แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันพุธที่ ๑๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระธรรม ตอนที่ ๔๕ ไม่ว่าใครจะเป็นอะไรก็ต้องมาแก้ไขที่ตนเองทั้งสิ้น ถึงจะได้ทั้งประโยชน์ตนประโยชน์ท่านอย่างสมบูรณ์
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้ประชาชนทุกคนประชากรของโลกทุกชาติทุกศาสนาให้พากันเข้าใจ ให้มีสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง พัฒนาใจแล้วก็พัฒนาวัตถุไปพร้อมๆ กันให้เป็นทางสายกลาง จะได้เข้าถึงความสุขความดับทุกข์ เราจะได้ยกเลิกความเห็นผิดเข้าใจผิด ยกเลิกตัวตน ยกเลิกระบบชั้นวรรณะชาติตระกูล ที่เอาความยึดมั่นถือมั่นน่ะ ที่ยังเป็นนิติบุคคลตัวตน ให้ทุกคนพากันทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ แล้วก็มีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ วันหนึ่งคืนหนึ่งก็มี ๒๔ ชั่วโมง เวลานอนของเราก็ให้มันได้ ๖ ชั่วโมงเดี๋ยวนี้เป็นต้น สมองเราถึงจะไปสั่งร่างกายได้ทำธุรกิจหน้าที่การงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ทุกคนพากันเข้าใจ เมื่อยังเป็นเด็กเล็กเด็กน้อยก็ยังไม่รู้ ผู้ที่เป็นพ่อเป็นแม่ก็ต้องรู้ ตั้งแต่ลูกอยู่ในท้องต้องรู้ว่า เขาต้องได้รับ DNA ทางสายเลือดรวมถึงระบบทางจิตใจ ผู้ที่ตั้งครรภ์ก็ต้องรู้ว่า ต้องปฏิบัติธรรมะเพื่อให้ลูกได้รับ DNA ทางด้านจิตใจ ตามหลักเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ เพราะคนเราต้องรับ DNA จากพ่อจากแม่ เมื่อลูกยังอยู่ในครรภ์ พ่อแม่ต้องพากันรู้อริยสัจ ๔ ทางฝ่ายจิตใจและทางวัตถุ ต้องเข้าใจว่า เราทุกคนจะเอาตัวตนเป็นที่ตั้งไม่ได้ เอาตามอัธยาศัยไม่ได้ ต้องปรับตัวเข้าหาธรรมะ เข้าหาเวลา
เราอยู่ในครอบครัวอย่างนี้แหละ เราก็ต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง เป็นผู้ให้ ปรับตัวเข้าหาเวลา เพราะเวลากับธรรมะมันคืออันเดียวกัน ต้องพัฒนาให้มีความสุข การเรียนการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาเอกคือสัมมาทิฏฐิทางจิตใจคือสัมมาทิฏฐิทางวัตถุไปพร้อมๆ กันอย่างนี้ ทุกคนมีความสุขมีความดับทุกข์อยู่แล้ว ถ้ามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราเอาตามาเพื่อฉลาด เอาหูมาก็เพื่อฉลาด เอาจมูกลิ้นกายใจก็เพื่อฉลาด เอารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณมาเพื่อให้ฉลาด เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นข้อสอบ แล้วใจของเราก็มีพุทธะจะเป็นข้อตอบ เป็นภาพประพฤติภาคปฏิบัติอย่างนี้แหละ เพราะปัญหาต่างๆ ในโลกนี้มันมีสำหรับคนที่ไม่รู้อริยสัจ ๔ ไม่รู้ความจริงทางใจที่มันเวียนว่ายตายเกิด ไม่รู้ความจริงทางวัตถุ เราจึงต้องเข้าใจ ถึงแม้เราจะรวยเป็นมหาเศรษฐี ถ้าเราหลงมันก็แก้ปัญหาไม่ได้ มันกลับจะกลายเป็นรวยทางหลง รวยทางตัวตน เพราะคนที่มีการเรียนการศึกษาน้อยทำบาปน้อยกว่าพวกที่มีการเรียนการศึกษามากเสียอีก เพราะเป็นการเรียนการศึกษาเพื่อตัวเพื่อตน เรามีตัวมีตนก็ชื่อว่าเป็นสีดำสีเทา โฟกัสไปที่ไหนก็ถูกหมด โฟกัสไปหาอัยการก็ถูกอัยการ โฟกัสไปที่ผู้พิพากษา ที่ครูอาจารย์ ตำรวจทหาร หรือพระสงฆ์องคเจ้า ถ้าเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง นั่นแหละคือทุจริต
เราต้องรู้จักว่า เราจะหยุด ไม่ใช่ไปหยุดที่ไหน ต้องมาหยุดที่ตัวเองนี่แหละ เราก็มาแก้ที่เรานี่แหละ เราเรียนเราศึกษาเราปฏิบัติก็ต้องให้มันเข้าใจ ทุกอย่างแก้ไขได้ จะได้มีชีวิตที่มีสาระมีประโยชน์ เรามีความเห็นแก่ตัว ไม่รู้จักดีไม่รู้จักชั่วไม่รู้จักผิดไม่รู้จักถูก ตัวตนคือความไม่รู้ ถ้ารู้แล้ว มันจะไม่ฆ่าสัตว์ มันจะไม่โลภไม่ทุจริตไม่โกงกินคอรัปชั่น ไม่หลงประพฤติผิดในกาม ไม่โกหกหลอกลวง ไม่ประมาทขาดสติ นั่นแสดงว่ายังไม่รู้ เราจะเอาความไม่รู้เป็นความถูกต้อง ไม่ได้ ถึงจะเป็นประชาธิปไตยทำเหมือนกันอยู่แต่มันก็คือความไม่ถูกต้อง ถึงแม้เราจะเอากฎหมายบ้านเมือง มันก็เป็นแค่ประชาธิปไตยหรือสังคมนิยม ความไม่รู้มันก็เป็นเผด็จการ มันแก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าทำเหมือนพวกเราเหมือนกับพระภิกษุสงฆ์ 99% ก็แก้ปัญหาไม่ได้ที่เอาตัวตนเป็นที่ตั้งก็เป็นได้แต่เพียงแบรนด์เนม ข้าราชการที่ทำอย่างนี้ก็ไปไม่ได้แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะความเห็นถูกต้องมันต้องเคลียร์กันพูดกันให้เข้าใจ ถ้าอย่างนั้นไม่ได้ จะไปแก้ปัญหาแต่ปลายเหตุ ทุกคนต้องมาแก้ที่ตัวเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็แก้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายกรัฐมนตรีก็แก้ที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีก็แก้ที่รัฐมนตรี ข้าราชการก็แก้ที่ข้าราชการ นักบวชก็แก้ที่นักบวช ไม่ว่าใครจะเป็นอะไรก็ต้องมาแก้ที่ตนเองทั้งสิ้น ถึงจะได้ทั้งประโยชน์ตนประโยชน์ท่านถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท
พระพุทธเจ้าตรัสว่า :- อตฺตทตฺถํ ปรตฺเถน พหุนาปิ น หาปเย อตฺตทตฺถมภิญฺญาย สทตฺถปสุโต สิยา. บุคคลไม่พึงยังประโยชน์ของตน ให้เสื่อมเสีย เพราะประโยชน์ของคนอื่นแม้มาก รู้จักประโยชน์ของตนแล้ว พึงเป็นผู้ขวนขวายในประโยชน์ของตน.
เมื่อพระศาสดาตรัสในกาลที่จวนจะปรินิพพานว่า "ภิกษุทั้งหลาย โดยกาลล่วงไป ๔ เดือนแต่วันนี้ เราจักปรินิพพาน" ภิกษุประมาณ ๗๐๐ รูปซึ่งยังเป็นปุถุชน เกิดความสังเวช ไม่ละสำนักพระศาสดาเลย เที่ยวปรึกษากันว่า "ท่านผู้มีอายุ พวกเราจะทำอะไรหนอแล?"
ส่วนพระอัตตทัตถเถระคิดว่า "ข่าวว่า พระศาสดาจักปรินิพพานโดยกาลล่วงไป ๔ เดือน ก็ตัวเรายังเป็นผู้มีราคะไม่ไปปราศ, เมื่อพระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่นี่แหละ เราจักพยายามเพื่อประโยชน์แก่พระอรหัต."
พระเถระนั้นย่อมไม่ไปสำนักของภิกษุทั้งหลาย. ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายกล่าวกะท่านว่า "ผู้มีอายุ ทำไม? ท่านจึงไม่มาสำนักของพวกกระผมเสียเลย, ท่านไม่ปรึกษาอะไรๆ" ดังนี้แล้ว ก็นำไปสู่สำนักพระศาสดา กราบทูลว่า "พระเจ้าข้า ภิกษุรูปนี้ย่อมทำชื่ออย่างนี้."
พระอัตตทัตถเถระนั้น แม้พระศาสดาตรัสว่า "เหตุไร? เธอจึงทำอย่างนั้น" ก็กราบทูลว่า "พระเจ้าข้า ข่าวว่าพระองค์จักปรินิพพานโดยกาลล่วงไป ๔ เดือน ข้าพระองค์พยายามเพื่อบรรลุพระอรหัต ในเมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่นี่แหละ."
พระศาสดาประทานสาธุการแก่พระเถระนั้นแล้วตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดมีความสิเนหาในเรา ผู้นั้นควรเป็นดุจอัตตทัตถะ ด้วยว่า ชนทั้งหลายบูชาอยู่ด้วยวัตถุต่างๆ มีของหอมเป็นต้น ย่อมไม่ชื่อว่าบูชาเรา, ส่วนผู้บูชาอยู่ด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมชื่อว่าบูชาเรา เพราะฉะนั้น แม้ภิกษุรูปอื่นก็พึงเป็นเช่นอัตตทัตถะ" ดังนี้ แล้วจึงตรัสพระคาถาดังข้างต้นว่า :- บุคคลไม่พึงยังประโยชน์ของตน ให้เสื่อมเสีย เพราะประโยชน์ของคนอื่นแม้มาก รู้จักประโยชน์ของตนแล้ว พึงเป็นผู้ขวนขวายในประโยชน์ของตน.
เนื้อความแห่งพระคาถานั้นว่า :- บุคคลผู้เป็นคฤหัสถ์ ไม่พึงยังประโยชน์ของตน แม้ประมาณกากณิกหนึ่งให้เสื่อมเสีย เพราะประโยชน์ของคนอื่น แม้ประมาณค่าตั้งพันทีเดียว. ด้วยว่าประโยชน์ของตนแห่งบุคคลนั้นแล แม้ประมาณกากณิกหนึ่ง ก็ยังของควรเคี้ยวหรือของควรบริโภคให้สำเร็จได้ ประโยชน์ของคนอื่น หาให้สำเร็จไม่.
กากณิก เป็นชื่อของมาตราเงินอย่างต่ำที่สุด แทบไม่มีค่าเสียเลย แต่ในที่นี้ เป็นคุณบทของคำว่าประโยชน์ จึงหมายความว่า ประโยชน์ของตนแม้น้อย จนไม่รู้จะประมาณได้ว่าเท่าไหน ก็ไม่ควรให้เสียไป.
ส่วนสองบาทพระคาถาเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสอย่างนั้น ตรัสด้วยหัวข้อแห่งกัมมัฏฐาน เพราะฉะนั้น ภิกษุตั้งใจว่า ‘เราจะไม่ยังประโยชน์ของตนให้เสื่อมเสีย’ ดังนี้แล้ว ก็ไม่พึงยังกิจมีการปฏิสังขรณ์พระเจดีย์เป็นต้น อันบังเกิดขึ้นแก่สงฆ์ หรือวัตถุมีอุปัชฌายวัตรเป็นต้นให้เสื่อมเสีย ด้วยว่าภิกษุบำเพ็ญอภิสมาจาริกวัตรให้สมบูรณ์อยู่แล ย่อมทำให้แจ้งซึ่งผลทั้งหลายมีอริยผลเป็นต้น. เพราะฉะนั้น การบำเพ็ญวัตรให้บริบูรณ์แม้นี้ จึงชื่อว่าเป็นประโยชน์ของตนแท้.
ในกาลจบเทศนา พระเถระนั้นได้ตั้งอยู่ในพระอรหัตผล. เทศนาได้เป็นประโยชน์แม้แก่ภิกษุผู้ประชุมกันทั้งหลาย ดังนี้แล.
การทำ “ประโยชน์ของผู้อื่น” เป็นสิ่งที่ดี ที่เราควรทำ เพราะ มีผลเป็น “วิบากกรรมดี” หรือ “กุศลวิบาก” แต่เราต้องระมัดระวัง อย่าให้เสีย “ประโยชน์ของตน” การทำ “ประโยชน์ของตน” หมายถึง การปฏิบัติตาม โอวาทปาฏิโมกข์ ๓ ประการ ได้แก่
๑. การไม่ทำบาปอกุศลทั้งปวง ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง การไม่สร้างอกุศลวิบาก หรือ วิบากกรรมที่ไม่ดี มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต
๒. การหมั่นทำกุศลให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง การเพียรหมั่นสร้างกุศลวิบาก หรือ วิบากกรรมดี มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต
๓. การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส หมายถึง การเพียรหมั่นชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ซึ่งเป็นอกุศลมูล หรือ มูลเหตุของอกุศล ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น
การทำ “ประโยชน์ของผู้อื่น” หมายถึง การกระทำ เพื่อเกื้อกูลโลก เพื่อเกื้อกูลสังคม เพื่อเกื้อกูลผู้อื่น และ เพื่อเกื้อกูลสัตว์อื่น อันมีผลเป็น “วิบากกรรมดี” หรือ “กุศลวิบาก”
เพราะเหตุว่า ชีวิตของคนเรา ทั้งในชาตินี้ และ ชาติต่อๆ ไป ขึ้นอยู่กับ ผลของการทำ “ประโยชน์ของตน” เป็นหลัก และ เพราะเหตุว่าโดยปกติแล้ว การทำ “ประโยชน์ของตน” ย่อมก่อให้เกิด “ประโยชน์ของผู้อื่น” ตามมา เป็นธรรมดา ดังนั้น เราจึงควรมุ่งเน้น การทำ “ประโยชน์ของตน” เป็นหลัก เพื่อทำให้เกิด “ประโยชน์ของผู้อื่น” โดยไม่ทำให้เสีย “ประโยชน์ของตน”
การทำ “ประโยชน์ของผู้อื่น” แล้วทำให้เสีย “ประโยชน์ของตน” หมายถึง
๑. การทำประโยชน์ของผู้อื่น แล้วทำให้ กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน พอกพูนเพิ่มขึ้น ในจิตใจของตน คือ เกิดความโลภ เกิดความอยากได้ เกิดความอยากมี และ เกิดความอยากเป็น เพิ่มมากขึ้น หรือ เกิดอารมณ์ไม่พอใจ เกิดอารมณ์ขัดเคืองใจ เกิดอารมณ์โกรธ เกิดอารมณ์โทสะ เกิดอารมณ์พยาบาทอาฆาตแค้น หรือ เกิดความหลงใหลติดใจ ในลาภ ยศ สรรเสริญ และ โลกียสุข เพิ่มมากขึ้น
๒. การมุ่งทำประโยชน์ของผู้อื่น จนไม่มีเวลา ทำประโยน์ของตน
๓. การทำประโยชน์ของผู้อื่น แล้วทำให้ตน เป็นทุกข์ เดือดร้อนกาย และ เดือดร้อนใจ
๔. การทำประโยชน์ของผู้อื่น แล้วทำให้ผู้อื่น หรือ สัตว์อื่น เป็นทุกข์ เดือดร้อนกาย และ เดือดร้อนใจ (เกิดอกุศลวิบาก มาเติมเพิ่มในชีวิต)
คำว่า ประโยชน์ในทรรศนะของพระพุทธศาสนาเถรวาท หมายถึง ความสุข หรือสิ่งที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น เจริญขึ้น หรือแปลว่า จุดหมายของชีวิตมนุษย์ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น ๒ ประการ คือ ๑.ประโยชน์ทางวัตถุ ได้แก่ ทรัพย์สิน เกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นต้น ๒. ประโยชน์ทางด้านจิตใจ ได้แก่ การบรรลุคุณธรรม ทั้งมรรคผล และนิพพาน หรือระดับขั้นของการพัฒนาจิตใจ
ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้รู้เห็น ตามหลักแห่งความเป็นจริงจนกระทั่งวาระสุดท้ายพระองค์ทรงเน้นย้ำมากในเรื่องการปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน ดังที่ปรากฏในพุทธดำรัสว่า “ภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อ เกื้อกูลแก่คนหมู่มากเพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลเพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” ไม่เพียงแต่จะทรงสั่งสอนให้เหล่าภิกษุบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น เท่านั้น แม้พระองค์เองก็ทรงได้ปฏิบัติตามหลักการนั้นให้เห็นเป็นแบบอย่างด้วยดีมาตลอด นับตั้งแต่ทรงตรัสรู้จนถึงปรินิพพาน ในเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์สุขของคนหมู่มากนั้น พระองค์ยังได้ทรงตรัสอธิบายขยายความถึงรายละเอียดของหลักการนั้น โดยได้แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. ทิฏฐธรรมมิกัตถประโยชน์ ได้แก่ ประโยชน์ในปัจจุบัน หรือประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ปัจจุบัน หรือประโยชน์อย่างที่เห็นๆ เพราะทิฏฐธัมมะแปลว่า เรื่องที่เห็นๆ กันอยู่ เรื่องที่มองเห็นได้ในแง่กาละ ก็คือปัจจุบัน หรือถ้าพูดในแง่ของเรื่องราวก็คือเรื่องทั่วๆ ไป เรื่องการดำเนินชีวิต การเป็นอยู่ที่ปรากฏ เรื่องทางวัตถุที่เห็นกันได้ สภาพภายนอก เช่น การมีปัจจัย ๔ มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย มีฐานะ มีลาภ มีเกียรติ มียศ มีสรรเสริญ เรื่องชีวิตคู่ครอง ความมีมิตรไมตรี อะไรต่างๆ ในชีวิตปัจจุบันนี้ ในชีวิตที่มองเห็นๆ กันอยู่ นี้เป็นประโยชน์ปัจจุบัน ซึ่งพระพุทธศาสนาก็สอน ว่าเป็นจุดหมายประการหนึ่งในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ หรือการปฏิบัติตามธรรมในพระพุทธศาสนา
๒. สัมปรายิกัตถประโยชน์ ได้แก่ ประโยชน์ที่เลยออกไปหรือต่อออกไป สัมปราย แปลว่า เลยออกไป ก็หมายถึงเบื้องหน้า เลยออกไปไกลๆ ก็คือ ภพหน้า ชาติหน้า จะไปเกิดที่ดีๆ ไม่ไปเกิดที่ชั่วๆ นี่เป็นประโยชน์หรือเป็นจุดหมายขั้นสัมปรายะ หรือถ้าไม่มองไกลมากอย่างนั้น ก็ได้แก่สิ่งที่เป็นหลักประกันชีวิตในเบื้องหน้าหมายถึงสิ่งที่ลึกเข้าไปทางจิตใจ คือ พ้นจากเรื่องทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การมีฐานะ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ ชั้นภายนอกแล้วก็มาถึงเรื่องจิตใจ เรื่องคุณธรรมต่างๆ การที่จะมีจิตใจที่สุขสบาย ซึ่งท่านบอกว่าต้องมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ มีศรัทธา มีความประพฤติซึ่งทำให้มั่นใจตนเอง มีศีล มีจาคะ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีสุตะ มีความรู้ได้เล่าเรียนศึกษาและมีปัญญา มีความเข้าใจรู้จักสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง อะไรพวกนี้ นี้เป็นสิ่งที่ลึกซึ้งเข้าไปในจิตใจ ซึ่งเมื่อมีแล้วก็เป็นเครื่องรับประกันชีวิตในเบื้องหน้าได้ทีเดียวว่า คติชีวิตจะเป็นไปในทางที่ดี นี้ก็เป็นจุดหมายประการหนึ่งในทางพุทธศาสนา ยกตัวอย่างเรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล สมัยหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล ทางเสวยมากจนกระทั่งอ้วนอึดอัด พระพุทธเจ้าก็ทรงตักเตือน พระเจ้าปเสนทิโกศลถึงกับได้ทูลพระพุทธเจ้าว่าพระองค์นี้ทรงอนุเคราะห์ข้าพระองค์ ไม่เฉพาะเรื่องสัมปรายิกัตถะเท่านั้น ทรงอนุเคราะห์แม้แต่ในเรื่องทิฏฐธัมมิกัตถะด้วย
๓. ปรมัตถประโยชน์ ได้แก่ ประโยชน์สูงสุด หรือจุดหมายสุดสูด คือ พระนิพพาน ความมีใจเป็นอิสระ ความมีจิตหลุดพ้นจากการถูกบังคับบงการชีวิตด้วยอำนาจของความอยากได้ อยากมี อยากเป็น จึงมีจิตใจปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบานได้ตลอดเวลา เพราะปราศจากกิเลส
ไม่ว่าใครจะเป็นอะไรก็ต้องมาแก้ที่ตนเองทั้งสิ้น ถึงจะได้ทั้งประโยชน์ตนประโยชน์ท่านถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ถ้าตัวตนมันก็เป็นเหมือนกับที่เห็นทุกวันนี้ ถือพรรคถือพวก จึงต้องก้าวไปด้วยสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เมื่อไม่เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ก็พัฒนาขึ้น พัฒนาขึ้น ความเดือดร้อนที่มีอยู่ เมื่อเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มันก็จะค่อยๆ ลดลง เราต้องพัฒนาใจพัฒนาเทคโนโลยีไปพร้อมๆ กันอย่างนี้ เพราะถ้าเอาตัวตนเป็นที่ตั้งมันไม่รู้สัจธรรมไม่รู้อริยสัจ ๔ เอาตัวตนเป็นที่ตั้งก็ไม่มีความสุขในการทำงาน
ทำไมข้าราชการก็แก้ไม่ได้ นักการเมืองก็แก้ไม่ได้ ทางที่ดีเราต้องมีความสมัครสมานสามัคคีกัน ความไม่สมัครสมานสามัคคีกันนี่แหละ คือการแก้ปัญหาไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงให้มีสาราณียธรรม พร้อมเพรียงกันทำในสิ่งที่ดีในสิ่งที่ถูกต้อง ทำอะไรพร้อมเพรียงกัน พร้อมเพียงกันประชุมพร้อมเพียงกันเลิก ถึงมีสภา ที่ใดมีสัตบุรุษที่นั่นจึงเป็นสภา ที่ใดไม่มีสัตบุรุษที่นั่นก็ไม่ใช่สภา พระพุทธองค์ได้ตรัสอน อปริหานิยธรรม ๗ ไว้ ซึ่งเป็น "ธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียวสำหรับหมู่ชนหรือผู้บริหารบ้านเมือง" คือ ๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ (และพร้อมเพรียงกันลุกขึ้นป้องกันหมู่คณะเมื่อมีภัย) ๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ (อันขัดต่อหลักการเดิม) ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้ (ตามหลักการเดิม) ถือปฏิบัติมั่นตามธรรม (หลักการ) ตามที่วางไว้เดิม
๔. สักการะเคารพนับถือบูชาท่านผู้ใหญ่ทั้งหลาย มองเห็นความสำคัญแห่งถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันพึงรับฟัง
๕. บรรดากุลสตรีกุมารีทั้งหลาย ให้อยู่ดีโดยมิถูกข่มเหง หรือฉุดคร่าขืนใจ
๖. เคารพสักการบูชาเจดีย์ (ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ ตลอดถึงอนุสาวรีย์ต่าง ๆ) ของคนในชุมชน (ประจำชาติ) ทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ไม่ปล่อยให้พลีกรรมอันชอบธรรมที่เคยให้เคยทำแก่เจดีย์เหล่านั้นเสื่อมทรามไป
๗. จัดให้ความอารักขา คุ้มครอง ป้องกัน อันชอบธรรม แก่พระอรหันต์ทั้งหลาย (ในที่นี้กินความกว้าง หมายถึงบรรพชิตผู้ดำรงธรรม เป็นหลักใจของประชาชนทั่วไป) ตั้งใจว่าขอพระอรหันต์ทั้งหลายที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้น ที่มาแล้วพึงอยู่ในแว่นแคว้นโดยผาสุก
เราต้องเป็นเจ้าของ ถ้าเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เรียกว่าเราเป็นกาฝาก ยังผู้ที่มาบวชนี้ถ้าไม่ยกเลิกตัวตนเรียกว่ากาฝาก กาฝากของพระศาสนากาฝากของสังคม ผู้ที่เอาตัวตนเป็นที่ตั้งก็เป็นกาฝากของพ่อของแม่ มันน่าเกลียดเกิน จะต้องเข้าสู่การเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบปฏิบัติสมควร สถานที่นั้นครอบครัวนั้นถึงจะไปรอด ถ้าเป็นแต่กาฝากของพ่อของแม่ก็รับผลัดจากพ่อจากแม่ไม่ได้ เพราะเราไม่ได้มาเสียสละ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงนำความทุกข์มาให้ นำความยากจนทั้งทางวัตถุทั้งทางจิตใจมาให้ ชีวิตที่ไม่ถูกต้องเรียกว่าเป็นชีวิตที่ทุจริต จะอยู่ในระดับกาฝาก กาฝากของข้าราชการ กาฝากของการเมือง กาฝากของนักบวช ไม่ได้เข้าถึงความถูกต้อง ที่เป็นเจ้าของ เราจึงต้องประพฤติให้มันได้มาตรฐาน อย่าเป็นกาฝาก เราต้องเป็นผู้ให้ อย่าไปเอาอะไรใคร เห็นไหมพระพุทธเจ้าไม่เอาอะไรเลย เราไม่เอาอะไรแล้วก็มีความสุขในการทำงาน เงินเดือนมันได้อยู่แล้ว เราเสียสละไปอย่างนี้ เราเสียสละตัวตนความดับทุกข์มันก็ได้อยู่แล้ว เราไม่เสียสละเราจะเอาจะมีจะเป็น มันก็ได้แต่ความทุกข์ ถ้าบวชมามีแต่จะเป็นผู้เอา เราก็คือเปรต จะเป็นแต่ผู้เอา ก็เปรียบเหมือนกับเรามีบ้านอยู่หลังหนึ่ง แล้วก็มีสุนัขซึ่งมันก็ทำไร่ทำนาทำสวนไม่เป็น ทำธุรกิจหน้าที่การงานไม่เป็น มันก็มาเป็นหมาประจำบ้านคอยรับอาหารจากเจ้าของบ้าน ผู้ไม่ยกเลิกตัวตน ก็มีชีวิตอยู่ในระดับกาฝาก เวลาลงทะเบียนทำธุรกรรมอะไรต่างๆ จะมีช่องให้กรอกว่าทำอาชีพอะไร แต่ละอาชีพก็ต้องมีความสุขในการทำงาน ไม่ใช่ว่าเราไปเขียนใส่แต่ไม่ได้ทำตามสิ่งที่เขียน ซึ่งมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร
ดังจะเห็นได้จากหลักความชอบธรรมในการบริโภค ๔ อย่าง คือ
๑) เถยยบริโภค การบริโภคอย่างขโมย ได้แก่ การบริโภคของภิกษุผู้ทุศีล มีคุณสมบัติไม่สมควรกับเพศหรือภาวะของตน มีเพียงเครื่องนุ่งห่มและอาการภายนอกที่เป็นเครื่องหมายของนักบวชเท่านั้น การบริโภคปัจจัย ๔ ของชาวโลกของภิกษุประเภทนี้ จึงเป็นเหมือนการขโมยหรือแอบลักเขากิน เพราะไม่มีความชอบธรรมในการบริโภคเลย
: โกงกินมาตลอด แต่รอดตะราง ไม่ใช่ตัวอย่างที่ตลก
: เพราะแต่ไหนแต่ไรก็ไม่เคยมีใครรอดนรกเลยสักราย
๒) อิณบริโภค การบริโภคอย่างเป็นหนี้ ได้แก่ การบริโภคของภิกษุผู้มีศีล แต่บริโภคโดยไม่ได้พิจารณา เช่น ฉันอาหารไม่พิจารณาว่าเราฉันเพียงเพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ได้ ยังชีวิตให้เป็นไปได้ ให้มีสภาพเกื้อหนุนกแก่การปฏิบัติธรรม มิใช่ฉันเพื่อโก้เก๋สนุกมัวเมาติดในรสเป็นต้น เรียกว่าเป็นการบริโภคอย่างขาดจิตสำนึกในเป้าหมายของการบริโภค แต่ถ้าบริโภคโดยพิจารณาไม่ชื่อว่าเป็นหนี้
: กู้เขามากิน ดีกว่าโกงเขามากิน
๓) ทายัชชบริโภค การบริโภคอย่างทายาท ได้แก่ การบริโภคของพระอริยบุคคลประเภทต้น ๆ ที่ยังเข้าไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ถือว่าเป็นผู้มีสิทธิในการบริโภคโดยชอบธรรมในฐานะเป็นทายาทของพระพุทธเจ้า แต่ก็ถือว่ายังไม่มีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ เพราะยังมีภาระต่อการที่จะพัฒนาตนต่อไป เหมือนทายาทที่บริโภคสมบัติของวงศ์ตระกูล ถือว่าเป็นผู้มีสิทธิโดยชอบธรรมในฐานะเป็นทายาท แต่ก็ยังไม่ได้ครอบครองสมบัตินั้นอย่างเต็มที่
๔) สามิบริโภค การบริโภคอย่างเป็นเจ้าของ ได้แก่ การบริโภคของพระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้พ้นจากการเป็นทาสของตัณหาแล้ว เป็นผู้มีคุณความดีสมควรแก่ของที่เขาถวายอย่างแท้จริง ในสิทธิสมบูรณ์ในการรับและบริโภคปัจจัย ๔ อย่างแท้จริง ขีณาสวานํ ปริโภโค สามิปริโภโค นาม.
การบริโภคของพระขีณาสพทั้งหลาย ชื่อว่าสามิบริโภค.
เต หิ ตณฺหาทาสพฺยํ อตีตตฺตา สามิโน หุตฺวา ปริภุญฺชนฺติ.
พระขีณาสพทั้งหลายเหล่านั้นแลชื่อว่าบริโภคในฐานเป็นเจ้าของ เพราะล่วงพ้นความเป็นทาสแห่งตัณหาได้แล้ว
: อยากมาก หิวมาก : หมดอยาก หมดหิว
ใจเรานี้คือเมล็ดพันธุ์คือปลูกเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ดีไม่บริสุทธิ์เอาไว้สิ่งไม่ดีสิ่ง ไม่บริสุทธิ์จะไปคิดมันทําไม จะไปติดใจ จะไปติดอกติดใจอยู่ในเรื่องกามคุณไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่ ทางแห่งพรหมจรรย์จึงต้องสมาทานไม่คิดไม่พูดไม่ทำ ต้องมาสมาทานให้เป็นผู้ที่มีศีลงดงาม ให้เป็นผู้ที่งดงามด้วยศีลด้วยสมาธิและปัญญาที่เสมอกัน เราจึงต้องมาสมาทานเพื่อเป็นผู้ที่มีศีล มีสมาธิมีปัญญา เสมอกันทั้งอาราม มีปัญญาสละคืนความขี้เกียจขี้คร้าน ความเห็นแก่ตัว ทุกคนต้องเป็นหนึ่ง ต้องเป็น เอกไม่เป็นรองใคร เพราะธรรมะเป็นหนึ่งเป็นเอกไม่ได้เป็นรอง ถ้าทำอยางนี้ไม่ต้องกลัวใครว่าเพราะเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ไม่ต้องระแวงภัยจากที่ไหนๆ เราบวชมาเพื่อเสียสละจึงต้อง ตามรอยพระพุทธเจ้าเอาอยางพระอรหันต์ผู้เป็นต้นแบบให้เรา เราต้องพัฒนาตนเองเช่นนี้ปฏิบัติเช่นนี้ อย่าไปคิดว่าทำไม่ได้สมองไม่ดี มันไม่เกี่ยวกันเลย อยู่ที่ความซื่อสัตย์ถ้าคิดพูดทำในสิ่งดีๆ สิ่งที่ออกมาก็จะมีแต่ธรรมะจะได้เป็นพืชพันธุ์ สร้างความดีให้แก่ตนเอง สร้างที่พึ่งให้แก่ตนเองและก็ยังสร้างที่พึ่งให้แก่พระศาสนาให้แก่ญาติพี่น้องแล้วก็ศรัทธาประชาชน ไม่เกี่ยวกับรู้มากรู้น้อย ขึ้นอยู่ที่ความซื่อสัตย์ต่อพระพุทธเจ้า ต่อพระธรรม ต่อพระอริยสงฆ์ เอาธรรมะเป็นหลักเอาธรรมะเป็นใหญ่ อย่าไป เก็บโจรมหาโจรเอาไว้ในใจ ต้องเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นหลักเป็นใหญ่เอาไว้ในใจ ต้องพากนทำอย่างนี้ ปฏิบัติอยางนี้ พระพุทธเจ้าจึงจะไว้วางใจเรา ครูบาอาจารย์จึงจะไว้วางใจเรา
เพราะทุกวันนี้หาคนไว้วางใจยาก ประชาชนจะกราบก็แค่กราบสัญลักษณ์แค่ปลงผมห่มผ้าเหลืองแต่ใจก็ยังสงสัยอยูว่า เป็นพระจริงหรือเปล่า ใจเป็นพระจริงหรือเปล่า ใจไม่ได้เป็นมหาโจร จึงต้องกลับมาหาธรรมะบ้าง หายใจเข้าหายใจออกให้มี ความสุขสดชื่นเบิกบานกระปรี้กระเปร่า กายก็อย่างหนึ่ง ใจก็อย่างหนึ่ง ใจต้องรู้จักความคิดต้องรู้จักการปรุงแต่ง อย่าให้เล่ห์เหลี่ยมมายาของโจรของมหาโจรมาครอบงำจิตใจ จะได้ไม่เป็นทาสของกิเลส ตัณหาและอวิชชา
ธมฺมํ จเร สุจริตํ น นํ ทุจฺจริตํ จเร ธมฺมจารี สุขํ เสติ อสฺมึ โลเก ปรมฺหิ จ.
บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริต, ไม่พึงประพฤติธรรมนั้นให้ทุจริต, ผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้และโลกหน้า.
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee