แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระธรรม ตอนที่ ๑๗ พระภายในพระที่แท้จริงนั้น อยู่ที่ตัวเรามีความเห็นถูกต้องปฏิบัติถูกต้องตามอริยมรรคมีองค์ ๘
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ พากันมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องแล้วปฏิบัติให้มันถูกต้อง เพราะความถูกต้องก็คือความถูกต้องความไม่ถูกต้องก็คือความไม่ถูกต้อง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้นคือเหตุคือปัจจัย เหตุปัจจัยทางจิตใจและเหตุปัจจัยทางวัตถุ การดำเนินชีวิตต้องเอาทั้งทางจิตใจและทางวัตถุไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เป็นทางสายกลาง เป็นมรรคเป็นอริยมรรค เพราะชีวิตของเราทุกคนเราต้องเข้าใจเองและปฏิบัติเอง การประพฤติการปฏิบัติก็อยู่ที่ปัจจุบัน การเรียนการศึกษาเป็นพุทธะทางจิตใจและพุทธะทางวัตถุ ที่เราพากันเรียนหนังสือตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาเอก คือพุทธะทางวัตถุที่เป็นศาสตร์แขนงต่างๆ และพุทธะทางจิตใจไปพร้อมๆ กัน เพราะธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดจากเหตุเกิดจากปัจจัย ทุกท่านทุกคนต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติเอง ไม่มีใครปฏิบัติให้กันได้ อยู่ที่ตัวเราไม่ต้องไปพึ่งใคร ต้องพึ่งพุทธะคือความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ที่เป็นพุทธะทางวัตถุและพุทธะทางจิตใจไปพร้อมๆ กัน มีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ วันหนึ่งคืนหนึ่งของเรา พักผ่อนนอนหลับสนิทสัก ๖ ชั่วโมง สำหรับคนที่นอนหลับยากสัก ๗-๘ ชั่วโมง
ในชีวิตของเราต้องมีหลักการมีจุดยืน มีความสุขในการเอาความถูกต้องเป็นหลัก ความถูกต้องก็คือธรรมะ ธรรมะก็คือความถูกต้อง เพราะความถูกต้องแล้วทุกอย่างมันคือเหตุคือปัจจัย ไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ทุกอย่างก็ทำหน้าที่ของเขาเอง ตาก็ทำหน้าที่ของตา หูก็ทำหน้าที่ของหู จมูกลิ้นกายใจก็ล้วนแต่ทำหน้าที่ของมัน รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็ทำหน้าที่ของเขา เพราะทุกคนต้องทำให้ถูกต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เพราะทุกอย่างนั้นคือความถูกต้อง ไม่ได้เพิ่มไม่ได้ตัด ชีวิตของเราต้องมีความเห็นมีความเข้าใจอย่างนี้ เราสละคืนเสียขึ้นตัวซึ่งตน มีความสุขในการปฏิบัติธรรม มีความสุขในการทำงาน ถ้าเราไม่มีความสุขในการทำงาน เป็นคนหลงน่ะ ถ้าเด็กๆไม่มีความสุขในการเรียนหนังสือ ผู้ใหญ่ไม่มีความสุขในการทำงาน นั่นคือความหลง ความสุขอยู่ที่เราสละคืนซึ่งนิติบุคคลตัวตน ให้ทุกคนเข้าใจอย่างนี้ เราอย่าไปคิดว่า เราเรียนหนังสือเพราะจำเป็นทำงานเพราะจำเป็น อย่างนั้นมันไม่ใช่ เราต้องมีความสุขในการปฏิบัติธรรมในการทำงาน ถ้าเรามีความสุขเวลามันก็จะผ่านไปเร็ว ถ้าเราไม่มีความสุขในการเรียนหนังสือในการทำงานในการปฏิบัติธรรม เวลามันก็ผ่านไปช้า ความทุกข์มันเป็นอาการของตัวตน ความทุกข์น่ะมันเป็นอาการของตัวตน ถ้าใจเรามันมีความทุกข์ ชอบใจไม่ชอบใจ หมายถึงตัวตนที่มันเป็นความรู้สึก ให้เราเข้าใจ เราต้องยกเลิกความเข้าใจผิด จะได้รู้จักว่าสิ่งนี้เป็นความไม่ถูกต้อง เราจะเอาความไม่ถูกต้องมาครองธาตุครองขันธ์คลองอายตนะนั้นไม่ได้
คำว่าพระนั้น นับเอาตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์ คำว่าพระนี้ไม่ใช่ผู้ที่โกนหัวผมผ้าเหลืองพากันมาบวช อย่างนี้ยังไม่ใช่พระนะ แล้วก็อย่าไปเข้าใจว่า ผู้ที่ไม่ได้ไปบวชไม่ได้โกนหัวห่มผ้าเหลืองไม่ใช่พระ อันนี้ยังไม่ใช่ ให้เข้าใจใหม่ พระนั้นเขาเอาพระธรรมพระวินัย สำหรับประชาชนก็เอาศีลธรรม ให้เข้าใจอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถึงคู่บุรุษ ๔ คู่ ๘ บุรุษ มีโสดาปัตติมรรค และมีภาคประพฤติปฏิบัติของโสดาบัน ถึงจะเป็นโสดาปัตติผล ผู้ประพฤติปฏิบัติถ้าตั้งใจดี มีศรัทธา ชาติเดียวก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ ผู้ที่มีธุรกิจ มีการงานเยอะ มีความประมาท อย่างช้าก็ไม่เกิด ๗ ชาติ
พระโสดาบัน โสดาบัน หมายถึงผู้ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะคำว่า โสตะ เป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ ๘ บุคคลที่บรรลุโสดาปัตติมรรคและโสดาปัตติผลเรียกว่า พระโสดาบัน
ในบรรดา ๔ คู่ ๘ จำพวก คู่บุรุษคู่ที่ ๑ คือ โสดาปัตติมรรค และโสดาปัตติผล โสดาปัตติมรรค เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมจักษุ หมายถึง ดวงตาเห็นธรรม คือ โสดาปัตติมัคคญาณ หรือ ธรรมจักษุ หมายถึงดวงตาเห็นธรรม คือการบรรลุโสดาปัตติมรรคที่กำหนดรู้อริยสัจ ๔ คำว่าดวงตาเห็นธรรมเป็นประตูด่านแรกที่พระอริยบุคคลจะต้องผ่านด้วยกันทั้งหมด เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสธรรมเทศนาธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร พระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานนี้ว่า “ผู้เจริญทั้งหลาย โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ” คำว่าได้รู้แล้วหนอคือได้บรรลุโสดาบัน หรือได้ธรรมจักษุ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะและพระอัสสชิเมื่อท่านบรรลุเป็นพระโสดาบัน ในคัมภีร์บันทึกไว้ว่า ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดขึ้นแก่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
ในอังคุตตรนิกายทุกนิบาต พระพุทธเจ้าทรงอุปมาธรรมจักษุกับท้องฟ้าสารทกาล (ฤดูใบไม้ร่วง) ว่า “ธรรมจักษุที่ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินเกิดแก่อริยสาวก พร้อมกับการเกิดขึ้นแห่งทัสสนะ อริยสาวกย่อมละสังโยชน์ ๓ ประการ คือ สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นตัวของตน) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) และสีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นศีลพรต) เปรียบเหมือนท้องฟ้าแจ่มใสปราศจากเมฆหมอกในสารทกาล ดวงอาทิตย์ส่องแสงไปทั่วท้องฟ้า ขจัดความมืดมัวที่อยู่ในอากาศทั้งหมด ส่องแสง แผดแสงและส่องสว่างอยู่”
ในคัมภีร์ธรรมบทกล่าวถึงคุณธรรมพระโสดาบันว่า “โสดาปัตติผลเป็นคุณชาติประเสริฐกว่าการเป็นเจ้าจักรพรรดิ กว่าการเป็นเทวดา กว่าการเป็นพรหม” จะเห็นได้ว่าพระโสดาบันมีภาวะที่ประเสริฐกว่าทุกสิ่งที่เป็นสมบัติที่มนุษย์ไขว่คว้าแย่งชิงกัน การที่มนุษย์ได้เป็นพระราชาถือว่าเป็นผู้ที่มีบุญวาสนาบารมีอย่างมาก แต่ถ้าบุคคลนั้นได้เป็นพระโสดาบันถือว่าคุณธรรมเหนือกว่าพระราชาสาเหตุที่เหนือกว่าพระราชาเพราะพระราชายังไม่พ้นจากอบายภูมิ แต่พระโสดาบันพ้นจากอบายภูมิ อรรถกถาธรรมบทอธิบายเกี่ยวกับพระโสดาบันเพื่อความเข้าใจง่ายขึ้นว่า “ถึงแม้จะมีฐานะเป็นพระราชาในเมืองนั้นก็ไม่พ้นจากอบายภูมิมีนรกเป็นเป็นต้น ส่วนการที่บุคคลได้เป็นพระโสดาบันเป็นการปิดประตูอบายภูมิ อย่างน้อยก็ไม่บังเกิดในภพที่ ๘”
ธรรมที่ทำให้บุคคลบรรลุพระโสดาบันนั้นคืออริยมรรคมีองค์ ๘ ถ้าปราศจากอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยใด ไม่มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น ไม่มีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ หรือสมณะที่ ๔ ในธรรมวินัยใด มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้ มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ ลัทธิอื่นๆว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง ก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย สุภัททะ เราโดยวัยได้ ๒๙ ปี บวชแล้ว ตามแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ตั้งแต่เราบวชแล้ว นับได้ ๕๑ ปี แม้สมณะผู้เป็นไปในประเทศแห่งธรรมเป็นเครื่องนำออก ไม่มีในภายนอกแต่ธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ หรือสมณะที่ ๔ ก็มิได้มี ลัทธิอื่นว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง ก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ
นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังตรัสถึงแว่นธรรมว่าสามารถที่จะพยากรณ์ตัวเองได้ว่าจะไม่ไปเกิดในนรก ข้อความว่า แว่นธรรมเป็นเครื่องมือให้อริยสาวกมีไว้ เมื่อประสงค์ก็จะพึงพยากรณ์ตนได้ด้วยตนเองว่า ‘เราหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในนรกหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในแดนเปรตหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในอบาย ทุคติ และวินิบาตแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า พระโสดาบันไม่มีวิจิกิจฉาสังโยชน์ ดังข้อความที่พระอานนท์กล่าวว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ข้าพระองค์เลื่อมใสในภิกษุสงฆ์อย่างนี้ว่าแม้ภิกษุเพียงรูปเดียวก็ไม่มีความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เธอกล่าวเพราะความเลื่อมใส แต่ตถาคตมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้ดีว่า ในภิกษุสงฆ์นั้น แม้ภิกษุเพียงรูปเดียวก็ไม่มีความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทาในจำนวนภิกษุ ๕๐๐ รูป ภิกษุผู้มีคุณธรรมขั้นต่ำสุด เป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”
โสดาปัตติมรรคมีการประหานกิเลส ๓ ชนิดคือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เมื่อศึกษาบุคคลในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล มีบรรพชิตและคฤหัสถ์สำเร็จเป็นพระโสดาบันหลายท่าน เช่น นางวิสาขามหาอุบาสิกา สำเร็จเป็นพระโสดาบันเมื่ออายุได้ ๗ ขวบ ภรรยาของนายพราณกุกกุฏฏมิตร พระเจ้าพิมพิสาร อนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นต้น ล้วนมีการครองเรือนเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ในขณะที่ครองเรือนนั้น ความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาไม่มี รู้ความเป็นไปของโลกตามความเป็นจริง ไม่มีความสงสัยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในกรรม ผลของกรรม ไม่มีการปฏิบัติผิดจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ดำรงตนอยู่ในกรอบของศีล สมาธิ ปัญญา บำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ของผู้อื่น บริจาคทานเป็นประจำ สังโยชน์ ๓ ชนิด ถูกทำให้หมดสิ้นไปด้วยปัญญาที่สูงสุดคือปัญญาในโสดาปัตติมรรคจิต
ลักษณะของผู้เป็นพระโสดาบัน การที่จะทราบลักษณะของพระโสดาบันได้นั้นบุคคลผู้นั้นจะต้องมีลักษณะที่แตกต่างจากปุถุชนคนธรรมดา บุคคลนั้นจะมีลักษณะที่โดดเด่น ที่เรียกว่า องค์แห่งพระโสดาบัน ๔ ประการได้แก่
(๑) เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นพระศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’
(๒) เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า ‘พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน’
(๓) เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า ‘พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกทางปฏิบัติสมควรได้แก่ พระอริยบุคคล ๔ คู่ คือ ๘ บุคคล พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่การต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก’
(๔) เป็นผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท อันท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ
การที่จะสังเกตว่าใครเป็นพระโสดาบันนั้น ต้องมีเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้คือ พระโสดาบันต้องมีความเลื่อมในอย่างไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มีศีลบริสุทธิ์ไม่ด่าง ไม่ขาด ไม่ทะลุ พระโสดาบันที่ครองเรือนมีศีล ๕ บริสุทธิ์ ถ้าจะมีคำถามแย้งว่า ภรรยาของนายพรานกุกกุฏมิตตที่สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ถูกสามีใช้ให้นำ ธนู หอก หลาว มาให้สามี เพื่อที่จะนาไปฆ่าสัตว์และขายเนื้อสัตว์มาเลี้ยงครอบครัว ทำไม พระโสดาบันยังทำปาณาติบาตหรือ ในอรรถกถาธรรมบทภาค ๕ ได้อธิบายว่า จิตของนางไม่ยินดีในเนื้อสัตว์และไม่ได้สั่งให้สามีไปฆ่าสัตว์เพื่อนำเนื้อมาขาย แต่นางทำตามหน้าที่ของภรรยาเท่านั้น
สอดคล้องกับลักษณะของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่ทำบุญเป็นประจำไม่เคยขาดถึงแม้ว่าจะไม่มีทรัพย์ในการทำบุญเพราะทรัพย์สมบัติของเศรษฐี ถูกพ่อค้ายืมไปแล้วไม่นำมาคืน ทรัพย์จึงเหลือน้อย จึงทำบุญด้วยข้าวปลายเกวียน และน้ำส้มผัก จึงเป็นเหตุให้เทวดาที่สิงอยู่ที่ซุ้มประตูไม่พอใจจึงมาเตือนเศรษฐีไม่ให้ทำบุญอันเป็นเหตุพาตนให้เดือดร้อนจนไม่มีข้าวสารจะกรอกหม้อ เศรษฐีอนาถบิณฑิกจึงไล่เทวดาออกจากซุ้มประตูไม่ให้อาศัยอยู่ต่อไป เพราะเทวดาแนะนำในทางที่สวนกระแสความคิดของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ลักษณะของพระโสดาบันนั้นจะไม่หวั่นไหวในคำยุยงให้เลิกทำบุญกับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ ในขณะเดียวกันนั้นพระโสดาบันมีจิตเลื่อมใสมั่นคงในพระรัตนตรัย
ประเภทของพระโสดาบัน ในพระไตรปิฎกได้อธิบายเกี่ยวกับการเป็นพระโสดาบัน ๕ ประเภท (๑) เอกพีชี หมายถึง ผู้มีพืชคืออัตภาพอันเดียว คือเกิดอีกครั้งเดียวก็จักบรรลุอรหัตตผล (๒) โกลังโกละ หมายถึง ผู้ไปจากตระกูลสู่ตระกูล คือเกิดในตระกูลสูงอีก ๒-๓ ครั้ง หรือเกิดในสุคติภพอีก ๒-๓ ครั้ง ก็จักบรรลุอรหัตตผล (๓) สัตตักขัตตุปรมะ หมายถึงผู้เกิด ๗ ครั้งเป็นอย่างยิ่ง คือ เวียนเกิดในสุคติภพอีกอย่างมากเพียง ๗ ครั้ง ก็จักบรรลุอรหัตตผล (๔) ธัมมานุสารี ผู้แล่นไปตามธรรม (๕) สัทธานุสารี ผู้แล่นไปตามศรัทธา
พระสกทาคามี สกทาคามี หรือ สกิทาคามี แปลว่า ผู้กลับมาเพียงครั้งเดียว เป็นชื่อเรียกพระอริยบุคคลลำดับที่ ๒ ใน ๔ ประเภท ที่เรียกว่า "ผู้กลับมาเพียงครั้งเดียว" หมายถึง พระสกิทาคามีจะเกิดในกามาวจรภพอีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้นก็จะถึงพระนิพพาน ผู้ได้บรรลุสกทาคามิผลคือผู้ที่ละสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ประการแรกได้เช่นเดียวกับพระโสดาบัน อีกทั้งทำสังโยชน์เบื้องต่ำอีกสองประการที่เหลือให้เบาบางลงด้วย ผู้ที่บำเพ็ญวิปัสสนาผ่านโสดาบันโลกุตตรภูมิมาแล้ว ปรารถนาจะได้บรรลุมรรคผลที่สูงขึ้นไป จึงเจริญวิปัสสนาภาวนาให้ยิ่งขึ้น เมื่ออินทรีย์ทั้ง ๕ เสมอกัน โดยที่มีวาสนาบารมีอันตนได้เคยสร้างสมอบรมมาเพียงพอ สภาวะแห่งวิปัสสนาญาณก็จะเกิดขึ้นตามลำดับ พระสกทาคามีไม่มีอำนาจประหาณกิเลสอย่างใดอย่างหนึ่งให้ขาดได้เด็ดขาดเพียงแต่ทำให้ราคะ โทสะ และโมหะ เบาบางกว่าพระโสดาบันเท่านั้น
พระอนาคามี อนาคามี แปลว่า ผู้ไม่มาเกิดอีก หมายความว่าจะไม่กลับมาเกิดในกามาวจรภพอีก แต่จะเกิดใน พรหมโลก อีกเพียงครั้งเดียว แล้วจะนิพพานจากพรหมโลกนั้นเลย เป็นชื่อเรียกพระอริยบุคคลประเภทที่ ๓ ใน ๔ ประเภท คือ โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ เป็นผู้ละสังโยชน์เบื้องต่ำ (โอรัมภาคิยสังโยชน์) ทั้ง ๕ ประการได้แล้ว ยังเหลือสังโยชน์เบื้องสูง (อุทธัมภาคิยสังโยชน์) อีก ๕ ประการ
อนึ่งพึงเข้าใจว่า แม้สังโยชน์เบื้องสูงบางข้อจะมีชื่อเหมือนกิเลสอย่างหยาบที่ยังมีในปุถุชน (ผู้ยังไม่เป็นบรรลุเป็นพระอริยบุคคล) เช่น มานะ อุทธัจจะ หรือ อวิชชา แต่สังโยชน์เบื้องสูงอันเป็นกิเลสที่ยังหลงเหลืออยู่ในจิตใจของพระอนาคามีนั้น เป็นกิเลสที่ละเอียดกว่าของปุถุชนอย่างมาก
พระอนาคามีประหาณสังโยชน์ได้ ๒ ชนิดคือ กามราคสังโยชน์ และปฏิฆสังโยชน์ หลักฐานในพระไตรปิฎกบันทึกไว้ว่า “ผู้เป็นพระอนาคามี ย่อมมีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์อย่างละเอียด กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อย่างละเอียด และเหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกับกามราคสังโยชน์เป็นต้นนั้น”
พระอรหันต์ เหตุให้ได้ชื่อว่าอรหันต์ บุคคลชื่อว่าอรหันต์ เพราะเป็นผู้ห่างไกลจากธรรม ๗ ประการได้ คือ (๑) สักกายทิฏฐิ (๒) วิจิกิจฉา (๓) สีลัพพตปรามาส (๔) ราคะ (๕) โทสะ (๖) โมหะ (๗) มานะ
พระอรรถกถาจารย์แสดงความหมายของพระอรหันต์ไว้ ๕ นัย คือ ๑. ห่างไกลจากกิเลส ๒. กำจัดกิเลสได้หมดสิ้น ๓. เป็นผู้หักซี่กำแห่งสังสาระ คือหมดสังสารวัฏการเวียนว่ายตายเกิด ๔. เป็นผู้ควรแก่การบูชาพิเศษของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย ๕. ไม่มีที่ลับในการทำบาป ไม่มีความชั่วเสียหายที่จะต้องปิดบัง
พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบเทียบพระอรหันต์เหมือนโคจ่าฝูงเป็นผู้นำฝูงโคว่า ภิกษุทั้งหลาย เหล่าโคผู้ที่เป็นจ่าฝูง เป็นผู้นาฝูงว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายที่เป็นอรหันตขีณาสพก็ฉันนั้นเหมือนกัน อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้วบรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว ๓ หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ก็ชื่อว่า ว่ายตัดกระแสมารข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
ผลแห่งการปฏิบัติที่เป็นเป้าหมายของพระพุทธศาสนาคือการบรรลุมรรคและผล หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ผลแห่งพรหมจรรย์ คือโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล การบรรลุธรรมคือการตัดสังโยชน์ตามลำดับขั้นตอนตั้งแต่สังโยชน์เบื้องต่ำ จนถึงเบื้องสูง และท้ายสุดคือการตัดสังโยชน์ได้หมดไปจากจิตใจ อยู่ในอารมณ์ที่เป็นสุขเพราะไม่มีเครื่องผูกมัดเหล่านั้นแล้ว ใจเป็นอิสระจากสิ่งผูกมัดทั้งปวง
ทุกคนน่ะก็สามารถเป็นพระได้ทุกคน ไม่เป็นพระมันก็ต้องมีความทุกข์สิ ตัวตนน่ะคือความทุกข์ ต้องเข้าใจอย่างนี้ เรายกเลิกตัวตน เรียกว่าละตัวตน ละสักกายทิฏฐิ ศีลคือสิ่งที่มายกเลิกตัวตน สมาธิถึงมายกเลิกตัวตน ปัญญาคือมายกเลิกตัวตน เราต้องมีความสุขในการเอาธรรมเป็นหลักมีความสุขในการทำงาน ไม่ต้องไปอาศัยพ่ออาศัยแม่อาศัยรัฐบาลอาศัยใครหรอก เราเป็นผู้ให้เป็นผู้เสียสละ พ่อแม่เป็นผู้มีพระคุณเลี้ยงดูเรามาส่งเสียเราเรียนมา เราก็ต้องมาประพฤติมาปฏิบัติต่อยอดรับไม้ผลัดจากพ่อแม่ มีความสุขในการเรียนหนังสือมีความสุขในการทำงาน เราจะไปเป็นคนขี้เกียจขี้คร้านหลงงมงายอะไรอีก พ่อแม่ก็ต้องเป็นพ่อแม่ที่แท้จริง รักลูกสงสารลูก ก็ต้องรักเมตตาแบบมีปัญญา ที่เรามีตัวมีตนไม่ยกเลิกตัวตน เรียกว่าเรานี่แหละไม่มีความเมตตาไม่มีความกรุณาในตนเอง ปล่อยให้ตนเองทำตามอวิชชาทำตามความหลง เรียกว่าคนไม่มีเมตตา เมื่อเราไม่เมตตาตนเอง ก็ปล่อยให้ตนเองเวียนว่ายตายเกิด จะไปเมตตาต่อลูกต่อหลานต่อญาติวงศ์ตระกูลได้อย่างไร ให้เข้าใจท่านยังไม่ใช่ความเมตตา มันเป็นความหลงต่างหาก เราต้องกลับมามีเมตตาตนเอง โดยเอาธรรมเป็นหลัก มีความสุขในการทำงานมีความสุขในการปฏิบัติธรรม จึงเป็นผู้เมตตาตนเอง อย่างพระพุทธเจ้าท่านทรงเมตตาตนเองและเหล่าสรรพสัตว์ ทรงบำเพ็ญพุทธบารมีหลายล้านชาติหลายอสงไขย เสียสละตัวตน ท่านได้ยกเลิกสงสารด้วยความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง จนกระทั่งได้ตรัสรู้ ถึงให้เข้าใจความเมตตาอย่างนี้ เราจะไปเมตตาคนอื่นได้อย่างไร เมื่อตนเองยังไม่เมตตาตนเอง เราจะไปสอนคนอื่นได้อย่างไร จะไปสอนลูกสอนหลานได้อย่างไร ในเมื่อตนเองยังไม่เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ
พ่อแม่ก็ต้องเป็นพระเป็นพระในบ้าน พ่อแม่ต้องมีความสุขในการเอาธรรมเป็นหลัก เอาการเสียสละเป็นหลัก ความสุขในการทำงานในการปฏิบัติธรรม ปรับตัวเข้าหาธรรมะเข้าหาเวลา มีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติอย่างนี้ จึงต้องมาแก้ไขตัวเองอย่างนี้แหละ อย่าว่าทำไม่ได้ เพราะความเห็นผิดเข้าใจผิดเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง มันก็ดูยากไปหมดดูลำบากไปหมดแหละ เพราะตัวตนมันคือความยากความลำบาก ตัวตนนี่แหละคือผู้ที่สร้างปัญหา การที่มาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าจึงเป็นการมายกเลิกปัญหายกเลิกตัวตนยกเลิกทาสยกเลิกชั้นวรรณะ ที่มันประกอบด้วยความหลงอย่างนี้แหละ เราทุกคนจะได้พากันเป็นพระ ประชาชนก็เป็นพระได้ เพราะว่ามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มีความสุขในการทำงานในการปฏิบัติธรรมไปพร้อมๆ กัน เพราะพระคือผู้มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง พระมันต้องว่างจากตัวตน ว่างจากสิ่งที่มีอยู่นี่แหละ ตาก็เห็นรูปหูก็ได้ยินเสียงนี่แหละ มีสิ่งอำนวยความสะดวกความสบายด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่นี่แหละ เพราะอันนี้เป็นความสุขที่พัฒนาวิทยาศาสตร์มาเป็นความสะดวกความสบาย จึงไม่ให้เราหลงไม่ให้ติดสุข เขาหาความเป็นธรรมความยุติธรรม เราทุกคนจะได้มีความสุขที่สุดในโลก มวลมนุษย์เราต้องมีความเห็นอย่างนี้เข้าใจอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ มีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติไปอย่างนี้
คนเราน่ะมันฟุ้งซ่าน เพราะเราเอาความหลงเป็นที่ตั้ง เอารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเอาความรู้สึกนึกคิดก็เลยฟุ้งซ่าน ท่านยังบอกให้ Control ตัวเองด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญา ด้วยลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าให้สบายชัดเจน หายใจออกให้สบายชัดเจน เพื่อให้เกิดปัญญาก็ภาวนาให้เห็นชัดเจนว่า ลมเข้ามันก็ไม่แน่ไม่เที่ยง ลมออกมันก็ไม่แน่ไม่เที่ยง ลมเข้าก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ลมออกก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติอย่างนี้แหละ เราทำได้ปฏิบัติได้ เราจะตามความหลงไปเรื่อยไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างโทรศัพท์มือถือมันก็มีประโยชน์มากคอมพิวเตอร์ก็มีประโยชน์มาก ทุกอย่างมันก็มีประโยชน์มาก เราก็ต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง พัฒนาจิตใจเจริญปัญญาควบคู่กันไปว่า โอ้…อันนี้มันคือเหตุคือปัจจัย ไม่ใช่นิติบุคคลตัวตน เราจะมาหลงไม่ได้ เราต้องเข้มแข็งมีสัมมาสมาธิ มาเสียสละ เพราะทุกอย่างนั้นมันคือเหตุคือปัจจัย ไม่ใช่เราไม่ใช่คนอื่น มันคือเหตุปัจจัย เพราะสิ่งที่มีสิ่งต่อไปมันถึงมีเฉยๆ เราต้องเข้าถึงพระนิพพานตั้งแต่ยังไม่ตายนี่แหละ เข้าถึงความสงบเย็น เข้าถึงพรหมโลกเข้าถึงสวรรค์ตั้งแต่ยังไม่ตายนี่แหละ ที่เราบริโภคปัจจัย ๔ เพราะเรามีสัมมาทิฏฐิเราก็พัฒนาวัตถุพัฒนาใจไปอย่างนี้แหละ จะได้ไม่หลงงมงาย พัฒนาเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวก อาหารก็เป็นหยูกเป็นยา พัฒนาความอร่อยมาเราก็อย่าไปหลงในความอร่อย เราต้องเข้าใจ เพราะอาหารคือยา บ้านที่พักที่อยู่ที่อาศัยกันร้อนกันฝนกันหนาว อากาศถ่ายเทปลอดโปร่ง สะอาดสะอ้าน
บ้านกายเราก็ต้องมี บ้านทางจิตใจ คือพระนิพพาน ความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง บ้านของเราคือธรรมะ ธรรมะคือบ้านของเรา บ้านของเราก็คือศีลคือสมาธิคือปัญญา ที่เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม เป็นความสุขความดับทุกข์อย่างนี้แหละ ชีวิตของเราก็จะมีความสุขอย่างนี้แหละ เราไม่ต้องไปหาความดับทุกข์ที่ไหนหรอก เพราะอยู่ที่ไหนแล้วก็ดับทุกข์อยู่ที่นั่น เราไม่ต้องหลงงมงายไปหาความดับทุกข์อยู่แล้ว พระภายนอกนั้นมีก็จริงพระภายนอก แต่พระภายในคือความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง พระต้องอยู่ที่เรา ผู้ที่มาบวชเอามรรคผลพระนิพพานแล้วก็ให้การสนับสนุนบำรุงพระศาสนาไป พระที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ตัวเรานี่นะ พ่อแม่ก็ต้องพาลูกพาหลานเป็นพระ เป็นพระธรรม
ทุกๆ คนจะได้มีที่พึ่งอันประเสริฐคือความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง จะเอาตัวตนเป็นที่ตั้งไม่ได้ มันขี้เกียจ ต้องเสียสละ ความเห็นแก่ตัวของเรามันจัด ที่มันเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ที่ทำให้ฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ ทุจริตโกงกินคอรัปชั่น ประพฤติผิดในกาม โกหกหลอกลวง เสพของมึนเมา หลงไปเรื่อย สำหรับประชาชนมีภรรยาคนเดียวก็เพียงพอแล้ว ถ้าเรามีตัวมีตนก็เท่ากับมีผัวมีเมียทั้งวันทั้งคืนในจิตใจ ลักษณะตัวตนนั้นมันมีผัวมีเมียทางจิตใจทั้งวันทั้งคืน เราต้องพากันหยุดมีผัวมีเมียทางจิตใจ ตัวตนคือผัวคือเมีย มันทำให้นอนไม่หลับ เป็นทุกข์ เพราะแต่เรามันมีตัวตนเยอะ มันก็มีความปรุงแต่งมาก พระพุทธเจ้าถึงให้เรายกเลิกตัวตนให้ได้ เท่ากับยกเลิกได้ทุกอย่างสมองจำไม่ได้สับสน การรักษาศีลก็เป็นการยกเลิกตัวตนทำให้สมองไม่สับสน การทำสมาธิเป็นการยกเลิกตัวตนทำให้สมองไม่สับสน การเจริญปัญญาก็เป็นการหยุดตัวตนด้วยไม่ปล่อยให้ตัวเองฟุ้งซ่านไปเรื่อย เราต้องกลับมาหาสติคือความสงบกลับมาหาสัมปชัญญะตัวปัญญา คือเห็นภัยในวัฏสงสาร มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ เราต้องรู้ทั้งเรื่องกายและเรื่องทางจิตใจ พากันประพฤติพากันปฏิบัติไป เราต้องดำเนินชีวิตไปอย่างนี้จึงเป็นการเมตตาตนเองและเมตตาผู้อื่นได้ เหมือนที่พระพุทธเจ้าเมตตาตนเองจนได้เป็นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่านเมตตาตัวเองจะได้เป็นพระอรหันต์ เราเมตตาตนเองเราจึงจะเมตตาผู้อื่นได้อย่างสมบูรณ์
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee