แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๑๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๗๑ ขันธ์ ๕ หรือชีวิตนี้เป็นภาระต้องแบกหนักจริงหนอ เมื่อวางภาระลงเสียได้ย่อมเป็นสุข
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การปฏิบัติธรรมมันต้องติดต่อต่อเนื่อง ด้วยความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องแล้วติดต่อต่อเนื่องให้เหมือนกับสายน้ำที่มันไหลไปสู่ทะเลไปสู่มหาสมุทรไม่มีสิ่งใดมาขวางกั้น สำหรับคฤหัสถ์ให้นอน ๖ ชั่วโมงถึง ๘ ชั่วโมง เวลาตื่นอยู่ของฆราวาส ๑๖-๑๘ ชั่วโมง เวลาที่ตื่นอยู่นี้เป็นเวลาของการทำงานการปฏิบัติธรรมสำหรับเด็กเล็ก ๑๐ ชั่วโมงถึง ๑๒ ชั่วโมง การนอนหรือการพักผ่อนของพระ ใช้เวลานอนเวลาพักผ่อนวันนึง ๖ ชั่วโมง เวลาตื่นอยู่ ๑๘ ชั่วโมง เป็นเวลาที่เจริญสติสัมปชัญญะ เพื่อให้เป็นสติปัฏฐานทั้ง ๔ เพื่อที่จะได้ปฏิบัติธรรมติดต่อต่อเนื่องเหมือนกับสายน้ำ พระเราต้องเจริญสติรู้ตัวทั่วพร้อม เจริญสัมปชัญญะคือตัวปัญญา สติคือความสงบ สัมปชัญญะนั้นคือตัวปัญญา เราจะได้ทั้งความสงบได้ทั้งปัญญาไปพร้อมๆ กัน
พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีแนวทางแห่งการประพฤติแห่งการปฏิบัติอย่างนี้ เพราะใจของคนเรามันคิดได้ทีละอย่าง ถ้าเรามีสติคือความสงบมีสัมปชัญญะคือตัวปัญญา การที่เราจะไปตรึกในกามในพยาบาท ก็จะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะสติเพราะสัมปชัญญะเรามีทั้งความสงบมีทั้งปัญญา ตัวสติตัวสัมปชัญญะมันจะเป็นตัวที่อบรมบ่มอินทรีย์ให้ติดต่อต่อเนื่องเป็นสายน้ำ มันจะตัดกระบวนการแห่งการเวียนว่ายตายเกิด
การปฏิบัติธรรมนั้นน่ะ มันเป็นอริยมรรคที่มันเกี่ยวข้องกับการกับใจของเรา เราทุกคนที่เกิดมามันมี ๒ อย่างคือกายก็อย่างหนึ่ง ใจก็อย่างหนึ่ง เราต้องปฏิบัติการให้ถูกต้อง ปฏิบัติใจให้ถูกต้อง เพื่อที่จะเป็นทางสายกลาง เราทุกคนต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องแล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง เรามีความสุขในการปฏิบัติธรรม มีความสุขในการทำงานไปพร้อมๆ กัน ความรู้ความเข้าใจนี้เรียกว่าพุทธะ คือรู้ขบวนการแห่งความดับทุกข์ รู้เรื่องของกายรู้เรื่องของใจ เพื่อจะให้อาหารกายอาหารใจไปพร้อมๆ กัน เพื่อเราทุกคนจะได้ครองธาตุครองขันธ์ครองอายตนะ เพื่อพุทธะคือปัญญา ไม่ใช่อวิชชาไม่ใช่ความหลงที่ครองใจของพวกเรา เราทุกคนต้องสละคืนซึ่งนิติบุคคลซึ่งตัวซึ่งตน ด้วยสติคือความสงบด้วยสัมปชัญญะตัวปัญญา เมื่อเรามีสติมีสัมปชัญญะ สติสัมปชัญญะนี่แหละจะตัดเรื่องอดีตที่เป็นกระบวนการแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อเราได้พักผ่อนวันนึงคืนนึงเป็นเวลา ๖ ชั่วโมง ระบบสมองของเราทุกๆ คน ถึงจะสามารถควบคุม Control สั่งการสั่งงานให้มีประสิทธิภาพ ความสุขที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มันจะเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงการประพฤติการปฏิบัติธรรมของเรา เป็นการหล่อเลี้ยงในการทำงานของเรา ใจของเราก็จะเข้าถึงปีติสุขเอกัคคตารมณ์อยู่ในปัจจุบัน เราปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องมันจะเป็นสัมมาสมาธิที่เปรียบเสมือนสายน้ำ เป็นปัญญาที่รู้ทุกข์รู้เหตุเกิดทุกข์รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ที่ทุกคนต้องก้าวไปด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญาเหมือนสายน้ำติดต่อต่อเนื่องไม่ขาดสาย จึงเป็นพุทธะที่ครองจิตครองใจครองธาตุครองขันธ์ของเรา
การที่หยุดเวียนว่ายตายเกิดก็เพราะหยุดได้ด้วยเหตุด้วยปัจจัย ด้วยความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เมื่อเราสละคืนซึ่งตัวตน สติสัมปชัญญะของเราถึงจะเกิดได้ เพราะใจของเรามันมีสิ่งเดียว เราสลัดคืนซึ่งตัวซึ่งตน สิ่งที่มันเป็นกรรมเขาก็ต้องหยุดทำงาน ความอยากความไม่อยาก พระพุทธเจ้าให้เรารู้จากหน้ารู้จักตาของมัน เราอย่าได้พากันตรึก ด้วยการรู้ทุกข์รู้เหตุเกิดทุกข์รู้ข้อปฏิบัติของความดับทุกข์ เพราะใจของเรามันคิดได้ทีละอย่าง ให้ทุกท่านทุกคนจำไว้ให้ดีๆ ว่าใจของเรามันคิดได้ทีละอย่าง ตัวสติตัวสัมปชัญญะเป็นตัวหยุดวงจรของการเวียนว่ายตายเกิด ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ตัดกระบวนการเวียนว่ายตายเกิด ของกระบวนการปฏิจจสมุปบาท
นักบวชทั้งหลายเราก็พากันรู้ เพราะการหยุดกระบวนการของกระแสปฏิจจสมุปบาท มันอยู่ที่เรามีสติมีความสงบ มีสัมปชัญญะที่เราไม่เอาตัวตนเป็นที่ตั้งในปัจจุบัน ถึงเราจะมีร่างกายเกิดแก่เจ็บตายพลัดพราก สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นอุปกรณ์ให้เราได้ประพฤติได้ปฏิบัติ ให้ทุกคนกลับมาหาสติมารู้ตัวทั่วพร้อม กลับมาหาสัมปชัญญะที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราจะได้ไม่วิ่งไปตามอวิชชาวิ่งไปตามความหลงของเราไปเรื่อย ของน่ะมีอยู่ ถ้าเราไม่เอามาแบก มันก็ไม่หนัก ตัวตนเป็นสิ่งที่มีอยู่ เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง เราสละคืนซึ่งเสียตัวตน มันก็ไม่มีความเกิดความแก่ความเจ็บความตายความพลัดพราก ถ้าเราสลัดคืนมันก็ไม่มี ใจของเราที่สละคืนซึ่งตัวซึ่งตน จะเป็นใจที่ไม่แบกไม่ยึดไม่ถือ เพราะเป็นใจที่มีแต่สติมีแต่สัมปชัญญะ
พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงภาระ ผู้แบกภาระ เครื่องถือมั่นภาระ และเครื่องวางภาระ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภาระเป็นไฉน? พึงกล่าวว่า ภาระ คืออุปาทานขันธ์ ๕ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? คือ อุปาทานขันธ์ คือรูป อุปาทานขันธ์ คือเวทนา อุปาทานขันธ์ คือสัญญา อุปาทานขันธ์ คือสังขาร และอุปาทานขันธ์ คือวิญญาณ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าภาระ.
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้แบกภาระเป็นไฉน? พึงกล่าวว่าบุคคล บุคคลนี้นั้น คือ ท่านผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าผู้แบกภาระ.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เครื่องถือมั่นภาระเป็นไฉน? ตัณหานี้ใด นำให้เกิดภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน มีปกติเพลิดเพลินยิ่งในภพหรืออารมณ์นั้นๆ ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าเครื่องถือมั่นภาระ.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็การวางภาระเป็นไฉน? ความที่ตัณหานั่นแลดับไปด้วย สำรอกโดยไม่เหลือ ความสละ ความสละคืน ความพ้น ความไม่อาลัย. ดูกรภิกษุทั้งหลายนี้เรียกว่าการวางภาระ. พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกในภายหลังว่า ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ภารหาโร จ ปุคฺคโล ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก ภารนิกฺเขปนํ สุขํ
นิกฺขิปิตฺวา ครุง ภารํ อญฺญํ ภารํ อนาทิย สมูลํ ตณฺหํ อพฺพุยฺห นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโตติ
ขันธ์ ๕ ชื่อว่าภาระแล และผู้แบกภาระคือบุคคล เครื่องถือมั่นภาระเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ในโลก การวางภาระเสียได้เป็นสุข บุคคลวางภาระหนักเสียได้แล้ว ไม่ถือภาระอื่น ถอนตัณหาพร้อม ทั้งมูลรากแล้ว เป็นผู้หายหิว ดับรอบแล้ว ดังนี้”
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า ชีวิตของเรานั้น ตามหลักธรรม ก็ได้แก่คำว่า เบญจขันธ์ หรือ ขันธ์ ๕ หมายความว่า ชีวิตของเราประกอบขึ้นจากหน่วยย่อยๆ ต่างๆ จัดเข้าเป็นหมวดเป็นหมู่ ได้ ๕ หมวด เรียกว่า ขันธ์ ๕ คือ ๕ กอง หรือ ๕ ประเภท หน่วยย่อยที่รวมกันเป็น ๕ ประเภทนี้ ก็ได้แก่ ๑. รูป คือ สิ่งที่เป็นร่างกาย สิ่งที่เป็นรูปธรรม
๒. เวทนา ความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์
๓. สัญญา ความจำได้หมายรู้ การกำหนดรู้จักสิ่งรู้ต่างๆ
๔. สังขาร คือ ความนึกคิดต่างๆ ตลอดจนความดี ความชั่ว ที่ประกอบกับความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น เป็นคุณสมบัติของจิตใจ ปรุงแต่งใจของเราให้เป็นไปต่างๆ ปรุงแต่งใจเสร็จแล้วก็ปรุงแต่งความคิด ปรุงแต่งเป็นการพูด และการกระทำต่างๆ ที่แสดงออกทางกาย
๕. วิญญาณ คือ ตัวความรู้ ที่ทำงานทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น ลิ้มรส อะไรต่างๆ เหล่านี้
ทั้งหมดนี้เรียกว่าขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ประกอบกันเข้าเป็นชีวิตของเรา ว่าที่จริงที่เราเป็นอยู่ หรือที่เรามีชีวิตอยู่นี้ ก็เหมือนกับว่าเราแบกขันธ์ ๕ ของเราอยู่ตลอดเวลา แบกแล้วก็พามันไป แล้วก็บริหาร ประคับประคอง บางครั้งเป็นเพียงบริหาร แต่บางครั้งก็ถึงกับประคับประคอง
ที่ว่า แบกหาม บริหาร ประคับประคองนี้ ก็เห็นได้ง่ายๆ เริ่มแต่ส่วนที่ปรากฏชัดที่สุด คือ ร่างกายหรือรูปขันธ์
รูปขันธ์ นี้ชัดมาก ร่างกายของเรานี้เราต้องคอยบริหารและต้องบริการมันตลอดเวลา เราต้องถือเป็นภาระ วันหนึ่งๆ โยมต้องให้เวลาแก่ร่างกายนี้มาก ตื่นนอนขึ้นมาก็ต้องพาไปล้างหน้า ถึงเวลาเย็นก็พาไปอาบน้ำ แล้วก็ทำกิจต่างๆ ต้องจัดที่ให้อยู่ ต้องหาอาหารให้รับประทาน บำรุงเลี้ยงไว้ หาปัจจัย ๔ มาอุปถัมภ์ค้ำจุนอยู่ตลอดเวลา
ร่างกายนี้ แม้แต่จะเดินไปสักหน่อย เราก็ต้องแบกมันไป บางทีเราไม่รู้ตัวหรอกว่า ต้องแบกมัน จนกระทั่งเหนื่อยขึ้นมาจึงรู้ตัวว่า โอ้โฮ มันก็หนักเหมือนกัน จะเห็นได้ชัด เช่น เวลาเดินขึ้นภูเขา จึงรู้ตัวว่า แหม! ร่างกายของเรานี้ หนักไม่ใช่น้อยๆ เลย เราแบกหนักเยอะทีเดียว ก็เป็นอย่างนี้แหละ
ที่จริงเราต้องเหน็ดต้องเหนื่อย ต้องแบกร่างกายของเราอยู่ตลอดเวลา ต้องบริหารประคับประคอง ต้องระวังไม่ให้ไปถูกอะไรบาดเจ็บ ไม่ให้เจ็บป่วยไข้ ถ้าเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ก็ต้องรักษา รวมความว่ามันไม่ใช่ของที่ยั่งยืน เราจึงต้องคอยระวัง ทีนี้ถ้าเกิดเพลี่ยงพล้ำขึ้นมา เกิดโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาเบียดเบียน เราก็ต้องบริหารประคับประคอง ต้องเอาหยูกเอายามารักษา ต้องปฏิบัติตัวต่างๆ ซึ่งอยู่ในกระบวนการที่เรียกว่า รักษาเยียวยา เพื่อที่จะให้หายโรค ตลอดชีวิตของเรานี้ วันเวลาผ่านไปกับการบริหารขันธ์ ๕ ในส่วนรูปธรรมเยอะทีเดียว แค่นี้ก็เห็นชัดว่า สำหรับส่วนที่ปรากฏที่สุดนี้ เราต้องหมดเวลาไป อย่างที่เรียกว่า อุทิศเวลาให้แก่ร่างกายที่เป็นขันธ์แรกนี้มากเท่าไร แต่ไม่ใช่เท่านี้หรอก
ขันธ์ต่อไป เราก็ต้องคอยเป็นภาระบำรุงอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน แต่มันเป็นนามธรรม บางทีโยมก็มองไม่ค่อยเห็น ได้แก่ เวทนา คือ ความรู้สึกสุข ทุกข์ แม้ว่ามันจะเป็นนามธรรม และมองไม่เห็น แต่ที่จริงเราต้องแบกภาระและรับใช้มันมาก การที่เราดำเนินชีวิตอยู่ส่วนมาก ก็คือการใช้เวลาในการที่จะแสวงหาความสุข หาอะไรมาปรนเปรอให้มันได้มีความสุข การที่เราทำอะไรต่ออะไรวุ่นวายกันนี่ มีจุดประสงค์สำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือ การหาความสุข เพราะฉะนั้น เราจึงต้องแบกภาระที่จะรับใช้เวทนาขันธ์
นอกจากหาความสุขแล้ว ภาระอันหนึ่ง ก็คือ เราต้องหลีกเลี่ยงความทุกข์ การบริหารชีวิตของเราก็เพื่อหลบเลี่ยงความทุกข์นี้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญประการหนึ่ง มองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่าเราหมดเวลาไปกับการที่จะหาความสุข แล้วก็หลีกเลี่ยงความทุกข์ แต่ก็ไม่ใช่แค่นี้ เมื่อมองดูขันธ์ต่อไป เราก็รับใช้และบริหารอีก
สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ หรือการกำหนดหมาย ทำความรู้จักสิ่งต่างๆ เราจะอยู่ในโลกได้ เราจะต้องกำหนดหมายอะไรต่ออะไรเพื่อให้รู้จักสิ่งต่างๆ ต้องจำได้ว่า อันนี้เป็นอันนี้ ว่าอะไรเป็นอะไร เริ่มต้นตั้งแต่เด็กเล็กๆ เกิดมาไม่นาน พ่อแม่ก็ต้องสอนแล้วว่า เอ้อ! กำหนดรู้จักไว้นะ อันนี้คืออันนี้ เราต้องเรียนรู้มากมาย ต้องเข้าโรงเรียน
การเข้าโรงเรียนก็เพื่อไปรับใช้สัญญานี่แหละมาก คือต้องไปทำความรู้จัก อันโน้น อันนี้ มากมาย เสร็จแล้วต่อมา สัญญาก็ไม่มั่นคง พออยู่มานานขึ้น สัญญาก็เสื่อมลง กำหนดจำอะไรไม่ค่อยได้ ก็เป็นปัญหาอีกแล้ว คราวนี้เป็นภาระหนักทีเดียว มันบีบคั้นชีวิตของเราเพราะว่าเราจะต้องเดือดร้อนเพราะสัญญาของเราไม่ดี และเราก็ต้องประคับประคองบริหารมัน
สัญญานี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เราอยากจะดูโทรทัศน์ อยากจะฟังวิทยุ ก็เพื่อสนองสัญญาด้วย เราจำได้หรือกำหนดหมายไว้ว่าอันนี้เราพอใจ ถูกใจ เราก็อยากจะดูอันนี้ต่อ แล้วสัญญาก็คอยมาทวงอยู่เรื่อย นี่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แล้วต่อไป
สังขาร ความคิดปรุงแต่ง ก็เป็นตัวการใหญ่อีกเหมือนกัน คนเราใจอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องคิด เมื่อคิดไปๆ เราก็ต้องหาข้อมูลมาให้มัน ต้องใช้พลังงานในการคิดนั้น ถ้าคิดไม่ดีบางทีก็วุ่นวายใจ ถ้าคิดดีก็สบายไป
ที่นี้ คิดแล้วไม่พอ คิดแล้วก็อยากจะพูดอยากจะทำอีก ก็พูดและทำไปตามที่คิดนั่นแหละ การที่เราทำไปตามที่คิดนี้ เป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต คนเราจะทำอะไรก็เริ่มต้นมาจากคิดก่อน คิดปรุงแต่งไปอย่างไรก็พาชีวิตไปอย่างนั้น คนที่ขยัน คนที่ทุจริต คนที่ไปลักไปโกง คิดอย่างไรก็นำพาชีวิตของเขาไปอย่างนั้น เราก็ต้องแบกรับภาระกับความคิดของเราเรื่อยไป อันนี้ก็เป็นภาระใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง
ตกลงว่า สังขารนี้เป็นขันธ์ที่เราต้องแบกต้องหาม ต้องบริหารอย่างสำคัญ ถ้าเราจะให้ชีวิตของเราดำเนินไปดี เราก็ต้องบริหารสังขารของเราให้ไปในทางที่ถูกต้อง คือให้เป็นความคิดที่ดีงาม เป็นการสร้างสรรค์ เป็นคุณประโยชน์ ต้องหลีกเลี่ยงความคิดที่เป็นโทษ ที่นำไปสู่ความเสียหาย คนที่จะทำความดี ก็เป็นภาระในการที่จะต้องระวังความคิดของตนเอง ระวังการกระทำของตนเอง และนี่ก็เป็นภาระอันสำคัญ แล้วต่อไปสุดท้าย
วิญญาณ คือ ตัวรู้ที่ออกมาทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ที่เรียกว่า เห็น ได้ยิน เป็นต้น ชีวิตเราแต่ละวันนี้ หมดไปกับเรื่อง เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ดู ฟังอะไรต่างๆ เหล่านี้ ทั้งวันเลย จนกระทั่งเราแทบจะพูดได้ว่า ชีวิตของเราก็คือ การได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ได้สัมผัส แล้วก็ได้มีความรู้สึกทางจิตใจ อันนี้คือตัววิญญาณ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่มีบทบาทนำพาชีวิตของเราไป เราต้องบริหารมัน ต้องรับใช้มัน
นี่แหละคือขันธ์ ๕ นี่แหละคือทั้งหมดของชีวิตเรา เราทำอะไรต่างๆ ดำเนินชีวิตไปทั้งหมด เป็นการบริหารขันธ์ ๕ นี้ทั้งนั้น มันเป็นของหนัก เราจะต้องเพียรพยายามให้ มันอยู่ได้ด้วยดี แม้แต่เพียงให้มันอยู่รอด ก็นับว่าเป็นภาระที่หนักอยู่แล้ว
แต่ทีนี้ ซ้ำหนักยิ่งกว่านั้นอีก ก็คือ เรามีความยึดในชีวิตร่างกายเป็นตัวตนขึ้นมา ว่าร่างกายนี้ จิตใจนี้ เป็นตัวของเรา พอยึดตัวเรา ก็จะมีของเรา พอมีของเราขึ้นมา ตัวเราก็จะไปจับโน่นจับนี่เพิ่มขึ้นมาขยายตัวของเราออกไป แล้วก็จะแบกภาระมากขึ้นตามลำดับ ไม่เคยมีบ้าน เราก็มามีบ้าน ไม่เคยมีข้าวของทรัพย์สมบัติ เราก็มีสมบัติ พอมีอะไรเข้ามาเป็นของของเรา เราก็แบกสิ่งนั้นเพิ่มเข้าไป
เป็นอันว่า นอกจากตัวชีวิตของเราแล้ว เราก็แบกสิ่งอื่นเพิ่มเข้ามา ยิ่งใครมีมากเท่าไร ก็แบกมากเท่านั้น จนเต็มไปหมด อันนี้ก็เกิดจากอาการของใจที่เรียกว่า ความยึดมั่นถือมั่น แต่เริ่มต้น ก็คือ ความยึดในตัวเราก่อน เมื่อมีการยึดในตัวเราก็จะมีของเรา แล้วภาระในการแบกก็จะมีมากขึ้นตามลำดับ นี้แหละคือชีวิตของมนุษย์ที่มันเป็นภาระ เมื่อแบกไปๆ ในที่สุดก็เหนื่อย เข้าหลักที่พระท่านบอกว่า ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา แปลตามตัวอักษรว่า ขันธ์ ๕ หรือ เบญจขันธ์ นี่เป็นภาระเหลือเกิน
แปลเป็นภาษาไทยก็อาจจะได้ความว่า ‘ชีวิตนี้ต้องแบกหนักจริงเน้อ!’ ทำนองนี้ เราต้องแบกชีวิตของเราไปอยู่อย่างนี้ จนกระทั่ง บางเวลาก็อาจจะคิดขึ้นมาว่า เอ๊ะ ถ้าวางมันลงได้เราคงสบาย มีความสุข
ทีนี้ การแบกภาระอะไรต่างๆ นี้ ถ้าว่าตามทางธรรมแล้ว มันอยู่ที่ใจไปแบก การวางใจไม่ถูกต้องเป็นตัวแบก ทำให้เกิดปัญหา เป็นทุกข์ เป็นภาระ ถ้าหากว่าใจไม่ไปยึด ไม่ไปติด ไม่ไปถือค้างไว้ ถึงแม้มันจะเป็นภาระ มันก็เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเราวางใจให้ถูกต้อง ก็ทำตามหลัก ตามหน้าที่ แล้วเราก็สบาย
อย่างร่างกายของเรา ก็รู้ว่ามันเป็นขันธ์ มันไม่เที่ยง ตกอยู่ในพระไตรลักษณ์ เรารู้เท่าทัน มีอะไรที่ต้องปฏิบัติก็ทำไป แต่ไม่เกิดความยึดติดถือมั่น ไม่ยกเอาความปรารถนาขึ้นมาต่อต้านกฎแห่งธรรมชาติ หรือกฎแห่งความเป็นจริง ถ้าเราไม่ถือเอาไม่พาให้ความปรารถนานั้นมาขัดแย้งกับความจริงของธรรมชาติแล้ว ก็จะเบาลง เพราะการที่เรารู้เท่าทันนั่นเอง เราก็ปฏิบัติไปตามเหตุผล ก็เป็นเรื่องสบายๆ ท่านเรียกว่า วางใจให้ถูกต้อง
ตกลงว่า ตัวที่เป็นภาระ ตัวที่หนักอยู่ที่การวางจิตใจไม่ถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย คือ ความยึดติดถือค้างเอาไว้ในใจ แล้วก็แบกเอาไว้ในใจ ก็เลยเป็นภาระหนัก ทีนี้ ถ้าวางใจให้ถูกต้องแล้ว ก็เป็นการปลงภาระลงได้ แม้เราจะยังดำเนินชีวิตอยู่อย่างนี้ เรายังทำกิจหน้าที่การงาน ยังต้องแสวงหาอาหารมารับประทาน แม้ว่ามันจะเป็นภาระอยู่ส่วนหนึ่ง แต่เมื่อวางใจให้ถูกต้องมันก็สบายขึ้น อันนี้แหละคือจุดสำคัญ ตัวที่ทำให้เราหนัก ก็คือ ความยึดถือ หรือ ถือค้างไว้ ท่านบอกว่า ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก การถือเอาภาระนี้แบกค้างไว้ เป็นทุกข์ในโลก นี้ก็เพราะเราแบกค้างใจไว้น่ะ ทุกคนมีภาระอยู่ในโลก แบกขันธ์ ๕ แบกอะไรต่างๆ อยู่แล้ว มันเป็นภาระ แต่มันเป็นภาระที่เป็นไปตามกฎธรรมดา ก็ปล่อยให้เป็นไปอย่างนั้น อย่าไปถือค้างใจไว้อีกส่วนหนึ่ง ถ้าเราถือค้างใจไว้อีกส่วนหนึ่ง เราถือตัวตนซ้ำสำทับเข้าไป ยึดมั่นในตัวตนของเรา ในของของเรา ตัวตนนี่แหละ เป็นตัวการสำคัญที่จะเป็นภาระใหญ่
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนว่า ต้องวางใจให้ถูกต้องแล้วก็วางภาระลงเสีย ถ้าวางภาระลงได้ ก็จะมีความสบาย เบาลงไป ชีวิตนี้ก็จะมีความปลอดโปร่ง จะมีความเบาทุกข์ หรือหายจากทุกข์ หมดทุกข์ไปเลย และก็จะมีความสุข ความโล่ง ฉะนั้น จึงมีคาถาพุทธภาษิต ที่ตรัสไว้ว่า
ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ ๕ หรือชีวิตนี้เป็นภาระต้องแบกหนักจริงเน้อ
ภารหาโร จ ปุคฺคโล ตัวคนแต่ละคนนี่แหละ เป็นผู้แบกภาระ
ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก การถือภาระแบกค้างไว้เป็นทุกข์ในโลก
ภารนิกฺเขปนํ สุขํ วางภาระลงเสียได้เป็นสุข
ตกลงว่า ลงท้ายเป็นสุข พระพุทธเจ้าท่านสอนเรา ลงท้ายต้องให้เราเป็นสุข ไม่ให้เราเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้นหรอก สอนเราเพื่อให้เราหมดทุกข์ มีความสุข ท่านไม่ได้สอนเรา เพื่อให้เรามีความทุกข์ ท่านสอนเราเพื่อให้เราปฏิบัติได้ถูกต้อง เพื่อให้เราหมดทุกข์
ตกลงจุดหมายก็ไปอยู่ตรงท้าย บอกว่า วางภาระลงเสียได้ แต่มิใช่หมายความว่า ตัดความรับผิดชอบ เลิกทำหน้าที่อะไรต่างๆ มิใช่อย่างนั้น สิ่งที่จะพึงปฏิบัติไปตามธรรมดาของเหตุผลก็ทำไป ร่างกายของเรานี้ต้องบำรุงรักษาเยียวยาด้วยปัจจัย ๔ เราก็รักษามันไป ทำให้ถูกต้องด้วยความไม่ประมาท แต่ว่าใจของเรานี่แหละวางให้ถูกต้อง คือ ไม่ไปยึดติดถือมั่นค้างไว้ ไม่ไปแบกภาระไว้ เมื่อทำใจถูกต้องแล้ว มันก็โปร่งก็เบา ท่านเรียกว่า เป็นการวางภาระลงได้
พระอรหันต์ท่านมีคุณสมบัติสำคัญ คือ เป็นโอโรหิตภาโร แปลว่า ผู้มีภาระอันวางลงแล้ว คือเป็นผู้วางภาระลงได้ เหมือนกับว่าเมื่อก่อนนี้ เอาภาระอะไรแบกไว้บนบ่า เดินไปก็แบกเรื่อยไปเลย หลายท่านนี่ตลอดเวลาใจไม่เคยว่าง เพราะเอาอะไรๆ มาค้างใจไว้ แบกอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็มีความทุกข์หนักอยู่ตลอดเวลา พอปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องวางใจถูกต้อง อย่างพระอรหันต์ ก็วางลงได้ ก็ปฏิบัติไปตามความสัมพันธ์ ตามความจำเป็นที่ต้องเกี่ยวข้อง เรามีหน้าที่ต้องเกี่ยวข้อง เราก็ทำไป แต่ไม่มาถือค้างใจอยู่ พอไม่ค้างใจ เราก็เบา สบาย เรียกว่า ปลงภาระลงได้
ผู้ที่เกิดมา ผู้ที่ท่องเที่ยวในวัฏสงสาร ต้องมีขันธ์ ๕ เช่น ถ้าไม่มีขันธ์ ๕ ก็ไม่ครบองค์ประกอบ ขันธ์แต่ละขันธ์ก็จะทำหน้าที่ของตัวเอง ขันธ์พวกนี้ก็คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตน เราทุกคนต้องเอาขันธ์ทั้ง ๕ มาพิจารณาเพื่อจะให้เป็นวิปัสสนา เพื่อจะได้ให้ขันธ์ ๕ ให้เป็นของบริสุทธิ์หมดจด ที่ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติให้มันถูกต้อง เราทุกคนจะได้เข้าใจ จะได้ประพฤติปฏิบัติ เราจะได้ใช้ขันธ์ทั้ง ๕ นี้มาพัฒนาให้ใจของเราได้เกิดปัญญา ได้เกิดการภาวนา การปฏิบัติเน้นลงที่ปัจจุบัน เราก็จะเน้นอย่างนี้ ทุกอย่างนั้นมันไม่คงที่ มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เราเอาสิ่งที่มันไม่คงที่มันเปลี่ยนตลอด ให้มันเกิดปัญญา อย่าให้มันมีอวิชชา เกิดความหลง เพื่อจะตัดกระแส ตัดวงจรแห่งการสร้างบาปสร้างกรรม สร้างเวร สร้างภัย การปฏิบัติของเราที่เกี่ยวกับขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ต้องให้เกิดปัญญา เกิดสัมมาทิฏฐิ เพราะเรามีตามีหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เพื่อฉลาด เพื่ออบรมบ่มอินทรีย์ เพราะว่าที่มันมีปัญหา มันเกี่ยวกับใจของเรา มีความเห็นไม่ถูกต้อง เข้าใจไม่ถูกต้อง แล้วเราก็ไม่บำรุงจิตใจ ไม่ได้ให้อาหารใจ ก็คือไม่ได้ให้อารมณ์พระนิพพาน เราไปให้แต่อารมณ์ของสวรรค์ เราต้องรู้จุดมุ่งหมายของเราคือพระนิพพาน ถ้าอย่างนั้นมันจะหลงในรูป ในเวทนา ในสังขาร วิญญาณ สภาวธรรมของร่างกายของมนุษย์ ส่วนใหญ่ไม่เกิน ๑๐๐ ปีก็ต้องจากโลกนี้ไป ต้องพากันประพฤติปฏิบัติเพื่อดูแลธาตุขันธ์ของตัวเองเพื่อพัฒนาจิตใจ ทั้งประโยชน์ตน ประโยชน์ลูกหลาน ว่ามนุษย์ของเราต้องทำอย่างนี้ๆ
ถ้าเราเอาขันธ์ ๕ เป็นเรา ถ้าเราเอารูปเป็นเราอย่างนี้แหละ มันยังต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ถ้าเราเอาเวทนาเป็นเรามันไม่ได้ มันก็สุขก็ทุกก็เฉยๆ เพราะเวทนามันเป็นเครื่องหมายที่ให้เราได้รู้ ให้เราปฏิบัติ เพราะคนเราการบรรลุธรรม บรรลุด้วยปัญญาสัมมาทิฏฐิ ถ้างั้นก็เราไปตามความคิดความปรุงแต่งไม่ได้ แล้วแต่ความคิด แล้วแต่ความปรุงแต่ง แล้วแต่อารมณ์เราก็เป็นคนเจ้าอารมณ์ไป เพราะมันยิ่งตามไปมันไม่จบ
เราต้องพากันรู้จัก เพราะทุกคนพากันทำตามความรู้สึกนึกคิด มันถึงเป็นอบายมุข เป็นอบายภูมิ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด หมายถึง เธอจงประพฤติธรรมเถิด ที่หยุดพลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เพราะว่าเราทุกคนต้องเอาศีลเป็นที่ตั้ง เอาธรรมเป็นที่ตั้ง มีความสุขในการเสียสละ คนเราหน่ะถ้าเอาความรู้สึกนึกคิดที่มันเป็นตัวเป็นตน มาดำเนินชีวิตมันเป็นเรื่องที่ไม่จบ พระพุทธเจ้าถึงให้เอาธรรมะ อันไหนไม่ดี อันไหนไม่ถูกต้อง ที่ทำไปเพื่อความกำหนัดยินดี ที่ทำไปเพื่อตัวตนเพื่อความอยากใหญ่ เราก็ต้องหยุด ทุกคนต้องเข้าใจ ถ้างั้นทุกคนก็จะเป็นคนทำตามอารมณ์ หรือว่าเป็นคนเจ้าอารมณ์ ที่เขาว่าเจ้าอาวาสไม่มี มีแต่เจ้าอารมณ์ พระถึงไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน คือพระธรรมพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ ที่เป็นญาณพาเราออกจากวัฏฏะสงสาร เป็นผู้ที่มีสติที่มีปัญญามันไม่เพียงพอ ต้องอาศัยสิกขาบทน้อยใหญ่
ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจธรรมะวินัย ทุกท่านทุกคนต้องพากันทวนโลกทวนกระแส ทวนอารมณ์ อย่าไปสนใจว่ามันอยากทำไม่อยากทำ ไม่สนใจว่าดีใจเสียใจ อันนี้มันเป็นเพียงอารมณ์ มันเป็นความเคยชินเป็นอวิชชา เป็นความหลง มันก็อยากไปนู่นอยากไปนี้ คนเรามันทำตามอารมณ์ทำตามความคิดมันจะจบเมื่อไหร่ เราทำอย่างนี้แล้วมันจะค่อยเป็นค่อยไปได้
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee