แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๘๕ ภัย ๔ ประการนี้ที่เป็นอันตรายของพระภิกษุสามเณรทั้งผู้เข้ามาบวชใหม่รวมทั้งผู้ที่บวชเก่า
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ความดับทุกข์ของมนุษย์ของเรานี้มันอยู่ใกล้ๆนี่เองอยู่ที่เรามีสติ มีสัมปชัญญะ ไม่ได้อยู่ไกลเลย เราเพียงแต่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง และก็ปฏิบัติถูกต้อง มีสติ ในปัจจุบัน พระพุทธเจ้าสอนง่ายๆ อย่างนี้แหละ เพราะธรรมะมันมีมากมาย เหมือนใบไม้ในป่าไม้อย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ ณ ป่าไม้ประดู่ลาย เขตเมืองโกสัมพี ครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงใช้ฝ่าพระหัตถ์ถือเอาใบประดู่ลาย แล้วทรงตรัสถามพระภิกษุทั้งหลายว่า ใบประดู่ลายในฝ่าพระหัตถ์กับที่อยู่บนต้น อย่างไหนมีมากกว่ากัน พระภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลว่า ใบประดู่ลายที่อยู่บนต้นนั้นมีมากกว่า
พระพุทธองค์ทรงตรัสอธิบายว่า ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงหยั่งทราบด้วยพระปัญญาอันยิ่งนั้น มีมากกว่าธรรมที่พระองค์ทรงประกาศ เปรียบดังใบประดู่ลายที่อยู่บนต้นนั้น มีมากกว่าในฝ่าพระหัตถ์ แล้วพระพุทธองค์ทรงแสดงเหตุผลว่า เพราะเหตุใดจึงไม่ทรงแสดงธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งเปรียบดังใบประดู่ลายบนต้นนั่นก็เพราะธรรมเหล่านั้น ไม่ประกอบไปด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับทุกข์ ความสงบ ระงับ ความรู้ยิ่ง การตรัสรู้ และพระนิพพาน
พระเราเณรเรา ญาติโยมที่อยู่วัดและอยู่ทางบ้าน และท่านหลายคนน่ะ ตั้งใจบวชไม่สึกนะ บวชจนตายน่ะ เมื่อเราตั้งใจปฏิญาณอย่างนี้ ทำยังไงเราถึงเป็นพระแท้จริง จะได้เป็นที่พระหมดกิเลสสิ้นอาสวะ พระพุทธเจ้าท่านบอกเราสอนเราให้พากันประพฤติปฏิบัติ เพื่อมุ่งมรรคผลนิพพานอย่างเดียว อย่าได้พากันมาติดความสุขจากปัจจัย ๔ ลาภ ยศ สรรเสริญ เราต้องตัดจริงๆ เหมือนพระพุทธเจ้า พาเราละพ่อ ละแม่ ละลูก ละหลานเรากัน ทิ้งหมดทางด้านจิตด้านใจ ถ้าเรายังไม่ละไม่ปล่อยไม่วาง เราก็ไปไม่ได้ เพราะการปฏิบัติของเรามันเดินไปด้วยจิตใจ ดูตัวอย่างพระพุทธเจ้าของเราสมาทานนอนตามพื้นดิน สมาทานนอนตามโคนไม้ นุ่งห่มจีวรด้วยผ้าบังสุกุล เที่ยวภิกขาจารบิณฑบาต ชาวบ้านเขาถวายอะไรก็ฉันอันนั้น ฉันวันหนึ่งก็เพียงครั้งเดียว การที่มีประเพณีฉันเพลนี้ เป็นประเพณีที่อนุโลมเฉพาะภิกษุไข้และภิกษุเดินทางไกล ท่านไม่ให้ห่วงเรื่องฉันเรื่องอยู่เรื่องอ้วนเรื่องผอม ฉันพออยู่ได้เพื่อได้ทำความเพียร บวชมาแล้วก็ไม่มีใครคิดว่าจะสิกขาลาเพศ เรื่องเพศตรงกันข้ามนี่ให้ตัดอย่างเด็ดขาด ไม่มีคำว่าผู้หญิง ผู้ชายตัดให้หมดนะ ถ้าเราคิดว่ามีหญิงมีชาย จิตใจของเรามันก็แย่มาก จิตใจของนักบวชต้องตัดต้องละต้องวาง จิตใจถึงจะเป็นหนึ่งถึงจะเป็นเอกัคคตา
ความสุขในการฉันในการพักผ่อนนี่ตัดให้หมด ให้พิจารณาร่างกายของเรานี่ เอาผมออก ลอกเอาหนังออกหมด เอาเนื้อออก เพื่อจะได้ทำลายนิมิต ความคิดที่ว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นชายเป็นหญิงนี่ออก วิธีการของเราที่จะต้องปฏิบัติที่จะถอนรากถอนโคน ถอนสักกายทิฏฐิ ที่มันเข้าใจว่าตัวว่าตน เขาเป็นผู้ชายเขาเป็นผู้หญิง พระพุทธเจ้าให้เราพิจารณาสลับกันไปกับการทำสมาธิ เช่น ชั่วโมงหนึ่งน่ะเราอาจจะพิจารณาย้อนไปย้อนมาซัก ๑๐ นาที ๓๐ นาทีอย่างนี้ แล้วก็หยุดให้ใจของเราสงบเย็นไม่ต้องคิดอะไร ถ้าเราพิจารณามากเกินสมองเรามันจะเครียด ถ้าเราไม่คิดเลยไม่พิจารณาเลยปัญญาจะไม่เกิด ธรรมะจะไม่เกิดน่ะ มันจะได้แต่สมาธิอย่างเดียว เวลาออกจากสมาธิแล้วมันก็เป็นเหมือนคนไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย การประพฤติการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าให้เราทำสลับกันไปอย่างนี้เรื่อยๆ
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราคลุกคลีพูดมากคุยมาก เราพากันตั้งอกตั้งใจ พากันทำความเพียรกัน พื้นฐานของจิตใจของเราต้องเป็นคนมีศีล การรักษาศีลของเรามุ่งไปที่พระนิพพานน่ะ คือการละความเห็นแก่ตัว เพราะคนเรามันเห็นแก่ตัวมาก อยู่ด้วยการเบียดเบียนคนอื่น บริโภคคนอื่น ทำอาชีพต่างๆ น่ะ ตั้งแต่เด็กๆ จนถึงลาละสังขาร อยู่ด้วยการเบียดเบียน อยู่ด้วยการเอาเปรียบคนอื่น ไม่ว่าเรื่องบริโภค เรื่องต่างๆ นั้นเต็มไปด้วยการเบียดเบียนทั้งนั้น ท่านให้ถือศีลของพระอริยเจ้าของพระอรหันต์ตั้งแต่นี้จนตลอดชีวิต เราจะมีชีวิตด้วยการไม่เบียดเบียน ไม่ว่าเรื่องกินเรื่องใช้ เราต้องมีชีวิตด้วยการไม่เบียดเบียนเขา อยู่ก็บอกว่าไม่เบียดเบียน ท่านจึงตรัสว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่ทำบาปทั้งปวง
ถ้าเราเน้นที่ใจ เน้นที่เจตนาน่ะ เราจะรู้เลยว่าศีลของเราบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ คนเรามันปกปิดคนอื่นได้ มันหลอกคนอื่นได้แต่มันปกปิดตัวเองไม่ได้ หลอกตัวเองไม่ได้ การรักษาศีลของเรา ก็เพื่อให้ตัวเองกราบตัวเองได้ ไหว้ตัวเองได้ เพราะว่าตัวพระพุทธเจ้าที่แท้จริงนั่นคือศีล ศีลนั้นคือความบริสุทธิ์ผุดผ่อง คือ สถานที่ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง อาการที่มันไม่เห็นความสำคัญในศีลคืออาการของตัวของตนน่ะ นักปฏิบัติไม่ว่าพระไม่ว่าโยมบางทีมันประมาทไป เมื่อศีลมันไม่ดีน่ะ สมาธิที่มันเป็นธรรมชาติที่ไม่เข้าไม่ออก ที่เป็นพื้นฐานของสมาธิมันไม่เกิดน่ะ
ถ้าเราศีลดี สมาธิมันก็เกิดมีโดยธรรมชาติ สมาธิก็แปลว่าไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นจิตใจที่ว่างจากนิวรณ์ ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องน่ะ ศีล สมาธิ ปัญญา มันจะรวมกันเป็นหนึ่งไปตลอด เรามาบวช เรามาปฏิบัติ ถ้าเราไม่เอาจริงไม่เอาจัง เราไม่ตั้งใจ มันไม่ได้ผล ทำให้เราเสียเวลา ทำให้เราแก่ไปเปล่าๆ การมาบวชของเรานี่ไม่มีประโยชน์น่ะ ไม่ตรงเป้าหมายของพระพุทธเจ้าที่ท่านสั่งสอนสำหรับผู้ประพฤติพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่าทุกคนปฏิบัติได้หมด ไม่เลือกชาติไม่เลือกตระกูล ถ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติ โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ หรือไม่ว่างจากผู้หมดกิเลส พระนิพพานมันไม่ใช่เรื่องไกล สำหรับเราถ้าตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ท่านไม่ให้เราลูบๆ คลำๆ มันเป็นสีลัพพตปรามาส
สำหรับผู้ที่บวชระยะสั้นหรือญาติโยมที่พากันมาอยู่วัดถือศีล ครูบาอาจารย์ก็ให้ตั้งอกตั้งใจ ให้ทำเหมือนกันให้ปฏิบัติเหมือนกัน ให้มุ่งมรรคผลนิพพานเหมือนกัน อย่าไปคิดว่าอีกไม่นานเราจะสึกอยู่ หรืออีกไม่นานเราจะกลับบ้าน เมื่อเรามาอยู่วัดปฏิบัติธรรม เราต้องปฏิบัติให้เต็มที่ ทุกท่านทุกคนมีความอยากมีความต้องการแต่ไม่อยากปฏิบัติ มันจะเกิดประโยชน์อะไร เพราะการปฏิบัติของเรามันไปขอเอาไม่ได้ มันไปอ้อนวอนเอาไม่ได้ ทุกๆ คนแต่งตั้งเราไม่ได้ เราต้องปฏิบัติเอาเอง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ อย่างนี้ เมื่อบุคคลกำลังลงน้ำ พึงหวังได้ ภัย ๔ อย่างเป็นไฉน คือภัยเพราะคลื่น ภัยเพราะจระเข้ ภัยเพราะน้ำวน ภัยเพราะปลาร้าย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ อย่างนี้แล เมื่อบุคคลกำลังลงน้ำ พึงหวังได้ ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ อย่างนี้ก็ฉันนั้น เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยนี้ พึงหวังได้ ภัย ๔ อย่างเป็นไฉน คือ ภัยเพราะคลื่น ภัยเพราะจระเข้ ภัยเพราะน้ำวน ภัยเพราะปลาร้าย.
“กุลบุตรผู้บวชในพระธรรมวินัยนี้ มีเหตุให้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้ไม่ยั่งยืน ต้องลาสิกขาบทออกไป มี ๔ ประการคือ
๑. อูมิภัย ภัยอันเกิดจากคลื่น หมายถึง ผู้ที่เข้ามาบวชแล้วอดทนต่อคำสั่งสอนไม่ได้ เกิดความคับแค้นใจ เบื่อหน่ายต่อคำพร่ำสอน
ภิกษุสามเณร ผู้บวชใหม่ ต้องเป็นผู้มีความอดทน ไม่เบื่อหน่ายต่อคำสอนของอุปัชฌาย์อาจารย์ ไม่เกียจคร้านในการปฏิบัติกิจของสงฆ์ ปฏิบัติตามคำสอนของอุปัชฌาย์อาจารย์ ไม่เกียจคร้านในการปฏิบัติกิจของสงฆ์ เช่น บิณฑบาตตอนเช้า ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ทำความสะอาดบริเวณวัด ซึ่งเป็นกิจของภิกษุ สามเณร ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ทุกวัน และยังต้องปฏิบัติตามคำสอนของอุปัชฌาย์อาจารย์ เช่น ระวังกาย วาจา ใจ ไม่ประพฤติผิดศีลผิดธรรม เพื่อให้กายวาจา ใจ ของพระภิกษุสามเณร ผู้บวชใหม่มีความสะอาดบริสุทธิ์ และยังต้องศึกษาพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นคุณธรรมอันล้ำเลิศ ที่พระภิกษุ สามเณรผู้บวชใหม่จะต้องปฏิบัติให้คุณธรรมเกิดขึ้นกับตนเอง พยายามหมั่นสำรวจกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ว่ามีมากน้อยเพียงใด แล้วนำคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ละบทที่สมควรแก่ตน มาชำระกิเลสให้ลดลงและหมดสิ้นไป ถึงแม้จะมีอุปสรรคใดๆ ก็ตาม ก็จะต้องอดทนต่อสู้กับความเบื่อหน่าย ความเกียจคร้าน ต่อคำสอนของอุปัชฌาย์อาจารย์
ถ้าพระภิกษุ สามเณรใด ไม่ปฏิบัติกิจของสงฆ์ เช่นไม่ออกบิณฑบาต ไม่ทำวัตรเช้า ไม่ทำวัตรเย็น ไม่ทำความสะอาดบริเวณวัด ไม่ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่หาทางชำระกิเลสปล่อยให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำจิตใจ เป็นเหตุให้เกิดความเสื่อม ภิกษุ สามเณรใดปฏิบัติดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ จะหาความเจริญให้เกิดขึ้นแก่ตนเองไม่ได้เลย
๒. กุมภีลภัย ภัยอันเกิดจากจระเข้ หมายถึงผู้ที่เข้าบวชแล้ว แต่ยังเห็นแก่ปากแก่ท้อง เมื่อถูกจำกัดเกี่ยวกับการบริโภคจึงทนไม่ได้
ภิกษุ สามเณร ที่เห็นแก่ปากแก่ท้อง (เห็นแก่กิน) ทนความอดอยากไม่ได้ เช่นไปบิณฑบาตได้อาหารที่ถูกปากบ้าง ไม่ถูกปากบ้าง ได้มากบ้าง น้อยบ้าง ร้อนบ้าง เย็นบ้าง เค็มบ้าง จืดบ้าง ก็ต้องมีความอดทน มีสติปัญญาพิจารณาเห็นว่า การฉันอาหารนั้น ฉันเพื่อเลี้ยงธาตุ ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ)ให้มีชีวิตอยู่เพื่อปฏิบัติธรรมเท่านั้น ไม่ใช่ฉันเพราะความหลงในรสชาติของอาหาร ฉันเพื่อความสนุกสนาน ฉันเพื่อความสวยงาม ฉันเพื่อบำรุงร่างกายให้แข็งแรง ดังคำกล่าวที่ว่า “กินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน” ไม่ได้ฉันเพื่อเห็นแก่ปากแก่ท้อง ภิกษุ สามเณรใดปฏิบัติได้ดังนี้ ก็จะมีความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม
ภิกษุ สามเณรใดเป็นผู้เห็นแก่ปาก แก่ท้อง (เห็นแก่กิน) อาหารที่บิณฑบาตมาได้ ถ้าไม่ถูกปาก ถูกใจก็ไม่ฉัน ต้องเดือดร้อนญาติโยมไปจัดทำอาหาร หรือซื้อมาให้ใหม่ โดยไม่คำนึงถึงญาติโยมที่มีใจอันบริสุทธิ์ นำอาหารมาใส่บาตร เพื่อหวังจะได้บุญกุศล อานิสงส์กับตนเอง และผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ในเมื่อพระภิกษุสามเณรรับบิณฑบาตแล้ว ไม่ฉันเพราะไม่ชอบอาหารนั้น แล้วผู้ที่ใส่บาตรมาจะได้อะไรจากพระภิกษุสามเณรเหล่านั้น ภิกษุสามเณรเหล่านั้นขาดสติขาดปัญญาพิจารณาว่า การฉันอาหารนั้นฉันเพื่อเลี้ยงธาตุ ๔ ให้มีชีวิตอยู่ เพื่อประกอบกรรมดีต่างๆ จะฉันมากฉันน้อย อาหารจะดีหรือไม่ดี ก็เกิดความแก่ ความเจ็บ ความตายในที่สุด ฉะนั้นภิกษุ สามเณรที่เห็นแก่ปาก แก่ท้อง ทนความอดอยากไม่ได้ การปฏิบัติธรรมก็จะไม่ความเจริญก้าวหน้า
๓. อาวฏภัย ภัยคือวังวน หมายถึงผู้ที่เข้ามาบวชแล้วแต่ยังพะวง หลงอยู่ในกามสุข ตัดใจจากกามคุณไม่ได้
ภิกษุสามเณร ถ้ายังเพลิดเพลินระเริงหลงอยู่ในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นเหตุให้เกิดความทะยานอยาก ไม่รู้จักจบสิ้น เห็นแล้วอยากเห็นอีก ได้ยินแล้วอยากได้ยินอีก ได้กลิ่นหอมแล้วก็อยากได้กลิ่นหอมนั้นอีก ได้กินอาหารที่มีรสอร่อยแล้วก็อยากได้กินอีก สัมผัสใดที่พอใจแล้วก็อยากสัมผัสอีก เกิดความทุกข์ กระวนกระวายใจ กระสับกระส่ายเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ และยังมีความหลงในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน ไม่มีสมาธิในการเล่าเรียนหรือปฏิบัติธรรมเพื่อชำระกิเลส กลับปล่อยให้กิเลสเจริญงอกงาม
พระภิกษุสามเณรบางรูปก็ติดอยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ชิงดีชิงเด่น แย่งกันเป็นใหญ่ จึงไม่ประสบความสำเร็จในการบวช แม้แต่พระภิกษุ สามเณรที่บวชมานานหลายพรรษาแล้วก็ตาม ก็ยังมีอันตรายเหมือนพระบวชใหม่ ที่ลุ่มหลงมัวเมา ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ติดอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ดังที่เราได้อยู่มากมายในปัจจุบันนี้
ภิกษุสามเณรใด ที่ไม่เพลิดเพลินอยู่ในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และไม่ลุ่มหลงมัวเมาใน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มีสติปัญญาพิจารณาเห็นว่าสิ่งต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านี้ แม้กระทั่งตัวเรา เมื่อมีสติปัญญาเห็นดังนี้แล้ว ก็ตั้งใจมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมตามพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อชำระกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ ภิกษุสามเณรใดประพฤติปฏิบัติดังได้กล่าวมาแล้วนี้ ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองในการปฏิบัติธรรม เป็นเหตุให้ กาย วาจา ใจ สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากความชั่ว ภิกษุสามเณรเหล่านั้น ถือว่าเป็นผู้ที่มีความเจริญแก่ตน และประสบความสำเร็จในการบวช
๔. สุสุกาภัย ภัยคือฉลามร้าย หมายถึงผู้ที่เข้ามาบวชแล้ว แต่จิตใจยังผูกพันในสตรีเพศ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ หลงรักผู้หญิง”
ภิกษุสามเณรใด ยังมีความรักความใคร่กับผู้หญิงมาเกี่ยวข้องแล้ว จิตใจจะเศร้าหมองขุ่นมัว กระวนกระวาย กระสับกระส่าย ต้องการที่จะอยู่ใกล้กับคนที่ตนรัก อยากพูดอยากสัมผัส ลุ่มหลงอยู่ในลาภ อยากได้ทรัพย์สมบัติมากๆ มาให้หญิงที่ตนรัก อยากมียศถาบรรดาศักดิ์สูงๆ เพื่อให้หญิงคนรักภูมิใจในตนเอง เป็นเหตุให้ไม่สนใจในการศึกษาและปฏิบัติธรรม ตามพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นภิกษุ สามเณรที่ขาดศีล ขาดธรรม บางรูปนำหญิงมาเสพกามในวัดก็มี เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา เป็นเหตุให้พุทธศาสนิกชนเสื่อมศรัทธา เพราะเหตุที่ภิกษุ สามเณรมีความรักใคร่ในผู้หญิง ศึกษาหรือปฏิบัติธรรมก็ไม่มีความเจริญรุ่งเรือง เพราะจิตใจมีแต่ตัณหาราคะ นำความเดือดร้อนมาให้ตนเอง ผู้อื่น และพุทธศาสนา แม้แต่พระภิกษุสามเณร ที่บวชนานหลายพรรษาแล้ว ก็ยังมีพฤติกรรมดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ซึ่งเราพบเห็นมากมายที่เกิดขึ้นกับสังคมพระภิกษุสามเณรในปัจจุบัน
ภิกษุสามเณรใด ที่หวังความเจริญก้าวหน้าในการบวช มีสติปัญญาพิจารณาพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในข้อหนึ่งที่ว่า “อิตฺถี มลํ พฺรหฺมจริยสฺส สตรีเป็นมลทินของพรหมจรรย์” จึงต้องมีคุณธรรม คือมีหิริ โอตตัปปะ มีความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ไม่กล้าคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว นำศีลและธรรมมารักษากาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ ไม่ลุ่มหลงมัวเมารักใคร่ในหญิงใด เพราะรู้ว่าเป็นเหตุของการเกิดทุกข์ แม้บางครั้งจะมีความพอใจในหญิงใดอยู่บ้าง ด้วยการที่ได้ศึกษาและได้ปฏิบัติธรรมมาแล้ว จึงมีสติปัญญาพิจารณาเห็นว่า ในกายหญิงนั้นมีเพียงธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวตน และยังเห็นต่อไปอีกว่า หญิงที่เราเห็นว่าสวยงามนั้น แท้ที่จริงแล้วในร่างกายหญิงมีแต่สิ่งที่น่ารังเกียจ อีกไม่นานก็จะแก่ เหี่ยวย่น และตายเน่าเหม็นเป็นซากศพในที่สุด ภิกษุสามเณรใดประพฤติปฏิบัติได้ดังนี้แล้ว ก็จะเกิดความเจริญรุ่งเรือง ประสบความสำเร็จในการบวช
ทั้ง ๔ ประการนี้คือพุทธพจน์ที่ตรัสเกี่ยวกับอันตรายของภิกษุและสามเณรผู้เข้ามาบวชใหม่รวมทั้งผู้ที่บวชเก่า และทนต่อสู้กับภัย ๔ ประการนี้ไม่ได้ต้องลาสิกขาออกไป
ทุกท่านทุกคนต้องตัดสินใจนะปรับปรุงแก้ไขตนเอง เพราะความใจอ่อน ความใจอ่อนทำให้เราเสียอุดมการณ์ ทำให้เราเดินเป๋ หรือว่าหยุดเดิน ทุกท่านทุกคนต้องมาทดแทนคุณแผ่นดิน ทดแทนคุณพระศาสนา ทดแทนคุณพระมหากษัตริย์ที่ท่านเอาพระพุทธศาสนาเป็นการปกครองประเทศชาติบ้านเมือง คำว่า ประเทศไทยหรือว่าคนไทยน่ะ คือไม่ตกในอำนาจอวิชชา ไม่ตกในอำนาจความหลง สิ่งที่ถูกต้องอย่างนี้ได้ยินได้ฟังก็อย่าตกอกตกใจ ว่าเอาความชั่วมาตีแผ่เผยแผ่ เราอย่าไปคิดอย่างนั้น
พวกคฤหัสถ์พวกโยมนี้ก็ให้พากันรู้ว่ามรรคผลนิพพานนั้นมันไม่หมดสมัย มันได้ทั้งนักบวชได้ทั้งฆราวาส เราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้แหละ ทุกคนจึงจะมีสติสัมปชัญญะ จะมีความสุขความสงบร่มเย็นกัน เราจะได้อบรมบ่มอินทรีย์ไปเรื่อยๆ เหมือนกับเราปลูกต้นไม้นี่แหละ เราปลูกต้นเล็กๆ แล้วก็ให้น้ำให้ปุ๋ยไป ต้นไม้มันก็จะค่อยๆ โตไปเรื่อยๆ การอบรมบ่มอินทรีย์ การสร้างอริยมรรค ก็เป็นอย่างนั้น เราต้องทำติดต่อกันไปทุกๆ วัน อย่าไปขี้เกียจ อย่าไปขี้คร้าน อย่าไปเผลอ อย่าไปประมาท
ปัจจุบันเป็นสิ่งที่ทำได้ ให้เน้นการประพฤติการปฏิบัติในปัจจุบันให้เต็มที่ กิเลสมันเก่งอวิชชามันเก่ง มันเสี้ยมมันสอนเรา ถ้าเราไม่จับหลักให้ได้ดีๆ น่ะ เดินตามพระธรรมพระวินัยอย่างแท้จริง มันสู้กิเลส สู้อวิชชาไม่ได้น่ะ ใจของเรามันเคยชินกับเรื่องเก่าๆ มันชอบจะย้อนกลับไปที่เก่าบ้านเคยกินถิ่นที่อยู่ภพที่พักอาศัย มันอาลัยอาวรณ์
ให้เรารู้จักรู้แจ้งพยายามอย่าไปคิดถึงมัน อย่าไปตรึกถึงมัน ถ้ามันตรึกขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ พระพุทธเจ้าก็ให้เราเห็นโทษเห็นภัย อย่าไปตรึกไปนึกไปคิดกับมันอีก อย่าไปให้อาหารมัน ความตรึกความนึกความคิดมันผุดขึ้นมา เราก็อดไม่ได้ปรุงแต่งไปเรื่อยๆ อย่างนี้ มันก็สร้างปัญหาให้เราไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบวันสิ้น มันโผล่ขึ้นมาเหมือนกับเด็กคนหนึ่งที่มันอยากได้ของน่ะ มันขอของพ่อแม่ พ่อแม่ไม่ให้มันก็ชักดิ้นชักงอ มันงอกลิ้งแดดิ้นอยู่ตามพื้นน่ะ พ่อแม่ไม่ฉลาด พ่อแม่ไม่เก่ง พ่อแม่ใจอ่อนก็ให้สิ่งของกับมันตามความต้องการ จิตใจของเราก็เหมือนกัน มันตรึก มันนึก มันคิด มันโผล่ขึ้นเมื่อไหร่ เราก็ไม่อดไม่ทน เราก็ไปปรุงไปแต่งเสริมเติมต่อ ไม่ให้มีที่จบไม่มีสิ้น เมื่อเด็กมันได้ตามต้องการน่ะ วันหลังมันก็ทำอย่างนั้นอีก เมื่อผู้ใหญ่เข้มแข็ง ผู้ใหญ่ไม่ให้ เด็กมันก็ไม่ร้อง เด็กมันก็ไม่นอนกลิ้ง เพราะทำแล้วมันไม่ได้
นักประพฤติปฏิบัติ ต้องมีจิตใจที่หนักแน่นเข้มแข็ง ไม่ตรึก ไม่นึก ไม่คิดในสิ่งที่เป็นบาปเป็นอกุศล พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ตอนที่ท่านจะตรัสรู้ ความตรึก ความนึก ความคิดอย่างนี้นะ ข้ารู้จักเจ้าเสียแล้ว เจ้าจะมาทำบ้านทำเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป หมายถึงวัฏสงสารที่มันจะเกิดในจิตในใจของเรา ให้เรารู้มัน ให้เราตัดมัน ให้เราหยุดมัน ความเอร็ดอร่อย ความยินดีต่างๆ นะให้เราหยุดมัน พระพุทธเจ้าพาเราประพฤติปฏิบัติ พาเราเดินอย่างนี้ พาเราปฏิบัติอย่างนี้ ทางอื่นไม่มี เน้นที่จิตที่ใจ เน้นที่ตัวเราโดยเฉพาะ ตัดเรื่องภายนอกออกหมด มาเอาเรื่องภายใน
ถ้าเราจะปฏิบัติอย่างนี้ มันจะไม่เครียดจนเกินไปเหรอ เพราะเราไปจี้มันเกินไป บ้าจี้มันเกิน เคร่งเกินไหม ปฏิบัติธรรมนะมันไม่มีความเครียดหรอก ยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งสงบ ยิ่งใจเย็น ยิ่งไม่ฟุ้งซ่าน เพราะธรรมะมันเป็นความสงบ เป็นความเย็น ไม่มีทุกข์ไม่เครียด เป็นการปล่อยเป็นการวาง เปรียบเสมือนเราวิ่งมาจากไหน แล้วเราหยุดวิ่ง เปรียบเสมือนเราแบกของหนัก เราไม่เคยปล่อยเราไม่เคยวาง นี่เราวางเราก็ไม่หนักนะ
เรามาปล่อย เรามาวาง เรามาสงบ เราเอาใจมาเข้าถึงนิพพาน เรามาเข้าทางพระนิพพาน มันไม่เครียด มันไม่วุ่นวายเหมือนที่คิดเอา เรามาหยุดความเครียด เรามาหยุดความวุ่นวาย เพราะการเกิดทางร่างกายมันตั้งหลายสิบปีมันถึงตาย แต่การเกิดทางจิตใจวันหนึ่งตั้งหลายหน เกิดแล้วก็ตายๆ มันเผาเราตลอด นักปฏิบัตินะ ถ้าเราเดินตามรอยของพระพุทธเจ้าแล้ว เราไม่ต้องกลัวเราทุกข์ ไม่ต้องกลัวเรายาก ไม่ต้องกลัวเราลำบาก ไม่ต้องกลัวเราเครียด เพราะเราทำเพื่อหยุด เราทำเพื่อเย็น เราทำเพื่อปล่อย เราทำเพื่อวาง เราทำเพื่อไม่มีตัว เราทำเพื่อไม่มีตน เราทำเพื่อไม่เอา เพื่อไม่มี เพื่อไม่เป็น
เราทุกคนต้องมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ ทุกท่านทุกคนไม่มีใครมาประพฤติปฏิบัติให้เราได้ เราต้องพากันประพฤติปฏิบัติเอง ทุกเมื่อทุกเวลาทุกสถานที่ เพราะว่าทุกอย่างมันไม่ได้ไปแก้ที่คนอื่น มันแก้ที่เราทุกคน ทุกท่านทุกคนต้องพากันลบอดีตให้มันเป็นเลขศูนย์ให้ได้ เพราะว่าอดีตนั้นเราทำให้เหมือนพระอรหันต์ท่านไม่มีอดีตท่าน อยู่กับปัจจุบันนะทำเราต้องลบอดีตให้เป็นเลขศูนย์ให้ได้ เหมือนที่เราเกิดมามีพ่อมีแม่ พ่อแม่เราตาย เราไม่ต้องไปคิดถึง ถ้าคิดมันก็เป็นทุกข์ เราก็ต้องรู้จักความคิด เรารู้จักความคิดเราก็ต้องไม่คิด เราปล่อยเวลาให้มันผ่านไปหลายปีอย่างนี้ เราไม่คิด มันก็จะค่อยลืมไป ใจของเราอยู่ในปัจจุบันให้มันสมบูรณ์ อย่าให้อดีตมาปรุงได้ เพราะว่าทุกอย่างนั้นเหมือนเราเกี่ยวข้องกับของเหม็นของหอม มันก็ยอมติด เมื่อมันติดมันก็ต้องมีปัญญาต้องเสียสละ เราต้องบอกตัวเองว่า อนิจจังมันไม่แน่มันไม่เที่ยง มันต้องผ่านไป อนัตตามันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ถ้าเราไปติดมันก็เป็นทุกข์ สิ่งที่มันเป็นอดีตไปแล้ว เราต้องลบให้มันเป็นเลขศูนย์ เราอย่าไปคิดเราอย่าไปปรุงแต่ง ที่มันผ่านแล้วแล้วไปเรา ต้องมีสติสัมปชัญญะ อย่าให้อดีตมาปรุงแต่งเรา ให้มาเน้นที่ปัจจุบัน เรียกว่าลงรายละเอียดของอริยมรรคมีองค์ ๘ ปัจจุบันมันต้องดี ต้องละเอียด มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ ต้องลบอดีตให้ได้อนาคตก็เป็นปัจจุบันธรรม เหมือนที่พระพุทธเจ้าบอกว่า สิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงมี ถ้าสิ่งนี้เราไม่ให้มี เราก็จะหยุดคิดหยุดปรุงแต่งเสียสละไปเรียกว่า มรรค อินทรีย์บารมีของเราทุกคนก็จะแก่กล้าไป อย่าไปอาลัยอาวรณ์อย่าไปยินดีมัน เพราะว่าเราเกิดมาเพื่อจากไป เกิดมาเพื่อเสียสละ ต้องเอาทั้งศีลถึงสมาธิปัญญารวมเป็นหนึ่งเรียกว่าปัจจุบันธรรม
เราต้องมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ อย่าไปออมไม้ออมมือ อย่าไปขยักไว้ ต้องเสียสละ ต้องพัฒนาใจของเราให้มีความดับทุกข์ ทำอย่างนี้มันก็จะสมดุล เขาเรียกว่าการดำเนินชีวิตในชีวิตประจำวัน มันก็จะสมดุลเพราะว่ารายจ่ายเราไม่มี มีแต่รายรับ เรารับแต่สิ่งดีๆ รับก็คือรับแต่สิ่งที่ดีๆ เรียกว่า พุทธะผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ อย่าไปเอามันไว้ของไม่ดีอย่าไปเอามันไว้ เราต้องลาก่อนวัฏฏะสงสาร หยุดก่อนวัฏฏะสงสาร ต้องมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เรียกว่ามีพระพุทธเจ้ามีพระธรรมมีพระสงฆ์ในปัจจุบัน เราปฏิบัติง่ายเพราะว่าเราไปแก้ไขที่ตัวเอง มันไม่ได้แก้ไขที่คนอื่น เราจะได้ใช้ร่างกายที่เป็นมนุษย์ ทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ไม่เสียเวลา
ในโอกาสนี้ ถือว่าเป็นโอกาสสำคัญที่ทุกท่านทุกคน จะได้ฝึกจะได้ปฏิบัติขัดเกลากิเลสอาสวะของตัวเอง ไม่ว่าเราจะอยู่ในวัด หรือจะอยู่ในบ้านอยู่ที่ไหน ทุกคนก็ต้องปฏิบัติตัวเองทั้งหมด เราอยู่ที่ไหนเราก็แก่ เราก็เจ็บ เราก็ตายเหมือนกันหมด 'สัจธรรม' คือความจริงเค้าไม่ได้ยกเว้นใคร
ความสุขทุกคนมันเป็นสิ่งเสพติด ทุกคนมันชอบมันติดเราทุกคนจำเป็นต้องทำใจเฉยๆ น่ะ เดินหน้าประพฤติปฏิบัติธรรม คำว่า 'ติด' ทุกคนก็รู้แล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้ มันถึงติด จิตใจเราจำเป็นจะต้องเดินหน้าไป ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง อย่าไปเสียดงเสียดายอาลัยอาวรณ์มัน แข็งใจสู้มัน มีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ ถือว่าเราได้เดินตามรอยบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ไม่มีอะไรที่จะประเสริฐยิ่งกว่า จงดีใจจงภูมิใจในตัวเอง ในการประพฤติปฏิบัติของตัวเองว่าเราได้เดินทางมาดีแล้ว ถูกต้องแล้ว ชื่อว่า "สุคโต ปฏิบัติธรรมด้วยความสุข..."