แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๑๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระธรรมตอนที่ ๒๖ ให้เข้าใจพระศาสนาเรามีของดี ถ้ายังไม่รู้จัก ก็เหมือนไก่มันไม่รู้เพชรพลอย วานรไม่รู้จักแก้วมณี
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ถือว่าเป็นผู้ที่ประเสริฐ เกิดมาต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ในการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ จะได้พัฒนาทางจิตใจพัฒนาทางวัตถุไปพร้อมๆ กัน เป็นทางสายกลาง พัฒนาทั้งใจพัฒนาทางกายพัฒนาทางวัตถุ กายของเราก็ได้รับสิ่งที่ถูกต้อง ใจของเราก็ได้รับสิ่งที่ถูกต้อง เพราะทุกอย่างนั้นมันขึ้นอยู่ที่เหตุขึ้นอยู่ที่ปัจจัย ทางร่างกายก็ต้องได้มาจากความถูกต้อง จากการประพฤติการปฏิบัติของเราเอง เราทุกคนถึงมีหน้าที่ ที่ต้องประพฤติต้องปฏิบัติ วันหนึ่งคืนหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมงในการนอนก็ต้องนอนให้เพียงพอ วันหนึ่งอย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า ๖ ชั่วโมง อย่างมากสำหรับผู้ใหญ่ก็ไม่เกิน ๘ ชั่วโมง เวลาเราตื่นขึ้นมีความสุขในการทำงานพร้อมกับมีความสุขในการปฏิบัติธรรม การทำงานกับการปฏิบัติธรรมก็ต้องไปพร้อมๆ กัน
ทุกท่านทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ ทุกคนนั้นไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน หากเป็นเหตุเป็นปัจจัย ทั้งทางจิตใจทั้งส่วนทางร่างกายหรือส่วนทางวัตถุ ทุกอย่างมันคือเหตุคือปัจจัยไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวตน ทุกคนต้องพากันเข้าใจ ต้องพากันมีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ ถ้าเรามีความเห็นไม่ถูกต้อง มีความเข้าใจไม่ถูกต้อง เราปฏิบัติไม่ถูกต้อง ชีวิตของเราก็ยากจนทางวัตถุสิ่งที่อำนวยความสะดวกความสบาย ทางจิตใจเราก็มีความทุกข์ เพราะเราตัวตนเป็นที่ตั้งมันก็คือความทุกข์ เราทุกคนต้องพากันเข้าใจ ความเข้าใจนี้เรียกว่าปัญญา ปัญญานี้มี ๒ อย่าง ปัญญาทางพัฒนาวัตถุ และปัญญาในการพัฒนาจิตใจ ที่เราพากันเรียนพากันศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาเอก เพื่อเราจะได้มีปัญญาสัมมาทิฏฐิ เพื่อให้เป็นผู้รู้ หรือว่าเป็นผู้มีปัญญา หรือว่าเป็นพุทธะ พุทธะทางวัตถุและพุทธะทางธรรมะหรือว่าพุทธทางจิตใจไปพร้อมๆ กัน เรียกว่าทางสายกลาง ที่เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม เราต้องทำให้ถูกต้อง ความถูกต้องต้องมีกับเราในปัจจุบัน เพื่อจะได้ยกเลิกสิ่งไม่ถูกต้อง กฎหมายบ้านเมืองนี้เป็นการยกเลิกสิ่งที่ไม่ถูกต้องระดับหนึ่ง ธรรมะเป็นสิ่งที่ยกเลิกสิ่งที่ไม่ถูกต้องที่สูงสุดอย่างนี้ ให้เข้าใจ ความมั่นคงของโลกนี้ขึ้นอยู่ที่สัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องและปฏิบัติถูกต้อง ถึงจะเกิดความมั่นคง ถ้าเรายังไม่มีความเข้าใจ ก็ต้องพากันเข้าใจนะ ความดับทุกข์ของหมู่มวลมนุษย์อยู่ที่พระนิพพาน เป็นการทำที่สุดแห่งความไม่มีทุกข์ พระนิพพานนี้คือยกเลิกความทุกข์ ความดับทุกข์ในระดับจิตใจมีความสงบ ก็ยังไม่ถือว่าความดับทุกข์ที่สูงสุด ความดับทุกข์ที่สูงสุดเป็นความดับทุกข์ของพระพุทธเจ้าหรือของพระอรหันต์ขีณาสพ หรือความดับทุกข์ของผู้ที่ยกเลิกนิติบุคคลยกเลิกตัวยกเลิกตน
การมาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าที่ท่านบำเพ็ญมาหลายอสงไขยนี้ เป็นการมายกเลิกความทุกข์ มายกเลิกชนชั้นวรรณะ มายกเลิกทาส ความดับทุกข์คือเป็นสิ่งที่เป็นปัจจุบันธรรม เป็นสิ่งที่ทันโลกทันสมัย เป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องอยู่ในปัจจุบัน อยู่ในทุกหนทุกแห่ง เป็นสิ่งที่ทันโลกทันสมัย จะอีกหลายล้านปีข้างหน้า ก็ยังทันโลกทันสมัย เพราะว่าได้เป็นพุทธะทางจิตใจ พุทธะทางวัตถุ ความเป็นมนุษย์ของพวกเรา เราต้องมีสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องอยู่ในชีวิตประจำวัน ทุกๆ คนต้องรู้ความจริง รู้อริยสัจ ๔ รู้ทุกข์รู้เหตุเกิดทุกข์รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ทุกคนต้องพากันแก้ไขตัวเอง พากันปฏิบัติตัวเองให้ถูกต้อง ในปัจจุบันในชีวิตประจำวัน เพื่อความทุกข์ทางกายจะได้น้อยลง ความทุกข์ทางใจจะได้น้อยลง การที่เราไม่รู้เหตุไม่รู้ปัจจัยไม่รู้อริยสัจ ๔ เราก็พากันเป็นความทุกข์ จึงได้มีโรงพยาบาลจิตเวชเกิดขึ้น โรงพยาบาลจิตเวชเป็นเรื่องที่ความรู้ความเข้าใจเรื่องสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องแล้วจะได้พากันปฏิบัติถูกต้อง เมื่อมนุษย์เรามีความทุกข์มาก มีความทุกข์อย่างต่อเนื่อง ก็ต้องอาศัยทางเคมีอาศัยทางวิทยาศาสตร์ ที่เป็นยามารักษา การรักษาทางวิทยาศาสตร์ทางเคมีทางยานั้น มันเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ ทุกคนยังไม่เข้าใจก็พยายามที่จะไปแก้ไขตั้งแต่ปลายเหตุ มนุษย์เราต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง ต้องมีความสุขในการเสียสละตัวตน เราต้องสร้างเหตุสร้างปัจจัย ก็พากันเข้าใจ พากันมีความสุขในการทำงาน เราฟุ้งซ่านมากไม่ได้ ทุกๆ คนแก้ไขปัญหาได้ แก้ไขตัวเองได้ โดยอาศัยกาลอาศัยเวลา อบรมบ่มอินทรีย์ ไก่มันฟักไข่มันใช้เวลา ๓ อาทิตย์มันถึงออกลูกมาเป็นลูกไก่ เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง เราก็ทำเหมือนไก่เหมือนฟักไข่ เราต้องหาวิธีให้ใจของเราเกิดความสงบ ให้ติดต่อต่อเนื่อง ถ้าเราเอาความหลงหรือว่าตัวตนเป็นที่ตั้ง ชีวิตใจของเรามันก็ไม่สงบ ศีลเป็นเรื่องยกเลิก เป็นสิ่งที่มายกเลิกความไม่สงบ ศีลนั้นคือเหตุคือปัจจัยที่เพื่อให้เรา ไม่มีตัวไม่มีตน ถ้าเรามีตัวตนเราก็มีความทุกข์
ความมั่นคงของเราของครอบครัวเราอย่างนี้ จะทำแบบแต่ก่อนไม่ได้ มันขยันคนสองคน รับอยู่คนสองคน มันก็ไม่ได้เหมือนกันอย่างนี้ ทุกคนถึงจะยากลำบากก็ต้องทำอย่างนี้ เพราะยากลำบากมันดีมันถูกต้องเค้าเรียกว่าคนรู้อริยสัจ ๔ อย่างนี้ สมัครสมานสามัคคี พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า สาราณียธรรม ให้ประชาชนที่เป็นคฤหัสถ์พร้อมเพรียงกันรักษาศีล รักษาศีลก็คือมีศรัทธาในการประพฤติปฏิบัติ
พวกที่บวชมาอย่างนี้ทุกวัดต้องสมัครสมานสามัคคีกัน เอาธรรมะเป็นหลัก อย่าเอานิติบุคคล อย่าเอาตัวตน ข้าราชการตำรวจทหารพ่อค้าประชาชนตลอดถึงพวกข้าราชการส่วนอื่น ต้องสมัครสมานสามัคคีกันอย่าเอาความรวยเป็นที่ตั้ง อย่าเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เอาความสมัครสมานสามัคคีกัน ทุกคนก็พากันไปแก้ที่ตัวเอง ไม่ต้องไปแก้ที่อื่น การเวียนว่ายตายเกิด จะทุกข์จะยากจน มันเป็นหน้าที่ของเรา เราต้องพึ่งตนเองอย่างนี้ อย่าได้มีตัวมีตนเลย มันจะได้เป็นแอร์คอนดิชั่นทั้งโลกทั้งประเทศ เพราะศาสนานี้รู้แล้วว่า มันเป็นเรื่องความมั่นคงของจิตใจ คุณธรรม ชาตินี้ก็คือความประเสริฐที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ มนุษย์นี้ก็ที่เป็นได้ก็ใจสูง เหมือนหนึ่งยูงมีดีที่แววขน ถ้าใจต่ำเป็นได้แต่เพียงคน ใจต่ำก็หมายถึงเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ทุกคนจะได้หยุดมีเพศสัมพันธ์ทางความคิด หยุดมีเพศสัมพันธ์ทางอารมณ์ ที่มีตัวมีตนเค้าเรียกว่ามีเพศสัมพันธ์ ให้พากันเข้าใจ อย่าพากันรู้แต่ภาษากายมันต้องรู้ภาษาใจด้วย เพราะเราเดินสองทาง เราเดินทั้งกายทั้งใจ พัฒนามวลมนุษย์ต้องพัฒนาอย่างนี้ทำติดต่อต่อเนื่องกัน ฝนแห้งแล้งก็แก้ไขได้ น้ำท่วมก็แก้ไขได้ ดินไม่ดีก็แก้ไขได้ ด้วยเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ แล้วก็พัฒนาภาคปฏิบัติของเรา เรียกว่าศีลสมาธิปัญญาอย่างนี้แหละ
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ท่านสอนว่า
เรื่องความสามัคคี เพราะเราทั้งหลายมาประชุมกันในที่นี้ ล้วนแล้วแต่มาคนละทิศละทาง ต่างจิตต่างใจต่างพ่อต่างแม่ต่างตระกูลกันทั้งนั้น ย่อมมีกิริยาอาการทุกสิ่งทุกอย่างทุกประการไม่เหมือนกัน ในที่สุดแม้แต่ตัวของเราเอง ซึ่งมองดูแล้วก็ไม่ถูกต้องตามความต้องการของตนก็มีเยอะ ฉะนั้นความสามัคคีจึงได้ชื่อว่า เป็นคุณธรรมอันสูงส่งสำหรับพวกเราที่อยู่ด้วยกัน ความสามัคคีเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุข พระพุทธองค์ตรัสว่า “สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี ความพร้อมเพรียงของในหมู่คณะนำมาซึ่งความสุข” ดังนี้ ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ ตั้งแต่สองคนขึ้นไปเรียกว่า คณะ สี่คนขึ้นไปเรียกว่า หมู่ ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะเป็นความสุขอย่างยิ่ง คนยิ่งมากขึ้นไปจะเป็น ๒๐-๓๐-๔๐ หรือ ๕๐ คนหรือตั้ง ๑๐๐-๒๐๐ คน มีความสามัคคีกัน ยิ่งได้ความสุขมาก ดูแต่ตัวของเราคนเดียวก็แล้วกัน ถ้าไม่สามัคคีกันก็ไม่ได้ความสุขเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ใจคิดอย่างหนึ่ง มือไม้ไม่ทำ ขาไม่เดิน ง่อยเปลี้ยเสียขา เป็นอัมพาตไป มันก็ไม่สบายใจ
ปากท้องของเราก็เหมือนกัน เราหาอาหารมาให้รับประทานลงไป ปากมันก็เคี้ยวกลืนลงไป แต่ลำไส้มันไม่ทำงาน มันไม่พร้อมเพรียงสามัคคีกัน มันจะต้องปวดท้อง อึดอัด เดือดร้อนแก่เราเพียงใด คิดเอาเถอะ ส่วนร่างกายของเราก็เหมือนกัน ทุกชิ้นทุกส่วนถ้าหากขาดความสามัคคีนิดเดียว เป็นต้นว่าแขนทั้งสองหยุดไม่ทำงาน เท่านั้นแหละเป็นอันร้องอู๊ยเลยทีเดียว
เหตุนั้น เราควรอดควรทนต่อเหตุการณ์ เมื่อมีจิตใจต่างกัน มีกิริยาอาการต่างกัน จึงควรอดอย่างยิ่ง อย่าเอาอารมณ์ของตนควรคิดถึงอกเราอกเขาบ้าง ถ้าหากเราเอาแต่อารมณ์ของตนแล้ว จะแสดงความเหลวไหลเลวทรามของตนแก่หมู่คณะเป็นเหตุให้เสียคน เพราะชื่อเสียงยังกระจายออกไปทั่วทุกทิศ เสียหายหลายอย่างหลายประการ สิ่งใดที่ไม่สบอารมณ์ของเรา อย่าผลุนผลันหันแล่น จงยับยั้งตั้งสติตั้งจิต พิจารณาให้ดีเสียก่อนว่าสิ่งนั้นถ้าเราพูดหรือทำลงแล้ว มันจะเป็นผลดีและผลเสียแก่เราและหมู่คณะน้อยมากเพียงใด
เบื้องต้นให้ตั้งสติกำหนดคำว่า “อด” คำเดียวเท่านั้นเสียก่อน จึงคิดจึงนึกและจึงทำจึงจะไม่พลาดพลั้งและจะไม่เสียคน อดที่ไหน อดที่ใจของเรา “อด” คำนี้กินความกว้างและลึกซึ้งด้วย เมื่อเราพิจารณาถึงความอดทนแล้วก็จะเห็นว่า สรรพกิเลสทั้งปวงที่จะล้นมาท่วมทับมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย ในโลกนี้แหลกละเอียดเป็นจุลวิจุลไปก็เพราะความอดนี้ทั้งนั้น
เช่น โกรธจะฆ่ากัน แต่มีสติอดทนอยู่ได้จึงไม่ฆ่า เห็นสิ่งของเขา คิดอยากจะลักขโมยของเขา มีสติอดทนยับยั้งไว้ เพราะกลัวเขาจะเห็นหรือกลัวโทษ จึงไม่ขโมย เห็นบุตรภรรยาสามีคนอื่นสวยงาม เกิดความกำหนัดรักใคร่ คิดอยากจะประพฤติผิดในกาม มีสติขึ้นมาแล้วอดทนต่อความกำหนัดหรือกลัวว่าเขาจะมาเห็น กลัวต่อโทษในปัจจุบันและอนาคต แล้วอดทนต่อความกำหนัดนั้น การที่จะพูดเท็จ พูดคำไม่จริง หรือดื่มสุราเมรัยก็เช่นกัน เมื่อมีสติขึ้นมาแล้วก็อดทนต่อความชั่วนั้นๆ ได้ แล้วไม่ทำความชั่วนั้นเสีย
ความอดทนเป็นคุณธรรม ที่จะนำบุคคลในอันที่จะละความชั่วได้ทุกประการ และเป็นเหตุให้สมานมิตรกันทั้งโลกได้อีกด้วย ถ้าเราไม่มีการอดทนปล่อยให้ประกอบกรรมชั่วดังกล่าวมาแล้ว โลกวันนี้ก็จะอยู่ไม่ได้ แตกสลายไปเลย
โทษ ๕ ประการดังอธิบายมานี้ เป็นเหตุให้มนุษย์สัตว์โลกแตกความสามัคคีปรองดองซึ่งกันและกัน วิวาททุ่มเถียงฆ่าตีซึ่งกันและกัน โลกซึ่งเดือดร้อนวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะโทษ ๕ ประการนี้ทั้งนั้น
ความอดทนมีคุณอานิสงส์อันใหญ่หลวง เป็นเหตุให้แผดเผากิเลสน้อยใหญ่ทั้งปวง ซึ่งเกิดจากใจของมนุษย์คนเรา เมื่อมันเกิดที่ใจของคนเรา คนเราคุมสติไม่อยู่ปล่อยให้มันลุกลามไปเผาผลาญคนอื่น จึงรีบดับด้วยสติตัวเดียวเท่านั้น ก็อยู่เย็นเป็นสุขทั้งแก่ตนและผู้อื่น
ผู้ที่ทำความเพียรภาวนาทั้งหลายล้วนแล้วแต่ใช้ความอดทนนี้ทั้งนั้น คนเราอยู่เฉยๆ จะดีเองไม่ได้ ต้องอดทนต่อความเจ็บหลังปวดเอวในการนั่งสมาธิภาวนา อดทนต่อการรักษาศีลตามสิกขาบทนั้นๆ ที่พระองค์บัญญัติไว้ จะเอาตามใจชอบของตนไม่ได้ ถ้าเอาตามใจชอบของตน ถ้ามันดีแล้ว มนุษย์ชาวโลกดีกันหมดแล้วแต่นาน เหตุที่มันดีนั่นแหละจึงหันมาอดทนทำตามพระพุทธเจ้า
ความสามัคคีเป็นคุณธรรมอันใหญ่ยิ่ง สามัคคีของหมู่คณะนั้นแต่สองคนขึ้นไปอย่างน้อยก็ได้พูดคุยกันพอแก้ความเหงา แต่สี่คนขึ้นไปอย่างน้อยก็จะแบกได้หามในกิจธุระการจำเป็นเกิดขึ้น ถ้าเป็นพระก็พอจะได้ทำสังฆกรรมให้สำเร็จได้ในเมื่อต้องการ ถ้ามากคนขึ้นไปความสามัคคีก็ยิ่งแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น การงานทุกสิ่งทุกอย่างย่อมสำเร็จมากเป็นเงาไปตามตัว
บ้านเมืองมีคนหมู่มากอยู่ด้วยกัน มีความสามัคคีด้วยกายทำอะไรสามัคคีพร้อมกัน มีจิตใจไม่แก่งแย่งแข่งดีซึ่งกันและกัน มีความรักใคร่ซึ่งกันและกันเห็นบ้านเมืองเป็นของทุก ๆ คนที่จะต้องปกป้องรักษาเป็นที่หวงแหนของคนทุกคน ทิฐิความเห็นก็ไม่ดื้อรั้นเอาแต่ความเห็นส่วนตัว ไม่ยอมใครทั้งสิ้น เห็นความคิดความเห็นของคนอื่นผิดทั้งหมด ของเราถูกคนเดียว
พุทธศาสนาที่ยั่งยืนมานานจนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะความสามัคคีนี้เอง ทีแรกพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้วทรงสอนความสามัคคี ให้แก่เหล่าภิกษุพุทธบริษัท เมื่อภิกษุพุทธบริษัทเชื่อฟังคำตามมากเข้าจนเกิดเป็นหมู่คณะแล้ว จนทรงเห็นว่าพอจะรักษากันได้แล้ว จึงทรงมอบอำนาจให้แก่สงฆ์เพื่อรักษากันเอง
แม้แต่ธรรมะอันสูงที่พระองค์ทรงสอนอันจะพึงเห็นด้วยใจของตนเอง ก็ไม่พ้นจากความสามัคคีนี้เหมือนกัน เช่น อริยมรรค แต่ละมรรคเมื่อจะเข้าถึงมรรคนั้นๆ ต้องรวมลงสู่ มัคคสมังคีรวมเอาธรรมทั้งปวงที่เป็นปัจจัยของมรรคนั้นๆ มาลงสู่มัคคสมังคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวเสียก่อน จึงจะถึงภูมินั้นๆ ได้
ธรรมที่มีอยู่ในตัวของคนเราทุกวันนี้ ก็ต้องมีความสามัคคีกันจึงจะอยู่ได้ เช่น ตา หู จมูก ลิ้นและกาย แต่ละอย่างธรรมชาติแบ่งให้ทำงานอย่างละหน้าที่ของตนๆ ไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน ต่างมีความซื่อสัตย์สุจริตตรงต่อจิตคนเดียว ถ้าจะเปรียบก็เปรียบเหมือนรัฐบาลแบ่งออกเป็น ๕ กระทรวง แต่ละกระทรวงก็ทำตามหน้าที่ของตน ที่รัฐบาลแบ่งงานออกให้รับผิดชอบ
กระทรวงตา ก็รับผิดชอบทางเห็นรูป บรรดาสรรพรูปทั้งปวง จะรูปหยาบรูปละเอียด รูปดีรูปชั่ว แม้แต่รูปที่น่าอุจาดน่ารังเกียจที่สุดก็ต้องจำดูให้เห็น ตามคำบัญชาของจิตที่ต้องการ
กระทรวงหู รับทางได้ยินเสียง จะเป็นเสียงเพราะไม่เพราะ พึงพอใจหรือไม่พึงพอใจ จำต้องฟังตามคำบัญชาของจิตทั้งนั้นแม้แต่คำพูดด่าแช่งก็ต้องฟัง
กระทรวงจมูก สำหรับไว้ดมกลิ่น นี้ยิ่งร้ายกว่ากระทรวงอื่นๆ กลิ่นเหม็นกลิ่นหอม กลิ่นอะไรทั้งหมดก็ต้องยอมรับเอาทั้งนั้น และยอมรับเอาตลอดเวลาไม่มีเวลาพักผ่อน แม้แต่นอนหลับไปแล้วก็ต้องรับเอาอยู่ (คือลมหายใจยังมีอยู่)
กระทรวงลิ้น สำหรับไว้รับรสชาติ เผ็ด เค็ม หวาน เปรี้ยว กระทรวงนี้ค่อยยังชั่วหน่อย มีเวลาได้พักผ่อน แต่ก็ยังมีการงานเพิ่มเติมอีกมาก นอกจากจะมีไว้สำหรับรับรสชาติแล้ว ยังมีไว้ให้พูดคุยกัน เพื่อให้รู้จักภาษาสำเนียงเสียงสูงเสียงต่ำอีกด้วย ถ้าไม่มีลิ้นแล้วคนเราก็พูดอะไรไม่ได้ เหมือนกับหัวหลักหัวตอ จะหาความสนุกมาจากไหน
กระทรวงกาย สำหรับไว้รับรู้สัมผัส เย็น ร้อน นุ่มนวล อ่อน แข็ง กระทรวงนี้ค่อยยังชั่วหน่อย แต่งเอาได้ตามต้องการแต่รับภาระตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นอิริยาบถไหนก็ตาม ต้องรับภาระสัมผัสอยู่อย่างนั้น แล้วก็เป็นตัวยืนของกระทรวงทั้งสี่ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นอีกด้วย ถ้ากระทรวงนี้ไม่มีแล้ว กระทรวงทั้งสี่นั้นก็มีไม่ได้
ตา หู จมูก ลิ้นและกาย ทั้ง ๕ อย่างนี้ ย่อมรับภาระหน้าที่แต่ละอย่างต่างๆ กัน ทำการงานเพื่อเสริมความสุขสามัคคีให้แก่จิตผู้เดียว ไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกันและไม่ทะเลาะทุ่มเถียงแก่งแย่งแข่งดีซึ่งกันและกัน หากกระทรวงใดจำเป็นไม่สามารถจะทำหน้าที่ของตนนั้นๆ ได้แล้ว ตัวรัฐบาล (คือจิต) ก็จะเข้ารับภาระทำแทน เช่น ตาบอดลงมองไม่เห็นแล้ว จิตก็จะใช้มือหรือสิ่งอื่นอะไรพอจะสัมผัสแทนได้แล้ว จิตก็จะใช้ตรึกตรองจดจำเอาตามสัมผัสนั้นๆ
ไม่เหมือนรัฐบาลไทยเรา ทุกๆ คนที่เข้ามาเป็นรัฐบาลต่างก็ทำเพื่อชาติเพื่อประชาชน แต่เมื่อได้เข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วส่วนมาก ก็กอบโกยเอาเพื่อเข้ากระเป๋าตนเองทั้งนั้น เป็นผู้แทนแล้วก็อยากเป็นผู้ช่วย เป็นผู้ช่วยแล้วก็อยากเป็นเลขา เป็นรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี ตนเป็นแล้วก็อยากให้พวกพ้องพี่น้องญาติมิตรเป็นอีกไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ทราบว่าคุณวุฒิของตนจะมีเพียงพอหรือไม่ ขอให้ได้เป็นก็แล้วกัน มันจึงต้องยุ่งกันไม่มีที่สิ้นสุดได้ แต่ก็ยังดีที่มีนักการเมืองบางคนทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนจริงๆ จึงเป็นเครื่องยึดรั้งคนที่เห็นแก่ตัวไว้บ้าง ประเทศชาติจึงได้เป็นมาจนทุกวันนี้
สามัคคีธรรมนี้ถ้าหากผู้มีปัญญาสามารถนำไปใช้เป็นแล้ว ก็จะเกิดประโยชน์อันยิ่งใหญ่มหาศาลแก่ทางโลกและทางธรรม ธรรมแท้คือความสามัคคี ที่ทั้งโลกยึดถือไว้เป็นที่พึ่งใช้ตลอดกาล ความหายนะของโลก นับแต่กลุ่มเล็กที่สุดจนกระทั่งกลุ่มโตเป็นโลก ได้แก่ ความแตกแยกของสามัคคี
จงตั้งใจภาวนากัน เราทุกคนเป็นลูกศิษย์พระกรรมฐานแล้ว จงตั้งใจภาวนาให้เป็นซิ ภาวนาคือตั้งสติกำหนดจิตให้เป็นหนึ่ง สติอันหนึ่ง จิตอันหนึ่ง สติคือผู้ทำการควบคุมจิต จิตคือผู้ส่งส่ายคิดนึกปรุงแต่งสัญญาอารมณ์ทั้งปวง เมื่อสติควบคุมจิต จิตจะต้องหยุดนิ่งอยู่ในที่เดียวนั่นแหละเป็นใจ สติ จิต รวมเข้ามาเป็นใจ แท้จริงก็ออกมาจากใจ จิตก็ออกมาจากใจ เมื่อรวมมาเป็นใจแล้ว ก็หมดเรื่องกันที
สิ่งเหล่านี้ทุกๆ คนก็มีกันทั้งนั้น เว้นแต่ไม่พากันพิจารณาจึงไม่เห็นจิต และไม่ตั้งสติรักษาจิตเท่านั้น ถ้าไปเห็นตัวจิตผู้คิดเมื่อไรแล้ว จะหยุดคิดนิ่งแน่วทันที อีกนั่นแหละบางคนกลับเห็นเป็นของไม่ดีเลยเป็นทุกข์เดือดร้อนว่า ภาวนามาจนจะล้มจะตาย ครูบาอาจารย์ที่ไหนดีๆ อยู่ไกลแสนไกลก็ไปให้ถึงจนได้ ภาวนาไปๆ ก็ได้เพียงแค่นิ่งเฉยเท่านั้น ขี้เกียจไม่เอาละ ความสุขของผู้มีกิเลส คือ ความวุ่นวายกับลูกหลาน การงาน ยึดว่าเป็นของกูๆ นั่นเป็นความสุขอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ว่างหมดไม่มีอะไรจะยึดถือ เลยเข้าใจว่าไม่ดีเป็นทุกข์ น่าเห็นใจมากทีเดียว
ผู้ไม่มีปัญญาเหมือนกับโบราณว่า เหมือนกับลิงได้แก้ว หรือไก่ได้พลอย สู้เมล็ดข้าวสารเมล็ดเดียวก็ไม่ได้ ถ้าผู้มีปัญญาแล้ว เมื่อจิตรวมมาเป็นใจแล้ว จะต้องตั้งสติกำหนดเอาผู้รู้นั้นไว้ว่าผู้รู้หรือธาตุรู้ ว่าเฉยนั้นยังมีอยู่ เมื่อกำหนดเอาผู้รู้หรือธาตุรู้ไว้ได้แล้ว ความรู้อันนั้นก็จะกว้างออกไป ความรู้อันนั้นก็จะแปลกต่างออกไปมากกว่าแต่ก่อนมากทีเดียว
ให้เข้าใจพระศาสนาเรามีของดีเราก็ยังไม่รู้จัก เหมือนไก่มันไม่รู้เพชรไม่รู้พลอย วานรไม่รู้จักแก้วมณี พระที่บวชมาแล้ว ทำไมไปบ่นให้แต่ประชาชน เค้าไม่เข้าวัดเข้าวา เค้าไม่มาบวช มันจะมาบวชเอาอะไร เพราะว่ามันไม่มีวัด ไม่มีข้อวัตร ไม่มีข้อปฏิบัติ ก็มีแต่พวกที่มาอาศัยพระศาสนาหาเลี้ยงชีพ ผู้มีปัญญามันก็ไม้อยากบวชหรอก เพราะว่าในวัดเรา ในอารามเราไม่มีพระธรรม ไม่มีพระวินัย มันมีแต่ภายนอก มันไม่มีภายใน มันไม่มีสัมมาทิฏฐิ ไม่มีความเห็นถูกต้อง ไม่เข้าใจถูกต้อง ไม่มีความสุขในการปฏิบัติธรรมในการทำงาน จิตใจของเรามันไม่ตกสู่อบายมุข อบายภูมิ
อย่าเป็นไก่ได้พลอย นิพพานเกิดอยู่บ่อยๆ แต่ไม่รู้จัก (พุทธทาสภิกขุ)
"การไม่ปรากฏของ 'อัตตา' มีขึ้นได้ ด้วยการประจวบเหมาะนั้น หมายถึง ขณะนั้น เผอิญมีสิ่งบางสิ่ง ซึ่งจะเป็นการได้เห็น หรือได้ฟัง หรือได้อ่าน... หรือได้รับอารมณ์ ซึ่งเป็นความเงียบสงัด ไม่ชวนให้เกิดความคิดนึกอะไรก็ตาม ทำให้เกิดความรู้สึก ที่เป็นการดับ "ตัวเรา-ของเรา" อยู่ได้เป็นเวลาระยะหนึ่ง
ลักษณะเช่นนี้เป็นไปได้ ในคนธรรมดาสามัญทั่วๆ ไป แม้ด้วยความไม่ตั้งใจ และอาจเป็นได้มาก สำหรับผู้ที่อยู่ในที่ที่เหมาะสม มีสิ่งแวดล้อมหรือมีการสมาคมกับบุคคลที่เหมาะสม หรือแม้แต่ดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม ซึ่งพอจะเรียกได้สั้นๆ ว่าเป็นความสบายทางจิตนั่นเอง อาการอย่างนี้พอจะเรียกได้ว่า "ตทังควิมุตติ" คือการพ้นไปจากอำนาจของ "ตัวเรา-ของเรา" ด้วยความบังเอิญประจวบเหมาะ
นิสัยของคนบางคน ธรรมชาติสร้างมา ให้เป็นผู้มีจิตว่างจาก "ตัวตน" ได้ง่ายๆ กล่าวคือ ความรู้สึกว่า "ตัวเรา-ของเรา" เกิดขึ้นได้โดยยาก ก็นับรวมอยู่ในข้อนี้
แม้คนเราจะได้พบกับความดับไปแห่ง "อัตตา" โดยบังเอิญ...อยู่บ่อยๆ ก็ตาม แต่ก็หามีใครเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะสนใจ คือ เขาสนใจกันแต่เรื่องที่กำลังอยาก กำลังต้องการ ไม่สนใจเรื่องของ "ความว่างจากความอยาก ความต้องการ" หรือแม้แต่รสชาติของจิตที่ว่างจากความต้องการ เขาจึงไม่มีโอกาสรู้จักภาวะของจิตที่ว่างจาก "ตัวตน" ซึ่งที่แท้ก็มีอยู่บ่อยๆ เมื่อไม่สนใจเพราะไม่รู้จักแล้ว มันก็มีค่าเท่ากับไม่มี เหมือนกับไก่ที่เดินไปบนกองเพชรพลอย มันก็ไม่รู้สึกว่ามีอะไรที่มีค่าน่าสนใจ แต่ถ้าเห็นข้าวสารสักเม็ดหนึ่งตกอยู่บนดิน มันจะเห็นค่าขึ้นมาทันที
อาการอย่างนี้มีอยู่แม้ในอุบาสกอุบาสิกา ตลอดถึงที่เป็นบรรพชิต ตลอดจนแม้เถระ ถ้าคนยังเป็นเหมือนไก่อยู่เพียงใด เพชรพลอยอย่างมากมายในพระพุทธศาสนา ก็จักยังเป็นหมันอยู่เพียงนั้น
เพชรพลอยในที่นี้เราหมายถึง พระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ การดับไปแห่ง "ตัวตน" เป็นยอดของพระธรรม คือเป็นธรรมชั้นสูงสุด หรือเป็นบรมธรรมทีเดียว เพราะเป็นไปเพื่อการไม่เบียดเบียนตนเอง และไม่เบียดเบียนผู้อื่นถึงที่สุดจริงๆ"
เราต้องรู้จักต้องมีความสุขในการเสียสละ มีความสุขในการมีศีล อย่ามีความสุขในการมีสตางค์ อย่ามีความสุขที่เขายกยอพอปั้น เราทุกคนต้องกลับมาหาพระพุทธเจ้า กลับมาหาพระธรรม กลับมาหาพระอริยสงฆ์ ให้มีในจิตในใจของเรา ทุกคนต้องละสิ่งที่มันเป็นความยึดมั่นถือมั่น ความเป็นอดีตทั้งหมด ต้องลบออกเป็นศูนย์เลย ให้มีความสุขบ้าง ทุกคนทำได้ ที่ทำไม่ได้เพราะไม่ปฏิบัติ เราอย่าไปคิดว่ามันยาก ที่มันยากเพราะเราไม่ได้เสียสละ มันตายก็ตาย แต่ต้องเสียสละ ต้องเปลี่ยนฐานจิตฐานใจ เราจะแบกมันไปถึงไหน มันหนักยังไม่พอหรอ มีพี่น้องมีอะไรก็ทะเลาะกัน ก็หนักอกหนักใจอยู่แล้ว มันก็หนักธาตุหนักขันธ์อีก เราก็ต้องปล่อยต้องวาง ให้ความสว่างไสวเกิดขึ้นแก่เราหน่อย จักษุมันจะได้เกิดขึ้นแก่เรา ธรรมะจะได้เกิดขึ้นแก่เรา แสงสว่างจะได้เกิดขึ้นแก่เรา เพราะเราทุกคนต้องประพฤติปฏิบัติ ทำไมโควิดมาพากันกลัวตายน่าดู แต่เรายังยินดีในลูกในหลานในบ้านในรถ ในลาภ ยศ สรรเสริญ เราก็ยังยินดีอยู่ ความแก่ ความเจ็บความตาย มันก็เป็นเงาตามตัวไป เราไม่รู้หรือ ไม่รู้ก็รู้สิ! เราจะได้รู้จักอารมณ์ รู้จักความคิด ทุกคนต้องชำระสะสางจิตใจของตัวเอง กลับมาหายใจเข้าให้มีความสุข หายใจออกให้มีความสุข หายใจเข้าสบายหายใจออกสบาย เราจะได้เบาสบายคลายทุกข์คลายกังวล ไม่มีความสุขใดยิ่งไปกว่าการปล่อยวาง และการสำรวมตนอยู่ในธรรม
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee