แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๔๖ มีระบบวามคิดที่ถูกต้อง คือมีความคิดดำริออกจากกาม ออกจากพยาบาท ออกจากความเบียดเบียน
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราทุกคนเกิดมาเป็นมนุษย์ต้องพากันมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ รู้ทุกข์รู้เหตุเกิดทุกข์รู้ความดับทุกข์รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ มีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ เพื่อให้มันถูกต้อง ต้องปรับตัวเองเข้าหาธรรมะเข้าหาเวลา ให้อาหารกายแล้วก็ให้อาหารใจ ตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ เป็นองค์บรมครูผู้บอกผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เราต้องถือนิสัยของพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้านั้นคือธรรมะ ธรรมะนั้นคือพระพุทธเจ้า ต้องมีความดำริออกจากวัฏสงสาร ออกจากกาม ออกจากพยาบาท ทุกคนน่ะจะเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ไม่ได้ อาหารกายที่ไม่ทำบาป อาหารกายก็มาจากใจที่เรามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง เราถึงพากันดำริออกจากสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่มันเป็นกามเป็นพยาบาท เพราะธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดจากเหตุ ถ้าจะดับก็ต้องดับที่เหตุ ทุกๆ คนนะทำได้ปฏิบัติได้ ไม่มีใครทำไม่ได้ปฏิบัติไม่ได้หรอก
๑. เนกขัมมสังกัปปะ หรือ เนกขัมมวิตก ได้แก่ ความตรึกปลอดจากกาม หรือความนึกคิดในทางเสียสละไม่ติดในการปรนปรือสนองความอยากของตน เป็นความคำริที่ปลอดจากโลภะ ความนึกคิดที่ปลอดโปร่งจากกาม ไม่หมกมุ่นพัวพันติดข้องในสิ่งสนองความอยากต่างๆ
ความคิดที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว ความคิดเสียสละ และความคิดที่เป็นคุณเป็นกุศลทุกอย่างจัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากราคะ หรือโลภะ
คนส่วนมากไม่ได้ยินได้ฟังไม่ได้ศึกษาคำสอนของพระอริยเจ้าว่ากามมีโทษอย่างไรเขา เหล่านั้นเรียนรู้แต่คำสอนแนะนำชักชวนของปุถุชนผู้หมกมุ่นอยู่ในกามด้วยกัน พรรณนาคุณของกาม ชักชวนให้แสวงหากาม สรรเสริญบุคคลผู้มั่งคั่งพรั่งพร้อมไปด้วยกาม คนทั้งหลายผู้ตกอยู่ในอำนาจกรอบงำของสังคม ก็พลอยหมกมุ่นพัวพัน เห็นดีเห็นงามไปด้วย พอต้องประสบทุกข์เพราะกามเข้าก็ไม่มีญาณหยั่งรู้ว่า ทุกข์นั้นเพราะกามจึงต้องเที่ยวโทษคนนั้นคนนี้แล้วปองร้ายกันเบียดเบียนประหัตประหารกันให้สังคมวุ่นวายอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้
อีกพวกหนึ่ง แม้ได้ยินได้ฟังคำสอนของพระอริยะเจ้า เห็นโทษของกามอยู่แต่ยังไม่อาจปลีกตนออกจากกามได้เพราะเหตุอื่น เช่นภาระความรับผิดชอบในครอบครัวบ้างกำลังใจยังไม่แข็งพอที่จะต่อสู้เอาชนะอำนาจความยั่วยวนได้บ้าง เห็นแก่ความอยากเล็กน้อยที่กามนั้นหยิบยื่นให้ พอเป็นเหยื่อเหมือนเหยื่อที่เบ็ดเกี่ยวไว้บ้าง จึงยังไม่สามารถปลีกตนออกไปจากอำนาจครอบงำของกามได้ เปรียบเหมือนคนที่เป็นทาสเขาเห็นโทษของความเป็นทาสแล้ว อยากมีความอิสระแต่ไม่มีกำลังพอที่จะถอนตนออกเป็นของเสรีภาพได้จึงตกอยู่ในอำนาจครอบงำของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าต่อไป
ในความเป็นทาสทางใจ คือการเป็นทาสของกิเลสนั้นผู้ต้องการเสรีภาพจะต้องอาศัยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว กล้าในสิ่งที่คนทั้งหลายอื่นไม่กล้าทำ กล้าเสียสละในสิ่งที่คนทั้งหลายอื่นหวงแหน จึงจะถอนตนออกจากอำนาจครอบงำของกิเลส เช่นกามเป็นต้นได้ ความคำริในการออกจากกาม เป็นมรรคหนึ่งที่นำไปสู่ความหลุดพ้นจากบ่วงกามอันมีลักษณะผูกพันบุคคลไว้ในโลกในภพ แม้มันจะผูกหย่อนๆ แต่แก้ได้ยากยิ่งมีน้อยคนนักจะพ้นไปจากอำนาจกรอบงำของกาม แต่ผู้พ้นก็มีอยู่ ผู้ใดพ้นได้ผู้นั้นย่อมประจักษ์ด้วยตนเองว่า สภาวะที่อยู่เหนือกามนั้นเป็นความปลอดโปร่งผาสุกร่มเย็นห่างจากภัยอันตราย สะอาด สว่าง และสงบ
๒. อพยาบาทสังกัปปะ หรือ อพยาบาทวิตก ได้แก่ ความตรึกปลอดจากพยาบาท หรือความนึกคิดที่ประกอบด้วยความรัก ความหวังดี ไม่ขัดเคืองหรือเพ่งมองในแง่ร้าย คือ ความดำริที่ไม่มีความเคียดแค้น ชิงชัง ขัดเคือง หรือเพ่งมองในแง่ร้ายต่างๆ โดยเฉพาะมุ่งเอาธรรมที่ตรงข้าม คือเมตตา ซึ่งหมายถึงความปรารถนาดี ความมีไมตรี ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากโทสะ และพยาบาท การมีจิตใจที่สะอาด สดชื่นแจ่มใส ไม่หมักหมม รุงรังด้วยความพยาบาทเคียดแค้น ย่อมช่วยแต่งใบหน้าให้มีสง่าราศีงดงามน่าเคารพกราบไหว้ เป็นเสน่ห์ดึงดูดคนให้มองดูแล้วเกิดความรู้สึกชื่นฉ่ำขึ้นมาในดวงใจ
โดยปกติภาพของจิตนั้นสะอาดผ่องใสไม่ต้องการความเศร้าหมองใดๆ ทั้งสิ้นเพราะฉะนั้น เมื่อสิ่งเศร้าหมองมากระทบจิตจึงได้มีอาการดิ้นรนมีปฏิกิริยาโต้ตอบจะคายสิ่งเศร้าหมองนั้นออก แต่เมื่อสิ่งเศร้าหมองนั้นมากระทบบ่อยๆ และจิตไม่มีกำลังใดมาช่วยกำจัดสิ่งเศร้าหมอง จิตจึงตกอยู่ใต้อำนาจของสิ่งเศร้าหมองที่เรียกว่ากิเลส เมื่อนานเข้าก็กลายเป็นทาสของความเคยชินอันนั้นไป เช่นความโลภ ความโกรธ ความหลง ความริบยาพยาบาท พวกนี้ล้วนเป็นสิ่งเศร้าหมองของจิตเป็นของเสียที่เข้าสู่จิตทำให้จิตเสียปกติภาพไป ส่วนคุณธรรมคือ การให้อภัย เมตตากรุณา ความเสียสละ ความเห็นแจ้งตามเป็นจริงในสิ่งทั้งปวง เหล่านี้เป็นยาใจ เป็นเครื่องฟอก ชำระล้างสิ่งเศร้าหมองของจิต เมื่อจิตได้เสพโอสถคือธรรมสม่ำเสมอและได้คุณภาพปริมาณเพียงพอที่จะกำจัดโรคคือกิเลสแล้ว ธรรมโอสถนั้นก็จะทำลายโรคคือกิเลสโดยสิ้นเชิง ไม่ให้หวนกลับมารบกวนจิตอีก จิตก็จะดำรงอยู่อย่างสะอาดผ่องใส สงบ และสว่างตามปกติภาพเดิมของตน
๓. อวิหิงสาสังกัปปะ หรือ อวิหิงสาวิตก ได้แก่ ความตรึกปลอดจากการเบียดเบียน หรือความนึกคิดที่ประกอบด้วยกรุณาไม่คิดร้ายหรือมุ่งทำลาย โดยเฉพาะมุ่งเอาธรรมที่ตรงข้ามคือ “กรุณา” ซึ่งหมายถึงความคิดช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลงซึ่งเป็นอกุศลมูล คือต้นตอหรือรากเจ้าของความชั่วทั้งมวล บุคคลย่อมเบียดเบียนผู้อื่นเพราะมีโลภะ โทสะ หรือโมหะ อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในใจ หรือเพราะทั้ง ๓ อย่างรวมกัน เมื่อคิดเบียดเบียนเขาใจของตนก็เศร้าหมองเร่าร้อน ตนก็ย่อมเดือดร้อนเหมือนกัน บุตรและภรรยา ญาติพี่น้องก็พลอยเดือดร้อนกันอีก บางทีถึงกับรวมกลุ่มเบียดเบียนกันทั้งสองฝ่าย ต่างก็เดือดร้อน นอกจากเบียดเบียนผู้อื่นแล้ว มนุษย์ยังมีการเบียดเบียนตนเองโดยการทำตนเองให้เดือดร้อนอีกด้วย ตัวอย่างเช่น การติดยาเสพติดอันเป็นตัวการทำลายสุขภาพอนามัยของตน ความจริงเรื่องนี้ไม่เพียงแต่เบียดเบียนตนเองเท่านั้น ยังชื่อว่าเบียดเบียนพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และเพื่อนที่รักอีกด้วย เพราะทำให้คนเหล่านั้นพลอยเดือดร้อน เฉพาะอย่างยิ่งบิดามารดาอาจเดือดร้อนเพราะการติดยาเสพติดของบุตรธิดา ยิ่งกว่าตัวผู้ติดยาเองเสียอีก ความวิตกกังวลต่างๆ จนต้องกลายเป็นคนหวาดผวาขาดความเชื่อมั่นในตน เป็นโรคประสาทพิการ ถือว่าเป็นการเบียดเบียดตนเองอีกลักษณะหนึ่งเช่นกัน
เราต้องเข้าใจ จะได้ให้ทั้งอาหารกายที่ถูกต้อง ให้ทั้งอาหารใจที่ถูกต้อง การที่เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ มันเป็นศีลมันเป็นระเบียบวินัย เป็นกรรมเป็นกฎแห่งกรรม ความจนความรวยทางวัตถุ มันก็มาจากเหตุจากปัจจัย ความจนความรวยทางจิตใจทางคุณธรรม ก็มาจากเหตุจากปัจจัย เราต้องทำให้ถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง
กามนี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเพศ กามนี้คือทุกอย่างที่ใจเราไปหลง พวกนี้ต้องกำจัดด้วยศีล ด้วยระเบียบด้วยวินัย เน้นเข้าถึงใจเข้าถึงภาคประพฤติภาคปฏิบัติ
การกำจัดกามให้ออกไปจากจิตนั้นได้ก็ด้วยการใช้หลักไตรสิกขา คือ ต้องใช้อำนาจศีล อำนาจสมาธิ และอำนาจปัญญา ศีล สมาธิ และปัญญานี้ สามารถกำจัดกามได้โดยตรง
๑.) การกำจัดกามด้วยศีล การใช้ศีลกำจัดกามนั้นก็คือให้ใช้อินทรียสังวร คือ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา ไม่ให้ยินดียินร้ายเมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัสทางกาย และแม้แต่รับอารมณ์ทางใจ ถ้าหากว่าตาเราได้ประสบสิ่งเหล่านี้ ก็ให้เห็นว่ามันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ยินดียินร้าย คือสำรวมตา สำรวมหู สำรวมกาย และสำรวมใจเสีย ถ้าเราอยู่อย่างมีความสำรวม กามก็เบียดเบียนใจได้ยาก นี้ก็คือการกำจัดกามด้วยอำนาจศีล
๒) การกำจัดกามด้วยสมาธิ คือ ใช้อสุภกรรมฐานเป็นตัวกำจัดกำมโดยตรง เพราะกามฉันท์หรือกามราคะนั้น จะบางเบาลงไปหรือจะลดลงไปได้ ก็เมื่อบุคคลนั้นพิจารณาร่างกายของตนเองและของคนอื่นให้เห็นว่า เป็นของน่าเกลียด ปฏิกูล ไม่งามทั้งสิ้น เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อุจจาระ ปัสสาวะ เสลด เลือด เหงื่อ เป็นต้น อยู่ในร่างกาย เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริง โดยความเป็นอสุภกรรมฐาน เพื่อให้จิตเกิดความสงบ ก็เป็นลักษณะของสมาธิ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคตอนหนึ่ง ใจความว่า ร่างกายนี้มีกระดูก ๓๐๐ ท่อนเป็นโครง หุ้มไปด้วยหนัง ฉาบไปด้วยผิว พอกไว้ด้วยชิ้นเนื้อ รัดรึงไว้ด้วยเส้นเอ็น มีการเทเข้าเทออกซึ่งของไม่สะอาดจากร่างกายนี้อยู่เป็นนิจ มีทวารหรือช่องสำหรับเทของไม่สะอาดออกจากร่างกายนี้อยู่ ๙ ช่อง คือ มีขี้ตาไหลออกจากตาทั้ง ๒ มีน้ำมูกไหลออกจากกระพุ้งจมูกทั้ง ๒ มีขี้หูไหลออกจากหูทั้ง ๒ มีขี้ฟัน เสลด อาเจียน ไหลออกจากปาก มีปัสสาวะไหลออกจากทวารเบา มีอุจจาระไหลออกจากทวารหนัก มีเหงื่อไหลออกจากขุมขนเก้าหมื่นเก้าพันขุม (นี้ท่านกล่าวโดยประมาณเอา)
ร่างกายนี้ถ้าเจ้าของกายไม่ชำระล้าง ไม่อาบน้ำ ไม่หวีผม ไม่แต่งตัว ปล่อยไว้ตามสภาพที่มันเป็น เพียง ๒-๓ วันเท่านั้น ร่างกายจะมีกลิ่นเหม็น แม้เจ้าของเองก็รังเกียจร่างกายตัวเอง จะมีแมลงวันหัวเขียวมาไต่ตอมร่างกายจึงสกปรกเหมือนกันหมด ไม่แตกต่างกันในระหว่างร่างกายของพระราชาและคนเข็ญใจ ร่างกายนี้เปรียบเหมือนป่าช้า เป็นที่ทิ้งซากศพ คือ ศพเป็ด ศพไก่ ศพหมู ศพปลา ศพวัว ศพควาย เป็นต้น ที่มนุษย์กินเข้าไป ไปเน่าเหม็นอยู่ในร่างกาย ร่างกายนี้จึงเป็นรังของโรค เชื้อโรคที่ทางพระท่านเรียกว่าหมู่หนอน มีอยู่ ๘๐ กลุ่ม เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ในร่างกายของเรานั่นเอง ร่างกายนี้จึงเป็นรังของโรค
การที่หญิงรักชาย ชายรักหญิง ก็เพราะว่ามีเสื้อผ้ำปกปิดเอาไว้ มีผิวปกปิดเอาไว้ จึงไม่รู้จักร่างกายตามความเป็นจริง ถ้าบุคคลเอาข้างในกายมาไว้ข้างนอกกาย จะมีตับ ไต ไส้ พุง ห้อยย้อย เจ้าของกายเห็นจะต้องถือไม้ค้อนและก้อนหินสำหรับไล่อีกาและสุนัขซึ่งตามแย่งชิงตับ ไต ไส้ พุง ของตนเป็นแน่
คนโง่มองสิ่งที่อยู่ในกายว่าเป็นของตน ส่วนสิ่งที่ตกออกไปจากกายแล้วว่าไม่ใช่ของตน เช่น ผมที่อยู่ในร่างกาย ก็บอกว่านี้คือของของเรา แต่พอตกลงไปแล้ว เช่น ตกลงไปในจานอาหาร เจ้าของเดิมก็ไม่ยอมรับ บอกว่าไม่ใช่ของของตน เล็บซึ่งถือกันว่าเป็นของของตน พอตกลงไปแล้วก็บอกว่าน่าเกลียด ไม่ใช่ของของตน เสลด อาเจียน ก็เหมือนกัน อยู่ในร่างกายของเรา พอตกลงไปแล้วก็น่าเกลียด มนุษย์ยังยึดถือว่าส่วนที่อยู่ในตัวนั้นยังเป็นของของตนอยู่ แต่ถ้าตกออกไปแล้วนั่นไม่ใช่ ท่านเปรียบคนที่เห็นอย่างนี้ว่า เหมือนสุนัขจิ้งจอกแก่เห็นดอกทองกวาวในดงดอกทองกวาวนั้นมีสีแดง สุนัขจิ้งจอกแหงนขึ้นไปบนต้นไม้นั้น เห็นว่านี้คือต้นไม้เนื้อ คือมีเนื้อห้อยย้อยอยู่ พอดอกทองกวาวตกลง สุนัขจิ้งจอกนั้นวิ่งเข้าไปงับ ก็รู้ว่านี้ไม่ใช่ชิ้นเนื้อ แต่ที่อยู่ข้างบนนั้นเป็นชิ้นเนื้อ คือยังเข้าใจผิด ยังโง่อยู่ คนในโลกนี้เป็นอันมากก็เหมือนกัน ยังเข้าใจว่าสิ่งที่อยู่ในกายตนนั้นเป็นของของตน แต่ว่าสิ่งที่ตกลงไปแล้วนั้นไม่ใช่ แท้ที่จริง ร่างกายนี้เต็มไปด้วยของสกปรก และไม่มีอะไรเป็นของของตนที่แท้จริงเลย การพิจารณาโดยความเป็นของปฏิกูลอย่างนี้ เป็นลักษณะของสมาธิเพื่อทำลายตัวกาม คือความรักใคร่ในทางกาม หรือกามฉันท์ออกไป
๓) การกำจัดกามด้วยปัญญา คือใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นสังขารทั้งของเราเอง ทั้งของคนอื่น ให้เห็นว่า มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่มีอะไรที่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นเรา เป็นของของเรา เป็นตัวเป็นต้น เราเป็นนั้นเป็นนี้ เป็นสิ่งที่สมมุติเรียกกันไปเท่านั้นเอง แต่ถ้าว่าโดยปรมัตถ์แล้ว มีแต่นามกับรูปเท่านั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ท่านผู้ฉลาดจึงไม่ติดในสิ่งเหล่านี้ เพราะถ้าไปยึดมั่นถือมั่นมากเท่าใด ก็มีความทุกข์มากเท่านั้น ปล่อยวางลงเสียได้เท่าไรก็เป็นสุขมากเท่านั้น ฉะนั้นการใช้ปัญญาทำลายตัวกามนี้เป็นการทำลายโดยเด็ดขาด เพราะเป็นการทำลายอย่างสิ้นเชิง
แต่อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั้น ผู้ปฏิบัติจำเป็นจะต้องใช้ทั้งศีล สมาธิ และปัญญาเข้าทำลาย กิเลสทุกชนิดไม่ว่ากิเลสอะไรจะเกิดขึ้นในตัวเรา ถ้าเราใช้ไตรสิกขาทั้ง ๓ ประการนี้เข้าทำลายเขา สิ่งเหล่านั้นจะเบาบางและหายไปในที่สุด โดยใช้ศีลเป็นตัวกำจัดกิเลสอย่างหยาบ สมาธิเป็นตัวกำจัดกิเลสอย่างกลาง และใช้ปัญญาเป็นตัวกำจัดกิเลสอย่างละเอียด
แต่อย่างไรก็ตาม แม้กามนี้มองดูว่าเป็นกิเลสด้วย ธรรมดาซึ่งคนสามัญทั่วไปก็มีด้วยกันทุกคน แต่ก็ยากที่จะละได้ เพราะคนในโลกนี้โดยทั่วไปแล้วยังติดอยู่ในกาม ถ้าหากว่าไม่ใช้ปัญญาเข้าพิจารณาแล้ว บุคคลจะตกอยู่ในกาม ถูกลูกศรคือกามทำลายบุคคลนั้นให้เดือดร้อนวุ่นวายหาความสุขใจที่แท้จริงไม่ได้ หาความวิเวกไม่ได้
เพราะฉะนั้น เมื่อเราเห็นว่ากามนั้นมีโทษนานัปการอย่างนี้แล้ว ก็ต้องพยายามถอนตนเออกจากกามเสีย คือเข้าสู่วิเวกหรือออกบวชในพระพุทธศาสนา จะบวชมากบวชน้อยเท่าไรก็ตาม หรือบวชใจ เว้นออกจากกาม ถ้าทั้งกายก็ออกจากกามและใจก็ออกจากกามด้วยแล้ว ตัวกามนั้นก็จะลดน้อยถอยลงและเหือดแห้งไปได้ในที่สุด เราก็จะได้รับความสุขที่เรียกว่า นิรามิสสุข ซึ่งเป็นสุขที่ไม่เจือด้วยกามคุณ เป็นความสุขที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ ไม่มีความสุขอื่นใดที่ยิ่งไปกว่าความสงบ”
ความสุขที่เกิดจากความสงบนี้ต่างจากความสุขกามคุณโดยประการทั้งปวง ไม่มีอามิส ไม่มีเหยื่อล่อ ไม่มียาพิษที่จะทำให้ต้องเดือดร้อน เพราะฉะนั้น การที่เข้าสู่ความสุขที่สงบ ทำให้จิตเกิดสมาธิหรือเกิดปัญญาขึ้นได้นั้น บุคคลนั้นต้องพยายามเว้นจากกาม โดยพิจารณาเห็นโทษของกาม ด้วยอุปมาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังกล่าวแล้ว ก็สามารถจะทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง เบิกบานขึ้นได้ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรมตามอริยมรรคมีองค์ ๘ นี่เอง
พระศาสนา คือ การที่มาแก้ไขตัวเอง แก้ไขที่จิตที่ใจ มาแก้ไขที่คำพูด ที่กิริยามารยาท ที่ความคิดความเห็น เพราะเราทุกคนต้องแก้ทั้งภายนอก..และแก้ทั้งภายใน สิ่งที่สำคัญก็คือ มาแก้ที่จิตที่ใจของตัวเอง ปัญหาต่างๆ นั้นน่ะมันเกิดจาก 'ใจ' ของเราเอง เมื่อใจของเรามันไม่มีสติสัมปชัญญะ ใจของเรามันยังไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุแห่งความทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ มันก็ย่อมสร้างปัญหาให้กับตัวเองและให้กับผู้อื่น
พระพุทธเจ้าถึงให้เราทุกๆ คนน่ะพากันมาทำจิตใจให้สงบ ทำจิตใจให้มีสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ เพื่อที่จะได้มาแก้ไขตัวเองให้มันถูกต้อง ปัญหาใหญ่ๆ มันจะได้ไม่มี ปัญหาเล็กๆ มันจะได้ไม่มี ความสุขความสงบมันถึงจะเกิดแก่เราและครอบครัวเรา และในที่ทำการทำงานของเราน่ะ
พระพุทธเจ้าท่านเป็นครูผู้สอนของเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ท่านได้เมตตาสั่งสอนหนทางที่ประเสริฐที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการให้กับเราทุกๆ คนว่า สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ นั้นมีอยู่ในธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกเหนือไปจากนี้ไม่มี
สมณะ แปลว่า ผู้มีจิตใจที่สงบ ความสงบที่เราทุกคนจะหาได้น่ะ ต้องหาที่จิตใจของตัวเราเอง หาที่การกระทำของเราเอง จะหาจากที่อื่นไม่ได้ ถ้าเราไปหาที่อื่น ไปแก้ไขที่อื่นนั้น ไม่สามารถที่จะพบกับความสุขความสงบได้ ถ้าเราวิ่งหาจากภายนอกนั้น.. 'ยิ่งวิ่ง...ก็ยิ่งหนี...' เหมือนกับบุคคลที่วิ่งตามตะครุบเงา
วัตถุ ข้าวของ เงินทอง เกียรติยศ สิ่งเหล่านั้นน่ะ ไม่สามารถที่จะเป็นที่พึ่งที่แท้จริงของเราได้ แม้แต่ร่างกายของเรานี้ก็ไม่จีรังยั่งยืน เราเกิดมาจนกระทั่ง ถึงทุกวันนี้น่ะล้วนแต่เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลง สิ่งที่ดีที่สุดก็จากเราไป สิ่งที่ไม่ดีที่สุดก็จากเราไป ในอนาคตมันก็ต้องเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ สิ่งที่ดีก็ต้องจากเราไปอย่างนี้แหละ สิ่งที่ไม่ดีก็ต้องจากเราไปอย่างนี้แหละ... พระพุทธเจ้าท่านถึงพาเรากลับมาหาความสงบ ไม่ให้วิ่งตามความอยาก และความไม่อยาก
ผู้ที่ต้องการเข้าถึงพระนิพพานน่ะย่อมทิ้งทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจ ความอยากมันเล่นงานเรา ความไม่อยากมันก็เล่นงานเราเหมือนกัน
ความสุข...ความดับทุกข์...ของคนเราทุกคนนั้นน่ะ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า... อยู่ที่ความสงบ อยู่ที่เรามีสติมีสัมปชัญญะ อยู่ที่จิตใจของเราอยู่กับเนื้อกับตัวนะ สิ่งที่เป็นอนาคตมันก็เผาเรา ให้ใจของเราไม่สงบ สิ่งที่เป็นอดีตก็เผาใจเรา ให้ใจของเราไม่สงบน่ะ เราต้องมีสติมีสัมปชัญญะมีปัญญา จะได้อบรมบ่มอินทรีย์ไปเรื่อยๆ สติสัมปชัญญะ นั้นคือ ศีล สมาธิ ปัญญา มารวมกันเป็นหนึ่ง คือ 'ใจ' ของเราเอง
การประพฤติการปฏิบัติน่ะ ต้องกลับมาหาตัวเอง กลับมาแก้ที่ตัวเอง ถ้าเราไม่แก้ มันก็จะมีเรื่องมีราวไปอย่างนี้แหละ ร่างกายของเรามันแก่แล้วแต่อินทรีย์บารมีของเรา มันยังไม่แก่ เพราะเราไม่ได้อบรมบ่มอินทรีย์ เรากระทำไปตามความอยาก ตามความคิดของเราจนเคยชิน จนมันหยุดตัวเองไม่ได้ ทั้งๆ ที่รู้ ก็หยุดตัวเองไม่ได้ เพราะเรายังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ ยังไม่ได้ฝืน ยังไม่ได้อด ยังไม่ได้ทน ยังไม่ได้อบรมบ่มอินทรีย์เลย ทำไปตามความอยากความเคยชิน จนมันหยุดไม่เป็น มันวิ่งตระครุบเงาไปเรื่อย ยิ่งวิ่ง...เงาก็ยิ่งวิ่งหนีนะ...
การประพฤติปฏิบัติต้องเน้นมาที่ตัวเรา เน้นมาที่จิตที่ใจของเรา มันถึงจะได้อบรมบ่มอินทรีย์ สร้างอริยมรรคให้มันสมบูรณ์ พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกๆ คน เข้าถึงความสุขความดับทุกข์ ตั้งแต่เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ ที่เรายังไม่ลาละสังขารนี้แหละ ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงเหมือนกับกองเพลิงกำลังไหม้เราอยู่ เผาเราอยู่ เราอย่าไปมองไกลเกิน มองเรื่องอนาคตน่ะ ปัจจุบันนี้แหละเราต้องละความอยากความไม่อยากที่มันกำลังเผาเราอยู่ ทุกท่านทุกคนอย่าไปสนใจเรื่องชาตินี้ชาติหน้า สวรรค์นรกมีจริงมั้ย หรือว่าตายแล้วก็แล้วไป
ให้เราเข้าใจเรื่องนรก เรื่องสวรรค์ ถ้าเราคิดว่าชาติหน้ามีจริงมั้ย...? นรกมีจริงมั้ย...? สวรรค์มีจริงมั้ย...? ก็ชื่อว่าเราไม่รู้จักนรกที่แท้จริงที่มันกำลังเผาจิตเผาใจของเราอยู่ เดี๋ยวนี้เขากำลังเผาเราอยู่ เรากำลังตกนรกอยู่ เค้าเรียกว่า 'นรกอยู่ที่ใจ' เป็นนรกหลุมเล็กหลุมใหญ่ที่เค้าจัดการเราในชีวิตประจำวัน ให้เราทุกคนเข้าใจเรื่องนรกนะ เราจะได้อบรมบ่มอินทรีย์แก้จิตแก้ใจของเรา
พระพุทธเจ้าท่านมีเมตตาบอกเราสอนเรา ให้พากันมาแก้ที่จิตที่ใจ แก้ที่ความคิดความเห็น แก้ที่การกระทำ มาหยุดตัวเอง มาปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นธรรมะ ทุกอย่างนั้นไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาหาที่ตัวเรานี้แหละ เพราะว่าสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ นั้น อยู่ในตัวเรานี้เอง ถ้าเราคิดดีเราปรารถนาแต่สิ่งที่ดี เราพูดดีเราทำดี
เรามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์... ตั้งมั่นในความดีน่ะ ชีวิตของเรานี้..ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ทุกๆ อย่าง มันจะดำเนินไปในขบวนการของเค้าเอง เพราะสิ่งนี้มี...สิ่งนั้นก็ต้องมี..."
การประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา มันเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน รอบคอบ สุขุม ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราประมาท ไม่ว่าสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่างสำคัญหมด ไม่ให้เราทิ้งขั้นตอน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำไป มันเป็นกรรม มันเป็นการบันทึกกรรมไปในตัวทั้งหมด คนอื่นไม่รู้แต่เราก็พอรู้บ้าง แต่ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์น่ะเราจะรู้ละเอียดมากขึ้น
ถ้าจิตของเรามันส่งออกไปข้างนอก ทำให้จิตของเรามันหยาบ มันสกปรก มันเร่าร้อน มันคิดไม่ออก คิดไม่เห็น เราเป็นคนเก่งอยู่ก็จริง แต่มันเก่งอยู่แต่เรื่องภายนอก... เรื่องทำมาหากินน่ะ มันมีความชำนาญเฉพาะทาง แต่เรายังไม่เก่งในเรื่องจิตเรื่องใจ เรื่องอบรมบ่มอินทรีย์ เรื่องทำใจให้มันสงบ
แรงเหวี่ยงของกิเลสแต่ละคนมันมีมาก ถ้าไม่ได้อะไรตามใจน่ะมันเครียด มันอึดอัดขัดเคือง มันจะตายเอาให้ได้ เค้าเรียกว่า 'กรรมเก่ามันมาแรง' มันเหวี่ยงเหมือนกับน้ำมันไหลจากภูเขาเก้าสิบองศาน่ะ กำลังจิตกำลังใจมันไม่พอมันเอาไม่อยู่นะ เราทุกท่านทุกคนถึงมาตั้งมั่นใน 'พระรัตนตรัย' คือ พระพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และพระอริยสงฆ์ที่ท่านปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า จนได้สืบทอดต่อยอดพระศาสนาถึงเราทุกวันนี้
เรานี้แหละคนหนึ่ง...ประพฤติปฏิบัติได้น่ะ คำว่า 'พระ' นี้ไม่ได้หมายถึงร่างกายนะ คำว่า 'พระ' นี้หมายถึงจิตใจ ถ้า 'ใจ' ใครสงบ 'ใจ' ใครตั้งอยู่ในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เอาธรรมวินัยเป็นใหญ่ ไม่ลูบคลำในศีลข้อวัตรปฏิบัติ 'ใจ' เราก็เป็น 'พระ' เพราะว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ดีแล้ว
ทุกคนน่ะต้องตั้งมั่นต้องเข้มแข็ง ต้องทำให้ได้ปฏิบัติให้ได้ ต้องตายเสียก่อนตาย เราต้องตายจากการเวียนว่ายตายเกิด ตายจากความโลภความโกรธความหลง ชีวิตของเราในประจำวันในปัจจุบัน เรื่องศีลนี้สำคัญในการที่จะหยุดภพชาติ ถ้าเราตามอวิชชาตามความหลงมันเป็นการบริโภคภพชาติวัฏสงสาร เราจะต้องเอาธรรมเป็นหลัก บริโภคมรรคผลพระนิพพาน
สมาธิเราก็เป็นไปไม่ได้ถ้าไม่มีศีล สมาธิก็เป็นสมาธิที่เห็นแก่ตัว เป็นมิจฉาสมาธิ ปัญญาเราก็จะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิ เพราะความหลงหรือความเห็นแก่ตัวเนี่ยมันเป็นสิ่งเสพติด ถ้าเราติดในสิ่งเสพติด จะเป็นคนใจหยาบเป็นคนนิสัยหยาบ เป็นคนว่างจากคุณธรรมว่างจากคุณงามความดีว่างจากมรรคผลว่างจากพระนิพพาน ใจเราจะไม่เข้าถึงธรรมไม่เข้าถึงปัจจุบันธรรม
เราทุกคนถึงจะเกิดปัญญาได้ จะมีขณิกสมาธิเป็นพื้นฐานในอิริยาบถทั้ง ๔ พัฒนาจนเป็นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เป็นวิปัสสนาญาณ ที่ใจเราเสียสละซึ่งตัวซึ่งตน มรรคผลนิพพานก็จะเกิดในที่สุด
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee