แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันเสาร์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๑๐๐ บุคคลผู้รู้จักสิ่งอันเป็นสาระและไม่เป็นสาระ มีความดำริถูกต้องประจำใจ ย่อมได้แต่สิ่งอันเป็นสาระ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้ทุกๆ คนเข้าใจในการดำเนินชีวิตของเรา ของญาติพี่น้องเพื่อนๆ ของเรา
การดำเนินชีวิตต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง
เพื่อทุกคนจะได้รู้หน้าที่รู้การงานของตัวเอง
ความรู้ความเข้าใจอย่างนี้เรียกว่าพุทธะ พุทธะทางด้านจิตใจพุทธะทางด้านวัตถุ
๒ อย่างนี้ต้องประพฤติปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน เพื่อเป็นทางสายกลาง
เราทุกคนต้องเริ่มจากความรู้ความเข้าใจ
เมื่อเข้าใจแล้วก็ต้องเข้าสู่ภาพประพฤติภาคปฏิบัติ
เพื่อให้ทันกับเวลาทันกับเหตุการณ์
ทุกๆคนต้องปรับตัวเองเข้าหาธรรมะอย่างเต็มที่ ทุ่มอย่างสุดตัว
ไม่ให้หลงเหลือซึ่งตัวซึ่งตน สละคืนซึ่งตัวซึ่งตน เราถึงจะทันกาลทันเวลา
พระพุทธเจ้าบอกเราว่า ทุกสิ่งมีความเปลี่ยนแปลงไปทุกคนอย่าได้ประมาท
เวลาเป็นสิ่งที่สำคัญ เวลานี้เอากลับคืนมาไม่ได้ เป็นสิ่งสำคัญมาก
เวลาเป็นสิ่งที่มีค่าต่างจากทรัพย์สินเงินทองตรงที่ว่า
ทรัพย์สินที่สูญหายหรือหมดไปยังพอหาใหม่ทดแทนได้
แต่เวลาล่วงเลยไปไม่อาจนำกลับคืนมา ดังคำประพันธ์ที่ว่า
เวลาและวารี มิได้มีที่คอยใคร เรือเมล์และรถไฟ ก็ต้องไปตามเวลา
โอ้เอ้และอืดอาด มักจะพลาดปรารถนา พลาดแล้วจะโศกา อนิจจาเราช้าเอง
2
ผู้ที่ปล่อยเวลาล่วงเลยผ่านไปโดยไม่ทำอะไรให้เป็นประโยชน์
ถือว่าตกอยู่ในความประมาท
เพราะไม่ปฏิบัติตามพระพุทโธวาทที่สอนให้พิจารณาเนืองๆ ว่า กถมฺภูตสฺส เม
รตฺตินฺทิวา วีติปตนฺติ แปลความว่า วันคืนล่วงไป
บัดนี้เราทำอะไรอยู่ บุคคลผู้ประมาทคือผู้มีชีวิตอยู่โดยปราศจากสติ
คำว่า สติ หมายถึงความระลึกรู้ ก่อนทำก่อนพูดและก่อนคิด หรือขณะทำ
ขณะพูด และขณะคิด ผู้ประมาทปราศจากสติ แม้มีชีวิตก็เหมือนร่างที่ไร้วิญญาณ
พระพุทธองค์จึงเปรียบเทียบชีวิตของเขาว่าเหมือนคนที่ตายแล้ว
ดังพระพุทธภาษิตที่ว่า เย ปมตฺตา ยถา มตา แปลความว่า ผู้ประมาท
เหมือนคนตายแล้ว
เราได้พัฒนาเทคโนโลยีตามหลักเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ ทุกๆ
คนได้รับความสุขได้รับความอร่อยทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ
ที่มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พวกเราหลงพวกเราเพลิดเพลิน ทุกๆ
คนเมื่อเกี่ยวข้องกับอะไรมันก็จะติดกับสิ่งนั้นๆ
เพราะสิ่งเหล่านั้นมันเป็นความสุขจริง
ถ้าเรายังไม่รู้พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วก็ไม่อยากประพฤติปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ ก็ยังไม่ได้บัญญัติพระวินัย
พระวินัยนั้น พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงบัญญัติไว้ล่วงหน้า
ต่อเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามประพฤติเช่นนั้นอีก
ดังจะเห็นได้ว่า ในตอนต้นพุทธกาล คือตั้งแต่พรรษาที่ ๑ ถึงพรรษาที่ ๑๑
3
พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แน่นอน
เพราะพระภิกษุสงฆ์ล้วนมีวัตรปฏิบัติที่ดีงาม ศีลของพระภิกษุสงฆ์เรียกว่า “
ปาติโมกขสังวรศีล ” จัดเป็นจาริตตศีล คือ
ระเบียบปฏิบัติตามแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงประพฤติปฏิบัติมา
ในระยะที่ยังไม่มีพุทธานุญาตให้ภิกษุสงฆ์สวดพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือนใน ๒๐
พรรษาแรกนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์เองทุกกึ่งเดือน ต่อมา
หลังจากออกพรรษาที่ ๒๐ แล้ว พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติปาราชิกสิกขาบทที่ ๑
ห้ามภิกษุเสพเมถุน
โดยปรารภเหตุการณ์มัวหมองในคณะสงฆ์อันเนื่องมาจากการที่พระสุทินเสพเม
ถุนกับอดีตภรรยาที่ป่ามหาวัน กรุงเวสาลี
การที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก
และทรงบัญญัติเรื่อยมาทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ไม่ดีงามขึ้นในคณะสงฆ์
ในการบัญญัติสิกขาบทแต่ละครั้งมีขั้นตอนดังนี้คือ
๑. เมื่อเกิดเรื่องมัวหมองขึ้นภายในคณะสงฆ์
พระพุทธเจ้าตรัสสั่งให้เรียกประชุมสงฆ์ ๒.
ตรัสถามภิกษุผู้ก่อเหตุให้ทูลรับ
๓. ทรงชี้โทษแห่งการประพฤติเช่นนั้น
๔. ตรัสอานิสงส์แห่งการไม่กระทำเช่นนั้นและการสำรวมระวัง
๕. ทรงตั้งพระบัญญัติห้ามมิให้ภิกษุทำอย่างนั้นอีกต่อไป
๖. ทรงกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือล่วงละเมิดเรียกว่า ปรับอาบัติ
4
ทุกท่านทุกคนรู้จักธรรมะ แล้วให้รู้จักอันไหนไม่ใช่ธรรมะ
อันเป็นสาระอันไหมไม่เป็นสาระ
คราวเมื่ออุปติสสะและโกลิตะได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว
จึงชวนกันไปเฝ้าพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเวลานั้นประทับอยู่ ณ เวฬุวัน
แต่อุปติสสะซึ่งเป็นผู้หนักในกตัญญูกตเวที ระลึกถึงอาจารย์สัญชัย
จึงเข้าไปหาอาจารย์ เล่าความทั้งปวงให้ฟัง ชวนอาจารย์ไปเฝ้าพระศาสดาด้วย
แต่อาจารย์สัญชัยไม่ยอมไป อ้างว่าเป็นผู้ใหญ่ชั้น
ครูบาอาจารย์แล้วไม่ควรไปเป็นศิษย์ของใครอีก เมื่อสองสหายอ้อนวอนหนักเข้า
อาจารย์สัญชัยจึงถามว่าในโลกนี้มีคนโง่มากหรือคนฉลาดมาก สองสหายตอบว่า
คนโง่มากกว่า สัญชัยจึงสรุปว่า ถ้าอย่างนั้น ขอให้พวกที่ฉลาดๆ
ไปหาพระสมณโคดมเถิด ส่วนพวกโง่ ๆ จงมาหาเราและอยู่ในสำนักของเรา
แม้จะรู้ว่าท่านอาจารย์สัญชัยพูดประชดประชัน
แต่สองสหายผู้มีอัธยาศัยงามเพียบพร้อมด้วยสาวกบารมีญาณ
ก็หาถือเป็นเรื่องเคืองใจแต่ประการใดไม่ คงอ้อนวอนต่อไป พรรณนาให้เห็นว่า
การเสด็จอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้านั้นยากเพียงใด
การได้ฟังพระสัทธรรมของพระองค์ท่านก็เป็นของยาก
บัดนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว และประทับอยู่ ณ ที่ใกล้นี่เอง
ควรจะถือโอกาสอันดีนี้ไปเฝ้าฟังพระธรรมเทศนา
แต่สัญชัยก็คงยืนกรานอย่างเดิม
คนที่เป็นปทปรมะ (คนที่สั่งสอนไม่ได้) นั้นมี อยู่ ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งปัญญาน้อยเกินไป หรือพวกปัญญาอ่อน อีกพวกหนึ่งมีทิฐิมากเกินไป
5
ไม่ยอมฟังความคิดเห็นของใครๆ คนทั้งสองพวกนี้สอนได้ยาก
หรืออาจสอนไม่ได้เลย ที่ท่านเปรียบเหมือนบัวที่อยู่ใต้น้ำ ติดโคลนตม
มีแต่จะเป็นเหยื่อของปลาและเต่า
เมื่อเห็นว่าชักชวนอาจารย์ไม่สำเร็จแน่แล้ว สองสหายก็จากไป
ศิษย์ในสำนักของอาจารย์สัญชัยติดตามไปเป็นจำนวนมากประหนึ่งว่าปริพ
พาชการามจะว่างลง สัญชัยเห็นดังนั้นเสียใจจนอาเจียนออกมาเป็นเลือด
ศิษย์ของสัญชัยจำนวนหลายคนคงจะสงสารอาจารย์ จึงกลับเสียในระหว่างทาง
คงติดตามท่านทั้งสองไปเพียง ๒๕๐ คน
พระศาสดาทรงสดับคำนั้นแล้ว ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
สญชัยถือสิ่งที่ไม่มีสาระว่า ‘มีสาระ’ และสิ่งที่มีสาระว่า ‘ไม่มีสาระ’
เพราะความที่ตนเป็นมิจฉาทิฏฐิ.
ส่วนเธอทั้งสองรู้สิ่งเป็นสาระโดยความเป็นสาระ
และสิ่งอันไม่เป็นสาระโดยความไม่เป็นสาระ ละสิ่งที่ไม่เป็นสาระเสีย
ถือเอาแต่สิ่งที่เป็นสาระเท่านั้น เพราะความที่ตนเป็นบัณฑิต” ดังนี้แล้ว
ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า
“อสาเร สารมติโน สาเร จ อสารทสฺสิโน เต สารํ นาธิคจฺฉนฺติ มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา
สารญฺจ สารโต ญตฺวา อสารญฺจ อสารโต เต สารํ อธิคจฺฉนฺติ สมฺมาสงฺกปฺปโคจรา
บุคคลใดเห็นสิ่งอันไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ
และเห็นสิ่งอันเป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ บุคคลนั้นมีความดำริผิดประจำใจ
ย่อมไม่อาจพบสาระได้ ส่วนบุคคลใดเห็นสิ่งอันเป็นสาระว่าเป็นสาระ
6
สิ่งอันไม่เป็นสาระว่า ไม่เป็นสาระ บุคคลนั้นมีความดำริถูกประจำใจ
ย่อมสามารถพบสิ่งอันเป็นสาระ”
ก็อะไรเล่าคือสิ่งที่ไม่เป็นสาระ? อะไรคือสิ่งที่เป็นสาระ?
ตอบตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา
สิ่งใดก็ตามอันเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนบีบคั้น
เป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่านเอาใจไว้ไม่อยู่ทำให้จิตเตลิด
เป็นไปเพื่อความหลงงมงาย มืดมน เป็นไปเพื่อความติดพันยึดมั่น
สิ่งทำนองนั้นแหละเป็นอสาระ
ส่วนสิ่งใดก็ตาม อันเป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียนบีบคั้น
เป็นไปเพื่อความสงบระงับแห่งดวงจิต เป็นไปเพื่อปัญญาเห็นแจ้ง
เป็นไปเพื่อความไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน คือเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น
สิ่งนั้นหรือสิ่งทำนองนั้นเรียกว่า 'มีสาระ'
คนส่วนมากอาศัยความดำริผิด (มิจฉาสังกัปปะ)
จึงเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ แล้วหมกมุ่นอยู่ พัวพันอยู่
จมอยู่ในสิ่งอันไม่เป็นสาระนั้น มิหนำซ้ำยังนึกดูหมิ่นผู้ที่กำลังศึกษาปฏิบัติอยู่
ซึ่งสิ่งอันเป็นสาระว่าขวนขวายในสิ่งที่ไม่มีสาระ เมื่อเป็นดังนี้
เขาจึงไม่มีโอกาสประสบสิ่งอันเป็นสาระได้ เพราะได้สมาทานมิจฉาทิฐิไว้เต็มที่
กล่าวโดยย่อ อกุศลธรรมทั้งปวงเป็นอสาระ กุศลธรรมทั้งปวงเป็นสาระ
สิ่งที่ทำให้จิตใจต่ำเป็นอสาระ สิ่งที่ทำให้ใจสูงเป็นสาระ คนดีเป็นสาระ
คนชั่วเป็นอสาระ คนส่วนมากอยากเป็นคนดี อยากทำดีและอยากได้ดี
แต่ที่ทำต่างๆ กันไปก็เพราะความเห็นในเรื่องความดีไม่ตรงกัน
7
บางคนเห็นผิดไปเห็นชั่วเป็นดี เมื่อทำเข้าจึงชั่ว
ผลออกมาเป็นความทุกข์ความเดือดร้อน บางคนเห็นดีเป็นชั่วจึงเว้นสิ่งที่ควรทำ
ไม่ได้ทำความดี บางคนเห็นดีเป็นดี เห็นชั่วเป็นชั่ว มีความเห็นถูก ดำริถูก
จึงทำถูก พูดถูก ผลออกมาเป็นความสุขความเจริญ ความเย็นใจ
โดยนัยดังกล่าวมา
บุคคลจึงควรปรับความเห็นและความคิดของตนให้ถูกให้ตรง
ก็จะดำเนินชีวิตไปในทางถูก ทางตรง เขาย่อมพบสิ่งที่เป็นสาระ
เพราะมีความเห็นถูก คิดถูกนั้น เป็นประทีปส่องทาง
ส่วนผู้ที่มีความคิดเห็นไม่ตรง ย่อมมีแต่โทษทุกข์เป็นผล
ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลาย! เราไม่เห็นสิ่งอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่เป็นเหตุให้อกุศลที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น
ที่เกิดแล้วเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้นเหมือนมิจฉาทิฐินี้เลย ภิกษุทั้งหลาย!
เมื่อบุคคลมีความเห็นผิด อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น
อกุศลธรรมที่เกิดแล้วย่อมเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
ภิกษุทั้งหลาย" ! เราไม่เห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง
ที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น
ที่เกิดแล้วเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้นเหมือนสัมมาทิฐินี้เลย ภิกษุทั้งหลาย !
เมื่อบุคคลมีความเห็นชอบ กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
8
อนึ่งมิจฉาทิฐิทำให้สัตว์ทั้งหลายต้องตกนรก
ส่วนสัมมาทิฐิทำให้สัตว์ทั้งหลายบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ผู้เป็นมิจฉาทิฐิเกิดมาเพื่อความฉิบหายวอดวาย เพื่อโทษทุกข์แก่คนส่วนมาก
ส่วนผู้เป็นสัมมาทิฐิเกิดมาเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนมาก
เพราะทำให้คนทั้งหลายตั้งอยู่ในธรรมของสัตบุรุษ
ภิกษุทั้งหลาย" ! กายกรรม วจีกรรม
และมโนกรรมของบุคคลผู้มีความเห็นผิด ย่อมเป็นไปเพื่อผลอันไม่น่าปรารถนา
ไม่น่าชอบใจ ไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ เพราะเหตุไร?
เพราะทิฐินั้นเลวทราม ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมล็ดสะเดาก็ดี
เมล็ดบวบขมก็ดี เมล็ดน้ำเต้าขมก็ดี ที่บุคคลหมกไว้ในดินอันชุ่มชื้น
รสดินรสน้ำที่มันดูดซึมเข้าไปทั้งหมดย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นของขมเพื่อเผ็ดร้
อน เพื่อไม่น่ายินดี ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะพืชเลว ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย !
กายกรรมก็ดี วจีกรรมก็ดี มโนกรรมก็ดีของบุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฐิก็ฉันนั้น
เป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา เพราะความเห็นของเขาเลวทราม เจตนาก็ตาม
ความปรารถนาก็ตาม ความตั้งใจก็ตาม มีผลที่ไม่น่าปรารถนาไปด้วย
เพราะเกิดจากทิฐิอันเลวทราม
ภิกษุทั้งหลาย ! กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เจตนาความปรารถนา
ความตั้งใจ สังขาร เครื่องปรุงแต่งจิตของบุคคลผู้มีความเห็นชอบ
ย่อมเป็นไปเพื่อผลที่น่าปรารถนา น่าชอบใจ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข
ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะทิฐิของเขาดี ภิกษุทั้งหลาย !
เปรียบเหมือนพันธุ์อ้อยก็ดี พันธุ์ข้าวสาลีก็ดี พันธุ์ผลจันทน์ก็ดี
9
อันบุคคลหมกไว้ในดินที่ชุ่มชื่น รสดิน
รสน้ำที่มันดูดซึมเข้าไปทั้งหมดย่อมเป็นของมีรสหวาน น่ายินดี น่าชื่นใจ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะพืชพันธุ์ก็ดี กายกรรม วจีกรรม...
ของบุคคลผู้เป็นสัมมาทิฐิ ก็ฉันนั้น
ย่อมเป็นไปเพื่อผลอันน่าปรารถนา...เพราะทิฐิของเขาดี"
เห็นหรือไม่ว่าความเห็นชอบ ความดำริชอบ
มีความสำคัญต่อชีวิตของบุคคลอย่างไร เหมือนประทีปส่องทาง
เหมือนเมล็ดพืชที่ดีอำนวยประโยชน์และความสุขแก่บุคคลหาประมาณมิได้
มิจฉาทิฏฐิเป็นยอดโทษฉันใด สัมมาทิฏฐิก็เป็นยอดคุณฉันนั้น
บุคคลผู้มีสัมมาทิฏฐิประจำใจจึงเหมือนมีกุญแจไขเข้าไปในห้วงอันเต็มไปด้วยส
าระ ส่วนคนมีมิจฉาทิฏฐิประจำใจ หาเป็นเช่นนั้นไม่ มีแต่จะเดินเข้ารกเข้าพง
นำชีวิตไปสู่ความล่มจมล้มเหลว เปรียบด้วยเรือ
สัมมาทิฏฐิก็เป็นหางเสือให้เรือแล่นไปในทางอันถูกต้อง
หลีกหินโสโครกและอันตรายต่างๆ
คนเราจะพบสาระหรือสาระก็แล้วแต่การเลือก
และความเห็นอันถูกหรือผิดของตน ถ้ารู้จักเลือก และมีความเห็นถูกอยู่คู่ใจแล้ว
ย่อมประสบสิ่งอันเป็นสาระจนได้
พระศาสดาตรัสว่า "ธรรมดาว่าจิตนี้เที่ยวจาริกไปในอารมณ์ต่างๆ
ตลอดกาลนาน ชื่อว่าความสวัสดี ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ข่มจิตนั้นลงไปได้
เพราะฉะนั้น บุคคลจึงควรทำความเพียรในการข่มจิต
10
เหมือนนายหัตถาจารย์ทำความพยายามในการข่มช้างซับมันด้วยขอฉะนั้น"แล้วต
รัสพระคาถานี้ว่า :-
“อิทํ ปุเร จิตฺตมจาริ จาริกํ เยนิจฺฉกํ ยตฺถกามํ ยถาสุขํ
ตทชฺชหํ นิคฺคเหสฺสามิ โยนิโส หตฺถิปฺปภินฺนํ วิย อํกุสคฺคโห.
จิตนี้ เมื่อก่อนนี้ ชอบท่องเที่ยวไปในอารมณ์ตามความใคร่ ตามความพอใจ
ตามสบาย วันนี้เราจะไม่ปล่อยมันเป็นเช่นนั้นอีก
เราจะข่มมันโดยอุบายที่แยบคาย ดุจดังควาญช้างถือขอบังคับช้างตกมันฉะนั้น”
“ขอ” ในที่นี้พระองค์ทรงใช้ศัพท์ว่า “โยนิโส” อันหมายถึง
“โยนิโสมนสิการ” นั่นเอง แปลกันว่า อุบายอันแยบคาย อุบาย
คือเทคนิควิธีแยบคายหรือรอบคอบ ถูกต้อง เหมาะสม
พูดกันด้วยภาษาสามัญก็คือ ให้ใช้ปัญญาควบคุมจิต ปัญญาจะเป็นตัวบอกเองว่า
จะทำอย่างไร แค่ไหน
พระเซนรูปหนึ่งคิดว่าการจะบรรลุต้องปฏิบัติเคร่งครัด ไม่เหมือนใคร
จึงขึ้นไปนั่งสมาธิบนยอดไม้ ไม่กินไม่นอนเป็นเวลา ๓ วัน
อาจารย์เซนเดินมาพบเข้าจึงถามว่าไปทำอะไรอยู่บนนั้น
พระหนุ่มตอบว่า “ผมกำลังนั่งสมาธิเพื่อเป็นพุทธะ”
อาจารย์เซนได้ยินดังนั้นจึงคว้าก้อนอิฐข้างทาง มาถูกับมือจนเลือดไหล
พระหนุ่มถามว่า ท่านทำอะไร อาจารย์บอกว่า ผมจะถูให้มันเป็นกระจกใส
พระหนุ่มบอกว่า ท่านจะบ้าเรอะ ท่านถูกจนมือขาดมันก็เป็นกระจกไม่ได้
อาจารย์สวนทันทีว่า “คุณจะบ้าเรอะ คุณนั่งจนกลายเป็นลิงก็เป็นพุทธะไม่ได้”
11
ในเรื่องเล่าว่า พระหนุ่มได้เข้าถึง “ซาโตริ” (การรู้แจ้ง)
นี้คือตัวอย่างเทคนิควิธีที่ไม่ใช้ปัญญา ดีว่าได้อาจารย์เป็นกัลยาณมิตร
จึงไม่เดินหลงทาง
การประพฤติการปฏิบัติธรรมะ พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกๆ คน
'มาแก้ที่กาย' คือ การกระทำของเรา อันไหนไม่ดีไม่ถูกต้อง ไม่ให้เราทำ
ถึงเราจะเคยทำที่แล้วๆ มาต้องหยุด 'มาแก้ที่วาจา' คือ คำพูดของเรา
อันไหนไม่ดีเราอย่าไปพูด มาเปลี่ยนคำพูดเราใหม่ มาปรับปรุงคำพูดใหม่
เพราะคนเราทุกคนมันเปลี่ยนแปลงตัวเองได้... แม้แต่เราพูดดี เราพูดถูกต้อง
พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ให้เราพูดมากเกิน มาเปลี่ยนแปลงความคิด...'
อันไหนมันไม่ดีก็อย่าไปคิด มันอยากคิดเราก็ไม่คิด แม้สิ่งนั้นมันดี
ถ้ามันมากเกินท่านก็ไม่ให้เราคิด ให้อดให้ทน ถ้าเราไม่อดไม่ทนน่ะ
แม้เราจะมีความรู้เราจะเป็นคนฉลาดน่ะ
เราก็ไม่อาจสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีไปไม่ได้
ปัญหาต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นแก่เรานี้ มันไม่ใช่มาจากคนอื่น
มันมาจากตัวของเราเองเกิดจากการกระทำของเราเอง เราทุกๆ คน
ต้องปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ ต้องพากันอดพากันทน
ให้ทุกท่านทุกคนน่ะทำใจให้สงบ มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
มาพินิจพิจารณาตัวเองว่า กาย วาจา ใจของตัวเองส่วนไหนมันบกพร่อง
เราจะได้แก้ในส่วนนั้นๆ เพื่อจะให้การแก้ปัญหาของเรานั้นถูกต้อง สิ่งอื่นๆ
ให้ทุกท่านทุกคนถือว่ามันเป็นโอกาสที่ให้เราได้ฝึกจิตใจ สร้างบารมี
12
สร้างความดีสร้างคุณธรรม ประการแรก... ต้องให้ 'ใจ' ของเราสงบ
ต้องให้ 'สติสัมปชัญญะ' ของเราสมบูรณ์ สติ นั่นแหละคือ 'ศีล' 'สมาธิ'
สัมปชัญญะ คือความรู้ตัว นั่นแหละคือตัว 'ปัญญา' ถ้าเราไม่มีสติ
เราไม่มีสมาธิ การทรงตัวของเรามันก็ทรงตัวไม่ได้เพราะใจของเราไม่สงบ
'ความอยาก' ของเราน่ะมันมีกับเราทุกๆ คนนะ
มันเผาหัวจิตหัวใจของเรา...เป็นเปลวเพลิงเปลวไฟ ร้อนรนไปหมด
"เรายังไม่ตายน่ะมันก็ถูกความอยาก ความต้องการนี้เผา..."
พระพุทธเจ้าท่านให้เรารู้จักใจตัวเอง รู้จักอารมณ์ตัวเอง
เพื่อจะได้หยุดตัวเอง เพื่อให้ใจของเรามันสงบ ให้ใจของเรามันเย็น
เพื่อจะได้ให้สติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์ คนเราน่ะ
ถ้าใจของเรามันอยู่กับอนาคต มีความหวังอยู่กับอนาคตน่ะ
ทุกคนย่อมมีความทุกข์แน่ เราพยายามมาแก้กาย วาจา ใจของตัวเองในปัจจุบัน
เพื่อเป็นคนไม่วิ่งตามความคิดตามอารมณ์
'ปัจจุบัน' เป็นสิ่งที่เราจะต้องแก้ไขตัวเอง...
พระพุทธเจ้าน่ะท่านให้เราทุกคนไม่ต้องมีความอยาก ไม่ต้องมีความต้องการ
'ต้องเป็นคนขยัน ต้องเป็นคนเสียสละ'
คนเรานี้แหละถ้าคิดว่าร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ของเรา
ทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่ใช่ของเราน่ะ มันเลยไม่อยากทำอะไร
เพราะเรายังมีความเห็นผิด เรายังไม่เข้าใจ เมื่อไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา
มันเลยปล่อยมันเลยวาง ความขี้เกียจขี้คร้าน
13
ความง่วงเหงาหาวนอนมันเลยมาครอบงำเรา ให้เราไม่อยากทำอะไร
อยากอยู่ว่างๆ อยากอยู่เฉยๆๆๆ เพราะทุกอย่างมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆ เรา
พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า.... เมื่อทุกอย่างมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆ เราน่ะ
เราต้องขยัน เราต้องเสียสละ เราต้องเป็นผู้ให้แก่คนอื่น เพราะเราทุกๆ
คนน่ะไม่อยากให้คนอื่น เพราะทุกอย่างเป็นของเรา เป็นของพ่อ ของแม่
ของญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลของเรา มันมีเราทั้งนั้น เมื่อมันมี 'เรา" เมื่อไหร่
มันก็ต้องทุกข์ทันที
“เราพยายามพากันมาเสียสละ งานนี้เป็นงานใหญ่
งานนี้เป็นงานละอัตตาตัวตน เป็นงานละสักกายทิฏฐิ ถือเนื้อถือตัวถือตน”
ความรู้สึกที่มันเป็นตัวเป็นตนนี้
มันทำให้ทุกคนต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารอย่างไม่มีที่จบที่สุด
เรามีความรู้สึกในการพักผ่อนที่สบาย
เรามีความรู้สึกในการลิ้มรสอาหารที่อร่อยๆ เรามีความรู้สึกฟังเสียงไพเราะ
เรามีความรู้สึก ในการเห็นรูปสวยๆ น่ะ ความรู้สึกอย่างนี้ ท่านเรียกว่า
'อัตตาตัวตน' น่ะ มันทำให้ทุกคนยึดมั่นถือมั่น ทำให้ทุกคนหลงในเหยื่อ
หลงในความสุข มันเป็นเหตุแห่งความเพลินแห่งความเพลิดเพลิน
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า...."ในหมู่สัตว์โลกมวลมนุษย์ทั้งหลายน่ะ...
พากันเพลิดเพลินอยู่ หลงอยู่ แต่ท่านผู้รู้หาข้องอยู่ไม่"
เพราะว่านี้มันเป็นเหยื่อของโลกให้คนติดอยู่ในโลก
14
สิ่งเหล่านี้น่ะมันทำให้สติสัมปชัญญะของเราทุกคนไม่สมบูรณ์ทำให้ไขว้เขว...
ทุกๆ ท่าน ทุกคนต้องมีสติสัมปชัญญะที่แข็งแรงเพื่อจะหยุดตัวเอง เบรกตัวเอง
ที่จะได้อบรมบ่มอินทรีย์ ให้มันติดต่อ...ต่อเนื่องกันอย่างไม่ขาดสาย
จะไม่ได้ปล่อยเวลาให้จิตใจของเราไปหมกมุ่นครุ่นคิด...ลุ่มหลง...จมอยู่ในสงสาร
ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น เป็นหน้าที่ของเราทุกๆ คนจะต้องตัด จะต้องละ จะต้องวาง
ทุกๆ ท่าน ทุกคนน่ะพยายามอยู่กับตัวเองให้มากขึ้น
เห็นโทษเห็นภัยในวัฏฏสงสารน่ะ อย่าให้สิ่งต่างๆ มันมาครอบงำจิตใจของเรา
ความรู้สึกที่ว่า... เป็นตัวเรา เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นญาติพี่น้อง
เพื่อนฝูงวงศ์ตระกูลนี้ หรือวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ น่ะ สิ่งต่างๆ
ที่มันมีอยู่กับสื่อมวลชน
ที่มันกำลังเป็นอยู่ทุกวันนี้อย่าให้มันมาครอบงำจิตครอบงำใจของเราได้
ให้มีสติสัมปชัญญะไว้ เดี๋ยวทุกอย่างมันก็จะผ่านไปเอง
ข้อสำคัญ 'สมาธิ' ของเราต้องแข็งแรง ใจ' ของเราต้องแข็งแรง
เราต้องเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญาทุกๆ อิริยาบถ
เพราะการปฏิบัติธรรมมันไม่ใช่การนั่ง การเดิน การนอน
มันอยู่ที่หัวใจของเราที่มันอยู่ทุกหนทุกแห่งน่ะ คือ การกระทำของเรา
การกระทำของเรานั้น มันมีทั้งรูปแบบ นอกรูปแบบ เราทุกคนต้องปฏิบัติได้
ทำได้ทุกหนทุกแห่ง เราทุกคนต้องทำได้ เราไม่ต้องรอกาล รอเวลา รอสถานที่
ปฏิบัติใหม่ๆ เราก็อาจจะคิดว่าเป็นของยาก เพราะเราต้องฝืนความรู้สึก
ฝืนความเคยชิน ที่จิตใจของเรามันไหลลงไปที่ต่ำ เหมือนกับน้ำ
ที่มันใหลจากภูเขาสูงตั้งเก้าสิบองศา อันนี้มัน เป็นความรู้สึกของเรา
15
นี้มันเป็นกรรมของเรา ที่มันพากันติดความสุข ติดความสบาย
เราเป็นคนเอาแต่ใจตัวเองไม่ได้แก้ตัวเอง
สนองความอยากความต้องการจนมันเป็นความเคยชิน ใจ' ของเรานี้แหละ
ถ้ามันนึกคิดขึ้นมาเราต้องหยุดทันที ถ้าเราปล่อยให้มันคิดสองครั้ง สามครั้ง
สี่ครั้ง มากๆ เข้าน่ะ ทุกคนไม่มีใครเก่งที่จะหยุดมันได้
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า... "สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง"
"การไม่ทำบาปในทางความคิดด้วยประการทั้งปวง" เรามองดูสิ่งหยาบๆ
ที่เรามองเห็นน่ะ อย่างคนเค้าติด บุหรี่ ติดเหล้า ติดยาม้ายาอีอย่างนี้
เพราะเค้าเป็นคนใจอ่อน ทำตามความรู้สึกนึกคิด ใจแข็งไม่พอ
หรือขาดสติเพราะว่าไม่มีสติสัมปชัญญะ ถ้าเค้ายับยั้งจิตไม่นึกไม่คิด
ทุกคนก็สามารถที่จะละได้ หยุดได้
คนเราน่ะที่มันโกรธถึงกับแสดงความก้าวร้าว ถึงด่า ถึงว่า ถึงตี
ถึงฆ่าน่ะ...เพราะเราไม่ได้หยุด ไม่ได้ยับยั้งตัวเอง จนทำให้ทุกอย่างมันเสียหาย
'ความคิด' นี้แหละมันมีทั้งคุณและโทษนะ อันไหนที่จะทำให้เรามันตกต่ำน่ะ
ทุกคนต้องให้รู้ด้วยตัวเอง อดเอาทนเอา ฝืนเอา
เพื่อให้มันเกิดมรรค...เกิดปฏิปทา...ผลมันถึงจะเกิดได้ ถ้าเรารู้เฉยๆ ...
เข้าใจเฉยๆ น่ะ ถ้าไม่มีการปฏิบัติ ไม่มีการอด ไม่มีการทนน่ะ ทุกคนจะเป็น
'อริยชน' ไปไม่ได้
เราเห็นคนฉลาดเห็นคนเก่ง แต่ทุกคนก็หมดสภาพ
เพราะแก้ปัญหาตัวเองไม่ได้ ถูกกิเลสมันถลุง ถูกกิเลสมันครอบงำ จิตใจไม่สงบ
จิตใจไม่นิ่ง ทุกๆ คน
16
ต้องถือว่าเป็นคนโชคดีเป็นคนที่มีโอกาสเพื่อจะได้ฝึกจะได้ปฏิบัติ
เพื่อจะได้ทบทวนจิตใจให้ตัวเองเข้าสู่พระนิพพานให้ได้ "เพราะว่า
'พระนิพพาน' มันไม่ได้อยู่ไกล มันอยู่ที่จิตที่ใจของเราในชีวิตประจำวัน"
ความเคยชินของคนทุกคนน่ะ เค้าเรียกว่า 'กรรมเก่า' ดูๆ แล้วคนนั้น ๆ
น่ะมันไม่มีการเปลี่ยนแปลงนิสัยเก่า 'มันก็เหมือนเก่า'
เพราะว่าไม่มีภาคปฏิบัติเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทุกๆ คน
ถึงต้องไปเน้นที่จิตที่ใจ ถึงจะได้ทำประโยชน์ตนแล้วก็เป็น
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee