แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้ทุกท่านทุกคนพากันรู้จักพากันเข้าใจในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าไม่เข้าใจแล้วมันปฏิบัติไม่ได้ปฏิบัติไม่ถูก พระพุทธเจ้าจึงบอกให้เรารู้อริยสัจ ๔ รู้ทุกข์รู้เหตุเกิดทุกข์รู้ความดับทุกข์รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เราทุกคนจะเอาความรู้สึกมาดำเนินชีวิตไม่ได้ เพราะความรู้สึกของเรามันเป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตน สิ่งที่ไม่ถูกต้องนั้นก็ได้แก่ตัวตน สิ่งที่มีความเห็นผิดเข้าใจผิด เป็นการดำเนินชีวิตที่ผิด เอาความหลงเป็นการดำเนินชีวิต เพื่อจะมีเพื่อจะเป็นเพื่อจะเอาอย่างนี้ไม่เอาอย่างนี้ ที่จะให้ทุกสิ่งทุกอย่างตามปรารถนาตามความต้องการ สิ่งเหล่านั้นมันเป็นอวิชชาความหลงของเราทุกคน พระพุทธเจ้าถึงบอกพวกเราว่าเพราะพวกเราไม่รู้อริยสัจ 4 จึงได้เวียนว่ายตายเกิดอย่างยาวนาน ถ้าเราทำตามความหลงจะกี่ชาติกี่กัปป์กี่กัลป์ มันก็แก้ปัญหาไม่ได้ มันมีแต่สร้างปัญหา ความหลงอย่างนี้ไม่ได้ไม่ถูกต้อง
เมื่อมีพระพุทธเจ้าผู้ได้บำเพ็ญพุทธบารมีอย่างสมบูรณ์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้ามาบอกมาสอน ให้ทุกท่านทุกคนได้พากันพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญา ความหลงมันเป็นสิ่งที่ยากที่ทุกคนจะเข้าใจ เพราะความหลงมันเป็นความรู้สึก เป็นความหนาวความร้อนความสุขความทุกข์ มันเป็นรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ มันเป็นอายตนะ จะว่าเป็นเราได้อย่างไร มันยากที่ทุกคนจะพากันเข้าใจ ทุกคนต้องพากันขวนขวายหาความดับทุกข์ ที่มันเป็นตัวเป็นตน มันเป็นไปเพื่อประกอบความทุกข์ มันเป็นความคิดเห็นผิดเข้าใจผิด ที่เราทุกคนเอาความรู้สึกนี้เป็นเรา ความหลงก็อุปมาเหมือนกับปลาอยู่ในน้ำก็ไม่รู้เรื่องบนบก เปรียบเสมือนนกอยู่บนบกก็ไม่รู้เรื่องของปลา คิดอย่างไรก็คิดไม่ได้ เพราะเราได้เอาตัวเอาตนเป็นความรู้สึก เอาธาตุเอาขันธ์เอาอายตนะเป็นเราก็ย่อมคิดไม่ได้ เราเลยพากันเอาแต่ตัวแต่ตน เอาแต่ความรู้สึก มันเลยแก้ปัญหาไม่ได้ มันเลยสร้างแต่ปัญหา พระพุทธเจ้าใช้เวลาค้นคว้าปฏิบัติยาวนานถึง ๔ อสงไขยแสนมหากัปป์จนได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าได้มาบอกมาสอน บอกให้รู้ว่าต้องคิดอย่างนี้ต้องทำอย่างนี้ต้องปฏิบัติอย่างนี้ถึงจะแก้ปัญหาได้
เราทุกคนจะต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน เพราะปัจจุบันเป็นการปฏิบัติของเรา เราจะเอาความหลงเป็นการดำเนินชีวิตไม่ได้ ที่ปรากฏผลกรรมให้เห็น เห็นไหมที่เราพากันเวียนว่ายตายเกิดมายาวนาน เพราะมีความเห็นผิด มีความหลงจัด จึงพากันฆ่าสัตว์ พากันบริโภคคนอื่น เอาความสุขกับความทุกข์ของคนอื่น ความหลงมันทำให้เราต้องมีลูกมีหลาน เพราะความหลงความไม่เข้าใจ พอเกิดปัญหาอะไรขึ้น ก็ไปบ่นให้ลูกให้หลานบ่นให้รัฐบาลบ่นให้ดินฟ้าอากาศบ่นให้สิ่งแวดล้อม ไม่เข้าใจเลยว่าตัวเองมีความคิดเห็นผิดเข้าใจผิด ถึงได้มีปัญหาอย่างนี้ๆ
พระพุทธเจ้าไม่ให้เราหลง ให้เรามีปัญญา ที่แล้วไปแล้วก็ให้แล้วไป เมื่อเรากระทบอะไรมันก็ต้องเป็นอย่างนั้น เหมือนกลางวันมันก็ต้องมีแสงสว่าง อย่างวันนี้แดดร้อนแดดจัดมันก็ต้องร้อนอย่างนี้อย่างนี้ ปัจจุบันเราต้องรู้จัก จะได้แก้ไขใจเราในปัจจุบัน ความหลงมันทำให้เราขี้เกียจขี้คร้าน มีแต่จะเอา ผู้ที่เรียนหนังสือก็เรียนเพื่อจะเอาเพื่อจะเป็น ผู้ที่ทำงานก็ทำงานเพื่อจะเอาเพื่อจะเป็น หลงมากจนได้พากันโกงกินคอรัปชั่น พากันผิดศีล อยู่แต่กับอบายมุข แล้วก็จะไปแก้แต่ภายนอก หลงในลูกในหลานก็ว่าตัวเองมีความเมตตามีความกรุณา มันไม่ใช่ความเมตตาจริงกรุณาจริงหรอกมันเป็นความหลงต่างหาก ผู้ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องต้องยกเลิกตัวตน เหมือนพระพุทธเจ้าพายกเลิกเหมือนพระอรหันต์พายกเลิก ถ้าเอาความรู้สึกเป็นที่ตั้งมันไม่จบหรอก เพราะมันหลงก็ว่ามันถูกต้อง เพราะความหลงก็ถือตัวถือตนถือพรรคคือพวก
เรื่อง 'การประพฤติปฏิบัติธรรม' ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ของทุกๆ คน ไม่มีบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ ให้ทุกท่านทุกคนถือว่าเป็นเรื่องสำคัญนะ...ในชีวิตประจำวันของพวกเรา ความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบาก ถือว่าเป็นเรื่องดีที่จะให้เราได้ฝืน ได้อดได้ทน ได้ทำความเพียร แต่ละคนแต่ละท่านน่ะ พระพุทธเจ้าท่านให้สำรวจตรวจตราตัวเองว่า เรามีอะไรขาดตกบกพร่องอะไรบ้างนะ ข้อวัตรส่วนไหนของเราบกพร่อง ศีลของเราข้อไหนบ้างบกพร่องด่างพร้อย
การเจริญสติ การฝึกสมาธิ การเจริญปัญญาของเราน่ะ มันดีพอมันต่อเนื่อง...ที่จะทำให้ธรรมะของเราเจริญรุ่งเรืองงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไปหรือไม่ ใจของเราสงบหรือว่าใจของเราน่ะ ส่งออกไปตั้งแต่ข้างนอกจนกลายเป็น พระฟุ้งซ่าน เณรฟุ้งซ่าน แม่ชีฟุ้งซ่าน อุบาสกอุบาสิกาฟุ้งซ่าน เป็นคนหัวใจแตกสลาย เป็นคนจิตใจแตกสลายไม่อยู่ในความสงบ
วิธีแก้น่ะ พระพุทธเจ้าท่านก็สอนเราให้กลับมาหาตัวเอง ให้กลับมาหาข้อวัตรปฏิบัติ ไม่ให้คลุกคลีกับคนอื่นหรือหมู่คณะ ให้พยายามอยู่กับตัวเอง ฝึกสมาธิให้มาก สมาธิ ก็คือ ความสงบน่ะ
สาเหตุที่ 'ใจ' ของเราจะสงบมันก็ต้องมีการนั่งสมาธิ เดินจงกรม ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ด้วยคณะ อย่าไปมองคนอื่น อย่าไปดูคนอื่นนะ ให้ดูกายวาจาใจตัวเอง
คนเรียนหนังสือน่ะตั้งแต่อนุบาล ป.๑ เค้าไม่รู้เรื่องอะไรหรอก เมื่อเรียนไม่หยุด ศึกษาไม่หยุด ชีวิตของบุคคลนั้น ก็ย่อมรู้จักรู้แจ้งจนได้จบดอกเตอร์นะ การประพฤติการปฏิบัติของเราผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ก็ต้องทำความเข้าใจแล้วก็นำไปประพฤติปฏิบัติ เมื่อเราปฏิบัติไม่หยุด ภาวนาไม่หยุด ค้นคว้าทั้งเหตุทั้งผลและประพฤติปฏิบัติ เดินตามรอยของพระพุทธเจ้าที่แท้จริงน่ะ ทุกท่านทุกคนก็ย่อมเข้าถึง 'พระนิพพาน' ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น...ไม่มีใครยกเว้น
นักประพฤติปฏิบัติน่ะ ต้องพยายามมาแก้ที่จิตที่ใจ แก้ที่การกระทำความประพฤติของเราเอง พยายามถอนความรู้สึกนึกคิดอัตตาตัวเองที่มันเป็นเราเป็นของเรา คนเรามันมี 'ตัวตน' มาก... ถ้าเราไม่ได้ภาวนา ไม่ได้พิจารณา บวชมาหลายพรรษา 'กิเลส' มันก็ขึ้นหลายพรรษาเหมือนกันนะ...เป็นผู้ทำอะไรได้ กิเลสมันก็ติดตามเราเหมือนเงาตามตัว
คนเรามันทิฏฐิมานะ อัตตาตัวตน มันชอบติดทองแต่หน้าพระ หลังพระมันไม่ติด อย่างใครมีบทบาทอะไรทำงานส่วนรวมอะไร กิเลสมันก็ฟู ก็คะนอง ถ้าใครไม่ได้ทำก็หงอย อันนี้มันเป็นอาการของจิตใจของกิเลสทั้งนั้น
ในสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเจ้าหัวขโมยคนหนึ่งรูปร่างซอมซ่อมอซอ นอนคลุมโปงอยู่ในศาลาริมทางใกล้ประตูเมืองโดยมีเท้าเปื้อนโคลนตมโผล่มานอกผ้า ถึงเช้าก็ยังไม่ตื่น คนเดินผ่านไปมาก็เห็นเขา แต่ไม่มีใครสนใจและคร้านที่จะคุยด้วย เพราะคิดว่าเป็นคนจรจัดเร่ร่อนไปตามที่ต่างๆ ไม่มีที่ทางเป็นหลักแหล่ง แต่ปรากฏมีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อสุมงคลเป็นคนใจบุญมาก และชอบใจในการบริจาคทรัพย์เพื่อสร้างถาวรสถานมากมายในพระพุทธศาสนา โดยไม่มีความเสียดายในทรัพย์สักนิด ประวัติคร่าวๆ ของเศรษฐีสุมงคลได้สร้างวิหารขึ้นในเนื้อที่หลายร้อยไร่ สวยงามอลังการ ขนาดพื้นที่วัดยังปูด้วยอิฐทองคำเต็มพื้นที่ทั้งหมด เสร็จแล้วจัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่
วันหนึ่งเศรษฐีใจบุญคนนี้ได้มุ่งหน้าไปวัดเพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแต่เช้าตรู่ เผอิญเดินผ่านไปทางที่โจรนั้นนอนคลุมโปงอยู่ก็พูดขึ้นคนเดียวว่า เจ้าคนนี้มีเท้าเปื้อนโคลนตม คงจักเป็นคนนักเที่ยวยามค่ำคืน แล้วกลับมานอน
เจ้าหัวขโมยได้ยินเสียงของเศรษฐีก็เปิดหน้าดูว่าใครกันที่กล้าว่าตนขนาดนี้ เมื่อรู้แล้วก็ผูกพยาบาทอาฆาตและคิดหาทางเอาคืนเศรษฐีให้สาสมแก่ความแค้นที่ฝังลึก
สิ่งแรกที่โจรเจ้าอารมณ์มุ่งหมายคือ ต้องการทำให้เศรษฐีเสียใจมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยิ่งถ้าน้ำตาไหลออกมาเป็นสายเลือดได้ก็คงจะสมแค้น
เขาเริ่มต้นแผนร้ายด้วยการไปเผานาข้าวของเศรษฐีเป็นพันเป็นหมื่นไร่ โดยอาศัยจังหวะที่ข้าวออกรวงเหลืองอร่าม รอวันเก็บเกี่ยวรอมร่อแล้วจัดการเผาให้วอดในพริบตา
จะกี่ครั้งๆ จนครั้งที่ 7 เศรษฐีก็ไม่ได้แสดงความเสียใจออกมาให้เห็นแม้แต่ครั้งเดียว ก็ยิ่งทำให้เจ้าหัวขโมยโกรธแค้นเศรษฐีมาก รอโอกาสทำการแก้แค้นด้วยวิธีการอื่น โดยการไปตัดเท้าโคของเศรษฐีจนหมดคอก แต่ก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐีสะทกสะท้านใจ
เศรษฐีได้สั่งซื้อโคเข้ามาเลี้ยงใหม่ก็ถูกเจ้าโจรตัดขา ทำอย่างนี้ 7 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้สร้างความเคียดแค้นใจให้เศรษฐีแม้แต่นิดเดียว (โอ้ จิตใจทำด้วยอะไรเนี่ย) กลายเป็นว่าความเคียดแค้นใจได้บังเกิดขึ้นในใจของโจรขี้โกรธแต่คนเดียว เขาเต็มไปด้วยโทสะ เฝ้าคิดร้ายต่อผู้อื่น เมื่อเศรษฐีไม่โกรธไม่สนใจ ตนเองกลับยิ่งทุรณทุรายด้วยความแค้น
ความโกรธเกิดขึ้นในใจแทบคลั่ง ทำให้โจรชั่วต้องคิดหาวิธีที่ลึกซึ้งกว่านั้นด้วยการไปตีสนิทกับคนใกล้ชิดของเศรษฐีเพื่อต้องการถามถึงสิ่งที่เศรษฐีรักมากที่สุดในชีวิต และคำตอบที่ได้จากคนใกล้ชิดของเศรษฐีที่โจรชั่วต้องการก็สัมฤทธิ์ เพราะเขารู้แล้วว่าสิ่งที่เศรษฐีรักมากที่สุดไม่ใช่อื่นใด แต่เป็นพระคันธกุฎีที่เศรษฐีสร้างถวายเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า
เจ้าหัวขโมยสกปรกนึกกระหยิ่ม คิดว่าเห็นทีแผนการครั้งนี้จักต้องสำเร็จซะที ว่าแล้วก็รอโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกไปบิณฑบาต เข้าพื้นที่จัดการทุบหม้อน้ำดื่ม น้ำใช้ และจุดไฟเผาพระคันธกุฎี ก่อนจะหลบหนีไปดักซุ่มดูความเคลื่อนไหวของเศรษฐีเพื่อดูอาการของเศรษฐี
ฝ่ายเศรษฐีเมื่อรู้ข่าวพระคันธกุฎีถูกไฟไหม้จึงรีบเดินทางมาดู แต่แทนที่เศรษฐีจะแสดงออกถึงความเสียใจ มีน้ำตาเล็ดลอดออกมา เศรษฐีก็ได้ทำ|สิ่งที่คนทั้งหลายไม่คาดคิดด้วยการปรบมือหัวเราะอย่างมีความสุข
สร้างความงุนงงปนแปลกใจให้กับหมู่คนที่มามุงดู รวมถึงเจ้าโจรสกปรกนั้นด้วย จนทำให้คนคนหนึ่งในนั้นต้องถามเศรษฐีว่าพระคันธกุฎีถูกไฟไหม้ขนาดนั้นทำไมต้องปรบมือหัวเราะด้วย
และคำตอบที่ทุกคนได้ยินก็คือการที่เขาต้องหัวเราะและปรบมือนั้น เพราะเป็นโอกาสดีที่จะได้สร้างพระคันธกุฎีหลังใหม่ถวายพระพุทธเจ้า คราวนี้เราจะสร้างพระคันธกุฎีใหม่ให้ดียิ่งกว่าเดิมอีก
โจรได้ยินเช่นนั้น เมื่อทีเด็ด ถูกเศรษฐีเด็ดทิ้งอย่างง่ายดาย ก็แค้นใจอย่างหนัก เฝ้าคิดหาทางที่จะกำจัดเศรษฐีให้ได้ เมื่อเศรษฐีสร้างกุฏิหลังใหม่เสร็จ ก็จัดงานฉลอง โจรได้ช่องทาง จึงเหน็บมีดปลายแหลมไว้ หวังจะลอบสังหารเศรษฐี แล้วแทรกตัวปะปนมากับฝูงชน ฝ่ายเศรษฐี ปลื้มปีติใจในผลแห่งทานนี้มาก ประกาศกับฝูงชนว่า "ท่านทั้งหลาย การที่ข้าพเจ้าได้บุญใหญ่ในวันนี้ ก็เพราะมีคนได้เผาพระคันธกุฎีหลังเก่าไป ถ้าหากไม่มีเขา ข้าพเจ้าก็คงไม่ได้บุญใหญ่เช่นนี้อีก ข้าพเจ้าจึงขอแบ่งส่วนบุญนี้ให้เขาเป็นคนแรก"
โจรร้ายได้เห็นน้ำใจของเศรษฐี ก็ละอาย เสียใจในความผิดของตน จึงเข้ามาคุกเข่ากราบขอขมาท่านเศรษฐี เศรษฐีก็ให้อภัย การฉลองก็ดำเนินต่อไป ต่อมาโจรขอฝากตัวเป็นลูกน้องเศรษฐี แต่เศรษฐีปฏิเสธ บอกว่า แค่พูดนิดเดียวโจรโกรธขนาดนี้แล้ว ต่อไปถ้าเป็นลูกน้อง ตนจะไปตำหนิอะไรโจรได้ เจ้าจงไปตามทางของเจ้าเถิด
ผลแห่งกรรมชั่วนั้น ทำให้โจรได้รับความทุกข์ในอเวจีนรกอยู่เป็นเวลานาน ในกาลบัดนี้ ได้มาเกิดเป็นอชครเปรต (เปรตงูเหลือม) ร่างกายใหญ่ยาวประมาณ 25 โยชน์ มีเปลวไฟลุกไหม้ทั้งสามด้าน คือตั้งแต่ศีรษะลามจนถึงหาง ตั้งแต่หางลามไปถึงศีรษะ และตั้งแต่ข้างลำตัวลามไปที่กลางตัว พุ่งสูงขึ้นเท่าต้นตาล ทำการเผาร่างของอชครเปรตอย่างมิปราศรัยเหมือนหนึ่งว่าต้องการจัดการร่างนั้นให้ย่อยยับในพริบตา สาเหตุแห่งกรรมที่นำให้มาเกิดเป็นอชครเปรตนั้น มาจากความเป็นบุคคลที่มีจิตโกรธแค้น การผูกพยาบาทอาฆาตมาดร้ายในบุคคลที่ไม่มีจิตคิดร้ายต่อตัวเอง ทำให้ต้องมาเกิดเป็นเปรตดังกล่าว
พระศาสดา ครั้นตรัสบุรพกรรมของเปรตนั้นอย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาคนพาลทำกรรมอันลามกอยู่ ย่อมไม่รู้ แต่ภายหลัง เร่าร้อนอยู่เพราะกรรมอันตนทำแล้ว ย่อมเป็นเช่นกับไฟไหม้ป่า ด้วยตนของตนเอง" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า “อถ ปาปานิ กมฺมานิ กรํ พาโล น พุชฺฌติ เสหิ กมฺเมหิ ทุมฺเมโธ อคฺคิทฑฺโฒว ตปฺปติ. - อันคนพาล ทำกรรมทั้งหลายอันลามกอยู่ ย่อมไม่รู้ (สึก) บุคคลมีปัญญาทราม ย่อมเดือดร้อน ดุจถูกไฟไหม้ เพราะกรรมของตนเอง.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อถ ปาปานิ ความว่า คนพาลหาใช่ทำบาปทั้งหลายด้วยสามารถแห่งความโกรธอย่างเดียวไม่ แม้ทำอยู่ก็ไม่รู้สึก แต่เมื่อทำบาปอยู่ จะชื่อว่าไม่รู้ว่า "เราทำบาป" ย่อมไม่มี. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ย่อมไม่รู้" เพราะความไม่รู้ว่า "ผลของกรรมนี้ มีชื่อเห็นปานนี้."
ผลมาจากสักกายทิฏฐิตัวเดียว ที่ยึดมั่นถือมั่นว่า เขาว่าให้เรา เขาด่าเรา ที่ทำให้เขาได้รับวิบากกรรมเห็นปานนี้ เพราะมีเรามีเขาจึงมีปัญหา เมื่อหมดเราหมดเขาก็จะหมดปัญหา
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สตฺติยา วิย โอมฏฺโฐ ฑยฺหมาโนว มตฺถเก สกฺกายทิฏฺฐิปฺปหานาย สโต ภิกฺขุ ปริพฺพเชติ ฯ ภิกษุพึงมีสติ เว้นรอบเพื่ออันละสักกายทิฏฐิ เหมือนบุรุษถูกประหารด้วยหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ ฯ
สักกายทิฏฐิ
สักกายะคือ อุปาทานขันธ์ ๕ คือ 1.รูปูปาทานขันธ์ 2.เวทนูปาทานขันธ์ 3.สัญญูปาทานขันธ์ 4.สังขารูปาทานขันธ์ 5.วิญญาณูปาทานขันธ์ อุปาทานขันธ์ ๕ นี้แล คือสักกายะ.
สักกายสมุทัย คือ ตัณหา อันทำให้เกิดในภพใหม่ คือความกำหนัดยินดี เพลิดเพลินยิ่งในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหานี้แล คือสักกายสมุทัย.
สักกายนิโรธ คือ ความดับด้วยความคลายกำหนัดไม่มีเหลือ ความสละ ความสละคืน ความปล่อย ความไม่พัวพัน ด้วยตัณหานั้น นี้แล คือ สักกายนิโรธ.
สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา อริยะมรรคมีองค์ ๘ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งจิตไว้ชอบ นี้แล คือ สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา.
สักกายะทิฎฐิ มีได้อย่างร์ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับในโลกนี้ 1. ไม่ได้เห็นพระอริยะ 2. ไม่ฉลาดใน ธรรมของพระอริยะ 3. ไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ 4. ไม่ได้เห็นสัปบุรุษ (ผู้มีสัมมาทิฐิ ผู้ศรัทธาตถาคต) 5. ไม่ฉลาดในธรรมของ สัปบุรุษ 6. ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัปบุรุษ
ย่อม 1. ตามเห็นรูปโดยความเป็นตนบ้าง 2. ตามเห็นตนว่ามีรูปบ้าง
3. ตามเห็นรูปในตนบ้าง 4. ตามเห็นตนในรูปบ้าง
ย่อมตามเห็นเวทนา ... ย่อมตามเห็นสัญญา ... ย่อมตามเห็นสังขารทั้งหลาย ... ย่อมตามเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตนบ้าง ตามเห็นตนว่ามีวิญญาณบ้าง ตามเห็นวิญญาณในตนบ้าง ตามเห็นตนในวิญญาณบ้าง อย่างนี้แล สักกายทิฏฐิจึงมีได้.
ก็อย่างไรสักกายทิฏฐิ จึงจะไม่มี? อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ 1. ได้เห็นพระอริยะ 2. ฉลาดในธรรมของพระอริยะ
3. ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ 4. ได้เห็นสัปบุรุษ
5. ฉลาดในธรรม ของสัปบุรุษ 6. ฝึกดีแล้วในธรรมของสัปบุรุษ
ย่อม 1.ไม่ตามเห็นรูป โดยความเป็นตนบ้าง 2.ไม่ตามเห็นตนว่ามีรูปบ้าง
3.ไม่ตามเห็นรูปในตนบ้าง 4.ไม่ตามเห็นตนในรูปบ้าง
ย่อมไม่ตามเห็นเวทนา ...ย่อมไม่ตามเห็นสัญญา ... ย่อมไม่ตามเห็นสังขารทั้งหลาย ... ย่อมไม่ตามเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตนบ้าง ไม่ตามเห็นตนว่ามีวิญญาณบ้าง ไม่ตามเห็นวิญญาณในตนบ้าง ไม่ตามเห็นตนในวิญญาณบ้าง อย่างนี้แล สักกายทิฏฐิ จึงจะไม่มี.
ทุกท่านทุกคนก็ต้องพยายามแก้ไขตัวเองนะ จิตใจหรือปฏิปทาหรือสิ่งที่ดีๆ ของเราก็เจริญน่ะ มันเหนื่อยมากลำบากมาก เราก็ต้องอดต้องทนเพื่อทำความเพียร ละบาปที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น ละบาปที่อยู่ในใจอยู่ในกมลสันดานนี้ให้มันหายไป ทำอะไรอยู่ ปฏิบัติอะไรอยู่พระพุทธเจ้าท่านก็ให้เราปรารภธรรม อย่าได้พากันปรารภอัตตาตัวตนซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม...ไม่เหมาะไม่ควร
เราทำอะไรอยู่ก็ตั้งใจทำให้มันดีๆ นะ เพื่อเราจะได้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เพื่อเราจะทำความดีให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท
พระที่ชอบส่งใจออกไปข้างนอก โยมที่ชอบส่งใจออกไปข้างนอกต้องกลับเนื้อกลับตัว ทั้งกายทั้งใจ ถือว่าผิดแล้วก็แล้วไป อย่าได้ทำอีก ถ้าเราทำไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้สึกตัวน่ะ เราจะตกเป็นผู้หลอกลวง กิเลสมันหลอกลวงเรา เราก็ไปหลอกลวงคนอื่นต่อ พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เรายุ่งกับสิ่งภายนอกน่ะ เป็นธุระในเรื่องภายนอก ท่านเมตตาเราสงสารเรา ให้เน้นเข้าหาข้อวัตรปฏิบัติ เพราะการประพฤติการปฏิบัตินี้ คือความสำคัญ คือความเจริญในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่การมีหน้ามีตา มีลาภ ยศ สรรเสริญเป็นสิ่งที่สำคัญ เราจะได้เป็นพระมาตรฐาน เป็นเณรมาตรฐาน...เป็นโยมวัดมาตรฐาน...
ส่วนใหญ่ก็เราทุกๆ คนนี้แหละ ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อไม่ได้มาตรฐานอย่างนี้ ตัวอย่างที่ดี แบบอย่างที่ดีมันก็ไม่มี 'มีแต่ของปลอมทั้งนั้น' "ความย่อหย่อนอ่อนแอนี้เป็นอันตรายต่อตัวเราเองและคนอื่น"
พระพุทธเจ้าท่านสอนเราทุกๆ คนน่ะ ทั้งพระใหม่พระเก่า ตลอดถึงญาติโยมประชาชน อย่าได้พากันลืมตัวนะ การประพฤติปฏิบัติต้องให้มันเข้มขันต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ การไม่ทำตามใจของตัวเอง ไม่ตามกิเลสของตัวเอง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ประเสริฐ
เราเป็นคนฉลาดเป็นคนเก่ง ไปเอาความสุขความดับทุกข์จากคนอื่น...คงไม่ได้...คงไม่ดีนะ ต้องเอาความสุข ความดับทุกข์จากตัวเอง ด้วยการไม่ตามกิเลสนี้แหละ
ถ้าเราจะพากันสร้าง 'เรตติ้ง' ให้กับตัวเองนั้น... พระพุทธเจ้าท่านให้เรากลับมาหาธรรมะ กลับหาวินัยอย่าได้พากันส่งกายส่งใจออกข้างนอก มันเป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม มันมีเบื้องหน้าเบื้องหลังโดยถูกกิเลสมันครอบงำ
เราทุกคนต้องกราบไหว้ตัวเองให้ได้ให้สนิทใจ คนอื่นเค้าอยู่ใกล้ๆ เค้าจะได้รักเคารพเรากราบไหว้เราได้สนิทใจ อย่างนี้ถึงจะถูกต้อง มันถึงจะไม่กินแหนงแคลงใจ ที่พูดที่บรรยายนี้แหละ...เป็นพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านตรัสว่า... "น เต อหํ อานนฺท ตถา ปรกฺกมิสฺสามิ อานนท์ ! เราไม่พยายามทำกะพวกเธอ อย่างทะนุถนอม ยถา กุมฺภกาโร อามเก อามกมตฺเต เหมือนพวกช่างหม้อ ทำแก่หม้อ ที่ยังเปียก ยังดิบอยู่ นิคฺคยฺหนิคฺคยฺหาหํ อานนฺท วกฺขามิ อานนท์ ! เราจักขนาบแล้ว ขนาบอีก ไม่มีหยุด ปวยฺหปวยฺหาหํ อานนฺท วกฺขามิ อานนท์ ! เราจักชี้โทษแล้ว ชี้โทษอีก ไม่มีหยุด โย สาโร, โส ฐสฺสติ ผู้ใดมีมรรคผลเป็นแก่นสาร ผู้นั้นจักทนอยู่ได้"
ทุกท่านทุกคนให้ถือเอาโอกาส...ถือเอาเวลานี้มาประพฤติมาปฏิบัติ มาอบรมบ่มอินทรีย์ให้จิตใจของเรามีอินทรีย์บารมีแก่กล้าขึ้น ต้องอาศัยความอดความทน อาศัยข้อวัตรปฏิบัติ คนเราเมื่อไม่ได้ตาม 'ใจ' ก็ต้องมาแก้ที่ 'ใจ' เพราะสิ่งที่มีปัญหาก็คือ 'ใจ' ที่มีปัญหา ต้องทำใจของเราให้สงบให้ได้น่ะ 'ใจ' ของเรามันก็ค่อยๆ เกิดปัญญาว่า ธรรมะนี้มันเป็นสิ่งที่ทวนกระแส ถ้าเราทำตามใจตามอารมณ์น่ะชีวิตนี้ก็มีแต่ผิดหวัง โลกนี้ก็ย่อมมีแต่ความเห็นแก่ตัว ถือพรรคถือพวก ถือชั้นวรรณะชาติตระกูล "เอาดีใส่แต่ตัว เอาสุขใส่แต่ตัว เอาความทุกข์ให้คนอื่น มันไม่ถูกต้องเลยมันไม่ยุติธรรมเลย...."
ธรรมะที่ทำให้เราเป็น 'พระ' เบื้องต้น คือการลดมานะละทิฏฐิ ละความเห็นแก่ตัว ไม่เอาความสุขทางวัตถุ ไม่เอาความสุขทางเนื้อทางหนัง ลาภ ยศ สรรเสริญ จะเอาความสุขทางทำความดีมีศีลมีธรรม เอาความสุขทางการทำจิตใจให้สงบทางการเสียสละ เรื่องเงินเรื่องสตางค์ เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เค้ามาพร้อมกับความดีของเรา โดยที่เราไม่ต้องไปอยากไปต้องการ อย่างเค้าให้เราเรียนหนังสือตั้งแต่อนุบาลจนถึงดอกเตอร์นี้ก็เพื่อเป็นคนดีเป็นคนเสียสละ ละความเห็นแก่ตัวความขี้เกียจขี้คร้าน อย่างให้เค้าเรียนนักธรรมตรีไปถึง ป.ธ.๙ ก็เพื่อเป็นคนดี เป็นคนเสียละความเห็นแก่ตัว
โลกเราที่มันร้อนอยู่นี้เพราะอะไร...? เพราะเราทุกๆ คนมีความเห็นแก่ตัวมันถึงได้สร้างปัญหา เราทำความดีมันมีแต่สงบมีแต่เย็นน่ะ ไม่มีใครมาได้เปรียบเรา เราไม่ได้เสียเปรียบใครหรอก การชนะจิตชนะใจตัวเองได้ คือการชนะข้าศึกทั้งหลายทั้งปวง พระพุทธเจ้าท่านเมตตาสอนเราอย่างนี้นะ ให้ทุกท่านทุกคน ตั้งใจดีๆ อธิษฐานจิตให้ดีๆ ให้มีหลัก ให้มีเกณฑ์ แล้วก็บังคับตัวเองอย่าให้คนอื่นบังคับ "การบังคับตัวเองเขาเรียกว่า ศีล" เมื่อ 'ศีล' เข้าถึงจิต ถึงใจ ถึงเจตนา สมาธิที่มันเป็นธรรมชาติ ที่มันเป็นกฎของธรรมชาตินั้น มันจะเกิดขึ้นมาเอง ปัญญาตัวที่ดับทุกข์ที่แท้จริงมันถึงจะเกิดศีล สมาธิ ปัญญา มันจะรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ในโอกาสนี้ ถือว่าเป็นโอกาสสำคัญที่ทุกท่านทุกคน จะได้ฝึกจะได้ปฏิบัติขัดเกลากิเลสอาสวะของตัวเอง ไม่ว่าเราจะอยู่ในวัด หรือจะอยู่ในบ้านอยู่ที่ไหน ทุกคนก็ต้องปฏิบัติตัวเองทั้งหมด เราอยู่ที่ไหนเราก็แก่ เราก็เจ็บ เราก็ตายเหมือนกันหมด 'สัจธรรม' คือความจริงเค้าไม่ได้ยกเว้นใคร
ความสุขทุกคนมันเป็นสิ่งเสพติด ทุกคนมันชอบมันติดเราทุกคนจำเป็นต้องทำใจเฉยๆ น่ะ เดินหน้าประพฤติปฏิบัติธรรม คำว่า 'ติด' ทุกคนก็รู้แล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้ มันถึงติด จิตใจเราจำเป็นจะต้องเดินหน้าไป ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง อย่าไปเสียดงเสียดายอาลัยอาวรณ์มัน แข็งใจสู้มัน มีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ ถือว่าเราได้เดินตามรอยบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ไม่มีอะไรที่จะประเสริฐยิ่งกว่า จงดีใจจงภูมิใจในตัวเอง ในการประพฤติปฏิบัติของตัวเองว่าเราได้เดินทางมาดีแล้ว ถูกต้องแล้ว ชื่อว่า "สุคโต ปฏิบัติธรรมด้วยความสุข..."
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee