แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๒๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๘๐ ศาสนาคือคำสอนใดที่ว่างจากอริยมรรคมีองค์ ๘ สมณะที่ ๑-๔ ย่อมไม่มีอยู่ในศาสนานั้น
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ทำไมสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ นั้น ถึงมีอยู่เฉพาะในอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะความรู้ความเข้าใจต้องคู่กับการประพฤติการปฏิบัติ การปฏิบัติมันต้องติดต่อต่อเนื่องกัน มันถึงจะไม่เป็นความรู้ความเข้าใจอย่างนักปรัชญา เพราะวาระจิตของเรามันคิดได้ทีละอย่าง ความรู้ของเรามันต้องติดต่อต่อเนื่องกับภาคปฏิบัติ เพราะความรู้นั้นคือความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง เข้าสู่ภาคปฏิบัติที่ถูกต้อง ที่ติดต่อต่อเนื่องกันเป็นสัมมาสมาธิ
เด็กที่เกิดมาที่เรียนหนังสือตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาตรีโทเอก เพราะความรู้กับการปฏิบัติมันไปอย่างติดต่อต่อเนื่อง ทางธรรมะก็ต้องติดต่อต่อเนื่อง ทางวัตถุก็ต้องติดต่อต่อเนื่อง
อย่างกรุงเทพฯเมื่อหลายสิบปีก่อนน่ะ เป็นเมืองที่สกปรกติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ ของโลก เมื่อพลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้ามาเป็นผู้ว่า กทม. เข้ามาจัดระบบโครงการกรุงเทพเมืองสะอาด เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ดูแลความสะอาด อย่างใครทิ้งขยะก็ปรับคนละ ๒,๐๐๐ บาทอย่างนี้ ภายในไม่กี่ปีก็ทำให้เปลี่ยนแปลงไป 'โครงการกรุงเทพเมืองสะอาด' ของ พล.ต.จำลอง ศรีอง" (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ. 2528-2533) ที่ทำให้กรุงเทพฯ ติดอันดับเมืองสะอาดน่าอยู่ของโลกได้นั้น ก็เป็นการขยายมาจากโครงการเดิมของ พล.ร.อ.เทียม มกรานนท์ ผู้ว่าฯ คนก่อนหน้านี้ ในแง่การทำงานนโยบายเรื่องความสะอาดป็นนโยบายในทุกแผนอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าผู้ว่าฯ แต่ละคนจะเสนอโครงการใดเพื่อรองรับและดำเนินการตามแผนนั้น เช่นเดียวกันกับนโยบายด้านความสะอาดในยุค พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ก็สอดคล้องกับแผนฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2525-2529 ) ที่มีเป้าหมายว่า "ให้มีการกวาดถนน ตรอก ซอยทุกสายในกรุงเทพ"
เราก็ดูตัวอย่างแบบอย่างในประเทศเรา ที่มีกฎหมายเกี่ยวกับการไม่สวมหมวกกันน็อค เราก็รู้อยู่ว่ามันไม่ดี ซึ่งพูดกันมาไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี ๓๐ ปี แต่ก็แก้ปัญหายังไม่ค่อยได้ เพราะความรู้ความเข้าใจยังไม่ได้เข้าสู่การประพฤติการปฏิบัติที่ติดต่อต่อเนื่อง แต่ละประเทศที่เขามีระเบียบภาพรวมของประเทศเขาที่สวมหมวกกันน็อคกัน ก็ใช้เวลา ๓ ปี ๔ ปี ๕ ปี ถึงจะได้ผล ที่สำคัญคือมันต้องมีการปฏิบัติที่ติดต่อต่อเนื่อง
อย่างประเทศที่เขาหยุดการโกงกินคอรัปชั่นอย่างนี้ เขาก็ต้องใช้เวลาหลายปี ถึงแก้ปัญหาได้ เพราะเห็นความสำคัญในเรื่องศีล ศีลนี้คือหยุดในการกระทำที่ไม่ดี ประพฤติตามตัวบทกฎหมาย ซึ่งมีการจัดอันดับประเทศที่ไม่มีการโกงกินคอรัปชั่นของโลกที่ปรากฏให้เห็นอยู่
ที่พระเรากุลบุตรลูกหลานของเราไปอยู่กับครูบาอาจารย์ที่ท่านถือพระวินัยเคร่งครัด ก็ต้องอาศัยเวลาติดต่อต่อเนื่อง พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าให้ถือนิสัยของพระพุทธเจ้า หรือว่าถือนิสัยของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ๕ ปีหรือ ๕ พรรษา ถ้าจิตใจยังอ่อนแออยู่ก็ต้องถือนิสัยของพระพุทธเจ้าตลอดชีวิต เพราะยังไม่เป็นอัตโนมัติ เรื่องการประพฤติการปฏิบัติข้อวัตรกิจวัตร ศีลทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องแก้ไขตัวเองโดยเฉพาะ ไม่ได้ไปแก้ไขคนอื่นเลย สมาธิก็คือเป็นเรื่องมาแก้ไขตนเองทั้งหมดเลย ปัญญาก็คือเรื่องมาแก้ไขตนเองทั้งหมด ทุกท่านจึงต้องมาเข้าใจเรื่องศีลเรื่องสมาธิเรื่องปัญญา สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ถึงอยู่ในความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ที่เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ เราจะเอาแต่เรื่องจิตเรื่องใจไปทิ้งทางวัตถุคือกายก็ไม่ได้ หรือจะเอาแต่วัตถุไปทิ้งเรื่องจิตเรื่องใจก็ไม่ได้ มันต้องไปพร้อมๆ กัน
สมณะ แปลว่า ผู้สงบ หมายถึงผู้สงบจากการทำบาป นอกจากเว้นการทำบาปทางวินัยหรือทางศีลแล้ว ยังเว้นจากบาปทางธรรมด้วย ยกตัวอย่างเช่น ทางศีลห้ามลักทรัพย์ ศีลจะขาดต่อเมื่อลักจริงๆ เพียงแต่คิดจะลักศีลยังไม่ขาด แต่ทางธรรมถือละเอียดไปกว่า แม้แต่คิดจะลัก จิตก็เป็นอกุศล ก็เสียธรรมะ สมณะกับบรรพชิตต่างกันตรงที่ว่า บรรพชิตถือเอาศีลเป็นขอบเขต ส่วนสมณะนั้นถือทั้งศีลและธรรมเป็นขอบเขต เพื่อความแน่ใจ ขอได้โปรดดูบาลีพุทธวจนะที่มาในธรรมบท ขุททก-นิกายว่า "น มุณฺฑเกน สมโณ อพฺพโต วลิกํ ภณํ อิจฉาโลภสมาปนฺโน สมโณ กึ ภวิสฺสติ" “คนเราไม่ใช่จะเป็นสมณะเพราะหัวโล้น คนที่ไม่มีวัตร มีแต่พูดพล่อยๆ มีความริษยากัน เป็นคนละโมบ จัดเป็นสมณะได้อย่างไร” และอีกบทหนึ่งว่า "โย จ สเมติ ปาปานิ อณุง ถูลานิ สพฺพโส สมิตตฺตา หิ ปาปานํ สมโณติ ปวุจฺจติ" “คนที่เราตถาคตเรียกว่าสมณะ จะต้องเป็นผู้ระงับการทำบาปน้อยใหญ่เสีย”
รวมความแล้วว่า เฉพาะคนที่สงบเท่านั้น ที่เรียกว่าสมณะและที่ว่าสงบนั้นหมายถึง สงบกาย สงบวาจา และสงบใจตนเอง
๑. สมณะต้องสงบกาย คือมีความสำรวม ไม่คะนอง ไม่มีกิริยาร้าย เช่น ทุบตี ชกต่อย ฆ่าฟัน สะพายดาบ พกมีดพกปืน เดินขบวน ยกพวกเข้าชิงดีชิงเด่น แย่งที่อยู่ที่ทำกินกัน อันเป็นกิริยาของคนไม่สงบ คนที่เป็นสมณะไม่ว่าจะเข้าที่ไหนจะอยู่ที่ไหน ย่อมจะไม่ทำความชอกช้ำแก่ใคร
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชมพระโมคคัลลานะในเรื่องนี้ว่า ท่านแม้จะมีฤทธิ์เดชมาก แต่ไม่ว่าจะไปที่ใดก็ไม่เคยทำความช้ำชอกแก่ตระกูลนั้นเลย จะบิณฑบาตรับของถวายอะไรก็ตาม ก็คอยดูว่าเขาจะเดือดร้อนไหม รับแต่พอประมาณ เปรียบเหมือนแมลงภู่บินเข้าสวน ดูดเกสรดอกไม้จนอิ่มหนำสำราญ แต่ไม่เคยทำความช้ำชอกให้แก่ดอกไม้เลย นอกจากนี้แล้วสมณะยังต้องคำนึงถึง สมณสารูป คือจะทำอะไรต้องให้ควรแก่สมณวิสัย
๒. สมณะต้องสงบวาจา คือ สงบปากสงบคำ ไม่เป็นคนปากร้าย ไม่นินทาว่าร้ายใคร ไม่ยุยงใส่ร้ายป้ายสีกัน จะเป็นระหว่างพระกับพระ หรือพระกับฆราวาสก็ตาม จะทำไปโดยอ้างคณะ อ้างนิกาย อ้างวัด อ้างพวกไม่ได้ทั้งนั้น มีแต่วาจาที่เป็นอรรถเป็นธรรม ไม่ใช่วาจาเหมือนคมหอกคมดาบ แม้การพูดให้คนอื่นกระดากขวยเขิน เช่น พูดจาเกาะแกะผู้หญิงเล่นสนุกๆ ก็ผิดสมณสารูป
๓. สมณะต้องสงบใจ คือทำใจให้หยุดนิ่งเป็นสุขอยู่ภายใน สงบจากบาปกรรม ตรึกนึกถึงธรรมเป็นอารมณ์ ไม่ใช่ทำเป็นสงบแต่เปลือกนอกเหมือนเสือเฒ่าจำศีล จิตใจของสมณะที่แท้ย่อมเต็มไปด้วยความเมตตากรุณา ไม่เป็นภัยต่อผู้ใด
การที่มีความสงบกาย วาจา ใจ ทั้ง ๓ ประการนี้ ส่งผลให้สมณะมีความสง่างามอยู่ในตัว มีคำอยู่ ๒ คำที่ใช้ชมความงามของคน คือถ้าชมชายหนุ่มหญิงสาวทั่วไปเราใช้คำว่า สวยงาม แต่ถ้าจะชมสมณะเราใช้คำว่า สง่างาม เป็นความงามที่สง่า และยังมีความสงบเสงี่ยมอยู่ในตัว ทั้งสง่างามและสงบเสงี่ยม แต่ไม่จ๋อง ไม่กระจอกงอกง่อย เพราะมีความเชื่อมั่นในคุณธรรมที่ตนเองปฏิบัติอยู่ มีความอิ่มเอิบอยู่ในธรรม เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงอานิสงส์ของการประพฤติดีปฏิบัติชอบ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแสดงไว้ในมหาปรินิพพานสูตร ถึง สมณะที่ ๑-๔ ดังนี้
ในวันสุดท้าย ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน สุภัททปริพาชก ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองกุสินารา ท่านได้ทราบข่าวว่า พระสมณโคดมพุทธเจ้าจักปรินิพพานในยามสุดท้ายของคืนนี้ แต่ท่านยังมีข้อสงสัยอยู่หลายประการ เพราะได้ยินได้ฟังคำของพวกปริพาชกผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็นอาจารย์และบุพพาจารย์ทั้งหลายพากันกล่าวว่า พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมอุบัติขึ้นในโลกเป็นบางครั้งบางคราว การบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นการยาก การได้ฟังพระสัทธรรมก็เป็นการยาก ท่านเกิดปริวิตกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจักปรินิพพานในยามสุดท้ายของคืนนี้แล้ว แต่ธรรมที่เราสงสัยนี้ ยังค้างคาใจของเราอยู่ เราก็มีความเชื่อมั่นในพระสมณโคดมพุทธเจ้าว่า พระองค์สามารถที่จะแสดงธรรมแก่เรา ทำให้เราขจัดความสงสัยในหัวข้อธรรมต่างๆเหล่านั้นได้
พอดำริเช่นนั้นแล้ว สุภัททปริพาชกจึงเข้าไปหาพระอานนท์ ที่ดงป่าไม้สาละของพวกมัลลกษัตริย์ เพื่อกล่าวถึงความตั้งใจของตน ที่จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทูลถามปัญหาที่ค้างคาใจ แต่ก็ถูกพระอานนท์กล่าวห้ามถึง ๓ครั้ง เพราะท่านเกรงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงลำบากพระวรกาย เนื่องจากพระพุทธองค์กำลังอาพาธ จึงไม่อยากให้ใครมารบกวน
พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงสดับคำเจรจาของพระอานนท์กับสุภัททปริพาชก ทรงทราบว่าปริพาชกเป็นผู้มีบุญ เมื่อหายสงสัยแล้วจะได้บรรลุธรรม ด้วยมหากรุณาอันหาประมาณมิได้ของพระพุทธองค์ จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า “อานนท์ อย่าห้ามสุภัททะเลย ให้สุภัททะเข้ามาหาเราเถิด สุภัททะจักถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งกับเรา เพื่อความรู้ยิ่ง มิใช่เพื่อความเบียดเบียนเรา อนึ่ง เมื่อเราถูกสุภัททะถามแล้ว จักพยากรณ์ข้อความนั้นแก่สุภัททะ เขาจักรู้แจ้งเห็นจริงข้อความนั้นได้โดยง่ายดาย เพราะขณะนี้อินทรีย์เขาแก่รอบแล้ว เป็นผู้ควรแก่การตรัสรู้ธรรม”
พอฟังพุทธดำรัส พระอานนท์จึงกล่าวกับสุภัททปริพาชกว่า “เชิญเถิดท่านสุภัททะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระมหากรุณา ประทานโอกาสให้ท่านถามปัญหาแล้ว” สุภัททปริพาชกปลื้มปีติอย่างยิ่ง จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบนมัสการด้วยความเคารพ แล้วกราบทูลถามความสงสัยที่มีอยู่ในใจว่า...
“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์เหล่าใด เป็นเจ้าหมู่ เป็นเจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมากต่างเข้าใจว่าเป็นคนดี คือ ปูรณกัสสปะ มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร นิครนถนาฏบุตร สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดตรัสรู้แล้วตามปฏิญญาของตน หรือทั้งหมดไม่ได้ตรัสรู้ หรือว่าบางพวกตรัสรู้ บางพวกไม่ได้ตรัสรู้ ข้าพระองค์อยากทราบความเป็นสมณะของเจ้าลัทธิเหล่านี้ ขอพระองค์โปรดให้ความกระจ่างด้วย”
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นว่า ปัญหานี้ไม่ควรพยากรณ์ เพราะจะเป็นไปเพื่อความไม่สงบใจ จึงได้ตรัสห้ามว่า “อย่าเลยสุภัททะ คำถามนี้หยุดไว้ก่อนเถิด เราจะแสดงธรรมแก่เธอ เธอจงตั้งใจฟังธรรมนั้นโดยเคารพ จงตั้งใจฟังให้ดีเถิด” สุภัททปริพาชก ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสว่า... “ดูก่อนสุภัททะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ หาไม่ได้ในธรรมวินัยใด แม้สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็หาไม่ได้ในธรรมวินัยนั้น
สุภัททะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยใด แม้สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ย่อมหาได้ในธรรมวินัยนั้น
สุภัททะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ ลัทธิ คือ คำสอนอื่นๆ ที่เว้นจากอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมว่างจากสมณะผู้รู้ สุภัททะ ภิกษุเหล่านี้ พึงอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย
ดูก่อนสุภัททะ ครั้งเมื่อเรามีวัย ๒๙พรรษา บวชแล้วแสวงหาอยู่ว่า อะไรเป็นกุศล ตั้งแต่เราบวชแล้วจนถึงบัดนี้นับได้ ๕๑ ปี แม้สมณะที่เป็นไปในส่วนแห่งธรรมที่เป็นเครื่องนำออกจากภพ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ไม่มีในภายนอกแต่พระธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็มิได้มี ลัทธิคำสอนอื่นว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกก็ไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย”
เมื่อจบพระธรรมเทศนา สุภัททปริพาชกเกิดดวงตาเห็นธรรม ความมืดในจิตใจได้ถูกขจัดให้หมดไปด้วยแสงแห่งธรรมของพระพุทธองค์ ความสงสัยที่มีมายาวนานก็หมดสิ้นไป และเกิดความศรัทธาเลื่อมใสอย่างท่วมท้น ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป จึงขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก แล้วกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระพุทธองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ประทานการบวชให้
ท่านพระสุภัททะได้บรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกไปอยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่ไม่ช้านานนัก ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้มีความต้องการ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี ท่านสุภัททะได้เป็นอรหันต์รูปหนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเป็นสักขิสาวกองค์สุดท้ายของพระผู้มีพระภาค ฯ
เราทุกคนต้องเดินทางด้วยตนเอง ด้วยภาพประพฤติภาคปฏิบัติ ที่พระพุทธเจ้าทรงเมตตากรุณาบำเพ็ญพระบารมีที่ได้มาบอกมาสอน วางหลักการ 45 ปี 45 พรรษา ทุกๆ คนอย่าไปทำตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึก มีผู้ถามว่าพระพุทธเจ้าตายแล้วได้เกิด หรือไม่ได้เกิด พระพุทธเจ้าบอกว่ามันไกลเกินให้เอาที่ปัจจุบัน เพราะคนเรานี้ต้องรู้ว่าเราเกิดมามาทำไม
ให้เราเข้าใจทุกท่านทุกคนไม่ว่าชาติไหนศาสนาไหน ต้องเข้าสู่ธรรมะเข้าสู่ความเป็นธรรมความยุติธรรม เพราะทุกคนนั้น เสียแต่ว่ามันหลงมันไปไม่ได้ มันวนอยู่ ดีใจเสียใจสุขทุกข์เป็นได้แต่คน เราทุกคนต้องมีสติสัมปชัญญะกัน เราต้องตั้งมั่นด้วยความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องและปฏิบัติถูกต้องเอาปัจจุบันให้ดี เราให้อาหารกายและเราต้องให้อาหารใจ ด้วยภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราต้องก้าวไปอย่างนี้ ทุกคนน่ะแต่ก่อนยังไม่เป็นผู้เที่ยงแท้แน่นอนในธรรม เป็นผู้ที่ลังเลสงสัย เป็นผู้ที่เอาตัวตนเป็นที่ตั้งไม่เสียสละ ต้องละตัวละโตนออกไปเราจะได้ไม่ต้องสงสัย ว่าเราจะปฏิบัติอย่างไร เกิดมาเพื่อหยุดวัฏสงสารหรือมาทำที่สุดแห่งความดับทุกข์ เพราะว่าข้าวปลาอาหารหรือว่าที่อยู่ที่อาศัยยารักษาโรค ที่หมู่มวลมนุษย์ สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คือเราเกิดมาแล้วเราต้องเลี้ยงดูร่างกายเลี้ยงพ่อแม่เลี้ยงดูญาติพี่น้อง วงศ์ตระกูล ดูแลประเทศ ดูแลพระศาสนา เพื่อความมั่นคงของทางร่างกาย แล้วก็เข้าสู่ทางจิตใจเรื่องจิตเรื่องใจนี้แหละ
เราต้องรู้จักจัดการตัวเองในปัจจุบัน ถ้าใครไม่จัดการตัวเองในปัจจุบัน เราจะเป็นคนไม่ทันสมัย ไม่ทันการไม่ทันเวลา เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่มีล้าสมัย ต้องก้าวไปในปัจจุบัน นี้เป็นเรื่องจิตใจเรื่องสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องการปฏิบัติถูกต้อง ไม่เหมือนการเรียนการศึกษาในหนังสือไม่เหมือนการเรียนการศึกษาในหนังสือ ตั้งหลายสิบปีความรู้ก็ระดับหนึ่ง ปัจจุบันก็ระดับหนึ่ง มันไม่เข้าถึงปัจจุบันธรรม คนเรามันต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ก้าวไปอย่างนี้ หมู่มวลมนุษย์ของเรามันถึงจะได้มีความสว่างด้วยสัมมาทิฏฐิ มีความสว่างด้วยความประพฤติความปฏิบัติ ต้องเห็นคุณค่า ทุกคนทุกท่านต้องพากันประพฤติปฏิบัติเต็มที่ อย่าทำตามที่ตัวเองเวียนวายตายเกิด มันเอาตัวตนเป็นที่ตั้งมันเอาความหลงเป็นที่ตั้ง มันไม่ใช่แล้ว เราต้องมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ เรามีฉันทะมีความพอใจ เราต้อง fighting กับตัวเองจัดการกับตัวเอง ต้องมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ เราทุกคนผู้ที่เป็นพ่อเป็นแม่ถึงเป็นตัวอย่างให้ลูกหลาน รักษาศีล 5 ร้อยเปอร์เซ็นต์ แม่ชีก็ศีล 8 100% สามเณรก็รักษาศีล 10 100% พระก็ 227 ภิกษุณีก็ 311 ที่มาในปาฏิโมกข์น่ะ แต่ที่มาในพระวินัยปิฎก 21,000 พระธรรมขันธ์ มันเน้นไปทางเรื่องจิตเรื่องใจ มนุษย์ต้องพัฒนา ๒ อย่าง พัฒนาเทคโนโลยีพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน เน้นที่ปัจจุบัน
เราทุกคนต้องเอาอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เราไม่ต้องไปลังเลสงสัยเราไม่ต้องสงสัย ถ้าเรามีการประพฤติการปฏิบัติมันจะก้าวไปเอง เหมือนปัจจุบันที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ใบไม้ในป่าไม้กับใบไม้ในกำมืออันไหนมากกว่ากัน เขาบอกว่าใบไม้ในป่า แต่ทุกอย่างก็คือใบไม้ ปัจจุบันคือสิ่งที่ดับทุกข์ของตัวเอง จะทำตามใจตัวเองทำอารมณ์ตัวเองทำตามความรู้สึก เรียกว่าไสยศาสตร์ เราอย่าไปหลงเราอย่าไปเซ่อเราอย่าไปเบลอ ส่วนใหญ่น่ะมันเซ่อมันเบลอมันงง เพราะมันไม่เน้นเข้าหาธรรม ไม่เข้าหาปัจจุบันธรรม ไม่เน้นเสียสละ ทำอะไรมันก็เก้อมันเขิน ทำอะไรก็ไม่ทันการไม่ทันเวลาอย่างนี้แหละ เราต้องรู้จักว่า เรามีชาติมีศาสนา มีพระมหากษัตริย์ คือธรรมราชาเอาธรรมะเป็นหลักเอาธรรมะเป็นใหญ่
เราจะได้เข้าใจ เราทุกท่านทุกคนเคลียร์ตัวเองปฏิบัติตัวเอง เรานี้แหละคือการทำที่สุดแห่งทุกข์ไม่ใช่แค่ปลายเหตุ เราพากันร่ำพากันรวย พากันมีบ้านมีรถ มีเครื่องบิน คิดได้เก่ง วางแผนได้เก่ง อันนี้มันก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาปลายเหตุ เขาเรียกว่ามีความสุข ความสะดวก ความสบาย ในเมื่อเรามีลมหายใจเท่านั้นแหละ นี่คือการตายทางร่างกาย แต่จิตใจเรายังไม่ตายนะ หรือว่าการเวียนว่ายตายเกิดเป็นเรื่องอวิชชาเรื่องความหลง เราต้องรู้จักภาษากายภาษาธรรม มันต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้
ทุกท่านทุกคนต้องมีความดับทุกข์อย่างนี้ อย่าไปเซ่ออย่าไปเบลอตามสิ่งแวดล้อม แต่ก่อนน่ะเพราะเรายังไม่ชัดเจน ปัจจุบันเราไม่ชัดเจน เราลูบคลำในศีลในข้อวัตรข้อปฏิบัติ ไม่รู้ว่าเราเกิดมาทำไมมีการเรียนการศึกษาทำไม ยังมีความสุขความดับทุกข์ที่แท้จริง ที่เรามีการเรียนการศึกษามีการประพฤติการปฏิบัติ มีการพัฒนาเทคโนโลยีมีการพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน คือที่สุดแห่งการดับทุกข์ ต้องเสียสละให้เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรมเลื่อนไป ทุกท่านทั้งหลายมองกรรมไม่รู้จัก พระพุทธเจ้ามองรู้จัก พระพุทธเจ้าน่ะรู้เรื่องอดีตหลายล้านหลายหมื่นหลายแสนหลายล้านชาติ ในอนาคตรู้หมดว่าจะเป็นยังไง เพราะว่าพวกเรามองไม่เห็นน่ะ
ธรรมวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ถึงเป็นสิ่งที่ประเสริฐมาก เป็นสิ่งที่นำทุกคนออกจากตัวตัดสงสาร ให้ทุกคนพากันเข้าใจ อย่าคิดว่าการบัญญัติพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ เพื่อจะให้ร้อยกรองให้เป็นระเบียบเรียบร้อย มันไม่ใช่อย่างนั้น มันฉลาดกว่านั้นนั้น เพื่อนำใจให้หยุดกรรมหยุดเวรหยุดภัย ต้องอาศัยมรรค มรรคคือข้อวัตรข้อปฏิบัติ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงจะมี เราก็ดูว่าเราเมืองเราประเทศเราทุกประเทศ มันนำความเสียหายเสียทรัพยากรของมนุษย์ เสียทรัพยากรที่เราพากันค้นคว้าตามหลักเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ เราไปทิ้งความถูกต้องความเป็นธรรมความยุติธรรม เราเอาแต่ตัวแต่ตนน่ะ อย่างนี้มันเสียหาย เราน่ะเจ็บปวดเป็นมนุษย์ก็ไม่ได้เป็นได้แต่เพียงคน เป็นตำรวจทหาร ข้าราชการ เป็นคุณครู เป็นพ่อเป็นแม่ มันไม่ได้เป็นอะไรอ่ะมันเป็นแบรนด์เนมเฉยๆ เราต้องรู้ว่าเราต้องเข้าสู่การประพฤติการปฏิบัติทางกายก็ยังไม่พอ คำพูดกริยามารยาทต้องเข้าถึงจิตถึงใจ ต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติอย่างนี้ อย่าถือว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก มันไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก อันนี้คนมันเห็นแก่ตัวมันจะว่างจากสิ่งที่ไม่มีอยู่ คืออันไหนตามใจเขาเรียกว่าว่างจากสิ่งที่ไม่มี อย่างว่าพวกนี้ก็ได้แค่สมาธิ ไม่ใช่เรื่องดับทุกข์ไม่ใช่ที่สุดแห่งทุกข์ ไม่ใช่ปัญญาที่เราต้องมารู้จักเขาสู่ความประพฤติภาคปฏิบัติ…
การประพฤติการปฏิบัติใหม่ๆ มันก็เครียดบ้างเป็นธรรมดา ถ้าเราทำติดต่อต่อเนื่องกัน มันก็หายเครียด มันจะเป็นธรรมชาติมันจะเป็นอัตโนมัติ เราจะไปเอาแต่ความรู้สึกเอาแต่ตัวแต่ตนไม่ได้ ต้องปรับตัวเข้าหาธรรมะเข้าหาเวลา เข้าหาพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ เพราะศีลสมาธิปัญญาเป็นสิ่งที่จัดการตนเองแก้ไขตนเอง ถ้าเราแก้ไขตัวเองอย่างนี้ ปัญหาต่างๆ มันถึงจะหมดไปได้
ความสุข ความดับทุกข์ของเราทุกคนอยู่ที่ใจสงบ ไม่ว่าเราจะเป็นคนรวย เป็นคนจน เป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่แข็งแรง ความสุขความดับทุกข์มันอยู่ที่ใจสงบ พระพุทธเจ้าท่านถึงได้มีเมตตาสอนเราให้พากันมีสติ มีสัมปชัญญะให้พากันฝึกปล่อยฝึกวางในเรื่องความยึดมั่นถือมั่น
ที่มันเป็นอดีต... 'อดีต' คือกรรมเก่าที่พวกเราพากันยึดถือ ถ้าเราไม่ฝึกปล่อย ไม่ฝึกวาง มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยสนับสนุนกรรมใหม่ไปเรื่อยๆ สิ่งที่เป็นอดีตที่ผ่านไปแล้ว ที่มันเป็นสิ่งที่ดี...ไม่ดี พระพุทธเจ้าให้เราปล่อยวางให้หมด พยายามมีสติ มีสัมปชัญญะ พยายามทำใจของเราไม่ให้มีทุกข์ ทำใจให้เบิกบาน ผิดก็เป็นครู ถูกก็เป็นครู สิ่งที่แล้วก็แล้วไป พยายามใหม่ ตั้งใจใหม่ มาตั้งมั่นในพระรัตนตรัย ตั้งมั่นในความดี สมาทานความดี เป็นผู้ที่มีความละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป มีความอด มีความทน ถ้าเราเชื่อตัวเราเอง เชื่อใจของเราเองนั้นไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านให้เราเอาศีลเอาธรรมเป็นหลัก
เรารู้ เราเห็น เราเข้าใจนั้น มันยังใช้ไม่ได้ เราต้องเอาความรู้ความเห็นมาประพฤติปฏิบัติ ทุกท่านทุกคนนั้นต้องปฏิบัติ...มันถึงจะเป็นเหมือนเขาจะเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญ เป็นผู้ที่ชำนาญ ผู้ที่เป็นหมอก็ไปเรียนทางด้านเป็นหมอ ผู้ที่เป็นวิศวกรก็ไปเรียนวิศวกร ผู้ที่เป็นเกษตรกรรมก็ไปเป็นเกษตรกรรม ผู้ที่ค้าขายก็ต้องเรียนรู้ในสิ่งที่ค้าขาย บุคคลผู้นั้นถึงจะเป็น ถึงจะเชี่ยวชาญ เราทุกคนก็เหมือนกันที่ได้มรรคผลพระนิพพานก็ต้องเรียนรู้ต้องเข้าใจและประพฤติปฏิบัติ อบรมบ่มอินทรีย์ไปเรื่อยๆ
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี" เรื่องจิต เรื่องใจ เรื่องคุณธรรมนั้น ไม่มีใครมาแต่งตั้งให้เราได้ นอกจากประพฤติปฏิบัติของเราเอง เขาแต่งตั้งให้เราเป็นพระเป็นเณร เป็นแม่ชี มันก็เป็นแต่เพียงภายนอก ให้ทุกท่านทุกคนให้เข้าใจดีๆ ว่า เราทุกคนต้องประพฤติปฏิบัติเอง หายใจเข้าออกเอง พักผ่อน รับประทานอาหารเอง ที่พึ่งแท้จริงของเรา ก็คือศีล คือสมาธิ คือสติสัมปชัญญะ คือปัญญานี่เอง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee