แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๔๐ เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ จะประเสริฐสุดก็ด้วยธรรมนูญชีวิต
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
วันนี้เป็นวันที่ 10 ธันวาคม เป็นวันรัฐธรรมนูญของประเทศไทย เป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย โดยผลของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ปีเดียวกัน เริ่มเมื่อ 10 ธันวาคม
ชีวิตของเราที่เกิดมาเป็นมนุษย์ เราต้องพากันมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เอาทำเป็นหลักเป็นการดำเนินชีวิต เรียกว่าเป็นธรรมนูญแห่งชีวิต ปรับตัวเข้าหาธรรมะเข้าหาเวลา มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติในปัจจุบันในชีวิตประจำวัน ทุกท่านทุกคนต้องพากันเข้าใจ ถ้าเราทำตามความชอบความไม่ชอบทำตามความหลง ก็เป็นได้แต่เพียงคน ไม่ได้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ร่างกายเราเป็นมนุษย์แต่ใจเราไม่ได้เป็นมนุษย์ ภพภูมิของคนที่มีอยู่หลายภพภูมิ มันจะสลับสับเปลี่ยนไปตลอดเวลา ถึงได้เรียกว่า คนๆๆ
ทุกท่านทุกคนต้องพากันปฏิบัติตัวเอง อย่าให้ขาดตกบกพร่อง พระพุทธเจ้าไม่ให้เราเผลอ ไม่ให้เราประมาท ไม่ให้เราเพลิดเพลิน เป็นผู้ที่เที่ยงแท้แน่นอนในธรรมนูญชีวิต ปกครองตนเอง ปกครองครอบครัว ปกครองจนถึงระดับประเทศ ก็ต้องเอาธรรมนูญแห่งชีวิตทุกคนต้องกลับมาดูตัวเอง พิจารณาตัวเองว่าการดำเนินชีวิตของเรานั้นยังเอาตัวตนเป็นที่ตั้งหรือเปล่า เอาธรรมนูญเป็นที่ตั้งหรือยัง ผู้ที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ก็เพราะไม่ได้เอาธรรมนูญเป็นที่ตั้งไม่ได้เอาธรรมเป็นที่ตั้ง
ทุกท่านทุกคนจะต้องเข้าถึงธรรมนูญแห่งชีวิต เพราะว่ามันเจ็บปวดมันเสียหายที่เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง มันไม่ได้ยากลำบาก แต่เพราะความเห็นผิดเข้าใจผิดทำให้เราปฏิบัติไปไม่ได้ จึงต้องเป็นพระธรรมเป็นพระวินัยเป็นศีลเป็นสติความสงบเป็นสัมปชัญญะคือตัวปัญญา เพราะมวลมนุษย์ต้องเข้าถึงความดับทุกข์ เข้าถึงความเป็นมนุษย์ ความเป็นเทวดา ความเป็นพรหม ความเป็นพระอริยเจ้าในปัจจุบัน จะเรียกว่าธรรมนูญ อย่าได้พากันหลงประเด็น ต้องแน่นอนเด็ดขาดเฉียบขาด ต้องพากันทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ มีความสุขมีความสุขอบอุ่นอยู่ในใจ จะได้ไม่ต้องแย่งขยะกัน เพราะทุกคนนี้ทำได้ปฏิบัติได้ หมู่มวลมนุษย์นี้ประเสริฐจริงๆ เราต้องพากันระลึกถึงความประเสริฐที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ต้องเอาธรรมนูญชีวิตมาประพฤติมาปฏิบัติ เพราะประชาธิปไตยก็ยังไปไม่ได้เพราะยังเป็นตัวตนอยู่ ต้องเข้าสู่ธรรมนูญหรือธรรมาธิปไตย
อธิปไตย ๓ และทางสายกลางแห่งอธิปไตย
อธิปไตย หมายถึง ความเป็นใหญ่ อันเป็นสิทธิ์หรืออำนาจในตัวบุคคลที่จะนำมาใช้ในการดำรงชีวิต ทั้งในลักษณะของการเป็นผู้นำ ผู้ปกครอง และผู้ปฎิบัติ อันจะทำให้สังคมเจริญ และเกิดความสงบสุข
อธิปไตยมีอยู่ในคนเราทุกคน โดยเฉพาะที่เป็นสิ่งที่สำคัญในการที่จะทำให้ประชาชนได้รับหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม และความสงบสุขในฐานะที่ประชาชนเป็นเจ้าของอธิปไตย และได้มอบอธิปไตย
อรรถาธิบายอธิปไตย ๓
๑. อัตตาธิปไตย หมายถึง การถือเอาตนเป็นใหญ่คือการชอบทำอะไรตามใจตัวหรือเอาแต่ใจตัวหรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือการถือเอาอารมณ์ตนเป็นใหญ่หรือพวกเจ้าอารมณ์ ในฐานะที่มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม จำเป็นจะต้องอยู่ร่วมกันในสังคม การที่จะทำอะไร จะเอาแต่ใจตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ เพราะคนเราย่อมมีความรู้สึกนึกคิดต่างๆกัน อย่างภาษาพระท่านว่า "นานาจิตตัง" ถ้าเราจะถือแต่ใจเราเป็นใหญ่ คนอื่นเขาก็ย่อมมีสิทธิที่จะถือใจเขาเป็นใหญ่ได้เช่นเดียวกัน เมื่อต่างคนต่างถือเอาตนเป็นใหญ่ ต่างคนก็ต่างจะเอาแต่ใจตัว ก็ย่อมก่อให้เกิดความขัดเคืองกัน การทะเลาะวิวาทและต่อสู้ประหัตประหารกันในที่สุด อย่างน้อยที่สุด คนที่ทำอะไรเอาแต่ใจตัวเองนั้น ย่อมไม่เป็นที่พึงปรารถนาของใคร ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย เพราเป็นคนเจ้าอารมณ์ เดี๋ยวอารมณ์ดี เดี๋ยวอารมณ์ร้าย เอาใจยาก แต่ในด้านดีก็มีเหมือนกัน ถ้าหากเราเป็นคนดีมีคุณธรรม เราจะทำความดี ก็ไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะมีคนอื่นเขาค่อนแคระเราว่าโง่ครึหรือไม่ เมื่อเราเห็นว่าเป็นความดีแล้ว แม้ใครจะว่าเราครึ ไม่ทันโลก เราก็ไม่ต้องไปคำนึงถึงคำกล่าวหาของคนพาลเช่นนั้น เมื่อเราเห็นว่าการดื่มสุรา การสูบบุหรี่ ฯลฯ เป็นอบายมุข ไม่ใช่สิ่งที่ดีงาม เราก็ไม่ประพฤติหรือปฏิบัติอย่างที่คนอื่นๆเขาทำกัน อย่างนี้ชื่อว่า เราเป็นตัวของตัวเอง ดังนั้นคำว่า "อัตตาธิปไตย" จึงอาจเป็นได้ทั้งในด้านดีและด้านไม่ดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางด้านจิตใจและภูมิธรรมของคน
อัตตาธิปไตย (ความมีตนเป็นใหญ่) อัตตาธิปไตย เป็นอำนาจสูงสุดขึ้นอยู่กับบุคคลคนเดียว ซึ่งหมายความว่า บุคคลคนเดียวเป็นศูนย์รวมแห่ง อำนาจการปกครองบ้านเมืองทั้งหมด ในอำนาจ ๓ ทาง (๑) อำนาจบริหาร (๒) อำนาจตุลาการ (๓) และอำนาจนิติบัญญัติ
อำนาจ ๓ ทางนี้ หากรวมอยู่ที่บุคคลคนเดียวกัน บุคคลอื่นเพียงเป็นผู้รับสิ่งหรือนโยบายไปปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของอำนาจเท่านั้น จึงเรียกว่า ระบบกษัตริย์แบบสมบูรณาสิทธิราชย์ อันมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมอำนาจการปกครอง หากเป็นระบบสาธารณรัฐ ประมุขหรือประธานประเทศ หรือประธานาธิบดี จะเป็นศูนย์รวมอำนาจ ซึ่งมักจะเรียกระบบนี้ว่า เป็นระบบเผด็จการ
ลักษณะผู้ไม่มีอัตตาธิปไตยที่ดี – เชื่อมั่นในตนเองมากเกินไป
– สำคัญผิดในแนวคิดของตนเอง – เป็นผู้ไม่รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
– มุ่งหวังแต่ประโยชน์ส่วนตน – หวังแต่ประโยชน์จากผู้อื่น
๒. โลกาธิปไตย (ความมีโลกเป็นใหญ่) โลกาธิปไตย เป็นอำนาจสูงสุดขึ้นอยู่กับความเห็นของคนหมู่ของคนส่วนใหญ่ ซึ่งหมายความว่า ประชาชน คนส่วนใหญ่ มีความเห็นอย่างไรก็ถือเอาตามนั้น โลกาธิปไตยนี้ ปัจจุบันมีใช้ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ถ้าเป็นประเภทประชาธิปไตยโดยตรงก็จะให้ประชาชนทั้งประเทศมาประชุมปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับนโยบาย การจัดการ การบริหารบ้านเมือง โดยประชาธิปไตยโดยตรงจะนำมาใช้ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ส่วนประชาธิปไตยประเภทโดยอ้อม ซึ่งเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน กล่าวคือ เมื่อไม่สามารถนำประชาชนมาประชุมแสดงความคิดเห็นพร้อมกันได้ทั้งประเทศ ก็ให้ประชาชนเหล่านั้นเลือกตัวแทนของตนขึ้นมาทำหน้าที่แทนตน ตัวแทนเหล่านั้นออกเสียงหรือลงคะแนนเสียงจับสลาก แสดงความคิดเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นความคิดเห็นของบุคคลหรือมติมหาชนที่คัดเลือกผู้ใดในชุมชนคนของตนเองที่คัดเลือกของประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกกันเข้ามาหรือเลือกตนมา
ลักษณะผู้ไม่มีโลกาธิปไตยที่ดี – เชื่อข่าวสารหรือผู้อื่นอย่างไร้เหตุผล
– ขาดความรู้ ขาดประสบการณ์ – หลอกลวงเพื่อหวังประโยชน์จากส่วนรวม – ลุ่มหลงหรืองมงายง่าย – หลงใหลในวัตถุหรือค่านิยม
แนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยแนวพระวินัยปิฎก จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติพระวินัย เพื่อเป็นแนวในการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ แต่การบัญญัติวินัยนั้นก็ทรงบัญญัติเป็นพระสงฆ์มิได้บัญญัติตามลำพัง ต้องให้เกิดเรื่องก่อน แล้วประชุมสอบสวนแล้วบัญญัติพระวินัยท่ามกลางพระสงฆ์ ด้วยความเห็นชอบของพระสงฆ์ต่างพร้อมใจกันนำไปปฏิบัติ การทำกรรมต่างๆ ของสงฆ์ ยกเว้นอปโลกนกรรม ล้วนให้ทำเป็นการสงฆ์ทั้งสิ้น กล่าวคือ ญัตติกรรม-ทำด้วยสงฆ์จตุวรรค คือ ๔ รูปขึ้นไป เช่นการสวดปาติโมกข์
ญัตติทุติยกรรม-ทำด้วยสงฆ์ปัญจวรรคคือ ๕ รูปขึ้นไป เช่น เรื่องกฐิน
ญัตติจตุตถกรรม-ทำด้วยสงฆ์ ทสวรรค คือ ตั้งแต่ ๑๐ รูปขึ้นไปยกเว้นในที่กันดาร เช่นการอุปสมบท
การให้มานัตต์ การสวดอัพภาน ก็ต้องใช้สงฆ์ตั้งแต่ ๒๑ รูปขึ้นไป
จึงกล่าวได้ว่า พระวินัย คือ รัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ
พระสงฆ์ คือ สมาชิกสภาผู้แทน
คุณสมบัติของพระสงฆ์ คือ คุณสมบัติของสมาชิก
อำนาจพระสงฆ์ คือ อำนาจอธิปไตย
และในการประชุมทำกรรมต่างๆ เป็นการสงฆ์นั้น ต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ จริงๆ ถ้ามีข้อข้องใจมีสิทธิ ยับยั้ง (Veto) ได้ แม้เพียงเสียงเดียวสงฆ์ทั้งหมดก็ต้องฟังดังท้ายกรรมวาจาว่า "ยสฺสายสฺมโต ขมติ... ...โส ตุณฺหสฺส ยสฺส น ขมติ โส ภาเสยฺย" "ถ้ากรรมนี้ ชอบใจต่อท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเงียบ ถ้าไม่ชอบใจต่อท่านผู้ใดท่านผู้นั้นพึงพูดขึ้น"
อนึ่งการทำกรรมอันใดก็ตาม พระวินัยจะต้องพร้อมเพรียงกัน ดังคำขึ้นต้น ของกรรมวาจาว่า "ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ" ซึ่งแปลว่า "ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ พร้อมแล้ว... สงฆ์พึงทำ..." ดังนี้.
หลักอปริหานิยธรรม ๗ คือ - หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
- เมื่อประชุมก็พร้อมกันเข้าประชุม และพร้อมเพรียงกันเลิกประชุม - ไม่ทำลายหลักการเดิม - เคารพผู้หลักผู้ใหญ่ - คุ้มครองกุลสตรี มิให้ถูกข่มเหง - เคารพ เจดีย์ อนุสาวรีย์คนสำคัญของชาติ - ให้การคุ้มครองอารักขาสมณะชีพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในรัฐ
๓. ธัมมาธิปไตย (ความมีธรรมเป็นใหญ่) ธัมมาธิปไตย เป็นอำนาจสูงสุดอันอยู่กับ “ธรรมะ” คือ ความถูกต้องโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นความเห็นของคนส่วนใหญ่หรือคนส่วนน้อยหรือแม้จะเป็นความเห็นของบุคคลคนเดียว (ปัจเจกชน) ถ้าเป็นความเห็นที่ชอบธรรมหรือเป็นความเห็นที่ถูกต้องก็เห็นพ้องตามสิ่งนั้น
พระพุทธเจ้าทรงยกย่องธัมมาธิปไตยว่าประเสริฐสุดดีที่สุด ส่วนโลกาธิปไตยก็ยังดีกว่าเอกาธิปไตยจะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ตำหนิระบบเผด็จการที่เป็นเอกาธิปไตย ถ้าเผด็จการนั้นยึดมั่นในคุณธรรม ในเหตุในผลอันถูกต้อง มีความเป็นธรรม และมีความยุติธรรมต่อประชาชนเหมือนกับพ่อปกครองลูก และทรงมิได้ยกย่องว่าระบอบประชาธิปไตย หรือ โลกาธิปไตย เป็นระบบการปกครองที่ประเสริฐสุด เพราะก็มีจุดด้อยเช่นกัน และแม้นักปรัชญาทางการปกครอง ก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ โดยกล่าวว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่มีจุดด้อยน้อยที่สุด
ลักษณะผู้ไม่มีเป็นธรรมาธิปไตยที่ดี – ไม่ยึดมั่นในหลักธรรมความดี
– ไม่ยึดหลักเหตุผล – ขาดการใช้ปัญญาพิจารณา
– ขาดความรู้ในหลักธรรม – เชื่อ และศรัทธาในศาสนาที่ไร้เหตุผล
ทางสายกลางแห่งอธิปไตย ๓
อธิปไตยทั้ง ๓ แบบ หากยึดหรือนำเพียงแบบใดแบบหนึ่งย่อมส่งผลดี และผลเสียควบคู่กัน แต่หากนำลักษณะหรือหลักการบางอย่างมารวมเป็นข้อปฏิบัติร่วมกัน ก็ย่อมส่งผลดี และเกิดประสิทธิภาพในการปกครองหรือการใช้ชีวิตได้มากกว่า แนวทางนี้ เรียกว่า ทางสายกลางแห่งอธิปไตย ๓ ได้แก่ – เป็นผู้รู้จักใช้ปัญญาพิจารณา – เป็นผู้มีความเด็ดขาด และเชื่อมั่นในตนเอง – เป็นผู้รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น – รู้จักตามทันข่าวสาร และเหตุการณ์ของโลก – ไม่เชื่อข่าวสารหรือผู้อื่นโดยง่าย และเชื่ออย่างมีเหตุมีผล – ใช้หลักธรรมเป็นพื้นฐานประกอบการพิจารณาตัดสินใจ – ปฏิบัติตามกฎ ศีลธรรม และประเพณีอันดีงามของสังคม – มั่นศึกษาหาความรู้อยู่เป็นนิจ
หลักการใช้อธิปไตย พระพุทธเจ้าทรงนิยม ธรรมาธิปไตย คือ เอาหลักการเป็นใหญ่ มิใช่ อัตตาธิปไตย เอาตนเป็นใหญ่ หรือ โลกาธิปไตย เอาโลกหรือพวกพ้องเป็นใหญ่ ดังพระองค์แสดงไว้อย่างชัดเจน "เนสา สภา ยตฺถ น สนฺติ สนฺโต = ที่ใดไม่มีสัตบุรุษ ที่นั้นมิใช่สภา" สัตบุรุษ คือ ผู้รู้จักเหตุผล-รู้จักตน รู้จักประมาณ-รู้จักกาล-รู้จักชุมชุม และรู้จักความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
ธรรมาธิปไตย ความมีธรรมเป็นใหญ่ โดยเฉพาะ “ทศพิธราชธรรม” หรือ ราชธรรม ๑๐ คือจริยวัตร ๑๐ ประการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรมประจำพระองค์ หรือเป็นคุณธรรมประจำตนของผู้ปกครองบ้านเมือง ให้มีความเป็นไปโดยธรรมและยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชนจนเกิดความชื่นชมยินดี ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้จำเพาะเจาะจงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือผู้ปกครองแผ่นดินเท่านั้น บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในทุกองค์กรก็พึงใช้หลักธรรมเหล่านี้
๑. ทาน หมายถึง หมายถึงการแบ่งปันให้ทรัพย์สิ่งของ เพื่ออนุเคราะห์สงเคราะห์ ผู้อื่นด้วยจิตเมตตา ปรารถนาที่จะให้ผู้รับอยู่ดีมีสุข และปรารถนาที่จะให้ผู้ประสบความทุกข์ เดือดร้อน ให้พ้นทุกข์ นับว่ามีความสำคัญสำหรับผู้ปกครองเป็นอันดับแรก เพราะในฐานะที่เป็นผู้นำหรือผู้ปกครองนั้น หากมองในแง่ของคุณธรรม ก็ควรจะเป็นผู้เอื้ออารีต่อคนในปกครอง รู้จักเอื้อเฟื้อแบ่งปัน สงเคราะห์ช่วยเหลือคนในปกครองของตน ตามควรแก่โอกาสและเหตุการณ์ หาก มองในแง่ของหน้าที่ผู้ปกครอง ก็มีหน้าที่จะต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุขคนในปกครองของตน ด้วยการให้วัตถุสิ่งของบ้าง ด้วยการให้วิชาความรู้บ้าง ด้วยการให้สิ่งที่ต้องการอื่นๆ ตลอดถึงให้การอบรมแนะนำบ้าง เพื่อสิ่งเหล่านั้นจะได้เป็นเครื่องยังชีพและสร้างสรรค์ชีวิตให้มีความผาสุกตามควรแก่อัตภาพ สิ่งเหล่านี้ก็รวมอยู่ในคุณธรรมข้อที่เรียกว่า ทาน การให้นั่นเอง
๒. ศีล หมายถึง การสำรวมระวังกายและวาจาให้เรียบร้อยดีไม่มีโทษ กล่าวคือ เจตนา งดเว้นจากความประพฤติปฏิบัติที่เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อนเสียหาย เป็นที่ทราบกันดีว่า ศีล นั้นคู่กับ ธรรม ศีลเป็นข้อห้าม นั้นก็หมายความว่า ผู้ปกครองจะต้องประพฤติตนอยู่ในศีลในธรรม มั่นคงหนักแน่นอยู่ในระเบียบวินัย กฎหมายและขนบประเพณี อันดีงามของบ้านเมือง วางตนให้เป็นหลักเป็นที่เชื่อถือของประชาชนได้ ในฐานะที่เป็นหลักเป็นประธานของหมู่คณะหรือประเทศชาติ ส่วนประชาชนก็จะต้องประพฤติเช่นเดียวกัน เพราะถ้าผู้นำทำดีอยู่คนเดียว แต่ประชาชนไม่เอาด้วย สังคมก็จะสงบเรียบร้อยไม่ได้ หรือถ้าประชาชนพยายามทำดี แต่ผู้นำไม่เอาด้วย ประชาชนก็เดือดร้อน ฉะนั้น ทุกฝ่ายจึงต่างต้องมีศีลต่อกัน มีศีลเสมอกัน สังคมจึงจะสงบสุข
๓. บริจาค หมายถึง ความเสียสละ คือกิริยาอันเป็นไปด้วยกุศลเจตนา ประกอบด้วยสติปัญญาอันเห็นชอบ ที่เสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนส่วนรวม หรือเสียสละประโยชน์สุขส่วนน้อยเพื่อประโยชน์สุขที่ยิ่งใหญ่ อันเป็นไปเพื่อบรรเทากิเลส คือความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว แก่พวกพ้องของตน โดยหน้าที่แล้วผู้ปกครองย่อมต้องเป็นคนเสียสละ หากไม่มีคุณธรรมข้อนี้ ก็เป็นผู้ปกครองที่ดีไม่ได้ เป็นผู้นำที่ดีไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ เพื่อกอบโกยประโยชน์สุขส่วนตนฝ่ายเดียว กล่าวสั้นๆ ผู้ปกครองของตนหรือเพื่อประเทศชาติของตน ส่วนประชาชนก็จะต้องเสียสละเพื่อสนองนโยบายที่เป็นธรรมหรือความปรารถนาดีของผู้ปกครองด้วยเช่นกัน เช่น เมื่อถึงคราวอดก็อดด้วยกัน เมื่อถึงคราวควรออมก็ออมด้วยกัน การแก้ปัญหาของหมู่คณะหรือชาติบ้านเมืองจะเป็นไปได้ แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งกำลังประสบปัญหา แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับแสวงหาแต่ความสุขใส่ตัวเอง โดยไม่อาทรห่วงใยต่อใคร หมู่คณะหรือชาติบ้านเมือง ก็คงไปไม่รอดแน่ฉะนั้น ทุกคนจึงต้องเสียสละตามควรแก่ฐานะและความรับผิดชอบ
๔. อาชวะ หมายถึง ความซื่อตรง ความซื่อสัตย์สุจริต ความยุติธรรม คุณธรรมข้อนี้เป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้ว กล่าวโดยสรุปก็คือกิจการทุกอย่างหากผู้ที่มีส่วนร่วม ไม่ว่าจะในฐานะผู้นำหรือผู้ตาม ต่างไม่มีความซื่อสัตย์ต่อกัน ไม่ซื่อตรงต่อเวลา ไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่ ไม่ซื่อตรงต่อความถูกความควร ความสัมฤทธิ์ผลก็เป็นไปได้ยาก และจะถึงความล่มสลายในที่สุด แต่ถ้าทุกฝ่ายซื่อตรงต่อกัน ซื่อตรงต่อเวลา ซื่อตรงต่อหน้าที่ และซื่อตรงต่อความถูกความควร ก็หวังได้ว่า กิจการย่อมจะประสบความสำเร็จด้วยดี หากแม้นจะมีอุปสรรค ก็จะสามารถช่วยกันแก้ไขให้สำเร็จได้ไม่ยาก
๕. มัททวะ หมายถึง ความสุภาพอ่อนโยน คือความเป็นผู้มีอัธยาศัยใจคอและมีกิริยาวาจาที่สุภาพอ่อนโยน งดงามตามฐานะ ตามเหตุผลที่ควรดำเนิน ไม่แข็งกระด้าง ดื้อดึง ด้วยความเย่อหยิ่งถือตัวถือตน ความสุภพอ่อนโยน คุณธรรมข้อนี้มีความจำเป็นอย่างไรคงเห็นได้ไม่ยาก คนที่เย่อหยิ่งจองหองหรือแข็งกระด้างหยาบคายนั้น ย่อมเป็นที่เกลียดชังของคนทั่วไป หากเป็นผู้ปกครองด้วยแล้ว ก็ย่อมจะก่อให้เกิดผลเสียหายต่อการปกครองเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้คนในปกครองขาดความเคารพนับถือและเสื่อมศรัทธา และบางครั้งอาจจะก่อให้เกิดความหายนะอย่างร้ายแรงขึ้นก็ได้ ฉะนั้น ผู้ปกครองที่ดีย่อมจะสุภาพอ่อนโยนต่อทุกคนและในทุกโอกาสด้วย ความจริงใจเสมอ ประชาชนก็จะให้ความเคารพรักและคารวะอ่อนน้อมเป็นการตอบแทนเช่นกัน โดยสรุปแล้วก็คือ ทุกคนควรมีความสุภาพอ่อนโยนต่อกันและกันตามควรแก่ฐานะ
๖. ตบะ หมายถึง การเผากิเลสมิให้เข้าครอบงำจิตใจ หรือความเพียร มีความอุตสาหะในการปฏิบัติงานโดยปราศจากความเกียจคร้าน ลักษณะของผู้นำที่จะขาดเสียมิได้ ก็คือความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในการปฏิบัติหน้าที่ หรือในยามที่ต้องเผชิญกับปัญหาความยุ่งยากต่างๆ จึงจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นและยำเกรงขึ้นในประชาชนได้ ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวจะมีได้ก็ต่อเมื่อมีพลังภายในคือ ตบะ ความเพียรพยายามอย่างเด็ดเดี่ยวมั่นคงจนกว่าจะบรรลุความสำเร็จ ในหน้าที่การงานนั่นเอง ตบะจึงเป็นที่มาแห่งอำนาจของผู้นำ ดังที่มักเรียกกันว่า “มีตบะเดชะ”ผู้นำ ที่ไร้ตบะไม่เป็นที่เชื่อมั่นยำเกรงของคนในปกครอง ฉะนั้น ตบะจึงเป็นคุณธรรมจำเป็นสำหรับผู้ปกครองผู้บริหาร และในเมื่อผู้ปกครองผู้บริหารมีความเพียรพยายามแล้ว ผู้อยู่ในปกครองหรือผู้ตาม ก็จะต้องสนองตอบด้วย คือจะต้องมีความเพียรพยายามไปตามฐานะและหน้าที่อย่างเต็มความสามารถด้วย
๗. อักโกธะ หมายถึง ความไม่โกรธ คือกิริยาที่ไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ ตลอดทั้งไม่ผูกพยาบาทอาฆาตผู้อื่น แม้จักต้องลงโทษทัณฑ์แก่ผู้กระทำผิด ก็กระทำตามเหตุผลที่สมควรตามหลักกฎหมาย และกระทำตามระเบียบวินัยที่ได้กำหนดไว้ดีแล้ว ไม่กระทำด้วยอำนาจความโกรธ ผูกพยาบาท และแม้มีเหตุให้โกรธ ก็สามารถข่มความโกรธเสียได้ด้วยขันติธรรม ก็หมายถึงว่า ผู้ปกครองไม่ควรปฏิบัติต่อคนในปกครองของตนด้วยอำนาจบาตรใหญ่ หรือด้วย ความเกี้ยวกราดอย่างไร้เหตุผล เพราะจะทำให้กลายเป็นที่เกลียดกลัวและเกลียดชังของคนในปกครอง อันจะทำให้ขาดความร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติหน้าที่การงาน แต่ถ้าผู้ปกครองหรือผู้บริหารเป็นคนไม่วู่วามใช้อารมณ์ แต่เป็นคนเยือกเย็นมีเหตุผล และแสดงความเมตตาต่อทุกคนโดยเสมอหน้า ก็ย่อมจะเป็นที่รักที่พอใจของทุกคน
๘. อวิหิงสา หมายถึง ความไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้ลำบาก คือ ความไม่ก่อความทุกข์ยากให้แก่บุคคลอื่น ตลอดทั้งสัตว์อื่นทั้งหลาย ได้แก่ ผู้ปกครองจะต้องไม่เป็นผู้โหดร้ายทารุณประชาชน ไม่กระทำการใดๆ อันจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนทุกข์ยากแก่ประชาชน ทั้งในด้านทรัพย์สินและชีวิตร่างกาย หากผู้ปกครองโหดร้ายปราศจากกรุณาปราณี ประชาชนก็จะมีแต่ความหวาดผวา หาความมั่นใจในชีวิตและทรัพย์สินไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็คงจะไม่มีใครคิดสร้างสรรค์อะไรให้สังคมหรือส่วนรวม เพราะแต่ละคนก็จะมัวแต่ระวังภัยอันอาจจะเกิดขึ้นกับตนเองได้ทุกเมื่อ ฉะนั้น ผู้ปกครองที่ดีจะต้องไม่สร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน แต่จะต้องพยายามสร้างความสุขกายเย็นใจให้แก่ทุกคนในปกครองของตน เท่าที่สามารถจะทำได้ส่วน และประชาชนก็จะต้องไม่หาเหตุสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ปกครองด้วย
๙. ขันติ หมายถึง ความอดทนอดกลั้น ภารกิจของผู้ปกครองนั้นเป็นสิ่งที่หนักยิ่ง ผู้ปกครองจึงจำต้องมีความอดทนอย่างยิ่ง จึงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นผลสำเร็จ คือจะต้องอดทนต่อความทุกข์ยากในการปฏิบัติหน้าที่ ทนเสียสละเพื่อประชาชน ทนต่อปัญหา และอารมณ์อันไม่พึงประสงค์ของคนเป็นจำนวนมาก ตลอดถึงทนต่อความรู้สึกและความต้องการ อันไม่ถูกไม่ควรของตนเอง ไม่ให้แสดงออกมาด้วย นั่นคือ จะต้องเป็นผู้หนักแน่นมั่นคงในทุกสถานการณ์ เพื่อให้ภาระหน้าที่ในความรับผิดชอบดำเนินไปด้วยดี แม้ประชาชนก็จะต้องมีความอดทนด้วยเช่นกัน เช่น ทนกระทำในสิ่งที่ดีงามควรกระทำ ทนลำบากได้ในเมื่อบ้านเมืองอยู่ในภาวะลำบาก ทนเสียสละได้เมื่อบ้านเมืองต้องการความเสียสละช่วยเหลือ หรือทนอดทนออมได้ เพื่อผลดีแก่ส่วนรวม เป็นต้น
๑๐. อวิโรธนะ หมายถึง ความปฏิบัติไม่ผิด ได้แก่ ปฏิบัติหรือกระทำการ ต่างๆ ไม่ผิดไปจากทำนองคลองธรรมของผู้ปกครองที่ดี กระทำการต่างๆ ไปตามที่ถูกที่ควร โดยยึดถือคุณธรรมมีทศพิธราชธรรมเป็นหลักในการบริหารหรือปกครองกล่าวสั้นๆ ก็คือ ปกครองโดยธรรม เรียกว่า ธรรมมาธิปไตย ถือธรรมคือความถูกต้องยุติธรรมเป็นใหญ่ ไม่เอาประโยชน์สุขส่วนตัวหรืออำนาจบาตรใหญ่ หรืออารมณ์อันไร้เหตุผลมาเป็นหลักเป็นใหญ่ ในการบริหารหรือปกครอง แม้ผู้อยู่ในปกครองหรือผู้ร่วมงานก็เช่นเดียวกัน จะต้องยึดถือธรรม คือ ความถูกต้องยุติธรรมเป็นหลักในการปฏิบัติต่อกันและกัน กล่าวโดยสรุปก็คือ ทุกฝ่ายจะต้องยึดถือธรรม คือความถูกต้องยุติธรรมเป็นหลักในการปฏิบัติต่อกันและกัน ไม่เอาประโยชน์สุขส่วนตัว หรืออคติความลำเอียง เพราะเหตุใดเหตุหนึ่งมาเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยตัดสิน ความเป็นธรรมในสังคมจึงจะเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้
การปฏิบัติธรรมนั้นให้ทุกท่านทุกคนพากันเข้าใจนะ ไม่ใช่ปฏิบัติอยู่ที่วัดอย่างเดียว อยู่ที่ไหนๆ ก็ปฏิบัติได้ การปฏิบัติอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง มาเปลี่ยนแปลงตนเองใหม่ เราทำได้ทุกอิริยาบถ ทุกที่ทุกเวลากลับมาหาอานาปานสติ หายใจเข้าหายใจออกสบายหายใจเข้าหายใจออกมีความสุข ที่เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม ตามหลักเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ อย่าไปเชื่อแต่ตนเอง ทำตามอัธยาศัยตนเองไปเรื่อย ให้ทุกท่านทุกคนกลับมาพิจารณาตนเองเพื่อจะเปลี่ยนแปลงตนเองให้ได้ เราจะได้ถือนิสัย หรือธรรม ถือพระวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงเคารพในพระธรรม เพราะพระธรรมทำให้พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็คือธรรมะ ธรรมะก็คือพระพุทธเจ้า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม
ทุกท่านทุกคนต้องกระชับเรื่องปัญญา พิจารณาให้แจ่มแจ้ง ให้รู้จักผิดชอบชั่วดี ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ให้ศีลสมาธิปัญญาเกิดที่กายที่ใจท่าน ในทุกหนทุกแห่ง เอากายใจที่เหลืออยู่นี้ให้มีแต่ศีลสมาธิปัญญา อย่าเอาเรื่องของบุคคลสิ่งอื่นมาใส่ใจตนเองมากไปกว่านี้เลย ชีวิตของเราจึงจะเป็นชีวิตที่ไม่สูญเปล่า สมกับได้เป็นเกิดมนุษย์ ซึ่งเป็นผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อพระนิพพานอย่างแท้จริง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee