แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้ทุกคนพากันเข้าใจในการดำเนินชีวิตของตนเอง เราต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องแล้วปฏิบัติให้มันถูกต้อง พัฒนาใจพัฒนาวัตถุไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เป็นทางสายกลาง ทุกๆ คนต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติอย่างนี้ มีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ ศีลนั้นคือการยกเลิกตัวตน สมาธินั้นคือการยกเลิกตัวตน ปัญญานั้นคือการยกเลิกตัวตน ศีลสมาธิและปัญญาเป็นอริยมรรคคือหนทางเดินทางของเราทุกๆ คน วันหนึ่งคืนหนึ่งเราทุกคนพากันนอนหลับพักผ่อนสมอง ๖ ชั่วโมงถึง ๘ ชั่วโมง เวลาเราตื่นอยู่นี้ เป็นเวลาที่เราพากันเสียสละ มีการเสียสละไม่หวังผลอะไรตอบแทน เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง เรามาเสียสละไม่หวังอะไรตอบแทน นี้เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา
การประพฤติการปฏิบัติของเราน่ะ อยู่ที่ปัจจุบันที่เราอยู่ทุกหนทุกแห่ง เราต้องมีความสุขในการกระทำของเราในสิ่งนั้นๆ เรามีความสุขในการทำสิ่งนั้นๆ เราก็มีปัญญาไม่ติดในสิ่งนั้น เพราะเรารู้เหตุรู้ปัจจัยแห่งความทุกข์ สิ่งที่เราทำไปปฏิบัติไป จะก้าวไปด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญา ด้วยการทำที่สุดแห่งความไม่มีทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านให้พวกเราพากันทำอย่างนี้ เพราะพระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญพุทธบารมีมายาวนานเป็นเวลาล้านชาติ จนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็ปฏิบัติให้เราไม่ได้ ท่านเป็นแต่เพียงผู้บอกผู้สอน ให้พากันประพฤติพากันปฏิบัติ เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง ตามพระพุทธเจ้าบอกสอน เราทุกคนก็ต้องไปประพฤติไปปฏิบัติกันเอาเอง เพราะปัญหาต่างๆ นั้นมันไม่ได้อยู่ที่ใคร มันอยู่ที่เรา เรามีปัญหามีการเวียนว่ายตายเกิดที่เรามีความเห็นไม่ถูกต้องเข้าใจไม่ถูกต้องปฏิบัติไม่ถูกต้อง มันเป็นไปเพื่อไปประกอบทุกข์ ได้พากันเวียนว่ายไปเกิดในวัฏสงสาร
คนรุ่นใหม่คนสมัยใหม่พากันเข้าใจนะ เราต้องปฏิบัติธรรมะพร้อมทั้งพัฒนาวิทยาศาสตร์พัฒนาวัตถุไปพร้อมกับธรรมะให้ไปเป็นคู่กัน ถ้าเราไม่เอาธรรมะไม่เอาวิทยาศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน ชีวิตของเราก็เป็นไปเพื่อประกอบทุกข์ การดำรงชีวิตของเราก็จะตกไปสู่อบายภูมิ การที่เรามองเห็นหมู่มวลมนุษย์ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตโกงกินคอร์รัปชั่น ประพฤติผิดในกาม โกหกหลอกลวงฉ้อราษฎร์บังหลวง ดื่มน้ำดองของเมา เล่นการพนัน เสพสิ่งเสพติด มันเป็นมุมมองที่เราเห็นหมู่มวลมนุษย์พากันเห็นผิดพากันปฏิบัติผิดกันเป็นส่วนใหญ่เป็นส่วนมาก นี้ให้เราทุกคนพากันมองดูนะ ให้เข้าใจนะว่า ที่ท่านทั้งหลายเหล่านี้ไม่รู้ทุกข์ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ที่หลงดำเนินชีวิตในการประกอบความทุกข์ ที่เป็นอบายมุขทางสู่อบายภูมิ ผู้ที่มาตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ท่านผู้นั้นเป็นผู้รู้อริยสัจ ๔ รู้ทุกข์รู้เหตุเกิดทุกข์รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ การพัฒนาตนเองที่ถูกต้องถึงพัฒนาตามธรรมะ การปฏิบัติต่ออริยสัจ ๔ จึงได้มายกเลิกตัวยกเลิกตน การยกเลิกตัวยกเลิกตนด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญา ไม่มีไสยศาสตร์ไม่มีอวิชชาไม่มีความหลง
ทุกท่านทุกคนต้องมีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ เพราะหนทางนี้เป็นหนทางที่หยุดความทุกข์ ยกเลิกความทุกข์ ยกเลิกการเวียนนวายตายเกิด ความถูกต้องเป็นสิ่งที่มีอยู่ มรรคผลเป็นสิ่งที่มีอยู่ ผลเป็นสิ่งที่มีอยู่ พระพุทธเจ้าถึงทรงเมตตาบอกเราว่า เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงมี ความเห็นที่ถูกต้องความเข้าใจที่ถูกต้องการปฏิบัติที่ถูกต้อง จะเป็นฐานรองรับในการก้าวไป นี้คือการอบรมบ่มอินทรีย์ ทุกท่านทุกคนต้องมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเราน่ะ มีผัสสะทางตาหูจมูกลิ้นกายใจเป็นข้อสอบ ข้อตอบของเราก็ได้แก่ศีลได้แก่สมาธิได้แก่ปัญญา ที่เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม เราต้องขอบใจข้อสอบ ที่เราทุกคนจะได้พัฒนาศีลพัฒนาสมาธิพัฒนาปัญญา ด้วยภาคประพฤติภาคปฏิบัติ การที่เราจะหนี เพื่อไม่ให้มีผัสสะ ก็เหมือนกับพระมหาโมคคัลลานและหนีกรรมที่โจรเขาจะฆ่า พระมหาโมคคัลลาท่านมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง ท่านเลยไม่ต้องหนีโจร เราทุกคนน่ะถ้าเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง นั่นคือความไม่ถูกต้องนั่นแหละคือโจร
พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ว่างจากสิ่งที่มีอยู่ ถ้าเรามีตัวมีตนเราจะมีความรู้สึกว่า เราแก่เราเจ็บเราตายเราพลัดพราก เพราะเรายังไม่ได้ยกเลิกตัวเองด้วยศีลสมาธิปัญญา ถ้าเรามีตัวมีตน เราก็ถูกฆ่าด้วยอวิชชาด้วยความหลงนี่แหละ การไม่มีตัวไม่มีตนเป็นการยกเลิกด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญา เพราะเราได้หยุดความรู้สึกที่เป็นนิติบุคคลที่เป็นตัวเป็นตน ถ้าเราไม่มีตัวไม่มีคนเราก็ไม่มีปัญหาเหมือนเขาถามปัญหาว่า พระอรหันต์ตายแล้วไปไหน พระอรหันต์คือผู้รู้อริยสัจ ๔ คือผู้สละคืนเสียซึ่งนิติบุคคลตัวตน มีแต่ปัญญาสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง ไม่มีอะไรที่จะเข้าไปปรุงแต่งได้ เพราะวัฏจักรที่เวียนว่ายตายเกิด ได้จบลงด้วยศีลสมาธิปัญญา พระอรหันต์นั้นสิ้นกิเลสซึ่งเป็นเชื้อให้เกิดแล้ว ก็คือสิ้นตัณหาแล้ว สิ้นเชื้อที่ให้เกิดแล้ว เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่เกิดอีก แต่ก็ไม่สูญ พิจารณาดูเทียบกับธาตุไฟ เทียบกับไฟดังที่กล่าวมานั้น ตัวธาตุไฟนั้นไม่สูญ คือหมายถึงตัวธาตุที่เป็นธาตุแท้ เมื่อไม่มีเชื้อก็ไม่ติดเป็นไฟขึ้นอีก แต่ว่าธาตุที่เป็นธาตุแท้นั้นก็ไม่ปรากฏ เมื่อเป็นดั่งนี้ พระอรหันต์จึงไม่มีวิญญาณ เมื่อท่านดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ไม่มีวิญญาณที่จะท่องเที่ยวอยู่ เมื่อมีวิญญาณที่ยังท่องเที่ยวอยู่ ก็แสดงว่ายังไม่เป็นพระอรหันต์ ยังต้องถือภพถือชาติ คือเกิดในภพชาติอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่
ดังได้มีเรื่องที่เล่าว่า เมื่อพระอรหันต์บางรูปท่านดับขันธ์ปรินิพพาน มารได้ค้นหาวิญญาณของท่าน ว่าวิญญาณของท่านไปในที่ไหน แต่ก็ไม่สามารถจะพบวิญญาณของพระอรหันต์ได้ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่ามารไม่สามารถจะพบวิญญาณของพระอรหันต์ได้ ก็เช่นเดียวกับไม่สามารถที่จะพบรอยต่าง ๆ เช่นรอยมือรอยเท้าในอากาศได้ เพราะท่านไม่เกิดเป็นอะไรอีก และก็มีแสดงว่า เมื่อดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ก็พ้นสมมติบัญญัติ พ้นทางของถ้อยคำ ที่จะพูดถึงอีกต่อไปว่าเป็นอะไร เพราะเมื่อพูดถึงได้ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ก็ต้องแสดงว่าต้องมีภพ มีชาติ จึงยังเป็นนั่นเป็นนี่อยู่ เมื่อไม่มีภพมีชาติ ไม่เป็นโน่นเป็นนี่อะไรทั้งหมดแล้ว ก็ไม่มีที่ตั้งของถ้อยคำอะไรที่จะยกขึ้นมาพูดได้ เรียกว่าวิญญาณก็ไม่ได้ จิตก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น
ความมีตัวมีตนมันเป็นเพลิง ให้ทุกท่านพากันรู้นะ จึงต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์เพื่อให้เกิดพุทธะ เพื่อดำเนินอริยมรรคพัฒนาธรรมะเพื่อพัฒนาอริยมรรค เราไม่ต้องคิดจะไปแก้ไขบุคคลอื่น
เรามีเมตตาที่บริสุทธิ์ กรุณาที่บริสุทธิ์ มีปัญญาที่บริสุทธิ์ อย่างมากเป็นได้เพียงแต่ผู้บอกผู้สอน เราเป็นผู้บอกผู้สอนเขาไม่ปฏิบัติตาม เราก็ไม่มีความทุกข์ เพราะว่าเราไม่มีตัวตน ผู้ที่ไปเผยแผ่ธรรมะ เมื่อเขาไม่ปฏิบัติตาม ก็พากันเครียดพากันทุกข์ เพราะความเครียดความท้อใจที่เขาไม่ทำตามเราบอกเราสอน มันเป็นผลกรรมที่เรายังไม่รู้จักอริยสัจ ๔ อยู่ พระพุทธเจ้าคือผู้ที่ไม่เครียด พระอรหันต์คือผู้ที่ไม่เครียด เพราะท่านไม่ได้หวังผลตอบแทนอะไร ความเครียดคือจิตใจยังเป็นนายทุนอยู่ เขาไม่ทำตามเราก็เครียดเรียกว่านายทุน การที่เราทำอะไรหวังตอบแทนเขาเรียกว่านายทุน
ในชีวิตประจำวันของเรา เราตื่นขึ้นจากการนอนหลับ เราต้องเสียสละปรับตัวเข้าหาเวลาธรรมะด้วยการเสียสละ เสียสละซึ่งสิ่งของภายนอก เสียสละน้ำพักน้ำแรงเพื่อทำงาน เสียสละความขี้เกียจขี้คร้าน เสียสละที่มันอยากจะทำตามใจ เราก็จะไม่ทำตามใจ เสียสละกริยามารยาทที่ไม่ดี เราต้องควบคุมตัวเองคอนโทรลตัวเอง ด้วยการมีสติสัมปชัญญะ เรื่องคำพูดคำจาอย่างนี้แหละ เราต้องมาเสียสละ พูดเสียงดังฟังชัด พูดเพราะพูดสุภาพ พูดให้ถูกกาลถูกเวลาทุกสถานที่ แล้วก็พูดให้ถูกต้อง เราต้องมาพัฒนาเรื่องคำพูด เราจะไปฟังเรื่องอธิบายอริยมรรคแต่ละข้อ มันไม่ใช่เพียงแค่ฟังเพียงผิวเผินนะ มันเป็นเรื่องลึกซึ้งนะ อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เป็นของละเอียดที่ลึกซึ้งที่ลงรายละเอียดเรื่องการประพฤติการปฏิบัติของตน นี้เป็นข้อสอบและเป็นข้อตอบให้เราได้รู้แล้วได้ปฏิบัติถูกต้อง ถ้าเราลงรายละเอียดอริยมรรคมีองค์ ๘ อยากลึกซึ้ง เรื่องภายในใจของเรามันก็ไม่มี เรื่องภายนอกจะเกี่ยวกับบุคคลอื่นก็ไม่มี มันเป็นความงามในเบื้องต้น เป็นความงามในท่ามกลาง มันเป็นความงามในที่สุด ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านละได้ถึงการสิ้นอาสวะและทั้งวาสนา
ความเห็นผิดเข้าใจผิดทำให้พวกเราพากันปฏิบัติผิด พวกที่บวชมา 99% ยังไม่เข้าใจเรื่องพระศาสนา จึงได้พากันบวชมาเพื่อมารับเงินมารับปัจจัย จะรับเองหรือให้คนอื่นรับให้ด้วยความยินดี พากันมาทิ้งพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ มาบวชแล้วก็ไม่ได้บวชใจ ที่ใจมีตัวมีตนเรียกว่ายังไม่ได้บวช ยังไม่ได้บวชทางใจ ใจยังมีลูกมีเมียมีภรรยาอยู่ พากันมาบวชแต่ทางกาย ถึงจะอายุพรรษาเกือบร้อยพรรษาก็เท่ากับยังไม่ได้บวช ยังเอาความรู้สึกเป็นที่ตั้ง เอาความรู้สึกก็คือความชอบและความไม่ชอบ ไม่ใช่พระธรรมไม่ใช่พระวินัย เหมือนครูบาอาจารย์พระกรรมฐานที่พากันสร้างศาลา เอาเสาต้นใหญ่ๆ มีไม้แผ่นใหญ่ๆ แล้วก็พากันพูดว่าชอบอย่างนั้นชอบอย่างนี้ ฟังแล้วดูทะแม่งๆ มีไม้สักทั้งหลังไม้ประดู่ไม้ชิงชันทั้งหลังอย่างนี้เป็นต้น มันขัดกันจากความเป็นพระธรรมเป็นพระวินัย พระพุทธเจ้าน่ะ ๔๕ พรรษาในการดำรงธาตุดำรงขันธ์ พระพุทธเจ้าท่านไม่สร้างศาลาที่ไหน ไม่สร้างวิหารที่ไหน มีแต่บอกสอนเรื่องอริยสัจ ๔ บอกเรื่องทุกข์บอกเรื่องเหตุเกิดทุกข์บอกเรื่องข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ให้ทุกคนยกเลิกนิติบุคคลตัวตนน่ะ ให้พัฒนาให้ปฏิบัติธรรมะวินัย ด้วยการประพฤติการปฏิบัติให้เป็นกรุณาบริสุทธิคุณ ปัญญาบริสุทธิคุณ บอกให้พวกเราพากันเป็นพระธรรมเป็นพระวินัย เพราะความสุขความดับทุกข์ มันอยู่ที่ทุกคนมาปฏิบัติตัวเองมาแก้ไขตัวเอง ผู้ที่มาบวชไม่ต้องห่วงเรื่องอยู่เรื่องฉันเรื่องนอน ให้เราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เรื่องเหล่านี้ไม่ต้องห่วง เพราะอริยมรรคมีองค์ ๘ ธรรมวินัยนั้นเป็นธนาคารอยู่ในตัวอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าท่านสอน เราทุกคนถ้าอยู่ร่วมรวมกันหลายวันหลายเดือน มันรู้กันว่าใครเป็นใคร ใครเสียสละไม่เสียสละ ใครเป็นพระใครไม่ได้เป็นพระ ไม่ต้องห่วงเรื่องอยู่เรื่องฉัน เรื่องความสะดวกสบาย ให้ทุกคนมีความสุขในการแก้ไขตนเอง
ญาติโยมประชาชนก็มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง พากันประพฤติพรหมจรรย์ของตัวเราเอง เราจะไม่ได้แก้ไขที่คนอื่น ความดับทุกข์ที่ถูกต้องความเข้าใจถูกต้องการปฏิบัติที่ถูกต้องมันแก้ปัญหาตัวเองได้ทุกหนทุกแห่ง ทุกๆ คนต้องพากันปฏิบัติตัวเองนะ ความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องมันเป็นอริยมรรค มันเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ศีลสมาธิมันต้องเดินไปพร้อมๆ กัน ถ้ามีแต่ศีลมีแต่สมาธิก มันก็ไม่อยากภาวนาวิปัสสนา เพราะว่ามันมีความสุขติดสบาย
การฝึกสติให้เป็นคนไม่ประมาท
๑. มีสติระลึกถึงการละเว้นทุจริตทางกาย วาจา ใจ อยู่เนืองๆ มิได้ขาด จะไปทำชั่วทำบาปอะไรเข้า ก็มีสติระลึกได้ทันทีว่าสิ่งที่กำลังจะทำนั้นเป็นบาปหรือไม่ ถ้าเป็นบาปก็ไม่ยอมทำโดยเด็ดขาด
๒. มีสติระลึกถึงการประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ อยู่เนืองๆ มิได้ขาด จะทำอะไรก็มีสติระลึกได้เสมอว่า สิ่งที่กำลังจะทำนั้นเป็นบุญเป็นกุศลหรือไม่ ถ้าเป็นกุศลจึงทำ
๓. มีสติระลึกถึงความทุกข์ในอบายภูมิอยู่เนืองๆ มิได้ขาด มีสติระลึกได้เสมอว่า การเกิดในอบายภูมิ เป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดียรัจฉาน นั้นมีทุกข์มากเพียงไร เมื่อระลึกได้เช่นนี้แล้วก็ไม่ยอมทำชั่วเลย เพราะเกรงว่าจะต้องไปเกิดในอบายภูมิเช่นนั้น
๔. มีสติระลึกถึงความทุกข์ อันเกิดจากการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ในวัฏสงสารอยู่เนืองๆ มิได้ขาด มีสติระลึกได้ว่าถ้าเรายังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้ ก็ต้องมีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป จึงหาโอกาสปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ เพื่อให้เข้านิพพานให้ได้เร็วที่สุดจะได้หมดทุกข์ เมื่อระลึกเช่นนี้บ่อยๆ ย่อมไม่หลงในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ไม่กำหนัดในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ไม่ขัดเคืองในอารมณ์อันเป็น ที่ตั้งแห่งความขัดเคืองได้ในที่สุด
๕. มีสติระลึกถึงกรรมฐานภาวนาที่จะละราคะ โทสะ โมหะ ให้ขาดจากสันดานอยู่เนืองๆ มิได้ขาด มีสติระลึกได้ว่า การที่เราจะทำดีหรือทำชั่วนั้น ขึ้นอยู่กับใจของเราเป็นสำคัญ ว่าใจของเราจะเข้มแข็งทรงพลัง เอาชนะความทะยานอยากต่างๆ ได้หรือไม่ และวิธีที่จะฝึกใจได้ดีที่สุดคือ การฝึกทำสมาธิ จึงต้องหาเวลาทำสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ
อาตาปี (มีความเพียรเผากิเลส) คำว่า อาตาปี แปลว่า มีความเพียรเผากิเลส คือ มีความเพียรชอบ ที่เรียกว่า สัมมัปปธาน ๔ คือ เพียรเพื่อละอกุศลเก่า เพียรเพื่อไม่ทำอกุศลใหม่ เพียรเพื่อทำกุศลใหม่ และเพียรเพื่อเพิ่มพูนกุศลเก่า ทุกขณะที่นักปฏิบัติเจริญสติระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบัน จัดว่า
- มีความเพียรเพื่อละอกุศลเก่า เพราะในขณะนั้นไม่ได้ทำอกุศลเก่า คือ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ ฯลฯ
- มีความเพียรเพื่อไม่ทำอกุศลใหม่ เพราะในขณะนั้นไม่ได้ทำอกุศลใหม่อย่างใดอย่างหนึ่งทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ
- มีความเพียรเพื่อทำกุศลใหม่ เพราะการเจริญสติปัฏฐานเป็นกุศลที่ยังไม่เคยบำเพ็ญมาก่อน
- มีความเพียรเพื่อเพิ่มพูนกุศลเก่า เพราะผู้ปฏิบัติธรรมย่อมประสบความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามลำดับของวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ จัดว่าได้เพิ่มพูนภาวนากุศลที่มีอยู่แล้วให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสั่งสมสติ สมาธิ และปัญญา ให้เพิ่มพูนมากขึ้นกว่าเดิม
สมฺปชาโน (มีปัญญาหยั่งเห็น) คำว่า สมฺปชาโน แปลว่า มีปัญญาหยั่งเห็น หมายความว่า หยั่งเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง จำแนกเป็น
๑. สภาวลักษณะ ลักษณะพิเศษของรูปนาม คือ ลักษณะเฉพาะตัวของรูปนามแต่ละอย่างที่รูปนามอื่นไม่มี
๒.สามัญญลักษณะ ลักษณะทั่วไปของรูปนาม คือ ความไม่เที่ยง (อนิจจัง) เป็นทุกข์ (ทุกขัง) ไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา)
ความจริงรูปนามเหล่านี้ไม่มีชื่อเรียก เกิดดับตามเหตุปัจจัยอยู่ในทวารทั้ง ๖ ต่อมาเพื่อสื่อความหมายกัน มนุษย์ได้คิดคันตั้งชื่อให้กับธรรมชาติเหล่านี้ว่า สี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง โลภ โกรธ รัก ชัง เป็นต้น ถึงแม้ว่าแต่ละภาษาจะตั้งชื่อไว้ต่างกัน แต่รูปนามเหล่านี้ จะคงสภาพเดิมของมันอยู่เสมอไม่เปลี่ยนแปร ลักษณะแข็งอันปรากฎที่ฝ่าพระหัตถ์ของพระราชาในขณะกำเหรียญทอง ไม่ต่างจากความแข็งที่ปรากฏในฝ่ามือของยาจกในขณะกำเศษเงินที่คนโยนให้ ความโลภของคนไม่ต่างจากความโลภของสัตว์ ความโกรธของคนไทย ฝรั่ง จีน แขก เป็นแบบเดียวกันหมด ดังนั้น รูปนามทุกอย่างที่ปรากฎทางทวารทั้ง ๖ จึงมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวตามสภาวะของตน
ส่วนลักษณะทั่วไปนั้น เกี่ยวกับรูปนามทุกอย่างที่เกิดในทุกทวารทั้งภายในและภายนอก มีชีวิตและไม่มีชีวิต ทุกสรรพสิ่งในสากลจักรวาลล้วนตกอยู่ในลักษณะทั่วไปอันได้แก่ ความไม่เที่ยง คือความเกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่จีรังยั่งยืน ความทุกข์ คือความทนอยู่ไม่ได้ในสภาพเดิมที่เริ่มเกิดขึ้น ความไม่ใช่ตัวตน คือความไม่อยู่ในอำนาจของตนที่ต้องการจะเที่ยงและเป็นสุขเสมอ ลักษณะทั่วไปนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าไตรลักษณ์ คือลักษณะ ๓ ประการดังกล่าวนั้น
สมมุติบัญญัติที่ทุกคนรับรู้ในเวลาทั่วไปนั้น เปรียบเสมือนเปลือกไม้ สภาวลักษณะของรูปนามเหมือนเนื้อไม้ สามัญญลักษณะเหมือนแก่นไม้ โดยปกติเราต้องถากเปลือกไม้และเนื้อไม้ออกก่อน จึงจะได้แก่นไม้ ในทำนองเดียวกัน เราต้องเพิกถอนสมมุติบัญญัติก่อน แล้วรับรู้สภาวลักษณะเป็นเบื้องแรก ต่อมาจึงรับรู้สามัญญลักษณะ
สติมา (มีสติ) คำว่า สติมา แปลว่า มีสติ คือ มีสติอย่างต่อเนื่องไม่ขาดช่วงตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงหลับสนิท สติเหมือนการสีไม้อย่างต่อเนื่อง สมาธิเหมือนความร้อนที่ได้รับจากการสีไม้ ปัญญาเหมือนไฟที่เกิดจากความร้อน กล่าวคือในอินทรีย์ทั้ง ๕ อันได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ศรัทธาเป็นเหตุให้เกิดวิริยะ วิริยะเป็นเหตุให้เกิดสติ สติเป็นเหตุให้เกิดสมาธิ สมาธิเป็นเหตุให้เกิดปัญญา และปัญญาก็เป็นเหตุให้เกิดศรัทธา ดังนี้เป็นต้น อินทรีย์ ๕ เหล่านี้เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน
วิเนยฺย (ข่ม) คำว่า วิเนยย (ข่ม) หมายความว่า ในทุกขณะที่เจริญสติระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบัน นักปฏิบัติย่อมกำจัดกิเลสโดยความเป็นตทังคปหาน คือ ละได้ชั่วขณะ หมายความว่า ไม่มีกิเลสเกิดขึ้นในขณะนั้น เพราะกิเลสที่เป็นอกุศลเหมือนความมืด ส่วนสติเป็นกุศลเหมือนความสว่างที่ซับความมืดให้หายไป
นอกจากนี้ นักปฏิบัติย่อมกำจัดกิเลสโดยความเป็นวิกขัมภนปหาน คือ ละได้ด้วยการข่มไว้ หมายความว่า สมาธิที่ได้รับการอุปถัมภ์จากวิริยะ สติ และปัญญา ย่อมทำให้จิตละเอียดอ่อน แม้นักปฏิบัติจะมิได้เจริญสติ ในบางขณะก็ไม่เกิดความโลภหรือความโกรธเหมือนในเวลามิได้ปฏิบัติธรรม แม้ในบางขณะที่ขาดสติเผลอคิดถึงบางเรื่องในอดีตหรืออนาคต ก็ไม่เกิดกิเลสดังกล่าว เพราะสมาธิจะข่มกิเลสไว้
โลเก (ในโลก) คำว่า โลเก (ในโลก) หมายถึง โลกแห่งสภาวธรรมที่กำหนดรู้ หรืออุปาทานขันธ์ ๕ อันได้แก่ ๑. รูป สภาวะแปรปรวนชัดเจนเมื่อประสบกับความเย็นและความร้อนเป็นต้น ๒. เวทนา สภาวะรู้สึก ๓. สัญญา สภาวะหมายรู้ ๔. สังขาร สภาวะปรุงแต่ง ๕. วิญญาณ สภาวะรับรู้สิ่งต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
อภิชฺฌาโทมนสฺสํ (อภิชฌาและโทมนัส) คำว่า อภิชฺฌาโทมนสฺสํ (อภิชฌาและโทมนัส) คือ ความโลภที่เกิดขึ้นเมื่อพบกับอารมณ์ที่ตนชอบใจ และความโกรธที่เกิดขึ้นเมื่อเผชิญกับอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในเวลาที่มิได้เจริญสติปัฏฐาน
สติกับการดำเนินชีวิต การฝึกสติเป็นสิ่งที่เราควรฝึกให้มีในทุกการกระทำและในทุกอิริยาบถ เพราะนอกจากจะทำให้เราสามารถทำกิจต่างๆ ได้อย่างสำเร็จด้วยดีแล้ว ยังเป็นการฝึกให้สติอยู่กับเนื้อกับตัวของเราด้วย พระพุทธเจ้า ได้ตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า “เมื่อเดินอยู่ก็รู้ชัดว่า เราเดิน หรือเมื่อยืน ก็รู้ชัดว่า เรายืน หรือเมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่าเรานั่ง หรือเมื่อนอน ก็รู้ชัดว่า เรานอน อนึ่งเมื่อเธอนั้น เป็นผู้ตั้งกายไว้แล้วอย่างใดๆ ก็ย่อมรู้ชัดอาการกายนั้น อย่างนั้นๆ
เป็นผู้ทำสัมปชัญญะ (ความเป็นผู้รู้พร้อม) ในการก้าวไปข้างหน้า และถอยกลับมาข้างหลัง ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการแลไปข้างหน้า แลเหลียวไปข้างซ้ายข้างขวา ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการคู้อวัยวะเข้า เหยียดอวัยวะออก ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการกิน ดื่ม เคี้ยว และลิ้ม ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด และความเป็นผู้นิ่งอยู่”
สติที่เราฝึกในชีวิตประจำวันจะทำให้เราอยู่กับความคิดที่เป็นปัจจุบัน ไม่ตกอยู่ในภาพของอดีตหรืออนาคตตลอดเวลา เพราะว่าโดยปกติเมื่อมนุษย์รับอารมณ์ที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจแล้ว ก็มักจะใส่ใจต่อทุกสิ่งที่มากระทบ และตอบสนองด้วยอำนาจของกิเลสที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ และส่งผล ให้เกิดเป็นความทุกข์ มีความทะยานอยาก เร่าร้อน วิตกกังวลเป็นต้น
เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีสติรู้เท่าทันกาย ย่อมจะไม่พูดชั่ว และไม่กระทำชั่ว สามารถรักษาตนอยู่ใน ‘ศีล’ ได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อมีสติรู้เท่าทันจิต ก็จะมี ‘สมาธิ’ ตั้งมั่น ไม่ซัดส่ายหวั่นไหววุ่นวาย และเมื่อมีสติรู้เท่าทันถึงเหตุผลอย่างชัดเจน ‘ปัญญา’ ก็จะเกิดขึ้น เป็นเครื่องดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง สติจึงเป็น ‘ธรรมมีอุปการะมาก’ คือทำให้ตื่นจากความไม่รู้ เพียงนำมาใช้กับทางโลกก็ยังเกื้อกูลประโยชน์มหาศาล ทั้งต่อการทำงาน ความสัมพันธ์กับบุคคล การจัดระบบความคิด อีกทั้งยังทำให้ไม่มักโกรธ ไม่มัวเมา ไม่ซึมเศร้า ไม่รู้สึกกดดัน
และถ้าสั่งสมอบรมให้เจริญมากขึ้นจนเป็น ‘มหาสติ’ ก็จะได้ประโยชน์จากทางธรรม เกื้อกูลต่อการเห็นประจักษ์ความจริงของกายและจิต สามารถตื่นจากกิเลสนิทราได้อยู่ทุกเมื่อ สมดังพระพุทธภาษิตที่ว่า ‘สติ โลกสฺมิ ชาคโร’ ที่แปลว่า ‘สติเป็นเครื่องตื่นในโลก’ ทุกประการ
ผู้ปฏิบัติธรรมหมั่นประกอบความเพียร ย่อมทำให้เกิดผลคือ การมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เมื่อมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อย่างนี้แล้ว การยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ก็เป็นปัจจุบันกาล หรือการประกอบการงานทั้งทางโลกและทางธรรมในชีวิตประจำวัน ก็เกิดผลดี เพราะทำให้อ่านตนออก บอกตนได้ ใช้ตนเป็น เข้าใจผู้อื่นที่ยังมีกิเลสอยู่ และทั้งสามารถนำไปสู่การพัฒนาอินทรีย์ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ให้สมบูรณ์แบบ จนถึงขั้นทำลายกิเลสให้หมดสิ้นไป พบแต่บรมสุขคือ พระนิพพาน อันเป็นเป็นหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee