แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันพุธที่ ๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระธรรมตอนที่ ๓๙ ร่างกายจิตใจเรานั้นอยู่ด้วยอาหาร จึงต้องให้อาหารกายอาหารใจอย่างถูกต้อง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราทุกคนมีความรู้สึกสุขทุกข์หนาวร้อนอ่อนแข็งหย่อนตึง ที่เกิดจากเหตุเกิดจากปัจจัย เป็นกระบวนการแห่งกระแสปฏิจจสมุปบาท เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงมี ทุกคนต้องพากันมีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้องแล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง ว่าสิ่งนั้นคือสภาวธรรมว่าสิ่งนั้นคือเหตุคือปัจจัย เพราะเหตุปัจจัยได้ทำหน้าที่ของตัวเองตามธรรมชาติของผัสสะ รูปก็ได้เป็นรูป เวทนาก็เป็นเวทนา สัญญาก็เป็นสัญญา สังขารก็เป็นสังขาร วิญญาณก็เป็นวิญญาณ เพราะทุกคนต้องพากันเข้าใจอันนี้คือกระบวนการของเหตุของปัจจัยแห่งผัสสะ
พระพุทธองค์ ตรัสว่า “อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ. เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ. เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ. เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี
อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ. เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับไป
๑. อวิชชา (Ignorance, Lack of Knowledge) คือ ความไม่รู้ ไม่เห็น ตามความเป็นจริง ความไม่รู้เท่าทันตามสภาวะ ความหลงไปตามสมมติบัญญัติ ความไม่เข้าใจในเรื่องโลกและชีวิตตามที่เป็นจริง ความไม่รู้ที่แฝงอยู่กับความเชื่อถือต่างๆ ภาวะของการขาดปัญญา ความไม่หยั่งรู้เหตุปัจจัยตัวอย่างเช่น ความไม่รู้แจ้งในเรื่องชีวิต คือไม่รู้ว่า อะไรคือทุกข์ อะไรคือเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรคือความดับทุกข์ และอะไรคือทางที่จะดำเนินไปสู่การดับทุกข์ เป็นต้น
๒. สังขาร (Volitional Activities) คือ ความคิดปรุงแต่ง ความจงใจ ความมุ่งหมาย การตัดสินใจ การที่จะแสดงเจตนาออกมาเป็นการทำ กระบวนการความคิดที่เป็นไปตามความโน้มเอียง ความเคยชิน และคุณสมบัติต่างๆ ของจิต ซึ่งได้สั่งสมไว้ ตัวอย่างเช่น ความคิดปรุงแต่งให้วิญญาณดีหรือชั่ว ให้เป็นกลางๆ ปรุงแต่งให้คิดไปทางดี เรียกว่า "กุศลสังขาร" ปรุงแต่งให้คิดไปในทางชั่ว เรียกว่า "อกุศลสังขาร" ปรุงแต่งให้คิดกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว เรียกว่า "อัพยากฤต" กล่าวให้สั้น ก็คือ สังขาร ได้แก่ กิเลสและคุณธรรม ทั้งสองอย่างนี้จะผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาปรุงแต่งจิตใจของคนไปทางใดทางหนึ่งใน 3 ทางดังกล่าว คนเราจะคิดไปทางไหน อย่างไรนั้นก็อยู่ที่ตัวสังขารนี้เอง
๓. วิญญาณ (Consciousness) คือ ความรู้แจ้งอารมณ์ การรับรู้ต่ออารมณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาทางทวารทั้ง 6 (อายตนะ 6) ในวิภังคปกรณ์ แสดงวิญญาณ ๖ ไว้ดังนี้คือ จักขุวิญญาณ คือการรับรู้ทางตา โสตวิญญาณ คือการรับรู้ทางหู ฆานวิญญาณ คือการรับรู้ทางจมูก ชิวหาวิญญาณ คือการรับรู้ทางลิ้น กายวิญญาณ คือการรับรู้ทางกาย (สัมผัส) มโนวิญญาณ คือการรับรู้ทางใจ (ธัมมารมณ์)
๔. นามรูป (Animated Organism) คือความมีอยู่ของรูปธรรมและนามธรรม (รูปและนาม) ในความรู้ของบุคคล ภาวะที่ร่างกายและจิตใจทุกส่วนอยู่ในสภาพที่สอดคล้องและปฏิบัติหน้าที่เพื่อสนองตอบในแนวทางของวิญญาณที่เกิดขึ้น ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและจิตใจที่เจริญหรือเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของจิต คำว่า "นาม" ในพระบาลี พระพุทธเจ้าตรัสหมายเอา เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ และมนสิการ ในอภิธรรม ท่านหมายเอา เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์
คำว่า "รูป" ท่านหมายเอา มหาภูตรูป ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอุปาทายรูป ๒๔ (คือรูปอาศัยมหาภูตรูป) ตามทัศนะของพุทธศาสนา รูปคือสิ่งที่ต้องสูญสลายหรือแปรสภาพไปตามเหตุปัจจัย มีเย็นร้อน เป็นต้น รูปที่สอนกันมาก็คือ รูปร่างที่เป็นเนื้อหนังมังสา หรือเลือดลมในกายกายนี้ เรียกมหาภูตรูป และภาวะต่างๆ ที่อาศัยอยู่กับมหาภูตรูป หรือเกิดขึ้นจากมหาภูตรูป เช่น ภาวะชาย ภาวะหญิง หรือภาวะสวย ภาวะไม่สวย เป็นต้น ภาวะต่างๆ นี้เรียกอุปาทายรูป
เมื่อนำเอานามกับรูปมารวมกัน ก็เป็น "นามรูป" ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะต้องคู่กันและอิงอาศัยกันขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปก็เท่ากับการดับสลายตามหลักสากลของปฏิจจสมุปบาทที่กล่าวว่า "เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด" และ "เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับ (ด้วย)"
๕. สฬายตนะ (The six sense - bases) คือที่ต่อหรือที่เชื่อมโยง 6 อย่าง หมายถึงภาวะที่อายตนะที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่โดยสอดคล้องกับสถานการณ์นั้นๆ อายตนะมี ๖ เรียกว่า "อายตนะภายใน ๖" ได้แก่ จักขุ (ตา) โสตะ (หู) ฆานะ (จมูก) ชิวหา (ลิ้น) กาย(ร่างกาย) มโน (ใจ) อายตนะภายใน ๖ นี้จับคู่กับอายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส (ทางกาย) และธัมมารมณ์ (อารมณ์ที่เกิดที่ใจ)
๖. ผัสสะ (Contact) คือ การเชื่อมต่อความรู้กับโลกภายนอก การรับรู้อารมณ์หรือประสบการณ์ต่างๆ อีกนัยหนึ่ง ผัสสะ คือการกระทบกันระหว่างอายตนะภายใน ๖ กับอายตนะภายนอก ๖ ซึ่งจับคู่กัน คือ ตา-รูป หู-เสียง จมูก-กลิ่น ลิ้น-รส กาย-โผฏฐัพพะ ใจ-ธัมมารมณ์
๗. เวทนา (Feeling) คือความรู้สึก หรือการเสวยอารมณ์ เวทนาเกิดจากจักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส เรียกว่า "เวทนา 6" เวทนาหากแบ่งตามลักษณะจะแบ่งได้ 3 คือ สุข ทุกข์ และอทุกขมสุข หรือแบ่งเป็น ๕ คือ สุข (ทางกาย) ทุกข์ (ทางกาย) โสมนัส (ทางใจ) โทมนัส (ทางกาย) และอุเบกขา
๘. ตัณหา (Craving) คือความอยาก ความต้องการ ความยินดี ความพอใจในอารมณ์ต่างๆ ตามพระบาลี ท่านแสดงตัณหาไว้ คือ รูปตัณหา (ตัณหาในรูป) สัททตัณหา (ตัณหาในเสียง) คันธตัณหา (ตัณหาในกลิ่น) รสตัณหา (ตัณหาในรส) โผฏฐัพพตัณหา (ตัณหาในสัมผัสทางกาย และธัมมตัณหา (ตัณหาในธรรมารมณ์) เรียกว่า "ตัณหา ๖"
ตัณหานี้ ถ้าแบ่งตามอาการแบ่งได้ ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
๙. อุปาทาน (Attachment, Clinging) คืออาการที่จิตเข้าไปยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ ความยึดติดหรือเกาะติดในเวทนาที่ชอบและเกลียดชัง รั้งเอาสิ่งต่างๆ และภาวะที่ชีวิต อำนวยเวทนานั้นเข้ามาผูกพันกับตัว การตีค่ายึดถือความสำคัญของภาวะและสิ่งต่างๆ ในแนวทางที่เสริมหรือสนองตอบตัณหาของตน ในพระบาลี มีพุทธพจน์แสดงอุปาทานไว้ว่า "จตฺตาริมานิ ภิกฺขเว อุปาทานานิ กามุปาทานํ ทิฏฺฐุปาทานํ สีลพฺพตุปาทานํ อตฺตวาทุปาทานนฺติ" แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุปาทาน ๔ เหล่านี้คือ กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสต่างๆ) ทิฏฐุปาทาน (คามยึดมั่นในทิฐิ ได้แก่ ความเห็นหรือทัศนะ ลัทธิ ทฤษฏีต่างๆ) สีลัพพตุปาทาน (ความยึดมั่นในศีลพรตว่าทำให้คนบริสุทธิ์) อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในอัตตา การสร้างตัวขึ้นมายึดถือด้วยความหลงผิด)
๑๐. ภพ (Process of becoming) คือ ความมี ความเป็น (รูปศัพท์เดิม คือ ภวะ เมื่อมาเป็นภาษาไทย แปลง วะ เป็น พะ จึงสำเร็จรูปเป็นภพ) ภพแบ่งได้ ๓ คือ กามภพ สัตว์ที่ยินดียึดถืออยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส (ทางกาย) ก็มีกามภพอยู่ในใจ รูปภพ เมื่อสัตว์ยึดถือรูปเป็นนิมิต ก็เป็นรูปภพอยู่ในจิต อรูปภพ เมื่อสัตว์ยึดถืออรูป (อรูปฌาน) ก็เป็นอรูปภพอยู่ในจิตใจ
อีกนัยหนึ่ง ภพ แบ่งออกได้ ๒ คือ กรรมภพ คือ กระบวนการพฤติกรรมทั้งหมดที่แสดงออกเพื่อสนองตัณหาอุปาทาน อุปัตติภพ คือภาวะแห่งชีวิตสำหรับตัวตนหรือตัวตนที่จะมี จะเป็นไป ในรูปใดรูปหนึ่ง โดยสอดคล้องกับอุปาทานและกระบวนการพฤติกรรมนั้น
๑๑. ชาติ (Birth) คือการเกิด การปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การได้อายตนะเฉพาะการก้าวลงหรือการเป็นไปพร้อมขึ้นมาในหมู่สัตว์นิกาย อีกนัยหนึ่ง ชาติ หมายถึง ความตระหนักในตัวตนว่า อยู่หรือไม่ได้อยู่ในภาวะชีวิตนั้นๆ มีหรือไม่ได้มี เป็นหรือไม่ได้เป็นอย่างนั้นๆ ชาติ ที่หมายถึง การเกิด มีความหมายกว้าง มิได้หมายเอาเฉพาะการปรากฏของสิ่งที่เป็นรูปธรรม เช่น เป็นคน เป็นสัตว์ ผู้ชาย ผู้หญิง เป็นต้น แต่หมายรวมไปถึงการเกิดหรือการปรากฏของสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ชื่อเสียงเกียรติยศ สรรเสริญ นินทา เป็นต้นด้วย
๑๒. ชรา มรณะ (Decay and Death) คำว่า "ชรา" คือความเสื่อมอายุ ความหง่อมอินทรีย์ และคำว่า "มรณะ" คือ ความสลายแห่งขันธ์ ความขาดชีวิตินทรีย์ เมื่อนำคำทั้งสองมาต่อกันเป็น "ชรามรณะ" คือความเสื่อมกับความสลายแห่งธรรมต่างๆ เหล่านั้นๆ
อีกนัยหนึ่ง ชรามรณะ มีความหมายว่า ความสำนึกในความขาด พลาด หรือพรากแห่งตัวตนจากภาวะชีวิตอันนั้น ความรู้สึกว่าตัวตนถูกคุกคามด้วยความสูญสิ้น สลายหรือพลัดพรากกับภาวะชีวิตนั้นๆ หรือการได้มีได้เป็นอย่างนั้นๆ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาผสมก็คือ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส พ่วงเข้ามาด้วยความรู้สึกคับแค้น ขัดข้อง ขุ่นมัว แห้งผากในใจ หดหู่ ซึมเซา กระวนกระวาย ไม่สมหวัง และทุกขเวทนาต่างๆ สำหรับชรามรณะนี้ก็มิได้หมายเอาเพียงความเสื่อมกับความสลายของสิ่งที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่รวมไปถึงสิ่งทั้งปวงที่เป็นนามธรรมด้วย
เราต้องพัฒนาใจของเราสู่พุทธะ แล้วเราจะได้ภาวนาสิ่งเหล่านี้สู่พระไตรลักษณ์ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อาศัยเหตุอาศัยปัจจัยที่ติดต่อต่อเนื่อง เราจะเอาผัสสะเอาความรู้สึกนี้เป็นเราไม่ได้ เราอาศัยผัสสะ เพื่อเอาผัสสะนั้นมาประพฤติมาปฏิบัติเพื่ออบรมอบอินทรีย์ เพราะผัสสะนั้นคือข้อสอบ ข้อตอบคือตัวผู้รู้ตัวพุทธะ เราจะได้พัฒนาใจไปด้วย พัฒนาวัตถุไปด้วยพร้อมๆ กัน เรียกว่าทางสายกลาง เราคิดดูสิ เราอาศัยผัสสะแล้วอาศัยอวิชชาความหลงเป็นอาหาร
ร่างกายของเรานั้นอยู่ด้วยอาหาร จิตใจของเรานั้นก็อยู่ด้วยอาหาร อวิชชา ความหลง ที่เรียกว่ากิเลสก็อยู่ด้วยอาหาร ถ้าร่างกายของเราไม่ได้อาหารก็อยู่ไม่ได้ ถ้ากิเลสของเราไม่ได้อาหารก็อยู่ไม่ได้ ให้ทุกคนพากันเข้าใจ อาหารทางกาย พระพุทธเจ้าบอกว่า เราต้องรู้จักบริโภค ไม่มากเกินไม่น้อยเกิน ไม่หวานเกินไม่เค็มเกิน ไม่ร้อนเกิน ไม่เย็นเกิน อันไหนมันเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย พระพุทธเจ้าไม่ให้เราทานอาหารเพื่อความเอร็ดอร่อย เพราะความหลง เพราะอาหารทุกอย่างนี้มันเป็นยา ท่านว่า สฺพเพ สฺตตา อาหารฏฺฐิติกา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ย่อมตั้งอยู่ได้เพราะอาหาร คำว่าอาหารนี้ถ้าพูดถึงกันโดยทั่วไป ก็ต้องยอมรับว่าเรารู้จักอาหารนี้เป็นอย่างดี มีอาหารคาว หวาน ขนม ผลไม้ เป็นวัตถุบางประเภทที่เรารับประทานหรือดื่มเข้าไปเพื่อบำรุงร่างกาย ในภาษาธรรมะ สิ่งที่เรียกว่า อาหาร มี ๔ อย่าง
๑. กวฬิงการาหาร คำข้าวที่กินอยู่ คือ อาหารทุกประเภทที่ทำให้ร่างกายนี้ยังคงดำรงอยู่ได้หรือเข้าไปหล่อเลี้ยงชีวิตของเรา การรับประทานอาหารจริงๆแล้ว เราควรรับประทานอย่างไร เวลารับประทานอาหารก็ต้องพิจารณาเพียงเพื่อให้ร่างกายนี้ตั้งอยู่ได้ เราไม่สามารถรับประทานอาหารให้เอร็ดอร่อยได้เลยถ้าเรากินอาหารเพื่ออาหาร ไม่ได้กินเพื่อความเอร็ดอร่อย การที่เรากินอาหารด้วยความเอร็ดอร่อยทำให้เราสะสมความเคยชินเรื่องการกินให้เป็นปัญหาและให้ความสำคัญของคนสมัยนี้ ท่านพุทธทาส เรียกว่า "อารยธรรมน้ำจิ้ม" คือ อาหารโต๊ะจีน ที่เต็มไปด้วยน้ำจิ้ม คือสิ่งที่เพิ่มความเอร็ดอร่อยให้เพิ่มขึ้นในรสชาติอาหารทำให้เราตกไปเป็นทาสของกิเลสได้ง่ายขึ้น เพราะจิตมันจะจดจำรสชาติของอาหารเหล่านี้ ว่าอร่อยไม่อร่อยและก็จะต้องการอาหารที่อร่อยๆมากเพิ่มขึ้นด้วยความอยาก (คือตัณหา)
๒. ผัสสาหาร อาหาร คือ ผัสสะ เปรียบเป็นเวทนา เมื่อมีผัสสะเป็นปัจจัยเวทนาย่อมมี ผัสสะคือการกระทบกันทาง ตา > รูป > จักขุ > วิญญาณการรับรู้ เป็นเวทนา คือความพอใจ ไม่พอใจ สุข ทุกข์ต่างๆ (ผัสสาหารเกิดขึ้นได้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ในชีวิตประจำวันของคนเราจะมีการกระทบตลอดเวลาในทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำให้เกิดความรู้สึก เป็นเวทนา เป็นสุขบ้างไม่เป็นสุขบ้าง ถ้าเราไม่สามารถกำหนดรู้เท่าทันสิ่งที่เข้ามากระทบ ดังนั้นเมื่อเกิดผัสสะการรับรู้คือการกระทบเป็นอาหารของเวทนาย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาและเปิดโอกาสให้เป็นความสุขหรือความทุกข์ได้
๓. มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือความนึกคิด ผู้ที่ฝึกการกำหนดรอบรู้แล้วย่อมไม่มีสิ่งใดที่พึงจะทำให้เกิดความคิดเหล่านี้ได้ หากความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นในจิตใจของเรา เราก็ต้องรับผล ความคิดคือเหตุที่ทำให้เราต้องกระทำอะไรบางอย่างเมื่อเรากระทำสิ่งใดเราก็ต้องรับผลในสิ่งนั้นด้วยความอยาก คือ ตัณหา แยกเป็น กามตัณหาคือความอยากในเรื่องของกาม ภวตัณหาความอยากมีอยากเป็น และวิภวตัณหาความไม่อยากมีไม่อยากเป็น เมื่อความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นคนเรามักจะชอบความสุขและรังเกียจความทุกข์ เรายิ่งรักสิ่งใดที่ตรงกันข้ามมากขึ้นเท่านั้น เมื่อเรายังมีความชอบและไม่ชอบมากเท่าไหร่จึงทำให้เรายังมีความคิดเป็นอาหาร
๔. วิญญาณาหาร คือการรับรู้ต่างๆ ๖ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผู้ที่กำหนดรอบรู้เรื่องวิญญาณาหาร ย่อมกำหนดรู้ นาม~รูป นาม คือ จิต รูป คือ กาย กายกับจิตนั้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่ กายกับจิตไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา จะเกิดขึ้นต่อเมื่ออวิชชา(ความไม่รู้)ปรุงแต่งเข้าใจผิดไปในความเป็นจริง แล้วปรุ่งแต่งไปเป็นสังขาร(ความคิด) > วิญญาณ > นาม > รูป จึงเกิดขึ้น ถ้าเราเข้าใจในปฏิจสมุปบาทแล้วเราจะเข้าใจว่า นาม ~ รูป คือ กาย ~ใจ ไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา แต่เกิดขึ้นเป็นขณะๆตามความเข้าใจผิดของเรา เมื่อเราเข้าใจผิดด้วยความหนักแน่น กาย~ จิต ของเรานี้ก็จะปรากฎบ่อยๆเป็นความยึดมั่นถือมั่นตามความรับรู้ของจิต ท่านฮวงโป ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อความคิดเกิดขึ้นสิ่งต่างๆย่อมเกิดขึ้น เมื่อความคิดดับหายไป สิ่งต่างๆย่อมหายไป ถ้าเราเข้าใจชัดก็จะเห็นว่า กาย ~ จิต นี้ไม่มีอยู่จริง อาหารใน ๔ ประเภทนี้มีความลึกซึ้งมาก หากเราได้มีโอกาสได้พัฒนาจิตอย่างถูกต้องเราจะสามารถเข้าใจได้ว่าการรับประทานอาหารเพียงเพื่อความตั้งอยู่ได้ด้วยการมีสตินั้นสำคัญอย่างไร
เราเอาความรู้สึกเป็นที่ตั้งมันไม่ถูกต้อง ทำให้เราไม่รู้จักอริยสัจ ๔ เราเลยใจอ่อน เราเลยไม่ได้ปรับตัวเข้าหาธรรมะเขาหาเวลา ทุกๆ คนจะต้องพากันเข้าใจ ตามผัสสะตามอารมณ์ไปเรื่อยน่ะ เราก็ไม่ได้ยกเลิกอวิชชาไม่ได้ยกเลิกความหลง เพราะว่าคนเราน่ะต้องพากันรู้ เพื่อทุกอย่างมันจะได้เป็นคุณไม่เป็นโทษแก่เรา ถ้าเอาความรู้สึกเป็นที่ตั้ง เรื่องมันไม่จบ นั่นคือการไม่รู้อริยสัจ ๔ เราก็ไม่มีสัมมาทิฏฐิ เราก็เลยต้องใจอ่อน
ทำไมคนเป็นโรคภัยไข้เจ็บ เป็นโรคเป็นภัยกันเยอะ โรคไตโรคมะเร็งก็มาก โรคหัวใจก็มาก โรคเบาหวานก็มาก เพราะเราได้ตามผัสสะตามอารมณ์ เอาความอร่อยเป็นที่ตั้ง เราก็พากันอ้วนเกินขนาด ไปทานหวานเยอะก็เป็นโรคเบาหวาน เอาเผ็ดเอาเค็ม ตามผัสสะไป อย่างนี้มันไม่ได้ เราต้องรู้จัก ปัจจัยหลักที่ทำให้คนมีความสุข คือเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีคำแนะนำทางการแพทย์ว่า คนเราจะมีสุขภาพดี ต้องประกอบด้วย ๕ อ. คือ อาหาร อากาศ อารมณ์ อุจจาระ และออกกำลังกาย ซึ่งสามารถแยกแยะได้ ดังนี้
อาหาร ควรเป็นอาหารที่เหมาะสมกับร่างกาย กินแล้วให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่มีโทษหรือพิษภัย หรือมีผลข้างเคียงให้เกิดโรคภัยภายหลัง
อากาศ ที่ใช้หายใจเข้าออก ต้องเป็นอากาศที่บริสุทธิ์ ปราศจากมลพิษใดๆ เพราะหัวใจของคนต้องการอากาศเข้าไป เพื่อสูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ให้ทำงานตลอดเวลา อากาศบริสุทธิ์ทำให้รู้สึกสดชื่น มีความสุข
อารมณ์ ผู้ที่มีอารมณ์แจ่มใส ร่าเริง จะมีความสุขกว่าคนที่มีอารมณ์ขุ่นมัว หงุดหงิด ฉุนเฉียว นอกจากนั้นแล้วยังมีผลต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายอีกด้วย
อุจจาระ คือ กากอาหาร หรือของเสียที่ร่างกายย่อยแล้ว นำส่วนที่ดีไปใช้ หลังจากนั้นก็จะขับถ่ายออกมา หากตกค้างอยู่ในร่างกายนานเกินไป จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ คนที่มีระบบขับถ่ายที่ดี จะมีหน้าตาสดใส มีน้ำมีนวล ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่ค่อยขับถ่าย หรือที่เรียกว่า ท้องผูก
ออกกำลังกาย เป็นการบริหารอวัยวะทั้งภายในและภายนอก ทำให้ได้รับการเคลื่อนไหว ช่วยให้เกิดการเสริมสร้างส่วนที่ขาด หรือลดส่วนที่เกิน ช่วยในการทำงานของหัวใจ ปอด ฯลฯ คนที่ไม่ออกกำลังกายจะเป็นคนอ่อนแอ ขาดภูมิต้านทาน เจ็บป่วย เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
แล้วทีนี้เมื่อเราเอาความรู้สึกเป็นที่ตั้งมันก็ต้องขี้เกียจ เพราะมีตัวมีตนน่ะ มีตัวมีตนก็ยิ่งขี้เกียจขี้คร้านออกกำลังกาย เพราะเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เพราะใครก็เอาแต่ตัวแต่ตนไม่ออกกำลังกายกัน เพราะร่างกายมันอ่อนแอ ก็ไปอ่อนแอกับร่างกาย คนเรามันแก่แล้วก็อ่อนแอตามสภาพร่างกาย ใจมันก็อาศัยผัสสะอาศัยร่างกาย ใจก็อ่อนแอไม่เข้มแข็ง เราจะต้องมีความสุขในการเสียสละตัวตนมีความสุขในการทำงานกัน
คนเราจะใจอ่อนไม่ได้ ต้องใจเข้มแข็ง คนเรามันเสีย เพราะความใจอ่อน ถ้าเราไม่เข้มแข็งไม่ได้หรอก ไม่มีสัมมาสมาธิไม่มีความตั้งมั่น เมื่อสมาธิก็ยังไม่มี ไม่มีความตั้งมั่น ปัญญาจะมาจากไหน เพราะว่ามันไม่มีฐานที่จะก้าวไปสู่ปัญญาได้เลย เราต้องใจเข้มแข็งเพราะเราจะเสียเพราะความใจอ่อนของเรานี้แหละ เห็นไหมคนสมัยใหม่เลี้ยงลูกมา กลัวลูกทุกข์ลูกลำบากไม่ได้ฝึกลูกเลย เลี้ยงให้โตแต่ร่างกาย แต่ว่าจิตใจคุณธรรมศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มีเลย อย่างนี้มันเป็นการทำร้ายลูกของเรานะ เราเป็นคนใจอ่อน เป็นคนไม่มีปัญญานะ
อย่างวัดแต่ละวัด เจ้าอาวาส สมภารก็ใจอ่อน ทำตามใจตัวเอง ยุ่งแต่กับเรื่องเงิน เรื่องสตางค์ เรื่องยศ เรื่องสรรเสริญ ไม่ได้ตามพระพุทธเจ้าเลย วัดเลยถึงไม่เป็นวัด มันเป็นแก๊งไป ไม่มีข้อวัตรปฏิบัติเลย ไม่มีพระบวชเลย มันมีแต่ผู้ที่ลาสิกขาหมด หมายถึงว่า ผู้ที่ไม่เอาธรรมเอาพระวินัยคือผู้ที่ลาสิกขา บวชอยู่ก็ไม่มีสิกขาไม่มีการประพฤติ ไม่มีการปฏิบัติ จริงๆ การอยู่ที่วัดบ้านนั้นดี เพราะว่าไปบิณฑบาตก็ใกล้ โยมมาทำบุญก็ง่าย เราต้องเอาใหม่ ต้องไปทำวัตรเช้า-เย็น นั่งสมาธิทุกวัน กวาดวัดทุกวัน รักษาศีลให้ได้ทุกข้อ ไม่อย่างนั้นจะไปเอาเปรียบเขา เราก็เป็นกาฝากสังคม เป็นผู้ที่มาทำลายศาสนา ทุกคนทำได้ปฏิบัติได้ เราให้แก้ที่ตัวเองก่อน
ให้ถือนิสัยของพระพุทธเจ้า อย่าพากันถือนิสัยของตัวเอง ตัวเองมันเป็นปุถุชนจะไปถือนิสัยมันทำไม เราต้องเข้าใจ เพราะเราทุกคนต้องพากันแก้ไขตัวเอง คือนำตัวเองเอาพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ เอาพระธรรมเป็นสรณะ เอาพระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นสรณะ ก็คือตัวเรานี้แหละ เราต้องใจเข้มแข็งต้องมีปัญญา ถ้าเป็นประชาชน พ่อแม่ก็ต้องเข้มแข็ง จะไปอ่อนแอไม่ได้ อย่าให้อบายมุขทางสู่อบายภูมิเข้ามาในตัวเรา ในครอบครัวของเรา ในสังคมของเรา มันแสนระทมข่มขื่น ให้เราเข้าใจ อย่าไปโทษสิ่งนู้นสิ่งนี้ อย่าไปโทษฝนแล้ง อย่าไปโทษน้ำท่วม มันต้องโทษตัวเองที่เกิดมาแล้วตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกตัวเอง มันถึงได้ท่องเที่ยวในวัฏฏะสงสาร
จิตใจของตนต้องดี ต้องเบิกบาน ต้องมีความสุข เราจะได้เป็นไทยแท้ เป็นอิสระจากอวิชชา ความหลง เราต้องกลับมาหาศีล หาธรรม หาคุณธรรม อย่าไปกลัวตาย อย่าไปกลัวอดตาย มันจะตายที่ไหน เพราะเราต้องเป็นคนเสียสละ เราถึงจะมีปัญญา เราทุกคนต้องเสียสละ ไม่ตามใจตัวเอง ไม่ตามความคิดตัวเอง มันถึงจะมีสัมมาสมาธิ ปัญญาของเราถึงจะเกิดได้ ศีล สมาธิ ปัญญาถึงได้ไปพร้อมๆกันเป็นอริยมรรคมีองค์แปดที่สมบูรณ์ ชีวิตของเราจึงจะได้มีความสุข จะได้พัฒนาทั้งเทคโนโลยี พัฒนาทั้งใจได้ ถ้าเรามัวแต่พัฒนาแต่ภายนอก ไม่ได้พัฒนาใจ มันจะมีปัญญาหรอ มันไม่มีปัญญานะ เราอย่าไปเข้าข้างตัวเอง ต้องเอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง
ศาสนาทุกศาสนาก็ต้องรักกัน สามัคคีกัน เพราะแนวทางของเรามันไปในแนวเดียวกันอยู่แล้ว ประโยชน์คือพระนิพพานอันเดียวกัน เพราะคนเราต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ อย่าไปเอาตามที่ชอบๆ มันไม่ได้ อยู่ดีๆ เราไปคิด ให้ตัวเองเป็นทุกข์ทำไม อันไหนไม่ดีก็อย่าไปคิด อันไหนไม่ดีก็อย่าไปพูด อันไหนไม่ดีก็อย่าไปทำ ปรับที่ตัวเองอย่าไปปรับที่อื่น
ถ้าเราปฏิบัติอยู่อย่างนี้อินทรีย์ของเราก็จะแก่กล้า เราก็จะได้รู้ว่าเขาทำอย่างนี้เอง เขาปฏิบัติอย่างนี้เองคือการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมคือการเสียสละละตัวละตน การทำงานก็คือการเสียสละละตัวละตน ละความขี้เกียจขี้คร้าน ละความติดสุขติดสบาย ผลที่ได้รับก็คือเราจะเป็นผู้ที่มีความสุข ร่ำรวยด้วยโภคทรัพย์และก็ร่ำรวยด้วยคุณธรรม
ทำไปเรื่อยๆ อย่าไปใจร้อน คนเรามันใจร้อน ทำอะไรนิดหน่อยก็อยากได้มาก ปฏิบัตินิดหน่อยก็อยากบรรลุ กิเลสมันเผาตัวเอง มันเผาทั้งที่ยังไม่ตาย เรียกว่ามันตกนรกทั้งเป็นทั้งที่ยังไม่ตาย มันเผาตนเองยังไม่พอ มันเผาคนอื่นเผาพี่เผาน้อง สารพัดที่มันจะเผา เราไม่ต้องอยาก เราสร้างเหตุสร้างปัจจัยให้พร้อมให้เต็มที่ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ที่จริงเราก็ไม่อยากประมาท แต่บางทีธาตุขันธ์ของเราไม่อำนวย เลยกลายเป็นคนประมาท เราเป็นคนใจอ่อน จิตใจไม่เข้มแข็ง ไม่ตั้งมั่น ใจไม่มีสมาธิ มันเลยไม่มีกำลัง เราก็ต้องเข้มแข็ง ต้องหนักแน่น ต้องกล้าหาญ ต้องกล้าตัด กล้าละ กล้าวาง เราต้องตายคือตายจากความคิดอย่างนี้ อารมณ์อย่างนี้ ตายจากความยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้
ถ้าเราไม่ตาย เราก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองไปทางที่ดี ส่วนมากมันติด มันอาลัยอาวรณ์ มันไม่อยากทิ้ง เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันสร้างบารมีมาด้วยกันนานแล้ว มันไม่อยากพลัดพรากจากกัน เราจำเป็นต้องตัด ต้องละ ต้องวาง เราต้องตัดสังโยชน์ตัดสังสารวัฏด้วยความจำเป็น เพราะการเกิดทุกข์คราวเป็นทุกข์ร่ำไป การแก่ทุกคราวเป็นทุกข์ร่ำไป การเจ็บทุกคราวเป็นทุกข์ร่ำไป การตายทุกคราวเป็นทุกข์ร่ำไป มันเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ มันไม่มีอะไรนอกจากทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นดับไป
การที่เรามาสงบระงับสังขารทั้งหลายจะเป็นสุขอย่างยิ่ง เรามีสมาธิมีความตั้งมั่น พระพุทธเจ้าท่านถึงหายใจเข้าก็สบาย ออกสบาย มีปีติ สุข เอกัคตา ไม่วิ่งไปตามอารมณ์ ตามสังขาร ชื่อว่าความปรุงแต่งมันเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ให้เรากลับมาที่ใจเรา มันเป็นของง่าย ปัญหาต่างๆ ในโลกนี้มันมาจบที่ใจเรา เรื่องภายนอกมันไม่จบ เรามาทำปริญญาทำเรื่องดับทุกข์ภายในจิตใจให้กับตัวเอง
นี่แหละเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง ถูกตรง สมควรและเป็นบุคคลที่น่ากราบน่าไหว้ เป็นบุคคลที่เกิดมามีประโยชน์ไม่สูญเปล่า เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น บุคคลเช่นนี้น่าจะมีมากๆ จะได้นำความสงบ ความสุข ความร่มเย็น แก่ชาวโลกทุกๆ คนที่เกิดโลกเดียวกันกับเรา เราต้องเปลี่ยนแปลงตนเองด้วยการมีศีล สมาธิ ปัญญา จะได้เป็นผู้มีความสุข ความดับทุกข์สู่ตนเองที่ถาวร
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee