แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๖๓ มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง จะได้กลืนกินเวลา ไม่ปล่อยให้เวลากลืนกินโดยไร้ประโยชน์
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธศาสนาคือธรรมะ ธรรมะคือพระพุทธศาสนา ศาสนาทุกศาสนาในโลกนี้คือธรรมะ ธรรมะคือศาสนา พระพุทธศาสนาคือความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องเรื่องเหตุเรื่องปัจจัยทางวัตถุ เป็นเหตุเป็นผลเป็นวิทยาศาสตร์ รู้เหตุรู้ปัจจัยในเรื่องจิตเรื่องใจในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด รู้เหตุรู้ปัจจัยในการเวียนว่ายตายเกิด รู้เหตุรู้ปัจจัยในการที่จะไม่เวียนว่ายตายเกิด เราลองมาคิดดูดีๆ พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ท่านมีความดับทุกข์อยู่ทุกหนทุกแห่ง อยู่ทุกอิริยาบถ ไม่มีที่ไหนที่ไม่ดับทุกข์ เพราะว่าพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องหยุดทุกข์ทางจิตใจ ไม่มีความฟุ้งซ่าน โลกธรรมครอบงำใจของท่านไม่ได้ ถึงร่างกายจะแก่จะเจ็บจะตายจะพลัดพราก สิ่งเหล่านี้ก็หาได้ครอบงำจิตใจของท่านไม่ เพราะท่านรู้ว่ากายก็ส่วนหนึ่งใจก็ส่วนหนึ่ง พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ที่รู้ทุกข์รู้เหตุคือทุกข์รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ไม่มีความฟุ้งซ่านมีแต่สติคือความสงบ มีแต่สัมปชัญญะคือปัญญาสัมมาทิฏฐิ ที่เป็นธรรมที่เป็นปัจจุบันธรรม ใจของเรามันคิดได้ทีละอย่าง เมื่อเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราก็ไม่ได้คิดในกาม เราก็ไม่ได้ตรึกในกาม ไม่ตรึกในพยาบาท
ทุกท่านทุกคนต้องพากันเข้าใจในการประพฤติการปฏิบัติ ผู้ที่เป็นเสขะบุคคล บุคคลที่ยังประพฤติยังปฏิบัติ ให้พากันเข้าใจให้พากันประพฤติให้พากันปฏิบัติ อย่าพากันตรึกนึกคิดในกามในพยาบาท อย่าไปวิ่งตามอวิชชาตามความหลงพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลายท่านรู้จักท่านพากันหยุด พากันมีสติพากันมีสัมปชัญญะ การที่เราอยู่กับความสงบอยู่กับสัมปชัญญะ ใจของเราก็จะอยู่กับศีลอยู่กับสมาธิอยู่กับปัญญาสัมมาทิฏฐิ แล้วเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ใจของเราจะได้เข้าถึงความเป็นธรรมธรรมถึงความยุติธรรมไม่มีอคติใดๆ เมื่อเรามีสติกลับมาหาเนื้อหาตัว กลับมามีสติรู้ตัวทั่วพร้อม เราอยู่ที่ไหนมันก็ต้องสงบอยู่ที่นั่น เพราะความสงบที่แท้จริงนั้นอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องแล้วปฏิบัติมันให้ถูกต้อง ใจของท่านทั้งหลายก็จะเป็นพระเป็นพระศาสนา ใจของท่านก็จะเอาธรรมนำชีวิต ไม่ได้เอาอวิชชาเอาความหลงนำชีวิต ที่มันเป็นโลกธรรม การที่เรามีตัวมีตนมันเป็นความทุกข์ มันเป็นเรื่องที่วุ่นวาย มันเป็นเรื่องที่ไม่สงบ มีชีวิตอยู่ด้วยความด้วยการประกอบความทุกข์ เป็นชีวิตที่ถูกเผาทั้งเป็น ที่ใจของเรามันเป็นคน มันเป็นความหลง ผู้ที่เวียนว่ายตายเกิด อาหารการบริโภคในการเวียนว่ายตายเกิดมันเป็นอวิชชาเป็นความหลง ทุกท่านทุกคนต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติให้มันติดต่อต่อเนื่อง เป็นมรรคเป็นอริยมรรค
เราทั้งหลายต้องมีธรรมะเป็นเครื่องอยู่ เราทั้งหลายต้องมีนิพพานด้วยความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ที่เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม แต่ก่อนเราไม่รู้พากันร้องโอ๊ยๆ ไปเรื่อย ประชากรในโลกนี้ปัจจุบันร่วม 8,000 ล้านคน ต้องพากันมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง พัฒนาวัตถุให้มีความสุขเพื่อสุขภาพร่างกาย พัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน เมื่อเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราจะได้ให้อาหารกายและอาหารใจที่สมบูรณ์ไปพร้อมๆ กัน
ทุกท่านทุกคนไม่ต้องไปหาความดับทุกข์อยู่ที่ไหน ต้องมาหาความดับทุกข์ที่กายที่ใจของเราในปัจจุบัน พระพุทธเจ้าท่านให้พวกเราเป็นพระตั้งแต่ยังไม่ตาย ไม่ต้องรอตายถึงเป็นพระ ถ้าเรามีสติไม่ตามอวิชชาไม่ตามความหลง ใจของเราก็สงบ เมื่อเรามีสัมปชัญญะมีปัญญามีสัมมาทิฏฐิ ใจของเราก็สงบใจของเราก็มีปัญญา แล้วทุกคนก็จะได้พากันเป็นพระได้ทุกคน การที่ไม่เป็นนิติบุคคลไม่เป็นตัวไม่เป็นตน เป็นความสุขเป็นความดับทุกข์ คนเรานะมีตัวมีตน มันมีความทุกข์นะ คนนอนไม่หลับมันมีความทุกข์นะ คนฟุ้งซ่านมันมีความทุกข์นะ เมื่อมันมีความทุกข์ เราต้องหยุดด้วยการมีสติกลับมารู้ตัวพร้อมให้ชัดเจน ความอยากได้อยากมีอยากเป็นมันเป็นทุกข์ ความไม่อยากได้ไม่อยากมีไม่อยากเป็นมันเป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าให้เรารู้จัก เมื่อรู้จักแล้ว ทุกท่านทุกคนก็ต้องหยุด หยุดให้อาหารอวิชชาหยุดให้อาหารความหลง เราต้องหยุดให้อาหารอวิชชาความหลงอย่างติดต่อต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ความหลงมันทำงานได้ เพื่อไม่ให้อาหารที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้เวียนว่ายตายเกิดได้
ให้ทุกท่านทุกคนรู้จักหน้าที่ของตนเอง หน้าที่ของตนเองเป็นตำแหน่งที่พากันมาเสียสละ มาเสียสละอวิชชามาเสียสละความหลง มาเสียสละความชอบความไม่ชอบใจความดีใจเสียใจ กลับมาหาสติมีความสงบ กลับมาหาสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อมว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นได้ปรากฏแก่เรา ด้วยเหตุด้วยปัจจัย ล้วนแต่เป็นของที่เป็นเหตุเป็นปัจจัย หาใช่นิติบุคคลหาใช่ตัวหาใช่ตนไม่ มันคืออนิจจังความเปลี่ยนแปลง มันเป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นที่ตั้งอยู่ที่ดับไป นอกจากทุกข์แล้วมันไม่มีหรอก เราจะมาหลงมาเพลิดเพลินอยู่ไม่ได้ เพราะทุกอย่างเป็นอนัตตา มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่มันเปลี่ยนแปลง เราทุกท่านทุกคนต้องพากันมารู้อริยสัจ ๔ พากันมารู้ทุกข์รู้ให้ก็ทุกข์รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ สละคืนซึ่งสักกายทิฏฐิซึ่งเป็นตัวเป็นตน ที่มันเป็นโลกธรรมครอบงำจิตใจของเรา ชีวิตของเราที่เกิดมาเป็นมนุษย์ที่มีอายุขัยอยู่ได้ไม่เกิน ๑๒๐ ปีเป็นสิ่งที่มีคุณมีประโยชน์ เราทุกท่านทุกคนต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติให้มันถูกต้อง เวลามันจะได้ไม่กลืนกินเรา
ใครกินกาลเวลาได้ พระพุทธโฆสะอธิบายว่า พระอรหันต์กินกาลเวลา โดยการทำกาลเวลาที่สัมพันธ์กับการเกิดใหม่ต่อไปให้จบสิ้นลงด้วยอริยมรรค" ก็หมายความว่า การกินของท่านก็คือการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ จนกระทั่งเกิดวิปัสสนาญาณคือความเห็นตามความเป็นจริงไปตามลำดับขั้นว่าสรรพสัตว์ไม่เที่ยง ถูกความเกิดความตายบีบคั้นจนเกินวิสัยที่จะบังคับได้ จนกระทั่งเกิดมัคคญาณคือญาณละกิเลส และผลญาณคือญาณที่เป็นผลของมัคคญาณ การเกิดมัคคญาณคือการกินกาลเวลาอย่างสมบูรณ์ เพราะเป็นการทำลายได้หมดสิ้นซึ่งกิเลสที่เป็นต้นเหตุแห่งการเกิดใหม่ ผู้ที่กินกาลเวลา คือ พระอรหันต์ เพราะเมื่อละกิเลสคือตัณหาได้ ก็ละการเกิดใหม่ได้ เมื่อไม่มีการเกิดก็ไม่มีกาลเวลามาผูกพัน พระอรหันต์เท่านั้นที่ทำได้อย่างนี้ ท่านจึงถือว่าเป็นผู้ที่กินกาลเวลา เป็นการตีกลับกาลเวลาที่กินสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง
พระพุทธเจ้าเคยตรัสสอนพระสาวกว่า "ขณะอย่าผ่านเลยเธอทั้งหลายไปเลย" และทรงอธิบายให้เห็นภาพว่า "มีผู้ที่ปล่อยให้ขณะผ่านเลยไปต่างเสียใจอัดแน่นกันอยู่ในนรก" ซึ่งก็ตีความได้ว่าพระองค์ไม่ต้องการให้พระสาวกของพระองค์ประมาทหรือขาดสติแม้ชั่วขณะเดียว เพราะการขาดสติแม้ชั่วขณะเดียวนั้นก็อาจเสียความดีได้ เนื่องจากเป็นช่องทางให้กิเลสและอกุศลจิตเกิดจู่โจมได้แม้ชั่ววูบ (อย่างที่เรามักได้ยินคนทำผิดชอบพูดเสมอว่า "เกิดอารมณ์ชั่ววูบ") ขณะมีความสำคัญในฐานะเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างเกิดกับตาย เพราะสัมพันธ์อยู่กับจิต เป็นขณะของจิต และขณะจิตก็ยังสัมพันธ์กับชีวิต ขณะจิตมีเกิดและดับ เมื่อขณะจิตเกิดก็เท่ากับชีวิตเกิด เมื่อขณะจิตดับก็เท่ากับชีวิตดับ นี่แสดงว่า ขณะจิตแต่ละขณะคือขณะของชีวิต พระสารีบุตรพระสาวกรูปสำคัญของพระพุทธเจ้าเคยกล่าวไว้ว่า "ชีวิตร่างกายสุขและทุกข์ทั้งมวลล้วนขึ้นอยู่กับขณะจิตเดียว ขณะย่อมผ่านไปเร็ว"
จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่า แม้แต่ขณะซึ่งเป็นส่วนย่อยสุดของกาลเวลานั้นที่ผ่านเลยไปก็ทำลายชีวิตของสัตว์ไปด้วย แต่ทำลายแบบไม่ให้รู้ตัวคือปล่อยให้ปัจจัยที่ประชุมกันเป็นรูปธาตุนั้นดำเนินไปจนเสื่อมสลายไปตามธรรมชาติ ผลสุดท้ายแม้เราจะมองไม่เห็นตัวกาลเวลาในรูปของขณะที่กล่าวว่าเป็นผู้ฆ่าหรือทำลาย แต่ก็มีร่องรอยปรากฎให้เห็นทางรูปธาตุเป็นรูปธรรมคือความแก่กับความตาย แม้พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า "ความแก่และความตายไล่ต้อนอายุของสัตว์ทั้งหลาย คล้ายนายโคบาลใช้ไม้ตีไล่ต้อนฝูงโคไปยังที่หากิน" ผู้
เวลาเป็นสิ่งที่มีค่าต่างจากทรัพย์สินเงินทองตรงที่ว่า ทรัพย์สินที่สูญหายหรือหมดไปยังพอหาใหม่ทดแทนได้ แต่เวลาล่วงเลยไปไม่อาจนำกลับคืนมา ดังคำประพันธ์ที่ว่า
เวลาและวารี มิได้มีที่คอยใคร เรือเมล์และรถไฟ ก็ต้องไปตามเวลา
โอ้เอ้และอืดอาด มักจะพลาดปรารถนา พลาดแล้วจะโศกา อนิจจาเราช้าเอง
ผู้ที่ปล่อยเวลาล่วงเลยผ่านไปโดยไม่ทำอะไรให้เป็นประโยชน์ ถือว่าตกอยู่ในความประมาท เพราะไม่ปฏิบัติตามพระพุทโธวาทที่สอนให้พิจารณาเนืองๆ ว่า กถมฺภูตสฺส เม รตฺตินฺทิวา วีติปตนฺติ แปลความว่า วันคืนล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่ บุคคลผู้ประมาทคือผู้มีชีวิตอยู่โดยปราศจากสติ คำว่า สติ หมายถึงความระลึกรู้ ก่อนทำก่อนพูดและก่อนคิด หรือขณะทำ ขณะพูด และขณะคิด ผู้ประมาทปราศจากสติ แม้มีชีวิตก็เหมือนร่างที่ไร้วิญญาณ พระพุทธองค์จึงเปรียบเทียบชีวิตของเขาว่าเหมือนคนที่ตายแล้ว ดังพระพุทธภาษิตที่ว่า เย ปมตฺตา ยถา มตา แปลความว่า ผู้ประมาท เหมือนคนตายแล้ว
สรรพสัตว์และสรรพสิ่งเมื่อเกิดมาในโลกนี้ก็เป็นที่รู้กันว่าย่อมพบกับความสิ้นสุดตามกาลเวลา เพราะการเกิดทำให้ตกอยู่ในกรอบของกาลเวลา ดังนั้น กาลเวลาจึงเป็นตัวกำหนดลักษณะของสิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งทั้งหมด ในพระพุทธศาสนา มีคำสอนที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองว่า อกาลิโกอันเป็นคุณศัพท์บทหนึ่งของคำว่า ธัมโม แปลว่า ธรรมหรือความจริงที่ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา และอธิบายว่า ธรรมดังกล่าว คือ มรรคผลนิพพาน ซึ่งก็หมายความว่า การบรรลุหรือการเกิดของมรรคผลนิพพานในจิตของผู้เข้าถึงความจริงไม่ถูกจำกัดด้วยกาลเวลาคือ เช้าสายบ่ายเย็น กลางวัน หรือกลางคืน ทั้งหมดสามารถเกิดขึ้นเวลาใดก็ได้ กาลเวลาเหล่านี้ไม่มีอิทธิพลมาตีกรอบการเกิดของธรรมดังกล่าว หากองค์ประกอบที่สนับสนุนการบรรลุพร้อมเมื่อใด การบรรลุธรรมดังกล่าวก็เกิดได้เมื่อนั้น หรือหากจะกล่าวว่ากาลเวลามามีส่วนสัมพันธ์ ก็สัมพันธ์อยู่กับตอนที่สั่งสมบ่มเพาะองค์ประกอบเหล่านั้นก่อนที่จะบรรลุอย่างที่เรียกว่าบำเพ็ญบารมีเท่านั้น ซึ่งอาจจะกินเวลาเป็นกัปหรือเป็นอสงไขยกัป แต่เมื่อถึงขั้นของการบรรลุแล้ว กาลเวลาก็ไม่สามารถมามีอิทธิพลได้
อนึ่งยังมีกล่าวถึงนิพพานว่าเป็น กาลวิมุต แปลว่า พ้นจากกาลเวลา ซึ่งก็หมายความว่า สภาวะของนิพพานเองไม่เกี่ยวข้องกับกาลเวลาในด้านต่างๆ ไม่มีขณะวินาที นาทีที่ดำเนินต่อไปเป็นชั่วโมง วันเดือนปีในสภาวะนั้นไม่มีสิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งเกิดปรากฏ จึงไม่มีเกิดแก่เจ็บตาย ท้ายสุดก็คือ ไม่มีอะไรนอกจากความว่างเปล่า และผู้ที่บรรลุมรรคผลนิพพานนี้แหละที่จัดเป็นผู้กินกาลเวลา
แต่ถ้ายังบรรลุไม่ได้ก็จะถูกกาลเวลาฆ่าร่ำไปไม่สิ้นสุด เพราะกาลเวลาคือนักฆ่าผู้ยิ่งใหญ่อย่างที่กล่าวมาแล้ว
แม้เราจะต้องยอมจำนนกับกาลเวลามาตลอด แต่ก็คงมีหลายท่านที่ต้องการชนะกาลเวลา จริงอยู่ทางกายภาพเราเอาชนะไม่ได้เพราะธาตุ ๔ ที่มาประกอบเป็นร่างกายของเราถูกกาลเวลากำหนดให้มีอายุจำกัด แต่เราสามารถเอาชนะทางใจได้โดยฝึกใจให้เกิดมรรคผลตามทางแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ และสัมมาสติเป็นมรรคสำคัญข้อหนึ่งสำหรับการเริ่มต้นจะกินหรือเอาชนะกาลเวลา เมื่อสติจับขณะปัจจุบันจนกระทั่งเกิดปัญญาละกิเลสได้ก็จะมีแต่ขณะปัจจุบันให้เราใช้ชีวิตอยู่
ชีวิตเรามีแต่รู้ทันปัจจุบัน อันเป็นการรู้ทันที่ครอบคลุมทั้งอดีต อนาคต โดยไม่ต้องโหยหาอดีต ไม่ต้องไขว่คว้าอนาคต เพราะไม่มีกิเลสเข้าปรุงแต่ง อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ปฏิบัติตามดูกาย...เวทนา...จิต...ธรรม อย่างมีสติ มีสัมปชัญญะ มีความเพียรเผากิเลสจนกระทั่งละความยินดียินร้ายในโลกได้" และว่า ผู้ปฏิบัติตามดูกาย...เวทนา...จิต...ธรรม ทั้งภายในตนและนอกตน (ของตัวเองและของคนอื่น) จนเห็นทันความเกิดดับ มีสติ (รู้ทันขณะปัจจุบัน) ตั้งมั่นว่า กาย...เวทนา...จิต...ธรรม มีอยู่ แต่ก็ตั้งมั่นเพียงเพื่อรู้ เพื่อระลึกทันเขาอยู่โดยไม่ให้ตัณหา (ความอยาก) และทิฏฐิ (ความเห็นผิด) อาศัยและไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก"
นี้แหละคือวิธีฆ่ากาลเวลา ส่วนท่านผู้บรรลุมรรคผลนิพพานตามวิธีนี้แหละคือผู้ฆ่ากาลเวลา.
ผู้ที่มีความเห็นไม่ถูกต้องเข้าใจไม่ถูกต้องปฏิบัติไม่ถูกต้องเวลานั้นจะกลืนกินเรา เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องเราจะได้กลืนกินเวลา คนเราส่วนใหญ่จะเป็นคนเซ่อๆ เบลอๆ งงๆ พระพุทธเจ้าสอนก็เพราะเราได้เอาตัวเองเป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตน เป็นธาตุเป็นขันธ์ เป็นเราจึงได้พากันเซ่อๆ เบลอๆ งงๆ อย่างนี้ ท่านถึงบอกพวกเราว่า เวลานั้นย่อมเปลี่ยนไป ท่านทั้งหลายจงมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติให้มันถูกต้อง เวลาจะได้ไม่กลืนกินเรา ให้แก่ไปให้ตายไป เป็นโมฆะเป็นหมันโดยเปล่าประโยชน์
สติสัมปชัญญะเป็นธรรมที่มีอุปการะมาก เป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังแล้วก็บำรุงรักษา เพื่อไม่ให้เวลากลืนกินสรรพสัตว์ ทำให้เรามีสติมีสัมปชัญญะชัดเจน เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ พัฒนาทั้งวัตถุพัฒนาทางจิตใจไปพร้อมๆ กัน เมื่อเรามีสติมีสัมปชัญญะเรามีความสุขในการเจริญอริยมรรค มีความสุขในการทำงาน มีความสุขที่ในที่เห็นคุณค่าเห็นประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติธรรม ที่ได้บำรุงรักษาธรรมะที่เป็นพุทธะไม่มีอวิชชาไม่มีความหลง เพราะเรานั้นไม่มีสติไม่มีความสงบไม่มีสัมปชัญญะ ถึงได้พากันหมกมุ่นในกามในพยาบาท ที่พากันเซื่องซึม โง่ๆ เซ่อๆ เบลอๆ สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ในปัจจุบัน นั่งสมาธิก็เอาแต่หลับ ฟังธรรมก็เอาแต่หลับ ทำการทำงานก็เอาแต่เกียจคร้าน เพราะเราไม่มีสติคือความสงบไม่มีสัมปชัญญะคือปัญญา เอาแต่ตัวตนเป็นที่ตั้ง
การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องปัจจุบันธรรม ปัจจุบันต้องมีสติคือความสงบมีสัมปชัญญะคือตัวปัญญา ถ้าไม่มีสติไม่มีสัมปชัญญะนั้นคือเวลามันกลืนกินเราน่ะ นั่นน่ะคือความเซ่อความเบลอความงง นั่นน่ะได้แก่ถีนมิทธะความง่วงเหงาหาวนอน ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ความสงสัยลังเล ที่มันเป็นนิวรณ์เป็นความหลง ความเซ่อความเบลอที่มันเป็นนิติบุคคล มันจะมาเบรคตัวเองที่มันจมอยู่ในกามจมอยู่ในพยาบาท ผู้ที่มีสติมีสัมปชัญญะย่อมได้พัฒนาตัวเอง ด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญาที่เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม พระพุทธเจ้าถึงให้เราเจริญสติเจริญสัมปชัญญะ วันนึงก็ให้นอนพักผ่อน ๖-๘ ชั่วโมง สำหรับบุคคลที่เป็นเสขะบุคคลที่ประพฤติปฏิบัติธรรมน่ะ สำหรับบรรพชิตนักบวชให้นอนให้พักผ่อน ๖ ชั่วโมง นอกจากนั้นเป็นเวลาที่เราเจริญสติเจริญสัมปชัญญะ ให้พากันหยุดนิติบุคคลหยุดตัวตน สำหรับประชาชนก็เอาการทำงานกับการปฏิบัติธรรมให้เป็นอันเดียวกัน เรียกว่าเป็นสติเป็นสัมปชัญญะ สำหรับบรรพชิตนักบวชก็เอาการทำงานกับการปฏิบัติธรรมให้เป็นอันเดียวกัน เราจะได้พัฒนาทางสายกลางพัฒนาทางวัตถุทางใจไปพร้อมๆ กัน มีสติมีสัมปชัญญะไปเรื่อยๆ
พระพุทธเจ้าให้เราเน้นเรื่องการประพฤติการปฏิบัติ เพื่อเป็นเหตุเป็นปัจจัยทางวัตถุ เพื่อเป็นเหตุเป็นปัจจัยเรื่องจิตใจ การที่เราเจริญสติเจริญสัมปชัญญะ มันจะปิดอบายมุขอบายภูมิ เราทุกคนมันจะได้มีความสุขในการทำงานในการปฏิบัติธรรมไปพร้อมๆ กัน คนเรายังไม่รู้ เพราะเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เราคิดว่าเรียนหนังสือเพราะจำเป็น เราคิดว่าทำงานเพราะจำเป็น เราไม่มีความสุขในการทำงาน ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ เราจะได้มีความสุขในการทำงานการเรียนหนังสือด้วย ทุกคนต้องเน้นประพฤติปฏิบัติที่ตัวเอง ไม่ต้องสนใจคนอื่น เขาจะปฏิบัติไม่ปฏิบัติ เน้นให้มีสติเพื่อใจจะได้อยู่กับเนื้อกับตัวกับการทำงานกับการปฏิบัติธรรม ถ้าเรามีสัมปชัญญะ มันมีจะปัญญา มันจะไม่เซ่อ ไม่เบลอ เพราะความหลงของเราไม่มี เราจะได้เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน ใจของเราจะไม่หลับไม่หลงไม่ไหล มีแต่สติมีแต่สัมปชัญญะ ทุกคนเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ถ้าเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง แสดงถึงคนที่ไม่มีสติไม่มีสัมปชัญญะ
การเวียนว่ายตายเกิดของเรานี้มันเป็นสิ่งที่ยาวนาน เมื่อเรายังเอาตัวตนเป็นที่ตั้งอยู่ ความมืดมันก็ย่อมมีแก่เรา เราจะไปถือตัวถือตนถือนิสัยของตัวเองไม่ได้ พระโพธิสัตว์แต่ก่อนที่ยังไม่เป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็ยังมีอวิชชาความหลง ท่านถึงมีการเวียนว่ายตายเกิด พระพุทธเจ้าคือผู้ที่หยุดถือนิสัยอวิชชาความหลง มาเคารพในธรรมในความเห็นถูกต้องในความยุติธรรม ท่านถึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ์สู่ปรินิพพาน พระอานนท์ทูลถามว่า จะเอาอะไรเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคือความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง คือธรรมวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ นั่นน่ะคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ไม่ใช่นิติบุคคลหาใช่ตัวใช่ตนไม่ หาใช่ตัวใช่ตนไม่
ในมหาปรินิพพานสูตร พระพุทธองค์ตรัสแก่พระอานนท์ในวันที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ความตอนหนึ่งว่า - สิยา โข ปนานนฺท ตุมฺหากํ เอวมสฺส อตีตสตฺถุกํ ปาวจนํ นตฺถิ โน สตฺถาติ, น โข ปเนตํ อานนฺท เอวํ ทฏฺฐพฺพํ. ดูก่อนอานนท์ บางที่พวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น
คำว่า “ปาพจน์” หมายถึง พระธรรมวินัยคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันเป็นตัวพระศาสนา คำว่า “ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้ว” หมายความว่า พระศาสดาผู้เป็นเจ้าของคำสอน (คือพระธรรมวินัย) บัดนี้ล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว เหลือแต่คำสอน
คำว่า “พระศาสดาของพวกเราไม่มี” ขยายความว่า แม้จะยังเหลือคำสอนอยู่ แต่เมื่อตัวผู้สอนไม่มีแล้ว คำสอนนั้นก็ไม่มีความหมายอะไร เหมือนกับว่าไม่มีพระศาสนาเหลืออยู่อีกแล้ว หมายความว่า ต่อไปนี้ใครจะทำผิดทำถูกอย่างไร ก็ไม่มีใครที่จะมาคอยกวดขันชี้ผิดชี้ถูกอีกแล้ว สิ่งที่ห้ามทำ ไปทำเข้า ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาว่าอะไร สิ่งที่บอกให้ทำ แม้ไม่ทำ ใครจะมาว่าอะไรกันได้ แปลว่าใครจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรก็ได้ ตามสบาย
พระศาสดาได้ตรัสเตือนไว้ว่า - อย่าได้คิดอย่างนั้น
โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต, โส โว มมจฺจเยน สตฺถา. ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใด อันเราแสดงแล้วบัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้นจักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอโดยกาลล่วงไปแห่งเรา
ทรงยืนยันว่า พระธรรมวินัยที่ทรงแสดงไว้บัญญัติไว้ยังอยู่เป็น “สตฺถา” คือเป็นพระศาสดาแทนพระองค์ นั่นคือพระศาสดาจะยังคงอยู่กับพระศาสนาตลอดไป ตราบเท่าที่พระธรรมวินัยยังอยู่
พระพุทธเจ้าคือผู้ที่รู้เหตุรู้ปัจจัยในการหยุดการเวียนว่ายตายเกิด ด้วยเหตุด้วยปัจจัยนี้ทุกท่านทุกคนต้องไม่มีสักกายทิฏฐิไม่มีตัวไม่มีตน ต้องเอาเหตุเอาปัจจัยที่ถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ที่เป็นธรรมเป็นธรรมวินัย ที่ไม่มีอะไรตัดออกไม่ได้เอามาเพิ่ม เพราะทุกอย่างมันเป็นสติเป็นสัมปชัญญะ เป็นธรรมวินัย เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา ทำให้ถึงที่สุดของความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าให้เรามีสติมีสัมปชัญญะ สละเสียซึ่งสักกายทิฏฐิซึ่งตัวซึ่งตน เราทุกคนถึงจะเป็นคนที่หยุดภพหยุดชาติ หยุดกระบวนการของเหตุของปัจจัย ที่มันเป็นธรรมติดต่อต่อเนื่อง ที่ภาษาบาลีว่าปฏิจจสมุปบาท
สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ปฏิบัติถูกต้อง ไปพร้อมๆ กัน ความผิดถูก มันก็เป็นครูเป็นผู้สอนให้แก่เรา ปัจจุบันเราจึงต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ชีวิตเราไม่มีคำว่าสาย เราอย่าไปเจ็บปวด ให้เป็นบทเรียน บทศึกษา ต้องกลับมาแก้ไขกลับมาประพฤติปฏิบัติ เราต้องเห็นความสำคัญ ความประเสริฐของการปฏิบัติ เน้นความสุข เน้นฉันทะความพอใจในการปฏิบัติในปัจจุบัน
ต้องให้อวิชชาคือความหลงมันทำงานไม่ได้ แล้วจะมีทุกข์จากไหน ต้องกลับมาหาสัมมาสติสัมมาสมาธิ ที่เป็นปัจจุบัน เราทุกคนถึงมีความสุข ถึงความดับทุกข์ในท่ามกลางความขัดแย้ง ความวุ่นวาย ปัญหามากมาย ในสังสารวัฏ ทั้งในความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก อะไรมีความสุข? ใจมีความสุข ใจที่ไม่วุ่นวาย ใจที่ไม่ปรุงแต่ง จึงมีความสุขอย่างยิ่ง
โลกนี้ก็เหมือนกับการเดินหมากชีวิต ดังที่ว่า จะเดินหมากรุกยังต้องคิด เดินหมากชีวิตจะไม่คิดได้อย่างไร เหมือนเขาโยนฟุตบอลมาให้เรา ถ้าเราไม่เตะก็เล่นไม่ได้ ก็ทำงานไม่ได้ อายตนะภายนอกอายตนะภายในมาสัมผัสกระทบกัน ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง กลิ่นได้ดมกลิ่น ลิ้นได้ลิ้มชิมรส กายถูกต้องสัมผัส และใจรับรู้อารมณ์ต่างๆ เราต้องรู้แจ้งด้วยปัญญา แล้วไม่ต้องวุ่นวายไปกับมัน คนเราน่ะ ปรบมือข้างเดียวมันไม่ดังหรอก หากเรารู้เท่าทันอารมณ์ที่เข้ามากระทบ อารมณ์เหล่านั้นก็ทำอะไรเราไม่ได้ เหมือนตบมือข้างเดียวที่ไม่ดัง แต่ถ้าไปมีส่วนร่วมไปผสมโรง ไปคิดปรุงแต่งไหลไปกับมัน ก็เหมือนกับการปรบมือสองข้าง
เราเกิดมาเพื่อมีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์อยู่ในใจ จะได้เก่งขึ้น ฉลาดขึ้น เราดูโลกภายนอกสิ ที่เหมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ ที่คิดว่า การจะได้ทำตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึกมันเป็นสุดยอด มันเหมือนกับแมลงเม่า ที่ชอบใจในแสง ในสี แต่หารู้ไม่ว่าภายหลังแสงสีนั้นคือความร้อนที่ต้องเผามันตาย เหมือนกับคนที่ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ แล้ววิ่งเข้าไปหาอบายมุข วิ่งเข้าไปหาความสุขที่ไม่ถูกต้อง สุดท้ายก็ต้องโดนเผาผลาญ แผดเผาให้ตายอยู่ในวัฏสงสารเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบ เหมือนทะเลไม่อิ่มด้วยน้ำ ไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ คนโลภคนหลงก็ไม่อิ่มเต็มด้วยตัณหา คือ ความทะยานอยาก
ความสุขเป็นสิ่งที่มีจริง ความอร่อยเป็นสิ่งที่มีจริง สำหรับความสุขความดับทุกข์ทางวัตถุเป็นสิ่งที่มีจริง พระพุทธเจ้าให้พวกเราพากันรู้จัก ต้องเห็นโทษเห็นภัยในวัฏสงสาร เราจะได้เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะความสุขเหล่านี้มันเป็นความสุขที่เราต้องเดินทางผ่าน เพราะความสุขเหล่านี้มันเป็นวัตถุมันเป็นนิติบุคคลมันเป็นตัวเป็นตน มันเป็นโลกธรรม มันเป็นความสุขที่ทำให้เรายังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ เราทุกท่านทุกคนต้องเห็นภัยในวัฏสงสาร เพราะความเกิดความแก่ความเจ็บความตายความพลัดพราก ไม่ใช่สิ่งที่น่าเพลิดเพลิน ด้วยพากันมาเสียสละ ด้วยการมีสติ ด้วยการมีสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม เพื่อกลับมาหาธรรมะเพื่อพัฒนาใจ พัฒนาพุทธะเพื่อไม่ให้เวลามันกลืนกินเราด้วยอวิชชาด้วยความหลง ความดับทุกข์ที่แท้จริงมันอยู่ที่ใจของเราที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง สัมมาสมาธิทุกคนจะต้องแข็งแรง แข็งแรงก็ยังไม่เพียงพอมันต้องเอาปัญญาเข้ามาช่วย เพื่อให้ศีลกับสมาธิกับปัญญาเดินไปให้เสมอกัน เราต้องให้ศีลสมาธิปัญญามันเสมอกันติดต่อต่อเนื่อง ที่เป็นอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิจนถึงสัมมาสมาธิ ด้วยสติด้วยสัมปชัญญะรู้ตัวเพื่อพร้อม ผลของการประพฤติการปฏิบัติมันจะเป็นความดับทุกข์ เป็นนิโรธ เป็นความดับเย็นเป็นพระนิพพาน
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee