาของต้นไม้ใดแล้ว ยังขืนหักกิ่งริดก้านรานใบ เด็ดยอด ขุดรากถากเปลือก ผู้นั้นชื่อว่าทำร้ายมิตร เป็นคนชั่วช้าเลวทราม จะมีแต่อัปมงคล เป็นเบื้องหน้า”
๔. กตัญญูต่อบุญ คือรู้ว่าคนเราเกิดมามีอายุยืนยาว ร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณดี สติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความสุขความเจริญ มีความก้าวหน้า มีทรัพย์สมบัติมาก ก็เนื่องมาจากผลของบุญ จะไปสวรรค์กระทั่งไปนิพพานได้ ก็ด้วยบุญ กล่าวได้ว่า ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยบุญ ทั้งบุญเก่าที่ได้สั่งสมมาดีแล้ว และบุญใหม่ที่เพียรสร้างขึ้นประกอบกัน จึงมีความรู้คุณของบุญ มีความอ่อนน้อมในตัว ไม่ดูถูกบุญ ตามระลึกถึงบุญเก่าให้จิตใจชุ่มชื่น และไม่ประมาทในการสร้างบุญใหม่ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
๕. กตัญญูต่อตนเอง คือรู้ว่าร่างกายของเรานี้เป็นอุปกรณ์สำคัญที่เราจะใช้อาศัยในการทำความดี ใช้ในการสร้างบุญกุศลนานาประการ เพื่อความสุขความเจริญก้าวหน้าแก่ตนเอง จึงทะนุถนอมดูแลร่างกาย รักษาสุขภาพให้ดี ไม่ทำลายด้วยการกินเหล้า เสพสิ่งเสพย์ติด เที่ยวเตร่ดึกๆ ดื่นๆ และไม่นำร่างกายนี้ไปประกอบความชั่ว เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เจ้าชู้ อันเป็นการทำลายตนเอง
การที่คนเราจะมีความคิดใฝ่ดี ตั้งใจทำความดีสร้างสมคุณธรรมให้เกิดขึ้นในตัว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ที่ยากยิ่งกว่านั้นก็คือ ทำอย่างไรจึงจะ รักษาความตั้งใจที่ดีนั้นไว้ โดยไม่ท้อถอยไม่เลิกกลางคัน เพราะในการทำความดีย่อมมีอุปสรรค มีปัญหาขัดขวางมากมาย ไหนจะปัญหาภายนอกจากคนรอบข้าง จากสิ่งแวดล้อม ไหนจะปัญหาภายในจากกิเลสรุมล้อมประดังกันเข้ามา เราจะเอาตัวรอด ยืนหยัดสู้ปัญหาทั้งหลายที่เข้ามาผจญได้โดยไม่ท้อถอย ก็ต้องมีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวใจไว้ นั่นคือความกตัญญู
ไปโรงเรียน เรียนหนังสือ แม้จะยากแสนยาก ท้อถอยจะเลิกเสียก็หลายครั้ง เพื่อนฝูงบางคนชวนไปเที่ยวเตร่เฮฮา ดูน่าสนุกกว่ามาก แต่เมื่อนึกถึงคุณพ่อคุณแม่ คิดว่าท่านอุตส่าห์ทะนุถนอมเลี้ยงดูเรามาจนเติบใหญ่ ลำบากลำบนในการทำมาหากิน เพื่อส่งเสียให้เราได้เล่าเรียน ท่านฝากความหวังไว้กับตัวเรา อยากเห็นตัวเราได้ดีมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต พอคิดได้เท่านี้ ความกตัญญูก็จะเกิดขึ้นมีแรงสู้มีกำลังใจ แม้จะยากแสนยาก แม้จะเหนื่อยแสนเหนื่อย ก็กัดฟันสู้มุมานะ ตั้งใจเรียนให้ดีให้ได้ ไม่ยอมประพฤติตัวไปในทางเสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูล ให้คุณพ่อคุณแม่ครูบาอาจารย์ได้อายโดยเด็ดขาด
แม้ในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรม ผู้ตั้งใจจะทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา แน่นอนว่าในการทำงานนั้น จะต้องมีการกระทบกระทั่งกัน คนเราหลายคนก็หลายความเห็น ต่างคนก็ต่างตั้งใจดีกันทั้งนั้น แต่ความคิดความอ่านความสามารถอาจไม่เท่ากัน และบางครั้งก็เกิดทิฏฐิมานะ คิดไปว่า “ถึงแกจะหนึ่งแต่ฉันก็แน่เหมือนกัน” ทำให้ไม่ยอมกัน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะต่างก็กำลังฝึกฝนตนเองอยู่ กิเลสในตัวก็ยังมี ยังไม่ได้หมดไป ดังนั้นถ้าไม่รู้จักควบคุมให้ดี จึงมีโอกาสขัดใจกันได้ หรือบางทีออกไปทำงานเผยแผ่ธรรมะ ก็พบกับคนที่ยังไม่เข้าใจ ไม่เห็นด้วย พูดนินทาว่าร้าย เยาะเย้ยถากถางเอาบ้าง เพราะเหตุนี้จึงมีนักปฏิบัติธรรม นักเผยแผ่ธรรมะ รวมทั้งผู้ที่ตั้งใจทำงานเพื่อสังคมส่วนรวมหลายๆ คน เบื่อหน่ายท้อถอย และเลิกราไปกลางคันอย่างน่าเสียดาย
แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความกตัญญูเป็นพื้นใจแล้ว เมื่อความท้อถอย ความเบื่อหน่ายเอือมระอาเกิดขึ้น เพียงแต่นึกว่า ที่ตัวเราได้มีโอกาสเรียนรู้ธรรมะ รู้การสร้างบุญกุศล รู้วิธีการดำเนินชีวิตอันประเสริฐ รู้บุญรู้บาปอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงเสียสละอุทิศชีวิตทุ่มเทค้นคว้าจนตรัสรู้หลักอริยสัจจ์ คือความจริงอันประเสริฐทั้งหลายมาสอนเรา เมื่อคิดถึงชีวิต เลือดเนื้อ ความเพียรพยายามที่พระองค์ได้ทรงทุ่มเทลงไป ตลอดระยะเวลาที่ทรงบำเพ็ญบารมีอยู่นานถึง ๒๐ อสงไขยกับแสนกัปป์ ว่ามากมายมหาศาลเพียงใด ตลอดจนคิดถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ท่านอุตส่าห์ถ่ายทอดคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อๆ กันมา และอบรมสั่งสอนให้เราได้ทราบได้รู้ถึงคำสอนของพระองค์ โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก คิดเพียงเท่านี้ ความท้อถอยก็หาย ความเหนื่อยหน่ายก็คลาย แม้ความตายก็ไม่หวั่น เกิดกำลังใจที่จะทำความดีต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ความกตัญญูจึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง ที่จะประคองใจของเราให้ดำรงมั่นอยู่ในคุณธรรมอันยิ่งๆ ขึ้นไป
เมื่อเรากตัญญู เราต้องเข้าสู่ความประพฤติความปฏิบัติเพื่อจะได้เป็นพระพุทธศาสนา มันไปทางใจอย่างเดียวก็ยังไม่พอ ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติ ศีลเราก็ยังไม่มี สมาธิก็ไม่มี ปัญญาของเราก็ยังไม่มี เพราะเรายังไม่ได้เอาปัญญามาเสียสละเลย เราต้องเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา คือ รู้แล้วประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิด ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะเรามองดูภาพรวมของประเทศ หรือว่า สังคม ของโลก มันไม่สมบูรณ์ อริยมรรคมีองค์ ๘ ยังไม่เอามาใช้ทำงาน เพื่อพัฒนาทั้งเทคโนโลยีและจิตใจไปพร้อมๆ กัน เราถึงมีปัญหา สิ่งภายนอกถึงมีปัญหา
ให้เราพากันเข้าใจ ที่ดิน หรือบ้านที่อยู่อาศัย ที่ประกอบทำงานธุรกิจ ไร่นา สวนอะไร คือเป็นเปลือก เป็นกระพี้ของชีวิต ถือว่า ศาสนสถาน เจดีย์ พระพุทธรูป พระพุทธปฏิมา พวกนี้ยังคือว่าเป็นเปลือก เป็นกระพี้ของพระศาสนาอยู่ แก่นที่แท้จริงที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง คือรู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ คืออริยสัจ 4 นี้ เราจะเข้าถึงแก่นแท้แห่งพระพุทธศาสนา
เราดูพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง ท่านเป็นผู้กตัญญูกตเวที จึงได้เป็นพระพุทธเจ้า แม้แต่บิดามารดา ท่านก็สั่งสอนให้เกิดสัมมาทิฏฐิ พ่อก็ได้เป็นพระอรหันต์ แม่ก็เป็นพระโสดาบันอยู่ชั้นดุสิต แม้แต่องค์พระสารีบุตร เป็นผู้เลิศด้วยปัญญาของพระพุทธเจ้า ท่านก็กตัญญูกตเวที ที่พระพุทธเจ้าถามว่า ผู้เฒ่านี้เคยมีความดีอะไรบ้าง ท่านก็บอกว่าผู้เฒ่านี้มีความดีเพราะเคยถวายข้าวทัพพีนึงให้ข้าพเจ้า แม้แต่จะละสังขารเข้านิพพาน ก็นิพพานไม่ได้ เพราะยังทำกตัญญูกตเวทีไม่สำเร็จ เพราะโปรดพวกน้องๆ เป็นพระอรหันต์หมดแล้ว ยังเหลือแม่ยังเป็นสามัญชน ยังเป็นปุถุชนอยู่ ความกตัญญูกตเวทีถือว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ใหญ่ยิ่ง ถ้าเราขาดความกตัญญูกตเวทีถือว่าเรายังเป็นคนพาล
ช่วงนี้ก็เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประเทศไทยเราและหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย จะมีการรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ บูรณะปฏิสังขรณ์ศาสนวัตถุ ระลึกถึงญาติบรรพบุรุษผู้มีพระคุณอุทิศบุญกุศลส่งไปให้ท่าน
ตำนานวันสงกรานต์ มีเรื่องเล่ากันว่า ก่อนพุทธกาลมีเศรษฐีท่านหนึ่ง ย้ายบ้านมาตั้งรกรากใกล้กับบ้านนักเลงสุรา โดยเป็นเศรษฐีที่มีเพียบพร้อมทุกอย่าง ทั้งภรรยาที่ดีและทรัพย์สินเงินทอง ขาดแต่เพียงแค่ผู้สืบสกุล เพราะตัวเศรษฐีไม่มีลูกเลย และเมื่อนักลงสุราที่อยู่ใกล้บ้านเริ่มดื่มสุราแล้วเมา ก็จะพูดจาไม่ดีเยาะเย้ยเศรษฐรีไปเรื่อยว่า “มีทรัพย์มาก แต่ไร้ทายาทสืบสกุล เพราะเป็นคนมีบาปกรรมจึงไม่มีบุตร สู้เราไม่ได้ถึงแม้จะยากจนแต่ก็มีบุตรคอยดูแลรักษายามเจ็บไข้ และรักษาทรัพย์สมบัติเมื่อเราสิ้นใจ” ในขณะที่ตัวของนักเลงนั้นมีบุตรถึง 2 คน และทุกครั้งที่เมาก็จะมีการพูดจาสบประมาทเยาะเย้ยเศรษฐีแบบนี้อยู่ร่ำไป ทำให้เศรษฐีรู้สึกเสียใจเป็นอย่างมาก แต่ทำวิธีไหนก็ไม่มีบุตรสักที
ตัวเศรษฐีจึงเริ่มไปขอพร ไปบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ พยายามตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร ทำเช่นนี้เป็นเวลาติดต่อกันถึง 3 ปีก็ยังไม่มีวี่แวว จนวันหนึ่งเป็นวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ เศรษฐีก็พาข้าทาสบริวารของตนมาที่โคนต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งที่มีนกอาศัยอยู่เต็มไปหมด โดยเศรษฐีได้นำของมาถวาย ซึ่งเป็นข้าวที่ผ่านการซาวน้ำสะอาดมาถึง 7 ครั้ง แล้วจึงหุงข้าวสารนั้น เมื่อสุกแล้วยกขึ้นบูชาพระไทรเพื่อขอบุตร
พระไทรจึงเกิดความสงสาร จึงนำเรื่องขึ้นไปกราบทูลพระอินทร์เพื่อขอบุตรให้เศรษฐี พระอินทร์จึงเมตตาให้เทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ “ธรรมบาล” ลงมาเกิดในครรภ์ของภรรยาเศรษฐี เมื่อครบกำหนดภรรยาเศรษฐีก็คลอดบุตรเป็นชาย เศรษฐีจึงตั้งชื่อว่า “ธรรมบาล” เพื่อตอบสนองพระคุณเทพเทวา เศรษฐีจึงสร้างปราสาทสูง 7 ชั้น ถวายเทพต้นไทร
เมื่อธรรมบาลเติบโตขึ้นได้อายุ 7 ขวบ ก็เป็นเด็กที่มีปัญญาหลักแหลม ฉลาดรอบรู้ และสามารถแนะนำเรื่องมงคลต่างๆ ให้แก่ชาวบ้านได้ แต่ในสมัยนั้น ชาวบ้านก็มีเทพที่นับถืออยู่แล้วชื่อ “ท้าวกบิลพรหม” เป็นเทพที่ขึ้นชื่อเรื่องความฉลาดเช่นกัน ท้าวกบิลพรหมเกิดความไม่พอใจที่ชาวบ้านเริ่มหันไปพึ่งธรรมบาลมากกว่าตน จึงไปหาธรรมบาลแล้วถามคำถาม 3 ข้อเพื่อลองเชิงภูมิปัญญา และเอาศีรษะตัวเองเป็นเดิมพัน หากธรรมบาลตอบคำถามไม่ได้ ก็จะต้องเสียหัวเพื่อยอมรับความพ่ายแพ้ไป โดยคำถามมีอยู่ว่า ตอนเช้าราศีคนอยู่แห่งใด
ตอนเที่ยงราศีของคนอยู่แห่งใด ตอนค่ำราศีของคนอยู่แห่งใด
เมื่อฟังคำถามแล้วธรรมบาลก็ยังตอบไม่ได้ในทันที จะขอผลัดเปลี่ยนวันเพื่อไปหาคำตอบ 7 วัน แต่จนแล้วจนเล่าในวันที่ 6 ธรรมบาลก็ยังคิดคำตอบไม่ได้ จึงได้หนีเข้าป่า ไปนอนพักเอาแรงใต้ต้นตาล ที่มีนกอินทรีผัวเมียคู่หนึ่งอาศัยอยู่ โดยนกสองตัวกำลังคุยกันว่าพรุ่งนี้จะไปหาอาหารที่ไหนดี นกสามีก็ตอบว่า “พรุ่งนี้เราไม่ต้องบินไปไกล เพราะจะได้กินเนื้อธรรมบาล ซึ่งจะถูกท้าวกบิลพรหมตัดหัว เนื่องจากแก้ปัญหาไม่ได้” นางนกถามว่า “ปัญหานั้นว่าอย่างไร” นกสามีตอบว่า ปัญหามีอยู่ 3 ข้อ
เนื่องจากธรรมบาล เกิดมาจากตอนที่เศรษฐีไปขอพรใต้ต้นไทรที่มีนกอยู่จำนวนมาก ทำให้มีความสามารถในการได้ยินและเข้าใจที่นกคุยกัน ธรรมบาลจึงกลับสู่ปราสาทอันเป็นที่อยู่แห่งตน รุ่งขึ้นเป็นวันครบกำหนดแก้ปัญหา ท้าวกบิลพรหมมาฟังคำตอบ ธรรมบาลจึงกล่าวแก้ปัญหาตามที่นกอินทรีคุยกัน ท้าวกบิลพรหมพ่ายแพ้จึงเรียก ธิดาทั้ง 7 ของตน อันเป็นหญิงรับใช้ของพระอินทร์มาพร้อมกัน ท้าวกบิลพรหม จึงกล่าวว่า “จะตัดเศียรของตนบูชาธรรมบาล แต่ถ้าเอาศีรษะพ่อวางไว้บนแผ่นดินก็จะลุกไหม้ไปทั้งโลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ อากาศจะแห้งแล้งฟ้าฝนจะหายไปสิ้น ถ้าทิ้งลงไปในมหาสมุทรน้ำในมหาสมุทรจะแห้งแล้งไปเช่นกัน” จึงสั่งให้นางทั้ง 7 คน เอาพานมารองรับศีรษะแล้วจึงตัดศีรษะส่งให้ นางทุงษธิดาคนโต นางทุงษจึงเอาพานรับเศียรบิดาไว้แล้วแห่รอบเขาพระสุเมรุ 1 ชั่วโมง ก่อนอัญเชิญไปไว้ในมณฑปถ้ำคันธุรลี เขาไกรลาส เพื่อเป็นการสักการะบูชา ในทุกปีช่วงวันมหาสงกรานต์ เหล่าลูกสาวของท้าวกบิลพรหมจะผลัดกันนำเศียรของพ่อออกมาเหาะวนรอบภูเขาเพื่อเป็นการบูชา แล้วแต่ว่าวันสงกรานต์ในปีนั้นจะตรงกับวันอะไร เพราะลูกสาวทั้ง 7 ของท้าวกบิลพรหมเป็น “นางสงกรานต์” ประจำวันต่างๆ นั่นเอง
มหาธรรมปาลชาดก ว่าด้วยเหตุที่ไม่ตายในวัยหนุ่ม
ในวันที่แปด พระเจ้าสุทโธทนะถวายภัตตาหาร แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุ ๒๐,๐๐๐ รูป ในพระราชนิเวศน์ ระหว่างภัต พระเจ้าสุทโธทนะตรัสกับพระผู้มีพระภาคว่า ในระหว่างที่พระพุทธองค์ทำความเพียรอยู่ หมู่เทวดาได้มายืนอยู่ในอากาศบอกแก่พระองค์ว่า สิทธัตถกุมารโอรสของพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว เพราะเสวยพระกระยาหารน้อย แต่พระองค์ไม่ทรงเชื่อ และยังกล่าวกับเทวดาว่า หากพระโอรสยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าที่โคนต้นโพธิ์ จะยังไม่ปรินิพพาน พระพุทธองค์ทรงปรารภถึงเรื่องความเป็นผู้ไม่ทรงเชื่อง่ายของพระพุทธบิดา โดยทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก (มหาธรรมปาลชาดก)
ในอดีตกาล สมัยพระเจ้าพรหมทัตครองราชย์สมบัติในพระนครพาราณสี มีบ้านธรรมปาลคาม ในแคว้นกาสี เป็นที่อยู่ของตระกูลธรรมบาลพราหมณ์ ซึ่งทุกคนในตระกูลจะรักษาธรรม คือกุศลกรรมบถ ๑๐ ส่วนทาสและกรรมกรก็ให้ทานรักษาศีล ทำอุโบสถกรรม
ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลนั้น นามว่าธรรมปาลกุมาร เมื่อโตขึ้น บิดาได้ส่งไปเรียนศิลปะ ณ เมืองตักกศิลา ในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ได้เป็นหัวหน้ามาณพพวกอันเตวาสิก ๕๐๐ คน เมื่อบุตรคนโตของอาจารย์ตายลงตั้งแต่ยังหนุ่ม ทั้งอาจารย์ทั้งศิษย์และหมู่ญาติต่างร้องไห้คร่ำครวญอยู่ ณ ที่ฌาปนกิจศพในป่าช้า ยกเว้นธรรมปาลบุตรคนเดียวเท่านั้นที่ไม่ร้องไห้ คร่ำครวญ
เมื่อออกมาจากป่าช้า ธรรมปาลกุมาร กล่าวกับมาณพ ๕๐๐ คน ว่าทำไมมาณพมาตายตั้งแต่ยังหนุ่ม เพราะประเพณีของตระกูลตน จะไม่มีใครตายตอนหนุ่ม มีแต่ตายตอนแก่แล้วเท่านั้น มาณพทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปบอกอาจารย์
หลังทำฌาปนกิจศพบุตรเสร็จแล้ว ๗ -๘ วัน อาจารย์ได้เรียกธรรมปาลกุมารมาสั่งให้เป็นผู้บอกศิลปะแก่มาณพทั้งหลาย จนกว่าอาจารย์จะกลับมา แล้วออกเดินทางไปบ้านบิดาของธรรมปาลกุมารเพื่อพิสูจน์ความจริง พร้อมทั้งเก็บกระดูกแพะตัวหนึ่งมาล้างเอาใส่กระสอบ ให้คนรับใช้ถือตามไป
เมื่อถึงเรือนของมหาธรรมปาละ หลังบริโภคอาหาร อาจารย์ทิศาปาโมกข์ได้กล่าวกับบิดาธรรมปาละ ว่า ธรรมปาลกุมาร เป็นคนมีสติปัญญา เรียนจบไตรเพทและศิลปะ ๑๘ ประการแล้ว แต่ได้ตายด้วยโรคอย่างหนึ่ง และปลอบว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง อย่าได้เศร้าโศกไปเลย เมื่อบิดาของธรรมปาละได้ฟังก็ตบมือหัวเราะดังลั่น แล้วกล่าวว่า ลูกของตนยังไม่ตาย ที่ตายเป็นคนอื่น แม้อาจารย์ทิศาปาโมกข์จะนำกระดูกออกมาให้ดูและบอกว่าเป็นกระดูกของธรรมปาลกุมาร บิดาของธรรมปาละก็ยังไม่เชื่อ และกล่าวว่ากระดูกนี้เป็นกระดูกแพะหรือสุนัข ไม่ใช่ของบุตรชาย เพราะในตระกูลของพวกเขา ไม่มีใครตายตั้งแต่ยังหนุ่ม มา ๗ ชั่วโคตรแล้ว อาจารย์ทิศาปาโมกข์เห็นความอัศจรรย์นั้น มีความโสมนัส จึงถามถึงวัตร พรหมจรรย์ ที่ตระกูลธรรมบาลพราหมณ์ถือปฏิบัติ จนมีผลให้คนหนุ่มๆในตระกูลนี้ไม่ตาย
เหตุที่ทำให้คนหนุ่มๆ ในตระกูลธรรมบาลพราหมณ์ไม่ตาย
- ประพฤติธรรม ไม่กล่าวมุสา งดเว้นกรรมชั่ว งดเว้นกรรมอันไม่ประเสริฐทั้งปวง
- ฟังธรรมของอสัตบุรุษ และสัตบุรุษแล้ว ไม่ชอบใจธรรมของอสัตบุรุษ ละทิ้งอสัตบุรุษ แต่ไม่ละทิ้งสัตบุรุษ
- ก่อนจะให้ทาน เป็นผู้ตั้งใจดี แม้กำลังให้ก็ชื่นชมยินดี ครั้นให้แล้วก็ไม่เดือดร้อนในภายหลัง
- เลี้ยงดูสมณะ พราหมณ์ คนเดินทาง วณิพก ยาจก และคนขัดสนทั้งหลาย ให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวและน้ำ
- ไม่นอกใจภรรยา ภรรยาก็ไม่นอกใจ ประพฤติพรหมจรรย์นอกจากภรรยาของตน
- งดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นสิ่งที่เขาไม่ให้ในโลก ไม่กล่าวมุสา ไม่ดื่มน้ำเมา
- บุตรที่เกิดในหญิงที่ดีเหล่านั้น เป็นผู้ฉลาดเฉลียว มีปัญญามาก เป็นพหูสูต เรียนจบไตรเพท
- มารดาบิดา พี่น้องหญิงชาย บุตรภรรยา และทุกคนประพฤติธรรมเพราะเหตุแห่งโลกหน้า
- ทาส ทาสี คนอาศัยเลี้ยงชีพ คนใช้ และกรรมกรทั้งหมด ประพฤติธรรมเพราะเหตุแห่งโลกหน้า
ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ
เอสานิสํโส ธมฺเม สุจิณฺเณ น ทุคฺคตึ คจฺฉติ ธมฺมจารี ฯ
“ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ผู้ประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ ดังนั้นธรรมปาละกุมาร อันธรรมคุ้มครองแล้วยังมีความสุขอยู่ กระดูกที่นำเอามานี้เป็นกระดูกสัตว์อื่น บิดาของธรรมปาละกล่าวกับอาจารย์ทิศาปาโมกข์”
อาจารย์ทิศาปาโมกข์ฟังแล้วมีความยินดี ขอขมาโทษแก่บิดาธรรมปาละ แล้วกล่าวว่า การมาในครั้งนี้เป็นการมาดี มีผล ไม่ไร้ผล กระดูกนี้เป็นกระดูกแพะ ธรรมปาละกุมารสบายดี และได้เขียนข้อธรรมที่ได้ฟังลงในสมุด อยู่ต่ออีก ๒-๓ วัน จึงกลับเมืองตักกศิลา ให้ธรรมปาลกุมารศึกษาศิลปะทุกอย่าง แล้วส่งกลับด้วยบริวารใหญ่
เมื่อฟังพระธรรมเทศนาจบ พระเจ้าสุทโธทนะได้ดำรงอยู่ในอนาคามิผล พระศาสดาทรงประชุมชาดก ว่ามารดาบิดาในครั้งนั้น ได้มาเกิดเป็นพุทธมารดาพุทธบิดาในบัดนี้ อาจารย์ในครั้งนั้นได้มาเกิดเป็นพระสารีบุตรในบัดนี้ บริษัทในครั้งนั้นได้มาเกิดเป็นพุทธบริษัทในบัดนี้ ส่วนธรรมปาลกุมารได้มาเกิดเป็นตถาคต
เพราะเราต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เพราะความไม่เข้าใจทำให้เราเกิดความประมาทเกิดความเพลิดเพลิน เช่นโควิดมันติดกันหรือหวัดมันติดกัน ความเพลิดเพลินความประมาท ก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางจราจรในการขับขี่ยานพาหนะต่างๆ ให้ทุกคนรู้จักคำว่าชาติ ชาติที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐ ก็พากันมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราจะไม่ได้เป็นได้แต่เพียงคน ศาสน์ก็หมายถึงพระศาสนา เอาธรรมะมาทำใจ ต้องเข้าใจ ถ้าไม่งั้นจะมองไม่เห็นโครงสร้างของชีวิต เราจะเอาตัวตนเป็นที่ตั้งไม่ได้ ตัวตนทำให้เรามีปัญหาคนอื่นก็มีปัญหา ถ้าเราไม่มีตัวไม่มีตน ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมันจะ เดินไปก้าวไปด้วยศีล ด้วยธรรม ด้วยคุณธรรม ชีวิตของเราก็ถือว่าเป็นชีวิตที่ประเสริฐที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์เป็นผู้ที่จิตใจสูง สงบเย็นเป็นพระนิพพาน
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee