แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๑๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๖๙ พัฒนาตนให้มีสัมมาวาจาและสัมมาคารวะ เพื่อพุทธะเบ่งบานในใจ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ผู้ประพฤติผู้ปฏิบัติธรรมต้องเป็นผู้ที่ฉลาด คำว่าพุทธะแปลว่าความฉลาด เป็นทั้งความถูกต้องเป็นทั้งความฉลาด เพราะว่านี้เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ จะทำให้เรามีสติคือความสงบ จะทำให้เรามีสัมปชัญญะคือเอาธรรมเป็นหลัก จึงต้องเป็นผู้ที่ฉลาด คนเราที่เอาตัวตนเป็นที่ตั้งมันไม่ฉลาดนะ มันหยาบนะ หมกมุ่นในอวิชชาความหลง เรียกว่าหมกมุ่นในกามหมกมุ่นในพยาบาท
เราต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราถึงจะได้พัฒนาทั้งความฉลาดทั้งความถูกต้อง เราจะได้ให้อาหารใจที่ถูกต้อง ให้อาหารทางร่างกายให้ถูกต้อง เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้งน่ะมันหยาบ มีความเห็นผิดเข้าใจผิดเอาความสุขบนความทุกข์ของคนอื่นสัตว์อื่น เรียกว่ามันหยาบ พระพุทธเจ้าถึงให้กลับมาหาสติสัมปชัญญะ เริ่มจากสัมมาทิฏฐิมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง จึงจะควบคุม control ด้วยสติด้วยสัมปชัญญะ เราดูตัวเองนะที่มันหยาบก็เพราะเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง มันถึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะมันครองใจด้วยสติสัมปชัญญะที่เป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตน มันเลยไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะว่าเราไม่รู้อริยสัจ ๔ บางคนมาอยู่วัดหลายปีแล้ว ๕-๖-๗ ปีแล้ว แทนที่จะก้าวหน้าไปไกล มันก็ก้าวไปไม่ได้ เพราะว่าเป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตน บางทีก็ก้าวร้าวกับพ่อกับแม่ บางทีก็ก้าวร้าวกับผู้อื่น ชอบพูดย้อนศร พูดยอกย้อน ไม่มีสัมมาคารวะ มันไม่เข้าท่าเลย มันเป็นไปเพื่อการประกอบทุกข์ อย่างการพูดจาอย่างนี้ก็ยังก้าวร้าวไม่รู้จักเด็กไม่รู้จักผู้ใหญ่ ย้อนศรผู้หลักผู้ใหญ่ มันไม่ได้น้อมเข้ามาหาความดับทุกข์เลย มันไม่รู้จักสิ่งที่ถูกต้อง ใช้คำพูดก็ยังไม่เป็น ใช้กิริยามารยาทก็ยังไม่เป็น อย่างนี้มันจะชื่อว่ามีพุทธะได้อย่างไร จะชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมได้อย่างไร มาอยู่วัดหลายปีแทนที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เพื่อพุทธะธรรมะสังฆะอยู่ในใจ แต่มันก็ไม่ได้เป็น เพราะมันเป็นนิติบุคคลตัวตน ตัวเองขี้เกียจขี้คร้านจนไม่อยากจะหายใจ ก็ยังไม่รู้ตัวเอง เรียกว่ามันหยาบเกิน เอาตัวตนเป็นที่ตั้งมันถึงหยาบ ไม่รู้ทุกข์ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ชอบตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึก ชอบกินสบายนอนสบาย วันไหนอยากออกก็ออก วันไหนไม่อยากออกก็ไม่ออก ไม่ได้ปรับตัวเข้าหาธรรมะเขาหาเวลา แบบนี้มันเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้ เพราะว่ามันยังไม่ได้ถือนิสัยของพระพุทธเจ้า ความเป็นพระในใจก็เกิดขึ้นไม่ได้ ยังเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง มันยังยินดีในกามในพยาบาท ปล่อยให้อวิชชาความหลงมันครองใจ พุทธธรรมะสังฆะก็เกิดขึ้นในใจไม่ได้ แล้วก็ถืออวิชชาความหลงหน้าตาเฉ๊ย…เลย หนักยิ่งกว่ามีกินผึ้งเสียอีก มีที่มันอยู่ในป่าใหญ่มีรังผึ้ง มีขึ้นไปกิน หมีมันมีขนเยอะ เวลากินผึ้ง มันก็จะหลับตากิน คนฉลาดก็ไปเอารังผึ้งจากหมี เป็นรูปหลังมันมันก็ยื่นรังผึ้งมาให้ คนโบราณเขาเรียกว่าหลับตาเหมือนหมีกินผึ้ง เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้งไม่มีความละอายต่อบาปไม่มีความเกรงกลัวต่อบาป นิสัยมันก็หยาบกร้าน หยาบกระด้าง ไม่มีสัมมาคารวะ ไม่รู้จักเด็กไม่รู้จักผู้ใหญ่
มนุษย์พร้อมทั้งสัตว์พวกที่มีใจครองพวกที่มีวิญญาณครอง ต้องเอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่เอาธรรมเป็นที่ตั้ง สัมมาวาจานี่ถ้าการพูดนี่เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะคำพูดนี้มันจะเป็นสิ่งที่ทำให้แตกแยกก็ได้ เป็นสิ่งที่สมัครสมานสามัคคีเป็นสิ่งที่ไว้วางใจกันก็ได้ ที่ครั้งพุทธกาลเรื่องทำพระสงฆ์แตกกันก็เพราะคำพูด คำพูดนี้ก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุด, เป็นสิ่งที่เลวที่สุด เพราะคำพูดอย่างนี้ เราต้องใช้คำพูดให้ถูกต้อง ใช้ให้เป็นตามกาลตามเวลา ที่ประเทศนั้นประเทศนี้รบกัน ก็เพราะคำพูดมันขัดกัน
คำพูดไม่ดี เราต้องอดพูดให้ได้ เราต้องพูดแต่สิ่งที่ดีๆ เราอย่าให้กามกดดัน อย่าให้เกียรติกดดัน ต้องพูดออกมาจากใจออกจากพระนิพพาน ต้องเป็นความซื่อสัตย์ ความซื่อสัตย์นี่เขาเรียกว่า “เป็นสิ่งที่หอมทวนลม”
ครอบครัวถึงจะมีความสุขอบอุ่น เราฝึกพูดฝึกอะไรนี้ก็ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ตอบแทนทางวัตถุ แต่เพื่อพัฒนาทางจิตใจของเรา เข้าสู่ศีลสู่ธรรม ถ้าคนทางโลกมีการเรียนการศึกษา เขาพัฒนาเพื่อโกงกินเพื่อคอรัปชั่น เพื่อจะได้ผลประโยชน์จากคนอื่น อย่างนั้นมันก็ไม่ใช่ มันก็ไม่ถูก พูดไม่ถูกธรรมไม่ถูกพระวินัย ถึงจะไม่ได้พูดโกหกไม่ได้หลอกหลวง บางทีก็พูดผิด เช่น พระภิกษุพูดกับผู้หญิงไม่มีผู้ชายอยู่ด้วย ถึงจะพูดถูกต้องถูกอะไร อย่างนี้มันก็ผิดระเบียบ ก็พูดถูกต้องต้องถูกธรรมะและวินัยด้วย พูดดีพูดเพราะอย่างผู้หญิงอย่างนี้แหละ เราพูดดีพูดเพราะแต่ว่าเรามีสามี, มีแฟนแล้ว เราพูดกับชายหนุ่มแม้แต่ไปพูดกับพระนักบวช สองต่อสองอย่างนี้ก็ไม่ได้ อย่างนี้ก็มีเรื่องมีปัญหา พูดดีๆ กับลูก, พูดกับสามี, พูดกับพ่อกับแม่
เราอย่ามักง่าย คนไหนได้ผลประโยชน์มันก็พูดดีกับเขา บางคนก็พูดกับพ่อกับแม่ก็เสียงอีกอย่างนึง แต่ถ้าพูดกับแฟนก็เสียงอีกอย่างนึง บางคนพูดกับภรรยาก็พูดเป็นอีกอย่างนึง พวกปากติดระเบิดติดอาก้า ต้องพัฒนา ตนเอง คนเรามีนิสัยหยาบ มีนิสัยสกปรก เพราะเอาตนเองเป็นที่ตั้ง เอากามเป็นที่ตั้ง กามก็มาจากอวิชชาความหลง เมื่อไม่ได้ตามใจไม่ได้ดั่งใจก็โกรธ ก็อาฆาตพยาบาท เพราะทุกสิ่งหาได้ดั่งใจเราไม่ เมื่อเราเดินทางผิด ปฏิบัติผิด ชีวิตเราย่อมมีแต่ปัญหา
พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงให้เห็นถึงโทษของมิจฉาวาจาแล้ว ก็ทรงแสดงถึงหนทางแห่งการลด ละ เลิก จากมิจฉาวาจานั้น ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เรื่องยากอะไร สำหรับเราท่านทั้งหลายที่ได้ทราบแล้วถึงโทษของการพูดมิจฉาวาจา เพื่อที่จะได้ประพฤติปฏิบัติตนในการกล่าวสัมมาวาจาต่อบุคคลอื่นได้อย่างเหมาะสมในโอกาสต่างๆ ต่อไป โดยการปฏิบัติตนดังนี้ คือ
๑. ละมุสาวาท โดยเว้นจากการพูดเท็จ เมื่อไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ เมื่อรู้ก็บอกว่ารู้ ไม่เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งที่รู้ ไม่ว่าเพราะเหตุแห่งตนเอง เหตุเพราะผู้อื่นหรือเหตุเพราะเห็นแก่อามิสสินจ้างใดๆ
๒. ละปิสุณวาจา โดยเว้นจากการพูดส่อเสียด ไม่พูดเพื่อทำลายคน พูดให้สมานคนที่แตกร้าวกัน ส่งเสริมคนที่สมัครสมานกัน ยินดีในความสามัคคี ชอบกล่าวถ้อยคำที่ทำให้คนสามัคคีกัน
๓. ละผรุสวาจา โดยเว้นจากวาจาหยาบคาย กล่าวถ้อยคำที่ไม่มีโทษ รื่นหู น่ารัก จับใจ สุภาพ เป็นที่พอใจและชื่นชมของพหูชน
๔. ละสัมผัปปลาปะ โดยเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดคำจริง พูดเป็นธรรม พูดเป็นวินัย พูดเป็นอรรถ (ประโยชน์)
พระพุทธเจ้าครูบาอาจารย์ว่าอะไร เราก็อย่าไปต่อต้านในใจ อย่างนี้เค้าเรียกว่าเอาตัวตนเป็นใหญ่ ไม่เอาธรรมเป็นใหญ่ หรือพ่อแม่สอน เราก็อย่าไปเถียง คนที่ดีเขาไม่เถียง คนจัญไรชอบเถียง ชอบแก้ตัว อย่างนี้ใช้ไม่ได้ คนเราทุกคนที่ทำตามอวิชชา ทำตามความหลง มันมีเหตุผลถึงทำ เมื่อท่านผู้รู้บอก ก็ต้องฟัง เมื่อไม่ฟัง เราก็ไม่ได้ถือนิสัยของพระพุทธเจ้า ถือนิสัยของครูบาอาจารย์ คนเราต้องเป็นผู้ฟัง ถึงจะเกิดปัญญา เพราะคนที่เถียง เค้าเรียกว่า คนไม่ดี คนที่น่าเกลียด เหมือนลูกทุกคนที่ชอบเถียงพ่อเถียงแม่ มันไม่ถูก คนเรายิ่งเรียนมาก รู้มาก มันมีเหตุผลมาก มันเถียงมาก การมีปัญหาอย่าร้างกัน ก็มาจากเถียงนี่แหละ ทำให้แตกแยก ครอบครัวไม่อบอุ่น เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ถ้าใครนิสัยชอบเถียง ต้องหยุดได้แล้ว ไม่ต้องโง่ไปมากกว่านี้อีกแล้วนะ เราดูตัวอย่างที่สำคัญ ที่พระพุทธเจ้าอยู่จำพรรษาสามเดือน จะเป็นพระอริยะเจ้าหรือพระปุถุชน ก็ให้ทำมหาปวารณา คือสามารถกล่าวตักเตือน ว่าอย่าทำอย่างโน้นอย่างนี้ เพื่อที่จะได้ฉลาด
ถ้ามันอยากพูด เรื่องภายนอก เรื่องทางโลก เรื่องคนอื่น เรื่องนินทา เรื่องใส่ร้ายป้ายสี ถึงใจมันอยากจะให้ปากพูด ก็อย่าไปพูด ต้องมาหยุดตนเอง ต้องชนะใจตนเอง ตั้งมั่นในสัมมาวาจาให้ได้
มันเป็นสิ่งที่ทวนกระแส มันเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ก็ต้องประพฤติต้องปฏิบัติ ตามหลักการแล้ว ยิ่งยากยิ่งลำบากก็ยิ่งดี เพราะเราจะได้แก้ไขตนเอง จะได้ไม่เสียเวลานาน เพราะนี่เป็นงานของเรา เราอย่าไปคิดว่า เราทำขนาดนี้ ก็คงจะเพียงพอแล้ว ตามหลักแล้วมันยังไม่เพียงพอนะ ต้องมาเน้นที่ใจของเรา ให้เป็นใจที่ตั้งมั่นล้วนๆ อย่าให้มีความเห็นแก่ตัวมาแทรกแซง มาเน้นวาจา ให้เป็นสัมมาวาจา วาจาคำพูดของเราต้องปรับปรุง เรื่องคำพูดทุกคนมีปัญหาอยู่แล้ว พูดดีๆ นะมันไม่ตายหรอก พูดไพเราะพูดเป็นธรรมเป็นวินัย มันไม่ตายหรอก กิริยามารยาทของเราต้องดีๆ นะ เราต้องมาแก้ไขต้องมาปรับปรุง
คำว่า “สัมมาวาจา” หากจะพูดให้ดีมีประโยชน์แล้ว ต้องพูดให้เป็นมงคลคือเป็นวาจาสุภาษิต ลักษณะ วาจาสุภาสิต ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง กล่าวไว้ ๕ ชนิด ซึ่งได้ทรงแสดงไว้ในสุภาสิตสูตร พระสุตตันตปิฎกว่า ๑. กาเลน ภาสิตา คำพูดที่ถูกกาลเทศะ ๒. สจฺจา ภาสิตา คำที่เป็นความจริง ๓. สณฺหา ภาสิตา คำที่สุภาพ ๔. อตฺถสญฺหิตา ภาสิตา คำที่มีประโยชน์ ๕. เมตฺตจิตฺเตน ภาสิตา คำพูดที่ประกอบด้วยเมตตา
๑. พูดได้ถูกกาลเทศะ คือพูดในสถานที่เหมาะสม ในเวลาที่ เหมาะสม ในปริมาณที่เหมาะสม โดยความเหมาะสมจะมีมากน้อย ก็ขึ้นอยู่กับเรื่องที่กำลังพูดนั้นเอง
๒. ต้องเป็นคำจริง คือข้อมูลที่ถูกต้องมีหลักฐานอ้างอิงได้ ไม่ปั้นแต่งขึ้นมาเอง
๓. ต้องเป็นคำสุภาพ คือพูดด้วยภาษาที่สุภาพ ไพเราะ ไม่หยาบโลน หยาบคาย
๔. พูดแล้วมีประโยชน์ คือมีประโยชน์ต่อผู้ฟังถ้าหากนำแนวทาง ไปคิด หรือปฏิบัติในทางสร้างสรรค์ต่อไป
๕. พูดด้วยจิตที่มีเมตตา คือพูดด้วยจิตใจที่มีความปรารถนา ดีต่อผู้ฟัง มีความจริงใจต่อผู้ฟัง
หลักการพูดดีที่ประกอบไปด้วย ๕ ข้อข้างต้นนั้น เข้าใจว่าเป็น ที่รู้กันอยู่แล้ว แต่เรามักไม่จริงจังหรือใส่ใจที่จะทำตาม ซึ่งแท้จริงแล้ว เป็นเรื่องไม่ ยากเย็นอะไรเลย เพราะการพูดเรื่องจริงนั้นง่ายกว่าการปั้นแต่งเรื่องขึ้นมาแน่นอน การพูดคำสุภาพ พูดเรื่องที่มีประโยชน์ หรือ พูดด้วยจิตเมตตา ก็ไม่เป็นเรื่องที่หนักหนา หรือต้องใช้ความพยายาม อะไร แต่ก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดไม่พูดดีๆ กันสักที
สัมมาวาจา ในทางพระพุทธศาสนามีความสอดคล้องกับสุภาษิตไทย ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า “พูดดีเป็นศรีแก่ปาก พูดมากปากมีสี” ซึ่ง “การพูด” คือ การที่มนุษย์เปล่งเสียงเป็นถ้อยคำภาษาออกมา เพื่อแสดงความรู้ ความคิด ความรู้สึก หรือความต้องการของผู้พูดไปให้ ผู้ฟังได้ยินและเข้าใจ โดยอาศัยภาษา น้ำเสียง อากัปกิริยาท่าทาง เป็นสื่อและมีการตอบสนองจากผู้ฟัง ด้วย สัมมาวาจา ได้แก่ พูดจา อยู่ในขอบเขตของการไม่พูดเท็จ ไม่โกหก ไม่หลอกลวง พูดอย่างไม่มี มารยาสาไถย เสแสร้ง แกล้งพูด ไม่พูดคำหยาบคาย ไม่พูดคำส่อเสียด ให้เกิดความแตกร้าวสามัคคี ไม่พูดจาเพ้อเจ้อหาสาระมิได้ น่ารำคาญ เข้าทำนองว่า “พูดได้ แต่ทำไม่ได้” ขี้โม้ โอ้อวด เป็นต้น การดำรงชีวิต ของเราในแต่ละวัน หนีไม่พ้นที่ต้องใช้คำพูดในการสื่อสารกัน เป็นการ สื่อความหมายซึ่งกันและกันในสังคม การพูดต้องอาศัยการฝึกฝนให้ เกิดความชำนาญจึงจะใช้ประโยชน์ได้ดี ยิ่งชำนาญมากเท่าใดก็ยิ่งพูด ดีขึ้นเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะเรียนรู้ทฤษฎีและมีศิลปะในการพูดเป็นทุนเดิม อยู่ก่อนแล้ว แต่ถ้าขาดการฝึกฝนก็จะพูดดีไม่ได้เลย แค่เราพยายามที่ จะลด ละ เลิก การพูดจาที่ไม่ดี พูดแต่ สัมมาวาจา พูดด้วยสติสัมปชัญญะ ก็เป็นกุศลอย่างมหาศาล
คารวะ คือความตระหนักในคุณความดีของผู้อื่น นิวาตะ คือถ่อมใจของเราเอง
การบำเพ็ญคารวะนั้น ปรารภผู้อื่น ส่วนนิวาตะนั้น ปรารภตนเอง บางคนมีคารวะแล้วแต่ไม่มีนิวาตะก็ได้ อย่างเช่นเรารู้ว่าเขาดีและตระหนักในความดีของเขาเหมือนกัน ซึ่งนับว่ามีคารวะแต่ในขณะเดียวกัน นิสัยความทะนงตนถือตนมีอยู่ในจิตใจ ก็มีความคิดว่า "แกเก่งจริง ดีจริง ข้ารู้ แต่ข้าเองก็หนึ่งเหมือนกัน" อย่างนี้เรียกว่าทะนงตน หรือในภาษาปัจจุบันนี้เราเรียกว่า "เบ่ง" คือคนประเภทที่ขาดนิวาตะนี้ พอเห็นความดีของคนอื่นแล้วเป็นต้อง "เบ่ง" หรือพองตัวเข้าหาทันที เหมือนกับอึ่งอ่างที่พองตัวเองเพื่อจะให้เทียมเท่าโค ดังนั้นท่านจึงสอนให้เราแก้ตรงนี้ คือแก้ที่ตัวของเราเอง
คำว่า นิวาตะ แปลตามตัวว่า ลมออก (นิ = ออก วาตะ=ลม) นิวาโต ก็หมายความว่า ผู้มีลมออกแล้ว คือให้คลายจากความเบ่ง ไม่พองลม เอาลมออกแล้ว คือเอามานะทิฏฐิออก มีความสงบเสงี่ยม เจียมตน ไม่เบ่ง ไม่ทะนงตน ไม่มีความมานะถือตัว ไม่อวดดื้อถือดี ไม่ยโสโอหัง ไม่ดูถูกเหยียดหยามใคร ไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่งจองหอง
ตามธรรมดาเราจะเห็นได้ว่าคนเรานั้นเมื่อเวลาที่ไม่สบายอย่างเช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ เพราะว่ามีลมมาก จะกินอะไรเข้าไปก็ไม่ได้ เราจะต้องกำจัดลมในท้องที่ทำให้ท้องอืดท้องเฟ้อเสียก่อน จึงจะกินอาหารเข้าไปได้ คุณความดีก็เหมือนกัน ตราบใดที่เรายังมีมานะถือตัว หรือพองลมอยู่แล้ว คุณความดีหรือวิชาการก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปได้ เพราะมันติดอยู่ที่ความถือตัวเสียแล้ว และความถือตัวหรือมีทิฏฐินี้ทำให้คนพินาศมามากแล้ว ไม่มีใครที่อยากจะคบค้าด้วย มีแต่คนรังเกียจ นานเข้าก็กลายเป็นคนที่สังคมรังเกียจไป เหมือนกับลูกโป่งที่ถูกอัดแน่นมากเพราะแรงลม พอนานเข้าก็แตกเพราะว่าลมนั้นดัน ความถือตัวก็เหมือนกัน เมื่อมีมากเข้าก็ทำให้ระเบิดออกมา ทางกาย ทางวาจา เป็นที่น่ารังเกียจของคนทั่วไป บางทีความเบ่งของตัวเองนั่นแหละเป็นหนทางให้เจ็บตัวได้ง่ายๆ เหมือนกัน
คนที่มีมานะถือตัวหรือ "เบ่งจัด" เหล่านี้เป็นคนที่ทำความดียาก ที่ว่าทำความดียากนั้น ไม่ใช่ยากที่ความดี แต่ยากที่คนทำเพราะคนประเภทนี้เป็นคนเจ้ามานะ เจ้าทิฏฐิ คิดว่าตนเองนั้นมีความประเสริฐเลิศลอยกว่าคนธรรมดา หรืออย่างน้อยก็พอๆ กับคนที่ว่าเก่ง ยิ่งเบ่งมากก็ยิ่งหาโอกาสทำความดียาก เพราะถือว่าเราดีแล้ว อย่างเช่น สัญชัยปริพพาชก อาจารย์ของพระสารีบุตร เมื่อตอนที่ศิษย์ชวนมาเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ไม่ยอมมา เพราะถือตัวว่าเราเป็นอาจารย์คนแล้ว และมีอายุพรรษามากกว่าเลยพลาดจากคุณความดี
และนอกจากนั้นคนประเภทนี้ เป็นคนที่ไม่ยอมรับความมีดีจากบุคคลอื่น คนเราที่จะมีความดี มีความรู้ ก็ต้องอาศัยจากการถ่ายทอดความดีความรู้จากคนอื่น เช่นจากอาจารย์ถ่ายทอดเอาความดีมาจากผู้ที่ประพฤติชอบ ถ่ายทอดเอาแนวการปฏิบัติจากพระสงฆ์ การที่เราจะถ่ายเอามาได้นั้น จะต้องอาศัยการยอมนอบน้อมถ่อมตน ยอมรับนับถือท่าน ต้องเทิดท่านไว้ในฐานะสูง และถ่อมตัวเราลงต่ำ อย่างเช่นเราจะถ่ายน้ำหรือน้ำมันจากถังหนึ่งไปยังอีกถังหนึ่ง ตามหลักแล้วจะต้องเอาถังที่จะรับถ่ายไว้ต่ำ ถังที่มีน้ำไว้สูง ไม่อย่างนั่นแล้วน้ำก็จะไม่ยอมลงมา หรือกรณีที่ส่งน้ำประปา เขาจะตั้งถังจ่ายน้ำไว้สูงแล้วจึงจะจ่ายน้ำได้ ฉันใดคนเราลองได้มีความเสมอกันแล้ว หรือมีความสูงกว่าคนที่เราจะถ่ายทอดแล้ว ไม่มีวันที่เราจะได้ความดีหรือความรู้มาได้ ดังนั้นคนที่ขาดนิวาตะ จึงเป็นคนที่ยากจะถ่ายทอดเอาความดีหรือความรู้มาจากผู้อื่นได้
ดังนั้นพระพุทธองค์จึงได้ทรงสอนให้เรางดเบ่งเสีย แล้วประพฤตินิวาโต คือความถ่อมตน ผ่อนลมเบ่งออกมาเสียบ้าง การที่เราลดทิฏฐิมานะนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เราเสียศักดิ์ศรีหรือฐานะของตนแต่อย่างใด การวางตัวตามฐานะของคนนั้นไม่ใช่เป็นมานะทิฏฐิ แต่เป็นการทำงานตามฐานะของตน ไม่อย่างนั้นแล้ว ความเป็นบ่าวเป็นนาย เป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่จะมีได้อย่างไร ลักษณะคนมีมานะทิฐินั้นเป็นลักษณะของคนที่หลงผิดต่างหาก หลงผิดคิดว่าเราดีเลิศกว่าเขาอะไรทำนองนี้ แต่พระพุทธองค์ได้ทรงสอนให้เราเห็นความดีของคนอื่น แล้วหันมาเปรียบเทียบความดีของเราละมานะทิฏฐิของเราลงเสียบ้าง
สิ่งที่คนทั่วไปหลงถือเอาทำให้ถือตัว
๑. ชาติตระกูล เช่น คิดว่า “ตระกูลฉันนี้เป็นตระกูลใหญ่ เชื้อสาย ผู้ดีเก่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย กี่รุ่นกี่รุ่นมีชื่อเสียงโด่งดังมาตลอด คนอื่นจะมาเทียบฉันได้อย่างไร” เมื่อหลงถือว่าตนมีชาติตระกูลสูงกว่าผู้อื่น ความถือตัวก็เกิดขึ้น
๒. ทรัพย์สมบัติ เช่น คิดว่า “ทรัพย์สินเงินทองของฉันมีมากมาย จะซื้อจะหาอะไรก็ได้อย่างใจ ไม่เห็นจะต้องไปง้อ ไปเกรงใจใคร” เมื่อหลงถือว่าตนมีทรัพย์สมบัติมากกว่าผู้อื่น ความถือตัวก็เกิดขึ้น
๓. รูปร่างหน้าตา เช่น คิดว่า “ฮึ!ฉันนี้สวยน้อยหน้าใครเสียเมื่อไหร่ดูซี ผิวก็ละเอียด จมูกก็โด่ง ตาก็กลม นางงามจักรวาลที่ว่าสวยๆ ลองมาเทียบกันดูซักทีเถอะน่า ไม่แน่หรอกว่าใครส่วยกว่ากัน” เมื่อหลงถือว่าตนมีรูปร่างหน้าตาดีกว่าผู้อื่น ความถือตัวก็เกิดขึ้น
๔. ความรู้ความสามารถ เช่น คิดว่า “ฉันนี้ความรู้ระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ปริญญาที่ไหนที่ว่ายากๆ กวาดมาหมดแล้ว ฝีมือก็แน่กว่าใคร ใครๆ ก็สู้ฉันไม่ได้” เมื่อหลงถือว่าตนมีความรู้ความสามารถสูงกว่าผู้อื่น ความถือตัว ก็เกิดขึ้น
๕. ยศตำแหน่ง เช่น คิดว่า “ฮึ!ฉันนี้มันชั้นผู้อำนวยการกอง อธิบดี ปลัดกระทรวง ซี ๘ ซี ๙ ซี ๑๐ ซี ๑๑ แล้ว ใครจะมาแน่เท่าฉัน” เมื่อหลงถือว่าตนมียศตำแหน่งสูงกว่าผู้อื่น ความถือตัวก็เกิดขึ้น
๖. บริวาร เช่น คิดว่า “สมัครพรรคพวกลูกน้องฉันมีเยอะแยะ ใครจะกล้ามาหือ” เมื่อหลงถือว่าตนมีบริวารมากกว่าผู้อื่น ความถือตัวก็เกิดขึ้น
คนทั่วไปมักหลงยึดเอาสิ่งต่างๆ ๖ ประการนี้ เป็นข้อถือดีของตัว ไม่เคยคิดว่าสิ่งต่างๆ ที่ว่านั้น มันจะเป็นของเราตลอดไปหรือไม่ จีรังยั่งยืนหรือเปล่า ที่ว่าหล่อๆ สวยๆ พออายุสักหกสิบเจ็ดสิบจะมีใครอยากมอง เศรษฐี มหาเศรษฐี ทำการค้าผิดพลาดเข้า ล่มจมกลายเป็นยาจกภายในวันเดียวก็มีตัวอย่างมามากแล้ว และถึงจะเป็นเศรษฐีไปจนตายก็ใช่ว่าจะขนเงินขนทองไปปรโลกด้วยได้เมื่อไหร่ ถ้าไม่รู้จักสร้างคุณงามความดี ถึงมีเงินทองมากเท่าไหร่ก็ไม่พ้นทุกข์ไปได้ ยิ่งรวยมากก็ยิ่งทุกข์มาก ทั้งหา ห่วง หวง ยศตำแหน่ง บริวารนั้นก็มิใช่ว่าจะคงอยู่กับเราอย่างนั้นตลอดไป ทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอน ไม่ใช่เป็นของเราจริงๆ เป็นเพียงสิ่งสมมุติกันขึ้นเพื่อให้คนในสังคมทำงานตามหน้าที่ของตนเท่านั้น สิ่งที่จะคงอยู่กับตัวเราอย่างแน่นอน และช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้จริงๆ คือความดีในตัวของเราต่างหาก และการที่เราถือตัวเย่อหยิ่งทะนงตนนั้น มันทำให้อะไรในตัวเราดีขึ้นบ้าง จะทำให้คนอื่นนับถือว่าตัวเรายิ่งใหญ่ก็หามิได้ รังแต่จะทำให้เขาเกลียดชังเหม็นหน้า เหมือนคนอยากให้คนอื่นรู้ว่าตัวอ้วนท้วนสมบูรณ์ จึงอมลมเข้าเต็มปากทำให้แก้มตุ่ย ใครเห็นเข้าแทนที่จะชม เขาก็มีแต่จะหัวเราะเยาะ และขืนอมลมอยู่อย่างนั้น ข้าวก็กินไม่ได้น้ำก็กินไม่ได้ ตัวก็มีแต่จะผอมซูบซีดลงทุกที
แท้จริง ผู้ที่จะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ได้รับการยกย่องนับถือจากคนอื่นทั้งกายและใจนั้น จะต้องเป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างเต็มที่เท่านั้น “ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด ผู้ที่เล็กที่สุด ก็จะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด” ผู้ที่ฉลาด จึงไม่ควรหลงยึดเอาสิ่งเหล่านี้มาทำให้ตนเกิดความถือตัว
โทษของการอวดดื้อถือดี
๑. ทำให้เสียตน เพราะเป็นคนรับความดีจากคนอื่นไม่ได้ กลัวเสียเกียรติ ประเมินค่าตนสูงกว่าความเป็นจริง คิดแต่ว่าเราดีอยู่แล้ว ใครๆ ก็สู้เราไม่ได้ โบราณท่านจึงมีคำสอนเตือนใจไว้ว่า “ลูกท่านหลานเธอ ลูกเจ้าบ้านหลานเจ้าวัด มักจะเอาดีไม่ค่อยได้” เพราะมักจะติดนิสัยอวดดีถือตัว ยโสโอหัง จึงไม่มีใครอยากแนะนำสั่งสอนให้ ทำผิดก็ไม่มีใครอยากเตือน สุดท้ายก็คบอยู่แต่กับพวกประจบสอพลอ ทำผิดถลำลึกไปทุกทีจนสุดทางแก้
๒. ทำให้เสียมิตร เพราะเป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่าง ที่ไม่ควรถือก็ถือ ไม่ควรโกรธก็โกรธ จึงไม่มีใครอยากคบด้วย คนพวกนี้ถึงแม้ในเบื้องต้นอยากจะทำความดี แต่ทำไปได้ไม่กี่น้ำก็จอดเพราะไม่มีคนสนับสนุน เป็นเหมือนเจดีย์ฐานแคบ ไม่สามารถสร้างให้สูงขึ้นไปได้
๓. ทำให้เสียหมู่คณะ เพราะเป็นคนอวดเบ่ง จะเอาแต่อภิสิทธิ์ ทำให้เสียระเบียบวินัย หมู่คณะแตกแยก
หมู่คณะใดที่สมาชิกมีความอ่อนน้อมถ่อมตน แม้บางครั้งจะมีการทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง แต่ไม่นานก็สามารถสมานสามัคคี ป้องกันอันตรายทั้งหลายได้โดยง่าย เหมือนดินเหนียวในท้องนายามหน้าแล้งก็แตกระแหงเป็นร่องลึก ดูเหมือนไม่มีทางที่จะประสานรวมกันได้อีกแล้ว แต่พอฝนตกลงมาซู่เดียวก็สามารถประสานคืนเป็นผืนเดียวกันได้อย่างน่าอัศจรรย์
ส่วนหมู่คณะใดที่สมาชิกมีความถือตัวจัด จึงไม่มีทางที่หมู่คณะนั้นจะเกิดความสมานสามัคคีกันได้ เหมือนดินทรายที่แม้ฝนจะตกจนน้ำท่วมฟ้าก็ไม่มีทางประสานรวมกันได้สนิท เช่นประเทศอินเดียในอดีตซึ่งพลเมืองมีความถือตัวจัด แบ่งชั้นวรรณะกันอย่างหนัก แม้เพียงคนวรรณะสูงไปเห็นคนวรรณะต่ำ เห็นคนจัณฑาลเข้าก็ต้องรีบไปเอาน้ำล้างตา เพราะกลัวเสนียดจัญไรจะติด เพราะถือตัวกันอย่างนี้ พอถึงคราวมีข้าศึกรุกราน เลยไม่มีใครช่วยใครกำจัดศัตรู ปล่อยให้ศัตรูเข้ายึดครองประเทศโดยง่าย พวกคนวรรณะต่ำก็คิดว่าดีแล้ว คนวรรณะสูงๆ จะได้รู้สึกเสียบ้าง คนวรรณะสูงด้วยกันเองก็ยังถือตัวทะเลาะรบกันเอง เพราะถือตัวกันอย่างนี้ แม้มีพลเมืองมากหลายร้อยล้านคนก็ยังตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ซึ่งส่งทหารมาเพียงแค่หยิบมือเดียวเท่านั้นเอง
ดังนั้นพระพุทธองค์จึงได้ตรัสไว้ในปราภวสูตรว่า “ชาติถทฺโธ ธนถทฺโธ โคตฺตถทฺโธ จโย นโร สญฺญาตึ อติมญฺเญติ ตํ ปราภวโต มุขํ - นรชนใดเย่อหยิ่งเพราะชาติ เย่อหยิ่งเพราะทรัพย์ เย่อหยิ่งเพราะโคตร ย่อมดูหมิ่นซึ่งญาติของตน ความเย่อหยิ่งนั้นเป็นทางของผู้เสื่อม”
ความไม่เย่อหยิ่ง ความที่ประพฤตินอบน้อมถ่อมตนไม่ถือตัวดูหมิ่นผู้อื่น เป็นเหตุให้ผู้อื่นรักใคร่และเอ็นดู ชวนใจให้ผู้อื่นมีเมตตากรุณาหวังให้มีความสุขความเจริญ ผู้ใดเป็นที่รักของคนเป็นอันมาก ผู้นั้นย่อมได้รับความสะดวกในกิจการต่างๆ นำตัวเองไปสู่ความเจริญด้วยอิสริยยศและบริวาร ดังนั้นผู้ที่มีความเจริญด้วยชาติตระกูล ลาภยศและบริวาร จึงควรที่จะระวังตนเพราะชาติและทรัพย์เป็นต้น อย่าให้เป็นเหตุให้เราเป็นคนเย่อหยิ่งถือตน โปรดระลึกอยู่เสมอว่า คนที่จะไปสู่ความเจริญได้นั้นจะต้องอาศัยความนอบน้อมถ่อมตน คนที่ไม่มีนิวาตะ จะไปสู่ที่สูงไม่ได้เลย เหมือนคนที่จะกระโดดสูงจะต้องย่อตัวเสียก่อนจึงจะกระโดดได้สูง ถ้าลองเราไม่ย่อตัวซิ เราทำตัวแข็งๆ จะกระโดดสูงได้หรือไม่ ความถ่อมตนก็ฉันนั้น ย่อมที่จะนำตนไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่า ความถ่อมตนนี้เป็นมงคลอย่างสูงสุด
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee