แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๑๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๔๒ เมื่อมีคนที่ใหนก็ต้องมีเงาที่นั่น คือมีกรรมก็ต้องมีวิบากรับผล
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ศาสนาพุทธเป็นสัมมาทิฏฐิคือเป็นความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เข้าสู่กฎแห่งกรรม เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปนี้ เพราะสิ่งนี้ไม่มีสิ่งต่อไปถึงไม่มี เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากเหตุเกิดจากปัจจัย เป็นเรื่องของปัจจุบันธรรม เรื่องปัจจุบันธรรมนี้สำคัญ สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ถึงมีอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่ปัจจุบัน เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน ปรับตัวเข้าหาธรรมะเข้าหาเวลา มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ ด้วยการไม่ทำบาปทั้งปวง ให้อาหารทั้งกายให้อาหารทางใจ สิ่งที่จะเข้าสู่กายเข้าสู่ใจของเราในปัจจุบัน พระพุทธเจ้าถึงสอนให้รู้จักโภชเน มัตตัญญุตา รู้จักประมาณในสิ่งที่จะบริโภคทางกายทางใจ ตั้งอยู่ในความไม่เพลิดเพลินไม่ประมาท เป็นผู้ตื่นผู้เบิกบานอยู่ในปัจจุบันตลอด มีการปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องทุกกาลทุกเวลา มีการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ไปเรื่อยๆ
ศีลสมาธิปัญญาต้องอยู่กับเราเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม มีปริยัติมีการปฏิบัติและจะมีผลออกมาเป็นปฏิเวธไปในตัวโดยอัตโนมัติโดย Automatic ถ้าเรามีการปฏิบัติ ชีวิตเราก็จะไม่ว่างจากการรู้จักรู้แจ้ง ดับทุกข์ได้ทุกกาลทุกเวลา ใจเราจะได้ไม่เป็นตัวเป็นตน
มันต้องเข้าใจพระศาสนาให้ถูกต้อง ไม่ใช่เข้าใจแบบหลง ประชาชนทั้งพระ ไปหลงในเรื่องหมอดู ศาสตร์เหล่านั้นเป็นสิ่งที่มีจริงอยู่ แต่เราไปเชื่ออย่างนี้ มันก็ไม่ได้แก้กรรมนะ การแก้กรรมก็คือเหมือนพระอรหันต์แก้กรรม ท่านรู้ว่าอันไหนไม่ดี ท่านไม่คิด อันไหนไม่ดีท่านไม่พูด อันไหนไม่ดีท่านไม่ทำ ท่านมาหยุดกรรม ท่านมาแก้กรรม พวกเราเข้าใจผิด คิดว่าเกิดมาใช้กรรม มันไม่ถูก พวกพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านเกิดมาเพื่อมาใช้กรรม ท่านได้บรรลุ เป็นพระอรหันต์ท่านก็ต้องทรงธาตุทรงขันธ์เพื่อช่วยเหลือคนอื่น อดทนฉันข้าว นอนพักผ่อน เพื่อดูแลคนอื่น อย่างนี้เขาเรียกว่าใช้กรรมไป พวกที่รู้อยู่ว่า ถ้าเราเอาภรรยา เอาสามี มันต้องมีลูก มีหลาน เราก็ยังไปเอา อย่างนี้เขาไม่เรียกว่าเกิดมาใช้กรรมนะ อย่างนี้เขาเรียกว่าเกิดมาเพิ่มกรรม พวกความคิดนี้ เป็นแผลลึก ยิ่งกว่ามีดบาดนะ เราคิดไม่ดี ทำไม่ดี พูดไม่ดี อันนี้มันมีแผลทางจิตใจ ด้วยเหตุนี้ ท่านไม่ให้เรามีเพศสัมพันธ์ทางความคิด ทางอารมณ์ เราจะได้หยุดกรรม เวรย่อมระงับด้วยการหยุดกรรม ด้วยการไม่สร้างเวร สร้างกรรม
"กัมมุนา วัตตตี โลโก" สัตว์โลกทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรม
กัมมปัจจัย หมายถึงการกระทำของจิตใจที่เป็นเหตุให้เกิดผล หรือให้สำเร็จกิจในหน้าที่ของตนเรียกว่า "กรรม" ดังพุทธภาษิตกล่าวไว้ในอังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาตว่า "เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ เจตยิตฺวา กมฺมํ กาเยน วาจาย มนสา - ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า เจตนาคือตัวกรรม สัตว์ทั้งหลายที่ทำกรรม ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจก็ดี ย่อมมีการปรุงแต่ง คือคิดนึกก่อนแล้วจึงทำ"
ดังจะเห็นได้ว่าการกระทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ จะเป็นกุศล หรืออกุศลก็ตาม ต้องอาศัยเจตนาเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้าในการกระทำนั้นๆ ฉะนั้น เจตนาจึงเป็นตัวกรรม หรือเป็นหัวหน้าของสังขารขันธ์ทั้งหลาย
กัมมปัจจัยที่กล่าวว่า เป็นปัจจัยให้เกิดผล ก็เพราะทำหน้าที่เพาะพืชพันธุ์ให้เกิดผลในอนาคต เรียกว่า พีชนิธานกิจ คือ ทำกิจสั่งสมพืชเชื้อเพื่อให้งอกต่อไปในอนาคต เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย
พุทธศาสนา เป็นศาสนาที่ถือการกระทำเป็นใหญ่ เป็นกรรมนิยม ซึ่งผิดกับศาสนาอื่นที่ถือเทวนิยม เป็นต้น เพราะเข้าใจว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นด้วยการบันดาลของเทพเจ้า แต่ส่วนของพระพุทธศาสนาถือว่า สัตว์ทั้งหลายจะดีหรือชั่วย่อมขึ้นอยู่กับการกระทำของตนเอง ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับผู้อื่น หรือขึ้นอยู่กับวงศ์ตระกูล เพราะการทำดีทำชั่วต้องทำด้วยตนเอง ไม่ใช่มีผู้อื่นมาทำให้ได้ เหตุนี้สัตว์ทั้งหลายจึงมีกรรมเป็นของตน เรียกว่า...
กมฺมสฺสโกมฺหิ เมื่อทำกรรมไว้อย่างไร ก็ต้องรับผลของกรรมนั้นตามที่ทำไว้
กมฺมทายาโท คือเป็นทายาทของกรรมที่ทำแล้ว จึงจำแนกสัตว์ให้ไปเกิดในที่ต่างๆกัน
กมฺมโยนิ คือมีกรรมเป็นกำเนิด และกรรมที่ทำแล้วยังจะติดตามไปทุกหนทุกแห่ง จะไม่สูญหายไปไหน
กมฺมพนฺธุ คือมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ แม้พ่อ-แม่ญาติพี่น้อง ก็ไม่ชื่อว่าเป็นเผ่าพันธุ์วงศ์ญาติที่แท้จริง คือชาตินี้เป็นญาติกัน แต่พอตายแล้วก็แยกย้ายกันไป แต่ส่วนกรรมที่ทำแล้วย่อมจะติดตามตนไปทุกภพทุกชาติ จนกว่าจะเข้าสู่พระนิพพาน.
ถ้าทำกรรมดีก็เหมือนมีวงศ์ญาติที่ดี ญาติดีก็จะอุปถัมภ์ค้ำชูให้มีความสุข ความเจริญ แต่ถ้าทำกรรมชั่ว ก็เหมือนมีวงศ์ญาติที่ชั่ว ญาติชั่วก็จะติดตามล้างผลาญให้เป็นทุกข์เดือดร้อนเรื่อยไป กรรมจึงเป็นที่พึ่งอาศัยของสัตว์โลก
กมฺมปฏิสรโณ เพราะเมื่อกรรมชั่วให้ผลอยู่ แม้ญาติพ่อ-แม่พี่น้องตลอดจนผู้มีอำนาจราชศักดิ์ ก็ไม่อาจช่วยให้พ้นจากทุกข์ได้ แต่ถ้ากรรมดีให้ผลอยู่ แม้ใครจะคิดร้ายทำลายชีวิตก็ไม่อาจถูกทำลายได้เลย.
อีกนัยหนึ่ง ท่านเปรียบกรรมคือการทำกุศล อกุศล ส่วนผลคือวิบาก เปรียบเหมือนเงา เมื่อมีคนที่ใหนก็ต้องมีเงาที่นั่น คือมีกรรมก็ต้องมีวิบากรับผล.
ปัจจุบันคนเริ่มสงสัยในเรื่องกฎแห่งกรรม และบางคนก็ไม่ยอมเชื่อเรื่องนี้ ถึงกับมีคนเขียนเป็นคำกลอนว่า คนทำดีได้ดีมีที่ไหน คนทำชั่วได้ดีมีถมไป
ในเรื่องกฎแห่งกรรม ได้กล่าวถึงอันตรายที่เกิดแก่สัตว์โลก ๕ อย่างคือ
๑. กิเสสันตราย อันตรายอันเกิดจากกิเลส
๒. กัมมันตราย อันตรายอันเกิดจากความชั่วที่ทำในปัจจุบัน
๓. วิปากันตราย อันตรายอันเกิดจากวิบาก คือ ผลของกรรมที่ทำในอดีต
๔. ทิฏฐันตราย อันตรายอันเกิดจากทิฏฐิที่ผิด
๕. อริยูปวันตราย อันตรายที่เกิดจากการจ้วงจาบพระอริยเจ้า
พระพุทธศาสนาสอนว่า บุคคลจะได้ดีหรือชั่ว ได้รับสุขหรือทุกข์ ก็เพราะกรรม หรือการกระทำของตนเองทั้งสิ้น หากเราไม่ดำเนินตามทางที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ แม้จะสวดมนต์หรือวิงวอนขอร้อง ก็ไม่อาจจะช่วยให้เราพบความดีและความสุขได้ ถ้ามนุษย์จะมีความสุขได้ด้วยความภักดีและวิงวอน มนุษย์เราก็คงไม่ต้องทำอะไร
ความเชื่อในเรื่องกรรม ตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ชาวพุทธควรมีศรัทธา ๔ อย่างคือ ๑. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือเชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้จริง เป็นผู้ประกอบด้วยพระปัญญาธิคุณ พระวิสุทธิคณ และพระมหากรุณาธิคุณ ๒. กัมมสัทธา เชื่อเรื่องกรรม คือเชื่อว่ากรรมมีจริง ๓. วิปากสัทธา เชื่อเรื่องผลของกรรม คือเชื่อว่ากรรมที่บุคคลทำไม่ว่าดีหรือชั่วย่อมให้ผลเสมอ ๔. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน คือเชื่อว่าผลที่เราได้รับ เป็นผลแห่งการกระทำของเราเอง ซึ่งอาจจะเป็นกรรมที่ทำในปัจจุบันชาติหรืออดีตชาติ
จะเห็นได้ว่าความเชื่อหรือศรัทธา ๔ อย่าง เป็นความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับกรรม กฎแห่งกรรมจึงเป็นคำสอนที่สำคัญในพระพุทธศาสนา ผู้เป็นชาวพุทธทุกคนจึงควรเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม ควรพยายามศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม ชาวพุทธที่ไม่เชื่อกฎแห่งกรรมหาใช่ชาวพุทธที่แท้จริงไม่
คนที่เชื่อในเรื่องกรรม ย่อมได้เปรียบกว่าคนที่ไม่เชื่อ คนที่เชื่อเรื่องกรรมย่อมสามารถอดทนรับความทุกข์ยากลำบาก ความผิดหวัง ความขมขื่น และเคราะห์ร้ายที่เกิดแก่ตนได้ เพราะถือว่าเป็นกรรมที่ทำมาแต่อดีต ไม่ตีโพยตีพายว่าโลกนี้ไม่มีความยุติธรรม ตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำดีแล้วไม่ได้ดี คนที่เชื่อในเรื่องกรรมจะยึดมั่นอยู่ในการทำความดีต่อไป จะเป็นผู้สามารถให้อภัยแก่ผู้อื่น และจะเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ คนที่ประกอบกรรมทำชั่วทั้งกาย วาจา และใจ ส่วนใหญ่เป็นคนไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่เชื่อเรื่องบุญและบาป ไม่เชื่อเรื่องตายแล้วเกิด คนพวกนี้เกิดมาจึงมุ่งแสวงหาทรัพย์สมบัติและความสุขสบายให้แก่ตัว โดยไม่คำนึงว่าทรัพย์สมบัติหรือความสนุกสนานที่ตนได้มาถูกหรือผิด และทำให้คนอื่นได้รับความเดือดร้อนหรือไม่
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน กรรมนั้นย่อมเป็นของเราโดยเฉพาะ และเราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น จะโอนให้ผู้อื่นไม่ได้ เช่น เราทำกรรมชั่วอย่างหนึ่ง เราจะต้องรับผลของกรรมชั่วนั้น จะลบล้างหรอโอนไปให้ผู้อื่นไม่ได้ แม้ผู้นั้นจะยินดีรับโอนกรรมชั่วของเราก็ตาม กรรมดีก็เช่นเดียวกัน ผู้ใดทำกรรมดี กรรมดีย่อมเป็นของผู้ทำโดยเฉพาะ จะจ้างหรือวานให้ทำแทนกันหาได้ไม่ เช่นเราจะเอาเงินจ้างผู้อื่นให้ประกอบกรรมดี แล้วขอให้โอนกรรมดีที่ผู้นั้นทำมาให้แก่เราย่อมไม่ได้ หากเราต้องการกรรมดีเป็นของเรา เราก็ต้องประกอบกรรมดีเอง เหมือนกับการรับประทานอาหาร ผู้ใดรับประทานผู้นั้นก็เป็นผู้อิ่ม
มนุษย์เรามีภาวะความเป็นไปต่างๆ กัน เช่น ดีหรือชั่ว รวยหรือจน เจริญหรือเสื่อม สุขหรือทุกข์ ก็เนื่องจากกรรมของตนเองทั้งสิ้น และกรรมใดที่ทำลงไปจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมให้ผลตอบแทนเสมอ และย่อมติดตามผู้ทำเสมือนเงาติดตามตน หรือเหมือนกับล้อเกวียนที่หมุนตามรอยเท้าโคไปฉะนั้น ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงมีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย หากเราทำกรรมดีเราก็ได้รับความสุขความเจริญ กรรมดีจึงเหมือนกัลยาณมิตรที่คอยให้ความอุปการะ และส่งเสริมให้เราประสบแต่ความสุขและความเจริญ แต่ถ้าเราทำกรรมชั่ว กรรมชั่วก็คอยล้างผลาญเราให้ประสบแต่ความทุกข์และความเสื่อม
คนส่วนมากเข้าใจว่ากรรมคือการกระทำ ความเข้าใจนี้ไม่ผิด แต่เป็นความเข้าใจที่ยังไม่รัดกุมและถูกต้องทั้งหมด เพราะมีการกระทำบางอย่างที่ไม่นับว่าเป็นกรรม กรรมแท้จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ๒ ประการ คือ ผู้ทำมีเจตนา และการกระทำนั้นจะต้องให้ผลเป็นบุญหรือเป็นบาป ที่ว่าผู้ทำมีเจตนา มีหลักการที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในนิพเพธิกปริยายสูตร ฉักกนิมาต อังคุตตรนิกายว่า เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าเจตนาเป็นกรรม เจตนาก็ได้แก่ ความตั้งใจหรือความรับรู้ ซึ่งแบ่งไว้เป็น ๓ อย่างคือ ๑. บุรพเจตนา เจตนาก่อนทำ ๒. มุญจนเจตนา เจตนาในเวลาทำ ๓. อปราปรเจตนา เจตนาเมื่อได้ทำไปแล้ว การกระทำโดยมีเจตนาเกิดขึ้นในตอนใดตอนหนึ่งถือว่าเป็นกรรมทั้งสิ้น ส่วนการกระทำที่ไม่มีเจตนา คือใจไม่ได้สั่งให้ทำ ไม่จัดว่าเป็นกรรม เช่นคนเจ็บซึ่งมีไข้สูง เกิดเพ้อคลั่ง แม้จะพูดคำหยาบออกมา เอามือหรือเท้าไปถูกใครเข้าก็ไม่เป็นกรรม ในทางวินัยก็ยกเว้นให้พระที่วิกลจริตซึ่งล่วงเกินสิกขาวินัยไม่ต้องอาบัติ ทั้งนี้ก็โดยหลักเกณฑ์ที่ว่า ถ้าผู้ทำไม่มีเจตนา กระทำแล้วการกระทำนั้นก็ไม่เป็นกรรม
ส่วนหลักเกณฑ์ข้อที่ ๒ ที่ว่า การกระทำนั้นจะต้องให้ผลเป็นบุญหรือเป็นบาป ก็เพื่อแยกการกระทำของพระอรหันต์ออกจากการกระทำของปุถุชน เนื่องจากพระอรหันต์เป็นผู้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ไม่มีความยึดถือในตัวตน การกระทำเรียกว่า อัพยากฤต ไม่นับว่าเป็นกรรมดีหรือ กรรมชั่ว บุญและบาปก็ไม่มี การกระทำของพระอรหันต์จึงไม่เรียกว่า กรรม แต่เรียกว่า กิริยา ส่วนปุถุชนยังมีความยึดมั่นในตัวตนอยู่ จะทำอะไรก็ยังยึดถือว่าตนเป็นผู้กระทำ การกระทำของปุถุชนจึงเป็นกรรม ย่อมจะก่อให้เกิดวิบากหรือผลเสมอ กรรมดีก็ก่อให้เกิดบุญ ส่วนกรรมชั่วก็ก่อให้เกิดบาป
เราต้องจับหลักให้ดี เอาพระพุทธเจ้าเอาพระอรหันต์เป็นหลัก การประพฤติปฏิบัติเราไม่ต้องไปดูคนอื่น เราทุกคนต้องเข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหาปรับปรุงตนเอง เราถึงจะเป็นผู้นำตนเองออกจากวัฏสงสารได้ เราไม่ต้องไปสนใจเรื่องศาสนาเสื่อม ถ้าใจของเราไม่เสื่อมอะไรมันจะเสื่อม ส่วนใหญ่มันเสื่อมมาจากใจเรานี่แหละ ถ้าเราจะไปแก้ภายนอก มันแก้ไม่ได้หรอก เราต้องมาแก้ตัวตนเองให้เต็ม 100% เพราะการบอกการสอนร้อยครั้งพันครั้ง ก็ไม่สู้การประพฤติปฏิบัติให้ดู ตัวอย่างที่ดี มีค่ามากกว่าคำสอน พระด้วยกันจึงไม่เคารพผู้ที่สอนเก่ง แต่การประพฤติปฏิบัติไม่ดี คนอื่นไม่รู้ความประพฤติเขาก็อาจจะเคารพเลื่อมใส ดังนั้นจึงต้องถึงพร้อมทั้งปริยัติปฏิบัติและปฏิเวธ
เราทุกคนมีของดีของประเสริฐอยู่ในตัวแล้ว พระพุทธเจ้าให้เราเอาศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ออกมาประพฤติมาปฏิบัติ เอาการเสียสละของทุกๆ คนออกมา เอาความรับผิดชอบของทุกๆ คนออกมา เอาความขยัน เอาความอดทนออกมา เอาสัจจะ เอาอธิษฐานออกมา เอาสติ เอาสมาธิ เอาปัญญาออกมาใช้มาปฏิบัติ เราจะตามความโลภ ความโกรธ ความหลงไปนั้นไม่ได้
ทุกๆ คนนั้น คิดว่าตัวเองทำไม่ได้ปฏิบัติไม่ได้ คิดอย่างนี้มันไม่ได้ มันไม่ถูก ทุกคนทำได้ ปฏิบัติได้ นี่แหละคือหนทางอันประเสริฐ ที่เราทุกคนต้องประพฤติต้องปฏิบัติ นี่คือหน้าที่ นี่คือการงานของทุกคนนะ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า การไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่บุญแต่กุศลให้ถึงพร้อม และชำระจิตให้ผ่องแผ้ว ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่อยู่ในโลกนี้ ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้ทุกคนตั้งอยู่ในความประมาท อาหารก็อร่อย รูปก็สวย เสียงก็เพราะ ที่อยู่ที่อาศัย บ้าน รถ ลาภ ยศ สรรเสริญ มีแต่สะดวกสบายหมด มีทั้งวิทยุ โทรทัศน์ มือถือ อินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ค รถ เรือ เครื่องบิน อะไรก็สบายหมด มันทำให้เราตั้งอยู่ในความหลง ความเพลิดเพลิน
ร่างกายของเราทุกคนมันแก่ มันเจ็บ มันตาย มันพลัดพราก ใจของเรามันไม่แก่นะ เราถึงตั้งอยู่ในความเพลิดเพลิน ความประมาท สุดท้ายก็ไม่มีใรได้อะไรไป มีแต่ตั้งอยู่ในความเพลิดเพลิน พระก็ไม่มีความก้าวหน้าในการประพฤติการปฏิบัติ เพราะพากันตั้งอยู่ในความเพลิดความเพลิน ประชาชนก็ไม่ก้าวหน้า เพราะตั้งอยู่ในความเพลิดความเพลิน สิ่งที่จะแก้ไขตัวเองได้ ทุกคนต้องเข้าสู่ระบบระเบียบแห่งการประพฤติปฏิบัติ เข้าสู่หนทางอันประเสริฐที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
ถ้าเราทำตามความเพลิดความเพลิน มันไม่ใช่ความสุขความดับทุกข์ มันเป็นความหลง ที่พระพุทธเจ้าให้พระรักษาศีลหลายร้อย หลายพัน หลายหมื่นข้อ หลายหมื่นสิกขาบท เพื่อให้ทุกคนเข้าสู่ระบบ คือ ธรรมวินัย ทั้งกาย วาจา จิตใจ ต้องปรับทุกอย่าง เพราะระบบระเบียบนี้จะพาเราสู่มรรค สู่ผล สู่พระนิพพาน
เราจะเอาแต่เรื่องจิตเรื่องใจ ไม่เอาศีล ไม่เอาข้อวัตรปฏิบัติมันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่ามันทิ้งอริยมรรคข้อต่างๆ มันไม่ได้เข้าสู่ระบบระเบียบ มันไม่ใช่อริยมรรคมีองค์แปด
คนเราทุกคน ร่างกายต้องครบอาการ ๓๒ มันถึงจะใช้งานได้ดี มันต้องเพียบพร้อมทั้งไอคิว อีคิวไปพร้อมกันเลย อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เราจะเอาตั้งแต่ความรู้ความฉลาด การเรียนการศึกษาอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องประพฤติไปพร้อมๆ กัน
ร่างกายของเราที่เหนื่อย มันทุกข์ยากลำบาก ถึงแม้ว่าเราจะเดินโซซัด โซเซ เราก็ย่อมไม่สนใจนะความอดทนนั่นแหละ คือความดี คือบุญ คือกุศล ความรับผิดชอบ คือบุญ คือกุศล
เราพากันคิดตรงกันข้าม คิดว่าสะดวกสบาย เป็นบุญเป็นกุศล เราถึงพากันมีแต่ไอคิว ไม่มีอีคิวกัน เราพากันเลี้ยงมหาโจร เลี้ยงเปรต เลี้ยงผี เลี้ยงยักษ์ เลี้ยงมาร เลี้ยงสัตว์เดรัจฉานไว้ในจิตใจของเรา ปล่อยให้เปรต ให้ผี ให้ยักษ์ ให้มารอยู่ในใจของเรา มันไม่ดีแน่ ไม่สมควรแน่
เราทุกคนไปคิดว่า ตัวเองปฏิบัติไม่ได้ ทำไม่ได้ เพราะมันฝืนเหลือเกิน ทนเหลือเกิน ยากเหลือเกิน ความคิดอย่างนี้ ความเห็นอย่างนี้ เราอย่าไปสนใจ นี้คือมาร คือเปรต คือผี คืออสุรกาย อสุรกายมันกลัวความดี กลัวได้ทำความดี
ให้เราถือคติว่า พระพุทธเจ้าคือผู้ที่เสียสละ พระอรหันต์คือผู้ที่เสียสละ เราทุกๆ คนที่ปฏิบัติตามท่านก็คือผู้ที่เสียสละ ผู้ที่เสียสละนั้นดีทุกๆ คน ไม่ว่าเราจะเป็นพระ เป็นประชาชน เป็นผู้หญิง ผู้ชาย ดีหมดทุกคน เพราะความสุข ความดับทุกข์นั้นคือเดินตามอริยมรรคมีองค์แปด
เราเป็นพระ ต้องเป็นพระทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งจิตใจ ต้องปรับตัวเองเข้าสูระบบระเบียบแห่งพระธรรมวินัยให้ได้นะ นี้คือกฎแห่งกรรม กฎแห่งการประพฤติการปฏิบัติที่จะทำให้เราเป็นพระอริยเจ้า ที่จะทำให้เราเป็นพระอรหันต์
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราประพฤติพรหมจรรย์ด้วยคิดเรื่องผลประโยชน์ ให้เราคิดเสียสละ ขยัน อดทน รับผิดชอบ มีสติ มีสัมปชัญญะ มีความสุข ความดับทุกข์ได้เหมือนกันทุกๆ คน “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้ ภิกษุไม่อยู่ประพฤติเพื่อจะหลอกลวงชน ไม่อยู่ประพฤติเพื่อประจบคน ไม่อยู่ประพฤติเพื่ออานิสงส์ คือ ลาภ สักการะ ความสรรเสริญ ไม่อยู่ประพฤติ ด้วยคิดว่า ชนจงรู้จักเราด้วยอาการอย่างนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่แท้พรหมจรรย์นี้ ภิกษุย่อมอยู่ประพฤติเพื่อการสำรวม (สังวระ) และเพื่อการละ (ปหานะ). พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ได้ตรัสคาถาว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ได้ทรงแสดงพรหมจรรย์เครื่องกำจัดจัญไร อันเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง คือ นิพพาน เพื่อการสำรวม เพื่อการละ ทางนี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ประโยชน์ใหญ่ ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ทรงดำเนินไปแล้ว ชนเหล่าใดๆ ย่อมปฏิบัติพรหมจรรย์นั้น ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ชนเหล่านั้นๆ ผู้กระทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา จักกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ได้”
ที่ไหนมีความมืด ถ้าเราเปิดไฟมันก็มีความสว่างทุกหนทุกแห่ง ที่ไหนเรามีสติสัมปชัญญะ ที่นั่นทุกข์มันไม่มี เพราะนี้เป็นกฎของธรรมชาติ ทุกคนต้องใจเข้มแข็ง ใจเย็น เรียกว่าสัมมาสมาธิ หรือเรียกว่า อุเบกขาบารมี ถ้าเราใจอยู่แต่อดีต เขาเรียกว่าเป็นคนยึดมั่นถือมั่น ถ้าเราใจอยู่แต่อนาคต เขาเรียกว่า เป็นคนวิตกกังวล
ปัจจุบันเราต้องมีสติสัมปชัญญะ ต้องมีความสุขในการทำงาน ต้องมีความสุขในการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปด อริยมรรคมีองค์แปดจะจัดการความโลภ ความโกรธ ความหลงของเราไปในตัว
เราทำวันนี้ ปฏิบัติวันนี้ พรุ่งนี้เราก็ประพฤติปฏิบัติต่อให้มันชำนิชำนาญ ให้เป็นวสี ให้มันติดต่อต่อเนื่อง คนเรานะ ถ้าเราเอาไอคิว อีคิวมาใช้พร้อมกันแล้ว มันจึงเป็นคนเก่ง คนดี คนฉลาดไปพร้อมกัน
พระเณรทุกรูป ถ้าเราบวชมาไม่ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าก็เท่ากับเราไม่ได้บวช จะเป็นเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่เข้าใจเรื่องประพฤติปฏิบัติ หรือมันใจอ่อน ไม่อยากประพฤติปฏิบัติอริยมรรคมีองค์แปด มันจะดับทุกข์ให้เราอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทุกอย่างมันจะจัดการของมันเอง ไม่ว่าเราจะอยู่แห่งหนตำบลใด เราจะหนีจากวัฏฏสงสารได้ด้วยการประพฤติปฏิบัติอริยมรรค
พระพุทธเจ้าสอนพระเณรในภาคบังคับ และให้พากันพิจารณาร่างกายทุกๆ วัน ให้เอาหนังออก เอาเนื้อออก เอาอาการ ๓๒ ออกให้หมด เราจะไม่มีความรู้สึกว่าเราเป็นผู้หญิงผู้ชาย เป็นเราเป็นเขา ทำอย่างนี้ทุกๆ วัน ธรรมะที่เป็นโลกุตระมันก็ค่อยเจริญขึ้น เกิดขึ้น ความโลภ ความโกรธ ความหลงมันจะลดลง ราคะ ตัณหาต่างๆ มันจะลดลงและหมดไป เพราะเราทุกคนมันติดในรูปตนเอง ติดในรูปคนอื่น มันต้องภาวนาพิจารณาทุกวัน ภาวนาทุกวันอย่างนี้แหละ นิมิตที่มันเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขามันจะได้หายไป นิมิตทางธรรมมันจะใสมันจะแจ่มแจ้งขึ้น ถ้าเราเอาแต่เจริญสติ เจริญสมาธิ มันก็ได้สติสมาธิ ถ้าเราพิจารณาแยกแยะ จิตใจเรามันถึงจะเกิดปัญญา เราจะไม่ได้เอาแต่สมาธิหินทับหญ้าอย่างเดียว ที่พึ่งของเราทุกคนนั้น คืออริยมรรคมีองค์แปดที่ทุกคนต้องพึ่ง พึ่งตนเองโดยมีความเข้าใจถูกต้อง มีความเห็นถูกต้อง
ความขยันนั่นแหละคือพึ่งตนเอง ความรับผิดชอบนั่นแหละคือพึ่งตนเอง ศีลทุกข้อ กฎระเบียบทุกข้อนั่นแหละคือพึ่งตนเอง อริยมรรคมีองค์แปดที่เราประพฤติปฏิบัติให้ได้สมบูรณ์นั่นแหละ คือพึ่งตนเองเราต้องพึ่งการปฏิบัติของตนเอง
ที่พึ่งอันประเสริฐของเราคือพึ่งธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ได้แก่อริยมรรคมีองค์แปด ที่อื่นนั้นเราพึ่งไม่ได้หรอกนะ ที่พึ่งของเราที่แท้จริงน่ะคือธรรมวินัย ให้พากันเข้าใจให้ชัดเจน
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee