แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระธรรมตอนที่ ๓๒ การบวชมุ่งมรรคผลนิพพาน เป็นการบวชที่ประเสริฐสุด พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธศาสนา เกิดขึ้นได้ก็ด้วยการตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (คือรู้แจ้งความจริงตามสภาพความเป็นจริงอย่างถูกต้องด้วยพระองค์เองอันยอดเยี่ยม ไม่มีอะไรยิ่งกว่า) เป็นคำสอนที่เกิดจากพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า การตรัสรู้ของพระองค์ได้เป็นแสงสว่างให้แก่ชาวโลก ได้นำพาจิตวิญญาณของมนุษย์สู่สันติ พระองค์ได้แสดงให้เห็นว่า “สรรพสิ่งในสกลจักรวาลดำเนินไปตามธรรมชาติด้วยการอิงอาศัยกันเป็นลูกโซ่.. เมื่อสิ่งนี้มี...สิ่งนี้จึงมี.. เมื่อสิ่งนี้ดับสิ่งนี้จึงดับ ความเป็นไปของสรรพสิ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับการดลบันดาลของเทพเจ้าหรือผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติใดๆ”
เมื่อพระองค์นำสิ่งที่ได้ตรัสรู้ที่เรียกว่า “พระธรรม” มาสั่งสอนชาวโลก ได้มีผู้ศรัทธาเข้าใจ เชื่อฟัง ประพฤติปฏิบัติตาม คนเหล่านั้นพอใจอยู่กับพระองค์และติดตามพระองค์ ก็ได้รู้แจ้งในธรรมตามกาลังสติปัญญาของตนๆ เรียกผู้เชื่อฟังเหล่านั้นว่า “สาวก” ในกาลต่อมาพระองค์ทรงอนุญาตให้สาวกเหล่านั้นเปลี่ยนสถานภาพของตนจากผู้ครองเรือนมาเป็นผู้ออกจากเรือน เรียกว่า “ภิกษุ” ซึ่งคำๆ นี้แปลว่า ผู้ขอ หรือ ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร (การเวียนตายเวียนเกิด) ด้วยพระดำรัสว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทาที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” เพียงเท่านี้ก็เป็นอันว่าบุคคลผู้นั้นได้เป็นภิกษุถูกต้องบริบูรณ์แล้ว การบวชในพระพุทธศาสนาได้เริ่มขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา รูปแบบการบวชได้เปลี่ยนไปตามสภาวการณ์ โดยมีเป้าหมายของการบวชคือ “นิพพาน” ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ดังคำขานนาคที่ว่า (เอสาหัง ภันเต, สุจิระปะรินิพพุตัมปิ, ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามิ, ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ, ละเภยยาหัง ภันเต, ตัสสะ ภะคะวะโต, ธัมมะวินะเย ปัพพัชชัง, ละเภยยัง อุปะสัมปะทัง - ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้เสด็จปรินิพพานนานแล้ว พระธรรมพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้า พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบท ในพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น) (อะหัง ภันเต, ปัพพัชชัง ยาจามิ, อิมานิ กาสายานิ วัตถานิ คะเหตะวา, ปัพพาเชถะ มัง ภันเต, อะนุกัมปัง อุปาทายะ - ท่านขอรับ กระผมขอบรรพชา ขอท่านโปรดอนุเคราะห์ ผ้ากาสาวะนี้ ให้กระผมบวชเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน เป็นเครื่องสลัดออกจากความทุกข์)
ดังนั้น การบวช จึงหมายถึงการนำพาตนให้พ้นไปจากภาวะของความเป็นฆราวาส ซึ่งหมายถึงการถือเพศเป็นภิกษุสามเณร ด้วยการดำเนินชีวิตที่ทวนกระแสกิเลส พร้อมกันนั้นก็มีการฝึกฝนอบรมตนเองทางกาย วาจาและใจให้สูงยิ่งขึ้นไป จวบถึงภาวะของความพ้นทุกข์
เราทุกคนต้องถือนิสัยพระพุทธเจ้า เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ อย่างนี้แหละ ต้องยกจิตยกใจเข้าสู่ภาคสนาม ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ คนเราต้องมีฉันทะมีความพอใจในการกระทำ อิทธิบาทธรรมจึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จในสิ่งทั้งปวง อย่าไปบวชเหมือนที่ส่วนใหญ่เขาทำกัน การบวชเน้นที่จิตที่ใจ ไม่ได้เน้นที่กายภายนอก พระพุทธเจ้าไม่ได้มีแห่รอบโบสถ์แห่รอบศาลา ไม่ได้จัดงานบวชมีกินเลี้ยงมีมหรสพ ถ้าทำอย่างนั้นท่านก็ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า การบวชต้องทำง่ายๆ เรียบง่ายมากที่สุด เน้นที่ใจ เน้นที่เจตนา เน้นที่การปฏิบัติ ให้คิดในใจเลยว่า ลูกของเรานี้โชคดี ได้มาประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าแท้ๆ เราจะจัดงานแบบเอาหน้าเอาตาไปทำไมกัน หลวงพ่อพุทธทาสกล่าวไว้ในหนังสือคู่มือมนุษย์ว่า
“พิธีรีตองต่างๆ ได้เกิดขึ้นอย่างหนาแน่นมากมายจนหุ้มห่อของจริง หรือความมุ่งหมายเดิมให้สาบสูญไป ขอยกตัวอย่างเช่นในเรื่อง การบวชนาค ก็เกิดมีพิธีทำขวัญนาค เชื้อเชิญแขกมาเลี้ยงดูกันอย่างเมามายเอิกเกริก ทำพิธีทั้งที่วัดและที่บ้านบวชไม่กี่วันก็สึกออกมา แล้วกลายเป็นคนเกลียดวัดยิ่งไปกว่าเดิมก็มี นี่ขอให้คิดดูเถิดว่า สิ่งไม่เคยมีในครั้งพุทธกาลก็ได้มีขึ้น
การบวชสมัยพระพุทธเจ้า นั้นหมายความว่าบุคคลใดที่ได้รับอนุญาตจากบิดามารดาแล้ว ก็ปลีกตัวจากบ้านเรือนเป็นคนที่ทางบ้านตัดบัญชีทิ้งได้ ไปยู่กับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ โอกาสเหมาะสมเมื่อไรท่านก็บวชให้ โดยมิได้พบหน้าบิดามารดาญาติพี่น้องเลย จนตลอดชีวิตก็ยังมี แม้บางรายจะมีกลับมาเยี่ยมบิดามารดาบ้าง ก็ต่อโอกาสหลังซึ่งเหมาะสม แต่ก็มีน้อยเหลือเกินในพุทธศาสนามีระเบียบว่ามาบ้านได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุผลสมควร และพึงทราบไว้ด้วยว่าพวกที่บวชนั้นไม่ได้เวียนมาบ้าน ไม่ได้บวชในที่ต่อหน้าบิดามารดา ไม่ได้ฉลองกันเป็นการใหญ่แล้ว ไม่กี่วันสึก สึกแล้วก็ไม่มีอะไรดีขึ้นไปกว่าเดิม อย่างที่เป็นกันอยู่ในเวลานี้ เราหลงเรียกการทำขวัญนาค และการทำพิธีต่างๆ ตลอดถึงการฉลองอะไรๆ เหล่านั้นว่าเป็นพุทธศาสนาแล้วก็นิยมทำกันอย่างยิ่ง จนหมดเปลืองทรัพย์ของตนหรือของคนอื่นเท่าไรก็ไม่ว่า พุทธศาสนาใหม่ๆ อย่างนี้เกิดมีมากมายแทบจะทั่วไปทุกแห่ง ธรรมะหรือของจริงที่เคยมีมาแต่ก่อนนั้น ถูกหุ้มห่อโดยพิธีรีตองจนมิด เกิดมุ่งหมายผิดเป็นอย่างอื่นไป...”
การบวชเป็นของยาก เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และเป็นสิ่งที่หาได้ยาก ดังพระบาลีที่ว่า ปพฺพชฺชา จ ทุลฺลภา การได้บรรพชาเป็นของหาได้ยาก เพราะการบวชที่แท้จริง ตามความหมายแห่งธรรมก็คือ การเว้นจากการประพฤติ ที่เดิมๆ ที่เราเคยทำตามความคิด ตามอารมณ์ ตามความรู้สึกของตนเอง ในสมัยที่ยังเป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนที่ยังไม่ได้บวช การบวชบรรพชาที่ได้ประโยชน์จริงๆก็คือ การไม่ทำตามความคิด ตามอารมณ์ ตามความรู้สึกตนเอง ต้องเอาธรรมะเป็นใหญ่ เป็นที่ตั้ง เป็นหลัก ในการขัดเกลา กาย วาจา ใจ โดยการอบรมด้วยธรรมวินัย อบคือทำให้ร้อน ทำให้กิเลสคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เร่าร้อน รม คือทำให้หอม ทำให้กาย วาจา ใจ หอมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา
แต่ว่าการบวชนั้น ก็มิได้มีผู้มุ่งผลอย่างสูงดังกล่าวนี้เสมอไป ดังในมิลินทปัญหา พระเจ้ามิลินท์ได้ถาม พระนาคเสน ว่า ประโยชน์สูงสุดของการบวชคืออะไร ? พระนาคเสนท่านก็ตอบว่า ประโยชน์สูงสุดของการบวชนั้น คือพระนิพพาน คือความดับ เพราะไม่ยึดมั่นอะไรๆ ทั้งหมด แต่คนก็มิใช่บวชเพื่อประโยชน์นี้ทั้งหมด บางคนบวชเพราะหลีกหนีราชภัยบ้าง หนีโจรภัยบ้าง ปฏิบัติตามพระราชประสงค์หรือความประสงค์ของผู้มีอำนาจบ้าง ต้องการจะพ้นหนี้สินบ้าง ต้องการความเป็นใหญ่บ้าง ต้องการที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบายบ้าง เพราะกลัวภัยต่างๆ บ้าง พระนาคเสนตอบพระเจ้ามิลินท์ ดังนี้
อย่างที่ ๑ เรียกว่า บวชได้กิ่งใบของพรหมจรรย์ คือบวชแล้วก็มุ่งแต่จะได้ลาภ ได้สักการะ ได้สรรเสริญ เมื่อได้ก็พอใจเพียงเท่านั้น
อย่างที่ ๒ เรียกว่า บวชได้กะเทาะเปลือกของพรหมจรรย์ คือก็ไม่ได้มุ่งจะได้ลาภสักการะและสรรเสริญทีเดียว แต่ก็ปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วย และก็พอใจเพียงว่า จะปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เท่านั้น
อย่างที่ ๓ เรียกว่า บวชได้เปลือกของพรหมจรรย์ คือเมื่อปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์ได้แล้ว ก็ปฏิบัติในสมาธิให้บริบูรณ์ด้วย และก็พอใจเพียงสมาธิเท่านั้น
อย่างที่ ๔ เรียกว่า บวชได้กระพี้ของพรหมจรรย์ คือเมื่อปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ให้บริบูรณ์แล้ว ก็ปฏิบัติต่อไปจนเกิดญาณทัสสนะคือความรู้ความเห็นธรรมะขึ้นด้วย และก็พอใจเพียงที่รู้ที่เห็นเท่านั้น
อย่างที่ ๕ เรียกว่า บวชได้แก่นของพรหมจรรย์ คือว่าได้ปฏิบัติสืบขึ้นไปจนได้วิมุตติ คือความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์บางส่วนหรือสิ้นเชิง ตามสามารถของการปฏิบัติ อย่างที่ ๕ นี้ จึงจะชื่อว่าได้บรรลุแก่นของการบวช หรือว่าบวชได้แก่นของพรหมจรรย์
การบวชก็คือการมาประพฤติปฏิบัติ เอาพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เอาพรหมจรรย์ มาประพฤติปฏิบัติ เข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ จึงจะมีอานิสงส์ใหญ่มีอานิสงส์มากมีอานิสงส์ไพศาล ผู้ที่มาบวชต้องทำอย่างนี้ๆ ถ้าไม่ทำอย่างนี้ อย่ามาบวชให้เสียเวลาเลย จุดประสงค์ของการบวชมีหลายอย่าง ดังคำที่ว่า บวชหลบบวชลี้ บวชหนีวัฏสงสาร บวชผลาญข้าวสุก บวชสนุกตามเพื่อน บวชเลื่อนฐานะทางสังคม บวชไปนิยมทำพุทธพาณิช บวชติดเรื่องโลกๆ บวชนั่งโงกงมแก่ ตามคำที่ว่ามาทั้งหมดนี้ การบวชหนีวัฏสงสาร มุ่งมรรคผลนิพพานเป็นจุดหมายปลายทาง เป็นการบวชที่ประเสริฐสุด พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ
การบวชพระภิกษุมีหลายวิธี เช่น การบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา สมัยแรกๆ พระพุทธเจ้าประทานการบวชเป็นพระอุปัชฌาย์ด้วยพระองค์เองให้แก่ผู้มาขอบวชโดยทั่วไป บางครั้งก็ประทานการบวชให้บางคน เช่น พระมหากัสสปะ ด้วยการทรงประทานพระโอวาทให้แก่ท่านเพื่อรับไปปฏิบัติ พระภิกษุที่ได้รับการบวชด้วยวิธีแบบพิเศษนี้มีเพียงพระมหากัสสปะรูปเดียวเท่านั้น เรียกว่า การบวชแบบโอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา ครั้นต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาแผ่ขยายออกไป จึงเกิดความไม่สะดวกต่อผู้ใคร่ที่จะออกบวชเพราะจะต้องเดินทางมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อให้ทรงประทานการบวชให้ จึงทรงยกเลิกการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา แล้วบัญญัติให้มี การบวชแบบติสรณคมนูปสัมปทา ขึ้น โดยให้ผู้มาขอบวชนั้นโกนหัว ห่มผ้าเหลือง กราบเท้าพระ แล้วก็เปล่งวาจาต่อหน้าพระสาวกผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ขอถึงซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง นับเป็นการบวชที่ง่าย แต่ต่อมาภายหลังการบวชแบบนี้ได้นำไปใช้ในการบวชสามเณรเท่านั้น ซึ่งสามเณรเวลาจะบวชก็ง่าย โกนหัว ห่มผ้าเหลือง แล้วก็มาเปล่งวาจาขอถึงซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง และรับศีล ๑๐ ข้อก็เสร็จการ ส่วนการบวชพระภิกษุให้เปลี่ยนมาเป็น การบวชแบบญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา แทน ถือเป็นวิธีการบวชพระภิกษุที่ใช้สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งต้องมีพระอุปัชฌาย์ มีพระกรรมวาจาจารย์ มีขั้นตอนพิธีกรรม ฯลฯ วิธีนี้เป็นวิธีบวชที่ทรงมอบอำนาจให้คณะสงฆ์เป็นใหญ่ คือพระภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปร่วมกันทำพิธีบวช
สมัยแรกๆ ในครั้งพุทธกาลนั้น ไม่ว่าจะบวชพระภิกษุหรือบวชสามเณร พระพุทธองค์ทรงใช้คำเดียวว่า “อุปสมบท” (อุปสัมปทา) ต่อมาเมื่อทรงมอบอำนาจให้คณะสงฆ์ทำพิธีบวชแทนพระพุทธองค์แล้ว คำว่า “บรรพชา” (ปัพพัชา) จึงใช้เฉพาะบวชสามเณร และคำว่า “อุปสมบท” (อุปสัมปทา) ใช้เฉพาะบวชพระภิกษุ เนื่องจากคนจะบวชพระภิกษุจะต้องผ่านขั้นตอนการบวชสามเณรก่อน จึงเรียกรวมกันว่า “บรรพชาอุปสมบท”
แต่ปรากฏว่าทรงมีพระพุทธประสงค์ที่จะยกย่องสุมนะสามเณร ซึ่งในประวัติศาสตร์ตามหลักการบวชพระภิกษุต้องมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ แต่มีอยู่เพียง ๓ รูปเท่านั้นที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้เป็นพระภิกษุแบบพิเศษ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สามเณรได้รับการบวชยกขึ้นเป็นพระภิกษุได้ โดยไม่ต้องรอให้อายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ก่อน เรียกว่า การบวชแบบทายัชชอุปสัมปทา หมายถึง การบวชแบบมอบความเป็นทายาทให้ หรือการรับเข้าหมู่โดยความเป็นทายาท ซึ่งเป็นการบวชเป็นพระภิกษุแบบพิเศษ ทั้งนี้เพราะพระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า สามเณรนี้มีคุณสมบัติสมควรที่จะเป็นพระภิกษุได้เพราะเป็นพระอรหันต์ และปฏิบัติหน้าที่รับภาระหนักเทียบเท่าพระภิกษุ (ในพระพุทธศาสนามีสามเณรที่ได้รับการบวชด้วยวิธีแบบพิเศษนี้เพียง ๓ รูปเท่านั้น คือ สามเณรโสปากะ, สามเณรสุมนะ และสามเณรทัพพะ)
เด็กน้อยโสปากะเกิดได้ 4 เดือนบิดาก็สิ้นชีวิต จึงตกอยู่ในการดูแลของ “จุฬบิดา” (น้องชายพ่อ หรืออา) ไม่บอกว่ากลายเป็นพ่อเลี้ยงหรือว่าเพียงแต่เป็นผู้ดูแลแทนพ่อ พิเคราะห์ดูอาจเป็นพ่อเลี้ยงจริงๆ ก็ได้ เวลาโสปากะทะเลาะกับลูกๆ ของเขา พ่อเลี้ยงจะดุด่าและลงโทษเสมอ ไม่ว่าหญิงหรือชายมี “เรือพ่วง” ไปแต่งงานใหม่มักจะมีปัญหามีเรื่องระหองระแหงกันในครอบครัว เช่น ลูกคุณมารังแกลูกฉัน หรือลูกคุณรังแกลูกเรา หรือลูกเรารังแกลูกคุณและลูกฉัน ว่ากันให้วุ่น
วันหนึ่งพ่อเลี้ยงโกรธจัดจึงนำเด็กชายโสปากะไปป่าช้าเอาเชือกผูกแขนไพล่หลังมัดไว้กับศพทิ้งไว้ด้วยหมายใจจะให้เป็นเหยื่อสุนัขจิ้งจอก เด็กน้อยเห็นสุนัขจิ้งจอกกำลังมาจึงร้องไห้ด้วยความกลัว
ว่ากันว่าเสียงร้องไห้ของเด็กน้อยผู้น่าสงสารได้ยินไปถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรวจดูด้วยพระญาณก็ทรงทราบเหตุการณ์โดยตลอด จึงทรงแผ่พระรัศมีไปยังเด็กน้อยตรัสว่า โสปากะไม่ต้องกลัว เธอจงมองดูตถาคต ตถาคตจะช่วยเธอให้รอด ดุจปล่อยพระจันทร์จากปากราหูฉะนั้น
ด้วยพุทธานุภาพเชือกที่มัดอยู่ขาดออกโสปากะเป็นอิสระและได้บรรลุโสดาปัตติผล รู้ตัวอีกทีก็มานั่งเจี๋ยมเจี้ยมอยู่ในพระคันธกุฎีแล้ว
ข้างฝ่ายมารดาเมื่อบุตรชายหายไปก็เที่ยวตามหาไปจนทั่ว เมื่อไม่พบจึงเข้าไปพระอารามคิดได้อย่างเดียวว่า พระพุทธเจ้าทรงมีพระญาณหยั่งรู้อดีต ปัจจุบัน อนาคต พระองค์ย่อมทรงทราบว่าลูกเราอยู่ที่ไหน เราไปกราบทูลขอพึ่งพระมหากรุณาของพระองค์ดีกว่า ไปถึงก็ถวายบังคมแล้วกราบทูลถามถึงบุตรชายของตนเอง พระพุทธองค์ทรงทราบว่านางมีอุปนิสัยแห่งมรรผล จึงตรัสสอนธรรมว่า “บุตรทั้งหลายก็ช่วยไม่ได้ บิดาและพี่น้องก็ช่วยไม่ได้ คนเราเมื่อถึงคราวจะตาย ญาติพี่น้องทั้งหลายก็ช่วยไม่ได้”
เท่ากับเตือนว่าบุตรที่สุดแสนรักนั้นเขาก็มีคติหรือทางไปเป็นของเขาเอง เอาเข้าจริงเขาก็ช่วยเหลืออะไรเราไม่ได้ คติหรือทางไปของเราจะเป็นอย่างไร จะไปดีไปร้อยก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของเราเอง
นางได้ฟังก็ได้คิด คิดตามไปก็ยิ่งเห็นจริงตามจึงได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน หารู้ไม่ว่าในขณะนั้นบุตรน้อยของตนก็นั่งฟังพระธรรมเทศนานั้นอยู่ใกล้ๆ นั่นเอง แต่ด้วยอิทธาภิสังขาร (การบันดาลด้วยฤทธิ์) สองแม่ลูกจึงมองไม่เห็นกัน ลูกชายได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
จากนั้นพระพุทธองค์ทรงคลายฤทธิ์สองแม่ลูกจึงเห็นกัน
ถามว่าไฉนเด็กน้อยอายุเพียงขวบก็ได้บรรลุพระอรหัตผล คำตอบก็มีว่าเพราะเด็กน้อยคนนี้ในอดีตกาลอันนานโพ้นได้สร้างบุญบารมีไว้
ในชาติที่กล่าวถึงนั้นโสปากะเกิดในตระกูลพราหมณ์ ออกบวชเป็นฤาษีบำเพ็ญพรตอยู่บนยอดเขาสูงแห่งหนึ่ง เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าสิทธัตถะ ขณะเขาใกล้จะตายพระพุทธเจ้าสิทธัตถะเสด็จไปโปรดเขา เขาแต่งอาสนะดอกไม้ถวายให้พระพุทธองค์ประทับ พระพุทธองค์ประทับเหนืออาสนะดอกไม้นั้น ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับอนิจจตา (ความไม่เที่ยง) ปลดเปลื้องเขาจากความยึดถือผิดๆ ว่าสรรพสิ่ง เที่ยงแท้นิรันดร
เขาเจริญอนิจจสัญญา (ความระลึกว่าไม่เที่ยงแท้) ในใจ จวบจนสิ้นลม ละจากอัตภาพนั้นแล้วไปเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวในสังสารวัฏตลอดกาลยาวนาน ในที่สุดก็บังเกิดเป็นเด็กน้อยโสปากะในกรุงราชคฤห์ดังกล่าวมาแล้ว
พระพุทธเจ้าตรัสถามปัญหา “อะไรเอ่ย” ทำนองปริศนาธรรม เช่น “อะไรเอ่ยชื่อว่าหนึ่ง” โสปากะกราบทูลว่า “สัตว์ทั้งหลายอยู่ได้ด้วยอาหาร” (อาหารชื่อว่าหนึ่ง)
“อะไรชื่อว่าสอง” ตรัสถามอีก “นามกับรูป ชื่อว่าสอง” โสปากะกราบทูล
อะไรเอ่ยชื่อว่า 3 เวทนา 3, อะไรเอ่ยชื่อว่า 4 อริยสัจ 4, อะไรเอ่ยชื่อว่า 5 อุปาทานขันธ์ 5, อะไรเอ่ยชื่อว่า 6 อายตนะภายใน 6, อะไรเอ่ยชื่อว่า 7 โพชฌงค์ 7, อะไรเอ่ยชื่อว่า 8 อริยมรรคมีองค์ 8, อะไรเอ่ยชื่อว่า 9 สัตตาวาส 9 จนกระทั่งถึง “อะไรชื่อว่าสิบ” เด็กน้อยอรหันต์ก็กราบทูลได้ทุกข้อ เพราะไม่ใช่เด็กน้อยธรรมดาหากเป็นเด็กน้อยอรหันต์
เนื่องจากเป็นการเอ่ยถึงเพียงข้อธรรม พระอรรถกถาจารย์จึงต้องขยายความเพิ่มเติมในปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะ ไว้อย่างละเอียด ซึ่งโดยสังเขปคำอธิบายข้อธรรมต่างๆ ทั้ง 10 ข้อมีดังต่อไปนี้
อะไรเอ่ยชื่อว่า 1 สัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร อรรถกถาอธิบายว่า "สัตว์ทั้งหลายที่ตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร เพราะอรรถว่าเป็นปัจจัยในขันธ์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แต่เมื่อว่าโดยปรมัตถ์ พึงทราบว่า เมื่อขันธ์ทั้งหลาย เกิดแก่และตายอยู่"
อะไรเอ่ยชื่อว่า 2 นามและรูป อรรถกถาอธิบายว่า "ภิกษุละอัตตทิฏฐิความเห็นว่าเป็นตนได้ ด้วยการเห็นเพียงนามรูปแล้ว เมื่อหน่ายโดยมุขคือการพิจารณาเห็นอนัตตา ย่อมจะเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ ย่อมบรรลุปรมัตถวิสุทธิได้"
อะไรเอ่ยชื่อว่า 3 เวทนา 3 กล่าววคือ สุขเวทนา, ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา อรรถกถาอธิบายว่า "ภิกษุละสุขสัญญา ความสำคัญว่าสุข ด้วยการเห็นเวทนาทั้งสามเป็นทุกข์ ... ย่อมจะเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ ย่อมบรรลุปรมัตถวิสุทธิได้"
อะไรเอ่ยชื่อว่า 4 อริยสัจ 4 กล่าวคือ ทุกข์, สมุทัย, นิโรธ, มรรค อรรถกถาอธิบายว่า "ความแห่งบทของอริยสัจเหล่านั้นมีดังนี้ ความตัดขาดภวตัณหา ย่อมมีได้ เพราะความตรัสรู้ตามและแทงตลอดอริยสัจเหล่านี้ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า - ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทุกขอริยสัจนี้นั้น อันเราตถาคตตรัสรู้แล้ว แทงตลอดแล้ว ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ อันเราตถาคต ตรัสรู้แล้ว แทงตลอดแล้ว ภวตัณหาเราตถาคตก็ถอนได้แล้ว ตัณหา ที่นำไปในภพ ก็สิ้นแล้ว บัดนี้ การเกิดอีกไม่มีกันละ ดังนี้"
อะไรเอ่ยชื่อว่า 5 อุปาทานขันธ์ 5 กล่าวคือ รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ อรรถกถาอธิบายว่า "เมื่อพิจารณาโดยความเกิดความดับ (ของอุปาทานขันธ์ 5) เป็นอารมณ์ ได้อมตะด้วยวิปัสสนาแล้ว ย่อมทำให้แจ้งอมตะ คือพระนิพพาน โดยลำดับ"
อะไรเอ่ยชื่อว่า 6 อายตนะภายใน 6 กล่าวคือ ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ อรรถกถาอธิบายว่า " ภิกษุพิจารณาอายตนะภายใน 6 โดยความเป็นของว่าง ตามพระบาลีว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า สุญฺโญ คาโม บ้านว่าง นี้เป็นชื่อของอายตนะภายใน 6 ดังนี้ โดยความเป็นของเปล่าและโดยความเป็นของลวง เพราะตั้งอยู่ได้ไม่นาน เหมือนฟองน้ำและพยัพแดดฉะนั้น ก็หน่าย ทำที่สุดทุกข์โดยลำดับ ย่อมเข้าถึงที่ซึ่งมัจจุราชมองไม่เห็น"
อะไรเอ่ยชื่อว่า 7 โพชฌงค์ 7 กล่าวคือสติ, ธรรมะ, วิริยะ, ปีติ, ปัสสัทธิ, สมาธิ, อุเบกขา อรรถกถาอธิบายว่า "พระโยคาวจร เมื่อเจริญทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ 7 เหล่านี้อย่างนี้ไม่นานนัก ก็จะเป็นผู้ได้คุณมีความหน่ายโดยส่วนเดียวเป็นต้น ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน"
อะไรเอ่ยชื่อว่า 8 อริยมรรคมีองค์ 8 หรือมรรคมีองค์แปด กล่าวคือสัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ, สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ, สัมมาวายามะ, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ อรรถกถาอธิบายว่า "เมื่อเจริญมรรคมีประเภท 8 และมีองค์ 8 นี้อย่างนี้ ย่อมทำลายอวิชชา ทำวิชชาให้เกิด ทำให้แจ้งพระนิพพาน ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้ในปัจจุบัน"
อะไรเอ่ยชื่อว่า 9 สัตตาวาส 9 กล่าวคือภพภูมิทั้ง 9 คือ นานาตฺตกายภูมิ, เอกตฺตกายภูมิ, นานตฺตสญฺญีภูมิ, เอกตฺตสญฺญีภูมิ, อสญฺญีภูมิ, อากาสานญฺจายตนภูมิ, วิญฺญาณญฺจายตนภูมิ, อากิญฺจญฺญายตนภูมิ, เนวสญฺญานาสญฺญายตนภูมิ อรรถกถาอธิบายว่า "ธรรม 9 ควรกำหนดรู้ คือ สัตตาวาส 9 หน่ายด้วยการเห็นเป็นเพียงกองสังขารล้วนๆ คลายกำหนัดด้วยการเห็นอนิจจลักษณะด้วยตีรณปริญญา หลุดพ้นด้วยการเห็นทุกขลักษณะ เห็นที่สุดโดยชอบด้วยการเห็นอนัตตลักษณะ ตรัสรู้ความเป็นธรรมชอบ ด้วยปหานปริญญา ย่อมเป็นผู้ทำที่สุดทุกข์ได้"
อะไรเอ่ยชื่อว่า 10 ท่านผู้ประกอบด้วยองค์ 10 เรียกว่าพระอรหันต์ อรรถกถาอธิบายว่า พระอรหันต์ประกอบด้วยมรรคมีองค์ 8 และสัมมาญาณเป็นองค์ที่ 9 และ สัมมาวิมุตติ เป็นองค์ที่ 10 ยังให้ท่านเป็นพระอเสขะ คือผู้ไม่ต้องศึกษาอีก คือไม่ต้องศึกษาไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญาอีกต่อไป เพราะได้ศึกษาจบโดยได้บรรลุอรหันตผลแล้ว
การมอบปัญหาให้คิดหาคำตอบนี้ คงคล้ายกับที่พุทธนิกายเซนเรียกว่า “โกอาน” (ญี่ปุ่น) หรือ “กงอั้น” (จีน) นั่นเอง เมื่ออรหันต์น้อยโสปากะตอบได้หมดทุกข้อ การอุปสมบทให้เธอเรียกการอุปสมบทนี้ว่า “ปัญหาพยากรณูปสัมปทา” (การอุปสมบทด้วยการตอบปัญหา)
น่าสังเกตว่า โสปากะเธอมิได้ผ่านการบวชเณรก่อน พระพุทธองค์ประทานอุปสมบทให้ทันทีทันใด ต่างจากกรณีเด็กน้อยสุมนได้บรรพชาเป็นสามเณรก่อน พระพุทธเจ้าประทานการอุปสมบทอันเรียกว่า “ทายัชชอุปสมัปทา” ให้ แต่โสปากะไม่ต้องบวชเณรก่อน ข้ามขั้นเป็นพระภิกษุเลย และการอุปสมบทของเธอเรียกว่า “ปัญหาพยากรณูปสัมปทา”
เรามีพ่อแม่ที่ประเสริฐได้เห็นภัยในการเวียนว่ายตายเกิด คุณพ่อคุณแม่ถึงส่งมาบวชมาอบรมบ่มอินทรีย์ เรียกว่าพ่อแม่มีปัญญามีจิตใจเป็นหนึ่ง เขาเรียกว่าพ่อแม่รู้อริยสัจ ๔ รู้ทุกข์รู้เหตุเกิดทุกข์รู้ความดับทุกข์รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ จึงได้ส่งลูกส่งหลานมาประพฤติมาปฏิบัติ ทุกคนก็อบรมบ่มอินทรีย์ปฏิบัติตัวเอง อันนี้เพื่อยกเลิกตัวตน ทุกคนก็จะมีความสุข ถ้าคิดว่ามีความทุกข์ ความคิดอย่างนั้นมันเป็นมิจฉาทิฏฐิเป็นความหลงเป็นความไม่ถูกต้อง เราต้องเข้าใจ
ให้ทุกท่านทุกคนพากันมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง เพราะเหตุเพราะปัจจัยอยู่ที่เรามีความเห็นไม่ถูกต้องเข้าใจไม่ถูกต้องแล้วก็ปฏิบัติไม่ถูกต้อง เพราะการเวียนว่ายตายเกิดของเราหรือว่าความทุกข์ของเรามันอยู่ที่เรา ไม่รู้ความจริงไม่รู้อริยสัจ ๔ อยู่ดีๆ ก็ดำเนินชีวิตด้วยการประกอบความทุกข์ให้กับตนเอง ชีวิตนี้เป็นของง่ายเป็นของไม่ลำบาก แต่เราไปสร้างความยากลำบากให้กับตนเอง คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นไม่ได้เพิ่มไม่ได้ตัดออก เพียงแต่เรามีความเห็นให้ถูกต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง พัฒนาใจแล้วก็พัฒนาวัตถุไปพร้อมๆ กัน เรียกว่าทางสายกลาง
พระพุทธองค์ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ตราบใดที่เธอไม่หมกมุ่นกับการงานมากเกินไป ไม่พอใจด้วยการคุยฟุ้งซ่าน ไม่ชอบในการนอนมากเกินควร ไม่ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่เป็นผู้ปรารถนาลามก ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจแห่งความปรารถนาชั่ว ไม่คบมิตรเลว ไม่หยุดความเพียรพยายามเพื่อบรรลุคุณธรรมสูงๆ ขึ้นไปแล้ว ตราบนั้น พวกเธอจะไม่มีความเสื่อมเลย จะมีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเอาพระธรรมวินัยเป็นหลัก เป็นใหญ่ เป็นที่พึ่ง เรียกว่าเป็น ธรรมาธิปไตย เราต้องไม่ประพฤติย่อหย่อน ไม่ลูบคลำในศีล ในข้อวัตรปฏิบัติ ไม่ลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ คลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของตน ชีวิตของเราจึงจะเป็นชีวิตที่ไม่สูญเปล่า ให้สมกับได้เป็นมนุษย์ผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อพระนิพพานอย่างแท้จริง
ขออนุโมทนากับกุลบุตรผู้มีศรัทธาที่มาบรรพชาเป็นสามเณรทั้ง ๘ ท่าน และขออนุโมทนากับบิดามารดาผู้ปกครองของสามเณร ตลอดจนถึงคณะศรัทธาสาธุชนผู้มีใจดีใจสบาย ที่ได้มาร่วมพิธีบรรพชาอุปสมบท เพื่อบูชาคุณพระพุทธศาสนา เพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน เทิดพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ไทยทุกๆ พระองค์ ในวันนี้
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee