แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๘ พึงประพฤติธรรมให้สุจริต ไม่พึงประพฤติธรรมนั้นให้ทุจริต ผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ ย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้และโลกหน้า
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้ทุกคนพากันเข้าใจว่า ชีวิตของเราต้องมุ่งมรรคผลพระนิพพาน แล้วพากันมาหยุดปัญหาไม่สร้างปัญหา เพื่อมาตัดกรรมตัดเวรด้วยความคิดของเราด้วยคำพูดของเราด้วยการปฏิบัติของเรา เราคิดด้วยศีลด้วยธรรมด้วยคุณธรรมที่พระพุทธเจ้าได้เมตตาสั่งสอนเราอย่างนี้ ทุกๆท่านทุกคนอย่าไปตามใจ อย่าไปตามอารมณ์ตัวเอง อย่าไปตามความรู้สึก อย่าไปตามสิ่งแวดล้อม ให้เอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่ ชีวิตของเราต้องพัฒนาทั้งจิตใจพัฒนาทั้งการดำรงชีพในปัจจุบัน ไม่หลงในความสุขความสะดวกความสบาย จนเป็นเหตุให้สร้างบาปสร้างเวรสร้างกรรมสร้างภัย เพราะเราจะได้ไปสู่ความปลอดภัย
เราทานอาหารเราบริโภคทุกอย่างต้องเป็นบุญเป็นกุศลเป็นสติเป็นปัญญา เพราะความสุขความดับทุกข์มันอยู่ที่ใจของเราทุกๆ คน ที่สติที่บริโภคทุกอย่างที่เป็นบุญเป็นกุศลเป็นสติเป็นปัญญาในปัจจุบันอย่างนี้แหละ การดำรงชีวิตของเราทั้งนักบวชทั้งประชาชน ต้องเอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่ ไม่มีใครที่ยกเว้นไม่ต้องประพฤติไม่ต้องปฏิบัติ เราเป็นพระคือพระธรรมพระวินัย พระนี้เขานับตั้งแต่พระโสดาบันถึงพระอรหันต์ ทุกท่านทุกคนต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเอง หยุดทำบาปทั้งปวง ทำแต่บุญแต่กุศล เป็นผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพราะว่าหนทางที่ประเสริฐนี้คืออริยมรรคมีองค์ 8 สำคัญ เราต้องบริโภคปัจจัย 4 ด้วยด้วยประการละฉะนี้
คนเราเกิดมาต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มีความสุขตั้งแต่เรียนหนังสือขยันรับผิดชอบไป เราสร้างเหตุสร้างปัจจัยอย่างนี้ไปทั้งพระทั้งประชาชน พร้อมทั้งศาสนาอื่นๆ ศาสนาก็ไปแนวเดียวกันนี้แหละ ถึงไม่มีศาสนาก็ตาม คำว่าศาสนาคือธรรมไม่มีตัวไม่มีตน ไม่เป็นนิติบุคคล เรามีความเห็นอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ เราอย่าไปคิดว่าเราเรียนหนังสือเพราะความจำเป็น เราต้องเข้าใจมาก ว่าเรียนหนังสือก็เพราะเป็นคนเก่งเป็นคนฉลาด เราจะได้รู้วิธีทำมาหากิน ที่ไม่เป็นบาปไม่เป็นกรรม เราจะได้เสียสละบ้างอะไรบ้าง ถ้าไม่จำเป็น เราจะไม่บริโภค เหมือนกับสามีภรรยาเดินข้ามทะเลทรายพร้อมลูกน้อย ชีวิตเราก็เหมือนกัน ในชีวิตประจำวันมันก็เป็นอย่างนั้น เราไม่จำเป็นต้องไปทำบาปอะไร เพราะใจของเราต้องมีสติมีปัญญา สมาธิในปัจจุบันเราต้องแข็งแรง มีศีลเป็นพื้นฐาน มันจะได้เป็นศีลธรรมชาติ สมาธิธรรมชาติ ปัญญาธรรมชาติ ไปในชีวิตประจำวัน เรียกว่าพรหมจรรย์ ทีนี้จะได้ลงรายละเอียดหลายแง่มุม ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจว่า ตัวเองผิดพลาดที่ไหน มันถึงไปไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้ เราพากันทำผิดตั้งแต่ต้น เรามีความเห็นผิดเราถึงไม่อยากเรียนหนังสือ ไม่ทำงาน ก็เป็นอบายมุขทางแห่งเสื่อม เพราะเราไม่มีปัญญาที่ถูกต้องนั้นเอง
เพราะความเห็นผิดเข้าใจผิดมันทำให้เราเดินทางไม่ถูก พวกเราไม่ได้เกรงกลัวต่อบาป มันขึ้นอยู่ที่ใจอยู่เจตนา การปล่อยวางของเราบางทีมันเป็นมิจฉาทิฏฐิ ยังไม่เข้าถึงเจตนา ถ้างั้นเราก็ละสักกายะทิฏฐิไม่ได้ เราทำอะไรก็มันยังเอาตัวเอาตนเป็นใหญ่ เราจะปฏิบัติอย่างลวกๆ มันคงไม่ได้ แล้วอะไรก็ไปยึดมั่นถือมั่น มันคงไม่ได้ มิจฉาทิฏฐิมันฝังอยู่ความคิดอย่างนี้ มันจะฝังด้วยเราเข้าข้างตัวเอง เราไม่มีอานาปานสติเกิดขึ้น เพราะว่าคนเราจะสงบหลายนาทีก็สงบไม่ได้ เพราะว่ามันมีแต่สมาธิปัญญา ที่แท้จริงมันยังไม่เกิดเพราะตัวตนยังฝังอยู่ มันยังมี สักกายะทิฏฐิอยู่ ทุกคนต้องลดเพื่อความบริสุทธิ์แห่งพรหมจรรย์ ต้องว่างจากสิ่งที่มีอยู่ ว่างจากตัวตนที่แท้จริง
องค์ประกอบของอริยมรรคมีองค์ ๘ ในแต่ละหัวข้อนั้นจะมี คำว่า “สัมมา” กำกับไว้ข้างหน้าเสมอ แล้วมักจะแปลคำนี้ โดยทั่วไปว่า “ชอบ” และแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Right” (ถูก) แล้วก็ไม่ได้ให้รายละเอียดต่อไปว่า ที่ว่าชอบหรือถูกนั้น หมายความว่าอย่างไร มีขอบเขตแค่ไหนอย่างไร ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจในการศึกษาความหมายของคำว่า “สัมมา” ให้ชัดเจนก่อน เป็นวิถีทางหนึ่งที่จะช่วยให้เข้าใจความหมายของสัมมากัมมันตะได้ง่ายขึ้น
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้นิยามความหมายของศัพท์ คำว่า “สัมมา” ด้วยคำภาษาไทย ๗ คำด้วยกัน คือ โดยชอบ, ดี, ถูกต้อง, ถูกล้วน, สมบูรณ์, จริง, แท้
ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้นิยามศัพท์คำว่า “สัมมา” ด้วยคำในภาษาไทย ๒ คำ คือ คำว่า “ชอบ” และคำว่า “ถูกต้อง” โดยคำทั้งสองนี้จะต้องเล็งไปที่ความดับทุกข์โดยตรง ถ้าไม่ได้มุ่งไปที่ความดับทุกข์โดยตรงก็ไม่ชื่อว่าเป็นสัมมา เช่น ความเห็นแบบคาดคะเน หรือแนวคิดของพวกนักปรัชญา แม้จะได้รับการยอมรับว่า ชอบ หรือ ถูกต้อง แต่ถ้าไม่ได้มุ่งไปที่การแก้ปัญหาความทุกข์ในชีวิต ก็ไม่ชื่อว่าเป็นสัมมาเช่นเดียวกัน
นอกจากนั้น คำว่า“สัมมา”ยังเป็นตัวกำกับให้องค์ประกอบของมรรคแต่ละองค์มีความหมายเป็นสายกลางในตัวเอง ไม่เอียงสุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ไม่ยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิอย่างงมงายจนกลายเป็นกำแพงปิดกั้นตัวเอง และไม่ปล่อยตัวเองจนกลายเป็นคนไร้จุดยืน เมื่อบูรณาการองค์มรรคทั้ง ๘ ที่มีความเป็นกลางในตัวเองเข้าด้วยกัน ก็จะทำให้เกิดระบบจริยธรรมแบบองค์รวม ที่มีความเป็นสายกลางและสมดุลครบทุกด้าน
ในพระไตรปิฎกกล่าวถึง เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ ได้แสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก คือทรงแสดงธรรมจักรกัปปวัตนสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ คำว่า “สัมมา” เป็นคำที่พระพุทธองค์ทรงนำมาใช้อธิบายสภาวะแห่งการบรรลุมรรคผลของพระองค์เอง ด้วยการยืนยันกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า ทรงได้บรรลุ “อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ” เพราะรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจสี่ ดังปรากฏในตถาคตสูตรว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ญาณทัสสนะ (ความรู้ความเห็น) ตามความเป็นจริงของเราบริสุทธิ์ดีแล้วเมื่อนั้นเราจึงปฏิญาณตนว่าเป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก...”
ในที่นี้คำว่า “สัมมา” จะมีความหมายลึกซึ้งเป็นพิเศษ เพราะเป็นคำที่แสดงคุณลักษณะของพระพุทธองค์ผู้เป็นผู้รู้แจ้งธรรมอย่างไรก็ตามในองค์ประกอบของมรรคทั้ง ๘ เราอาจใช้คำว่า “สัมมา” ในความหมายว่า”สมบูรณ์”ได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องไม่ใช่ความสมบูรณ์ในระดับสุดท้าย หรือระดับ “สมบูรณ์สูงสุด” หากแต่เป็นความสมบูรณ์ที่เกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของการพัฒนาชีวิตตามหลักอริยมรรค ซึ่งต้องสั่งสมเพิ่มพูนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นโดยลำดับ จนกว่าจะได้บรรลุถึงจุดสมบูรณ์สูงสุด”
เราต้องมาหยุดใจของตัวเอง หยุดอารมณ์ของตัวเอง ที่มันวิ่งมาอย่างความเร็วสูงในชีวิตประจำวัน ถึงเป็นไฟท์ ถึงเป็นการประพฤติปฏิบัติ เราต้องมีพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ในจิตในใจของเรา นี้คือไฟท์ นี้คือการประพฤติปฏิบัติของเราทุกๆคน ความหลงความเพลิดเพลิน ความเอร็ดอร่อย ให้ทุกท่านทุกคนพากันรู้จัก สัมมาสมาธิ ทุกๆคนต้องตั้งมั่น ทุกคนต้องเข้มแข็ง ต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเอง ว่าตัวเองต้องประพฤติต้องปฏิบัติ จัดการตัวเองในปัจจุบันเพราะทุกท่านทุกคนนั้นไม่มีใครประพฤติ ไม่มีใครปฏิบัติให้เราได้ เพราะอันนี้มันเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น เราเป็นผู้ที่โชคดีนะ ที่มีพระพุทธเจ้า เป็นผู้ที่ประเสริฐ บำเพ็ญพุทธบารมีได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วมาบอกมาสอน ธรรมะที่สมบูรณ์พร้อมทั้งอัตถะพร้อมทั้งพยัญชนะ เราพากันมีความรู้ เป็นนักปราชญ์ เป็นผู้มีปัญญา มันไม่เพียงพอ การประพฤติปฏิบัติของเราในปัจจุบัน นี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เมื่อเราผจญภัยในปัจจุบันทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ให้เรารู้จัก ว่านี้คือไฟท์ติ้งที่เราต้องการจัดการ เราอย่าเคลิ้มไปตามสิ่งต่างๆ เมื่อท่านยังไม่ผ่าน ท่านก็ยังรู้ไม่ชัดเจน เมื่อท่านประพฤติปฏิบัติมีสัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นท่านเสียสละ หยุดตัวเอง เมื่อท่านผ่านไปแล้ว ท่านถึงจะรู้นะ โอ้... เรานี้ผ่านได้ เพราะเรารู้จักหน้า รู้จักตาอวิชชา ความหลงชัดเจน นี้คือไฟท์ของเราที่เราผ่านมา เราต้องขอบใจ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เปิดโอกาสให้เราได้มาชิงแชมป์ในภาคประพฤติ ในภาคปฏิบัติ ชีวิตของเราทุกคนถึงมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ
ทุกท่านอย่าพากันเคลิ้มตามอวิชาตามความหลง ที่เป็นมนต์ดำ ที่กล่อมเกลาให้หลงให้เพลิดเพลิน นี่คือไสยศาสตร์ตัวจริง ทุกท่านทุกคนนั้น มืดบอด หลงนะ ทุกท่านทุกคนนั้น ต้องเอาพระพุทธเจ้า อย่าไปเอาตนเอง เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ในชีวิตประจำวัน ชีวิตของเรามันก็จะผ่านไฟท์ไปเรื่อยๆ ในการประพฤติปฏิบัติ ชีวิตของเราคือการประพฤติปฏิบัติ ในการต่อสู้ท่านไม่ต้องกลัวอุปสรรค ไม่ต้องกลัวปัญหา เราต้องขอบใจอุปสรรคขอบใจปัญหา ที่เปิดโอกาสให้เราได้ประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ทุกท่านทุกคนก็จะมีความสุขมีความสง่างาม สง่างามเบื้องต้นคือศีล คือข้อวัตรข้อปฏิบัติ ที่ให้เราได้จัดการกับอวิชาความหลง ที่มันมีอยู่ในใจของเรา สมาธิเป็นตัวความสุข เป็นตัวที่เรากำลังประพฤติปฏิบัติ ปัญญาคือแสงสว่าง เราอย่าพากันมัว ต้องเสียสละ ไม่ต้องลูบคลำในข้อวัตรข้อปฏิบัติ เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ความรับผิดชอบเรียกว่าสัมมาสมาธิ ปัญญาเราต้องรู้จักตัวเองว่าเราต้องเสียสละ เราต้องประพฤติเราต้องปฏิบัติ เพื่อหยุดเพราะทุกอย่างมันเป็นสิ่งที่รู้จักแล้ว ไม่ให้อาหารอวิชชา ไม่ให้อาหารความหลง ชีวิตเราก็จะสงบจะเย็น อันนี้เป็นมรรค เป็นข้อประพฤติปฏิบัติของเราทุกๆ คน
ทุกๆ คนต้องทำหน้าที่อย่างนี้ ทุกคนย่อมมีความหลงมีความเพลิดเพลินมีความฟุ้งซ่าน ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง มันเป็นโรคบ้า โรคหลง มันเป็นไวรัส มันเป็นโรคทางจิต เป็นโรคทางใจ เราต้องรักษาด้วยธรรมวินัย สิกขาบทน้อยใหญ่อย่างนี้แหละ ทุกท่านทุกคนมันมีความหลงความเพลิน ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง มันนึกว่าตัวเองแน่ มันไม่แน่หรอก มันไม่ต้องก๋า ไม่ต้องกร่าง ความก๋าความกร่าง ความไม่เอาใจใส่ มันไม่ดี มันทำหน้าที่ของเราได้ไม่สมบูรณ์ มันผ่านไม่ได้ มันเสียหาย ทุกท่านทุกคนต้องเข้าใจ ทุกอย่างมันก็จะเดินไปอย่างนี้ ผ่านไปอย่างนี้ เราต้องประพฤติปฏิบัติในปัจจุบันนี้แหละ ปัจจุบันเราต้องมีสติมีสัมปชัญญะสมบูรณ์ เราปฏิบัติไปเรื่อยๆ ฝนมันตกมาเม็ดน้อยๆ นี่แหละ คือมหาสมุทรให้เข้าใจอย่างนี้ ไฟฟ้ามันก็ส่งกระแสมาติดต่อกันนั่นแหละ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้ถึงมี สิ่งนี้หยุดมี สิ่งนี้มันถึงไม่มีอีกต่อไปให้เข้าใจอย่างนี้ ให้เข้าใจเรื่องพระพุทธศาสนา ไม่อย่างนั้นเราบวชมามันก็ไม่ได้บวชอะไร เพราะเราตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึก มันไม่ได้ มันไม่ใช่ เราต้องว่างจากสิ่งที่มีอยู่ ว่างจากตัวจากตน มันถึงจะไม่ขาดสูญ คนโง่ไม่อยากให้มี มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มันจะเอาอะไรไปปฏิบัติ อันนั้นมันว่างขาดศูนย์ เราต้องว่างจากสิ่งที่มี เพราะอันนี้มันเป็นความว่างอยู่แล้ว เราไม่รู้จักอนิจจัง ไม่รู้จักทุกขัง ไม่รู้จักอนัตตา มันเลยไม่ว่าง มันเป็นสายน้ำแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ทุกคนพระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราเพลิดเพลินไม่ให้เราตั้งอยู่ในความประมาท
คำว่า “ว่าง" นี้ ถ้าทางวัตถุก็คือว่างชนิดไม่มีอะไร; ว่างทางจิตใจ ก็หมายความว่า อะไรๆ ก็มีอยู่ตามเดิม แต่ว่างจากสาระที่ควรจะเข้าไปยึดมั่นสำคัญมั่นหมายว่า... เป็นตัวเราหรือเป็นของเรา; คำว่า “ว่าง” ในทางธรรมเป็นอย่างนี้.
อานาปานสติเป็นอุบายชั้นเลิศของการอยู่ในสุญญตาวิหาร... เพราะลมหายใจ ติดตัวเราไปอยู่ในทุกขณะ ทุกสถานที่ เราอาจจะลืมโทรศัพท์มือถือ หรือเอกสารสำคัญ ก่อนออกจากบ้าน แต่เราไม่เคยลืมที่จะเอาลมหายใจไปด้วยเสมอ
อานาปานสติ ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องอยู่ของสติ ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา เข้าสู่ความว่างได้ทั้งในยามหลับตาหรือลืมตา ทั้งในอิริยาบถที่นิ่งเฉย (เช่นขณะนั่งสมาธิ) หรือ ในอิริยาบถที่กำลังเคลื่อนไหว
เครื่องอยู่ชนิดนี้มีกันทุกคน เพียงแต่ต้องอาศัยการฝึกฝนและพัฒนาอย่างเป็นระบบและมีสัมมาทิฏฐิเท่านั้น ใครใช้เป็นแล้ว จะไม่เหงา เปล่าเปลี่ยวเดียวดาย แม้จะอยู่วิเวกโดยลำพังก็ตาม (คนเมืองให้ลองสังเกตดู พวกท่านอาจกำลังเหงาสุดขั้วหัวใจ แม้ขณะอยู่ท่ามกลางผู้คน เพื่อนฝูง และเสียงดนตรีคลอเคล้า ก็ได้?) เครื่องอยู่ชนิดนี้ยังไม่ต้องอิงอาศัยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆ ไม่ว่าจะเป็น ทีวี วิทยุ สมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ก็ตาม ไม่ต้องอาศัยผู้คน ญาติมิตร ทั้งไม่ต้องใช้สตางค์แม้แต่บาทเดียว
ว่าโดยง่ายคือใช้สุญญตาวิหารเป็นเครื่องอยู่นั่นเอง... ใช้ได้ดีทั้งพระหรือฆราวาสก็ตาม อย่าคิดว่า พุทธพจน์ที่พระองค์ตรัสไว้ จะเป็นแนวทางเฉพาะแก่พระภิกษุสงฆ์เท่านั้น แท้ที่จริง เครื่องอยู่ชนิดนี้เหมาะสมกับทั้งพุทธบริษัท ๔ (ภิกษุ, ภิกษุณี, อุบาสก, อุบาสิกา) โดยเสมอกันนั่นแหละ พระพุทธเจ้ายังปรารภไว้ด้วยว่า ยิ่งกับคฤหัสถ์ ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกกิเลสรุมเร้า ยิ่งจำเป็นจะต้องมีสุญญตาวิหารเป็นเครื่องอยู่มากกว่าพระเสียอีก... เปรียบประดุจเตาหลอมเหล็กกล้าอันร้อนแรง ยังมีสุญญตา (ความว่าง) อยู่ใจกลางเตาหลอมนั้น เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงนั่นเอง
การพัฒนาวิทยาศาสตร์ มันดีมากหรือพิเศษดีจริงๆ แต่มนุษย์เราก็ต้องพัฒนาใจเพื่อให้ไปตามหลักอริยมรรค คือมรรคผลพระนิพพานไปพร้อมๆกัน ไม่อย่างนั้นมันไม่ใช่ พระพุทธศาสนาถึงเป็นความดีอย่างยิ่ง การที่สมัยใหม่พวกเด็ก พวกเยาวชน นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย เน้นเอาแต่เรื่องวัตถุอย่างเดียวนั้นไม่ได้ มันต้องพัฒนาใจปฏิบัติใจไปพร้อมๆ กัน เพื่อความสอดคล้อง เพื่อโลกนี้จะได้เข้าสู่ความสงบความเยือกเย็น หยุดจากความไม่เบียดเบียน ทำแต่ความดี ทำบุญทำกุศล ไม่หลงไม่เพลิดเพลิน ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท มนุษย์เราถึงจะมีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไปมากกว่านี้ อย่าไปเหิมเกริม นึกว่าตัวเองเก่งทางวิทยาศาสตร์ คนเราเก่งเท่าไหร่มันก็ยังแก่ ยังเจ็บ ยังตายนะ ต้องพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน เราต้องมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ สิ่งที่มันมีทุกข์ ไม่อยากประพฤติปฏิบัติ มันขัดกับความหลงความต้องการอย่างนี้ อันนี้เป็นความโง่ เป็นความหลงของเราต่างหาก ความเพียรเป็นสิ่งที่สำคัญ ความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่สำคัญ ความสละซึ่งตัวซึ่งตนเป็นสิ่งที่สำคัญ ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจอย่างนี้ โลกนี้ถึงจะไม่ว่างจากพระพุทธศาสนา ไม่ว่างจากมรรคผล ไม่ว่างจากพระนิพพาน
ทุกท่านทุกคน ต้องรักตัวเองอย่างถูกต้อง ดำเนินชีวิตตัวเองอย่างถูกต้อง ตั้งมั่นในพระรัตนตรัย เรียกว่าสัมมาสมาธิ เรามีทรัพยากรแห่งความเป็นมนุษย์ เรียกว่าเรามีสัปปายะ เราทำตามพระพุทธเจ้าปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าเรียกว่าธัมมสัปปายะ เราเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เรียกว่าธัมมสัปปายะ ปฏิบัติสัปปายะ ทุกอย่างมันไม่มีอะไรได้ ไม่มีอะไรเสีย มันผ่านมาผ่านไป ทุกท่านทุกคนต้องเข้าใจอย่างนี้ พ่อเราแม่เราญาติพี่น้องเราทุกอย่าง มันมาจากเหตุจากปัจจัย และก็จากไป ให้ทุกท่านทุกคนพาก็เข้าใจ อย่าพากันหลงงมงาย เป็นทาสของความหลง เป็นทาสของไสยศาสตร์ พ่อเราก็ตาย แม่เราก็ตาย ญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลเราก็ตาย สุดท้ายร่างกายของเราก็ตาย เราต้องรู้จัก เราเกิดมาเพื่อมามีพระพุทธเจ้าในใจ
ทุกท่านทุกคนต้องพากันจัดการกับตัวเอง ตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง เรียกว่าคนไปสร้างหนี้สร้างสิน สร้างความหายนะ สร้างความฉิบหาย สร้างความพินาศนะ ต้องรู้จักความพินาศความฉิบหายนะ เราไม่เก่ง เราไม่แน่นะ เวลานี้สำคัญ การประพฤติปฏิบัตินี้สำคัญ เราทุกคนแสวงหาความดับทุกข์ ทางวัตถุ ก็ถูกต้องแล้ว แต่ความดับทุกข์นั้นมันต้องได้มาจากการไม่เบียดเบียนใคร คนเราความหลงความเห็นแก่ตัว ทำให้เราต้องฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม โกหกหลอกลวง หลงมัวเมา เราต้องรู้จักความเคยชิน เราเห็นพ่อเราก็ทำแม่เราก็ทำ ปู่ย่าตายายเราทำ เราเลยคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา มันไม่ใช่ธรรมดานะ มันเป็นความเห็นผิดความเข้าใจผิด มันเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างยิ่งใหญ่ยิ่ง
ทุกท่านทุกคนมันหลงในอารมณ์ หลงในความเอร็ดอร่อยของตัวตน มันจะไปตามอารมณ์ตามความคิดไป มันไม่ได้นะ ความดับทุกข์มันไม่มีหรอก มันมีแต่ความหลง หลงอารมณ์ ของตัวเอง หลงแล้วก็พากันยิ้มแย้มแจ่มใสสรวลเสเฮฮา นั่นคืออบายมุขอบายภูมินะ เราต้องมีปัญญามากกว่านั้น สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นไฟท์ที่ให้เราได้ประพฤติได้ปฏิบัติ เราต้องเดินไปผ่านไป เราไม่ต้องไปกดไปขี่ไปหลบไปหนี เพราะคนเราต้องแก้ด้วยปัญญาด้วยภาคประพฤติด้วยภาคปฏิบัติ มันต้องว่างจากสิ่งที่มีอยู่ ว่างจากตัวจากตนด้วยธรรมะ ด้วยพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่
ต้องมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ พระธรรมพระวินัยนั้น ถึงจะทำให้เราเป็นพระ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบปฏิบัติตรง ปฏิบัติสมควร ที่ทุกท่านทุกคนเอาเป็นตัวอย่างแบบอย่าง ไม่ใช่แบรนด์เนมเฉยๆ ทุกคนต้องเสียสละ มันถึงจะมีความสุข ไม่ต้องไปแก้ที่คนอื่น คนอื่นก็รู้ว่าวิธีแก้คือแก้ที่ตัวเขา เขาก็แก้ที่ตัวเขา มันก็มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา อยู่ทุกหนทุกแห่ง การประพฤติปฏิบัติมันง่ายต่อทุกๆ คน ไม่ได้แก้ที่คนอื่น แก้ที่ตัวเอง ให้พากันเข้าใจอย่างนี้ ทำอย่างนี้มันก็ง่าย มันไม่ใช่ของยาก เพราะมันแก้ที่ตัวเอง เราไม่ต้องไปหาจากคนอื่น พระพุทธเจ้าก็เป็นตัวอย่างแบบอย่าง สมบูรณ์ด้วยอัตถะด้วยพยัญชนะ มันต้องปฏิบัติอย่างนี้ อย่าพากันมากินและนอนพักผ่อนยิ้มแย้มแจ่มใสโง่อย่างนี้ไม่ได้ เราต้องพาการประพฤติปฏิบัติ ปัญญาในปัจจุบันต้องรู้เนื้อรู้ตัวว่า ต้องหยุดตัวเองหยุดกรรมหยุดเวรหยุดบาปอกุศล มันทำได้ปฏิบัติได้ ยิ่งทำไปปฏิบัติไปมันก็ยิ่งสว่างไสว หยุดความหลงงมงายอย่างนี้
เมื่อเราไม่มีการประพฤติไม่มีการปฏิบัติ เราก็มีแต่หลงงมงาย มองดูหน้าใครก็มีแต่หน้าหลงงมงาย มันน่าสมเพชเวทนานะ พระพุทธเจ้าต้องมีกับเรา พระธรรมต้องมีกับเรา พระอริยสงฆ์ต้องมีกับเรา พระที่แท้จริงมันอยู่ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบันนี้แหละ ไม่ได้อยู่ที่อื่น ให้เราพากันเข้าใจ เราจะได้มีความสุขในใจว่า โอ้...ทำไมมีความสุขอย่างนี้ มีความดับทุกข์อย่างนี้ มันก็มีความสุขเพราะมีความดับทุกข์ เราได้หมดหนี้หมดสิน หมดภาระ หมดหลง หมดวุ่นวายแล้ว เราไม่ต้องไปโง่หลงงมงายอย่างไร้สาระ อร่อยมันก็แค่นั้น มันก็เป็นเพียงผัสสะเป็นอารมณ์ เจ็บปวดมันก็แค่นั้น มันก็เป็นเพียงผัสสะเป็นอารมณ์ ความปรุงแต่งเราต้องรู้จัก ว่าอันนี้คือสภาวะธรรมที่ให้เราได้ประพฤติได้ปฏิบัติ มันก็คืออันเดียวกัน คืออารมณ์ คือผัสสะ เราต้องทำอย่างนี้ พลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิดขึ้นจะได้อ่อนกำลังลง ปรับตัวเองเข้าหาเวลา เข้าหาธรรมะไปเรื่อย
ที่เราเป็นทุกข์อยู่ทุกวันนี้เกิดจากการปรุงแต่งของเราเอง หาเรื่องหาราวมาใส่ใจเราเอง เราไปรับอิทธิพลต่างๆ มาให้กับตัวเราเอง คนเรามันรับเอาอิทธิพลต่างๆ นั้น ตั้งแต่แบเบาะจนกระทั่งมาถึงทุกวันนี้ อายตนะทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในชีวิตประจำวันเรารับเอาสิ่งภายนอกมา พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีสติ มีสมาธิ มีปัญญา ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีการเสื่อมเป็นธรรมดา ทุกอย่างมีการเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ไม่ใช่ตัวตนของเรา ให้เราเห็นมันอย่างชัดแจ้งชัดเจน ให้เราพยายามตั้งมั่นในศีล เราพยายามไม่หวั่นไหวในการมีสมาธิ มีความรู้จักรู้แจ้งในสติปัญญา เราอย่าได้ฟุ้งซ่านไปตามสิ่งที่มันมากระทบทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเปิดโอกาสให้เราได้ประพฤติปฏิบัติธรรม ให้เราได้พัฒนาตนเอง ไม่ว่าเราอยู่ที่ไหนก็ให้สถานที่นั้นเป็นที่ดับทุกข์ของจิตใจเรา
พระพุทธเจ้าท่านจึงให้เราเดินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ ก็ให้เรามีความตั้งมั่นในชีวิตประจำวันของเราให้กายกับใจมันอยู่ด้วยกัน อย่าไปปรุงแต่งให้ตัวเองต้องเป็นทุกข์ ให้เราทำใจให้มันสบายตั้งแต่ตื่นเช้าจนนอนหลับ ตื่นขึ้นก็ให้ทำใจให้สบาย ทำอย่างนี้ทุกๆ วัน ทำหน้าที่ของตัวเองให้มันเกิดประโยชน์ต่อบุคคลอื่น สมดังเจตนาของพระพุทธเจ้าที่ท่านตรัสว่า จงยังประโยชน์ของตนและผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท
“สักวันหนึ่ง เราต้องกลับไปเป็นดิน ให้คนอื่นเหยียบ จงทำ "ใจ" ให้เหมือน "แผ่นดิน" เพราะว่าแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้ ไม่เคยโกรธใครทำอะไรใครเลย
จงทำ "ใจ" ให้เหมือน "น้ำ" เพราะธรรมดาของน้ำย่อมเป็นของสะอาด ชำระล้างสิ่งของสกปรกได้ทุกเมื่อ และเป็นของดื่มกินเพื่อยังชีวิตได้ ช่วยเหลือแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
จงทำ "ตน" ให้เหมือน "ผ้าเช็ดเท้า" เพราะธรรมดาของผ้าเช็ดเท้า ย่อมไม่มีความรักความชังต่อใคร แม้ถูกเหยียบย่ำ ทุกคนเช็ดเท้าได้ แม้จะสกปรกมาจากไหน
ใจเราก็ทำเหมือนกัน ฉันนั้น เมื่อเราตั้งใจฝึกฝนอบรมได้เช่นนี้แล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็มีแต่ความสุข ความทุกข์ในใจก็จะไม่เกิด ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "จิตตัง ทันตัง สุขาวหัง" จิตที่ฝึกฝนมาดีแล้วนำมาซึ่งความสุข
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai