แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง คุณของพระธรรม ตอนที่ ๒ ทำกุศลคือความดีให้ถึงพร้อม ด้วยกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจจะได้ดำเนินชีวิตที่ถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เพราะทุกอย่างอยู่ที่เราเข้าใจและวิธีการปฏิบัติ การปฏิบัติถึงเป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น มันเป็นการปฏิบัติใจของเรา เพื่อหยุดปัญหา เพื่อไม่สร้างปัญหา ใจเรามันคิดได้ ๒ อย่าง อันหนึ่งมันไม่รู้ อีกอย่างหนึ่งรู้ ถ้าเราเอาความไม่รู้ การใช้ชีวิตของเราก็เป็นไปตามสัญชาตญาณ ทำทั้งผิดทั้งถูกทั้งดีทั้งชั่ว การใช้ชีวิตของเราก็เป็นได้แต่เพียงคน อีกอย่างหนึ่งเป็นผู้รู้ว่าอันไหนผิด ว่าอันไหนถูก ว่าอันไหนดี ว่าอันไหนชั่ว เราทุกคนพากันเข้าใจนะมันมีทางอยู่ ๒ ทาง ทางนี้แหละอันหนึ่งเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร อันหนึ่งหยุดเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร พากันเข้าใจง่ายๆ อย่างนี้
ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ เราต้องพากันมายกเลิกตัวยกเลิกตน ถ้าเราไม่ยกเลิก มันก็ไม่ได้ มันต้องยกเลิก โอวาทปาฏิโมกข์ถึงตรัสว่า ยกเลิกด้วยกันไม่ทำบาปทั้งปวง มันต้องออกจากใจจากเจตนา หลวงตามหาบัวท่านถึงบอกว่าถ้าเรามีความเห็นผิดเข้าใจผิดมันก็ปฏิบัติผิด เหมือนติดกระดุมผิดอันแรก อันอื่นก็ผิดหมด ผู้ที่มาบวชในพระพุทธศาสนาเขาจึงเรียกกันว่าเป็นพระ เป็นธรรมเป็นวินัย ยกเลิกตัวตน หมายถึงผู้ที่บวชมาไม่มีตัวไม่มีตนแล้ว ได้ยกเลิกเป็นสมุจเฉทปหาน เราทุกคนจัดการเรื่องจิตเรื่องใจของเราได้ ด้วยความตั้งใจด้วยเจตนา ความเป็นตัวเป็นตนที่เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ตัวตนนั้นคือโลก โลกจะครอบงำธรรม เขาถึงได้จัดว่าโลกธรรม เราได้มายกเลิกตัวเองคือยกเลิกโลกธรรม บุคคลที่ยกเลิกตัวเองคือยกเลิกโลกธรรม คือมีชีวิตที่งดงามในเบื้องต้นในท่ามกลาง เมื่อเรายกเลิกเรื่องที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่ถูกต้องก็ปรากฏขึ้น เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงมี มีอริยมรรคคือความถูกต้อง ผลก็ย่อมมี
การที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาเป็นการยกเลิกการเวียนว่ายตายเกิดของตัวเอง เพราะพวกตัวตนคือความทุกข์ ผู้ที่มาบวชคือผู้ที่มายกเลิกความรู้สึกของเราทุกคน ที่มันเป็นธาตุเป็นขันธ์เป็นอายตนะ ที่ได้ก่อภพก่อชาติ ที่เป็นสังขารที่มีใจครองมีใจครอง มันครองด้วยอวิชชา นี้เป็นสัญชาตญาณแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เราถึงมีสรรพนามว่านี่คน ไม่ใช่พระ นี่คน เมื่อเรายกเลิกตัวตน เราจะเอาอะไรเป็นเครื่องอยู่ สำหรับพระอรหันต์ก็มีพระนิพพานเป็นเครื่องอยู่ สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ต้องอบรมบ่มอินทรีย์ไปในปัจจุบัน เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงมี เพราะปัจจุบันเป็นพื้นฐานการก้าวไปแห่งชีวิตเรา รู้ความจริงหรือรู้อริยสัจ ๔ พระโสดาบันอย่างนี้เป็นต้นก็ไม่มีความสงสัย ทุกคนก็มีศรัทธามีความพอใจในการประพฤติในการปฏิบัติ เพราะสิ่งนี้มันถูกต้อง การดำรงชีวิตก็เป็นไปเพื่อดับทุกข์เพื่อนิพพาน เมื่อมีแล้ว ไม่ต้องหาความดับทุกข์อยู่ที่ไหนอยู่ที่ตัวเองทุกๆ คน ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องอยู่ในปัจจุบันที่นี้แหละ อันไหนไม่ดีก็ไม่คิด อันไหนไม่ดีก็ไม่พูด อันไหนไม่ดีก็ไม่ทำ จึงจะเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญารวมกันอยู่ที่ปัจจุบัน ปัจจุบันถึงเป็นข้อสอบได้เป็นข้อตอบ ที่เรามีผัสสะทางตาหูจมูกลิ้นกายใจที่เป็นข้อสอบเป็นข้อตอบ ตัวเราเองก็รู้อริยสัจ ๔ ถ้าตามไปคือไม่จบคือหลง เรื่องอะไรเราจะไปสร้างปัญหา ตามไปมันจบไหม ตามไปมันไม่มีวันจบ
เราทุกคนต้องพากันมาใช้ร่างกายนี้ให้มีประโยชน์เกิดประโยชน์ พากันมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติธรรม เพื่อยกเลิกซึ่งตัวซึ่งตน เมื่อร่างกายของเรามีอายุขัยจะอยู่ได้ร่วมๆ ร้อยปี ถึงต้องมาทำงาน การทำงานจะให้ผล ก็ต้องพัฒนาค้นคว้าทางหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เพื่อจะได้มีพุทธะทางวัตถุ ในการดำรงชีพดำรงธาตุดำรงขันธ์ การดำรงชีพดำรงธาตุดำรงขันธ์ อาศัยรับไม้ผลัดจากพ่อจากแม่จากพี่สู่รุ่นน้อง ไม่ได้ไปค้นคว้าเริ่มต้นใหม่ เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าท่านค้นคว้าทั้งภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ได้บำเพ็ญบารมีตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็ได้บอกวิธีการ เป็นตัวอย่างเป็นแบบอย่าง ก็มาต่อยอดอย่างนี้ ไม่ต้องคิดอะไร ถ้าเรายกเลิกตัวยกเลิกตน เมื่อตัวตนของเราไม่มี ความขี้เกียจขี้คร้านมันก็ไม่มี ความขี้เกียจขี้คร้านคือความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน คนเราที่ขี้เกียจขี้คร้านก็เพราะมันมีตัวตน แม้แต่หายใจมันก็ไม่อยากหายใจ เมื่อเราไม่มีตัวไม่มีตน ความเกียจคร้านมันก็ไม่มี ถ้าเรายังมีความเกียจคร้าน แสดงถึงเรายังมีตัวมีตน เรายังเอาความรู้สึกเป็นเรา การยกเลิกตัวยกเลิกตน ก็ยกเลิกความขี้เกียจขี้คร้านไปด้วย มันจะหยุดเรื่องฉันชอบอันนี้ฉันไม่ชอบอันนี้ ถ้าฉันชอบอันนี้ฉันไม่ชอบอันนี้ แสดงว่าเรายังมีตัวมีตนอยู่ ผัสสะที่ทำให้เกิดอารมณ์นี้คือข้อสอบ พระพุทธเจ้าถึงให้เรามาประพฤติมาปฏิบัติยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ว่า ทุกอย่างนั้นมันเป็นเพียงผัสสะ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา จะมาเอาชอบไม่ชอบไม่ได้ ถ้าเรายังมีอารมณ์ก็ยังมีตัวตนมีผัสสะ
การที่เราพัฒนาวิทยาศาสตร์ทุกอย่างอร่อย ถ้าเราไม่รู้อริยสัจ ๔ ไม่รู้ทุกข์ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เราก็ยิ่งพัฒนาก็ยิ่งหลง เราจะเป็นมนุษย์สมัยใหม่ได้ยังไง ก็เป็นแต่เพียงคน มันแก้ปัญหาไม่ได้ คนไม่รู้อริยสัจ ๔ เม่ากับขุดหลุมฝังตัวเอง เราขุดหลุมเพื่อฝังขยะ ไม่ใช่ฝังตัวเอง การพัฒนาเทคโนโลยี การเรียนการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาเอก เพื่อทำร้ายตัวเอง ไม่ใช่คนมีปัญญา ถ้าจะพูดให้ถูกแล้ว พัฒนาไปสู่ความหลง การทำงานคือความสุขนะ เราจะได้เอาเป็นเกมที่ละตัวละตน งานของพระ ที่เป็นพระโสดาบันจนถึงพระอนาคามี มันเป็นงานทางเรื่องจิตเรื่องใจ เพราะการเจริญอริยมรรคต้องมีอยู่ เพราะสติสัมปชัญญะยังไม่สมบูรณ์ พระโสดาบันจนถึงพระอนาคามีต้องทำงาน ๒ อย่าง คือทำงานในเรื่องจิตใจและทางวัตถุไปพร้อมๆ กัน สำหรับพระอรหันต์เรื่องจิตใจหมดภาระแล้ว มีแต่ช่วยเหลือคนอื่น
ผู้ที่ปฏิบัติธรรมคือผู้ที่แก้ไขตนเอง คือผู้ที่มีเมตตาตัวเอง การมีเมตตาตัวเองก็คือยกเลิกตัวเอง เห็นความยากลำบาก คือเห็นการเวียนว่ายตายเกิด มันเป็นไปเพื่อประกอบความทุกข์ มันเป็นวัฏจักร ความเป็นพระมันเป็นอยู่กับทุกๆ คน ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง นั้นไม่ใช่เรื่องของกาย เรื่องของกายนั้นคือเกิดแก่เจ็บตาย เรื่องของพระคือเรื่องของใจ ให้ทุกคนพากันเข้าใจพวกที่มาบวชโกนหัวห่มผ้าเหลืองนี้ไม่ใช่พระนะ เป็นแบรนด์เนม เป็นรูปแบบที่บุคคลนั้นประกาศต่อคนอื่นว่าจะไม่มีตัวไม่มีตนแล้ว จะเป็นธรรมเป็นวินัย ก็เลยมีแบรนด์เนม ที่บ้านไม่ต้องเช่าข้าวก็ไม่ต้องซื้อเป็นเครื่องหมาย ที่จะแสดงว่าจะละตัวละตน นี้ไม่ใช่พระ พระต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ครั้งพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ คนหนุ่มคนวัยกลางคนจะพากันออกบวชกันมากมาย เพราะจะยกเลิกตัวเลิกตน ต้องพากันเข้าใจความเป็นพระ ประชาชนที่ไม่ได้บวช เดี๋ยวจะพากันเข้าใจผิดว่า เราไม่ใช่พระเรานี้แหละคือพระ ผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นพระประจำบ้าน พ่อแม่เป็นพระประจำบ้าน แต่ฆราวาสมีงานรับผิดชอบเยอะ เป็นไปได้ถึงอนาคามี ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เราเป็นฆราวาสก็เข้าใจ ก็ปฏิบัติธรรมได้เหมือนๆ กัน เพราะงานเลี้ยงดูพ่อแม่ ต้องเสียภาษีอากรให้ประเทศให้ส่วนรวม ต้องบำรุงพระศาสนาของตนที่นับถือ เพื่อให้ความถูกต้องอยู่เหนือความถูกใจ ความถูกต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนมีสัมมาทิฏฐิ
การครองธาตุครองขันธ์จะไม่ได้เอาความหลงเป็นที่ตั้ง ก็ต้องอาศัยพ่ออาศัยแม่อาศัยนักวิทยาศาสตร์รุ่นพี่ทั้งทางจิตใจทั้งทางวัตถุเรียกว่าพุทธะ คำว่าพุทธะเป็นชื่อของความรู้ความเข้าใจ เป็นสิ่งที่มีอยู่ ไม่มีใครแต่งตั้ง ต้องพากันประพฤติปฏิบัติเอาเอง เข้าสู่ศีลสมาธิปัญญา สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ มันต้องมีอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นพุทธะ ที่ต้องอยู่กับเราทุกๆ คน ไม่ได้อยู่ที่อื่น
ทุกๆ คนต้องเข้าใจในการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง มีชีวิตที่ประเสริฐ จึงได้พากันทำบุญวันเกิดฉลองวันเกิด เพราะการเกิดเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ประเสริฐอย่างนี้ มันมีโอกาสมีเวลาที่สร้างบารมีให้กับตนเอง ที่อายุของเราทุกคนส่วนใหญ่ก็ไม่เกิน ๑๐๐ ปี มันเป็นการพัฒนาใจพัฒนาวัตถุไปพร้อมๆ กัน เรียกว่าทางสายกลาง พระพุทธศาสนาถึงไม่มีความถ่วงความเจริญทั้งทางจิตใจทั้งทางวัตถุ เป็นสิ่งที่ทันกาลทันสมัย เป็นของใหม่ของสดอยู่ตลอดกาล พัฒนาวัตถุให้ได้รับความสะดวกความสบายในส่วนของร่างกาย เรียกว่าบำรุงร่างกาย ให้ร่างกายนี้ได้รับความสะดวกความสบาย ปฏิบัติต่อวัตถุให้ถูกต้องอย่างเต็มที่ กายของเราคือวัตถุ ที่เรามีธาตุมีขันธ์มีอายตนะ ที่มันเกิดจากเหตุเกิดจากปัจจัย นี้คือวัตถุ เราต้องปฏิบัติต่อวัตถุให้ถูกต้อง สำหรับใจก็มีปัญญา เพราะสิ่งเหล่านี้มันอร่อยมันแซ่บมันรำมันนัวมันหรอย ทุกคนต้องมีปัญญา ถึงต้องยกเลิกตัวตน การยกเลิกตัวตนคือศีลคือสมาธิคือปัญญา เพราะทุกอย่างมันจะได้มีแต่คุณ การพัฒนาใจพัฒนาวัตถุจึงต้องไปพร้อมๆ กัน เอาความถูกต้องครองกายครองใจ ทุกท่านทุกคนต้องพากันเข้าใจอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เราต้องพากันมาแก้ไขตัวเองมาปฏิบัติตัวเอง แต่ก่อนเรายังไม่เข้าใจ เราทำเพื่อตัวเพื่อตน เราทำเพื่อจะเอาเพื่อจะมีเพื่อจะเป็น เราจะมาเอาตัวเอาตนตามอัธยาศัยไม่ได้ เราต้องปรับตัวเข้าหาสิ่งที่ถูกต้อง ปรับเข้าหาเวลา เพราะสิ่งถูกต้องคือสิ่งถูกต้อง จะมาเอาความรู้สึกที่มันเป็นความเห็นผิดเข้าใจผิดมาเป็นตัวเป็นตนไม่ได้ มันคือความผิด มันก็จะเข้าถึงความเป็นธรรมความยุติธรรมไม่ได้
ทุกคนทำได้ปฏิบัติได้นอกจากคนนั้นสมองมันเสียสมองพิการ ถ้าเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มันเหมือนกันทุกคนนั่นแหละ คนส่วนใหญ่พากันลังเลสงสัยว่าการบรรลุธรรมเป็นยังไง การบรรลุธรรมก็ได้แก่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ได้แก่ยกเลิกตัวยกเลิกตน เมื่อไม่มีตัวไม่มีตน นั่นแหละคือการบรรลุธรรม เริ่มต้นจากโสดาบันจนถึงพระอรหันต์ เอาธรรมะเป็นการดำเนินชีวิต ก็เป็นพระเป็นธรรมเป็นวินัย เมื่อความมืดออกไปความสว่างก็มาแทนที่ ปฏิบัติอย่างนี้ถึงขลังถึงศักดิ์สิทธิ์ ถ้ามีตัวมีตนมันไม่ขลังไม่ศักดิ์สิทธิ์ ท่านที่ยกเลิกตัวยกเลิกตนจึงเป็นบุคคลที่เราทุกคนต้องเคารพบูชา เอาเป็นตัวอย่างแบบอย่าง พระพุทธเจ้าก็ขลังศักดิ์สิทธิ์ พระอรหันต์ก็ขลังศักดิ์สิทธิ์ เพราะยกเลิกตัวยกเลิกตน ความขลังความศักดิ์สิทธิ์ก็ต้องยกเลิกตัวตน คำว่าขลังศักดิ์สิทธิ์เป็นอมตะ ความขลังความศักดิ์สิทธิ์เป็นสภาวะธรรมที่อะไรมาปรุงแต่งไม่ได้
“กุสลัสสูปสัมปทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม” เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายคำว่ากุศลไว้ว่า
กุศล แปลตามศัพท์ว่า ฉลาด ชำนาญ สบาย เอื้อหรือเกื้อกูล เหมาะ ดีงามเป็นบุญคล่องแคล่ว ตัดโรค หรือตัดสิ่งชั่วร้ายที่น่ารังเกียจ
ส่วน อกุศล ก็แปลว่า สภาวะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกุศล หรือตรงข้ามกับกุศลเช่นว่า ไม่ฉลาด ไม่สบาย เป็นต้น
(กุศลนิยมแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า wholesome; skilful; meritorious.)
ความหมายเชิงอธิบายในทางธรรมของกุศล ที่ถือได้ว่าเป็นหลักมี ๔ อย่าง คือ
๑. อาโรคยะ - ความไม่มีโรค คือสภาพจิตที่ไม่มีโรคอย่างที่นิยมเรียกกันบัดนี้ว่าสุขภาพจิตหมายถึงสภาวะหรือองค์ประกอบที่เกื้อกูลแก่สุขภาพจิต ทำให้จิตไม่ป่วยไข้ ไม่ถูกบีบคั้น ไม่กระสับกระส่าย เป็นจิตแข็งแรง คล่องแคล่ว สบาย ใช้งานได้ดี เป็นต้น
๒. อนวัชชะ - ไม่มีโทษหรือไร้ตำหนิ แสดงถึงภาวะที่จิตสมบูรณ์ ไม่บกพร่องไม่เสียหาย หรือไม่มีของเสียไม่มัวหมอง ไม่ขุ่นมัว สะอาด เกลี้ยงเกลาเอี่ยมอ่อง ผ่องแผ้ว เป็นต้น
๓. โกศลสัมภูต - เกิดจากปัญญาหรือเกิดจากความฉลาด หมายถึงภาวะที่จิตประกอบอยู่ด้วยปัญญาหรือมีคุณสมบัติต่างๆซึ่งเกิดจากความรู้ความเข้าใจ สว่าง มองเห็นหรือรู้เท่าทันความเป็นจริง สอดคล้องกับหลักที่ว่า กุศลธรรมมีโยนิโสมนสิการ คือความรู้จักคิดแยบคายหรือรู้จักทำใจอย่างฉลาดเป็นปทัฏฐาน
๔. สุขวิบาก - มีสุขเป็นวิบาก คือเป็นสภาพที่ทำให้มีความสุขเมื่อกุศลธรรมเกิดขึ้นในใจ ย่อมเกิดความสุขสบายคล่องใจในทันทีนั้นเองไม่ต้องรอว่าจะมีผลตอบแทนภายนอกหรือไม่เหมือนกับว่าเมื่อร่างกายแข็งแรงไม่มีโรคเบียดเบียน (อโรค)ไม่มีสิ่งสกปรกเสียหายมลทินหรือของที่เป็นพิษภัยมาพ้องพาน (อนวัชชะ)และรู้ตัวว่าอยู่ในที่มั่นคงปลอดภัยถูกต้องเหมาะสม (โกศลสัมภูต)ถึงจะไม่ได้เสพเสวยสิ่งใดพิเศษออกไป ก็ย่อมมีความสบายได้เสวยความสุขอยู่แล้วในตัว
ความหมายของอกุศล ก็พึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามจากที่กล่าวมานั้นคือเป็นสภาพจิตที่มีโรค ไร้สุขภาพ มีโทษ มีตำหนิ มีข้อเสียหาย เกิดจากอวิชชาและมีทุกข์เป็นผล (วิบาก)
พูดสั้นๆ อีกนัยหนึ่งว่าเป็นสภาพที่ทำให้จิตเสียคุณภาพ และเสื่อมสมรรถภาพ ตรงข้ามกับกุศลซึ่งส่งเสริมคุณภาพและสมรรถภาพของจิต
กายสุจริต คือ ความสุจริตทางกาย เป็นการกระทำในสิ่งที่ดีงามถูกต้อง ความประพฤติชอบ ด้วยกายมี ๓ ประการ คือ
๑) กายสุจริต ประการที่ ๑ (ปาณาติปาตา เวรมณี) การละเว้นการฆ่า การสังหาร การบีบคั้นเบียดเบียน มีเมตตากรุณาช่วยเหลือเกื้อกูลสงเคราะห์กัน
๒) กายสุจริต ประการที่ ๒ (อทินนาทานา เวรมณี) การละเว้นการแย่งชิงลักขโมย และการเอารัดเอาเปรียบ เคารพในสิทธิในทรัพย์สินของกันและกัน
๓) กายสุจริต ประการที่ ๓ (กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี) การละเว้นการประพฤติผิดล่วงละเมิดในของรักของหวงแหนของผู้อื่น ไม่ข่มเหงจิตใจหรือทำลายลบหลู่เกียรติและวงศ์ตระกูลของกัน
มนุษย์จะเป็นคนชั่ว หรือเป็นคนดี มิใช่เพราะชาติระกูลหรือทรัพย์สินเงินทอง แต่เพราะประพฤติทุจริต หรือสุจริตต่างหาก กล่าวคือ ถ้าประพฤติทุจริต ก็เป็นคนชั่ว ถ้าประพฤติสุจริตก็เป็นคนดีด้วยว่าความประพฤตินั้น ก็คือ การกระทำ และการกระทำนั้นมีทางทำได้ ๓ ทางที่มนุษย์สามารถแสดงพฤติกรรมหรือกระทำกรรมดีอยู่ ๓ ประการ ได้แก่
๑) กายทวาร ได้แก่ ประตูกระทำกรรมทางกาย
๒) วจีทวาร ได้แก่ ประตูกระทำกรรมทางวาจา
๓) มโนทวาร ได้แก่ ประตูกระทำกรรมทางใจ
วจีสุจริต ลักษณะของการใช้วจีสุจริตนั้นคือ การพูดในลักษณะต่างๆ เช่น ลักษณะของการพูดความจริง หรือเรียกว่าการพูดด้วยวจีที่สุจริต พูดตรงตามที่เราได้เห็นได้ยินมาด้วยหูตนเอง ในสังคมไทยปัจจุบันเรียกได้ว่าสมัยนี้เจริญด้วยวัตถุนิยม มีความสลับชับซ้อนมากขึ้น ไฟกองใหญ่ คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ยังเผาไหม้สังคมโลกไม่หยุดยั้ง หากเราไม่ได้ศึกษาเรียนรู้ ทางโลกธรรม ซึ่งเป็นหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เราจะกลายเป็นคนที่มืดบอด ปัญญาไม่เกิด ไม่สามารถนำเอาธรรมมารักษาใจที่ห่อหุ้มไปด้วยกิเลส คือ อวิชชาให้สะอาดหมดจดได้ เมื่อการพูดที่เป็นไปในลักษณะของวจีทุจริต ก็ไม่มีความรอบรู้ในการนำหลักวจีสุจริตมาใช้หรือกำกับในการพูด ที่ถูกต้องได้
การใช้คำพูดนั้นถือว่าเป็นเครื่องมือในการสื่อสารของบุคคลทุกคน มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องศึกษาเรียนรู้หลักและวิธีการพูดให้ถูกกาลเทศะตามแนวทางของวจีสุจริตการพูดคุยเจรจาเป็นช่องทางสื่อสารที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง เป็นหนทางสื่อสารใจให้เข้าใจกันแต่คำพูดที่สื่อสารไปก็มีทั้งดีทั้งร้าย คำพูดร้ายๆ เกิดจากใจร้ายๆ หมายเบียดเบียนผู้อื่น เรียกว่า "วจีทุจริต"
ส่วนคำพูดดีๆ เกิดจากใจดีๆ หมายสร้างสรรค์ความสุขให้ผู้อื่น เรียกว่า"วจีสุจริต"บ่อยครั้ง...ที่บางคนต้องพูดคำร้ายๆ ออกมาเพราะใจถูกความโลภ ความโกรธและความหลงท่วมทับ ส่งผลให้เกิดความไม่เคารพ หมางใจ แตกแยกและฟุ้งซ่าน และบ่อยครั้งที่บางคนเลือกที่จะพูดแต่คำดีๆ มีสาระเพราะใจอันประกอบด้วยความหวังดีส่งผลให้เกิดความเคารพนับถือ ความรัก ความสามัคคีและความรู้ที่ดีงามพูดร้ายกับพูดดี..ย่อมมีผลต่างกันเป็นร้ายและดีดังว่ามาพระพุทธเจ้า จึงทรงสอนให้พูดแต่ "วาจาสุภาษิต" คือ มีวจีสุจริต ๔ ประการ
๑. ไม่พูดเท็จ คือเว้นจากการพูดไม่จริง พูดโกหก พูดตรงกันข้ามกับความจริง เพื่อให้เข้าใจผิด
๒. ไม่พูดคำหยาบ คือไม่พูดคำระคายหู คำหยาบโลน ไม่น่าฟัง ไม่เป็นคำผู้ดี
๓. ไม่พูดส่อเสียด คือไม่พูดยุยงให้คนอื่นแตกกัน ทะเลาะกัน พูดให้เขาเจ็บใจ
๔. ไม่พูดเพ้อเจ้อ คือไม่พูดพล่าม พูดเหลวไหล ไม่มีสาระ ไร้สาระ วกวนไม่รู้จบ ทำให้เสียเวลา
มโนสุจริต มโนสุจริต แปลว่า การประพฤติดีทางใจ, การประพฤติดีด้วยใจ มโนสุจริต เป็นการกระทำความดีความงามทางใจ คือ ด้วยการคิด จัดเป็นบุญ ก่อความสุขให้ทั้งในปัจจุบันและภพชาติต่อไป มโนสุจริต มี ๓ อย่างคือ
๑. อนภิชฌา คือ ไม่โลภอยากได้ของเขา
๒. อพยาบาท คือ ไม่พยาบาทปองร้ายเขา
๓. สัมมาทิฐิ คือ เห็นชอบคลองธรรม กล่าวถึง การมีความเข้าใจถูกต้อง คือ ความเห็นที่ตรงตามสภาวะ เห็นตามที่สิ่งทั้งหลายเป็นจริง การที่สัมมาทิฏฐิจะเจริญขึ้น ย่อมต้องอาศัยโยนิโสมนสิการเรื่อยไป เพราะโยนิโสมนสิการช่วยให้ไม่มองสิ่งต่างๆ อย่างผิวเผิน หรือมองเห็นเฉพาะผลรวมที่ปรากฏ แต่ช่วยให้มองแบบสืบคันแยกแยะ ทั้งในแง่การวิเคราะห์ส่วนประกอบที่มาประชุมกันเข้า และในแง่การสืบทอดแห่งเหตุปัจจัย ทำให้ไม่ถูกลวง ไม่กลายเป็นหุ่นที่ถูกยั่วยุ ด้วยปรากฎการณ์ทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และคตินิยมต่างๆ จนเกิดเป็นปัญหาทั้งแก่ตนและผู้อื่น แต่ทำให้มีสติสัมปชัญญะเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง คิดตัดสินและกระทำต่างๆ ด้วยปัญญา ได้แก่ (๑) เห็นว่า ทานที่ให้แล้วมีผล
(๒) เห็นว่า ของที่เราบูชาแล้วมีผล (๓) เห็นว่า ของที่เราบวงสรวงแล้วมีผล
(๔) เห็นว่า ผลของกรรมดีและกรรมชั่วมี (๕) เห็นว่า โลกนี้มี
(๖) เห็นว่า โลกหน้ามี (๗) เห็นว่า มารดามี (๘) เห็นว่า บิดามี
(๙) เห็นว่า สัตว์ที่ผุดขึ้นเองมี
(๑๐) เห็นว่า สมณพราหมณ์ที่หมดกิเลสปฏิบัติดีมีอยู่
สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ปฏิบัติถูกต้อง ไปพร้อมๆ กัน ความผิดถูก มันก็เป็นครูเป็นผู้สอนให้แก่เรา ปัจจุบันเราจึงต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ชีวิตเราไม่มีคำว่าสาย เราอย่าไปเจ็บปวด ให้เป็นบทเรียน บทศึกษา ต้องกลับมาแก้ไขกลับมาประพฤติปฏิบัติ เราต้องเห็นความสำคัญ ความประเสริฐของการปฏิบัติ เน้นความสุข เน้นฉันทะความพอใจในการปฏิบัติในปัจจุบัน
ต้องให้อวิชชาคือความหลงมันทำงานไม่ได้ แล้วจะมีทุกข์จากไหน ต้องกลับมาหาสัมมาสติสัมมาสมาธิ ที่เป็นปัจจุบัน เราทุกคนถึงมีความสุข ถึงความดับทุกข์ในท่ามกลางความขัดแย้ง ความวุ่นวาย ปัญหามากมาย ในสังสารวัฏ ทั้งในความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก อะไรมีความสุข? ใจมีความสุข ใจที่ไม่วุ่นวาย ใจที่ไม่ปรุงแต่ง จึงมีความสุขอย่างยิ่ง
ดังนั้นเราจะไปทำตามใจตนเองได้อย่างไรกัน? ทุกคนต้องมาเสียสละปล่อยวางกลับมาหาความสงบ นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี ความสุขใดๆ ก็ไม่สู้ความสงบระงับด้วยปัญญาในปัจจุบัน นี่แหละคือ พรหมจรรย์ของเรา นี่แหละคือ การประพฤติปฏิบัติของเรา
เราทุกคนต้องมีความสุขมีความพอใจ มีศรัทธาในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นให้เราพัฒนาจิตใจให้มีปัญญา เมื่อเรามีปัญญาแล้วเราทุกคนก็จะมีความสุข ถ้ามีความสุขแล้วก็ต้องมีปัญญาเพื่อเราจะไม่หลง ไม่เพลิดเพลิน ตั้งอยู่ในความประมาท การประพฤติการปฏิบัติธรรม เราต้องปฏิบัติทั้งวันทั้งคืนนะ เหมือนกับเราหายใจเข้าหายใจออก เราต้องหายใจเข้าหายใจออกทั้งวันทั้งคืน เราถึงจะมีชีวิตอยู่ เราถึงจะไม่ตาย การปฏิบัติธรรมกับการทำงาน ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ชีวิตของเรานั้นนะทุกอย่างคือการปฏิบัติธรรม ให้ทุกท่านทุกคนเข้าใจอย่างนี้ เราเกิดมาเพื่อมีความสุขในการเสียสละ มีความสุขในความขยัน รับผิดชอบ มีความสุขในความอดทน มีความสุขในการไม่ทำตามใจตามอารมณ์ เราทำทุกอย่างปฏิบัติทุกอย่าง เราต้องมีความสุขมีปัญญาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่านี้คืออริยมรรคมีองค์แปดประการ สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ต้องมีอยู่ในอริยมรรคมีองค์แปดเท่านั้น สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ได้แก่ พระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี พระอรหันต์
ที่เราทำวัตรเช้าวัตรเย็นนั่งสมาธิวิปัสสนานั้นมันยังไม่เพียงพอ เราต้องเอาการประพฤติการปฏิบัติมาแทรกเข้าในธุรกิจหน้าที่การงาน เพื่อการดำเนินชีวิตของเรานั้นจะได้สมบูรณ์แบบ มันจะได้เป็นปัญญาธรรมชาติ สมาธิธรรมชาติ ความขยันธรรมชาติ ความอดทนธรรมชาติ ที่เราไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนาตอนเช้าตอนค่ำมันเป็นการเสริมให้การประพฤติการปฏิบัติของเรานั้นหนักแน่น แข็งแรง มีสติปัญญาแหลมคม ชัดเจนขึ้น แต่การประพฤติการปฏิบัติของเรานั้นต้องปฏิบัติทั้งวันทั้งคืน
ถามว่า ปฏิบัติทั้งวันทั้งคืนมันจะไม่เป็นโรคเครียดโรคจิตโรคประสาทเหรอ? เพราะเราไม่ได้กินไม่ได้เล่นไม่ได้เที่ยวน่ะ
ตอบ... ไม่เป็นโรคประสาทนะ เพราะเรามีความสุขใจมีความสบายใจทั้งวันทั้งคืนมันจะเป็นโรคประสาทได้อย่างไร ยิ่งเราประพฤติปฏิบัติไปทั้งวันทั้งคืนเราก็ยิ่งชำนิชำนาญ จิตใจของเราก็เบิกบาน มีความสุขตลอดกาลตลอดเวลา เหมือนพระพุทธเจ้าน่ะ พระพุทธเจ้านั้นท่านมีความสุขท่านมีปัญญา ตั้งแต่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าจนเสด็จดับขันธ์สู่ปรินิพพาน ท่านเข้าถึงวิมุตติสุขทั้งวันทั้งคืน คนเรานะ ถ้ามีปัญญา เราถึงจะมีความสุข มีความสุขถึงจะมีปัญญา ถ้าใจของเรามีความสุขมีปัญญาแล้วมันจะหล่อเลี้ยงสมองเรา หล่อเลี้ยงสรีระร่างกายของเรา มันจะได้ซ่อมแซมสมอง ซ่อมแซมร่างกายไม่ให้สึกหรอเร็ว ถ้าเรามีความสุขน่ะ โรคภัยไข้เจ็บมันก็ไม่มี ร่างกายก็แข็งแรง อายุก็ยืน ทำอะไรก็เจริญก็รวยก็เฮง
จะเห็นได้ว่าการเกิดเป็นมนุษย์ได้พบกับพระพุทธศาสนามีคุณค่าเป็นอันมาก ทำให้เรามีสติรู้จักคุณประโยชน์ของกาลเวลา และสามารถประพฤติปฏิบัติธรรม คือ ทาน ศีล และภาวนา อันเปรียบเหมือนร่มใหญ่ที่กางกั้นน้ำฝนในฤดูฝน ทำให้ไม่เปียกน้ำได้รับความทุกข์ในขณะฝนตก
ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ฉตฺตํ มหนฺตํ ยถ วสฺสกาเล
เอสานิสํโส ธมฺเม สุจิณฺเณ น ทุคฺคตึ คจฺฉติ ธมฺมจารี.
ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ดุจร่มใหญ่ในฤดูฝน ข้อนี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ผู้ประพฤติธรรม ย่อมไม่ไปสู่ทุคติ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee