แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันพุธที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๙๓ ลักษณะของความมีตัวตน ทำให้คนไม่มีศีล ไม่ไม่ความละลายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป
การดำเนินชีวิตของเราทุกคนพระพุทธเจ้าให้เรามีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้องแล้วพากันปฏิบัติให้มันถูกต้อง การประพฤติการปฏิบัติมันเป็นเรื่องของเราเป็นเรื่องส่วนตัวของเรา เราไม่ต้องไปแก้ที่คนอื่น เพราะทุกอย่างนั้นคือเหตุคือปัจจัย เหตุอย่างใดผลก็อย่างนั้น ในชีวิตประจำวันของเราถึงต้องมีศีลมีสมาธิมีปัญญา การประพฤติการปฏิบัติก็อยู่ที่ปัจจุบันที่มันเป็นกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเรา ให้ทุกท่านทุกคนให้พากันเข้าใจในการประพฤติการปฏิบัติ ปัจจุบันมันเป็นพื้นฐานของอนาคต อนาคตก็คือปัจจุบันนี่แหละที่มันเป็นพื้นฐานเพราะสิ่งเหล่านี้มีสิ่งต่อไปถึงมี มันจะเป็นประจุที่ติดต่อต่อเนื่องเหมือนกระแสไฟฟ้า ปัจจุบันเราต้องอาศัยยาน ยานนั้นคือศีลยามนั้นคือสมาธิ ศีลนั้นคือความหยุด ศีลนั้นคือยกเลิก ศีลนั้นคือหยุดผลิตหยุดโรงงาน สมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิในปัจจุบันต้องแข็งแรงแข็งแกร่ง เพื่อจะให้ศีลก้าวไปด้วยความติดต่อต่อเนื่อง
เราทุกคนต้องพากันปฏิบัติอย่างนี้นะ ปัจจุบันเราต้องมีปัญญา เพื่อไม่ให้สิ่งที่ทำให้เราเวียนว่ายตายเกิดทำงานได้ กรรมเก่าก็ไม่เกิด กรรมใหม่ก็ไม่ให้เกิด เวลาก็ย่อมผ่านไปที่มันเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม มันเป็นการทำความเพียรชอบ ที่พระพุทธเจ้าบอกว่าการทำความเห็นชอบเราอย่าไปตรึกในกามอย่าไปตรึกในพยาบาท เพื่อให้ศีลเพื่อให้สมาธิของเราทำงาน หัวใจของเราทุกคนมันคิดได้ทีละอย่าง เมื่อเราไม่ตรึกในกามในพยาบาท กรรมเก่ามันก็ทำงานไม่ได้ กรรมใหม่ที่เป็นปัจจุบันมันก็ทำงานไม่ได้ อนาคตก็คือปัจจุบันนี้แหละ การทำความเพียรอย่างนี้เรียกว่าการทำความเพียรที่ถูกต้อง เรียกว่าการทำความเพียรชอบ สิ่งเหล่านี้มันเป็นวัดเป็นข้อวัตรเป็นข้อปฏิบัติของเราทุกคน
วันหนึ่งคืนหนึ่งถึงมีแต่การประพฤติการปฏิบัติของเราน่ะ ประชาชนคนใหญ่ที่ไม่ได้บวชวันหนึ่งต้องพากันนอน ๖ ชั่วโมง นอนหลับสนิท ๖ ชั่วโมง สมองเรามันถึงจะไปสั่งงานของร่างกายของการทำธุรกิจต่างๆ สำหรับนักบวชนอนวันหนึ่งสัก ๖ ชั่วโมงก็เพียงพอ เวลาเราตื่นอยู่นั้น จะเป็นนักบวชหรือเป็นฆราวาสต้องทำงานและปฏิบัติธรรมไปพร้อมๆ กัน เพราะชีวิตของเราทุกคนมันมีอยู่ ๒ อย่าง มันมีกายกับใจ เราต้องมีความสุขในการทำงานมีความสุขในการปฏิบัติธรรม ศีลสมาธิกับปัญญาต้องก้าวไปพร้อมๆ กัน ทุกคนต้องยกเลิกจากความมีตัวมีตน เพราะการมีตัวมีตนนั้นคือการเวียนว่ายตายเกิด มันเป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์ เราพากันมาหยุดด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญาอย่างนี้แหละในปัจจุบัน ถ้าศีลสมาธิปัญญาไปพร้อมกันเสมอกัน ชีวิตของเราจะมีความสุขมีความดับทุกข์ สมองเราก็จะไม่สับสน ความฟุ้งซ่านของเราก็ไม่มี เพราะเราไม่มีนิวรณ์ ศีลนี้ถึงเป็นสิ่งที่หยุดความสับสน สมาธิเป็นสิ่งที่หยุดความสับสน ปัญญาที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องเราได้ปฏิบัติได้ทั้งศีลสมาธิปัญญาเป็นสิ่งที่หยุดความสับสน เราก็จะมีสติมีสัมปชัญญะที่มีศีลมีสมาธิมีปัญญาไปพร้อมๆ กัน
ศีลสมาธิปัญญาถึงเป็นเรื่องปัจจุบัน การรักษาศีล เนื่องจากสัมมาทิฏฐิการทำสมาธิในปัจจุบันก็เนื่องจากสัมมาทิฏฐิ ไม่มีความงมงายไม่มีไสยศาสตร์ ผู้มีศีลก็ย่อมมีความสุขในปัจจุบัน เพราะสมองไม่สับสน ผู้มีสมาธิอยู่ในปัจจุบันก็ย่อมมีความสุข พระพุทธเจ้าถึงให้เอาปัญญาเข้ามาช่วย เพราะเราจะพากันติดสุข ความสุขนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง พระพุทธเจ้าถึงให้เราเจริญปัญญาว่า ทุกอย่างนั้นไม่แน่ไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงไปตลอด ปัจจุบันต้องมีสมาธิอีก ทุกท่านทุกคนต้องเสียสละอย่าพากันมาเอาความสุขระดับศีลเป็นนิพพาน อย่าพากันมาเอาความสุขระดับสมาธิเป็นนิพพาน พระพุทธเจ้าก็เป็นลูกหลานของพราหมณ์มาก่อน แต่เรามาติดในศีลในสมาธิเราก็จะเป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตนอยู่ ศีลสมาธิกับปัญญาถึงเดินไปพร้อมๆ กัน เพื่อเป็นการอบรมบ่มอินทรีย์เพื่อที่จะเจริญอริยมรรค ศีลสมาธิปัญญาจะได้อบรมตนเองไปในตัว ที่เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม เมื่อเรามีศีลมีสมาธิมีปัญญาอย่างนี้ ความฟุ้งซ่านของทุกๆ คน มันก็จะหายไป เพราะตัวตนไม่มี มีแต่สัมมาทิฏฐิมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง คนที่หัวดีหัวมาตรฐานจะต้องพากันปฏิบัติได้ทุกๆ คน นอกจากบุคคลนั้นสมองไม่ปกติ เพราะเราไม่ได้ไปแก้ไขที่ไหน เราไปแก้ไขตัวเองโดยเฉพาะ ทุกท่านทุกคนอย่าพากันลังเลสงสัยในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราทุกคนต้องลงใจให้พระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าคือผู้ที่รู้ทุกข์รู้เหตุเกิดทุกข์รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ที่เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติในปัจจุบันที่เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม ที่ทุกคนต้องพากันดำเนินชีวิตอย่างนี้
ถ้าเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ไม่ลงใจในพระธรรมคำสั่งสอน ไปลูบคลำในข้อวัตรข้อปฏิบัติ สิ่งสำคัญเราต้องหยุดตัวหยุดตน ถ้าหยุดตัวหยุดตน ชีวิตของเรามันจะไม่ได้สับสน ตัวตนถึงเป็นสิ่งที่สับสน ผู้ที่มาบวชเป็นพระเป็นเณรเป็นชีหรือมาถือศีลเข้ากรรมฐานอยู่ที่วัด ได้รับสิทธิพิเศษ บ้านไม่ต้องเช่าข้าวไม่ต้องซื้อ ปัจจัย ๔ ก็มีเพรียบพร้อม ให้พากันประพฤติพรหมจรรย์ หยุดความเป็นนิติบุคคลหยุดเป็นตัวเป็นตน พากันแก้ไขตัวเองให้เต็มที่ มีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ มีข้อวัตรข้อปฏิบัติ ปฏิบัติทั้งกายทั้งวาจาทั้งกิริยามารยาท ทำวัตรสวดมนต์เดินจงกรมนั่งสมาธิ กวาดวัดทำความสะอาดกุฏิดูแลห้องน้ำห้องสุขาของตัวเองและดูแลห้องสุขาของส่วนรวม ยกเลิกความเป็นเราเป็นของเรา มาเป็นพระธรรมพระวินัย มาเป็นกิจวัตรข้อวัตร มีความสุขในการพัฒนาใจของตัวเองในการพัฒนากิจวัตร มีความสุขในอิริยาบถทั้ง ๔ ผู้ที่มาบวชผู้ที่มาปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัด พระพุทธเจ้าให้เราพากันเข้าใจ ทุกๆ คนเราพากันมาบวชนั้น คือมาหยุดเป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตน ต้องพากันเข้าใจ ถ้าเรายังเป็นนิติบุคคลตัวตน มันแก้ปัญหาไม่ได้ มีแต่สร้างปัญหาการที่ไม่มีตัวไม่มีตนนี่แหละคือความสุข การที่มีศีลนี่แหละคือความสุข การทำงานทำข้อวัตรนี่แหละคือความสุข การที่มีตัวตนมันเป็นความทุกข์
ที่ได้พูดวกไปเวียนมา ก็เพื่อให้ทุกคนพากันเข้าใจ เพื่อจะได้พากันเคลียร์ในเรื่องการปฏิบัติ พวกที่มาบวชกันทั้งหลายพากันเข้าใจนะ บาปกรรมที่มันเกิดติดต่อต่อเนื่อง เราต้องหยุดบาปหยุดกรรมนั้นด้วยศีล ที่ไม่ตรึกในกามในพยาบาท ถ้าเรายังตรึกยังนึกยังคิดยังยินดี กรรมเก่าก็ย่อมเกิดติดต่อต่อเนื่อง ให้เข้าใจนะว่าใจของเรามันคิดได้ทีละอย่าง เมื่อมันคิดได้ทีละอย่าง ก็อย่าไปคิดมันอย่าไปตรึกมัน เรามีความสุขในการรักษาศีลอย่างนี้ บาปใหม่ที่มันเป็นปัจจุบันที่กำลังเกิดผัสสะที่เป็นอายตนะภายในภายนอก ให้เราพากันรู้พากันเข้าใจ พระพุทธเจ้าบอกบอกให้เรายกสิ่งที่รับรู้ผัสสะนั้นขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ว่า ทุกอย่างนั้นไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันคือเหตุคือปัจจัย มันเป็นเพียงผัสสะทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ทุกท่านทุกคนต้องพากันภาวนา ถ้าเราไม่ภาวนาสู่พระไตรลักษณ์ สำหรับผู้ที่ไม่หมดกิเลสสิ้นอาสวะก็ต้องอาบัติได้
ทุกท่านทุกคนอย่าพากันขี้เกียจ ส่วนใหญ่เราไม่ค่อยรู้กันนะ ปล่อยให้ตัวเองชอบตัวเองไม่ชอบ ไม่มีการประพฤติการปฏิบัติเลย บาปใหม่ก็ย่อมทำงานติดต่อต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ทุกท่านทุกคนต้องพากันปฏิบัติในตอนนี้แหละ ที่พระพุทธเจ้าทรงไปบอกสอนชฎิล ๓ พี่น้อง ให้รู้จักการประพฤติการปฏิบัติว่า ตาเป็นไฟรูปเป็นไฟหูเป็นไฟน่ะ ในชื่อ อาทิตตปริยายสูตร ที่ทำให้ชฎิลผู้ยอมละทิ้งลัทธิเดิมของตนมาสมัครเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าได้บรรลุอรหัตตผล
ความในพระสูตรนี้ อาจสรุปได้เป็น ๔ ตอน ดังนี้:-
๑. สภาพที่เป็นปัญหา พระพุทธองค์ทรงเริ่มพระสูตรด้วยพระดำรัสว่า “สพฺพํ ภิกฺขเว อาทิตฺตํ” แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงลุกเป็นไฟหมดแล้ว”
จากนั้น ตรัสขยายความต่อไปว่า สิ่งทั้งปวงที่ว่าลุกเป็นไฟไปหมดแล้วนั้น คืออะไรบ้าง ซึ่งเมื่อสรุปแล้ว สิ่งที่พระองค์ตรัสว่าลุกเป็นไฟ มีดังต่อไปนี้:- ๑) จักษุ รูป จักขุวิญญาณ จักขุสัมผัส จักขุสัมผัสสชาเวทนา
๒) โสตะ (หู) เสียง โสตวิญญาณ โสตสัมผัส โสตสัมผัสสชาเวทนา
๓) ฆานะ (จมูก) กลิ่น ฆานวิญญาณ ฆานสัมผัส ฆานสัมผัสสชาเวทนา
๔) ชิวหา (ลิ้น) รส ชิวหาวิญญาณ ชิวหาสัมผัส ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา
๕) กาย โผฏฐัพพะ กายวิญญาณ กายสัมผัส กายสัมผัสสชาเวทนา
๖) มนะ (ใจ) ธรรมะ (ความคิดคำนึงต่างๆ) มโนวิญญาณ มโนสัมผัส มโนสัมผัสสชาเวทนา
พูดให้สั้นลงไปอีกก็ว่า อายตนะทั้งหลาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ตลอดถึงการรับรู้ ความเกี่ยวข้อง และความรู้สึกทั้งหลายที่เกิดจากอายตนะเหล่านั้น ได้ถูกไฟไหม้หมดแล้ว หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า กระบวนการรับรู้และความคิดคำนึงทั้งหมดนั่นเอง ถูกไฟลามติดไปทั่วแล้ว
๒. สาเหตุ เมื่อกำหนดตัวปัญหาได้ และเข้าใจสภาพของปัญหาแล้ว ก็ค้นหาสาเหตุให้เกิดไฟหรือตัวไฟที่เผาผลาญนั้นต่อไป ได้ความว่า สิ่งที่กล่าวมานั้น ลุกไหม้ด้วยไฟกิเลส ๓ อย่าง คือ:-
๑) ราคะ ความอยากได้ ความใคร่ ความติดใจ ความกำหนัดยินดี
๒) โทสะ ความโกรธ ความขัดใจ ความเดือดแค้นชิงชังไม่พอใจต่างๆ
๓) โมหะ ความหลง ความไม่รู้ ไม่เข้าใจสภาพของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
และยังถูกเผาลนโหมด้วยไฟความทุกข์อีกมากมายหลายอย่าง เช่น ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศกเศร้า ความคร่ำครวญร่ำไร ความทุกข์โทมนัส และความคับแค้นใจต่างๆ
๓. ข้อปฏิบัติเพื่อแก้ไข พระพุทธองค์ตรัสต่อไปอีกว่า อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายในอายตนะภายใน ภายนอก ตลอดถึงเวทนาทั้งหมดเหล่านั้น เมื่อหน่ายก็ย่อมไม่ยึดติด
๔. ผล เมื่อไม่ยึดติด ก็หลุดพ้น เมื่อหลุดพ้น ก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว เป็นอันสิ้นชาติภพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำสิ่งที่จะต้องทำเสร็จสิ้นแล้ว สิ่งที่จะต้องทำเพื่อเป็นอย่างนี้ ไม่มีเหลืออีกเลย.
เราต้องเอาสิ่งเหล่านี้โดยมีสติมีสัมปชัญญะภาวนาให้ติดต่อต่อเนื่อง เราต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติตอนนี้แหละ การประพฤติการปฏิบัติมันต้องมีขึ้นในตอนนี้แหละ ให้พวกเราระลึกถึงพระภิกษุที่ชื่อตุจฉะโปฐิละ (ภิกษุใบลานเปล่า) ท่านมีลูกศิษย์ที่เป็นพระอรหันต์หลายร้อย แต่ตนเองก็เป็นปุถุชนอยู่ เพราะไม่ได้เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะใจนั้นรู้แต่พระธรรมคำสั่งสอนรู้แต่ทฤษฎี แค่ไม่เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ยังมีทิฏฐิยังมีมานะยังมีอัตตาตัวตน รู้แล้วไม่มีการประพฤติไม่มีการปฏิบัติ มันจะมีประโยชน์อะไร เพราะมัวแต่ยินดีในผลงานของบุคคลอื่น ยินดีในลูกศิษย์ลูกหาที่ได้บรรลุธรรม ไปมีความสุขที่ได้เห็นคนอื่นเป็นเศรษฐีธรรม จนได้สามเณรอรหันต์น้อยๆ สั่งสอนให้เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ วันๆ ได้แต่สั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา ไม่เคยคิดสั่งสอนตัวเองเลยว่า จะหาที่สิ้นสุดทุกข์แก่ตนได้อย่างไร
พระพุทธเจ้าทรงมีพระพุทธประสงค์จะเตือนเธอ เวลาท่านไปเฝ้าพระพุทธองค์พร้อมภิกษุทั้งหลาย พระองค์จะตรัสกับท่านว่า “อ้อ คุณใบลานเปล่า นั่งสิ คุณใบลานเปล่า” เวลาท่านกราบทูลลากลับ พระองค์ก็จะตรัสว่า “คุณใบลานเปล่า จะกลับแล้วหรือ” อะไรอย่างนี้เป็นต้น
ท่านโปฏฐิละ คิดว่า เราเป็นถึงอาจารย์ใหญ่ เชี่ยวชาญในพระพุทธวจนะบอกธรรมแก่พระสงฆ์ถึง ๑๘ คณะใหญ่ ทำไมหนอ พระบรมศาสดายังตรัสเรียกเราว่า “ใบลานเปล่า” นี่คงหมายความว่า เราได้แต่บอกได้แต่สอนคนอื่น ไม่ได้สอนตัวเองเลย ไม่เช่นนั้นพระองค์คงไม่ทรงเรียกเราอย่างนี้
ท่านได้สำนึกตัวขึ้นมา เพราะพระพุทธองค์ตรัสเตือน จะเรียกว่าโดยตรงก็ได้ โดยอ้อมก็ได้ พระองค์มิได้ตรัสตรงๆ แต่ถ้อยคำมันบ่งค่อนข้างชัด “ใบลานเปล่า” ใครฟังก็เข้าใจทันทีว่า มีแต่ใบลาน ไม่มีพระธรรมจารึกไว้เลย
คนที่หลงตัว มัวเมาว่าตนเก่ง ตนดี ก็ต้องมีผู้เตือนอย่างนี้แหละ จึงจะสำนึกได้ จะรอให้เขาเตือนตนเองคงยาก
ท่านโปฏฐิละก็เช่นกัน เมื่อสำนึกตนได้ ก็บอกลาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย เข้าไปวัดป่าเพื่อขอปฏิบัติกรรมฐาน ไปกราบพระอาจารย์ผู้เฒ่ารูปหนึ่ง กล่าวว่า “ท่านอาจารย์ โปรดเป็นที่พึ่งของกระผมเถิด สอนธรรมให้ผมด้วยเถิด”
พระเถระกล่าวว่า “ท่านอาจารย์ ท่านพูดอะไรเช่นนั้น ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญพระพุทธวจนะ พวกเราได้รู้แนวการปฏิบัติก็เพราะท่านเป็นคนช่วยบอกช่วยสอน”
พระเถระนักปฏิบัติ ๓๐ รูป ที่ท่านโปฏฐิละเข้าไปมอบตนเป็นศิษย์ ไม่ยอมรับ ต่างออกตัวไปตามๆ กัน ว่ากันว่า เพื่อขจัดทิฏฐิมานะของท่านให้หมดไป พระนักปฏิบัติทั้งหลาย ดูเหมือนจะมองออกว่า คนระดับอาจารย์ใหญ่ มีลูกศิษย์ลูกหามากมายนั้น ทิฏฐิมานะย่อมฝังรากลึก เพื่อให้แน่ใจว่า หมดพยศจริงๆ จึงจะยินดีสอนกรรมฐานให้ ทางเดียวที่จะรู้ว่าหมดพยศจริงหรือไม่ คือส่งให้ไปหาสามเณร จึงส่งท่านไปยังสามเณรน้อยนิรนามรูปหนึ่ง ขณะกำลังนั่งสอยจีวรอยู่
ท่านโปฏฐิละเข้าไปหาสามเณรประคองอัญชลี (ยกมือไหว้) กล่าวว่า ท่านสัตบุรุษโปรดเป็นที่พึ่งให้ผมด้วย สอนธรรมให้ผมด้วย
สามเณรน้อยตกใจ ร้องว่า “ท่านอาจารย์ ท่านพูดอะไรอย่างนั้นผมเป็นสามเณรมิบังอาจสอนอะไรให้แก่ท่านได้ ท่านเป็นถึงอาจารย์ใหญ่”
“ได้โปรดเถิด พ่อเณร ผมไม่มีที่พึ่งอีกแล้ว” ท่านอ้อนวอนอย่างน่าสงสาร
สามเณรน้อยกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น ถ้าผมบอกให้ท่านอาจารย์ทำอะไรท่านอาจารย์ยินดีทำตามไหม” สามเณรน้อยยื่นเงื่อนไข
ความจริงสามเณรน้อยมิใช่ธรรมดา เป็นสามเณรอรหันต์ ย่อมรู้ว่าจะสอนนักวิชาการแสนรู้จะต้องทำอะไร
“ยินดีทำตามทุกอย่างครับ พ่อเณร” พระโปฏฐิละตอบ
“ท่านอาจารย์ เห็นสระน้ำข้างหน้าไหม” “เห็นครับ”
“นิมนต์ท่านอาจารย์เดินลงไปยังสระน้ำนั้น ก้าวลงอย่างช้าๆ จนกว่าผมจะสั่งให้หยุด” อรหันต์น้อยสั่ง
พระเถระเดินลงสระน้ำอย่างว่าง่าย จนจีวรเปียกน้ำแล้วเดินลงไปตามลำดับ สามเณรน้อยเห็นพระเถระเอาจริง จึงสั่งให้หยุด ให้ขึ้นมา แล้วกล่าวสอนว่า “ท่านอาจารย์ ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง มีช่องอยู่ ๖ ช่อง เหี้ยตัวหนึ่งวิ่งเข้าวิ่งออกตามช่องทั้ง ๖ นั้นเสมอ บุคคลประสงค์จะจับเหี้ยตัวนั้น จึงอุดช่อง ๕ ช่อง เปิดไว้เพียงช่องเดียว คอยเฝ้าอยู่ใกล้ช่องนั้น เมื่อเหี้ยออกช่องอื่นไม่ได้ ก็ออกมาทางช่องนั้น เขาก็จับเหี้ยตัวนั้นได้ตามประสงค์ เรื่องมันก็เป็นเช่นนี้แหละ ท่านอาจารย์”
สามณรน้อยอรหันต์กล่าวเป็นปริศนาธรรม
พระเถระผู้พหูสูต ฟังแค่นี้ก็ “get” ทันที ท่านเข้าใจว่า ในกายของเรานี้มีอายตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันเป็นดุจ “ช่อง” ให้จิตเราเข้า-ออกๆ อยู่เสมอด้วยความเคยชิน เป็นที่ตั้งใจแห่งรัก โลภ โกรธ หลง ผูกพันไว้กับทุกข์ตลอดเวลา เมื่อต้องการบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจ ก็ต้องปิด “ช่อง” (ทวาร) ทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เปิดไว้ช่องเดียว คือ จิต คอยเฝ้าดูจิตตลอดเวลา บังคับให้มันอยู่กับที่เป็นสมาธินานๆ ไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อทำได้ดังนี้ก็จะสามารถทำจิตให้อยู่ในอำนาจได้ ไม่ตกเป็นทาสให้กิเลสตัณหามันเสือกไสไปตามปรารถนาของมัน
พูดให้สั้นก็คือ พระเถระนึกได้แล้ว จะพ้นทุกข์ต้องฝึกฝนจิตของตนด้วยการปฏิบัติกรรมฐานนั่นแหละ จึงเริ่มปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง แล้วก็ก้าวหน้าในการปฏิบัติไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงแผ่รัศมีไปตรงหน้าท่าน ขณะท่านนั่งสมาธิอยู่ ดังหนึ่งปรากฏพระวรกายตรงหน้า ตรัสคาถา (โศลก) สอนว่า “โยคา เว ชายเต ภูริ อโยคา ภูริสงฺขโย เอตํ เทวธาปถํ ญตฺวา ภวาย วิภวาย จ ตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ปญฺญา ปวฑฺฒติ - ปัญญาเกิดมีได้ เพราะตั้งใจพินิจ เสื่อมไป เพราะไม่ตั้งใจพินิจ เมื่อรู้ทางเจริญ และทางเสื่อมของปัญญาแล้ว ควรทำตนโดยวิถีทางปัญญาจะเจริญ”
พระดำรัสสั้นๆ นี้ กระจ่างแก่พระโปฏฐิละเป็นอย่างยิ่ง ในที่สุด ท่านก็ได้บรรลุพระอรหัต ถึงจุดหมายปลายทางแห่งชีวิตแล้ว
ผู้ที่คงแก่เรียนทั้งหลาย ถ้าไม่ได้น้อมเข้าสู่ภาคปฏิบัติ ก็เหมือนกับพระตุจฉะโปฐิละนี่แหละ เพราะความยินดีอย่างนี้ก็ยังเป็นกามยังตรึกในกาม แม้จะยกรูปสวยๆ รูปหล่อๆ ขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ก็ไม่กล้ายกขึ้น เสียงดีๆ เสียงเพราะๆ สู่พระไตรลักษณ์ ก็ไม่กล้า กลิ่นหอมๆ อาหารที่มีรสชาติอร่อย กายสัมผัสที่นุ่มนวล ก็ไม่กล้าพิจารณาสู่พระไตรลักษณ์ เมื่อเราไม่ได้ยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ บาปใหม่ก็ต้องเจริญงอกงามไปเรื่อยๆ ทุกคนไม่อยากแก้ไขตัวเอง จิตใจมันเลยผัดวันประกันพรุ่งว่า รู้แล้ว รู้แล้ว ขอโอกาสบริโภคกามบริโภคความหลงไปอีกก่อน ข้อนี้น่ะพระพุทธเจ้าท่านเป็นห่วงเรา แม้ท่านเสด็จดับขันปรินิพพานท่านยังบอกกับเราว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด
ปัจจุบันทุกคนต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ ต้องพากันรู้อริยสัจ ๔ รู้ทุกข์รู้เหตุเกิดทุกข์รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าถึงให้เราภาวนาวิปัสสนา พิจารณาร่างกายทุกชิ้นส่วนขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ การพิจารณาร่างกายสู่พระไตรลักษณ์ ทุกคนก็ไม่อยากพิจารณา เพราะพิจารณาแล้วมันก็ไม่สวยจริงมันก็ไม่งามจริง ถ้าเราไม่พิจารณาแยกชิ้นแยกส่วนสู่พระไตรลักษณ์ มันก็ไม่ได้นะ ผู้ที่บวชมาถึงมีภาคบังคับเลย ผู้ที่เป็นพระอุปัฌาย์ต้องบอกพระกรรมฐานคือให้สัทธิวิหาริกพิจารณาร่างกายออกเป็นชิ้นส่วน พิจารณาสู่พระไตรลักษณ์ ถ้าพิจารณาไม่ติดต่อต่อเนื่องมันก็ไม่ได้ผล พระพุทธเจ้าให้เราพิจารณาภาวนา พร้อมกับทำสมาธิสลับกันไป เพื่อสมองเรามันจะได้ไม่เครียด ให้ปัญญากับสมาธิไปพร้อมๆ กัน เราพิจารณากายแล้วแยกชิ้นส่วนสู่พระไตรลักษณ์ เราเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อสติปัฏฐานทั้ง ๔ จะได้เป็นทั้งความสงบเป็นทั้งปัญญา พิจารณาธาตุพิจารณาขันธ์ ถ้าพิจารณาพวกนี้น่ะมันจะสงบ เมื่อสงบแล้วมันไม่อยากพิจารณาต่อ ท่านบอกให้เราพักผ่อนในสมาธิสักหน่อย การภาวนาสู่พระไตรลักษณ์ส่วนใหญ่จะไม่อยากภาวนา จะพากันไปหยุดอยู่ที่อัปปนาสมาธิ ครูบาอาจารย์พระกรรมฐานที่ท่านปฏิบัติเข้มข้น ท่านก็พากันหลงในสมาธินี่แหละ พากันเอาสมาธิเป็นนิพพานกัน แม้แต่ศาสนาพราหมณ์ที่เป็นศาสนาบรรพบุรุษของพระพุทธเจ้าก็พากันหลงในสมาธินี่แหละ ใช้ชีวิตประจำวันของเราการเดินเหินนั่งนอนถ้าจะให้ดีให้เราอยู่กับขณิกสมาธิหรือว่าอุปจารสมาธิในอิริยาบถทั้ง ๔ เหล่านี้ ที่เราไม่ตรึกในกามไม่ตรึกในพยาบาท มีการหยุดจากกามมาเป็นความสงบ ถ้าเราเอาปัญญามาภาวนาวิปัสสนาพิจารณาสู่พระไตรลักษณ์ ใจของเราก็จะเข้าสู่วิจารณ์ การเจริญปัญญาร่วมกับความสงบ ใจของเราก็จะเป็นอุปจารสมาธิโดยธรรมชาติภายในตัว เป็นได้ทุกๆ อิริยาบถ
ถ้าเราเอาพระพุทธเจ้าเอาพระธรรมเอาพระอริยสงฆ์ เอาการงานภายนอกเป็นสมถะคือความสงบ แล้วเอาปัญญามาพิจารณาสิ่งที่เรากระทำอยู่นั้นเป็นพระไตรลักษณ์ พระพุทธเจ้าสอนว่าการปฏิบัติธรรมนั้นน่ะเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา ๓ อย่างรวมกันเป็นปัจจุบันธรรม ถ้าเราเอาตั้งแต่เดินจงกรมนั่งสมาธิ มันยังไม่เพียงพอ มันต้องเป็นชีวิตของเราทุกอย่างในการปฏิบัติธรรม และการทำงานการที่เราจะทำอะไรที่ได้รับความสำเร็จ มันต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจเข้าสู่การประพฤติการปฏิบัติ ต้องอาศัยความสงบมาหยุดตรึกในกามหยุดตรึกในพยาบาท ใจของเรามันก็สงบ ถ้าเราไม่หยุดตรึกในกามในพยาบาท ใจเราก็ไม่สงบ สงบอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นขณิกสมาธิ เมื่อสงบอย่างนี้น่ะ เราก็สามารถเอาใจที่สงบมาพิจารณากาย เพื่อให้เห็นสภาวะธรรมตามความเป็นจริง สมถะกับวิปัสสนามันต้องไปด้วยกัน มันถึงจะเป็นอุปจารสมาธิ ถ้าเราเอาความสงบเป็นนิพพาน เราก็ไปยินดีในสมาธิที่มันเป็นอัปปนาสมาธิเป็นต้น การทำสมาธิมันมีความสุข ส่วนใหญ่จึงไม่อยากพากันเจริญวิปัสสนา
ในชีวิตประจำวันของเราให้เกิดขณิสมาธิอุปจารสมาธิ ค่อยเจริญสมถะค่อยเจริญวิปัสสนา เราจะเอาแต่ความสงบเอาแต่สมาธิ ปัญญามันเกิดไม่ได้ เราค่อยเข้าสมาธิลึกๆ เป็นบางครั้งบางคราว วันหนึ่งเพียงครั้งเดียวคงจะเพียงพอ เพื่อสมองจะได้คลายเครียด การนั่งสมาธินี่ก็เป็นของง่าย เป็นของไม่ยาก ถ้าเราเข้าใจเรื่องสมาธิ เพราะสมาธินั้นเพียงพักผ่อนสมอง ใจของเราอยู่กับลมออก ใจของเราอยู่กับลมเข้า เราทำอย่างนี้ใจของเราก็เป็นสมาธิแล้ว ถ้าลมละเอียดใจเราก็อยู่กับตัวผู้รู้นะ ให้ใจของเรามาอยู่ที่ทรวงอก มันถึงจะไม่ง่วง หยุดพักผ่อนส่วนสมองน่ะ เราอย่าไปเข้าสมาธิมากเข้าสมาธิเยอะ เพราะมันจะไม่อยากเจริญวิปัสสนา มันชอบความสงบ มันจะไม่อยากพูดไม่อยากคุยไม่อยากสุงสิงกับใคร จะเอาแต่วิเวก จะให้ดีในชีวิตประจำวันต้องอยู่ในขณิกสมาธิอุปจารสมาธิ พัฒนาสมาธิกับปัญญาไปด้วยจะดี ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ไม่ปฏิบัติอย่างนี้มันก็ฟุ้งซ่าน
การทำสมาธินั้นมีหลายระดับ.... ระดับที่เราใช้ในชีวิตประจำวันของเรา ยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถทั้ง เขาเรียกว่าสมาธิระดับหนึ่ง ที่เราจะได้แยกแยะว่าอันไหนดีอันไหนชั่ว อันไหนผิดอันไหนถูก มันเป็นสมาธิระดับหนึ่ง
'สมาธิระดับกลาง' เราเอาไปใช้กับการทำงาน มีความสุขกับการทำงาน เสียสละกับการทำงาน ให้ใจเราอยู่กับการทำงาน ทำงานเพื่อการทำงาน ทำงานเพื่อเสียสละ ไม่มุ่งหวังเงินเดือน ไม่มุ่งหวังสิ่งตอบแทน ไม่มุ่งหวังคำว่าขอบคุณ เดี๋ยวทุกอย่างก็จะดีมีประโยชน์ ได้ทั้งการทั้งงาน ได้ทั้งเงินได้ทั้งสตางค์ ได้ทั้งคุณธรรม มันดีกว่าเราปล่อยจิตใจของเรา ให้มันโลภ มันโกรธ มันหลง เผาตัวเองให้มันทุกข์เปล่าๆ
'สมาธิชั้นสูง' หมายถึงเราตั้งใจทำสมาธิ เพื่อเสียสละ เพื่อปล่อย เพื่อวาง เป็นสมาธิที่ละเอียด ปล่อยวางทุกอย่าง ปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลงทั้งหลายทั้งปวง จิตใจเกิดปีติ เกิดสุข เกิดเอกัคคตา จิตใจเป็นหนึ่ง จิตใจเข้าฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ได้ตามระดับ เป็นสมาธิขั้นละเอียด
เรามีของดีอยู่กับเรา เราไม่เอามาใช้ประพฤติปฏิบัติ เอามาฝึก จนมันเก่ง จนมันชำนาญ เพื่อจะใช้การใช้งานให้ได้ดีๆ เพื่อจะได้ช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างสมบูรณ์ ทำประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee