แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๑๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๔๗ การละกิเลสเกิดขึ้นได้ ๗ ทาง ที่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพุทธวิธี
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มีความดำริออกจากกามออกจากพยาบาทออกจากความเบียดเบียน เห็นโทษเห็นภายในวัฏสงสาร เริ่มจากใจจากความคิด อะไรก็ไม่เสียหายเท่ากับความเห็นผิดเข้าใจผิดปฏิบัติผิด เราเอาตัวตนเป็นที่ตั้งนั่นคือความหลง ความเห็นผิดปฏิบัติผิด บุคคลเช่นนี้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่หมกมุ่นอยู่ในกามอยู่ในพยาบาท ความหลงความรักใคร่พอใจนั้นเรียกว่ากาม ว่าตัวว่าตน ความไม่พอใจเรียกว่าปฏิฆะ หรือพยาบาท ที่สุดของ ๒ ทาง ความชอบความไม่ชอบมันเป็นทางสุดโต่ง
พระพุทธเจ้าท่านให้เรารู้อริยสัจ ๔ คือรู้ทุกรู้เหตุเกิดทุกรู้ความดับทุกข์รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าให้ทุกคนมารู้เรื่องจิตเรื่องใจ ให้เราเอาพระธรรมเอาพระวินัยนี้เรียกว่าพรหมจรรย์ เราจะได้หยุดวัฏฏสงสารด้วยพระธรรมวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ที่มีในพระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ที่เรามาสวดกันในพระภิกขุปาฏิโมกข์ 227 สิกขาบท
ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เราก็จะไม่รู้เรื่องการประพฤติปฏิบัติ เราทุกคนจะได้รู้เรื่องการประพฤติปฏิบัติ สำหรับพระภิกษุสามเณรนักบวชจะปล่อยให้ตัวเองมีลูกมีผัวมีเมียทางจิตใจทั้งวันทั้งคืนนั้นไม่ได้ เราทุกคนจะหยุดตัวเองได้เพราะเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ รู้เรื่องจิตเรื่องใจ ถึงจะตั้งอยู่ในพระธรรมวินัย เป็นสัมมาสมาธิ ศีลสมาธิปัญญาซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแยกออกจากกันไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงให้เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ถึงจะหยุดวัฏสงสารของตัวเองได้
เพราะทุกคน ถ้าเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เราก็จะเป็นพระไม่ได้ เป็นได้แต่เพียงโลก เป็นแต่เพียงเจ้าอารมณ์ ใจกับกายของเรานี้ดำเนินชีวิตด้วยธรรมะ เราจะไปแยกใจออกจากโลก แยกโลกออกจากใจนั้นไม่ได้ มันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กายกับใจไปด้วยกัน มันยืนเดินนั่งนอนอันเดียวกัน โรคทางกายคือความเจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบายทางกาย โรคทางใจคือมีความเห็นผิดเข้าใจผิดปฏิบัติผิด จึงได้พากันหมกมุ่นอยู่ในกาม อยู่ในพยาบาทอาฆาตเบียดเบียน พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เรากลับมาหาธรรมวินัยที่เรียกว่าพรหมจรรย์ กลับมาหาธรรมะที่ไม่ใช่นิติบุคคลตัวตน เราทุกคนถึงจะมีความสุขทั้งทางกายทั้งทางจิตใจในชีวิตประจำวัน ที่มีความสุขสงบเย็นเป็นพระนิพพาน มีหัวใจที่เย็นเหมือน air condition เป็นความสงบอบอุ่น
ในชีวิตประจำวันของเรา มันมีข้อสอบมันมีคำตอบที่เกิดทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ที่เป็นปริยัติ ที่มันเป็นการปฏิบัติในปัจจุบันในชีวิตประจำวัน ทุกท่านทุกคนพากันเลือกการประพฤติปฏิบัติ ด้วยเหตุด้วยปัจจัยนี้ เราทุกคนต้องพากันทิ้งอดีตไปให้มันเป็นเลขศูนย์ อนาคตไม่ต้องพากันไปพะวงถึง การประพฤติการปฏิบัติให้พวกเราเน้นที่ปัจจุบัน เราทุกคนต้องปรับใจของตัวเองเข้าหาธรรมะเข้าหาพระวินัย ให้เต็มที่เต็มร้อย ด้วยความตั้งใจด้วยเจตนา สำหรับคฤหัสถ์ปรับใจเข้าหาศีล ๕ ศีล ๘ ที่เป็นศีลอุโบสถ ที่ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ
คนเราน่ะ...มันเห็นแก่ตัวนะ เวลารักษาศีลมากๆ มันไม่อยากรักษานะ แต่เวลาเงินน่ะ ถ้าได้น้อยมันไม่ชอบ นี้แสดงว่าจิตใจเรามีปัญหา หัวใจเรามีปัญหา แสดงว่าเรายังมีความเห็นผิดเข้าใจผิด ชื่อว่า...เรายังไม่ชอบพระพุทธเจ้า ไม่ชอบพระธรรม ไม่ชอบพระอริยสงฆ์ แต่เราพากันคิดอยากจะไปพระนิพพานน่ะ มันก็เป็นไปไม่ได้
'ศีล' นั้นน่ะ คือ ตัวพระพุทธเจ้า 'ธรรมะ' นั้นน่ะ คือ ตัวพระพุทธเจ้า เมื่อปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนนั้นน่ะ เราถึงได้เป็น 'พระอริยสงฆ์'
ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ถ้าใครประพฤติปฏิบัติ เขาผู้นั้นก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานกันหมดทุกคน ไม่มีพรหมแดน ไม่เลือกชาติศาสนา ไม่ว่าจะเป็นใคร หัวใจก็เป็น 'พระ' หมด อย่างอาตมานี้ หรือว่าพระสงฆ์ที่นั่งอยู่นี้ หรือว่าพระสงฆ์ที่อยู่ที่อื่น พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า...ยังเป็น 'สมมุติสงฆ์' ยังไม่ใช่อริยสงฆ์นะ 'อริยสงฆ์' นั้นคือ หัวใจของทุกๆ คน ที่เอาศีลเป็นที่ตั้ง เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง"
การประพฤติการปฏิบัติธรรมน่ะ พระพุทธเจ้าท่านให้ทุกคนเน้นมาที่จิตที่ใจ เพราะความสุข ความดับทุกข์ มันไม่ใช่เรื่องของกาย มันเป็นเรื่องของใจ ร่างกายของเรามันก็เหมือนรถยนต์คันหนึ่งนี้แหละ เราใช้งานมันมากมันก็สึกหรอ มันก็ชำรุดทรุดโทรมไปในที่สุด แต่จิตใจนี้แหละที่จะดับทุกข์ ที่จะเข้าถึงความสุข ที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ได้
เราทุกท่านทุกคนนี้แหละ ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผู้ประเสริฐน่ะ สามารถกระทำแต่สิ่งที่ดีๆ มนุษย์ แปลว่า ผู้ที่จิตใจสูง ทำแต่สิ่งที่ดี ถ้าเป็นคนน่ะ ทำทั้งดีทั้งชั่ว
เราทุกท่านทุกคนพระพุทธเจ้าถึงว่าต้องสมาทานเอาความดี ถ้าเราไม่สมาทานนั้นน่ะมันไม่ได้ ขนาดสมาทานอยู่มันก็ยังจะไม่ได้ ต้องอาศัยความอดความทน ความเหน็ด ความเหนื่อย ความยากลำบาก เพราะเราจะไม่เอาความดับทุกข์ทางกาย เราจะมาอบรมบ่มอินทรีย์ทางจิตทางใจ
คนเราส่วนใหญ่น่ะมันเป็น 'แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ' พากันดับทุกข์ทางกาย หิวก็บริโภค เหนื่อยก็พักผ่อน ตกอยู่ในอำนาจของความอยาก มันไม่ได้พัฒนาจิต ไม่ได้พัฒนาใจ เราอยู่ในบ้านในสังคมน่ะ...มาวัดทุกครั้ง...ท่านถึงให้เรามาสมาทานเอาศีล ๕ ศีล ๘ มาบวช...มาสมาทานเอาศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ สมาทานแล้ว...ก็ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ปรับทั้งกาย วาจา ใจ กิริยาต่างๆ ปรับเข้าหาธรรมะด้วยการสมาทาน ด้วยความตั้งใจ
ทุกท่านทุกคนกลัวความดี จะรักษาศีลไม่กี่ข้อนี้ก็กลัว 'หัวใจกลัว' อย่างนี้เค้าเรียกว่า 'หัวใจอสุรกาย' ท่านว่า... "คนเราน่ะถ้ามันจะตายก็ไม่เป็นไร ตายเพราะความดี ตายเพราะเราได้สร้างบารมีเราได้เสียสละ"
เราอนุโลมตามกิเลส ความอยาก ความต้องการนั้น มันเป็นสิ่งที่ไม่จบไม่สิ้น ผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยนะ ทุกวันนี้น่ะนรกหลุมเล็กหลุมใหญ่มันยิ่งผุดขึ้นมาเยอะ หมายถึง พวกเราพากันบริโภควัตถุ หลงวัตถุในชีวิตประจำวันความเอร็ดอร่อยในการรับประทาน ความเอร็ดอร่อยในการฟัง ความเอร็ดอร่อยในการเที่ยว พากันลุ่มหลงอยู่ตั้งแต่อารมณ์ของสวรรค์นะ หาเงินหาสตางค์พลัดพรากจากสถานบ้านเกิดเมืองนอน หรืออยู่ในท้องถิ่นก็ดี ก็เพื่อที่จะมาบริโภควัตถุ บริโภครูป เสียง กลิ่น รสน่ะ เราบริโภคอยู่อย่างนี้ เราพากันหลงอยู่อย่างนี้ มันก็เปรียบเสมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ ร่างกายของเรามันจะไม่ทันกาลนะ มันจะแก่เฒ่าทำอะไรก็ไม่ได้ล่ะทีนี้ เมื่อเราแก่หน่อยก็ไปคิดว่าสุขภาพไม่ดี
ทุกคนน่ะมันก็มีภาระเยอะ ภาระเรื่องคุณพ่อคุณแม่ เรื่องลูกหลาน เรื่องคนงานหรือเจ้านาย แต่การประพฤติการปฏิบัติศีล ปฏิบัติธรรมน่ะ มันก็สามารถแทรกเข้าไปในการประพฤติการปฏิบัติ ในหน้าที่การงานได้ทั้งหมดทุกอย่าง ไม่มีเลยที่ปฏิบัติไม่ได้ ถ้าเรารู้เรื่อง ถ้าเราเข้าใจ ถ้าเราไปรอให้หมดธุระ รอไม่มีธุระนั้นน่ะก็คือ "เท่ากับเรารอให้เราหมดลมหายใจ"
การงานทุกอย่าง คือ การเสียสละ คือ การเจริญสติสัมปชัญญะ เราทำงานทุกวันนี้...เราไม่ได้คิดเรื่องเสียสละนะ เราคิดแต่เรื่องรวย...กับเรื่องเงิน เราทำงานเพื่อจะเอาเงินเอาสตางค์ เพื่อที่จะรวย ถ้าเราคิดว่าเพื่อเสียสละ เราก็มีความสุขน่ะ การงานนั้นมันก็ยิ่งทำให้เรารวยพร้อมทั้งเรารวยอริยทรัพย์ ใจของเราก็ไม่ถูกกิเลสมันเผาเป็นทุกข์ประจำวันมันก็มีแต่ความสุข
'ความสุข' ให้ทุกคนเข้าใจนะ คือ ใจของเราสงบ ใจของเรามีปัญญา ไม่ถูก 'กิเลส' มันครอบงำ ความสุข ความดับทุกข์ มันต้องมีกับเราตลอดเวลานะ ไม่ว่าเราจะทำงาน หรือว่าไม่ได้ทำงาน ความสุขความสงบนั้นน่ะ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา คนเราทุกคนให้พากันรู้นะ อย่าพากันอยาก อย่าพากันต้องการ ถ้าเราเสียสละนะ ใจของเราจะเข้าถึงความสุขความดับทุกข์น่ะ "ใจของเราจะไม่ถูกกิเลสมันเผา เราจะเป็นคนเผากิเลส"
ถ้าใจของเราสงบ ใจของเราเย็นอย่างนี้ แสดงถึงว่าเรามี 'สมาธิ' ในชีวิตประจำวัน คนเรามันต้องมีความสุขความดับทุกข์น่ะ เค้าเรียกว่า มีปิติ มีสุข มีเอกัคคตา ทุกเมื่อทุกเวลาในชีวิตประจำวันถึงจะถูกต้อง
เราอย่าเป็นคนตื่นข่าว...ยุ่งแต่กับเรื่องภายนอก... เรื่องภายนอกนั้นน่ะ หูเราไม่หนวก ตาเราไม่บอด เราก็รู้เราก็เห็น แต่เห็นแล้วก็พากันปล่อยกันวาง เราอย่าเอาเรื่องภายนอกมาวิตกวิจารณ์ จิตใจของเราจะเป็นคนพาล ยิ่งเราเป็นคนฉลาดเป็นคนเก่งน่ะมันก็แบกเอาดีเอาชั่วของคนอื่น ท่านว่า... เราทำอย่างนั้นไม่ถูกนะ เพราะชีวิตของเราขึ้นอยู่กับสิ่งภายนอก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ "พุทโธ' ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน" โลกเค้าก็เป็นอยู่อย่างนี้ "เราเกิดขึ้น โลกเค้าก็เป็นอยู่อย่างนี้ เราตั้งอยู่ โลกเค้าก็เป็นอยู่อย่างนี้ เราตายไป เค้าก็เป็นอยู่อย่างนี้"
ปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เราทุกคนต้องหยุดตัวหยุดตน สละสักกายะทิฏฐิ สละซึ่งตัวซึ่งตน เอาธรรมวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่เป็นที่ตั้ง ด้วยความตั้งใจด้วยเจตนา ความอร่อยของวัฏฏสงสารมันเป็นสิ่งที่เสพติด ทุกท่านทุกคนต้องเห็นภายในวัฏสงสาร ต้องใจเข้มแข็งมีปัญญา
เราเกิดมาเป็นมนุษย์ร่างกายเป็นมนุษย์ เป็นชีวิตที่ประเสริฐ เราต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องแล้วพากันปฏิบัติให้ถูกต้อง และเสียซึ่งนิติบุคคลตัวตน มีสติคือความสงบมีสัมปชัญญะคือปัญญา นี้คือการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ ไม่มีตัวไม่มีตน มีแต่ก้าวไปด้วยสัมมาทิฏฐิ คือศีลสมาธิปัญญา พัฒนาทางวัตถุสิ่งอำนวยความสะดวกความสบายทางร่างกาย พัฒนาทั้งทางจิตใจ ออกจากความชอบความไม่ชอบ รู้จักธรรมะรู้จักสภาวะธรรม เป็นไฟท์เป็นการประพฤติปฏิบัติ ในชีวิตที่ประเสริฐในปัจจุบัน ถ้าเราไม่มีตัวไม่มีตน เราถึงจะมีความสุข ถ้าเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ใจของเรามันหยาบมันสกปรก เพราะใจเรามันจมอยู่หมกมุ่นอยู่
พระธรรมวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ในพระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ นี้เป็นระบบความคิดระบบอารมณ์ เราต้องเอามาหยุดตัวตน ต้องดูตัวอย่างแบบอย่างของพระพุทธเจ้า วันหนึ่งคืนหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมง พระองค์ทรงมีความสุขในการทำงานเพื่อประโยชน์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ๒๐ ชั่วโมง ความดับทุกข์ที่แท้จริงต้องมาจากการที่เรามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม เราจะไปแยกเรื่องจิตใจออกจากวัตถุนั้นไม่ได้ มันต้องไปพร้อมๆกัน วัตถุนั้นถึงจะเป็นคุณ ในชีวิตประจำวันของเราเนี่ย เราต้องรู้จักข้อวัตรข้อปฏิบัติของเรา คำว่าวัดมันไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจของเราในปัจจุบันที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง นี้คือวัดคือข้อวัตรข้อปฏิบัติของเรา
เราถือว่าเราเกิดมาเพื่อมามี... 'พุทโธ' มีผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้ไม่มีความทุกข์ด้วยประการทั้งปวง เราเป็นคนเป็นมนุษย์ มีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งน่ะ เราต้องไม่มีความทุกข์ด้วยประการทั้งปวง ในตัวเราต้องมีความสุข มีความดับทุกข์ ต้องมีพระนิพพาน ครอบครัวของเรา กุลบุตรลูกหลานของเรา ต้องมีความสุข มีความอบอุ่น เพราะเราทุกๆ คนนี้สำคัญอยู่ที่ตัวเราเอง
'กรรมใครใครก่อน่ะ' เราทำดี เราปฏิบัติดี ชีวิตของเราก็พร้อมด้วยโภคทรัพย์ พร้อมด้วยอริยทรัพย์ ต้องเน้นมาหาตัวเอง เพราะทุกคนสำคัญอยู่ที่ใจน่ะ มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นประธาน
โลกนี้สำคัญอยู่ที่ 'ใจสงบ' เรามีความสุข มีความสงบ เราก็ไม่ติดในความสงบ เรามีสุข...เราก็ไม่ติดในความสุข เราสบาย...ก็ไม่ได้ติดในความสบาย ถ้าเราติดเราก็ไปไม่ได้ หมายถึง 'จิตใจ' เราไปไม่ได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ทุกขณะของจิต ถ้าติดก็หมายถึงเราหลงเรามีอวิชชา 'อวิชชา' ก็หมายถึง ความมืดบอด
เราฝึกไป ปฏิบัติไป อินทรีย์บารมีของเราก็จะค่อยๆ แก่กล้า เมื่อทุกท่านทุกคนปฏิบัติแล้ว ก็จะรู้ได้เฉพาะตน เราไม่ต้องไปถามใครว่า 'เราหมดกิเลสหรือยัง' ทุกท่านทุกคนก็รู้ด้วยตัวเองน่ะ การประพฤติการปฏิบัตินี้ ไม่มีใครแต่งตั้งกันได้ ทุกท่านทุกคนจะรู้ได้ด้วยตนเอง
ให้ทุกท่านทุกคน... ให้เข้าใจเรื่อง 'ปฏิบัติ' เหมือนพระพุทธเจ้าสอนนี้ เราจะได้เน้นเข้าหาชีวิตจิตใจของตัวเอง จะได้เข้าใจในเรื่องพระศาสนาที่แท้จริง จะได้ไม่พากันหลง จะได้พากันมาแก้ มาปฏิบัติในปฏิปทา เดินตามรอยของพระพุทธเจ้า ให้พากันมาเน้นเรื่อง... 'ความเข้มแข็งทางจิตใจ' ทุกท่านทุกคนส่วนใหญ่ที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่นี้ ถือว่าจิตใจยังไม่เข้มแข็งนะ 'ถือว่าจิตใจยังเด็กๆ' จิตใจยังมีความท้อแท้ ยังมีความหวาดหวั่น ยังห่วงหาอาวรณ์อยู่
พระพุทธเจ้าท่านถึงพูดเรื่องการตัดสังโยชน์ ๓ ถึงจะเข้าถึงคุณธรรมของพระโสดาบัน ตัดสังโยชน์ ๕ เป็นคุณธรรมของพระอนาคามี ตัดสังโยชน์ ๑๐ น่ะเป็นคุณธรรมของพระอรหันต์ "ถ้าเราไม่แข็ง ไม่คมจริง ไม่หนักแน่นจริงน่ะ เราไม่สามารถที่จะตัดได้ ละได้"
อริยมรรคมีองค์ ๘ ถึงไปเน้น 'มรรคสุดท้าย' คือ สัมมาสมาธิ... สัมมาสมาธินี้ คือ การอบรมบ่มอินทรีย์ มีทั้งขันติ มีทั้งความเพียร มีทั้งอดทน เพื่ออบรมบ่มอินทรีย์ ทิ้งทางจิตใจหมด เน้นคุณธรรมไม่เอาวัตถุเป็นที่ตั้ง เรียกว่า อามิสต่างๆ นี้ไม่สามารถครอบงำหัวใจเราได้
ต้องหนักแน่น ต้องเข้มแข็ง ต้องตัด ต้องละ ต้องทิ้ง เราจะได้เดินตามรอยของพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย เพราะว่า... การเวียนว่ายตายเกิดนี้ ถือว่าเป็นภาระหนักเป็นภาระใหญ่ ถึงจะเอร็ดอร่อยถึงจะสะดวกสบาย ที่มันเป็นรางวัลเพียงเล็กน้อย ที่มันทำให้เราท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารนี้ เราทุกคนก็มีความจำเป็นที่จะต้องตัด ทุกท่านทุกคนล้วนได้เกิดมาคนเดียว เวลาจากโลกนี้ ไปก็ไปคนเดียวน่ะ ถือโอกาสถือเวลาว่าชีวิตนี้มาสร้างความดี มาสร้างบารมี มาสร้างคุณธรรม
การละกิเลสเกิดขึ้นได้ ๗ ทาง
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญขึ้น เมื่อภิกษุทำไว้ในใจโดยแยบคาย อาสวะทั้งหลาย ที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้วย่อมละเสียได้ ทรงตรัสต่อไปว่าการอาสวะทั้งหลายนั้น เกิดขึ้นได้ ๗ ทางคือ ๑. ด้วยการเห็น (ทัศนะ) ๒. ด้วยการสำรวมระวัง (สังวร) ๓. ด้วยการส้องเสพ (ปฏิเสวนะ) ๔. ด้วยการอดกลั้น(อธิวาสนะ) ๕. ด้วยการงดเว้น (ปริวัชชนะ) ๖. ด้วยการบรรเทา (วิโนทนะ) และ ๗. ด้วยการอบรมจิตต (ภาวนา)
๑. วิธีละกิเลสด้วยการเพิ่มพูนความเห็น(ที่ถูกต้อง) การเลือกมนสิการในธรรมที่ควรมนสิการ และไม่มนสิการในธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ธรรมที่ไม่ควรมนสิการนั้น คือธรรมที่มนสิการแล้ว ทำให้กามาสวะ ภวาอาสวะ หรืออวิชชาสวะ ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้นและที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญมากขึ้น อโยนิโสมนสิการของปุถุชนนั้น คือการได้คิดเรื่องว่า ตนเคยเกิดหรือไม่เคยเกิด เคยเกิดอย่างไร เคยเกิดเป็นอะไร จะเกิดต่อไปหรือไม่อย่างไร สัตว์เกิดมาแต่ไหน หรือจะไปเกิดที่ไหนต่อไป เมื่อนึกคิดเรื่องเหล่านี้ก็จะเกิดเป็นทิฐิความเห็น 6 อย่างคือ ความเห็นเรื่องอัตตาเรามี อัตตาของเราไม่มี เรารู้อัตตาด้วยอัตตาของเรา เรารู้สิ่งที่ไม่ใช่อัตตาด้วยอัตตาเรา รู้อัตตาด้วยสิ่งที่ไม่ใช่อัตตา อัตตาของเราเป็นผู้พูด ผู้รู้ ผู้รับผลของกรรม อัตตาของเราเป็นอมตะนิรันดร ความเห็นทั้ง 6 อย่างนี้เป็นตัวมิจฉาทิฏฐิ ยังไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัสไปได้ ส่วนอริยสาวกนั้น ย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้คือความดับทุกข์ นี้คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เมื่อริยสาวกมนสิการอยู่โดยแยบคายอย่างนี้ สังโยชน์ทั้ง 3 คือสักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลพัตตปรามาส ย่อมเป็นอันเธอละได้ ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้ตถาคตกล่าวว่า อาสวะกิเลส จะพึงละได้เพราะการเห็น
๒. การละกิเลสด้วยการสำรวมระวัง อาสวะทั้งหลายเกิดขึ้น เพราะการไม่สำรวมระวัง ในอินทรีย์ทั้ง๖ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เมื่อภิกษุมนสิการโดยแยบคายแล้วเป็นผู้สำรวมอินทรีย์ อาสวะทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ..นี้คือการละอาสวะด้วยการสังวร
๓. การละกิเลสด้วยการส้องเสพ หมายถึงการบริโภคใช้สอยในปัจจัย 4 การพิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยตามความจำเป็น ไม่ใช่เพื่อความสวยงาม หรือความสุขสบาย หรือเพื่อความรื่นรมย์เป็นต้น อาสวะทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ..นี้คือการละอาสวะด้วยการส้องเสพ
๔. การละกิเลสด้วยความอดกลั้น เมื่อภิกษุมนสิการโดยแยบคาย และอดทนต่อความร้อน ความหนาว ความหิวกระหาย ความอดทนต่อสิ่งรบกวนภายนอก เช่น เลือด ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย การอดทนต่อการกล่าวร้ายของผู้อื่น การอดทนต่อเวทนาอันไม่พึงปรารถนา อาสวะทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ..นี่คือการละอาสวะโดยอาศัยโดยอาศัยความอดทน
๕. การละกิเลสด้วยการงดเว้น เช่น การหลีกเลี่ยงสัตว์ที่มีพิษดุร้าย การหลีกเลี่ยงจากสถานที่ที่น่าอันตราย การหลีกเลี่ยงไม่โคจรไปในที่อันตราย หรือการเว้นจากการคบมิตรที่เลว เมื่อพิจารณาโดยแยบคายแล้วงดเว้นหรือหลีกเลี่ยงอย่างนี้ อาสวะที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนก็เกิดขึ้นไม่ได้ ...นี่คือการละอาสวะด้วยการงดเว้น
๖. เมื่อภิกษุมนสิการโดยแยบคายแล้วขจัดหรือบรรเทา ซึ่งกามวิตก พยาบาทวิตกวิหิงสาวิตก รวมถึงธรรมอันเป็นบาปอกุศลทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว ให้หมดสิ้นไปเมื่อภิกษุบรรเทาหรือขจัด กามวิตก เป็นต้นเสียได้ อาสวะที่ทำให้เกิดความยุ่งยากเดือดร้อนก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ..นี่คือการละอาสวะด้วยการบรรเทา
๗. การละกิเลสด้วยการอบรมจิต ทรงชี้ไปถึงการพิจารณาโดยแยบคาย ในการเจริญโพชฌงค์ 7 อันได้แก่ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิและอุเบกขา ซึ่งล้วนแต่เป็นธรรม อิงวิเวก อิงวิราคะ และน้อมไปในทางหลุดพ้นแห่งกิเลส เมื่อภิกษุได้ลงมือปฏิบัติอย่างนี้ อาสวะที่ทำความเดือดร้อนยุ่งยากให้ ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ..นี้เป็นการละอาสวะด้วยการภาวนา
ทรงตรัสตอนท้ายว่า เมื่อภิกษุทั้งหลายละอาสวะทั้งหลายด้วยวิธีต่างๆดังกล่าวมาแล้ว ก็เรียกว่าเป็นผู้สำรวมระวังในอาสวะทั้งปวง ขจัดตัณหาได้ ทำลายสังโยชน์ได้ ถึงที่สุดแห่งความทุกข์ เพราะความตรัสรู้แห่งใจ.
เราเป็นผู้ที่โชคดี ทุกท่านทุกคนต้องใจเด็ด ต้องเฉียบขาด เด็ดขาด มันพึ่งใครไม่ได้ มันต้องพึ่งพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอน เราปฏิบัติอย่างนี้ เราถึงจะได้เป็นพระอริยเจ้า ไม่ว่าเราจะเป็นนักบวช หรือ เป็นประชาชน เราก็ต้องทำอย่างนี้ มัวแต่เอาเเต่ใจตัวเอง เอาเเต่อารมณ์ตัวเองเอาเเต่ความรู้สึกอย่างนี้ ไม่ได้ มันทำให้เราทุกข์ทั้งกายทุกข์ทั้งใจ เน้นลงไปที่ปัจจุบัน ต้องมีฉันทะ มีความพอใจ ต้องมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ เพราะเราทำถูกต้องแล้วอย่างนี้ เพราะมันจะเป็นอย่างนี้ไป มันจะเลื่อนของมันไปเอง ถ้าอย่างนั้นมันไม่ได้ ให้อวิชชาดึงเราไป หลอกลวงเราไป
ธรรมะคือธรรมชาติ ที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา ให้ทุกท่านทุกคนมีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจให้ถูกต้อง ตัวของเรานั้นไม่มีนะ ที่เรามีตัวมีตนได้เพราะเรามีความเห็นผิดเข้าใจผิด ที่เราต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่มีที่จบไม่มีที่สิ้นนั้นเนื่องมาจากเรามีความเข้าใจผิด เห็นผิดว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้เป็นเรา... รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นไม่ใช่เรานะ มันเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ที่เค้าเกิดมาได้เนื่องจากอวิชชาที่เป็นรากเหง้าแห่งความหลง เมื่อเรามีความหลง เราก็ย่อมเป็นทาสของอวิชชา ให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจอย่างนี้
เราต้องเอาศีล เอาสมาธิ เอาปัญญา มาประพฤติมาปฏิบัติ หยุดก่อนลาก่อนวัฏฏะสงสารทุกคน ทุกคนทำได้ปฏิบัติได้ ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน จะเป็นนักบวชหรือเป็นประชาชน ก็ต้องทำอย่างนี้ทุกคน ทุกคนต้องเป็นหนึ่ง ต้องเป็นเอก ไม่ต้องไปพึ่งใคร พึ่งการประพฤติการปฏิบัติของเราเอง เราจะได้เป็นตัวพระธรรมคำสั่งสอน จะได้เป็นตัวธรรมะ เราไม่ต้องวิ่งไปหาความสุขที่ไหน เพราะมันอยู่ที่กายยาววาหนาคืบ มันอยู่ที่ใจเราอย่างนี้ เราเข้าถึงศีลที่เเท้จริง เข้าถึงพระนิพพานที่เเท้จริง เราจะไม่ได้เป็นศีล เป็นกฎหมายบ้านเหมือนอย่างนี้ไม่ใช่นะ เราอย่าไปชักช้า โอ้เอ้ โลเล มันจะได้เข้าถึงความสงบ ความวิเวกที่ปัจจุบัน ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา เราเข้าใจ เราจะไม่ไปหาความสงบอยู่ที่อื่น ความสงบอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง การปฏิบัติที่ถูกต้อง
พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนเราให้รู้จัก 'ใจ' ของเรา รู้จัก 'อารมณ์' ของเรา ปัญหาอยู่ที่เราไม่รู้จัก มันเลยเป็นวัฏจักรหมุนไปเรื่อยนะ
"มาประพฤติปฏิบัติธรรมแทนที่มันจะได้เป็นพระอรหันต์ ก็เป็นได้แต่ 'พระอรหมุน..."
พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า สิ่งเหล่านี้มันทำบ้าน ทำเรือนทำวัฏฏสงสารให้เรานะ เมื่อเรารู้แล้วเราก็เอาตัวเองมาประพฤติปฏิบัติพยายามหยุด อย่าหมุน สัมมาสมาธิพยายามตั้งไว้ดีๆ พอกันทีโลกนี้ ความคิดที่วุ่นวาย เราอย่าไปคิดมาก หมุนมาก มันเล่นงานเรา จะเอาเราเข้าโรงพยาบาลจิตเวชตั้งหลายรอบ
ทุกท่านทุกคนต้องขอบใจอวิชชาความหลง ความปรุงแต่งนะ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่ได้มีพระพุทธเจ้า ไม่ได้มีพระธรรม ไม่ได้มีพระอริยสงฆ์ จึงต้องมาขอบใจอวิชชา ทำให้เราได้สำนึกสำเหนียก ได้พัฒนาตนเองเพื่อหยุดก่อนลาก่อนวัฏสงสารคือถึงพระนิพพานในที่สุด
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee