แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๒๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๔๘ การปฏิบัติต้องสม่ำเสมอทุกๆ อิริยาบถ ไม่มีเวลาไหนที่ไม่มีการประพฤติปฏิบัติ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราทุกคนต้องมีความสุข ต้องเอาความสุขในการทำงานให้ได้ ในเวลา ๒๔ ชม. เวลาเราตื่นอยู่ ๑๐ กว่า ชม. เราต้องเอาความสุขกับการทำงาน งานคือความสุข ความสุขคือการทำงาน เพื่อไม่ให้ใจของเราฟุ้งซ่าน เอาการทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม เอาการปฏิบัติธรรมเป็นการทำงาน เราจะได้ทั้งสองอย่างได้ทั้งทางวัตถุและก็ได้ทั้งทางจิตใจไปพร้อมๆ กัน ใจของเราถึงจะไม่ฟุ้งซ่าน ใจของเราถึงจะสงบ ใจของเราถึงจะได้ลบสิ่งที่ได้ผ่านมาไม่ให้เหลืออะไร ใจของเราจะได้รู้อยู่กับปัจจุบัน มันจะเป็นการอบรมบ่มอินทรีย์ไปเรื่อยๆ ปัจจุบันเรารู้อริยสัจ ๔ คือรู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เห็นสภาวธรรมเกิดขึ้น ไม่มีอะไรเกิดขึ้นนอกจากเหตุนอกจากปัจจัยแล้ว ตั้งอยู่แล้วจากไปล้วนเป็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกอย่างนั้นเกิดจากเหตุเกิดจากปัจจัย ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราต้องทำที่สุดแห่งการดับทุกข์ทางกาย ที่สุดแห่งการดับทุกข์ทางจิตใจ ด้วยอาศัยกายที่กว้างศอกยาววาหนาคืบ เพื่อประพฤติเพื่อปฏิบัติในปัจจุบันในชีวิตประจำวัน เราทุกคนจึงต้องมีความสุขในการทำงาน มีความสุขในการปฏิบัติธรรมไปพร้อมๆ กัน เราทุกคนไปถือสักกายทิฏฐิ ถือตัวถือตน มันไม่ได้ ทุกอย่างเป็นธรรมเป็นสภาวธรรม
เราทุกคนต้องหยุดความฟุ้งซ่านของตัวเอง ด้วยการมาเอาความสุขในการทำงานมาเอาความสุขในการรักษาศีล มาเอาความสุขในการปฏิบัติธุดงควัตร เราต้องให้อาหารกายคือธรรมะ ให้อาหารใจด้วยธรรมะ ทุกท่านทุกคนต้องพากันมีเครื่องอยู่ ไม่ต้องพากันฟุ้งซ่าน เครื่องอยู่คือการทำงานให้มีความสุข เครื่องอยู่คือสัมมาสมาธิคือความตั้งมั่นในการทำงานในการปฏิบัติธรรม เครื่องอยู่ของเราคืออานาปานสติ ในเมื่อเราไม่ได้ทำงานภายนอก เรากลับมาอยู่กับอานาปานสติ กลับมาอยู่กับลมหายใจ หายใจเข้าหายใจออกมีสติ มีสติในการหายใจเข้าออกอย่างมีความสุข เมื่อว่างจากงานภายนอกก็กลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าหายใจออก คือ อานาปานสติ เรามาอยู่กับการภาวนาวิปัสสนา ยกใจของเราสู่อารมณ์พระไตรลักษณ์ รู้ทุกอย่างมันไม่แน่มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ทุกอย่างเป็นตัวเป็นตน มาประกอบเป็นธาตุเป็นขันธ์เป็นอายตนะ ทุกอย่างล้วนแต่ไม่แน่ไม่เที่ยงแล้วก็จากไป ทำหน้าที่อย่างนี้ไปตลอด
ทุกท่านต้องพากันตั้งอกตั้งใจตั้งสมาทาน แล้วเข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ เพราะเราทุกคนนั้นมีพื้นฐานมาจากอวิชชามาจากความหลง ไม่อยากประพฤติปฏิบัติ คือความขี้เกียจขี้คร้าน เป็นพื้นเป็นฐานเป็นต้นทุนเราทุกคนต้องทวนกระแส ปรับข้อวัตรข้อปฏิบัติเข้าสู่ธรรมะเข้าหาเวลาเพื่อเป็นข้อวัตรข้อปฏิบัติเพื่อให้ติดต่อต่อเนื่อง พระพุทธเจ้าถึงบอกถึงทรงสั่งสอนพวกเราว่า การประพฤติการปฏิบัติของเรานั้นต้องอยู่กับอิริยาบถ ๔ ยืนเดินนั่งนอนให้ปฏิบัติสม่ำเสมอทุกๆ อิริยาบถ เพื่อจะได้เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่มีเวลาไหนไม่มีการประพฤติปฏิบัติ
ในมหาสติปัฏฐานสูตรพระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงสติปัฏฐานทั้ง ๔ มีสติปัฏฐานตั้งสติพิจารณากายเป็นต้น และในข้อกายนี้ ได้ทรงยกแสดงอานาปานปัพพะ คือข้อว่าด้วยลมหายใจเข้าออกเป็นข้อแรก และต่อจากข้อแรก ก็ได้ตรัส อิริยาปถปัพพะ ข้อว่าด้วยอิริยาบถ ได้ตรัสสอนไว้ว่า เมื่อเดินก็รู้ว่าเราเดิน เมื่อยืนก็รู้ว่าเรายืน เมื่อนั่งก็รู้ว่าเรานั่ง เมื่อนอนก็รู้ว่าเรานอน
เนื้อหาสาระที่พระพุทธองค์รับสั่งในหมวดพิจารณาอิริยาบถนั้นมีว่า :
“– ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ คจฺฉนฺโต วา คจฺฉามีติ ปชานาติ -- ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติอีกวิธีหนึ่งยังมีอยู่ คือ ภิกษุ เดินอยู่ก็ดี ก็ย่อมรู้ชัดว่า “เดินอยู่”
-- ฐิโต วา ฐิโตมฺหีติ ปชานาติ -- ยืนอยู่ก็ดี ก็ย่อมรู้ชัดว่า “ยืนอยู่”
-- นิสินฺโน วา นิสินฺโนมฺหีติ ปชานาติ -- นั่งอยู่ก็ดี ก็ย่อมรู้ชัดว่า “นั่งอยู่”
-- สยาโน วา สยาโนมฺหีติ ปชานาติ -- นอนอยู่ก็ดี ก็ย่อมรู้ชัดว่า “นอนอยู่”
-- ยถา ยถา วา ปนสฺส กาโย ปณิหิโต โหติ ตถา ตถา นํ ปชานาติ.
-- ก็หรือว่า กายของเธอตั้งอยู่โดยอาการใด อาการใด ย่อมรู้ชัดซึ่งกายนั้น โดยอาการนั้น อาการนั้น
-- อิติ อชฺฌตฺตํ วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ ฯเปฯ เอวมฺปิ ภิกฺขเว ภิกฺขุกาเย กายานุปสฺสี วิหรติ. -- ตามประการที่กล่าวมาแล้วนี้ ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ตามพิจารณาเห็นกายในกายกายภายในอยู่บ้าง ย่อมเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นกายในกายภายนอกอยู่บ้าง ย่อมเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่บ้าง ย่อมเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาในกายอยู่บ้าง ย่อมเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นความดับไปเป็นธรรมดาในกายอยู่บ้าง ย่อมเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นทั้งความเกิดขึ้นทั้งความดับไปเป็นธรรมดาในกายอยู่บ้าง ก็หรือว่า สติย่อมเป็นอันปรากฏแก่เธอว่า “กาย มีอยู่ เพียงเพื่อประโยชน์แก่ญาณ ความรู้ที่ยิ่งๆ ขึ้นไป เพียงเพื่อความระลึกได้เฉพาะเท่านั้น เธอย่อมเป็นผู้ไม่อาศัยตัณหาและทิฏฐิ ย่อมไม่ยึดถือมั่นอะไรๆ ในโลกด้วย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ชื่อว่า เป็นผู้ตามพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ แม้ตามประการที่กล่าวมาแล้วนี้” ดังนี้
เนื้อความตามพระบาลีที่ยกมานี้ มีคำอธิบายอย่างย่อ ๆ ดังต่อไปนี้
คำว่า คจฺฉนฺโต วา คจฺฉามีติ ปชานาติ แปลว่า "เดินอยู่ ก็ดี ก็ย่อมรู้ชัดว่าเดินอยู่" ดังนี้ ก่อนอื่น พึงทราบว่า คำว่า "ปชานติ" ที่แปลไปก่อนว่า "รู้ชัด" ในที่นี้ มีความหมายพิเศษเฉพาะเรื่องอยู่ จำต้องอธิบาย หากไม่อธิบายศัพท์นี้ก่อน ก็ย่อมมองไม่เห็นว่า การสอนให้พิจารณาอิริยาบถนี้ เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างไร เพราะใครๆ ในเวลาที่เดิน ก็ย่อมรู้ชัด คือรู้แน่แก่ใจว่าตนเดินอยู่ ในเวลาที่ยืน ในเวลาที่นั่ง หรือในเวลาที่นอน ก็ย่อมรู้ชัดว่า ยืนอยู่ นั่งอยู่ หรือนอนอยู่ คนวิกลจริตเสียสติเท่านั้น ที่ในเวลาเดิน ก็ไม่รู้ว่าเดินอยู่ อย่าว่าแต่มนุษย์เลย แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน มีสุนัขเป็นต้น มันทรงกายอยู่ในอิริยาบถคือท่าทางนั้นๆ ความรู้อย่างนี้ มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลายตามปกติ ไม่ใช่ความรู้ที่ต้องอบรมทำให้เกิดขึ้น แต่ความรู้ของผู้ปฏิบัติสติปัฏฐานหมวดนี้ เป็นความรู้ที่ต้องอบรมทำให้เกิดขึ้น เป็นไปเพื่อถอนความเข้าไปถือเอาว่าเป็นสัตว์ ที่เรียกว่า สัตตูปลัทธิ เป็นไปเพื่อทำกิเลสให้สิ้นไป เป็นไปเพื่อความพ้นจากทุกข์ทั้งปวงในที่สุด เพราะฉะนั้น จึงกล่าวคำว่า "ปชานาติ" นี้ มีความหมายพิเศษ จำต้องมีคำอธิบาย คำว่า "ปชานาติ" เป็นคำกิริยา ที่แปลว่า "รู้ชัด" เป็นการแปลไปก่อนเพื่อป้องกันคำพูดเยิ่นเย้อ หรือฟังไม่รื่นหูเท่านั้น ความจริงท่านให้ความหมายของศัพท์ไว้ดังนี้ "ปกาเรหิ ชานาติ ปชานาติ" แปลว่า "รู้โดยประการทั้งหลาย ชื่อว่า ปชานาติ" หมายความว่าในสิ่งที่ควรรู้นั้น มีประการอะไรๆ ที่ควรรู้สักกี่ประการก็ตาม ก็ย่อมรู้สิ่งนั้น โดยประการทั้งหมดนั้น
ในเวลาที่เดินอยู่ ประการที่ควรรู้ในอิริยาบถเดิน มี ๓ ประการคือ
๑. โก คจฺฉติ - ใครเดิน, นี้ก็เป็นประการหนึ่งที่ควรรู้
๒. กสฺส คมนํ -- การเดินเป็นของใคร, นี้ก็เป็นประการหนึ่งที่ควรรู้
๓. กึ การณา คจฺฉติ -- เพราะเหตุไรจึงเดิน, นี้ก็เป็นประการหนึ่งที่ควรรู้
ประการแรก โก คจฺฉติ -- ใครเดิน, มีอรรถาธิบายว่า อาการเดิน ท่าทางที่เดิน เป็นเพียงอาการของรูปธรรมเท่านั้น รูปนั่นแหละเดิน หามีสัตว์ บุคคล หญิง ชาย ในอาการเดินนั้นไม่ การพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้ เป็นไปเพื่อการถอนทิฏฐิ คือความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลผู้เดิน
ประการที่ ๒ กสฺส คมนํ -- การเดินเป็นของใคร มีอรรถาธิบายว่า การเดิน คือ อาการที่เดิน ท่าทางที่เดิน ไม่ใช่ของสัตว์ ไม่ใช่ของบุคคล ไม่ใช่ของหญิง ไม่ใช่ของชาย ตลอดจนไม่ใช่ของผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่ของพระโยคี ไม่ใช่ของพระกรรมฐาน เพราะว่าอย่าว่าแต่สัตว์ บุคคล หญิง ชายเลย แม้แต่ผู้ปฏิบัติหรือพระโยคีหรือพระกรรมฐานตามที่ใช้เป็นชื่อของผู้ปฏิบัตินั้น ก็หามีอยู่จริงโดยปรมัตถ์ไม่ เป็นเพียงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่การเข้าใจความ หรือใช้สื่อความหมายในเวลาที่พูดเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ การเดินนี้จะเป็นของใครที่ไหนได้ ก็เป็นของรูปนั่นแหละ เพราะเป็นอาการของรูป ประการที่ ๒ นี้ หากมองเพียงผิวเผินแล้ว จะไม่เห็นความแตกต่างกับประการแรก เพราะว่าความรู้ว่า รูปเดิน ไม่ใช่คนสัตว์เดิน กับความรู้ว่าการเดินเป็นของรูป น่าจะเป็นความรู้อันเดียวกัน แต่ทว่าความจริงยังมีข้อที่แตกต่างกันอยู่ กล่าวคือ ความรู้ในประการแรกนั้น เป็นเพียงปฏิเสธความมีอยู่แห่งสัตว์บุคคลผู้เดิน อันไม่มีอยู่จริง สิ่งที่มีอยู่จริง ที่สร้างความเข้าใจผิดว่ามีผู้เดินในเวลานั้น ก็คือรูปเดินเท่านั้น ความรู้อย่างนี้กล่าวได้ว่า เป็นความรู้ที่ถ่ายถอนทิฏฐิคือความเห็นผิดตรงๆ
ประการที่ ๓ กึ การณา คจฺฉติ -- เพราะเหตุไรจึงเดิน, คือ การเดิน อาการเดิน ท่าทางที่เรียกว่าเดิน เกิดขึ้นได้เพราะเหตุไร ก็พึงตอบได้ว่าการเดิน อาการเดิน ท่าทางที่เรียกว่าการเดิน เกิดขึ้นได้เพราะเหตุ เพราะปัจจัย ไม่ใช่ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ก็เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการเดินนั้น ได้แก่ วาโยธาตุ คือธาตุลมอันเกิดจากจิตที่ประสงค์จะเดิน กล่าวคือ เมื่อจิตคือความคิดว่าจะเดินเกิดขึ้น จิตนั้นย่อมยังวาโยธาตุให้ตั้งขึ้นบริเวณอวัยวะที่จะเคลื่อนไหว โดยเฉพาะขาทั้งสอง วาโยธาตุนั้นย่อมผลักดันให้อวัยวะเคลื่อนไหวไปตามความประสงค์ของจิต อาการก้าวไปจึงเกิดขึ้น เรียกว่า เกิดการเดิน เพราะฉะนั้น วาโยธาตุที่เกิดจากจิตที่มีความประสงค์จะเดิน พร้อมทั้งจิตนั้นนั่นแหละ เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่งการเดิน เพราะเหตุนี้แหละ จึงเกิดการเดิน
อานิสงส์แห่งการเดินจงกรม พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า "ปญฺจิเม ภิกฺขเว จงฺกเม อานิสํสา กตเม ปญฺจ อทฺธานกฺขโม โหติ ปธานกฺขโม โหติ อปฺปาพาโธ โหติ อสิตํ ปิตํ ขายิตํ สายิตํ สมฺมาปริณามํ คจฺฉติ จงฺกมาธิคโต สมาธิ จิรฏฺฐิติโก โหติ อิเม โข ภิกฺขเว ปญฺจ จงฺกเม อานิสํสาติ ฯ ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งการเดินจงกรม ๕ ประการนี้อานิสงส์แห่งการเดินจงกรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. เป็นผู้มีความอดทนต่อการเดินทางไกล ๒. เป็นผู้มีความอดทนต่อการบำเพ็ญเพียร ๓. เป็นผู้มีอาพาธน้อย ๔. อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อยได้ง่าย ๕. สมาธิที่ได้เพราะการเดินจงกรมตั้งอยู่ได้นาน ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งการเดินจงกรม ๕ ประการนี้แล".ฯ
แม้ในอิริยาบถที่เหลือ มีอิริยาบถยืน เป็นต้น แต่ละอิริยาบถ ก็พึงทราบโดย ๓ ประการ มีว่า โก ติฏฺฐติ -- ใครยืน เป็นต้น ตามนัยที่กล่าวมาแล้วนี้ ที่กล่าวมานี้ เป็นความรู้ในอิริยาบถของผู้ปฏิบัติ ในเวลาที่เดินอยู่ ใครเดิน ก็ไม่รู้, การเดินเป็นของใคร ก็ไม่รู้ เพราะเหตุไรจึงเดิน ก็ไม่รู้, แม้ในอิริยาบถที่เหลือ ก็ไม่รู้ อย่างนี้เหมือนกัน
ตามที่ตรัสสอนไว้นี้มีอธิบายไว้ว่า คำว่า เราเดิน เรายืน เรานั่ง เรานอน ไม่ได้หมายความถึงตัวเราที่ยึดถือกันอยู่ว่าตัวเรานี้ ซึ่งเป็นคำเพียงสมมติบัญญัติ พูดกันให้เข้าใจเท่านั้น และไม่ให้หมายความในด้านความยึดถือว่าตัวเราเดิน ยืน นั่ง นอน เพราะเมื่อยึดถือว่าตัวเราก็ไม่เป็นสติปัฏฐานภาวนา การปฏิบัติอบรมสติปัฏฐาน
จึงต้องมีความเข้าใจว่า ขันธ์ ๕ นี้เอง หรือกล่าวโดยเฉพาะรูปขันธ์ คือกองแห่งธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม นี้เองที่มาประชุมกัน และเป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัติว่าตัวเราตัวเขานี้ เป็นสิ่งที่เดิน ยืน นั่ง นอน
อิริยาบถเกิดจากวาโยธาตุและกิริยาที่ทำให้เกิดอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอนนี้ก็คือวาโยธาตุ ธาตุลม ซึ่งกิริยาเดิน ยืน นั่ง นอนเกิดจากวาโยธาตุธาตุลม ซึ่งธาตุลมนี้เองก็ทำให้เกิด วิญญัติ คือความเคลื่อนไหว เช่นกายที่ก้าวไปก็เป็นเดิน เมื่อเป็นการน้อมกายส่วนล่างลง และตั้งกายส่วนบนให้ตรงก็เป็นการนั่ง เมื่อทรงกายให้หยุดอยู่เฉยๆ ก็เป็นยืน เมื่อทอดกายลงไปก็เป็นนอน ซึ่งเกิดจากวาโยธาตุ เปรียบเหมือนอย่างเรือใบที่แล่นไปด้วยลม โดยมีบุคคลเป็นผู้บังคับ กายอันนี้ก็ฉันนั้นมีวาโยธาตุที่เกิดจากการกระทำของจิต ซึ่งเป็นผู้ก่อเจตนาคือความจงใจ เครื่องบนคือกายอันนี้จึงอาศัยวาโยธาตุ ธาตุลมเคลื่อนไหว หรือกระทำอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน โดยมีจิตเป็นสายชัก เหมือนอย่างเครื่องยนต์ที่เคลื่อนไหวก็มีสายชักนั่นเอง
อีกอย่างหนึ่งเปรียบเหมือนอย่างเกวียนที่ดำเนินไป อันที่จริงนั้นความดำเนินไปของเกวียนก็อาศัยโคเทียม และดึงหรือลากเกวียนไป โดยมีบุคคลเป็นผู้บังคับ หรือเป็นผู้ควบคุม กายอันนี้ก็เหมือนอย่างเกวียน คือลำพังเกวียนเองนั้นไปเองไม่ได้ ต้องอาศัยโคจูงไปลากไป กายอันนี้ลำพังกายเองก็เป็นไปไม่ได้ ต้องอาศัยวาโยธาตุธาตุลมเคลื่อนไหวไป เป็นเดิน ยืน นั่ง นอน โดยมีจิตเป็นผู้ควบคุม เหมือนอย่างเกวียนที่มีโคลากไป โดยมีคนขับเกวียนเป็นผู้ควบคุม ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น จึงให้พิจารณาในทางปฏิบัติสติปัฏฐาน ให้มีความรู้ในอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน ดั่งนี้
เมื่อเดินก็รู้ว่ากายนี้มีวาโยธาตุดำเนินไป ให้เดิน อันเนื่องมาจากจิตที่ก่อเจตนาความจงใจ ซึ่งให้ภาษาสมมติบัญญัติว่าเราเดิน ยืนนั่งนอนก็เช่นเดียวกัน ใช้สมมติบัญญัติว่ายืนนั่งนอน แต่ให้รู้ซึ้งเข้าไปว่าอันที่จริงนั้นคือกายอันนี้มีวาโยธาตุนั้นเองนำไป ให้เดินให้ยืนให้นั่งให้นอนโดยการกระทำของจิต เหมือนอย่างโคที่ลากเกวียนไป โดยการกระทำของคนขับเกวียนควบคุม พิจารณาให้รู้จักดั่งนี้
ข้อปฏิบัติในอิริยาปถปัพพะ และความรู้ว่าเราเดิน ยืน นั่ง นอนนั้น ก็เป็นสติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว และเป็นญาณคือความหยั่งรู้ และเมื่อมีสติความระลึกได้ มีสัมปชัญญะความรู้ตัว มีญาณคือความหยั่งรู้ในอิริยาบถทั้ง ๔ ที่รวมเข้าในคำว่าอาการ ที่เป็นไปของกายโดยประการใดๆ ก็รู้ประการนั้นๆ ทั้งหมด ดั่งนี้ ก็เป็นการปฏิบัติในข้ออิริยาปถปัพพะคือข้อที่ว่าด้วยอิริยาบถนี้
การปฏิบัติต้องสม่ำเสมอทุกๆ อิริยาบถ ไม่มีเวลาไหนไม่มีการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ การปฏิบัติของเรามันก็ไม่ติดต่อต่อเนื่องที่มันไหลเป็นสายน้ำ มันเป็นเพียงน้ำหยด ไม่ได้เป็นสายน้ำ เพราะภายนอกนั้นเป็นเพียงอิริยาบถ ทางภายในนั้นต้องติดต่อต่อเนื่อง การอบรมบ่มอินทรีย์จะได้สมบูรณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
พระพุทธเจ้าไม่ให้เราหมกมุ่นในกามหรือหมกมุ่นในตัวหมกมุ่นในตน ทุกอย่างนั้นไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ทุกท่านทุกคนต้องดำริออกจากกาม เพราะกามและพยาบาทนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน กามนั้นเป็นอวิชชาเป็นความหลง ถ้าไม่ได้ดั่งใจก็เป็นพยาบาท การประพฤติปฏิบัติเป็นเรื่องเฉพาะตน ไม่มีใครมาแต่งตั้งให้เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ได้ ที่เรามาบวชเป็นภิกษุเป็นภิกษุณีเป็นสามเณรนี้ เป็นเพียงการแต่งตั้งเป็นเครื่องหมาย ให้ทุกท่านทุกคนได้รับสิทธิพิเศษ บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ เค้าเอาของมาให้แล้ว ยังมากราบมาไหว้ พ่อแม่ก็ยังมากราบมาไหว้ คนแก่คนเฒ่าพระมหากษัตริย์ก็ยังมากราบมาไหว้
ทุกท่านทุกคนนั้นให้พากันเข้าใจ พากันประพฤติปฏิบัติ จะได้เป็นธรรมเป็นพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ในพระไตรปิฏกที่มีจำนวนมาก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพื่อเป็นอุปกรณ์เพื่อเป็นยาน เปรียบเสมือนเครื่องบินเป็นยาน บุคคลขึ้นไปกับเครื่องบินที่ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ข้ามแผ่นดินข้ามท้องฟ้าข้ามมหาสมุทรได้ พระธรรมวินัยจึงเป็นยานพาให้ถึง พระอริยบุคคล สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ นั้น ถึงเป็นผู้ที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง ที่เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา ศีลสมาธิปัญญาที่ทำให้ทุกท่านทุกคนหยุดเวียนว่ายตายเกิด ทุกท่านทุกคนถึงต้องมีความสุขในการทำงาน มีความสุขในการรักษาศีล ศีลนี้ถึงเป็นฐานให้เกิดสมาธิติดต่อต่อเนื่อง ปัญญาถึงจะเกิดได้ ใจของเราถึงจะหยุดวัฏสังสารด้วยภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ใจของเราจะได้เป็นใจบริสุทธิ์ เป็นใจประภัสสร เป็นใจปราศจากตัวตน ไม่ใช่ผู้หญิง ไม่ใช่ผู้ชาย ไม่ใช่เด็ก ไม่ใช่คนหนุ่ม ไม่ใช่คนแก่ ใจนั้นเป็นใจประภัสสร ที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มีแต่สติคือความสงบ มีแต่สัมปชัญญะคือธรรมะไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มีใจที่เสียสละ เป็นธรรมะเป็นปัจจุบันธรรมไม่มีอดีตไม่มีอนาคต เพราะปัจจุบันไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีอะไรที่เข้าไปปรุงแต่งได้
ผู้ประพฤติผู้ปฏิบัติรู้ได้เฉพาะตน เราต้องมีความเห็นถูกต้องแล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง เพราะทุกอย่างนั้นเราไม่ได้เอามาเพิ่ม ไม่ได้เอามาตัดออก มันเป็นธรรมะมันเป็นสภาวธรรมที่รู้ได้เฉพาะตน ผู้ประพฤติผู้ปฏิบัติจะรู้ได้เฉพาะตน มันเป็นหน้าที่ของความไม่มีทุกข์ มันอยู่เหนือความสุข มันอยู่เหนือความทุกข์ ความสุขควาทุกข์นี้มันเป็นเรื่องทางกายน่ะ เรื่องของโลกธรรม คำว่าโลกก็หมายถึง โรคภัยไข้เจ็บ เกิดแก่เจ็บตายพลัดพราก ดีใจเสียใจ ถ้าเรามีอวิชชามีความหลง เราก็เป็นโรคทั้งทางใจเป็นโรคทั้งทางกาย ร่างกายของมนุษย์ที่มีอายุขัยร่วมๆ ร้อยปี เป็นสนามที่เราต้องเอามาประพฤติปฏิบัติ เพื่อพัฒนาอบรมบ่มอินทรีย์ทางจิตใจ
ถ้าเราฝึกบ่อยๆ เรื่อยๆ มันจะค่อยชำนิชำนาญ ชีวิตของเราในชีวิตประจำวันมันมีโลกธรรมมากระทบกับใจของเราตลอดเวลา เดี๋ยวก็มีสุขเดี๋ยวก็มีทุกข์ มียศเดี๋ยวมันก็เสื่อมยศ มีลาภ เสื่อมลาภ มีสรรเสริญ มีนินทา มันมีอย่างนี้อยู่ในใจของเราตลอด ๒๔ ชั่วโมง
ถ้าจิตใจของเราไม่มีสมาธิ จิตใจของเรามันจะวิ่งตามโลกธรรมทั้งวันทั้งคืน เราจำเป็นต้องมีสมาธิ มีความหนักแน่นไม่หวั่นไหวนะ จิตใจของเราถึงต้องได้รับการพัฒนา จิตใจของเรามันต้องอาศัยสมาธิเป็นเครื่องอบรมปัญญา
อบรมปัญญาอย่างไร...?
เมื่ออารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้น เราก็ไม่หวั่นไหวกับอารมณ์นั้นๆ นั่นแหละ คือการอบรมปัญญา เมื่อโลกธรรมเกิดขึ้นกับใจของเรา เราก็ตามไป... แสดงว่าเราเปรียบเสมือนรถคันหนึ่งที่ไม่มีเบรก มีแต่คันเร่ง ที่หลวงตามหาบัวท่านว่า 'สมาธิอบรมปัญญา' จากพระพุทธพจน์ที่ว่า “สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส ผู้มีศีลบริสุทธิ์ จิตใจย่อมมีความอบอุ่น การภาวนาไม่เป็นกังวลแล้วจิตก็ลงสงบได้ง่าย นี่อันหนึ่ง สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาเมื่อสมาธิคือความสงบใจเป็นเครื่องหนุนหลังแล้วย่อมเดินได้คล่องตัว ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ จิตที่ปัญญาซักฟอกเรียบร้อยแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ” ท่านว่าอย่างนี้ คือ เราอย่าตามอารมณ์ไป อย่างเรานั่งสมาธินี้ เราก็รู้ลมเข้าให้สบาย... รู้ลมออกให้สบาย... บางทีเราก็ลืมไปนะ ตามวิตกวิจารณ์ไป ตามปีติสุข เอกัคคตาจนลืมเนื้อลืมตัว ไปปรุงแต่งโดยไม่รู้ตัว เขาเรียกว่า ตามนิมิตตามอารมณ์ไป เรานั่งอยู่อย่างนี้แหละ... เดี๋ยวโลกธรรมก็มาหาเราแล้ว ถ้าเราไม่รู้จักก็ตามมันไป
โลกธรรมนี้ก็เป็นสิ่งที่ดีนะ เป็นเหตุให้เราได้ฝึกใจ ทำใจของเราให้สงบ เกิดสมาธิ เกิดปัญญา ปัญญาของเราจะเกิดได้ เกิดจากการปฏิบัติ ระดับผู้ประพฤติ ปฏิบัติธรรมให้เกิดความชำนิชำนาญในเรื่องจิตเรื่องใจ
สิ่งต่างๆ ที่เกิดกับเรานี้ที่มันเป็นโลกธรรม เราต้องขอบคุณเขา ที่ได้เปิดโอกาสให้เราได้ปฏิบัติใจฝึกใจ การปฏิบัติของเรา อิริยาบถต่างๆ ไม่ว่าการเดิน การนั่ง การนอน การทำงาน พระพุทธเจ้าท่านให้เราเอาอิริยาบถนั้นๆ มาฝึกใจของเรา
ฝึกอย่างไรล่ะ...? "ฝึกให้ใจของเราอยู่ในอิริยาบถนั้นๆ"
คนเรานะ ถ้าใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจของเรามันสงบ มันเป็นวิธีที่ง่ายๆ นะ ถ้าเรารู้จัก ฐานทั้ง ๔ ของเราทุกคนมันได้แก่ อิริยาบถเดิน ยืน นั่ง นอน ให้ใจมันอยู่กับอิริยาบถนั้น เพราะใจของเรามันพุ่งแรงนะ มันไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เมื่อเรามาอยู่กับเนื้อกับตัวใจของเรา มันจะสงบขึ้น เย็นขึ้น
ทุกท่านทุกคนต้องมีความสุขในการทำงาน เราจะได้ช่วยร่างกายของเราให้ตั้งอยู่ได้ โดยการมีความสุขในการทำงาน ทุกท่านทุกคนต้องมีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เราจะได้มีความสุขในการทำงาน เราจะได้พัฒนาทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กัน ทั้งทายกายทางใจ จะได้รู้พระไตรลักษณ์มันไม่แน่มันไม่เที่ยง เป็นเหตุเป็นปัจจัยเพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี เป็นสิ่งที่เกิดจากผัสสะภายนอกภายใน เราต้องทำหน้าที่ของเราด้วยการประพฤติปฏิบัติ เราต้องมีพุทธะอยู่ในใจ เราจะได้ไม่หลงผัสสะหลงอารมณ์หลงธาตุหลงขันธ์ ให้รู้ทุกข์อย่างว่ามันเป็นอย่างนี้เองเป็นเช่นนี้เอง ทุกท่านทุกคนต้องปรับตัวเข้าหาธรรมะให้เต็มที่ ด้วยเจตนาด้วยความตั้งใจ ปรับตัวเองเข้าหาเวลา เราไปโอ้เอ้ชักช้าไม่ได้ เพราะการปฏิบัติธรรมกับการทำงานเป็นเรื่องรีบด่วน มันเป็นไฟท์ที่ทั้งคนต้องพากันปฏิบัติ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี
นักปฏิบัติธรรมอย่าได้เข้าใจผิดนะว่า ทำงานภายนอกไม่ได้ปฏิบัติธรรม !
"งานภายนอกนั่นแหละ คืองานปฏิบัติธรรม" เป็นงานที่เสียสละ ละความเห็นแก่ตัวเป็นงานที่เจริญสติ เจริญสมาธิ เป็นงาน "สมาธิอบรมปัญญา" ถ้าเราไปเอาแต่เรื่องจิตเรื่องใจหมด มันอาจจะเครียดได้ เพราะว่าฐานจิตใจเราไม่มี
อีกประการหนึ่ง เรายังมีความเข้าใจผิดกันมากอยู่ พากันไปโทษสิ่งภายนอกอยู่ ว่าสิ่งภายนอกมันมีปัญหา ว่าปัญหามันมาจากสิ่งภายนอก ความเป็นจริงสิ่งภายนอกไม่มีปัญหา ปัญหาต่างๆ มันเกิดกับใจของเรา ที่มันไม่ฉลาด มันเอาปัญหาต่างๆ ภายนอกมาเป็นปัญหาที่ใจของเรา
ที่จริงแล้ว สิ่งภายนอกมันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ใจของเราไม่มีปัญหา ให้อินทรีย์บารมีของเราแก่กล้า
การแสวงหาสัปปายะทั้ง ๔ ต้องเข้าใจดีๆ มันอยู่ที่ใจของเรา ที่จะแก้ไขทุกอย่างให้มันสัปปายะ เราจะได้หมดปัญหาชีวิต ถ้าเราแก้ที่จิตที่ใจของเราได้ ทุกสิ่งทุกอย่างจะมีแต่คุณแต่ประโยชน์ หมายถึงว่า เราอยู่ที่ไหนเราจะสบายหมด เราจะไม่มีปัญหา ให้ทุกท่านทุกคนเข้าใจ เราจะได้ไม่ไปโทษสิ่งภายนอก เพราะว่าปัญหาทุกอย่างนั้นอยู่ที่ตัวเรานี้เอง ถ้าใจของเราไม่มีปัญหา ทุกอย่างมันก็ไม่มีปัญหา
พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เรามาเดินตามอริยมรรค อันไหนไม่ดีก็อย่าไปคิด อันไหนไม่ดีก็อย่ไปพูด อันไหนไม่ดีก็อย่าไปทำ ปรับตัวเอง หาศีลหาธรรม คือทางสายกลาง อย่าเอาตนเป็นใหญ่
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee