แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันจันทร์ที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระธรรมตอนที่ ๓๗ สิ่งที่เริ่มต้นเป็นนิมิตเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมความดีทั้งหลาย คือสัมมาทิฏฐินั่นแล
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
สัมมาทิฏฐิคือความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ทุกคนจะต้องประพฤติจะต้องปฏิบัติในปัจจุบัน ไม่อย่างนั้นมันก็ไม่รู้เรื่องการปฏิบัติ ไม่รู้เรื่องความคิดของตัวเอง เพราะคนเราจะผิดหรือจะถูกหรือจะอะไรมันก็อยู่ที่ปัจจุบันนะ ถ้าปัจจุบันมันผิด อนาคตมันก็ผิด เพราะมันเป็นอย่างนี้น่ะ ทุกคนต้องพากันรู้เรื่องการประพฤติรู้การปฏิบัติของตัวเอง ถ้างั้นเราจะพากันงง ปล่อยให้ความคิดมันปรุงแต่งไป ปล่อยให้การกระทำ คำพูด กิริยามารยาทมันผ่านไป โดยที่ไม่มีพุทธะทางจิตใจ ไม่มีพุทธะทางวัตถุ อย่างนี้มันเสียหาย เพราะเราทุกคนถือว่าเป็นผู้ที่ประเสริฐ ต้องรู้จักเหตุรู้จักปัจจัย ต้องรู้กระบวนการกระแสของปฏิจจสมุปบาท เพราะสิ่งนี้มี สิ่งต่อไปมันถึงมี ทุกคนพากันเข้าใจนะ คนเราต้องปรับตัวเข้าหาเวลา เข้าหาธรรมะ อยู่ที่ปัจจุบัน เพราะพระนิพพานเป็นเรื่องสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกปฏิบัติถูกต้อง ไม่ได้เพิ่มไม่ได้ตัด มันเป็นความรู้คู่ปฏิบัติอย่างนี้ ถ้างั้นไม่ได้หรอก มันไม่มีสติไม่มีสัมปชัญญะ เราต้องทำกับใจให้ถูกต้อง ทำวัตถุให้ถูกต้อง ต้องมีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ เพราะเรามีตัวมีตนอยู่ ไม่ได้หรอก ต้องยกเลิกตัวตน
เราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ทุกคนต้องมีความสุขที่สุดในโลกในปัจจุบัน เอาตัวตนเป็นที่ตั้งไม่ได้ มันเซ่อ มันเบลอ อย่างนี้ไม่ได้ มันต้องยกเลิกตัวตน ให้รู้เรื่องปัจจุบันดีๆ รู้เรื่องจิต เรื่องวาระจิต เพราะความผิดหรือความถูกอย่างนี้น่ะ ถ้าไม่มีสติไม่มีสัมปชัญญะ อย่างนี้มันไม่ได้ คนเรามันต้องมีสติมีสัมปชัญญะ มันจะเอาความไม่รู้นี้ครองธาตุครองขันธ์ครองอายตนะมันไม่ได้ เพราะที่ว่าเราทุกข์ยากลำบากในเรื่องการปฏิบัติ มันไม่ยากลำบากนะ ให้เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เพราะความยากลำบาก อันนั้นมันเป็นตัวเป็นตน มันเป็นอวิชชา เป็นความหลง เราต้องรู้จักอาการของตัวของตน รู้จักอวิชชาความหลงอย่างนี้
การปฏิบัติมันต้องเป็นปัจจุบัน อนาคตมันก็คืออนาคต อดีตก็เป็นอดีต ปัจจุบันนี้ก็ต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง มันจะก้าวไปอย่างนี้ เอาตัวเป็นที่ตั้งมันก็คือสร้างหนี้สร้างสินทางจิตใจ สร้างหนี้ทางวัตถุ เพราะเราไม่รู้ขบวนการแห่งความยากจนหรือว่าความดับทุกข์ เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง หนี้สินมันจะหมดได้เมื่อไรล่ะ หนี้สินทางใจมันก็ไม่หมด เพราะเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง มีแต่สร้างปัญหา ไม่ได้เสียสละอะไรเลย นึกว่าปล่อยวาง คือไม่ทำอะไร นั่นไม่ใช่ การปล่อยวางก็มายกเลิกตัวตนนี่แหละ ปรับเข้าหาเวลา มันจะไม่ได้สีลัพพตปรามาส ลูบคลำในศีลในข้อวัตรข้อปฏิบัติ การบริหารธาตุ บริหารขันธ์ อายตนะ เราต้องมีพุทธะทางจิตใจ พุทธะทางวัตถุไปพร้อมๆ กัน ประเทศเราจะไปได้ยังไง มีการโกงกินคอรัปชัน 60% 70% อย่างนี้ จนเป็นทางระบบไปเลย คนเราเพียงแต่ยกเลิกตัวตนน่ะ การมีอยู่มีกินมีใช้ เหลือกินเหลือใช้ มันอุดมสมบูรณ์ ตัวตัวตนนี่คือหัวหน้าเปรต หัวหน้ายักษ์ หัวหน้ามาร ฯลฯ เราทุกคนต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง อยู่ทุกหนทุกแห่ง อยู่ทุกมุมของโลก เราต้องยกเลิกสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้ ที่มันแก้ปัญหาไม่ได้ ตัวตนมันแก้ปัญหาไม่ได้ ข้าราชการก็มีไม่ได้ นักการเมืองก็มีไม่ได้ มันคือตัวตนอย่างนี้ พระเจ้าพระสงฆ์ก็มีไม่ได้ มันคือตัวตน
คนเรามันต้องมีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง เพราะความหลงมันเผาเรา ทำให้ไม่รู้จักเรื่องอนิจจัง ไม่รู้จักทุกขัง อนัตตา มีแต่ประกอบทุกข์ สร้างทุกข์ สร้างปัญหาใหญ่โตมโหราฬ ก็ยังไม่รู้ มันชิบหายวายวอดหมดแล้ว ตัวตนจัดอย่างนี้ มันก็โอ...จะรับผลัดของพระพุทธเจ้าได้ยังไง จะรับผลัดของพระอรหันต์ได้ยังไง เพราะตัวตนมันคือรับไม่ได้ มันเป็นม่านบังญาณปัญญา ความดับทุกข์ดับทุกข์เป็นสิ่งที่มีอยู่ มรรคผลเป็นสิ่งที่มีอยู่ แต่เราไม่ให้มันมี เพราะเราไม่เข้าใจเรื่องอริยสัจ ๔ เราต้องเข้าใจอย่างนี้ ถ้าเข้าใจ มันจะไม่ตรึกไม่นึกไม่คิดน่ะ มันยังไม่เข้าใจ ยังเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง มันเข้าใจไม่ได้ เอาตนเป็นที่ตั้งมันก็สงสัยอยู่นั่นแหละ จะเรียนเพื่อไปแก้ไขภายนอก ไม่ได้แก้ไขตัวเอง
ทางสายกลางของพระพุทธเจ้า เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มาสรุปสุดท้ายด้วย สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คือ เป็นศีลสมาธิ ปัญญา เป็นการหยุดความวุ่นวาย หยุดความปรุงแต่ง เราทุกคนจะพากันมาเอาอะไร? เพราะทุกอย่างไม่ใช่ของจะมาเอา เราต้องมาเสียสละ มีความสุขในการเสียสละ
ถ้าจะจัดเข้าเป็นพวกๆ ทิฏฐิ ก็คงมี ๒ ระดับ คือ ความเห็น ความเข้าใจ เกี่ยวกับคุณค่า ว่าดี ไม่ดี ควรจะเป็น ไม่ควรจะเป็น เป็นต้น อย่างหนึ่ง ความเห็น ความเข้าใจ เกี่ยวกับความจริงว่า คืออะไร เป็นอย่างไร เพราะเหตุไร เป็นต้น อย่างหนึ่ง ทิฏฐิ คือ ความเห็น ความเข้าใจ ความใฝ่นิยมยึดถือต่างๆ นั้น มีอิทธิพลครอบงำ และมีบทบาทในการกำหนดวิถีชีวิตและสังคมของมนุษย์เป็นอย่างมาก
ในกรรมบถ ท่านจัดทิฏฐิเข้าเป็นมโนกรรม ซึ่งเป็นกรรมที่สำคัญ มีผลมากมายร้ายแรงที่สุด ยิ่งกว่ากายกรรม และวจีกรรม เพราะเป็นตัวบันดาลกายกรรมและวจีกรรมอยู่เบื้องหลังอีกชั้นหนึ่ง สามารถนำชีวิตสังคม หรือมนุษยชาติทั้งหมดไปสู่ความเจริญงอกงามรุ่งเรืองหลุดพ้น หรือนำไปสู่ความเสื่อม ความพินาศก็ได้
ดังจะมองเห็นได้ในชีวิตของบุคคล ทิฏฐิเป็นตัวชักจูง และกำหนดวิถีชีวิต ทั้งในด้านรับเข้า และด้านแสดงออก กล่าวคือ จะมองเห็นโลกและชีวิตเป็นอย่างไร และจะปฏิบัติต่อโลกและชีวิตนั้นอย่างไร เริ่มตั้งแต่จะแปลความหมายของประสบการณ์ที่รับรู้เข้ามาใหม่อย่างไร จะตีค่า จะตัดสินวินิจฉัยว่าอย่างไร จะหันไปหาหรือเลือกรับสิ่งใด ส่วนใด ในแง่ใด จะเห็นด้วยหรือไม่ จะอยู่ฝ่ายใด แล้วชักนำแนวความคิด การพูดการกระทำที่จะสนองตอบโต้ แสดงปฏิกิริยาออกไปว่าจะเอาอย่างไร พูดหรือทำอย่างไร กับบุคคล สิ่งสภาพแวดล้อม หรือ สถานการณ์นั้นๆ พร้อมทั้งสร้างเหตุผลประกอบสำหรับการที่จะพูดจะทำเช่นนั้น
กล่าวสั้นๆ ด้วยศัพท์ธรรมว่า ทิฏฐิปรุงแต่งชักนำองค์ธรรมต่างๆ ตั้งแต่สังกัปปะ คือความคิด หรือ ความดำริเป็นต้นไป ให้เป็นมิจฉา หรือเป็นสัมมา ตามทิฏฐินั้นๆ
สัมมาทิฏฐิ แบ่งเป็น ๒ ประเภท หรือ ๒ ระดับ คือ
๑. โลกิยสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบระดับโลกีย์ คือ ยังเนื่องในโลก ขึ้นต่อโลก ได้แก่ ความเห็น ความเชื่อ ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิตที่ถูกต้องตามหลักแห่งความดี เป็นไปตามคลองธรรม หรือสอดคล้องกับศีลธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่จำเป็นต้องมี ในระดับพื้นฐาน เป็นการจูงใจให้คนทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำให้ตนและสังคมอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ" ดังพุทธพจน์ที่ว่า “สัมมาทิฏฐิ ที่ยังมีอาสวะเป็นส่วนแห่งบุญให้ผล คือ อุปธิเป็นอย่างไร คือ ความเห็นว่า ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชาแล้วมีผล การเช่นสรวงที่เช่นสรวงแล้วมีผล วิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี โลกนี้มี โลกหน้าที่มี มารดามีคุณ บิดามีคุณ สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าที่ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็มีอยู่ในโลก”
สัมมาทิฏฐิระดับความเชื่อในกฎแห่งกรรมนี้ ถือว่าเป็นความรู้ความเชื่อในระดับค่านิยมพื้นฐานที่สำคัญ เป็นความรับผิดชอบและความใฝ่ผลสำเร็จที่เกิดจากการกระทำ จากความเพียรพยายาม ความสามารถ และสติปัญญาของตนเอง สัมาทิฏฐิระดับนี้ ไม่ได้จำกัดกรอบอยู่เฉพาะในหมู่ของชาวพุทธเท่านั้น แม้ความเห็นความเชื่อของคนนอกศาสนา (พาหิรกชน) หรือระบบคุณค่าใดๆ ก็ตามที่มีอยู่ในสังคม ถ้าเป็นความเชื่อว่าชีวิตเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ก็ถือว่าเป็นสัมมาทิฏฐิเหมือนกัน จะเห็นได้ว่า ถ้ายึดเกณฑ์นี้เป็นมาตรฐาน ก็แสดงว่า ความเห็นความเชื่อที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ไม่ได้ผูกขาดเฉพาะในพุทธศาสนาเท่านั้น อาจจะมีอยู่ในกลุ่มชนทั่วทุกมุมโลกก็ได้ แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะไม่เคยรู้จักพุทธศาสนาเลยก็ตาม
สัมมาทิฏฐิระดับกัมมัสสกตาญาณ ก็เป็นมาตรฐานชี้วัดความเป็นชาวพุทธว่า หากมนุษย์มีความรู้ทางวิซาการอย่างสูง แต่ไม่รู้บาปบุญ คุณโทษ ก็ยังไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นได้เพียงปัญญาระดับสุตมยปัญญาเท่านั้น
โดยทั่วไป สัมมาทิฏฐิประเภทนี้เกิดจาก ปรโตโฆสะ คือปัจจัยฝ่ายภายนอก หรือ องค์ประกอบทางสังคม ด้วยอาศัยศรัทธาเป็นเครื่องเชื่อมโยงหรือชักนำ เฉพาะอย่างยิ่ง เกิดจากการหล่อหลอมกล่อมเกลาของสังคม เช่น การอบรมสั่งสอนทางศีลธรรม การถ่ายทอดทางวัฒนธรรม เป็นต้น แม้สัมพันธ์กับโยนิโสมนสิการ ก็มักเป็นโยนิโสมนสิการแบบเร้ากุศล
ทิฏฐิระดับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณค่า เช่นว่า ดี ชั่ว ถูก ผิด อะไรดีกว่า อะไรเลวกว่า ควรจะเป็น ไม่ควรจะเป็น หรือว่าน่าเป็น ไม่น่าเป็น อย่างไร เป็นต้น ตลอดจนหลักความเชื่อ หลักความเห็นต่างๆ ที่จะรักษาคุณค่าที่ดีงามถูกต้องไว้
พึงสังเกตด้วยว่า ความรู้เกี่ยวกับกรรมในระดับนี้ เป็นเพียง “ความรู้ถึงความที่กรรมเป็นของตน รู้ว่าแต่ละสัตว์แต่ละคนเป็นเจ้าของการกระทำของตน ที่จะทำให้รู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำของตนนั้น หรือรู้ว่ามนุษย์จะเป็นไปตามกฎแห่งกรรมนั้น อยู่ในขั้นของความรู้เข้าใจที่สอดคล้องกับกฎแห่งกรรมเท่านั้น ยังมิใช่เป็นการรู้เข้าใจตัวกฎ หรือหยั่งรู้ถึงความเป็นไปของเหตุปัจจัยนั้นโดยตรง ทั้งนี้เพราะความรู้เข้าใจที่หยั่งถึงตัวกฎหรือเหตุปัจจัยโดยตรง ย่อมจัดเข้าในจําพวกโลกุตรสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นข้อต่อไป
๒. โลกุตรสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบระดับโลกุตระ คือเหนือโลก ไม่ขึ้นต่อโลก ได้แก่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิตถูกต้องตามความเป็นจริง หรือรู้เข้าใจตามสภาวะของธรรมชาติ พูดง่ายๆ ว่า รู้เข้าใจธรรมชาตินั่นเอง สัมมาทิฏฐิประเภทนี้ เกิดจาก โยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นองค์ประกอบภายใน หรือปัจจัยภายในตัวบุคคลปรโตโฆสะที่ดี หรือกัลยาณมิตร อาจช่วยได้เพียงด้วยการกระตุ้นให้บุคคลนั้นใช้โยนิโสมนสิการแล้วรู้เห็นเข้าใจเอง หมายความว่า สัมมาทิฏฐิประเภทนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงด้วยการรับฟังแล้วเชื่อตามคนอื่นด้วยศรัทธาเพราะต้องเป็นการรู้จักที่ตัวสภาวะเอง ต้องเอาธรรมชาตินั่นเองเป็นข้อพิจารณาโดยตรง
ด้วยเหตุนี้ โลกุตรสัมมาทิฏฐิจึงไม่เกี่ยวข้องกับหลักการ กฎเกณฑ์ ข้อยึดถือที่ปรุงแต่งหรือบัญญัติวางซ้อนเพิ่มขึ้นมาต่างหากจากธรรมดาของธรรมชาติ และจึงเป็นอิสระจากการหล่อหลอมของสังคม ไม่ขึ้นต่ออิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นการเกี่ยวข้องกับธรรมชาติเองแท้ๆ ซึ่งมีสภาวะและธรรมดาเสมอเหมือนกันทุกถิ่นฐานทุกกาลสมัย
สัมมาทิฏฐิเบื้องสูงนี้เกิดขึ้นจากการมีสัมมาทิฏฐิเบื้องต้นเป็นพื้นฐานมาก่อน จากนั้น จะต้องผ่านการทำสมาธิจนเห็นผลแห่งการปฏิบัติมาในระดับหนึ่งจึงจะเกิดความเข้าใจแตกฉานได้ ซึ่งจะยังไม่ขยายความในที่นี้ แต่จะมุ่งไปที่สัมมาทิฏฐิเบื้องต้นก่อนเป็นอันดับแรก สัมมาทิฏฐิเบื้องต้นทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าว ข้อที่เป็นพื้นฐานสำคัญต่อทุกชีวิต มากที่สุด คือข้อที่ ๔ ได้แก่ ความเชื่อเรื่องกฏแห่งกรรม ที่ว่าใครทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ใครทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่วจากสิ่งที่ตนเองทำไว้ หากใครมีความเชื่อมีความเข้าใจอย่างนี้แล้ว เขาจะมีกำลังใจสูงที่จะทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะมีความมั่นใจในบุญและกล้าที่จะประกาศว่า ชีวิตนี้เกิดมาก็เพื่อสร้างบารมีสร้างความดีให้มากที่สุด ความชั่วจะไม่ทำ คนลักษณะนี้จะต้องมีความเชื่อมั่นในกฏแห่งกรรมเป็นตัวค้ำไว้ ถ้าไม่มีความเชื่อนี้เสียแล้ว แม้มีโอกาสที่จะทำความดีก็จะไม่ทุ่มเต็มที่ เพราะยังลังเลอยู่ว่าจะได้บุญจริงหรือไม่ แม้ทำก็แค่คิดทำเพียงป้องกันเอาไว้ก่อน ทำแบบไม่สม่ำเสมอ ผลที่ออกมาก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างที่ควรจะเป็น นอกจากนั้น ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมยังจะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจในสัมมาทิฏฐิข้ออื่นๆ มากยิ่งขึ้นไปอีกด้วย
ดังนั้น หากมีสัมมาทิฏฐิครบทั้ง ๑๐ ประการนี้แล้ว ต้องถือว่ามีวิถีชีวิตที่สมบูรณ์แบบที่สุด ถึงคราวจะมีโอกาสทำความชั่ว ก็สามารถยับยั้งใจเอาไว้ได้ ใครจะรู้เห็นหรือไม่ก็ตาม ถ้ารู้ว่าเป็นความชั่วแล้วเป็นไม่ทำเด็ดขาด ตรงกันข้าม ถ้าเป็นเรื่องบุญแล้ว จะมีใครรู้เห็น จะมีใครสรรเสริญหรือไม่ก็ตาม ก็จะทุ่มเททำอย่างสุดกำลัง
ความสำคัญของสัมมาทิฏฐิต่อวิถีชีวิต สัมมาทิฏฐิ เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องทราบและศึกษาทำความเข้าใจเป็นประการแรก เมื่อมีความเห็นที่ถูกต้องแล้ว การดำเนินชีวิตก็จะเป็นไปอย่างถูกทาง ความคิด คำพูด และการกระทำ ก็จะปรากฏออกมาในทางที่ดีงาม คนเราอาจจะมีความเข้าใจถูกในด้านวิชาการทางโลกเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง แต่ความเข้าใจถูกเหล่านั้นยังไม่จัดว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ยังไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับตัวเองหรือคนอื่นๆได้ ยกตัวอย่าง บางท่านอาจจะมีความเข้าใจถูกในเรื่องของดาราศาสตร์ ในเรื่องของเทคโนโลยี จนกระทั่งสามารถไปดวงจันทร์ ไปดวงดาวต่างๆ ได้ บางท่านอาจจะมีความเข้าใจถูกในเรื่องการแพทย์ ในเรื่องของการคำนวณ รวมทั้งการปกครองทั่วๆ ไป แต่ก็ยังไม่เรียกว่าเป็น สัมมาทิฏฐิ ต่อเมื่อใดมีความเข้าใจในเรื่องโลก เรื่องชีวิตอย่างถูกต้อง เมื่อนั้นจึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิเพราะฉะนั้น ใครก็ตามถึงแม้เขาจะเรียนจบปริญญาเอก เป็นศาสตราจารย์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นประธานาธิบดี เป็นมหาเศรษฐี นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นสัมมาทิฏฐิ ตราบใดที่เขายังเข้าใจไม่ถูกต้องในเรื่องโลกและชีวิต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องความร่มเย็นเป็นสุขของประชาชนไว้ในที่หลายๆ แห่ง และเมื่อตรัสครั้งใด จะต้องยกสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องต้นทุกครั้งไป มีตัวอย่างดังนี้ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียว เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อประโยชน์หิตสุข (เกื้อกูล) แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลคนเดียวคือใคร คือบุคคลผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นไม่วิปริต เขาทำให้คนเป็นอันมากออกจากอสัทธรรมแล้ว ให้ตั้งอยู่ในสัทธรรม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียวนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้น เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อประโยชน์หิตสุขแก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
นอกจากนี้ สัมมาทิฏฐิยังเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นถึงกุศลธรรมความดีที่กำลังจะ เกิดขึ้นในภายภาคหน้าอีกด้วย คือ เมื่อบุคคลมีสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นในใจแล้ว ย่อมเป็นทางให้บุญกุศลทั้ง หลายได้เกิดแก่ขึ้นแก่บุคคลนั้น ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดังนี้ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เริ่มต้นเป็นนิมิตเบื้องต้นแห่งดวงอาทิตย์ เมื่อจะอุทัย คือ แสงเงินแสงทอง ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เริ่มต้นเป็นนิมิตเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย คือ สัมมาทิฏฐิ ฉันนั้น เหมือนกันแล”
ดังที่ทราบอยู่แล้วว่า สัมมาทิฏฐิแนวโลกุตระ เกิดจากโยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการจึงมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งควรไว้อีกครั้งหนึ่งว่า ตามปกติ พฤติกรรมของมนุษย์ปุถุชนจะเป็นไปตามอำนาจของค่านิยม ที่เกิดจากการหล่อหลอมทางสังคม เช่น ละเว้นการกระทำไม่ดีอย่างนั้น และกระทำการที่ดีอย่างนี้ ตามคำอบรมสั่งสอนบอกเล่าถ่ายทอดเล่าเรียน หรือจดจำแบบอย่างมา ถ้าเมื่อใดปุถุชนไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของค่านิยมเช่นนั้น เขาก็จะตกเป็นทาสของตัณหา ที่เรียกกันในสมัยใหม่ว่าอารมณ์ของตนเอง แต่โยนิโสมนสิการ ช่วยให้หลุดพ้นได้ ทั้งจากอิทธิพลของค่านิยมทางสังคม และจากความเป็นทาสแห่งตัณหาหรืออารมณ์กิเลสของตนเองทำให้มีพฤติกรรมอิสระ ที่เป็นไปด้วยปัญญา
จึงสรุปได้ว่า ปุถุชนจะคิดจะทำการใดๆ ก็ตาม หากขาดโยนิโสมนสิการเสียแล้ว ถ้าไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของค่านิยมจากภายนอก ก็ย่อมตกเป็นทาสแห่งตัณหาของตนเอง เมื่อใดมีโลกุตรสัมมาทิฏฐิ เมื่อนั้นเขาก็จะหลุดพ้นจากอำนาจปรุงแต่งของสังคมได้อย่างแท้จริง
เมื่อใดทิฏฐิกลายเป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อนั้นก็จัดเป็นปัญญา หรือไวพจน์คําหนึ่งของปัญญา แม้ว่าในขั้นแรกเริ่ม สัมมาทิฏฐินั้นจะยังเป็นเพียงความเห็นหรือความเชื่ออยู่ ทั้งนี้เพราะความเห็นหรือความเชื่อนั้นสอดคล้องกับความเป็นจริง มีความเข้าใจตามสภาวะหรือตามเหตุปัจจัยเป็นที่อ้างอิง เริ่มเดินหน้าออกจากอำนาจครอบงำของอวิชชาและตัณหา
โดยนัยนี้ "สัมมาทิฏฐิ" จึงมีความหมายกว้างขวาง คลุมตั้งแต่ความเห็นและความเชื่อถือที่ถูกต้อง ไปจนถึงความรู้ความเข้าใจตามสภาวะที่เป็นจริง มีความสำคัญในฐานะเป็นเครื่องชำระกรรม เป็นปฏิปทาของบรรพชิตและคฤหัสถ์ เป็นความเห็นถูก เห็นชอบ ความเข้าใจถูกต้อง และความสมบูรณ์สูงสุดคือนิพพาน มีคำที่เป็นไวพจน์ คือ "อุชุคตา" (ความเห็นดำเนินไปตรง) และ "ปัญญา" (ความรู้ทั่ว คือรู้ทั่วถึงเหตุถึงผล รู้อย่างชัดเจน รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ รู้สิ่งที่ควร) เป็นความเห็นถูก คือ การมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ เรื่องโลกและความเป็นไปของชีวิตว่าเป็นไปตามกฎของไตรลักษณ์ คือ มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ เสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา โดยใช้ปัญญาพิจารณาเพื่อพัฒนาไปสู่ความหลุดพ้น คือนิพพาน วัตถุประสงค์ของสัมมาทิฏฐิ เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชน คือ บุคคลผู้มีสัมมาทิฏฐิย่อมเกิดขึ้นเพื่อ ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทพยดาและมนุษย์ ความสำคัญของสัมมาทิฏฐิ คือเป็นประดุจแกนนำ เป็นหัวหน้าที่ เป็นนายสารถีดัง เป็นบุพนิมิตแห่งการรู้แจ้งอริสัจ เป็นเหตุปัจจัยให้กุศลธรรมอื่นๆ ได้เกิดขึ้น เพราะความเห็น เป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่อาจนำวิถีชีวิตและสังคมมนุษย์ไปสู่ความดีความเจริญ ดังนั้นการได้ศึกษาความสำคัญของสัมมาทิฏฐิเป็น "ปฐมสู่พระนิพพาน"
ทุกวันนี้เรามีความเห็นผิดเข้าใจผิดปฏิบัติผิดทำอะไรก็หวังแต่ประโยชน์ตอบแทน มันไม่ต่างจากการรับจ้างทำงาน แสดงถึงความฉลาดของเรายังมีน้อยอยู่ พระพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญบารมีตลอด ๒๐ อสงไขย แสนมหากัป ไม่ทรงหวังอะไรตอบแทน มีแต่ความเสียสละ อดีตที่ผ่านมามันจะดีหรือชั่วมันจะเป็นยังไง เราก็ต้องเสียสละออกจากใจของเรา ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเรื่องให้ทาน ให้ทานก็เพื่อเสียสละตัวตน เสียสละความตระหนี่ เสียสละความชอบไม่ชอบ เสียสละความดีใจเสียใจเสียสละทางจิตใจยังไม่พอ ต้องมาเสียสละทางสิ่งของเงินทองและทรัพย์ภายนอกที่ติดตามตัวไปไม่ได้ให้เป็นอริยทรัพย์ภายในที่ติดตามตัวเราไปได้ เหมือนกับเป็นผู้ไม่ประมาทมีเสบียงในการเดินทางเวียนว่ายตายเกิด คนเราถ้ามาเสียสละ เราถึงจะมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เรามองดูสิ! เราทุกคนก็จะเอาประโยชน์จากพ่อจากแม่ อย่างเราเรียนหนังสือ ลงทุนในการเรียนหนังสือก็เพื่อจะเอา เพื่อหวังผลกำไรผลตอบแทน เราเข้าใจผิดปฏิบัติผิดอย่างนี้มันถึงเป็นมนุษย์ ผู้มีจิตใจสูงไม่ได้ เป็นได้แต่เพียงคนที่มันระคนอยู่ด้วยความไม่ดีต่างๆ ชีวิตจึงตกอยู่ในอบายมุขในอบายภูมิ
เราจะมาเอาอะไรกับของไม่เที่ยงแท้ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน การเวียนว่ายตายเกิดมันเป็นสิ่งที่ยากมันมีภาระนักหนา เราต้องรู้จักใจรู้จักอารมณ์ของเรา รู้จักว่าเราต้องปฏิบัติ ต้องเสียสละ ด้วยไม่คิดไม่พูด ไม่กระทำ เป็นบุคคลที่ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป บาปก็คือเห็นผิดเข้าใจผิด หลงยึดหลงติด ติดยังไงล่ะ? ก็เหมือนติดยาเสพติด ติดเหล้าติดเบียร์ ติดภรรยาสามีลูกหลาน ก็ติดอันเดียวกัน ติดหนี้ติดสิน ก็ติดอันเดียวกัน ถ้าเราไม่มีความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ชีวิตของเราชื่อว่าเป็นตาลยอดด้วนนะ ถ้าใครไม่ละอายต่อบาปยังกล้าคิด ยังยินดีในกามคุณ ยังยินดีในความร่ำรวย ในลาภยศสรรเสริญ อย่างนี้เรียกว่าไม่ละอายต่อบาปไม่เกรงกลัวต่อบาป
ต้องมาเพิ่มความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาปเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ เราอย่าไปคิดว่า จะไปเอาอะไรกันนักหนา จะไปจริงจังอะไรนักหนา จะไปเคร่งครัดอะไรนักหนา คิดแบบนี้คือคนไม่ละอายต่อบาปไม่เกรงกลัวต่อบาป ความไม่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ย่อหย่อนอ่อนแอ ตามใจตามอารมณ์ก็คือกามสุขัลลิกานุโยค คือ การประกอบตนเองให้ติดสุขติดสบาย มุ่งเน้นไปแต่ในทางกามคุณกามสุข
ถ้าเราตั้งใจแล้ว เราต้องสู้ให้ชนะทุกไฟท์ไปนะ ปัจจุบันที่เกิดขึ้นให้เราได้ไฟท์ ให้เราได้สู้ ต่อสู้กับกิเลส ได้ประพฤติปฏิบัติ พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้เราบวชมาเพื่อเอาพระศาสนาทำมาหาเลี้ยงชีพ แต่ให้บวชมาเพื่อมาเอาพระศาสนาไปสู่มรรคผลพระนิพพาน ทุกท่านต้องปรับใจตนเอง เข้าสู่การประพฤติพรหมจรรย์ คือใจที่ประเสริฐละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ยินดีในการประพฤติปฏิบัติธรรม
หากเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ นั่นคือการเสียสละนะ เพราะเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ รักษาศีลรักษาสิกขาบทน้อยใหญ่ ละความเห็นแก่ตัว ที่ทำตามความยึดมั่นถือมั่น ศีลทุกสิกขาบทจึงเป็นความสละคืน บอกคืนอวิชชาความหลง ความเห็นแก่ตัว ต้องเสียสละจึงจะละสักกายะทิฏฐิ มีความเห็นว่าเป็นตัวกูของกู เป็นตัวเราของเรา ละระบบครอบครัวได้ ละระบบความเห็นแก่ตัวได้ ระบบครอบครัวก็คือระบบการเวียนว่ายตายเกิดนั่นแหละ เราปฏิบัติอย่างที่กล่าวมานี้เราจะมีความสุขได้ทุกคน ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ผู้มีสัมมาทิฏฐิมีศีลเป็นที่ตั้ง มีสมาธิเป็นที่ตั้ง มีปัญญาเป็นที่ตั้ง ถ้าเป็นผู้มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มันจะได้ไม่วกไปเวียนมา เป็นแต่เพียงคนอย่างนี้ ถ้าเราไม่ทำตามใจทำตามอารมณ์ทำตามความรู้สึก เรื่องทั้งหลายทั้งปวงมันก็จะจบไป ที่มีปัญหาการเวียนว่ายตายเกิด เพราะไม่ให้ทาน ไม่เสียสละตัวตน ทำตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึก ถึงไม่มีที่จบสิ้น ทุกท่านทุกคนต้องมาเสียสละนะ ถ้าไม่เสียสละ ก็จะไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่สิ่งที่เข้าใจยากนะ เป็นเรื่องเข้าใจง่าย และได้ผลจริง เมื่อทำจริงปฏิบัติจริง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee