แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันศุกร์ที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระธรรมตอนที่ ๓๔ ลาภยศสรรเสริญนินทาสุขทุกข์ ล้วนไม่จีรัง จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม จึงจะเป็นมงคลสูงสุด
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้ทุกคนรู้จักคำว่า “ศาสนา” ศาสนานี้คือธรรมะธรรมะคือศาสนา ศาสนานี้เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องแล้วปฏิบัติถูกต้อง เป็นการปฏิบัติถูกต้องทั้งทางจิตใจถูกต้องทางวัตถุ เป็นการพัฒนาไปทั้ง ๒ อย่าง คือพัฒนาใจพัฒนาวัตถุไปพร้อมๆ กัน คำว่าพุทธศาสนานี้หมายถึงยกเลิกอวิชชายกเลิกความหลง อวิชชาความรู้นี้ยังเป็นไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์ก็คือความหลง ให้เราพากันเข้าใจง่ายๆ ในชีวิตประจำวันของเราให้พากันเข้าใจ จะได้เอาการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐที่เรียกว่าพุทธะทางจิตใจ พุทธะทางวัตถุไปพร้อมๆ กัน ให้ทุกคนพากันเข้าใจอย่างนี้ อย่าดำเนินชีวิตไปด้วยความไม่รู้ เราถึงได้มีการเรียนการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาเอก ฝ่ายธรรมะก็ตั้งแต่นักธรรมตรีจนถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยค เพื่อเราจะได้รู้การประพฤติรู้การปฏิบัติ
เราต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องเพื่อยกเลิกสิ่งที่จะเป็นไปเพื่อประกอบทุกข์ ต้องเข้าใจการเรียนหนังสือ เราเรียนหนังสือไม่ใช่เพื่อจะมาเอาอะไร เพื่อให้เรามีสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง เพื่อจะได้เข้าใจเรื่องเหตุเรื่องปัจจัยแต่ละอย่าง ทั้งส่วนที่เป็นอาชีพและก็ส่วนทางจิตใจ มันต้องไปพร้อมๆ กัน ทุกคนก็พากันปฏิบัติได้หมดเหมือนๆ กัน มรรคผลพระนิพพานจะมีกับผู้รู้อริยสัจ ๔ ทั้งรูปธรรมนามธรรม เพราะความถูกต้องก็คือความถูกต้อง เมื่อเราเข้าใจแล้วก็เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราไม่ต้องไปแก้คนอื่น แก้ที่ตัวเราปฏิบัติที่ตัวเรา อย่าไปคิดว่า เมื่อได้ทำตามไปตามอัธยาศัยมันเป็นความสุข มันเป็นความหลงต่างหาก
เราคิดไปเรื่อย มันเป็นความคิดเฉยๆ เราต้องรู้จักความคิด รู้จักอารมณ์ คนเราไปคิดยังไงก็ทำตามมันไม่ได้หรอก เพราะว่าเราจะหยุดวัฏฏะสงสาร เราก็ฉลาดขึ้น ผู้หญิงจะสวยหรือไม่สวย ถ้าเราไม่ปรุงแต่ง เราก็ไม่มีปัญหาอะไร มันอยู่ที่เราไปปรุงแต่ง เลยมีปัญหา รูปมันก็คือรูป เวทนาก็คือเวทนา มันก็ไม่มีปัญหาอะไร ใจก็คือใจ ไม่มีปัญหา เพราะมันรู้จัก รู้จักแล้วก็อย่าไปวุ่นวาย เพราะเราบริโภคกามคุณ มาหลายภพหลายชาติมันก็ยินดี มันเล่นงานเรายิ่งกว่ายาม้า ยาอี ยาไอซ์อีก เราต้องมารู้จักวัฏฏสงสาร พระพุทธเจ้าท่านบอกท่านสอน เราไม่ต้องไปเชื่อใคร เราเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก พระที่แท้จริงจะได้เกิดในตัวเรา เราต้องกตัญญูกตเวที เพราะข้าวทุกเม็ดเป็นของพระพุทธเจ้า น้ำทุกหยดมันเป็นของพระพุทธเจ้า ที่อยู่ที่อาศัยก็เป็นของพระพุทธเจ้า เราต้องกตัญญูกตเวทีในบารมีของพระพุทธเจ้า เรามาทำภพชาติให้มันสิ้นซาก เราจะได้เป็นคนกตัญญูกตเวที ต่อยอดให้ลูกให้หลานให้ถูกต้อง เราไม่ต้องไปสนใจพระครูพระครรภ์ พระครรภ์ก็คือคนตั้งท้อง ตั้งท้องก็คือมีครอบครัว เราไม่ต้องไปสนใจ ตำแหน่งที่แต่งตั้งมันไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า เราต้องปฏิบัติเอง ทุกคนต้องปฏิบัติเอง ต้องได้มรรคได้ผลเอง ไม่มีใครแต่งตั้ง พระพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมีตั้ง 20 อสงไขย แสนมหากัปป์ ไม่มีใครแต่งตั้งให้ท่านได้ เราอย่าไปเมาหมัด โลกธรรมมันต่อยเราจนเมาหมัด ให้รู้จัก ให้ทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้
"โลกธรรม 8 หมายถึง เรื่องของโลกซึ่งมีอยู่ประจำกับชีวิต สังคมและโลกของมนุษย์ เป็นความจริงที่ทุกคนต้องประสบด้วยกันทั้งนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม อยู่ที่ว่า ใครจะประสบมาก หรือประสบน้อยช้าหรือเร็วกว่ากัน
ทุกคนในโลกเรานี้ ล้วนหนีความจริงไม่พ้น ไม่ว่าจะหลบไปอยู่ที่ไหนๆ ก็ตาม โลกธรรม 8 ประการ เป็นสัจธรรมที่ทุกคนจะต้องพานพบอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะมีฐานะมีตำแหน่งใหญ่โตเพียงใดก็ตาม
เมื่อเราผิดหวังไม่สมหวังในชีวิตหน้าที่การงาน แม้จะสู้ทำดีอย่างที่สุดแล้วก็ตาม เราก็ควรจะนำเอาความเสียใจนั้นมาเป็นกระษัยยารักษาใจของเรา ตามหลักของ "โลกธรรม 8" คือภาพที่ทุกคนในโลกนี้จะต้องพบเจอ และ โลกธรรม 8 นั้นคือ
1. ลาภ เมื่อมีลาภคนเราก็จะฟูใจ เพลิดเพลินจนขาดสติปัญญา เราต้องไม่ขาดสติ และหมั่นพิจารณาว่ามันไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืนสักวันหนึ่งมันก็จะจากเราไป
2. ยศ คนเราพอมียศมีตำแหน่งก็มักจะเหลิง หยิ่งผยอง เราต้องมีสติพิจารณาตามความเป็นจริงว่าที่เขาให้ตำแหน่งเรามาก็เพราะเขาเห็น ว่าเรามีประโยชน์ เมื่อวันหนึ่งข้างหน้ามีคนที่เก่งกว่าเรา หรือเราหมดประโยชน์ เขาก็จะปลดเราออก
3. สรรเสริญ คนเราส่วนมากบ้ายอ พอมีคนยกย่องสรรเสริญเข้ามักจะเหลิง หลงตัวเอง คิดเข้าข้างตัวเอง เราต้องใช้สติพิจารณาว่าที่เขายกย่องสรรเสริญเราวันนี้ เพราะเขาได้ประโยชน์จากเราแต่วันหนึ่งข้างหน้า เราก็จะไม่มีประโยชน์สำหรับเขา
4. สุข ในยามมีความสุข คนเรามักจะประมาท เพลินในสุข เราต้องใช้สติปัญญาพิจารณาให้ถ่องแท้ถึงเหตุปัจจัยว่า วันหนึ่งข้างหน้าความสุขที่เราได้รับอยู่นี้ อาจจะกลายเป็นความทุกข์หรือเมื่อปัจจัยที่ทำให้สุขหมดไป เราก็จะพบกับความทุกข์
5. เสื่อมลาภ เมื่อขัดสนคนเรามันจะโทษโชควาสนา แต่ทางที่ถูกเราต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าที่เราขัดสนไม่มีลาภนี้เพราะอะไร เราทำดีที่สุดแล้วหรือยัง!
6. เสื่อมยศ เมื่อมียศมีคนนับหน้าถือตา พอเสื่อมยศก็หมดคนที่จะนับหน้าถือตา เราก็ไม่ควรจะโศกเศร้าเสียใจ ควรจะพิจารณาด้วยสติปัญญาตามความเป็นจริงว่า เมื่อมีประโยชน์ กับเขาอยู่เขาก็นับหน้าถือตา พอหมดราคาเขาก็ย่ำยีนินทา
7. นินทา ทุกคนในโลกนี้ไม่มีใครต้องการให้คนอื่นนินทา แต่ก็ไม่มีใครไม่ถูกนินทา แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังถูกนินทา เราควรทำใจให้สงบว่า การนินทาเป็นโลกธรรม คนไม่ถูกนินทาไม่มีในโลกนี้ เขานินทาเราตัวเขาก็ถูกคนอื่นนินทาเช่นกัน
8. ทุกข์ ไม่มีใครในโลกนี้ที่ต้องการความทุกข์ ทุกคนต่างก็ปรารถนาความสุข แต่สุขทุกข์เป็นโลกธรรมที่ทุกคนจะต้องพบ เมื่อความทุกข์วิ่งเข้ามาหา เราต้องใช้สติปัญญาพิจารณาให้เห็น จริงตามเหตุปัจจัยของมันว่า เพราะเราทำได้ยังไม่ดีพอจึงมีความทุกข์เกิดขึ้น เพราะเรายังไม่เก่งพอจึงมีความทุกข์ตามมา เมื่อเรากำจัดต้นตอความทุกข์ได้ ความสุขก็จะเกิดขึ้น
การพิจารณาโลกธรรมตามความจริง ย่อมเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับจิตใจ เมื่อเกิดความเศร้าความผิดหวังขึ้น ก็ย่อมจะช่วยบรรเทาความเศร้าเสียใจได้ และสามารถฝ่าปัญหาอุปสรรคต่างๆ สร้างสรรค์ชีวิตให้มีความสุขได้
ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่เราผิดหวังไม่สมหวัง เราควรพิจารณาตามหลักของ "โลกธรรม 8" แล้วยึดเอาความเป็นจริง เป็นปัจจัยเยียวยารักษาใจของเราให้หายทุกข์เหมือน "หนามยอกเอาหนามบ่ง" หากทำได้เช่นนี้แล้วเราก็ย่อมจะสามารถนำนาวาชีวิตฝ่าคลื่นฝ่ามรสุมไปได้อย่างแน่นอน
พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนไว้ใน โลกธรรมสูตร ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม 8 ประการนี้ ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม 8 ประการ 8 ประการเป็นไฉน คือ ลาภ 1 ความเสื่อมลาภ 1 ยศ 1 ความเสื่อมยศ 1 นินทา 1 สรรเสริญ 1สุข 1 ทุกข์ 1 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม 8 ประการนี้แล ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม 8 ประการนี้
ธรรมในหมู่มนุษย์เหล่านี้ คือ ลาภ 1 ความเสื่อมลาภ 1 ยศ 1 ความเสื่อมยศ 1 นินทา 1 สรรเสริญ 1สุข 1 ทุกข์ 1 เป็น ภาพไม่เที่ยง ไม่แน่นอน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แต่ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ ทราบธรรมเหล่านั้นแล้ว พิจารณาเห็นว่ามีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ธรรมอันน่าปรารถนา ย่อมย่ำยีจิตของท่านไม่ได้ ท่านย่อมไม่ยินร้ายต่ออนิฏฐารมณ์ ท่านขจัดความยินดีและความยินร้ายเสียได้จนไม่เหลืออยู่ อนึ่ง ท่านทราบทางนิพพานอันปราศจากธุลี ไม่มีความเศร้าโศก เป็นผู้ถึงฝังแห่งภพ ย่อมทราบได้อย่างถูกต้อง”
นิทานเซน : อย่างนั้นหรอกหรือ? <是这样吗?>
ยังมีอาจารย์เซนผู้เลื่องชื่อแห่งแดนอาทิตย์อุทัยนาม ไป๋อิ่น (白隐: Hakuin) ซึ่งในสายตาของผู้คนในละแวกนั้นเห็นว่าท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องทั้งยังเปี่ยมเมตตา
ครั้งหนึ่ง บุตรีของเพื่อนบ้านเกิดตั้งครรภ์โดยที่ยังไม่ได้แต่งงาน ทำให้บิดามารดาของนางโกรธมาก และขู่เข็ญในนางสารภาพว่าบิดาของเด็กในครรภ์คือใคร ทว่าเป็นตายอย่างไรนางก็ไม่ยอมบอก สุดท้ายภายใต้การบังคับของบุพการี นางจึงบอกว่าบิดาของเด็กในครรภ์คืออาจารย์เซนไป๋อิ่น
เมื่อทราบความ บิดามารดาของสตรีนางนั้นจึงเกิดบันดาลโทสะ เดินทางมาต่อว่าอาจารย์เซนอย่างหยาบคาย บรรดาชาวบ้านใกล้เคียงที่หมดศรัทธาต่อนักบวชรูปนี้ก็พากันมารุมประณาม ทว่าอาจารย์เซนไป๋อิ่นเพียงกล่าวคำเดียวว่า "อย่างนั้นหรอกหรือ?" จากนั้นรับปากอุปการะเด็กที่จะเกิดมา
เมื่อทารกถือกำเนิดขึ้นมา อาจารย์เซนก็รับมาอาศัยอยู่ที่อารามเซน ทั้งยังรับผิดชอบดูแลทารกน้อยไม่ขาดตกบกพร่องเวลาผ่านไปราว 1 ปี สตรีผู้เป็นมารดาของทารกน้อยอดรนทนไม่ไหว
สุดท้ายสารภาพต่อบุพการีของตนเองว่าที่แท้แล้วสามีของนางคือชายหนุ่มเพื่อนบ้านผู้หนึ่งที่มีฐานะยากจนมาก ในตอนแรกนางกลัวว่าบุพการีจะไม่ยอมรับลูกเขยจึงได้สร้างเรื่องเท็จใหญ่โตจนเดือดร้อนไปถึงอาจารย์เซน
เมื่อความจริงเปิดเผย บิดามารดาของสตรีผู้นั้นต่างตกตะลึง ทั้งหมดรีบเดินทางไปกราบขอขมาอาจารย์เซนด้วยความสำนึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง ขณะเดียวกันชาวบ้านที่ทราบความจริงต่างก็เดินทางไปขออภัยที่เคยพูดจาล่วงเกินอาจารย์เซนไป๋อิ่นเอาไว้อย่างมากมาย
ทว่าเมื่อฟังความจบ อาจารย์เซนยังคงสงบสำรวม จากนั้นกล่าวเพียงประโยคเดียวว่า "อย่างนั้นหรอกหรือ?" และมอบเด็กทารกคืนให้แก่สตรีผู้นั้นไป
ปัญญาเซน : การไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก มีลาภ-เสื่อมลาภ มียศ-เสื่อมยศ สรรเสริญ-นินทา สุข-ทุกข์ ล้วนไม่จีรัง จิตไม่หวั่นไหวใน โลกธรรม จึงจะเป็นมงคลชีวิตแก่ตน
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรแน่นอน ไม่มีอะไรเป็นตัวของเราเอง ไม่มีใครในโลกนี้จะพบแต่ความสมหวังตลอดชีวิต จะต้องพบกับคำว่าผิดหวังบ้าง
ผู้มีปัญญาได้รับการศึกษาอบรมมาอย่างดีแล้ว พึงทำใจเอาไว้กลางๆ ว่า มีคนนินทา ก็ต้องมีคนสรรเสริญ มีสุขก็ต้องมีทุกข์ มีลาภย่อมเสื่อมลาภ มียศก็ย่อมเสื่อมยศ หากเราหวังอะไรเกินเหตุ เมื่อเวลาเราผิดหวัง ไม่สมหวัง ให้ทำใจไว้ว่านั่นคือโลกธรรมทั้ง ๘ คือ มีได้ก็ต้องเสื่อมได้ เป็นของธรรมดาในโลกนี้ ไม่ว่าสัตว์หรือบุคคลใด ก็ย่อมหนีสิ่งเหล่านี้ไปไม่พ้น เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็ย่อมหนีสิ่งเหล่านี้ไปไม่พ้นอย่างแน่นอน เพราะเมื่อไม่สมปรารถนาที่ตัวเองคิดไว้ จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียอกเสียใจ รำพึงรำพันกับตัวเองถึงความไม่สมหวัง จะได้ไม่ต้องเป็นทุกข์มาก
เพราะฉะนั้น จงใช้สติปัญญาหมั่นพิจารณาอยู่เนืองๆ ว่า สิ่งใดมีเกิดขึ้น ก็ต้องมีเสื่อมไปเป็นของธรรมดา เหมือนโลกธรรมทั้ง ๘ ประการ เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ทุกคนจะต้องตกอยู่ในโลกธรรม ๘ กันถ้วนหน้า จะได้ไม่ต้องเศร้าโศกเสียใจเป็นทุกข์ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างเป็นสุข"
ดังที่พระพุทธองค์ตรัสอุปมาถึงลาภยศสรรเสริญไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ! ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็นอันตรายที่ทารุณ แสบเผ็ด หยาบคาย ต่อการบรรลุพระนิพพาน อันเป็นธรรมเกษมจากโยคะ ไม่มีธรรม อื่นยิ่งกว่า
โลกธรรม ๘ (โดยย่อ ๑๒ อุปมา)
๑. เป็นอันตรายที่ทารุณ แสบเผ็ด หยาบ ต่อการบรรลุนิพพาน
๒. มันย่อมจะบาดผิวหนัง ย่อมบาดหนัง บาดถึงเนื้อ ถึงเอ็น ถึงกระดูก ถึงเยื่อกระดูก
๓. อุปมาหมือนสุนัขขี้เรื้อน จะวิ่งไปไหนก็ไม่สบาย ยืน นั่งนอน ก็ต้องทนทุกข์ทรมาน
๔. อุปมาเหมือนเต่าติดชนัก ถูกแทงด้วยปฎัก จากมารผู้มีบาป
๕. อุปมาเหมือนปลากลืนเบ็ด ย่อมถึงความพินาศ
๖. อุปมาเหมือนผู้กินคูถ กินของสกปรกจนท้องป่อง
๗. อุปมาเหมือนผู้ติดเซิงหนาม เหมือนแกะขนยาว เข้าไปสู่เชิงหนาม ย่อมได้รับทุกข์พินาศ
๘. อุปมาเหมือนถูกสายฟ้าฟาด ลงกลางศรีษะ
๙. เหมือนถูกพายุร้ายพัดไปในอากาศ จนขาขาด ปีกขาด หัวขาด ตัวขาด ไปคนละทาง
๑๐. เหมือนลูกสุนัขดุถูกขยี้ด้วยดีสัตว์ (ดุกว่าเดิม) (พระเจ้าอชาตสัตตุกุมาร บำรุงพระเทวทัต)
๑๑. จิตย่อมติดแน่นในสิ่งนั้น เหมือนพระเทวทัต ถูกลาภสักการะ จนติดแน่น จึงคิดทำลายสงฆ์
๑๒. เหมือนต้นไม้ออกผลเพื่อฆ่าตนเอง เช่น ต้นอ้อ กล้วย หรือม้าอัสดร ตั้งครรภ์แล้วตัวเองต้องตาย
เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ดังนี้ว่า “เราทั้งหลาย จักไม่เยื่อใยในลาภสักการะ และเสียงเยินยอที่เกิดขึ้น อนึ่ง ลาภ สักการะ และเสียง เยินยอที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องไม่มาห่อหุ้มอยู่ที่จิตของเรา”
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะนี่ มันฆ่าคนได้เหมือนกัน "สักกาโร ปุริสัง หันติ" แปลว่า ลาภสักการะฆ่าคน ไม่ได้ฆ่าคนให้ตายทางร่างกาย แต่ฆ่าคนให้ตายทางจิต ทางวิญญาณ คือจิตเขาตายด้าน ไม่เจริญงอกงามในธรรมวินัย ไม่ก้าวหน้าในการคึกษา ในการปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ไปติดอยู่ในวัตถุเหล่านั้น ในความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น อันนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่ก็มีคนนิยมกันอยู่ แล้วก็พระเราทำด้วย คนก็นึกว่าเป็นเรื่องทางพระพุทธศาสนา เลยเข้าใจเขวไป
นี่เป็นเรื่องเสียหาย ไม่ใช่เสียหายเพียงเล็กน้อย เพราะว่าเป็นมิจฉาทิฐฏิ ทำคนให้หลง ให้เข้าใจผิดไปด้วยประการต่างๆ เช่นเรื่องที่ไม่เหมาะไม่ควร เป็นเรื่องที่เราควรจะพูดจา ทำความเข้าใจกับญาติโยม ให้รู้ชัด เข้าใจชัด ในเรื่องอย่านี้ไว้ ให้เขาได้รู้ว่าอะไรเป็นพระพุทธศาสนา อะไรไม่ใช่หลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา
ถ้าเราเห็นคนโง่ แล้วเราให้ความโง่เพิ่มแก่เขา เราไม่ได้ช่วยอะไรเขา ถ้าเราเห็นคนจน เราทำให้เขาจนหนักลงไป ก็ไม่ได้ช่วยคนจนนั้นให้อยู่ดีกินดีขึ้น ถ้าเราเห็นคนงมงาย แล้วเราช่วยให้มันงมงายหนักลงไป อะไรมันจะดีขึ้นในวงคนเหล่านนั้น อะไรจะเจริญงอกงามในคนเหล่านั้น ผู้กระทำก็ไม่ใด้ชื่อว่าปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แม้จะเป็นนักบวช นุ่งเหลืองห่มเหลือง โกนผมโกนคิ้ว แต่หาได้ปฏิบัติตามแนวคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ ได้ร่วมมือร่วมใจกัน ทำลายหลักคำสอนในทางพุทธศาสนา ที่เป็นของแท้ของจริง ให้จมหายไป แต่ให้สิ่งซึ่งไม่ใช่สัจจธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเจริญงอกงาม นั่นคือการทำลายนั่นเอง
ทำไมพระพุทธศาสนาจึงเสื่อมสูญไปจากประเทศอินเดีย ก็ไม่ใช่ว่ามีคนอื่นมารังแกอะไร หามิได้ มาในตอนปลายเรียกว่าอิสลามรังแกบ้าง แต่ส่วนสำคัญที่สุดนั้น ก็คือว่า พระเราไม่ยืนหยัดอยู่ในหลักการของพระพุทธศาสนา พูดตามภาษาปัจจุบันว่า ใม่มีจุดยืนที่แน่นอน จุดยืนแน่นอนไม่มี แต่ว่ากวัดแกว่งไปตามอารมณ์คน อารมณ์โลก
ต้องการจะเอาพวกมาก ต้องการเอาบริษัท ต้องการลาภสักการะจากคนเหล่านั้นๆ เลยโน้มเอียงไปตามความต้องการของคน คนต้องการอะไร ก็ทำสิ่งนั้นให้ ทำหนักเข้าๆ ชาวบ้านก็มองเห็นว่า พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนานี่เหมือนกับนักบวชพราหมณ์ คือเหมือนกับนักบวชพราหมณ์ทั้งหลายที่มีอยู่ก่อนยุคพระพุทธเจ้า พราหมณ์ทำไสยศาสตร์ ทำน้ำมนต์ สวดวิงวอน บนบานศาลกล่าว เซ่นเจ้า เซ่นผี ไหว้เทวดา พระสงฆ์ก็ทำอย่างนั้น เมื่อทำเหมือนกับพราหมณ์แล้ว ก็มีพราหมณ์มาก่อนพระพุทธเจ้า ก่อนพระสงฆ์ แล้วทำไมเราจะต้องมานับถือพระสงฆ์อีก นับถือพราหมณ์แบบเดิมดีกว่า เพราะเหมือนกันแล้ว เลยหมดเท่านั้นเอง คือหมดไปจากอินเดีย ก็เพราะว่าพระเราลดตัวลงไปทำทุกอย่างที่พราหมณ์กระทำ จนชาวบ้านเห็นว่าพระกับพราหมณ์เหมือนกันเสียแล้ว แล้วก็เลยไม่นับถือพระ ไม่สนใจพระต่อไป พระก็เลยหายไปจากประเทศอินเดีย ไม่มีพระเหลืออยู่ เวลานี้พึ่งแตกหน่อใหม่ขึ้นมาบ้างไม่กี่หน่อ เพราะว่าเอาพันธุ์ไปจากลังกาบ้าง ไปจากประเทศไทยบ้าง ได้ไปปลูกไปเพาะ ให้เกิดเชื้อขึ้นในประเทศอินเดีย นี่คือการสูญพันธุ์
เราต้องเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า เราต้องเดินตามรอยของพระอรหันต์ ต้องเอาพระธรรมเอาพระวินัย เราก็เห็นความผิดพลาดของการทิ้งพระธรรมทิ้งพระวินัย เมื่อโลกพัฒนาไป แต่ทางศาสนาเราก็ต้องพัมนาใจไปคู่กับเทคโนโลยี เราจะได้พัฒนาเผ่าพันธุ์ของความเป็นมนุษย์ เขาคิดว่ามันแก้ไขไม่ได้ แต่มันแก้ไขได้ เพราะมันแก้ไขที่ตัวเอง ไม่ได้แก้ไขที่คนอื่น คนอื่นเขาก็แก้เขามันก็จะได้ เพราะว่ามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ถ้าใครปฏิบัติไม่ได้ก็อย่าพากันมาบวช ถ้าบวชแล้วทำไม่ได้ก็ให้พากันสึก มันก็แค่นี้เอง โจรก็ไปอยู่ในส่วนของโจร พระก็อยู่ในส่วนของพระ พระธรรมพระวินัย เราจะมาแทรกได้อย่างไง ตัวเราเองก็ต้องเป็นพระธรรมพระวินัย ไม่ใช่มีโจรในตัวเรา มันถึงเรียกว่าพระศาสนา
เราทุกคนอย่าไปหลงขยะ จะเอาขยะมากองกัน มารวมกัน มันก็ยิ่งเน่ายิ่งเหม็น เราต้องทิ้ง เราต้องเสียสละ ขยะ คือสิ่งที่เป็นอดีต ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหนก็ชั่งหัวมัน เน้นปัจจุบันไปเรื่อยๆ ใจของเราจะได้มีโอกาสพัฒนา ใจของเราจะได้มีความสุขขึ้น ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า จักษุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ญาณเกิดขึ้นแล้วแก่เรา วิชชาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา เราจะได้ทำอย่างนี้ เราจะได้บริโภคของใหม่ของสด เรื่องอะไรล่ะ จะบริโภคแต่ของเก่าอยู่นั่น บริโภคแต่ความวิตกกังวล บริโภคแต่วิจิกิจฉาความลังเลสงสัย บริโภคแต่ความฟุ้งซ่าน บริโภคแต่ความยินดีพอใจในกาม บริโภคแต่ความพยาบาทอาฆาตมาดร้าย
การภาวนา มันต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้แหละ เราโชคดีนะ ที่เราได้มาอยู่ ในสำนักที่มี พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ที่เข้มแข็ง ที่เคร่งครัด ปฏิบัติจริง เพื่อไม่ให้เราทำตามอัธยาศัย เราต้องตัดความโง่ที่เรียกว่า “อัธยาศัย” นี้ออกจากจิตใจของท่านให้ได้ ต้องเอาพระธรรม เอาพระวินัย เอาข้อวัตรกิจวัตรเป็นหลักอย่างนี้แหละ ท่านถึงจะตัดกรรมที่มาจากอัธยาศัยได้ เหมือนแขกที่มาพักกับเรา เราก็จะได้ยินคำว่า ขอนิมนต์พักตามอัธยาศัยตามสบาย หรือว่าขอเชิญเจริญพรพักตามอัธยาศัยตามสบายนะ แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสเหมือนทางโลก พระองค์ตรัสว่า ให้พักตามพระธรรมตามพระวินัย ตามข้อวัตรกิจวัตร ตามข้อปฏิบัติ เพื่อมุ่งมรรคผลพระนิพพาน เราอย่าไปคิดอย่างไม่ฉลาด คิดว่า ทำตามใจคือไทยแท้ จะเป็นลาวแท้ เขมรแท้ ฝรั่งแท้ จีนแท้ก็ไม่ได้ เราจะได้ลูบคลำในศีล ในข้อวัตรข้อปฏิบัติ
ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ อารามต่างๆ นั้น จะไม่มีพระ จะมีแต่ผู้ที่ปลงผมห่มผ้ากาสาวพัสตร์เท่านั้น แต่ไม่มีความเป็นพระอยู่ในใจ คือไม่มีพระธรรม ไม่มีพระวินัย ไม่มีข้อวัตรปฏิบัติ คือ อารามนั้นไม่มีพระ เพราะว่าผู้ที่มาบวชได้พากันลาสิกขาบทไปหมดแล้ว ผู้ที่ลาสิกขาบทคือ ผู้ที่ไม่ได้เอาพระธรรม เอาพระวินัย เพื่อมุ่งมรรคผลพระนิพพาน เรียกว่าคือผู้ที่ลาสิกขาบท ให้เข้าใจอย่างนี้นะ ถึงจะได้เป็นวัด มีข้อวัตรปฏิบัติ มีพระธรรม มีพระวินัย วัดทั้งหลายจะได้เป็นวัดที่มีพระ ไม่เป็นวัดร้าง คือ ร้างจากพระธรรม ร้างจากพระวินัย ร้างจากมรรคผลนิพพาน
ทุกท่านทุกคนไม่ต้องไปมองดูคนอื่นหรอก ต้องมองดูตนเอง ไปมองดูคนอื่นก็ต้องให้เกิดปัญญา เช่นว่า เขาทำไม่ถูก โอ้...อย่างนี้ ต้องไม่เอาเป็นตัวอย่าง ถ้าเขาทำถูก เอ้อ...อย่างนี้ เอาเป็นตัวอย่าง ต้องมองให้เกิดปัญญา เพราะเรามีตาก็เพื่อมีปัญญา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ก็เพื่อมีปัญญา
ต้องให้เป็นปัญญาที่จะนำเราไปสู่การประพฤติปฏิบัติ เราไม่ต้องไปแก้ไขคนอื่น ทุกคนแก้ไขตนเองอย่างนี้ ทุกๆคนจึงจะเป็นธรรมาธิปไตยมากขึ้น ที่เดี๋ยวนี้คนทั้งโลกพากันทำจนเป็นโลกาธิปไตยอันมาจากอัตตาธิปไตย คือ การทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกตัวเอง ทำตามๆ กันทั้งบ้านทั้งเมือง ทั้งโลก มันไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้เป็นธรรมาธิปไตยเลย ทุกท่านทุกคนต้องพากันประพฤติปฏิบัติ ไม่ต้องไปแก้ไขคนอื่นหรอก เพราะถ้าไปแก้เขา เขาก็ไม่เชื่อเรา เพราะเราไม่ได้มุ่งมรรคผลนิพพาน
เหมือนกับคนที่เขาทำอะไรสำเร็จทุกอย่าง คนอื่นเขาเห็นเขาก็มาถามเอง เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าได้สำเร็จมรรคผลนิพพาน คนทั้งหลายที่ต้องการความหลุดพ้น ก็มาเข้าเฝ้า มาศึกษา มาเรียนรู้ มาเข้าใจในการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เราไม่ต้องไปว่าให้คนอื่นว่าทำไมเขาไม่นับถือเรา ไม่เลื่อมใสเรา ต้องปฏิบัติให้ตนเองเลื่อมใสตนเองก่อน เราอย่าไปโง่หลาย! เพราะต่อให้ พูดเป็นร้อยครั้งพันครั้ง ก็สู้การปฏิบัติให้ดู เป็นตัวอย่างไม่ได้ คนเราต้องเป็นเศรษฐีธรรม เป็นเศรษฐีปฏิบัติ เป็นเศรษฐีพระนิพพานให้ได้
เราต้องหันมาทางพระพุทธเจ้า ทางพระอริยสงฆ์ หันมาทางผู้รู้ ในการเรียนการศึกษานี้ ก็เป็นแนวทางที่จะเข้าหาผู้รู้ คือ บัณฑิต
บัณฑิตที่แท้จริงได้แก่พระพุทธเจ้า ได้แก่พระอรหันต์ พระอริยเจ้า ผู้ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ส่วนบัณฑิตภายในใจของเรา ก็คือเราต้องน้อมเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาประพฤติปฏิบัติเพื่อสร้างบัณฑิตภายในกาย วาจา ภายใจของเรา
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee