แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๖๔ มนุษย์เรามีปัญญาสามารถสารพัดอย่าง แต่ยังบกพร่องหรือขาดปัญญาในการที่จะเอาชนะความทุกข์
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
สัมมาทิฏฐิเป็นความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เป็นสติเป็นสัมปชัญญะ ทุกๆ ท่านเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติปฏิบัติกายปฏิบัติวัตถุไปพร้อมๆ กัน ปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ ปรับตนเองเข้าหาเวลา ทำงานภายนอกเพื่อสุขภาพร่างกาย ทำงานภายในคือเรื่องจิตเรื่องใจ ด้วยฉันทะด้วยความพอใจ มีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดจากเหตุเกิดจากปัจจัย เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงจะมีได้ชีวิตของเราย่อมไม่มีสักกายทิฏฐิไม่มีตัวไม่มีตน มีแต่สติคือความสงบ มีแต่สัมปชัญญะตัวปัญญาที่เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม มันจะก้าวไปอย่างนี้แหละ เราจะได้ปรับตัวเข้าหาธรรมะให้มันเป็น 100% ไม่มีข้อแม้ใดใดทั้งสิ้น ปรับตัวเองเข้าหาเวลาให้มัน 100% ไม่มีข้อแม้ใดใดทั้งสิ้น เพราะธรรมะก็คือธรรมะ เพราะเวลาก็คือเวลา เราท่านทั้งหลายจะได้พากันสร้างเหตุสร้างปัจจัยจนเป็นกระบวนการแห่งการดับทุกข์
ทุกท่านทุกคนนั้นจะเอากายเอาใจเป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตนนั้นไม่ได้ พระพุทธเจ้าถึงให้เรารู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ ที่เราเอาตัวเอาตนเอาอวิชชาเอาความหลงเป็นที่ตั้ง คือการเวียนว่ายตายเกิด ต้องพากันสละคืนเสียซึ่งตัวซึ่งตนพากันหยุดด้วยการมีสติมีสัมปชัญญะ เพื่อชีวิตของเราจะได้เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม เพื่อจะได้ไม่เป็นนิติบุคคลไม่เป็นตัวไม่เป็นตน พวกเราทุกคนจะได้หยุดฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ประพฤติผิดในกามโกหกหลอกลวง สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้เพราะเราไม่รู้อริยสัจ ๔ เราเอาอวิชชาเอาความหลงเป็นที่ตั้ง ถึงได้ฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ประพฤติผิดในกาม ตั้งอยู่ในความหลงในความประมาท เพราะความไม่รู้ การที่จะหยุดสิ่งเหล่านี้ได้ ทุกท่านทุกคนต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติให้ติดต่อต่อเนื่อง ใจของเราทุกคนมันคิดได้ทีละอย่าง ถ้าเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ธรรมะก็เกิดขึ้นไม่ได้ ความถูกต้องก็เกิดขึ้นไม่ได้ พระพุทธเจ้าถึงไม่ให้เราตรึกในกามในพยาบาท ให้พากันมีสติมีสัมปชัญญะให้มันติดต่อต่อเนื่อง ให้มีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติที่ถูกต้อง
ถึงแม้เราเกิดมาเราจะเห็นพ่อแม่บรรพบุรุษของเรา พากันฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ประพฤติผิดในกามโกหกหลอกลวงดื่มน้ำดองของเมาเสพสิ่งเสพติดเล่นการพนัน เราทุกคนก็ต้องพากันรู้จักว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถึงจะเป็นประชาธิปไตยที่ทำกันทั้งโลก แต่มันเป็นประชาธิปไตยสีดำสีเทา ความถูกต้องก็คือความถูกต้อง ไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตยที่เป็นความหลงนะ ทุกท่านทุกคนต้องพากันดำเนินชีวิตของเราของท่านเอง ด้วยสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เพื่อให้เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม
ให้ทุกท่านทุกคนเอาความถูกต้องเป็นหลัก เอาสัมมาทิฏฐิที่เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติให้มันเป็นสติเป็นสัมปชัญญะ ถ้าเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มันไม่มีความทุกข์หรอก มันไม่มีความทุกข์นะ เพราะมันเป็นสติเป็นความสงบเป็นสัมปชัญญะ เพราะใจมันเป็นสัมมาทิฏฐิ ความทุกข์มันจะไม่มี ใครจะปฏิบัติไม่ปฏิบัติก็ช่างหัวเขา ให้ทุกท่านทุกคนพากันเน้นตัวเอง เมื่อเรามีสติมีสัมปชัญญะ ทุกคนก็จะมีความสุขสงบร่มเย็น พระพุทธพระธรรมพระอริยสงฆ์ก็จะเกิดขึ้นกับเรา ด้วยมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม
วันหนึ่งคืนหนึ่งเราทานอาหารก็ไม่หมดกี่กิโลหรอก ถ้าเรามีความสุขในการทำงานเรื่องอาหารก็ไม่มีปัญหา พระพุทธเจ้าท่านบอกสอนไว้ดีมาก ให้มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ให้ทุกคนมีความสุขในการทำงานมีความสุขในการปฏิบัติธรรม ให้พากันเข้าใจ ทุกท่านทุกคนไม่ต้องพากันไปพึ่งใครหรอก พึ่งสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องนี่แหละ มันจะเป็นที่พึ่งของเราทุกคน เพราะเราไม่เข้าใจด้วยมีความเห็นผิดเข้าใจผิด เราก็คิดแต่อยากจะพึ่งคนอื่นน่ะ ทุกท่านทุกคนต้องพากันพึ่งตนเองนะ เป็นทั้งความรู้ความเข้าใจการประพฤติการปฏิบัติ ความรู้ความเข้าใจการประพฤติการปฏิบัติมันเป็นยานที่จะนำชีวิตของเราออกจากวัฏสงสาร ถ้าเราเอาตัวเอาตนของเราเป็นที่ตั้ง มันแก้ปัญหาไม่ได้ มีแต่จะสร้างปัญหา
วันหนึ่งคืนหนึ่งก็พากันนอนพักผ่อน อย่างพระภิกษุสามเณรก็ให้พากันนอนสัก ๖ ชั่วโมง เวลาเราตื่นอยู่นี้ให้เจริญสติเจริญสัมปชัญญะ เพื่อให้เป็นสมถะคือความสงบเพื่อให้เป็นวิปัสสนาคือตัวปัญญา ที่เราจะได้เห็นอนิจจังคือความเปลี่ยนแปลง เพื่อจะได้รู้ความทุกข์เห็นทุกข์ที่เกิดขึ้นเห็นทุกข์ที่ดับไป ได้เห็นอนัตตาที่เป็นปรากฏการณ์ที่มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันเป็นเพียงเหตุเป็นเพียงปัจจัยในปัจจุบัน นักบวชเราน่ะ ถ้าเรามีสติมีสัมปชัญญะน่ะ เราจะได้มีทั้งความสงบได้ทั้งปัญญาไปพร้อมๆ กัน ทุกคนนั้นจะได้มีแต่พระธรรมมีแต่พระวินัย ก้าวไปด้วยความดับทุกข์ ก้าวไปทั้งกายทั้งใจ
การประพฤติการปฏิบัติมันก็จะเป็นการอบรมบ่มอินทรีย์ เพราะเราไม่มีสักกายทิฏฐิไม่มีตัวไม่มีตน เราหยุดตัวตน ไม่เอาความหลงเป็นที่ตั้ง ไม่ตามผัสสะไม่ตามอารมณ์ เราหยุดเป็นคนเจ้าอารมณ์ มีแต่ธรรมวินัยมีแต่ข้อวัตรมีแต่ข้อปฏิบัติ เราจะได้เป็นเจ้าอาวาสไม่เหมือนแต่ก่อนที่เป็นเจ้าอาละวาด นิวรณ์ทั้ง ๕ จะไม่สามารถครอบงำผู้มีสติมีสัมปชัญญะได้ในปัจจุบัน อวิชชาความหลงที่หมกมุ่นอยู่ในกามอยู่ในพยาบาท จะไม่มีโอกาสได้หมกมุ่นอยู่ในกามอยู่ในพยาบาท ซึ่งมันเป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตน
ความดับทุกข์ของเราทุกคนจึงได้มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหนก็มีความสุข พระอรหันต์อยู่ที่ไหนก็มีความสุข อยู่ตามพื้นดินอยู่ตามโคนไม้อยู่ตามป่าเขาอยู่ตามกรุง อยู่ที่ไหนก็มีความสุข เพราะท่านว่างจากนิติบุคคลว่างจากตัวจากตน มีแต่สติมีแต่สัมปชัญญะ ไม่หลงขยะไม่หลงอวิชชาที่เป็นโมหะ เมื่อเราไม่มีตัวไม่มีตน ความวิเวกนั้นก็ย่อมมีกับเราก็ทุกหนทุกแห่ง ธรรมที่เป็นอุปการะมากที่เป็นสติเป็นสัมปชัญญะที่รู้ตัวทั่วพร้อมที่รวมกันมาเป็นศีลสมาธิปัญญา เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสิ่งที่ผ่านมาทุกท่านทุกคนต้องลบให้เป็นเลขศูนย์ เพื่อจะได้ไม่มีนิติบุคคลไม่มีตัวไม่มีตน ปัจจุบันเราก็ลบให้เป็นศูนย์เพื่อไม่ให้นิติบุคคลตัวตนหลงเหลืออยู่ อวิชชาความหลงมันจะได้อ่อนกำลังลงไปหมดลงไป ด้วยเรามีสติมีสัมปชัญญะที่ติดต่อต่อเนื่อง เราจะได้มีรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณที่บริสุทธิ์ไม่มีอวิชชาไม่มีความหลงเป็นใจครอง เราจะได้ครองด้วยสติด้วยสัมปชัญญะคือพุทธะ
สำหรับประชาชนผู้ครองเรือน พระพุทธเจ้าก็ให้ฆราวาสทั้งหลายพากันมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ไม่ให้ตามอวิชชาตามความหลงที่มันเป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตน ที่พ่อแม่บรรพบุรุษจะพาเราประพฤติพาเราปฏิบัติมาก็ตามที ให้พวกเราฆราวาสทั้งหลายพากันเข้าใจนะ ที่พากันฆ่าสัตว์ลักทรัพย์โกงกินคอรัปชั่น ประพฤติผิดในกาม โกหกหลอกลวง ดื่มเครื่องดองของเมา เสพยาเสพติด เล่นการพนัน ขี้เกียจขี้คร้าน คบคนพาลเป็นมิตร ให้ทุกท่านทุกคนอย่าไปเข้าใจว่าอันนี้คือความถูกต้อง ให้พากันมีสติมีสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม เพื่อทุกคนจะได้ปรับตัวเข้ามาหาความถูกต้อง ปรับเข้าหาเวลาเข้าสู่การประพฤติการปฏิบัติของเราทุกๆ คน ปัญหาต่างๆ ของฆราวาส เราก็ต้องมาแก้ที่ตัวเรานี่แหละ ทุกๆ ฆราวาสก็มาแก้ที่ตัวฆราวาสเอง ให้ทุกคนรู้ทุกข์รู้เหตุเกิดทุกข์รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
การเรียนการศึกษาเรียกว่าพุทธะ ศึกษาเรื่องไหนให้เข้าใจเรียกว่าสิ่งนั้นคือพุทธะ เพื่อเราจะได้มีสัมมาทิฏฐิมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เพื่อจะได้เป็นพุทธะเฉพาะทาง เพื่อรู้จริงเพื่อเราจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง อย่างเราอ่านหนังสือเล่มนึงให้เราเข้าใจความหมาย เพื่อเราจะได้มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องจะได้ปฏิบัติถูกต้อง ไม่ใช่เป็นท่องจำเอา หนังสือทั้งเล่มใหญ่เราจะไปจำอะไรหมดล่ะ เราก็ต้องเข้าใจเรียกว่าพุทธะในการเรียนการศึกษา เมื่อเข้าใจเข้าใจเราจะได้เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ
การที่เราร่ำเรียน เพื่อร่ำรวย ไม่ได้ผิดอะไร แต่เราควรร่ำเรียน เพื่อร่ำรวย ด้วยการมีศีลธรรม กำกับด้วย เพื่อให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่าง สุข สงบ และสันติ
ที่โลกเรายังคงวุ่นวาย ไม่ใช่เพราะเราขาดแคลน คนเรียนเก่ง คนมีความรู้ โลกเรามีคนแบบนั้นมากมาย คนที่เราขาดแคลนคือ... เราขาดคนที่ใช้คุณธรรมนำความรู้ต่างหาก จะไปเรียนเรื่องต่างๆ ได้ปริญญา มาไม่รู้กี่สิบปริญญาแต่ไม่มีเรื่องดับทุกข์เลย ในทางธรรมะไม่เรียกว่าวิชชา, ต่อเมื่อมันมีส่วนแห่งการดับทุกข์ได้ จึงจะเรียกว่าวิชชา
ถ้ามีความรู้ทางโลกอย่างเดียว ไม่ว่าตนเองจะเป็นคนฉลาดเพียงใดก็มีโอกาสพลาดพลั้งได้ เช่น มีความรู้เรื่องปรมาณู อาจนำไปใช้ในทางสันติเป็นแหล่งพลังงาน หรือนำไปสร้างเป็นระเบิดทำลายล้างชีวิตมนุษย์ก็ได้ เราจึงต้องศึกษาความรู้ทางธรรมไว้คอยกำกับความรู้ทางโลกด้วย ความรู้ทางธรรมจะเป็น เสมือนดวงประทีปส่องให้เห็นว่า สิ่งที่กระทำนั้นถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร
ผู้ที่คิดแต่จะตักตวงความรู้ทางโลก แม้จะฉลาดร่ำรวย มีอำนาจสักปานใดก็ไม่น่ารัก ไม่น่าเคารพ ไม่น่ายำเกรง ไม่น่านับถือ ยังเป็นบุคคลประเภท เอาตัวไม่รอด “ความรู้ที่เกิดแก่คนพาล ย่อมนำความฉิบหายมาให้ เพราะเขาจะนำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิดๆ”
เราทุกคนจึงควรจะแสวงหาโอกาสศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม และ รู้ให้ลึกซึ้งเกินกว่าการงานที่ตนรับผิดชอบ ความรู้ที่เกินมานี้ จะเป็นเสมือนดวงประทีปส่องให้ทางเบื้องหน้านำไปสู่ความสำเร็จได้โดยง่าย
ไม่มีแสงสว่างใดเสมอด้วยปัญญา (นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา) แสงอาทิตย์สว่างในกลางวัน แสงจันทร์สว่างในกลางคืน บางคืนก็ไม่สว่าง เช่นคืนข้างแรม แสงตะเกียง แสงไฟฟ้า เป็นต้น ล้วนแต่ไปจากปัญญาของมนุษย์ทั้งนั้น สัตว์โลกชนิดอื่นไม่มีปัญญาที่จะทำแสงสว่างให้เกิดขึ้นได้ คงอยู่ไปตามธรรมชาติ อาศัยแต่เฉพาะแสงอาทิตย์และแสงจันทร์เท่านั้น
อาศัยแสงสว่างคือปัญญา ทำให้มนุษย์สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้มากมาย ที่อำนวยความสุขความสะดวกสบายให้แก่หมู่มนุษย์ เช่น ที่อยู่อาศัย เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ มากมาย เหลือที่จะพรรณนาได้ ซึ่งสัตว์เหล่าอื่นไม่มี เคยอยู่กันมาอย่างไรเมื่อแสนปีล้านปีก่อน ก็คงอยู่กันไปอย่างนั้น ทั้งนี้เพราะไม่มีแสงสว่างคือปัญญา
แต่ปัญญาของมนุษย์ ก็ได้สร้างเครื่องมือสำหรับทำลายมนุษย์ด้วยกันเอง และสัตว์อื่น มากมายเหมือนกัน เช่น อาวุธชนิดต่างๆ ตลอดถึงอาวุธสงคราม ระเบิดปรมาณูและขีปนาวุธเป็นต้น
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงปี พ.ศ. ๒๔๘๘ เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิของญี่ปุ่นได้พังพินาศไปแล้ว ด้วยฤทธิ์ระเบิดปรมาณูของทหารอเมริกัน มีผู้ถามอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ว่า สงครามโลกครั้งที่ ๓ มนุษย์จะรบกันด้วยอะไร ไอน์สไตน์ตอบว่าไม่รู้ แต่สงครามโลกครั้งที่ ๔ มนุษย์จะต้องใช้ก้อนหินปากัน นั่นหมายความว่า สงครามโลกครั้งที่ ๓ มนุษย์จะใช้อาวุธที่ร้ายแรงถึงขนาดล้างโลกทีเดียว มนุษย์ต้องถอยหลังไปสมัยหินอีก จะจริงหรือไม่ใครจะเป็นคนคอยดู แสดงให้เห็นอีกอย่างหนึ่งว่า ปัญญาของมนุษย์นี้สร้างสรรค์ก็ได้ทำลายก็ได้ สุดแล้วแต่ว่าได้รับการควบคุมด้วยศีลธรรม หรือมโนธรรมเพียงไร ที่สำคัญมากอย่างหนึ่งก็คือ ความทุกข์ในใจของมนุษย์นั้น จะเอาชนะได้ด้วยปัญญา บุคคลจะบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา
คำว่า ศึกษานั้น มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต ศึกษา มาจากคำว่า... ศิกษา ในภาษาสันสฤต และ สิกขา ในภาษาบาลี อันแปลความหมายว่า การเรียนรู้ ที่จะทำให้เห็นเอง
สิกขา มาจาก สยํ+อิกขฺ สยํ แปลว่า เอง อิกขฺ แปลว่า เห็น
สิกขา จึงแปลว่า การเห็นด้วยตัวเอง การเห็นประโยชน์ได้ด้วยตัวเอง
พหูสูต ๕ ระดับ โดยหลักทฤษฎีจริงๆ แล้ว การเกิดของปัญญาที่เรียกว่า พหูสูต มี ๕ ระดับ ผู้ที่เป็น พหูสูตต้องทำถึง ๕ ขั้น ดังนี้
ขั้นที่ ๑ พหุสสุตา แปลว่า ฟังมาก เรียนมาก ท่องมาก รวบรวมข้อมูลได้มาก ขั้นนี้เป็นการศึกษาเล่าเรียนจากข้อมูลต่างๆ จากอาจารย์ จากตำรา การใฝ่หาความรู้ต่างๆ ขั้นนี้ทุกคนสามารถทำได้
ขั้นที่ ๒ ธตา แปลว่า จำได้ จำสาระสำคัญให้ได้ว่าสิ่งไหนที่ควรจะจำเมื่ออ่านหนังสือจบเล่มหนึ่งๆ ต้องจับประเด็นหลักให้ได้ แล้วนำความจำประเด็นหลักๆ มาขยายความได้ เช่น อ่านหนังสืออย่างช้าๆ แล้วทำความเข้าใจไปด้วย เมื่ออ่านจบให้ สรุปสาระสำคัญให้ได้ แล้วนำหนังสือไปเก็บโดยไม่ต้องนำกลับมาอ่านอีก ถ้าสามารถทำอย่างนี้ได้ แสดงว่าเป็นผู้แสวงหาความรู้ที่ถูกทาง ถูกต้อง ขั้นนี้เรียกว่า ธตา คือ ควรจำได้ในสาระที่ควรจำ
ขั้นที่ ๓ วจสา ปริจิตา คือ ท่องให้คล่องปาก เมื่อสมัยก่อนมีบทอาขยานให้ท่อง ปัจจุบันไม่มีแล้ว ให้เรียนแบบฝรั่ง เพื่อสอนให้คิดเป็นแก้ปัญหาเป็น แต่ครูยังสอนเหมือนเดิม เด็กก็ยังคิดไม่เป็น แถมยังจำอะไรไม่ได้อีก โง่กว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น หลักขั้นที่ ๓ คือ ต้องท่องให้คล่องปาก จนสามารถจำได้ ไม่ว่าจะเป็นคำสุภาษิต คติ หรือพุทธวจนะเมื่อต้องการสามารถหยิบมาใช้ได้ทันที
ขั้นที่ ๔ มนสานุเปกขิตา คือ เพ่งให้ขึ้นใจจนสามารถสร้างภาพพจน์ขึ้นในใจ เป็นวิธีการเรียนหนังสืออย่างหนึ่ง สมัยเรียนเป็นสามเณร เปรียญ ๘ เปรียญ ๙ ผมใช้เวลาในการอ่านหนังสือ ๑ ถึง ๒ เที่ยวก็จำหมด เพราะผมใช้วิธีสร้างภาพในใจ จนกระทั่งมองเห็นว่าข้อความนั้นๆ อยู่บรรทัดเท่านั้น หน้านั้นได้ อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ท่านเคยเล่าว่า เมื่ออ่านประวัติศาสตร์ไทยตอนพระนเรศวรรบกับพระมหาอุปราชา ท่านมองเห็นภาพว่าพระนเรศวรยืนอยู่ตรงไหน พระมหาอุปราชายืนตรงไหน ตอนรบกันทำท่าอย่างไร เวลาท่านมาพูดเหมือนกับบรรยายภาพ ไม่ใช่พูดจากความจำ ท่านผู้นี้ไม่รู้ภาษาบาลี แต่พูดภาษาบาลีได้คล่อง มีความจำดีชอบอ่านพระไตรปิฎก รู้ข้อความสำคัญๆ หมด โดยไปถามอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ในสมัยที่ท่านยังเป็นพระภิกษุอยู่ว่า ตรงนี้ภาษาบาลีว่าอย่างไร อาจารย์สุชีพได้ไปเปิดภาษาบาลีมาให้ดู ท่านก็ท่อง ๒-๓ เที่ยวจำได้เลย
ขั้นที่ ๕ ทิฏฐิยา สุปฏิวิทธา คือ ขบให้แตก ด้วยทฤษฎี หมายถึง สิ่งที่เรียนจำมาแล้ว สิ่งที่ท่องจนคล่องปากแล้ว สิ่งที่คิดในใจ วาดภาพออกมาชัดเจนแล้ว สิ่งเหล่านี้จะต้องนำมาขบมาคิดตีให้แตก แล้วสามารถนำมาสรุปเป็นแนวคิดของตัวเองได้ นำไปประยุกใช้ได้ ภาษาการศึกษาเรียกว่าได้ข้อสรุปรวบยอด แล้วนำมาประยุกต์ใช้ได้
การอ่านหนังสือ เมื่ออ่านจบแล้วให้เก็บหนังสือเล่มนั้นได้เลย ถ้าหากมีใครถามว่าหนังสือเล่มนั้นว่าด้วยเรื่องอะไรเราสามรถสรุปออกมาได้โดยไม่ต้องคัดลอกคำพูดของเขาและประยุกต์ใช้ให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ ได้ ถ้ารู้แล้วยังประยุกต์ไม่ได้ก็ไม่เป็นพหูสูต ไม่เรียกว่าพหูสูต
ฉะนั้น การที่นักเรียนมาศึกษาเล่าเรียนเพื่อต้องการจะเป็นพหูสูต เพื่อนำไปใช้กับระบบการบริหารการศึกษาเล่าเรียน การนำไปใช้ต้องนำมาสรุปให้เป็นความคิดรวบยอดให้ได้ ประยุกต์ใช้ได้ ไม่ใช่แค่จำได้ท่องได้เท่านั้น
พหูสูต หมายถึง "ความเป็นผู้ฉลาดรู้" คือ ผู้ที่รู้จักเลือกในสิ่งที่ควรรู้ เป็นผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมามาก ได้ยินได้ฟังมามาก และเป็นคนช่างสังเกต ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เป็นต้นทางแห่งปัญญา ทำให้เกิดความรู้สำหรับบริหารงานชีวิตและเป็นกุญแจไขไปสู่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และทุกสิ่งที่ เราปรารถนา ความแตกต่างระหว่างบัณฑิตและพหูสูต
บัณฑิต คือ ผู้มีคุณธรรมประจำใจ มีความประพฤติดีงาม ไม่ว่าจะมีความรู้มากหรือน้อยก็ตาม บัณฑิตจะใช้ความรู้นั้นๆ สร้างประโยชน์แก่ตนเอง และผู้อื่นอย่างเต็มที่ เป็นผู้ที่สามารถเอาตัวรอดได้แน่นอน ไม่ตกไปสู่อบายภูมิเป็นอันขาด
การเรียนการศึกษามันทำลายความมืดมันเป็นแสงสว่างการเรียนการศึกษามาใช้ประพฤติมาใช้ปฏิบัติ เพื่อความสะดวกความสบายทางวัตถุ เรามีชีวิตอยู่ได้ร่วมๆ ร้อยปี พร้อมทั้งพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน เราทุกคนต้องมีความสุขในการทำงานพร้อมทั้งการปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน การศึกษาทางวัตถุเราก็พัฒนาไปเรื่อย จากผลผลิตต่ำกลายเป็นผลผลิตสูงได้ ถ้าเราศึกษาเราปฏิบัติไปมันก็จะต่อเนื่องไปเรื่อย ความสะดวกความสบายมันก็จะมากขึ้น เราก็พัฒนาใจของเราไม่ให้หลงในความสะดวกความสบาย เพราะมันตั้งอยู่บนรากฐานพระไตรลักษณ์ เพราะทุกอย่างนั้นมันคือเหตุคือปัจจัย ที่เราได้รับความสะดวกความสบาย ทุกท่านทุกคนถึงมีสติมีสัมปชัญญะ เราจะได้บริโภคปัจจัย ๔ ด้วยปัญญาไม่ให้อวิชชาไม่ให้ความหลงมันครอบงำใจเรา ผู้ที่เป็นฆราวาสก็สามารถที่จะเป็นพระได้ เพราะว่าพระอยู่ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องคือมีความสงบทั้งกายมีความสงบทางใจนะ
เราต้องลิขิตชีวิตเราด้วยการเดินตามรอยพระพุทธเจ้า พัฒนาวิทยาศาสตร์พัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน เพราะไม่มีอะไรจะยิ่งกว่า เราต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ อย่างเราจะเรียนหนังสือก็มาจากภาคการเรียนการอ่านแล้วก็เข้าใจ เข้าใจยังไม่พอต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ รู้จักอบายมุขอบายภูมิ และทางแห่งความเสื่อมก็คือความเห็นผิดเข้าใจผิดปฏิบัติผิด ตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึกนะ มันเจ็บปวด เราต้องจัดการตัวเองไม่ได้สู้กับใครหรอกสู้กับตัวเองนี่แหละ อย่างมนุษย์เราในปี ๒๕๖๗ นี้พัฒนาวิทยาศาสตร์ไปไกล ได้รับความสะดวกความสบายก็ถือว่าดีถูกต้อง แต่มันต้องพัฒนาใจ ถ้าไม่อย่างนั้นโลกนี้จะมีแต่ความวุ่นวาย เราจึงต้องเดินทางสายกลางพัฒนาวิทยาศาสตร์พัฒนาใจ ไม่อย่างนั้นมันไม่ได้ ต้องเข้าสู่การปฏิบัติ เห็นไหมอย่างเราเรียนหนังสือก็มีเทอมมีภาคการเรียนต่างๆ จึงต้องเข้าสู่ไลน์ เข้าสู่เส้นทางที่ถูกต้องสู่ความสำเร็จ
มนุษย์เรามีปัญญาสามารถสารพัดอย่าง แต่บกพร่องหรือขาดปัญญาในการที่จะเอาชนะความทุกข์ ชาวโลกจึงระงมไปด้วยความทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ชาวโลกตั้งอยู่ในทุกข์ (ทุกฺเข โลโก ปติฏฺฐิโต) ทั้งนี้เพราะความเข้าใจผิด เพราะการถือผิด สมดังสุภาษิตในวิธุรชาดกว่า “ชาวโลกได้พากันวอดวายมามากแล้ว เพราะการถือผิด” คือ ถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ เห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ มีความคิดผิดเป็นทางดำเนิน มีปัญญาผิด จึงไม่พบสิ่งที่เป็นสาระ บุคคลผู้ประกอบด้วยปัญญาย่อมประสบสุขได้ แม้ในเหตุการณ์ที่น่าจะทุกข์ หมายความว่า เปลี่ยนสิ่งร้ายให้กลายเป็นสิ่งดี เหมือนทำขยะมูลฝอยให้เป็นปุ๋ยเป็นต้น
เราอยู่ในสังคมเราก็ปฏิบัติได้ เราอยู่ในหมู่คณะเยอะๆ เราก็ปฏิบัติได้ ที่ว่าเราปฏิบัติไม่ได้คือเราไม่ได้ปฏิบัติ พิจารณาว่ารูปไม่ใช่ตัวตน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ตัวตน พยายามทำไป เมื่อตัวตนไม่มีแล้ว ใครจะมาสุขมาทุกข์อยู่เล่า มีแต่อวิชชาความหลงที่มันเกิดดับอยู่นี้ เมื่อรู้จักสมาธิ ปัญญาเราก็เจริญ อินทรีย์ก็แก่กล้า ให้เราปฏิบัติให้มีความกล้าปฏิบัติ การละการปล่อยวางทำไปเรื่อยๆ จนกว่าอินทรีย์มันสมบูรณ์ ถ้าเราบังคับตนเองไม่ได้ นานไปยิ่งจะบังคับตัวเองไม่ได้นะ เพราะมันติดสุขติดสบาย เราต้องฝึกจริงๆ ความสุขที่ว่าสุข เราก็คิดปรุงแต่งเอาหรอก ความทุกข์ที่ว่าทุกข์เราก็ปรุงแต่งเอาหรอก แท้จริงแล้วไม่มีอะไร มีแต่ใจไปคิดปรุงแต่งเอาเองทั้งนั้น
ปรัชญาของชีวิตในการเรียนการรู้การศึกษานี้เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ยัง ไม่ยิ่งเท่ากับนำตัวเองมาประพฤติมาปฏิบัติ การเสียสละและรับผิดชอบ มีความตั้งมั่น อนาคตบุคคลผู้นั้น ก็ย่อมเข้าถึงความสุขความดับทุกข์แน่นอน ชื่อว่า 'เป็นบุคคลที่มีหลักของชีวิต'
เพราะฉะนั้น เมื่อมีปัญหาเรื่องใดเกิดขึ้น ให้ใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองเรื่องราวที่เกิดขึ้น ด้วยใจที่สงบเยือกเย็น ปัญหาทั้งหลายนั้นมีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม จงแก้ไขปัญหาด้วยสติปัญญา สติมาปัญญาจะเกิด สติเตลิด มักจะเกิดปัญหา ปัญญานี่แหละที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง ยิ่งจิตว่างจิตละเอียด ปัญญายิ่งละเอียดลึกซึ้ง ความรู้ความเห็นกว้างไกล ทำให้การตัดสินใจถูกต้อง มีวินิจฉัยไม่ผิดพลาด ดังพระบาลีว่า "นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา แสงสว่างเสมอ ด้วยปัญญาไม่มี" ยิ่งกว่านั้นแสงสว่างแห่งปัญญานี้ ยังสามารถขจัดกิเลสอาสวะ และครอบงำอวิชชาที่ปิดบังใจของชาวโลกได้ ทำให้เปลี่ยนจากคนธรรมดา มาเป็นผู้รู้แจ้งโลกได้ในที่สุด
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee