แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๒๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๗๙ ใบไม้กำมือเดียว เรียนพระพุทธศาสนา ต้องเรียนเพื่อดับทุกข์
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การเรียนการศึกษาเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรามีสติมีปัญญารู้ทุกข์รู้เหตุเกิดทุกข์รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ การศึกษานั้นมันเป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐินั่นคือความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องว่า ทุกอย่างคือเหตุคือปัจจัยไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เพราะทุกอย่างนั้นไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัวตนมันเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ติดต่อต่อเนื่องเป็นปฏิจจสมุปบาท เรามีความเห็นถูกต้องเราปฏิบัติถูกต้อง ความเห็นความเข้าใจพร้อมทั้งการประพฤติการปฏิบัติก็จะเข้าถึงความดับทุกข์ ความดับทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราถึงต้องพัฒนาทั้งทางวัตถุพัฒนาทั้งทางใจไปพร้อมๆ กัน
ผู้ที่เป็นฆราวาสก็ต้องพัฒนาทั้งทางวัตถุพัฒนาทั้งทางใจไปพร้อมๆ กัน ไม่อาจแยกกันได้ ๒ อย่างนี้มันถึงจะเข้าถึงความดับทุกข์ได้ การเรียนการศึกษากับการปฏิบัติมันถึงจะก้าวไปพร้อมๆ กัน เป็นทางสายกลาง การเรียนการศึกษาจะได้ไม่เป็นนิติบุคคลไม่เป็นตัวไม่เป็นตน มันจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยเป็นสัมมาทิฏฐิ การเรียนการศึกษาจะได้ไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ การเรียนการศึกษาจะได้ไม่เป็นไปเพื่อประกอบทุกข์ จะได้เป็นไปเพื่อทำที่สุดแห่งความดับทุกข์
ผู้ที่พากันบรรพชาอุปสมบทที่เป็นพระภิกษุสามเณรเป็นแม่ชี ก็ต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องแล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง หยุดเสียซึ่งนิติบุคคลซึ่งตัวซึ่งตน ไม่มีตัวไม่มีตน มีแต่กระบวนการแห่งความดับทุกข์ ที่เรียกว่าพระธรรมพระวินัย ผู้ที่มาบวชถึงเรียกว่าพระ มาบวชเป็นพระไม่มีตัวไม่มีตนแล้ว เป็นพระธรรมเป็นพระวินัย ยกเลิกความมีตัวมีตน ผู้ที่มาบวชถึงได้รับสิทธิพิเศษจากคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน ได้รับสิทธิพิเศษบ้านก็ไม่ต้องเช่าข้าวก็ไม่ต้องซื้อ เขาเอาปัจจัย ๔ มาถวายมากราบมาไหว้ เพราะท่านไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ท่านคือพระ เป็นพระคือผู้ที่ไม่ใช่นิติบุคคลไม่มีตัวไม่มีตน ถึงเป็นพระ ความเป็นพระนั้นก็ด้วยเหตุด้วยปัจจัย พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าใจของเรานี้มันคิดได้ทีละอย่าง ไม่ตรึกในกามไม่ตรึกในพยาบาท ถ้าเราตรึกในกามในพยาบาท มันยังเป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตนอยู่ ต้องหยุดตรึกในกามในพยาบาท ปฏิบัติอย่างนี้ให้ติดต่อต่อเนื่องเหมือนสายน้ำ เพื่อมันจะได้เป็นแม่น้ำ เพื่อมันจะได้เป็นทะเล เพื่อมันจะได้เป็นมหาสมุทร ทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้เรียกว่าสัมมาสมาธิ มีความตั้งใจมั่นชอบ อย่าพากันไปตรึกในกามตรึกในพยาบาท การหยุดตรึกในกามในพยาบาทนั้นเป็นศีล ศีลนี้คือความหยุด ภาษาอังกฤษเรียกว่า Stop ภาษาไทยเรียกว่าหยุด ยกเลิก หยุดผลิต หยุดโรงงาน หยุดก่อ หยุดสร้าง ใจก็หยุดวาจาก็หยุดกายก็หยุด ทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ไม่เอาความหลง เอาแต่พุทธะ เป็นพระต้องพากันทำอย่างนี้ ถึงจะพากันเป็นพระได้ ถ้าไปทำอย่างอื่นน่ะมันไม่ถูก มันไม่ถูกก็คือมันไม่ถูก ถ้ามันยังเป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตน มีแต่เป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์
ผู้ที่ยังไม่เข้าใจมีความสงสัยอยู่ มีคำถามว่าเป็น พระต้องพัฒนาทางวัตถุด้วยเหรอ เป็นพระต้องพัฒนาทั้งใจต้องพัฒนาทางวัตถุไปพร้อมๆ กัน ให้ทุกๆ คนพากันเข้าใจ ร่างกายนี้ของเราคือวัตถุที่เป็นธาตุทั้ง ๔ มันคือวัตถุ เราต้องเอาวัตถุนั้นปฏิบัติให้มันถูกต้อง ถ้าเราเอาวัตถุไปเป็นตัวเป็นตัว มันก็ไม่ถูกต้องเพราะวัตถุนั้นมันเป็นเหตุเป็นปัจจัยเป็นกระบวนการ เราจะเอากายของเราไปทำผิดไม่ได้ หัวเราสมองเรามันก็คือวัตถุ ถ้าเรามีความคิดผิดเข้าใจผิดเราก็ปฏิบัติผิด เราก็หัวของเราเอาสมองของเราไปใช้ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราไปใช้ไม่ถูกต้องก็เป็นไปเพื่อประกอบทุกข์ อยู่ดีๆ ก็หาเรื่องให้เราต้องปวดหัว มันไม่มีทุกข์ก็หาเรื่องให้ตัวเองทุกข์ เพราะเอาแต่วัตถุ
อย่างมนุษย์เราทุกคนวันหนึ่งคืนหนึ่งมันต้องนอนพักผ่อน ๖ ชั่วโมงถึง ๘ ชั่วโมง สำหรับฆราวาสเราก็เอากายของเรานี้ไปใช้งานมากเกินไป ด้วยการไม่มีความสุขในการทำงาน คนเราถึงต้องมีความสุขในการทำงาน แต่เพราะมีความคิดเห็นผิดเข้าใจผิดเลยเอาตัวเอาตนเป็นที่ตั้ง เรามีความคิดเห็นว่าเราเรียนหนังสือเพราะความจำเป็น เราทำงานเพราะความจำเป็น เราเลยไม่มีความสุขในการทำงาน ถึงเวลานอนก็พากันหลับไม่ลง สมองไม่ได้ปล่อยไม่ได้วาง สมองสำหรับฆราวาสมันต้องนอนพักผ่อนมันต้องปล่อยต้องวางอย่างน้อย ๖ ชั่วโมงอย่างมาก ๘ ชั่วโมงอย่างนี้นะ
ผู้ที่มาบวชเป็นพระก็ให้พากันเข้าใจ ร่างกายของเรามันคือวัตถุ เราเอากายของเราไปตรึกในกามในพยาบาท แสดงว่าเราได้พากันทำความผิด เราได้พัฒนาวัตถุกันไม่ถูกต้อง ถ้าไม่มีวัตถุใจมันจะอยู่ได้ยังไง คนตายมันตายแล้ว ใจมันก็อยู่ไม่ได้ เพราะใจมันต้องอยู่กับวัตถุ กายนั้นคือวัตถุต้องปฏิบัติวัตถุให้มันถูกต้อง โดยการไม่ตรึกในการในพยาบาท ไม่เอากายนี้ไปฉันอะไรไปทานอะไรที่มันเบียดเบียนคนอื่นเบียดเบียนสัตว์อื่น พระพุทธเจ้าท่านถึงบอกว่าให้รู้จักต้องมีพุทธะ อย่าเอาความหลงเป็นที่ตั้ง รู้จักโภชเน มัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการบริโภค อย่าเอาความอร่อยอย่าเอาความหลงเป็นที่ตั้ง ปฏิบัติต่อวัตถุให้ถูกต้อง อย่าเอาปากที่ใช้เปล่งวาจานี้ไปใช้ไม่ถูกต้อง เช่นไปด่าไปนินทาไปโกหกหลอกลวง มันเป็นการปฏิบัติวัตถุที่ไม่ถูกต้อง เพราะนี้มันคือเรื่องวัตถุ มันเป็นเรื่องของปาก ที่พวกเราพากันปากติดระเบิดติดอาก้า เป็นการที่ไม่มีสัมมาวาจานี้ เรียกว่าปฏิบัติกับวัตถุกับร่างกายไม่ถูกต้อง
พวกพระให้พากันเข้าใจ เราเป็นพระเราต้องพากันใช้ร่างกายให้ถูกต้อง ถ้าเราไม่เข้าใจ เราจะพากันไม่รู้การประพฤติการปฏิบัติ ปล่อยให้ตัวเองตรึกในกามตรึกในพยาบาท ที่ทำให้เราที่ทำให้เราใช้ร่างกายที่มันเป็นวัตถุไม่ถูกต้อง เป็นพระต้องพัฒนาวัตถุเหมือนกัน กายนี้มันเป็นเรื่องวัตถุ เราต้องปฏิบัติให้มันถูกต้อง เราอย่าได้เอาวัตถุมาเป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตน
พระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก ที่เรามาสวดในภิกขุปาฏิโมกข์ทุกๆ กึ่ง เดือน ๒๒๗ ข้อนี้ เป็นเรื่องทางกายนี้เป็นเรื่องทางวัตถุ ให้เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ส่วนนี้มันเป็นส่วนวัตถุ ผู้ที่มาบวชให้พากันเข้าใจ ถ้าเราไม่เข้าใจก็จะไม่รู้เรื่องศาสนา ถ้าไม่เข้าใจเรื่องศาสนาเรา ก็จะพากันทิ้งศีลทิ้งพระวินัยกัน การทิ้งศีลทิ้งเพราะวินัยมันเป็นการปฏิบัติต่อวัตถุไม่ถูกต้อง เพราะการปฏิบัติต่อวัตถุที่ติดต่อต่อเนื่องโดยสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มันจะได้เป็นสัมมาสมาธิ ที่ติดต่อต่อเนื่องเป็นสายน้ำ จะได้เป็นศาสนาพุทธ ไม่ได้เป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตน
การเรียนการศึกษาจึงคู่กับการปฏิบัติ ความเสียหายได้เกิดขึ้นแก่หมู่มวลมนุษย์ที่มาบรรพชาอุปสมบท เพราะพากันมีความเห็นผิดเข้าใจผิด ไม่พากันเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ที่เราจะต้องปฏิบัติให้กับวัตถุให้ถูกต้อง ที่มันเป็นเรื่องของวัตถุเรื่องของกาย มันเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกอย่างมันเป็นเหตุทุกอย่างมันคือปัจจัย เมื่อเรามีความเห็นผิดเข้าใจผิด เราทิ้งเรื่องศีล เมื่อเราทิ้งเรื่องศีล ธรรมมันก็เกิดไม่ได้ สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ อยู่ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ที่นเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา ที่เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ถึงไม่มีจากที่อื่น แต่มีได้จากสัมมาทิฏฐิจากความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ที่เป็นอริยมรรคที่เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาอย่างนี้แหละ
ทุกท่านทุกคนพระพุทธเจ้าให้เราทุกคนพากันให้แก้ปัญหาอย่างนี้ ที่พระพุทธเจ้าปรับว่า จงประพฤติพรหมจรรย์เถิด เพื่อจะได้ไม่เป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตน สละคืนซึ่งนิติบุคคลตัวตน เรามีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้องแล้วปฏิบัติถูกต้อง ในการเสียสละตัวตน หยุดทำความผิดทางวัตถุ หยุดทำความผิดทางจิตใจ โดยเอาศีลเอาสมาธิเอาพุทธะนำทั้งทางกายนำทั้งทางใจ นี่จึงเป็นทางสายกลาง กายกับใจก็ต้องไปพร้อมๆ กัน จนกว่าเราทุกคนจะหมดอายุขัยทางร่างกาย พระพุทธเจ้าให้พวกเราพากันเข้าใจอย่างนี้
เมื่อเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราทุกคนก็จะได้ความสุข เพราะความสุขความดับทุกข์ มันอยู่ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เมื่อมีความสุขแล้ว เราอย่าพากันหลงอย่าพากันเพลิดเพลิน เพราะมันเกิดจากเหตุจากปัจจัย พระพุทธเจ้าบอกสอนเราให้ยกทุกอย่างสู่พระไตรลักษณ์ เพราะความสุขความดับทุกข์เกิดจากเหตุเกิดจากปัจจัยที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ว่าความสุขในการเป็นมนุษย์ ไม่ว่าความสุขในการเป็นเทวดา ความสุขในการเป็นพระพรหม นั่นคือเหตุคือปัจจัย ทุกท่านทุกคนต้องยกความสุขนั้นเข้าสู่พระไตรลักษณ์ เพื่อเราจะไม่เอาอวิชชาความหลงมาครองใจ ทุข์เป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างนี้แหละ ถ้าเราไปติดไปหลงมันก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ ความสุขก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ ถ้าเราบริโภคความสุขแล้วไม่หลง ก็เพราะบริโภคโดยสติด้วยปัญญาด้วยการพัฒนาวัตถุด้วยการพัฒนาใจ ทุกท่านทุกคนต้องพากันพัฒนาให้เป็นเหตุ แล้วผลของมันก็จะมีเอง ด้วยปัญญาสัมมาทิฏฐิ
การเรียนการศึกษาความเข้าใจนั้น ถึงจะเป็นการเรียนการศึกษาที่ถูกต้อง เราจะได้ปฏิบัติที่ถูกต้อง ศีลนั้นเปรียบเสมือนยานยานพาหนะที่นำเราออกไป เหมือนเครื่องบินที่เราขับเครื่องบินขึ้นสู่นภากาศ ขับข้ามภูเขาขับข้ามทะเลขับข้ามมหาสมุทร เพื่อไปถึงจุดหมายปลายทาง เมื่อไปถึงแล้วจอดเครื่องบินนั้นไว้ ไม่ใช่เราไปนั่งไปนอนในเครื่องบินอยู่อย่างนั้น เมื่อศีลนำเราไปติดต่อต่อเนื่อง จนถึงจุดหมายปลายทาง ที่เป็นสมาธิเป็นสัมมาสมาธิที่ติดต่อต่อเนื่องกัน เมื่อถึงจุดหมายปลายทางแล้ว พระพุทธเจ้าก็ไม่ให้เราหลงอยู่ในสิ่งที่อำนวยความสะดวกสบาย นี้มันเป็นยานที่นำเราออกจากวัฏสงสาร เพราะนี่เป็นเรื่องนิพพานเรื่องความดับทุกข์ มันเป็นเรื่องความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราลองพิจารณาที่พระพุทธเจ้าก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ท่านเข้าสู่ฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔จนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ ถอยกลับไปกลับมาแล้วก็ไม่ได้นิพพานในการอยู่ในฌาน ด้วยปัญญาวิมุตความหลุดพ้น
วาระจิตของพระพุทธเจ้าขณะปรินิพพาน ดังแสดงในพระไตรปิฎก มหาปรินิพพานสูตร สรุปความเป็นลำดับดังนี้ คือ
๑. ทรงเข้าปฐมฌาน (ฌานที่ ๑) ซึ่งมีองค์ประกอบหลักๆ ในการปฏิบัติอยู่ ๕ ประการ ได้แก่ ๑) วิตก คือ คิดอารมณ์ คิดเพ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือคิดสิ่งใดก็ได้ หรือเรียกว่า “กังวล”
๒) วิจาร คือ เคล้าคลึงอารมณ์ นำสิ่งที่เรากังวล หรือนำอารมณ์ที่วิตกนั้นมาวิเคราะห์ วิจัย พิจารณา หรือนำข้อมูลที่วินิจฉัยมาเปรียบเทียบ เทียบเคียง วิเคราะห์ความแตกต่างกันว่าดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิดประการใด ด้วยโยนิโสมนสิการ คือ การคิดพิจารณาตั้งแต่ต้นเหตุไปถึงผล ผลไปถึงเหตุ ให้ครบวงจรตามภาวะจริงแท้แห่งธรรม
๓) ปีติ คือ ดีใจและความเอิบอิ่มใจ คือ การยอมรับความเป็นจริงแห่งธรรม มายาธรรม ธรรมชาติแห่งความเป็นไปตามวิถีแห่งธรรม แล้วสรุปตามภาวะแห่งธรรมนั้นๆ จึงจะเกิดความเอิบอิ่มใจ ถ้าไม่มีการสรุปจิตของเราก็จะสืบเสาะ แสวงหา โหยหา ย่อมไม่เกิดปีติ และถ้ามีปีติก็จะส่งผลให้มีกำลังใจทำต่อ
๔) สุข คือ ความคิดว่า "ดี" หรือ "พึงพอใจแล้ว" ๕) เอกกัคคตา คือ ความแน่นอนและดำรงอารมณ์อยู่ ณ จุดนั้น เมื่อออกจากปฐมฌานแล้ว
๒. ทรงเข้าทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) ซึ่งมีองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ จะละวิตก วิจารไป เมื่อไม่สงสัยและเชื่อมั่น จึงเจริญต่อไปที่ ๑) ปีติ ๒) สุข ๓) เอกัคคตา เมื่อออกจากทุติยฌานแล้ว
๓. ทรงเข้าตติยฌาน (ฌานที่ ๓) ซึ่งมีองค์ประกอบ ๒ ประการ คือ ละปิติ แล้วเจริญ ๑) สุข ๒) เอกัคคตา สาเหตุทำไมฌานที่ ๓ ถึงต้องละ วิตก วิจาร ปิติได้ เหลือแต่สุขกับเอกัคคตา เพราะการจะเลื่อนระดับจิตให้ละเอียดถึงขั้นนี้ ต้องควบคุมจิตใจให้ได้ แต่ถ้าควบคุมจิตไม่ได้ ก็ทำได้ยากเช่นเดียวกัน เมื่อออกจากตติยฌานแล้ว
๔. ทรงเข้าจตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) ในฌานที่ ๔ นี้ มีองค์ประกอบ ๒ ประการ คือ ละสุขเสียได้แล้วเจริญ คือ ๑) อุเบกขา ๒) เอกัคคตา ถ้ายังไม่อุเบกขาก็จะยึดติดกับสิ่งต่างๆ อยู่เรื่อยหวั่นไหวไปเรื่อย สมมติว่า เราเอาเรือไปผูกติดกับแพ น้ำใหลลอยไปยังไงก็จะอยู่อย่างนั้น ถ้าเราให้เชือกหลุดออกจากแพ เราถึงจะเป็นตัวของตัวเองได้ ถ้าอย่างนั้น ฌาน ๑-๓ นี่ก็ใหลไปตามกระแสน้ำ ถึงบอกว่าเป็นตัวอะไรที่ยังใช้ไม่ได้ จึงต้องเป็นตัวของตัวเอง เพียงแค่รับรู้เฉยๆ เป็นบันไดให้ขึ้นถึงขั้นที่ ๔ ดังนั้นต้องอุเบกขา จึงสามารถหลุดจากสิ่งที่เป็นอยู่ เมื่อออกจากจตุตถฌานแล้ว ๕. ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ คือ การกำหนดอากาศ ความว่าง ใช้อากาศเป็นตัวนให้เกิดความรู้สึกว่า "ว่าง" ฌานนี้นำเข้าสู่สุญญตา คือ ว่างจากรูป แล้วก็ไปว่างที่นาม พอว่างที่นามก็ไปว่างที่ข้างใน เมื่อออกจากอากาสานัญจายตนะแล้ว
๖. ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ คือ กำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ วิธีทำคือหารูป รูปมันต้องเปลี่ยนไปเรื่อย เจริญพระไตรลักษณ์ ตัวอนิจจัง กำหนดวิญญาณหาที่สุดไม่ได้ ก็คือวิญญาณ ซึ่งเป็นตัวรับรู้ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนหาที่สุดไม่ได้ เมื่อออกจากวิญญาณัญจายตนะแล้ว
๗. ทรงเข้าอากิญจักญายตนะ คือ กำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ หมายถึง ไม่จับอารมณ์ตัวใดตัวหนึ่งให้ยึดมั่นถือมั่น แต่ไม่ใช่สุญญตา เป็นเพียงแต่เริ่มพิจารณา เพื่อนำไปสู่สุญญตา ทุกอย่างจะยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ จนในที่สุดจิตยอมรับข้อเท็จจริงในนี้ว่ายึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ก็จะเข้าสู่ภาวะอนัตตาและสุญญตา เมื่อออกจากอากิญจัญญายตนะแล้ว
๘. ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ คือ การเข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ หมายถึง ไม่ยึดมั่นถือมั่น เกี่ยวกับเรื่องสัญญา คือ ไม่ยึดมั่นถือมั่น เพียงแต่ให้รู้ซึ้งถึงพระไตรลักษณ์ เข้าสู่การพิจารณาเข้าใจประจักษ์ซึ้งในหลักธรรมพระไตรลักษณ์ เมื่อออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว
๙. ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ (สมาบัติ ๙) สมาบัติ คือ เข้าไปพิสูจน์ความจริง ภาวะการณ์ตรงนั้น เรียกว่า สมาบัติ ซึ่งเป็นความรู้ ความเป็นปัญญา ต้องเข้าไปสู่ความเป็นปัญญาว่าตรงนั้นผิดถูกยังไง อย่างไร สมาบัติอีกอย่างหนึ่ง คือ นิโรธสมาบัติหรือสัญญาเวทยิตนิโรธ ซึ่งละเอียดสุขุมกว่าอรูปฌาน เมื่อรวมกับ สมาบัติ ๘ ข้างต้น ก็เป็น ๙ มีคำเรียกต่างหากว่า อนุปุพพวิหารสมาบัติ
การที่พระพุทธเจ้าเข้าอนุบุพวิหารธรรม เข้าสู่รูปฌานและอรูปฌาน แล้วเข้านิโรธสมาบัติ เรียงลำดับไปตามจุติตามภาวะธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นเฉพาะพระพุทธเจ้า ทรงแสดงกรรมเพื่อเจริญธรรม ว่าก่อนพระพุทธเจ้าจะละสังขารเข้าสู่ปรินิพพาน ท่านต้องหมดจดบริสุทธิ์อย่างนี้ เพราะเมื่อเข้าสู่ปรินิพพานจะไม่มีสิ่งเช่นนี้อีก พระองค์เข้านิโรธสมาบัติถือว่าสูงสุดในระดับของการอยู่ในภาวะภูมิโลกนี้ การเข้านิโรธ คือ ดับสัญญาและเวทนา คำว่า "ดับ" คือ ไม่ไปยึดถือ ไม่อยู่ในสมอง นี่คือ การดับสัญญา ปล่อยวางอยู่ในธรรม สิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในสมองก็ไม่ไปยึด เมื่อทำสมาธิเข้านิโรธสมาบัติ เพื่อมาดับตรงนี้ เพื่อไม่ให้เหนี่ยวรั้งจากอารมณ์ต่างๆ เปรียบเหมือนการเป็นอิสระจากการเดินทาง ไม่แบกขนสัมภาระมากมาย จะทำให้เดินไม่ไหว พอพระพุทธองค์เข้าสู่นิโรธดับสัญญาและเวทนา พระอานนท์มีข้อสงสัยว่าพระพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพานหรือยัง จึงถามไปยังพระอนุรุทธะว่า พระพุทธเจ้าเข้าสู่นิพพานหรือยัง พระอนุรุทธเถระผู้เชี่ยวชาญสมาบัติชี้แจงว่า บัดนี้พระพุทธองค์กำลังเสด็จอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เป็นต้น
จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงเสด็จออกจาก สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ถอยเข้าสู่เนวสัญญานาสัญญายตนะ ที่ ๙ ถอยมาเป็น ฌาน ๘ ฌาน ๗ ฌาน ๖ ฌาน ๕ ฌาน ๔ ฌาน ๓ ฌาน ๒ ฌาน ๑ แล้วเข้าสู่ ฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌาน ๔ แล้วก็ออกจากฌาน ๔ เป็นลำดับสุดท้าย แล้วเข้าสู่ปรินิพพาน
พระพุทธเจ้าเข้าเรียงลำดับไปตามจุติตามภาวะธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นเฉพาะพุทธเจ้า ท่านแสดงกรรมเพื่อเจริญธรรม ว่าก่อนพระพุทธเจ้าท่านจะละสังขารเข้าสู่ปรินิพพาน ท่านต้องหมดจดบริสุทธิ์อย่างนี้ ท่านต้องสรุปเรียบร้อย ไม่ใช่ไปอย่างไม่สรุป แล้วทำไมพระพุทธเจ้าถึงเข้าอนุบุพวิหารธรรม ? และทำไมท่านเข้าสู่รูปฌานและอรูปฌาน แล้วเข้านิโรธสมาบัติถือว่าสูงสุดในระดับของการอยู่ในภาวะภูมิโลกนี้?
สิ่งเหล่านี้พระพุทธเจ้าท่านแสดง เพราะว่าเข้าสู่นิพพานจะไม่มีสิ่งเช่นนี้อีกต่อไป พระองค์ท่านเข้าสมาบัติแล้วออกจากสมาบัติอย่างหมดจดแล้วท่านก็คืนสู่ธรรม ท่านจึงหลุดจากภูมิโลก ถ้าท่านไม่ทำอย่างนี้ก็จะมีต่อ เพราะถ้าเข้าสู่นิพพานจะหมดเหตุแล้ว ไม่มีต่อแล้ว
แล้วพระพุทธเจ้าเข้าสมาบัติทำไม? พระพุทธเจ้าเข้าสมาบัติก่อนปรินิพพานเป็นการแสดงกรรม เพื่อเจริญธรรมและสำหรับโลกเรานี้จำเป็นต้องมีสมาบัติเพราะเราต้องทำงานอยู่ เพราะเรายังไม่เข้าสู่นิพพาน
พระพุทธเจ้าหมดแห่งเหตุแล้วก็ละนิโรธสมาบัติ ที่พระพุทธเจ้าเข้าสู่สมาบัตินี้ พระพุทธเจ้าแสดงให้เห็นว่า พระองค์ท่านสละหมดแล้ว ไม่มีแล้ว หมดเหตุแล้ว แล้วท่านจึงเข้าสู่นิพพาน จึงไม่มีการกลับมาเกิด
(พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์, 2561)
ทุกท่านทุกคนต้องพากันเข้าใจอย่างนี้ ด้วยเหตุนี้ถึงไม่มีใครอธิบายเรื่องพระนิพพานได้ว่านิพพานมันเป็นยังไง จะรู้ได้เฉพาะผู้มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องตามอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะพระนิพพานไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน หากเป็นกระบวนการของศีลของสมาธิของปัญญา ของวิมุติความหลุดพ้น เป็นการพัฒนาใจพัฒนาวัตถุไปพร้อมๆ กัน พระพุทธเจ้าท่านให้เรารู้รู้ทุกข์รู้เหตุเกิดทุกข์รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ที่ทรงให้พวกเราเข้าใจ เหมือนที่ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงถือใบไม้ในกำมือ เทียบกับใบไม้ในป่าที่มีใบไม้เยอะ ใบไม้นี้มันเกิดจากเหตุเกิดจากปัจจัย
หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ อธิบาย "ใบไม้กำมือเดียว" เรียนพุทธศาสนา ต้องเรียนเพื่อดับทุกข์ "เรียนเฉพาะที่พระพุทธเจ้าท่านขอให้เรียน อย่างนี้ "เรียนกำมือเดียว" โดยเปรียบเทียบว่า ความรู้ทั้งหมดที่ตถาคตได้ตรัสรู้นั้น มีปริมาณมากเท่ากับใบไม้ทั้งป่า ทั้งดง ทั้งประเทศ แต่ว่าที่เอามาสอนเธอทั้งหลายนี้เท่ากับ "ใบไม้กำมือเดียว"
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "ปุพฺเพ จาหํ ภิกฺขเว เอตรหิ จ, ทุกฺขญฺเจว ปญฺญาเปมิ, ทุกฺขสฺส จ นิโรธํ " (แปลว่า) "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลก่อนก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี เราบัญญัติสอน เฉพาะเรื่องความทุกข์ กับเรื่องความดับทุกข์เท่านั้น" ก็หมายความว่า ถ้ามันไม่เกี่ยวกับความดับทุกข์ละก็ ไม่ต้องสอน ไม่ทรงเอามาสอน แล้วเราก็ไม่ต้องเรียน.
เดี๋ยวนี้ เราไปเรียนสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับความดับทุกข์ ที่ไม่ใช่เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ มัวแต่เถียงกันเป็นบ้าเป็นหลัง โกรธวิวาทกันไป เรื่องตายแล้วเกิด เรื่องผีมีหรือไม่มี เรื่องวิญญาณคืออะไร นี่มันไม่มาสู่จุดที่ว่า ดับทุกข์อย่างไร? มันขยายไปไกลเรื่อยๆ ต้องตั้งปัญหาว่า..ความทุกข์คืออะไร? มาจากอะไร? ดับได้โดยวิธีใด? แล้วก็ทำให้ได้อย่างนั้น อย่างนี้เรียกว่า "ใบไม้กำมือเดียว" แม้เป็นเรื่องทางโลกเราก็ควรจะเรียนชั่วใบไม้กำมือเดียว อย่าไปเรียนให้มันเกินความจำเป็น มันจะหละหลวม มันจะกะพร่องกะแพร่งไปหมด....
การเรียนการศึกษาในโลกสมัยนี้ เรียนกันเฉพาะที่กิเลสของโลกมันต้องการ แล้วก็อวดกันนักหนา ยกหูชูหาง ว่าจัดการศึกษาวิเศษ ประเสริฐก้าวหน้าในโลกนี้ แต่หารู้ไม่ว่า มันเรียนเฉพาะเท่าที่กิเลสต้องการ แล้วกิเลสก็ยิ่งหนามากขึ้น การเรียนก็ก้าวหน้าขึ้นไปตามความหนาความมากของกิเลส เดี๋ยวนี้ กิเลสต้องการแต่เรื่องเนื้อหนัง กินดี-อยู่ดี ประเภทเนื้อหนัง คือความเอร็ดอร่อยสนุกสนานทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี่แหละ คือกิเลสสมัยนี้ที่เจริญงอกงามก้าวหน้า และก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นทุกที."
เมื่อจะพิจารณาคำสอนต่างๆ จะต้องดูว่า ความรู้แค่ไหนจำเป็นสำหรับการที่จะถอนลูกศรออกเสีย? คือใช้แก้ปัญหาของชีวิตที่เกิดขึ้นนี้ได้ นี่คือสิ่งสำคัญ นอกจากนั้นเราต้องแบ่งว่า ความรู้แค่ไหนจำเป็นสำหรับคนไข้ ความรู้แค่ไหนจำเป็นสำหรับหมอ ความรู้แค่ไหนจำเป็นสำหรับผู้สอนหมออีกทีหนึ่ง ถ้าอย่างนี้เราก็อาจจะแยกได้ว่า ถ้าเราเป็นอาจารย์แพทย์ ก็คงจะไม่ต้องถึงกับไปบีบคั้นบังคับกำหนดเอากับคนทั้งหลายอื่น หรือคนไข้ทั้งหลายว่า ท่านจะต้องมาเรียนรู้ให้ได้อย่างข้าพเจ้าที่เป็นอาจารย์แพทย์เสียก่อน แล้วจึงจะแก้โรคได้ ซึ่งไม่จำเป็น ความรู้ที่พอจะใช้แก้โรคมันจะมีส่วนหนึ่ง
ถ้าแบ่งได้อย่างนี้แล้ว ปัญหาเรื่องการทำความเข้าใจในหลักการทางพระศาสนานี้ ก็อาจจะพอจัดแบ่งออกได้เป็นแง่ๆ ขั้นๆ ขณะนี้อาตมภาพรู้สึกว่าเป็นปัญหากันอยู่ในเรื่องที่ว่า จะต้องรู้แค่ไหน? จึงจะปฏิบัติตามพระพุทธศาสนาได้ หรือจะเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาได้
เหมือนบุคคลผู้หนึ่งถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ เมื่อญาติไปตามแพทย์ เพื่อจะมาถอนลูกศร บุรุษที่ถูกลูกศรอาบยาพิษนี้ก็ไม่ยอมให้แพทย์ถอนลูกศร บอกว่า..ข้าพเจ้าจะต้องขอทราบเสียก่อนว่า ลูกศรอาบยาพิษที่ยิงข้าพเจ้านี้ทำด้วยอะไร เริ่มต้นตั้งแต่ว่า หัวลูกศรทำด้วยวัตถุชนิดไหน หางลูกศรทำด้วยวัตถุชนิดใด ทำด้วยขนนกประเภทใด ตัวลูกธนูนี้ทำด้วยไม้ชนิดใด ยาพิษที่ใช้อาบลูกศรเป็นยางไม้ประเภทไหน แล้วก็คนที่ยิงข้าพเจ้านี้มันเป็นใคร เป็นคนในวรรณะกษัตริย์ หรือพราหมณ์ หรือแพศย์ หรือศูทร อะไรต่างๆ เหล่านี้ ขอทราบสิ่งเหล่านี้ก่อนแล้วจึงจะยอมให้ถอนลูกศร
พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ถ้าทำอย่างนี้ คนที่ถูกลูกศรอาบยาพิษนั้นจะต้องตายก่อนที่จะรู้สิ่งเหล่านั้นทั้งหมด อันนี้ฉันใด การที่จะตอบคำถามต่างๆ ที่สนองความอยากรู้ของมนุษย์นี้ โดยเฉพาะที่ท่านเรียกว่า "อัพยากตปัญหา" ว่าโลกนี้เที่ยง โลกนี้ไม่เที่ยง โลกนี้มีที่สุด ไม่มีที่สุด เป็นต้น คำถามประเภทนี้ถ้ามนุษย์จะมาหาคำตอบให้ได้เสียก่อน โดยไม่ยอมปฏิบัติ ไม่ดำเนินชีวิตของตนให้ถูกต้อง มนุษย์จะต้องตายเสียก่อน โดยไม่ได้ประโยชน์จากชีวิตเลย
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า คำถามประเภทนั้นหรือเรื่องประเภทนั้น พระองค์ไม่ตอบ และไม่ทรงสอน สิ่งที่พระองค์สอนคืออะไร ก็คือ "อริยสัจ ๔" เพราะอะไร ก็เพราะว่ามันเป็นไปเพื่อประโยชน์ เป็นหลักเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ หรือระบบการครองชีวิตที่ประเสริฐ คือ มันใช้ได้ นำมาปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ได้
การเรียนการศึกษาของเรานี้เพื่อจะให้รู้เหตุรู้ปัจจัย ที่พระพุทธเจ้าบอกว่ารู้อริยสัจ ๔ เราพากันพัฒนาใจพัฒนาวัตถุให้ถูกต้องที่เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา หนังสือถึงจะมากมายก่ายกองเป็นภูเขา ถึงเราจะเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนี้เป็นเวลาช้านานนับเป็นหลายล้านชาติ ก็ช่างหัวมัน เมื่อเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ที่เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา ที่ให้เราได้พัฒนาใจพร้อมทั้งกาย ที่เป็นการพัฒนาใจพัฒนาวัตถุเพื่อให้มันเป็นขบวนการที่เป็นเหตุเป็นผล เป็นปฏิจจสมุปบาท ทุกท่านทุกคนก็จะเข้าถึงความสุขความทุกข์ได้
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee