แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๖๗ ความเห็นผิดความเข้าใจผิด ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ๖๒ เป็นเหมือนตาข่ายคลุมสัตว์โลกไว้ในวัฏสงสาร
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
สิ่งที่พวกเราเข้าใจกันมานานว่า มาบวชเป็นพระคือ มาโกนหัว ห่มผ้าจีวร แล้วก็ไปอยู่วัด ตอนเช้าก็ออกบิณฑบาต ทำวัตรเช้าวัตรเย็น แล้วก็ไปรับกิจนิมนต์ในงานทำบุญบ้าน ไปสวดพระอภิธรรมเวลาคนที่ได้พากันตาย
สิ่งที่เรารู้ เราเข้าใจมันเป็นสิ่งภายนอก สิ่งที่มันเป็นรูปที่มันมองเห็น สัมผัสทางตา ทางเสียง ส่วนนี้มันเป็นส่วนประกอบ ที่เราทุกคนที่อยู่ร่วมรวมกัน ที่เราจะได้สงเคราะห์ดูแลซึ่งกันและกัน
ความหมายของการมาบวชมันมากกว่านั้น มันลึกซึ้ง มันเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ตลอดกาลที่เราได้ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร ได้ครองธาตุครองขันธ์ครองอายตนะด้วยอวิชชาด้วยความหลง มันเป็นความคิดเห็นผิดเข้าใจผิด ได้เอาสิ่งที่ไม่ถูกต้องมาเป็นนิติบุคคล ให้เป็นตัวเป็นตน ให้เป็นเราเป็นเขา เป็นดีเอ็นเอเป็นพันธุกรรม เป็นชิ๊ปที่ฝังอยู่ในสัญญาขันธ์
ทุกๆ คนมันเป็นอย่างนี้แหละ คือว่ามันไม่รู้ความจริง มันไม่รู้อริยสัจ ๔ มันไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุแห่งทุกข์ ไม่รู้จักความดับทุกข์ และไม่รู้ข้อปฏิบัติสู่ความดับทุกข์ การดำเนินชีวิตของเรามันจึงเป็นไปด้วยอวิชชาเป็นความหลง มันเป็นการประกอบทุกข์ เราเลยทำตามพ่อตามแม่ตามบรรพบุรุษ ชีวิตของเรามันเป็นปัจจุบัน ปัจจุบันมันเป็นความหลง ทำตามความหลงไปเรื่อย เพราะพ่อแม่ของเราคืออวิชชา คือความหลง มันเป็นรากเป็นเหง้าเป็นตระกูลแห่งความหลง สิ่งเหล่านี้มันเป็นกระบวนการ เป็นเหตุเป็นปัจจัย พระพุทธเจ้า บอกว่ามันเป็นกระบวนการเหตุปัจจัย เพราะความหลงของเรามี การเวียนว่ายตายเกิด มันก็มีอยู่อย่างนี้ เพราะเราทำตามปัจจุบันที่มันหลง เรามีพ่อมีแม่มีบรรพบุรุษ คืออวิชชา คือความหลง แต่เราทุกคนยังพากันโชคดีอยู่ ที่ได้มีพระพุทธเจ้า ผู้บำเพ็ญพุทธบารมี ทั้งความรู้ความเข้าใจพร้อมทั้งประพฤติปฏิบัติ แล้วยังได้ออกมาบอกมาสอนว่า เราจะทำตามอวิชชา ทำตามความหลงนี้ไม่ได้นะ เพราะว่าความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก ไม่ใช่สิ่งที่เราจะน่าเพลิดเพลิน
“ถึงท่านจะรวยมหาศาลเป็นมหาเศรษฐีทางวัตถุ ท่านก็ยังถูกครอบงำด้วยความหลง ถึงท่านจะเป็นเทวดาอยู่ในวิมาน ท่านก็ยังถูกครอบงำด้วยอวิชชาด้วยความหลง ถึงท่านจะเป็นพรหมผู้มีฌาน มีสมาบัติ ท่านก็ยังถูกครอบงำด้วยอวิชชาด้วยความหลง”
มิจฉาทิฏฐิทั้งหลายทั้งปวง ต่างจากธรรมที่พระองค์ตรัสรู้โดยสิ้นเชิง
ทิฏฐิ ๖๒ แบ่งได้ ๒ กลุ่มใหญ่คือ
๑. ความเห็นในเรื่องการเริ่มต้นของสิ่งทั้งหลาย
๒. ความเห็นในเรื่องเบื้องปลายหรือจุดสุดท้ายของสิ่งทั้งหลาย
/ ☘️ ความเห็นในเรื่องการเริ่มต้นของสิ่งทั้งหลาย ☘️ /
กลุ่มที่ ๑ สัสสตวาทะ พวกที่เห็นว่าอัตตา (soul) และโลกเที่ยง ได้แก่พวกที่ระลึกชาติได้ด้วยเจโตสมาธิตั้งแต่ 1 ชาติถึง 40 กัปป์ เพราะมีการกลับมาเกิด วนไปเวียนมา เลยสำคัญว่าอัตตา(soul)มีและโลกเที่ยง และอีกพวกหนึ่ง คือพวกตรึกเอาด้วยเหตุผล คล้ายๆนักปรัชญา
กลุ่ม ๒ เอกัจจสัสสติกะ พวกพี่เห็นว่าอัตตา (soul) เที่ยงก็มี อัตตา (soul) ไม่เที่ยงก็มี ได้แก่พวกที่เคยเกิดเป็นเทวดาและพรหม แล้วระลึกชาติด้วยฌาน แล้วพบว่า มีพรหมหรือเทวดาบางพวกยังอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้จุติเหมือนตน เลยคิดว่าพวกนั้นเที่ยง ส่วนพวกตนไม่เที่ยง และมีบางพวกเห็นว่า กายไม่เที่ยงแต่จิตเที่ยง ด้วยการคิดเดาเอาด้วยหลักและเหตุผล
กลุ่มที่ ๓ อันตานันทิกะ เห็นว่าโลกกลมรอบทิศทางมีขอบเขตที่สุดบ้าง บางพวกเห็นต่างว่า โลกไม่มีขอบเขตที่สุดบ้าง บางพวกว่ามีเขตสิ้นสุดเฉพาะด้านบน ด้านล่างไม่มีเขตสิ้นสุดบ้าง โดยมีทั้งพวกที่เห็นด้วยเจโตสมาธิบ้าง เห็นด้วยการคิดเอาเองบ้าง
กลุ่มที่ ๔ อมราวิกเขปิกะ คือพวกเล่นลิ้นเอาแน่อะไรไม่ได้ ไม่รู้จริง แต่ใช้วิธีกล่าวปฏิเสธ ว่าอย่างนี้ก็ไม่ใช่ อย่างนั้นก็ไม่ใช่ หรือที่ว่าไม่ใช่ก็ไม่ใช่ สร้างวาทกรรมเพื่อเอาตัวรอด
กลุ่มที่ ๕ อธิจจสมุปปันนะ
พวกนี้เคยเกิดเป็นพรหมประเภทอสัญญีสัตว์ คือมีแต่รูป ไม่มีความจำได้ หมายรู้อะไร เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์บำเพ็ญฌานระลึกชาติไป แต่ระลึกไปไม่ถึงสภาพของตนที่เคยเป็นอสัญญีสัตว์ จึงสรุปเอาว่าอัตตา(soul)และโลกเกิดขึ้นมาเองโดยไม่มีเหตุปัจจัยอะไร
/ ☘️ พวกมีความเห็นในเรื่องเบื้องปลายของชีวิต ☘️ /
กลุ่มที่ ๖ สัญญีวาทะ และ อสัญญีวาทะ พวกที่เห็นว่าอัตตา(soul) หลังตายเที่ยง และมีวิญญาณรับรู้ (consciousness)
พวกที่เห็นว่าอัตตา(soul) หลังตายเที่ยง แต่ไม่มีวิญญาณรับรู้ (consciousness)
พวกที่เห็นว่าอัตตา (soul) หลังตายเที่ยง แต่จะว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่
กลุ่มที่ ๗ อุจเฉทวาทะ พวกที่เห็นว่าตายแล้วสูญไม่มีการเกิดอีก พวกที่เห็นว่าตายแล้วเกิดมีอัตตา (soul) เป็นกายทิพย์ ในสวรรค์ชั้นต่างๆ ครั้นจุติจากภพนั้นๆ ก็ดับสูญไม่เกิดอีก
กลุ่มที่ ๘ ทิฏฐธัมมะนิพพานวาทะ พวกที่เห็นว่าความสุขจากกามคุณเป็นนิพพาน และบางพวกเห็นว่า ความสุขจากฌานในระดับต่างๆ ที่ตนเข้าถึงนั้นแหละ เป็นนิพพาน
ตถาคตรู้ชัดว่าเหตุใดพวกเขา จึงมีความยึดถือในความเห็นอย่างนั้นๆ แต่ตถาคตก็ไม่ได้ยึดมั่นในความรู้ชัดนั้น เมื่อไม่ยึดมั่นในความรู้ชัดนั้น ก็เกิดความรู้แจ้งได้เองว่า เป็นความดับสนิท รู้เท่าทันถึงความเกิด ความดับ คุณ โทษ ของเวทนาพร้อมทั้งวิธีที่จะหลุดพ้นไปจากเวทนา อย่างถูกต้อง ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตหลุดพ้นได้ เพราะการที่ไม่ยึดมั่น
บ่อเกิดของทิฏฐิทั้งหลาย ล้วนมาจากผัสสะ เช่นตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เป็นต้น ผัสสะทำให้เกิดความรู้สึก(เวทนา)ไปต่างๆ เมื่อรู้สึกไปต่างๆ ก็เกิดตัณหาคืออยากได้ อยากมี อยากเป็นแล้วเกิดอุปทาน เกิดภพ เกิดชาติ เกิดทุกข์ ตามลำดับ
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดภิกษุรู้ชัดตามความเป็นจริง ซึ่งความเกิด ความดับ คุณและโทษ ของผัสสะ (คือการประจวบกันเข้าระหว่างอายตนะทั้ง ๖) และรู้ถึงวิธีสลัดตนให้พ้นไปได้ เมื่อนั้นเธอย่อมเกิดความรู้ชัดว่า อะไรเป็นอะไร ยิ่งกว่าที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดรู้
ทรงตรัสอุปมาว่า ทิฏฐิ ๖๒ เป็นเหมือนตาข่ายคลุมครอบโลกอยู่ พวกเจ้าลัทธิทั้งหลายเหล่านั้น ล้วนติดอยู่ในตาข่ายนี้ เหมือนชาวประมงทอดแหตาถี่ ลงในหนองน้ำเล็กๆ พวกปลาตัวใหญ่ในหนองน้ำทั้งหมดต่างก็ติดอยู่ในแห จะผุดก็ผุดอยู่แต่ในแห ฉันใดก็ฉันนั้น
ภิกษุทั้งหลาย กายของตถาคตปราศจากตัณหาที่จะนำไปสู่ภพแล้ว เมื่อยังมีชีวิตอยู่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายย่อมเห็นตถาคตได้ แต่เมื่อชีวิตหาไม่แล้ว เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจะไม่เห็นตถาคตอีก เหมือนมะม่วงที่หลุดจากขั้ว
พระอานนท์ได้สดับพระโอวาทเรื่องนี้ก็อัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง ได้ทูลถามเรื่องที่รับสั่งนั้นตั้งชื่อว่าอะไร ทรงตรัสตอบว่า จะเรียกว่า อรรถชาละ หรือธรรมชาละ หรือทิฐิชาละ ก็ได้ หรืออนุตตรสงครามพิชัยก็ได้ ตอนจบพระสูตรนี้ ภิกษุทั้งหลายพากันชื่นชมที่ได้ฟังพระธรรมนี้ และเกิดปรากฏการณ์สะเทือนไปทั่วหมื่นโลกธาตุ
ข้อควรพิจารณา “ทิฏฐิ” แปลว่าความเห็น เป็นคำกลางๆ ไม่ได้ว่าผิดหรือถูก แต่ในที่นี้ ทิฏฐิ ๖๒ หมายเอามิจฉาทิฏฐิ (การมีหรือการยึดถือเอาความเห็นผิด) ที่จำแนกออกไปได้ถึง ๖๒ ประเภท แต่บทความที่คัดมาพยายามจัดเป็นกลุ่มไว้พอได้เห็นแนวทาง ไม่ได้แจกละเอียดให้ครบ ๖๒ เพื่อให้เนื้อหากระชับมากขึ้น
อัตตา หมายถึงการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เราเขา จะเห็นว่าความเห็นผิดทุกประเภทล้วนสำคัญผิดแต่ต้นว่า อัตตามี จะเห็นว่ามีถาวร หรือมีชั่วคราว ก็ล้วนแต่เป็นความเห็นผิด ท่านกล่าวว่าบ่อเกิดแห่งทิฏฐิทั้งหลาย ล้วนมาจากการไม่รู้เท่าทันผัสสะ ผัสสะทำให้เกิดเวทนา เวทนาก่อให้เกิด ตัณหา และอุปาทาน ...ทุกข์ ตามมา เวทนาจะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดตัณหา อุปาทาน...ทุกข์ ได้ ต้องอาศัยอวิชชาอยู่เบื้องหลัง ดังนั้น การอบรมปัญญาหรือเจริญสติปัฏฐานก็เพื่อตัดกระแสแห่งสมุทัยเหล่านี้ เป็นวิธีที่จะสามารถสลัดตนให้พ้นจากความหลงในผัสสะไปได้ โดยเห็นชัดในความเกิดดับ คุณและโทษ ของผัสสะ จนสามารถปล่อยวางไม่ยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิทั้งหลายได้
สังเกตว่า ความเห็นว่า (อัตตา)ตายแล้วเกิด ก็ดี ตายแล้วไม่เกิด ก็ดี ตายแล้วเกิดบ้าง ไม่เกิดบ้าง ก็ดี ล้วนเป็นความเห็นผิด เพราะเมื่ออัตตาไม่ได้มีอยู่จริงแล้ว ก็ไม่มีอะไรเกิด ไม่มีอะไรตาย เป็นเพียงกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพธรรมตามเหตุปัจจัยเท่านั้น อัตตาที่เกิดขึ้นในความเห็นผิดเป็นเพียงความรู้ไม่เท่าทันมายาแห่งผัสสะเท่านั้น
ความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ความหลงนี้แหละมันเป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตน ท่านต้องทำให้ถูกต้อง ด้วยความเข้าใจถูกต้อง และปฏิบัติให้ถูกต้อง จะได้หยุดอวิชชา จะได้หยุดความหลง ความหลงนั้นเปรียบเสมือนบุรุษที่บริโภคอาหารในชีวิตประจำวัน บริโภคแล้วท้องอืด อาหารไม่ย่อย การที่ท้องอืดอาหารไม่ย่อย มันเป็นทุกข์นะ อาหารไม่ย่อยยังไม่พอ มันยังไม่ได้ถ่ายเทของเสียงออกอีก บุคคลที่ท้องผูกไม่ถ่ายเทของที่มันย่อยเป็นกากแล้ว กากอาหารที่ทำให้ท้องผูก มันจะกลับไปเลี้ยงร่างกาย ทำให้เกิดโรคเกิดภัยต่างๆ นานา เพราะเราได้บริโภคของเสีย ความเห็นไม่ถูกต้อง ความเข้าใจไม่ถูกต้อง มันทำให้เราทุกคนเป็นโรคทั้งทางกาย เป็นโรคทั้งทางใจ ที่เป็นภาษาที่เราได้ยินกันทุกวันนี้ ว่ามันเป็น “โลกธรรม”
“โลกธรรม” ก็แปลว่า ความเห็นไม่ถูกต้อง ความเข้าใจไม่ถูกต้อง มันถูกครอบงำ เขาจึงเรียกว่า “โลกครอบงำธรรม” เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เขาเรียกว่า “โลกครอบงำธรรม” โรคทางกายโรคทางใจมันครอบงำธรรม คือครอบงำความถูกต้อง
พระพุทธเจ้าท่านให้เราพากันรู้ความจริงนะ เมื่อรู้ความจริงเหมือน พระสารีบุตรที่ได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิ พระอัสสชิพูดว่า ทุกอย่างเกิดจากเหตุจากปัจจัย มันเป็นกระบวนการ มันเป็นปฏิจจสมุปบาท คือเหตุคือปัจจัย เราทุกคนต้องเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เพื่อจะได้หยุดเหตุหยุดปัจจัย ด้วยพุทธะ คือความรู้ความเข้าใจ
ใจของเราเนี่ยมันคิดได้ทีละอย่าง ใจของเราก็เปรียบเสมือนน้ำฝน น้ำฝนมันตก ตกลงมาทีละเม็ด ถ้ามันตกแรง มันก็จะรวมกันเป็นน้ำเป็นสายน้ำ “ความไม่รู้ มันก็เปรียบเหมือนกระแสน้ำที่ไหลไปเรื่อย ความรู้มันก็เปรียบเหมือนกระแสน้ำที่ไหลไปเรื่อย” อยู่ในตัวเราก็มีทั้งสองอย่างเนี่ยแหละ คือมีความรู้ กับความไม่รู้ พระพุทธเจ้าถึงไม่ให้เราไปตรึกนึกคิดในเรื่องกาม ไม่ให้เราไปตรึกนึกคิดในเรื่องพยาบาท “กาม นั้นก็คือความชอบใจ พยาบาท นั้นก็คือความไม่ชอบใจ มันจะเป็นขั้วบวกขั้วลบ”
ชีวิตของเราที่มีพ่อมีแม่มีปู่ย่าตายาย เป็นอวิชชาเป็นความหลง มันก็อยู่ที่กระบวนการนี่แหละ คือพอใจ ไม่พอใจ พระพุทธเจ้าท่านถึงไม่ให้เราตรึกนึกคิดในเรื่องกามเรื่องพยาบาท เราเข้าใจอย่างนี้มันจะง่ายขึ้นนะ เราจะได้รู้เหมือนที่พระพุทธเจ้าบอกว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมันมากมาย เราแก้ปัญหาได้ด้วย เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เพราะทุกอย่างมันอยู่ที่ปัจจุบันนี้เอง เพราะทุกอย่างนั้น เราไม่ได้เอามาเพิ่มและไม่ได้ตัดออก เพียงแต่เรามีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง สิ่งเหล่านี้มันจะหยุดวัฏสงสาร ใจเราจะได้มีสติ มีสัมปชัญญะ เราจะได้มองขาดเลย ว่าวัตถุก็ส่วนนึง ใจก็ส่วนนึง
พอเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ใจเรากับสมองนี้มันจะได้เข้าถึงธรรมะ เป็นธรรมะ ถ้าเราไม่เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง ทุกคนก็จะเข้าถึงการบรรลุธรรม การบรรลุธรรมมันเป็นยังไง? พระพุทธเจ้าบอกว่า เรามีสติสัมปชัญญะ ไม่เป็นนิติบุคคล มันก็จะเข้าถึงความสงบ มีแต่สติสัมปชัญญะ ใจของเรามันก็จะหยุดตรึกในการในพยาบาท ใจของเรามันจะไม่มีตัวมีตน ไม่มีนิติบุคคล ใจกับกายของเรานั้นจะขาดกันไปเลย ใจเรามันก็จะไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บ ไม่มีตาย ไม่มีพลัดพราก รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันจะได้เอาธรรมะเป็นใจครอง ไม่ใช่เอาอวิชชาเอาความหลงมาเป็นใจครอง
พระพุทธเจ้าบอกว่า ทำอย่างนี้นะ มีความสุขนะ ดับทุกข์ได้โดยแท้จริง ดับทุกข์ทั้งทางวัตถุและทางจิตใจไปได้พร้อมๆ กัน
เพราะฉะนั้นความดับทุกข์มันจึงอยู่กับเราทุกหนทุกแห่ง ไม่เกี่ยวกับรวยกับจน ไม่เกี่ยวกับสุขภาพร่างกายมันเกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก มันอยู่ที่สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มันจะเป็นพุทธะ เป็นธรรมะ เป็นสังฆะ เป็นพระธรรม เป็นพระวินัย
การที่มาบวชนี้ “ดีมากนะ!” บ้านก็ไม่ได้เช่า ข้าวก็ไม่ได้ซื้อ เขาเอาของมาให้มาถวายก็ยังมากราบมาไหว้อีก การมาบวช มันถึงไม่ใช่เพียงปลงผมนุ่งห่มผ้าจีวร ทำวัตรสวดมนต์ ไปรับกิจนิมนต์ ไปบิณฑบาต มันต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ด้วยความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เราต้องสละคืนเสียซึ่งตัวซึ่งตน นิติบุคคล หยุดเอาความพอใจเป็นที่ตั้ง หยุดเอาความไม่พอใจเป็นที่ตั้ง มันเป็นการหยุดโรงงานที่เราเวียนว่ายตายเกิด
“พระพุทธเจ้าบอกว่า ใจเรามันคิดได้ทีละอย่าง เมื่อเราหยุดคิด “พุทธะ” ก็จะเกิดขึ้นทันที เมื่อมีแสงสว่าง ความมืด มันก็หายไปทันที”
การที่เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง มันก็อย่างเดียวกับที่ เราทุกคนพากันมีผัวมีเมียทางจิตใจทั้งวันทั้งคืน เราไปทำอย่างนั้นมันก็ ทุกข์! น่ะ เพราะเราเป็นคนมิจฉาทิฏฐิ เป็นคนประกอบทุกข์ เราเลยไปโทษสิ่งภายนอก ไปโทษลูก โทษหลาน โทษรัฐบาล โทษดินฟ้าอากาศ เราไม่ได้กลับมาย้อนดูตัวเองว่า เรามีความเห็นผิด มีความเข้าใจผิด เราเลยมีชีวิตเพื่อประกอบทุกข์ ถ้าจะให้ยุติธรรมก็เป็นเพราะว่าเรามีความเห็นผิดความเข้าใจผิด ปฏิบัติผิด ถ้าเราไม่ไปตรึกในความชอบความไม่ชอบที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้เวียนว่ายตายเกิด ปัญหาต่างๆ มันก็ไม่มี
พระพุทธเจ้า ท่านพูดให้เราฟังง่ายๆ ท่านทั้งหลาย จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด อย่าได้เป็นตัวเป็นตนเลย แล้วถ้าเราไม่มีตัวมีตนแล้ว เราจะได้พากันหยุดมีปัญหา หยุดสร้างปัญหา เมื่อเราไปมีตัวมีตนนั้นแหละ คือเรามีภรรยามีสามี เป็นการปลูกฝังให้น้ำให้ปุ๋ย นั้นเป็นการอุปถัมภ์อุปัฏฐากอวิชชาความหลงนะ เราจะไปโทษลูกโทษหลานโทษรัฐบาลดินฟ้าอากาศได้ยังไง ก็ถ้าเราไม่ตรึกในกามในพยาบาท เรื่องมันก็จบกัน ไม่มีเรื่อง ตัวเองเนี่ยไปบ่นให้ลูกให้หลาน มันไม่ยุติธรรม เพราะตัวเองหนะ อยากไปมีผัวมีเมีย การมีผัวมีเมียในที่นี้ หมายถึง เราเอาอวิชชาเอาความหลงเป็นที่ตั้ง
พระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์น่ะ เป็นเรื่องที่ให้เราทุกท่านทุกคนหยุดภพหยุดชาติ หยุดความเวียนว่ายตายเกิด พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า การหยุดเวียนว่ายตายเห็นนี้ อยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง อยู่ในศีล อยู่ในสมาธิ อยู่ในปัญญา ที่เป็นญาณ เป็นสติ เป็นสัมปชัญญะ เป็นความสงบ เป็นความเย็น หยุดมีความทุกข์ด้วยการประพฤติปฏิบัติ ท่านว่า พระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ “มันไม่ยากหร๊อก!” พวกเราพากันมาสละคืนซึ่งตัวซึ่งตนซึ่งนิติบุคคล ให้พากันมีสติมีสัมปชัญญะ การประพฤติปฏิบัติของเรามันก็จะเป็นการอบรมบ่มอินทรีย์ไปเรื่อย เป็นมรรค เป็นอริยมรรค มันจะอยู่กับเราในอิริยาบถทั้งสี่ อยู่ในอิริยาบทย่อย
ทุกคนต้องมีความสุขในการปฏิบัติให้มันถูกต้อง แล้วเราก็จะมีความสุขในการทำงาน เพราะการทำงาน คือ การปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรม ก็คือ การทำงาน เมื่อการทำงานกับการปฏิบัติธรรม มันเป็นอันเดียวกัน ด้วยความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ปัญหาเรื่องขาดแคลนทางวัตถุของเรา ของญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลของเรา มันก็จะไม่มี เพราะเรามีความสุขกับการทำงาน ความทุกข์ทางจิตใจของเรามันก็ไม่มี เพราะเรามีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ทุกอย่างมันจะเลื่อนไปด้วยสติ ด้วยสัมปชัญญะ การประพฤติปฏิบัติมันต้องติดต่อต่อเนื่องกัน เหมือนเราเอาต้นไม้ ต้นเล็กๆมาเพาะปลูกเนี่ยแหละ ดูแลติดต่อต่อเนื่องกัน ต้นไม้นั้นถึงจะโตได้
ถามว่า เราต้องปฏิบัติไปนานเท่าไหร่ เราถึงจะได้หยุดปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าให้เราพากันเข้าใจนะ การประพฤติปฏิบัติ ยิ่งเราปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง เรายิ่งเข้าถึงความดับทุกข์
อย่ามาถามอย่างนี้ ที่ถามอย่างนี้เพราะไม่รู้จัก อริยสัจ ๔ เลย คือไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์ ไม่รู้จักความดับทุกข์ ไม่รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ อย่าพากันถามอย่างนี้
เราพากันคิดดู พระพุทธเจ้าท่านทรงพักผ่อน ๔ ชั่วโมง ทำงานติดต่อต่อเนื่องกัน ๒๐ ชั่วโมง เพราะสิ่งที่ถูกต้อง คือการกระทำที่สุดแห่งความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าน่ะ ไม่มีตัวไม่มีตน ท่านถึงไม่ได้คิด ไม่ได้ถามว่า เราจะปฏิบัตินานเท่าไหร่ การที่เราไม่เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง มีแต่พระธรรมวินัย มีแต่สติ มีแต่สัมปชัญญะ นั้นแหละคือ “การบรรลุธรรม” การหมดซึ่งตัวซึ่งตนซึ่งนิติบุคคล พระพุทธเจ้าถึงให้เราพากันเข้าใจอย่างนี้ เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง มันเผาตัวเองยังไม่พอ ก็ยังไปเผาคนอื่น
เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เราเห็นรูปสวยๆ เราก็ร้อง “โห๊ย” ในใจ “ทำไมสวยแท้ ทำไมหล่อแท้ ทำยังไงเราจะได้เป็นเจ้าของหนอ” ใช่มั้ย?
เราได้ยินเสียงเพราะๆ เราก็ร้องในใจ “โห๊ย โห๊ย” ไปเรื่อยหนะ ใช่มั้ย?
อันนี้มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ให้ทุกท่านหลง ทุกท่านเพลิดเพลิน ที่พวกเราไม่มีสติไม่มีสัมปชัญญะ สิ่งที่เราต้องทำคือ ต้องหยุดตรึกในกาม หยุดตรึกในพยาบาท เพราะใจของเรา มันคิดได้อย่างเดียว ต้องหยุดให้น้ำให้ปุ๋ยของอวิชชา ของความหลง
พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกท่านทุกคนมาปฏิบัติที่ 'ใจ' ของตัวเอง ที่คำพูดของตัวเอง การกระทำของตัวเอง เหมือนพระพุทธเจ้าท่านประพฤติปฏิบัติ เพราะทุกๆ คนนั้นมันเหมือนกันหมดน่ะ ทำดีก็ย่อมได้ดี ทำไม่ดีก็ย่อมได้ไม่ดี ทำอย่างไรได้อย่างนั้น
ประการแรกที่เราจะคิด ที่เราจะทำ ที่เราจะพูดนี้ เราพากันมาสมาทานเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า เราทุกท่านทุกคนถือว่าชีวิตนี้ เป็นชีวิตที่ประเสริฐ เป็นชีวิตที่เกิดมาเพื่อสร้างคุณธรรม เพื่อสร้างบารมี เอาแบบอย่างเอาเยี่ยงอย่างของพระพุทธเจ้า ธรรมทั้งหลาย เราไม่ต้องไปคิดมาก ไม่ต้องไปค้นคว้ามาก เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านบอกเราสอนเราตรัสไว้ดีแล้ว เพียงแต่ทำตามปฏิบัติตามเท่านั้นเอง
คนเราทุกท่านทุกคนที่มีปัญหานี้ ก็เพราะเราเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เอาตัวเองเป็นใหญ่ เอาตัวเองเป็นประธาน ไม่ได้เอาธรรมะ ไม่ได้เอาความถูกต้อง ไม่ได้เอาความดีเป็นที่ตั้ง พากันไปคิดไปเข้าใจว่า ถ้าเราปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า ปฏิบัติตามธรรมะน่ะมันเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องลำบาก มันเป็นการลิดรอนสิทธิ์ความสุข...ความดับทุกข์ของตัวเอง เราไม่ใช่พระพุทธเจ้า เราไม่ใช่พระอรหันต์ แล้วเราจะปฏิบัติอย่างนั้นได้อย่างไร...? เราน่ะมีความเข้าใจอย่างนี้ เรามีความคิดอย่างนี้ เลยเอาตัวเองเป็นใหญ่ เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง สร้างอัตตา สร้างตัวตนขึ้น
ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้น ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ เป็นไปเพื่อตัวเพื่อตนนั้น ไม่ใช่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ความดับทุกข์ มีแต่จะเพิ่มความทุกข์ มีแต่จะเพิ่มปัญหา
พระพุทธเจ้าท่านไม่มีตัวไม่มีตนน่ะ พระอรหันต์ท่านไม่มีตัวไม่มีตนน่ะ ท่านถึงไม่มีทุกข์น่ะ ที่ไหนมีตัวมีตนนั้นที่นั่นมีทุกข์ทั้งนั้นเลย
ชีวิตของเราเป็นของประเสริฐน่ะ การเกิดมาเป็นมนุษย์นี้มันเป็นของน้อยนัก เป็นโอกาสที่เราจะได้สร้างความดี สร้างบารมี
พระพุทธเจ้าถึงให้เราเข้าใจ ตั้งใจ... เพราะสิ่งที่ให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า นั้นคือ 'ธรรมะ' สิ่งที่จะให้ประชาชนที่เป็นหญิง เป็นชาย เป็นคนเล็ก เป็นผู้ใหญ่ ที่จะเข้าถึงธรรมะ หรือเข้าถึงความ ดับทุกข์ที่แท้จริง นั้นคือ 'ธรรมะ' การปฏิบัติธรรมะให้เน้นเข้าที่จิตที่ใจ เพื่อจะได้ละความโลภ ละความโกรธ ละความหลง โดยเอาการเสียสละ
ทุกๆ ท่านนั้นต้องเสียสละ ให้ระลึกในใจว่าชาตินี้เราเกิดมา เพื่อเสียสละ เพื่อความดี ปฏิบัติธรรม เราทุกท่านทุกคนนั้น จะทำอะไรก็หวังผลประโยชน์ตอบแทน ว่า ทำอย่างนั้นจะได้รับผลอย่างนั้น ทำอย่างนี้จะได้รับผลอย่างนี้ พระพุทธเจ้าให้เราเสียสละ ให้ทานไป...ให้ทานยังไม่พอก็ยังมารักษาศีลอีก ศีลนั้นคืออะไร? 'ศีล' นั้นคือความบริสุทธิ์น่ะ เป็นทางสายกลาง เป็นเครื่องมือ เป็นอุปกรณ์ ที่ให้เราทุกคนได้ปฏิบัติเข้าถึงความสุข...ความดับทุกข์ เข้าถึงความดับไม่เหลือแห่งอัตตาตัวตน เน้นเข้าไปที่ 'ศีล' เน้นไปตัวที่ 'เจตนา'
เราฝึกจิตใจให้ตั้งมั่นในศีล ให้หนักแน่นในศีล หนักแน่นในสมาธิ ตั้งมั่นในสมาธิ ความเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นผู้นำของเรานี้ มันถึงจะได้เกิดประโยชน์ เราจะไม่ได้กลัวอุปสรรค ไม่ได้กลัวปัญหา เพราะอุปสรรคนั้นไม่มี ถ้าเราไม่มีอัตตา ถ้าเราไม่มีตัวไม่มีตน ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมันจะ เดินไปก้าวไปด้วยศีล ด้วยธรรม ด้วยคุณธรรม ชีวิตของเราก็ถือว่าเป็นชีวิตที่ประเสริฐที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์เป็นผู้ที่จิตใจสูง สงบเย็นเป็นพระนิพพาน
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee