แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๕๕ การถือธุดงควัคร การออกจาริกธุดงค์ ก็เพื่อกายวิเวก จิตวิเวก และอุปธิวิเวก
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
การเดินธุดงค์คือการเจริญสติคือการเจริญสัมปชัญญะ คือใจอยู่กับเนื้อกับตัว ใจอยู่กับเท้าขวาเท้าซ้าย ใจอยู่กับลมหายใจเข้าหายใจออก ใจอยู่กับขาขวาก็ไม่เที่ยงก็ไม่แน่ ใจอยู่กับขาซ้ายก็ไม่เที่ยงไม่แน่ ใจอยู่กับขาขวาขาซ้ายก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน การเดินก็ให้ได้ระยะทาง ๑๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง มันเป็นการเจริญสมถะหรือวิปัสสนาใช้เวลาติดต่อต่อเนื่องอยู่ที่ปัจจุบัน ทุกท่านทุกคนให้มีความสุขในการเดินอยู่กับองค์ภาวนาที่เป็นสมถะที่เป็นวิปัสสนา
เราทุกคนเมื่อเรากลับมาหาสติในการรู้ตัวทั่วพร้อม รู้ตัวเองมันก็สงบ มันจะตัดสิ่งภายนอกออกไปทั้งหมด เมื่อเราเอาใจยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์รู้ตัวทั่วพร้อมว่าทุกอย่างนั้นไม่แน่ไม่เที่ยง ทุกอย่างนั้นไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน จิตใจของเราก็จะเข้าสู่ภาวนาวิปัสสนา การเดินธุดงค์นั้นมันดี พอใช้เวลานานติดต่อต่อเนื่องโดยใช้เวลาหลายชั่วโมง ทุกท่านทุกคนให้ตัดสิ่งภายนอก ให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว ให้อยู่กับสติอยู่กับสัมปชัญญะ
อาหารกายคือข้าวน้ำผักผลไม้ตอนนอนพักผ่อนมนุษย์เราต้องให้อาหารกายและอาหารใจมันมี ๒ อย่างนี้แหละ เพราะมนุษย์เราพระพุทธเจ้าถึงให้เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติจะได้พากันปฏิบัติให้ถูกต้องเราจะได้ใช้ร่างกายให้เกิดประโยชน์ใช้จิตใจให้เกิดประโยชน์ อาหารใจนั้นคือธรรมะ เดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่มีความเห็นผิดเข้าใจผิด ใจของเรานั้นไม่ได้เป็นธรรมะ ยังเป็นบุคคลเป็นนิติบุคคลอยู่ เราทุกคนต้องให้อาหารใจที่ถูกต้องต้อง ปรับใจเข้าหาธรรมะ เราจะเข้าถึงธรรมะได้นั้นต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพื่อให้อาหารใจของเรา เราทุกคนนั้นมันยังมีสักกายทิฏฐิมีตัวมีตน พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เอาตัวเอาตนเป็นการดำเนินชีวิต ต้องเสียสละซึ่งสักกายะทิฏฐิซึ่งตัวซึ่งตนน่ะ
เราจะออกจากวัฏสงสารเราต้องอาศัยยาน ยานพาหนะนำเราไปพาเราไป ยานนั้นคือศีลสมาธิปัญญา ศีลสมาธิปัญญาที่เรียกว่าพุทธะ แปลว่ารู้ทุกข์รู้เหตุเกิดทุกข์รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ที่เป็นธรรมเป็นปัจจุบัน ที่ไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนคือธรรมะได้แก่สติคือความสงบได้แก่ธรรมะ ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตนนี้เรียกว่าพุทธะ อาหารใจถึงเป็นความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ดำริออกจากความหลง ดำริออกจากกาม ดำริออกจากพยาบาท การเดินของเราในการเดินถึงต้องเจริญสติเจริญสัมปชัญญะ เพื่อให้มันเป็นทั้งสมถะเป็นทั้งวิปัสสนาไปในตัว การที่เราเดินตามถนนก็จะไม่มีปัญหา ถ้าเรากลับมาหาเนื้อหาตัว กลับมาหาขาซ้ายก็รู้ขาขวาก็รู้ รู้ลมเข้าออก มันเป็นโอกาสดีพิเศษของเรา จึงให้พากันปฏิบัติทุกๆ คน ร่างกายมันจนเหนื่อยมันจะยากลำบากก็ช่างหัวมัน มันเหนื่อยมันหนาวมันร้อนก็ช่างหัวมัน อายตนะภายนอกภายในสัมผัสกันมันก็เป็นอย่างนี้แหละ มันเป็นอารมณ์มันเป็นผัสสะมันเป็นความคิดให้รู้จักอารมณ์ เราทุกคนจะได้อบรมบ่มอินทรีย์ ที่จะได้เจริญสมถะเจริญวิปัสสนา ความสงบความวิเวกก็จะเกิด ถ้าเรากลับมาหาตัวเอง อยู่ที่ไหนมันก็สงบทั้งหมด ถ้าเรากลับมาหาธรรมะไม่มีตัวไม่มีตน ที่นั่นมันก็วิเวกหมด เราไม่ต้องไปหาความสงบความวิเวกที่ไหนหรอก หาที่ใจของเรามีความสงบมีสติสัมปชัญญะ
ความไม่รู้ความไม่เข้าใจทำให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร การที่ไม่รู้ความจริงตามความเป็นจริง นี้เรียกว่าไม่รู้อริยสัจ ๔ อาหารทางกายนี้ก็เป็นยา ให้ทุกท่านทุกคนพากันรู้จัก เราอย่าพากันไปหลง ถ้าหลงมันจะเป็นยาเสพติด พระพุทธเจ้าถึงให้เราทานอาหารฉันอาหารเพื่อเป็นยา เพื่อให้ชีวิตของเราอยู่ได้ตามอายุขัยนะ ทุกท่านทุกคนต้องพากันเข้าใจ พากันรู้อริยสัจ ๔ ทุกอย่างในการดำรงชีวิตมันเป็นสิ่งที่เยียวยา ให้ทุกท่านทุกคนพากันมีสติสัมปชัญญะ พากันรู้อริยสัจ ๔ พากันรู้ความจริง เราจะได้มีความสงบมีทั้งปัญญาเป็นพุทธะไม่ได้เป็นความหลง ไม่ได้เป็นไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์แต่ว่าความหลง ทุกท่านทุกคนต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ เพื่อจะได้อบรมบ่มอินทรีย์ของตัวเองในปัจจุบัน การประพฤติการปฏิบัติธรรมมันเป็นเรื่องปัจจุบัน ปัจจุบันเราต้องมีสติมีความสงบมีสัมปชัญญะคือตัวปัญญาที่รู้อริยสัจ ๔ รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เข้าถึงตัวภาวนาวิปัสสนา
เราเป็นพระนี้ดีมากดีพิเศษดีจริงๆ บ้านก็ไม่ต้องเช่า ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ เขาเอาของมาให้มาประเคนยังต้องมากราบมาไหว้อีก ทุกท่านทุกคนต้องเข้าสู่ความเป็นพระ พระนั่นคือพระธรรมพระวินัย คือความสงบ คือผู้ไม่ตามอวิชชาไม่ตามความหลง มีความสุขในการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ มีพุทธะผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานในปัจจุบัน ทุกท่านทุกคนต้องว่างจากความไม่มีตัวไม่มีตน ถ้าเราไม่มีตัวไม่มีตน กลับมาหาความสงบ ทุกอย่างมันก็ไม่มีปัญหาหรอก ทุกท่านทุกคนถึงไม่ต้องไปหาความดับทุกข์อยู่ที่ไหนหรอก มันอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง การปฏิบัตินั้นต้องปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องเหมือนไก่ฟักไข่ ต้องติดต่อต่อเนื่อง ๓ อาทิตย์ถึงออกเป็นลูกไก่ได้ โดยสมัยใหม่นี้ฟักด้วยอุณหภูมิไฟฟ้าได้มาตรฐานกว่า เราจะปลูกต้นไม้ก็ทำอย่างเดียวกับการฟักไข่นี่แหละ เอาเมล็ดพันธุ์ลงปลูก ให้น้ำให้ปุ๋ยให้แสงแดดดูแลรักษา จึงจะเจริญเติบโตได้ ความเป็นสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็อยู่ที่การปฏิบัติของเราทุกคนที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ผู้ที่มาบวชถึงมีโอกาสพิเศษ เราจะได้ปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน พระพุทธเจ้าบอกว่าให้การประพฤติการปฏิบัติของเรานี้เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ อยู่กับชีวิตประจำวัน อยู่กับข้อปฏิบัติ อย่าให้มันแยกกัน การทำงานกับการปฏิบัติธรรมก็ให้เป็นอันเดียวกัน จะได้ทั้งทางกายแล้วก็ทางจิตใจให้เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘
พระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ที่มีอยู่ในพระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ มีอยู่ในพระปาฏิโมกข์ที่สวดกันทุกกึ่งเดือน ๒๒๗ สิกขาบท มันคือการหยุดวัฏสงสาร หยุดตัวเราหยุดตัวตนของเรา ทุกท่านทุกคนต้องพากันรู้จัก นั่นเป็นยานนำเราออกจากวัฏสงสาร ถึงให้ทุกท่านทุกคนพากันมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ โดยการไม่เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เรียกว่าหยุดตัวหยุดตน มีแต่สติคือความสงบมีแต่สัมปชัญญะคือปัญญา มีความสงบอบอุ่นสงบเย็นเป็นพระนิพพาน ชีวิตของเราทุกคนมันจะได้เป็นแอร์คอนดิชั่น มันจะสงบอบอุ่นอยู่กับอุณหภูมิทั้งกายทั้งใจเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม
ทุกท่านอย่าพากันหลง ความหลงนี้เรียกว่าวิปัสสนูปกิเลส ไม่ใช่วิปัสสนา เอาความหลงเป็นที่ตั้งน่ะ ไม่ปรับตัวเข้าหาธรรมะไม่ปรับตัวเข้าหาเวลา เอาความขี้เกียจขี้คร้านเป็นการปล่อยวาง พระพุทธเจ้าเกียจคร้านไม่เป็น พระอรหันต์เกียจคร้านไม่เป็น เพราะท่านข้ามพ้นอวิชชาข้ามพ้นความหลง ท่านเข้าถึงธรรมถึงปัจจุบันธรรม ชีวิตของท่านถึงเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม ทุกท่านทุกคนต้องรู้จักเรื่องของกายเรื่องของใจนะ เรียกว่ารู้อริยสัจ ๔ ถ้าเราไม่รู้แล้วโลกธรรมมันจะครอบงำใจของเรา ถ้าเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้งเรียกว่าโลกธรรม ครอบงำเรา ถ้าเราเอาธรรมเป็นที่ตั้งน่ะ ธรรมจะครอบงำโลก
ร่างกายของมนุษย์ร่างกายของสัตว์โลกพร้อมทั้งที่มันเป็นรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ส่วนนี้ยังเป็นโลกอยู่ พระพุทธเจ้าถึงไม่ให้เราเอารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นเรา ถ้าเราเอารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นเรา เราก็จะมีสักกายะทิฏฐิมีตัวมีตนอยู่ มันแก้ปัญหาไม่ได้มีแต่จะสร้างปัญหา ใจของเราต้องสร้างพุทธะขึ้นมา ด้วยการเจริญสติคือความสงบ เจริญสัมปชัญญะเสียสละซึ่งตัวซึ่งตน เข้าสู่ภาวนาวิปัสสนาเพื่อไม่ให้สักกายะทิฏฐิตัวตนหรือโลกธรรมมันครอบงำพุทธะตัวผู้รู้ สละคืนทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน ทิฏฐิมันเป็นวิปัสสนูปกิเลสเป็นอวิชชาเป็นความหลง ที่มันเป็นกาม พระพุทธเจ้าถึงให้เราดำริออกจากกาม ดำริออกจากพยาบาท ด้วยการภาวนาติดต่อต่อเนื่อง ความหลงของเรานี้มันเป็นกามเป็นสิ่งเสพติด เราทุกคนจึงต้องหยุดกามหยุดสิ่งเสพติด ด้วยการภาวนาติดต่อต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ใจของเราไปจมอยู่ไปตรึกไปนึกไปคิด
สมัยทุกวันนี้โลกเจริญ เพราะหมู่มวลมนุษย์ได้พัฒนาวัตถุ เมื่อพัฒนาก็ยิ่งมีความอร่อย รูปมันก็อร่อย เสียงมันก็อร่อย กลิ่นรสสัมผัสถูกต้องมันก็อร่อย ทุกคนจะต้องรู้จักความอร่อย แล้วก็อย่าไปตรึกไปนึกไปคิด พากันรู้จักทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ด้วยการกลับมาหาสติคือความสงบกลับมาหาสัมปชัญญะคือตัวปัญญาที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เพื่อไม่ให้อวิชชาความหลงมันก่อภพก่อชาติ เราต้องพัฒนาใจคือพุทธะ ให้อาหารใจคือสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง
เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลเมื่อในฤดูกาลเข้าพรรษาก็อยู่จำพรรษา เมื่อออกพรรษาแล้วก็ออกจาริกธุดงค์ไปยังที่ต่างๆ เพื่อไม่ให้ติดที่อยู่ ไม่ให้ติดลาภสักการะ ถึงแม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปสภาพบ้านเมืองสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป เราอยู่ที่ไหนก็ต้องให้มีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ อย่าไปจาริกธุดงค์เพื่อทำมาหากิน รับเงินรับสตางค์ ขายเครื่องรางของขลัง เพราะเป็นความเสียหายมากของพระศาสนา ที่มาอาศัยพระศาสนาทำมาหากิน จึงอย่าพากันมาอาศัยพระศาสนาเสพกาม อย่าพากันมาอาศัยพระศาสนาหาเลี้ยงชีพ พระศาสนาเป็นของสูงส่ง จุดหมายก็เพื่อเข้าถึงความดับทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นวัดบ้านวัดป่าเถรวาทหินยานมหายานก็สามารถปฏิบัติได้เหมือนๆ กัน
เมื่อสมัย ๑๐๐ ปีก่อน การเดินธุดงค์ของเรา ก็เดินในป่าในเขามันสงบวิเวกดี แต่สมัยทุกวันนี้ไม่มีแล้ว ทุกท่านทุกคนต้องพากันมีปัญญา แล้วก็เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ถึงแม้สิ่งภายนอกมันไม่มีวิเวกก็ไม่เป็นไร ถ้าเรากลับมาหาตัวเอง กลับมาหาสติสัมปชัญญะ ทุกคนก็จะมีแต่ความสงบความวิเวก เราไม่ต้องไปหาความวิเวกที่ภายนอก แต่อยู่ที่เรามีสัมมาทิฏฐิ มาประพฤติปฏิบัติในปัจจุบันนี่แหละ เอาปัจจุบันเป็นการทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม ทุกคนก็ทำได้ปฏิบัติได้ถ้ารู้เรื่องการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราไม่รู้เรื่องการประพฤติปฏิบัติมันก็ไม่ได้ ถึงต้องมีสัมมาทิฏฐิมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง เราเดินธุดงค์บนถนนที่มีคนมีรถเยอะนั่นแหละ จะได้เจริญสติสัมปชัญญะให้ติดต่อต่อเนื่อง ในการปฏิบัติธรรมต้องมีสติสัมปชัญญะให้มันสมบูรณ์ในปัจจุบัน ถ้าเราอยู่วัด เราไม่มีโอกาสได้เดินติดต่อต่อเนื่องหลายๆ ชั่วโมง ถ้าเราเดินธุดงค์อย่างนี้โดยตั้งอธิษฐานไว้เราจะได้เจริญสติเจริญสัมปชัญญะติดต่อต่อเนื่องกันไป เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา
ความวิเวก คือ ความสงัด หรือ การปลีกออก หมายถึง ความปราศจากสิ่งที่มารบกวนให้เกิดความฟุ้งซ่านรำคาญ หรือการปลีกออกจากสิ่งที่เป็นข้าศึกของความสงบ มี ๓ ระดับ คือ
๑. กายวิเวก ความสงัดกาย หมายถึง การปลีกตัวออกจากหมู่คณะ ไปอยู่ในที่สงัด ปราศจากผู้คนพลุกพล่าน มีความสงบสงัดเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม
๒. จิตตวิเวก ความสงัดจิต หมายถึง การทำจิตให้สงบผ่องใส ปราศจากนิวรณ์ สังโยชน์ และอนุสัย เป็นต้น หมายเอาจิตของท่านผู้ได้บรรลุสมาบัติ 8 และอริยมรรค อริยผล
๓. อุปธิวิเวก ความสงัดจากอุปธิ ซึ่ง อุปธิ หมายถึง กิเลส ขันธ์ และอภิสังขาร ดังนั้น อุปธิวิเวก จึงหมายถึง พระนิพพาน
วิเวกในทางกายนั้น ไม่มีอะไรรบกวนในทางกาย ในภายในก็ไม่รบกวน คือร่างกายสบายดี ในภายนอกก็ไม่มีอะไรมากระทบกระทั่ง ไปหาโอกาสชิมมันดูเอง คนโบราณก็มาอยู่วัดเสียบ้าง วันอุโบสถ วันพระ มาถือศีลอยู่ที่วัดเสียบ้าง อย่างน้อยเขาก็ได้รับวิเวกในทางกาย ได้ศึกษามันจากจิตใจโดยตรง ถ้าเราไม่อาจจะมาอยู่วัด วันพระ ๘ ค่ำนี่ ที่บ้านก็ได้ ลองจัดให้บางวันมันวิเวกดูบ้าง อย่าให้มันคลุกคลี ชุลมุน สับสนวุ่นวายยิ่งขึ้นไปเสียอีก พอมีเวลาว่างแล้วก็ยิ่งจัดให้มันคลุกคลี โกลาหลวุ่นวายเสียอีก มีความโง่มากจนไม่มีโอกาสที่จะพบความวิเวก อย่างวันเกิดอย่างนี้ แทนที่จะพบความวิเวกบ้าง ก็ยิ่งจัดให้มันยุ่งเสียไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อฉลองอะไร ก็ฉลองในทางยุ่ง ไม่ฉลองด้วยความเงียบ จนไม่มีวันไหนเวลาไหนเหลืออยู่สำหรับวิเวกแม้แต่ทางกาย
ทีนี้วิเวกที่ ๒ คือวิเวกทางจิต นี้จะไม่พูดถึงทางกาย จะพูดกันในฝ่ายจิตล้วนๆ คือไม่มีความรู้สึกอะไรมารบกวนจิต ที่เขาเรียกว่า นิวรณ์ นิวรณ์นั้น แปลว่า สิ่งรบกวนจิต ปิดกั้นจิต ไม่ให้พบกับความสงบ กามฉันทะ ความรู้สึกที่มันดิ่งลงไปในทางกาม พยาบาท ความโกรธแค้น ขัดเคือง หงุดหงิดนั่นนี่อยู่ ถีนมิทธะ การที่จิตเพลีย อ่อนเพลีย ละเหี่ยละห้อย อุทธัจจกุกกุจจะ ความที่จิตมันฟุ้งขึ้นไปอย่างคึกคะนอง และ วิจิกิจฉา ความที่ไม่แน่ใจในสิ่งที่ควรจะแน่ใจ ที่เรียกว่า กามฉันทะ พอใจในสิ่งที่เรียกว่า กาม นี่ก็เริ่มมีขึ้นมาตั้งแต่เมื่อเริ่มรู้สึกในเวทนาที่มีรสอร่อยทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย สูงขึ้นมาตามลำดับจนถึงวัยเต็มที่ของความเป็นหนุ่มสาว แล้วก็ยากที่จะเหือดหายไป ฉะนั้นจึงรบกวนจิตบ่อย ทีนี้ พยาบาท นี่ ใช้คำว่า พยาบาท คำเดียว แต่หมายถึง ความไม่ชอบพอ ความขัดใจ คับแค้น อะไรทุกอย่าง โกรธง่ายแล้วก็ลืมยาก แล้วก็เอามาทบทวนความโกรธอยู่ในรูปของความอาฆาตพยาบาท ริษยา เคียดแค้น มันก็มารบกวนใจอยู่เสมอ ทีนี้ที่มันรบกวนต่อไปก็คือ ถีนมิทธะ ความที่จิตมันซบเซา แม้ที่สุดแต่ง่วงนอน อ่อนเพลีย มันก็มารบกวนอยู่บ่อยๆ ไม่มีความกระปรี้กระเปร่าเลย ถ้าไอ้ตัวนี้มันมาก นี้ถ้าว่าตัว อุทธัจจะกุกกุจจะ มา มันก็ฟุ้งซ่านเกินกว่าเหตุ ฟุ้งซ่านขนาดนอนไม่หลับ ฟุ้งซ่านขนาดที่เรียกว่าเหมือนจะเป็นบ้า มันก็มารบกวน ทีนี้ วิจิกิจฉา นี่ขอให้สังเกตด้วย ตัวหนังสือแปลว่า ลังเล ไม่แน่ใจ ไม่เชื่อ ไม่เชื่อทุกอย่างที่ทำให้เกิดความรางเลือน ลังเล อ่อนแอ ไม่เชื่อว่าเราจะปลอดภัย ไม่เชื่อว่าเราจะทำได้ ไม่เชื่อแม้วิชาความรู้ของเรา ไม่เชื่อในสิ่งที่เราเคารพนับถือ ไม่เชื่อบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ไม่เชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่เชื่อแม้แต่ตัวเอง ไม่เชื่อแม้แต่สมรรถภาพของตัวเอง มันไม่แน่ใจลงไปได้ มันทำให้เกิดความโลเล รวนเร ต้องไปสังเกตดูให้ดีว่ามันมี มีเมื่อไร มีที่ไหน มีอย่างไร ซึ่งเราก็เคยมีทั้งนั้นแหละแต่เราไม่สังเกต ยังแถมมีความทุกข์ด้วย ไอ้ความลังเลอย่างนี้
มันมีถึง ๕ อย่าง เป็นอย่างน้อยนะที่จะมารบกวนจิต พอสิ่งเหล่านี้มารบกวนจิต จิตก็ปราศจากความวิเวก คือความสงบสงัด ไม่ต้องมีอะไรมาโดยตรง มันคิดเอาก็ได้ คือจิตมันคิดย้อนหลังก็ได้ หรือจิตมันปล่อยไปอย่างไม่ควบคุม นี่มันก็มีความคิดความรู้สึกชนิดนี้เกิดขึ้นมารบกวนจิตเอง อย่าเห็นเป็นเรื่องในหนังสือหรือเป็นตัวหนังสือ ไปเห็นมันในชีวิตจริงๆ ตามธรรมดาประจำวันน่ะ มันมีสิ่งเหล่านี้รบกวนอยู่ เราก็ไม่รู้ไม่ชี้กับมัน ก็ปล่อยไปให้มันรบกวนโดยไม่คิดจะแก้ไข อย่างดีก็เพียงกลบเกลื่อน อันนี้เกิดขึ้นมาเหลือทนก็ไปกลบเกลื่อนอันโน้น อันโน้นเหลือทนก็ว่าไปกลบเกลื่อนอันอื่น แต่ที่ร้ายหรือเลวร้ายกว่านั้นก็คือว่า ยิ่งไปส่งเสริมมัน พอความรู้สึกทางกามารมณ์เกิดขึ้น แทนที่จะกลบเกลื่อนเสียหรือแก้ไขเสีย กลับไปส่งเสริมมันเข้า มันก็เลยงอกงามใหญ่ หรือพยาบาท ความอาฆาต ความริษยาอะไรเกิดขึ้น แทนที่จะกลบเกลื่อนมันเสีย ละมันเสีย กลับไปส่งเสริมมันเข้า ไปหาอะไรมาเตรียมพร้อมไว้สำหรับจะทำลายล้างกันอย่างนี้ อื่นๆ ก็เหมือนกันแหละ เช่น ง่วงนอนขึ้นมา แทนที่จะบังคับกันบ้าง ก็นอนมันเสีย ให้มันมากขึ้นไปอีก ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ก็ไม่รู้ไม่ชี้ ปล่อยให้มันหลงใหลในความฟุ้งซ่านมากยิ่งขึ้นไปอีก ความลังเลสงสัยนี่ก็ไม่เคยคิดแก้ไข อย่างเดียวกัน ความไม่แน่ใจมันก็มีเป็นนิสัยมากขึ้น จิตอย่างนี้ถูกรบกวนนานาประการ ก็เรียกว่ามันไม่มีวิเวกทางจิต จิตไม่สงัดจากสิ่งรบกวนทางจิต นี่ก็พอจะรู้ได้อีกเหมือนกันว่าเราจะเรียนจากหนังสือไม่ได้ เราต้องเรียนจากจิตใจจริงๆ จากที่มันเกิดขึ้นกับจิตใจจริงๆ จึงจะรู้จักมัน และจะไม่ชอบมัน แล้วก็ค่อยๆ อยากจะทำลาย หรือแก้ไข หรือล้างมันเสีย เดี๋ยวนี้เขาเรียนกันแต่ในหนังสือในกระดาษทั้งนั้น เรื่องอย่างที่กำลังพูดนี่ เรียนแต่ในกระดาษ ในหนังสือ ในคัมภีร์ รู้เรื่องความรบกวนทางจิตไว้ในลักษณะอย่างนี้ แล้วเปรียบเทียบดูว่ามันไม่ใช่เรื่องทางกาย อันโน้นมันกระทบกระทั่ง เบียดเบียน คลุกคลีในทางกาย อันนี้มันกระทบกระทั่งในระบบของจิต
ทีนี้มาถึงอันที่ ๓ ที่เรียกว่า อุปธิวิเวก แปลว่าสิ่งที่ยึดถือเอาไว้ แต่เป็นเรื่องทางจิตใจ หอบหิ้วเอาไว้ กอดรัดเอาไว้ เทิดทูลเอาไว้ เป็นเรื่องวัตถุ สังขาร ร่างกาย กามารมณ์ ตัวกู ตัวกู ร้ายกาจที่สุด คนโง่ชอบนักหนา บรมโง่ อย่างนี้เรียกว่า ไม่วิเวก คิดดู ถ้าถือก้อนหินเอาไว้ จิตมันจะสบายได้อย่างไร ที่จัดไว้อันหลังสุด เพราะมันร้ายกาจกว่า สองอันแรก รบกวนทางกายไม่เท่าไร รบกวนทางจิตก็ไม่เท่าไร แต่อุปธิวิเวกรบกวนตลอดเวลา ทุกวินาที เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง แต่ก็ไม่ค่อยรู้กันมากนัก ไม่ปรารถนาที่จะวิเวก วิเวกมันในหน้าที่มันเกี่ยวข้องกับคนทั่วไปธรรมดาสามัญ
วิเวกเมื่อใด มันก็เป็นสุขภาพทางจิตใจเมื่อนั้น ไม่ มีอะไรมารบกวนกาย สุขภาพกายก็ดี ไม่มีอะไรมารบกวนจิต สุขภาพจิตก็ดี พระอรหันต์ไม่มีสิ่งรบกวน ที่เรียกว่า วิเวก อาจจะมีของไปรบกวน คนไปรบกวน สัตว์ไปรบกวน แต่ก็เหมือนไม่รบกวน ทางจิตก็ไม่มีนิวรณ์ไปรบกวน ทางอุปธิ ก็ปล่อยวางหมดแล้ว พระอรหันต์ ท่านก็มีวิเวก ครบสมบูรณ์ นี่ก็เป็นเครื่องเปรียบเทียบ สำหรับให้เรารู้จักพระอรหันต์โดยถูกต้อง และเราก็ไม่ต้องอวดดีว่าจะเป็นพระอรหันต์กันเดี๋ยวนี้ ฉะนั้นควรเอาอย่างท่าน เพื่อสุขภาพอนามัย ที่จริงมันก็มีอยู่ตามสมควร แต่คนโง่มันมองไม่เห็น ถ้าไม่มีวิเวกเลย มันตายไปนานแล้ว มันเป็นบ้า เวลาที่ไม่มีอะไรรบกวนมันพอมี แม้แต่คนกิเลสหนา มันยังพอมี ไม่ใช่มีกิเลสทุกลมหายใจเข้าออก แม้นาทีเดียวก็ถือว่ามี แต่คนมันไม่สังเกตเห็น มันไม่สนใจ มันไปหาสิ่งมารบกวนอีก หาสิ่งที่มาช่วยประโลมใจ ไม่ให้ว่าง
เครื่องประโลมใจ ถ้ามันไปในทางที่ดี ก็ดีอยู่ แต่ถ้าไปในทางที่ไม่ดี ก็วินาศ มีธรรมะเป็นเครื่องประโลมใจ มันก็ดี มีกามารมณ์เครื่องประโลมใจ มันก็วินาศ มนุษย์ทั่วไปมันก็เครื่องประโลมใจ จึงเป็นปัจจัยที่จะดำรงชีวิตอยู่ด้วยเหมือนกัน จริงในบาลีมีแค่สี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย มันเป็นทางกาย แต่ทางฝ่ายจิตมันมีปัจจัย คือเครื่องประโลมใจ ถ้าไม่มีมันจะกระวนกระวายใจ มันไม่ปกติ ก็พูดให้คิด ให้นึก สวดมนต์ก็ได้ เรียนธรรมะก็ได้ มาประโลมใจ ธรรมะไม่เป็นอันตราย ให้เห็นภาพเหล่านั้น แล้วถูกต้อง พอใจ เป็นสุขภาพทางจิต ทางวิญญาณ เลยขอเรียกว่าเป็นปัจจัยที่ห้า ให้สบายใจ มีกำลังใจ รู้จักใช้ธรรมะเป็นเครื่องประโลมใจ ถ้าใช้กิเลสเป็นเครื่องประโลมใจ มันเขลา มันโง่ มันเป็นการทำลายวิเวก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุปธิวิเวก หรือแม้แต่จิตวิเวก พวกที่ชอบกินเหล้า มันก็เกลียดวิเวก กินเหล้าไปกระตุ้นให้ฟุ้งซ่าน มันก็เลิกไม่ได้ ไม่ยอมเลิก หรือสูบบุหรี่ คนสูบมันก็สบายใจ ให้สิ่งเสพติดมาประโลมใจ ละก็ไม่ได้ มันไม่ต้องการวิเวก ของเสพติดอื่นก็เหมือนกัน น้ำชา กาแฟ เราควรหาอิสรภาพ เสรีภาพ ไม่เป็นทาสต่อสิ่งใด นั่นแหละดี มีสิ่งใดเป็นนาย เหนืออยู่ มันก็ไม่วิเวก มันเป็นสิ่งที่ควรสร้าง แต่เขาไม่ยอมเข้าใจ ไม่ยอมทำความรู้สึก แม้ช่วงเวลาที่ว่างจากกิเลสมันก็มีบ้าง แต่มันไม่ยอมรับรสว่า มันประเสริฐอย่างไร
เราสังเกตดูดีๆ ว่า เมื่อใดที่เรารู้สึกสบายใจที่สุด เวลานั้นจะไม่มีอะไรรบกวนทางกาย จิต และอุปธิ แต่มันก็ผ่านไปโดยไม่มีใครรู้จัก แต่ก็พยายามไปหาโอกาสที่ไม่มีอะไรมารบกวน ไปชายทะเลบ้าง ไปภูเขาบ้าง แต่มันก็แค่ผิวๆ มันยังมีอุปธิ คือตัวกู ลากตัวกูไปเที่ยวทะเล ตัวกูมันไปด้วยเสมอ ไม่ว่าจะไปที่ไหน แต่ก็รู้สึกอยู่บ้าง ไปริมทะเล มันโล่งอกโล่งใจ ว่างบ้าง มีวิเวกบ้าง แต่ไม่รู้จัก ไม่สร้างมันให้มีตลอดเวลา ฉะนั้นมันเกี่ยวกับความพยายามที่จะสร้างขึ้นมา
ทีนี้มาพูดเรื่อง ธรรมะปฏิบัติที่จะให้บรรลุมรรคผลนิพพาน เรื่องนิพพานมันคือเรื่องว่าง สงบ วิเวก ศีลก็ทำให้วิเวก ปราศจากสิ่งรบกวนตามระดับของศีล สมาธิก็วิเวกตามระดับของสมาธิ มันจะพอมีตัวอย่างเล็กๆ ของวิเวกเข้ามา ถ้าเราพอใจที่จะมีมากขึ้นไปอีก พอใจ นั่นคือ ฉันทะ แล้วก็มี วิริยะ จิตตะ วิมังสา ตามหลักของอิทธิบาท ตามหลักศาสนาก็เป็นแบบนี้ แต่ไปเรียกว่า วิมุติบ้าง วิสุทธิ์บ้าง แต่ก็มีความหมายคล้ายกัน ไม่มีอะไรมารบกวน ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ ถ้ามองเห็นความว่างจะเข้าใจ ไม่ว่างมันบริสุทธิ์ไม่ได้ พระพุทธเจ้าบริสุทธิ์จากเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง ทีนี้การบวชเข้ามา เป็นโอกาสอันดีที่จะศึกษาเรื่องเหล่านี้ เมื่ออยู่ที่บ้าน นั้นยากที่ศึกษา ไม่มีโอกาส มีเวลาเล่นหัวคลุกคลีกันอยู่มาก เอาเวลาไปนั่งวิเวกบ้าง อย่าชอบหัวเราะ ชอบคลุกคลี ที่เป็นข้าศึกต่อวิเวก แต่เอาเถอะ มันยากที่จะไม่หัวเราะเลย แต่ให้ระมัดระวังให้ควบคุม อย่าทำลายความสงบ สงัด ของจิตใจ วิเวกของผู้ สันโดษ ถ้าได้ฟังธรรมะของพระอริยะเจ้า มีความเห็นธรรมะนั้น จึงเกิดความวิเวก แล้วเป็นสุข
ประโยชน์ของการมีวิเวก ๑. ทำให้สุขภาพจิตดี ไม่มีอะไรมารบกวนกายมันก็มีร่างกายที่สบาย ไม่มีอะไรมารบกวนจิตจิตมันก็ดี ไม่มีอะไรมาเป็นของหนักแก่จิตใจยึดมั่นถือมั่น มันก็ทำให้สุขภาพจิตดี
๒. ทำให้ได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน การปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรค ผล นิพพาน คือการทำให้ว่าง สงัด วิเวก ก็เรื่องเดียวกันนี่แหละ ศีลช่วยให้วิเวกไปตามระดับของศีล ปราศจากการรบกวนตามระดับของศีล สมาธิก็วิเวกไปตามระดับของสมาธิ ถ้าเป็นอุปธิวิเวกในระดับพระอรหันต์ก็จะไม่มีอะไรมารบกวนเลย
๓. วิเวกเป็นวัคซีนป้องกันโรคทางจิตใจ เคยคิดไหมว่า พูดอย่างนี้มันเหมือนกับชักจูงถอยหลังเข้าคลอง เป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปี ซึ่งคนโบราณต้องการ เขาชอบกันนัก ต้องการกายวิเวก จิตวิเวก แต่คนสมัยนี้ควรจะเห็นว่า มันโบร่ำโบราณโง่เง่าเต่าล้านปี แต่แท้จริงมันเป็นเรื่องที่สดใสแจ่มใส เยือกเย็นงดงามยิ่งนัก ในสมัยปัจจุบันนี้วัตถุเจริญมากมาย ขณะเดียวกันมีเรื่องชิงดีชิงเด่น แข่งกันใหญ่ ดูมันยุ่งๆวุ่นวายไปหมด นี่เป็นเพราะไม่มีวัคซีนทางใจ คือวิเวกเข้าช่วยนั่นเอง
๔. วิเวกทำให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ในเมื่อศึกษารู้เรื่องจิต ปล่อยวางจิต สิ่งที่ครอบงำถูกปลดปล่อยจากจิตใจ ไม่ยินดียินร้าย ไม่เป็นบวกเป็นลบ แม้ว่าจะต้องตายก็ไม่เป็นทุกข์ คนจบปริญญายาวเป็นหาง หากไม่ปล่อยวาง มีวิเวกก็คงบ้าตายไม่ต้องสงสัย ขอให้รู้ว่าสูงสุดของพระศาสนาอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเอาชนะอะไรไปเสียทุกอย่างในโลกได้ เป็นกฎของธรรมชาติที่ตายตัวเป็นอย่างยิ่งว่า ถ้าไม่รู้จักวิเวก หรือเป็นอิสระจากสิ่งรบกวนต่างๆ มันก็จมอยู่ในทุกข์ตลอดไป
๕. วิเวกเป็นไวพจน์ของนิพพาน เป็นคำแทนชื่อของพระนิพพานแปลว่า ดับเย็น วิเวกแปลว่าสงัดหรือเดี่ยวอย่างยิ่งถ้ามันมีอะไรรบกวนมันก็จะดับอยู่ในตัว สงบเย็นอยู่ในตัว ดังนั้นวิงวอนทุกคนว่า จงพยายามมีวิเวก ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องได้ใช้ต่อไปไม่ว่ายุคใดสมัยใดต่อไปในวันข้างหน้า
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตนคน อื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ เมื่อมีตนที่ฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่ได้โดยยากคือพระนิพพาน พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามีชัดเจนอยู่แล้ว เราเอาพระธรรมคำสอนนั่นแหละมาประพฤติปฏิบัติ เน้นลงที่ปัจจุบัน สิ่งภายนอกให้ทุกคนตัดออกให้หมด ทิ้งอดีตอนาคต สิ่งแวดล้อมต่างๆ เราก็ตัดออกไปให้เป็นศูนย์ มาโฟกัสที่ปัจจุบันขณะ เพื่อให้เป็นธรรมะล้วนๆ ปราศจากตัวตน จึงต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ กายจึงจะวิเวกได้ จิตจึงจะวิเวกได้ สงบระงับสังขารการปรุงแต่งทั้งหลายจึงจะเป็นอุปธิวิเวกได้ในที่สุด
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee