แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระธรรมตอนที่ ๒๙ ในหมู่มนุษย์นั้นผู้ที่ฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด จนกระทั่งแม้แต่เทวดาและพรหมก็น้อมนมัสการ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ช่วงเวลาของปีพุทธศักราช ๒๕๖๗ นี้ ก็ย่างเข้าสู่ช่วงหน้าแล้ง ปลายเดือนมีนาคม นักเรียนนิสิตนักศึกษาได้พากันมาถือศีลปฏิบัติธรรม มาบวชบรรพชาเป็นภิกษุสามเณร เพราะการเป็นนักเรียนนักศึกษานั้น เป็นการศึกษาหาความรู้ที่เป็นความเข้าใจที่เป็นความฉลาดเป็นปัญญาสัมมาทิฏฐิ เพื่อจะได้ประกอบสัมมาอาชีวะ การประพฤติการปฏิบัติของเราต้องทั้งสองอย่าง คือพัฒนาใจพัฒนาวัตถุและพร้อมๆกันเป็นทางสายกลาง ให้ทุกคนพากันเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วจะได้พากันปฏิบัติให้ถูกต้อง ผู้ที่อยู่ที่ไหนทำอะไรก็ต้องให้มีความเห็นถูกต้องให้เข้าใจความหมายโครงสร้างชีวิตที่ถูกต้อง จะได้เข้าถึงความเป็นมนุษย์ มนุษย์ต้องเอาธรรมเป็นหลักเราธรรมเอาทำเป็นการดำเนินชีวิต ต้องพัฒนาเทคโนโลยีทางวัตถุไปพร้อมๆ กัน ต่างจากพวกสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายที่เอาแต่บริโภคพักผ่อนตามอัธยาศัย มนุษย์เราต้องพัฒนาไปไกลกว่านั้น เพราะเป็นมนุษย์เป็นได้เพราะไปสูง เหมือนนกยูงมีดีที่แววขน หากใจต่ำก็เป็นได้แต่เพียงคน ไม่สมกับที่ตนได้เกิดมา…
โลกนี้ถึงมีโครงสร้าง ใครอยู่ที่ไหนที่เป็นประเทศนั้นเป็นชาติอื่น ซึ่งเป็นชาติภายนอกทางวัตถุ แต่ชาติทางจิตใจคือธรรมะคือความเป็นมนุษย์ที่มีความผิดถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง คือผู้ที่รู้อริยสัจ ๔ นี่แหละ จึงได้มีโครงสร้างเพื่อให้เป็นสมมติในการติดต่อสื่อสาร ส่งรูปก็หมายถึงวัตถุหมายถึงรูปธรรม ทางจิตใจที่นอกเหนือจากสมมติก็คือสภาวะธรรมที่เป็นความจริงตามกันตามผลของกรรม ตามเหตุตามปัจจัย เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงมี เราต้องพัฒนาอย่างนี้แหละถึงจะได้มีข้าราชการมีนักการเมืองมีทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความถูกต้อง จึงต้องพากันเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้ว จะได้พากันคิดให้ถูกต้องพูดให้ถูกต้อง กิริยามารยาทให้ถูกต้องให้ถูกต้อง ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่เหตุขึ้นอยู่ที่ปัจจัย ทุกคนต้องพากันแก้ไขที่ตนเองหมด เพื่อจะได้ทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ เพราะทำอย่างนี้มันดับทุกข์ได้ทุกคนทุกประเทศทุกหนแห่งทุกสถานที่ เพราะเราได้พัฒนา ๒ อย่างคือพัฒนาใจพัฒนาวัตถุ
ท่านผู้ว่าการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย รองผู้ว่าการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย ผู้บริหารระดับสูงได้มองเห็นความสำคัญ มองเห็นคุณเห็นประโยชน์ จึงมีนโยบายให้เจ้าหน้าที่พนักงานการไฟฟ้า พากันมีสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ที่ต้องทำอย่างนี้อย่างนี้ เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไร ที่เราเกิดมาเพียงแค่มาบริโภคมาพักผ่อนโดยไม่ได้พัฒนาจิตใจ มันก็ได้แต่ทางวัตถุได้แต่อวิชชาความหลง มันต้องรู้จักว่าอันไหนดีไม่ดี อันไหนถูกต้องอันไหนไม่ถูกต้อง อันไหนเป็นอบายมุขทางแห่งความเสื่อม อันไหนเป็นทางแห่งความเจริญ เราต้องพากันมีสัมมาทิฏฐิ เราจะได้มีความสุข ครอบครัวเราจะได้อบอุ่น ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ
ทุกคนต้องพากันเข้าใจ ผู้ที่มาบวชมาปฏิบัติก็พากันเข้าใจ เพราะจะได้รู้ว่าเราบวชมาทำไม เราเกิดมาทำไม พวกเด็กๆ ก็ต้องพากันฝึก เพราะเรามีโอกาสพิเศษ ไม่มีโอกาสไหนที่จะดีกว่านี้ เราต้อง Control ตัวเองด้วยสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง Control ตัวเองด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยลมหายใจเข้าออก ไม่ใช่ปล่อยให้กระดุกกระดิกเหมือนกับลิง ลิงที่ไม่ได้ฝึก ลิงก็ยังฝึกได้ที่เอามาเล่นละครลิงเล่นละครสัตว์ พวกช้างในป่าหมูหมากาไก่ก็ยังฝึกได้หมด ถ้าไม่เห็นตัวอย่างแบบอย่าง เหมือนกับนกแขกเต้า ๒ ตัว ที่แตกต่างกัน ตัวหนึ่งไปอยู่กับฤาษีตัวหนึ่งไปอยู่กับโจร มันก็ไปตามสิ่งแวดล้อมที่พาไป
ในทางพระพุทธศาสนาถือการคบหานี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ท่านเล่าเป็นนิทานชาดกก็มี อย่างเรื่องลูกนกแขกเต้า ที่ท่านเล่าว่า ลูกนกแขกเต้า ๒ ตัว ตอนแรกก็อยู่ในรังเดียวกัน พอดีวันหนึ่งมีพายุใหญ่มา พัดเอารังกระจัดกระจาย ลูกนกแขกเต้า ๒ ตัว ก็พลัดกันไป ตัวหนึ่งไปตกที่อาศรมพระฤษี อีกตัวหนึ่งไปตกที่ซ่องโจร นก ๒ ตัวนี้ก็เจริญเติบโตมาในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน
ตัวที่ไปอยู่ในอาศรมของพระฤษี พระฤษีก็เลี้ยงไว้ ก็ได้อยู่ในบรรยากาศของสิ่งแวดล้อมที่ดีงาม ได้เห็นสิ่งที่ดีงาม ได้ฟังสิ่งที่ดีงาม พระฤษีท่านเกี่ยวข้องติดต่อกับใคร ใครมาหาท่าน ท่านก็ต้อนรับตามแบบของผู้ที่มีคุณธรรม มีการปฏิสันถารต้อนรับด้วยความอ่อนหวานสุภาพ นกแขกเต้าก็จำเอาคำที่ท่านกล่าวไว้ เวลาใครมาหา ก็ต้อนรับทักทายด้วยคำที่สุภาพอ่อนหวาน
ตรงกันข้าม นกแขกเต้าที่ไปตกในซ่องโจร ก็ได้ยินถ้อยคำของโจรที่พูดแต่คำหยาบคาย พูดแสดงความโหดเหี้ยมดุร้าย ใครเข้ามาในเขต ก็จะทำร้าย ก็จำติดไว้ และพูดตามไปอย่างนั้น
วันหนึ่งพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งหลงทางมา ตอนแรกก็มาถึงที่ซ่องโจรก่อน หลงเข้ามาในเขตของโจรโดยไม่รู้พระองค์ กำลังเหน็ดเหนื่อย พอประทับนั่งพักเท่านั้น นกแขกเต้าตัวที่อยู่ในซ่องโจร ขณะนั้นโจรไม่อยู่ คงจะออกไปปล้นหรือไปอะไรข้างนอก นกแขกเต้าตัวนี้ก็ต้อนรับโดยการร้องคุกคาม พูดด้วยคำหยาบคายว่า “ไอ้นี่ เป็นใคร นี่พวกเรามาๆ มาช่วยกันจับเอาไปฆ่าเสีย” อะไรทำนองนี้ เป็นคำที่น่ากลัวทั้งนั้น พระราชาทรงได้ยินอย่างนี้ ก็สะดุ้งตกพระทัย และเห็นว่าสถานที่นี้คงจะเป็นสถานที่ไม่ปลอดภัยเป็นแน่ ก็เลยเสด็จออกจากที่นั่นไป
พระราชาเสด็จต่อไป ก็ไปเข้าเขตอาศรมของพระฤษี พอเสด็จย่างเข้าเขตอาศรมพระฤษี ก็ทรงได้ยินเสียงของนกแขกเต้าตัวที่เติบโตมาในอาศรมของพระฤษีนั้นทักทายปราศรัยว่า “โอ้! ท่านผู้เจริญ เชิญเข้ามาในที่นี้เถิด ที่นี่เป็นสถานที่ร่มเย็น เชิญมาพักผ่อน ถ้าท่านต้องการอะไร ข้าพเจ้าจะเอามาต้อนรับ” อะไรต่างๆ ทำนองนี้ พระราชาทรงได้ยินแต่เสียงอ่อนหวาน ก็สบายพระทัย แล้วก็เลยเสด็จเข้าไป จนกระทั่งได้พบพระฤษี ก็ได้รับการต้อนรับปฏิสันถารเป็นอย่างดี
เรื่องนี้ท่านเล่าไว้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างของการคบหา หรือสิ่งแวดล้อม ว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เด็กเติบโตมาในสภาพแวดล้อมอย่างไร ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น การคบหาจึงเป็นฐานเบื้องต้นที่จะนำไปสู่ความเจริญหรือความเสื่อม
คนดี หรือ คนชั่ว ที่จะคบหานั้น ไม่ใช่เฉพาะเป็นคนที่พบปะพูดคุยกันเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้ยังมีคนที่พูดที่แสดงตัวออกมาให้เราคบทางหนังสือ และสิ่งตีพิมพ์ที่อ่าน วิทยุ เทปที่ฟัง ทีวี วีดิโอที่ชมที่ดู เป็นต้น อีกด้วย
การคบหาคนนั้น เป็นพื้นฐานเบื้องต้น ที่จะนำไปสู่ความเจริญหรือความเสื่อม ถ้าคบหาคนไม่ดี ก็พาให้ห่างไกลจากความเจริญงอกงาม ในทางตรงข้าม ก็จะนำไปสู่ความเสื่อม แทนที่จะได้ความดี ก็ได้ความชั่ว อย่างที่ท่านกล่าวว่า คบหาคนเช่นใด ก็เป็นคนเช่นนั้น
ดังที่ท่านเปรียบเทียบว่า เหมือนกับเอาใบไม้ไปห่อของ ถ้าเอาใบไม้ไปห่อของเหม็น ใบไม้นั้นก็พลอยมีกลิ่นเหม็นไปด้วย ถ้าเอาใบไม้นั้นไปห่อของหอมอย่างเช่นไม้กฤษณา ใบไม้นั้นก็พลอยมีกลิ่นหอมไปด้วย
ถ้าคบหาคนชั่ว ก็นำไปสู่ความชั่ว ความเสื่อมเสียหาย ถ้าคบหาคนดี ก็นำไปสู่ความดีงาม ความเจริญก้าวหน้า
ในทางธรรม การที่จะเจริญก้าวหน้าได้ ก็ต้องคบหาบุคคลที่ดีก่อน คนดีที่ควรคบหาเรียกว่า สัตบุรุษ ซึ่งท่านยกตัวอย่างไว้ ยอดของสัตบุรุษก็ได้แก่พระพุทธเจ้า รองลงมาก็ได้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย ตลอดจนกระทั่งพระสาวก ท่านผู้รู้ธรรม ผู้มีความรู้ ผู้ทรงคุณธรรม หรือผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ ถ้าผู้ใดประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ ก็เรียกว่า เป็นสัตบุรุษ (คนเก่าๆ มักเรียกว่า สัปบุรุษ) สัปปุริสธรรม ๗ ประการนั้น ว่ากันแต่โดยหัวข้อว่า รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักบุคคล รู้จักชุมชน คือคบหาคนดี คนที่มีความรู้คนที่ทรงคุณธรรม อันนี้จะเป็นพื้นฐานเบื้องต้น ที่จะให้ได้ฟังคำแนะนำสั่งสอน และได้แบบอย่างที่ดี เพราะว่าท่านที่มีความรู้ ก็สามารถให้ความรู้ เมื่อมีการให้ความรู้ ได้รับการเล่าเรียนศึกษา ก็สามารถนำไปประพฤติปฏิบัติให้สำเร็จผล
เราต้องรู้จักความคิด ความคิดมันมักจะไปตามความหลงมันเป็น Super Highway ยิ่งกว่า Super Highway ไปสู่การเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่มีที่จบสิ้น เราต้องมารู้จักอริยสัจ ๔ ไม่เอาความหลงเป็นที่ตั้ง เรามักจะมีแต่ความสุขในการคลุกคลี ไม่มีความสุขในการมีสติมีสัมปชัญญะกัน อย่างท่านพระอาจารย์ชาท่านฝึกพระที่เคร่งครัด ไม่ให้พระคลุกคลีกัน ให้เจริญสติสัมปชัญญะ เวลาเดินตามหลังกันก็ให้ห่างเป็น 10-20 เมตรอย่างนี้เป็นต้น ไม่ใช่จับคู่กันเหมือนหนุ่มสาว อย่างนี้ไม่ได้หรอก เวลานั่นก็ให้ตัวตรง อย่าไปนั่งใกล้ชิดกัน นั่งใกล้ชิดกันมันก็อยากคุยกัน มันไม่ได้เจริญสติไม่ได้เจริญสัมปชัญญะ
ผู้ที่อยู่ทางบ้านก็ต้องรู้จักอบายมุขทางแห่งความเสื่อมสู่อบายภูมิ พวกกินเหล้ากินเบียร์เจ้าชู้เล่นการพนันเที่ยวกลางคืนขี้เกียจขี้คร้านคบคนพาลเป็นมิตร มันเป็นสัญลักษณ์แห่งผู้มีความทุกข์ เพราะมันไม่รู้จักทำใจให้สงบ มันก็เอาตามแอลกอฮอล์สารเคมีสารเสพติดพวกเหล้าพวกเบียร์เข้าสู่ร่างกาย มันไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เราเป็นผู้นำตนเองเป็นผู้นำคนอื่น ก็ต้องทำให้ได้ปฏิบัติให้ได้ เพราะต้องรู้จักสิ่งที่ถูกต้องสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่งั้นก็ก้าวไปไม่ได้ เพราะว่าไม่ใช่มีเราคนเดียว มีลูกมีหลานมีพ่อมีแม่มีญาติพี่น้องบอกตระกูล เมื่อเรายังสุขภาพแข็งแรงอยู่ก็ต้องฝึก เราจะทำอะไรตามอัธยาศัยไม่ได้ ต้องรู้จักสิ่งที่ถูกต้องรู้จักพระรัตนตรัย มีความตั้งมั่น อย่าเอาเหล้าเอาเบียร์ปะทะกัน เรื่องเทคโนโลยีพวกโทรศัพท์มือถือก็ต้องยับยั้งชั่งใจ เอาไว้ใช้งานเฉพาะสิ่งที่จำเป็น พวกพระพวกเณรที่มาอยู่วัดก็ยกเลิกเพราะไม่จำเป็น เพื่อเราจะได้เจริญสติสัมปชัญญะ ความฟุ้งซ่านของคนเรามันมีอยู่แล้วอย่าไปเพิ่มเติมให้มันมาก ต้องมีสติสัมปชัญญะให้ได้ เพราะคนเรามีความเห็นแก่ตัวก็ไม่อยากทำอะไรตามเวลา ไม่เอาธรรมะเป็นหลัก เราไม่ต้องไปสนใจมัน อย่าไปโอ๋มัน อย่าไปลูบคลำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราเสียสละมันออกไป ทำความถูกต้องให้ติดต่อต่อเนื่องกัน
มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐขึ้นมาเลยก็หาไม่ แต่ประเสริฐได้ด้วยการฝึก ขอย้ำว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้ถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐเฉยๆ มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้วหาประเสริฐไม่
เราไปพูดกันว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ พูดด้วนๆ ขาดห้วนไป ต้องพูดให้เต็มว่ามนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก เมื่อฝึกแล้วประเสริฐสุด ตามบาลีว่า ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ แปลว่า ในหมู่มนุษย์นั้น ผู้ที่ฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด ประเสริฐสุดจนกระทั่งแม้แต่เทวดาและพรหมก็น้อมนมัสการ
ความดีเลิศประเสริฐของมนุษย์นั้น จึงอยู่ที่การเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาตนขึ้นไป มนุษย์จะเอาดีไม่ได้ ถ้าไม่มีการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตน เพราะฉะนั้น จึงต้องพูดให้เต็มว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก”
คำว่า “ฝึก” นี้ พูดตามคำหลักแท้ๆ คือ สิกขา หรือศึกษา ถ้าพูดอย่างสมัยใหม่ ก็ได้แก่คำว่า เรียนรู้และพัฒนา พูดรวมๆ กันไปว่า เรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา หรือเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ คือจุดเริ่มของพระพุทธศาสนา
ความจริงแห่งธรรมชาติของมนุษย์ในข้อที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ นี้ พระพุทธศาสนาถือเป็นหลักสำคัญ ซึ่งสัมพันธ์กับความเป็นพระศาสดาและการทรงทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า ดังที่ได้เน้นไว้ในพุทธคุณบทที่ว่า
“อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึก ผู้ยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวะและมนุษย์ทั้งหลาย” [ม.มู. ๑๒/๙๕/๖๗]
มีพุทธพจน์มากมาย ที่เน้นย้ำหลักการฝึกฝนพัฒนาตนของมนุษย์ และเร้าเตือน พร้อมทั้งส่งเสริมกำลังใจ ให้ทุกคนมุ่งมั่นในการฝึกศึกษาพัฒนาตนจนถึงที่สุด เช่น “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ โก หิ นาโถ ปโร สิยา อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ - ตนแลเป็นที่พึ่งของตน แท้จริงนั้น คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ มีตนที่ฝึกดีแล้วนั่นแหละ คือได้ที่พึ่งซึ่งหาได้ยาก” [ขุ.ธ. ๒๕/๒๒/๓๖]
พุทธพจน์บทนี้เป็นการให้กำลังใจแก่มนุษย์ว่า มนุษย์ที่ฝึกแล้วนั้น เลิศประเสริฐ จนกระทั่งแม้แต่เทวดาและพรหมก็น้อมนมัสการ
ต้องเข้าใจว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และมีความสามารถในการฝึกตัวเองได้จนถึงที่สุด แต่ต้องฝึกจึงจะเป็นอย่างนั้นได้ และกระตุ้นเตือนให้เกิดจิตสำนึกตระหนักในการที่จะต้องปฏิบัติตามหลักแห่งการศึกษาฝึกฝนพัฒนาตนนั้น มนุษย์มีศักยภาพสูง มีความสามารถที่จะศึกษาฝึกตนได้จนถึงขั้นเป็นพุทธะ ศักยภาพนี้เรียกว่า โพธิ ซึ่งแสดงว่าจุดเน้นอยู่ที่ปัญญา เพราะโพธินั้น แปลว่า ปัญญาตรัสรู้ คือปัญญาที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นพุทธะ
ในการศึกษาตามหลักพุทธศาสนาหรือการปฏิบัติธรรมนั้น สิ่งสำคัญที่จะต้องมีเป็นจุดเริ่มต้น คือ ความเชื่อในโพธินี้ ที่เรียกว่า โพธิศรัทธา ซึ่งถือว่าเป็นศรัทธาพื้นฐาน เมื่อมนุษย์เชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์เป็นพุทธะได้แล้ว เขาก็พร้อมที่จะศึกษาฝึกฝนพัฒนาตนต่อไป
สิกขา คือกระบวนการการศึกษา ที่ฝึกหรือพัฒนามนุษย์ ให้โพธิปรากฏขึ้น จนในที่สุดทำให้มนุษย์นั้นกลายเป็นพุทธะ พระพุทธเจ้ามาแก้ปัญหานี้ ก็เรียกว่าปฏิวัติสังคม โดยดึงให้คนหันมาดูตัวเองว่า เราจะต้องทำอะไรบ้าง จากการที่ดูว่าตัวจะต้องทำอะไรบ้าง ก็เลยต้องชี้ไปที่ธรรม คือ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี่แหละ นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ พระพุทธเจ้ามาสอนให้เราสนใจเรื่องความสามารถพิเศษที่มีอยู่ในตัวเอง ความพิเศษของมนุษย์นั้น คือการเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ คนที่ฝึกได้ ภาษาบาลีจึงเรียกว่า ทัมมะ
สัตว์ทั้งหลายอื่น โดยทั่วไปฝึกไม่ได้ สัตว์บางชนิดฝึกได้บ้างในขอบเขตจำกัด แต่ฝึกตัวเองไม่ได้ ต้องให้คนฝึก อันนี้เป็นข้อพิเศษ แม้สัตว์ที่ฝึกได้บ้าง ก็ยังต้องอาศัยคนฝึก ช้างฝึกตัวเองได้ไหม ไม่ได้ ม้าฝึกตัวเองได้ไหม ไม่ได้ ลิงฝึกตัวเองได้ไหม ไม่ได้ ต้องให้คนฝึกให้ทั้งนั้น
แต่มนุษย์ที่ฝึกแล้วประเสริฐกว่านั้น คือ สัตว์ทั้งหลายที่ฝึกไปถึงระดับหนึ่ง มันไปไม่ไหวแล้ว มันได้แค่นั้น แต่มนุษย์ฝึกตัวเองได้ และฝึกได้ไม่มีที่สิ้นสุด จนเป็นพุทธะได้ ประเสริฐเลิศที่สุด
เพราะฉะนั้น มนุษย์จะต้องหันมาดูความพิเศษของตัวเองตรงนี้ แทนที่จะไปติดอยู่กับคำว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ แล้วหลงภูมิใจตัวเองด้วยความหลง แล้วก็ติดตันอยู่แค่นั้น แล้วไม่พัฒนาจิตใจให้สะอาด สว่าง สงบ จึงต้องหันมาสนใจที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีกว่า ว่าความวิเศษและประเสริฐของมนุษย์นั้นอยู่ที่ความเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เราจะได้เห็นทางปฏิบัติเดินหน้าไป บางทีเราก็เพลินมองข้ามไปเหมือนกัน
มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกหาประเสริฐไม่ มนุษย์ที่ไม่มีการฝึกเป็นสัตว์ที่แย่ที่สุดยิ่งกว่าสัตว์ใดๆ
การฝึกศึกษา เป็นหน้าที่ของมนุษย์ คือฝึกอบรมตนให้เจริญในไตรสิกขาศีล สมาธิ ปัญญา ก็จะทำให้บรรลุจุดหมายของชีวิตที่ประเสริฐที่ควรได้ควรถึง
สิกขา แปลเป็นภาษาไทยว่า ศึกษา ที่จริงศึกษาเองก็เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤตว่า ศิกฺษา สามคำนี้ความหมายเดียวกันคือ สิกฺขา เป็นบาลี ศิกฺษา เป็นสันสกฤต แล้วก็ศึกษา เป็นคำไทยที่แผลงจากสันสกฤตมา อันแปลความหมายว่า การเรียนรู้ ที่จะทำให้เห็นเอง
พระพุทธศาสนาถือหลัก “สิกขา” ตามธรรมชาติของมนุษย์เรานี่เอง มนุษย์เรานี้ เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก และก็ฝึกได้ด้วย คือชีวิตของมนุษย์ที่เป็นอยู่นี้เป็นชีวิตที่ได้มาด้วยการเรียนรู้ และฝึกหัดพัฒนา ไม่ใช่เป็นอยู่เพียงด้วยสัญชาติญาณ ต่างจากสัตว์ทั้งหลายอื่น ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะอยู่ด้วยสัญชาติญาณเท่านั้น มันมีการเรียนรู้เพียงนิดหน่อย เกิดมาไม่นานเท่าไร ก็หากินเป็นอยู่เองได้ แต่มันก็อยู่แค่สัญชาตญาณไปจนตาย ฝึกหัดได้น้อย
ส่วนมนุษย์นั้นสัญชาตญาณไม่พอ เราอาศัยสัญชาตญาณได้น้อยอย่างยิ่ง ความรู้ที่เราจะใช้ในการเป็นอยู่หรือดำเนินชีวิตนั้น ต้องเรียนรู้เอา ต้องฝึกต้องหัดเอา เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงต้องอาศัยผู้อื่น เช่น พ่อ แม่เลี้ยงดู เป็นเวลายาวนาน เกิดมาแล้วอยู่เป็นเดือนเป็นปี แม้แต่สิบปีก็ยังอยู่ด้วยตนเองไม่รอด ต้องอาศัยพ่อแม่คอยอุ้มชูเลี้ยงดูด้วยประการต่างๆ จึงจะสามารถอยู่รอดได้ ในระหว่างที่พ่อแม่และผู้อื่นเลี้ยงดูอยู่นั้น ตนเองก็ต้องเรียนรู้ทุกอย่าง ฝึกหัดทุกอย่าง โดยที่พ่อแม่เป็นต้นนั้น คอยแนะนำหรือถ่ายทอดความรู้ให้ แม่แต่จะรับประทานอาหาร แม้แต่ขับถ่าย แม้แต่นั่ง-นอน-ยืน ก็ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกต้องหัดพัฒนาขึ้น
ต่อมาก็หัดพูด หัดเดิน แล้งจึงสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้ รวมความว่า การดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้น ไม่ได้มาเปล่าๆ ต้องเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาคือสิกขา
จึงพูดสั้นๆ ว่า ชีวิตที่จะเป็นอยู่ดีนั้น ได้มาด้วยสิกขา คือ การศึกษาฝึกหัดเรียนรู้ ถ้าเราไม่หยุดการศึกษา เราก็จะทำชีวิตให้ดีงามประเสริฐยิ่งขึ้นได้ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้น มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่ต้องฝึกนี้ จึงมีแง่ดีที่ว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ด้วย ส่วนสัตว์ชนิดอื่นนั้น เขาอาศัยสัญชาตญาณอยู่ได้จริง แต่เขาก็ฝึกให้มากกว่านั้นไม่ได้ เขาฝึกได้เพียงเล็กน้อย หรือให้มนุษย์ฝึกให้ แล้วมนุษย์ก็เอามาใช้งาน หรือเอามาเล่นละครสัตว์ แต่เสร็จแล้วเขาก็อยู่ด้วยสัญชาตญาณต่อไป เกิดมาอย่างไรก็ตายไปอย่างนั้น
ไม่เหมือนมนุษย์ที่เป็นสัตว์ฝึกได้ พอฝึกแล้วก็เป็นอย่างที่ฝึกได้ทุกอย่าง คิดได้ พูดได้ ทำได้ มากมายสุดพรรณนา ในทางวัตถุภายนอก มนุษย์ก็ฝึกศึกษาเรียนรู้จนกระทั่งสามารถสร้างสรรค์โลกให้เจริญก้าวหน้ามีเทคโนโลยีต่างๆ อย่างที่มองเห็นกันนี้ ทำให้โลกเจริญด้วยวัฒนธรรม มีอารยธรรม
ในทางจิตใจก็เช่นเดียวกัน มีจิตใจที่ดีงาม สูงส่งประเสริฐ จนกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้าผู้มีพระทัยสะอาดบริสุทธิ์ ประกอบด้วยพระมหากรุณา แต่ที่สำคัญที่สุด เป็นความประเสริฐเลิศล้ำของมนุษย์ ก็คือ ในทางปัญญา ที่พัฒนาจนตรัสรู้ เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ มองเห็นสัจธรรมแท้จริง
ฉะนั้น มนุษย์จึงเป็นสัตว์ประเสริฐ คือประเสริฐด้วยการฝึก ด้วยการศึกษา ด้วยการเรียนรู้สิ่ง ต่างๆ ถ้ามนุษย์ตั้งใจปฏิบัติตามธรรมชาติของตนที่เป็นสัตว์ผู้ฝึกได้ ก็จะเป็นผู้ที่ประเสริฐอย่างยิ่ง
ตอนแรกเมื่อเกิดมาใหม่ๆ ยังไม่ได้ฝึก มนุษย์สู้สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายไม่ได้ แต่พอได้ฝึกก็จะเก่งขึ้นดีขึ้นจนกระทั่งในที่สุดจะประเสริฐ แม้แต่ยิ่งกว่าเทวดา หรือยิ่งกว่าพระพรหม ตอนแรกมนุษย์ไปกราบไหว้เทวดา บูชาพระพรหมกัน แต่ถ้ามนุษย์ฝึกตนเองพัฒนาตนให้ดีแล้ว เทวดาและพรหมกลับมากราบไหว้มนุษย์
ทุกคนจึงควรระลึกไว้เสมอ ตามหลักพระพุทธศาสนาที่ถือว่า ความประเสริฐของมนุษย์อยู่ที่การเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาตนเองที่เรียกว่า สิกขานี้ ถ้าเราไม่หยุด ก็จะสิกขาได้จนกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าก่อนโน้นก็เป็นมนุษย์สามัญ แต่ด้วยสิกขาคือการศึกษาเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตนนี้จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เราจึงต้องฝึกฝนพัฒนาตน แต่ข้อสำคัญก็คือ จะต้องตั้งใจเพียรพยายามและไม่ประมาท ในการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาตนเรื่อยไปไม่หยุดยั้ง
ให้ทุกคนกระฉับกระเฉง แคล่วคล่องว่องไว ด้วยการเสียสละ เป็นผู้นำของตนเองให้ได้นะ ไม่ต้องอาศัยคนอื่นมันต้องเข้าใจ เข้าใจจริงๆ แล้วประพฤติปฏิบัติ เรียกว่าเป็นเอกเป็นหนึ่งเป็นตัวของธรรมะ เป็นตัวของพระนิพพาน ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน สละทิ้งเสียซึ่งนิมิตทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ทุกคนก็จะได้หายเซ่อๆเบลอๆงงๆ ทุกคนต้องเข้าสู่ภาคบังคับนะ บังคับตนเอง เหมือนขับรถ ขับเครื่องบิน ขับยานพาหนะ ก็ต้องบังคับมันทั้งนั้นจึงจะขับได้ จึงต้องบังคับตนเองเพราะเรายังไม่ได้เป็นอเสขบุคคลคือพระอรหันต์ เรายังเป็นเสขบุคคลคือผู้ที่ยังต้องศึกษาเรียนรู้ประพฤติปฏิบัติ
การทำตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึก เรียกว่าตามอัธยาศัย เราพากันทำอย่างนี้จนเคยชิน ทำจนเคยชินมาไม่รู้กี่ร้อยชาติพันชาติหมื่นชาติแสนชาติ ทุกคนต้องบังคับตนเองทั้งความคิดคำพูดและการกระทำกิริยามารยาท มนุษย์จะประเสริฐได้อยู่ที่การฝึกตน จึงต้องบังคับตนเอง ถ้าทำอะไรตามอัธยาศัย โดยไม่มีการบังคับ ก็เหมือนรถคันหนึ่งที่เบรคไม่ดี คันเร่งไม่ดี พวงมาลัยไม่ดี
ทุกคนให้กลับมารู้ตนเองนะ ว่าขาดตกบกพร่องตรงไหน มาแก้ไขให้ตรงจุด ไม่เช่นนั้นจะเป็นโรคภูมิแพ้ คือตกไปในอบายภูมิ จึงต้องมาประพฤติปฏิบัติ มาสร้างภูมิคุ้มกันอันเป็นภูมิแห่งชัยชนะ เราจะชนะคนอื่นสิ่งอื่นยังไม่ประเสริฐ เท่ากับชนะตนเอง ชนะคนอื่นเป็นหมื่นครั้งไม่สู้ชนะใจตนเองครั้งเดียว จึงต้องบังคับตนเองฝึกฝนตนเอง ให้เป็น บุคคลอาชาไนยเป็นมนุษย์อาชาไนยให้ได้
การประพฤติปฏิบัติธรรม ท่านให้เราเน้นลงปฏิบัติลงในปัจจุบัน เพราะสิ่งที่เป็นอดีตมันก็ปฏิบัติไม่ได้ สิ่งที่เป็นอนาคตก็ปฏิบัติไม่ได้ การปฏิบัติของเราต้องอยู่ที่ปัจจุบัน ปัจจุบันเราจึงต้องเอาปัญญา เอาสมาธิ เอาศีล มาประพฤติปฏิบัติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในปัจจุบัน ให้เราทุกคนมีฉันทะคือความพอใจ มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติเพราะเราได้ทำดีแล้ว ถูกต้องแล้ว ไม่มีอะไรจะประเสริฐกว่า ยิ่งใหญ่กว่า ให้เรามีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ ความทุกข์ทางใจของเราจะไม่มี เพราะเราเห็นด้วยปัญญาว่านี่คือ หนทางที่ถูกต้อง ได้ปฏิบัติถูกต้อง เป็นปัจจุบันธรรมไปเรื่อยๆ
เราทุกคนนะ ติดสุขสบายในเหยื่อของโลก ทุกท่านทุกคนต้องมาทวนโลก ทวนกระแสทวนอารมณ์ ทวนความรู้สึกนึกคิดของตนเอง หนทางเราเดินไป ทางจิตใจของเราที่จะไปสัมผัสเกี่ยวข้องกับความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ ทุกท่านจึงมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มีจิตใจเข้มแข็ง มีจิตใจเสียสละ เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง พระพุทธเจ้าคือผู้ที่เสียสละ มันเป็นธรรมดาของการเดินทาง มันต้องเป็นอย่างนี้ มันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เรามีปัญญาต้องเฉียบแหลมคม ต้องเสียสละ สัมมาสมาธิต้องตั้งไว้เพื่อก้าวไปแต่ละก้าวอย่างมีความสุข ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ เราก็ไม่มีข้อวัตรข้อปฏิบัติทั้งทางกาย วาจา ใจ ในชีวิตประจำวันของเรา จะมีการเรียนรู้ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจพร้อมทั้งการประพฤติปฏิบัติตลอดเวลา
ทุกท่านทุกคนต้องพากันประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า ถึงจะอยู่ที่เคหสถานบ้านเรือน ก็เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีได้ ไม่ต่างกันหรอก เราต้องกลับมาหาพระภายในตัว อย่าไปมัวแต่หาพระภายนอก มันหายาก เดี๋ยวจะถูกเขาหลอกลวง เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มีความสุขในการทำงาน เสียสละ วัตถุสิ่งของข้าวของเงินทอง ส่วนใหญ่ก็ได้มาจากคนอื่น อย่างเราค้าขายทำธุรกิจ เป็นต้น เราต้องเดินไปด้วยกัน ด้วยความเมตตากรุณา ไม่ต้องไปเอารัดเอาเปรียบใคร เราต้องเป็นผู้ให้ ผู้เสียสละ อาชีพเราต้องเป็นสัมมาอาชีพ อย่าไปเดินทางลัด อย่าไปเอาเปรียบคนอื่น ต้องเน้นมาหาธรรมะ ชีวิตเราจะได้ปฏิบัติไปอย่างนี้ เราทุกคนนับว่าเป็นผู้ที่โชคดี ที่มีบุญวาสนา มีเวลา มีโอกาสได้มาประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ มีความสุขมาก สุขพิเศษ สุขจริงๆ ที่ได้มาประพฤติปฏิบัติ เราทุกคนจึงจะได้หนีจากวัฏสงสารได้ ด้วยความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องอย่างนี้
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee