แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระธรรมตอนที่ ๓๓ ยอดพรหมจรรย์ของพระศาสนา คือการมายกเลิกอวิชชาความหลง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ทุกๆ คนพากันเข้าใจ ชีวิตของเราคือที่มีลมหายใจที่เราทุกคนได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ภพภูมิมนุษย์เรียกว่าเป็นภพภูมิที่ประเสริฐ การดำเนินชีวิตของเราต้องเข้าสู่ความดับทุกข์ทางจิตใจ ดับทุกข์ทางวัตถุไปพร้อมๆ กัน ด้วยความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องแล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง ต้องพัฒนาใจพัฒนาวัตถุไปพร้อมๆ กัน ใจก็ไม่ยิ่งหย่อนวัตถุก็ไม่ยิ่งหย่อน เรียกว่าทางสายกลาง สัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องนี้เป็นสิ่งสำคัญ ตั้งแต่เราลืมตามาสัมผัสกับโลกนี้ การเรียนการศึกษาเรียนหนังสือตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาเอก ส่วนเรื่องธรรมะเพื่อให้รู้เหตุรู้ปัจจัย เพื่อให้ใจของเราหรือเหตุรู้ปัจจัยรู้สภาวธรรมเรื่องเหตุเรื่องปัจจัยตั้งแต่นักธรรมตรีจนถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยค เพื่อจะให้เรามีสติมีปัญญาทางด้านจิตใจด้านวัตถุ ที่เป็นพุทธะทางวัตถุพุทธะทางจิตใจไปพร้อมๆ กัน เป็นทางสายกลาง เพื่อประพฤติเพื่อปฏิบัติสมัยครั้งพุทธกาลเด็กน้อยๆ อายุ ๗ ขวบจากเด็กชายบัณฑิตที่มาบวชเป็นสามเณรบัณฑิตก็สามารถเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ เพราะได้พัฒนาทางใจพัฒนาทางวัตถุไปพร้อมๆ กัน
ให้พวกเราพากันเข้าใจ เดี๋ยวนี้เราได้สัปปายะที่ประเสริฐคือได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เรียกว่าได้สัปปายะอันประเสริฐ ได้ธรรมะสัปปายะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มาตรัสรู้มาบอกมาสอนให้มีความดับทุกข์ทั้งทางจิตใจทั้งทางวัตถุไปพร้อมๆ กัน เรียกว่าธรรมะสัปปายะ เราได้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเราอย่างสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า สงฆ์สาวกคือผู้มีความรู้ความเข้าใจพัฒนาใจและพัฒนาวัตถุไปพร้อมๆ กัน เอาธรรมะเป็นหลักเอาธรรมะเป็นการดำเนินชีวิต วัดนี้เป็นศูนย์รวมของสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ที่พวกเราได้พากันมาบวชพากันมาปฏิบัติ ทุกคนถึงมีจุดหมายปลายทางคือความดับทุกข์ทางจิตใจความดับทุกข์ทางวัตถุไปพร้อมๆ กัน สงฆ์สาวกคือผู้ที่ยกเลิกทาสยกเลิกวรรณะ ยกเลิกธาตุยกเลิกขันธ์ยกเลิกอายตนะ ยกเลิกตัวตนเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสไม่ว่าจะเป็นนักบวชก็ชื่อว่าเป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ท่านนับเอาตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์ นี้เรียกว่าสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า สิ่งภายนอกเราพากันแต่งตั้งได้ ที่จะแต่งตั้งไม่ได้คือความเห็นที่ถูกต้องความเข้าใจที่ถูกต้องการปฏิบัติที่ถูกต้อง อยู่ที่ตัวของท่านเอง ท่านต้องมีสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง นั้นเป็นหน้าที่ของท่าน หน้าที่ของเราก็เป็นหน้าที่ของเรา
อาหารที่อยู่ที่อาศัยก็ถือว่าสัปปายะ อาหารทางกายก็อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มันก็ขึ้นอยู่ที่เราเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ผู้อื่น วันหนึ่งคือหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง เราก็พากันนอน ๖ ชั่วโมง สมองเราจะสั่งร่างกายเอาไปทำธุรกิจหน้าที่การงาน เราตื่นขึ้นมาเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เรายกเลิกตัวตน ยกเลิกก็มีความสุขในการทำงานในการปฏิบัติธรรม การทำงานกับการปฏิบัติธรรมมันก็ไปด้วยกันอย่างนี้แหละ เขามีนาฬิกาก็เพื่อปรับเข้าหาเวลา เขามีธรรมะก็เพื่อปรับเข้าหาธรรมะ เรื่องอาหารทางกายอย่างนี้แหละก็ไม่มีปัญหา เพราะเรามีความสุขในการทำงาน เพราะความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องมันจะเป็น automatic ทั้งร่างกายทั้งจิตใจมันจะไปพร้อมๆ กันในปัจจุบัน ธรรมะก็จะสัปปายะ อาหารก็จะสัปปายะ
เมื่อเรามีพัฒนาทางจิตใจพัฒนาทางวัตถุทางเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ช่วยเราเต็มที่ ด้วยเหตุนี้ด้วยปัจจัยนี้ให้รู้ความประเสริฐของเราทุกๆ คน ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ พากันตั้งอกตั้งใจตั้งใจฝึกตนเอง ใจของเราทุกคนมันไม่ได้แก่มันไม่ได้หนุ่ม แต่มันเป็นผู้รู้ ผู้รู้ที่เกิดจากเหตุเกิดจากปัจจัย ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ หาใช่นิติบุคคลหาใช่ตัวหาใช่ตนไม่ หากแต่เป็นผู้รู้ ก็เราเอาผู้รู้เป็นตัวตนๆ นี้คืออวิชชาคือความหลง ไม่ใช่ปัญญาไม่ใช่พุทธะ พระพุทธเจ้าถึงสอนให้เรายกเลิกธาตุยกเลิกขันธ์ยกเลิกอายตนะ ยกเลิกตัวยกเลิกตน ให้ยกสิ่งนี้เข้าสู่พระไตรลักษณ์ พระไตรลักษณ์ได้แก่เหตุได้แก่ปัจจัย ได้แก่ความไม่แน่ไม่เที่ยงไม่ใช่นิติบุคคล หากเป็นธรรมะ ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ ยกสิ่งเหล่านี้สู่พระไตรลักษณ์ ความมีตัวมีตนมันเผาเรา ทำให้มีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา มันจะมีความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตน รู้สึกว่าช้าว่าเร็ว วันสุขว่าทุกข์ ว่าดีว่าชั่ว พระพุทธเจ้าก็บอกให้เรากำหนดรู้มองสิ่งเหล่านี้เป็นของว่าง สักแต่ว่าๆ อันนี้เป็นข้อสอบแล้วก็เป็นข้อตอบในการประพฤติในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเราทุกๆ คน หมู่มวลมนุษย์ของเราก็จะมีความสุขความดับทุกข์ขึ้นเราจะได้พัฒนาใจของเราพัฒนาความสะดวกสบายไปพร้อมๆ กัน เราจะพากันมีหลักการในการประพฤติปฏิบัติของตัวเอง ทุกคนจะได้ใช้ร่างกายนี้ให้ถูกต้องใช้สมมุตินี้ให้ถูกต้อง รู้จักสมมุติเป็นเพียงบทละครเป็นเพียงบทภาพยนตร์
พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ว่างจากสิ่งที่มีอยู่ ว่างจากตัวจากตน ว่างจากสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ว่างจากสิ่งที่มีอยู่ ด้วยพุทธะทางจิตทางใจ พระพุทธศาสนาจึงเป็นสิ่งที่ทันโลกทันสมัยทุกกาลทุกเวลาอยู่ตลอดกาล ถึงเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม ที่มีคู่กับกายกับใจของเรา ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็พากันเข้าใจ ผู้ที่เรียนผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่การงานก็พากันเข้าใจชีวิตของเราทุกๆ คน ต้องพึ่งพุทธะความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราอย่าพากันลอยแพ ต้องเข้าสู่อริยมรรค ที่เราข้ามมหาสมุทรปกติ มันข้ามไม่ได้ถ้าไม่มีขนานยนต์ เราทุกคนต้องเข้าสู่ยานคือความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เรียกว่าไม่ลอยแพ ที่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้อุทานว่าจักษุเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ปัญญาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ท่านมีความเห็นถูกต้องท่านไม่ปล่อยให้ตัวเองลอยแพ เราอย่าไปคิดว่าเราเป็นเด็กหรือว่าเรามีธุรกิจหน้าที่การงาน เราอย่าไปคิดว่าเราเป็นคนแก่เป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน ไม่เกี่ยว อันนี้ไม่เกี่ยว มันอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง อันนั้นเป็นเรื่องสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราต้องมาแก้ที่ความคิดความเห็นความเข้าใจ เพราะเราได้ถูกสมมติครอบงำให้เป็นเด็กเป็นคนแก่เป็นคนมีการมีงาน ไม่ว่าง หรือว่าเป็นคนเจ็บคนป่วย อันนั้นมันเป็นความคิดเห็นผิดเข้าใจผิดปฏิบัติผิดของเรา นี้คืออวิชชาคือความหลงที่มันเผาเรา อยู่ที่ไหนก็ไม่มีความสุข มันจะมีความพร่องอยู่เป็นนิตย์ มันไม่เข้าถึงเศรษฐกิจพอเพียง เราต้องมีสัมมาทิฏฐิมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราอยู่ที่ไหนก็มาแก้ที่ใจของเรา แก้ที่อวิชชาแก้ที่ความหลง เพราะเรามีตัวมีตนพากันคิดอย่างนี้ พวกเราต้องพากันเข้าใจ ไม่ได้ไปแก้ที่ใครหรอก แก้ที่ใจนี้แหละ เรามีความคิดเห็นผิดเข้าใจผิดมันเผาตัวเองตลอดเวลา ยังไม่ได้นั่งสมาธิก็ปวดแข้งปวดขาแล้ว มันยังไม่ได้เข้าสู่การประพฤติการปฏิบัติ ตัวตนมันฉายแสงออกมา ต้องรู้จักความคิดรู้จักอารมณ์อย่างนี้ พระพุทธเจ้าบอกว่าเรารู้จักเจ้าเสียแล้ว เราถึงไม่ต้องไปคิดให้ตัวเองเป็นทุกข์
ทุกคนต้องยกเลิกความรู้สึกนึกคิดเรียกว่ายกเลิกหน้าที่เป็นหัวหน้าอวิชชาความหลง เรามีตัวมีตนเราก็คิดอย่างนี้แหละ ท่านบอกว่าเราต้องแก้ปัญหาตัวนี้ ศีลถึงจะมายกเลิกตัวตนระดับนึง สมาธิถึงจะมายกเลิกตัวตนระดับหนึ่ง ทั้งศีลทั้งสมาธิทั้งปัญญา ๓ อย่างมารวมกัน เพื่อยกเลิกตัวตนให้มันถาวร ที่เราทั้งหลายจะได้ว่างจากนิติบุคคลตัวตน นี้มันคือความสุขความดับทุกข์ของหมู่มวลมนุษย์ เราทุกคนพากันประพฤติพากันปฏิบัติได้ ต้องแก้ที่ใจตัวเองให้ใจของเราเกิดปัญญาเกิดสัมมาทิฏฐิ แล้วอบรมระบบอินทรีย์ให้มันติดต่อต่อเนื่องเหมือนไก่ฟักไข่ ๓ อาทิตย์มันถึงออกมาเป็นลูกไก่ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ก็เหมือนกัน ถ้าเอาตัวเอาตนเราก็ปฏิบัติไม่ได้ เพราะตัวตนมันไปไม่ได้ ตัวตนมันคือตัณหา มันหาทางออกไม่ได้เรียกว่าตัณหา มันเผาเราทั้งเป็น พระพุทธเจ้าก็สอนให้เรารู้เหตุรู้ปัจจัย หาธรรมะเอาธรรมะเรียกว่ารู้อริยสัจ ๔ คือรู้ทุกข์รู้เหตุเกิดทุกข์รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ทุกท่านทุกคนต้องตั้งใจประพฤติตั้งใจปฏิบัติ อย่าพากันใจอ่อนเราใจอ่อน นั่งสมาธิก็เอาแต่ตัวงอคอหัก เราจะเอาแต่นั่งฟุ๊บนั่งหลับ มันต้องใจเข้มแข็ง เราต้องปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ ใจไม่ตรงก็ให้กายมันตรงก่อน ประการแรกก็ต้องเน้นที่กายเน้นที่ใจเน้นที่กริยามารยาท ปรับเข้าหาเวลาอย่างนี้ ฝึกใจก็อย่างนี้ แต่เบื้องต้นต้องฝึกใจเหมือนคนที่ยังไม่เข้าใจในการปฏิบัติธรรม
การโกนหัวห่มผ้าเหลืองคือให้เป็นรูปแบบชัดเจน เช่นประเทศไทยสมัยโบราณยังมีความยากจน การปลงผมก็ไม่มีปัตตาเลี่ยนมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เช่นดังสมัยปัจจุบันนี้ การประพฤติการปฏิบัติ ถ้ามันเป็นภาพทางใจไม่ได้ ก็ให้เป็นภาพทางกายไว้ก่อน ปรับตัวเข้าหาเวลาไว้ก่อน เริ่มจากกายต้องเอากายไว้ก่อน เราต้องเข้าใจเรื่องวัตถุ การพัฒนาวัตถุวิทยาศาสตร์และพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน ถ้าเรามีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ ความทุกข์มันไม่มี พระพุทธเจ้าบอกว่าให้มีฉันทะมีความพอใจ ถ้าเรามีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติที่เกิดขึ้นจากสัมมาทิฏฐิ ความทุกข์มันไม่มี ตัวตนมันมีมักขี้เกียจขี้คร้าน แม้แต่หายใจมันก็ไม่อยากหายใจ ตัวตนมันฉายแสงออกมา เราถึงมีนาฬิกาเพื่อปรับตัวเองเข้าหาเวลา เรามีตาชั่งก็เพื่อปรับตัวเองเพื่อความเป็นธรรมยุติธรรม เราถึงมีพ่อมีแม่พาลูกเข้าวัดเพื่อปรับตัวเองฝึกตัวเอง ถ้าเราไม่เข้าใจจะไปเอาแต่เรื่องจิตเรื่องใจไม่ได้ พระพุทธเจ้าบอกว่าเอาทางสายกลาง พัฒนาใจพัฒนาวัตถุไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้มันได้มาตรฐานให้มันได้ Standard ความรู้คู่ปฏิบัติมันต้องไปพร้อมๆ กัน วัตถุกับจิตใจต้องไปพร้อมๆ กัน มันถึงจะเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา มันจะได้ยกเลิกนิติบุคคลยกเลิกตัวตน
ให้ทุกคนพากันเข้าใจ ให้ถือนิสัยของพระพุทธเจ้า ต้องยกเลิกนิสัยของตัวเอง อย่าพากันคิดว่า โอ้…การรักษาศีลมันนอกเรื่องเกิน การทำสมาธิมันนอกเรื่องเกิน การมาบวชการมาปฏิบัติมันนอกเรื่องเกิน อันนี้มันเป็นความคิดความรู้สึกที่มันเป็นตัวเป็นตน ให้ทุกคนพากันรู้จักหน้าตาอวิชชารู้จักหน้าตาความหลงนะ มันคิดขึ้นมาก็ต้องรู้จัก อย่าไปปล่อยให้มันคิดอย่าไปปล่อยให้มันนึก อย่าไปปล่อยให้มันปรุงแต่ง เราเป็นโรคโควิด เขายังเอาวัคซีนมาฉีดป้องกัน ด้วยการใส่แมสกันทั้งบ้านทั้งเมือง อันนั้นเป็นรูปธรรมภายนอก พระพุทธเจ้าไม่ให้เราคิดอย่างนี้ การปล่อยให้ใจเราตรึกเรานึกเราคิดอย่างนี้ เรียกว่าคนไม่มีปัญญา เรียกว่าคนไม่รู้อริยสัจ ๔ ปล่อยให้ตัวเองทุกข์ ปล่อยให้ตัวเองเวียนว่ายตายเกิด เราต้องรู้จักทุกข์อย่างนี้ๆ นี้ข้อสอบมันเกิดขึ้นแก่เรา เราต้องหยุดด้วยสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราต้องสะสางสิ่งเหล่านี้ด้วยวิปัสสนาปัญญาพิจารณาเห็นว่า มันคืออนิจจังไม่แน่ไม่เที่ยง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เราต้องยกเลิกนิติบุคคลยกเลิกตัวตน พระพุทธเจ้าบอกว่านี้คือพรหมจรรย์พรหมจรรย์เรียกว่าไม่มีตัวไม่มีตน
การประพฤติพรหมจรรย์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาตรัสบอกปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ต้องมีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อจะเอาเพื่อที่จะบรรลุ เพื่อมาเสียสละ ท่านก็บอกที่สุดสองทาง ผู้ที่จะเป็นบรรพชิตต้องเว้น เรื่องกามกับเรื่องทรมานตน พระองค์ท่านก็เปรียบอุปมาอุปมัยไม้สดไม้แห้ง เมื่อคราวพระมหาบุรุษพุทธางกูร บรมโพธิสัตว์เจ้า ทรงเลิกละทุกกรกิริยา เปลี่ยนมาทำความเพียรทางจิต โดยทรงเปรียบเทียบอุปมา ๓ ข้อ ที่พระองค์ไม่เคยสดับและไม่เคยดำริมาก่อนเลย ด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์อย่างแจ่มแจ้งว่า
อุปมาที่ ๑ “สมณพราหมณ์ (นักบวช) เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ซึ่งมีกายยังไม่ได้หลีกออกจากกาม และมีความข้องอยู่ในกาม ยังไม่ละให้สงบได้ด้วยดี สมณพราหมณ์เหล่านั้น แม้ได้เสวยทุกขเวทนาอันเผ็ดร้อน อันเกิดจากความเพียรก็ดี ไม่ได้เสวยก็ดี ก็ไม่อาจจะตรัสรู้ได้ เหมือนไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง บุคคลแช่ไว้ในน้ำ บุรุษต้องการด้วยไฟ มาถือเอาไม้นั้นมาสีกันเข้า ด้วยหวังว่าจะให้ไฟเกิดขึ้น บุรุษนั้นก็ไม่อาจทำให้ไฟเกิดขึ้นได้ ต้องเหนื่อยยากลำบากเปล่า เพราะไม้นั้นยังชุ่มด้วยยาง ยังแช่อยู่ในน้ำ” อุปมาข้อนี้หมายความว่า ใครก็ตามที่กายยังไม่ได้หลีกออกจากกาม ใจก็ยังข้องและใคร่อยู่ในกาม บุคคลนั้นจะทำความเพียรหนักสักเพียงไร ทรมานตนสักเท่าไรก็ตาม ให้ทุกข์ยากขนาดไหนก็ตาม หรือไม่ได้ทำความเพียรเลย บุคคลนั้นก็ไม่อาจจะตรัสรู้ธรรมได้ เปรียบเหมือนไม้สดซึ่งชุ่มด้วยยาง และแช่ไว้ในน้ำด้วย ใครก็ตามต้องการจะได้ไฟ เอาไม้นั้นมาสีกันเข้า สีเท่าไรก็ไม่อาจจะเกิดไฟขึ้นได้ เพราะไม้นั้นชุ่มด้วยยางและยังแช่อยู่ในน้ำ
อุปมาที่ ๒ “สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กายหลีกออกจากกามแล้ว แต่ใจยังรักใคร่อยู่ในกาม ชอบใจอยู่ในกาม สมณพราหมณ์เหล่านั้นจะทำความเพียรให้เผ็ดร้อนขนาดไหนก็ตาม หรือไม่ได้ทำก็ตาม ก็ไม่อาจจะตรัสรู้ธรรมได้ (คือไม่อาจจะพ้นกิเลสได้) เปรียบเหมือนไม้ที่ชุ่มด้วยยาง ที่บุคคลวางไว้บนบก แม้ใครจะเอาไปสีกันเพื่อให้เกิดไฟ ก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะไม้นั้นยังสดและชุ่มด้วยยาง แม้จะอยู่ห่างน้ำแล้วก็ตาม” อุปมาข้อนี้ หมายความว่า บางคนแม้ออกบวชแล้ว กายหลีกออกจากกามแล้ว แต่ใจยังคิดถึงในเรื่องกามอยู่ ยังติดอยู่ในกามคุณทั้ง ๕ คือ รูป รส เสียง กลิ่น รส สัมผัส แม้จะทำความเพียรหรือไม่ทำความเพียร บุคคลนั้นก็ไม่อาจตรัสรู้ได้ เพราะใจยังชุ่มด้วยยางคือกิเลส เหมือนกับไม้ที่ชุ่มด้วยยาง แม้จะวางไว้บนบกแล้วก็จริง แต่มันยังสด ยังชุ่มไปด้วยยาง ก็ไม่อาจจะสีให้เกิดไฟขึ้นได้
อุปมาที่ ๓ “สมณพราหมณ์เหล่าใดที่กายหลีกออกจากกามแล้ว ใจก็สละกามได้ สงบระงับดีแล้ว สมณพราหมณ์เหล่านั้นจะทำความเพียรอันเผ็ดร้อน หรือไม่ทำความเพียรก็ตาม เขาสามารถจะตรัสรู้ธรรมได้ เปรียบเหมือนไม้แห้งที่วางไว้บนบก บุรุษต้องการไฟ เอาไม้นั้นมาสีกันเข้า ไฟย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะไม้นั้นเป็นไม้แห้ง และวางไว้บนบก”
พระพุทธองค์ทรงเห็นอุปมา ๓ ข้อนี้เกิดขึ้นในสมัยที่พระองค์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาว่า แม้พระองค์จะหลีกออกจากกามแล้ว ถ้าใจยังเกี่ยวข้องอยู่ในกาม แม้จะทรมานกายขนาดไหน ก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จ พระองค์จึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา ในขณะที่พระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยาแล้ว ร่างกายยังซูบผอมอยู่ เพราะพระองค์ทรมานมานานมาก พระองค์จึงมาพิจารณาว่า ถ้าร่างกายซูบผอมอย่างนี้ก็ไม่อาจที่จะตรัสรู้ธรรมได้ จึงเสวยพระกระยาหาร ทำให้พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ซึ่งคอยเฝ้าปฏิบัติพระองค์อยู่ เพราะเชื่อมั่นในการทรมานตนว่าเป็นทางบรรลุมรรคผล แต่เมื่อพระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา พระปัญจวัคคีย์เห็นว่า พระองค์ไม่มีทางตรัสรู้แน่นอน จึงได้หนีพระองค์ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมื่อพระองค์ทรงประทับอยู่แต่ผู้เดียว ไม่มีใครรบกวน ก็เป็นเหตุให้พระองค์ได้ตรัสรู้ธรรมในที่สุด ดังที่ทราบกันอยู่แล้ว การที่พระปัญจวัคคีย์หนีไปนี้ก็เป็นประโยชน์อยู่อย่างหนึ่ง คือทำให้พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้โดยลำพังด้วยพระองค์เอง ไม่มีใครอุปัฏฐากหรือช่วยเหลืออย่างใดอย่างหนึ่งเลย แล้วเป็นเหตุให้เกิดความเงียบสงบด้วย เพราะเมื่อกายหลีกออกจากกามแล้ว พระทัยก็หลุดออกจากกามได้ง่ายขึ้น เมื่อพระองค์ทรงเสวยพระกระยาหารแล้วทรงทำความเพียร จึงได้ตรัสรู้ในที่สุด
คำว่า "พรหมจรรย์" นั้น แปลว่า การประพฤติตัวอย่างพรหม คำว่า พรหม นั้น เป็นคำที่ใช้อยู่ในศาสนาพราหมณ์มาก่อน ลัทธิพราหมณ์หรือฮินดูนั้น หมายถึงพระพรหมผู้สร้างโลก และหมายถึงผู้ที่ทำความดีแล้วไปเกิดเป็นพรหมอยู่ นับพระพรหมนั้น และก็เชื่อกันว่า ผู้ที่จิตบรรลุถึงความเป็นพรหมแล้ว จะหมดความรู้สึกทางเพศ เพราะพรหมไม่มีเพศ ไม่มีพรหมผู้ชาย ไม่มีพรหมผู้หญิง พวกพรหมจึงไม่ยุ่งในการเสพกาม ไม่มีการสืบพันธุ์ ด้วยเหตุที่ว่า ความรู้สึกทางเพศเป็นเครื่องตัดสินความเป็นพรหมตามที่ว่ามานี้ ความเข้าใจที่ว่าผู้หญิงที่ไม่เคยสมสู่กับชาย เขาเรียกว่าหญิงพรหมจารี ก็น่าจะต้องเพ่งถึงความรู้สึกทางเพศด้วย คือหญิงที่เป็นพรหมจารีนั้นย่อมมีเฉพาะเยาว์วัย คือยังไม่มีความรู้สึกทางเพศเท่านั้น ดังนั้น การประพฤติพรหมจรรย์นั้น ในทางศาสนาฮินดูได้มีมาก่อนแล้ว ซึ่งมีจุดประสงค์อยู่ที่การขจัดความรู้สึกทางเพศ แต่จุดหมายปลายทางของเขาอยู่ที่การทำเพื่อให้ตนบรรลุถึงพรหมโลกเท่านั้น
พุทธศาสนามีหลักการอยู่ว่าการที่คนเราจะบรรลุโลกุตตรภูมิได้ จะต้องปลีกตัวออกจากกามารมณ์ และได้วางวิธีการนี้เอาไว้ แต่ได้ขอยืมคำพูดของพราหมณ์ที่ว่า "พรหมจรรย์" นั้นมาเป็นชื่อของวิธีการทางพุทธด้วย เพราะเป็นเรื่องตัดกามารมณ์เหมือนกัน เว้นแต่วิธีและจุดหมายต่างกัน แต่จะอย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าก็มิได้ทรงปฏิเสธพรหมจรรย์แบบของพราหมณ์ ที่เชื่อว่าประพฤติพรหมจรรย์แล้วจะได้เป็นพรหม ทรงรับรองอยู่บางส่วน แต่ทรงเผยว่าพรหมจรรย์อย่างนั้นไม่อาจบรรลุ โลกุตตรภูมิได้ ซึ่งตอนนี้พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ในสีหนาทสูตรว่า "หีเนน พฺรหฺมจริเยน ขตฺติเย อุปฺปชฺชติ มชฺมิเมน จ เทวตฺตํ อุตฺตเมน วิสุชฺฌติ บุคคลย่อมเข้าถึงความเป็นกษัตริย์ด้วยพรหมจรรย์ชั้นต่ำ ย่อมเข้าถึงความเป็นเทพด้วยพรหมจรรย์ชั้นกลาง ย่อมหมดจดจากอาสวกิเลสด้วยพรหมจรรย์ชั้นสูง"
การประพฤติพรหมจรรย์ ตามศัพท์แปลว่า การประพฤติอันประเสริฐ หรือวิถีดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐ
เรามักจะเข้าใจว่า การถือพรหมจรรย์ คือ การไม่ยุ่งเกี่ยวทางกามารมณ์ หรืองดเว้นจากการเสพกามเพียงอย่างเดียว นั่นก็ถูก ไม่ใช่ไม่ถูก แต่การถือพรหมจรรย์มีความหมายกว้างกว่านั้น เพราะทุกคนเข้าใจว่าการประพฤติพรหมจรรย์นั้น หมายถึงการบวชพระ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกเหมือนกันแต่อยู่ในวงแคบ และก็ทำให้ฆราวาสบางคนคิดว่าตนเองไม่มีโอกาสประพฤติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เป็นสตรีแล้ว ก็จะเป็นผู้อาภัพอับโชคเอาเสียจริงๆ โดยเข้าใจว่าถ้าจะประพฤติพรหมจรรย์กันแล้ว ต้องโกนหัว โกนคิ้ว มีเพศแตกต่างจากชาวบ้าน นุ่งห่มผ้าเหลือง ดังนั้น ขอให้พิจารณาพระบาลีซึ่งในมงคลทีปนีได้แสดงไว้ โดยอธิบายเรื่องของมงคลนี้โดยตรง ท่านอธิบายว่า "พฺรหฺมจริยํ นาม ทานเวยยาวจฺจปญฺจสีลอปฺปมญฺญาเมถุนวิรตฺสทารสนฺโตสวิริยอุโบสถงฺคอริยมคฺคสาสนวเสน ทสวิธํ โหติ" แปลว่า "ธรรมชาติอันได้ชื่อว่าพรหมจรรย์นั้น มีประเภท ๑๐ ประการ คือ ทาน ๑ เวยยาวัจจะ ๑ เบญจศีล ๑ เมตตา อัปปมัญญา ๑ เมถุนวิรัต ๑ สทารสันโดษ ๑ วิริยะ ๑ อุโบสถ ๑ อริยมรรค ๑ ศาสนา ๑"
หมายความว่า ข้อปฏิบัติ ๑๐ ข้อนี้ แต่ละข้อเรียกว่าพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ทั้งสิบนี้ ถ้าแบ่งเป็นชั้นก็ได้ ๓ ชั้น คือ ต่ำ กลาง และสูง
ขอให้เราได้สังเกต เรื่องของการประพฤติพรหมจรรย์ตามแนวทางที่ท่านได้อธิบายเอาไว้ก็จะได้เห็นถึงความมุ่งหมายของการประพฤติพรหมจรรย์ในมงคลข้อนี้ได้อย่างชัดเจน ในข้อที่ ได้สอนให้สละความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ และความโลภอันเป็นข้าศึกของการประพฤติพรหมจรรย์ โดยการให้ทาน มีการให้ข้าว น้ำ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ตลอดจนยารักษาโรค แก่คนยากคนจนทั่วไป แม้ที่สุดกระทั่งสัตว์ดิรัจฉาน เป็นองค์ของการประพฤติพรหมจรรย์ข้อ ๑
ในข้อ ๒ การช่วยเหลือช่วยขวนขวายในกิจการที่เป็นการกุศลทั่วไป ด้วยจิตที่ชื่นชมโสมนัส คือให้สละแรงกายช่วยด้วย
ข้อ ๓ สอนให้รักษาศีล ๕ คือเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในสามีภรรยาผู้อื่น เว้นจากการพูดเท็จ และเว้นจากการดื่มสุราเมรัย อันเป็นเครื่องยังให้ตนเองปราศจากสติ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี่เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ข้อสาม
ในข้อที่ ๔ นอกจากเราจะเว้นจากการกระทำความชั่วทางกายและวาจาแล้ว ในข้อที่ ๔ นั้นได้แสดงถึงการแผ่พรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แก่บรรดาสรรพสัตว์ทั่วกันโดยไม่มีประมาณ ซึ่งเรียกว่า 'อัปปมัญญา' อัปปมัญญานี้ เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ที่ต่างกับ 'พรหมวิหาร' พรหมวิหารนั้นเป็นการแผ่ความเมตตาเฉพาะผู้ที่รักใคร่ชอบพอเท่านั้น ส่วนอัปปมัญญานั้น แผ่ไปทั่ว แม้กระทั่งศัตรูของเราเอง
ในข้อที่ ๕ เว้นจากการเสพเมถุน (คือการร่วมเพศ) แม้ผู้นั้นจะเป็นสามีภรรยาของเราเอง
ในข้อที่ ๖ มีความยินดี หรือความพอใจเฉพาะสามีภรรยาของเราเท่านั้น นี่เป็นอีกข้อหนึ่งของการประพฤติพรหมจรรย์ เรียกว่า 'สทารสันโดษ'
ในข้อที่ ๗ การมีความเพียรอย่างแรงกล้า ไม่มีความท้อถอยต่อการทำกุศลต่างๆ แม้ว่าสิ่งนั้นจะยากลำบาก ก็สามารถทำจนลุล่วงไปได้
ข้อที่ ๘ เป็นการรักษาศีลอุโบสถ เป็นการเว้นจากสิ่งที่เป็นข้าศึกของกุศล ซึ่งมีการเว้นอย่างเดียวกันกับศีล ๕ แต่แตกต่างกันในข้อที่ ๆ และเพิ่มมาอีกสามข้อ ในข้อที่สามของศีล ๕ เป็นการเว้นจากเสพเมถุนกับสามีภรรยาผู้อื่น แต่ในศีลอุโบสถแม้แต่ว่าจะเป็นสามีภรรยาเราเองก็ไม่ได้ เป็นการถือที่อุกฤษฏ์ยิ่งกว่าศีล ๕ และนอกจากนั้นก็มีการเว้นจากการกินอาหารในเวลาวิกาล คือ ตั้งแต่เที่ยงวันล่วงไปแล้ว เป็นการตัดปลิโพธกังวลเรื่องการกิน เว้นจากการประดับตน แต่งด้วยเครื่องหอมลูบไล้ทาตัว เว้นจากการดูการละเล่นต่างๆ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความกำหนัดยินดี เช่น ดูภาพยนตร์ ดูละคร ฯลฯ เว้นจากการนอนบนที่นอนอันอ่อนนุ่ม ที่นอนสูงใหญ่ เพราะอาจเป็นช่องทางของความกำหนัดยินดีเกิดขึ้น การรักษาศีลอุโบสถก็มีประจำในวันขึ้น ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ
ในข้อที่ ๙ การที่เจริญสมถกัมมัฏฐาน วิปัสสนากัมมัฏฐานตามอริยมรรคมีองค์ ๘ มีปัญญาเห็นแจ้งในอริยสัจจ์
ในข้อ ๑๐ เป็นการประพฤติพรหมจรรย์รวบยอด คือประพฤติโดยบริบูรณ์ทั้ง ศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งเรียกว่า ศาสนธรรม
พอได้เห็นคำอธิบายเหล่านี้แล้ว ท่านก็คงจะมองเห็นแล้วว่า การประพฤติพรหมจรรย์นั้นไม่ได้มีขอบเขตจำกัดเฉพาะบรรพชิตเท่านั้น แม้ฆราวาสก็สามารถที่จะทำได้ ดังนั้นความน้อยเนื้อต่ำใจ ที่ว่าไม่มีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์ ก็เป็นอันว่าหมดสิ้นไป
การประพฤติพรหมจรรย์ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ แม้ว่าเราจะรักษาข้อใดข้อหนึ่งก็เป็นมงคลแก่ตนเอง และเป็นทางแห่งความสุขในที่สุด
วิธีประพฤติพรหมจรรย์
พรหมจรรย์ชั้นต้น สำหรับผู้ครองเรือน ก็ให้พอใจเฉพาะคู่ครองของตนเท่านั้น รักษาศีล ๕ ไม่นอกใจภรรยา-สามี
พรหมจรรย์ชั้นกลาง สำหรับผู้ครองเรือน คือนอกจากรักษาศีล ๕ แล้วก็ให้รักษาศีล ๘ เป็นคราวๆ ไปและฝึกให้มีพรหมวิหาร ๔
พรหมจรรย์ชั้นสูง สำหรับผู้ไม่ครองเรือน ถ้าเป็นฆราวาสก็รักษาศีลอย่างน้อย ศีล ๘ ตลอดชีวิต ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศเลย หรือถ้าเป็นชายก็ออกบวชเป็นพระภิกษุ เจริญสมาธิภาวนาและปฏิบัติธรรมทุกข้อในพระพุทธศาสนาให้เต็มที่
พรหมจรรย์ทุกชั้นจะตั้งมั่นอยู่ได้ ต้องอาศัยการฝึกสมาธิเป็นหลัก
พรหมจรรย์นี้ก็หมายถึงศาสนา หมายถึงความบริสุทธิ์ เพราะมนุษย์เรานี้ก็คือผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อพระนิพพาน จุดหมายปลายทางของมนุษย์ก็คือพระนิพพาน พระพุทธเจ้าคือผู้ที่ประเสริฐ เป็นผู้ที่เสียสละบำเพ็ญพุทธบารมีมาตั้งหลายล้านชาติได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วมาบอกมาสอนเราให้พากับประพฤติพรหมจรรย์ พรหมจรรย์เบื้องต้นได้แก่ประชาชนผู้ที่เดินตามรอยของพระพุทธเจ้า มนุษย์เราคือผู้ที่ไม่ทำตามใจตัวเอง ไม่ทำตามอารมณ์ ไม่ทำตามความรู้สึกของตัวเอง เอาธรรมเป็นหลักเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นที่ตั้ง หยุดทำตามความรู้สึกอย่างนี้เรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee