แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๒๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๕๔ ผู้มีความเพียรไม่พึงนอนมาก พึงปฏิบัติธรรมเครื่องตื่นอยู่ พึงละความเกียจคร้าน มายา ความร่าเริง ทั้งหลายทั้งปวง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้ทุกท่านทุกคนพากันปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมต้องปฏิบัติที่ใจ มีความเห็นให้ถูกต้องมีความเข้าใจให้ถูกต้องแล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง ด้วยความตั้งใจด้วยเจตนา ให้รู้จักการเวียนว่ายตายเกิด การเวียนว่ายตายเกิดมันมีได้เกิดได้ เกิดจากเรามีความเห็นไม่ถูกต้องเข้าใจไม่ถูกต้องและปฏิบัติไม่ถูกต้อง เราจะหยุดได้ก็ต้องหยุดด้วยการมีสติมีสัมปชัญญะ มีเครื่องอยู่คือสติ ความสงบ มีเครื่องอยู่คือสัมปชัญญะตัวปัญญา ปกติแล้วเรามีความเป็นอยู่ด้วยอวิชชาด้วยความหลง มีอาหารของใช้คือความหลง พระพุทธเจ้าจึงให้เราหยุดตัวเอง โดยมีสติรู้ตัวทั่วพร้อม เอาใจมาไว้กับตัวผู้รู้ เอาใจมาไว้กับพุทโธ หรือเอามาไว้กับอานาปานสติ พระพุทธเจ้าก็อยู่กับอานาปานสติ พระอรหันต์ก็อยู่กับอานาปานสติ สามัญชนที่ยังเป็นเสขบุคคลที่ยังพากันประพฤติปฏิบัติก็ต้องอยู่กับอานาปานสติ อยู่กับการภาวนา ด้วยวิปัสสนาภาวนาว่า หายใจเข้ามันก็ไม่เที่ยง หายใจออกมันก็ไม่เที่ยง หายใจเข้าก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน หายใจออกก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันเป็นธรรมเป็นสภาวะธรรม
ให้ใจของเรามีความสุขรู้ตื่นเบิกบาน เพื่อเราจะได้ละสิ่งที่เป็นอดีตไปทั้งหมด เพื่อจะได้ละอนาคตที่ยังมาไม่ถึงออกไปให้หมด ให้มองทุกอย่างเป็นของว่างเปล่าไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน รู้จักใจของเรา รู้จักอารมณ์ของเรา ใจของเราอารมณ์ของเรานั้นเมื่อมีความคิดผิดความเห็นผิดเข้าใจผิดเราก็พากันปฏิบัติผิด เมื่อมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องเราก็ปฏิบัติให้ถูกต้อง พระพุทธเจ้าท่านจึงให้เราดำริออกจากกาม ก็ได้แก่อวิชชาได้แก่ความหลงนี่แหละ
เราต้องเปลี่ยนฐานจิตใจด้วยความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ด้วยภาพประพฤติปฏิบัติ ถ้าวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ที่มาในพระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ที่มาในพระภิกขุปาฏิโมกข์ ๒๒๗ สิกขาบท นี้เป็นยานเพื่อจะให้ทุกท่านทุกคนเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพื่อดำริออกจากวัฏสงสาร เพื่อหยุดการเวียนว่ายตายเกิด
การประพฤติการปฏิบัติมันเป็นหน้าที่ของเราทุกๆ คน ต้องพากันปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง แทรกการปฏิบัติเพื่อการดำรงชีพทางกายไปพร้อมๆ กัน ด้วยการไม่ทำบาปทางใจ ไม่ทำบาปทางกาย ไม่ทำบาปทางวาจาทางกิริยามารยาท หมู่มวลมนุษย์จึงต้องปฏิบัติใจและกายไปพร้อมๆกัน กายคือรูปธรรม ใจคือนามธรรม หมู่มวลมนุษย์ทั้งหลายจะต้องพัฒนาใจกับพัฒนาวัตถุเทคโนโลยีที่ให้เราสะดวกสบายไปพร้อมๆ กัน เราเป็นมนุษย์เป็นผู้ที่ประเสริฐแล้ว เอาร่างกายที่ประเสริฐนี้เพื่อมาประพฤติปฏิบัติธรรมในปัจจุบัน กายของเราพระพุทธเจ้าก็ทรงสอนว่าเป็นแต่เพียงวัตถุ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็เป็นเพียงสภาวะธรรม รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณมันเกิดมีได้ก็เพราะเหตุปัจจัย เพราะอวิชชาความหลงที่ไม่มีสัมมาทิฏฐิ ที่มีความเห็นไม่ถูกต้องเข้าใจไม่ถูกต้องปฏิบัติไม่ถูกต้อง
เราจะมาเอารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณมาเป็นเราไม่ได้ ให้ทุกคนรู้จักธรรมะรู้จักสภาวะธรรม พัฒนาพุทธะภาวะให้เกิดขึ้นด้วยการมีสติมีสัมปชัญญะ ไม่วิ่งตามอวิชชาไม่วิ่งตามความหลง ไม่วิ่งตามนิมิตที่ผัสสะภายนอกกับผัสสะภายในกระทบกัน ให้ใจเราตั้งไว้กับพุทธะ รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เราต้องไม่ให้อาหารอวิชชาไม่ให้อาหารความหลง ด้วยการไม่ตรึกไม่นึกไม่คิด ด้วยการภาวนาวิปัสสนา ด้วยการเห็นภัยในวัฏสงสาร เพราะการทำตามอารมณ์ทำตามความคิดคือการเวียนว่ายตายเกิด ต้องภาวนาวิปัสสนาให้เห็นแจ่มแจ้งตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างนะไม่แน่ไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราทุกคนต้องกลับมาหาตัวผู้รู้มาอยู่กับวิหารธรรม เพื่อใจเราจะได้ชำนิชำนาญเป็นวสี เพื่อสร้างพุทธะด้วยการประพฤติปฏิบัติ เราไม่ไปตามความคิดไม่ไปตามผัสสะ กลับมามีสติรู้ตัวทั่วพร้อม มันก็สงบแล้ว ทุกคนกลับมาหาธรรมะคือพระนิพพานที่เป็นบ้านของใจที่เป็นพุทธะ ที่มีแต่สติมีแต่สัมปชัญญะ เป็นการกระทำที่สุดแห่งความดับทุกข์ แต่ก่อนเราทุกคนไม่รู้จัก ก็วิ่งตามอวิชชาวิ่งตามความหลงไปเรื่อยๆ ความหลงความเพลิดเพลินพระพุทธเจ้าให้พวกเรารู้นะ มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ให้มีการเวียนว่ายตายเกิด เราจึงต้องมาแก้ที่เหตุ โดยหลีกออกจากกาม หลีกออกจากพยาบาท
การนอนหลับของมนุษย์วันหนึ่งคืนหนึ่งประมาณสัก ๖ ชั่วโมงก็เพียงพอแล้ว อีก ๑๘ ชั่วโมง เป็นเวลาที่ทำงานและปฏิบัติธรรมไปพร้อมๆกัน การทำงานกับการปฏิบัติธรรมต้องไปพร้อมๆ กัน จะแยกกันไม่ได้ ให้เป็นอริยมรรคทางจิตใจ ทางกายก็ต้องไปพร้อมๆ กัน เราจะได้เอา ๒ อย่างมารวมกันเป็นสัมมาทิฏฐิเป็นสัมมาปฏิบัติไปพร้อมๆกัน ศีลสมาธิกับปัญญาต้องไปพร้อมๆ กัน ตั้งใจปฏิบัติสัมมาสมาธิความตั้งมั่น ทั้งปัญญาสัมมาทิฏฐิทำไปพร้อมๆ กัน เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เพราะสิ่งที่มีสิ่งต่อไปมันถึงมี
หมู่มวลมนุษย์กับทุกข์ได้ในปัจจุบัน ด้วยความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง พัฒนาทางใจทางวัตถุเพื่อเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม ปฏิบัติไปในธรรมตั้งมั่นไปในธรรม เอาธรรมวินัยเป็นการดำรงชีพดำรงชีวิตจนชั่วอายุขัยของทางร่างกาย ที่ปฏิบัติของเราคือความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ที่พึ่งที่แท้จริงคือพุทธะ ธัมมะ สังฆะ คือผู้ปฏิบัติเอาธรรมเอาวินัยเป็นที่ตั้ง สละเสียซึ่งตัวซึ่งตน ไม่มีตัวไม่มีตน มีแต่สติสัมปชัญญะ อดีตก็ไม่มี อนาคตก็ไม่มี ปัจจุบันก็ไม่มี สิ่งที่ปรากฏในปัจจุบันก็เป็นธรรมเป็นวินัย ไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน คืนวันที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงเป็นกลางวันกลางคืน เป็นการหมุนเวียนของโลก ร่างกายของเราเกิดแก่เจ็บตายนั้นเป็นการหมุนเวียนตามเหตุปัจจัย เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงมี เราก็ภาวนาว่านี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน นี้เป็นเพียงธาตุเพียงขันธ์เพียงอายตนะ จิตใจของเราต้องมีความสุขไม่ต้องไปมีความทุกข์อะไร เพราะเรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องไม่ต้องไปมีความทุกข์อะไร
ใจของเรามันโหยหากาม มันเหมือนต้นไม้ที่ต้องการน้ำต้องการปุ๋ยต้องการแสงแดดต้องการออกซิเจน มีความทุกข์มันเหี่ยวแห้งเหมือนฝนไม่ตก มีความแห้งแล้ง ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี จิตใจของเรามันก็โหยหาในกาม ตรึกในกาม มันก็ร้องในใจไปเรื่อย โอ๊ยๆ ในใจไปเรื่อย พระพุทธเจ้าถึงบอกให้เรารู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อย่าไปตรึกในกาม อย่าไปตรึกในพยาบาท ไม่ต้องให้อาหารเขา นี้เป็นกระบวนการเป็นกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาท ในการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์โลกทั้งหลาย ถ้าเราปล่อยให้ตัวเองตรึก ปล่อยให้ตัวเองนึก ปล่อยให้ตัวเองคิด นั่นคืออาหารของอวิชชาความหลง นั่นแหละคือการเวียนว่ายตายเกิดของเราทุกคน
ความเพียรชาคริยานุโยค เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องพากันรู้ว่า เป็นหน้าที่ของเรา ต้องมีฉันทะมีความพอใจในการประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะได้หยุดความหลงความเพลิดเพลินความประมาทของตัวเอง ด้วยเหตุด้วยปัจจัย เราทุกคนจะได้มีสติด้วยธรรมวินัย มีสัมปชัญญะด้วยธรรมวินัย บาปเก่าถึงจะหมดไป บาปใหม่ถึงจะเกิดขึ้นไม่ได้
“นิทฺทํ น พหุลีกเรยฺย ชาคริยํ ภเชยฺย อาตาปี ตนที มายํ หสฺสํ ขิฑฺฑํ เมถุนํ วิปฺปชเห สวิภูสํ.
ผู้มีความเพียรไม่พึงนอนมาก พึงปฏิบัติธรรมเครื่องตื่นอยู่ พึงละความเกียจคร้าน มายา ความร่าเริง การเล่น และเมถุนพร้อมทั้งเครื่องประดับเสีย”
คำว่า ความเพียร นั้น เป็นคุณอันพยุงจิตในการประกอบกิจ ไม่ให้ย่อท้อต่อการงานทั้งน้อยและใหญ่ จะเป็นการงานฝ่ายโลกก็ตาม งานปฏิบัติธรรมก็ตาม แต่งานจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความเพียร งานทุกอย่างต้องเพียรพยายามโดยอาศัยขันติ จึงจะสำเร็จประโยชน์ได้ตามความปรารถนา ก็ต้องไม่เห็นแก่นอนมากนัก เพราะเสพธรรมเครื่องตื่นอยู่เสมอที่เรียกว่า "ชาคริยานุโยค"
เมื่อบุคคลกระทำการงานได้ดังกล่าวแล้วโดยไม่ทอดทิ้ง หรือไม่วางธุระหน้าที่การงานอันนั้นกระทำให้ติดต่อกันไป ไม่ให้ขาดช่วงหรือขาดตอน เมื่อกระทำได้อย่างนั้น ผู้นั้นย่อมละความเกียจคร้าน อันเป็นเหตุแห่งการไม่กระทำงาน ที่มักอ้างว่า หนาวนัก ร้อนนัก แล้วไม่กระทำการงาน เมื่อละมายา คือความเจ้าเล่ห์ ความร่าเริง การเล่นและเมถุนพร้อมทั้งเครื่องประดับเสียได้ ผู้นั้น ย่อมประสบแต่ความสุข ความเจริญ ก้าวหน้าในหน้าที่และการงาน ไม่ต้องเดือดร้อนอีกต่อไป เพราะอาศัยความเพียรนั้นเอง ฉะนั้น ผู้เป็นนักปราชญ์ ควรมีสติ มีความประพฤติธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบ
ทุกท่านทุกคนถึงมีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ หมู่มวลมนุษย์เราถ้าเราได้นอนหลับถึง ๖ ชั่วโมง แล้วตื่นอยู่ ๑๘ ชั่วโมง เอาชีวิตมีมาประพฤติปฏิบัติธรรม เราจะไม่มีความทุกข์หรอก สิ่งเหล่านี้จะทำให้เย็นเป็น air condition เป็นความสงบอบอุ่น เป็นความสงบเย็นเป็นพระนิพพาน ทุกท่านทุกคนต้องมาประพฤติมาปฏิบัติ เพื่อทำประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ที่แต่ก่อนเราไม่ชอบ ก็เพราะเรายังเป็นมิจฉาทิฏฐิมีความเห็นผิด เราจึงไม่ชอบประพฤติไม่ชอบปฏิบัติธรรม มีความเห็นผิดเข้าใจผิดไม่รู้อริยสัจ ๔ น่ะ เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง พากันเวียนว่ายตายเกิด ธรรมะที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ได้มาบอกมาสอนเรา เป็นธรรมะที่ทุกคนต้องกลับมาหาความสงบอบอุ่น กลับมาหาความสงบเย็นเป็นพระนิพพาน เป็นความดับทุกข์ หยุดเผาตัวเองหยุดเผาผู้อื่น ด้วยความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง
ถามว่า “เราจะภาวนาไปถึงไหน เราถึงจะได้หยุดภาวนา” คำถามอย่างนี้คือคำถามของบุคคลที่ไม่รู้อริยสัจ ๔ เพราะยิ่งภาวนาก็ยิ่งมีความสุขยิ่งมีความดับทุกข์ ทุกท่านทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์ ผู้ที่เป็นพระพุทธเจ้านั้นเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ คือผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เมื่อท่านได้ปฏิบัติตัวเองจนได้เป็นพระพุทธเจ้าได้เป็นพระอรหันต์แล้ว เมื่อธาตุขันธ์ร่างกายยังไม่หมดอายุขัย ท่านก็เสียสละมีความสุขในการทำงานในการเสียสละ เพราะว่าพระพุทธเจ้าขี้เกียจขี้คร้านไม่เป็น พระอรหันต์ขี้เกียจขี้คร้านไม่เป็น
สิ่งที่มีในใจว่า เมื่อไหร่จะได้หยุดทำความเพียร ผู้ประพฤติผู้ปฏิบัติจะพากันรู้ด้วยตนเอง เพราะท่านเหล่านั้นไม่ได้เอารูปไปหาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นเราเป็นของๆ เรา ทุกท่านจะมีความสุขมีความดับทุกข์อยู่ตลอดกาลตลอดเวลา เรียกว่ายังไม่ละสังขาร ใจของท่านก็มีพระนิพพานอยู่แล้ว ท่านจะมีความตรึกนึกคิดได้อย่างไรว่า ความเพียรการประพฤติการปฏิบัติควรจะหยุด การประพฤติการปฏิบัตินั้นเป็นพุทธจิตสำหรับพระพุทธเจ้า สำหรับพระอรหันต์นั้นเป็นกิริยาจิต
ความสุขความสงบความดับทุกข์นั้น อยู่กับเราทุกคนทุกแห่ง ไม่ต้องไปหาที่ไหน ไม่ได้อยู่ใกล้อยู่ไกลหรอก อยู่ที่กายวาจาใจของเราในปัจจุบัน เมื่อเราทุกคนยังเป็นเสขะบุคคล ที่จะต้องประพฤติที่จะต้องปฏิบัติ เราต้องปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ ด้วยเจตนาด้วยความตั้งใจ ปรับตัวเข้าหาธรรมะเข้าหาเวลา นี้เป็นสิ่งที่รีบด่วน สิ่งสำคัญคนเรานี้ ความแก่เจ็บตายพลัดพราก ความหลงความอร่อย ที่มันก่อภพก่อชาติ เป็นตัวเป็นตนน่ะ ถ้าเราไม่ปรับตัวเข้าหาเวลาเข้าหาธรรมะ คิดว่าอย่างนี้ก็พอแล้ว ดีอยู่แล้ว สบายอยู่แล้ว นี่คือผู้ที่ไม่รู้อริยสัจ ๔ ไม่รู้ทุกข์ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ไม่รู้ความดับทุกข์ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ทุกคนไม่ต้องพากันหลง ไม่ต้องพากันก๋ากร่าง ที่มันครอบงำเราอยู่โดยกฎของธรรมชาติ นั่นคือความเกิดแก่เจ็บตายพลัดพราก เราอย่าไปคิดว่า ตายไปแล้วก็แล้วไป ชีวิตนี้จบลงเพียงการตายน่ะ เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่นี่ เราต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์เพื่ออยู่ดีกินดี เพื่อความสะดวกความสบายให้เต็มที่ เพื่อตัวเราเพื่อลูกเพื่อหลานญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลของเรา เราคิดเพียงเท่านี้มันไม่ได้นะ คิดอย่างนั้นมันเป็นเพียงวัตถุ เป็นไปเพื่อตัวเพื่อตน ไม่ใช่หนทางสายกลาง มันเป็นการสร้างภพสร้างชาติสร้างวัฏสงสาร พระพุทธเจ้าท่านให้เราใช้ทางวัตถุเพื่ออยู่สบาย แล้วให้เราพัฒนาทางใจไปพร้อมๆกัน จะได้เป็นทางสายกลาง เป็นคนรวยอย่างฉลาด เป็นคนรวยอย่างผู้มีปัญญา เพื่อส่งผลัดที่ดีให้ลูกให้หลานไปพร้อมๆ กัน
ทานที่เปื้อนนํ้าตามีอานิสงส์น้อย
คืนหนึ่งที่วัดพระเชตวัน มีเทวดาพวกสตุลลปกายิกา จำนวนมากไปเข้าเฝัาพระพุทธองค์ ต่างทูลถึงความเห็นของตนใน เรื่องการให้ทานซึ่งแตกต่างกัน บางองค์เห็นว่า เพราะความตระหนี่และความประมาทจึงให้ทานไม่ได้ บางคนเห็นว่าเพราะความกลัวว่าตัวเองจะหิวโซขาดแคลนไม่มีอะไรกินจึงตระหนี่และไม่ให้ทาน บางคนก็แนะนำวิธีให้ทานและชี้ตัวอย่างการให้ทานของสัตบุรุษ และมีเทวดาบางองค์อยากจะทราบว่า คำกล่าวแสดงความเห็นทั้งหลายนั้นของใครเป็นสุภาษิต พระพุทธองค์ตรัสว่า ล้วนแต่เป็นสุภาษิตโดยปริยาย และได้ประทานความเห็นในเรื่อง นี้ว่า “บุคคลใดประพฤติธรรม มีจิตใจสะอาด เลี้ยงดูภรรยา ของตน มีน้อยก็ให้น้อย ขณะที่บุคคลจำนวนแสนบูชา (ให้ทาน) ภิกษุจำนวนพัน หรือบริจาคทรัพย์เป็นพันกหาปณะ กระนั้น ก็เป็นบุญไม่ถึงหนึ่งในร้อยของบุคคลผู้ประพฤติธรรมและเลี้ยงดูภรรยาอย่างนั้น”
เทวดาองค์หนึ่งได้ฟังพระดำรัสดังนั้นก็สงลัยว่าเป็น เพราะเหตุใด? พระพุทธองค์จึงตรัสอีกว่า “คนพวกหนึ่ง ทำบาปกรรม ไม่ประพฤติธรรม ตีรันพัน แทงเขา ทำให้เขาทุกข์โศกแล้วให้ทาน ทานนั้นเรียกว่าทานเปื้อนน้ำตา (อสฺสุมุขา ทกฺขิณา) เป็นทานที่เกิดจากโทษทัณฑ์ (สทณฺฑา) จึงเป็นบุญเทียบส่วนไม่ได้กับทานของผู้ประพฤติธรรม ต่อให้ คนจำนวนแสน (ประเภทนั้น)ทำบุญให้ทานกับภิกษุจำนวนพัน หรือบริจาคทรัพย์เป็นพันกหาปณะ ก็เป็นบุญไม่ถึงหนึ่งในร้อยของผู้ประพฤติธรรม”
(ความหมายก็คือ การให้ทานนั้น ไมใช่วัดคุณค่าที่วัตถุทานและปริมาณของทาน แต่ดูจากผู้ให้ทานและสิ่งของที่ให้ทาน ว่ามีความบริสุทธิ์เพียงใด ถ้าผู้ให้ทานทำบาปกรรม ให้ทานจาก สิ่งของที่เกิดจากบาปกรรม ทานนั้นก็ไม่บริสุทธิ์ มีอานิสงส์สู้การแบ่งปันเล็กๆ น้อยๆ แม้ระหว่างคนในครอบครัวก็ยังไม่ได้)
เรื่องมีมานานแล้ว ก่อนสมัยพุทธกาล แต่เรื่องของท่านผู้นี้น่าจะเป็นตัวอย่างของคนที่ “กลับใจได้” มีเศรษฐีคนหนึ่ง รูปร่างไม่ค่อยหล่อเหลาสักเท่าไหร่ ว่ากันว่าแกตาเขข้าง เดินหลังค่อมนิดๆ อีกด้วย แถมบนศีรษะมี “ความลับ” พิเศษอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งช่างกัลบกเท่านั้นที่รู้ ท่านเศรษฐีคนนี้มีนามว่า อิลลีสะ มีทรัพย์สมบัติตกทอดมา ๗ ชั่วอายุคน ประมาณไม่ได้ว่ามีเท่าไร แต่แกเป็นคนขี้เหนียว ไม่เคยบริจาคเงินทำบุญทำทานแม้แต่บาทเดียว ตัวแกเองก็อยู่อย่างปอนๆ กินง่าย นอนง่าย ทำยังกับคนจน ไปไหนมาไหนไม่มี “มาด” มหาเศรษฐีเอาเลย
วันหนึ่ง อิลสีสะเศรษฐีเห็นชายคนหนึ่งนั่งดื่มสุราอยู่ มีปลาแห้งกินเป็นกับแกล้ม นึกอยากจะกินอย่างเขาบ้าง ก็ไม่กล้าซื้อสุรามาดื่ม เพราะกลัวเสียทรัพย์สู้อดใจมาหลายวัน ความอยากกินมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดอดใจไว้ไม่ไหว จึงแอบไปซื้อสุรามาขวดหนึ่ง ไม่ให้ใครรู้ กลัวเขาจะขอแบ่ง จึงออกไปนอกเมืองคนเดียว ยึดเอาพุ่มไม้พุ่มหนึ่ง ปลอดคน เป็นสถานที่นั่งดื่มสุราคนเดียวเงียบๆ
ขณะนั้นท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ว่ากันว่าเคยเป็นบรรพบุรุษของเศรษฐีขี้เหนียวมาในชาติก่อน เห็นว่า ลูกหลานของตนนั้นมันขี้เหนียวเหลือประมาณต้องการให้สำนึก จึงแปลงกายเป็นอิลสีสะเศรษฐีอีกคนหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระราชา (แน่นอนพระราชาในนิทานชาดกก็ต้องเป็นพระเจ้าพาราณสี พระนามว่า พรหมทัต) บอกถวายสมบัติทั้งปวงที่ตนมีให้แก่พระราชา
พระราชาทรงตกพระทัย อยู่ๆ เศรษฐีขี้เหนียวมามอบสมบัติให้ จึงไม่ยอมรับ รับสั่งว่าให้คิดดีๆ ก่อนท่านเศรษฐี อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจ แกก็ยังยืนกรานมอบถวายสมบัติเช่นเดิม พระราชาไม่ยอมรับ แกจึงทูลว่า ถ้าอย่างนั้นข้าพระพุทธเจ้าจะขนทรัพย์ทั้งหมดออกให้ทานแก่ยาจกวณิพกและคนทั่วไป
อิลลีสะเศรษฐี (ตัวปลอม) ไปคฤหาสน์ สั่งให้คนในบ้านเปิดคลังสมบัติ ขนออกมาบริจาคแก่ประชาชน ให้ป่าวประกาศทั่วเมืองว่า ท่านเศรษฐีจะบริจาคของทำทาน ขอให้มารับกันได้โดยทั่วหน้ากัน ประชาชนได้ยินข่าวก็พากันมา แรกๆ ก็ไม่แน่ใจว่าเศรษฐีขี้เหนียวจะทำจริง ครั้นเห็นว่าแกให้ทานจริงๆ ก็มารับข้าวของไปตามที่ตนต้องการ มากบ้าง น้อยบ้าง
ชายชาวบ้านนอกคนหนึ่ง ขนของที่ได้รับบริจาคใส่เกวียน ออกจากเมือง ปากก็พร่ำสรรเสริญความใจบุญสุนทานของเศรษฐี อวยพรให้อิลลีสะเศรษฐีมีอายุมั่นขวัญยืนตลอดทาง
อิลลีสะเศรษฐี (ตัวจริง) ได้ยินคนเอ่ยชื่อตัวเอง จึงลุกขึ้นจากพุ่มไม้ที่แอบนั่งดื่มสุราอยู่ มองไปเห็นข้าวของที่ชายคนนั้นบรรทุกเกวียนไป จำได้ว่าเป็นของตน จึงเข้าไปยื้อแย่งกลับคืน ถูกชายคนนั้นทุบต่อยเอาสะบักสะบอม แถมตะโกนใส่หน้าว่า “ไอ้นี่ ถ้าอยากได้ก็ไปรับเอาซีวะ ท่านอิลลีสะเศรษฐีกำลังให้ทานอยู่ มึงมาแย่งจากกูทำไม”
ได้ยินดังนั้น อิลสีละเศรษฐีตัวจริงก็ฉุกคิดได้ว่า มันคงต้องเกิดอะไรสักอย่างขึ้นแน่ๆ รีบวิ่งไปยังคฤหาสน์ของตน เห็นประชาชนยืนมุงส่งเสียงอึงมี่ จึงแหวกฝูงชนเข้าไปจะเข้าไปในบ้าน ถูกนายประตูห้ามไว้ จึงร้องตะโกนว่า“เฮ้ย ข้าคืออิลลีสะเศรษฐีเจ้าของบ้านนี้ ให้ข้าเข้าไป”
คนเฝ้าประตูตะคอกว่า “ไอ้นี่ อยากได้รับบริจาค ก็เจียมเนื้อเจียมตัวหน่อยสิ ไปเข้าคิวโน่น อย่าอ้างชื่อเจ้านายส่งเดช”
“ไม่ได้อ้างโว้ย ข้านี่แหละอิลลีสะ ทรัพย์สมบัติของข้า ใครถือสิทธิอะไรขนออกมาบริจาค”
“ไอ้นี่มันวอนเสียแล้ว” คนเฝ้าประตูชักโมโห จึงสั่งให้พรรคพวกรุมเตะต่อยจนสะบักสะบอม เฉดหัวออกจากบริเวณบ้าน เมื่อถูกไล่ออกจากบ้าน อิลลีสะเศรษฐีก็คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร ไปเฝ้าพระราชา ขอพระบารมีพระราชาเป็นที่พึ่ง ร้องว่ามีคนขนข้าวของของแกออกให้ทานโดยไม่ได้รับอนุญาต
พระราชาก็รับสั่งว่า “อ้าว ก็เมื่อกี้ท่านมาหา บอกว่าจะยกทรัพย์สมบัติให้ข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าไม่รับ ท่านบอกเองว่าจะบริจาค แล้วนี่มาร้องเสียดายภายหลัง ดีนะที่ข้าพเจ้าไม่ได้รับบริจาคจากท่านแต่แรก ไม่งั้นท่านก็จะมาทวงคืนอีก”
“ข้าพระพุทธเจ้ามิได้มาเฝ้า และมิได้บอกถวายทรัพย์สมบัติดังรับสั่งแต่ประการใด พระเจ้าข้า”
“อ้าว” พระราชาทรงอุทานขึ้น สงสัยจะมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นเสียแล้ว จึงรับสั่งให้คนไปเชิญคนที่กำลังบัญชาการขนทรัพย์ออกบริจาคอยู่เข้าไปเฝ้า
ปรากฏว่า คนที่ว่านี้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกันกับคนที่มาร้องทุกข์ไม่ผิดเพี้ยน จนพระราชาเองก็ไม่ทรงทราบว่าใครเป็นใคร รับสั่งถามว่า “ใครคืออิลลีสะ”
“ข้าพระพุทธเจ้าเอง พระเจ้าข้า” ทั้งสองคนกราบทูลพร้อมกัน
“ไม่จริง ข้าพระพุทธเจ้าเองต่างหาก ไอ้หมอนั่นพูดเท็จ” ตัวจริงกราบทูล
“ไม่จริง พระเจ้าข้า เจ้าตนนี้กล่าวตู่ ข้าพระพุทธเจ้าคืออิลลีสะเศรษฐีตัวจริง” ตัวปลอมกราบทูลบ้าง
“เอาล่ะๆ ไม่ต้องเถียงกัน ให้ใครไปรับภรรยาและบุตรเศรษฐีมา” พระราชารับสั่ง
เมื่อภรรยาและบุตรของเศรษฐีมาถึง ต่างก็พิศวงงงงวย ไม่สามารถบอกได้ว่าใครคือสามีและบิดาของพวกตน เพราะทั้งสองคนเหมือนกันยังกับแกะ อิลลีสะเศรษฐีตัวจริงนึกถึงทีเด็ดของตนได้ จึงกราบทูลให้รับสั่งนายช่างกัลบกมาตัดสิน พระอินทร์ในคราบของอิลลีสะตัวปลอมรู้ทันจึงเตรียมการไว้พร้อมสรรพ
ทีเด็ดที่ว่านี้ คือ อิลลีสะตัวจริงมี “ไฝ” เม็ดใหญ่อยู่กลางศีรษะ ช่างกัลบกประจำตัวเท่านั้นที่รู้ความลับ เมื่อช่างกัลบกได้เปิดศีรษะทั้งสองคน ตรวจสอบแล้วก็กราบทูลว่า “ขอเดชะ” ทั้งสองท่านหลังค่อม ทั้งสองท่านตาเขข้างหนึ่ง ทั้งสองท่านมีไฝเม็ดใหญ่ที่ศีรษะเหมือนกัน ข้าพระพุทธเจ้าไม่สามารถชี้บอกได้ว่าใครคืออิลลีสะเศรษฐีตัวจริง”
เท่านั้นแหละครับ อิลลีสะเศรษฐีตัวจริงเสียใจมาก ล้มฟุบสิ้นสติ พอฟื้นขึ้นมา พระอินทร์จึงคืนร่างแล้วกล่าวกับอิลลีสะเศรษฐีว่า “เราคือบรรพบุรุษของท่าน เราเห็นท่านตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เคยบริจาคทานแม้ข้าวทัพพีเดียว จึงได้มาตักเตือนท่าน ต่อไปนี้ท่านอย่าได้ตระหนี่ถี่เหนียว จงบริจาคทรัพย์ทำทาน รักษาศีลบ้าง” ขอคำมั่นสัญญาจากอิลลีสะเศรษฐี แล้วก็หายวับไปกับตา
ตั้งแต่นั้นมา อิลลีสะเศรษฐีก็กลายเป็นนิวอิลลีสะที่มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำบุญทำทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนาตามความสามารถ เป็นที่รักของคนทั้งหลายตลอดชีวิตแล...
ผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ จะได้ไม่เป็นมนุษย์สีดำสีเทา ต้องเป็นมนุษย์ที่ปรับใจเข้าหาธรรมะเข้าหาเวลา เห็นธรรมะเป็นของมีค่า เห็นเวลาเป็นของมีค่า ยิ่งกว่ามิจฉายิ่งกว่าความหลง เมื่อเราทุกคนมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ก็เป็นการสืบทอดต่อยอดความถูกต้อง สติสัมปชัญญะของเรามันจะได้สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป
ผู้ที่เป็นบรรพชิตนักบวช ก็จะได้ทำหน้าที่ของตัวเองด้วยภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ที่เป็นศีลสมาธิปัญญา สงบเย็นเป็นพระนิพพานในปัจจุบัน ผู้ที่เป็นฆราวาส ที่ต้องดูแลครอบครัวญาติพี่น้องวงศ์ตระกูลประเทศชาติพระศาสนา ประพฤติปฏิบัติในครอบครัวก็จะเป็นพระอริยเจ้าได้ ตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอนาคามี ทุกท่านทุกคนสามารถเป็นพระได้ ด้วยการมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ไม่มีใครยกเว้นทั้งนั้น เพราะความถูกต้องก็คือความถูกต้อง การปฏิบัติถูกต้องก็คือการปฏิบัติถูกต้อง เราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ได้บอกสอนด้วยพระธรรมที่ตรัสไว้ดีแล้ว ที่สมบูรณ์ทั้งอัตถะและพยัญชนะ เราไม่ต้องไปลังเลสงสัยอะไรในพระพุทธเจ้า ในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ในพระอริยสงฆ์ เมื่อเราทุกคนเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ก็จะประจักษ์แจ้งด้วยใจของตนเอง
เราทุกท่านทุกคนพากันคิดดูดีๆ เราไปที่ไหน ก็มีแต่คนเกิดคนแก่คนเจ็บคนตายคนพลัดพราก เราจะมาเอาอะไร จะมาเอาความเกิดความแก่ความแก่ความตายความพลัดพรากอย่างนั้นหรือ? ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัตินะ สติสัมปชัญญะของเราจะได้สมบูรณ์ เราทุกคนไม่ต้องไปกลัวความเกิดความแก่ความเจ็บความตายความพลัดพราก เพราะสิ่งเหล่านี้เองเอาพระนิพพานมาให้เรา ถ้าเราไม่มีความเกิดแก่เจ็บตายพราก เราจะเอาอะไรมาประพฤติปฏิบัติ ปัจจุบันถึงเป็นเกมส์เป็นไฟท์ ให้ทุกท่านทุกคนมีสติสัมปชัญญะที่เร็วที่ไวในปัจจุบัน ต้องปลงต้องวางของหนักที่เราแบกพาไปมาแล้วหลายพันหลายหมื่นหลายแสนหลายล้านชาติ เพราะว่าเมื่อเรามีอวิชชาความหลง มันก็เกิดแก่เจ็บตายพรากโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว เราต้องมีสติสัมปชัญญะ รู้จักอนิจจังว่ามันไม่แน่ไม่เที่ยง รู้จักความทุกข์ว่าอันนี้มันไม่ใช่ความอร่อยที่เราจะลงไปเรื่อย รู้จักอนัตตาที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน จิตใจของเราจะได้มีพระนิพพานในปัจจุบัน
ทุกท่านทุกคนเข้าใจธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ทั้ง ๕ อายตนะ ๑๒ ที่ให้เราได้ประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้ติดต่อต่อเนื่อง ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ให้ทำประโยชน์ตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่พึงประพฤติพึงปฏิบัติ สละเสียซึ่งวัฏสงสารที่ท่องเที่ยวมานาน ที่เวียนเกิดเวียนตายเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee