แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันพุธที่ ๑๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระธรรมตอนที่ ๒๒ มีธรรมาธิปไตย มีธรรมะเป็นใหญ่ไว้ปกครองตน แล้วจึงจะปกครองผู้อื่นได้อย่างสง่างาม
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การปกครองประเทศไทยของเรา ได้เอาธรรมะ เป็นการปกครอง มาจากบรรพบุรุษ บรรพบุรุษนั้น ก็เป็นป่าเป็นเขาเป็นลำเนาไพร เหตุการณ์ได้ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ธรรมะก็คือ “ธรรมาธิปไตย” ทุกคนปรับตัวเข้าหาธรรมะทั้งหมด ทุกๆ ครอบครัว ในการปกครองด้วยธรรมาธิปไตยนี้ เริ่มต้นจากพ่อจากแม่ ทั้งประเทศนี้ก็เริ่มต้นจากพระมหากษัตริย์ พ่อแม่ก็เอาธรรมะ พระมหากษัตริย์ก็เอาธรรมะ ผู้ปกครองประเทศถึงเป็นผู้ทรงทศพิธราชธรรม เพราะโครงสร้างความมั่นคงของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มันต้องไปอย่างนี้ เพราะคนส่วนใหญ่ก็ต้องมีหลักการเป็นจุดยืน สมัยที่ผ่านมาก็ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก ปัจจุบันก็ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก ต่อไปก็ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก ถึงแม้จะมีคนรุ่นใหม่สมัยใหม่ จะมีประชาธิปไตย ก็ต้องปรับข้อหาธรรมะ จะเป็นประเพณีนิยมที่เราทำมาจากพ่อออกจากแม่ที่ไม่ใช่ธรรมะ ที่มันยังเป็นตัวเป็นตนก็ต้องปรับเข้าหาธรรมะ จะเป็นสังคมนิยมก็ต้องปรับเข้าหาธรรมะ
การดำเนินชีวิตของเราถึงต้องมีบ้านมีวัดมีโรงเรียนทุกๆ อย่างพัฒนาไปพร้อมๆ กัน ที่เป็นอริยมรรค เป็นหนทางที่ประเสริฐ ปรับตัวเข้าหาธรรมะปรับตัวเข้าหาเวลา เพราะทุกคนจะไม่เอาธรรมะไม่ได้ ข้าราชการก็ต้องธรรมะ นักการเมืองก็ต้องธรรมะ ผู้ที่มาเป็นนักบวช เป็นศาสนาพุทธหรือศาสนาพราหมณ์ฮินดูซิกอิสลามก็ต้องธรรมะ ไม่ใช่นิติบุคคลตัวตน เราต้องปกครองตัวเองและปกครองคนอื่นด้วยธรรมะ ต้องมีความสมัครสมานสามัคคีกันเป็นหลัก ด้วยความสมัครสมานสามัคคีนี้ไปในทางเดียวกัน พัฒนาทั้งธรรมะพัฒนาทั้งวิทยาศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน อย่างผู้ที่เป็นข้าราชการและนักการเมืองก็กินเงินเดือนของส่วนรวม จะไปโกงกินคอรัปชั่น ไม่ได้ ตำแหน่งข้าราชการถือว่าเป็นตำแหน่งที่มั่นคง ที่เราแข่งขันกันเรียนตั้งแต่อนุบาลตั้งแต่ปริญญาเอก ก็เพื่อมีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องในเรื่องทางวัตถุแต่ละอย่าง เช่นผู้ที่เรียนทางหมอ อย่างนี้ก็ให้เป็นผู้มีพุทธะทางความเป็นหมอ อย่างนี้เป็นต้น
ต้องปรับตัวเข้าหาเวลาเหมือนนาฬิกานี้แหละเหมือนกับอาทิตย์อย่างนี้ เหมือนโลกหมุนรอบตัวเอง และก็ต้องมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติคนเราถ้าไม่มีความสุขก็เป็นโรคจิตโรคประสาทเป็นโรคซึมเศร้า จะเอาความชอบความไม่ชอบไม่ได้ เพราะความชอบหรือความไม่ชอบมันก็ไม่ใช่ทางสายกลาง เพราะการเวียนว่ายตายเกิดของเรา มันมีต้นเหตุมาจากอวิชชามาจากความหลง มาจากการไม่รู้อริยสัจ ๔ จึงต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เอาธรรมะเป็นใหญ่ เป็นธรรมาธิปไตย
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อธิปไตย (ความเป็นใหญ่) ๓ ประการนี้ คือ ๑. อัตตาธิปไตย (ความมีตนเป็นใหญ่) ๒. โลกาธิปไตย (ความมีโลกเป็นใหญ่) ๓. ธัมมาธิปไตย (ความมีธรรมเป็นใหญ่)”
อัตตาธิปไตย เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าบ้าง อยู่ตามโคนต้นไม้บ้าง อยู่ในเรือนว่างบ้าง ย่อมเห็นประจักษ์ว่า “เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งจีวรบิณฑบาต เสนาสนะ เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งความมีหรือความไม่มีเช่นนั้น อนึ่ง เราถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสครอบงำชื่อว่าถูกทุกข์ครอบงำ มีทุกข์อยู่ตรงหน้า ทำอย่างไร การทำที่สุดกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏ การที่เราละกามเช่นใดแล้วจึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เราพึงแสวงหากามเช่นนั้น หรือกามที่เลวกว่านั้น นั้นไม่สมควรแก่เราเลย”
ภิกษุนั้นเห็นประจักษ์ว่า “ความเพียรที่เราเริ่มไว้แล้วจักไม่ย่อหย่อน สติที่ตั้งมั่นแล้วจักไม่เลอะเลือน กายที่สงบแล้วจักไม่กระสับกระส่าย จิตที่ตั้งมั่นแล้วจักมีอารมณ์แน่วแน่” เธอทำตนเท่านั้นให้เป็นใหญ่ ละอกุศล บำเพ็ญกุศล ละกรรมที่มีโทษ บำเพ็ญกรรมที่ไม่มีโทษ รักษาตนให้บริสุทธิ์ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อัตตาธิปไตย
โลกาธิปไตย เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าบ้าง อยู่ตามโคนต้นไม้บ้าง อยู่ในเรือนว่างบ้างย่อมเห็นประจักษ์ว่า “เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งความมีหรือความไม่มีเช่นนั้น อนึ่ง เราถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาสครอบงำ ชื่อว่าถูกทุกข์ครอบงำ มีทุกข์อยู่ตรงหน้า ทำอย่างไร การทำที่สุดกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏ ก็เราบวชแล้วอย่างนี้พึงคิดเรื่องกาม เรื่องปองร้าย เรื่องเบียดเบียน โลกสันนิวาส (การอยู่ร่วมกันของสัตว์โลก) นี้ใหญ่ ก็ในโลกสันนิวาสใหญ่มีสมณพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ มีตาทิพย์ รู้จิตของบุคคลอื่น สมณพราหมณ์เหล่านั้นมองเห็นได้แม้จากที่ไกล แม้อยู่ใกล้ก็ไม่ปรากฏ รู้จิต (ของบุคคลอื่น) แม้ด้วยจิต (ของตน) สมณพราหมณ์แม้เหล่านั้นพึงรู้จักเราอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลายโปรดดูกุลบุตรนี้ เพราะมีศรัทธา เขาจึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เต็มไปด้วยบาปอกุศลธรรมอยู่ แม้เทวดาผู้มีฤทธิ์ มีตาทิพย์ รู้จิตของบุคคลอื่นก็มีอยู่เทวดาเหล่านั้นย่อมปรากฏจากที่ไกลบ้าง เข้ามาใกล้แล้วกลับมองไม่เห็นบ้าง ย่อมรู้จิตด้วยจิตบ้าง’ เทวดาแม้เหล่านั้นพึงรู้จักเราอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลายโปรดดูกุลบุตรนี้ เพราะมีศรัทธาเขาจึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เต็มไปด้วยบาปอกุศลธรรมอยู่”
ภิกษุนั้นเห็นประจักษ์ว่า “ความเพียรที่เราเริ่มไว้แล้วจักไม่ย่อหย่อน สติที่ตั้งมั่นแล้วจักไม่เลอะเลือน กายที่สงบแล้วจักไม่กระสับกระส่าย จิตที่ตั้งมั่นแล้วจักมีอารมณ์แน่วแน่” เธอทำโลกเท่านั้นให้เป็นใหญ่ ละอกุศล บำเพ็ญกุศล ละกรรมที่มีโทษ บำเพ็ญกรรมที่ไม่มีโทษ รักษาตนให้บริสุทธิ์ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า โลกาธิปไตย
ธัมมาธิปไตย เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าบ้าง อยู่ตามโคนต้นไม้บ้าง อยู่ในเรือนว่างบ้าง ย่อมเห็นประจักษ์ว่า “เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่เพราะเหตุแห่งความมีหรือความไม่มีเช่นนั้น อนึ่ง เราถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสครอบงำ ชื่อว่าถูกทุกข์ครอบงำ มีทุกข์อยู่ตรงหน้า ทำอย่างไร การทำที่สุดกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ก็เพื่อนพรหมจารีผู้รู้เห็นอยู่ มีอยู่ การที่เราบวชในธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วอย่างนี้พึงเกียจคร้านประมาทอยู่นั้นไม่สมควรแก่เราเลย”
ภิกษุนั้นย่อมเห็นประจักษ์ว่า “ความเพียรที่เราเริ่มไว้แล้วจักไม่ย่อหย่อน สติที่ตั้งมั่นแล้วจักไม่เลอะเลือน กายที่สงบแล้วจักไม่กระสับกระส่าย จิตที่ตั้งมั่นแล้วจักมีอารมณ์แน่วแน่” เธอยกธรรมเท่านั้นให้เป็นใหญ่ ละอกุศล บำเพ็ญกุศล ละกรรมที่มีโทษ บำเพ็ญกรรมที่ไม่มีโทษ รักษาตนให้บริสุทธิ์ ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธัมมาธิปไตย
ภิกษุทั้งหลาย อาธิปไตย ๓ ประการนี้แล
อธิปไตย ๓ และทางสายกลางแห่งอธิปไตย
อธิปไตย หมายถึง ความเป็นใหญ่ อันเป็นสิทธิ์หรืออำนาจในตัวบุคคลที่จะนำมาใช้ในการดำรงชีวิต ทั้งในลักษณะของการเป็นผู้นำ ผู้ปกครอง และผู้ปฎิบัติ อันจะทำให้สังคมเจริญ และเกิดความสงบสุข
อธิปไตยมีอยู่ในคนเราทุกคน โดยเฉพาะที่เป็นสิ่งที่สำคัญในการที่จะทำให้ประชาชนได้รับหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม และความสงบสุขในฐานะที่ประชาชนเป็นเจ้าของอธิปไตย และได้มอบอธิปไตย
อรรถาธิบายอธิปไตย ๓
๑. อัตตาธิปไตย หมายถึง การถือเอาตนเป็นใหญ่คือการชอบทำอะไรตามใจตัวหรือเอาแต่ใจตัวหรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือการถือเอาอารมณ์ตนเป็นใหญ่หรือพวกเจ้าอารมณ์ ในฐานะที่มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม จำเป็นจะต้องอยู่ร่วมกันในสังคม การที่จะทำอะไร จะเอาแต่ใจตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ เพราะคนเราย่อมมีความรู้สึกนึกคิดต่างๆกัน อย่างภาษาพระท่านว่า "นานาจิตตัง" ถ้าเราจะถือแต่ใจเราเป็นใหญ่ คนอื่นเขาก็ย่อมมีสิทธิที่จะถือใจเขาเป็นใหญ่ได้เช่นเดียวกัน เมื่อต่างคนต่างถือเอาตนเป็นใหญ่ ต่างคนก็ต่างจะเอาแต่ใจตัว ก็ย่อมก่อให้เกิดความขัดเคืองกัน การทะเลาะวิวาทและต่อสู้ประหัตประหารกันในที่สุด อย่างน้อยที่สุด คนที่ทำอะไรเอาแต่ใจตัวเองนั้น ย่อมไม่เป็นที่พึงปรารถนาของใคร ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย เพราเป็นคนเจ้าอารมณ์ เดี๋ยวอารมณ์ดี เดี๋ยวอารมณ์ร้าย เอาใจยาก แต่ในด้านดีก็มีเหมือนกัน ถ้าหากเราเป็นคนดีมีคุณธรรม เราจะทำความดี ก็ไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะมีคนอื่นเขาค่อนแคระเราว่าโง่ครึหรือไม่ เมื่อเราเห็นว่าเป็นความดีแล้ว แม้ใครจะว่าเราครึ ไม่ทันโลก เราก็ไม่ต้องไปคำนึงถึงคำกล่าวหาของคนพาลเช่นนั้น เมื่อเราเห็นว่าการดื่มสุรา การสูบบุหรี่ ฯลฯ เป็นอบายมุข ไม่ใช่สิ่งที่ดีงาม เราก็ไม่ประพฤติหรือปฏิบัติอย่างที่คนอื่นๆเขาทำกัน อย่างนี้ชื่อว่า เราเป็นตัวของตัวเอง ดังนั้นคำว่า "อัตตาธิปไตย" จึงอาจเป็นได้ทั้งในด้านดีและด้านไม่ดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางด้านจิตใจและภูมิธรรมของคน
อัตตาธิปไตย (ความมีตนเป็นใหญ่) อัตตาธิปไตย เป็นอำนาจสูงสุดขึ้นอยู่กับบุคคลคนเดียว ซึ่งหมายความว่า บุคคลคนเดียวเป็นศูนย์รวมแห่ง อำนาจการปกครองบ้านเมืองทั้งหมด ในอำนาจ ๓ ทาง (๑) อำนาจบริหาร (๒) อำนาจตุลาการ (๓) และอำนาจนิติบัญญัติ
อำนาจ ๓ ทางนี้ หากรวมอยู่ที่บุคคลคนเดียวกัน บุคคลอื่นเพียงเป็นผู้รับสิ่งหรือนโยบายไปปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของอำนาจเท่านั้น จึงเรียกว่า ระบบกษัตริย์แบบสมบูรณาสิทธิราชย์ อันมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมอำนาจการปกครอง หากเป็นระบบสาธารณรัฐ ประมุขหรือประธานประเทศ หรือประธานาธิบดี จะเป็นศูนย์รวมอำนาจ ซึ่งมักจะเรียกระบบนี้ว่า เป็นระบบ “เผด็จการ” มี ปรากฏในลัทธิ คอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต ของจีน ของเกาหลีเหนือ หรือ เผด็จการของนาซี เยอรมัน ฟาสต์ซิสต์ของอิตาลี ในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้น พระพุทธศาสนาได้ให้ผู้ปกครองด้วยระบบอัตตาธิปไตยว่า ผู้ปกครองด้วยระบบนี้ ต้องมี “สติ” กำกับตัวเองตลอดเวลา เพราะผู้ใช้อำนาจคือปัจเจกบุคคล ต้องมีสติควบคุมตัวเองทุกครั้งที่ใช้อำนาจ
๒. โลกาธิปไตย (ความมีโลกเป็นใหญ่) โลกาธิปไตย เป็นอำนาจสูงสุดขึ้นอยู่กับความเห็นของคนหมู่ของคนส่วนใหญ่ ซึ่งหมายความว่า ประชาชน คนส่วนใหญ่ มีความเห็นอย่างไรก็ถือเอาตามนั้น โลกาธิปไตยนี้ ปัจจุบันมีใช้ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ถ้าเป็นประเภทประชาธิปไตยโดยตรงก็จะให้ประชาชนทั้งประเทศมาประชุมปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับนโยบาย การจัดการ การบริหารบ้านเมือง โดยประชาธิปไตยโดยตรงจะนำมาใช้ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ส่วนประชาธิปไตยประเภทโดยอ้อม ซึ่งเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน กล่าวคือ เมื่อไม่สามารถนำประชาชนมาประชุมแสดงความคิดเห็นพร้อมกันได้ทั้งประเทศ ก็ให้ประชาชนเหล่านั้นเลือกตัวแทนของตนขึ้นมาทำหน้าที่แทนตน ตัวแทนเหล่านั้นออกเสียงหรือลงคะแนนเสียงจับสลาก แสดงความคิดเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นความคิดเห็นของบุคคลหรือมติมหาชนที่คัดเลือกผู้ใดในชุมชนคนของตนเองที่คัดเลือกของประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกกันเข้ามาหรือเลือกตนมา
แนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยแนวพระวินัยปิฎก จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติพระวินัย เพื่อเป็นแนวในการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ แต่การบัญญัติวินัยนั้นก็ทรงบัญญัติเป็นพระสงฆ์มิได้บัญญัติตามลำพัง ต้องให้เกิดเรื่องก่อน แล้วประชุมสอบสวนแล้วบัญญัติพระวินัยท่ามกลางพระสงฆ์ ด้วยความเห็นชอบของพระสงฆ์ต่างพร้อมใจกันนำไปปฏิบัติ การทำกรรมต่างๆ ของสงฆ์ ยกเว้นอปโลกนกรรม ล้วนให้ทำเป็นการสงฆ์ทั้งสิ้น กล่าวคือ
ญัตติกรรม-ทำด้วยสงฆ์จตุวรรค คือ ๔ รูปขึ้นไป เช่นการสวดปาติโมกข์
ญัตติทุติยกรรม-ทำด้วยสงฆ์ปัญจวรรคคือ ๕ รูปขึ้นไป เช่น เรื่องกฐิน
ญัตติจตุตถกรรม-ทำด้วยสงฆ์ ทสวรรค คือ ตั้งแต่ ๑๐ รูปขึ้นไปยกเว้นในที่กันดาร เช่นการอุปสมบท
การให้มานัตต์ การสวดอัพภาน ก็ต้องใช้สงฆ์ตั้งแต่ ๒๑ รูปขึ้นไป
จึงกล่าวได้ว่า พระวินัย คือ รัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ
พระสงฆ์ คือ สมาชิกสภาผู้แทน คุณสมบัติของพระสงฆ์ คือ คุณสมบัติของสมาชิก อำนาจพระสงฆ์ คือ อำนาจอธิปไตย
และในการประชุมทำกรรมต่างๆ เป็นการสงฆ์นั้น ต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ จริงๆ ถ้ามีข้อข้องใจมีสิทธิ ยับยั้ง (Veto) ได้ แม้เพียงเสียงเดียวสงฆ์ทั้งหมดก็ต้องฟังดังท้ายกรรมวาจาว่า "ยสฺสายสฺมโต ขมติ... ...โส ตุณฺหสฺส ยสฺส น ขมติ โส ภาเสยฺย" "ถ้ากรรมนี้ ชอบใจต่อท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเงียบ ถ้าไม่ชอบใจต่อท่านผู้ใดท่านผู้นั้นพึงพูดขึ้น"
อนึ่งการทำกรรมอันใดก็ตาม พระวินัยจะต้องพร้อมเพรียงกัน ดังคำขึ้นต้น ของกรรมวาจาว่า "ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ" ซึ่งแปลว่า "ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ พร้อมแล้ว... สงฆ์พึงทำ..." ดังนี้.
หลักอปริหานิยธรรม ๗ คือ - หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
- เมื่อประชุมก็พร้อมกันเข้าประชุม และพร้อมเพรียงกันเลิกประชุม
- ไม่ทำลายหลักการเดิม - เคารพผู้หลักผู้ใหญ่ - คุ้มครองกุลสตรี มิให้ถูกข่มเหง - เคารพ เจดีย์ อนุสาวรีย์คนสำคัญของชาติ - ให้การคุ้มครองอารักขาสมณะชีพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในรัฐ
พระพุทธศาสนาเสนอแนะระบบการปกครองแบบโลกาธิปไตยนี้ว่า “พึงใช้ปัญญาครองตน และรู้จักเพ่งพินิจใน การใช้อำนาจ” ถามว่า ทำไมจึงต้องใช้ปัญญาและรู้จักเพ่งพินิจ ตอบว่า แม้จะเป็นเสียงของคนหมู่มากหรือความเห็นของคนหมู่มากในการใช้อำนาจ แต่ถ้าไม่รู้ จักใช้ปัญญาไตร่ตรองให้ดี หรือเพ่งพินิจพิจารณาให้ดี เสียงหมู่มาก คนหมู่มากก็ มีสิทธิ์ผิดพลาดได้ มีสิทธิ์บกพร่องได้ ดังนั้น การใช้ปัญญาไตร่ตรองโดยปราศจากอคติใดๆ ก็จะสามารถให้ความยุติธรรมได้
๓. ธัมมาธิปไตย (ความมีธรรมเป็นใหญ่) ธัมมาธิปไตย เป็นอำนาจสูงสุดอันอยู่กับ “ธรรมะ” คือ ความถูกต้องโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นความเห็นของคนส่วนใหญ่หรือคนส่วนน้อยหรือแม้จะเป็นความเห็นของบุคคลคนเดียว (ปัจเจกชน) ถ้าเป็นความเห็นที่ชอบธรรมหรือเป็นความเห็นที่ถูกต้องก็เห็นพ้องตามสิ่งนั้น
พระพุทธเจ้าทรงยกย่องธัมมาธิปไตยว่าประเสริฐสุดดีที่สุด ส่วนโลกาธิปไตยก็ยังดีกว่าเอกาธิปไตยจะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ตำหนิระบบเผด็จการที่เป็นเอกาธิปไตย ถ้าเผด็จการนั้นยึดมั่นในคุณธรรม ในเหตุในผลอันถูกต้อง มีความเป็นธรรม และมีความยุติธรรมต่อประชาชนเหมือนกับพ่อปกครองลูก และทรงมิได้ยกย่องว่าระบอบประชาธิปไตย หรือ โลกาธิปไตย เป็นระบบการปกครองที่ประเสริฐสุด เพราะก็มีจุดด้อยเช่นกัน และแม้นักปรัชญาทางการปกครอง ก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ โดยกล่าวว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่มีจุดด้อยน้อยที่สุด
การปกครองที่ถือธรรมหรือความ ถูกต้องเป็นใหญ่ ไม่ยึดถือเอาบุคคล กลุ่มบุคคลหรือกฎกติกาใดๆ ที่ไม่ถูกต้อง ไม่ดีงามมาปฏิบัติ แต่ยึดถือเอาธรรมเท่านั้น พระพุทธศาสนาเสนอแนะผู้เป็นธรรมาธิปกว่า “พึงประพฤติให้ถูกหลักธรรม” เพราะธรรมจะอภิบาลทั้งผู้ปกครอง และผู้ถูกปกครองให้มีความเป็นอยู่อย่างสันติสุข สังคมสงบ สังคมมีความสามัคคี ประเทศชาติก็เจริญรุ่งเรือง
ทางสายกลางแห่งอธิปไตย ๓
อธิปไตยทั้ง ๓ แบบ หากยึดหรือนำเพียงแบบใดแบบหนึ่งย่อมส่งผลดี และผลเสียควบคู่กัน แต่หากนำลักษณะหรือหลักการบางอย่างมารวมเป็นข้อปฏิบัติร่วมกัน ก็ย่อมส่งผลดี และเกิดประสิทธิภาพในการปกครองหรือการใช้ชีวิตได้มากกว่า แนวทางนี้ เรียกว่า ทางสายกลางแห่งอธิปไตย ๓ ได้แก่ – เป็นผู้รู้จักใช้ปัญญาพิจารณา – เป็นผู้มีความเด็ดขาด และเชื่อมั่นในตนเอง – เป็นผู้รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น – รู้จักตามทันข่าวสาร และเหตุการณ์ของโลก – ไม่เชื่อข่าวสารหรือผู้อื่นโดยง่าย และเชื่ออย่างมีเหตุมีผล – ใช้หลักธรรมเป็นพื้นฐานประกอบการพิจารณาตัดสินใจ – ปฏิบัติตามกฎ ศีลธรรม และประเพณีอันดีงามของสังคม – มั่นศึกษาหาความรู้อยู่เป็นนิจ
หลักการใช้อธิปไตย พระพุทธเจ้าทรงนิยม ธรรมาธิปไตย คือ เอาหลักการเป็นใหญ่ มิใช่ อัตตาธิปไตย เอาตนเป็นใหญ่ หรือ โลกาธิปไตย เอาโลกหรือพวกพ้องเป็นใหญ่ ดังพระองค์แสดงไว้อย่างชัดเจน "เนสา สภา ยตฺถ น สนฺติ สนฺโต = ที่ใดไม่มีสัตบุรุษ ที่นั้นมิใช่สภา" สัตบุรุษ คือ ผู้รู้จักเหตุผล-รู้จักตน รู้จักประมาณ-รู้จักกาล-รู้จักชุมชุม และรู้จักความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
ชื่อว่าความลับของผู้ทำบาปย่อมไม่มีในโลก แน่ะบุรุษ ตัวท่านเองย่อมรู้ว่าจริงหรือเท็จ ท่านผู้เจริญ ท่านสามารถทำความดีได้ แต่กลับดูหมิ่นตัวเองเสีย และยังปกปิดความชั่วซึ่งมีอยู่ในตน ทวยเทพและตถาคตย่อมมองเห็นท่าน ผู้เป็นคนพาล ประพฤติไม่สม่ำเสมอในโลก
เพราะเหตุนั้นแล คนที่มีตนเป็นใหญ่ควรมีสติเที่ยวไป
คนที่มีโลกเป็นใหญ่ควรมีปัญญาและเพ่งพินิจ
ส่วนคนมีธรรมเป็นใหญ่ควรประพฤติตามธรรม
มุนีผู้มีความบากบั่นอย่างจริงจังย่อมไม่เสื่อม บุคคลใดมีความเพียร ข่มมาร ครอบงำมัจจุราชผู้กำหนดชะตากรรมเสียได้ สัมผัสธรรมเป็นที่สิ้นความเกิด บุคคลเช่นนั้น ย่อมเป็นผู้รู้แจ้งโลก มีปัญญาดี เป็นมุนีหมดความทะยานอยากในสิ่งทั้งปวง
อธิปไตยทั้ง 3 ประการที่กล่าวมาแล้วนั้น พระพุทธศาสนาถือว่า “ธรรมาธิปไตย” เป็นยอดของการปกครอง เพราะผู้ปกครองมีทั้งหลักธรรมในการปกครอง
พระพุทธศาสนาถือว่า “ธรรมาธิปไตย” เป็นยอดของการปกครอง เพราะผู้ปกครองมีทั้งหลักธรรมในการ ปกครองและคุณธรรมของผู้ปกครองดังกล่าวมาแล้วเป็นเครื่องมือในการปกครอง สังคมโลกปัจจุบันที่มีความวุ่นวาย ด้วยภัยต่างๆ เช่น โจรภัย ราชภัย หรือแม้แต่ภัยคือสงคราม เป็นต้น เพราะสังคมขาดธรรม แม้ธรรมาธิปไตย จะเป็นการปกครองที่เป็นอุดมคติ แต่เราผู้เป็นคนสร้างสังคมก็ควรบากบั่น ควรพยายาม ควรอดทน ทำให้สังคมมี “ ธรรม ” คุ้มครอง เพราะธรรมจะทำให้เรา ทุกคน ลูกหลานของเราทุกคนอยู่กันอย่างสันติสุข ไม่มีระบบการปกครองอื่นใด จะประเสริฐกว่านี้อีกแล้ว
คนเราน่ะ ความดับทุกข์ไม่ได้อยู่ที่เป็นมหาเศรษฐีนะ เป็นมหาเศรษฐีก็ต้องเอาธรรมเป็นหลัก เอาตัวตนเป็นหลักมันก็ไม่มีความดับทุกข์อยู่แล้ว
ทำไมมีพระศาสนา ก็เพราะว่าพระศาสนานี้เป็นเรื่องธรรมะเรื่องจิตเรื่องใจ ทุกศาสนานี้จะได้รับสิทธิพิเศษ ไม่ว่าพุทธคริสต์อิสลาม จะได้รับสิทธิพิเศษ เพราะพวกนี้ยกเลิกตัวตน ไม่ต้องทำมาหากิน พัฒนาแต่เรื่องจิตเรื่องใจ เมื่อตัวเองปฏิบัติแล้วจะได้บอกวิธีการหลักการให้กับผู้อื่นได้
ความเป็นพระนั้นที่แท้จริงก็เป็นได้ ผู้ที่มาบวชจะเป็นวัดบ้านวัดป่า เถรวาท มหายาน วัชรยาน หรือจะเป็นนิกายไหน ก็เป็นเรื่องดับทุกข์อย่างนี้ ถ้าเราอยู่กับปัจจุบัน แต่ด้วยความไม่เข้าใจ แล้วไม่รู้จักพระศาสนาว่าเป็นของดีของประเสริฐ แล้วก็ไม่เข้าใจพระศาสนา นึกว่าตายไปแล้วถึงจะได้ไปสวรรค์ไปนิพพาน ความเป็นจริงแล้วพระพุทธเจ้าให้พวกเรา ทั้งผู้ที่เป็นนักบวชและผู้ไม่ได้บวช เข้าถึงความเป็นมนุษย์ ความเป็นเทวดา หรือเป็นพรหม หรือว่าเป็นพระอริยเจ้าตั้งแต่ปัจจุบัน มันแน่นอน การเวียนว่ายตายเกิดมันมีอยู่ แต่พระพุทธเจ้าให้เราเข้าถึงตั้งแต่ปัจจุบัน แต่ว่าพระภิกษุสามเณรนักบวชปฏิบัติกันคนละอย่างกับพระพุทธเจ้าเลย เราเอาวัตถุ พระพุทธเจ้าเอาจิตใจด้วยเอาวัตถุไปพร้อมกัน ด้านจิตใจก็ไม่ยิ่งหย่อน และวัตถุก็ไม่ยิ่งหย่อน เป็นสิ่งที่ทันโลกทันสมัย
คนที่เป็นผู้นำนี้สำคัญ พ่อแม่ก็คือผู้นำ ข้าราชการนักการเมืองเป็นผู้นำ พวกนักบวชก็ถือว่าเป็นผู้นำ คนเรามันจะนำคนอื่นได้ มันก็ต้องแก้ไขตัวเองจัดการตัวเองก่อน สิ่งที่มันผิดพลาดไปแล้ว พวกเราจะพาทำกันยังไง เพราะว่าความผิดพลาดมันยังเป็นประชาธิปไตย เพราะทำตามกันทั้งประเทศหรือว่าทั้งโลก ดังนั้น ความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ความสมัครสมานสามัคคี เป็นสิ่งที่สำคัญ พอสมัครสมานสามัคคีกัน เราก็ทำอย่างนี้ คนอื่นกระทำอย่างนี้ไปในทางเดียวกัน เราจะไปคนละทาง ถ้าเราไปคนละทางมันก็เป็นได้แต่เพียงความหลง หรือว่าเป็นได้แต่เพียงคนมันวุ่นวาย มันสับสน ถ้าเราไม่มีความสมัครสมานสามัคคีไปในทางเดียวกัน มันก็ไปไม่ได้ อย่างวัวเทียมเกวียนสมัยโบราณ มันก็มีวัว ๒ ตัว เดินคู่ไปพร้อมกัน ล้อของเกวียนมันถึงไปได้ ไม่ใช่หันหน้าไปคนละทาง มันจะไปได้อย่างไร ผู้นำนี้สำคัญต้องเอาความถูกต้อง อย่างรถไฟมันก็อยู่ที่หัวจักร รถขับไปนี้ก็คือที่บรรทุกคนโดยสารหลายคนที่ปลอดภัยก็อยู่ที่ผู้นำอยู่ที่คนขับ ถึงบ้านอย่างครอบครัวหนึ่งมันมีหลายคนอย่างนี้ ทุกคนก็คิดเหมือนๆ กัน ทำงานเหมือนๆ กัน ครอบครัวมันถึงจะไปได้ ต้องเอาความถูกต้อง
หลวงปู่มั่นสอนว่า “ความไม่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และแน่นอน ความยิ่งใหญ่คือความไม่ยั่งยืน ชีวิตที่ยิ่งใหญ่คือชีวิตที่อยู่ด้วย ทาน ศีล เมตตาและกตัญญู ชีวิตที่มีความดีอาจมิใช่ความยิ่งใหญ่แต่ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ต้องอาศัยคุณธรรมความดีเท่านั้น”
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee