แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๔๙ ในชีวิตประจำวันของเราต้องกลับมาหาศีล กลับมาหาธุดงควัตร เพื่อขัดเกลาขูดเกลาจิตใจ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ให้ผู้ประพฤติผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้พากันเข้าใจ จับประเด็นในการประพฤติปฏิบัติให้มันได้ เข้าสู่ภาพประพฤติภาคปฏิบัติที่เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา ต้องมีความสุขมีฉันทะมีความพอใจในการประพฤติปฏิบัติ ปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ เราทุกคนน่ะ ต้องมีความสุขในการรักษาศีล เพราะศีลนั้นคือความสุข เพราะศีลนั้นไม่ใช่นิติบุคคลไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ศีลนั้นคือธรรมะ ธรรมะนั้นคือศีล ทุกคนต้องมีความสุขในการรักษาศีล มีความตั้งใจตั้งเจตนาสละคืนซึ่งตัวซึ่งตน ซึ่งสักกายะทิฏฐิ ถ้าเรามีความสุขในการรักษาศีล ธรรมะคือสมาธิปัญญาถึงจะเกิดได้ เพราะศีลนั้นเป็นเรื่องจิตเรื่องใจ ถ้าเราไม่มีความสุขในการรักษาศีลทางจิตใจ ผู้นั้นก็ย่อมมีความฟุ้งซ่าน ไม่มีความสุข ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ศีลนี่แหละมันจะหยุดความฟุ้งซ่านของเราทุกคน ทุกคนต้องตั้งใจตั้งเจตนามีความสุขในการรักษาศีล เน้นไปที่จิตที่ใจ เราจะได้มีความคิดมีความดำริออกจากอวิชชาความหลง ดำริออกจากกาม ออกจากพยาบาท ศีลนั้นน่ะจะหยุดวัฏสงสาร หยุดการเวียนว่ายตายเกิดของเราทุกคน ศีลจึงเป็นความสุขความดับทุกข์ ศีลนั้นเป็นพื้นฐานรองรับให้เกิดสัมมาสมาธิ ศีลของพระภิกษุทำไมมีมากมาย ตั้ง ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพราะเป็นเรื่องจิตเรื่องใจ เป็นเรื่องหยุดในเรื่องกรรมเรื่องเวรเรื่องภัย ให้กับทุกๆท่าน เราจึงต้องมีความสุขในการรักษาศีล นั้นเน้นเรื่องจิตเรื่องใจ ไม่ใช่แบบกฎหมายบ้านเมือง ทุกคนต้องประพฤติปฏิบัติเอง ไม่มีใครประพฤติปฏิบัติแทนกันได้จึงต้องจับประเด็นในข้อนี้ให้มันได้ ถ้าไม่อย่างนั้นท่านจะไม่รู้หรอกในการประพฤติปฏิบัติ การปฏิบัติมันก็ไม่ถูกต้อง ความตั้งมั่นในศีลในข้อวัตรข้อปฏิบัติถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ พระพุทธเจ้ายังบอกสอนถ้าศีลยังเข้มข้นไม่พอก็ให้ปฏิบัติธุดงควัตร
ธุดงค์ในพระพุทธศาสนานั้น ถือเป็นข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสให้เบาบาง ฝึกฝนอบรมตนเพื่อให้เข้าถึงการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานยกระดับจิตสู่โลกุตตระ มุ่งปฏิบัติเข้าสู่เป้าหมายสูงสุดคือ พระนิพพาน ธุดงค์ มาจากคําบาลีว่า ธุตงฺค เกิดจาก ธุต + องฺค อังคะ หรือ องค์ แปลว่า “องค์ประกอบ หน่วย หรือหัวข้อ” ในที่นี้หมายถึง “คุณสมบัติ” หรือจะแปลว่า “ข้อปฏิบัติ” ก็ได้ คือเป็นข้อปฏิบัติในการฝึกตน หรือคุณสมบัติของผู้ที่ฝึกตนซึ่งแยกเป็นข้อๆ ส่วน ธุต แปลว่า “ผู้ขัดเกลากิเลส” ดังนั้น ธุดงค์ นี้ จึงแปลว่า “คุณสมบัติของผู้ขัดเกลากิเลส หรือข้อปฏิบัติของผู้ขัดเกลากิเลส” หมายความว่าสำหรับพระ (โยมก็ได้บางข้อ) จะได้เอามายึดถือปฏิบัติ เพื่อจะได้ขัดเกลากิเลสของตน ซึ่งจะช่วยให้มีชีวิตอย่างพระได้ดี คือ มีชีวิตที่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม หรือทำหน้าที่ของพระ เช่นเจริญสมถะวิปัสสนามุ่งหน้าไป
พระมีชีวิตอย่างไรที่เหมาะจะเป็นชีวิตของพระ ก็คือมักน้อยสันโดษ และธุดงค์ก็เน้นคุณสมบัติข้อที่เด่น คือเน้นให้มีความมักน้อยสันโดษนี่แหละ ธุดงค์จึงเป็นข้อปฏิบัติของผู้ที่ขัดเกลากิเลสโดยตัวเองที่มุ่งจะเป็นอยู่อย่างมักน้อยสันโดษ ที่ว่ามักน้อยสันโดษ ก็คือไม่ยุ่งกับเรื่องไปเที่ยวหากิน แสวงหาข้าวของลาภผล จะได้มุ่งมาทำงาน ทำกรรมฐาน มาอยู่กับกิจหน้าที่ของตนเอง คือประพฤติปฏิบัติในศีลสมาธิปัญญา เจริญไตรสิกขาไป พระนี้ พอมักน้อยสันโดษ ก็ทำงานของตนเองได้เต็มที
ธุดงค์ เป็นวัตรปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ ไม่มีการบังคับ แล้วแต่ผู้ใดจะสมัครใจปฏิบัติ เป็นอุบายวิธีกำจัดขัดเกลากิเลส ทำให้เกิดความมักน้อยสันโดษยิ่งขึ้น ไม่สะสม เพื่อให้เบาสบายไปมาได้สะดวกด้วยไม่มีภาระมาก เหมือนนกที่มีเพียงปีกก็บินไป มิใช่เพื่อสะสมหรือเพื่อลาภสักการะและชื่อเสียง ถ้าทำเพื่อลาภ เพื่อชื่อเสียง ต้องอาบัติทุกกฏ
หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ กล่าวว่า คำว่า “ธุดงค์” หรือ “ธุดงควัตร” แปลว่า ข้อปฏิบัติอันเป็นเครื่องขจัดความมักมาก ย่อมมีความมุ่งหมายในอานิสงส์ ๒ ประการ โดยเจาะจง คือ ความไม่ยุ่งยากลำบากและความไม่ส่งเสริมกิเลส
ธุดงค์มีความสำคัญต่อผู้ปฏิบัติหรือโยคีบุคคลอยู่ไม่น้อย ในอันที่จะฝึกฝนตนเองด้วยเป็นอุบายขัดเกลากิเลสให้เหือดแห้ง ตั้งอยู่ในความเพียร ทำให้ธุตธรรมและอริยธรรมเจริญขึ้น เพิ่มพูนสัมมาปฏิบัติ ส่งผลให้การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานของผู้ปฏิบัติได้ผลอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ในธุตังคนิเทศ ว่า บุคคลสมาทานศีลแล้วจะต้องทำการสมาทานเอาธุดงค์ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อที่จะทำคุณทั้งหลาย มีความเป็นผู้มักน้อยและความเป็นผู้สันโดษ เป็นต้น อันเป็นเครื่องผ่องแผ้วของศีลให้สมบูรณ์ และเมื่อทำการสมาทานเอาธุดงค์เช่นนี้แล้ว ศีลของท่านซึ่งถูกชำระล้างมลทินแล้วด้วยน้ำคือ คุณมีความเป็นผู้มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลากิเลส ความสงัด ความไม่สั่งสมกิเลส การปรารภความเพียรและความเป็นผู้เลี้ยงง่าย เป็นต้น ก็จักเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ด้วยดี กับทั้งพรตทั้งหลายของท่านอันหาโทษมิได้เช่นนี้ ดำรงตนอยู่ในอริยวงศ์อันเป็นของเก่าแก่ ๓ ประการ คือ ความสันโดษในจีวร ความสันโดษในบิณฑบาต ความสันโดษในเสนาสนะตามมีตามได้ แล้วจักเป็นบุคคลสมควรเพื่อจะบรรลุอริยวงศ์ประการที่ ๔ ซึ่งได้แก่ ความเป็นผู้ยินดีในภาวนา คือสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา
ด้วยเหตุที่ธุดงค์มีความสำคัญโดยประการดังกล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงอนุญาตธุดงค์ไว้สำหรับกุลบุตรทั้งหลายผู้สละโลกามิสแล้ว ผู้ไม่เสียดายอาลัยในร่างกายและชีวิต ผู้ปรารถนาจะทำข้อปฏิบัติอันสมควรแก่นิพพานให้ถึงพร้อมแก่ฐานะที่ตนพึงมี ผู้ปฏิบัติหรือกุลบุตรทั้งหลายผู้สละโลกามิสไม่เสียดายอาลัยในร่างกายและชีวิต ปรารภความเพียรอย่างแรงกล้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา จึงได้ปฏิบัติตนโดยการถือธุดงค์อย่างเคร่งครัด ฝึกฝนตนเองตามหลักการแห่งธุดงควัตรอย่างใดอย่างหนึ่งหรือถือปฏิบัติขณะเดียวกันหลายๆ ข้อก็ได้ ซึ่งการฝึกฝนตนเองด้วยการปฏิบัติธุดงค์อย่างเคร่งครัดนั้นเป็นหนทางที่จะนำตนไปสู่เป้าหมายอันสูงสุดได้โดยไม่ยาก อย่างน้อยก็จะทำให้ผู้ปฏิบัติเป็นผู้มีธุตธรรม ๕ ประการ คือ ธรรมที่เป็นเครื่องขัดเกลากิเลสของผู้ปฏิบัติธุดงค์มี ๕ ประการด้วยกันคือ ๑. ต้องเป็นผู้มักน้อย ๒. มีความสันโดษ ๓. เพื่อขูดเกลากิเลส ๔. มีความยินดีในที่สงัด และ ๕. ความเป็นผู้เห็นประโยชน์ในการภาวนา เพราะอาศัยความเป็นผู้มีความมักน้อยเป็นต้นนี้ กุลบุตรทั้งหลายจึงสามารถปฏิบัติฝึกฝนตนเองในธุดงควัตรได้อย่างสะดวกและบรรลุเป้าหมายตามที่ตนต้องการได้
ธุดงควัตร เป็นวิธีบำเพ็ญตบะ มีข้อปฏิบัติที่พระภิกษุนิยมบำเพ็ญกัน เป็นการฝืนความต้องการของกิเลสเพื่อไล่กิเลสออกจากใจ มีด้วยกัน ๑๓ ประการ เรียกว่าธุดงควัตร พระภิกษุที่บำเพ็ญธุดงควัตร เราเรียกท่านว่า พระธุดงค์ แต่ธุดงควัตรนี้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะพระภิกษุ แม้ฆราวาสก็ปฏิบัติได้เป็นบางข้อ แบ่งเป็น ๔ หมวด ให้เลือกปฏิบัติได้ตามกำลังศรัทธา คือ
หมวด ที่ ๑ เกี่ยวกับเครื่องแต่งตัว ๑. ใช้แต่ผ้าบังสุกุลที่ชักมาได้เท่านั้น แม้จะได้มาทางอื่น เช่นมีคนถวายให้กับมือก็ไม่ใช้
๒. ใช้เฉพาะผ้าไตรจีวรเพียง ๓ ผืนเท่านั้น คือมีสบง จีวร สังฆาฏิ อย่างละผืน ใช้ผ้าอื่นๆ อีกนอกจาก ๓ ผืนนี้ไม่ได้
เราลองคิดดู ทำถึงขั้นนี้แล้ว กิเลสมันจะร้อนตัวสักแค่ไหน คนนิสัยขี้โอ่ อวดมั่งอวดมี รักสวยรักงามพิถีพิถันกับเครื่องแต่งตัวจนเกินเหตุ ชนิดที่เสื้อผ้าเป็นตู้ๆ ก็ยังไม่พอใจนั้น เจอธุดงค์ ๒ ข้อนี้เข้าก็สะอึกแล้ว
หมวด ที่ ๒ เกี่ยวกับการกิน ๑. ฉันแต่อาหารที่บิณฑบาตมาได้เท่านั้น ใครจะใส่ปิ่นโตใส่หม้อแกงมาถวายที่วัดก็ไม่ฉัน บิณฑบาตมาได้เท่าไรก็ฉันเท่านั้น
๒. เดินบิณฑบาตไปตามลำดับตรอกหรือหมู่บ้านในแนวที่กำหนดไว้เท่านั้น ไม่ใช่มานึกๆ เอาว่า ไปบ้านนั้นจะได้มาก บ้านนี้จะได้น้อย เลยเลือกทางเดินบิณฑบาตเป็นบางบ้านตามใจชอบ อย่างนั้นไม่ได้
๓. ฉันอาสนะเดียว คือถ้าฉันเสร็จ ลุกจากอาสนะแล้ว ก็ไม่รับประท่าอาหารอีก ไม่ฉันอะไรอีก ซึ่งก็เท่ากับฉันวันละมื้อเดียว เรียกกันว่า “ฉันเอกา”
๔. ฉันสำรวม คือฉันอาหารในบาตร ไม่ใช้ภาชนะอื่น เอาอาหารทั้งหมดทั้งคาวทั้งหวานใส่ลงรวมกันในบาตรแล้วฉัน
๕. เมื่อลงมือฉันแล้วไม่รับประเคนอีก ใครจะนำอาหารมาถวายให้อีกก็ไม่รับ
ทั้ง ๕ ข้อนี้เป็นตบะเกี่ยวกับการกิน ใช้แก้นิสัยตามใจปากตามใจท้อง ไม่ต้องพูดถึงว่าจะลักเขากิน โกงเขากิน แม้แต่ของที่ได้มาดีๆ นี่แหละ ก็ตัดความฟุ้งเฟ้อลง พวกนิสัยกินจุบกินจิบ จะกินนั่นจะกินนี่ พิรี้พิไรไม่รู้จักกระเป๋าของตนเอง ตลอดจนกิเลสประเภทที่ยุใจเราให้ทำผิดเพราะเห็นแก่ปากแก่ท้อง พอเจอธุดงค์ ๕ ข้อนี้เข้าก็งง
หมวด ที่ ๓ เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ๑. อยู่ในป่านอกละแวกบ้านเท่านั้น ไม่มาอาศัยอยู่ตามแหล่งชุมชน ๒. อยู่ตามร่มไม้เท่านั้น ไม่อาศัยอยู่ในเรือน ไม่อาศัยนอนในกุฏิศาลาปักกลดนอนใต้ร่มไม้กันเลย ๓. อยู่กลางแจ้งเท่านั้น ในกุฏิก็ไม่นอน ใต้ร่มไม้ก็ไม่นอนกันละ ปักกลดนอนกลางแจ้งกันเลย ๔. อยู่ในป่าช้าเท่านั้น เข้าปักกลดนอนในป่าช้ากันเลย จะนั่งนอนบนหลังโลงศพ หรือปักกลดนอนใต้ต้นไม้ในป่าช้าก็เอา ๕. อยู่ในที่ที่คนอื่นจัดให้ ไม่เลือกที่อยู่ เขาจัดให้พักที่ไหนก็พักที่นั้น
โปรดพินิจดู เรื่องโกงที่โกงทาง ดื้อแพ่งเพราะที่อยู่ ไม่ต้องพูดถึงกันเพียงแค่นิสัยติดที่ ชอบที่นอนนุ่มๆ บ้านหรูๆ เครื่องอำนวยความสะดวกพร้อม กิเลสเรื่องที่อยู่อาศัยพอเจอธุดงค์ ๕ ข้อนี้เข้าก็เผ่นหนีกันกระเจิง
หมวด ที่ ๔ เกี่ยวกับการดัดนิสัยเกียจคร้าน
๑. อยู่ในอิริยาบถ ๓ คือยืน เดิน นั่ง ไม่นอน ง่วงมากก็ยืน เดิน อย่างมากก็นั่งหลับแต่ไม่ยอมนอน ไม่ให้หลังแตะพื้น คือการถือเนสัชชิก
หมวดที่ ๔ นี้มีอยู่ข้อเดียว พวกที่ติดนิสัยขี้เกียจ พอเจอธุดงค์ข้อนี้เข้าก็หาย พวกใครมีนิสัยชอบผัดวันประกันพรุ่ง จะลองรักษาธุดงควัตรข้อนี้ดูบ้างก็ดีเหมือนกัน จะรักษาสัก ๑ วัน ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน ก็ตามกำลัง สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมทำสมาธิ ถ้าใจเริ่มสงบแล้วการอยู่ในอิริยาบถ ๓ นี้ จะทำให้สมาธิก้าวหน้าเร็วมาก และถ้าสมาธิดีก็จะไม่ง่วง มีพระภิกษุบางรูปรักษาธุดงควัตรข้อนี้ได้นาน ๓ เดือน ๗ เดือนก็มี บางรูปรักษาตลอดชีวิต เช่น พระมหากัสสปะ ท่านอยู่ในอิริยาบถ ๓ ยืน เดิน นั่ง ไม่นอนได้ตลอดชีวิตโดยไม่ง่วงเลย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรง ยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะทางอยู่ธุดงค์
ทั้งหมดนี้รวมเป็นธุดงควัตร ๑๓ ข้อ จัดเป็นตบะชั้นยอดในพระพุทธศาสนา ความมุ่งหมายเพื่อจะกำจัดกิเลสออกจากใจให้เด็ดขาด ในทางปฏิบัติใครจะเลือกทำข้อใดบ้างก็ได้ และจะทำในระยะใดก็ให้ตั้งใจอธิษฐานสมาทานธุดงค์เอา
ในชีวิตประจำวันของเราต้องกลับมาหาศีล กลับมาหาธุดงควัตร กลับมาหาข้อวัตรข้อปฏิบัติ ทุกท่านทุกคนจะไปทำตามความหลงความฟุ้งซ่านมันไม่ได้ ต้องปฏิบัติให้ติดต่อต่อเนื่องทุกๆ อิริยาบถ มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าความสุขความปิติเบิกบานใจไม่มี มันเป็นความแห้งแล้ง ความแห้งแล้งเป็นความยากจน เห็นไหมในหน้าแล้งมันไม่มีพืชพันธุ์ธัญญาหาร ออกดอกออกผลก็ไม่ได้ การประพฤติปฏิบัติของเราถ้าไม่มีศีลเป็นพื้นฐาน มันก็แห้งแล้ง มันไม่เกิดปิติไม่เกิดสุขเอกัคคตา ไม่เกิดความเป็นหนึ่งไม่เกิดความตั้งมั่น พระพุทธเจ้าทรงบอกสอนเราให้มีสมาธิในทุกอิริยาบถ เพื่อใจของเราจะได้ไม่มีนิวรณ์ ตั้งอยู่ในขณิกสมาธิ มีความสุขอยู่ที่สัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง จึงเป็นความปิติสุขเป็นความอุดมสมบูรณ์ มันทำให้มีชีวิตชีวา ชีวิตอุดมไปด้วยความสุขความดับทุกข์ เพราะเข้าถึงธรรมถึงปัจจุบันธรรม เหมือนน้ำผึ้งที่อร่อยที่สุดในโลก มันจะเย็นเป็นแอร์คอนดิชั่นอยู่ในใจ เป็นชีวิตที่สงบอบอุ่น มันจะหยุดความฟุ้งซ่าน หยุดเรื่องกามเรื่องพยาบาทเรื่องตัวเรื่องตน ที่ทุกคนมันมีจิตใจหยาบจิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว สัมมาสมาธิต้องอยู่กับเราทุกๆ อิริยาบถ เป็นปีติเป็นความสุขเป็นเอกัคคตา ใจของเราก็มีพลัง ถ้าเรากลับมาหาศีลกลับมาหาสมาธิ ใจของเราก็เป็นธรรมเป็นวินัย ใจก็สงบเย็น
พระพุทธเจ้าท่านสอนให้น้อมทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่พระไตรลักษณ์ ทุกอย่างนั้นมันย่อมเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เหมือนลมหายใจเข้าลมหายใจออก อาหารใหม่เข้ามาอาหารเก่าก็จากไป ทุกอย่างนั้นไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันเป็นแต่เพียงเหตุเป็นปัจจัย พระพุทธเจ้าทรงบอกทรงสอนให้ยกผัสสะที่เกิดจากอายตนะภายในภายนอก โดยอาศัยศีลอาศัยสมาธิความตั้งมั่นอาศัยปัญญา อาศัยข้อวัตรข้อปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เราเห็นตัวอย่างแบบอย่างพระพุทธเจ้านั้นท่านทำให้ดูปฏิบัติให้ดูจนเป็นพระพุทธเจ้า เราดูแบบอย่างพระอรหันต์ที่ท่านปฏิบัติจนเป็นพระอรหันต์ สระซึ่งตัวตนไม่มีตัวไม่มีตน มีแต่ศีลสมาธิปัญญารู้แจ้งตามความเป็นจริง เข้าพระนิพพานตั้งแต่ยังไม่ตาย นำธรรมะของจริงของแท้มาบอกมาสอนประชาชนเพื่อให้รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ที่เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม
เราทุกคนให้พากันรู้จักนะ เรามาเอาร่างกายนี้ที่มีชีวิตอยู่ได้ไม่เกินร้อยปี ทุกคนก็ต้องจากโลกไป เพราะทุกอย่างมันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันเป็นธรรมะเป็นสภาวะธรรม การปฏิบัติของเราเป็นเรื่องรีบด่วน มีคนมาถามพระพุทธเจ้าว่า ตายแล้วได้เกิดหรือไม่ได้เกิด พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้เอาปัจจุบัน เพราะปัจจุบันเป็นเรื่องรีบด่วน เหมือนบุรุษถูกประหารด้วยหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ
เราทุกคนต้องเข้าถึงความดับทุกข์ทั้งทางกายและทางใจในปัจจุบัน ใจกับกายต้องไปพร้อมกัน การเดินทางของเราต้องเดินทั้งทางกายและจิตใจ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเกิดจากเหตุเกิดจากปัจจัย เราต้องเน้นที่ปัจจุบัน ต้องมีความสุขในการรักษาศีลมีความสุขในการทำสมาธิปฏิบัติสมาธิ ให้เป็นสัมมาสมาธิให้ตั้งมั่น การเจริญสมาธิเพื่อเราจะได้ไม่เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ถ้าเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้งสมาธิก็จะไปได้แค่พรหมโลก ยังไม่ใช่พระพุทธศาสนา ยังไม่ใช่อริยมรรคมีองค์ ๘ ครูบาอาจารย์ก็หลงสมาธิกันมาก่อน เพราะสมาธิก็มีความสุขมีความสงบ หลวงปู่มั่นเลยบอกลูกศิษย์ว่าสมาธิไม่ใช่พระนิพพาน อันนั้นเป็นความสงบเฉยๆ มันเป็นตัวเป็นตน มันเป็นหนึ่งมันสงบมันเย็น ความสงบความเย็นความอบอุ่นนั้นเป็นความยึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่สัมมาสมาธิ เมื่อออกจากสมาธิมาเจอผัสสะ อายตนะภายในมาสัมผัสอายตนะภายนอก ยังเอาธาตุเอาขันธ์เป็นเราอยู่ สมาธิมันก็เสื่อม เพราะไม่ใช่สัมมาสมาธิในอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่ได้ยกจิตยกใจเข้าสู่พระไตรลักษณ์ พระพุทธเจ้าท่านจึงได้บอกสอนสมาธิกับปัญญาต้องไปเสมอกัน เหมือนโคคู่เทียมเกวียนมันต้องเดินเสมอกัน ก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ท่านเข้าฌานที่ ๑ จนถึงฌานที่ ๘ ย้อนกลับไปกลับมา จนกระทั่งดับขันธปรินิพพานในระหว่างรูปฌานกับอรูปฌาน
เพราะปัญญาความหลุดพ้นเป็นเรื่องสัมมาทิฏฐิ ด้วยเหตุนี้ทุกท่านทุกคนอย่าพากันฟุ้งซ่าน ต้องรักษาศีลมีความสุขในสัมมาสมาธิ ไม่ไปแก้ที่ภายนอกไม่เพลิดเพลินแต่ภายนอก ไปแก้ไขแต่คนอื่น เอาแต่ตัวแต่ตนไว้ มันทำให้เป็นมนุษย์เดือนมืด เป็นมนุษย์สีดำสีเทา การเรียนการศึกษามันก็เสียหาย เพราะเราทำเพื่อจะมีเพื่อจะเป็น มันเป็นกระบวนการดับทุกข์ทางร่างกาย แต่ไม่ได้ดับทุกทางจิตใจ
อานาปานสติคือสติที่อยู่กับลมหายใจเข้าออก จึงต้องเอาอานาปานสติเป็นหลักเมื่อเราว่างจากผัสสะทางอายตนะภายนอก เราต้องกลับมาหาอานาปานสติที่เป็นบ้านของใจ มาหายใจเข้าสบายหายใจออกสบาย รู้ตัวทั่วพร้อม พระพุทธเจ้าก็ทรงอยู่ด้วยวิหารธรรมคืออานาปานสติ พระอรหันต์ก็อยู่ด้วย อานาปานสติ ถ้าเสขะบุคคลก็ต้องอยู่ด้วยอานาปานสติ เราต้องมีความสุขในการทำงาน คนเรานั้นน่ะถ้ามันฟุ้งซ่านไม่สงบ เราหายใจเข้ายาวๆ ลึกๆ หายใจเข้าออกให้สบายหลายๆ ครั้ง สติสัมปชัญญะมันก็จะชัดเจนขึ้น ถ้ามันเอาไม่อยู่ ก็หยุดหายใจ ทำอย่างนี้ไม่นานใจมันก็จะไม่ฟุ้งซ่าน เพราะใจจะขาดตายมันก็จะกลับมา เราทำแบบนี้ไม่กี่ครั้งใจมันก็จะสงบได้
ทุกคนต้องมีหลักการในการทำงานให้มีความสุข เอาหลักการทำงานเพื่อหยุดความฟุ้งซ่าน จะเอาการสวดมนต์เพื่อหยุดความฟุ้งซ่านก็ได้ พวกที่นั่งหลับทั้งหลาย เราก็ท่องบทสวดมนต์ในใจ ดีกว่าไปนั่งหลับ สวดให้มันแม่นดีกว่าไปนั่งหลับ เพราะการเอาแต่หลับเอาแต่นอนมันเป็นหมันสำหรับคนมีชีวิตอยู่ ต้องหาวิธีเพื่อเจริญสติสัมปชัญญะ อย่าพากันไปโงกง่วง เพราะความง่วงมันเป็นนิวรณ์ เป็นอาหารของความหลง ถ้านั่งสัปหงกเราจะท่องสวดมนต์ในใจให้ติดต่อต่อเนื่อง ไม่อย่างนั้นมันก็จะอินไปกับความเหงาหาวนอนไปเรื่อย เราพากันมาบวชที่จะต้องตื่นตั้งแต่ตี ๓ ก็เพื่อจะมาฝึกจิตใจ เพื่อเกิดสมาธิเกิดปัญญานี่แหละ เพื่อจะได้ดำริออกจากกาม ออกจากพยาบาทเบียดเบียน เพราะความอร่อยมันทำให้เราพากันรับจ้างมาเกิดและเวียนว่ายตายเกิดเรื่อยไป อย่างเรากำลังโงกง่วงอยู่ คือผู้รับจ้างไปเกิด ฟังเทศน์อยู่ก็ไม่เข้าใจ เพราะถีนมิทธะนิวรณ์มันขวางกั้นทำให้เราไม่เกิดปัญญา
พระพุทธองค์ทรงประทานอุบายแก้ง่วงกับพระมหาโมคคัลลานะ ว่า
๑. ไม่ควรกำหนด คิดพิจารณา ถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความง่วงนอน
๒. หากยังไม่หายง่วงอีก พึงตรึกตรองพิจารณาธรรมตามที่ได้สดับมา ได้เล่าเรียนมา
๓. หากยังไม่หายง่วงอีก พึงสาธยายธรรมตามที่ได้สดับมา ได้เล่าเรียนมาโดยพิสดาร
๔. หากยังไม่หายง่วงอีก พึงยอนช่องหูทั้ง ๒ ข้าง ใช้มือบีบนวดตัว
๕. หากยังไม่หายง่วงอีก พึงลุกขึ้นยืน ใช้น้ำลูบตา เหลียวดูทิศ แหงนดูดาวนักษัตร
๖. หากยังไม่หายง่วงอีก พึงทำการกำหนดถึงแสงสว่าง ตั้งสัญญาว่า เป็นกลางวันไว้ คือ กลางวันเป็นอย่างไร กลางคืนก็เป็นอย่างนั้น กลางคืนเป็นอย่างไร กลางวันก็เป็นอย่างนั้น มีใจเปิดเผยไม่มีอะไรหุ้มห่อ ทำจิตให้โปร่งใส
๗. หากยังไม่หายง่วงอีก พึงอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ภายใน มีใจไม่คิดไปภายนอก
๘. หากยังไม่หายง่วงอีก ก็ควรนอนดุจราชสีห์ โดยตะแคงข้างขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ กำหนดหมายว่าจะลุกขึ้นไว้ในใจ พอตื่นก็รีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจ “เราจักไม่หาความสุขในการนอน ไม่หาความสุขในการเอกเขนก ไม่ประกอบความสุขในการหลับ”
สทฺธีธ วิตฺตํ ปุริสสฺส เสฏฺฐํ ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ
สจฺจํ หเว สาธุตรํ รสานํ ปญฺญาชิวึ ชีวิตมาหุ เสฏฺฐํ
ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐที่สุดของคน ธรรมที่ประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ สัจจะเป็นรสเลิศกว่ารสทั้งหลาย บัณฑิตกล่าวสรรเสริญบุคคลผู้มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาว่าเป็นชีวิตที่ประเสริฐ
ที่ว่า สัจจะเป็นรสเลิศกว่ารสทั้งหลาย ในที่นี้ หมายถึง อริยสัจ หรือรสแห่งธรรมอันได้รับเพราะการแทงตลอดอริยสัจแล้วเกิดธัมโมชะ หรือธรรมรสขึ้น ดังพระพุทธภาษิตที่ว่า “สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง สพฺพรตึ ธมฺมรติ ชินาติ ความยินดีในธรรมชนะความยินดีทั้งปวง”
ผู้ยินดีในการประพฤติปฏิบัติธรรมตามพระพุทธเจ้า จะได้สัมผัสกับรสแห่งธรรม ที่เป็นรสที่ชนะรสทั้งปวง รสแห่งธรรมก็คือความสุขใจที่เป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุขทั้งปวง ความสุขที่เราได้รับจากรูปเสียงกลิ่นรสลาภยศสรรเสริญต่างๆ สู้ความสุขของรสแห่งธรรมไม่ได้ เพราะความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสลาภยศสรรเสริญต่างๆ นั้น เป็นความสุขชั่วคราว เป็นความสุขที่จะต้องมีวันเสื่อมมีวันหมดไป เมื่อถึงเวลาเสื่อมของลาภยศสรรเสริญสุข ความทุกข์ก็จะปรากฏขึ้นมาทันที แต่รสแห่งธรรมคือความสุขจากรสแห่งธรรมนี้ไม่ใช่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีวันเสื่อมไม่มีวันหมด เมื่อเราได้แล้วเราจะได้ความสุขนี้ไปตลอด นี่แหละจึงถือว่าเป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุขทั้งปวง เพราะเป็นความสุขที่ไม่มีวันสูญสลายไม่มีวันสิ้นสุด จะอยู่คู่กับใจไปตลอดจึงเรียกว่าเป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุขทั้งปวง รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง
ส่วนข้อว่า ผู้มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญาเป็นชีวิตประเสริฐ นั้น เพราะผู้ประกอบด้วยปัญญาย่อมแสวงหาความสุขได้ แม้ในเรื่องอันน่าจะทุกข์ (ปญฺญาสหิโต นโร อิธ อปิทุกฺเขสุ สุขานิ วินฺทติ) มองในทางตรงข้าม ผู้โง่เขลาย่อมประสบความทุกข์ แม้ในเรื่องที่น่าจะสุข
พระพุทธเจ้าทรงรู้จักทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ และทรงรู้ข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ ไม่ให้เราทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกตัวเอง เพราะคนเรามันสร้างวัฏสงสาร ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คิดว่าตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเองตามความรู้สึกของตัวเอง มันจะเป็นความสุข ที่ไหนได้มันเป็นความทุกข์ มันเป็นสัญชาตญาณที่มันมีอยู่ พระพุทธเจ้าได้มาบอกมาสอน เราทุกคนต้องมาหยุดตัวเอง หยุดเวียนว่ายตายเกิด ต้องพากันทำหมันตัวเอง ความคิดความปรุงแต่ง ที่มันส่งผลออกมาเป็นความประพฤติ เป็นจริตต่างๆ เป็นเพราะมาจากเราไม่รู้จักอารมณ์ แล้วก็ไปตามความปรุงแต่งต่างๆ ที่คนเราร้องไห้ก็เพราะดีใจเสียใจ เพราะความคิด อันนี้มันเป็นเรื่องความรู้สึก เรื่องสัญชาตญาณ ความคิดความปรุงแต่งจึงมีอิทธิพลต่อเราทุกคน พระพุทธเจ้าทรงรู้วงจรของสิ่งนี้ จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้มาบอกมาสอนเราด้วยวิธีง่ายๆ แต่ทุกท่านทุกคนต้องพากันประพฤติปฏิบัติ ต้องหยุดตัวเอง
จะไปคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ มันทำให้เราต้องเรียนว่ายตายเกิด ไม่ใช่เรื่องธรรมดานะ อะไรที่เป็นตัวทำให้เราเกิด ก็คือการที่เราเอาตัวตนเป็นใหญ่ เราจึงต้องมารู้จักกลไกรู้จักวงจร รู้จักต้นสายปลายเหตุ ที่คนทั้งโลกพากันทุกข์ ไม่มีปัญหาก็พากันสร้างปัญหา ไม่ว่าจะเป็นคนเป็นสัตว์ แม้จะเป็นเทวดาก็มีความทุกข์ เป็นพรหมก็ยังมีความทุกข์ เราทุกคนเป็นผู้โชคดีได้ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า เพราะเราจะไปหาแก้ภายนอกมันแก้ไม่ได้หรอก เพราะปัญหามันอยู่ที่เรา
การที่แก้ปัญหาของเราทุกคน ถึงต้องแก้ที่ตัวเราเอง ไม่ได้ไปแก้ปัญหาที่คนอื่น ทุกท่านทุกคนต้องพากันทำอย่างนี้ ปัญหาของตนเองถึงจะคลี่คลายและหมดปัญหาไปในที่สุด เราทุกคนต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าไปทำอย่างอื่นเรียกว่าไม่ถูกต้อง เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ใจของเราก็จะเข้าสู่กายวิเวก คือกายที่สงบวิเวกอันมาจากใจที่มีความเห็นถูกต้อง ที่ไม่คิดไม่พูดไม่ทำ จึงนำเราสู่กายวิเวก พัฒนาสู่จิตวิเวก และอุปธิวิเวกในที่สุด
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee