แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๒๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๕๐ สมาธิกับปัญญาต้องไปควบคู่กันอย่างสม่ำเสมอ ไม่เช่นนั้นจะเป็นโมหะสมาธิหรือสมาธิหัวตอ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราทุกคนเกิดมา พระพุทธเจ้าให้เราเข้าสู่ความเป็นพุทธะ เข้าสู่ความดับทุกข์ทั้งกายทั้งทางจิตใจ เราต้องรู้จักความดับทุกข์ทางกายและความดับทุกข์ทางจิตใจ พัฒนา ๒ อย่างไปพร้อมๆกัน เรียกว่ารู้สัจธรรมตามความเป็นจริงคือรู้อริยสัจ ๔ คือรู้ทุกข์รู้เหตุเกิดทุกข์รู้ความดับทุกข์รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างนี้ พร้อมทั้งบอกคนอื่นทั้งอัตถะและพยัญชนะ เราเป็นพ่อเป็นแม่ก็ต้องส่งผลัดให้กับลูกกับหลานกับเหลน คนเราถ้าเอาตัวตนเป็นที่ตั้งนี้มันไม่ได้ มันเสียหาย มันเสียหายมาก เสียหายจริงๆ เรียกว่าเดินไปคนละทางกับความดับทุกข์เลยล่ะ
ความมั่นคงของเราจะเกิดได้ก็คือชาติศาสน์กษัตริย์ ชาติก็คือความเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐ ศาสน์ก็คือศาสนา และกษัตริย์ก็หมายถึงพ่อแม่บรรพบุรุษที่เป็นผู้มีอุปการะคุณ ด้วยความกตัญญูกตเวที เราต้องมาต่อยอดพระพุทธเจ้า เราจะมาถือนิสัยของตัวเองไม่ได้ ถือนิสัยตัวเองมันคือความมืด มันเสียหาย ถึงแม้เราจะจบ ป.ธ. ๙ จบปริญญาเอก มันก็คือความมืด พระพุทธเจ้าจึงให้เรามีสติคือความสงบมีสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม กลับมาหาธรรมะกลับมาหาความดับทุกข์ทั้งกายทั้งใจ พระพุทธเจ้าถึงตรัสสอนว่า อย่าไปทำบาปทั้งปวง ทำกุศลความดีให้ถึงพร้อม ชำระจิตของตนให้ผ่องใส
เราต้องกลับมาอย่างนี้ อย่าไปวิ่งตามอวิชชาความหลง อย่าไปวิ่งตามสิ่งแวดล้อม ต้องเอาพุทธะเอาความถูกต้องเป็นหลัก เพราะความถูกต้องไม่ได้เป็นพี่เป็นน้องกับใคร ส่วนทางกายแล้วก็กตัญญูกตเวทีไป ความรักความสมัครสมานสามัคคีนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้งมันก็แย่งขยะกัน มันแตกสามัคคีกัน พระธรรมกถึกทะเลาะกับพระวินัยธร ทุกคนก็บวชเอาพระนิพพานหมด แต่ก็ยังทะเลาะกัน ยังไม่ถูกเพราะเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เราต้องเข้าสู่ความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มีความสุขที่สุดน่ะ เราพัฒนาโลกนี้ตามหลักเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์เพื่อความมั่งคั่งร่ำรวย เราก็รู้จักว่าทำอย่างนี้ถูกต้อง แต่ก็อย่าให้เบียดเบียนคนอื่นสัตว์อื่น ต้องรวยอย่างถูกต้อง รวยแล้วเราก็ไม่หลง เพราะความเป็นมนุษย์ก็ดีความเป็นเทวดาก็ดีความเป็นพรหมก็ดี อันนี้เป็นทางผ่านที่เราได้ประพฤติได้ปฏิบัติมาอย่างนี้แหละ เราอย่าไปหลง ต้องเห็นภัยในวัฏสงสาร
ที่ยังเอาร่างกายนี้เป็นเรา นี่ยังเป็นความหลงเป็นสักกายะทิฏฐิอยู่ เป็นตัวเป็นตนอยู่ เพราะร่างกายนี้เป็นสภาวะธรรมที่ตั้งอยู่ในโลกธรรม ที่มันเปลี่ยนแปลงไป เราต้องรู้จักว่าเอาร่างกายนี้มาใช้งานมาทำงาน เพื่อเดินทางสู่มรรคผลพระนิพพาน อย่างนี้นะ ให้เรารู้จัก เพราะความสุขความดับทุกข์มันมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ที่หมู่มวลมนุษย์มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ไม่มีสักกายะทิฏฐิไม่มีตัวไม่มีตน เราทำถูกต้องปฏิบัติถูกต้องไม่ได้เพิ่มไม่ได้ตัด เพียงแต่ปฏิบัติให้ถูกต้อง เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงมี เป็นการอบรมบ่มอินทรีย์ไปของมันเอง ถ้าเราไม่หลงไม่เพลิดเพลินมันก็ไปได้เร็ว
เราจะทำอะไรเพื่อมีเพื่อเป็น เพราะสิ่งเหล่านี้มันเป็นคู่ เป็นของคู่ มันเป็นโลกธรรม ต้องรู้จัก พระพุทธเจ้าให้เราเยอะทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องสู่พระไตรลักษณ์ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมันไม่แน่ไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงไป ทุกอย่างนั้นไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันอยู่ด้วยเหตุด้วยปัจจัย ท่านให้เรารู้จัก อย่าไปหลงในความแซ่บความรำความอร่อยความหรอยความนัว ต้องมีสัมมาทิฏฐิ เราจะได้เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ทั้งกายทั้งกายไปพร้อมๆกัน ต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้แหละ
เราดูตัวอย่างแบบอย่าง ที่เราผิดพลาดไปเพราะไม่ได้ตามพระพุทธเจ้า ไม่ได้ตามพระอรหันต์ เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ความมั่นคงเลยไม่ได้ไม่มี ดูตัวอย่างแบบอย่างพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไป ก็ค่อยเปลี่ยนแปลงๆ ไป ก็เพราะไม่มีสัมมาทิฏฐิไม่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง เอาตัวตนเป็นหลัก เราดูตัวอย่างแบบอย่างสำนักของครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ เมื่อท่านลาละสังขารนิพพานไป วัดนั้นก็เป็นวัดที่ร้าง ร้างจากมรรคผลร้างจากพระนิพพาน มันไปต่อยอดแต่ทางวัตถุ แต่ไม่ได้ต่อยอดทางจิตใจทางคุณธรรม เห็นไหม กว่าจะรู้ก็หลายปีหลายสิบปี ที่เรามีความเห็นผิดเข้าใจผิด ตามความคิดตามความหลงไป พระพุทธเจ้าถึงให้เราหยุด หยุดความคิดหยุดอารมณ์ด้วยธรรมวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ ที่มีในพระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี่แหละ ที่มาในพระปาฏิโมกข์ที่สวดกัน ๒๒๗ สิกขาบทนี่แหละ
ทุกคนน่ะ มักจะเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เอาประชาธิปไตยหรือสังคมประเพณีนิยมเป็นที่ตั้ง นี้ไม่ได้ เราต้องเอาธรรมะเป็นหลัก มีความสุขในการประพฤติมีความสุขในการปฏิบัติ เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้แหละ
หมู่มวลมนุษย์ต้องมีความสุขในการปฏิบัติธรรม มีความสุขในการรักษาศีล มีความสุขในการทำงาน เพราะเราต้องมีสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกในจิตใจของเราในชีวิตประจำวัน ตั้งมั่นในขณิกสมาธิ คือไม่เอาโลกธรรมมาครอบงำจิตใจ ไม่เอาตัวตนมาครอบงำจิตใจ เข้าสู่อุปจารสมาธิ เป็นต้น น้อมเข้าสู่พระไตรลักษณ์ จิตใจเราจะมีทั้งความสงบสุขมีทั้งปัญญา เราต้องพัฒนาอย่างนี้แหละ เราไม่ต้องไปหาความดับทุกข์ที่ไหนหรอก หาความดับทุกข์ในตัวเราในอิริยาบถทั้ง ๔ ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างนี้
เราอย่าไปสงสัยอะไรในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเราปฏิบัติ สละเสียซึ่งตัวซึ่งตน เขาธรรมเป็นหลัก อินทรีย์บารมีก็จะแก่กล้าขึ้นไปเรื่อย แต่เพราะเอาตัวเอาตนเป็นที่ตั้ง มันก็จะสงสัยไปเรื่อย เพราะเราไม่มีความสุขในการรักษาศีล ไม่มีความสุขในการทำสมาธิ ไม่มีความสุขในการทำงาน งานนั้นคือความสุข การรักษาศีลคือความสุข การตั้งมั่นในสมาธิคือความสุข น้อมเข้ามาสู่พระไตรลักษณ์ เอาองค์ภาวนาที่รู้จักทุกข์รู้เหตุเกิดทุกข์รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ มันจะค่อยๆ ไปของมันเอง เมื่อเราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ พากันมาแก้ไขที่ตัวเอง เรื่องศีลคือเรื่องแก้ไขตัวเอง ด้วยการประพฤติปฏิบัติ เรื่องสมาธิก็คือเรื่องแก้ไขตัวเอง เรื่องเจริญปัญญาก็คือเรื่องแก้ไขตัวเอง ถ้าตัวเองก็ยังแก้ไขตัวเองไม่ได้ จะไปแก้ไขคนอื่นได้อย่างไร คนเราต้องปฏิบัติให้มีความสุข ถ้าปฏิบัติไม่มีความสุขก็เหมือนหน้าแล้ง หน้าแล้งที่ฝนไม่ตก ต้นไม้มันก็ไม่ออกยอดออกดอกออกใบ ต้นไม้ก็ไม่ชุ่มชื่น การปฏิบัติไม่มีความสุขมันก็เหมือนกับต้นไม้ในหน้าแล้ง พระพุทธเจ้าจึงให้เรามีความสุขในการทำงาน ในการปฏิบัติธรรมอย่างนี้แหละ อย่าให้อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมมาดึงเราไปได้
เราต้องมีความสุขในการทำงานมีความสุขในการปฏิบัติธรรม แล้วก็มีความสุขในการทำสมาธิ ท่านถึงบอกว่าสมาธิกับปัญญาต้องไปด้วยกัน ถ้ามีแต่สมาธิไม่มีปัญญา มันก็จะติดอยู่แต่ในความสุข สมาธิกับปัญญาต้องไปพร้อมๆกัน อันไหนนำหน้าก็ไม่ได้ ปัญญามากปัญญานำหน้ามันก็ฟุ้งซ่านเพราะขาดสมาธิหล่อเลี้ยง สมาธิที่มากแต่ขาดปัญญาก็จะไม่รู้พระไตรลักษณ์ เหมือนทีมนักฟุตบอลที่ไม่สามัคคีกัน ต่างก็เล่นของใครของมัน มันก็แพ้ อริยมรรคทั้ง ๘ ข้อถึงต้องไปพร้อมๆกัน พอๆกัน ไปด้วยกัน ศีลสมาธิปัญญาก็ไปด้วยกัน อยู่ในชีวิตประจำวันในปัจจุบัน จึงเป็นสติปัฏฐาน
โมหสมาธิ หรือ สมาธิหัวตอ สมาธิในลักษณะนี้มีผู้สอนและมีผู้ปฏิบัติกันอยู่มาก เอาแต่ความสงบเป็นหลัก จิตสงบก็นั่งอยู่ได้นาน ผู้ที่ทำให้จิตสงบไม่ได้ก็คิดวอกแวกไปมา คิดในเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้าง คิดถึงเรื่องอดีตบ้างคิดถึงเรื่องอนาคตบ้าง สารพัดที่จะหาเรื่องมาคิดวุ่นวายไปหมด พยายามดึงเข้ามาอยู่ในคำบริกรรมก็นึกไปได้แป๊ปหนึ่ง เดี๋ยวก็หลงไปคิดในสิ่งต่างๆ อีก เป็นอยู่อย่างนี้ไม่มีความสงบตั้งมั่นได้เลย ผู้ทำจิตมีความสงบได้ก็จะมีความสุข มีความยินดีพอใจในความสุขของความสงบนั้น จิตที่ถอนออกจากความสงบแล้ว ผู้ที่เคยได้ฝึกปัญญามาดีเตรียมไว้แล้ว ก็น้อมจิตพิจารณาในปัญญาต่อไปได้เลย บางคนเมื่อจิตได้ถอนออกจากความสงบแล้วก็มีความเสียดายในความสุขที่มีอยู่ในความสงบ อยากจะทำสมาธิให้จิตมีความสงบต่อไป พยายามทุกอย่างจะต้องทำสมาธิให้จิตมีความสงบให้ได้จะได้มีความสุขในความสงบของสมาธิ แบบนี้เองจึงเรียกว่า โมหสมาธิ มีความหลงใหลในความสุข และหลงอยู่ในความสงบจนลืมตัว ผู้ทำสมาธิต้องมีปัญญา ศึกษาให้เข้าใจ ไม่เช่นนั้น จะหลงอยู่ในความสงบสุขต่อไป จะนั่งได้เหมือนหัวตอ ไม่มีปัญญาจะนำมาพิจารณาในหลักสัจธรรมความเป็นจริงนี้เลย
การฝึกสมาธิครั้นแต่ครั้งโบราณกาลนานมา ผู้ฝึกจะต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของครูบาอาจารย์ ผู้ซึ่งสามารถล่วงรู้ภาวะจิตของเรา สามารถแก้ไขเมื่อเกิดการผิดพลาด บอกอธิบายได้ทั้งข้อดีข้อเสีย มีเครื่องป้องกันเราจากเหล่ามาร อันได้แก่ เจ้ากรรมนายเวร ภูตผีปีศาจ เปรต สัมภเวสี และเทวปุตมาร.
การปฏิบัติกรรมฐาน หาใช่นั่งไปเรื่อยๆ เพื่อให้ใจสงบเท่านั้น นั่นเขาเรียกว่านั่งขาดทุน ต้องนั่งจนสงบที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วถอยออกมาอยู่ที่อุปจารสมาธิ (สมาธิขั้นกลาง ละนิวรณ์ ๕ ประการได้) แล้วคิดพิจารณาเกี่ยวกับขันธ์ ๕ ให้เกิดปัญญา ถ้ามัวแต่อยู่ในฌาน มันจะไม่คิดอะไรมันจะเอาแต่สุขสงบอย่างเดียว ไม่เกิดปัญญาแต่อย่างใด นี่ละที่เขาว่าขาดทุน นั่งแทบตายแต่ไม่ได้ปัญญาอะไรขึ้นมาเลย ได้แต่ความสงบ ตอนถอยออกมาจากฌานนี่ละยาก เพราะมันเป็นสภาวะที่สุขมาก ใครเจอเข้าครั้งแรก มันไม่อยากจะทำอะไรอีกเลย อยากนั่งอยู่อย่างนั้นทั้งวันทั้งคืน นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการฝึกนั่งสมาธิเอาฌานสมาบัติ ฌานสมาบัติเป็นเหมือนตาข่ายดักดักพรหม
หลวงปู่ดูลย์กล่าวว่า บางท่านเข้าใจตนเองผิดก็มี เช่นตนเองติดอยู่ที่ "อสัญญีภพ" อันเป็นจุดบอดอยู่ที่ "โคตรภูญาณ" ซึ่งเป็นจุดรวมระหว่าง โลกียภูมิและโลกุตรภูมิ ติดแนบแน่นอยู่ที่ตรงนั้นโดยไม่รู้ไม่เข้าใจอะไรเลย กลับสำคัญว่าตนไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะจิตไม่เกาะเกี่ยวอะไร เกิดอวิชชาแห่งความไม่ยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา เมื่ออยู่ตามปกติก็หงอยเหงาเซาซึม เพราะจิตขาดความคล่องตัว ขาดปัญญา ยิ่งนานวันเข้าความงมโง่ก็ยิ่งเพิ่มพูน แต่ตนเองไม่รู้ตัวต้องมีคนช่วย
ครั้นหลวงปู่แนะนำ พอฟังได้ความเข้าใจก็สะดุ้งสะท้านขึ้น ค่อยรู้สึกตัว ในหลายกรณีหลวงปู่จะพูดจี้จุดแรงๆ หรือไม่ก็เป็นคำที่เข้าไปจี้ใจ กระแทกจุดจนกระทั่งจิตเคลื่อนออกจากอสัญญีภพนั้นๆ ได้
หลวงปู่บอกว่า เขาปฏิบัติมาได้ถึงขั้นนี้ ก็นับว่ามีความสามารถไม่น้อย เพียงแต่กำลังสติอ่อนไปหน่อย ไม่เหมาะสมกลมกลืนกัน ปัญญาแก้ไม่ทัน เลยตกอสัญญีภพไปอย่างน่าเวทนา พอชี้แนะคำสองคำให้เขารู้เรื่องเข้าใจ ต่อไปเขาก็แก้ไขได้เอง เมื่อเขาปรับปรุงให้กำลังแก่ธรรมทั้งมวล ผสมผสานสอดคล้องกลมกลืนกันได้ อริยมรรคสมังคี ก็ย่อมเป็นไปเองตามกฎแห่งธรรมดา
สมาธิหัวตอ คือสภาวะที่เข้าถึงฌานสมาบัติ และสามารถทรงอารมณ์ฌานไว้ได้ พูดง่ายๆ ก็เข้าฌานเป็นปกตินั่นละ ไม่ว่า ยืน เดิน นั่ง นอน มันเข้าฌานอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า เข้าฌานจนชินนั่นเอง พอเข้าฌานจนชินแล้ว ก็ไม่รู้ว่า ตัวเองทรงฌานอยู่ เวลาทรงฌานนี่ กำลังฌานมันกดกิเลสหมดเลย จะรู้สึกไม่อยากได้อะไรเลย ไม่โกรธเลย ไม่หลงเลย อะไรเข้ามา ก็รู้สึกเฉยๆ ปล่อยมันผ่านไป จนหลงคิดไปว่า ตัวเองคงสำเร็จอรหัตตผลแล้ว เป็นพระอรหันต์แล้ว คนที่หลุดเข้าไปในสภาวะเช่นนั้นแล้ว จะถอนตัวยากมาก เพราะจะเกิดความถือตัวถือตน ว่าสำเร็จแล้ว กิจที่ต้องทำไม่มีอีกแล้ว บรรลุมรรคผลขั้นสูงสุดของพระพุทธศาสนาแล้ว
คนที่หลงตัว อย่างนั้น ไม่ใช่คนเลวนะ สภาวะมันเหมือนหมดกิเลสแล้วมากๆ จนพระพุทธองค์ยังทรงบัญญัติพระวินัยไว้เลยว่า ภิกษุหลงเข้าใจว่า ตนบรรลุมรรคผล บอกอุตตริมนุสธรรมนั้นแก่ผู้อื่น ต้องอาบัติไม่ถึงปาราชิก แต่ถ้าบอกคนอื่นเพื่อหวังลาภสักการะ อย่างนี้ปาราชิกไปเลย
จึงให้เข้าใจ เราไม่ต้องไปหามรรคผลพระนิพพานที่ไหนหรอก มันอยู่ที่กายที่ใจของเราในชีวิตประจำวันนี่แหละ เรากลับมาหาตัวเองมันก็สงบ มันก็วิเวก จะได้ว่างจากทุกสิ่งที่มีอยู่ ไม่ใช่ว่างจากสิ่งที่ไม่มี ไม่อย่างนั้นมันเอาตัวเอาตน ไม่ใช่ความว่างจริง ไม่ใช่ นิพพานจริง พระพุทธเจ้าก็เป็นลูกหลานของพราหมณ์มาก่อน ที่เอาความว่างจากสิ่งที่ไม่มี เอาแต่ความสงบ จึงไม่มีปัญญาพิจารณาสู่พระไตรลักษณ์ ปัญญากับสมาธิต้องเสมอกัน ต้องก้าวไปทั้งศีลทั้งสมาธิทั้งปัญญา จะไปเอาแต่สุดยอดเอาปัญญาเลย ถ้าไม่มีศีลไม่มีสมาธิก็ไม่มีทางที่จะเหยียบไปก้าวไป เพราะนี้เป็นอันเดียวกัน จะไปแยกกันไม่ได้ เหมือนมีดเล่มหนึ่ง ทุกอย่างมันก็อยู่ในเล่มเดียวกัน ทั้งตัวมีดคมมีดสันมีดด้ามมีด อยู่ด้วยกันไปแยกกันก็ใช้ไม่ได้ ถ้าไปแยกศีลสมาธิปัญญาออกจากกันนั่นก็ไม่ใช่พุทธะ ทุกคนต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ ทุกคนนี้ถือว่าโชคดี มีโอกาสพิเศษ เราต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราปฏิบัติอย่างนี้ก็ยิ่งมีความสุขไม่เครียด การปฏิบัติธรรมนี้มันไม่เครียด ที่เราเอาตัวตนมันถึงเครียด
ทุกคนต้องมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ ถ้าอย่างงั้นมันไม่ได้ อิทธิพลสิ่งเเวดล้อมมันจะคุมเราไว้ บางที่เราถูกคุมด้วยประการต่างๆ ร่างกายมันคุมเรา ความเจ็บความเเก่ความตายมันคุมเรา เราไม่รู้จักว่าอันนี้เค้าเอาขุมทรัพย์มาให้เรา บางทีเรายังไม่เข้าใจ เราทำอะไรอย่างนี้ เรายังทำไม่เข้าถึงพระนิพพาน เพียงเเต่เราทำเพื่อไม่ให้ครูบาอาจารย์ว่าให้เรา เพื่อนว่าให้เรา ญาติโยมว่าให้เรา มันคุมเรา ถ้าเราเอาพระนิพพานเเล้ว อย่างนี้ไม่มีใครว่าใคร อย่างหลวงปู่มั่นท่านไม่กลัวใครว่าให้ท่านหรอก ก็เพราะว่าท่านเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ ผู้ที่ท่านเป็นพระพุทธเจ้า ผู้ที่ท่านเป็นพระอริยเจ้า หรือเป็น พระอรหันต์ ก็เช่นเดียวกัน
เราพากันกลัวอะไรล่ะ เวลานั่งสมาธิอยู่ที่กุฏิตัวเอง นั่งหลับเลย เพราะอยู่ที่ส่วนรวมกลัวครูบาอาจารย์ อายเพื่อน มันไม่ได้ฝึกตัวเอง
เจ้าอาวาสต่างๆ ถ้าเราพระธรรม เอาพระวินัย เอามรรคผลนิพพานเป็นที่ตั้ง วัดมันจะไม่มีปัญหา จะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับพระผู้ประพฤติปฏิบัติด้วยกัน จะไม่มีปัญหาระหว่างประชาชน เพราะเราเอาธรรม เอาความยุติธรรม ที่มันมีปัญหาก็เพราะว่า เราไม่ได้เอาใจ มันก็เลยมีปัญหา มัวเเต่เเต่งองค์ทรงเครื่อง แต่งเฟอร์นิเจอร์ หลอกลวงคนอื่นอยู่ เเต่มันหลอกลวงตัวเองไม่ได้
การปกครองอะไรก็เหมือนกัน ถ้าพ่อเเม่เอาความถูกต้อง เอาศีลเอาธรรม ลูกหลานก็ฟัง ลูกหลานก็ไม่เถียง เพราะลูกหลานตาก็มี หูก็ฟังอยู่ มันได้ทั้งจิตใจ ได้ทั้งคุณธรรม ได้ทั้งโภคทรัพย์สมบัติ ข้าวของเงินทอง เราถึงต้องเข้าถึงความสุขความดับทุกข์เป็นทีม เราถึงจะได้ส่งไม้ผลัดสู่รุ่นน้อง สู่ลูกสู่หลานได้ ทุกๆ คนต้องพากันรู้จักใจตัวเอง พากันรู้จักอารมณ์ตัวเอง เพราะเราไม่รู้เรื่องอะไร อย่างนี้ยิ่งเหมือนกันกับที่กล่าวเมื่อวาน ยิ่งเเก่ก็ยิ่งทุกข์ทั้งทางกาย เเละ ทุกข์ทั้งทางใจ ทำไมทุกข์ทางใจ เพราะใจมันไม่อยากให้ร่างกายเป็นอย่างนี้ ไม่อยากให้ลูกมันเป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้หลานมันเป็นอย่างนี้ มัวเเต่ห่วงอย่างนี้ เราอย่าพากันมีทิฏฐิมานะอัตตาตัวตนมาก ทุกคนต้องพากันมาเสียสละ มันจะได้เปลี่ยนเเปลงกันไปเร็วๆ
ใจเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ผุดผ่องปราศจากความโลภ โกรธ หลง สิ่งที่เราดีใจ เสียใจ ชอบ ไม่ชอบ โกรธ เกลียด สงบ ฟุ้งช่าน วิตกกังวลในเรื่องอดีตอนาคต อันนี้เป็นอารมณ์ เป็นอุปาทาน ใจนี้เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญปราศจากเมฆหมอก สว่างไสว แต่เมฆหมอกมาผ่านไปทำให้มืดมัว
พระพุทธเจ้าจึงสอนเราทำใจสบาย คือหายใจเข้าออกสบาย "เราไม่มีหน้าที่ให้สงบหรือไม่สงบ เรามีหน้าที่หายใจเข้าออกสบาย" เราไม่มีหน้าที่ ที่เราจะไปจัดไปทำ ไปห้ามเกิด แก่ เจ็บ ตาย นินทา สรรเสริญ
เรามีหน้าที่หายใจเข้าออกสบายอย่างเดียว หายใจเข้าออกสบายเข้าไว้ ทุกๆ อิริยาบถ อย่าไปวุ่นวายอะไร ปกติตาก้าวก่ายหู หูฟังเสียงวุ่นวายไปหมด “สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง” ให้รู้จักความปรุงแต่ง เหมือนกับเขาปลูกบ้าน เขาหาเสา เหล็ก ไม้มาปลูกบ้าน ให้รู้จักว่านี่คือความปรุงแต่ง เป็นนั่นเป็นนี่ เป็นความยึดความถือ เราต้องฝึกใจของเราให้สงบ เมื่อมันจำเป็นเราจึงค่อยเอาระบบสมอง ระบบปัญญามาปรุงแต่งใช้การใช้งาน คล้ายกับเรานำสิ่งของมาใช้งาน เสร็จแล้ว เราก็เก็บเข้าที่ไว้ ไม่อย่างนั้นจิตใจของเราไม่มีกำลัง
พระพุทธเจ้าถึงให้เราเดินทางสายกลางไม่ให้เราปฏิบัติตามความชอบไม่ชอบ ให้เรามีหน้าที่ก็ทำไปเดี๋ยวผลก็ออกมาเอง ทำประโยชน์ต่อตนเอง ต่อคนอื่น ต่อส่วนรวม ไม่มีความเห็นแก่ตัว ส่วนมากเรามาบวชเรามานั่งสมาธิ เราก็อยากให้สงบ พระพุทธเจ้าครูบาอาจารย์บอกว่า เราไม่ต้องการสงบหรือไม่สงบ เรามีหน้าที่ทำก็ทำไป ตัวอย่าง พระอานนท์เถระเมื่อการทำสังคายนาครั้งแรก พระอานนท์องค์เดียวที่ยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ตลอดทั้งคืนก็ไม่บรรลุธรรม จนวางภาระทอดธุระ ไม่บรรลุก็ช่างมัน ท่านถึงบรรลุธรรมได้เป็นพระอรหันต์
เรามีหน้าที่ทำก็ทำไป ส่วนมากทำน้อยก็อยากได้มาก เห็นแก่ตัว ไม่เคยทำใจให้สงบแต่ก็อยากสงบ วันหนึ่งๆ ใจอยู่ข้างนอก ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ๕๐ เปอร์เซ็นต์จะมานั่งให้สงบเลยมันเป็นไปไม่ได้ เราต้องค่อยๆ ทำไป และต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริง พระพุทธเจ้า ให้พิจารณา เกสา โลมา นขา ทนุตา ตโจ เพื่อให้เกิดความปล่อยวาง ว่าง สุข เอกคัคตา เพื่อสัมผัสกับธรรมะ
พิจารณาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ภาวนาไปพิจารณาไป ต้องอาศัยการภาวนา พิจารณาให้มันเกิดปัญญา ให้เห็นความไม่แน่นอน ไม่เที่ยง เปลี่ยนไปทุกลมหายใจ เคยอยู่ด้วยกันก็จากกัน เขาเคยชอบก็ไม่ชอบ เปลี่ยนไปเรื่อย กรรมฐาน ๕ ที่กุลบุตรลูกหลานบวชมาพระอุปัชฌาย์ต้องให้กรรมฐาน ถ้าอุปัชฌาย์ไม่ให้เองก็ต้องมอบหมายให้พระกรรมวาจาหรือครูอาจารย์ให้บอกกรรมฐานทั้ง ๕ ประการ มี เกสา โลมา นขา ทนุตา ตโจ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ถ้าเราไม่ซึ้งในพระธรรมของพระพุทธเจ้า เราก็นึกว่าเป็นเพียงระเบียบประเพณีเฉยๆ แต่ความจริงแล้วสำคัญมาก
กรรมฐานนี้เองที่จะทำกุลบุตรลูกหลานให้เป็นพระอริยเจ้าได้ ที่เรามีความโลภ ความโกรธ ความหลงเต็มอยู่ในใจของเรานี้ ก็เพราะเรามี สักกายทิฏฐิ คือความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนของเรา เมื่อมีตัวเราก็มีของของเรา เพื่อนของเรา แบ่งเป็นพวกเราพวกเขา
ท่านจึงให้พระภิกษุสามเณร หรือผู้ที่จะบำเพ็ญเป็นพระอริยเจ้าให้พิจารณาร่างกายของเรานี้แยกออกเป็นชิ้นเป็นส่วน พิจารณาดูให้ชัดเจนว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังนี้มันเกิดจากอะไร พิจารณาคลี่คลายด้วยความตั้งใจจดจ่อต่อเนื่อง เพียรพยายามแยกออกเป็นส่วนๆ แยกเอาผมออก เอาขนออก เอาหนังออก เอาเนื้อออกให้เห็นเป็นโครงกระดูกชัดเจน พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีก พิจารณาแล้วพิจารณาอีกด้วยความตั้งใจ มีสติจดจ่อต่อเนื่องกับงานของเรา
ให้เราทำงานการพิจารณารื้อถอนภพชาติของเรานี้ เหมือนกับที่เราพากเพียรพยายามศึกษาเล่าเรียน เราท่องหนังสือด้วยความตั้งใจหลายครั้ง ทบทวนกลับไปกลับมา จนจำได้ขึ้นใจฉันใด เราก็ต้องพิจารณากายให้ทะลุทะลวง ชัดเจนแจ่มแจ้งประจักษ์ในใจของเรา ในร่างกายทุกส่วน อวัยวะทุกชิ้นในร่างกายของเรา ภาวนาฬิจารณาจนจิตใจของเราเข้าสู่ฐานของความสงบ ครูบาอาจารย์ท่านว่าอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้
ที่เรายังมีความรัก โลภ โกรธ หลงอยู่เต็มใจ แสดงว่าเราภาวนาน้อยพิจารณาน้อย ถ้าสมมุติว่าเราเรียนหนังสือในโรงเรียน เรายังสอบไม่ผ่านยังสอบตกซ้ำชั้นอยู่ มันต้องผ่านครูบาอาจารย์ท่านว่ามันต้องผ่านเป็นขั้นๆ ไปตั้งแต่ ป.๑ ป.๒ ป.๓ ไปเรื่อย ผ่านไปตามขั้นตอนไปคิดเอาเอง คาดเดาเองไม่ได้ มันต้องภาวนาพิจารณา พระพุทธเจ้าท่านให้กรรมฐานทั้ง ๕ ประการมา ต้องมีความหมายที่ลึกซึ้งแน่นอน ใครที่บวชเข้ามาต้องให้เรียนกรรมฐาน ถ้าอุปัชฌาย์ไม่บอกกรรมฐานก็ต้องอาบัติ นี้แสดงว่าต้องสำคัญมาก
จุดที่จะระเบิดถล่มทลายภพชาติมันก็เริ่มจากตัวนี้เอง คือการพิจารณากายจนชำนิชำนาญ สำหรับผู้ปฏิบัติแล้วเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่สุดกว่างานใดๆ คืองานของจิตใจที่พิจารณาละสักกายทิฏฐิ
เมื่อครั้งปฏิบัติในพรรษาต้นๆ อยู่ที่บ้านสวนกล้วย ได้พิจารณากายอยู่ตลอดเวลาทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ทุกๆ ขณะจิต จนสามารถแยกแยะร่างกายออกเป็นส่วนๆ จนสลายไปได้ พิจารณาจนจิตใจสงบร่มเย็นมาก จิตใจเข้าสู่ฐานที่ตั้งของจิตเดิมได้อย่างสนิทแนบแน่น ไม่ หวั่นไหวกับอารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบ
เมื่อได้พิจารณาจนเข้าใจแจ่มแจ้งในกองสังขารนี้แล้ว จึงได้ให้พวกเราพยายามพิจารณากายให้มาก เจริญให้มาก ทำให้มาก จดจ่อต่อเนื่องไปไม่ขาดระยะขาดตอน หรือบางคนพิจารณาเวทนา จิต ธรรม ในส่วนนี้หากเป็นผู้มีอินทรีย์บารมีอ่อน ก็กลายเป็นสังขารปรุงแต่งคิดคาดเดาเอาเองไปได้
จึงให้มาพิจารณากายของเรานี้เป็นอารมณ์ตลอดเวลา เพื่อจิตใจจะได้เข้าในสภาวธรรมตามความเป็นจริง ละสักกายทิฏฐิ คือละความยึดถือในตัวตนของตนและคนอื่นๆ ให้จิตใจเข้าสู่ฐานของความสงบเป็นลำดับไป จนสามารถพังทลายตัวอวิชชา คือความไม่รู้เท่าทันความจริงของสังขารทั้งหลายได้ ให้จิตใจตกกระแสพระนิพพาน เป็นดวงใจที่รู้ ตื่น เบิกบาน เป็นพุทโธ พุทธะเต็มดวงใจของเรา
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee