แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน ศุกร์ที่ ๑๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จัง๗หวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระธรรมตอนที่ ๒๔ ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นพระพุทธเจ้า
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การมาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าคือมารู้เหตุมารู้ปัจจัยรู้ความจริงของเหตุของปัจจัย พระพุทธเจ้าถึงตรัสบอกพวกเราทั้งหลายว่า ความดับทุกข์ทั้งหลายนั้นอยู่ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นปัจจุบันอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกขณะทุกอิริยาบถ เป็นความดับทุกข์ทั้งหมด เป็นสิ่งที่ทันโลกทันสมัย ทั้งทางจิตใจและทางวัตถุ เป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ที่เป็นสัมมาทิฏฐิเป็นความว่างจากความเป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตน ทุกๆ อย่างนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ ทุกอย่างนั้นก็จะมีแต่คุณไม่มีโทษ ด้วยมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ไม่ได้ตัดออกไม่ได้เอามาเพิ่ม ให้เราทุกคนพากันเข้าใจ เมื่อเหตุปัจจัยไม่มี ความเกิดมันก็ไม่มี เมื่อความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง สิ่งที่เป็นภายนอกที่เป็นวัตถุ มันมาจากเหตุปัจจัย สิ่งที่เป็นภายในเรื่องจิตเรื่องใจเป็นนามธรรม มันก็มาจากเหตุมาจากปัจจัย มันไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน พระพุทธเจ้าเมื่อท่านได้ตรัสรู้ ท่านก็ภาวนาพิจารณาเรื่องปฏิจจสมุปบาท การที่ภาวนาพิจารณาเรื่องเหตุเรื่องปัจจัย เรื่องปฏิจจสมุปบาท เป็นเหตุเป็นปัจจัย รูปธรรมทางวัตถุ พิจารณาภาวนาเรื่องนามธรรมเรื่องจิตใจ รู้จักกระบวนการแห่งการเวียนว่ายตายเกิด
ปฏิจจสมุปบาท เป็นหลักธรรมที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการเกิดการดำเนินไปและการดับไปของชีวิต รวมถึงการเกิด การดับแห่งทุกข์ด้วย ในกระบวนการนี้สิ่งทั้งหลายจะเกิดขึ้น เป็นอยู่ และดับลงไปในลักษณะแห่งความสัมพันธ์กันเป็นห่วงโซ่ เป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและกันในรูปของ วงจร กล่าวคือ เป็นกระบวนแห่งความสัมพันธ์กันเป็นห่วงโซ่ ในกระบวนแห่งปฏิจจสมุปบาทนั้นไม่มีส่วนไหนเป็นปฐมกรหรือปฐมเหตุ เพราะกระบวนการของชีวิตเป็นวัฏฏะแห่งกิเลส กรรม วิบาก ซึ่งกลายเป็นวัฏสงสาร เพราะทั้งหมดนั้นเป็นหตุปัจจัยของกันและกัน ดังที่พระพุทธองค์ ตรัสว่าดังนี้
อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ. เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ. เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ. เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี
อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ. เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับไป
คำว่า ปฏิจจสมุปบาท มาจากศัพท์ว่า ปฏิจจ สํ และ อุปปาท
ปฏิจจ = เกี่ยวเนื่องกัน สัมพันธ์กัน สํ= พร้อมกัน/ด้วยกัน อุปปาท = การเกิดขึ้น
ปฏิจจสมุปบาท จึงหมายถึง สิ่งที่อิงอาศัยกันเกิดขึ้น ได้แก่ ภาวะของสิ่งที่ไม่เป็นอิสระของตนต้องอาศัยกันและกันจึงเกิดขึ้นได้
ปฏิจจสมุปบาทเป็นพุทธธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งยวด และเป็นเรื่องที่มีความลึกซึ้งที่สุด จนได้ชื่อว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา หรือตัวแท้ของศาสนา (แก่นแท้ของพุทธศาสนา) ความสำคัญของปฏิจจสมุปบาทอาจเห็นได้จากพระพุทธพจน์ตอนหนึ่งว่า "ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นปฏิจจสมุปบาท"
ความสำคัญของปฏิจจสมุปบาทนั้นมีมาก หากเราเข้าใจอย่างชัดเจน และปฏิบัติตามได้อย่างเหมาะสมก็จะได้รับประโยชน์สูงสุดตามจุดหมายของพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นแก่นแท้หรือสาระสำคัญสูงสุดของพุทธศาสนา ในกาลครั้งหนึ่ง พระอานนท์กราบทูลกับพระพุทธเจ้าว่า เรื่อปฏิจจสมุปบาทดูเป็นเรื่องง่ายและตื้นสำหรับตัวท่านเอง พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนพระอานนท์ว่า "ดูก่อนอานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น ปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องลึก ลักษณะโครงสร้างก็ลึกซึ้ง หมู่สัตว์นี้ไม่รู้ ไม่รู้ตามที่เราสอน ไม่แทงตลอดหลักปฏิจจสมุปบาท จิตจึงยุ่งเหมือนกลุ่มด้ายที่ยุ่ง เหมือนกลุ่มเศษด้ายที่เป็นปม ติดพันซ่อนเงื่อนกันยุ่ง เหมือนเชิงผ้ามุญชะและหญ้าปัพพชะ ไม่ล่วงพ้นจากสังสาระคืออบาย ทุคติ วินิบาตไปได้"
ในพระวินัยปิฎก เล่ม ๔ มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ โพธิกถา ปฏิจจสมุปบาทมนสิการ มีเนื้อความว่า โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า แรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ตลอด ๗ วัน และทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาทเป็นอนุโลม และปฏิโลม ตลอดปฐมยามแห่งราตรี ว่าดังนี้: ปฏิจจสมุปบาท อนุโลม
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมเกิด ด้วยประการฉะนี้.
ปฏิจจสมุปบาท ปฏิโลม
อนึ่ง เพราะอวิชชานั่นแหละดับโดยไม่เหลือด้วยมรรคคือวิราคะ สังขาร จึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับ
เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมดับ ด้วยประการฉะนี้.
โดยสภาวะของความเป็นปุถุชน ย่อมมีอาสวะกิเลส แฝงด้วยกิเลสที่ทำให้จิตขุ่นมัวแบบนอนเนื่องซึมซาบอยู่ในจิต และย่อมยังไม่มีวิชาดับทุกข์ของพระพุทธองค์ กล่าวคือ ยังมีอวิชชาอยู่นั่นเอง จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและกัน จึงยังให้เกิด ---> สังขาร และย่อมเป็นสังขารกิเลส คือสิ่งปรุงแต่งที่แฝงความขุ่นมัวหรือเร่าร้อนขึ้น ก็เนื่องมาจากกิเลสที่นอนเนื่องในอาสวะกิเลสนั่นเอง จึงเกิดการกระทำขึ้น เช่น การกระทำทางจิต ด้านความคิด ความนึกขึ้น
สังขาร กล่าวคือ เมื่อดำเนินชีวิตตามปกติ วันดีคืนดี สังขารความคิด หรือธรรมารมณ์ปรุงแต่งขึ้นตามที่เคยสั่งสมไว้ อันเนื่องด้วยอาสวะกิเลสและอวิชชาดังกล่าว กล่าวคือเกิดสังขารกิเลสขึ้น ที่อาจผุดแวบหรือลอยผุดขึ้นมาเองในจิตอันเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งของชีวิต 1 หรืออาจคิดนึกปรุงเจตนาขึ้นมาเองก็ได้1 หรือเกิดแต่ตาไปผัสสะในรูปเข้า จึงเกิดการกระตุ้นเร้าขึ้น 1 ด้วยเหตุเหล่านี้นี่เอง จึงเป็นปัจจัยให้เกิด ---> วิญญาณ ขึ้น
วิญญาณ เมื่อมีสังขารความคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งผุดขึ้นมาแล้ว ย่อมมีระบบประสาทมารับรู้ต่อสิ่งที่ผุดที่เกิดขึ้นมานั้น เนื่องจากสิ่งที่ผุดขึ้นมานี้เป็นความคิดหรือธรรมารมณ์ จึงเกิดวิญญาณของใจที่ทำหน้าที่นี้ ที่เรียกว่ามโนวิญญาณ เกิดขึ้นมาประสานรับสังขารความคิดที่ย่อมแฝงกิเลสของความเสน่หานั้น อันเป็นไปตามธรรมของผู้มีชีวิต คือ ระบบประสาทรับรู้ในสังขารหรือสิ่งที่ผุดคิดขึ้นมานั้น อันย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดาของชีวิต จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยยังให้เกิดครบองค์การทำงานหรือตื่นตัวในเรื่องนี้ของ ---> นาม-รูป
นาม-รูป นามรูปหรือชีวิตที่มีอยู่ครบถ้วนแล้วก็จริงอยู่ แต่ยังไม่ได้ทำหน้าที่เป็นชิ้นเป็นอัน กล่าวคือ วิญญาณของชีวิตหรือระบบประสาทรับรู้ที่ทำหน้าที่เป็นกลางๆ ยังนอนเนื่องอยู่ กล่าวคือยังไม่ทำหน้าที่อะไรโดยตรง แค่มีสภาพเตรียมพร้อมอยู่ในที เมื่อมโนวิญญาณข้างต้นเกิดขึ้นแล้วจึงกระตุ้นเร้านาม-รูปหรือชีวิตที่นอนเนื่องอยู่เช่นกัน ให้ครบองค์ของการทำงาน กล่าวคือเป็นการทำงานทำหน้าที่เฉพาะกิจนั้นๆ ที่จรมา จึงเกิดครบองค์ประกอบของการทำงานในกิจนั้นๆ ที่จรมา ถ้าจะพิจารณาให้เห็นแจ่มแจ้งขึ้น นาม-รูปหรือสภาวะของชีวิตก่อนสังขารข้างต้นเกิดขึ้นนั้น เปรียบเหมือนดั่งแท๊กซี่ที่ กำลังทำหน้าที่ให้บริการ กล่าวคือเกิดขึ้นแล้วหรือมีอยู่แล้วก็จริงอยู่ เพียงแต่ขณะนั้นกำลังขับตระเวณไปโดยทั่วๆ เพื่อหารับผู้โดยสารยังไม่มีหน้าที่ใดหรือยังไม่มีจุดมุ่งหมายใด ๆ อย่างแท้จริงเพราะยังไม่มีผู้โดยสาร แต่เมื่อมีผู้โดยสารที่จรหรือผุดมาอันเปรียบได้ดังสังขารข้างต้น เรียกใช้บริการเขาผู้นั้นย่อมแจ้งถึงจุดหมายอันเปรียบได้ดั่งวิญญาณ เพื่อให้นำพาไปยังจุดหมายปลายทาง แท๊กซี่คันนั้นหรือนาม-รูปจึงพร้อมทำหน้าที่บริการหรือทำหน้าที่แห่งตนตามที่ได้รับแจ้งโดยวิญญาณ แล้วจึงนำพาไปสู่จุดหมายอันเปรียบได้ดังสฬายตนะ ในองค์ธรรมต่อไปนั่นเอง ด้วยเหตุดังนี้จึงเป็นปัจจัยให้ สฬายตนะ อันเป็นจุดหมายเกิดการทำงานตามหน้าที่ตนขึ้นเช่นกัน นาม-รูป จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดการทำงานของ ---> สฬายตนะ
สฬายตนะ ส่วนที่รับผิดชอบจึงตื่นตัวตามนาม-รูป เมื่อนาม-รูปตื่นตัวทำงานจากสังขารดังกล่าวแล้ว เนื่องจากวิญญาณนี้เกี่ยวเนื่องกับความคิดหรือธรรมารมณ์ อายตนะภายในที่เกิดการทำงานขึ้นมารับผิดชอบโดยตรงย่อมต้องคือ ใจ ดังนั้น ใจ จึงเริ่มทำหน้าที่แห่งตนหลังจากนอนอยู่ ส่วนสฬายตนะอื่นๆ ก็ตื่นตัวรับการผัสสะที่อาจจรมากระทบเพิ่มเติมอีกก็เป็นได้อันเป็นไปตามธรรมของชีวิต เมื่อใจทำหน้าที่ จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยยังให้เกิด ---> ผัสสะ
ผัสสะ จึงเกิดการครบองค์ของการผัสสะ หรือการประจวบกันของธรรมทั้ง 3 คือ สังขาร อันความนึกคิด + สฬายตนะ คือส่วนใจ + มโนวิญญาณ อันเกิดขึ้นจากการผุดขึ้นของสังขาร ผัสสะจึงต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดาโดยอาการของธรรมชาติในผู้ที่มีชีวิต จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยยังให้เกิด ---> เวทนา
เวทนา เมื่อเกิดการผัสสะขึ้น เขาผู้นั้นย่อมเกิดความรู้สึกรับรู้ (เวทนา) ในสังขารสิ่งที่ผุดขึ้นมานั้น คือ ความนึกคิดเป็นธรรมดา อันเป็นไปตามธรรมชาติ และอย่างแน่นอนว่า เวทนานี้ย่อมมีอามิส กล่าวคือ ความจำ (สัญญาชนิดอาสวะกิเลส) ได้ในความสุข ความรัก ความหลัง ความสดชื่น และอาจย่อมมีความผิดหวัง ความรันทดแอบแฝงมาบ้าง ในเรื่องต่างๆ ของคนรัก อันล้วนย่อมต้องแฝงด้วยกิเลส อันคือ อาสวะกิเลส ข้างต้นนั่นเอง ดังนั้นเวทนาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นไปในทางคิดถึงด้วยความรัก จึงย่อมเป็นชนิด สุขเวทนาและย่อมต้องมีอามิส (กิเลส) อันเร่าร้อนแอบแฝงมาด้วยอย่างแน่นอน จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยยังให้เกิด ---> ตัณหา
ตัณหา เมื่อรับรู้ความรู้สึกของสังขารในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว เป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาก็ตามที จะค้างเติ่ง หยุดไปดื้อๆ ได้เชียวหรือ เหมือนดั่งลูกธนูที่ยิงออกไปจากแหล่งแล้ว จะสั่งลูกธนูให้หยุดวิ่งได้เชียวหรือ ลูกธนูหรือศรย่อมวิ่งไปตามธรรมดาของมันจนหมดกำลังนั่นแล และโดยวิสัยปุถุชนที่สั่งสมมาแต่อ้อนแต่ออก ก็ย่อมเกิดความอยาก (กามตัณหา, ภวตัณหา) หรือความติดเพลินในสุขเวทนาต่างๆ นั้น หรือเกิดความไม่อยาก (วิภวตัณหา) ในทุกขเวทนานั้นๆ ดังนั้นจิตย่อมต้องทำหน้าที่ของตนตามกระบวนธรรมต่อไปเป็นธรรมดาให้สมบูรณ์ ดังเช่นเมื่อเกิดสุขเวทนาแล้ว ในสภาวะเช่นนี้จึงย่อมเกิดความอยากหรือติดใจอยาก (ตัณหา) ที่จะพบจะเจอ อยากสัมผัส กล่าวคืออยากให้เป็นไปตามสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นนั้น จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยยังให้เกิด ---> อุปาทาน
อุปาทาน เมื่อเกิดความรู้สึกอยากหรือตัณหาต่อคนนั้นสิ่งนั้นแล้ว จิตของปุถุชนตามธรรมชาติแล้ว จะอยู่นิ่งเฉยต่อความอยากที่เกิดขึ้นนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ จิตย่อมต้องทำหน้าที่ของมันต่อไปโดยธรรมชาติ เพื่อให้ความอยากหรือติดใจอยากเหล่านั้นบรรลุผล กล่าวคือ จิตย่อมเกิดปฏิกิริยา คือกริยาของจิตที่พยายามสนองตอบต่อตัณหาที่เกิดขึ้นแล้วนั้น โดยสร้างแรงดึงดูดที่ละเอียดอ่อนแต่กำลังมหาศาลที่ดึงดูดมวลสรรพสัตว์ไว้ได้มาตลอดกาลนาน กล่าวคือ สร้างกริยาทางจิตที่มีเป้าหมายก็เพื่อให้บรรลุผล คือ สร้างความยึดมั่นหมายมั่น ในความพึงพอใจของตัวของตนขึ้น ก็เพื่อจุดประสงค์ที่จะให้ตัวตนของตนได้รับการตอบสนองนั่นเอง หรือเรียกกันสั้นๆว่า ยึดมั่นว่าเป็นของตัว ของตน หรือยึดมั่นว่าเป็นตัวกู ของกู ดังนั้นเขาผู้นั้นจึงย่อมเกิดความยึดมั่นถือมั่นที่จะให้เป็นไปตามตัณหาที่เกิดขึ้นมานั้น ก็เพื่อสนองตอบความพึงพอใจของตัวของตนที่เกิดขึ้น และเพื่อให้การสนองตอบนั้นสัมฤทธิ์ผล เขาผู้นั้นจึงตั้งใจที่จะกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยยังให้เกิด ---> ภพ
ภพ สภาวะอันเป็นที่อยู่ของจิต หรือความตั้งใจของจิต ที่เกิดขึ้นมาจากอำนาจอุปาทานดังกล่าว จึงเป็น กามภพ ชนิด ราคะ คือ อยากในรูป อยากได้ยินเสียง อยากได้ลิ้มรส อยากได้ในกลิ่น อยากได้ในสัมผัส จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยยังให้เกิด ---> ชาติ
ชาติ เขาผู้นั้นจึงเริ่มเร่าร้อน เป็นทุกข์ (ถ้าไม่พิจารณาโดยแยบคาย จะมองเห็นว่าทุกข์นี้เป็นสุข) กระหายอยาก กระวนกระวาย เผาลนใจด้วยความปรารถนา เนื่องจากสัญญาหมายรู้ (สัญญูปาทานขันธ์ในชาติ) ซึ่งย่อมล้วนเป็นไปหรือเอนเอียงไปตามภพหรือความพึงพอใจของตัวของตน แล้วเกิดสังขารขันธ์ชนิดสังขารูปาทานขันธ์หรือสังขารที่ประกอบด้วยอุปาทาน คือราคะ จึงเป็นทุกข์ชนิดเร่าร้อนกระวนกระวายเผาลนได้เริ่มเกิดขึ้นแล้วในจิตของเขาผู้นั้น ด้วยเหตุดังนี้ จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยยังให้เกิดสภาวธรรม ---> ชรา
ชรา ความแปรปรวน ความเปลี่ยนแปลง จึงหมายถึง เกิดความคิดต่างๆนาๆขึ้นมา อันคือ เกิดการคิดปรุงแต่งต่างๆนาๆ ที่ย่อมล้วนถูกครอบงำด้วยอุปาทาน กล่าวคือ อยู่ภายใต้อำนาจของการหมายรู้ตามความพึงพอใจของตัวของตน ตามภพหรืออุปาทานเป็นสำคัญ การเห็นรู้เข้าใจในสิ่งใด จึงล้วนเห็นและเป็นไปเพื่อตัวของตนเป็นใหญ่ จึงไม่เห็นตามความเป็นจริงที่เป็นไป จึงย่อมน้อมเอนเอียงไปตามความพึงพอใจของตัวของตนโดยไม่รู้ตัว และจะหยุดการปรุงแต่งก็หยุดไม่ได้เสียแล้ว เพราะอุปาทานความเป็นของตัวหรือของตนอันแรงกล้า ตลอดจนความเคยชินตามที่ได้สั่งสมในการคิดปรุงแต่งมาแต่เกิดด้วยอวิชชา จึงคิดนึกปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านวนเวียนอยู่แต่ในเรื่องที่เกี่ยวข้องพัวพันกับคนรักของรัก เป็นเส้นด้ายที่พันกันยุ่ง นั่นเอง
เหตุปัจจัยที่อุดหนุนกันเกิดเป็นกระบวนการตามลำดับในหลักปฏิจจสมุปบาท สามารถจัดเข้าในวัฏฏะ ๓ ได้ดังนี้ ๑. กิเลสวัฏฏะคือ แรกผลักดันของกิเลส อันเป็นเหตุให้เกิดการกระทำต่างๆ ได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน
๒. กัมมวัฏฏะ คือ การกระทำต่างๆ ที่มีเจตจำนงหรือเจตนา ซึ่งก่อให้เกิดผลต่อๆ ไป ได้แก่ สังขาร ภพ
๓. วิปากวัฏฏะ คือ ความเป็นไปแห่งชีวิตอันเป็นผลมาจากการกระทำ หากทำดี ผลก็จะออกมาดีหรือตอบสนองในทางดี หากทำชั่ว ผลก็จะตอบสนองในทางชั่ว แต่ผลของการกระทำอาจจะให้ผลช้าหรือเร็วเท่านั้น วิปากวัฏฏะ ได้แก่ วิญญาณ, นามรูป, สฬายตนะ, ผัสสะ, เวทนา
นี้เป็นกระบวนการเวียนว่ายตายเกิดของชีวิต เป็นวงจรหมุนเวียนอยู่ตลอดไปตราบเท่าที่ยังมีเหตุปัจจัยเหลืออยู่ เช่น กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม เมื่อเกิดการกระทำเมื่อใด การกระทำนั้นก็จะก่อให้เกิดผลตามมา จึงวนกันไปไม่มีที่สิ้นสุดเป็นแบบวงกลม คือ กิเลส กรรม วิบาก
โดยหลักการในการปฏิบัติเพื่อทำลายลูกโซ่แห่งชีวิต ซึ่งเป็นการตัดวงจรมิให้มีการสืบต่อหรือสนับสนุนของปัจจัยอื่น ท่านกล่าวว่า เราควรจะทำลายหรือตัดลูกโซ่ช่วงที่เป็นกิเลส คือ อวิชชา ตัณหา และอุปาทานก่อน โดยเริ่มจากการทำลายตัวตัณหา เพราะเมื่อตัณหาน้อยหรือเบาบางลง อุปาทานก็น้อยและเบาบาง แล้วอวิชชาคือความไม่รู้ ความเขลา ความมืดบอดก็ค่อยๆ จากลงและสูญสิ้นไปด้วย ตามหลักแห่งอริยสัจ ตัณหาเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์ (คือตัวสมุทัย) วิธีละหรือทำลายก็ดำเนินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ แต่ในหลักปฏิจจสมุปบาทนั้น ถ้าตัวสายโซ่ตามที่เรียงลำดับไว้ ก็คือการละหรือทำลายอวิชชา เพราะอวิชชาเป็นตัวทำให้สัตว์โลกมืดเขลา ปิดบังไม่ให้มองเห็นตามสภาพความเป็นจริงของชีวิตและสิ่งต่างๆ จึงทำให้เป็นกระบวนการอันหนึ่งที่ทำให้เกิดกระบวนการอื่นสืบต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด การทำลายอวิชชาก็เหมือนกับการออกจากที่มืด เมื่อวิชชาเกิดขึ้นก็เหมือนกับคนตาดียืนอยู่ในที่มีแสงสว่าง สามารถที่จะมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ ดังนั้น ในหลักปฏิบัติแล้ว เราสามารถจะปฏิบัติตามหลักอริยสัจ หรือปฏิจจสมุปบาทได้ แต่หากเป็นหลักปฏิบัติรวมๆ จะต้องปฏิบัติเพื่อทำลายกิเลส คือ อวิชชา ตัณหา และอุปาทาน นั่นเอง
ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ว่า “เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ ถ้าผู้ใดเข้าใจ ก็อาจจะปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของตนได้ .....มันเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องเข้าใจเรื่องนี้......ยังเป็นหน้าที่ที่ช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจด้วย ข้อนี้เป็นพุทธประสงค์
พระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ในโบสถ์ ไม่ได้อยู่ที่อินเดีย ไม่ได้อยู่ที่เมืองอื่น ลังกา พม่าไม่มี ท่านอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณเองทุกคน ทุกคนเอาความโง่ออกเสีย ไม่มีม่านแล้ว โอ้พระพุทธเจ้านั่งอยู่ตรงนี้นี่ เข้าไปในโบสถ์ก็พบแต่พระพุทธรูปซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า แม้แต่พระธาตุมันก็เป็นกากเศษที่เหลืออยู่แห่งอัตตภาพของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่องค์พระพุทธเจ้า องค์พระพุทธเจ้าคือความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท อย่างที่ท่านตรัสว่าเห็นปฏิจจสมุปบาทคือเห็นธรรม เห็นธรรมคือเห็นตถาคตนะฉะนั้นจงเห็นปฏิจจสมุปบาท ท่านจะเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ที่ประทับนั่งอยู่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณ พอเห็นปฏิจจสมุปบาท ม่านแห่งความโง่ ม่านแห่งอวิชชามันสลายไป มันสลายไป ไม่มีอะไรบังพระพุทธเจ้า นี่จึงพูดให้จำง่ายและค่อนข้างจะหยาบคายหน่อยนะว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณทุกคนเลย พอเอาม่านนี้ออกเสียได้ มันก็เป็นพระอรหันต์หมด มีพระพุทธเจ้า เห็นพระพุทธเจ้า กระทั่งว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์น้อยๆ เสียเอง” คำกล่าวของท่านพุทธทาสช่วยให้เราเข้าใจความสำคัญของหลักธรรมนี้ได้ชัดเจนมาก
ถ้าเราไม่เข้าใจเรา ก็จะพากันไปแก้แต่ปลายเหตุ ความสุขความดับทุกข์ถึงได้มีอยู่กับเราทุกคน ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ในปัจจุบันเป็นอริยมรรค เป็นการพัฒนาใจและพัฒนาวัตถุไปพร้อมๆ กัน ที่เป็นทางสายกลาง เราถึงต้องรู้จักในเรื่องศีล ศีลนี้มันคือความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ศีลสมาธิกับปัญญามันถึงแยกกันไม่ได้ ถ้าแยกกันเมื่อไร แสดงถึงความไม่ถูกต้อง ๓ อย่างนี้ต้องไปพร้อมกัน ถึงเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ พระพุทธเจ้าถึงตรัสบอกว่าสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ มีอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ ศีลสมาธิปัญญาถึงเป็นปัจจุบัน นี้ถึงจะดับทุกข์ได้ ถ้าเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ทุกอย่างนั้นมันจะเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นถึงจะว่างจากความเป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตน ถึงจะว่างจากสิ่งที่มีอยู่ได้ จะรู้จะเห็นจะได้ยินจะได้ฟังก็สักแต่ว่า นี่คือเหตุปัจจัยไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน สักแต่ว่า ใจของเราก็จะเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาไปตลอดกาล มองเห็นพระไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลาว่า ทุกอย่างไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวตน นี่คือเหตุคือปัจจัย เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงมีเฉยๆ เมื่อเรายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ เมื่อรู้เรื่องเหตุเรื่องปัจจัยต้องเข้าสู่ภาคปฏิบัติความรู้ถึงคู่ปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน เบื้องต้นต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ยกเลิกตัวยกเลิกตน ถ้าไม่ยกเลิกตัวไม่ยกเลิกตน ศีลสมาธิปัญญามันจะเกิดได้ยังไง เพราะว่ามันมีตัวมันมีตน พระพุทธเจ้าถึงบอกให้เราทุกคนพากันรู้เหตุรู้ปัจจัย ถ้าเรายังเอาตัวเอาตนเป็นที่ตั้ง คือเรายังไม่รู้งาน ถ้าเรารู้งานเราต้องยกเลิกตัวยกเลิกตน ถ้าเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้งมันก็เป็นได้แต่โลกธรรม โลกธรรมมันยังเป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตนอยู่
การเรียนการศึกษาคือยังไม่รู้นะ ถ้ารู้แล้วจะไปเรียนไปศึกษาทำไม การเรียนการศึกษาแสดงว่าไม่รู้เรื่องอริยสัจ ๔ ในเรื่องนั้นๆ ไม่รู้ในเรื่องนั้นๆ เหมือนคำว่าไปฝึกไปปฏิบัตินี้หมายถึงว่ายังไม่เป็น มันถึงไปฝึกไปปฏิบัติธรรมเมื่อเข้าใจแล้ว ถ้ามันเข้าใจแล้ว มันก็เข้าสู่ภาคปฏิบัติที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ที่เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาที่มันก้าวไปในปัจจุบัน สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่มาจากใจการทำที่สุดแห่งความดับทุกข์ ที่มาจากนิพพาน ทุกอย่างมันจะก้าวไปด้วยสัมมาทิฏฐิ ก้าวไปด้วยพระไตรลักษณ์ มันจะเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาอย่างนี้ ความสุขความดับทุกข์มันถึงจะอยู่ทุกหนทุกแห่งได้ ถ้ามีตัวมีตนความว่างมันเกิดไม่ได้ นิพพานมันเกิดไม่ได้ ผู้ที่ยังอบรมบ่มอินทรีย์ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า อย่าไปตรึกในกามอย่าไปตรึกในพยาบาท อย่าเอาความรู้สึกนี้เป็นเรา เพราะความรู้สึกนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่เป็นเรา ถ้าเราเอาความรู้สึกนั้นแสดงถึงเราไม่รู้อริยสัจ ๔ ถ้าเราไม่รู้อริยสัจ ๔ เราก็แก้ปัญหาไม่ได้
วันหนึ่งคืนหนึ่งเราก็พากันนอนพากันพักผ่อนสำหรับสามัญชนคนทั่วไปพากันนอน ๖ ชั่วโมง ใครที่นอนหลับยาก ๗ ชั่วโมง ๘ ชั่วโมง เรานอนหลับตื่นขึ้น เราก็เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติของใครของมัน เพราะอันนี้มันเป็นเรื่องของเราทุกคน เพราะเรามีหน้าที่ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ที่เราพากันมาบวชที่มาเป็นกลุ่มเป็นก้อนก็มุ่งเป็นทางเดียวกัน ต่างคนก็ต่างปฏิบัติ ทุกคนก็ปรับตัวเข้าหาธรรมะ ทุกคนก็ปรับตัวเข้าหาเวลา ทุกคนนั้นก็ไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ทุกคนก็ทำมาเป็นเหตุเป็นปัจจัย ทุกๆ ท่านให้เข้าใจการประพฤติการปฏิบัติ เราก็มีหลักอยู่แล้ว หลักก็คือพระนิพพานคือเหตุคือปัจจัยที่ประพฤติปฏิบัติ เพื่อเข้าหาความดับทุกข์ที่เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาในปัจจุบัน เราทุกคนถึงจะไม่มีความเครียด เพราะความเครียดคือตัวตนคือความทุกข์ เรามีตัวตนมันก็มีความเครียดอย่างนี้แหละ มันก็มีความทุกข์อย่างนี้แหละ เราก็ไม่สงบวิเวก เพราะเรามีตัวมีตน พระพุทธเจ้าบอกว่าเราอยู่ที่ไหนก็สงบก็วิเวก ถ้าเราไม่มีตัวไม่มีตน คนหลายหมื่นหลายแสนหลายล้าน ถ้าไม่มีตัวตนมันก็สงบวิเวก มันเป็นการพัฒนาเป็นทางสายกลางอย่างนี้ เราจะให้ว่างจากสิ่งที่ไม่มีอยู่ มันก็ไม่ได้ มันเสียหาย ทุกคนต้องเข้าใจในการประพฤติในการปฏิบัติ แต่ก่อนน่ะ เราไม่เข้าใจพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ช่างหัวมัน เมื่อเราเข้าใจแล้ว เราก็ยกเลิกตัวตน เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ
การเวียนว่ายตายเกิดมันเป็นของแซ่บของนัวของลำของอร่อยของหรอย เราก็ต้องรู้จักหน้าตา นี้คือทุกข์คือเหตุเกิดทุกข์ พระพุทธเจ้าถึงบอกให้เราหยุดตรึกในกาม หยุดตรึกในพยาบาท ให้ถือนิสัยของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ถือนิสัยของตัวของตน เราทุกคนเป็นพระได้ทุกคน ถ้าสมองยังปกติความเป็นพระนั้นไม่ใช่เป็นได้แค่นักบวช ความเป็นพระมันอยู่ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องเพราะพระไม่มีใครแต่งตั้งให้ มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มันเป็นความโชคเป็นความดับทุกข์
ส่วนใหญ่ก็ไม่อยากภาวนาทุกอย่างสู่พระไตรลักษณ์ พระพุทธเจ้าบอกผู้ที่บวชมาต้องภาวนาพระกรรมฐาน พิจารณาเกสาโลมานขาทันตาตะโจ ทุกส่วนของร่างกายสู่พระไตรลักษณ์ แต่ทุกคนก็ไม่อยากพิจารณาไม่อยากภาวนา อยากมีตัวมีตน ให้รูปสวยก็ยิ่งดี ให้เสียงไพเราะก็ยิ่งดี เมื่อเราไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยสิ่ งต่อไปจะมีได้ยังไง เราทุกคนต้องพิจารณาร่างกายสู่พระไตรลักษณ์ พิจารณาเวทนาสู่พระไตรลักษณ์ พิจารณาสัญญาสู่พระไตรลักษณ์ พิจารณาสังขารความปรุงแต่งเข้าสู่พระไตรลักษณ์ พิจารณาวิญญาณตัวผู้รู้สู่พระไตรลักษณ์ เพื่อเป็นฐานภาวนา เป็นการปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องเหมือนกับไก่มันฟักไข่ เราทุกคนก็จะพากันเอาแค่สงบ เราเลยไม่ได้จะเดินปัญญา พระพุทธเจ้าท่านให้เราทำใจสงบให้มีสติมีสัมปชัญญะ เอาสมาธิระดับขณิกสมาธิอุปจารสมาธิมาใช้งานในอิริยาบถทั้ง ๔ ใช้ได้ไม่มีปัญหา ระดับสมาธิลึกคืออัปปนาสมาธิขึ้นไปก็เอาไปใช้ได้สำหรับนั่งสมาธิในอิริยาบถนั่ง สำหรับประชาชนผู้ครองเรือน เช้าก็ชั่วโมงนึงเย็นก็ชั่วโมงนึงเพื่อเราจะได้ว่างจากนิติบุคคลตัวตนเราจะได้พักผ่อนยกเลิกตัวตนสักชั่วโมงหนึ่งก็ยังดี เราจะได้พักผ่อนทั้งกายทั้งใจไปพร้อมๆ กันสำหรับนักบวชเราเจริญสติสัมปชัญญะอยู่ในขณิกะสมาธิอุปจารสมาธิเป็นพื้นฐานในอิริยาบถทั้ง ๔ ได้ สมาธิลึกๆ ระดับอัปปนาสมาธิ สมาธิในระดับสูงเช้าชั่วโมงหนึ่งกลางวันชั่วโมงหนึ่งกลางคืนชั่วโมงหนึ่ง ก็สมควร ถ้านักบวชเอาแต่คลุกคลี เอาแต่เล่นโทรศัพท์ LINE โทรศัพท์ มันก็ไปไม่ได้ เพราะมันไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยที่เราจะได้ดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ เพราะว่าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย ให้เข้าใจตัวเองว่าพักผ่อนนะ คำว่าพักผ่อนหมายถึงยกเลิกตัวยกเลิกตน คือพักผ่อน เรามีตัวมีตนเราจะพักผ่อนได้ยังไง เรานะพากันรู้จักแต่พักผ่อนทางกาย แต่ไม่รู้จักพักผ่อนทางใจ ก็เรามีตัวมีตน เราพักผ่อนไม่ได้ เพราะใจของเราน่ะมีความยึดมั่นถือมั่น เป็นผู้แบกของหนักพาไป เราไม่ได้พักผ่อนนะ พระพุทธเจ้าพระอรหันต์คือผู้ที่ยกเลิกตัวตน คือผู้ที่พักผ่อน ต้องรู้เรื่องจิตเรื่องใจ เรามีตัวมีตน เราจะเข้าใจแต่เรื่องพักผ่อนทางกาย เราต้องเข้าใจ เรื่องพักผ่อนทางกายด้วยพักผ่อนทางใจด้วย ถ้าเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เราก็จะสงสารพ่อสงสารแม่สงสารลูกทำงานหนักไม่มีการพักผ่อน เรารู้จักแต่พักผ่อนทางกาย ไม่รู้จักพักผ่อนทางจิตใจ ตัวตนนั้นคือการไม่ได้พักผ่อน
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee