แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระธรรม ตอนที่ ๔๖ ไม่ว่ามนุษย์จะเกิดมาอย่างไรไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญที่สุดคือธรรมะเท่านั้น เป็นเครื่องแบ่งแยกว่าคนจะเป็นคนดีหรือคนชั่ว มิใช่ชาติชั้นวรรณะ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยของเราล้มเหลวในการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ประเทศเราล้มเหลวทั้งในด้านวัตถุ และล้มเหลวทางด้านการพัฒนาจิตใจ สาเหตุของความล้มเหลวนี้สืบเนื่องมาจากโครงสร้างพื้นฐาน ๓ อย่างของสังคมคือ ๑. บ้านหรือครอบครัว ๒. วัดวาอาราม และ ๓. โรงเรียน ที่ยังไม่มีความเห็นถูกต้องความเข้าใจที่ถูกต้อง ทำให้ภาคปฏิบัติยังขาดตกบกพร่อง และยังไม่ได้มาตรฐานที่ขับเคลื่อนประเทศไทยของเราให้ดีขึ้น ปัจจุบันคนเราเอาอัตตาตัวตนนำธรรมะ เอาตัวตนนำสิ่งที่ถูกต้อง ทำให้บุคลากรประเทศในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าครอบครัว เจ้าอาวาส คุณครูหรือข้าราชการ ยังทำหน้าที่ของตนเพื่อประโยชน์ตน หรือประโยชน์แก่พวกพ้องของตน เราทุกคนต้องมาแก้ไขที่ตัวเอง มันถึงจะเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุ ไม่ใช่เอาแต่จะมุ่งแก้ไขที่ปลายเหตุ เช่นว่า เราไปโฟกัสว่าคนนั้นไม่ดี เป็นคนสีดำ เค้าควรแก้ตัวเองเพื่อพัฒนาประเทศของเรา ความคิดเห็นแบบนี้ยังเป็นความคิดเห็นที่ผิดเข้าใจผิด
เราทุกคนต้องมุ่งมั่นที่จะแก้ไขตัวเองอย่างเต็มที่ ความมั่นคงจึงจะเกิดขึ้นกับเราและครอบครัวของเรา คนเรายังไม่รู้ว่าการมีตัวตนนั่นแหละคือปัญหา เพราะการที่เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ศีลก็จะไม่เกิดขึ้นแก่เรา ธรรมะก็จะไม่จะไม่เกิดขึ้นแก่เรา กฎหมายบ้านเมืองเป็นสิ่งที่ดี แต่ปัจจุบันเนื่องจากกฎหมายถูกออกโดยคนที่มีเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ทำให้เกิดอคติ เกิดความลำเอียง เพื่อเอื้ออำนวยตัวตนและพวกพ้องของตน
คำว่า "อคติ" แปลว่า ทางที่ไม่ควรดำเนินไป, ไม่ใช่ทางที่จะเดินต่อไป หรือไม่ควรประพฤติปฏิบัติ คำว่า อคติ ในภาษาไทยหมายถึง ความลำเอียง, ความไม่เที่ยงธรรม, ความไม่ยุติธรรม ฯลฯ "อคติ" เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ยังมีกิเลสซึ่งจะต้องมีอยู่ด้วยกันทุกคน เพราะปกติคนเราจะทำอะไรก็ตาม มักจะคิดถึงประโยชน์ของตนเอง ญาติพี่น้อง หรือพวกพ้องก่อนเสมอ ซึ่งการกระทำในลักษณะเช่นนี้ เป็นสาเหตุให้ความถูกใจอยู่เหนือความถูกต้อง ความผิดอยู่เหนือความถูก หรือเห็นผิดเป็นชอบ อคติ ๔ ได้แก่
๑) ฉันทาคติ ความลำเอียงเพราะความรักใคร่กัน คือ เป็นความลำเอียงที่ไม่ตรงทาง ฉันทาคตินี้ เป็นภัยร้ายแรงสำหรับผู้บริหาร ผู้เป็นใหญ่ เพราะไปเข้าข้างผู้ที่ตนรัก จนลืมนึกถึงเหตุผลและความยุติธรรมทำให้เสียการปกครอง ฉะนั้น ผู้บริหารหรือผู้ใหญ่ จะต้องทำลายฉันทาคติให้หมดไป
๒) โทสาคติ ความลำเอียงเพราะความโกรธ หรือความขัดเคืองกัน คือ เป็นความลำเอียงที่ผิดธรรมดา ปราศจากเหตุผล ผิดทำนองคลองธรรม อันมีความโกรธมาเป็นเหตุให้เสียความยุติธรรม ฉะนั้น ผู้เป็นผู้บริหารหรือผู้ใหญ่ อย่าตกอยู่ในอำนาจของความโกรธ เพราะความโกรธคอยเผาจิตใจให้เร่าร้อน การแก้โทสะ คือทำบุญด้วยการรักษาศีล ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้เป็นผู้ใหญ่ควรหาทางกำจัดโทสาคติให้หมดไปด้วยการแผ่เมตตา
๓) โมหาคติ ความลำเอียงเพราะความหลง คือ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะความโง่เขลาเป็นเหตุ ไม่รู้เท่าตามความเป็นจริง อันเป็นเหตุให้ความยุติธรรมเสียไป ไม่ตริตรองให้ถ่องแท้ด้วยเหตุผล เรียกว่า ทำอย่างโง่เขลาเบาปัญญา ฉะนั้นผู้เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้บริหาร ต้องใช้สติปัญญาพิจารณาเหตุผลนั้นๆ จึงจะสามารถกำจัดโมหาคติให้หมดไปได้ การแก้โมหะคือ การทำบุญด้วยการเจริญภาวนา ฝึกอบรมจิตให้เจริญด้วยสมาธิและปัญญา
๔) ภยาคติ ความลำเอียงเพราะความกลัว คือ มีความขลาดกลัว อันมีความหวาดหวั่นเป็นมูลเหตุ หมายความว่า เพราะมีความขลาดกลัวจึงยินยอมเข้าข้างฝ่ายที่ตนกลัว โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลและความยุติธรรม เช่น ตุลาการพิจารณาตัดสินคดีให้คู่ความที่มีอำนาจวาสนา เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ตนหวาดกลัวว่าถ้าติดสินให้แพ้แล้ว เขาจะทำอันตรายตน หรือกลั่นแกล้งตนได้ จึงตัดสินให้ชนะคดี อย่างนี้เรียกว่า มีภยาคติ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ชนเหล่าใดไม่สำรวมในกาม ไม่ประกอบด้วยธรรม ไม่เคารพในธรรม มีปรกติถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติและภยาคติ บุคคลนี้เราเรียกว่า เป็นขยะหยากเยื่อในบริษัท อันสมณะผู้รู้กล่าวแล้วอย่างนี้
ชนเหล่าใดตั้งอยู่ในธรรม มีปรกติไม่ถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ ย่อมไม่กระทำกรรมอันลามก เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นสัตบุรุษที่น่าสรรเสริญ ก็แลบุคคลนี้เราเรียกว่าเป็นผู้ผุดผ่องในบริษัท อันสมณะผู้รู้กล่าวแล้วอย่างนี้”
หมู่มวลมนุษย์ถ้าเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้งแล้วเราจะมีความสุขได้อย่างไร เมื่อไหร่ที่เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ความทุกข์จากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ของกู ก็จะเป็นเงาตามตัวเราไปทุกๆ ที่ ทำให้ดัชนีความสุขของเราถดถอยลง เพราะเราไม่รู้อริยสัจ ๔ ทั้งด้านวัตถุ และทางด้านจิตใจ เลยทำให้มีแต่โทษไม่มีคุณแก่เราเลย เพราะเหตุที่เรายังมีตัวตนนี้ ทำให้เรารับไม้ผลัดจากพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ไม่ได้ ทุกๆ คนถ้าไม่พากันมายกเลิกตัวตน ศีลสมาธิและปัญญาก็จะเกิดกับเราไม่ได้ เพราะตัวตนนี้คือความมืดบอด
พวกเรายังมีความเห็นผิดความเข้าใจผิดและปฏิบัติผิด คิดว่าการที่เราเอาธรรมะมาดำเนินชีวิต เอาธรรมมะมาขับเคลื่อนประเทศ จะทำให้ประเทศล้าหลัง จะเป็นการกระทำไปเพื่อการประกอบทุกข์แก่ชาติบ้านเมือง แต่ความคิดแบบนี้คือความคิดของคนที่ไม่รู้จักอริยสัจ ๔ เลยเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ไม่สามารถปรับตัวเข้าหาธรรมมะและปรับตัวเข้าหาเวลาได้ เพราะโลกธรรมยังครอบงำคนนั้นอยู่ ทุกๆ คนต้องหามาดูตัวเอง ตั้งใจแก้ไขตัวเอง ไม่ต้องไปแก้ไขคนอื่น ดูตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงแก้ไขตัวเองมาหลายล้านชาติ เพื่อบำเพ็ญพุทธบารมีมาเป็นพระพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ท่านก็แก้ไขที่ตัวท่านเอง การที่เราจะสามารถรับไม้ผลัดจากพระพุทธเจ้าหรือจากพระอรหันต์ เราต้องมาแก้ไขที่ตัวเอง 100% เราถึงจะเป็น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ นักบวช คุณครูและข้าราชการที่ถูกต้องได้ เราจึงจะพัฒนาวัตถุและพัฒนาจิตใจของไปพร้อมๆ กันได้ มรรคผลจึงจะเกิดขึ้นกับเรา จากการที่เรามีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ไม่ว่าเราจะทำหน้าที่อะไรในสังคม เราสามารถพัฒนาใจและพัฒนาวัตถุไปพร้อมๆ กันได้
คนเราต้องปรับตัวเข้าหาธรรมะเข้าหาเวลา อย่างวันหนึ่งมี ๒๔ ชม. เราควรพากันมานอนหลับสนิทประมาณ ๖ ชม. เวลาที่เหลือที่เราตื่นขึ้น เราก็ให้มาทำหน้าที่ของตนเองให้สมบูรณ์ พากันมาเสียสละ และมีความสุขกับการทำงาน และการแก้ไขตนเอง ความเป็นพระจะได้เกิดขึ้นกับเราทุกคน แม้ว่าประชาชนไม่ได้พากันมาบวช ก็สามารถเป็นพระได้ ตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี แต่เนื่องจากยังมีภาระเรื่องการดูแลตัวเองและครอบครัวของตัวเอง จึงไม่สามารถเป็นพระอรหันต์ได้ ส่วนนักบวชที่พากันยกเลิกตัวเอง 100% ก็สามารถเป็นพระอรหันต์ได้ เพราะภาระต่างๆ ก็ไม่มี ปัจจัย ๔ ก็ไม่ต้องกังวล เพราะมีประชาชนดูแล เราต้องพากันเข้าใจว่าพวกที่พากันมาบวชห่มผ้าเหลืองยังถือว่าไม่ใช่พระ เป็นเพียงแต่สมมุติสงฆ์ และถ้าเรายังเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง คำว่าพระแท้ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นกับใจเราได้เลย เราเป็นเพียงตัวละครในบทละครหนึ่งเท่านั้นที่เค้าแต่งตั้งเราเป็นผู้ทรงเกียรติ ไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตย์ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ ครูบาอาจารย์ หรือนักบวชใหม่ เป็นเพียงการแต่งตั้ง เพื่อให้เราได้มีโอกาสทำหน้าที่ และมาเสียสละเพื่อพัฒนาใจ และพัฒนาวัตถุไปพร้อมๆ กัน เราต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาขับเคลื่อนตัวเองโดยเอาสมมติที่เค้าแต่งตั้งเรามาพัฒนาตนเอง และมาพัฒนาบ้านเมือง เราทุกคนต้องมีสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง และการปฏิบัติที่ถูกต้องเราจะได้มีความสุขในการทำงาน และมีความสุขที่ได้มีโอกาสมาเสียสละ
ไม่ว่าโลกจะเป็นมาอย่างไร ไม่ว่ามนุษย์จะเกิดมาอย่างไร (ไม่ว่าจะเป็นอย่างที่เล่ามา หรืออย่างอื่นก็ตาม) ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญที่สุด ธรรมะ เท่านั้นเป็นเครื่องแบ่งแยกว่าคนจะเป็นคนดี หรือคนชั่วมิใช่ชาติชั้นวรรณะ วันนี้ขอเล่าเรื่องสามเณรสองรูปชื่อ วาเสฏฐะ กับ ภารทวาชะ เรื่องราวของสามเณรน้อยทั้งสองรูปมีบันทึกไว้ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย (อัคคัญญสูตร) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ สามเณรทั้งสองเป็นบุตรพราหมณ์ เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา วันหนึ่งได้ชวนกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดบุพพาราม เมืองสาวัตถี พระพุทธเจ้าตรัสถามว่าเธอทั้งสองเป็นพราหมณ์มาบวชในธรรมวินัยของตถาคต ไม่ถูกพวกพราหมณ์ด้วยกันด่าว่าเอาหรือ สามเณรทั้งสองกราบทูลว่า ถูกด่ามากทีเดียว พระเจ้าข้า “เขาด่าอย่างไรบ้าง” ตรัสซัก
“เขาด่าว่า พวกข้าพระองค์เกิดในวรรณะประเสริฐ เป็นวรรณะบริสุทธิ์ เป็นบุตรพรหม เกิดจากปากของพรหม ยังไม่รักดี มาบวชอยู่กับพวกสมณะโล้นซึ่งเป็นพวกไพร่ วรรณะเลว เกิดจากเท้าของพรหม”
พระพุทธเจ้าทรงสดับรายงานดังนั้น จึงตรัสว่า “พวกพราหมณ์พวกนั้นลืมตนเกิดจากโยนีของพราหมณีแท้ๆ ยังกล่าวว่าเกิดจากปากพระพรหม เป็นการพูดเท็จแท้ๆ” พระองค์ตรัสต่อไปว่า ต่อไปถ้าใครถามว่าเป็นใคร พวกเธอจงกล่าวตอบว่า พวกเราเป็นสมณะ ศากยบุตร เป็นโอรสของตถาคตเกิดจากธรรมอันธรรมะสร้าง เป็นธรรมทายาท เพราะคำว่า ธรรมกาย พรหมกาย ธรรมทูต เป็นชื่อของตถาคต
จากนั้นพระองค์ตรัสเล่าว่า เมื่อโลกพินาศลง สัตว์ส่วนมากไปเกิดเป็นอาภัสรพรหม มีปีติเป็นภักษา ไม่มีเพศ มีความเรืองแสง อยู่ในวิมานอันสวยงาม เมื่อโลกเกิดขึ้นใหม่หลังพินาศ สัตว์เหล่านั้นจุติลงมาสู่โลกนี้ยังมีความเรืองแสงอยู่ และเหาะเหินเดินหาวได้ เบื้องแรกยังมีแต่น้ำ มืดมนไม่มีดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ไม่มีกลางคืนกลางวัน
ต่อมาเกิดง้วนดินลอยบนผิวน้ำ มีกลิ่นสีและรสอร่อย สัตว์โลกตนหนึ่งลองเอานิ้วจิ้มชิมดู ปรากฏว่ามีรสอร่อย สัตว์อื่นก็ทำตาม ต่างก็ติดในรสอร่อย ความเรืองแสงของร่างกายจึงหายไป เหาะไม่ได้อีกต่อไป
จากนั้นพระจันทร์พระอาทิตย์ก็ปรากฏ มีกลางวัน กลางคืน มีวัน เดือน ปี มีฤดูกาล จากนั้นก็เกิดสะเก็ดดิน มีสีกลิ่นและรสดีกินเป็นอาหารได้ เมื่อสัตว์ทั้งหลายกินสะเก็ดดิน ผิวพรรณก็ค่อยหยาบขึ้นๆ ความแตกต่างแห่งผิวพรรณดีก็ดูหมิ่นเหยียดหยามพวกที่ผิวพรรณหยาบ เมื่อเกิดการดูหมิ่นเหยียดหยามกันเพราะผิวพรรณ สะเก็ดดินก็หายไป มีเถาดินหรือเครือดินเกิดขึ้นแทน และเครือดินก็หายไปในที่สุด ต่อมาเกิดข้าวสาลี ไม่มีเปลือก มีแต่ข้าวสาร มีรสชาติอร่อย เมื่อเก็บเอาตอนเช้า ตอนเย็นก็งอกขึ้นแทน เมื่อเก็บเอาตอนเย็น ตอนเช้าก็งอกขึ้นแทน เหล่าสัตว์ที่กินข้าวสาลี ต่างก็มีผิวพรรณหยาบขึ้นๆ พวกที่ผิวพรรณยังดีดูกว่าพวกอื่น ก็เหยียดหยามพวกที่ผิวพรรณเลวกว่าตน
จากนั้นก็เกิดเพศหญิงเพศชายขึ้น มีการเพ่งมองกันเกินขอบเขตเมื่อเพ่งมองมากเข้าราคะกำหนัดก็เกิด มีการเสพเมถุนธรรมกัน ถูกพวกสัตว์ที่ไม่เสพเมถุนธรรมรังเกียจ เอาก้อนดิน ท่อนไม้ขว้างปา ด่าว่าเสียๆ หายๆ จึงมีความจำเป็นต้องสร้างกระท่อมหรือบ้านเรือนเพื่อกำบัง
ต่อมามีบางคนเกิดความโลภ นำข้าวสาลีมาตุนไว้เพื่อกินหลายวัน สัตว์อื่นๆ ก็ทำตาม การสะสมอาหารก็เกิดขึ้นทั่วไป ข้าวสาลีจึงมีเปลือก ที่ถูกถอนขึ้นแล้วก็ไม่งอกขึ้นแทนเหมือนแต่ก่อน เหล่าสัตว์โลกจึงประชุมแบ่งเขตข้าวสาลีกัน ต่อมามีคนสันดานโกง ขโมยส่วนของคนอื่น เมื่อถูกจับได้ ก็ด่าว่าถกเถียงกัน จึงเห็นความจำเป็นจะต้องมีใครสักคนที่เป็นที่เชื่อถือของชุมชนคอยดูแลผลประโยชน์ของชุมชน ทั้งหมดจึงแต่ตั้งบางคนเป็นหัวหน้าคอยทำหน้าที่ตำหนิคนควรตำหนิ ขับไล่คนควรขับไล่ โดยพวกเขาแบ่งส่วนข้าวสาลีให้
คนที่ประชาชนเลือกขึ้นมาจึงมีชื่อเรียกกันว่า “มหาชนสมมติ” (ผู้ที่มหาชนแต่งตั้ง) เขาทำหน้าที่เป็นที่พอใจของปวงชน จึงมีชื่อว่า “ราชา” (ผู้เป็นที่พอใจของปวงชน) เขาเป็นหัวหน้าดูแลที่นาให้ปวงชนจึงชื่อว่า “กษัตริย์” (ผู้เป็นใหญ่แห่งที่นา) วรรณะกษัตริย์ เกิดขึ้นได้ด้วยประการฉะนี้ (จะสังเกตว่าวรรณะกษัตริย์เกิดก่อน)
จากนั้นก็มีบางพวกปลีกตัวออกจากชุมชนเข้าป่าแสวงวิเวกสวดมนต์ภาวนา หรือเพ่งพินิจ พวกนี้เป็นที่มาแห่งวรรณะพราหมณ์
บางพวกยังยินดีในการครองเรือน ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยอาชีพชั้นสูงต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ พวกนี้เป็นที่มาแห่งวรรณะแพศย์
บางพวกประกอบอาชีพชั้นต่ำอื่นๆ เช่น การล่าเนื้อ ใช้แรงงานทั่วไป พวกนี้เป็นที่มาแห่งวรรณะศูทร
เมื่อทรงเล่าให้สามเณรทั้งสองฟังอย่างนี้แล้ว พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า ทั้งพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร ถ้าดูให้ดี ล้วนเกิดมาจากสัตว์พวกนั้น ไม่ได้เกิดจากพวกอื่น เกิดจากพวกที่เสมอกันมิใช่เกิดจากคนที่ไม่เสมอกัน เกิดขึ้นโดยธรรม มิใช่เกิดขึ้นโดยอธรรม
ตรงนี้เท่ากับทรงแย้งความเห็นของพราหมณ์ที่อ้างว่าคนเรามีกำเนิดสูงต่ำไม่เหมือนกัน พวกที่เกิดจากปากพรหมเป็นวรรณะพราหมณ์ พวกที่เกิดจากพาหาพรหมเป็นวรรณะกษัตริย์ พวกที่เกิดจากโสเภณี (ตะโพก) ของพรหมเป็นวรรณะแพศย์ พวกที่เกิดจากเท้าของพรหม เป็นวรรณะศูทร
พูดอีกนัยหนึ่ง วรรณะมิใช่เป็นเครื่องแบ่งความสูงต่ำ วรรณะแบ่งตามอาชีพที่แต่ละคนทำมากกว่า โดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์เกิดมาทัดเทียมกัน
จากนั้นทรงสรุปว่า ไม่ว่าคนเราจะมีกำเนิดมาอย่างไรก็ตาม นั้นมิใช่ประเด็นสำคัญ ที่สำคัญก็คือการกระทำของแต่ละคน ทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร ถ้าประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ ก็เป็นคนชั่วคนเลวเสมอเหมือนกัน เมื่อตายไปก็ไปเกิดในอบาย ทุคติวินิบาต นรก เหมือนกัน
ถ้าประพฤติดีทางกาย วาจา ใจ ก็เป็นคนดีเสมอกัน เมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เหมือนกัน
ชาติชั้นวรรณะหาใช่เครื่องแบ่งแยกความแตกต่างกันไม่
ถ้าวรรณะทั้งสี่ สำรวมกาย วาจา ใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (คือ สติปัฏฐาน = การตั้งสติ ๔, สมมัปปธาน = ความเพียรชอบ, อิทธิบาท = ธรรมเครื่องให้บรรลุความสำเร็จ ๔, อินทรีย์ = ธรรมที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ๕, พละ = ธรรมที่เป็นกำลัง ๕, โพชฌงค์ = ธรรมอันเป็นองค์ประกอบแห่งการตรัสรู้ ๗, อริยมรรค = ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ๘) ก็สามารถปรินิพพาน (ดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล) ได้ในปัจจุบันเหมือนกัน
ในบรรดาวรรณะทั้งสี่นั้น ผู้ใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ (หมดสิ้นอาสวะ) หมดภารกิจ ปลงภาระ หลุดพ้นเพราะรู้ชอบ นับว่าเป็นพระอรหันต์นั้นแหละเป็นวรรณะสูงที่สุด ท้ายสุดทรงย้ำสุภาษิตของสนังกุมารพรหม ซึ่งตรงกับพระมติของพระองค์ว่า “ในหมู่ผู้ถือโคตร กษัตริย์นับว่าประเสริฐสุด แต่ผู้มีวิชชา (ความรู้ดี) และจรณะ (ความประพฤติดี) เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” สามเณรทั้งสองสดับพระธรรมเทศนาจบลงก็ชื่นชมในภาษิตของพระพุทธองค์มาก ตำราในที่อื่นบอกว่าจากนั้นไม่นาน สามเณรทั้งสองก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุและได้บรรลุพระอรหัต
คนเราจะทำตามอาธยาศัยหรือความรู้สึกไม่ได้ เพราะนั้นคือการเอาตัวตนเป็นที่ตัง เราจะเป็นคนที่มีมาตรฐาน (Standard) ได้อย่างไร หากเราเอาตัวตนมาดำเนินชีวิต ตัวตนนั้นคือความไม่สงบ ความฟุ้งซ่าน ความลังเลสงสัย และความชอบความไม่ชอบ การที่เรามีตัวตน ทำให้เราไม่อยากที่จะเอาตัวเองมาพิจารณาสู่พระไตรลักษณ์ ไม่อยากเอาตัวเองแยกกาย แยกจิตเพื่อจะดูว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันไม่แน่ไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ตัวตนนั้นแหละที่คิดว่าเราเอาแต่สมาธิหรือความสงบก็เพียงพอ แต่ออกมาจากความสงบและเจอผัสสะความรู้สึกนั้น ยิ่งกว่าโดนฟ้าผ่าเสียอีก การที่เราทำงานก็ดี จะรักษาศีลก็ดี หรือทำสมาธิก็ดีเราต้องมีสัมมาทิฏฐิคือความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องและการปฏิบัติถูกต้องเป็นตัวนำ ไม่งั้นเราจะเป็นคนทำงานหรือปฏิบัติธรรมเพื่อตัวเพื่อตน ตัวตนนั่นแหละคือความไม่ถูกต้อง สุดท้ายแล้วการปฏิบัติของเราจะเป็นศีล สมาธิปัญญาเพื่อตัวเพื่อตน มันมีแต่ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ และทุกข์ดับไป นอกจากทุกข์กายที่เรามีตามธรรมชาติแล้ว เรายังสร้างเหตให้มีทุกข์ใจเสียอีก เป็นทุกข์คูณ ๒ เลย
ธรรมะเป็นของที่ดีจริงๆ เป็นการหยุดปัญหา และหยุดความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เป็นสิ่งที่ทันโลกทันสมัย ถึงโลกนี้จะผ่านไปอีกล้านปีธรรมะหรือพุทธะจะเป็นสิ่งที่ทันสมัยตลอดกาลและตลอดไป ทุกๆ คนควรพากันมาเข้าใจว่าการปฎิบัติธรรมนี้ ทำให้เรายกเลิกความทุกข์ ณ ปัจจุบัน ตอนนี้เวลานี้ เนื่องจากเราทุกคนได้ยกเลิกตัวตนเสียแล้ว แม้โลกของเราจะทันสมัยขึ้นทุกวัน สิ่งสะดวกสบายก็มีมากขึ้น อาคารบ้านช่องก็สูง แต่เราก็ยังเป็นผู้สงบวิเวกได้เสมอทุกที่ทุกเวลา เพราะเราได้ยกเลิกตัวตน และได้รู้ชัดถึงอริยสัจ ๔ ทั้งทางใจและทางวัตถุ การปฏิบัติของเราต้องเป็นแบบนี้ ติดต่อต่อเนื่องแบบนี้ ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ก็ต้องสะสมอบรมบารมีบ่มอินทรีย์ และให้มีปฏิปทาสม่ำเสมอเป็นสายน้ำ ไม่ใช่หยดน้ำ
เราทุกคนต้องพากันมาเข้าใจว่า คำว่า ภาระ คือการแสดงถึงความมีตัวตน เราต้องมาเข้าใจกันใหม่ว่าตำแหน่งหน้าที่ หรือโอกาสต่างๆ ที่เราได้รับมอบหมายมานั้น คือช่องทางที่เราจะมาเสียสละ เพื่อวางภาระหนักคือความมีตัวตนของเรา การเสียสละตัวเองเพื่อประโยชน์คนอื่นคือความสุข การที่เรามีตำแหน่งหน้าที่การงานสูงคือเป็นโอกาสที่ดี และที่มีเยอะ ก็เพื่อให้เรามาเสียสละละทิ้งซึ่งตัวซึ่งตน สุดท้ายถ้าเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องและปฏิบัติถูกต้อง สิ่งที่เหลืออยู่คือความสุขและความดับทุกข์ ตัวอย่างพระพุทธเจ้าท่านนอนเพียงวันละ ๔ ชม อีก ๒๐ ชม. ที่เหลือทำงานเสียสละเพื่อส่วนรวมอย่างมีความสุข
คนเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผู้ประเสริฐ แต่เราจะมีประโยชน์อะไร ถ้าหากเราเอาตัวตนนำการใช้ชีวิต ไม่ได้เอาธรรมะมาดำเนินชีวิต มันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าเราทำทุกอย่างเพื่อประกอบทุกข์ให้เพิ่มพูนขึ้น ทุกๆ คนต้องพากันมาปฏิบัติตัวเองให้มีความสุข แต่หากเราคิดว่าการรักษากฎหมาย การรักษาศีลเป็นไปเพื่อประกอบทุกข์ เป็นการลิดรอนความสุขและเสรีภาพของตน อันนี้มันคือความเสียหายกับตนเองและผู้อื่น ความไม่ถูกต้องก็คือความไม่ถูกต้อง การที่เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ก็เป็นการปฏิบัติที่ผิด ทุกๆ คนต้องพากันมายกระดับภาคปฏิบัติของตน ให้ตัวเองมีมาตรฐานมากขึ้น มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติธรรมะ เราดูตัวอย่างของพุทธศาสนาที่ผ่านมา เพราะการที่เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง พุทธะก็หายไปทำให้มหาลัยนาลันทาถูกเผา การที่เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ลูกศิษย์ หลานศิษย์ตั้งอยู่ในความประมาทเพลิดเพลิน เมื่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์ละขันธ์นิพพานไป วัดวาอารามก็กลายเป็นวัดเสนาสนะร้าง เพราะคนเหล่านี้เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ไม่ได้เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง
การที่เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เมล็ดพันธ์ที่เราปลูกวันนี้ก็อาจจะโตได้เหมือนกัน วันนึงอาจจะกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ แต่ก็เป็นได้แต่ทางวัตถุแต่ไม่มีการพัฒนาทางใจไปพร้อมๆกัน ทำให้เสียหายแก่โลก แก่ประเทศ และทุกระดับชั้นของโครงสร้างสังคม ความเห็นผิด ความเข้าใจผิด และการปฏิบัติผิดทำลายโอกาส และความมั่นคงของการที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐ เพราะมีตัวตนมาก เราเลยหลงเอาตัวตนของเรานั้นมาปกครองใจของเรา
เราสามารถแก้ไขได้ หากเรามาตั้งใจกันใหม่ เรามารู้เหตุรู้ปัจจัย มีความสมัครสมานสามัคคีเพื่อยกเลิกตัวตน เห็นโทษ และเห็นอริยสัจ ๔ ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นคนที่ละอายใจต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ยกเลิกตัวจน และความเป็นอลัชชีของตันเอง ความเป็นอลัชชีไม่ได้อยู่ไกล อยู่ในใจของเราหากเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เราก็จะไม่ต่างอะไรจากเปรต ผี อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน
เมื่อเราตั้งใจยกเลิกตัวเอง ปรับตัวเองเข้าหาเวลา ปรับตัวเองเข้าหาธรรมะความสว่างก็จะเกิดขึ้นกับเรา ความมืดสนิทและความสับสนก็จะหายไป เราก็จะมีความสุขในการปฏิบัติมากขึ้น พวกเราจะได้เป็นคนที่มีศีลสมาธิและปัญญาที่บริสุทธิ์สงบเย็นเป็นพระนิพพาน เป็น air conditioning เคลื่อนที่ไปกับเราทุกหนทุกแห่ง ทั้งกายทั้งวาจาและทั้งใจของเรา เราจะเอาความหลง หรือเอาธาตุขันธ์อายตนะมาเป็นเราไม่ได้ เพราะธาตุขันธ์อายตนะเป็นเพียงผลของการที่เรามีเหตุคืออวิชชา เราต้องทำความเข้าใจเรื่องปฏิจสมุปบาทของกายและใจเราให้ดี ไม่มีอะไรจะเสียหาย เท่ากับการที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์อันประเสริฐแล้วทีมีความเห็นผิดมีความเข้าใจผิดมีการปฏิบัติผิด
การศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงปริญญาเอก เป็นไปเพื่อให้เรามีสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องและการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อละตัวละตน เพื่อพัฒนาวัตถุและพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน การที่เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง หัวใจของเราก็เท่ากับปาราชิก ถึงแม้ว่าเราบวชอยู่ แต่เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้งเราก็มีหัวใจปาราชิกแล้ว แต่เมื่อไหร่ที่เรายกเลิกตัวตนได้ ใจของเรานั้นจึงเข้าถึงพระนิพพาน การที่เรามีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้องและการปฏิบัติที่ถูกต้องก็เหมือนอาหาร ใครทานก็สามารถอิ่มได้เหมือนกัน รู้สึกเย็นได้เหมือนกัน เพราะว่าสัมมาทิฏฐิจะมีกับเราทุกหนทุกแห่ง เปรียบเสมือนใจเราที่เป็นแอร์ ห้องจะเล็ก ห้องจะใหญ่ ห้องจะแคบ ห้องจะโปร่งก็เย็นได้เหมือนกัน ความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ทำให้เรามีพุทธะทางจิตใจและพุทธะทางวัตถุ อย่างสมัยก่อนที่นา ๑๐ ไร่ ผลิตข้าวได้แค่ ๑ เกวียน แต่ปัจจุบันชาวนาที่เข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง สามารถพัฒนา ๑ ไร่ ให้ได้ผลผลิตถึง ๔-๕ เกวียนได้ การที่เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เราก็พากันมาฆ่าสัตว์ การที่เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้งเท่ากับไม่มีปัญญา หรือถ้ามีปัญญาก็เป็นปัญญาที่สุดโต่งที่เอาแต่วัตถุ หรือเอาแต่จิตใจ ไม่ใช่การปฏิบัติเพื่อทางสายกลาง ปัจจุบันเด็กสมัยใหม่ก็เอาแค่วัตถุ เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เด็กตั้งแต่ ๒ ขวบ จนถึงอากงอาม่าก็พากันมาติดโทรศัพท์มือถือ อันนี้คือความเสียหาย อันนี้คือการเอาตัวตนมาทำลายโลก แบบนี้พุทธะทางจิตใจ และพุทธะทางวัตถุจะเกิดขึ้นกับเราได้อย่างไร
พระพุทธเจ้าท่านให้เราประดับประดาตัวเองให้เป็นผู้มีศีล เป็นผู้ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นผู้เจริญปัญญาว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวของเรา เราต้องสร้างความดี สร้างบารมีเพื่อเจริญสติสัมปชัญญะให้มันสมบูรณ์ ให้เราเข้าถึงสวรรค์นิพพานตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ อย่าได้เห็นอะไรก็ตามไปหมด เหมือนคนไม่มีเจ้าของนะ คนที่คุมตัวเองไม่อยู่ บังคับตัวเองไม่อยู่ แสดงให้เห็นถึงมีสติสัมปชัญญะน้อยมาก เรามาดูคนติดเหล้า ติดบุหรี่ ติดยา ติดอบายต่างๆ คนจำพวกนี้แหละ สติสัมปชัญญะมันน้อย หรือว่ามันไม่มีเลย มันตั้งอยู่ในความประมาท
หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้นำเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไปประพฤติปฏิบัติให้ใจของเราเย็น เกิดกำลังมีพลังที่จะหยุดตัวเองให้ได้ ยกเลิกตัวตนให้ได้ จะได้ไม่ก่อกรรมสร้างเวร ก่อภพชาติวัฏสงสารอีกต่อไป...
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee