แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๑๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๗๕ ผู้เป็นบัณฑิต วินิจฉัยความโดยละเอียดลออและเที่ยงธรรม พระพุทธเจ้าเรียกว่าผู้ตั้งอยู่ในธรรม
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การดำเนินชีวิตของเราทุกๆ คนนั้น ให้พวกเราพากันรู้นะ ให้พากันรู้ทุกข์รู้เหตุเกิดทุกข์รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เราต้องพากันมีความเห็นให้ถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้องพากันปฏิบัติให้ถูกต้อง พัฒนาทั้งจิตใจพัฒนาทั้งวัตถุไปพร้อมๆ กัน ทุกคนต้องพากันเข้าใจอย่างนี้ มันจะเป็นทางสายกลาง จึงต้องพากันเข้าใจ ปรับตัวเข้าหาธรรมะเข้าหาเวลา ให้มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเรามีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ เวลามันก็จะผ่านไปเร็ว ถ้าเราไม่มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ เวลามันก็จะผ่านไปช้า พระพุทธเจ้าถึงสอนเราให้พัฒนาจิตใจพัฒนางานอย่างนี้ ทุกข์มันเป็นสิ่งที่มีอยู่สำหรับความไม่รู้ ความดับทุกข์มันก็มีอยู่สำหรับการที่รู้แล้วเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ จึงให้เรารู้จักสภาวะธรรมตามความเป็นจริง จะได้ง่าย จะเข้าใจง่าย ความไม่รู้มันเป็นตัวเป็นตนมันเป็นเป็นนิวรณ์ ที่มันอยู่กับใจของเราทุกๆ คน เราต้องรู้จักนิวรณ์ ให้เราพากันเข้าใจง่ายๆ เพราะการปฏิบัติธรรมน่ะ มันเป็นเรื่องปัจจุบัน ปัจจุบันเราต้องรู้จัก ถ้าไม่รู้จักนิวรณ์มันจะมาครอบงำเรา ถ้าเราไม่รู้จักเราก็จะหลงก็จะเพลิดเพลิน
การปฏิบัติของเราน่ะมันอยู่ทุกหนทุกแห่ง ที่เราอยู่นั่นแหละ ไม่ว่าจะอิริยาบถไหนทำอะไร นั่นคือการปฏิบัติธรรม คือการทำงาน สิ่งที่เป็นอดีตเราลบมันออกไปเลย สิ่งที่เป็นอนาคตเราไม่ต้องไปวิตกวิจารณ์ เราตั้งเป้าหมายไว้เลยว่าเราจะปฏิบัติใจปฏิบัติกาย หรือว่าเราปฏิบัติใจให้ใจของเรานี้เป็นธรรมเป็นพุทธะ ปฏิบัติกายที่เป็นเหตุเป็นผลเป็นวิทยาศาสตร์อย่างนี้แหละ เราต้องไปอย่างนี้
ผู้ที่เป็นพระเป็นเณรเป็นชีก็พากันปฏิบัติให้เต็มที่ ทุกคนก็เป็นพระได้เหมือนๆ กัน ให้เข้าใจอย่างนี้ เราต้องรู้จักพระที่แท้จริง พระที่แท้จริงนั้นคือไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน นั่นเป็นกระบวนการเป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งความดับทุกข์ มันง่าย ถ้าเราไม่เอาตัวตนเป็นที่ตั้งน่ะ มันง่าย สิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้ ก็เพราะเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง มันเป็นไปไม่ได้ อยากให้ไม่แก่มันก็ต้องแก่ อยากให้ไม่เจ็บมันก็ต้องเจ็บ อยากให้ไม่ตายมันก็ต้องตาย อยากไม่ให้พลัดพรากมันก็ต้องพลัดพราก นี่เรียกว่าสิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้ ทุกคนต้องมีสติคือความสงบมีสัมปชัญญะอย่างนี้
ถ้าเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง อย่าพากันตรึกในกามตรึกในพยาบาท เพราะใจของเรามันคิดได้อย่างเดียวเกิดขึ้นทีละขณะจิต เมื่อเราไม่ให้มันคิดด้วยการมีสติ มันก็เป็นความสงบ สมถะคือความสงบที่ติดต่อต่อเนื่องกันเป็นสายน้ำ ก็จะพัฒนาเป็นสัมมาสมาธิโดยธรรมชาติ สำหรับสมาธิที่เข้าฌานเข้าสมาบัติที่อยู่นิ่งๆ เพื่อพักผ่อนสมอง สำหรับฆราวาสตอนเช้าตอนเย็น สำหรับพระว่างจากการงานก็เข้าอยู่กับความสงบที่เป็นวิหารธรรม เพราะความเป็นจริงนั้นศีลเป็นความดับทุกข์นะ สมาธิเป็นความดับทุกข์นะ มันไม่มีความทุกข์ ที่มีความทุกข์ก็เพราะว่าเราไม่ได้สร้างเหตุสร้างปัจจัยแห่งการดับทุกข์ ที่ใจของเราเป็นนิวรณ์ มันตรึกในกามตรึกในพยาบาท ง่วงเหงาหาวนอน ฟุ้งซ่านรำคาญใจ ลังเลสงสัยต่างๆ นานา อันที่จริงรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณคือกายใจนี้ รวมทั้งนิวรณ์ต่างๆ มันเป็นข้อสอบที่ให้เราได้ตอบในปัจจุบัน ให้เรารู้การประพฤติการปฏิบัติอย่างนี้
พวกเราน่ะ เพราะยังไม่รู้จัก ยังไม่ได้อยู่ด้วยศีลไม่ได้อยู่ด้วยสมาธิไม่ได้อยู่ด้วยปัญญา เลยอยู่ด้วยการเล่นโทรศัพท์ LINE โทรศัพท์ อยู่ด้วยการดูหนังฟังเพลง หรืออยู่ด้วยกันคุยกัน เวลามันเจ็บมันป่วยแก่เฒ่าทำอะไรไม่ได้ มันจะสายเกินไปแล้วนะ จึงต้องสร้างบ้านของเราคือพระนิพพาน มันก็ธรรมดาแหละ ทำไปปฏิบัติไปปฏิบัติธรรมมันก็มีผิดบ้างถูกบ้าง ก็ค่อยเป็นค่อยไป ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติท่านถึงบอกว่า ในยามป่วยครั้งนึงก็ดีนะ ทำให้เราได้เห็นพระไตรลักษณ์มากขึ้น ทำให้เห็นว่าทุกอย่างมันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เวลาเรามองดูเพื่อนเราที่เกิดมาพร้อมกัน เราเห็นเขาแก่ เราก็จะได้ย้อนมากลับมาดูเรา เราเห็นเขาตาย เราก็จะได้ย้อนกลับมาดูเรา
เราต้องเข้าใจ เราต้องทำหน้าที่ของเราไม่ให้มีอคติ ไม่มีความลำเอียง เพราะความถูกต้องมันไม่ได้เป็นตัวเป็นตนที่จะให้เราหลงตัวเอง เหมือนกับผู้พิพากษา อัยการ เจ้าหน้าที่ตุลาการทั้งหลาย ก็วิตกวิจารณ์ว่า เป็นผู้พิพากษานี้มันจะบาปน๊ะ ไปตัดสินเขา เราต้องรู้จักต้องรู้สภาวะธรรม ใครเขาทำผิดยังไงเขาก็ได้รับบาปรับกรรมอย่างนั้น เราก็ทำหน้าที่ที่ไม่มีอคติกับใครๆ เราอย่าไปใจอ่อนกับพี่กับน้องกับลูกกับหลานกับพี่กับน้อง มีสติมีสัมปชัญญะ เราจะได้ทำหน้าที่ของผู้ที่เป็นผู้พิพากษา ผู้เป็นอัยการ เพราะตำแหน่งนี้ จะเป็นตำแหน่งข้าราชการก็ดี ตำแหน่งนักการเมืองก็ดี หรือตำแหน่งของนักบวชก็ดี เป็นตำแหน่งที่ไม่มีอคติ ไม่มีความลำเอียง เป็นตำแหน่งที่ถูกต้อง เป็นตำแหน่งที่ต้องมีทั้งสติความสงบมีทั้งสัมปชัญญะ เป็นตำแหน่งที่ละเสียซึ่งอดีตอนาคต อยู่กับปัจจุบัน เพราะเราตั้งเป้าหมายไว้ก็คือความถูกต้อง ไม่ใช่นิติบุคคลตัวตน เป็นสติคือความสงบเป็นสัมปชัญญะคือตัวปัญญา เราจะได้ไม่ใจอ่อน เพราะทุกคนใจอ่อน พระพุทธเจ้าถึงสอนให้มีสติสัมปชัญญะ จึงจะได้ทำอะไรถูกต้องในปัจจุบัน ไม่มีอคติ มันต้องมีความสุขในการทำงานในการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ สิ่งที่มันผ่านไปแล้วก็ให้แล้ว ไม่ต้องไปใจอ่อน เหมือนคนดีทั้งหลายที่เป็นโรคใจอ่อน สุดท้ายเลยเป็นโรคจิตโรคประสาท เพราะใจไม่ได้อยู่กับสติไม่ได้อยู่กับสัมปชัญญะ พระพุทธเจ้าจึงได้สอนให้ครองตนด้วยพรหมวิหารทั้ง ๔ คำว่าเมตตาก็เริ่มต้นจากเมตตาตนเองนี่แหละ เอาความถูกต้องความเป็นธรรมความยุติธรรม เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้งมันก็เวียนว่ายตายเกิดน่ะ มันก็ไม่ใช่คนเมตตาอะไร แต่เป็นคนใจอ่อนเป็นคนหลงต่างหาก พระพุทธเจ้าถึงสอนให้รู้แล้วเข้าสู่การปฏิบัติเพื่อเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม โลกนี้จึงจะได้มีความเป็นมนุษย์ มีข้าราชการที่ดีที่ถูกต้อง เพราะข้าราชการเป็นตำแหน่งที่ได้รับสิทธิพิเศษ ที่ทุกคนมามีความสุขในการทำงานมีความสุขในการเสียสละ ชีวิตของเรามันจึงจะไม่สีดำสีเทา ตำแหน่งทุกตำแหน่งเป็นตำแหน่งที่ต้องมีธรรมะ ที่ต้องมาสละทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน จึงเป็นความสุขความดับทุกข์นะ ต้องพากันเข้าใจ มันถึงจะแก้ปัญหาตัวเองได้แก้ปัญหาคนอื่นได้ ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะไปส่งผลัดคือความถูกต้องความเป็นธรรมความยุติธรรมให้กับใคร
อาชีพ 'ผู้พิพากษา อัยการ' เป็นสถาบันที่สำคัญมาก เพราะเป็นสถาบันที่ดำรงความยุติธรรม ในหลวงท่านทรงให้ความสำคัญกับคนในสถาบันนี้มาก เพราะเมื่อเรียนจบขนาดท่านทรงพระประชวร ท่านก็ยังเสด็จออกมาตรัสให้โอวาทกับบุคคลเหล่านี้เป็นพิเศษ เพราะผู้พิพากษาอัยการผู้เป็นบุคคลที่ในหลวงทรงไว้วางใจ ที่ท่านให้ช่วยเหลือแบ่งเบาพระราชภาระ ทำงานต่างพระเนตรพระกรรณ แต่ในปัจจุบันสถาบันนี้เริ่มโอน เริ่มเอียง "เป็นสถาบันยุติธรรมที่สร้างความอยุติธรรมให้มันระบาดไปทั่ว"
อย่าไปแนะนำผู้พิพากษาใหม่ ให้พากันทำความผิดเอาใจคนรวยเอาใจนักกินเมือง ไม่งั้นก็ไม่มีหลักการ “การเป็นผู้พิพากษา” เราอย่าไปสิโรราบให้เงินตรา อย่าไปสิโรราบให้นักกินเมือง เราอย่าไปคิดอะไรที่มันเกิดความโกง ความไม่ฉลาด อย่างผู้พิพากษาใหญ่สั่งให้ผู้ผู้พิพากษาน้อยให้เขียนอย่างนี้ๆ ไม่ได้นะ ความลับมันไม่มีในโลก ไม่มีใครเห็นดีกับโจรหมดทุกคนหรอก เพราะว่าผู้พิพากษาใหญ่ต้องเป็นประธาน ต้องเอาศีลเอาธรรมเอาคุณธรรม เงินเดือนเราละก็พอสมควรอย่างนี้ก็พอแล้ว ไม่ใช่เป็นมหาเศรษฐีแล้วจะแก้ปัญหาได้ เพราะคนเราก็มีแต่ความโลภความโกธรความหลง โลกนี้มีแต่ความขัดแย้งในการแย่งขยะกัน อย่างที่เราเห็นกันพากันรวยอย่างโง่ๆ รวยอย่างอบายมุขอบายภูมิอยู่
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย ทรงพิถีพิถันเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นผู้พิพากษาเป็นอันมาก โดยพระองค์ทรงถือว่าความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสิ่งสำคัญสำหรับกลุ่มคนในแวดวงตุลาการ ไม่ว่าจะเป็นนักการศาลยุติธรรมหรือนักกฎหมาย มีอยู่ครั้งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเลี้ยงข้าวแช่ในพระบรมมหาราชวัง และได้ทรงพระบรมราชานุญาตให้กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์นำนักเรียนกฎหมายเข้าเฝ้าฯ ด้วย ณ ที่นั้น ได้ทรงมีพระราชกระแสดำรัสว่า "รพี พ่อได้ยินว่าผู้พิพากษากินเหล้ามากใช่ไหม ทำไมรพีจึงปล่อยให้เป็นเช่นนั้น"
กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงนิ่งอึ้งอยู่ครู่ใหญ่ แล้วกราบบังคมทูลว่า "ขอเดชะพระอาญามิพ้นเกล้าฯ ในเวลาที่ข้าพระพุทธเจ้าจะเลือกผู้พิพากษาก็ดี เลื่อนชั้นผู้พิพากษาก็ดี ข้าพระพุทธเจ้าถือหลักในใจอยู่เพียงสองข้อคือ ต้องมีสติปัญญาเฉียบแหลมเฉลียวฉลาดอย่างหนึ่ง และต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตอีกอย่างหนึ่ง พูดสั้นๆ ต้องฉลาดและต้องไม่โกง ถ้าโง่ก็ไม่ทันคนอื่น โจทก์ จำเลย จะต้มเอาได้ ทำให้เสียความยุติธรรม แต่ถ้าฉลาดแล้วโกงก็ทำเสียความยุติธรรมอีกเหมือนกันจะซ้ำร้ายยิ่งกันไปใหญ่ ข้าพระพุทธเจ้ามิได้ไปสอบสวนหรือเอาใจใส่กิจธุระส่วนตัวของผู้พิพากษาแต่ละคน ใครจะกินเหล้า เที่ยวเตร่อย่างไร นอกเหนืออำนาจเสนาบดีจะบังคับ"
เอ็งกินเหล้า เมายา ไม่ว่าหรอก แต่อย่าออก นอกทางไป ให้เสียผล
จงอย่ากิน สินบาท คาดสินบน เรามันชน ชั้นปัญญา ตุลาการ
ผู้พิพากษา อัยการ ต้องเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า เดินตามรอยของในหลวงฯ อย่างเช่น เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นมโหสถบัณฑิต ซึ่งผู้ที่ใช้ปัญญาในการดำรงและทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมช่วยเหลือตัดสินคดีความต่างๆ ให้กับประชาชนผู้ที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น
ท่านผู้พิพากษาอัยการเจ้าหน้าที่ตุลาการทั้งหลายเป็นตัวแทนของประชาชน เป็นตัวแทนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราต้องมาต่อยอดความถูกต้อง อย่าให้อิทธิพลของกฎหมู่มาเหนือกฎหมาย อย่าให้อิทธิพลของเงินของสตางค์ครอบงำได้ เพราะว่าข้าราชการจริงๆ ก็มีไม่เท่าไหร่หรอก มีแต่ข้าราชกิน นักการเมืองก็ไม่ค่อยมี มีแต่นักกินเมือง อะไรอย่างนี้เป็นต้น เราต้องรู้จัก พรรคตั้งมาเยอะแยะ มาสรุปลงพรรคเดียวคือพรรคเงิน
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภมหาอำมาตย์ผู้วินิจฉัย ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "น เตน โหติ ธมฺมฏฺโฐ" เป็นต้น.
ความพิสดารว่า วันหนึ่ง พวกภิกษุเที่ยวบิณฑบาตในบ้านใกล้ประตูด้านทิศอุดรแห่งนครสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตแล้วมาสู่วิหารโดยท่ามกลางพระนคร. ขณะนั้น เมฆใหญ่ตั้งขึ้นยังฝนให้ตกแล้ว. ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปสู่ศาลาที่ทำการวินิจฉัยอันตั้งอยู่ตรงหน้า เห็นพวกมหาอำมาตย์ผู้วินิจฉัยรับสินบนแล้ว ทำเจ้าของไม่ให้เป็นเจ้าของ จึงคิดว่า "โอ! มหาอำมาตย์เหล่านี้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม, แต่พวกเราได้มีความสำคัญว่า 'มหาอำมาตย์เหล่านี้ทำการวินิจฉัยโดยธรรม’"
เมื่อฝนหายขาดแล้ว มาถึงวิหาร ถวายบังคมพระศาสดานั่ง ณ ส่วนสุดข้างหนึ่งแล้ว กราบทูลความนั้น.
พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกอำมาตย์ผู้วินิจฉัยเป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจอคติ มีฉันทาคติเป็นต้น ตัดสินความโดยผลุนผลัน ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม, ส่วนพวกที่ไต่สวนความผิดแล้วตัดสินความโดยละเอียดลออ ตามสมควรแก่ความผิดนั่นแหละ เป็นผู้ชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรม" ดังนี้แล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
น เตน โหติ ธมฺมฏฺโฐ เยนตฺถํ สหสา นเย โย จ อตฺถํ อนตฺถญฺจ อุโภ นิจฺเฉยฺย ปณฺทิโต
อสาหเสน ธมฺเมน สเมน นยตี ปเร ธมฺมสฺส คุตฺโต เมธาวี ธมฺมฏฺโฐติ ปวุจฺจติ.
บุคคลไม่ชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรม เพราะเหตุที่นำคดีไปโดยความผลุนผลัน; ส่วนผู้ใดเป็นบัณฑิต วินิจฉัยคดีและไม่ใช่คดีทั้งสอง ย่อมนำบุคคลเหล่าอื่นไปโดยความละเอียดลออ โดยธรรมสม่ำเสมอ, ผู้นั้นอันธรรมคุ้มครองแล้ว เป็นผู้มีปัญญา เรากล่าวว่า "ตั้งอยู่ในธรรม."
เมื่อเราทำผิดกันเป็นขบวนการ ประเทศชาติก็สะดุด ติดในบาปในกรรม ต้องแก้ต้องปรับทุกฝ่าย ทุกคนต้องไม่เห็นแก่ตัว มันถึงจะได้รับประโยชน์กันทุกฝ่าย กิเลสมันเป็นของไม่ดี ความเห็นแก่ตัวเป็นของไม่ดี ไม่ว่าเราจะทำอะไร เราต้องเป็นผู้เสียสละเป็นผู้เกื้อกูล...
พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ธรรม ท่านมาเทศน์มาสอนธรรมที่เป็นข้อสำคัญข้อแรก ท่านสอนให้มีเมตตา การให้ทาน ความเสียสละ เพราะคนเรามันเป็นผู้ที่หลงผิดเป็นผู้ที่เห็นแก่ตัว มันถึงได้เกิดมา เรามองเห็นง่ายๆ เช่นเรามาอยู่ในท้องก็เป็นผู้เอาแล้ว เอาเลือดเอาเนื้อจากพ่อจากแม่ เอาอาหาร การดูแล การอุปถัมภ์อุปัฏฐากจากพ่อ คนเราถึงจะรวยเป็นมหาเศรษฐี มันก็ไม่มีความสุขได้ถ้าใจไม่มีความสงบ ใจมันวิ่งอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราเป็นคนไม่ร่ำรวย พอกินพอใช้เศรษฐกิจพอเพียง แต่จิตใจของเราสงบ มันก็ดีกว่ามหาเศรษฐีที่จิตใจวิ่งอยู่ตลอดเวลา เศรษฐีมันก็มีความสุขเท่ากับคนที่เค้ายากจนไม่ได้ เพราะคนเรามันมีความสุข มีความสบาย อยู่ที่จิตใจเราสงบ
ทุกวันนี้จิตใจของเราทุกๆ คนมันไม่สงบ เพราะทำอะไรก็เพื่อความอยากความต้องการ มันไม่ได้ทำอะไรเพื่อเป็นผู้เสียสละเพื่อเป็นผู้ให้
เบื้องต้นพระพุทธเจ้าท่านสอนเรา... เรานี้เป็นผู้ประเสริฐเกิดมาเป็นมนุษย์ เราต้องสร้างความดี สร้างบารมี ต้องเสียสละ ต้องเป็นผู้ให้ ต้องให้ตลอดกาล อย่าไปกลัวเสียเปรียบ อย่าไปกลัวคนอื่นเอาเปรียบ
เราต้องเป็นผู้ให้ ต้องขยัน ต้องอดทน ต้องเสียสละ ถ้าเราไม่เป็นผู้ให้ ไม่เป็นผู้เสียสละ หัวใจของเราก็เป็นเปรต เป็นยักษ์ เป็นอสุรกาย ถ้าเราเป็นผู้ให้เราเองก็มีความสุข พ่อแม่ญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลของเราก็มีความสุข
เราจะเอาอะไรไปให้เค้า...? พระพุทธเจ้าท่านให้เราเป็นคนขยัน ความขยัน ความรับผิดชอบ นั้นคือการเสียสละ หนักก็เอาเบาก็สู้ เป็นคนติดดินเหมือนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้าเราเป็นคนเสียสละ ความจนมันจะมีมาจากไหน? ที่มันจน เพราะเราไม่เสียสละ เราไม่รับผิดชอบ
ถ้าเราตามใจของเรา ตามกิเลสของเรา ตามความต้องการของเรานี้ มันมีภัย มีอันตรายเปรียบเสมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ มันมีความทุกข์ถึงตายนะ จิตใจของเราน่ะมันถูกกามคุณครอบงำ มันเลยมืด มันเลยบอดเปรียบเสมือนคืนเดือนมืด แมลงเม่ามันมองเห็นแสงไฟของกองไฟที่ลุกโชติช่วง แสงไฟนั้นมันมีอำนาจ เปรียบเสมือนแม่เหล็กใหญ่ที่มันดูดเศษเหล็กเล็กๆ เข้าไปหาฉันใด แมลงเม่าก็เช่นเดียวกันฉันนั้น กามคุณทั้ง ๕ นั้น ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฎฐัพพะ มันมีอำนาจมากมันดึงเอาสัตว์โลกทุกๆ ตัวไปสู่อบาย ชีวิตของคนเราก็เหมือนกัน ชีวิตที่เกิดมายากที่จะเข้มแข็งต้านทานสิ่งต่างๆ ไม่ว่าความทุกข์ ไม่ว่าความสุขมันมีอำนาจมีพลัง
ถ้าไม่ได้อาศัยพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชีวิตนั้นก็ไม่ปลอดภัย สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมันมีทั้งคุณและโทษนะ
ชีวิตของคนเราผู้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร การใช้ชีวิต พระพุทธเจ้าท่านให้เราใช้ชีวิตด้วยสติ ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา
ท่านไม่ให้เราเห็นแก่ปากแก่ท้อง เห็นแก่ความสุขสะดวกสบาย ตั้งอยู่ในความประมาท คนเรานี้นะเมื่อกิเลสมันครอบงำมันไม่รู้จักผิด ไม่รู้จักถูก ไม่รู้จักดีไม่รู้จักชั่ว มันลืมพ่อ ลืมแม่ ลืมภรรยา ลืมสามี มันคิดอะไรไม่เป็น คิดอะไรไม่ออกเลยนะ พระพุทธเจ้าท่านบอกไม่ฟัง ครูบาอาจารย์บอกไม่ฟัง พ่อแม่บอกก็ไม่ฟัง มันเอาแต่ใจตัวเอง เอาแต่อารมณ์ตัวเอง เอาแต่ความอยากของตัวเอง คิดๆ แล้วก็น่าสงสารทำให้ตกนรกทั้งเป็นนะ ทำให้ครอบครัวแตกแยก ทำให้ครอบครัวมีปัญหา เป็นปัญหาในครอบครัว ยังไม่พอยังเป็นปัญหาสังคม
คนเราส่วนใหญ่นี้ไม่รู้จักความอยากนะ พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราทำตามความอยากให้ทำตามความถูกต้อง เราทุกคนไม่ค่อยจะมีสมาธิกัน ไม่มีความอดความทน ปัญหาที่มันไม่มีมันก็เลยมี ปัญหาที่เล็กๆ มันก็ค่อยใหญ่ขึ้นอีก การทำตามใจตัวเองทำตามความอยากเป็นการสร้างภพสร้างชาติ สร้างความทุกข์ สร้างปัญหา ปัญหาของเราน่ะมันไม่ได้จบลงเพียงแค่ เรานะ มันเดือดร้อนถึงคุณพ่อถึงคุณแม่ ถึงผู้ที่อยู่ในครอบครัวของเรา
พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้มีความสุขในการเสียสละ มีความสุขในการทำงาน มีความสุขมาก สบายมาก
วันหนึ่งๆ ให้เราคิดเสมอว่า เราได้เสียสละอะไรไปบ้าง? คนเราน่ะมันรักสุขเกลียดทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เรารักความทุกข์ ความเหนื่อยยากลำบาก เราต้องเสียสละ ถ้าเรารักความสุข เราก็จะเป็นคนขี้เกียจขี้คร้านเอาเปรียบคนอื่น ทำอาชีพบนหลังคนอื่นเค้า ไม่ทำก็อยากได้ ทำน้อยก็อยากได้มาก
"ต้องเสียสละนะ" เพราะภาระของเราก็คือดูแลตัวเอง ดูแลคุณพ่อคุณแม่ ลูกๆ หลานๆ ตลอดพี่น้องพ้องบริวาร ดูแลประเทศชาติ
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า... "ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความขี้เกียจขี้คร้าน ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า"
พระพุทธเจ้าท่านเกียจคร้านไม่เป็น ถ้าเกียจคร้านนั้น...ไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านไม่มีโลกส่วนตัว มีแต่โลกที่เป็นผู้ให้ คนที่ไม่ขยันเป็นคนขี้เกียจ เค้าเรียกว่าเป็นคนที่ติดอดีต ติดในภพ ในชาติ ไม่เข้าถึงธรรมะ ไม่เข้าถึงปัจจุบัน
เมื่อเราไม่เข้าถึงปัจจุบัน เราก็มีแต่เรื่องเก่าๆ มีแต่ความรู้เก่าๆ เราก็ไม่ได้พัฒนาตัวเอง เพราะเรามันติด เรามันหลง มีความเครียดมาก มีโลกส่วนตัวมาก
พระพุทธเจ้าท่านถึงเมตตาสอนเรา ให้เราพากันมาพัฒนา ปัญหาต่างๆ ภายนอกมันมีมาก แต่ท่านให้เรามาแก้ที่ตัวของเราเอง มาแก้ที่จิตใจของเรา แก้ที่การกระทำ แก้ที่กิริยามารยาทของเรา มาแก้ที่คำพูดของเรา พยายามเน้นมาหาที่ตัวเรา
พระพุทธเจ้าท่านสอนเราทุกคนว่า... เกิดมาเพื่อสร้างความดีสร้างบารมีอย่างนี้นะ ไม่ใช่เกิดมาเพื่อติดสุขติดสบาย ทำอย่างไรจะหาเงินหาสตางค์ได้เยอะ เราต้องเก่งเพื่อจะหาเงินหาสตางค์ ...ไม่ใช่อย่างนั้น... ถ้าเราคิดอย่างนั้นมันก็เหมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ เราก็ไม่ได้สร้างความดีสร้างบารมี
บางคนก็คิดว่า ถ้าเราจะสร้างแต่ความดีสร้างบารมีเราจะไม่จนแย่เหรอ คนเราก็คิดไป... มันจะจนไปได้อย่างไร เพราะเราเป็นคนขยัน เป็นคนฉลาด มันจะจนได้อย่างไร เพราะเราเป็นคนมีคุณธรรม เพื่อนๆ เค้าก็รักเรา นับถือเรา เครดิตเราก็ดี มีทั้งเงินทั้งสตางค์ มีทั้งเพื่อนที่ดี ทุกๆ คน รักคนดีทั้งหมด ยอมรับคนดีทั้งหมด นี้เราเป็นทั้งคนดี...มีเงินมีสตางค์ ถ้าเราเป็นคนดีอย่างนี้ เรตติ้งของเรามันก็ขึ้นเอง มันก็สูงเอง
อย่างคนมีศีล ๕ ทุกคนรักเคารพนับถือหมด แม้แต่ตัวเราก็เคารพนับถือในตัวเราถ้าเรามีศีล ๕
ศีล ๕ คืออะไร? ศีล ๕ ก็คือความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง
ศีล ๕ คือความขยันหมั่นเพียร คือการเสียสละ มีเมตตาคนอื่น สงสารคนอื่น เป็นคนไม่มีพยาบาท เป็นคนไม่เครียด มองโลกในแง่บวก ในแง่ดี เป็นเพื่อนได้กับคนที่เค้าดีและไม่ดี มีเมตตาหมด มีความสุขในการทำงาน ในการเสียสละ เป็นคนกตัญญกตเวทีต่อคุณพ่อคุณแม่ เป็นคนที่รู้จักบุญคุณคนอื่น ตั้งอยู่ในความดี คนไหนอยู่ใกล้ก็รักก็สงสาร
ไม่ใช่คนอยู่ใกล้ไม่ถูกกัน ไปรักไปชอบคนอยู่ไกลๆ โน้น... อย่างนี้เป็นคนที่ใช้ไม่ได้... ทำงานอยู่ด้วยกันก็ไม่รักกัน ไม่สงสารกัน ไม่ให้กำลังใจกัน ต้องให้ความรักความเมตตา ให้กำลังใจคนใกล้ตัวเรามากที่สุด และผู้มีพระคุณ สังคมถึงจะเกิดความผาสุกสงบได้
ศีล ๕ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ามันดีอย่างนี้แหละ มันช่วยเหลือเรา ช่วยเหลือครอบครัวเรา ถ้าเราเป็นคนกลัวศีล ๕ ไม่ชอบศีล ๕ คิดว่า ศีล ๕ มาบั่นทอนความสุขเรา มาบั่นทอนเสรีภาพของเรา อันนี้เป็นความเห็นผิด มันเป็นคนรักสุขเกลียดทุกข์ ศีล ๕ เป็นสมบัติของทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ถ้าเราไม่มีศีล ๕ เราก็เป็นได้แต่เพียงคน ถ้าเป็นคนก็ทำทั้งดีทั้งชั่ ทั้งถูกทั้งผิด อันนี้ เค้าเรียกว่า 'คน' มนุษย์ แปลว่า ผู้ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่ความดี ถ้าเราเป็นปัญญาชน พระพุทธเจ้าท่านก็ให้เราพัฒนาเป็นอริยชน จึงจะได้เป็นมนุษย์
สมาธิ แปลว่าความสุข แปลว่าความสงบ ถ้าใจของเราสงบถือว่าเรามีสมาธิ สมาธิไม่ได้เกี่ยวกับการนั่ง ยืน เดิน นอน สมาธิอยู่ที่ใจสงบ ถ้าเรามีความสุขในการทำงานอย่างนี้ เขาเรียกว่ามีสมาธิในการทำงาน เรามี ความสุขในการเดิน เรียกว่ามีสมาธิในการเดิน เวลานอนอย่างนี้ เรามีความสุขในการนอน เราไม่คิดอะไร เขาเรียกว่าเรามีสมาธิในการนอน เวลาเราพูดกับใคร ก็ให้เรามีความสุขในการพูด อย่างนี้เค้าเรียกว่า คนมีสมาธิ สมาธินี้ช่วยเราทุกๆ อย่างเลย ไม่ว่าเรื่องการเรื่องงานเรื่องเรียน ให้เรามีความสุขในการทำสิ่งเหล่านี้ ให้กายกับใจให้มันอยู่ด้วยกัน ให้ใจของเราอยู่กับหน้าที่นั้นๆ เรียกว่า ความตั้งใจมั่นชอบ
ชีวิตของเราก็จะมีความสุข มีหัวใจที่มีความสุข ขึ้นสวรรค์ตั้งแต่ยังไม่ตาย มีหัวใจติดแอร์คอนดิชั่นทั้งวัน เป็นผู้หยุดได้เย็นได้ รอกาล รอเวลาได้ ไม่เผาตัวเอง มีสติสัมปชัญญะดี มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ คนเรามีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์มันชอบเผาจิตเผาใจตัวเอง สมาธิมันถึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อทุกๆ คน ชีวิตของคนเราถึงจะมี ความสุข ปัญญาของเรามันถึงจะเกิด
หลวงปู่มั่นสอนว่า “ความไม่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และแน่นอน ความยิ่งใหญ่คือความไม่ยั่งยืน ชีวิตที่ยิ่งใหญ่คือชีวิตที่อยู่ด้วย ทาน ศีล เมตตาและกตัญญู ชีวิตที่มีความดีอาจมิใช่ความยิ่งใหญ่แต่ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ต้องอาศัยคุณธรรมความดีเท่านั้น”
หวังว่าทุกคนจะสมาทานเอาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอามาใช้เอามาประพฤติปฏิบัติเพื่อความผาสุก ความสงบ เพื่อความร่มเย็นของตัวเอง และก็ครอบครัว ตลอดจน...ประเทศชาติ
เราจะทั้งปฏิบัติให้ดู แล้วก็จะได้พูดให้เค้าฟัง เพื่อจะได้นำความดับทุกข์ที่มันถูกต้องให้กับส่วนรวม ที่กำลังแสวงหาความดับทุกข์กัน
ขออนุโมทนากับทุกๆ ท่านนะ ที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ถือว่าท่านได้เดินทางถูกต้องเป็น สุคโต อยู่ก็ดีไปก็ดีด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ.
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee