แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๕๓ วิปัสสนูปกิเลส สิ่งที่เป็นเหตุให้ไม่เห็นแจ่มแจ้งตามความเป็นจริงของวิปัสสนา
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธเจ้าให้เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง เห็นภัยในวัฏสงสาร เพื่อจะได้หยุดกรรมหยุดเวรของตัวเอง หยุดสร้างกรรมใหม่ ท่านถึงให้เราดำริออกจากกาม กามนี้คืออวิชชาคือความหลง ไม่เอาใจไปไว้ที่นั่น ไม่ตรึกไม่นึกไม่คิด ให้เราเห็นภัยในวัฏสงสาร เพื่อไม่ให้เมล็ดพันธุ์มันปลูกมันฝัง เพื่อเราจะไม่ได้ให้น้ำให้ปุ๋ยการดูแลอุปถัมภ์อุปัฏฐาก เพราะธรรมะทั้งหลายทั้งปวงเกิด เพราะเหตุเพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงมีได้ เราจะปล่อยให้ไปตรึกไปนึกไปคิดไปตั้งไว้กับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เด็ดขาด คนเราน่ะตรึกยังไงคิดยังไง มันก็ย่อมเป็นเช่นนั้น เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันต้องมีแน่นอน พระพุทธเจ้าจึงให้เรารู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นต้นเหตุ เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้เป็นเบื้องต้นที่เราหยุด เหมือนหยุดลมหายใจของตนเอง stop ลมหายใจของตัวเอง เราไม่ต้องมีความสัมพันธ์ไปตรึกไปนึกไปคิด นั่นคือมีเพศสัมพันธ์ทางจิตใจ ใจของเราทุกคนที่ยังไม่รู้อริยสัจ ๔ ยังไม่เข้าใจพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึงไม่รู้แนวทางไม่รู้หลักการประพฤติปฏิบัติทางจิตใจ เพราะได้พากันเอาอวิชชาเอาความหลงเป็นที่ตั้ง พากันหมกมุ่นในอวิชชาในความหลง เพราะยังมีความเห็นผิดเข้าใจผิด ใจของเรากับตัวผู้รู้มันเป็นอันเดียวกัน แต่ความรู้นั้นยังเป็นอวิชชายังเป็นความหลง เราจะออกจากความหลงออกจากอวิชชาได้ ก็ต้องตามพระพุทธเจ้า ถือพระพุทธเจ้าเป็นหลักเป็นที่ตั้ง ถือนิสัยของพระพุทธเจ้า ไม่ถือนิสัยของตัวเอง หยุดตัวเอง เราถึงจะหยุดกรรมของตัวเองได้ ต้องอาศัยยาน ยานคือความตั้งใจตั้งเจตนาว่า เราต้องหยุดตัวเอง เป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ในสังสารวัฏที่ทุกคนเวียนว่ายตายเกิด เราจะปล่อยให้ตัวเองปักใจอยู่กับกามที่มันเป็นพลังงานแห่งความหลงแห่งอวิชชานั้นไม่ได้ พระพุทธเจ้าบอกสอนให้เราปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องในทุกๆ อิริยาบถ ให้เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างน้อย ๗ วัน อย่างกลาง ๗ เดือน อย่างนาน ๗ ปี จิตใจของเราก็จะเปลี่ยนแปลงตามเหตุตามปัจจัย เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ พรหมจรรย์นี้หมายถึงหยุดกรรมเก่าไม่สร้างกรรมใหม่ ให้มันเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม เป็นชาคริยานุโยค เป็นผู้ที่มีพุทธะผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานในปัจจุบัน ศีลกับสมาธิปัญญาก็จะทำงานไปเรื่อยๆ นี่คือการอบรมระบบอินทรีย์ของชาวพุทธของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่ว่าท่านผู้นั้นจะเป็นนักบวชเป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน
คนเราน่ะ เอาตัวตนเป็นที่ตั้งมันไม่ได้ นั่นคือการเวียนว่ายตายเกิด เราจะเดินทางไกลต้องใช้เครื่องบิน บินสู่ท้องฟ้าข้ามภูเขาข้ามทะเลข้ามมหาสมุทร เราจะหยุดวัฏสงสาร ก็ต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ การเดินทางนั้นคือดำริออกจากกามจากพยาบาท มันคืออย่างเดียวกัน กามก็คือความพอใจ พยาบาทก็คือความไม่พอใจ ความพอใจไม่พอใจมันเป็นบ้านเป็นที่พักของอวิชชาของความหลง มันปลูกบ้านสร้างเรือนนี่ไม่ใช่ความสุขมันเป็นความทุกข์เป็นความหลง เราทุกคนยังไม่เข้าใจเห็นว่าอวิชชาเห็นว่าตัวตนนั้นคือความสุข จึงได้พากันตรึกพากันนึกพากันคิดต้องการสิเน่หา พากันหมกมุ่นอยู่ในกามในพยาบาท นั้นคือสิ่งเดียวกัน
ทุกท่านทุกคนต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เราจะได้ใช้ทรัพยากรแห่งความเป็นมนุษย์เอามาประพฤติมาปฏิบัติธรรม เราจะได้ใช้วัตถุให้ถูกต้อง อย่าให้วัตถุนั้นเอามาทำลายตัวเอง มาประหัตประหารตัวเอง ด้วยการทำลายพุทธะ ด้วยไปตรึกไปนึกไปคิด พากันจมอยู่ พากันสร้างบ้านสร้างเรือนสร้างวัฏสงสารให้กับตัวเอง ผู้ที่มาบวช แต่ใจไม่ได้พากันบวช บวชแต่กายแต่ใจไม่ได้บวช การบรรลุธรรมก็ไม่ได้มี มีแต่บรรลุตัวตน ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจนะ อย่าปล่อยให้ตัวเองนึกตัวเองคิด
ชีวิตของเราทุกคนที่เป็นนักบวชพากันมาบวชแต่เพียงร่างกายนั้น มันไม่ได้ ปล่อยให้ใจของตัวเองยังมีลูกมีเมีย การที่เอาร่างกายเป็นเรา เอารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นเรา เรียกว่ายังมีลูกมีเมียอยู่ เพราะรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณพระพุทธเจ้าถือว่ายังเป็นวัตถุ ยังเป็นธาตุยังเป็นขันธ์ ยังเป็นอายตนะภายใน มันยังเป็นสักกายทิฏฐิ เป็นตัวเป็นตนอยู่ พระพุทธเจ้าท่านบอกเราว่ารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณนั้นไม่ใช่เรา เป็นเพียงวัตถุที่เกิดจากเหตุจากปัจจัยเกิดจากอวิชชาความหลง ที่มันเป็นกรรมเป็นอวิชชาความหลง เราทุกคนต้องหยุดอวิชชาหยุดความหลง ที่มันเป็นกามเป็นพยาบาท มันเป็นผู้ที่สร้างบ้านสร้างเมืองสร้างวัฏสงสาร ใจของเราถูกต้องไม่ตรึกในกาม ไม่หมกมุ่นในกาม ไม่แช่เย็นแช่แข็งในกาม
ให้ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลายยกทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นธาตุเป็นขันธ์เป็นอายตนะเข้าสู่ไตรลักษณ์ ทุกอย่างเป็นอนิจจังคือความไม่แน่ไม่เที่ยง ทุกอย่างเราไปตรึกไปนึกไปคิดไปจมอยู่ จะทำให้เราเวียนว่ายตายเกิด มีความทุกข์หรือความเกิดความแก่ความตายความพลัดพรากอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เราต้องพากันหยุดตรึกหยุดนึกหยุดคิด ต้องดำริออกจากกามออกจากพยาบาท เราทุกคนมันหมกมุ่นอยู่ในความเป็นตัวเป็นตน มันถึงได้พากันทำบาป เพราะไม่มีพุทธะ ไม่มีความเห็นถูกต้อง เห็นความถูกต้องเป็นความไม่ถูกต้อง ยังไม่รู้จักอริยสัจ ๔ เลย เรามองดูตัวอย่างเห็นตัวอย่างที่นั่งสมาธิทำไมมันโงกง่วง ก็เพราะมันเอาใจไปหมกมุ่นอยู่ในตัวอยู่ในตนอยู่ในกาม คนเราเอาใจไปไว้ยังไง มันก็ไปอยู่อย่างนั้น ท่านถึงไม่ให้เราอยู่ในตัวในตน เอาใจไปหมกมุ่นอยู่อย่างนั้น ในใจของเราพระพุทธเจ้าถึงไม่ให้หมกมุ่นอยู่ในตัวในตน เพราะมันคืออวิชชาความหลง ต้องยกใจขึ้นสู่ธรรมะ ให้เข้าใจกายก็ส่วนหนึ่งใจก็ส่วนหนึ่ง รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็ส่วนหนึ่ง รูปเวทนาสัญญาณสังขารวิญญาณก็คือวัตถุ ตัวผู้รู้คือพุทธะคือธรรมะวินัย ถ้าเรามีตัวมีตนหรือเราหมกมุ่นในกาม ก็เป็นผู้แบกอวิชชาแบกความหลง เป็นผู้แบกของหนักพาไป เราถึงมีความรู้สึกว่าความเกิดความแก่ความเจ็บความตายความพลัดพรากเป็นเรา ความคิดนี้เป็นความคิดเห็นผิดเข้าใจผิด ใจของเราถึงเวียนว่ายตายเกิดตลอด เลยไม่ได้ยกใจออกจากตัวออกจากตนออกจากกาม กามนั้นคือตัวคือตน คือดีใจเสียใจคืออารมณ์คือเจ้าอารมณ์คือความปรุงแต่ง พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าความปรุงแต่งนั้นเป็นทุกข์ในโลก การมาสงบสังขารคือความดับทุกข์ทางจิตใจ
เราต้องพากันประพฤติปฏิบัติไปให้ติดต่อต่อเนื่อง อานาปานสติเป็นบ้านเป็นที่อยู่ของใจ ให้ทุกคนกลับมาสู่อานาปานสติเราจะได้สละเสียซึ่งอดีตอนาคต มาอยู่กับพระวินัย มาอยู่กับสุญญตาอยู่กับความว่าง ว่างจากตัวตน มีสติสัมปชัญญะด้วยธรรมะคือวินัย การประพฤติปฏิบัติอย่างนี้คือการอบรมบ่มอินทรีย์ติดต่อต่อเนื่อง เพราะรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ สิ่งเหล่านี้ครอบงำใจที่มีพุทธะไม่ได้ เพราะเราไม่ตรึกไม่นึกไม่คิดไม่จมอยู่ในกามไม่จมอยู่ในพยาบาท ทุกคนก็จะเข้าถึงธรรมเข้าถึงปัจจุบันธรรมไปเรื่อยๆ ศีลสมาธิปัญญาก็จะทำงานไปเรื่อยๆ โดยอัตโนมัติ สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ถึงมีอยู่ในผู้ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องตามอริยมรรคมีองค์ ๘
ทุกท่านทุกคนต้องเดินตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคือธรรมะ ธรรมะคือพระพุทธเจ้า ไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาในปัจจุบัน ศีลสมาธิปัญญาถึงเป็นความสงบหยุดการเวียนว่ายตายเกิด ทุกท่านทุกคนจะพากันมาเอาอะไร เพราะทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นก็ผ่านไปผ่านมา แต่เพราะอวิชชาความหลงจะพากันมาเอามามีมาเป็น สิ่งเหล่านี้มันถึงเป็นโลกธรรม คือมันเป็นโรคของทางจิตทางใจ มันเป็นโรคของความหลง เราเป็นโรคทางกายที่ว่าเจ็บป่วยไข้ไม่สบาย เป็นโรคทางใจคือโรคแห่งความหลง หลงในตัวหลงในตน หลงในกามหมกมุ่นในกาม เราพากันคิดดูดีๆ การก่อไฟด้วยไม้ ถ้าไม้มันอยู่ในน้ำ มันก็จะไหม้ได้ไหม เพราะมันจมอยู่ในน้ำ มันเป็นไปไม่ได้
ทุกท่านทุกคนต้องมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ คนเรามันจะตายจากภพจากชาตินี้มันมีทุกข์นะ มีทุกข์ใจนะ มันเหี่ยวแห้ง ๗ ปี ๗ เดือน เพราะมันไม่มีฝนน่ะ เพราะเราไม่รู้จักอริยสัจ ๔ พากันเหี่ยวแห้ง ไม่ได้ตรึกในกามไม่ได้คิดในกามนั่นแหละมันเหี่ยวแห้ง ผู้มาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย มองดูหน้าเหมือนพากันเป็นทุกข์ เพราะไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ไม่มีเอกัคคตารมณ์ ไม่หยุดตรึกหยุดคิดในกาม ท่านถึงบอกว่าไม่ตรึกไม่นึกไม่คิดยังไม่พอ เราต้องเผาด้วยปัญญาว่าทุกอย่างนั้นไม่แน่ไม่เที่ยง เราจะเอาความหลงเป็นที่ตั้งไม่ได้ เพราะทุกอย่างนั้นมันมีตัวมีตนพากันเวียนว่ายตายเกิด ต้องยกใจขึ้นสู่ปัญญา เราเอาสมาธิอย่างเดียวนั้นไม่พอ ความสงบกับปัญญาต้องไปพร้อมๆ กัน พระพุทธเจ้าก็เป็นลูกหลานของพราหมณ์ พราหมณ์ก็มีแค่ความสงบ ต้องเอาปัญญามาประพฤติมาปฏิบัติ เอาปัญญากับสมาธิไปพร้อมๆ กัน
พระพุทธเจ้าบอกถึงผู้ที่บวชมาให้พิจารณากรรมฐานพิจารณาสู่พระไตรลักษณ์ เพื่อแยกกาย เวทนา จิต ธรรม สู่พระไตรลักษณ์ ถ้าเราทำอย่างนี้ติดต่อต่อเนื่องเอาใจมาอยู่อย่างนี้ นานๆ ไปพุทธะภาวะก็จะเจริญงอกงาม แต่ที่ไหนได้ ใจไปหมกมุ่นอยู่ในกาม ใจไม่ได้พากันมาบวชเลย เพราะเห็นผิดเข้าใจผิด เอาใจมาวางไว้ในพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ที่มาในพระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เอามาวางไว้ในพระวินัย ๒๒๗ ข้อสำหรับพระภิกษุ ถ้าเรามีความเห็นผิดเข้าใจผิดเอาใจของเรามาวางไว้กับตัวกับตนวางใจไว้ในกาม นี้มันเป็นวิปัสสนูปกิเลส ไม่ใช่วิปัสสนา
วิปัสสนูปกิเลส คือ สิ่งที่ทำให้วิปัสสนาหม่นหมอง ทำให้วิปัสสนาเสื่อมไปเพราะผู้ปฏิบัติธรรมที่พบเห็นสิ่งเหล่านี้อาจสำคัญผิดว่าแสงสว่างเป็นต้น คือพระนิพพานแล้วหยุดปฏิบัติ หรือแม้จะไม่สำคัญผิดอย่างนั้นก็อาจยินดีพอใจ ส่งผลให้การเจริญสติขาดช่วงและความก้าวหน้าลดลง แต่ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมเข้าใจว่าเป็นเพียงทางผ่านเหมือนป้ายบอกทาง แล้วกำหนดรู้ตามความเป็นจริง แสงสว่างเป็นต้นก็ไม่อาจทำให้วิปัสสนาเสื่อมไป
สิ่งที่ทำให้วิปัสสนาหม่นหมอง ๑๐ ประการ ย่อมเกิดขึ้น ดังคัมภีร์วิสุทธิมรรคกล่าวถึงบุคคลผู้เกิดหรือไม่เกิดวิปัสสนูปกิเลสนี้ว่า "โดยแท้จริงแล้ว วิปัสสนูปกิเลสจะไม่เกิดขึ้นแก่ - พระอริยสาวกผู้บรรลุปฏิเวธแล้ว - ผู้ปฏิบัติผิด - ผู้ละทิ้งกรรมฐาน - ผู้เกียจคร้าน แต่จะเกิดขึ้นแก่กุลบุตรผู้ปฏิบัติชอบ พากเพียรไม่ท้อถอย ผู้เริ่มปรารภวิปัสสนาแล้วเท่านั้น" วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ได้แก่
๑. โอภาส - แสงหรือภาพ เห็นแสงสว่างสุกใสหรือนิมิต เห็นแสงต่างๆ ภาพต่างๆ เห็นแสงสว่างรอบๆ สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น พระพุทธรูปที่เป็นกสิณ หรือเห็นเจิดจ้าสว่างไสวไปทั่ว หรือแสงออกจากร่างกายตน รูปนิมิตต่างๆ แล้วไปน้อมเชื่อด้วยอธิโมกข์อย่างเป็นจริงเป็นจัง ว่าเป็นจริงอย่างนั้นจริงแท้แน่นอน
ซึ่งความจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นอันเป็นปกติตามธรรมชาติของจิตเมื่อเป็นฌานสมาธิโดยเฉพาะในระยะแรกๆ แต่เมื่อผู้ปฏิบัติเข้าใจผิดไปน้อมเชื่อในความตื่นตา ตื่นใจ จึงน้อมคิดปรุงแต่งไปต่างๆ นานา ว่าเป็นบุญ อิทธิปาฏิหาริย์ อันตื่นตาตื่นใจ ไปยึดมั่นหมายมั่นพึงพอใจหรือน้อมเชื่ออย่างรุนแรงด้วยความไม่รู้ตามความเป็นจริง ว่าโอภาสหรือนิมิตต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นด้วยอวิชชา จึงทําให้ติดเพลิน (นันทิ-อันคือตัณหา) เมื่อเกิดนันทิอันคือตัณหา ย่อมเกิดอุปาทาน ภพ (รูปภพ) ชาติ คือการเกิดขึ้นของกองทุกข์ตามมาโดยไม่รู้ตัว และเกิดความคิดนึกปรุงแต่งต่างๆนานา ไปทางฤทธิ์ ทางเดช ทางบุญ ทางกุศลโดยไม่รู้ตัว ทำให้เกิดอาการที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่า ติดนิมิต
๒. ปีติ - ความอิ่มใจ ความอิ่มเอิบ ซาบซ่าน อันเกิดขึ้นทั้งต่อกายและใจอันได้จากการปฏิบัติสมถะหรือสมาธิ ปีติมีอยู่ ๕ แบบซึ่งก่อให้เกิดความอัศจรรย์ ความสุข ความสบาย ความพิศวง พึงพอใจ หรือลุ่มหลง แปลกใจ ทําให้หลงใหลอยู่ในเวทนาของสังขารขันธ์ชนิดนี้ว่าเป็นของดีของวิเศษ โดยลืมตัวเพราะอวิชชาความไม่รู้ ความจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติธรรมดาๆ อันพึงเกิดแก่ผู้ปฏิบัติถูกต้องทั่วๆ ไปเป็นธรรมดา เป็นเพียงแค่ทางผ่านของฌานสมาธิ แต่เพราะอวิชชาความไม่รู้ จึงเกิดการติดเพลิน ไปยึดไปอยากด้วยอธิโมกข์ ทำให้เกิดอาการที่เรียกกันว่า ติดปีติ กล่าวคือ มีอาการจิตส่งไปภายในตน ไปคอยจ้องเสพความอิ่มเอิบต่างๆ อยู่เนืองๆ ทั้งโดยรู้ตัวและที่สำคัญยิ่งก็คือโดยไม่รู้ตัว
๓. ญาณ - ความรู้หรือปัญญา แต่ญาณในวิปัสสนูปกิเลสหมายถึงเป็นมิจฉาญาณนั่นเอง คือเป็นความรู้หรือความเข้าใจแบบผิดๆ เป็นเพียงความรู้สึกว่าตนเองมีภูมิรู้ภูมิธรรมหรือความรู้ความเข้าใจสิ่งต่างๆ หรือธรรมต่างๆ แจ่มแจ้งดีแล้ว ถูกต้องถ่องแท้แล้ว หรือเกิดแต่นามนิมิต (ความคิดหรือความรู้ที่ผุดแสดงขึ้นในใจ อันเกิดแต่ใจหรือสัญญาของนักปฏิบัติเป็นสำคัญ มิได้เกิดแต่ปัญญาหรือเป็นไปตามหลักเหตุผล) เสียงนิมิต (เสียงที่ผุดขึ้นได้ยินแต่นักปฏิบัติ อันเกิดแต่ใจหรือสัญญาของนักปฏิบัติเป็นสำคัญ) แต่เกิดแต่ความเข้าไม่ถูกต้องหรือมิจฉาญาณ แล้วน้อมเชื่อด้วยอธิโมกข์
ดังนั้นเมื่อคิดว่ามีความรู้ความเข้าใจจากมิจฉาญาณดังกล่าว จึงทำให้เข้าใจผิด หรือหยุดการพิจารณาด้วยปัญญาเสียกลางคัน ก่อนที่จะไปถึงจุดหมายด้วยคิดว่าเข้าใจดีถูกต้องแล้ว หรือคิดว่าได้มรรคผลใดแล้ว จึงทําให้เกิดทิฏฐิ ไม่รับฟังความคิดความเห็นจากผู้รู้หรือผู้อื่นที่แนะนําข้อผิดพลาดได้ เพราะหลงคิดและเข้าใจไปว่าตนเองเข้าใจถูกต้องแล้วอย่างแรงกล้าด้วยอธิโมกข์ จึงเกิดการออกนอกลู่นอกทางเป็นโทษโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา ทำให้เกิดอาการติดผู้รู้ หรือมิจฉาญาณ คือยึดมั่นเชื่อถือในความเชื่อหรือปัญญาที่เกิดขึ้นอย่างผิดๆ ขาดปัญญา และเป็นอย่างงมงายถอนตัวไม่ขึ้น
๔. ปัสสัทธิ - ความสงบกายและจิต จึงเกิดอาการที่เรียกกันว่า ติดสงบ มีความรู้สึกสงบกาย สงบใจ อันเนื่องจากจิตเป็นสมาธิหรือฌาน จิตย่อมไม่ส่งส่ายออกไปปรุงแต่งให้เกิดการผัสสะกับสิ่งต่างๆ นานา ให้เกิดเวทนาต่างๆ ขึ้น จึงย่อมเกิดการผ่อนคลายทั้งกายและใจ จึงไม่ทุกข์ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กระวนกระวาย อันเป็นไปตามหลักเหตุและผล หรือเหตุปัจจัยอันย่อมต้องเกิดขึ้นเช่นนี้เป็นธรรมดา แต่ไปติดอยู่ในความสงบสบายเหล่านั้นด้วยเข้าใจผิดว่าสมบูรณ์ดีแล้ว ทําให้หยุดการปฏิบัติด้วยคิดว่า สงบกาย สงบใจดีแล้ว พอใจแล้ว พอพ้นทุกข์แล้ว หรือมีปัญญาแค่นี้ จึงจมแช่อยู่เยี่ยงนั้น ทําให้ตัดทอนโอกาสอันดีงามในการก้าวต่อไปข้างหน้า เกิดการหยุดชงักงัน ไม่ภาวนาให้เจริญต่อไป
กลายเป็นการติดเพลินจมแช่อยู่ในความสงบ ซึ่งในบางครั้งเกิดจากการจดจ้อง จดจ่อ คือหมกมุ่นหรือแช่นิ่งอยู่กับความสงบที่เกิดขึ้นในกายหรือในจิตตน หรือก็คืออาการจิตส่งในอย่างหนึ่งนั่นเอง จนไม่สังเกตุรู้สภาวะรอบข้างใดๆอย่างมีสติเท่าที่ควร และทำให้ธาตุขันธ์แปรปรวน เป็นผลของฌานสมาธิอันไม่เที่ยง ซึ่งมีการแปรปรวนเป็นธรรมดา เกิดการครอบงําโดยไม่รู้ตัวด้วยอวิชชา ที่คิดว่าดีแล้ว ถูกแล้วจนขาดการพิจารณา
อาการนี้มักเป็นมากในผู้ที่ปฏิบัติไปในทางมิจฉาสมาธิต่างๆ เช่น นั่งเอาแต่ในความสงบ หรือสวดมนต์หรือบริกรรมซ้ำซ้อนยาวนานแต่อย่างเดียว แต่ขาดการเจริญปัญญา เมื่อถูกกระทบจนความสงบหวั่นไหว ก็มักมีโทสะ หรืออ่อนเปลี้ยทันทีที่จิตหวั่นไหวเลื่อนไหลหลุดออกจากความสงบ แม้ความสบาย
๕. สุข - ความสบายกายสบายจิต ทำให้เกิดอาการที่เรียกกันว่า ติดสุข เพราะมีความรู้สึกเป็นสุข ความสบาย ทั้งทางใจและทางกาย สบายกาย สบายใจล้วนแต่เป็นผลจากสมถะอันยังให้เกิดสารคัดหลั่ง จึงทำเกิดการติดเพลิน (นันทิ-ตัณหา)ไปยึดในความพึงพอใจในผลของสุข อันเกิดแต่ฌานและสมาธินี้ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวเพราะความไม่รู้ จึงทําให้ก่อเกิดโทษต่างๆ ตามมา อันเป็นผลเสียทั้งต่อกายและต่อจิตอย่างรุนแรง ทําให้การปฏิบัติธรรมต้องหยุดชงักงัน เพราะหลงติดด้วยจิตส่งในไปเพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจ (ติดปิติ,สุข,อุเบกขา ในฌาน) และย่อมเกิดอาการของจิตส่งในไปคอยเสพความสุขความสบายที่เกิดขึ้นจากอำนาจของฌานสมาธิเช่นเดียวกับปัสสัทธิ
๖. อธิโมกข์ - ความน้อมใจเชื่อ เป็นศรัทธาจึงน้อมใจไปเชื่อแต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา กล่าวคือขาดเหตุผลหรืองมงาย ไม่มีที่มาที่ไป หรือไม่มีเหตุมีผลนั่นเอง เนื่องจากประสบผลสําเร็จบางส่วนในการปฏิบัติ ทำให้เกิดผลบางสิ่งขึ้น หรือเกิดความเชื่อตามที่ได้ยินเขาร่ำลือกันต่อๆ มา ฯลฯ จึงทําให้เกิดศรัทธาอย่างแรงกล้า ซาบซึ้ง เลื่อมใส จิตสว่างเจิดจ้าที่หมายถึงหมดความเศร้าหมอง จึงเกิดการหมายยึดเป็นที่พึ่งทางใจโดยไม่รู้ตัว แต่เป็นไปแบบขาดปัญญา หรืออย่างงมงายอย่างขาดเหตุผล
เกิดแต่ความเชื่อ มิได้เกิดแต่ความเข้าใจขั้นปัญญา เช่น อยากสร้างโบสถ์วิหารใหญ่เกินตัวเพื่อทดแทนพระคุณพระศาสนา อยากสอนธรรมะผู้อื่นตามแนวทางตน, อยากให้ผู้อื่นได้ปฏิบัติบ้างเหมือนตน อยากทําบุญทําทานต่างๆ เกินฐานะ ทําบุญสะเดาะเคราะห์กรรมต่างๆ น้อมเชื่อในนนิมิตที่เห็นอย่างแน่นแฟ้น น้อมเชื่อปฏิบัติตามคำสอนแต่อย่างงมงาย ซึ่งล้วนแต่เป็นไปในลักษณะของทั้งทิฏฐุปาทานและสีลัพพตุปาทาน คือ อุปาทานชนิดยึดมั่นในกิเลสเพื่อความพึงพอใจในความคิดความเชื่อของตน ศรัทธาที่ถูกนั้นเป็นสิ่งจําเป็นในการปฏิบัติ แต่ต้องไม่เป็นไปอย่างงมงาย ประกอบด้วยเหตุผล จึงดําเนินไปด้วยปัญญา (สัมมาปัญญา) จึงจักถูกต้อง ไม่ใช่ด้วยอธิโมกข์
๗. ปัคคาหะ - ความเพียรที่พอดี แต่ในวิปัสสนูปกิเลสหมายถึง เพียรมากจนเกินพอดี เกินเหตุชนิดมุทะลุ จึงย่อมตึงเครียดต่อการปฏิบัติมักเนื่องจากปฏิบัติผิดวิธี หรือติดตรึงใจในผลความสุขความสงบความสบาย หรือมีความเข้าใจแล้วต้องการให้บรรลุหรือสมประสงค์โดยไวด้วยความเพียร แต่ลืมทางสายกลาง ทําให้เกินพอดี ทําให้เกิดอาการเครียดต่างๆ ทั้งต่อจิต และกาย และมักเกิดจากผลที่ดีที่บังเกิดขึ้นในระยะแรกๆ จากการปฏิบัติสมถสมาธิอันเกิดแต่อำนาจขององค์ฌานหรือสมาธิ จึงเป็นแรงขับดันให้เพียรปฏิบัติอย่างมุทะลุลืมตัว โดยไม่รู้ตัว
๘. อุปัฏฐานะ - สติชัด แต่ที่นี้หมายถึง สติแก่กล้าเกินพอดี สติมากเกินพอดีไปในการปฏิบัติ เช่น จดจ้อง จดจ่อ อย่างต่อเนื่อง อย่างแรงกล้าแต่เฉพาะในสิ่งที่ยึดเป็นอารมณ์ หรือเฉพาะการปฏิบัติที่ปฏิบัติอยู่แต่เท่านั้น นั่นคือ ขาดสติในสิ่งที่ไม่ได้กำหนด จนไม่รู้ผิดชอบชั่วดี หรือไม่รู้ในสิ่งที่ถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร เป็นมิจฉาสติ คือ ตั้งจิตอยู่กับสติตลอดเวลาในอารมณ์เดียวอย่างจดจ้องจดจ่อ (ยึดอารมณ์หรือวิตก) แต่อย่างเดียว จนในที่สุดเป็นสังขารในปฏิจจสมุปบาทที่ประกอบด้วยอวิชชา แต่กลับขาดสติในสิ่งที่ไม่ได้กำหนด จนไม่รู้ผิดชอบชั่วดี หรือไม่รู้ในสิ่งที่ถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควรทําให้สติล้าตึงเครียด จนเกิดอาการต่างๆเพราะความตึงเครียดจากการปฏิบัติผิดมากเกินไป เรียกว่า สติชัดเกินไป จนขาดสัมปชัญญะ ทั้งที่สตินั้นก็เป็นสังขารขันธ์อย่างหนึ่ง จึงควรรู้เท่าทันถึงความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา มีการเกิดดับๆๆ เป็นธรรมดา รู้แต่สิ่งที่สติหรือจิตไปกำหนด (ยึดอารมณ์หรือวิตก)แต่อย่างเดียวจนเป็นไปในลักษณะสมาธิควบไปด้วย จนไม่รับรู้ในสิ่งอันควรอื่นๆ ด้วยนั่นเอง จนในที่สุดสติอยู่แต่กับสิ่งนั้นๆ ที่เป็นอารมณ์จนถอนไม่ขึ้น
๙. อุเบกขา - ความวางจิตเป็นกลาง ยังให้เกิดอาการที่เรียกกันว่า ติดอุเบกขา ติดแช่นิ่ง เพราะติดแช่นิ่งอยู่ภายในเป็นกลางวางเฉยอย่างขาดปัญญา, เป็นกลางวางเฉยแต่อย่างงมงายผิดๆ, วางเฉยเสียสิ้นโดยขาดปัญญา แต่ย่อมรู้สึกสงบ ไม่ทุกข์ไม่ร้อน จึงไปเข้าใจผิดว่าดีแล้ว ถูกต้องแล้ว แต่เป็นไปในลักษณะแช่นิ่งอยู่ภายในจิต อย่างติดเพลิน เฉื่อยชา ใจลอย ไม่ยินดียินร้าย ไม่นิ่มนวลควรแก่การใช้งาน ขาดความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
เวลาจิตหวั่นไหวหลุดจากองค์ฌานก็จะโกรธได้ง่ายๆ, แล้วไปเข้าใจผิดว่าเป็นอุเบกขาในโพชฌงค์ (ที่หมายถึงการวางเฉยหรือใจเป็นกลางอันดีงาม คือรู้เห็นตามความเป็นจริงทั้งในคุณในโทษของสภาวะธรรมนั้นๆ แล้ววางใจเป็นกลางอุเบกขา คือวางทีเฉยดูโดยการไม่เอนเอียงไม่แทรกแซงไปปรุงแต่งทั้งในด้านดีหรือด้านร้าย,ดีหรือชั่วเช่น เราดี หรือเขาชั่ว เราถูก หรือเขาผิด)
แต่กลับกลายเป็นอุเบกขาที่เกิดจากการปล่อยแช่นิ่งอยู่ในความสงบของมิจฉาสมาธิหรือฌานแบบผิดๆ ทั้งในสภาพที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว หรือเกิดจากการปฏิบัติชนิดกดข่มไว้ มิได้เกิดแต่ปัญญาที่เข้าใจ ล้วนแต่เป็นผลของการปฏิบัติสมถะสมาธิและวิปัสสนาผิดวิธีอย่างแน่นอน
๑๐. นิกันติ - ความพอใจ มีความพึงพอใจในการปฏิบัติต่างๆ ของตนที่ผ่านมา พอใจในผลขององค์ฌานหรือสมาธิ เช่น ปีติ สุข อุเบกขา อันยังให้เกิดความสุข ความเบาสบาย, หรือโอภาส-ความสว่าง แสงสีต่างๆ หรือนิมิต, หรือมิจฉาญาณที่เข้าใจผิดไปว่าได้บุญได้กุศล ตลอดจนพอใจในนิมิตหรือปาฏิหาริย์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือคิดขึ้นภายใต้อํานาจของสมถะที่ปฏิบัติและสารคัดหลั่งบางตัวที่มากเกินขนาดจากการปฏิบัติไปติดจมแช่อยู่เป็นระยะเวลานานๆ จะโดยรู้ตัวก็ดี ไม่รู้ตัวก็ดี จึงทําให้เกิดผลร้ายต่อการปฏิบัติอย่างรุนแรง ทั้งต่อกายอันจะเกิดการเจ็บป่วยได้และต่อจิต, จึงก่อให้เกิดความพยายามปฏิบัติในสิ่งต่างๆ เหล่านั้น เพื่อให้คงอยู่ ทำให้เป็นขึ้นอยู่ตลอดเวลา
เมื่อผู้ปฏิบัติเป็นผู้มีสติอย่างดีเฉียบแหลม ผู้นั้นก็จะผ่านกับดักคือวิปัสสนูปกิเลสไปได้โดยการใคร่ครวญด้วยสติปัญญา เห็นเนืองๆ ในโอภาสว่า “โอภาสนี้มิใช่ของเรา เรามิใช่โอภาส โอภาสนี้มิใช่อัตตาของเรา” (การพิจารณา ญาณ ปีติ เป็นต้นก็เป็นไปทำนองเดียวกัน) เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาเห็นอย่างนี้อยู่เสมอเนืองๆ ก็จะสามารถผ่านพ้นวิปัสสนูปกิเลสทั้งหลายได้
นั่นคือ หากช่วงเกิดวิปัสสนูปกิเลสแล้วมีสติสัมปชัญญะมั่น จะแก้ไขได้ และจะรู้เท่าทันได้ว่า “วิปัสสนูปกิเลสไม่ใช่ทาง” ให้หมั่นรู้เท่าทัน เมื่อมันเกิดขึ้น ก็กำหนดพิจารณาด้วยปัญญาแห่งไตรลักษณ์ว่า โอภาสนี้ ญาณนี้ ฯลฯ หรือนิกันตินี้ เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่มันเป็นของไม่เที่ยง เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง จะต้องเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา จิตจึงจะถอนออกจากอุปาทานที่ยึดอุปกิเลสนั้น แล้วกำหนดวิปัสสนาญาณที่ดำเนินถูกทาง ซึ่งจะพึงเดินต่อไป
ทางปฎิบัติ ต้องคอยระวังจิตอย่าให้จิตน้อมเข้าสู่ความสุขเอกัคคตารวมเป็นหนึ่งได้ และอย่ายึดเอาอารมณ์ใดๆ อันเป็นความสุขภายในของใจ เปลี่ยนอิริยาบถ ๔ ให้เสมอ อย่ารวมอินทรีย์อันเป็นเหตุจะให้จิตรวม แต่ให้มีการงานทำเพื่อให้มันลืมอารมณ์ความสุขสงบเสีย
ทุกท่านทุกคนพากันทำได้ คฤหัสถ์ก็ทำได้ บรรพชิตก็ทำได้ เพราะเรื่องการปฏิบัติน่ะมันเป็นเรื่องใจเรื่องเจตนา ต้องเอาใจไปตั้งไว้ให้มันถูก ปฏิบัติให้มันถูก เพราะธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดจากเหตุ มันจะดับก็ดับที่เหตุ มันเจริญก้าวหน้าก็เจริญที่เหตุ เมื่อสมัย ๕๐ ปีก่อนโน้น ท่านพระอาจารย์ชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง ท่านบอกกับภิกษุสามเณรว่าให้พากันไม่ต้องพูดกันนะ ให้ผมพูดคนเดียว ทุกท่านพากันเจริญสติสัมปชัญญะ ให้อยู่กับธรรมวินัย ให้พากันเจริญสติ หากสงสัยในธรรมะอะไร ก็ให้มาถามผม เพื่อการประพฤติการปฏิบัติจะได้ติดต่อต่อเนื่อง ผู้ที่ไม่เข้าใจในธรรม พากันเข้าใจว่าท่านอาจารย์ชาต้องการให้วัดสงบเรียบร้อย เรื่องธรรมวินัยเราพากันรู้แล้ว พูดกันที่จำเป็น มีอะไรก็พูด บางคนไม่พูดก็ใช้การเขียนเอา ความคิดอย่างนั้นมีความเห็นผิดเข้าใจผิด ท่านอาจารย์ชาจะให้เราหยุดจิตหยุดใจที่มีความเคยชิน พากันหยุดในกามตรึกในกามหมกมุ่นในกาม แต่พวกเราไม่เข้าใจกันพากันตรึกนึกคิด มีลูกมีเมียในใจ ไม่เข้าใจในธรรมคำสั่งสอน ผู้ที่เชื่อท่านอาจารย์ชา ปฏิบัติต่อต่อเนื่อง ผู้นั้นก็ได้ผลตามความเชื่อของตนเองตามที่อาจารย์ชาบอกสอน
ดังนั้น เราอย่าพากันถือนิสัยของตัวเองต้องพากันถือนิสัยของพระพุทธเจ้า เราจะสืบทอดต่อยอดได้ยังไงเพราะเราเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง พระพุทธศาสนาคือหยุดตรึกนึกคิดในกามในอวิชชาในความหลง พระพุทธเจ้าคือธรรมะ ธรรมะก็คือพระพุทธเจ้า ไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวตน เราจะพากันสืบทอดต่อยอดศาสนาไม่ได้ เพราะไม่รู้อริยสัจ ๔ ไม่รู้จักศาสนา ทุกคนถ้าปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า ไม่มีใครไม่ได้บรรลุ มันต้องบรรลุหมด เพราะมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ให้ทุกๆ ท่านพากันรู้นะว่าชีวิตนี้ประเสริฐได้เพราะมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มีความสุขที่เดินตามพระพุทธเจ้า มีภาคประพฤติปฏิบัติ จะได้เข้าสู่มาตรฐานเข้าสู่ Standard ทุกท่านต้องพากันเห็นภัยในวัฏสงสาร ปรับตัวเองเข้าหาธรรมะเข้าหาเวลา อย่าเป็นคนเจ้าอารมณ์ อย่าเป็นคนเจ้าโลก เราต้องหยุดโลกด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญา นี่คือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ประเสริฐ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee