แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๒๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๕๑ ให้มีชาคริยานุโยค หมั่นทำความเพียรด้วยความตื่นรู้ตื่นตัวทั่วพร้อม
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ปัจจุบันเราต้องมีพุทธะ เราอย่าให้ไสยศาสตร์คืออวิชชาความหลงครอบงำเรา ปัจจุบันเราต้องสงบไม่วิ่งตามสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเราต้องมีปัญญา เราทุกคนถึงจะพัฒนาสมาธิปัญญาของตนเองได้ มีชาคริยานุโยค ประกอบความเพียรของบุคคลผู้ตื่นตัวอยู่ ไม่เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เพราะตัวตนของเราถูกครอบงำด้วยอวิชชาความหลง การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราถึงมีอยู่ตลอดเวลา ศีลสมาธิปัญญาจึงจะเดินติดต่อต่อเนื่องไปได้เป็นอริยมรรค ทุกท่านทุกคนต้องอาศัยการประพฤติปฏิบัติของตัวเอง มีขณิกสมาธิ ที่เป็นสัมมาสมาธิ สลับกับอุปจารสมาธิ เพื่อให้สมาธิกับปัญญามันเดินไปพร้อมๆ กัน ทุกคนก็จะเก่งฉลาดเป็นคนดีไปพร้อมๆ กัน สัมมาสมาธิหมายถึงเรากลับมาหาตัวผู้รู้ กลับมามีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม เป็นขณิกสมาธิไปทุกๆขณะ เพื่อไม่ให้ผัสสะมารบกวนใจเรา อุปจารสมาธิหมายถึงยกใจเข้าสู่พระไตรลักษณ์ พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปตามความเป็นจริง
ประเทศไทยเมื่อสมัย ๘๐ ปีก่อน เขามียาชื่อยาทันใจที่มีจำหน่ายและก็ยาแก้ปวดหาย ภายหลังมาเปลี่ยนชื่อเป็นยาทัมใจและยาบวดหาย เพราะว่าทุกอย่างต้องมาแก้ที่จิตที่ใจ ทุกอย่างเป็นสิ่งเสพติด เราจะตามอารมณ์ตามผัสสะไปไม่ได้ อากาศร้อนอากาศหนาวความสุขความทุกข์ ก็ต้องมาแก้ที่ใจของตัวเอง เพื่อจะได้มีพุทธะ มีชาคริยานุโยค ที่ประกอบด้วยความเพียร ที่ไม่ให้บาปที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีกในปัจจุบัน เพราะการปฏิบัติธรรมอยู่ที่ปัจจุบัน แต่ก่อนเราอาศัยบุคคลอื่น อาศัยสิ่งภายนอก อาศัยผัสสะที่ดีๆ เราเลยพากันไปแก้แต่ภายนอกให้ดีๆ พระพุทธเจ้าได้ให้เรามาแก้ที่ใจและแก้ไขภายนอกไปพร้อมๆ กัน
คำว่า ชาคริยานุโยค มาจาก ชาคริย + อนุโยค = ชาคริยานุโยค มีความหมายว่า การประกอบความเพียรโดยการตื่นอยู่เป็นนิตย์, การประกอบความเพียรโดยไม่เห็นแก่นอนมากนัก หรือ ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อทำหน้าที่ให้สำเร็จ ผู้มีชั่วโมงนอนน้อย-นอนมาก มีฐานะเป็นเช่นไร ผู้รู้บอกไว้ว่า
๏ บรรทมยามหนึ่งไซร้…ทรงฤทธิ์ หกทุ่มหมู่บัณฑิต…ทั่วแท้
สามยามพวกพาณิช.....นรชาติ นอนสี่ยามนั้นแล้…เที่ยงแท้เดียรฉาน๚ะ๛ (โคลงโลกนิติ)
จึงต้องประกอบความเพียร เป็นผู้ที่เจริญอานาปานสติทุกอิริยาบถ ไม่เป็นคนนั่งหลับ ไม่มีความปรารถนาเอาความสุขในการนั่ง ในการนอน ในการพักผ่อน ต้องมีความกระตือรือร้นว่าเราต้องฝึก เราต้องปฏิบัติ แล้วเข้าใจเรื่องมรรคผลพระนิพพาน พัฒนาใจตัวเองทุกๆ อิริยาบถเพราะการปฏิบัติของเราต้องเป็นอริยะมรรคมีองค์ ๘ อยู่กับผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยสติด้วยปัญญา เป็นการพัฒนาสติสัมปชัญญะให้ติดต่อต่อเนื่อง ทุกอิริยาบถ เพราะคนเรามีความยินดีในกาม เมื่อมีความยินดีในกาม มันก็ต้องไม่ได้ตามใจ เป็นพยาบาท
เรานี้ท่องเที่ยวในวัฏฏะสงสารมานานแล้ว เราอย่าไปอ่อนแอ อย่าไปซบเซา จิตใจเรามันตกต่ำ นั่งฟังธรรมมันก็เอาแต่หลับ มันจะเกิดภาวนาวิปัสสนาได้ยังไง มันก็ต้องอาบัติทุกกฏนะ ผู้ฟังธรรมก็เอาแต่หลับ เอาแต่ความสงบมันก็เป็นบาป เพราะว่าไม่เกิดภาวนาไม่เกิดวิปัสสนา การประพฤติการปฏิบัติของเรามันต้องทวนกระแส อย่าไปตามใจ ตามอารมณ์ พระพุทธเจ้าให้ไม่ถือการนอน เน้นมาที่จิตใจของเรา การกิน การเที่ยวการเล่น เป็นแค่ทางสวรรค์ ทางผ่าน แม้แต่ทางสงบก็เป็นแค่ที่พักผ่อนทางจิต เพื่อจะพัฒนาให้ความวิ่งของจิตใจเบาบางลง เราจะได้เอาปัญญากับสมาธิไปพร้อมกัน เพราะเป็นแนวทางที่เดินผ่านเหยียบผ่าน
พระเราต้องเจริญอานาปานสติ เณรชีญาติโยมก็เหมือนกัน ให้รู้จักศาสนาเรา ไม่ใช่อยู่ดีกินดีมาหลงในสวรรค์นะ สวรรค์กับนรกมันเป็นทางผ่าน นรกคือทุกขเวทนาไม่ได้ตามใจ แก่เจ็บตายพลัดพราก นั้นคือนรก ทุกคนต้องผ่านด้วยสัมมาสมาธิ ด้วยปัญญา ว่าอันนี้คือเรื่องธรรมดา ที่เราต้องไม่ให้มาปรุงแต่งจิตใจเราได้ เพราะทุกข์เป็นสิ่งที่รู้จัก รู้จักแล้วจะไปวุ่นวายทำไม รู้จักแล้วจะไปตามใจของตัวเองไม่ได้ ไปตามอารมณ์ของตัวเองไม่ได้ เราจะไปเพิ่มโรคประสาทอีกได้ยังไง เพราะโรคประสาทเราก็เป็นเยอะกันอยู่แล้ว
ปัญหาต่างๆ ทุกคนต้องมาแก้ที่ตัวเอง เพราะไปแก้ที่อื่นมันแก้ไม่ได้ ผู้อื่นคอยเป็นแรงสนับสนุน พระพุทธเจ้าก็เป็นแต่เพียงผู้บอกผู้สอนเรา เราต้องเป็นผู้ประพฤติ ผู้ปฏิบัติ เราจะได้กลับมาแก้ไขที่ตัวเอง เราอย่าไปตามอารมณ์ ตามความคิด ตามสิ่งที่ยั่วยวน สิ่งที่ยั่วยุไปไมได้ เราต้องกลับมาหาอานาปานสติ กลับมามีความสุขในการหายใจเข้า หายใจออก มีความสุขในการเสียสละ ถ้าเราไม่เสียสละ เราจะไปไหนได้ เพราะความสุขความดับทุกข์ของเรามันอยู่ที่ปัจจุบัน ปัจจุบันเราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติให้ถูกต้อง เพราะคนเราจะรวยเป็นมหาเศรษฐีของโลกมันก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะมันยังมีอวิชชา มีความหลง เพราะคนมีเงินเยอะก็กลัวมันหาย คนเรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มีความสุขในการเสียสละในปัจจุบัน
ถ้าปัจจุบันเราไม่มีความทุกข์ มันก็ก้าวไปเรื่อย ฉลาดไปเรื่อย เขาเรียกว่าชีวิตนี้โน้มเอียงสู่กระแสมรรคผลพระนิพพานไปเรื่อย การประพฤติปฏิบัติก็ต้องอาศัยเวลาไปเรื่อยๆ เราอย่าเห็นแก่ตัว เราอยากบรรลุเดี๋ยวนี้ๆ ความเห็นแก่ตัว ทุกอย่างมันจะได้ตามใจเราเมื่อไหร่กัน? แก่มันก็แก่อยู่แล้ว เจ็บมันก็เจ็บอยู่แล้ว อะไรมันก็ไม่ได้ตามใจ ถ้าเราอยากจะได้ตามใจ ความปรุงแต่งมันก็จะเผาเรา เรามีทุกข์ไหม เราสมน้ำหน้าไหม ชีวิตของเราต้องสงบต้องเย็นในปัจจุบัน เราจะได้อุทานในใจว่า ทำไมมีความสุขอย่างนี้ เราจะได้ใช้ทรัพยากรร่างกายนี้ด้วยปัญญา ใช้ทรัพยากรที่อำนวยความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันของเราอย่างมีปัญญา เขาเรียกว่าเราเกิดมาเพื่อมีปัญญา มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เพื่อมีปัญญา เมื่อมีปัญญาแล้ว เราก็ต้องเสียสละพัฒนาไปอย่างนี้ เราไปหลงขยะ ทำให้ตัวเองเสียเวลา แก่ไปโดยไม่รู้ตัว แต่ก่อนเราไม่รู้จักคุณค่าของสิ่งที่ประเสริฐ
ความเสื่อมมันมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย จนศาสนาพุทธมันหายไปจากอินเดีย แต่ถ้าเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตามอริยมรรคมีองค์แปด ศาสนาก็จะกลับมาสดชื่นใหม่ เราสามารถที่จะเอาพระนิพพานมาใช้กับเทคโนโลยีได้ เราจึงต้องทำชาคริยานุโยค ประกอบด้วยความเพียรของผู้ตื่นอยู่ "ชาคริยานุโยค" แปลว่า การหมั่นประกอบความตื่น ไม่เห็นแก่นอน คือขยันหมั่นเพียรตื่นตัวอยู่เป็นนิตย์ ชำระจิตมิให้มีนิวรณ์ พร้อมเสมอทุกเวลาที่จะปฏิบัติกิจให้ก้าวหน้าต่อไป
"ชาคริยานุโยค" จัดเป็นธรรมข้อหนึ่งใน "อปัณณกปฏิปทา" หมายถึง ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด และเป็นธรรมที่ปรารภเหตุเพื่อความสิ้นอาสวะ ปฏิปทาที่เป็นส่วนแก่นสารเนื้อแท้ ซึ่งจะนำผู้ปฏิบัติให้ถึงความเจริญงอกงามในธรรม เป็นผู้ดำเนินอยู่ในแนวทางแห่งความพ้นจากทุกข์อย่างแน่นอนไม่ผิดพลาด ดังที่ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติไม่ผิด และชื่อว่าเธอปรารภปัญญาเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑ เป็นผู้รู้จักประมาณ ในโภชนะ ๑ เป็นผู้ประกอบความเพียร ๑
ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยตาแล้วไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหูแล้ว ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ฯลฯ ลิ้มรส ด้วยลิ้นแล้ว ฯลฯ ถูกต้องโผฎฐัพพะด้วยกายแล้ว ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่ถือเอาโดยนิมิต โดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวม มนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษามนินทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สุนัขจิ้งจอกได้ยืนอยู่ใกล้เต่าด้วยคิดว่า เวลาใดเต่าจักเหยียดคอหรือขาข้างใดข้างหนึ่งออกมา เวลานั้นเราจักงับมันฟาดแล้วกัดกินเสีย เมื่อเต่าไม่เหยียดคอหรือขาข้างใดข้างหนึ่งออกมา เวลานั้น สุนัขจิ้งจอกก็หมดความอาลัย ไม่ได้โอกาส จึงหลีกไปจากเต่า
มารผู้ใจบาป อันเราทั้งหลายเข้าใกล้อยู่เสมอๆ คิดว่า บางทีจะพึงได้โอกาสทางจักษุ หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ ของภิกษุบ้าง เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่
ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุ ฟังเสียงด้วยหู... ดมกลิ่นด้วยจมูก... ลิ้มรสด้วยลิ้น... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว อย่าถือนิมิต อย่าถืออนุพยัญชนะ จงปฏิบัติเพื่อสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌา และโทมนัสครอบงำ ชื่อว่ารักษาอินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในอินทรีย์ เวลาใด ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่ เวลานั้นมารผู้ใจบาปก็จักหมดความอาลัย ไม่ได้โอกาส หลีกจากท่านทั้งหลายไป
ภิกษุผู้มีใจตั้งมั่นในมโนวิตก (ความตริตรึกทางใจ) อันตัณหา มานะ และทิฐิไม่อิงอาศัย ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ดับกิเลสได้แล้ว ไม่ติเตียนผู้ใดผู้หนึ่ง เหมือนเต่าหดคอและขาอยู่ในกระดองของตน ฉะนั้น
ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ฉันอาหารไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อจะมัวเมา ไม่ใช่เพื่อจะประดับ ไม่ใช่เพื่อจะประเทืองผิวเพียงเพื่อกายนี้ตั้งอยู่ เพื่อจะให้กายนี้เป็นไป เพื่อจะกำจัดความเบียดเบียนลำบาก เพื่อจะอนุเคราะห์พรหมจรรย์ด้วยคิดเห็นว่า เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสีย และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นความที่กายจักเป็นไปได้นาน ความเป็นผู้ไม่มีโทษและ ความอยู่สำราญจักเกิดมีแก่เรา ดังนี้ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะอย่างนี้
ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลสที่กางกั้นจิตและนิวรณ์ ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากกิเลสที่กางกั้นจิตและนิวรณ์ ด้วยการเดินจงกรมด้วยการนั่งตลอดยามต้นแห่งราตรี ตลอดยามกลางแห่งราตรีย่อมสำเร็จสีหไสยาสน์ โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้นไว้ในใจ ย่อมลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากกิเลสที่กางกั้นจิตและนิวรณ์ ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปัจฉิมยาม ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรอย่างนี้
ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แลย่อมชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติไม่ผิด และชื่อว่าเธอปรารภปัญญาเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย ฯ
จึงกล่าวได้ว่า หลักธรรมเรื่องชาคริยานุโยคนี้ มีปรากฏทั่วไปในพระไตรปิฎก ตลอดจนอรรถกถา เพราะเป็นหลักปฏิบัติ เพื่อทำให้หลุดพ้นจากทุกข์การประกอบความเพียรนี้ ผู้ปฏิบัติธรรมต้องทำอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ตั้งแต่เช้ายันค่ำ นอนพักเพียง ๔ ชั่วโมงเท่านั้น ต่อจากนั้นก็ตื่นทำความเพียรอีก เพื่อทำให้จิตคลายจากความง่วง เพราะความง่วงนี้ไม่มีวิธีใด จะแก้ได้ดี เท่ากับการปรารภความเพียร เมื่อผู้ปฏิบัติธรรม ได้ประกอบความเพียรอย่างต่อเนื่องอย่างนี้แล้ว ต่อไปไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน หรืออยู่ในอิริยาบถไหนก็ตาม ถ้ากามวิตก (ความตรึกในทางกาม พยาบาทวิตก (ความตรึกในทางพยาบาท หรือวิหิงสาวิตก (ความตรึกในทางเบียดเบียน) เกิดขึ้น ย่อมสามารถทำให้ดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่ปล่อยให้เกิดกับจิตอยู่นาน ๆ จนกระทั่งกิเลสเหล่านี้ ไม่เกิดขึ้นอีก ผู้ปฏิบัติได้อย่างนี้ จึงชื่อว่า ปรารภความเพียรอย่างแท้จริงทั้งทางกายและอย่างจิต
หลักการสำคัญของชาคริยานุโยค อีกประการหนึ่ง คือ ผู้ปฏิบัติธรรมต้องรู้จักการปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน ไม่ให้ตึงเกินไป เพราะทำให้จิตฟุ้งซ่าน ไม่ให้หย่อนเกิน เพราะทำให้เกิดความเกียจคร้าน เมื่อผู้ปฏิบัติธรรม มีอินทรีย์เสมอกัน ได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ทั้งสมถะและวิปัสสนา มีความสมบูรณ์ดีแล้ว องค์แห่งโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ย่อมเกิดขึ้นรวมกัน เป็นมรรค เมื่อมรรคเกิดแล้ว ย่อมตัดกิเลส ทำให้เกิดเป็นผล คือความสิ้นกิเลส ดับทุกข์ต่อไป ผู้ปฏิบัติธรรม เมื่อประยุกต์ชาคริยานุโยค ในการประกอบความเพียรมาใช้ ย่อมทำให้เกิดผลคือ การมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เมื่อมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อย่างนี้แล้ว การยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ก็เป็นปัจจุบันกาล หรือการประกอบการงานทั้งทางโลกและทางธรรมในชีวิตประจำวัน ก็เกิดผลดี เพราะทำให้อ่านตนออก บอกตนได้ ใช้ตนเป็น เข้าใจผู้อื่นที่ยังมีกิเลสอยู่ และทั้งสามารถนำไปสู่การพัฒนาอินทรีย์ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ให้สมบูรณ์แบบ จนถึงขั้นทำลายกิเลสให้หมดสิ้นไป พบแต่บรมสุขคือ พระนิพพาน อันเป็นเป็นหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
การบำเพ็ญเพียรภาวนาใน ชาคริยานุโยค นั้นผู้ปฏิบัติต้องชำระจิตให้บริสุทธิ์ พึงรักษาปาติโมกขสังวรและอาชีวปาริสุทธิศีลให้หมดจดก่อน เมื่อศีลสองอย่างนี้วิบัติก็จะต้องอาบัติและจัดเป็นอันตราย เพราะเป็นการล่วงละเมิดข้อบัญญัติของพระพุทธเจ้า (อาณาวีติกกมันตราย)
เพราะเมื่อศีลประเภทนี้หมดจดอาชีวิปาริสุทธิศีลก็หมดจดเช่นกัน ส่วนอินทรียสังวรศีลและปัจจัยสันนิสิตศีล ถ้ามีความอุตสาหะต้องการเจริญกุศลก็ควรรักษาให้หมดจดบริบูรณ์ เพราะจะช่วยไม่ให้เกิดความเดือดร้อนใจ ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่เป็นตัวขัดขวาง ชื่อว่าอธิศีลสิกขา คือการละ การงดเว้นเจตนาและการไม่ล่วงละเมิดทั้ง ๔ อย่างนี้เป็นศีลที่เรียกว่า สังวรสีล
สติที่พิจารณาเอารูปนามเป็นอารมณ์ไว้อย่างแนบแน่น ชื่อว่า สติสังวร
ปัญญาที่หยังเห็นรูปนามอย่างแท้จริง ชื่อว่า ญาณสังวร
อโทสเจตสิกที่ไม่ประทาร้ายอารมณ์ที่มาปรากฏ ชื่อว่า ขันติสังวร
ความเพียรในการกำหนด ชื่อว่า วิริยสังวร
สังวรเหลานี้ย่อมปรากฎอย่างบริบูรณ์ ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี นอนดุจราชสีห์โดยข้างเบื้องขวาซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ หมายใจว่าจะลุกขึ้นในมัชฌิมยามแห่งราตรี ลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่เป็นตัวขัดขวางหรือเครื่องกันความหลุดพ้น 8 ประการ คือ กามฉันทะ ความยินดีพอในในกาม พยาปาทะ ความหงุดหงิด ไม่พอใจ โกรธ ปองร้าย ถิ่นมิทธะ ความง่วงซึมเซา อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านเดือดร้อนใจ วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย อวิชชา ความไม่รู้ รติ ความไม่ยินดีในภาวนา อกุศลธรรมด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี ภิกษุชื่อว่าประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่
การที่พวกเราเห็นแก่นอนเกินไป มันก็เกิดนิสัยชนิดหนึ่งขึ้นมา คือจิตใจที่มัน ที่มักจะซึมๆ ที่มักจะทื่อๆ ไม่เฉียบแหลม เพราะมันมีนิสัยชวนไปแต่ในทางที่จะหยุด เหมือนคนชอบการนอน คนนั้นจะมีนิสัยอย่างไรขอให้ไปสังเกตดูให้ดีๆ พวกใครในการนอนก็คงจะเถียงว่า ไปนอนเสียให้สบายตามที่มันควรจะนอน แล้วก็คิดอะไรออกเหมือนกัน เหมือนคนสมัยนี้เขาก็นอนตามสบายใจ เขาก็คิดอะไรออกเหมือนกัน ข้อนี้มันก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่มันก็ไม่ถูกทั้งหมด หมายความว่า ถ้าคิดอะไรออก มันก็ออกไปอีกแบบหนึ่ง ไม่ได้ออกอย่างเดียวกับบุคคลที่มีความเข้มแข็ง ในการบังคับจิตใจหรือบังคับระบบประสาทให้เข้มแข็ง ถ้าทำได้อย่างนี้ ในความคิดที่คิดออกนั้น มันก็เป็นไปในทางนี้ เป็นในทางที่ช่างข่มขี่กิเลส คนเห็นแก่นอนมัวเมาในการนอน ก็คิดอะไรออกเหมือนกัน แต่ก็จะคิดเป็นไปในทางที่เป็นเหยื่อแก่กิเลส นี่คือความแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นจึงอยากจะแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นการแนะนำว่าควรจะฝึกฝนให้คุ้นเคยกันเสียบ้างในการที่บางคราวไม่ต้องนอน อย่าให้มันน้อยหน้า เป็นที่ละอายแก่บุคคลธรรมดา บางคนนั่งเล่นไพ่จนสว่างก็ได้ ไม่เห็นมันง่วงนอน นั่งเล่นหมากรุกจนสว่างก็ได้ ไม่เห็นมันง่วงนอน อย่างนี้ก็เคยมี ลองพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า เล่นไพ่ เล่นหมากรุกได้ จนสว่างไม่ง่วงนอนนั้น มันอยู่ได้ด้วยอำนาจของอะไร มันก็อยู่ได้ด้วยอำนาจของจิตที่เพ่งจ้องอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นอารมณ์ที่รุนแรง มันก็เลยไม่ง่วงนอน อย่างนี้
ทำไมเราจึงไม่เพ่งจ้องในการตรัสรู้ ของพระพุทธเจ้า ให้เป็นอารมณ์ที่รุนแรงถึงขนาดนั้นบ้าง มันจะได้ไม่รู้สึกง่วงนอน เมื่อทราบความจริงอย่างนี้แล้วก็คงจะแก้ปัญหานี้ได้มาก คือ ขจัดการเห็นแก่นอนได้ ในเมื่อจะฝึกฝนการปฏิบัติเกี่ยวกับจิตใจ เช่น เกี่ยวกับสมาธิได้มาก คือ ขจัดการเห็นแก่นอนได้ ในเมื่อจะฝึกฝนการปฏิบัติเกี่ยวกับจิตใจ เช่น เกี่ยวกับสมาธิภาวนา เป็นต้น
ในพระพุทธศาสนามีกลุ่มชนหลายกลุ่ม มีพระภิกษุสงฆ์สามเณรหลายองค์ ที่มีความสนใจในการปฏิบัติธรรมแต่ก็ติดปัญหาหลายหลายที่ทำให้ความเพียรลดลง อาทิเช่นการถูกถีนมิทธะครอบงำจิตจนเกิดความง่วงนอน ถ้าไม่ทำสมาธิมันก็อยู่ได้สบาย แต่พอลงมือทำสมาธิ มันก็ง่วงนอน นั่นแหละคือผลของการเป็นนักนอน ถ้าคนพวกนี้มาฝึกฝนบทเรียนอันนี้ อย่างที่กำลังทำอยู่นี้ ไม่เห็นแก่นอนกันเสียให้มากพอ นิสัยมันก็จะเปลี่ยนไป ร่างกายล้วนๆ มันก็จะเปลี่ยนไปเป็นการบังคับได้ เข้มแข็งสดชื่นอยู่ได้ ไม่รู้สึกง่วงนอนในการที่จะทำสมาธิเป็นต้น เดี๋ยวนี้มันไม่นิยมการบังคับตัวเองในลักษณะอย่างนี้ อยากนอนก็นอนได้ตามใจ ไม่มีใครบังคับได้ แล้วมันก็นอน แล้วมันก็เกิดเป็นนิสัย พอถึงคราวที่ไม่ต้องการจะนอน ไม่อยากให้มันนอน มันก็นอนสิ ก็ทำไม่ได้ ก็สมน้ำหน้ามัน ที่มันอยากจะนิยมชมชอบในการนอน
ถ้าเราจะสังเกตดูที่พระพุทธเจ้าในการที่ทรงกระทำความเพียรแล้ว จะพบข้อเท็จจริงอันหนึ่งว่า ชาคริยานุโยค คือ การประกอบความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่เสมอนั้น เป็นความตื่นรู้ในการที่พระองค์ประสบความสำเร็จ เพื่อตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ การที่พระองค์ทรงออกไปอยู่ในที่อันสงัด กระทำความเพียรเป็นเวลานานๆ นั้น มันต้องมีความอดกลั้นอดทนหรือมากกว่าที่พวกเราต้องอดกลั้นอดทนในที่นี้ในเวลานี้ คือเพิ่งจะอดทนวันนี้แล้วก็ยังไม่ถึงคืนหนึ่งสักที เรียกว่าถ้าจะถือธุดงค์เนสัชชิกังคะ ก็ยังไม่สำเร็จสักที หรือจะประกอบความเพียรที่เรียกว่า ชาคริยานุโยค ก็ยังไม่กี่มากน้อย ก็ขอให้นึกข้อที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงประกอบความเพียรเกี่ยวกับการไม่รู้จักหลับจักนอนนี่มันมากมายมหาศาล ถึงแม้พระศาสดาแห่งศาสนาอื่นก็คล้ายๆ กัน เรื่องนอนนั้นเห็นเป็นเรื่องที่เป็นอุปสรรคนะทำให้มึนชา ทำให้ง่วงเหงา ก็ต้องสามารถที่จะนั่งด้วยจิตใจแจ่มใสตลอดวันตลอดคืนเนื่องกันไปหลายๆ วัน หลายๆ คืน กว่าจะคิดอะไรออก หรือมองเห็นอะไรชัดเจนลงไป ชนิดที่เรียกว่าเป็นการตรัสรู้ ดังนั้นการที่หัดฝึกหัดกันไว้บ้าง ย่อมจะเป็นการดี การฝึกหัดบังคับจิตให้แจ่มใส ไม่งัวเงีย เพราะการนอนไว้ให้เป็นระยะยาวๆ ให้บ่อยๆ ให้มากๆ นั้นเป็นการดี ดังนั้นเราจึงถือเอาโอกาสเช่นนี้ มาฝึกหัดบทเรียนอันนี้ ก็คือบังคับจิตได้ตลอดถึงบังคับกายได้ ไม่ต้องนอนก็ได้ ให้มันอยู่อย่างสดชื่น แจ่มใส เป็นเวลานานๆ เป็นโอกาสที่จะเกิดความคิด ความเข้าใจลึกซึ้ง มองเห็นอย่างแจ่มแจ้ง
ธุดงค์ทุกข้อมันเกี่ยวกับการพัฒนาจิตใจ ข้อชาคริยานุโยค ... ก็ภิกษุเป็นผู้หมั่นประกอบความเป็นผู้ไม่เห็นแก่นอนอย่างไร ภิกษุ ในพระธรรมวินัยนี้เวลากลางวัน ชำระจิตจากอาวรณิยธรรม (กิเลสที่กั้นจิต) ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง เวลากลางคืน ตอนยามต้น ก็ชำระจิตจากอาวรณิยธรรม ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ตอนยามกลาง สำเร็จสีหไสยา โดยข้างเบื้องขวาซ้อนเท้าให้เหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ ทำอุฏฐานสัญญา ไว้ในใจ ตอนยามปลาย กลับลุกขึ้นชำระจิตจากอาวรณิยธรรม ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้หมั่นประกอบความเป็นผู้ไม่เห็นแก่นอน
พระและผู้ปฏิบัติยังไม่เข้าใจว่า พระพุทธเจ้าเน้นให้เราพัฒนาจิตพัฒนาใจพัฒนาการประพฤติปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องให้มันเป็นเรื่องเป็นราว ไม่มากไม่น้อย เราถึงได้เอาทั้งศีลทั้งสมาธิปัญญา มาประพฤติปฏิบัติถึงใจเราในปัจจุบัน ที่ใจของเรา ใจของเราจะได้เป็นพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ปล่อยไปตามอวิชชา เหมือนที่ผ่านๆมา ที่เรามองเห็นกันไม่ได้ประพฤติไม่ได้ปฏิบัติเลย ปล่อยไปตามความเคยชิน เหมือนกับนักเรียนไปเรียนหนังสือ ไปเรียนแต่ก็ไม่ได้เรียน ชีวิตของเราในปัจจุบันคือเสขะบุคคล บุคคลที่ต้องศึกษาต้องปฏิบัติ เมื่อเราปล่อยปัจจุบัน มันก็ไม่มีความประพฤติความปฏิบัติ นี้เป็นเรื่องพัฒนาใจ ธรรมะที่จะเกิดได้มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ เป็นวิปัสสนา มันจะได้ก้าวผ่านสวรรค์ไป ธรรมที่มีอุปการะมาก ก็คือสติ คือความระลึกได้ สัมปชัญญะคือความรู้ตัว จิตใจจะได้เปลี่ยนแปลงไปเร็ว ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท เป็นตัวสติปัฏฐาน
มีชาคริยานุโยค ทางจิตใจของเราต้องไม่หลับไม่ไหลไม่หลง ต้องเป็นผู้ที่ตื่นด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ด้วยภาวนา เพื่อปรับปรุงปฏิปทาของเรา เพราะว่าเป้าหมายของชีวิตของเราคือ ดับไม่เหลือแห่งการเวียนว่ายตายเกิด คือพระนิพพาน ไม่ใช่เรามาหลงประเด็นในสวรรค์ในพรหมโลกในอะไรต่างๆ อย่างนี้ไม่เอา มันแก้ปัญหาของเราไม่จบ มนุษย์เราถึงเป็นผู้ที่โชคดี พระพุทธเจ้าให้เราภาวนาอย่างนี้ จะได้ทำลายภพชาติ ที่เราเกิดมาหลายพัน หลายหมื่น หลายแสน หลายล้านชาติ ด้วยการภาวนา ด้วยความเพียร
การดำเนินชีวิตของเราถึงจะเป็นทางสายกลาง เพราะเราได้สิ่งที่ประเสริฐแล้วคือได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ถ้าเราไปตามอวิชชาตามความหลงก็เป็นได้แต่เพียงคน ต้องขอบใจผัสสะต่างๆ ขอบใจอากาศร้อนอากาศหนาว ขอบใจความแก่ความเจ็บความตายความพลัดพราก ที่ทำให้เรามีชาคริยานุโยค ที่ทำให้มีความเพียรรู้ตัวตื่นตัวอยู่เสมอ พัฒนาสติความสงบพัฒนาสัมปชัญญะคือตัวปัญญา ทั้งภายนอกภายในไปพร้อมๆ กัน เพราะการปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องนี้ จะทำให้เกิดศีลสมาธิปัญญาเป็นพรหมจรรย์ ความดับทุกข์ถึงมีอยู่กับเราตลอด เพราะธรรมะเป็นปัจจุบันเป็นของสด ไม่ใช่อดีตไม่ใช่อนาคตเป็นเรื่องของปัจจุบัน ที่เป็นศีลสมาธิปัญญาเป็นมรรคผลพระนิพพาน ขึ้นอยู่ที่เหตุปัจจัยเพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปนี้ นรกมันก็อยู่ที่ใจของเรา ถ้าเรามีความเห็นไม่ถูกต้องเข้าใจไม่ถูกต้องปฏิบัติไม่ถูกต้อง นั่นแหละมันคืออบายภูมิ ที่เราทำตามอวิชชาตามความหลงตามสัญชาตญาณนั่นแหละคือเป็นอบายมุขทางสู่อบายภูมิ ทุกท่านจึงต้องรู้เรื่องพระศาสนาที่เป็นเรื่องจิตเรื่องใจ พัฒนาทางกายไปพร้อมๆกัน ทุกอย่างก็จะมีแต่คุณมีแต่ประโยชน์ ไม่มีโทษใดๆ จึงเป็นสุปฏิปันโนเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นพระได้ทั้งคฤหัสถ์ทั้งนักบวช
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee