แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันอังคารที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระธรรม ตอนที่ ๓ ชำระจิตของตนให้ผ่องใส พัฒนาใจให้สูงส่ง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
วันนี้มีผู้ปฏิบัติธรรมมาร่วมรวมกันหลายประเทศ เพื่อมาทำความเข้าใจในพระศาสนา เพื่อหาทางที่ประพฤติปฏิบัติ ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ที่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง จะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง พระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญพุทธบารมีหลายล้านชาติ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า อีกไม่กี่วันข้างหน้า ที่ตรงกับวันที่พระพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ เพื่อเป็นหลักการในการประพฤติการปฏิบัติ เพื่อทุกคนจะได้พากันรู้พากันปฏิบัติ เราต้องพากันมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เหตุในการเวียนว่ายตายเกิดเพราะอะไร ที่หยุดเวียนว่ายตายเกิดเพราะอะไร ทุกคนต้องรู้เหตุรู้ปัจจัยเรียกว่ารู้อริยสัจ ๔ รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เมื่อรู้แล้วก็จะได้หยุดสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เมื่อเราหยุดแล้วก็จะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง ทุกข์ทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ ที่ทำให้เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ความดับทุกข์ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราจะไม่ได้เอามาเพิ่ม เราจะไม่ได้เอาไปตัด เพราะว่าทุกอย่างมันก็เป็นเช่นนั้นเอง เราต้องรู้จัก เราไม่เข้าใจ เราทำก็เพื่อจะเอา เราทำอะไรก็เพื่อจะเอา คนที่จะเอา จะมี จะเป็น มันเป็นการเวียนว่ายตายเกิด
เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราทำเหตุปัจจัยมันถูกต้อง เราจะไปเอาอะไรอีก เหมือนท่านหลวงตามหาบัวว่า เมื่อเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องเมื่อถูกต้องจะไปเอาอะไรอีก เพราะเราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เรายกเลิกในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง มันก็จะเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา เหมือนพระพุทธเจ้าตรัสโอวาทปาฏิโมกข์ให้ฟัง คือไม่ทำบาปทั้งปวง บาปก็คือไม่ถูกต้องนั่นแหละ ยกเลิกมันก็เป็นคนฉลาด ไม่สร้างปัญหาเราต้องรู้จัก ธรรมะมันก็เป็นของง่าย เพราะว่าไม่ได้ไปแก้ที่ใคร เมื่อมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ทุกอย่างมันจะเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรมอย่างนี้ เราก็ทำไปติดต่อกันไป
พระพุทธเจ้าสอนเราให้เข้าถึงความเป็นมนุษย์ เป็นคนไม่หลงทาง ไม่ใช่เป็นได้แต่เพียงคน ให้เราเข้าถึงความดับทุกข์ สิ่งภายนอกก็สบาย จิตใจก็มีความสุขอย่างนี้แหละ เราต้องเข้าถึงความสุขความดับทุกข์ตั้งแต่ปัจจุบันเลย เราไม่ต้องรอให้ตายหรอก มันจะได้เป็นของใหม่เป็นของสมัยใหม่ เราพัฒนาทางใจพัฒนาทั้งเทคโนโลยีเพื่อจะไม่ท่วง ความเจริญ ทางวัตถุทางใจก็มีพระนิพพาน ทางกายก็มีนิพพาน นิพพานก็คือสิ่งที่มันเป็นความทุกข์ทางร่างกาย คนเราเสียสละอย่างนี้ จะไปเอาพระนิพพานอะไรต้องรู้จักพระนิพพาน พระนิพพาน ก็คือรู้ทุกข์รู้เหตุเกิดทุกข์รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เราปฏิบัติแล้วจะไปเอาอะไรอีก
ถ้าเราไม่มีตัวไม่มีตนมันก็เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ต่อส่วนรวม เป็นบุคคลที่หาได้ยาก ใครเห็นหน้าเห็นตามันก็ได้บุญได้กุศล แล้วเราก็ไม่ได้เอาความเป็นพระ ให้พวกที่มาบวช เพราะความเป็นพระมันอยู่กับเราทุกๆคน ให้เข้าใจ เราจะใส่ชุดพระนักบวชหรือว่าใส่ชุดฆราวาส มันก็ไม่สำคัญเหมือนพระเถรวาทเขาก็ใส่ชุดอย่างนี้ พระมหายานก็ใส่ชุดอย่างนั้น ทุกอย่างมันก็ดับทุกข์เหมือนกัน เหมือนเราอยู่ประเทศทางยุโรปเขาก็กินขนมปัง กินมันฝรั่ง อยู่ประเทศไทยเอเชียก็ทานข้าว อินเดียก็ทานแปป้งจาปาตีอะไรอย่างนี้ ทุกอย่างมันก็ดับทุกข์เหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้ทั้งข้าวทั้งขนมปัง มันก็ไปทั่วถึงกันหมด เพราะเทคโนโลยีเรียกว่าการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เพราะอันนั้นมันความดับทุกข์ทั้งทางกาย และความดับทุกข์ทางใจมันเป็นสิ่งที่ดี การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ดี เราเข้าใจอย่างนี้ เราเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก เราอย่าไปเอาอะไรเป็นหลัก พระพุทธเจ้านี้เป็นสภาวะธรรมที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง
เรามีโอกาสได้มาอยู่วัดมาปฏิบัติธรรมนี้ พระพุทธเจ้าท่านสอนพวกเราให้พากันฝึกสมาธิ พยายามอยู่กับตัวเองทุกๆ อิริยาบถ ไม่ให้อยู่กับการพูด การคลุกคลี พระพุทธเจ้าท่านยังตรัสคำสอนไว้ว่า "ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อคลุกคลีในหมู่คณะ ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า"
พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้มีสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ พยายามอยู่กับตัวเอง เราเดินเราก็อยู่กับตัวเอง นั่งก็อยู่กับตัวเราเอง นอนก็อยู่กับตัวเราเอง เราทำการทำงานก็พยายามอยู่กับตัวเอง
การถือกัมมัฏฐาน การเข้ากัมมัฏฐาน คือ การมาอยู่กับตัวเอง มารู้ตัวเอง พยายามปล่อยพยายามวางสิ่งภายนอก คนเรามันคิดโน่นคิดนี่ สงสัยโน่นสงสัยนี่เพราะอะไร...? เพราะใจมันไม่สงบ ถ้าใจสงบแล้วมันไม่สงสัยอะไรหรอก
คนเรามันมีเรื่องมาก มีปัญหามากเพราะอะไร...? ก็เพราะใจมันไม่สงบ
ปัญหาของเราทุกคนก็คือต้องทำใจให้สงบ...พยายามสนใจเรื่องสมาธิ เรื่องทำใจให้สงบ เรื่องปัญญาไว้ก่อน เอาใจสงบก่อน เราอย่าไปพากันกลัวปัญญาไม่เกิด
คนเราน่ะอยู่กับเพื่อนกับฝูง อยู่กับการทำงาน แล้วไม่มีโอกาสได้อยู่กับตัวเองเลย
ทำไมคนเราถึงกลัวจน...? เพราะใจมันไม่สงบ
ทำไมถึงกลัวตาย...? ก็เพราะใจมันไม่สงบ
ทำไมคนเรามันถึงกลัวผี...?! ก็เพราะใจมันไม่สงบ ใจของเราเต็มไปด้วยสิ่งภายนอก เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดความปรุงแต่ง
พระพุทธเจ้าพระอรหันต์น่ะ ท่านไม่ตื่นเต้นกับอะไรที่จะเกิดขึ้น อะไรที่จะตั้งอยู่ หรือว่าอะไรที่จะดับไป ท่านไม่ตื่นเต้นเพราะว่าใจท่านสงบ
ที่เราอยากไปเที่ยวโน่นเที่ยวนี่ อะไรอย่างนี้ มันเป็นเพราะอะไร...? ก็เพราะว่าใจของเราไม่สงบ
อยู่ในครอบครัวของเรามันมีปัญหาน่ะ เพราะอะไร...? ก็เพราะใจของเราไม่สงบนะ
ในที่ทำงานของเราก็เหมือนกันมันมีปัญหาเพราะอะไร...? ก็เพราะว่าใจของเราไม่สงบ
พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาแก้ที่จิตที่ใจของเรา เพราะว่า...
มนุษย์ ก็แปลว่า ผู้ประเสริฐ มนุษย์ ก็แปลว่า ผู้ไม่มีทุกข์
มนุษย์ ก็แปลว่า ผู้ทำแต่ความดี มนุษย์ แปลว่า ผู้รู้จัก รู้แจ้ง
เรื่องใจสงบนี้ ถึงเป็นสิ่งที่ดีมากเป็นสิ่งที่สำคัญมาก...
อริยมรรคมีองค์ ๘ ส่วนใหญ่เราก็ยังไม่เข้าใจนะ เราคิดว่า การประพฤติปฏิบัติ คือการทำวัตรสวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม "การประพฤติการปฏิบัติต้องมีอยู่ในเราทุกๆ การกระทำนะ"
ที่เรามีปัญหาต่างๆ น่ะ ก็เพราะเรามีปฏิปทาที่ขาดตกบกพร่อง ที่มันไม่ดีไม่ถูกต้อง เวลาเราไปทำงานอย่างนี้เราก็ไม่ได้ทำใจเลย เวลาเราพูดอยู่นี้ เราก็ไม่ได้ทำใจเลย เราเลยมีความบกพร่องในการประพฤติปฏิบัติในชีวิตของเรา
แล้วเราก็มีความเข้าใจผิดว่า... "ถ้าเราปฏิบัติตามอริยมรรคน่ะ มันไม่ได้...มันขัดกับการดำรงชีพ ขัดกับการทำมาหากิน...!" เราคิด อย่างนั้นน่ะเราคิดไม่ถูก
ครั้งพุทธกาล เค้าเป็นญาติโยม เค้าเป็นประชาชนน่ะ เค้าเป็นพระอริยเจ้ากันเยอะแยะเลย พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี เค้าอยู่ในบ้านในเมืองในสังคม ครอบครัวเค้าก็มีความสุข ในสถาบันเค้าก็มีความสุข
เราจะไปโทษคนโน้นเค้าไม่ปฏิบัติ คนนี้เค้าไม่ปฏิบัติ เราไปคิดอย่างนั้นมันไม่ได้หรอก เรื่องของเรา...เราก็หายใจเอาเอง เรื่องคนอื่น เค้าก็หายใจของเค้าเอง ทานอาหารพักผ่อนเอง ถ้าเราคิดว่าคนอื่นเค้าไม่ทำไม่ปฏิบัติ เราคิดอย่างนั้นน่ะ เราก็เป็นคนพาล เป็นคนอันธพาล ไปจับผิดคนอื่น ไปเอาดีเอาชั่วคนอื่น เป็นบุคคลตื่นตูมหรือว่าตื่นข่าว แล้วแต่เพื่อนฝูงจะพาไป แล้วแต่สังคมจะพาไป ไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่เป็นตัวของตัวเอง
ถ้าเราทุกๆ คนแก้ตัวเองได้น่ะ... สิ่งภายนอกถึงมันจะมีปัญหา เราก็ไม่มีปัญหา ก็ชื่อว่าเราเกิดมาเพื่อสร้างความดี เพื่อสร้างบารมี เพื่อเสียสละ
เป้าหมายในการทำความดี
คนทั้งหลายมองข้ามดีในอันเป็นคุณสมบัติ ไปให้น้ำหนักดีนอกอันเป็นทรัพย์สมบัติ พยายามทำความดีเพื่อต้องการรางวัล หรือคำชมเชยกันโดยมาก ไม่มองถึงการทำความดีเพื่อดี ส่วนมากมักจะตั้งเป้าหมายในการทำความดี เพียงแค่ ๒ ประการนี้ คือ
(๑) ทำความดีเพื่อตนเอง การทำความดีเพื่อตนเอง มักจะมุ่งให้ตัวเองได้รับ ความดีใดทำแล้ว ตนเองได้รับประโยชน์ เลือกทำแต่ที่ตนเองชอบ หรืองานที่ตนเองถนัดและไม่ยากลำบากให้กับตนเอง โดยมีความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง และทำตามอารมณ์ตนเอง เรียกว่า อัตตาธิปไตย มีตัวตนเป็นใหญ่
(๒) ทำความดีเพื่อคนอื่น การทำความดีเพื่อคนอื่น ฟังดูแล้วน่าจะดี มุ่งทำความดีไปตามหมู่คณะ ไม่มีหลักการ ไม่มีธรรมะ ไม่มีวินัย ถือหลักพวกมากลากไป เป็นประเภทต้องการได้รับฟังคำชื่นชมยกช่องจากคนทั้งหลาย เมื่อคนหมู่มากว่าอะไรดี ก็จักทำสิ่งนั้น เรียกว่า โลกาธิปไตย ถือคนอื่นเป็นใหญ่
(๓) การทำความดีทั้ง ๒ ประการนั้น มีทางเขวตกเหวได้ ยังไม่ตรงทางนัก เป้าหมายที่ถูกต้อง คือ ทำความดีเพื่อความดี ไม่มีอัตตาตัวตนเป็นใหญ่ ไม่ถือพวกพ้อง ยึดหลักเหตุผล มีธรรมะเป็นหลัก สิ่งใดเห็นว่าดีและถูกต้อง ก็จะทำด้วยความภาคภูมิใจ คนอื่นจะชื่นชมหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำกัญ เรียกว่า ธรรมาธิปไตย ยึดธรรมะเป็นใหญ่ ทำดีเพราะเห็นว่าเป็นความดี ไม่มีเรา ไม่มีเขา การก้าวมาถึงระดับทำความดี เพื่อความดีเป็นขั้นทำความดีตามหลักโอวาทปาฏิโมกข์
สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ผ่องใส
สจิตฺตปริโยทปนนฺติ อตฺตโน จิตฺตโชตนํ, ตํ ปน อรหตฺเตน โหติ, อิติ สีลสํวเรน สพฺพปาปํ ปหาย สมถวิปสฺสนาหิ กุสลํ สมฺปาเทตฺวา อรหตฺตผเลน จิตฺตํ ปริโยทาเปตพฺพนฺติ เอตํ พุทฺธานํ สาสนํ โอวาโท อนุสิฏฺฐีติ.
การทำจิตของตนให้โชติช่วง ชื่อว่า "ชำระจิตของตนให้ผ่องใส" ก็จิตที่จะผ่องใสได้นั้น จะเกิดมีได้ก็ด้วยพระอรหัต, ผู้ปฏิบัติละบาปทุกอย่างเสียได้ด้วยศีลสังวรแล้ว ทำกุศลให้ถึงพร้อมได้ด้วยสมถะและวิปัสสนาทั้งหลาย จึงจะชำระจิดของตนให้ผ่องแผ้วได้ ด้วยพระอรหัตผล ด้วยประการดังนี้ เหตุนั้น การปฏิบัติตามที่ได้ว่ามานี้ จึงจัดเป็นคำสอน คือเป็นโอวาท ได้แก่เป็นพระดำรัสที่พร่ำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯ
งานชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ เป็นบันไดขั้นที่ ๓ ภายหลังจากได้ละชั่ว ทำความดีแล้ว เราจักต้องขึ้นบันไดอีกขั้น เพื่อความสมบูรณ์ในการเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา งานด้านพัฒนาจิตใจในพระพุทธศาสนาไม่ใช่งานพอกพูนให้มากขึ้น แต่เป็นงานชำระขัดเกลาให้เบาบาง จนสิ่งเศร้าหมองในใจจางหายและหมดไปที่สุด
สิ่งสกปรกทางใจท่านเรียกว่า กิเลส แปลว่า ความเศร้าหมอง ได้แก่ ความอิจฉา ริษยา ความโลภ ความโกรธ และความหลง เป็นหน้าที่ทุกคนจักต้องชำระขัดเกลาให้เบาบางและหมดไปในจิตใจ เพื่อศึกษาได้ถูกต้องตามหลักโอวาทปาฏิโมกข์ มีประเด็นที่ควรศึกษา ๒ ประการ คือ
๑. เรื่องความสำคัญของจิต ความสำคัญของจิตโดยธรมชาติของจิต เป็นธรรมชาติรับรู้อารมณ์ โดยการผ่านช่องทาง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก่อนที่จะทำความเข้าใจในรายละเอียดกวรได้ศึกษาลักษณะของจิต พระพุทธเจ้าได้แสดงลักษณะจิตว่า ทูรงฺคมํ เป็นธาตุรู้ที่ไปได้ไกล เอกจรํ มีลักษณะเที่ยวไปดวงเดียว หมายถึงรับอารมณ์ได้ทีละอย่าง สรีรํ ไม่มีตัวตนเป็นลักษณะธาตุรู้ หาสัณฐานไม่ได้ และสุดท้าย คุหาสยํ มีคูหาหรือร่างกายเป็นที่อาศัย จึงทำให้จิตกับร่างกายสัมพันธ์กันดูเหมือนเป็นสิ่งเดียวกัน การศึกษาความสำคัญของจิต แยกได้ ๒ ประการ คือ
(๑) การทำหน้าที่ของจิต เก็บสะสมความดีความชั่ว หน้าที่ในการเก็บสะสมความดี ความชั่ว การแสดงออกทางกาย เรียกว่า กายกรรม ทางวาจา เรียกว่า วจีกรรม มนุษย์เราจะแสดงออกด้วย ๒ ทางนี้ โดยจิตเป็นนายคอยสั่งให้กายหรือวาจาได้แสดงออกไป เมื่อสั่งไปแล้ว จิตเป็นผู้รับผิดชอบสั่งสมความดี ความชั่วที่ได้ทำไว้ ถ้าเป็นผลดีก็ส่งผลเป็นความสุขจริงๆ โดยอัตโนมัติ ไม่มีการเสแสร้งแกล้งทำประการใด ผลแห่งการกระทำทุกครั้ง ทั้งทางกายและทางวาจา เป็นความดี เปรียบเสมือนได้รับอาหารดีมีประโยชน์ เข้าไปปรุงแต่งจิตของเราให้มีความประณีตสวยงาม มีความสุข แต่ถ้าการกระทำดังกล่าวตรงกันข้าม คือเป็นความชั่ว เหมือนกับเราได้รับอาหารเสียเข้าไปทำลายให้คุณภาพจิตเสื่อมทรามลง สิ่งที่ได้รับทั้งหมดไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์อันเกิดจากกายกรรมและวจีกรรมไม่ได้หายไปไหน ทุกสิ่งทุกอย่างจะมากองอยู่ที่ใจ ใจจะทำหน้าที่เก็บรวบรวมสั่งสมไว้
ทุกคนจึงมีสิทธิ์เลือกว่าจะทำจิตของตนเองเป็นดุจถังขยะรองรับสั่งสกปรก หรือภาชนะทองคำรองรับของดีมีค่ามีราคา ที่ว่าทุกคนมีสิทธิ์เลือกความดี ความชั่ว เพราะทุกพฤติกรรมที่เราแสดงออกไปใจเป็นผู้สั่ง เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว วิธีแก้ไขใจให้ได้รับความสุขเป็นดุจภาชนะทองคำ ก็ควรห่างไกลจากความทุกข์ ไม่ยอมทำตนเป็นถังขยะ สรุปก็คือแก้ที่ใจ ดังพุทธพจน์ที่ว่า
มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา มนสา เจ ปทุฏฺเฐน ภาสตี วา กโรติ วา, ตโต นํ ทุกขมเนฺวติ จกฺกํว วหโต ปทนฺติ.
แปลว่า "ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้ามีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจร้ายแล้ว พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี ทุกข์ย่อมไปตามเขา เพราะเหตุนั้น ดุจล้ออันหมุนไปตามรอยเท้าโค ผู้นำแอกไปอยู่ ฉะนั้น"
จะเห็นได้ว่า ใจเป็นใหญ่เป็นประธานทุกอย่าง สำเร็จแล้วด้วยใจ ดังนั้นผู้บ่งการที่แท้จริงก็คือใจเป็นผู้สั่งวางแผนให้กายและวาจาได้แสดงออกไป การกระทำหรือพูดวาจาจะดีหรือชั่วขึ้นอยู่กับพื้นฐานของใจ ถ้าใจต่ำ กิจที่ทำหรือคำที่พูดก็ตกต่ำไปด้วย ในอนาคตก็เช่นกัน แม้ข้ามภพข้ามชาติ ตราบใดที่เรายังไม่สิ้นกิเลสก็ยังต้องเกิดอีก จิตไปสุคติหรือทุคติขึ้นอยู่กับปัจจุบันว่า ได้ทำกรรมดีหรือกรรมชั่ว ก่อนตายไปได้ระลึกถึงกรรมใดเป็นคติ หรือมีกรรมใดเป็นนิมิตหมาย ถ้าไปด้วยจิตดีก็ไปสู่สุคติ มีมนุษย์และเทวภูมิเป็นต้น แต่ถ้าก่อนตายจิตเศร้าหมอง ยึดเอาทุคติเป็นเหตุเกิด ย่อมไปสู่อบายภูมิมีสัตว์นรกเป็นต้น แต่งานที่สำคัญของมนุษย์เรา คืองานชำระใจให้บริสุทธิ์ เพื่อย่นย่อวัฏฎทุกข์ให้สั้นลง และเข้าถึงพระนิพพาน
๒. เรื่องการชำระจิต งานชำระจิต เป็นเรื่องภายในของแต่ละบุคคลที่เจ้าของจักพึงทำความสะอาดเอง
ทำไมต้องชำระ จิตเปื้อนอะไรหรือ! ก่อนอื่นเราค่อยๆ มาทำความเข้าใจสิ่งภาขนอกรอบตัวเราเสียก่อน สิ่งภายนอกในที่นี่ ก็คือบ้านที่พักอาศัยของเรา ธรรมดาไม่ว่าจักเป็นบ้านหลังเล็กหรือหลังใหญ่ แต่เดิมหรือสร้างเสร็จใหม่ ก็ดูจะมีความสะอาดน่าพักน่าอาศัย เมื่อเวลาผ่านไป ความสกปรกจากฝุ่นละอองอันเกิดจากลมภายนอกบ้านพัดพามา และตัวบ้านเองในภายในมีหยักไยเกาะรกรุงรัง สภาพบ้านเมื่อกาลเวลาผ่านไปทำให้สีทาบ้านเป็นขยะได้ ดูแล้วทำให้เกิดความไม่น่าอยู่น่าอาศัย เราจึงต้องทำความสะอาดเช็ดถูบ้านเมื่อมีสิ่งสกปรก นี้ชี้ให้เห็นสิ่งที่พอจะเห็นได้ อย่าว่าแต่สิ่งภายนอกเลย แม้แต่สรีระร่างกายของเราก็เช่นกัน วันๆ หนึ่งจักต้องหมั่นอาบน้ำชำระร่างกายเพื่อขจัดเหงื่อไคล มลทินต่างๆ ที่ร่างกายขับออกมา เมื่อได้อาบน้ำแล้วก็รู้สึกสบาย มีพุทธพจน์บทหนึ่งว่า "อนุฏฺฐานมลา ฆรา เหย้าเรือนมีความไม่หมั่นเป็นมลทิน คือ สถานที่พักหรือเรือนที่อยู่อาศัย มีความไม่หมั่นเป็นมลทิน พุทธพจน์นี้ คำว่า ฆร ที่แปลว่า เรือน หมายถึง บุคคลผู้ครองเรือนในที่นี้ ถ้าเราพิจารณาใช้สติปัญญาให้แยบคายแล้ว ฆร ศัพท์นี้ แปลว่า เรือนใจ มุ่งหมายถึงจิตใจของคนเรา ถ้าไม่รู้จักหมั่นชำระขัดเกลาแล้ว ก็จะเป็นมลทินแก่เจ้าของ เพราะจิตใจคนเราสามารถรับอารมณ์ทางประตูทั้ง ๕ คือ ทางตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย ภาษาธรรมเรียกว่า จักขุทวาร, โสตทวาร, ฆานทวาร, ชิวหาทวาร, และกายทวาร และยังสามารถคิดอารมณ์ได้ด้วยตนเองเรียกว่า มโนทวาร เมื่อมีสิ่งใดมากระทบที่เรียกว่า อารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นรูปารมณ์, สัททารมณ์, คันธารมณ์, รสารมณ์, โผฎฐัพพารมณ์, และธัมมารมณ์ ปรากฎแล้ว จิตจำทำหน้าที่รับรู้และพิจารณา, ไต่สวน, เสพอารมณ์เหล่านั้น เวทนาความรู้สึกชอบ, รู้สึกชัง, รู้สึกเฉยๆ แล้วแต่ว่าสิ่งนั้นจะมีอิทธิพลส่งผลให้เกิดอารมณ์ในทางใดๆ
ตามที่เราได้ประมวลความรู้มาแล้วก่อนหน้านี้ว่า ให้ละชั่ว ทำความดีให้ถึงพร้อม อย่าหยุดเพียงแค่นี้ เพราะใจคนเรายังมีกิเลสอยู่ ที่พร้อมจะเกิดมีปรากฎขึ้นได้ เมื่อมีสิ่งมากระทบ มีอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน หรือฝังอยู่ในจิตใจ เรียกว่า อาสวะ เหมือนเครื่องหมักดอง เราได้ถูกกิเลสฝึกให้รักให้ชัง จนติดเป็นนิสัย มองเผินๆ แล้วเจ้ากิเลสที่หมักดองในจิตใจเรานี้เป็นเสมือนมิตรแท้
เมื่อมาถึงขั้นนี้ ทำให้เรารู้แล้วว่า หน้าที่ที่เราจะต้องทำต่อจากการทำความดีให้ถึงพร้อม คือ งานชำระจิตใจ และจักต้องทำให้ถูกวิธีถูกต้องตามกฎเกณฑ์ เพราะโลกนี้มีสิ่งคู่กันเสมอ เมื่อจิตสกปรกได้ เราก็ต้องหาสิ่งที่ตรงกับข้ามมาชำระให้สะอาดได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น
บุญ นำมาชำระสิ่งที่เป็นบาปหรือความชั่วในตัวเรา
กุศล นำมากำจัดความสกปรกในจิตของเรา
การให้ทานเป็นบุญ นี้นำมากำจัดตัวตระหนี่ ใจคับแคบ ความเห็นแก่ตัว
การรักษาศีลเป็นบุญ สกัดกั้นโทษชนิดหยาบที่แสดงออกทางกายและวาจาได้
เจริญภาวนา เป็นบุญสามารถชำระสะสางโทษทางใจให้เบาบางและหมดไปได้
สรุป ให้เห็นชัดเจน คือ
ศีล เป็นเครื่องสกัดกั้นโทษอย่างหยาบ
สมาธิ เป็นเครื่องปราบปรามโทษอย่างกลาง
ปัญญา เป็นเครื่องกำจัดโทษอย่างละเอียดที่นอนเนื่องในสันดานตน
การชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ สามารถแบ่งงานชำระจิตใจเป็น ๒ ประการ คือ
ประการที่ ๑ งานภาวนากิจ เป็นการหาเครื่องมือชำระจิตใจ เหมือนกับการหาไม้กวาด ผ้าขี้ริ้ว เครื่องมือต่างๆ ในการทำความสะอาดบ้าน หรือหาสบู่ไว้สำหรับอาบน้ำ
ประการที่ ๒ งานปหานกิจ เป็นการลงมือทำความสะอาดด้วยตนเอง เหมือนกับการที่เราได้ใช้น้ำชะล้าง ใช้ผ้าเช็ดถู ใช้ไม้กวาดปัดกวาด ทำความสะอาดตัวบ้าน หรืออาบน้ำฟอก สบู่ชำระเหงื่อไคลออกจากร่างกาย
รวมทั้ง ๒ งานเข้าด้วยกัน เรียกว่า งานชำระจิตใจ อันมนุษย์ที่เกิดมาได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ จักต้องหมั่นปฏิบัติขัดเกลากิเลสภายในตนให้เบาบางหายไปในที่สุด
วิธีการชำระจิตใจในทางพระพุทธศาสนา มีขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ ๑ ขั้นป้องกัน สกัดกั้นโทษอย่างหยาบไม่ให้มาแปดเปื้อนจิตใจ เพราะโทษอย่างหยาบคือการกระทำทางกาย การพูดทางวาจาจักต้องมีศีลเป็นเครื่องป้องกันสกัดกั้น สามารถทำจิตใจไม่ถูกกระทบกระเทือนหรือเสียสุขภาพจิต การไม่ทำลายศีลหรือไม่ประพฤติผิดศีล ก็เปรียบเหมือนน้ำในตุ่มที่มีฝ่าปิดป้องกันฝุ่นละอองภายนอกตกไปในน้ำอุปโภคบริโภคที่เรานำมาใช้ประโยชน์ น้ำในที่นี้ คือจิตนั้นเอง
ขั้นที่ ๒ ขั้นทำดี คือการหาวิธีทำจิตมีความใสสะอาด จักต้องทำจิตของเราให้ปราศจากกิเลส เปรียบเหมือนการนำสารส้มมาแกว่งในน้ำ น้ำจะใสขึ้น ฝุ่นละอองก็จะตกตะกอนนอนก้นตุ่ม หมายถึง ถ้ามีความพยาบาทเกิดขึ้นในจิตใจก็ต้องใช้ขันติเมตตากรุณามาแก้ไข เอาความดีเข้าไปแก้ที่กิเลส สิ่งที่ดีที่สุดคือสมาธิและสติที่จะต้องสะสมให้เข้าไปอยู่ในใจ แทนความชั่วและจะเป็นกำลังแข็งแกร่งในการกระทบกับอารมณ์ต่างๆ
ขั้นที่ ๓ ขั้นชำระกิเลสหรือขับไล่กิเลสชนิดเด็ดขาด เป็นการกวาดล้างไม่ให้เหลืออยู่ในจิต เป็นขั้นปัญญาประหารกิเลส ประเภทอาสวะอนุสัยให้หมดไปในจิตจะพบความบริสุทธิ์ เป็นขั้นที่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษคือเครื่องกรองน้ำชนิดขับไล่ตะกอนให้เหลือแต่น้ำบริสุทธิ์
เมื่อจิตบริสุทธิ์มีคุณภาพไม่มีกิเลสมาแปดเปื้อน ก็เพราะความอยากในใจให้หลุดออกจากจิตใจ ด้วยอำนาจปัญญาภาวนาในอริยมรรคมีองค์ ๘ ระดับนี้เรียกว่า นิพพาน นี้คืออุคมการณ์ของชาวพุทธ ที่จะต้องเข้าถึงในฐานะที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee