แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระธรรม ตอนที่ ๔ ความอดทนคือความอดกลั้น เป็นตบะธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธเจ้าได้ประทานพระโอวาทปาติโมกข์ เพื่อยกเลิกการเวียนว่ายตายเกิด ทรงบอกวิธีการบอกหลักการ พวกเราจะได้เพื่อพวกเราจะได้ปฏิบัติถูกต้อง ธรรมะนี้เป็นสิ่งที่ทวนอวิชชาทวนความหลง ผู้ที่เวียนว่ายตายเกิดนี้คือ ผู้ที่ไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ถึงพากันทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง ทำตามความรู้สึก ถึงเป็นผู้ที่ขี้เกียจขี้คร้าน ถึงเป็นผู้ที่ไม่มีความสุขในความอดทน เพราะเคล็ดลับมันอยู่ตรงนี้ ศีลของเราถึงไม่เกิด สมาธิของเราถึงไม่เกิด ปัญญาไม่เกิดนะ ความอดทนนี้ในโอวาทพระปาฏิโมกข์ ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง ความอดทนนี้เป็นการหยุดโลก ความอดทนถึงเป็นความสุข ความดับทุกข์ของผู้มีปัญญา
เราทุกคนต้องมีความสุขในความอดทน มีความสุขในความขยัน มีความสุขในความรับผิดชอบ มีความสุขในการเสียสละ ทุกคนต้องหยุดตัวเองให้ได้ เพราะทุกข์เป็นสิ่งที่กำหนดรู้ รู้แล้วก็ต้องอบรมบ่มอินทรีย์ ใช้เวลา ให้เข้าใจอย่างนี้ ถ้าอย่างนั้นชีวิตของเรามันจะไปไม่ได้ ชีวิตของเรามันจะเป็นหมัน เราต้องรู้จักความอดทน อดทนนี้เป็นความสุขมาก เป็นความดีมากนะ คนทุกคนไม่อด ไม่ทน ทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง เค้าเรียกว่าสุดยอดปรารถณา มันไม่ใช่ อันนั้นคือการเวียนว่านตายเกิด เราอย่าไปหลงไปอีก เราต้องรู้จักว่าอันนั้นเป็นความปรุงแต่ง มันเป็นพลังงานที่มาจากอวิชชา มันกดดันเราทุกๆคนอย่างนี้ เราอย่าไปทำตามความสุดยอดในอารมณ์ ในความคิด ในอวิชชา ในความหลงอย่างนั้น นักปฏิบัติผู้ตามพระพุทธเจ้าต้องรู้จักอริยสัจ ๔ พิจารณาทุกอย่างให้สู่พระไตรลักษณ์ ว่าทุกอย่างไม่แน่ไม่เที่ยงหรอก เราต้องรู้จัก ความอดทนเป็นสิ่งที่ดีที่สุด มันอยากจะคิด เมื่อมันมีเวียนว่ายตายเกิดเราก็อย่าไปคิด เราอยากจะพูด เมื่อมันมีเวียนว่ายตายเกิดเราก็อย่าไปพูด จะไปจะมาอะไร เราก็ต้องเบรคตัวเอง ความอดทนคือสุดยอด เป็นสิ่งที่ทำให้ศีล สมาธิ ปัญญาเกิด นี้คือรู้อริยสัจ ๔ นะ ถ้างั้นชีวิตของล้มเหลวนะ ต้องอาศัยการประพฤติ การปฏิบัติ เรียกว่าอริยมรรค
ความอดทนเป็นเครื่องตบแต่งจิตใจของเราไม่ให้เกิดความท้อถอย ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ที่จะสำเร็จด้วยความง่ายโดยไม่มีอุปสรรคเป็นไม่มี ทุกอย่างจะต้องมีอุปสรรคทั่งสิ้น ต่างกันแต่ว่าจะมากจะน้อยกว่ากันเท่านั้น ด้วยเหตุนี้บุคคลผู้ที่หวังความเจริญในกิจการต่างๆ ต้องปลูกฝังความอดทนให้มีอยู่ในใจ เพื่อจะเป็นเครื่องต้านทานสิ่งที่จะมาทำให้สิ่งที่เราปรารถนาต้องสูญเสียไปเหมือนกับว่าร่างกายของเรานี้มีกำลังต้านทานโรคเอาไว้ หรือไม่อย่างนั้นเราก็ต้องฉีดวัคซีนป้องกันตัวเอาไว้ฉันใด บุคคลที่มีขันติอยู่ในตนแล้ว ก็เหมือนมีกำลังต้านทาน หรือมีวัคซีนป้องกันตัวฉะนั้น
พระบาลีบทที่ว่า "ตีติกฺขา" จัดเป็นไวพจน์ของคำว่าขันตินั่นเอง, ความว่า อธิวาสนขันติ คือ ความอดกลั้น จัดเป็นตบะอันสูงสุด ฯ อธิบายความหมาย ความอดทนประเภทตีติกขา คือ ความอดทนต่ออารมณ์ที่มายั่วยวน ให้โลภ ให้โกรธ ให้หลง ให้รัก ให้เกลียด ให้กลัว อดทนต่อคำด่าว่าเสียดสี นินทาว่าร้ายต่าง ๆ การที่อดทนได้ต่ออารมณ์เหล่านี้ เป็นตบะอย่างยิ่ง ความอดทนประเภทอื่นยังไม่เป็นตบะ
การปฏิบัติตนด้วยขันติธรรมประเภทตีติกขาขันติ คำว่า ขันติ ในที่นี้แปลว่า ความอดทน คือ ความอดกลั้น ต่ออารมณ์ที่มายั่วยวนให้โลภ ให้โกรธ ให้หลง ให้รัก ให้ชัง ให้เกลียด อดทนต่อคำด่าว่าเสียดสี นินทาว่าร้ายต่างๆ หรือแม้แต่คำสรรเสริญก็มิให้ยินดี อดทนต่ออารมณ์อันน่าพอใจ และอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ความอดทนต่ออารมณ์เหล่านี้ได้ เรียกว่า ตีติกขาขันติ ขันติชนิดนี้พระพุทธองค์จัดเป็นตบะอย่างยิ่งในพุทธศาสนา อันมีลักษณะที่แตกต่างจากเรื่องตบะในลัทธิศาสนาอื่น ซึ่งบำเพ็ญด้วยการทรมานร่างกายตน (อัตตกิลมัตถานุโยค) เพื่อเผาผลาญกิเลสตามลัทธินิยมของตน หลงเข้าใจผิดว่า ร่างกายนี้ยิ่งปรนปรือบำรุงบำเรอมากกิเลสก็จะหนาแน่นมากขึ้น จึงต้องทรมานร่างกายด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น นั่งนอนบนเหล็กแหลม อดข้าว อดน้ำ เป็นต้น เมื่อบำเพ็ญตบะด้วยการทรมานร่างกายอย่างนี้แล้ว กิเลสก็จักถูกเผาผลาญด้วย พระคาถานี้ชี้ให้เห็นลักษณะความแตกต่างในการบำเพ็ญตบะของพุทธศาสนากับศาสนาอื่น โดยสิ้นเชิง
ประเภทขันติ มี ๓ คือ ๑. ธีติ ขนฺติ หมายถึง ความอดทนต่อความตรากตรำลำบากอดทนต่องานหนัก ความเหน็ดเหนื่อย อดทนประเภทเอางานเอาการ ทนแดด ทนฝน เป็นความอดทนในระดับปุถุชน พระพุทธองค์ตรัสไว้ในฆราวาสธรรมว่า สจฺจํ ทโม ธีติ จาโค นั่นคือ ขันติใช้ในการดำเนินชีวิตเลี้ยงชีพ การประกอบการงานในหน้าที่ อดทนได้อย่างนี้แล้วจะพบสุขแบบฆราวาส ธีติขันติ ชนิดนี้ไม่ใช่ประเภทที่ทรงประทานในโอวาทปาฏิโมกข์
๒. ตีติกฺขา ขนฺติ หมายถึง ความอดทนได้ต่ออารมณ์ที่เป็นทั้งอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ที่มายั่วยวนให้เกิดความโลภ ให้เกิดความโกรธ ให้เกิดความหลง ให้รัก ให้ชัง ให้เกลียด เป็นความอดทนต่อคำด่าว่าเสียดสี นินทาว่าร้ายประเภทต่างๆ ความอดทนประเภทตีติกขาจัดเป็นตบะอย่างยิ่ง มีพระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเป็นตัวอย่าง ในสมัยหนึ่งได้ตรัสกับ พระอานนท์ถึงการหนีไปอยู่เมืองอื่นให้พ้นจากคำด่าว่าเสียดสีของนางมาคัณฑิยาที่จ้างคนมาด่าว่า พระพุทธองค์ พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า ถ้าไปเมืองอื่นแล้วยังมีคนด่าอีกจะทำอย่างไร พระอานนท์ทูลว่า ก็เสด็จไปเมืองอื่นอีก พระพุทธองค์ตรัสว่า การทำเช่นนั้นไม่ควร เหตุเกิดที่ใด เราต้องดับที่นั้น แล้วตรัสเป็นภาษาบาลีว่า “อหํ นาโคว สงฺคาเม จาปาโต ปติตํ สรํ อติวากฺยํ ติติกฺขิสฺสํ แปลว่า เราเปรียบเหมือนช้างศึกที่ก้าวลงสู่สงคราม จักอดทนต่อคำล่วงเกินผู้อื่นเหมือนช้างศึกอดทนต่อลูกศรที่มาจากทิศทั้ง ๔” สรุป ตบะในโอวาทปาฏิโมกข์ที่ทรงมุ่งหมาย ก็คือ ความอดทนประเภทตีติกขา คือ ความอดทนต่ออารมณ์ซึ่งอดทนได้ยาก เน้นให้ภิกษุอดทนอารมณ์ที่น่าปรารถนาและอารมณ์อันไม่น่าปรารถนาเหล่านี้
๓. อธิวาสนขนฺติ หมายถึง ความอดทนต่อทุกขเวทนา พระพุทธองค์ทรงใช้อธิวาสนขันติปรากฏในปรินิพพานสูตร กล่าวถึงพระพุทธเจ้าทรงอดทนต่อทุกขเวทนาจากอาพาธหนัก หลังจากเสวยภัตตาหารของนายจุนทะ ทำให้อาพาธกำเริบความอดทนได้ต่อเวทนาอันแรงกล้า ความอดทนชนิดนี้ เรียกว่า อธิวาสนขันติ
ท่านได้จำแนกความอดทนเอาไว้สามประการคือ ทนลำบาก ๑ ทนตรากตรำ ๑ และทนเจ็บใจ ๑
ทนลำบาก นั้นอธิบายว่า ความที่มีความอดทนต่อความเจ็บป่วยอันเกิดจากการที่เราได้รับความทุกขเวทนาทางกาย หรือได้รับบาดเจ็บอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่แสดงอาการทุรนทุรายหรือส่งเสียงร้องครวญคราง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความลำบากแก่ผู้พยาบาลอีกด้วย ความอดทนต่อทุกขเวทนาอย่างนี้เรียกว่า ทนลำบาก
ทนตรากตรำ ได้แก่การทนต่อ ความหนาว ความร้อน แดด ฝน ในระหว่างที่เราประกอบกิจการงานต่างๆ ซึ่งจะต้องประสบกับความหนาว ความร้อน ลม แดด สัมผัสเหลือบยุงต่างๆ เราก็มีความอดทน ไม่ทอดทิ้งกิจการงานกลางคัน ฟันผ่าอุปสรรคนั้นๆ จนกว่าจะบรรลุถึงที่ตนปรารถนา
ทนเจ็บใจ ได้แก่การอดทนต่อการถูกด่าว่า เสียดสีจากคนทั่วๆ ไป ไม่แสดงอาการโกรธเคืองหรือความอาฆาต เหล่านี้เรียกว่าทนเจ็บใจ นี่เป็นลักษณะของความหมายของคำว่า ขันติ ได้แก่ อธิวาสนขันติ หมายถึง ความอดทนต่อคำว่าร้ายหรือคำด่าทอ เสียดสีของบุคคลอื่น ซึ่งหมายความเอาบุคคลที่ล่วงเกินเรานั้นมีฐานะต่ำกว่าเรา แต่ถ้าผู้นั้นมีฐานะสูงกว่าเราและเราไม่มีทางจะตอบโต้ได้เพราะเขามีอำนาจกว่า ความอดทนที่มีเพราะกลัวอำนาจไม่จัดเป็นอธิวาสนขันติ ซึ่งมีพระบาลีในมงคลทีปนี ว่า “คนอดทนต่อถ้อยคำของคนที่สูงกว่าเพราะความกลัว อดทนคำของคนเสมอกันได้เพราะแข่งดี แต่ถ้าผู้ใดในโลกนี้ ทนคำของคนเลวกว่าได้ สัตบุรุษกล่าวว่าความอดทนนั้นสูงสุด”
ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จสู่แคว้นกุรุ ณ ที่นั้นมีหมู่บ้านพราหมณ์อยู่แห่งหนึ่ง พราหมณ์นายบ้านมีธิดาสาวทรงสิริโสภาคยิ่งนักนามว่า มาคันทิยา ความงามแห่งนางระบือไปทั่ว ชายหนุ่มผู้มั่งคั่งต่างเดินทางโดยเกวียนบ้างโดยรถม้าบ้าง มาสู่คันทิยาคามนี้ เพื่อทัศนามานทิยานารี บางคนก็แต่งผู้ใหญ่มาสู่ขอ แต่พราหมณ์ผู้บิดายังมองไม่เห็นใครเหมาะสมแก่ธิดาของตน จึงยังไม่ยอมยกให้ใคร มาคันทิยาเป็นที่กล่าวขวัญถึงแห่งปวงชนชาวกุรุอย่างแพร่หลาย จนเมื่อธิดาของสกุลใดเกิดใหม่ผู้เฒ่าผู้แก่มักจะให้พรว่า ขอให้สวยเหมือนมาคันทิยา
พระศาสดาเสด็จไปถึงบ้านมาคันทิยพราหมณ์ในเช้าวันหนึ่ง ขณะที่เขาบูชาไฟอยู่ที่ประตูบ้าน เมื่อได้ทัศนาเห็นพระศาสดาแล้ว พราหมณ์ก็ตะลึงในความงามแห่งพระองค์ ถึงแก่อุทานออกมาว่า ชายผู้นี้งามจริงหนอ เขาเข้าไปหาพระตถาคตเจ้าแล้วกล่าวว่า "สมณะ ข้าพเจ้ามองหาชายอันจะคู่ควรแก่บุตรีของข้าพเจ้ามาเป็นเวลานานแล้ว แต่จะหาใครงามคู่ควรแก่บุตรีของข้าพเจ้าเสมอท่านได้ไม่ ขอท่านโปรดยืนอยู่ตรงนี้สักครู่หนึ่ง แล้วข้าพเจ้าจะนำบุตรีมามอบให้ท่าน" พระศาสดาแสดงอาการดุษณีภาพ ทรงเหยียบรอยพระบาทให้ปรากฏไว้ด้วยแรงอธิษฐานอันสำเร็จมาจากบารมีแต่ปางบรรพ์ แล้วเสด็จหลีกไปประทับ ณ ใต้ต้นไม้เงาครึ้มต้นหนึ่ง
พราหมณ์แจ้งข่าวแก่พราหมณี และให้ตบแต่งลูกสาวให้สวยงาม เพื่อนำไปมอบให้ชายผู้หนึ่งอันตนเห็นว่าคู่ควรกัน แล้วพากันออกจากเรือน เมื่อไม่เห็นพระตถาคต ณ ที่เดิมพราหมณ์ก็ประหลาดใจ บังเอิญพราหมณีได้เหลือบเห็นรอยเท้าที่พระพุทธองค์ทรงเหยียบไว้จึงกล่าวกับพราหมณ์ผู้สามีว่า อย่าติดตามมหาบุรุษผู้นี้เลย ผู้มีรอยเท้าอย่างนี้เป็นผู้สละแล้วซึ่งโลกียารมณ์ทั้งปวง พราหมณ์เอย! อันบุคคลผู้เจ้าราคะนั้นมีเท้าเว้ากลางมาก คนเจ้าโทสะหนักส้น ส่วนคนเจ้าโมหะนั้นปลายเท้าจิกลง ส่วยรอยเท้าของบุรุษผู้นี้เป็นผู้เพิกกิเลสได้แล้วอย่างแท้จริง พราหมณ์ต่อว่าภรรยาว่าอวดรู้อวดดี ทำตนเหมือนจระเข้นอนในตุ่ม จึงพาบุตรีและภรรยาเที่ยวตามหาพระศาสดา มาพบเข้าใต้ไม้แห่งหนึ่ง พราหมณ์ดีใจหนักหนา แต่ได้ต่อว่าเป็นเชิงพ้อว่า "สมณะ ข้าพเจ้าบอกให้ท่านยืนรอที่โน้นแต่หายืนคอยไม่ เหมือนไม่ยินดีจะรับบุตรีของข้าพเจ้า สมณะ! บุตรีของข้าพเจ้านี้งามเลิศกว่านารีใดในทั้งปวงในถิ่นนี้ เป็นที่ปองหมายแห่งเศรษฐีคหบดี และแม้แห่งพระราชา แต่ข้าพเจ้าหาพอใจใครเสมอด้วยท่านไม่ บัดนี้ข้าพเจ้าได้นำนางผู้งามพร้อมมามอบ ณ เบื้องบาทของท่านแล้ว ขอจงรับไว้ และครองกันฉันสามีภรรยาเถิด" พราหมณ์กล่าวจบแล้วสั่งให้บุตรีถวายบังคมพระศาสดา
พระโลกนาถศากยบุตรยังคงประทับดุษณีอยู่ครู่หนึ่ง พระองค์ทรงรำพึงว่า พราหมณ์ผู้นี้มีความหวังดีต่อเรา ต้องการสงเคราะห์เราด้วยสิ่งอันเป็นที่รัก ที่หวงแหนที่สุดแห่งตน แต่สิ่งนี้มีความแก่ ความเจ็บ และความตายเป็นธรรมดา เราจักปฏิการพราหมณ์ผู้นี้ด้วยอมตธรรม และพราหมณ์ พราหมณีทั้งสองนี้มีอุปนิสัยแก่กล้าพอที่จะบรรลุธรรมของเราได้ เป็นการมอบสภาพอันไม่แก่และไม่ตายแก่เขา ดำริดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า “พราหมณ์ สมัยเราเป็นเจ้าชายแห่งเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นศากยะนั้น ได้รับการปรนเปรอด้วยโลกียสุขนานาประการ มีนางสนมกำนัลสวยงามคอยปรนนิบัติมากมาย ล้วน แต่รูปร่างสะคราญตาดุจนางอัปสรสวรรค์ก็มิปาน เรายังไม่ไยดี สละทิ้งมาหมด ออกบวชมาเป็นสมณะ แสวงหาทางหลุดพ้น จนได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ไฉนเราจักยินดีในร่างกายของบุตรสาวท่าน อันเต็มไปด้วยของปฏิกูล อย่าว่าแต่ยินดีเลย แม้เท้าเรายังไม่อยากให้แตะเลย”
พระพุทธดำรัสนี้กระตุ้นให้สองสามีภรรยาเข้าใจความจริงของสังขารร่างกาย เมื่อตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาจบลงก็ได้บรรลุอนาคามิผล แต่ทำให้มาคันทิยา ลูกสาวคนสวย ผูกใจเจ็บ หาว่าสมณะ (พระพุทธเจ้า) ดูถูกตน เมื่อนางได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทนแห่งกรุงโกสัมพีในภายหลัง ได้พยายามแก้แค้นพระพุทธองค์ต่างๆ นานา นางจึงจ้างบริวารของนางบ้าง ทาสและกรรมกรบ้าง ให้เที่ยวติดตามด่าพระศาสดาทุกมุมเมือง ทุกหนทุกแห่งที่พระองค์ทรงเหยียบย่างไป แต่พระตถาคตเจ้าทรงมีอาการแช่มชื่นอยู่เสมอ สีพระพักตร์ยังคงสงบนิ่ง เช่นเดียวกับเวลาได้รับคำสรรเสริญ จิตใจที่ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมคือนินทาและสรรเสริญนั้นเป็นจิตที่ประเสริฐยิ่ง
ตราบใดที่บุคคลยังพอใจด้วยคำสรรเสริญ เขาย่อมยังต้องหวั่นไหวเพราะถูกนินทา ที่เป็นกฎที่แน่นอน พระตถาคตเจ้าทำพระมนัสให้เป็นเช่นแผ่นดินหนักแน่น และไม่ยินดียินร้ายว่าใครจะไปโปรยปรายของหอมดอกไม้ลงไป หรือใครจะทิ้งเศษขยะของปฏิกูลอย่างไรลงไป
พระอานนท์สุดที่จะทนได้ จึงกราบทูลพระองค์ว่า "พระองค์ผู้เจริญ! อย่าอยู่เลยที่นี่ คนเขาด่ามากเหลือเกิน" "จะไปไหน อานนท์" พระศาสดาตรัส มีแววแห่งความเด็ดเดี่ยวฉายออกมาทางพระเนตรและสีพระพักตร์ "ไปเมืองอื่นเถิดพระเจ้าข้า สาวัตถี ราชคฤห์ สาเกต หรือเมืองไหนๆ ก็ได้ ที่ไม่ใช่โกสัมพี" "ถ้าเขาด่าเราที่นั่นอีก?" "ก็ไปเมืองอื่นอีก พระเจ้าข้า" "ถ้าที่เมืองนั้นเขาด่าเราอีก?" "ไปต่อไป พระเจ้าข้า"
"อย่าเลย อานนท์! เธออย่าพอใจให้ตถาคตทำอย่างนั้น ถ้าจะต้องทำอย่างเธอว่า เราจะไม่มีแผ่นดินอยู่ มนุษย์เราอยู่ที่ไหนจะไม่ให้มีคนรักคนชังนั้นเห็นจะไม่ได้ เรื่องเกิดขึ้นที่ใด ควรให้ระงับลง ณ ที่นั้นเสียก่อนแล้วจึงค่อยไป อานนท์! เรื่องที่เกิดขึ้นแก่ตถาคตนั้นจะไม่ยืดยาวเกิน ๗ วัน คือจะต้องระงับลงภายใน ๗ วันเท่านั้น" แล้วพระพุทธองค์ก็ตรัสต่อไปว่า "อานนท์! เราจะอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้อื่น เหมือนช้างศึกก้าวลงสู่สงคราม ต้องทนต่อลูกศรซึ่งมาจากทิศทั้ง ๔ เพราะคนในโลกนี้ส่วนมากเป็นคนชั่ว คอยแส่หาแต่โทษของคนอื่น เธอจงดูเถิด พระราชาทั้งหลายย่อมทรงราชพาหนะตัวที่ฝึกแล้วไปสู่ที่ชุมนุมชน เป็นสัตว์ที่ออกชุมนุมชนได้ อานนท์เอย! ในหมู่มนุษย์นี้ผู้ใดฝึกตนให้เป็นคนอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้อื่นได้ จัดว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด ม้าอัสดร ม้าสินธพ พญาช้างตระกูลมหานาคที่ได้รับการฝึกแล้วจัดเป็นสัตว์อาชาไนย สัตว์อาชาไนยเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ แต่คนที่ฝึกตนดีแล้วยังประเสริฐกว่าสัตว์เหล่านั้น ดูก่อนอานนท์! ผู้อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้สูงกว่าก็เพราะความกลัว อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้เสมอกันเพราะเห็นว่าพอสู้กันได้ แต่ผู้ใดอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้ซึ่งด้อยกว่าตน เราเรียกความอดทนนั้นว่าสูงสุดผู้มีความอดทน มีเมตตา ย่อมเป็นผู้มีลาภ มียศ อยู่เป็นสุข เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เปิดประตูแห่งความสุขความสงบได้โดยง่าย สามารถขุดมูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาทเสียได้ คุณธรรมทั้งมวล มีศีลและสมาธิ เป็นต้น ย่อมเจริญงอกงามแก่ผู้มีความอดทนทั้งสิ้น"
ในที่สุดทาสและกรรมกร ที่พระนางมาคันทิยาว่าจ้างมาด่าพระมหาสมณะก็เลิกราไปเอง เพราะเขาทั้งหลายรู้สึกว่าเขากำลังด่าเสาศิลาแท่งทึบซึ่งไม่หวั่นไหวเลย ความพยายามของพระนางมาคันทิยาเป็นอันล้มเหลว เมื่อเล่นงานพระพุทธองค์โดยตรงไม่ได้ ก็ไปลงที่สาวิกาของพระพุทธองค์ นามว่าสามาวดี ซึ่งเป็นมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง จนพระนางสามาวดีถูกเผาทั้งเป็น ด้วยแรงอาฆาตริษยา ในที่สุดกรรมก็สนองกรรม นางมาคันทิยาก็ถูกประหารชีวิต ด้วยการเผาทั้งเป็นเช่นเดียวกัน
ช่วงเวลาของชีวิตเรานั้นสั้นนัก เราไม่ควรประมาท พึงเร่งทำความเพียร เพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางของชีวิต เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย มีธรรมภาษิตที่ปรากฏในบทสวดมนต์ฉบับหลวงว่า ผู้มีขันติ ชื่อว่าทำตามคำสอนของพระบรมศาสดา และผู้มีขันติ ชื่อว่าบูชาพระชินเจ้าด้วยการบูชาอย่างยิ่ง
พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงคุณธรรม คือ ขันติว่าเป็นตบะธรรมอย่างยิ่ง คุณธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา จะเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยความอดทน การที่จะปฏิบัติให้เข้าถึงพระรัตนตรัย เพื่อมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน ต้องมีความอดทนหลายประการ เช่น อดทนต่อความยากลำบาก อดทนต่อการกระทบกระทั่ง อดทนต่อการเจ็บไข้ได้ป่วย อดทนต่อกิเลสเย้ายวน ตลอดจนอดทนในการฝึกฝนเพื่อพัฒนาจิตใจ เพราะขันติเป็นตบะเครื่องแผดเผากิเลสให้เร่าร้อน เมื่อกิเลสเร่าร้อนก็หลุดร่อนออกจากใจ กุศลธรรมทั้งมวลเจริญขึ้นมาก็เพราะความอดทน ผู้มีความอดทนจึงได้ชื่อว่า ทำตามคำสอนของพระบรมศาสดา เป็นการปฏิบัติบูชาที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงสรรเสริญขันติธรรมว่าเป็นเลิศ เป็นหลักเป็นประธานที่ทำให้เกิดคุณ คือ ศีล สมาธิ กุศลธรรมทุกอย่างจะเจริญขึ้นมาได้ ก็เพราะอาศัยขันติเป็นพื้นฐาน ผู้มีขันติธรรมอยู่ในใจ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ย่างขึ้นสู่หนทางสวรรค์และนิพพานโดยแท้ พระพุทธองค์ยังทรงสรรเสริญอีกว่า "ยกเว้นปัญญาแล้ว เราตถาคตสรรเสริญว่า ขันติเป็นเลิศ" เพราะฉะนั้น ขันติบารมีจึงเป็นบารมีที่เราจะต้องสั่งสมไว้ให้มาก ให้ติดตามตัวเราไปทุกภพทุกชาติ
พระพุทธเจ้าตรัสอานิสงส์ของขันติไว้ใน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของความอดทน ๕ ประการ คือ ผู้อดทนย่อมเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนเป็นอันมาก เป็นผู้ไม่มากด้วยเวร เป็นผู้ไม่มากด้วยโทษ เป็นผู้ไม่หลงกระทำกาละ และเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของความอดทนมี ๕ ประการอย่างนี้แล
เราที่เกิดมา ที่เวียนว่ายตายเกิด เราจะทำตามอวิชชา ทำตามความหลง ทำตามความไม่รู้ มาตั้งหลายร้อยหลายแสนหลายล้านชาติ เราทุกคนคือผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเป็นมนุษย์ได้มาพบพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถึงเป็นสิ่งที่ประเสริฐ จะได้นำเราหยุดเวียนว่ายตายเกิด เราไปทำตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึกไม่ได้ มันคือการเวียนว่ายตายเกิด เพราะพระพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญพระพุทธบารมีจนได้ตรัสรู้ ได้มาบอกมาสอน เราทุกคนก็ต้องหยุดตัวเอง เปลี่ยนฐานใหม่ แต่ก่อนเดินทางไปทางทิศตะวันตกมันตกต่ำไปเรื่อยๆ เรามาเปลี่ยนใหม่ไปทางทิศตะวันออก เพื่อจะออกทุกข์ออกจากวัฏฏะสงสาร ทุกท่านทุกคน ต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง เอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง มีความสุขในการประพฤติ ในการปฏิบัติ สิ่งที่เราเคยทำเคยปฏิบัติมาแต่ก่อนถือว่าเป็นการยุติ เราทุกคนก็ต้องมาฝึกมาปฏิบัติ นี่เรียกว่าความอดทน เพื่อให้ใจของเราสงบ ใจของเราเย็น เหมือนเราก่อกองไฟกองใหญ่ เราก็ต้องหยุด ความหยุดนั้นจะเป็นความเย็น แต่มันจะเย็นทันทีนั้นก็คงเป็นไปไม่ได้ ต้องให้ทุกคนเข้าใจ เหมือนอาหารที่เราปรุงสุกด้วยไฟ เอาออกจากไฟใหม่ๆ เอาออกจากเตาใหม่ๆ มันก็ย่อมร้อนก็ต้องรอให้มันเย็นก่อน ที่รอให้เย็นก่อนเขาเรียกว่าอดทน เราทุกคนก็กลับมาหาสติสัมปชัญญะ กลับมาหายใจเข้าให้มีความสุขหายใจออกให้มีความสุข หายใจเข้าสบายหายใจออกสบาย รอให้สงบให้เย็นก่อน
ความอดทนนี้ให้ทุกคนเข้าใจคน ที่ไม่เข้าใจเรื่องความอดทน เรียกว่าคนไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ นั่นคือไม่รู้จักอริยสัจสี่ คนเรานี้คิดว่าทำตามใจตัวเองทำตามอารมณ์ตัวเอง ทำตามความรู้สึกตัวเอง มันดี อันนั้นไม่ใช่ มันเป็นทางแห่งหายนะ ความอดทนนี้ถึงเป็นสิ่งที่ดีมากประเสริฐมาก คนเราถ้าไม่รู้จัก ก็เพราะมีความขี้เกียจขี้คร้าน ตามใจตัวเอง นั่นคือหายนะ คิดว่ามันดีเลยไม่มีความอดทน ทุกคนที่ขี้เกียจทั้งหลายทั้งปวงตามใจตัวเองมันคือความหายนะ ผู้ที่มาบวชทั้งหลายผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งหลาย นึกว่าการปล่อยวางคือการไม่ทำอะไร คือไม่ได้ฝืน ไม่ได้อด ไม่ได้ทน อันนี้มันไม่ใช่ อันนี้คือไม่รู้อริยสัจ ๔
พระพุทธเจ้าถึงประทานโอวาทปาติโมกข์ตอนหนึ่งที่ว่า ความอดทนอดกลั้นเป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง ความอดกลั้นเป็นเรื่องประเสริฐ คนเรานึกว่าไม่ได้ตามใจนึกว่ามันไม่ถูกต้อง การไม่ตามใจตัวเองนี่แหละมันถึงถูกต้อง เราจะเอาธรรมะเป็นหลักเอาธรรมะเป็นใหญ่ มันถึงจะแก้ปัญหาได้ ความอดทนทุกคนต้องมี ถ้าไม่มีความอดทนไม่ได้ เพราะเราอยู่ด้วยกันสองคนหรือว่าเราจะทำธุรกิจหน้าที่การงาน ความดีคือความอดทน เรามองดูแล้วคนทั้งโลกนี้ ไม่มีความอดทนแล้วก็เป็นคนขี้เกียจขี้คร้านไม่ขยันไม่รับผิดชอบ เพราะว่าไม่อยากทวนกระแส ไม่อยากปฏิบัติถือว่าเป็นมิจฉาทิฐิไม่รู้จักอริยสัจ ๔ การปฏิบัติของเราจะไปได้ยังไง เพราะว่าไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย ไปตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเองตามความรู้สึกตัวเอง เพราะว่าไม่มีความอดทน ถ้าไม่มีความอดทนมันก็ต้องกระอักเลือด มันก็ต้องลาสิกขา การลาสิกขาไม่ได้หมายความว่าลาสึกไปนะ ถึงจะบวชโกนหัวอยู่อย่างนี้ถ้าไม่ได้ปฏิบัติ ละทิ้งสิกขาบทเล็กๆน้อยๆ อย่างนี้ก็ถือว่าลาสิกขา เพราะไม่มีความอดไม่มีความทน ยังมีทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน คำว่าลาสิกขาไม่ได้หมายความว่าเอาผ้าเหลืองออกอย่างเดียวนะ พระคุณเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ลาสิกขาเยอะนะ แต่ละคนน่ะไม่มีตาคือปัญญาก็คิดว่าแค่พูดว่า สิกขัง ปัจจักขามิ คิหีติ มัง ธาเรถะ นั่นคือการลาสิกขา ความจริงไม่ต้องไปว่าหรอก ถ้าเราไม่มีความอดทนไม่ปฏิบัติตามสิกขาบทน้อยใหญ่ ชื่อว่าเราลาสิกขาแล้ว เพราะการปฏิบัติธรรมนั้น การประพฤติพรหมจรรย์นั้น ไม่เหมือนกับกฎหมายบ้านเมืองแต่อยู่ที่พระธรรมพระวินัย ถ้าเราตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเอง อยากคิดอะไรก็คิดไปเลยอย่างนี้ มันไม่อดไม่ทน มันไม่รู้จักทุกข์ อย่างนี้มันก็เท่ากับลาสิกขาแล้วใช่ไหม ถึงไม่เท่าก็คือลาสิกขานั่นแหละ เรามาเห็นภัยในวัฏสงสารเราเป็นคนหัวดื้อไม่อ่อนน้อมเข้าหาธรรม เราก็เป็นคนว่ายากสอนยาก เป็นคนไม่ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป
ความอดทนนี่นะ เป็นที่เริ่มต้นในการที่จะเปลี่ยนแปลง ความอดทนนี่เป็นศีลเป็นทั้งสมาธิเป็นทั้งปัญญาที่จะมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว บางคนก็หัวดี แต่ก็ไม่มีความอดทนก็ไปไม่ได้ หัวดีฉลาดข้ามอารมณ์ไม่ได้ ส่วนใหญ่เราทุกคนก็จะพากันมักง่าย ไม่มีความอดทน เมื่อไม่มีความอดทนศีลก็ไม่มี สมาธิก็ไม่มี ปัญญาก็ไม่มี ที่เราประพฤติที่เป็นสัมมาทิฏฐิเบื้องต้นก็คือความประพฤติหรือว่าศีล ความตั้งมั่นว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนี้ถูกต้อง เพื่อจะอบรมบ่มอินทรีย์เขาเรียกว่าสมาธิที่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็ไปตามความคิดตามอารมณ์อย่างนี้มันก็ไม่ได้
ทุกท่านทุกคนต้องพากันอดทนให้อยู่กับเนื้อกับตัวอยู่กับปัจจุบันอยู่กับอานาปานสติ เราพากันหลงอารมณ์ หลงอะไรไปเรื่อย ความหลงพาเราเวียนว่ายตายเกิด มันก็อยากจะไปดูคนอื่น อยากไปฟังแต่คนอื่น อยากไปแก้ไขคนอื่น เราไปแก้ปัญหาข้างนอกมันไม่ถูก ต้องแก้ปัญหาในตัวเราที่ไม่มีความอดทน พระวินัยทุกข้อทุกสิกขาบทมีมาในพระปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อ มีมาในพระไตรปิฏก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพื่อให้เราทุกคนหยุดตัวเอง เพื่อไม่ให้ตัวเองมีทิฏฐิมานะ การหยุดนี่ถึงเป็นสิ่งที่หยุดปัญหาเราต้องเห็นคุณค่าของความอดทน ปัจจุบันเราต้องมีความสุขให้ได้ เพราะชีวิตของเราที่จะเป็นสุข เพราะความสุขที่เป็นสัมมาทิฏฐิที่ประกอบด้วยศีล สมาธิ ปัญญาในปัจจุบันมันถึงจะพัฒนาตัวเองได้ เราต้องเน้นที่ปัจจุบัน มันจะเป็นฐานที่ก้าวไป
ความอดทน จะเป็นทางมาแห่งความสุขความเจริญ และคุณธรรมความดีทุกอย่าง เป็นปัจจัยให้ได้บรรลุธรรม เพราะฉะนั้นให้พวกเราทุกคนต้องฝึกอดทนและเข้มแข็ง ฝึกที่จะลดตัวของเราลงต่ำ เพื่อยกใจให้สูงขึ้น เหมือนมหาสมุทรเป็นที่รองรับแม่น้ำทุกสายที่ไหลมาจากทั่วทุกสารทิศ ให้คำแนะนำของยอดกัลยาณมิตรได้มาช่วยเติมส่วนที่พร่อง และเสริมให้เราเป็นผู้มีจิตใจสูงส่ง เปี่ยมล้นด้วยคุณธรรมของผู้ปฏิบัติที่จะมุ่งไปสู่พระนิพพาน ให้ฝึกฝนความเป็นคนว่าง่าย ควบคู่กับการปฏิบัติศีลสมาธิปัญญาตามอริยมรรค มีองค์ ๘ จนกว่าจะเข้าถึงมรรคผลพระนิพพานกันทุกคน
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee