แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันอาทิตย์ที่ ๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระธรรม ตอนที่ ๑๔ ผู้ไม่สำรวมในกาม ไม่มีความเป็นธรรม ลำเอียงด้วยอคติ ๔ บุคคลนี้เป็นขยะหยากเยื่อของสังคม
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้พากันเข้าใจทุกอย่างนั้นมาจากเหตุมาจากปัจจัย เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงมีได้ อดีตที่ผ่านมาแล้วเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ อนาคตก็ยังมาไม่ถึง เราก็ปฏิบัติไม่ได้ ปัจจุบันเป็นการปฏิบัติของเรา ความรู้ความเข้าใจเรื่องเหตุเรื่องปัจจัย ต้องมีกับเราในปัจจุบัน ปัจจุบันเราต้องเรียนเราต้องศึกษาให้เข้าใจในเรื่องเหตุเรื่องปัจจัย ความรู้ความเข้าใจนั้นเรียกว่าพุทธะ เป็นพุทธทางจิตใจของเราทุกๆ คน การศึกษาถึงเป็นคู่กับการประพฤติการปฏิบัติ การปฏิบัติถึงคู่กับการศึกษา
ความเกิดของเรามันเกิดได้มีได้เพราะสาเหตุมาจากอะไร ทางส่วนของร่างกายได้มาจากพ่อจากแม่จาก DNA ของพ่อแม่ ส่วนทางด้านจิตใจก็มาจากตัวของเราเอง เรามีการเวียนว่ายตายเกิด ก็เพราะเหตุเพราะปัจจัย มีคนไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วศูนย์ พระพุทธเจ้าได้ตรัสบอกว่าเพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงมี การแก้ไขนั้นเราต้องแก้ไขยังไง การแก้ไขเราต้องมีความเห็นถูกต้องข้อความถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ให้ทุกคนพากันเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติที่เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาในปัจจุบัน เป็นหนทางที่หยุดเวียนว่ายตายเกิดของเราทุกๆ คน เราทุกคนต้องยกเลิกความเป็นตัวเป็นตน การยกเลิกต้องยกเลิกด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญา ด้วยสัมมาทิฏฐิคือความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องและปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน ศีลสมาธิปัญญา ๓ อย่างนี้ ก็ต้องไปพร้อมๆ กัน อยู่ในระนาบเดียวกัน
การมาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าถึงเป็นการมายกเลิกการเวียนว่ายตายเกิดของตัวท่านเอง และท่านก็บอกคนอื่นว่าต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ไม่ได้เพิ่มอะไรไม่ได้ตัดอะไร เป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม การยกเลิกการเวียนว่ายตายเกิดของเราที่ท่องเที่ยวในวัฏสงสาร พระพุทธเจ้าให้เราทุกคนพากันประพฤติพากันปฏิบัติอย่างนี้ ปัจจุบันเป็นการประพฤติเป็นการปฏิบัติของเราทุกคน วันหนึ่งคืนหนึ่งเราต้องพากันนอนหลับสนิทหลับลึก ๖ ชั่วโมงสำหรับบุคคลทั่วๆ ไป เพราะการดำเนินชีวิตของเรามันต้องทำหน้าที่ทั้งสองอย่างทั้งรูปธรรมนามธรรมคือกายกับใจ กายเราต้องได้พักผ่อน ถึงจะเอาสมองไปสั่งร่างกายไปทำธุรกิจหน้าที่การงานให้มีศักยภาพมีประสิทธิภาพ การนอนการพักผ่อนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ สำหรับพระพุทธเจ้านั้นท่านทรงบรรทมวันละ ๔ ชั่วโมงก็เพียงพอ สำหรับพระอรหันต์สัก ๕ ชั่วโมงก็เพียงพอ ผู้ที่นอนหลับไม่สนิทหลับไม่ลึกก็ต้องนอน ๗ ชั่วโมงถึง ๘ ชั่วโมง เราทุกคนต้องปฏิบัติกับกายของเราให้ถูกต้อง ปฏิบัติกับใจของเราให้ถูกต้อง เรื่องศีลเป็นสมาธิเรื่องปัญญามันต้องไปพร้อมๆ กัน ถ้าเรามีปัญญามาก ก็ต้องมีสมาธิไปพร้อมๆ กัน ถ้าไม่อย่างนั้นปัญญาจะทำลายระบบสมองระบบร่างกายเสียหาย ถ้าเรามีสมาธิมากเราก็จะเอาแต่ความสุขความสงบ ปัญญาของเรามันก็จะไม่เกิด เราก็จะไม่รู้เรื่องอนิจจังความไม่แน่ไม่เที่ยง เราก็จะไม่รู้เรื่องอนัตตาว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
สมาธิในชีวิตประจำวันที่ศีลสมาธิปัญญาทำงานไปพร้อมๆ กัน ได้แก่ขณิกสมาธิและอุปจารสมาธิ ที่ต้องมีในอิริยาบถ ๔ ยืนเดินนั่งนอน รวมถึงอิริยาบถย่อยต่างๆ วันหนึ่งคืนหนึ่งสำหรับนักบวช ต้องอยู่ในสมาธิลึกระดับอัปปนาสมาธิถึงสมาธิสูงสุดเช้ากลางวันเย็นครั้งละ ๑ ชั่วโมง เพื่อจะได้มีพื้นฐานในการปฏิบัติ เพื่อทุกคนจะได้เข้าสู่ความว่างจากความเป็นนิติบุคคลความเป็นตัวตน
สำหรับประชาชนที่เป็นคฤหัสถ์เช้าเย็นต้องพากันเข้าสมาธิเช้า ๑ ชั่วโมงเย็น ๑ ชั่วโมง เพื่อเราจะได้พัฒนาใจพัฒนาวัตถุไปพร้อมๆ กัน พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ ยังไม่ได้บัญญัติพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ เอาทางเรื่องจิตเรื่องใจ เมื่อใจได้ยกเลิกความเป็นนิติบุคคลความเป็นตัวตน ทุกอย่างก็ยกเลิก ใจของเราได้มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มันยกเลิก ความยกเลิกนี้แหละ จะเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาโดยในตัวของสัมมาทิฏฐิเอง เมื่อแต่ก่อนเราไม่เข้าใจเรา เราเลยสร้างเหตุสร้างปัจจัยที่มันเวียนว่ายตายเกิด มันก็ต้องเวียนว่ายตายเกิด เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงมี
ในปัจจุบันนี้เราได้พัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ มีบ้านมีที่อยู่อาศัยมีรถมีเครื่องบินมีการสื่อสารโทรคมนาคมมีมือถือมีโทรศัพท์บ้านมีคอมพิวเตอร์มีสิ่งต่างๆ อำนวยความสะดวกสบายมากมาย ทุกๆ คนก็ต้องระมัดระวังตัวเองให้มากเป็นพิเศษ เพราะทุกอย่างนั้นมันเป็นทั้งคุณทั้งโทษ จะใช้รถยนต์ใช้เครื่องบินใช้โทรศัพท์มือถือ ตลอดถึงโทรทัศน์ที่เป็นการสื่อสารมวลชน ก็ต้องระมัดระวังกัน เพราะสิ่งเหล่านี้ดี ทำให้เราสะดวกสบายทำอะไรก็ง่ายก็สะดวกขึ้น เราใช้เครื่องมือเครื่องจักรเครื่องยนต์คอมพิวเตอร์มือถือก็ต้องระมัดระวัง ทุกท่านทุกคนก็ต้องมีสติเหมือนกันนี่แหละ รถก็ต้องมีเบรคเครื่องบินก็ต้องมีเบรค ทุกอย่างก็ต้องมีเบรก ถ้าเรารู้จัก เราจะเดินจะเหินก็จะไม่เป็นอันตราย เราบริโภคความสุขความสะดวกสบาย เราก็ต้องรู้จักภาวนาให้เกิดสติเกิดปัญญา พระพุทธเจ้าท่านให้ยกสิ่งที่บริโภคใช้สอยเข้าสู่พระไตรลักษณ์ว่า ทุกอย่างนั้นไม่แน่ไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราต้องเสียสละ เพื่อไม่ให้วัตถุนั้นเป็นสิ่งเสพติด สิ่งเสพติดเช่นพวกเหล้าพวกเบียร์ เป็นสิ่งเสพติด
พระพุทธเจ้าให้ทุกท่านทุกคนเข้มแข็ง พากันตั้งมั่น ปรับตัวเข้าหาธรรมะปรับตัวเข้าหาเวลา เพราะเราทุกคนต้องเข้าใจธรรมะเข้าใจผัสสะ เพราะคนเรามีผัสสะกับอะไร มันก็ย่อมหลงในอันนั้น กระทบกับอะไรก็หลงในอันนั้น พระพุทธเจ้าให้เรารู้จักข้อสอบรู้จักข้อตอบในปัจจุบัน ให้ทุกท่านทุกคนรู้จักอริยสัจ ๔ ในปัจจุบันให้ได้ เราเอาตัวอย่างแบบอย่างพระพุทธเจ้าท่านทิ้งอดีตให้เป็นศูนย์ให้สงบเย็นเป็นนิพพาน เราต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราทุกคนมันเสียหายเพราะผัสสะ ผัสสะนี้ถ้าเราไม่เข้าใจ จะมีอคติเป็นคนลำเอียง ทุกคนพากันเสีย เสียเพราะญาติเสียเพราะพี่น้องเสียเพราะวงศ์ตระกูล เราดูตัวอย่างแบบอย่าง ข้าราชการก็ดีนักการเมืองก็ดี เสียเพราะญาติพี่น้องวงศ์ตระกูล ข้าราชการทหารนักการเมืองเพราะไม่เข้าใจผัสสะ พากันมาเสียเพราะญาติวงศ์ตระกูล ใหม่ๆ มองดูก็อุดมการณ์ดี เมื่อเห็นของเยอะเมื่อเห็นเงินเยอะ เหล่านี้มันทำให้ใจอ่อน เป็นข้าราชการก็เป็นข้าราชการสีดำสีเทาไป เป็นนักการเมืองก็เป็นนักการเมืองสีดำสีเทาไป เพราะขาดหลักการขาดจุดยืน จึงทำให้ศีลสมาธิปัญญาเศร้าหมอง
คำว่า "อคติ" แปลว่า ทางที่ไม่ควรดำเนินไป, ไม่ใช่ทางที่จะเดินต่อไป หรือไม่ควรประพฤติปฏิบัติ คำว่า อคติ ในภาษาไทยหมายถึง ความลำเอียง, ความไม่เที่ยงธรรม, ความไม่ยุติธรรม ฯลฯ "อคติ" เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ยังมีกิเลสซึ่งจะต้องมีอยู่ด้วยกันทุกคน เพราะปกติคนเราจะทำอะไรก็ตาม มักจะคิดถึงประโยชน์ของตนเอง ญาติพี่น้อง หรือพวกพ้องก่อนเสมอ ซึ่งการกระทำในลักษณะเช่นนี้ เป็นสาเหตุให้ความถูกใจอยู่เหนือความถูกต้อง ความผิดอยู่เหนือความถูก หรือเห็นผิดเป็นชอบ "อคติ ๔ได้แก่
๑) ฉันทาคติ ความลำเอียงเพราะความรักใคร่กัน คือ เป็นความลำเอียงที่ไม่ตรงทาง ฉันทาคตินี้ เป็นภัยร้ายแรงสำหรับผู้บริหาร ผู้เป็นใหญ่ เพราะไปเข้าข้างผู้ที่ตนรัก จนลืมนึกถึงเหตุผลและความยุติธรรมทำให้เสียการปกครอง ฉะนั้น ผู้บริหารหรือผู้ใหญ่ จะต้องทำลายฉันทาคติให้หมดไป
๒) โทสาคติ ความลำเอียงเพราะความโกรธ หรือความขัดเคืองกัน คือ เป็นความลำเอียงที่ผิดธรรมดา ปราศจากเหตุผล ผิดทำนองคลองธรรม อันมีความโกรธมาเป็นเหตุให้เสียความยุติธรรม ฉะนั้น ผู้เป็นผู้บริหารหรือผู้ใหญ่ อย่าตกอยู่ในอำนาจของความโกรธ เพราะความโกรธคอยเผาจิตใจให้เร่าร้อน การแก้โทสะ คือทำบุญด้วยการรักษาศีล ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้เป็นผู้ใหญ่ควรหาทางกำจัดโทสาคติให้หมดไปด้วยการแผ่เมตตา
๓) โมหาคติ ความลำเอียงเพราะความหลง คือ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะความโง่เขลาเป็นเหตุ ไม่รู้เท่าตามความเป็นจริง อันเป็นเหตุให้ความยุติธรรมเสียไป ไม่ตริตรองให้ถ่องแท้ด้วยเหตุผล เรียกว่า ทำอย่างโง่เขลาเบาปัญญา ฉะนั้นผู้เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้บริหาร ต้องใช้สติปัญญาพิจารณาเหตุผลนั้นๆ จึงจะสามารถกำจัดโมหาคติให้หมดไปได้ การแก้โมหะคือ การทำบุญด้วยการเจริญภาวนา ฝึกอบรมจิตให้เจริญด้วยสมาธิและปัญญา
๔) ภยาคติ ความลำเอียงเพราะความกลัว คือ มีความขลาดกลัว อันมีความหวาดหวั่นเป็นมูลเหตุ หมายความว่า เพราะมีความขลาดกลัวจึงยินยอมเข้าข้างฝ่ายที่ตนกลัว โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลและความยุติธรรม เช่น ตุลาการพิจารณาตัดสินคดีให้คู่ความที่มีอำนาจวาสนา เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ตนหวาดกลัวว่าถ้าติดสินให้แพ้แล้ว เขาจะทำอันตรายตน หรือกลั่นแกล้งตนได้ จึงตัดสินให้ชนะคดี อย่างนี้เรียกว่า มีภยาคติ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ชนเหล่าใดไม่สำรวมในกาม ไม่ประกอบด้วยธรรม ไม่เคารพในธรรม มีปรกติถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติและภยาคติ บุคคลนี้เราเรียกว่า เป็นขยะหยากเยื่อในบริษัท อันสมณะผู้รู้กล่าวแล้วอย่างนี้
ชนเหล่าใดตั้งอยู่ในธรรม มีปรกติไม่ถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ ย่อมไม่กระทำกรรมอันลามก เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นสัตบุรุษที่น่าสรรเสริญ ก็แลบุคคลนี้เราเรียกว่าเป็นผู้ผุดผ่องในบริษัท อันสมณะผู้รู้กล่าวแล้วอย่างนี้”
เราไปใจอ่อนชีวิตประจำวันใจอ่อน ทำอะไรไม่ตรงเวลา ใจอ่อนขอต่อไปเรื่อย ไม่ตามเวลา ไม่ตามเวลามันก็ผิด ไม่ตรงเวลามันก็ผิด เขาจึงได้ทำความถูกต้องให้เป็นบรรทัดฐาน เขาถึงมีนาฬิกาเพื่อความถูกต้องตามเวลา เราคิดดูสิมันต้องตรงเวลา ข้าราชการต้อง 8:00 น. เคารพธงชาติ เลิกตามเวลา ตามธรรมะ หลวงปู่ชาแห่งวัดหนองป่าพง ท่านเอาเวลาเอาธรรมะเป็นการดำรงชีพดำรงธาตุดำรงขันธ์ ไม่เอาตัวไม่เอาตนเป็นพระเป็นครูบาอาจารย์ ทุกคนที่จะเอาเป็นตัวอย่างแบบอย่าง ท่านวางตัวได้ดี พระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ ท่านรักษาท่านปฏิบัติหมด ท่านเอาธรรมะเอาเวลาเป็นหลัก ท่านปฏิบัติต่อญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลก็เหมือนประชาชนทั่วๆ ไปไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ท่านไม่มีกรณีพิเศษว่าเป็นญาติเป็นพี่เป็นน้อง ท่านทำเหมือนพระพุทธเจ้า ท่านรักทุกคนเหมือนกันหมด ไม่มีอคติทั้ง ๔ ถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็จะเสียหาย เพราะญาติพี่น้องวงศ์ตระกูล ที่เรามีอคติ ท่านที่มีคนนับถือเอกลาภทั้งหลายก็ประเดประดังตามประชาชนมา ถ้าพิจารณาไม่รอบคอบมันจะทำให้เสียหาย เพราะญาติทั้งหลายจะมารวมกันกินโต๊ะ กินโต๊ะก็หมายถึงมาเอาสิ่งของที่เป็นเงินเป็นวัตถุเป็นสังฆทาน ก็จะทำให้เกิดความเสียหาย เพราะบริวารสิ่งแวดล้อม เพราะบริวารแวดล้อมไม่รู้อะไรเป็นอะไร รู้ว่าเงินมีของมีด้วยวิธีประการต่างๆ บอกเบาะแสผู้ที่เกี่ยวข้องให้มาขอด้วยวิธีการโครงการต่างๆ ศาสนวัตถุก็ดี
ส่วนใหญ่ความเสียหายมันเกิดอย่างนี้แหละ ปัจจุบันเราถึงต้องยกเลิกตัวเองด้วยศีลสมาธิปัญญา ในปัจจุบันเรียนอย่างนี้มันรู้กันเร็ว พระพุทธเจ้าถึงบัญญัติพระวินัยไม่ให้พระรับเงินรับปัจจัย ไม่ให้สั่งสมอะไร ไม่ให้มีอะไรเลย ถ้ามีแล้ว เขาจะมาขอทำสาธารณะประโยชน์ แม้ผลไม้ต่างๆ พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ให้ปลูก เมื่อผลไม้มันออกลูกมา ก็จะพากันมาเก็บมาเอา ทุกๆ คนมีแต่มุ่งผลประโยชน์มุ่งตัวมุ่งตน ไม่เข้าใจพระศาสนา ทำบุญตักบาตร ๒-๓ ทัพพีก็อยากได้สวรรค์อยากได้มรรคผลนิพพาน เพราะความคิดเห็นผิดเข้าใจผิด มีแต่จะเอา ความคิดแบบนี้เข้าใจอย่างนี้ มันเดินทางไปทางทิศตะวันตกนะ มันเดินผิดทางนะ มันตกต่ำไปเรื่อย หลวงปู่ชานำน้องชายที่เป็นคุณครูชื่อคุณครูสุพจน์มาบวช หลวงพ่อชาก็ไม่ให้อยู่จำพรรษาด้วย ส่งไปอยู่กับหลวงพ่อจันทร์วัดบึงเขาหลวงสาขาที่ ๒ ของวัดหนองป่าพง เพื่อจะให้หลวงพ่อจันทร์ควบคุมในการประพฤติในการปฏิบัติให้เข้มข้น จะไม่ให้พระให้ประชาชนมองดูว่าหลวงพ่อชามีอคติ ท่านเลยทำเป็นตัวอย่างแบบอย่าง ท่านจะพูดกับใครทั้งอะไรกิริยามารยาทก็เหมือนกันหมด ไม่มีอะไรพิเศษ ท่าน Take care ทุกท่านทุกคนเหมือนกันหมด จะคนจนคนรวยท่านก็ให้ความสำคัญเหมือนกันหมด จะสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยตัวกลางตัวใหญ่ ก็ให้ความสำคัญให้เกียรติกับทุกชีวิต
ทุกคนนั้นก็ย่อมมีตัวมีตน ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ทุกคนก็ต้องเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า อย่าเอาความหลงเป็นที่ตั้ง อย่าเอาอวิชชาเป็นการดำเนินชีวิต การบริหารตัวเราก็เอาธรรมะ การบริหารข้าราชการก็ต้องเอาธรรมะ การบริหารการเมืองก็ต้องเอาธรรมะ การบริหารพระพุทธศาสนาก็ต้องเอาธรรมะ ธรรมะเท่านั้นถึงจะแก้ปัญหาได้ ทุกคนต้องเอาความถูกต้องเหนือความถูกใจ ชีวิตของเราจึงจะเป็นไปได้ ด้วยการยกเลิกด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญาในปัจจุบัน ปฏิปทาของเราทุกคนต้องให้แข็งแรงแข็งแกร่งยิ่งๆ ขึ้นไปในแต่ละวัน ด้วยเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง ชีวิตของเราถึงจะเป็นขาขึ้นไม่ใช่ขาลง เมื่อเรารับไม้ต่อจากพระพุทธเจ้า เราก็ต้องยกเลิกตัวตน เราอย่าพากันไปตั้งอยู่ในความเพลิดเพลินตั้งอยู่ในความประมาท เราคิดอย่างนี้ เราทุกข์อย่างนี้มันคงไม่เป็นไรมั้ง ชีวิตของเราคือการก้าวไปด้วยศีลสมาธิปัญญา จะมามั้งอยู่อย่างนี้ ไม่ได้ เรื่องวัตถุเขาก็ต้องเข้มข้นขึ้นด้วยวิทยาศาสตร์ ในทางจิตใจก็ต้องเข้มข้นด้วยศีลสมาธิปัญญา จะมาคิดว่าไม่เป็นไรหรอกมั้ง อยู่อย่างนี้ไม่ได้ ต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติเพื่อให้เป็น Standard ทุกๆ คน
หลวงพ่อสุเมโธท่านอยู่กับอาจารย์ชาเป็นเวลา ๑๐ ปี ที่ท่านยกเลิกตัวตนเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ที่ได้โอกาสสมควร หลวงพ่อชาจึงส่งหลวงพ่อสุเมโธไปประกาศธรรมอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เพราะประเทศนี้เจริญ เขาเอาแต่ทางวัตถุเขาไม่ได้เอาทางจิตใจไปพร้อมๆ กัน การเอาแต่ทางวัตถุไม่เอาจิตใจ เป็นการเดินทางที่สุดโต่ง พระพุทธเจ้าบอกให้เอาทั้งทางวัตถุทั้งทางจิตใจด้วย ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การเป็นผู้งามในเบื้องต้นเป็นผู้งามในท่ามกลางเป็นผู้งามในที่สุด ทุกคนทั้งบรรพชิตทั้งประชาชนให้ความเคารพนับถือให้ความไว้วางใจในหลวงพ่อสุเมโธ ท่านถึงได้ปลีกตัวมาประเทศไทย เพื่อให้ลูกศิษย์ได้ทำหน้าที่ เพราะเมื่อก่อนท่านอยู่ที่อังกฤษ ที่นั่นใครก็พูดถึงถามหาแต่หลวงพ่อสุเมโธ ท่านถึงได้ปลีกตัวกลับมาประเทศไทย ใครก็ได้ถ้าเสียสละยกเลิกตัวยกเลิกตัว บุคคลท่านนั้นก็ย่อมเป็นผู้งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุดเมื่อ ๒-๓ ปีนี้น่ะ หลวงพ่อสุเมโธถึงได้กลับไปเผยแผ่พระศาสนาอีก ท่านเป็นพระแท้เป็นพระจริงของพวกพระในสายฝรั่ง
ถ้าทุกคนสละทิฏฐิสละตัวตน ทุกคนก็เป็นพระได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสไม่ว่าจะเป็นนักบวช ถ้าเราจะมาเอาตัวตนเอาวัตถุนี่แหละคือขาลงขาตกต่ำนะ ทุกท่านทุกคนพากันคิดในใจเสมอว่า การปฏิบัติธรรมน่ะเป็นของยาก เพราะเรามีความเห็นผิดเข้าใจผิด ปัจจุบันทำเพื่อจะเอาจะมีจะเป็น มันก็เป็นของยากเป็นธรรมดา
เราเป็นผู้ที่โชคดีมีพระพุทธเจ้าเป็นตัวแบบเป็นตัวอย่างแบบอย่าง เราทุกคนต้องถือนิสัยของพระพุทธเจ้า อย่าถือนิสัยของตัวเอง พระธรรมวินัยในพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ทุกท่านทุกคนต้องรับเอามาประพฤติมาปฏิบัติ เพื่อปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ เข้าหาการประพฤติการปฏิบัติ ถ้าสงสัยอะไร พระพุทธเจ้าก็ให้เอาธรรมะวินัยมาเทียบเคียงธรรมวินัย ๘ ประการ เพื่อเราจะได้มีสติมีสัมปชัญญะ เพื่อจะได้ไม่เอาตัวเอาตนเป็นที่ตั้ง
“ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการนี้ มีมาใน “โคตมีสูตร” อังคุตตรนิกาย เป็นถ้อยคำที่ตรัสแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี ซึ่งออกบวชเป็นภิกษุณี ถือกันว่าเป็นหลักสำคัญ มีข้อความที่น่าสนใจเป็นพิเศษอีกส่วนหนึ่งคือ เป็นหลักธรรมที่ทรงเลือกสรรมา ในลักษณะเป็นเครื่องตอบแทนคุณแก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นมารดาอีกส่วนหนึ่งด้วย เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นว่า การปฏิบัติอย่างใดจะเป็นไปถูกต้องตามหลักแห่งการดับทุกข์หรือไม่ ก็ควรใช้หลักเกณฑ์เหล่านี้ เป็นเครื่องตัดสินได้โดยเด็ดขาด ฉะนั้น จึงเป็นหลักที่แสดงถึง ใจความสำคัญแห่งพระพุทธศาสนาอยู่ในตัว หลักเหล่านั้น คือ
...ถ้าธรรม (การปฏิบัติ) เหล่าใด...
๑. เป็นไปเพื่อ ความกำหนัดย้อมใจ ๒. เป็นไปเพื่อ ความประกอบทุกข์ (คือทำให้ลำบาก)
๓. เป็นไปเพื่อ สะสมกองกิเลส ๔. เป็นไปเพื่อ ความอยากใหญ่ (คือไม่เป็นการมักน้อย)
๕. เป็นไปเพื่อ ความไม่สันโดษ ๖. เป็นไปเพื่อ ความคลุกคลี
๗. เป็นไปเพื่อ ความเกียจคร้าน ๘. เป็นไปเพื่อ ความเลี้ยงยาก
พึงรู้ว่า ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุศาสน์ (สัตถุศาสน์ คือ คำสอนของพระศาสดา)
แต่ถ้าเป็นไปตรงกันข้ามจึงจะ เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์ คือ
๑. เป็นไปเพื่อ ความคลายกำหนัด ๒. เป็นไปเพื่อ ความไม่ประกอบทุกข์
๓. เป็นไปเพื่อ ไม่สะสมกองกิเลส ๔. เป็นไปเพื่อ ความอยากน้อย
๕. เป็นไปเพื่อ ความสันโดษ ๖. เป็นไปเพื่อ ความไม่คลุกคลี
๗. เป็นไปเพื่อ ความพากเพียร ๘. เป็นไปเพื่อ ความเลี้ยงง่าย
คำว่า “ความกำหนัดย้อมใจ” ได้แก่ ความติดใจรักยิ่งขึ้นๆ ในสิ่งที่มาเกี่ยวข้องหรือแวดล้อม ถ้าการปฏิบัติหรือการกระทำ หรือแม้แต่การพูด การคิดอย่างใด ทำให้บุคคลผู้นั้นมีความติดใจรักในสิ่งใดๆแล้ว ถือว่าเป็นการปฏิบัติผิด ตัวอย่างเช่น การดูหนังดูละคร เป็นต้น มันทำให้เกิดความย้อมใจอย่างที่กล่าวนี้ ด้วยอำนาจของ ราคะ เป็นต้น ซึ่งจะเทียบดูได้กับจิตใจของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในความสงบ หรือแม้แต่อยู่ในที่สงัด จะเห็นได้ว่าเป็นการแตกต่างกันอย่างตรงกันข้าม พึงอาศัยตัวอย่างนี้เป็นเครื่องเทียบเคียง จับความหมายของคำๆนี้ให้ได้ ทั้งในทารูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นที่สุด ตัวอย่างแห่งธรรมารมณ์ เช่น การชอบคิดฝัน ถึงสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งราคะ ก็ย่อมทำจิตให้ถูกย้อมด้วยราคะมากขึ้นๆ เป็นต้น
คำว่า “เป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์” หมายถึงการทำตนเองให้ลำบากด้วยความไม่รู้เท่าถึงการณ์ ด้วยความเข้าใจผิด ในกรณีที่ไม่ควรจะมีความลำบากหรือลำบากแต่น้อยก็ตาม เป็นสิ่งที่น่าพิศวงว่า คนเราไม่ชอบความลำบากด้วยกันทั้งนั้น แต่แล้วทำไมจึงไปทำสิ่งที่ตนจะลำบาก ทั้งนี้ ก็เพราะอำนาจของ “โมหะ” คือ ความหลงเป็นส่วนใหญ่ จึงมีความเข้าใจผิดกลับตรงข้าม แม้ในกรณีที่เป็นเรื่องของการอยากดี อยากเด่น อยากมีชื่อเสียง เป็นต้น ก็มีมูลมาจากโมหะอยู่นั่นเอง กรณีที่เป็นการประชดผู้อื่น หรือ ถึงกับประชดตัวเองก็ตาม ย่อมสงเคราะห์เข้าในข้อนี้ ซึ่งมีมูลอันแท้จริงมาจากความหลงสำคัญผิดอย่างเดียวกันนั่นเอง โดยส่วนใหญ่ได้แก่ การปฏิบัติที่เรียกว่า “อัตตกิลมถานุโยค” คือ การทรมานตนอย่างงมงาย
คำว่า “สะสมกองกิเลส” หมายถึง การเพิ่มพูน โลภะ โทสะ โมหะ โดยรอบด้าน ผิดจากความกำหนัดย้อมใจตรงที่ ข้อนี้หมายถึงเป็นอุปกรณ์หรือเครื่องสนับสนุนการเกิดของกิเลสทั่วไป และให้ทวียิ่งขึ้นด้วย การสะสมสิ่งซึ่งเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงกิเลสอยู่เป็นประจำ ในกรณีของคนธรรมดาสามัญ บางอย่างอาจจะไม่จัดเป็นการสะสมกองกิเลส แต่จัดเป็นการสะสมกิเลสอย่างยิ่ง สำหรับผู้ปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์โดยตรง เช่น พวกบรรพชิต หรือในบางกรณีก็จัดว่า เป็นการสะสมกองกิเลส ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต เช่น การมีเครื่องประดับ หรือเครื่องใช้ชนิดที่ไม่มีความจำเป็นแก่การเป็นอยู่ แต่เป็นไปเพื่อความลุ่มหลง หรือความเห่อเหิมทะเยอทะยานประกวดประขันกันโดยส่วนเดียว เป็นต้น เป็นการขยายทางมาของกิเลส ให้กว้างขวาง ไม่มีที่สิ้นสุด
คำว่า “ความอยากใหญ่” หมายถึง การอยากเกินมาตรฐานแห่งภาวะ หรือสถานะ หรือกำลังสติปัญญาของตน เป็นต้น ส่วนความไม่สันโดษ ไม่ได้หมายถึงความอยากใหญ่ เช่นนั้น แต่หมายถึงความไม่รู้จักพอใจในสิ่งที่ได้มาแล้ว หรือมีอยู่แล้ว ซึ่งทำให้มีความรู้สึกเป็น คนยากจนอยู่เนืองนิจ เป็นทางให้เกิดความอยากใหญ่หรือกิเลสอย่างอื่นต่อไปได้ หรือในทางตรงกันข้าม ทำให้เกิดการทำลายตัวเอง จนถึงกับฆ่าตัวตายก็ได้ โดยภาษาบาลี ความอยากใหญ่ เรียกว่า “มหิจฺฉตา” ความไม่สันโดษเรียก “อสันตุฎฐิ” โดยพยัญชนะหรือโดยนิตินัย เราอาจจะแยกได้ว่าเป็นคนละชั้น คนละตอน หรือคนละอย่าง แต่โดยพฤตินัยย่อมเป็นไปด้วยกัน จนถึงกับหลงไปได้ว่าเป็นสิ่งเดียวกัน
คำว่า “ความคลุกคลี” หมายถึง การระคนกันเป็นหมู่ เพื่อความเพลิดเพลินอย่างใดอย่างหนึ่งจากการกระทำอันนั้น ความเพลิดเพลิน จากการคลุกคลีนี้มีรสดึงดูดในทางธรรมารมณ์เป็นส่วนใหญ่ และก็มีความยั่วยวน ไม่แพ้อารมณ์ที่ได้รับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะเหตุฉะนั้นเอง คนเราจึงติดใจรสของการที่ได้ระคนกันเป็นหมู่นี้ ทำให้จิตใจลุ่มหลง มีลักษณะเหมือนกับจมไม่ลง ทำให้ความคิดความอ่าน ดำเนินไปอย่างผิวเผิน ไม่เป็นที่ตั้งแห่งการคิดอย่างแยบคายหรือลึกซึ้ง แต่พึงทราบไว้ว่าการประชุมกันเพื่อศึกษาเล่าเรียน ปรึกษาหารือ กิจการงานอันเป็นหน้าที่ เป็นต้นนั้น ท่านไม่เรียกว่าการคลุกคลีกันเป็นหมู่ในที่นี้ แต่อีกทางหนึ่งท่านยังหมายกว้างไปถึงว่า การถูกกิเลสทั่วไปกลุ้มรุม ด้วยสัญญาอดีต ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เคยผ่านมาแล้วแต่หนหลัง แม้นั่งคิดฝันอยู่คนเดียว ก็กลับสงเคราะห์ไว้ในคำว่า การคลุกคลีในหมู่อย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน เพราะมีมูลมาจากความอาลัยในการระคนด้วยหมู่
คำว่า “ความเกียจคร้าน” และคำว่า “เลี้ยงยาก” มีความหมายชัดเจนแล้ว การปฏิบัติทำความดับทุกข์เป็นเรื่องใหญ่และยึดยาว จึงต้องอาศัยความเพียร ความเลี้ยงง่าย จึงจะเป็นเหตุให้ไม่ต้องมีภาระเรื่องอาหารมากกว่าที่จำเป็น ซึ่งทำให้เสียเวลา และเสียวัตถุมากไปเปล่าๆ โดยที่อาจจะนำไปใช้เป็นประโยชน์อย่างอื่นได้
ลักษณะทั้ง ๘ นี้ แต่ละอย่างๆ เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติ เพื่อความดับทุกข์ โดยตรงก็มี เป็นเพียงอุปสรรคก็มี และเป็นการปฏิบัติผิดโดยตรงก็มี จึงถือว่าไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุศาสน์ ต่อเมื่อปฏิบัติตรงกันข้ามจาก ๘ อย่างข้างต้น จึงจะเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ หรือเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์ นี้นับว่าเป็นหมวดธรรมที่เป็นอุปกรณ์แห่งการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์อย่างหนึ่ง ในฐานะที่เป็นหลักสำหรับยึดถือ หรือให้ดำเนินไปถูกทาง”
ทุกคนต้องว่างจากสิ่งที่มีอยู่ว่างจากที่เรามีปัญญา ว่างจากที่เรามีความตั้งมั่น ว่างจากที่เราเสียสละ อย่าไปเอาแบบตาไม่เห็นรูปก็สงบ หูไม่ฟังเสียงก็สงบ อย่างนี้เข้าเรียกว่าว่างจากสิ่งไม่มี อย่างนี้เขาเรียกว่าไม่ได้ปฏิบัติไม่มีวิปัสสนาเลย มีแต่อวิชชา ความหลง เขาเรียกว่าหลงในว่าง ขาด สูญ ว่างจากที่มันไม่มีเขาเรียกว่าเสียเวลาไม่ได้ทำวิปัสสนาให้กับตัวเองว่างอย่างนี้เราก็ไม่เอา จะไปหาที่ไหนไม่มีความแก่ ไปหาที่ไหนไม่มีความเจ็บ ไปหาที่ไม่มีความตาย ไปหาที่ไหนที่เขาไม่นินทา สรรเสริญ อันนี้มันเป็นสิ่งที่มีประจำโลก เราต้องมีภาวนา เราต้องมีวิปัสสนา คนเราต้องมีใจรู้ คนเราไม่เจ็บช้าก็เจ็บเร็ว ไม่ตายช้าก็ตายเร็ว ไม่แก่ช้าก็แก่เร็ว มันเป็นสภาวธรรมทุกคนต้องมีความสุข ทุกคนต้องมีสติมีปัญญา มีวิปัสสนาญาณ ญาณคือเอาเราออกจากความทุกข์ทางจิตใจมันจะได้บรรเทาทุกข์ทางกายมันจะได้เป็นโรคแต่ทางกายใจเราไม่ต้องเป็นโรคเป็นภัย ไม่ต้องแก่ไม่ต้องเจ็บไม่ต้องกายอะไรกับใครเพราะความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราจะได้หยุดความปรุงแต่งของตัวเอง เพราะว่าความปรุงแต่งของตัวเองมันไม่มีใครมาหยุดให้ได้ ตัวเราต้องหยุดด้วยความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง อย่าไปวุ่นวาย เราต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ พระพุทธเจ้าสอนเราอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ นั่นคือ หนทางสู่มรรคผลพระนิพพาน
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai