แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๖๒ มีปัญญาประเสริฐกว่ามีทรัพย์ เพราะสามารถทำให้ความสุขอันเป็นบรมสุขเกิดขึ้นมาได้
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การดำรงชีพการดำรงชีวิตในชีวิตประจำวันของเราทุกๆ คน ให้พวกเราพากันเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้ว เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ให้ทุกท่านทุกคนพากันมีสติมีสัมปชัญญะ ให้รู้ตัวทั่วพร้อม กายให้รู้พร้อมชัดเจน ใจให้รู้พร้อมชัดเจน ตัดอดีตไปให้เป็นศูนย์ ให้ว่างจากนิติบุคคลให้ว่างจากตัวตน ตัดอนาคตให้เป็นศูนย์ ให้ว่างจากนิติบุคคลตัวตน ปัจจุบันเราก็ไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวตน คือธรรมะคือสภาวะธรรม พัฒนาวัตถุเพื่อสุขภาพร่างกายในการดำเนินชีวิตจะได้ไม่ขาดแคลน พัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน ให้ทุกท่านพากันเข้าใจนะ กายก็ส่วนหนึ่งใจก็ส่วนหนึ่ง ใจของเราคือตัวผู้รู้ ที่ผ่านมาใจของเรายังไม่ใช่ผู้รู้ มันยังเป็นอวิชชาเป็นความหลง เพราะว่าเรามาเอารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นตัวเราเป็นของของเราน่ะ เราทุกคนถึงมีสักกายทิฏฐิ มีตัวมีตนมีเรามีเขา ผู้ที่มีความเห็นผิดเข้าใจผิดปฏิบัติผิด ถึงได้มีการเวียนว่ายตายเกิด
การประพฤติการปฏิบัติ จึงเริ่มต้นที่มีสติมีสัมปชัญญะ ใจของเรามันคิดได้ทีละอย่าง พระพุทธเจ้าถึงไม่ให้เราตรึกในกาม กามนั้นก็ได้แก่ความใคร่ด้วยอวิชชาความหลง ด้วยความเป็นตัวเป็นตน ท่านไม่ให้ตรึกในพยาบาทเบียดเบียน จึงให้พากันเข้าใจ ใจของเรามันคิดได้อย่างเดียว ให้พากันเข้าใจอย่างนี้ การประพฤติการปฏิบัติมันจะแทรกอยู่ในอิริยาบถทั้ง ๔ ยืนเดินนั่งนอน และอิริยาบถย่อยย่อยต่างๆ การทำงานกับการปฏิบัติธรรมจึงต้องเป็นอันเดียวกัน เริ่มต้นจากสัมมาทิฏฐิจนถึงสัมมาสมาธิ ถ้าเราไม่มีสติไม่มีสัมปชัญญะ เราก็ปฏิบัติไม่ได้ ถ้าเราไม่มีสติไม่มีปัญญาวินาทีหนึ่ง เราก็เป็นบ้า เรื่องสติเรื่องสัมปชัญญะเป็นธรรมะที่มีอุปการะมาก คือเป็นการหยุดความเป็นบ้าของเรา เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะ กามพยาบาทจะมาตรึกนึกคิดในใจของเราก็ไม่ได้
เราอยู่ที่ไหนทำอะไรก็ต้องมีสติมีสัมปชัญญะ ถ้าเราไม่มีสติไม่มีสัมปชัญญะ เราทุกคนก็ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติธรรม เราก็ได้แต่ปล่อยตัวเองไปตามสัญชาตญาณ สัญชาตญาณที่มันเป็นนิติบุคคลเป็นตัวเป็นตน การประพฤติการปฏิบัติธรรมจึงเป็นเรื่องสติสัมปชัญญะ ที่เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม ทุกคนนั้นทำได้ปฏิบัติได้ เพราะเป็นเรื่องของเราทุกๆ คน ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น การปฏิบัติอย่างนี้เรียกว่าศีลสมาธิปัญญา ด้วยความตั้งใจด้วยเจตนา จึงต้องปรับตัวเองเข้าหาสติเข้าหาสัมปชัญญะให้เต็มที่ ถ้าเรามีสติมีสัมปชัญญะ ใจของเราก็สงบเย็น สติของเรามันก็จะไม่ฝ้าฟาง สัมปชัญญะของเราก็จะสมบูรณ์ เพราะเราได้มองทุกอย่างเห็นตามความเป็นจริง ทั้งวัตถุและทางจิตใจ ว่ากายก็ส่วนหนึ่งใจก็ส่วนหนึ่ง
เราทุกคนต้องพากันมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง อย่าให้อวิชชาคือความหลงมันครองใจเรา เมื่ออวิชชามันครองใจของเราโลกมันก็จะครอบงำธรรม ธรรมจะไม่มีโอกาสคุ้มครองโลก
คนส่วนใหญ่ในโลกมีความคิดเห็นว่า มีวัตถุนั้นดีกว่ามีปัญญา ผู้ที่มีอวิชชามีความหลงเป็นที่ตั้งเป็นสรณะก็ว่ามีเงินมีทรัพย์สมบัติดีกว่าผู้ที่มีปัญญาสัมมาทิฏฐิ ผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องก็ตอบว่า ผู้มีปัญญาสัมมาทิฏฐินั้นดีกว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ปญฺญา เว ธเนน เสยฺโย. ปัญญาแล ประเสริฐกว่าทรัพย์”
ทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นแก้วแหวนเงินทอง คฤหาสถ์ ที่ดิน หรืออะไรก็แล้วแต่บรรดามี เป็นสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายต้องการ ต้องมี เป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับการใช้ชีวิต แต่สิ่งทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อจะได้มาก็ย่อมหามาได้ด้วยปัญญา บุคคลจะมีทรัพย์มีสมบัติต่าง ๆ มากมายแค่ไหน ก็ต้องอาศัยปัญญาประกอบอาชีพแสวงหาให้ได้มา เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงอยู่เหนือทรัพย์สมบัติเหล่านั้น ถ้าขาดปัญญาเสียแล้ว การที่จะได้ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นมานั้นเป็นเรื่องยากนักยากหนา ถึงได้มาแล้วถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่สามารถรักษาเอาไว้ได้
อีกอย่างหนึ่ง ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นสามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้ คือมีประโยชน์แก่มนุษย์เฉพาะในโลกนี้เท่านั้น แต่ปัญญา สามารถทำให้มนุษย์กระทำที่สุดแห่งทุกข์ ถึงสันติสุขคือมรรคผลนิพพานได้ ดังนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาประเสริฐกว่าทรัพย์ เพราะทรัพย์สินเงินทองทั้งหลาย ไม่สามารถทำให้ความสุขอันเป็นบรมสุขเกิดขึ้นมาได้ แต่ปัญญาในทางธรรม คือปัญญาที่เกิดจากวิปัสสนานั้น สามารถทำให้ความสุขอันเป็นเอกันตบรมสุขเกิดขึ้นมาได้
มีธรรมภาษิตใน ขุททกนิกาย มโหสถชาดกว่า “แม่น้ำน้อยใหญ่ทั้งหลายย่อมหลั่งไหลไปสู่ทะเลใหญ่ ทะเลนั้นมีกำลังมากตลอดกาล ทะเลใหญ่นั้นแม้มีคลื่นกระทบฝั่ง ก็ไม่ล่วงฝั่งไปได้ ฉันใด กิจการที่คนเขลาประสงค์ ไม่ล่วงคนฉลาดไปได้ คนไม่ฉลาดย่อมไม่ล่วงคนมีปัญญาไปได้ในกาลไหนๆ ฉันนั้น” นี่เป็นถ้อยคำของบัณฑิตนักปราชญ์ ที่สรรเสริญปัญญาว่าเป็นยอดกว่าทรัพย์สินเงินทอง หรือของมีค่าใดๆ ในโลกนี้ ดังจะได้นำเรื่องการโต้ตอบกันของบัณฑิตในสมัยก่อน ที่ท่านมีความเห็นว่า แม้ขาดทรัพย์แต่ไม่ไร้ปัญญา ยังประเสริฐกว่าคนมีทรัพย์แต่ไร้ปัญญาอย่างไร
เรื่องมีอยู่ว่า พระราชเทวีอุทุมพร ทรงรู้ว่าบัณฑิตทั้งสี่สามารถตอบปริศนาธรรม ของพระราชาได้เพราะมโหสถ แต่ก็ได้ลาภสักการะเท่ากัน จึงกราบทูลพระราชา ตามความเป็นจริง พระราชาดำริว่า ที่ผ่านมาก็แล้วกันไป ทรงมีพระราชประสงค์ จะทดลองปฏิภาณไหวพริบ แนวความคิดของบัณฑิตทั้งห้าว่า ใครจะแสดงความเห็นได้ถูกต้อง และถูกพระทัยมากกว่ากัน จึงคิดปัญหาอย่างหนึ่ง เรียกว่าสิริเมณฑกปัญหา ซึ่งเป็นปัญหาระหว่างปัญญาและทรัพย์ว่า อะไรจะประเสริฐกว่ากัน
เช้าวันหนึ่ง เมื่อบัณฑิตทั้งห้ามาเข้าเฝ้าตามปกติ พระราชาได้ตรัสกับเสนกะว่า “ท่านอาจารย์เสนกะ บรรดาคน ๒ พวก คือ คนสมบูรณ์ด้วยปัญญาแต่เสื่อมจากสิริ และคนมียศแต่ไร้ปัญญนักปราชญ์บัณฑิตยกย่องใครว่าประเสริฐกว่ากัน” เสนกะ กราบทูลเฉลยปัญหานั้นทันทีว่า “ข้าแต่พระจอมประชาราษฎร์ คนฉลาด และคนเขลา คนบริบูรณ์ด้วยศิลปะ และหาศิลปะมิได้ แม้มีชาติตระกูลสูงย่อมเป็นผู้รับใช้ ของคนหาชาติมิได้แต่มียศ ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงขอทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนเลวทราม ส่วนคนมีสิริเป็นคนประเสริฐ”
พระเจ้าวิเทหราชได้สดับคำของเสนกะ ก็ไม่ตรัสถามอาจารย์อีก ๓ คน แต่ข้ามไปถามมโหสถบัณฑิตว่า “ดูก่อนมโหสถ ระหว่างคนพาลผู้มียศ และบัณฑิตผู้ไม่มีโภคะ นักปราชญ์ยกย่องคนไหนว่าประเสริฐกว่ากัน” มโหสถทูลตอบอย่างไม่ลังเลใจว่า “โปรดสดับเถิดพระมหาราชเจ้า คนพาลทำกรรมที่เป็นบาปหยาบช้า สำคัญว่าอิสริยยศของเราในโลกนี้ประเสริฐ คนพาลมองเห็นแต่ประโยชน์ในโลกนี้ ไม่เห็นประโยชน์ในโลกหน้า ต้องได้รับเคราะห์ร้ายในโลกทั้งสอง ข้าพระองค์เห็นความเหล่านี้ จึงขอกราบทูลว่า คนมีปัญญาประเสริฐแท้”
เมื่อมโหสถบัณฑิตบรมโพธิสัตว์กราบทูลเช่นนั้น พระเจ้าวิเทหราชทอดพระเนตร มาทางเสนกะอีกครั้ง ทรงพอพระทัยที่จะฟังบัณฑิตของพระองค์แสดงความคิดเห็น จึงตรัสถามเสนกะว่า “มโหสถสรรเสริญคนมีปัญญาว่าเป็นผู้สูงสุด ท่านจะแย้งว่าอย่างไรล่ะ” เสนกะทูลว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า มโหสถยังเด็ก แม้ทุกวันนี้ปากของเธอยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม มโหสถจะรู้อะไร ฝูงนกบินไปบินมาตามต้นไม้ในป่าที่มีผลดกฉันใด ชนเป็นอันมากย่อมคบหาสมาคมผู้มั่งคั่งมีโภคทรัพย์มาก เพราะความต้องการด้วยทรัพย์ ฉันนั้น เพราะฉะนั้น คนมีสิริสมบัติเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ”
พระราชาทรงสดับดังนั้น ก็ตรัสว่า “พ่อมโหสถบัณฑิต เจ้าจะกล่าวแก้อย่างไร” มโหสถบัณฑิตกราบทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ เสนกะจะรู้อะไรเห็นแต่ทรัพย์เท่านั้น ไม่เห็นค้อนไม้อันใหญ่ที่จะตกลงบนศีรษะ เหมือนกาอยู่ในที่เทข้าวสุก เหมือนสุนัขอยากจะดื่มนมส้ม เพราะฉะนั้น คนมีปัญญาน้อยได้ความสุขแล้วย่อมประมาท เมื่อมีความสุขหรือความทุกข์ที่จรมาถูกต้องแล้วเขาย่อมหวั่นไหว เหมือนปลาดิ้นรนในที่ร้อน ข้าพระองค์เห็นความอย่างนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาแลประเสริฐ คนเขลามียศหาประเสริฐไม่”
เมื่อพระราชาตรัสถามเสนกะอีกว่า “ท่านอาจารย์เสนกะ ท่านจะแก้อย่างไร” เสนกะจึงทูลว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า โปรดฟังเถิด แม่น้ำน้อยใหญ่ย่อมไหลไปสู่แม่น้ำคงคา แม่น้ำเหล่านั้นทั้งหมดย่อมละชื่อ และถิ่นของตน แม่น้ำคงคาไหลไปสู่สมุทรย่อมไม่ปรากฏชื่อ คงได้แต่ชื่อว่ามหาสมุทรเท่านั้น ฉันใด สัตวโลกแม้มีฤทธิ์ย่อมไม่ปรากฏ เหมือนแม่น้ำคงคาเข้าไปสู่มหาสมุทร ฉันนั้น ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาไม่ประเสริฐกว่าคนมีทรัพย์”
พระราชาตรัสอีกว่า “พ่อบัณฑิต เจ้าจะแก้อย่างไร” มโหสถบัณฑิตกราบทูลว่า “โปรดสดับเถิดพระเจ้าข้า ข้าพระองค์จะกล่าวแก้ปัญหาที่ท่านอาจารย์กล่าว แม่น้ำน้อยใหญ่ ย่อมหลั่งไหลไปสู่ทะเลใหญ่ ทะเลนั้นมีกำลังมากยิ่ง ทะเลใหญ่นั้น แม้มีคลื่นกระทบฝั่ง ก็ไม่ล่วงฝั่งไปได้ ฉันใด กิจการที่คนเขลาประสงค์ไม่ล่วงคนฉลาดไปได้ คนมีสิริย่อมไม่ล่วงคนมีปัญญาไปได้ในกาลไหนๆ ฉันนั้น ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนประเสริฐ คนเขลามียศหาประเสริฐไม่”
เสนกะโต้ตอบกลับไปว่า “ข้าแต่สมมติเทพ มโหสถนี้ยังเป็นเด็กรุ่นจะรู้อะไร พวกข้าพระองค์ทั้งหมดแม้เป็นบัณฑิต ยังเคารพบำรุงพระองค์ พระองค์ทรงเป็นใหญ่ครอบงำพวกข้าพระองค์ทั้งหลาย ดุจท้าวสักกเทวราชผู้เป็นเจ้าแห่งดาวดึงส์พิภพ ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาไม่ประเสริฐ คนมีสิริเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ”
มโหสถเห็นเสนกะยังไม่ยอมแพ้ จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เสนกะนี้เป็นคนเขลานัก แลดูอยู่เฉพาะยศ และสิริเท่านั้น ไม่รู้ความวิเศษแห่งปัญญา โปรดฟังข้าพระองค์เถิด คนเขลามียศเป็นดุจทาสของคนฉลาด ในเมื่อมีกิจต่างๆ เกิดขึ้น คนฉลาดย่อมจัดการภารกิจนั้นได้ คนเขลาย่อมถึงความหลงในกิจนั้น ข้าพระองค์เห็นความอย่างนี้จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นเป็นคนประเสริฐสุด”
ครั้นพระบรมโพธิสัตว์แสดงภูมิปัญญา เหมือนผู้วิเศษคุ้ยทรายทองขึ้นจากเชิง เขาสิเนรุ เหมือนผู้มีฤทธิ์ยังดวงจันทร์เต็มดวงให้ปรากฏขึ้นในท้องนภา จนเสนกะบัณฑิตหมดคำโต้แย้ง และไม่อาจกล่าวแย้งได้อีก ได้แต่นั่งคอตก จากนั้นมโหสถ บัณฑิตได้กล่าวขึ้นอีกว่า “ปัญญาเป็นที่สรรเสริญของสัตบุรุษ ทั้งหลาย สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญปัญญาว่า ประเสริฐอย่างแท้จริง สิริเป็นที่ใคร่ของพวกคนเขลา คนเขลาใคร่สิริ ยินดีในโภคสมบัติ ก็ความรู้ของท่านผู้รู้ทั้งหลาย ใครๆ ไม่สามารถเปรียบด้วยอุปมาใดๆ ได้ คนมีสิริย่อมไม่ล่วงเลยคนมีปัญญาในกาลไหนๆ ผู้รู้ผู้มีปัญญาเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ”
พระเจ้าวิเทหราชได้สดับการบันลือสีหนาทของมโหสถเช่นนั้น ทรงชื่นชมโสมนัส ทรงบูชามโหสถด้วยทรัพย์สมบัติ และเครื่องสักการะมากมาย เหล่าข้าราชบริพารต่างแซ่ซ้องสาธุการต่อชัยชนะของมโหสถในครั้งนั้น
เราจะเห็นว่า นักปราชญ์บัณฑิตในสมัยก่อน ท่านสรรเสริญปัญญาว่าประเสริฐกว่าทรัพย์ โบราณจึงกล่าวว่า
มีปัญญา เหมือนมีทรัพย์ อยู่นับแสน ชนทั่วแดน ใช้ปัญญา หาทรัพย์สิน
ให้ปัญญา นำพา หาทำกิน มีทรัพย์สิน ใช้ปัญญา รักษามัน
มีปัญหา ใช้ปัญญา หาทางแก้ จะย่ำแย่ ปัญหาใหญ่ ใจหุนหัน
ปัญหามี ปัญญามา หาฉับพลัน คิดแก้ทัน ด้วยปัญญา ปัญหาจร
สติปัฏฐานเป็นฐานที่ให้ทุกคนกลับมาหาสัมปชัญญะ กลับมาหาตัวสติ ตัวปัญญา เพื่อที่จะหยุดกรรมหยุดเวรหยุดภัย ต้องพัฒนาสู่พระไตรลักษณ์ ถ้าเราไม่มีภาวนาวิปัสสนาในปัจจุบัน ไม่ก้าวสู่ความดับทุกข์ได้ ในพรรษานี้ให้พระภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี ที่มาปฏิบัติก็ต้องพากันเจริญสติสัมปชัญญะให้เต็มที่ เราก็ต้องควบคุมใจเพราะว่าอาหารของร่างกายเราก็รู้อยู่แล้ว อาหารทางใจคืออารมณ์คือความคิด เราก็ต้องหยุดอันไหนไม่ดีไม่คิด ดำริออกจากกาม ดำริออกจากพยาบาท เพื่อให้ใจของเราต้องพักจากกาม พักจากพยาบาท อยู่กับสติสัมปชัญญะ อดีตที่เราผ่านมา เราสั่งสมกรรมมาเยอะ ทั้งกาม ทั้งพยาบาท เราต้องมาหยุดด้วยมีสติด้วยมีสัมปชัญญะ
อาตาปี (มีความเพียรเผากิเลส) คำว่า อาตาปี แปลว่า มีความเพียรเผากิเลส คือ มีความเพียรชอบ ที่เรียกว่า สัมมัปปธาน ๔ คือ เพียรเพื่อละอกุศลเก่า เพียรเพื่อไม่ทำอกุศลใหม่ เพียรเพื่อทำกุศลใหม่ และเพียรเพื่อเพิ่มพูนกุศลเก่า ทุกขณะที่นักปฏิบัติเจริญสติระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบัน จัดว่า
- มีความเพียรเพื่อละอกุศลเก่า เพราะในขณะนั้นไม่ได้ทำอกุศลเก่า คือ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ ฯลฯ
- มีความเพียรเพื่อไม่ทำอกุศลใหม่ เพราะในขณะนั้นไม่ได้ทำอกุศลใหม่อย่างใดอย่างหนึ่งทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ
- มีความเพียรเพื่อทำกุศลใหม่ เพราะการเจริญสติปัฏฐานเป็นกุศลที่ยังไม่เคยบำเพ็ญมาก่อน
- มีความเพียรเพื่อเพิ่มพูนกุศลเก่า เพราะผู้ปฏิบัติธรรมย่อมประสบความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามลำดับของวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ จัดว่าได้เพิ่มพูนภาวนากุศลที่มีอยู่แล้วให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสั่งสมสติ สมาธิ และปัญญา ให้เพิ่มพูนมากขึ้นกว่าเดิม
สมฺปชาโน (มีปัญญาหยั่งเห็น) คำว่า สมฺปชาโน แปลว่า มีปัญญาหยั่งเห็น หมายความว่า หยั่งเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง จำแนกเป็น
๑. สภาวลักษณะ ลักษณะพิเศษของรูปนาม คือ ลักษณะเฉพาะตัวของรูปนามแต่ละอย่างที่รูปนามอื่นไม่มี
๒.สามัญญลักษณะ ลักษณะทั่วไปของรูปนาม คือ ความไม่เที่ยง (อนิจจัง) เป็นทุกข์ (ทุกขัง) ไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา)
ลักษณะพิเศษของรูปกับนามนั้น เหมือนรูปร่างหน้าตาทางกายภาพของสัตว์แต่ละพันธุ์ เช่น ลิง มีหัวมีตัวอย่างลิง เสือมีหัวมีตัวมีหางมีลาย อย่างเสือ ช้างก็มีหัวมีตัวมีงวงมีงาอย่างช้าง ฯลฯ สัตว์แต่ละตัวมีลักษณะ เฉพาะทางพันธุกรรมของตนเป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกให้รู้ว่าต่างจากสัตว์ ประเภทอื่นๆ
ในทำนองเดียวกัน รูปนามที่เกิดทางทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง เช่น ลักษณะเฉพาะของสี ไม่เหมือนลักษณะเฉพาะของเสียง ลักษณะเฉพาะของเสียง ไม่เหมือนลักษณะ เฉพาะของกลิ่น ลักษณะเฉพาะของกลิ่น ไม่เหมือนลักษณะเฉพาะของรส ลักษณะเฉพาะของรส ไม่เหมือนลักษณะเฉพาะของสัมผัสคือความเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง ความโลภมีลักษณะทะยานอยาก แต่ศรัทธามีลักษณะผ่องใสความโกรธมีลักษณะไม่พอใจ แต่เมตตามีลักษณะอ่อนโยนปรารถนาดี ความฟุ้งซ่านมีลักษณะซัดส่าย แต่สมาธิมีลักษณะตั้งมั่น เป็นต้น
ความจริงรูปนามเหล่านี้ไม่มีชื่อเรียก เกิดดับตามเหตุปัจจัยอยู่ในทวารทั้ง ๖ ต่อมาเพื่อสื่อความหมายกัน มนุษย์ได้คิดคันตั้งชื่อให้กับธรรมชาติเหล่านี้ว่า สี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง โลภ โกรธ รัก ชัง เป็นต้น ถึงแม้ว่าแต่ละภาษาจะตั้งชื่อไว้ต่างกัน แต่รูปนามเหล่านี้ จะคงสภาพเดิมของมันอยู่เสมอไม่เปลี่ยนแปร ลักษณะแข็งอันปรากฎที่ฝ่าพระหัตถ์ของพระราชาในขณะกำเหรียญทอง ไม่ต่างจากความแข็งที่ปรากฏในฝ่ามือของยาจกในขณะกำเศษเงินที่คนโยนให้ ความโลภของคนไม่ต่างจากความโลภของสัตว์ ความโกรธของคนไทย ฝรั่ง จีน แขก เป็นแบบเดียวกันหมด ดังนั้น รูปนามทุกอย่างที่ปรากฎทางทวารทั้ง ๖ จึงมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวตามสภาวะของตน
ส่วนลักษณะทั่วไปนั้น เกี่ยวกับรูปนามทุกอย่างที่เกิดในทุกทวารทั้งภายในและภายนอก มีชีวิตและไม่มีชีวิต ทุกสรรพสิ่งในสากลจักรวาลล้วนตกอยู่ในลักษณะทั่วไปอันได้แก่ ความไม่เที่ยง คือความเกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่จีรังยั่งยืน ความทุกข์ คือความทนอยู่ไม่ได้ในสภาพเดิมที่เริ่มเกิดขึ้น ความไม่ใช่ตัวตน คือความไม่อยู่ในอำนาจของตนที่ต้องการจะเที่ยงและเป็นสุขเสมอ ลักษณะทั่วไปนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าไตรลักษณ์ คือลักษณะ ๓ ประการดังกล่าวนั้น
สมมุติบัญญัติที่ทุกคนรับรู้ในเวลาทั่วไปนั้น เปรียบเสมือนเปลือกไม้ สภาวลักษณะของรูปนามเหมือนเนื้อไม้ สามัญญลักษณะเหมือนแก่นไม้ โดยปกติเราต้องถากเปลือกไม้และเนื้อไม้ออกก่อน จึงจะได้แก่นไม้ ในทำนองเดียวกัน เราต้องเพิกถอนสมมุติบัญญัติก่อน แล้วรับรู้สภาวลักษณะเป็นเบื้องแรก ต่อมาจึงรับรู้สามัญญลักษณะ
สติมา (มีสติ) คำว่า สติมา แปลว่า มีสติ คือ มีสติอย่างต่อเนื่องไม่ขาดช่วงตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงหลับสนิท สติเหมือนการสีไม้อย่างต่อเนื่อง สมาธิเหมือนความร้อนที่ได้รับจากการสีไม้ ปัญญาเหมือนไฟที่เกิดจากความร้อน กล่าวคือในอินทรีย์ทั้ง ๕ อันได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ศรัทธาเป็นเหตุให้เกิดวิริยะ วิริยะเป็นเหตุให้เกิดสติ สติเป็นเหตุให้เกิดสมาธิ สมาธิเป็นเหตุให้เกิดปัญญา และปัญญาก็เป็นเหตุให้เกิดศรัทธา ดังนี้เป็นตัน อินทรีย์ ๕ เหล่านี้เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน
การเจริญสติจึงมีประโยชน์ทำให้จิตตั้งมั่นมีสมาธิ เพื่อการพัฒนาปัญญาต่อมา อุปมาเหมือนน้ำใสที่ตะกอนนอนกันย่อมแสดงสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในน้ำได้ หรือเหมือนการกกไข่ของแม่ไก่เป็นเวลานาน ย่อมจะทำให้ยางเหนียวคือตัณหาเหือดแห้งไป ทำให้จงอยปากและกรงเล็บที่เหมือนวิปัสสนาญาณของลูกไก่แข็งขึ้น และในที่สุดลูกไก่คือเหล่าสัตว์ก็จะเจาะเปลือกไข่ที่เหมือนอวิชชาซึ่งห่อหุ้มตนไว้ออกจากฟองไข่คือภพได้ สมกับพระพุทธพจน์ที่ตรัสว่าปัญญาเกิดจากสมาธิว่า “สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ เสยฺยถีทํ กามาสวา ภวาสวา อวิชฺชาสวาติ ฯ สมาธิอันศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตอันปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะโดยชอบ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ”
วิเนยฺย (ข่ม) คำว่า วิเนยย (ข่ม) หมายความว่า ในทุกขณะที่เจริญสติระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบัน นักปฏิบัติย่อมกำจัดกิเลสโดยความเป็นตทังคปหาน คือ ละได้ชั่วขณะ หมายความว่า ไม่มีกิเลสเกิดขึ้นในขณะนั้น เพราะกิเลสที่เป็นอกุศลเหมือนความมืด ส่วนสติเป็นกุศลเหมือนความสว่างที่ซับความมืดให้หายไป
นอกจากนี้ นักปฏิบัติย่อมกำจัดกิเลสโดยความเป็นวิกขัมภนปหาน คือ ละได้ด้วยการข่มไว้ หมายความว่า สมาธิที่ได้รับการอุปถัมภ์จากวิริยะ สติ และปัญญา ย่อมทำให้จิตละเอียดอ่อน แม้นักปฏิบัติจะมิได้เจริญสติ ในบางขณะก็ไม่เกิดความโลภหรือความโกรธเหมือนในเวลามิได้ปฏิบัติธรรม แม้ในบางขณะที่ขาดสติเผลอคิดถึงบางเรื่องในอดีตหรืออนาคต ก็ไม่เกิดกิเลสดังกล่าว เพราะสมาธิจะข่มกิเลสไว้
โลเก (ในโลก) คำว่า โลเก (ในโลก) หมายถึง โลกแห่งสภาวธรรมที่กำหนดรู้ หรืออุปาทานขันธ์ ๕ อันได้แก่ ๑. รูป สภาวะแปรปรวนชัดเจนเมื่อประสบกับความเย็นและความร้อนเป็นต้น ๒. เวทนา สภาวะรู้สึก ๓. สัญญา สภาวะหมายรู้ ๔. สังขาร สภาวะปรุงแต่ง ๕. วิญญาณ สภาวะรับรู้สิ่งต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
อภิชฺฌาโทมนสฺสํ (อภิชฌาและโทมนัส) คำว่า อภิชฺฌาโทมนสฺสํ (อภิชฌาและโทมนัส) คือ ความโลภที่เกิดขึ้นเมื่อพบกับอารมณ์ที่ตนชอบใจ และความโกรธที่เกิดขึ้นเมื่อเผชิญกับอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในเวลาที่มิได้เจริญสติปัฏฐาน
คำว่า อภิชฌา แปลตามศัพท์ว่า ความละโมบ แต่โดยทั่วไปหมายถึง ความยินดีอยากได้สมบัติผู้อื่น พิจารณาโดยองค์ธรรมคือ โลภเจตสิก ส่วน
คำว่า โทมนสฺส ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าความเสียใจนั้น มีองค์ธรรมคือเวทนาเจตสิกที่เกิดทางใจ แต่ในที่นี้หมายถึงโทสเจตสิกเพราะพระพุทธองค์ทรงแสดงกามฉันทนิวรณ์ด้วยคำว่า อภิชฌา และตรัสพยาปาทนิวรณ์ ด้วยคำว่า โทมนสฺส นิวรณ์ (เครื่องกั้นกุศล) ทั้งสองอย่างนี้มีกำลังมาก คนส่วนใหญ่มักคิดถึงเรื่องไม่ดีมากกว่าเรื่องดี และส่วนมากก็คือเรื่องที่ตนชอบและไม่ชอบนั่นเอง
ที่พระพุทธเจ้าทรงเทศน์ โภชะเน มัญตัญญุตา หมายถึง ให้รู้จักประมาณในการบริโภค รวมถึง การบริโภคความคิด เราบริโภคความคิดที่เป็นกาม รู้จักว่าอันไหนความคิด อันไหนไม่ควรคิด อันไหนควรหยุด ควรเบรค เค้าเรียกว่ารู้จักว่าของอันไหนบริโภคได้บริโภคไม่ได้ เพราะการเสพ การที่ตากระทบรูป หูกระทบเสียง ถ้าเราไม่หยุดเอง ไม่พิจารณาให้เกิดปัญญา เค้าเรียกว่ามีเพศสัมพันธ์ทางจิตใจ เราพากันเข้าใจแต่เรื่องภายนอกแล้วก็ไม่รู้เรื่องทางจิตใจ ใจของเรามันไม่มีเพศสัมพันธ์ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ลาภ ยศ สรรเสริญ เราต้องรู้จัก ว่าอันนี้ทุกข์ อันนี้เหตุเกิดทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เราต้องหยุดเราด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา เพราะเราโชคดี เราเป็นคนตาดี หูดี เรามีตาดีไม่บอดไม่ฝ้าไม่ฟาง เรามีหูดีไม่หนวก อันนี้เป็นอุปกรณ์ ที่ให้เราได้พิจารณาให้เกิดสติปัญญา ให้เกิดวิปัสสนา ให้เกิดพระกรรมฐาน ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็เราจะไปรักษาศีลที่ไหน ไปทำสมาธิที่ไหน เจริญปัญญาที่ไหน เรามีสนามสอบในชีวิตประจำวัน ชีวิตของเราเป็นปัจจุบันปฏิบัติธรรม ต้องเปลี่ยนวิถีความคิดใหม่ เรามีอุปกรณ์ เราต้องเอามาใช้เอามาปฏิบัติ อุปกรณ์คือศีล อุปกรณ์คือสมาธิ อุปกรณ์คือการฝึกเจริญปัญญา
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee