แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันเสาร์ที่ ๒๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระธรรมตอนที่ ๓๑ เข้มแข็งอดทน ไม่ย่อหย่อนอ่อนแอ ในการทำข้อวัตรข้อปฏิบัติ เพื่อขัดเกลาจิตใจ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ณ โอกาสนี้เป็นการฟังธรรมที่จะได้นำไปประพฤตินำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ความเห็นที่ถูกต้องความเข้าใจถูกต้องการปฏิบัติที่ถูกต้อง ความรู้ความเข้าใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นคือเหตุคือปัจจัย เราต้องมีปัญญาในเรื่องจิตเรื่องใจ ในเรื่องที่เราต้องประกอบอาชีพ เมื่อเราทุกคนต้องดำรงธาตุดำรงขันธ์ดำรงอายตนะเพื่อจะปฏิบัติให้เป็นทางสายกลาง พัฒนาใจพัฒนาวัตถุไปพร้อมๆ กัน การเรียนการศึกษาถึงมีกับพวกเราตั้งแต่ลืมตามาสัมผัสกับโลกนี้ การเรียนการศึกษาถึงมีกับเราตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาเอก ทางฝ่ายธรรมะเรื่องจิตเรื่องใจเรื่องคุณธรรมก็ตั้งแต่นักธรรมตรีจนถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยค ปัญญาสัมมาทิฏฐิที่มีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เป็นสิ่งที่จำเป็นและก็สำคัญ เราทุกคนได้รับ DNA จากพ่อจากแม่ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ติดต่อต่อเนื่อง สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือผู้รู้ ผู้รู้ที่เป็นปราชญ์บัณฑิตคือผู้ปฏิบัติดีคือผู้ปฏิบัติชอบ ดังนั้นนักเรียนถึงเป็นต้นเหตุที่จะเป็นนักปราชญ์ เมื่อเป็นนักปราชญ์ที่ปฏิบัติถูกต้องถึงเรียกว่าบัณฑิต บัณฑิตและนักปราชญ์ก็จะมีกับเราทุกๆ คน ความรู้กับการปฏิบัติถึงไปพร้อมๆ กัน ที่เรียกว่าทางสายกลาง
การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง การปฏิบัติถึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จะเป็นทางสายกลางพัฒนาทั้งใจทั้งวัตถุไปพร้อมๆ กัน เพราะพระพุทธเจ้าบำเพ็ญพุทธบารมีมาสอนให้พวกเราเข้าใจ เพื่อว่าเราจะได้เป็นคนทันโลกทันสมัย พัฒนาทั้งใจพัฒนาทั้งวัตถุไปพร้อมกัน ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจอย่างนี้ แล้วพากันมีความสุขในการเรียนในการปฏิบัติ เราอย่าเอาความรู้สึกเป็นที่ตั้ง อย่าเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เพราะความรู้สึกนั้นมันยังเป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตนอยู่ มันไม่ใช่ความถูกต้อง เราทุกคนถึงมีนาฬิกาไว้รู้ เพื่อจะไม่ได้เอาความรู้สึกมาเป็นตัวเป็นตน แต่ให้เอาความถูกต้องเอาเวลา เราทุกคนถึงเอาธรรมะเป็นที่ตั้ง เพราะธรรมะคือความถูกต้อง ธรรมะคือสภาวะธรรมที่มันเป็นเหตุเป็นปัจจัย เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงมี คนเรามีความคิดเห็นผิดความเข้าใจผิดปฏิบัติผิด มันก็เป็นไปเพื่อประกอบทุกข์ เมื่อเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราก็จะมีความสุขทั้งทางจิตใจทั้งทางวัตถุไปพร้อมๆ กันอย่างนี้
ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนต้องพากันเข้าใจวัด ได้แก่ข้อวัตรข้อปฏิบัติที่มีอยู่ในตัวของเราทุกๆ คน เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราก็ปฏิบัติตัวเองอยู่ในทุกหนทุกแห่งให้มันถูกต้อง ทั้งทางกายทั้งวาจาทั้งใจทั้งหน้าที่การงาน มีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติอย่างนี้ เวลามันเป็นของมีค่ามันเป็นของที่สำคัญ ทุกท่านทุกคนต้องปรับตัวเข้าหาเวลาในปัจจุบัน เอาความถูกต้องเป็นหลัก สละเสียซึ่งตัวซึ่งตน ใหม่ๆ เรายังไม่เข้าใจหรอก เราก็ต้องเอารูปแบบเป็นหลักหรือเวลาเป็นหลัก ใจมันยังไม่สงบ ก็ให้กายมันสงบ วาจากิริยามารยาทของเราให้มันสงบ ใหม่ๆก็ให้เน้นเรื่องกายเรื่องวาจาเรื่องกริยามารยาท ทำอะไรก็ให้มันได้มาตรฐาน ต้องอาศัยการฝึกอาศัยการปฏิบัติทำไปเรื่อยๆ ให้ติดต่อต่อเนื่อง พวกเราก็จะชำนิชำนาญ
ที่วัดที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยหลายๆ แห่งคือศูนย์รวมในการประพฤติการปฏิบัติ ที่เรามาจากทุกทิศทุกทางมาร่วมรวมกัน เพื่อประพฤติปฏิบัติในแนวเดียวกันในทางเดียวกัน ทุกคนก็พากันประพฤติพากันปฏิบัติให้เต็มที่ ให้มีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติของเราทุกๆ คน เพื่อเราทุกคนจะได้เข้าถึง Standard เข้าถึงมาตรฐาน พวกเราก็พากันมารู้จัก อย่าพากันมาอยู่ลอยๆ ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ต้องเข้าสู่ระเบียบ ต้องเข้าสู่พระธรรมวินัย ทุกคนต้องยกเลิกตามใจตัวเอง ต้องยกเลิกตามอารมณ์ตัวเอง เราอยู่ที่บ้านเราตามอัธยาศัยตามอารมณ์ตามความรู้สึก อยู่กับการเล่นโทรศัพท์อยู่กับการ LINE โทรศัพท์ เรามาอยู่วัดต้องยกเลิกพวกนั้นทั้งหมด ใหม่ๆ มันก็ยากก็ลำบาก เพราะเรายังไม่เคย เรายังไม่เข้าใจ เรานึกว่าได้ตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึกมันคือความสุข อันนั้นมันไม่ใช่ อันนั้นมันเป็นความหลง มันไม่ใช่การฝึกมันไม่ใช่การหัดมันไม่ใช่การปฏิบัติ สิ่งแวดล้อมมันบังคับเรา ตัวเราก็บังคับเรา เราจะขับรถที่พาเราวิ่งไป ก็ต้องคอนโทรลพวงมาลัย เพื่อให้รถไปสู่จุดหมายปลายทาง การประพฤติการปฏิบัติก็เหมือนกับการที่เราขับรถเดินทางไกลนั่นแหละ ทุกคนมันเหนื่อยมันยากมันลำบาก เพราะอันนั้นมันเป็นความรู้สึก มันเป็นสุขมันเป็นทุกข์ มันเป็นธาตุมันเป็นขันธ์มันเป็นอายตนะ พวกเราก็ไม่ต้องไปสนใจมันหรอก เราต้องขอบคุณ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ประพฤติไม่ได้ปฏิบัติ เหมือนการขับรถ ถ้าไม่รู้จักการคอนโทรลเรื่องการขับรถมันก็ไปไม่ได้
การประพฤติการปฏิบัติมันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สำคัญพิเศษ สำคัญจริงๆ เรามีพ่อแม่ที่ประเสริฐได้เห็นภัยในการเวียนว่ายตายเกิด คุณพ่อคุณแม่ถึงส่งมาบวชมาอบรมบ่มอินทรีย์ เรียกว่าพ่อแม่มีปัญญามีจิตใจเป็นหนึ่ง เขาเรียกว่าพ่อแม่รู้อริยสัจ ๔ รู้ทุกข์รู้เหตุเกิดทุกข์รู้ความดับทุกข์รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ จึงได้ส่งลูกส่งหลานมาประพฤติมาปฏิบัติ ทุกคนก็อบรมบ่มอินทรีย์ปฏิบัติตัวเอง อันนี้เพื่อยกเลิกตัวตน ทุกคนก็จะมีความสุข ถ้าคิดว่ามีความทุกข์ ความคิดอย่างนั้นมันเป็นมิจฉาทิฏฐิเป็นความหลงเป็นความไม่ถูกต้อง เราต้องเข้าใจ คนเราก็มี ๒ อย่าง มีสุขมีทุกข์ มันก็คืออันเดียวกัน มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยของธาตุของขันธ์ของอายตนะ ให้เข้าใจอย่างนี้ เราอย่าไปอ่อนกับมัน ไปย่อหย่อนกับมัน เดี๋ยวก็กระดุกกระดิกเหมือนกับลิง เดี๋ยวก็นั่งตัวตรงบ้าง เดี๋ยวก็หมอบลงบ้างอย่างนี้แหละ ใจของเรายังเป็นลิง เราก็เน้นเรื่องทางกาย นั่งตัวตรงๆ เอาตัวตรงๆ ไว้ เพราะเรามันติดสุขติดสบาย ติดตัวตน นั่นคือผลกรรมมันเป็นอย่างนี้แหละ สมัยก่อนสามเณรบัณฑิตอายุตั้งแต่ ๗ ขวบมาบวชมาปฏิบัติ
บัณฑิตสามเณร เป็นบุตรชายของตระกูลอุปัฏฐากพระสารีบุตรเถระ อัครสาวก พอเกิดมาเด็กในบ้านที่โง่เซอะกลายเป็นคนฉลาด มีปฏิภาณโต้ตอบฉับไวน่าอัศจรรย์ พ่อแม่จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดี ตั้งชื่อลูกชายว่า บัณฑิต
พ่อแม่ตั้งใจว่า จะไม่ขัดใจลูก ถ้าลูกต้องการอะไรอย่างไร จะพยายามทำตามทุกอย่างตามประสาคนรักลูกมาก บังเอิญว่าเด็กชายบัณฑิตเป็นบัณฑิตสมชื่อ โตมาได้ ๗ ขวบ ก็คิดอยากบวชเป็นลูกศิษย์พระสารีบุตร พ่อแม่จึงพาไปมอบให้พระเถระบวชเณร บวชลูกชายแล้ว ก็อยู่ในวัดนั้นเอง เลี้ยงพระสงฆ์ ๗ วัน วันที่ ๘ จึงกลับมาบ้าน รอสามเณรน้อยไปบิณฑบาตที่บ้าน
วันนั้น พระสารีบุตรพาบัณฑิตสามเณรไปยังเรือนของพ่อแม่สามเณรสายกว่าปกติ ระหว่างทางจากวัดไปยังหมู่บ้าน ผ่านทุ่งนา สามเณรน้อยเห็นชาวนาไขน้ำเข้านา ผ่านไปอีกหน่อยเห็นช่างศรกำลังดัดลูกศร ผ่านไปอีกหน่อยเห็นช่างไม้ถากไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ จึงถามไถ่ตามประสาเด็กอยากรู้อยากเห็น พระเถระก็อธิบายให้ฟัง ขณะฟังคำอธิบายของพระเถระ สามเณรน้อยก็ “ฉุกคิด” ขึ้นในใจว่า น้ำไม่มีจิตใจ คนยังบังคับให้มันไหลไปโน่นไปนี่สนองความต้องการของคนได้ ลูกศรก็ไม่มีจิตใจ คนก็ดัดให้ตรงได้ตามต้องการ ไม้ไม่มีจิตใจ ช่างไม้ก็ถากไม้ให้มันเกลี้ยง และให้เป็นรูปร่างต่างๆ ตามชอบใจ ไฉนเราซึ่งมีจิตใจจะฝึกฝนตนให้ได้สิ่งที่ต้องการไม่ได้เล่า คิดดังนั้นจึงกล่าวกับอุปัชฌาย์ว่า ท่านขอรับ ถ้าท่านจะกรุณาให้ผมกลับวัดไปบำเพ็ญภาวนาก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
พระเถระบอกกับสามเณรว่า ตามใจ แล้วก็รับบาตรจากสามเณรเดินไปหมู่บ้านรูปเดียว ศิษย์น้อยสั่งว่า กรุณานำอาหารมาเผื่อด้วย ได้ปลาตะเพียนก็ดี (แน่ะ สั่งเอาตามใจชอบด้วย) พระเถระถามว่า จะได้มาจากไหน สามเณรน้อยบอกว่า ถ้าไม่ได้ด้วยบุญของท่าน ก็ด้วยบุญของผม แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
สามเณรกลับไปวัด เข้ากุฏิปิดประตูนั่งกรรมฐานท่ามกลางความเงียบสงัด เพราะพระเณรออกไปภิกษาจารกันหมด จิตของเธอจึงเป็นสมาธิแน่วแน่ ฝ่ายพระสารีบุตรเป็นห่วงจะเลยเวลาเพลเพราะจวนจะเที่ยงแล้ว ได้อาหาร (มีปลาตะเพียนด้วยแน่ะครับ ว่ากันว่าเพราะบุญสามเณร) จึงรีบกลับวัด
พระพุทธเจ้าเสด็จไปดักหน้าพระสารีบุตรที่ประตูพระเชตวันมหาวิหารเพราะทรงทราบว่าสามเณรกำลังจะบรรลุอรหัตผล ถ้าพระสารีบุตรเข้าไปในเวลาดังกล่าวจะ “ขัดจังหวะ”
พระพุทธองค์จึงตรัสถามปริศนา ๔ ข้อให้พระสารีบุตรตอบ พระเถระก็ตอบได้ถูกต้อง ความประสงค์ของพระพุทธองค์ก็เพียงหน่วงเหนี่ยวพระเถระมิให้ไปรบกวนสมาธิสามเณรเท่านั้น มิใช่เพื่อทดสอบปัญญาพระอัครสาวก หรือเล่น “เกมทายปัญหา” แต่ประการใด พระศาสดาตรัสกะพระสารีบุตรว่า "สารีบุตร เธอได้อะไรมา? อาหาร พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. ชื่อว่าอาหาร ย่อมนำอะไรมา? สารีบุตร. เวทนา พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. เวทนา ย่อมนำอะไรมา? สารีบุตร. รูป พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. ก็รูป ย่อมนำอะไรมา? สารีบุตร. ผัสสะ พระเจ้าข้า.
คำอธิบายในปัญหาในปัญหานั้น มีอธิบายดังนี้ :-
จริงอยู่ อาหารอันคนหิวบริโภคแล้ว กำจัดความหิวของเขาแล้ว นำสุขเวทนามาให้, เมื่อสุขเวทนาเกิดขึ้นแก่ผู้มีความสุข เพราะการบริโภคอาหาร วรรณสมบัติย่อมมีในสรีระ, เวทนาชื่อว่าย่อมนำรูปมาด้วยอาการอย่างนี้, ก็ผู้มีสุขเกิดสุขโสมนัส ด้วยอำนาจรูปที่เกิดจากอาหาร นอนอยู่ก็ตาม นั่งอยู่ก็ตาม ด้วยคิดว่า "บัดนี้ อัสสาทะเกิดแก่เราแล้ว" ย่อมได้สุขสัมผัส เมื่อพระสารีบุตรวิสัชนาปัญหา ๔ ข้อจบลง ก็พอดีสามเณรได้บรรลุพระอรหัตพร้อมปฏิสัมภิทา พระพุทธองค์ตรัสตอบพระสารีบุตรว่า ไปเถิดสารีบุตร สามเณรคงหิวแล้ว
ว่ากันว่า วันนั้นพระเถระเข้าบ้านสายกว่าปกติ กว่าจะฉันเสร็จ กว่าจะนำอาหารกลับมาให้สามเณรน้อยก็ผ่านไปหลายชั่วโมง คือตกบ่ายแล้ว
แต่คัมภีร์ได้เขียนไว้ว่าเดือดร้อนถึงท้าวสักกเทวราช (ท้าวอมรินทร์เทวราช) ต้องสั่งให้สุริยเทพบุตรฉุดรั้ง “สุริยมณฑล” ให้นิ่งอยู่กับที่อย่าให้เลยเที่ยงไป จนกว่าสามเณรจะฉันเสร็จ ว่าอย่างนั้น พอสามเณรฉันเสร็จ ล้างบาตร เช็ดบาตรเท่านั้น พระอาทิตย์ซึ่งนิ่งอยู่กับที่ก็ติด “เทอร์โบ” โคจรปรู๊ดปร๊าดตกบ่ายทันที คงประมาณบ่ายสองบ่ายสามกระมัง ไม่อย่างนั้นเหล่าภิกษุคงไม่เกิดฉงนฉงาย ถึงกับพูดว่า วันนี้แปลก ทำไมบ่ายเร็วนัก สามเณรเพิ่งจะฉันเสร็จเมื่อกี้นี้เอง
พระพุทธองค์ทรงทราบว่าพระทั้งหลายเกิดฉงนฉงายใจ จึงตรัสว่า เวลาผู้มีบุญทำสมณธรรม จันทเทพบุตรฉุดมณฑลพระจันทร์รั้งไว้ สุริยเทพบุตรฉุดมณฑลพระอาทิตย์รั้งไว้ อย่างนี้แหละ แล้วทรงยกสามเณรบัณฑิตเป็นตัวอย่างของคนที่มองเห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวแล้วเกิดแง่คิดในการปฏิบัติจนได้บรรลุพระอรหัตผล โดยตรัสพระคาถาว่า “อุทกญฺหิ นยนฺติ เนตฺติกา อุสุการา นมยนฺติ เตชนํ ทารุํ นมยนฺติ ตจฺฉกา อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา. ชาวนา ไขน้ำเข้านา ช่างศร ดัดลูกศร ช่างไม้ ถากไม้ บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมฝึกตน”
เรื่องราวของสามเณรบัณฑิตมหัศจรรย์กว่านี้มาก แต่ตัดส่วนที่เป็นอิทธิปาฏิหาริย์ออกบ้าง ถ้าเราไม่มองแค่ชาตินี้ชาติเดียว เราจะเห็นว่าความสำเร็จอะไรอย่างง่ายดายและความมหัศจรรย์บางอย่างเกี่ยวกับสามเณรบัณฑิต เป็นผลเนื่องมาจาก “บุญเก่า” ที่ทำไว้แต่ชาติปางก่อนทั้งนั้น เรื่องนี้มองเห็นได้ในปัจจุบัน บางคนตั้งแต่เกิด ไม่ได้ทำบุญกุศลอะไรเห็นๆ กันอยู่ แต่ชีวิตสะดวกสบาย เกิดมาในกองเงินกองทองต้องการอะไรก็ได้ ถามว่า เขาทำเอาในชาตินี้หรือ เปล่าทั้งนั้น คนนิสัยอย่างนี้ พื้นเพจิตใจอย่างนี้ถ้าให้เริ่มจาก “ศูนย์” เหมือนคนอื่น รับรองไม่พ้นกระยาจกธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้นเอง ที่เขามีอยู่เป็นอยู่ เชิดหน้าเหยียดหยามคนอื่นอยู่นั้น เพราะผลบุญเก่าทั้งนั้น
คัมภีร์กล่าวว่า สามเณรบัณฑิตนั้น ในอดีตชาติอันยาวนานโพ้นเกิดเป็นชายทุคคตะ (คนยากจน) คนหนึ่ง เห็นเขาพากันนิมนต์พระคนละสิบรูป ยี่สิบรูปไปฉันที่บ้าน ก็อยากทำบุญกะเขาบ้าง จึงชวนภรรยาไปรับจ้างเขาเพื่อเอาข้าวน้ำมาถวายพระ ไป “จองพระ” ไว้รูปหนึ่ง หลังจากได้ค่าจ้างแล้วก็พากันตระเตรียมอาหารถวายพระ นายทุคตะไปถามผู้จัดการในการทำบุญว่าจองพระรูปไหนให้ตน ตนจะไปนิมนต์ไปฉันที่บ้าน ผู้จัดการบอกว่าลืมจดบัญชีไว้ ขอโทษขอโพยนายทุคตะเป็นการใหญ่ นายทุคตะแทบล้มทั้งยืนครวญกับผู้จัดการว่า นายเป็นคนชวนผมทำบุญ ผมก็ไปรับจ้างหาเงินมาตระเตรียมอาหารถวายพระตามคำชวนของนายแล้ว นายไม่มีพระให้ผม จะให้ผมทำอย่างไร
ผู้จัดการหาทางออกให้เขาว่า พระพุทธเจ้ายังไม่มีใครนิมนต์ ธรรมดาพระพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาต่อคนยากไร้อยู่แล้ว แกรีบไปนิมนต์พระองค์เถอะ นายทุคตะได้ยินดังนั้นก็รีบไปกราบแทบพระบาทกราบทูลอาราธนาพระองค์เสด็จไปรับภัตตาหารที่บ้านตน พระองค์ทรงรับ ทรงประทานบาตรให้นายทุคคตะอุ้มนำหน้า อัญเชิญเสด็จไปยังเรือนของตน
เรื่องเล่าถึงพระอินทร์ปลอมเป็นพ่อครัวหัวป่า ฝีมือเยี่ยมมาช่วยนายทุคตะทำกับข้าวจานเด็ดให้โดยไม่คิดค่าบริการแต่อย่างใด ถ้าไม่พูดถึงอิทธิฤทธิ์ใดๆ ก็คงจะเป็นเพื่อนบ้านสักคนมาช่วยทำอาหารให้นั่นเอง
หลังจากพระพุทธองค์เสวยเสร็จ เสด็จกลับพระอาราม ก็เกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์คือ เรือนน้อยๆ ของนายทุคตะเต็มเปี่ยมไปด้วยรัตนะทั้ง ๗ ประการ เป็นที่ฮือฮามาก คนเข้าใจกันว่าเป็นเพราะผลแห่งทานที่ถวายแด่พระพุทธเจ้า
พระราชาแห่งเมืองนั้นทรงทราบเรื่อง เสด็จมาทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง รับสั่งให้ขนรัตนะเหล่านั้นออกมากองยังลานบ้าน ตรัสถามว่าทรัพย์สมบัติมากมายปานนี้ มีใครมีบ้างในเมืองนี้ เมื่อไม่มีใครมีมากเท่านายทุคตะ จึงทรงสถาปนาเขาในตำแหน่งเศรษฐี มีศักดิ์เป็นศรีของเมืองต่อไป
เขาจึงได้นามว่า ทุคตเศรษฐี แต่บัดนั้น เขาสำนึกเสมอว่าสมบัติเหล่านี้ได้มาเพราะการทำบุญทำทาน เขาจึงไม่ประมาทในการทำบุญทำทานจนสิ้นชีวิต ตายจากชาตินั้นแล้วมาเกิดเป็นบุตรของตระกูลอุปัฏฐากพระสารีบุตรในบัดนี้ ได้รับขนานนามว่า บัณฑิต เพราะพอเกิดมา คนโง่ๆ ที่พูดไม่รู้เรื่องในบ้าน กลายเป็นคนฉลาดมีไอคิวสูงโดยอัตโนมัติ สามเณรบัณฑิตมี “บุญเก่า” ที่สั่งสมไว้มาก จึงอำนวยให้เธอประสบความสำเร็จในชีวิตแต่อายุยังน้อย โดยเฉพาะสำเร็จเป็นสามเณรอรหันต์แต่อายุเพียง ๗ ขวบ เรื่องผลบุญผลบาปเป็นอจินไตย
วัดนี้เป็นวัดประพฤติวัดปฏิบัติ ทุกคนก็มามุ่งมรรคผลพระนิพพาน ทุกคนก็พากันทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ เพราะเวลามันสำคัญ ผู้ที่มาบวชอย่าให้ท่านทั้งหลายเหล่านี้ยุ่งยากลำบาก ให้เราทุกคนพากันจัดการตัวเอง จัดการปฏิบัติตัวเอง ให้พากันปฏิบัติกายของเราให้เหมือนกับพระอรหันต์ ให้วาจาของเราเหมือนกับพระอรหันต์ ให้จิตใจของเราเหมือนกับพระอรหันต์อย่างนี้ สมัยก่อนสามเณรบัณฑิต ๗ ขวบก็บรรลุเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน อย่าพากันมาสำออยอยู่ในวัดนี้ ต้องจัดการความย่อหย่อนอ่อนแอ ความย่อหย่อนอ่อนแอความสำออยที่มันอยู่ในตัวเรา เพราะมันเป็นเรื่องติตเรื่องใจ เพราะมันเป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตน ให้เข้าใจ เราไม่ต้องมาโอ๋อยู่ในวัดอยู่ในพระศาสนา ความสำออยอย่าให้มันแสดงออกมาให้มันมี
เราต้องพากันมาฝึกมาปฏิบัติ เห็นคุณเห็นประโยชน์ในการฝึกในการปฏิบัติ คนเรามันต้องฝึกตั้งแต่เล็กๆ ผู้ที่เป็นพ่อ เป็นแม่ ที่ยังไม่รู้ทุกข์ เมื่อรู้เหตุเกิดทุกข์ เมื่อรู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ จึงได้มีความผิดพลาดในการสอนลูกสอนหลาน อย่างเราไปอยู่กับพระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์ หรือว่าไปอยู่กับท่านหลวงปู่มั่น หลวงปู่ชา หลวงตามหาบัว ท่านเจ้าคุณพุทธทาส อย่างนี้เป็นต้น ท่านพวกนี้ท่านจะไม่โอ๋พวกเรานะ เพราะท่านมีเมตตาบริสุทธิคุณ กรุณาบริสุทธิคุณ ปัญญาบริสุทธิคุณ ท่านเก่ง ท่านฉลาด ท่านเป็นผู้ฝึกเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เราพากันมาบวชมาปฏิบัติ ทุกคนต้องยกเลิกตัวยกเลิกตน เราต้องมีความสุขในการยกเลิกตัวยกเลิกตน เราต้องมีความสุขในการปรับตัวเข้าหาธรรมะ ปรับตัวเข้าหาเวลา เราจะเอาตัวเอาตนนี้เป็นที่ตั้งนี้มันไม่ได้นะ อย่างเราไปอยู่กับครูบาอาจารย์ ที่ท่านเอามรรคผลพระนิพพาน ท่านจะไม่มีการพูดคุยเรื่องทางบ้าน เรื่องทางครอบครัวของเรา ท่านจะไม่พากันลงลึกลงรายละเอียด ท่านเพียงแต่รู้ว่า เด็กที่มาบวชมาจากไหน เป็นลูกใคร แล้วก็พูดให้พวกที่มาบวช มาปฏฏิบัติ ให้พากันเข้าใจ แล้วพากันประพฤติพากันปฏิบัติ ถ้าวัดใหญ่ๆ พระเณร 40-50-60 รูป ไม่มีความสนิทชิดเชื้อกันเลย เพียงแต่มองเห็นกัน เวลาจะเดินเข้าออกกลับกุฏิ ก็เดินห่างกัน ตั้ง 10 เมตร 20 เมตร ไม่ให้เดินติดกันเป็นคู่ๆ เพื่อที่จะให้ทุกคนมีสติสัมปชัญญะ ถ้าอยู่ใกล้กันแล้วมันจะพูดคุยกัน เวลานั่งสมาธิ ที่ทำวัตรสวดมนต์ ก็ต้องนั่งให้ห่างกัน เวลาเดินตัดหน้าตัดหลังก็จะได้สะดวกสบาย ไม่นั่งติดกันเกิน การพูดจาก็มีสัมมาวาจา พูดครับ พูดผม พูดท่าน ไม่เรียกชื่อเฉยๆ เพื่อให้เกียรติซึ่งกันและกัน พูดกันเหมือนผู้ที่ยิ่งใหญ่ใหญ่ยิ่ง มีความเกรงใจกัน พวกพรรษาห่างกัน 1 พรรษา 2 พรรษา ต้องประนมมือพูด เวลานั่งเก้าอี้ยาว พรรษาห่างกัน 1 พรรษา ก็ต้องไม่ไปนั่งเก้าอี้เสมอกัน นอกจากที่นั่งมันไม่สะดวก มันจะทำให้เปื้อนผ้า เวลาครูบาอาจารย์เดินผ่าน ต้องนั่งลงประนมมือ หรือโค้งตัวลงนิดหน่อย เพื่อปฏิบัติในทางสมมติ เพื่อให้เกิดประโยชน์ ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นการทำตัวเสมอท่าน เป็นการยกตัวข่มท่าน
ทุกท่านทุกคนต้องยกเลิกตัวยกเลิกตน ป้ายวัดหนองป่าพง สมัยก่อนๆ จะติดอยู่หน้าวัด หายพยศ ลดมานะ ละทิฏฐิ เรื่องพระธรรมพระวินัย ต้องเริ่มจากกาย ใจยังไม่ได้ ก็ให้ฝึกกายไว้ก่อน ใจยังไม่ได้ ก็ให้ฝึกกิริยามารยาทไว้ก่อน ถ้ามีตัวมีตน มันเป็นความไม่สงบ มันเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ทุกๆ คนพากันเข้าใจ เราต้องฝึกตัวเอง ไม่ใช่ฝึกคนอื่นหรอก เราจะทำอะไรก็ให้ฝึกฝนที่ตนเอง พระพุทธศาสนาเขาถึงให้ยกเลิกตัวยกเลิกตน คำว่า นะโม ตัสสะ หมายถึง ยกเลิกตัว ยกเลิกตน เพื่อน้อมเข้าหาธรรมะ เอาธรรมะเป็นการดำเนินชีวิต เพื่อยกเลิกตัวยกเลิกตน เรามันมีตัวมีตนมันก็ขี้เกียจขี้คร้าน เราทุกคนถึงปรับตัวเข้าหาเวลา เข้าหาธรรมะ ต้องไปก่อนเวลา อย่าไปเสมอเวลาไม่ดี ต้องไปก่อนเวลา ทุกคนต้องกระตือรือร้น ทุกคนต้องขวนขวาย เราทุกคนต้องมีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ เมื่อเรารู้ว่าจะต้องประพฤติจะต้องปฏิบัติอย่างนี้ ทุกคนต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ทุกคนต้องมีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ คนเราถ้ามีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ เราทุกคนก็จะไม่มีความทุกข์ เรามีตัวมีตนจะไม่มีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ
ถ้าเรามีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ GDP ความสุขของเรา มันก็จะสูงขึ้น เราดูตัวอย่างแบบอย่าง พวกเทวดา พรหม มีความสุข หนึ่งวันของเขามันผ่านไปเร็ว มนุษย์เราตั้ง ๑๐๐ ปี สำหรับสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นต้น เพราะมนุษย์เราไม่มีความสุข ไม่มีความสุขในการเสียสละ ไม่มีความสุขในการทำงาน มนุษย์เราถึงมีความทุกข์มากกว่า ทำงานก็ต้องมีความสุข เรียนหนังสือก็ต้องมีความสุข ทำข้อวัตรกิจวัตรก็ต้องมีความสุขอย่างนี้ เราต้องพากันเข้าใจ เข้าใจแล้วเราจะได้พากันมีความสุขในการฝึกตัวเองปฏิบัติตัวเอง เราอย่าตามความหลง ตามความฟุ้งซ่านไปเรื่อย คนเราต้องพากันรู้จัก เราเป็นเด็กก็คิดว่าเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วจะมีความสุข คนเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วคิดว่าถ้ามีสามีภรรยาถึงจะมีความสุข คนที่มีสามีภรรยาแล้วคิดว่ามีเงินถึงจะมีความสุข ตามความหลงไปเรื่อย คนแก่คิดไปเรื่อยไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย ถึงจะมีความสุข โอ้ย...มันหลงหลาย เราไม่รู้ตัวเองเลย หน้าที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ในปัจจุบันไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ นั่นเพราะเรายังไม่เข้าถึงธรรมะเลย เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ให้เราเข้าใจพระพุทธเจ้าท่านดีมาก ท่านมีปัญญามาก ท่านสอนเราให้เข้าถึงมนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ พรหมสมบัติ จนถึงเป็นพระอริยเจ้าตั้งแต่ยังไม่ตาย ให้ผู้ที่จะมาบวชมาปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดพากันเข้าใจ ให้รู้จักอริยสัจ ๔ จะได้เข้าใจเนื้อหาสาระในการประพฤติในการปฏิบัติ หนังสือเล่มนึง ถึงจะมองยากอ่านยาก หากอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราค่อยทำความเข้าใจไปตามตัวอักษร เขาเรียกว่ารู้เหตุ รู้หลักผล รู้อริยสัจ ๔ ถ้าไม่เข้าใจไม่ได้ เราต้องพากันเข้าใจ เราได้ยิน ได้ฟังมาใช่ไหม เรียนหนังสือท่องจำ มันเหมือนกับวิ่งตามเงา วิ่งตามเท่าไรก็ไม่ทัน เพราะเงามันวิ่งนำหน้า มันไม่ใช่พุทธะ ให้เข้าใจมันเป็นความหลง ชีวิตของเรามันต้องพัฒนาทั้งใจพัฒนาทั้งวัตถุ มันจะไม่ได้เป็นสุดโต่ง อัตตกิลมถานุโยโค กามสุขัลลิกานุโยโค เราจะได้ยกเลิกความหลง ถ้าเราไม่รู้เหตุ ไม่รู้ปัจจัยอย่างนี้แหละ ชีวิตของเราก็จะสุดโต่ง เมื่อเรามาบวชมาปฏิบัติ ทุกคนพากันประพฤติพากันปฏิบัติเต็มที่ให้ติดต่อๆ เนื่อง เมื่อเราสิกขาลาเพศ จากนักบวชจะได้นำไปใช้เป็นประโยชน์ในโรงเรียน ในที่บ้าน ในที่ทำงาน เราจะได้มีหลักการในการทั้งความ ทั้งความเข้าใจ ทั้งภาคปฏิบัติ
เราไปอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่เรานิแหละ กายกับใจไปด้วยกันตลอด ปัญหาต่างๆ ที่มนุษย์สร้างวัตถุอำนวยความสะดวกความสบายมีความเห็นผิดเข้าใจผิด สิ่งเหล่านั้นมันจะเป็นกับดักเรา เป็นการขุดหลุมฝังพวกเราเอง พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า ให้พวกเราพากันมีสติมีสมาธิมีปัญญา ให้รู้จัก ถ้าไม่รู้จักก็จะเหมือนคนสมัยปัจจุบัน เด็กตัวน้อยๆยั งไม่ถึง ๓ ขวบก็ติดโทรศัพท์มือถือ นักเรียนนักศึกษาคนหนุ่มคนสาวจนกระทั่งคนแก่อากงอาม่า เรามองดูแล้วเป็นอย่างนี้กันทั้งโลก เพราะว่าพากันพัฒนาแต่เทคโนโลยี ไม่พัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน พระภิกษุสามเณรไปจนถึงพระมหาเถระพากันติดโทรศัพท์มือถือ วัดของเรานี้ถึงมิให้ภิกษุสามเณรมีโทรศัพท์มือถือ เพื่อจะให้ยกเลิกความรู้สึกนึกคิด ยกเลิกสิ่งเหล่านั้น พระพุทธเจ้าบอกว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งภายนอกทำให้เราฟุ้งซ่าน เมื่อเราไม่ยกเลิกอย่างนี้แหละ ก็ชื่อว่า กายของเรายังไม่วิเวก มันจะวิเวกได้ยังไง เพราะเราหลงในกาม เราหมกมุ่นในกามที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือ อยู่ในอินเตอร์เนต เฟสบุ๊ก อยู่ในคอมพิวเตอร์อย่างนี้ เปรียบเหมือนพวกข้าวพวกปลาพวกอาหาร มันดีนะ แต่มันต้องทานเป็นเวลา ไม่ใช่ทานทั้งวันกินทั้งวัน เหมือนไก่ฟาร์ม หมูฟาร์ม หลงไปเรื่อย กินไม่รู้จักหยุด เจ้าของมาลูบหน้าอกไก่ฟาร์ม ไก่ก็นึกว่าเขาดูแลดี ดูแลให้ความอบอุ่นน่ะ ที่แท้จริงเขาเข้ามาชั่งน้ำหนักดูว่าได้กี่ขีดแล้ว ได้น้ำหนักรึยัง มันยิ้มแย้มแจ่มใส เราบริโภคความหลงอย่างนี้ไปเรื่อยไม่ได้ เราตามอวิชชาตามความหลงก็หลงเหมือนไก่ฟาร์มหมูฟาร์ม ความหลงมันจะเชือดเรา ทำลายเรา ท่านพุทธทาสภิกขุท่านฝึกตัวเอง เพราะท่านรู้ท่านเข้าใจ ท่านรู้พระพุทธเจ้า รู้พระธรรม รู้พระอริยสงฆ์ ท่านไม่ได้ไปหาครูบาอาจารย์ที่ไหนหรอก ท่านไปหาความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง คนเราต้องรู้จักพากันเข้าใจ พากันปฏิบัติตัวเอง ขวนขวายตัวเอง
อย่างโรงเรียนดีๆ ครูดีๆ ก็หายาก ถ้ามี ค่าเทอมมันก็แพง วัดดีๆ ครูบาอาจารย์ดีๆ มันก็หายาก ให้ทุกคนพากันเข้าใจ ว่าเมื่อเรามาถึงสถานที่สัปปายะ อาหารสัปปายะ ธรรมะก็สัปปายะแล้ว ต้องพากันเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะว่าพ่อแม่อยากจะเห็นลูกเห็นหลานมีความสุข เราก็ต้องมาต่อยอดพ่อแม่ ต่อยอดครูบาอาจารย์ด้วยภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เอาตัวตนเป็นที่ตั้งมันต่อยอดไม่ได้ มีแต่มาทำลายยอด มาตัดต้น ตัดราก ตัดโคน ทำลายความถูกต้อง ตัวตนมันทำลายความถูกต้อง ช่างหัวมัน ความเหนื่อยความยากความลำบาก ช่างหัวมัน
ที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญเรื่องขันติ มันจะทำให้บุคคลนั้นมีความสุขที่สุดในโลก ความเป็นมนุษย์จะเกิดได้ก็เพราะขันติ ขันติ หมายถึง ความอดทนอดกลั้น ได้แก่ อดทนต่อราคะ โทสะ โมหะที่เกิดขึ้น อดทนต่อคำล่วงเกินด่าว่าของผู้อื่น อดทนต่อความลำบากตรากตรำและความหนาวร้อน อดทนต่อทุกขเวทนาอันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น ย่อมส่งผลให้หน้าตา กิริยา ท่าทาง และคำพูดงดงาม น่าเคารพนับถือ
ถ้าเราไม่มีขันติ ศีล สมาธิ ปัญญา จะเกิดขึ้นได้ยังไง ธรรมะที่ทำให้เกิดความงามคือขันติ มันถึงจะมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง มันไม่รู้จักอริยสัจ ๔ การปฏิบัติของเราต้องมีฐาน คือ ศีล มีหน้าที่การงาน เรียกว่า กรรมฐาน มันจะเป็นกระบวนการปฏิจจสมุปบาท เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงมี
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee