แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๖๐ เมื่อไม่เห็นแจ้งตามความเป็นจริง ก็ย่อมหลงติด เมื่อติดอยู่ย่อมไม่หลุดพ้น
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้ทุกท่านทุกคนรู้จักคำว่าพระ พระนี้คือพระธรรมพระวินัย ไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวตน พระนับเอาตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์ ทุกท่านที่เกิดมามีร่างกายเป็นมนุษย์ ที่มีจิตใจไม่รู้ทุกข์ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ไม่รู้ความดับทุกข์ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ จึงเป็นได้แต่เพียงคน อยู่ในร่างกายมนุษย์จึงมีหลายภพภูมิ พระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญพระพุทธบารมี ๒๐ อสงไขยแสนมหากัป ใช้เวลานานหลายล้านชาติ จนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทุกท่านต้องพากันมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง พัฒนาทางวัตถุที่เป็นเรื่องของกายเพื่อความสะดวกความสบายในการดำรงธาตุดำรงขันธ์ ที่หมู่มวลมนุษย์มีร่างกายจะอยู่ร่วม ๑๐๐ปี พัฒนาจิตพัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน จึงเป็นทางสายกลาง ความมั่นคงของทุกท่าน มันจะมั่นคงเฉพาะเรามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ถ้าที่เราได้ถือกำเนิดเกิดเป็นมนุษย์มีความมั่นคงถาวร ส่งผลัดให้กับลูกกับหลาน เอาธรรมวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ ที่มาในพระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ที่มาในภิกขุปาฏิโมกข์ ๒๒๗ สิกขาบท เพื่อเป็นยานออกจากวัฏสงสาร ผู้ที่ไม่ได้บรรพชาอุปสมบทก็เป็นพระได้เหมือนๆ กัน พอๆ กัน
ทุกท่านทุกคนต้องพากันมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มีความสุขในการทำงานในการปฏิบัติธรรมไปพร้อมๆ กัน ปรับตัวเองเข้าหาธรรมะเข้าหาเวลา เพื่อชีวิตเราจะไม่ได้เป็นนิติบุคคลตัวตนเราเขา เป็นสภาวะธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงมีได้ จิตใจกับวัตถุก็ต้องไปพร้อมๆ กัน จึงจะเป็นทางสายกลาง ธรรมกับวัตถุก็ต้องไปพร้อมๆ กัน ด้วยความเห็นทุกครั้งเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ที่เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารก็เพราะไม่รู้อริยสัจ ๔ การดำรงชีวิตดำรงธาตุดำรงขันธ์ของเรา มันเป็นการดำรงชีวิตด้วยโมหะด้วยอวิชชาด้วยความหลง ที่มันเป็นโลกครอบงำธรรม จึงเรียกว่าโลกธรรม พระพุทธเจ้าให้เรามีสัมมาทิฏฐิ จะได้เอาธรรมะปกครองโลก เอาธรรมะคุ้มครองโลก ไม่ใช่เอาโลกมาปกครองธรรม มันเป็นมิจฉาทิฏฐิเป็นความเห็นผิดเข้าใจผิดปฏิบัติผิด
หมู่มวลมนุษย์ทั้งหลายที่เกิดมา จึงต้องพัฒนาจากวิทยาศาสตร์ทางวัตถุพัฒนาจิตใจไปพร้อมๆ กัน ชีวิตเราถึงจะมีแต่คุณมีแต่ประโยชน์ ให้เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ครองธาตุครองขันธ์ด้วยสัมมาทิฏฐิ ด้วยพุทธะที่ไม่ใช่อวิชชาความหลง จึงต้องกลับมาหาสติที่เป็นความสงบ อย่าไปวิ่งตามอวิชชาความหลง โอ๊ยๆ ไปเรื่อย สิ่งที่ถูกต้องก็คือสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ได้ตัดออกไม่ได้เพิ่มเติม เมื่อมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องมันก็จะเป็นสัมปชัญญะคือปัญญา ที่ปัจจุบันที่เป็นธรรมเป็นวินัยน่ะ ที่เรียกว่าพรหมจรรย์
พระพุทธเจ้าให้เราว่างจากอวิชชาความหลง จึงไม่ให้เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง นั่นคือความมืดคืออวิชชาความหลง ไปไม่ได้ มันเป็นหนทางตัน การเรียนการศึกษาของเราตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาเอก ที่เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้งมันคือความมืด การเรียนการศึกษาของเราตั้งแต่นักธรรมตรีจนถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยค ถ้าเอาตัวตนเป็นที่ตั้งก็เรียกว่าความมืด แข่งขันการเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาเอก ตั้งแต่นักธรรมตรีจนถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยค
ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจ การเรียนการศึกษาก็เพื่อรู้อริยสัจ ๔ รู้เรื่องวิทยาศาสตร์ทางจิตใจ เพื่อจะได้มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง พากันเสียสละ ความสุขของมนุษย์อยู่ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องและพากันเสียสละ ในชีวิตของเราถึงจะมีความสุข ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ เมื่อเรามีความสุขในการทำงาน ความยากจนทางวัตถุมันก็ไม่มี เมื่อเรามีความสุขในการเรียนการศึกษา ความโง่ที่เป็นอวิชชาความหลงมันก็ไม่มี คันถธุระคือการเรียนเพื่อรู้ทุกรู้เหตุเกิดทุกข์รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ วิปัสสนาธุระ ก็คือการปฏิบัติเพื่อมีปัญญาคือพุทธะ ต้องมีเกิดขึ้นในปัจจุบันของทุกท่านทุกคนปัญญานั้นเกิดจากหลายๆ อย่าง ตั้งแต่ความรู้จากการได้ยินได้ฟังที่เป็นสุตมยปัญญา จากสำนักอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงต่างๆ ความรู้จากการพินิจพิจารณาไตร่ตรองทดลองด้วยตนเอง ซึ่งเป็นจินตมยปัญญารวมไปถึงความรู้แจ้ง คือ ภาวนามยปัญญา อันเกิดจากการเจริญสมาธิภาวนา หลายภพหลายชาติ ความรู้เหล่านี้จะทำให้สามารถที่จะหลุดพ้นจากวัฏสงสารไปได้
ศีลสมาธิปัญญาที่เราจะเอามาใช้เอามาปฏิบัตินั้นอยู่ที่ปัจจุบัน เพราะอนาคตของเราอยู่ที่ปัจจุบัน เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงมี ใจของเรามันคิดได้ทีละขณะ พระพุทธเจ้าท่านถึงไม่ให้เราดำริในกามดำริในพยาบาท ถ้าเราตรึกในกามตรึกในพยาบาท ก็เท่ากับปลูกอวิชชาความหลงไว้ในใจ ถ้าเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ไม่ตรึกไม่นึกไม่คิดในกามในพยาบาทน่ะ ชีวิตเราก็จะเป็นอริยมรรค เข้าสู่ความเป็นธรรม ไม่มีอคติ ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต มีแต่สติมีแต่สัมปชัญญะ คือพระธรรมวินัย ชีวิตของเราก็จะก้าวไปอย่างนี้ ชีวิตของเราก็เป็นการทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ทุกทาง ทางวัตถุที่เราให้อาหารกายที่ถูกต้อง เพราะกายเราทุกคนมันก็เปรียบเสมือนหุ่นยนต์ ที่อวิชชาความหลงที่เป็นกิเลสอันเป็นเหตุให้ทำกรรมเป็นผู้สร้างหุ่นยนต์ขึ้นมา ผูกไว้ในภพชาติ ยึดมั่นถือมั่นด้วยความเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เป็นหุ่นยนต์ที่ถูกบังคับถูกสั่งการด้วยอวิชชาความหลง ที่เป็นพลังงานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เป็นธาตุเป็นขันธ์เป็นอายตนะ ตกอยู่ในกฎพระไตรลักษณ์ เกิดจากเหตุจากปัจจัยเพราะสิ่งที่มีสิ่งต่อไปถึงมี
สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตในโลกที่เข้าใจกันว่าเป็นคน สัตว์ ฯลฯ เป็นความจริงในระดับสมมุติ แต่ความจริงในระดับลึกลงไป ทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นเพียงขันธ์ ที่เป็นรูปและนามรวมตัวกันเข้าเป็นกลุ่ม เปรียบได้กับรถยนต์อันเป็นที่รวมส่วนประกอบหลายอย่าง เช่น ยาง ล้อ ที่นั่ง เครื่องยนต์ แบตเตอรี่ ตัวถังรถ และเปรียบเหมือนบ้านอันที่เป็นประชุมของหลังคา เสา พื้น ฯลฯ สมจริงดังข้อความว่า "แน่ะมาร ท่านเห็นผิดเชื่อว่าสัตว์มีอยู่หรือ สมมุติว่าสัตว์นี้เป็นเพียงกองสังขารล้วนๆ ในกองสังขารนี้จะหาตัวสัตว์ไม่ได้เลย เปรียบดั่งเมื่อรวมส่วนประกอบเข้าด้วยกันแล้ว คำสมมุติว่า รถ ย่อมมี ฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ สมมุติว่าสัตว์ก็มีฉันนั้น โดยแท้จริงแล้ว ทุกข์เท่านั้นมีอยู่ ทุกข์ตั้งอยู่และดับไป นอกจากทุกข์ไม่มีสัตว์เกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีสัตว์ดับไป"
พระพุทธองค์ทรงประสงค์ให้เข้าใจความจริงของชีวิตในระดับลึกที่สุดจนเหลือเพียงขันธ์ ๕ จึงตรัสการเจริญสติปัฏฐานหมวดขันธ์ไว้เพื่อละความยึดติดในตัวตน เมื่อนักปฏิบัติหยั่งเห็นโครงสร้างทางร่างกายของตนเองดวามไม่รู้ก็จะหมดไป แล้วอนุสัยที่คอยสร้างทุกข์ให้ย่อมถูกขจัดได้โดยเด็ดขาด ส่งผลให้บรรลุความหลุดพ้นอย่างแท้จริง
พระพุทธองค์ทรงแสดงขันธ์ ๕ ไว้ในพระสูตรบางสูตร และแสดงอายตนะ ๑๒ ไว้ในบางแห่ง คำว่า อายตนะ แปลว่า ที่อาศัยของจิตและนามธรรมที่เกิดร่วมกับจิต (เจตสิก) จำแนกออกเป็นอายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ และอายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่สัมผัส และธรรมารมณ์ (มโนสัมผัส) จะเห็นได้ว่าอายตนะเหล่านี้เป็นที่ตั้งของจิตและเจตสิก ถ้าไม่มีตาหรือรูป จิตที่รู้อารมณ์ผ่านดวงตาก็ปรากฏไม่ได้ อายตนะเหล่านี้อาจจำแนกเป็น ๓ ประเภทตามลักษณะที่ปรากฏดังต่อไปนี้
๑. ธาตุรับ คือ อายตนะภายใน ๕ อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ที่เป็นรูปธรรม
๒. ธาตุกระทบคือ อายตนะภายนอก ๕ อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่สัมผัส ที่เป็นรูปธรรมพร้อมทั้งธรรมารมณ์ที่เป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรม
๓. ธาตุรู้ คือ อายตนะที่เป็นนามอันได้แก่ จิตที่รู้อารมณ์ผ่านดวงตาเป็นต้น
ตัวอย่างเช่น เมื่อมีรูปมาปรากฏทางตา จิตที่เห็นรูปทางตาซึ่งเรียกว่า จักขุวิญญาณจิต ย่อมเกิดขึ้นทำหน้าที่เห็นโดยอาศัยตา คนตาบอดไม่สามารถเห็นได้ เพราะไม่มีตาเป็นสื่อผ่านถึงประตูใจ ตาจึงเป็นธาตุรับ รูปเป็นธาตุกระทบ ส่วนจิตเป็นธาตุรู้ แม้เสียงก็ปรากฏผ่านประตูหู ย่อมก่อให้เกิดจิตที่ได้ยินเสียง ดังนี้เป็นต้น
ประสาทตานั้นเป็นเยื่อบางๆ ประดุจปุยนุ่นที่ชุ่มฉ่ำด้วยน้ำมัน และเยื่อบางๆ เหล่านี้ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ ถึง ๗ ชั้น โตประมาณเท่าศีรษะเหา (ไม่ใช่รูปเดียว) เป็นรูปที่ถูกผลิตสร้างขึ้นโดยอาศัยอำนาจของกรรม คือ กรรมชรูป
โสตปสาทรูปนั้น หมายถึง ประสาทที่อยู่ภายในช่องหู สำหรับรับสัททารมณ์อันได้แก่คลื่นเสียง มีสัณฐานเป็นวงๆ คล้ายวงแหวน แล้วมีขนอันละเอียดอ่อนสีแดงเรื่อๆ อยู่โดยรอบ มีโสตปสาทปกคลุมแผ่ไปทั่วในบริเวณนี้ เป็นที่รับเสียงและเป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งโสตวิญญาณ คือการ "ได้ยิน"
ฆานปสาทรูปนั้น เป็นรูปชนิดหนึ่งที่เกิดจากอำนาจของกรรม ตั้งอยู่ภายในช่องจมูกมีสัณฐานดังเท้าแพะ มีความใสเป็นเครื่องรับสัมผัสกลิ่น เป็นรูปธรรมที่มีความสามารถในการรับคันธารมณ์ คือกลิ่นต่างๆ
ชิวหาปสาทรูปนั้น เป็นรูปชนิดหนึ่งที่เกิดจากอำนาจของกรรม ตั้งอยู่ท่ามกลางลิ้น มีสัณฐานเหมือนปลายกลีบดอกบัว เรียงรายซ้อนกันเป็นชั้นๆ มีความใส เป็นเครื่องรับสัมผัสรส เป็นรูปธรรมที่มีความสามารถในการรับรสารมณ์ คือรสต่างๆ
กายปสาท เป็นธรรมชาติของรูปที่เป็นประสาทกาย เป็นรูปที่เกิดขึ้นมาจากอำนาจกรรม มีความใส สำหรับรับสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง กายปสาทนี้มีอยู่ทั่วร่างกาย ยกเว้นแต่ที่ ผม ขน เล็บ ฟัน และหนังที่หนาๆ ที่ประสาทกายตั้งอยู่ไม่ได้
เมื่อเห็นหน้าของคน เราก็พูดกันว่า "เห็น" ในทันใดที่มองดู แต่อย่างไรก็ดี คลื่นของแสงก็หาใช่ว่าจะสะท้อนจากใบหน้ามากระทบกับจิตที่ประสาทตาพร้อมกันในทันทีทันใดหมดทั้งหน้าไม่ เพราะจิตใจจะต้องรับอารมณ์ทีละอารมณ์เท่านั้นในวิถีหนึ่ง รูปคือคลื่นของแสงมากระทบกับจิตที่ประสาทตา จะเกิดดับ ๑ รูป ต่อจิตที่เกิดดับถึง ๑๗ ขณะ นั่นเพียงวิถีเดียวเท่านั้น ความจริงเกิดมากมาย
ด้วยเหตุดังนี้เอง รูป คือคลื่นของแสงที่สะท้อนจากใบหน้าคน จึงสะท้อนจากจุดต่างๆ บนใบหน้าแล้วมากระทบกับจิตที่ประสาทตาทีละจุดๆ เช่น จากดวงตา (ทั้งสองข้าง) คิ้ว (ทั้งสองข้าง) จมูก ปาก แก้ม คาง หน้าผาก ผม (โดยย่อเท่านั้น)
จิตจะรับอารมณ์ได้ทีละอย่างเท่านั้นเอง จะรับสองอารมณ์พร้อมกันไม่ได้ เช่น รับ "เห็น" พร้อมกันจากจุดตรงปาก และตรงตาด้วยไม่ได้ เป็นต้น
ดังนั้น รูปารมณ์ คือคลื่นของแสงที่สะท้อนเข้ากระทบกับจิตที่ประสาทตา จึงเข้าหระทบทีละหนึ่งๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งจิตที่เข้ารับการกระทบก็เกิดดับสืบต่อกันไป
อารมณ์เหล่านี้ ผู้เห็นยังตัดสินว่าเป็นอะไรไม่ได้ สักแต่ว่า "เห็น" เท่านั้นเอง จึงจัดว่าเป็นปรมัตถอารมณ์ เป็นความจริงแท้แน่นอน เพราะคลื่นของแสง (รูปารมณ์) ก็มีจริงๆ จิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ก็มีจริงๆ
โมหะหรืออวิชชาจะเกิดที่ตรง “ได้ยิน” เพราะเมื่อเสียงมากระทบกับจิตที่ประสาทหูแล้ว จะต้องได้ยินอย่างแน่นอน “ได้ยิน” จึงมีจริง ๆ เป็น นามจิต และเป็นปรมัตถ์ด้วย แต่บุคคลทั้งหลายหาได้เข้าใจเช่นนี้ไม่ กลับสร้างมโนภาพขึ้นแล้วก็หลงใหลในมโนภาพของตนเอง ทำให้เกิด โลภะ โทสะ โมหะ ขึ้นมาโดยมิได้รู้สึกตัวแท้จริงแต่มีเสียงสูงๆ ต่ำๆ อันเป็นรูปธรรม กับจิตได้ยิน อันเป็นนามธรรม หรือจะพูดว่า มีแต่เหตุกับผล หรือมีแต่รูปกับนามเท่านั้นเอง
จิตที่เป็นธรรมชาติรู้ ก็หาใช่เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นหญิง เป็นชาย หรือเป็นสิ่งของอะไรต่างๆ ไม่ หากแต่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นมาจากเหตุเหมือนกัน มีแต่เหตุกับผลเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไปในทันใดเท่านั้นเอง แต่ผู้เห็นกลับหลงผิดคิดเอา สร้างมโนภาพให้เป็นไปต่างๆ แท้ๆ โดยอาศัยอดีตอารมณ์ของตนเข้ามาร่วมด้วย ทั้งนี้ก็เพราะโมหะหรืออวิชชา ซึ่งได้แก่ความโง่ความหลงมาปิดบังอำพรางเอาไว้ ทั้งรูป ทั้งนาม เกิดดับรวดเร็วจนไม่สามารถเข้าไปเห็นความจริงได้ นอกจากผู้เข้าวิปัสสนากรรมฐานได้ญาณปัญญาเท่านั้น ที่ความจริงจะเข้ามาประจักษ์อยู่ต่อหน้า
การเจริญสติระลึกรู้อายตนะภายในและภายนอกนี้ ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติธรรมหยั่งเห็นโลกทัศน์ภายในและภายนอกว่า ไม่ใช่ตัวตน มีเพียงกระบวนการเชื่อมโยงกันโดยความเป็นธาตุรับ ธาตุกระทบ และธาตุรู้ ปราศจากตัวเรา ของเรา ที่เที่ยง เป็นสุข บังคับบัญชาได้ ผู้ที่ไม่อาจแยกแยะขอบเขตของรูปนามในโลกภายในและภายนอก ย่อมหลงผิดปรุงแต่งสิ่งที่ใจรับรู้ตลอดเวลา ส่งผลให้กิเลสสั่งสมพอกพูนขึ้น แต่ผู้ที่กำหนดรู้ด้วยปัญญาพิจารณาอย่างถูกต้อง ย่อมไม่ทำปฏิกิริยาปรุงแต่งด้วยความชอบหรือไม่ชอบ ส่งผลให้กิเลสอ่อนกำลังลง จนในที่สุดก็ถูกละได้โดยเด็ดขาดด้วยมรรคญาณ
พระพุทธองค์ตรัสระบุการกำหนดรู้สภาวะเห็นเป็นหลักไว้แก่ท่านพาหิยะว่า ตสฺมาติห พาหิย เอวํ สิกฺขิตพฺพํ. ทิฏเฐ ทิฏฐมตฺตํ ภวิสฺสติ, สุเต สุตมตฺตํ ภวิสฺสติ, มุเต มุตมตฺตํ ภวิสฺสติ, วิญฺญาเต วิญฺญาตมตฺตํ ภวิสฺสติ. เอวญฺหิ เต พาหิย สิกฺขิตพฺพํ" "ดูกรพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล เธอพึ่งศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็น จักเป็นเพียงแต่เห็น เมื่อได้ยิน จักเป็นเพียงแต่ ได้ยิน เมื่อรู้อารมณ์ทางจมูก ลิ้น กาย จักเป็นเพียงแต่รู้อารมณ์ทางจมูก ลิ้น กาย เมื่อรู้อารมณ์ทางใจ จักเป็นเพียงแต่รู้อารมณ์ทางใจ ดูกรพาหิยะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้"
ถ้านักปฏิบัติสามารถรู้เท่าทันสภาวะเห็นได้ ก็จะมีเพียงสภาวะเห็นโดยไม่มีรูปร่างของสิ่งที่เห็น และสังโยชน์คือกิเลสเครื่องผูกรัดก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าใจรับรู้ไปถึงรูปร่างของสิ่งที่เห็น ก็จะคิดปรุงแต่งและตอบสนองตามความรู้สึกของตน ส่งผลให้ความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบเกิดขึ้น
คนทั่วไปมักสำคัญว่าตาเห็นรูปพรรณสัณฐาน แท้ที่จริง อารมณ์ที่เห็นทางตา คือ สีต่างๆ (อันเป็นสภาวธรรม) ไม่ใช่รูปพรรณสัณฐาน (อันเป็นสมมุติบัญญัติ เมื่อตารู้สึกแล้วจะส่งการรับรู้นั้นให้ใจซึ่งรู้รูปพรรณสัณฐานต่อมา ใจจะเป็นผู้ปรุงแต่งตอบสนองอารมณ์ตามความปรารถนาในเชิงลบหรือบวก ดังนั้น สีจึงเป็นสิ่งที่เห็นทางตา ไม่ใช่รูปพรรณสัณฐานตามที่เข้าใจกันอยู่ ดังพระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า "ยํ ปสฺสติ น ตํ ทิฏฐํ ยํ ทิฏฺฐํ ตํ น ปสฺสติ. อปสฺสํ พชฺฌเต มูฬฺโห พชฺฌมาโน น มุจฺจติ. บุคคลดูสิ่งใด ไม่ชื่อว่าเห็นสิ่งนั้น เห็นสิ่งใด ไม่ชื่อว่าดูสิ่งนั้น เมื่อไม่เห็นย่อมหลงติด เมื่อติดอยู่ย่อมไม่หลุดพ้น"
คำว่า "บุคคลดูสิ่งใด ไม่ชื่อว่าเห็นสิ่งนั้น" หมายความว่า บุคคลดูรูปร่างสัณฐานด้วยความเห็นผิดว่ามีตัวตน ย่อมเห็นรูปร่างสัณฐานเป็นหลัก ไม่เห็นรูปารมณ์ที่เป็นสีต่างๆ ซึ่งเห็นได้ด้วยตา
คำว่า "เห็นสิ่งใด ไม่ชื่อว่าดูสิ่งนั้น" หมายความว่า สิ่งที่บุคคลพบเห็นคือรูปารมณ์ที่เป็นสีต่างๆ แต่เขาไม่ดูรูปารมณ์ด้วยปัญญาจักษุตามความเป็นจริง
คำว่า "เมื่อไม่เห็นย่อมหลงติด เมื่อติดอยู่ย่อมไม่หลุดพ้น" หมายถึง เมื่อเขาไม่เห็นสภาวะที่มีจริงคือรูปารมณ์ ย่อมหลงติดในอัตภาพและถูกกิเลสผูกไว้โดยเข้าใจผิดว่าเป็นตัวตน
ในปัจจุบันมีบางแห่งกล่าวสอนว่าในขณะเห็นให้พิจารณาว่า ตาเป็นรูป รูปารมณ์เป็นรูป จิตที่เห็นเป็นนาม การพิจารณาอย่างนี้ไม่ใช้วิปัสสนา เพราะเป็นเพียงการพิจารณาตามสัญญาที่จำได้หมายรู้ โดยรับรู้สมมุติบัญญัติเป็นอารมณ์หลัก ไม่ใช่การเจริญสติที่ระลึกรู้สภาวธรรมปัจจุบัน
นอกจากนั้น ปัญญาจากการเรียนรู้ที่เรียกว่า สุตมยปัญญา (ปัญญาเรียนรู้ปัญญาจากความดำริที่เรียกว่า จินตามยปัญญา (ปัญญาคิดรู้) ไม่ใช่วิปัสสนา เพราะมิได้เกิดจากประสบการณ์ภายในตนเอง ปัญญาทั้งสองนั้นอาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อได้รับข้อมูลใหม่หรือพิจารณาทบทวนในภายหลัง
แต่วิปัสสนาเป็นปัญญาจากการอบรมจิต เรียกว่า ยถาภูตญาณคือ ญาณหยั่งเห็นตามความเป็นจริง หรือญาณทัสสนะ คือ ปัญญารู้เห็น หมายถึง เห็นด้วยปัญญาจักษุจากประสบการณ์ของตนอย่างแท้จริง
ให้ทุกท่านทุกคนมีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ด้วยพุทธะในจิตในใจ เราจะไม่ได้แก่ไม่ได้เจ็บไม่ได้ตายไม่ได้พลัดพราก จะได้รู้ว่าร่างกายก็ส่วนหนึ่งใจก็ส่วนหนึ่ง มนุษย์เราต้องเป็นผู้มีปัญญาสัมมาทิฏฐิ รู้อริยสัจ ๔ จะได้รู้เรื่องของกาย ใจเราจะได้ไม่มีสักกายทิฏฐิไม่มีตัวไม่มีตน ที่เราไปสุขไปทุกข์กับร่างกาย พระพุทธเจ้าก็บอกสอนว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา เรามีความตายเป็นธรรมดา เรามีความพลัดพรากเป็นธรรมดา เพราะเป็นเรื่องของสภาวะธรรมทางกาย จึงต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง จะได้ไม่แก่หง่อมไปตามร่างกาย ไม่เจ็บป่วยไปตามร่างกาย เพราะกายกับใจมันคนละเรื่องกัน การประพฤติปฏิบัติของเราต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ที่เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม
ผู้ที่มาบวชก็พากันเข้าใจ และพากันประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่เป็นฆราวาสก็พากันเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วก็พากันประพฤติปฏิบัติ อยู่ที่ตัวเราทุกคน คนอื่นก็เป็นเรื่องของคนอื่น การขาดแคลนทางวัตถุมันก็จะไม่มี เพราะเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องมีความสุขในการทำงาน เด็กๆ ตั้งแต่อนุบาลจนไปถึงหนุ่มสาวก็มีความสุขในการเรียนการศึกษาน่ะ พากันหยุดอบายมุขอบายภูมิ อบายมุขอบายภูมิ หมายถึงการเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ที่มันเป็นโลกครอบงำธรรม ที่มันขี้เกียจขี้คร้านเอาความหลงเป็นที่ตั้ง เรียกว่าเป็นน่าจะเพียงคน คนชอบอารมณ์ พวกกินเหล้ากินเบียร์เล่นการพนัน พวกนี้น่ะเป็นพวกที่ดำเนินชีวิตไปสู่อบายมุขอบายภูมิ คือพวกที่ไม่มีความสุขในการทำงาน พวกที่ไม่มีความสุขในการเรียนหนังสือ พวกที่ไม่มีความสุขในการปฏิบัติธรรม ได้ถือเอาอวิชชาความหลงเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ที่เป็นสาเหตุให้เราเป็นได้แต่เพียงคน
ทุกท่านทุกคนต้องพากันเข้าใจอย่างนี้นะ สาเหตุที่พวกเราต้องเวียนว่ายตายเกิดก็เพราะไม่รู้อริยสัจ ๔ ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ไม่ว่าเราจะอยู่ในมุมไหนของโลก สาเหตุที่เวียนว่ายตายเกิดก็เนื่องมาจากแม่รู้อริยสัจ ๔ นั่นเอง ผู้ที่มาบวชส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจอริยสัจ ๔ ผู้ที่เป็นฆราวาสก็ไม่เข้าใจอริยสัจ ๔ จึงได้พากันเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เอาอวิชชาความหลงเป็นที่ตั้ง จึงได้พากันสร้างเหตุสร้างปัจจัยให้ตัวเองเวียนว่ายตายเกิด พัฒนาแต่เรื่องตัวเรื่องตน และพัฒนาแต่วัตถุจึงได้พากันฆ่าสัตว์ บริโภคสัตว์ พากันโลภพากันโกงกินคอรัปชั่น ประพฤติผิดในการโกหกหลอกลวง มัวเมาตั้งอยู่ในความประมาท แล้วก็มักจะอ้างว่า ใครๆ เขาก็ทำกัน เพราะความเห็นไม่ถูกต้องความเข้าใจไม่ถูกต้อง จึงไปเอาความสุขความดับทุกข์ของตัวเองกับคนอื่นสัตว์อื่น
คนเราถ้ามาเสียสละ เราถึงจะมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เรามองดูสิ! เราทุกคนก็จะเอาประโยชน์จากพ่อจากแม่ อย่างเราเรียนหนังสือ ลงทุนในการเรียนหนังสือก็เพื่อจะเอา เพื่อหวังผลกำไรผลตอบแทน เราเข้าใจผิดปฏิบัติผิดอย่างนี้มันถึงเป็นมนุษย์ ผู้มีจิตใจสูงไม่ได้ เป็นได้แต่เพียงคนที่มันระคนอยู่ด้วยความไม่ดีต่างๆ ชีวิตจึงตกอยู่ในอบายมุขในอบายภูมิ
เราจะมาเอาอะไรกับของไม่เที่ยงแท้ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน การเวียนว่ายตายเกิดมันเป็นสิ่งที่ยากมันมีภาระนักหนา เราต้องรู้จักใจรู้จักอารมณ์ของเรา รู้จักว่าเราต้องปฏิบัติ ต้องเสียสละ ด้วยไม่คิดไม่พูด ไม่กระทำ เป็นบุคคลที่ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป บาปก็คือเห็นผิดเข้าใจผิด หลงยึดหลงติด ติดยังไงล่ะ? ก็เหมือนติดยาเสพติด ติดเหล้าติดเบียร์ ติดภรรยาสามีลูกหลาน ก็ติดอันเดียวกัน ติดหนี้ติดสิน ก็ติดอันเดียวกัน ถ้าเราไม่มีความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ชีวิตของเราชื่อว่าเป็นตาลยอดด้วนนะ ถ้าใครไม่ละอายต่อบาปยังกล้าคิด ยังยินดีในกามคุณ ยังยินดีในความร่ำรวย ในลาภยศสรรเสริญ อย่างนี้เรียกว่าไม่ละอายต่อบาปไม่เกรงกลัวต่อบาป
ต้องมาเพิ่มความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาปเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ เราอย่าไปคิดว่า จะไปเอาอะไรกันนักหนา จะไปจริงจังอะไรนักหนา จะไปเคร่งครัดอะไรนักหนา คิดแบบนี้คือคนไม่ละอายต่อบาปไม่เกรงกลัวต่อบาป ความไม่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ย่อหย่อนอ่อนแอ ตามใจตามอารมณ์ก็คือกามสุขัลลิกานุโยค คือ การประกอบตนเองให้ติดสุขติดสบาย มุ่งเน้นไปแต่ในทางกามคุณกามสุข
ถ้าเราตั้งใจแล้ว เราต้องสู้ให้ชนะทุกไฟท์ไปนะ ปัจจุบันที่เกิดขึ้นให้เราได้ไฟท์ ให้เราได้สู้ ต่อสู้กับกิเลส ได้ประพฤติปฏิบัติ พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้เราบวชมาเพื่อเอาพระศาสนาทำมาหาเลี้ยงชีพ แต่ให้บวชมาเพื่อมาเอาพระศาสนาไปสู่มรรคผลพระนิพพาน ทุกท่านต้องปรับใจตนเอง เข้าสู่การประพฤติพรหมจรรย์ คือใจที่ประเสริฐละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ยินดีในการประพฤติปฏิบัติธรรม
หากเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ นั่นคือการเสียสละนะ เพราะเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ รักษาศีลรักษาสิกขาบทน้อยใหญ่ ละความเห็นแก่ตัว ที่ทำตามความยึดมั่นถือมั่น ศีลทุกสิกขาบทจึงเป็นความสละคืน บอกคืนอวิชชาความหลง ความเห็นแก่ตัว ต้องเสียสละจึงจะละสักกายะทิฏฐิ มีความเห็นว่าเป็นตัวกูของกู เป็นตัวเราของเรา ละระบบครอบครัวได้ ละระบบความเห็นแก่ตัวได้ ระบบครอบครัวก็คือระบบการเวียนว่ายตายเกิดนั่นแหละ เราปฏิบัติอย่างที่กล่าวมานี้เราจะมีความสุขได้ทุกคน ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ผู้มีสัมมาทิฏฐิมีศีลเป็นที่ตั้ง มีสมาธิเป็นที่ตั้ง มีปัญญาเป็นที่ตั้ง ถ้าเป็นผู้มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง มันจะได้ไม่วกไปเวียนมา เป็นแต่เพียงคนอย่างนี้ ถ้าเราไม่ทำตามใจทำตามอารมณ์ทำตามความรู้สึก เรื่องทั้งหลายทั้งปวงมันก็จะจบไป ที่มีปัญหาการเวียนว่ายตายเกิด เพราะไม่ให้ทาน ไม่เสียสละตัวตน ทำตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึก ถึงไม่มีที่จบสิ้น ทุกท่านทุกคนต้องมาเสียสละนะ ถ้าไม่เสียสละ ก็จะไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่สิ่งที่เข้าใจยากนะ เป็นเรื่องเข้าใจง่าย และได้ผลจริง เมื่อทำจริงปฏิบัติจริง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee