แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน วันเสาร์ที่ ๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธเจ้าคือพุทธะ พุทธะคือพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคือผู้รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
พระพุทธเจ้าถึงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้ไม่มีตนไม่มีตัว
รู้คือ รู้อริยสัจ ๔ เป็นต้น และรู้สิ่งอื่นๆ อีกเท่าที่จำเป็นต้องรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ทรงปฏิญาณพระองค์ว่าทรงเป็นสัมมาสัมพุทธะเพราะทรงรู้อริยสัจ ๔ อันประกอบด้วยรอบ ๓ หรือ ญาณ ๓ อาการ ๑๒ (ไตรปริวัฏทวาทสาการ) จัดเป็นพระปัญญาญาณ
ตื่น (ไม่ใช่ตื่นตระหนกตกใจหรือตื่นเต้น) แต่หมายถึงตื่นที่ตรงกันข้ามกับหลับในที่นี้ หมายถึงตื่นจากความหลับ คือกิเลส (กิเลสนิทรา) ความหลับมี ๒ อย่าง คือ ปกตินิทรา หลับตามปกติ เพื่อร่างกายได้พักผ่อน และกิเลสนิทรา หลับเพราะกิเลส จัดเป็นพระบริสุทธิคุณ
เบิกบาน หมายถึง มีใจเบิกบานด้วยความกรุณา ใบหน้าสดชื่นเพราะความกรุณาต่อสรรพสัตว์ ไม่คิดเบียดเบียนใคร มีแต่เอื้ออาทรคิดอนุเคราะห์ ดังที่พระศาสดาตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคราวทรงส่งท่านเหล่านั้นไปประกาศพระศาสนาว่า “ภิกษุทั้งหลายบัดนี้เราและเธอทั้งหลาย พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวงทั้งที่เป็นของทิพย์และเป็นของมนุษย์ เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขของคนหมู่มากเพื่ออนุเคราะห์ชาวโลกอย่าไปทางเดียวกัน ๒ รูปจงแสดงธรรมอันงามทั้งเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดพร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ (เนื้อความและเนื้อธรรมให้ชัดเจน) จงประกาศพรหมจรรย์ (ระบอบการครองชีวิตอันประเสริฐ งดงาม) ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง สัตว์ผู้มีธุลีในจักษุน้อย (คือมีกิเลสน้อย) ก็พอมีอยู่ สัตว์เหล่านั้นจะเสียโอกาสเสื่อมจากธรรม เพราะไม่ได้ฟังธรรม ผู้รู้ธรรมจักมีเป็นแน่แท้ แม้เราเองก็จะไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรมเหมือนกัน” ลักษณะดังกล่าวนี้เป็น พระมหากรุณาคุณ
ท่านทรงให้พุทธบริษัททั้งหลายพากันมีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ในชีวิตประจำวันเรียกว่า เป็นมรรคเป็นข้อวัตรปฏิบัติ เป็นทั้งปริยัติเป็นทั้งปฏิบัติในปัจจุบัน ปริยัติในพระศาสนานี้ก็เป็นการรู้เรื่องความจริงรู้เรื่องอริยสัจ ๔ ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ เน้นที่ปัจจุบัน เพราะอดีตก็ปฏิบัติไม่ได้อนาคตก็ไม่ได้อยู่ที่ปัจจุบัน ปัจจุบันซึ่งเป็นยานคือ ศีลสมาธิมีปัญญามีความสุขที่สุดในโลกเลย เราต้องมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องอย่างนี้ เราจะได้ตั้งเจตนาหรือว่าตั้งใจเหมือนกับคนเราติดกระดุมถ้ามันถูกต้อง เม็ดแรกถูกต้อง อยู่ที่ความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องอยู่ที่เจตนาเป็นธรรมอย่างนี้แหละ เพราะความรู้ที่เราเรียนจากหนังสือจากครูบาอาจารย์อันนี้ล้วนแต่เป็นการเรียนแผนที่เป็นการเรียนหนังสือ
ความสำคัญของ “ปริยัติ” จึงเป็นเพียง “แนวทาง” ให้นักปฏิบัติไม่ต้อง “เสียเวลา” ลองผิดลองถูกแบบพระพุทธองค์ ซึ่งก็มีปรากฏให้เห็นในสมัยพุทธกาลว่าพุทธสาวกหลายรูปสามารถบรรลุธรรมได้ภายในระยะเวลาอันสั้น
สำหรับ “ปฏิเวธ” นั้นจะมีในเฉพาะผู้ปฏิบัติทางกายและจิตเท่านั้น หาไม่ได้จากตัวนักวิทยาศาสตร์ทั่วๆไป ไม่ว่าจะเป็น กาลิเลโอ นิวตัน หรือไอน์สไตน์ เพราะนักวิทยาศาสตร์จะใช้ “เครื่องมือวัด” แล้วใช้ความนึกคิดประเมินผลเอาจาก “ปริมาณ” ที่วัดได้นั้น
ปริยัติ_ปฏิบัติ_ปฏิเวธ #สามเสาหลักแห่งพระพุทธศาสนา
ปริยัติ ปริ (รอบ) + ยตฺติ (ศึกษา,เล่าเรียน ) ระเบียบคำอันควรศึกษาโดยรอบ หมายถึง พระพุทธพจน์ หรือ พระไตรปิฏก (รวมทั้งอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และคำอธิบายต่างๆเพื่อให้เข้าใจในหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)
พระพุทธวจนะ ได้จัดไว้เป็นหมวดเป็นหมู่ มีอยู่ทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพื่อสะดวกในการศึกษาและนำไปปฏิบัติของอนุชนรุ่นหลัง พระอรรถกถาจารย์ได้จัดหมวดหมู่ไว้ เป็น ๓ หมวดใหญ่ๆ รวมเรียกว่า พระไตรปิฎก หมายถึงพระคัมภีร์ ๓ อย่าง ที่เก็บรักษาเป็นคลังแห่งความรู้อันบริสุทธิ์ของพระบรมศาสดา ประกอบด้วยพระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และพระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
ในบรรดาพระธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐ นั้น พระสูตรที่มีอนุสนธิเดียว คือ มีการเชื่อมความในเรื่องเดียวกัน จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์ ในพระสูตรที่มีเนื้อหาสาระมาก นับพระธรรมขันธ์ด้วยการเชื่อมเนื้อความในแต่ละคาถา หากเป็นเรื่องที่มีการถามปัญหา คำถามปัญหาข้อหนึ่ง จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์ คำวิสัชนาข้อหนึ่ง จัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์
ส่วนในพระอภิธรรม การจำแนกติกะทุกะแต่ละประเภท และการจำแนกวาระจิต แต่ละวาระจิตจัดเป็นหนึ่งพระธรรมขันธ์ ในพระวินัย มีวัตถุ มีมาติกา มีบทภาชนีย์ มีอันตราบัติ มีอาบัติ มีอนาบัติ มีกำหนดติกะ ส่วนหนึ่งๆ รวมเป็นพระธรรมขันธ์อันหนึ่งๆ ฟังดูแล้วอาจเข้าใจยากสักนิด แต่ถ้าหากทุกท่านได้ทดลองอ่านดู จะเข้าใจว่า ท่านผู้รู้ได้รวบรวมเรียบเรียงคำสอนไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ มีความเข้าใจง่ายและลึกซึ้งไปตามลำดับ ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้ เหมือนเดินเข้าไปสู่มหาสมุทรแห่งปัญญา
พระพุทธวจนะ คือ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีรสเดียวกัน คือ วิมุตติรส เป็นรสแห่งความหลุดพ้น มีประโยชน์สูงสุดจากการศึกษา คือการหลุดพ้นจากอาสวกิเลส ถ้าพูดถึงความต่างกัน มี
👉 ๒ ประเภท คือ แบ่งเป็นพระธรรมและพระวินัย
👉 ๓ ประเภท คือ พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม
กว่าจะจัดรวบรวมเรียบเรียงเป็นหมวดเป็นหมู่ได้อย่างนี้ พระอรหันตขีณาสพ ๕๐๐ รูป ผู้แตกฉานในพระไตรปิฎก ช่ำชองในปฏิสัมภิทา ท่านได้เป็นผู้รวบรวมเรียบเรียงคำสอนนี้ไว้อีกทีหนึ่ง ท่านต้องประชุมกันเพื่อทำสังคายนา ใช้เวลานานถึง ๗ เดือน จึงสำเร็จ นับเป็นบุญลาภของพวกเรา ที่ได้ศึกษาความรู้อันบริสุทธิ์นี้
การศึกษาปริยัติมี ๓ อย่างคือ
๑. อลคัททูปริยัติ การศึกษาแบบจับงูพิษที่หาง คือ ศึกษาพุทธพจน์เพื่อ ลาภ สักการะ สรรเสริญ หรือเพื่อยกตนข่มผู้อื่น ย่อมเป็นโทษกับตนเอง เหมือนการจับงูพิษที่หาง งู ย่อมแว้งขบกัดเอาได้
๒. นิสสรณัตถปริยัติ การศึกษาเพื่อประโยชน์แก่การออกไปจากทุกข์คือ ศึกษาพุทธพจน์เพื่ออบรมปัญญา เป็นการศึกษาของผู้ที่เห็นโทษภัยของกิเลส เห็นภัยในวัฏฏสงสารปรารถนาจะออกไปจากวัฏฏทุกข์
๓. ภัณฑาคาริกปริยัติ การศึกษาแบบขุนคลัง คือ ศึกษาพุทธพจน์เพื่อทรงพระศาสนาไว้ไม่ให้เสื่อมสูญเป็นการศึกษาของพระอรหันต์ซึ่งหมดกิจในการอบรมปัญญาเพื่อละกิเลสแล้วแต่มีฉันทะและเห็นประโยชน์ในการศึกษาเพื่อถ่ายทอดพระธรรมคำสอนให้แก่ชนรุ่นหลัง
ปฏิบัติ ปฏิ (เฉพาะ) + ปตฺติ (การถึง) การถึงเฉพาะ หมายถึง สัมมาปฏิบัติ คือการปฏิบัติชอบ การปฏิบัติถูกต้องได้แก่ ขณะที่สภาพธรรมฝ่ายดีงามเกิดขึ้นทำกิจของตน เป็นไปในกุศลขั้นต่างๆ โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมขั้นวิปัสสนาภาวนา หมายถึง ขณะที่สติพร้อมสัมปชัญญะที่เกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม และรู้ความจริงว่าเป็นเพียงนามธรรมรูปธรรม เท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยและไม่มีใครเป็นผู้ปฏิบัติ นอกจากสติสัมปชัญญะและโสภณธรรมที่ทำหน้าที่ปฏิบัติกิจของตนๆ ความเข้าใจถูกต้องในเรื่องความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมจะเป็นปัจจัยให้มีการปฏิบัติที่ถูกต้อง และละความยึดถือความเป็นตัวตนได้ในที่สุด
ปฏิเวธ ปฏิ (ตลอด) + วิธ (การแทง) การแทงตลอด หมายถึง การตรัสรู้ธรรม บรรลุมรรค ผล นิพพาน ซึ่งเป็นผลจากการปฏิบัติที่ถูกต้องนั่นเอง
พระพุทธเจ้าท่านให้เราพากันปฏิบัติอย่างนี้ ธรรมะของพระพุทธเจ้าจะนำทุกคนเข้าสู่ความสงบเย็นเป็นแอร์คอนดิชั่น เข้าสู่หัวใจเข้าสู่สติความสงบอบอุ่น เป็นสติเป็นสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม ทำอย่างนี้แหละมันถึงสุดยอดแห่งความดับทุกข์ความไม่มีทุกข์ เพราะหมู่มวลมนุษย์ต้องเอาธรรมะเป็นหลักธรรมะเป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าก็ไม่ใช่นิติบุคคลตัวตน พระอรหันต์ก็ไม่ใช่ตัวตนนิติบุคคล ถึงได้เป็นพระพุทธเจ้าได้เป็นพระอรหันต์ เราต้องถือนิสัยของพระพุทธเจ้าอย่างนี้ พอเราเข้าใจอย่างนี้ เราปฏิบัติได้อยู่ทุกหนทุกแห่ง ธรรมะเป็นสายกลาง เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีและใจไปพร้อมๆ กัน เราทำถูกต้องคนอื่นปฏิบัติถูกต้องมันก็จะเป็นศีลเสมอกัน พากันมาแก้ที่ตัวเอง ด้วยทางเศรษฐกิจก็แก้ที่ตัวเอง ทางจิตใจก็แก้ที่ตัวเอง มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ เอาธาตุเอาขันธ์อายตนะมาประพฤติปฏิบัติ เราก็อย่าไปหลงในสิ่งที่ถือว่าเป็นขยะ อย่างรูปเสียงกลิ่นรสลาภยศสรรเสริญ
ผู้ที่เกิดมาก็ต้องเอาธรรมะเป็นหลักเอาธรรมะเป็นใหญ่ จึงจะเข้าถึงธรรมาธิปไตย เพราะการดำรงชีวิตคือธรรมาธิปไตย เราต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ เห็นภัยในวัฏสังสาร ความดับทุกข์ที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ความรวยความจนที่ไหนแห่งใด มันคือสัมมาทิฏฐิมีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องในปัจจุบัน เรื่องปริยัติเรื่องปฏิบัติมันถึงแยกกันไม่ได้ ศีลสมาธิกับปัญญา ถึงแยกกันไม่ได้ เพราะเป็นอันเดียวกัน ถ้าเรามีความเห็นผิดเข้าใจผิด มันก็ปฏิบัติผิดหมด ให้เข้าใจ อย่าเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ชอบอย่างนี้ ไม่ชอบอย่างนั้น ธรรมะไม่ใช่สิ่งที่ชอบหรือไม่ชอบ ไม่ใช่สิ่งที่ช้าไม่ใช่สิ่งที่เร็ว ไม่มีความปรุงแต่งที่เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ทุกคนต้องขวนขวายประพฤติปฏิบัติ ปรับตัวเข้าหาเวลา เวลานี้เอาอดีตที่ดีๆ ที่มันติดต่อต่อเนื่อง ถ้าเราทำดีคิดดีปฏิบัติดี เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี ถ้าเราเอาอดีตปัจจุบันอนาคตมาเรียงต่อกันไม่ได้ ที่มันเป็นศีลสมาธิปัญญา ยังมีความเห็นความไม่เข้าใจ ถึงปล่อยให้ตัวเองมีความเกิดทางความคิดมีความเกิดทางอารมณ์ ถึงปล่อยให้ตัวเองตั้งอยู่ในโลกธรรม ทั้งชอบใจไม่ชอบใจดีใจเสียใจอย่างนี้ เรายังมีตัวมีตนอยู่ เรียนหนังสือตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาเอก อันนี้แหละเป็นการรู้แผนที่ อย่างเรียนนักธรรมตรีจนถึง ป.ธ.9 เป็นการเรียนแผนที่ ถือว่ายังไม่ได้เรียนธรรมะนะ เพราะธรรมะเป็นปัจจุบันการรู้ผิดรู้ถูกรู้ดีรู้ชั่ว แล้วก็เอาความถูกต้องความเป็นธรรมความยุติธรรม อย่างนี้เค้าถึงเรียกว่าปริยัติ ปฏิบัติมันถึงจะเป็นปฏิเวธ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมีอย่างนี้
ความสุขความดับทุกข์มันจะจัดการเอง เราอย่าไปคิดว่าจะทำไปถึงไหน ยิ่งปฏิบัติยิ่งมีความดับทุกข์ เราอย่าไปคิดว่า เราต้องมีภาระที่ต้องประพฤติปฏิบัติ เราคิดอย่างนั้นไม่ใช่ เพราะจะเอาจะมีจะเป็นมันถึงได้คิดอย่างนั้น เราไม่ได้เห็นว่าศีลเป็นของดี สมาธิเป็นของดี ปัญญาสัมมาทิฏฐิเป็นของดี เมื่อดีที่แท้จริงคือดีถูกต้อง ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิอย่างนี้ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี มีความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้อง ถึงไม่มีการตกนรกทั้งเป็น เรามีความเห็นไม่ถูกต้องมันถึงได้ตกนรกทั้งเป็นอย่างนี้ เราเป็นมนุษย์ก็ต้องพัฒนาความเห็นถูกต้องเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรมพระพุทธเจ้าไม่ให้เราหลงไม่ให้เราเซ่อบลอ ให้มีความสุขที่สุดในโลก เอาสังขารเอาร่างกายที่มีอายุขัยนี้แหละ ถ้าทำถูกต้องปฏิบัติถูกต้องมีความสุขในการทำงานมีความสุขในการปฏิบัติธรรม ไม่ผิดพลาดมาตั้งแต่เด็ก ระยะนี้มันน่าจะอยู่ได้ซัก 120 ปีได้ ทุกคนมันได้ผิดพลาดมาแล้วในอดีต ก็ช่างหัวมัน เอาปัจจุบันนี้แหละ มันหลงทางมาเท่าไหร่ ก็ช่างหัวมัน มันเวียนว่ายตายเกิดมาหลายแสนหลายล้านชาติ ก็ช่างหัวมัน เรามาเอาปัจจุบันอย่างนี้แหละ ปัจจุบันนี้ไม่สาย เป็นสิ่งที่พอดี ถ้าไม่หลง ไม่มีความแก่ความเจ็บความตาย มันก็ไม่เห็นภัยในวัฏสังสาร พระพุทธเจ้าถึงให้เห็นอริยสัจ ๔ เห็นภัยในการเวียนว่ายตายเกิด ความเอร็ดอร่อยของอวิชชาของความหลงมันเป็นสิ่งที่มีจริง สำหรับผู้มีอวิชชามีความหลง แต่มันมีความทุกข์สำหรับผู้มีสติปัญญา
ความคิดนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ความคิดนี้มันเป็นอาหารที่ทุกคนต้องบริโภคตลอด ๒๔ ชั่วโมง แม้แต่นอนหลับอยู่มันก็ยังฝัน สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ความคิดนี้คืออาหารที่เราต้องรู้จัก ถ้าเราไม่รู้จักความคิด ไม่รู้จักอารมณ์คือเราไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้จักควาดับทุกข์ ไม่รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
เรื่องจิตนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบรรยายได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง ธรรมชาติของจิตนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เข้าใจได้ยาก ด้วยจิตไม่มีรูปร่าง แต่ชอบท่องเที่ยวไปไกลใน ความคิด ดังพระพุทธพจน์ที่กล่าวถึงจิตไว้ว่า “ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คุหาสยํ เย จิตฺตํ สญฺญ เมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา” “จิตท่องเที่ยวไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีรูปร่าง อาศัยอยู่ในคูหาหรือร่างกายนี้ ใครควบคุมจิตนี้ได้ ย่อมพ้นจากบ่วงมาร”
จิต เป็นธรรมชาติรู้อารมณ์(อารมฺมณวิชานนลกฺขณํ) คือ ได้รับอารมณ์อยู่เสมอนั่นเอง จึงเรียกว่ารู้อารมณ์ หรือ เป็นธรรมชาติที่เป็นเหตุแห่งการรู้อารมณ์ของเจตสิกทั้งหลาย หรือ ธรรมชาติทำความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลายให้วิจิตร
จิตมีสภาพความเป็นไปโดยสามัญญลักษณะ คือ ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่จิตนี้มีคุณสมบัติพิเศษอันเป็นลักษณะเฉพาะตน เรียกว่า วิเสสลักษณะของจิต มี ๔ ประการจึง เรียกว่า ลักขณาทิจตุกะ ๔
๑. อารมฺมณวิชานนลกฺขณํ มีการรู้อารมณ์ เป็นลักษณะ
๒. ปุพฺพงฺคมนรสํ เป็นประธานในธรรมทั้งปวง เป็นกิจ
๓. สนฺธานปจฺจุปฏฺฐานํ มีการเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไม่ขาดสายเป็นผล เป็นอาการปรากฏ
๔. นามรูปปทฏฺฐานํ มีนามรูป เป็นเหตุใกล้
๑) อารมฺมณวิชานนลกฺขณํ มีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ หมายความว่า จิตมีการรับรู้ อารมณ์อยู่ตลอดเวลาทางทวารทั้ง ๖ ได้แก่การเห็นรูปทางตา เป็นต้น จึงเรียกว่า ธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ (ทางทวาร ๖)
๒) ปุพฺพงฺคมนรสํ เป็นประธานในธรรมทั้งปวงเป็นกิจ หมายความว่า ธรรมทั้งหลาย ล้วนมีจิตเป็นใหญ่ มีใจเป็นประธาน มีใจเป็นผู้ริเริ่มก่อน และสำเร็จด้วยใจทั้งสิ้น ถ้าบุคคลใดมีใจดี แล้ว จะพูด จะทำ จะคิด ย่อมดีตามไปด้วย ถ้าบุคคลใดมีใจชั่วแล้ว จะพูด จะทำ จะคิด ย่อมชั่ว ตามไปด้วย เช่นกัน และสภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมกับจิต ย่อมเป็นไปตามอำนาจของจิตด้วย นั่นเอง
๓) สนฺธานปจฺจุปปฏฺฐานํ มีการเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า สภาพของจิตนั้น ไม่มีการหยุดพัก แม้ในเวลาที่สัตว์ทั้งหลายหลับอยู่ จิตย่อมเกิดดับ ติดต่อกันไปโดยไม่ขาดสาย และเมื่อจุติคือ ตายจากภพชาติเก่าแล้ว ปฏิสนธิย่อมเกิดขึ้นในภพชาติ ใหม่ทันทีและเกิดขึ้นในภพใหม่แล้ว ย่อมมีการเกิดดับรับอารมณ์ต่างๆ ต่อไปเช่นเดียวกัน
๔) นามรูปปทฏฺฐานํ มีรูปนามเป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า การที่จิตจะเกิดสืบ ต่อกันไปในภพใหม่ได้นั้น ต้องมีปฏิสนธินามรูป คือ ปฏิสนธิจิตเจตสิกที่ประกอบและกัมมชรูปที่เกิด พร้อมด้วยปฏิสนธิจิตนั้น เกิดขึ้นมาก่อน แล้วจิตดวงอื่นๆ จึงจะเกิดสืบต่อกันในภพภูมินั้นต่อไปได้อีก
ความคิดนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ความคิดนี้มันเป็นอาหารที่ทุกคนต้องบริโภคตลอด ๒๔ ชั่วโมง แม้แต่นอนหลับอยู่มันก็ยังฝัน สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ความคิดนี้คืออาหารที่เราต้องรู้จัก ถ้าเราไม่รู้จักความคิด ไม่รู้จักอารมณ์คือเราไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้จักความดับทุกข์ ไม่รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เราก็จะพาไปมีเพศสัมพันธ์ ไปมี sex ทางอารมณ์ทางความคิด
ศีลทั้งหมดถึงอยู่ที่ความคิด สมาธิทั้งหมดถึงอยู่ที่ความคิด ปัญญาทั้งหมดถึงอยู่ที่ความคิด เราจะได้รู้จักความคิด รู้จักอารมณ์ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว เจ้าจะทำเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป
ตัณหาเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ เป็นสาเหตุแห่งทุกข์ เป็นต้นตอแห่งการเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบ เหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เมื่อเรายังไม่ประสบพบญาณวิเศษ เราได้ท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดมานับชาติไม่ถ้วน, เราแสวงหานายช่างปลูกเรือน คือตามใจเจ้าตัณหา ความทะยานอยาก อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์มานาน การเกิดมาทุกชาติมีแต่ความทุกข์, นี่แน่ะเจ้าตัณหานายช่างปลูกเรือน เรารู้จักเจ้าแล้ว เจ้าไม่มีทางจะปลูกบ้านเรือนให้เราได้อีกแล้ว, เพราะว่าโครงเรือนทั้งหมดของเจ้า เราได้หักทิ้งเสียแล้ว ยอดเรือนนั้นเราก็รื้อทิ้งเสียแล้ว ไม่มีอะไรๆ จะมาทำให้จิตของเราเกิดขึ้นได้อีกแล้ว ทั้งนี้เพราะว่า เราได้ทำลายตัณหาคือความทะยานอยาก ให้หมดสิ้นไปเสียแล้ว”
“นายช่างผู้สร้างเรือน” ในที่นี้หมายถึงตัณหา เพราะตัณหาความอยาก ๓ ประเภทนี้เองที่ทำให้คนต้องเวียนว่ายตายเกิดในชาติภพต่างๆ ไม่จบสิ้น เรียกว่าวงจรแห่งสังสารวัฏไม่มีทางสิ้นสุด ถ้าไม่บรรลุพระนิพพาน “ซี่โครงทุกซี่” หมายถึง กิเลสน้อยใหญ่อื่นๆ
ส่วน “เรือนยอด” หมายถึง อวิชชา พระพุทธองค์ทันทีที่ตรัสรู้ ก็ทรงเปล่งอุทานว่า บัดนี้ เราได้ทำลายกิเลสตัณหาพร้อมอวิชชาได้แล้ว ได้บรรลุพระนิพพานแล้ว
เราติดในความคิด ติดในอารมณ์ ติดในความรู้สึก มันเป็นสิ่งที่เสพติดไปแล้ว ผู้ที่เข้าสู่กระบวนการที่จะรักษาสิ่งที่เสพติดได้นี้ ต้องอาศัยศีล ต้องอาศัยสมาธิ อาศัยปัญญา ที่เป็นยานที่จะออกจากวัฏฏสงสาร พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเสมือนไม้ที่แช่น้ำเราจะเอามาสีไฟ มาก่อไฟ....เรื่องความคิดถึงเป็นเรื่องที่สำคัญ การปฏิบัติของเรามันถึงต้องเป็นอยู่ทุกแง่มุม เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘
ที่จริงศีลในพระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี้ มันก็คือใจที่มันยังไม่มีสัมมาทิฏฐิ ไม่มีความเห็นถูกต้อง ไม่มีความเข้าใจถูกต้อง มันถึงมีศีลมากมาย เพราะความคิดเพราะอารมณ์คุกรุ่นของเรามันมาก อย่างข้อที่ ๑ - ๕ ของประชาชนที่เป็นแม่ของศีล ก็คือข้อเดียวกัน เพียงแต่เอามาแยกแยะในแง่มุมต่างๆ เฉย มันเกิดจากความเห็นไม่ถูกต้อง ความเข้าใจไม่ถูกต้อง ที่เราหลงในตัวในตน เรียกว่าเราหลงในกาม มันก็อันเดียวกัน
โลกทุกวัน อยู่ในขั้น กลียุค ที่เบิกบุก เร็วรุด สู่จุดสลาย
จนสิ้นสุด มนุษยธรรม ด่ำอบาย เพราะเห็นกง-จักรร้าย เป็นดอกบัว
กิเลสไส-หัวส่ง ลงปลักกิเลส มีความแกว่น แสนพิเศษ มาสุมหัว
สามารถดูด ดึงกันไป ใจมืดมัว เห็นตนตัว ที่จมกาม ว่าความเจริญ
มองไม่เห็น ศีลธรรม ว่าจำเป็น สำหรับอยู่ สุขเย็น ควรสรรเสริญ
เกียรติ กาม กิน บิ่นบ้า ยิ่งกว่าเกิน แล้วหลงเพลิน ความบ้า ว่าศีลธรรมฯ
ทุกคนต้องคอนโทรลตัวเอง ให้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร เห็นภัยในการเวียนว่ายตายเกิด การที่จะเป็นพระอริยเจ้าได้ เราต้องเข้าสู่กระบวนการ เหมือนที่เขาติดเหล้าติดยาเสพติด เขาต้องถูกเข้าสู่กระบวนการ เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติโดยความตั้งใจ โดยเจตนา ไม่ตั้งอยู่ในความเพลิดเพลิน ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท เรื่องความคิดถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เราจะไม่ให้คิด จะไม่ให้ฟุ้งซ่านก็ต้องมีหลักอยู่ เช่น มีอานาปานะสติ เช่น หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย หายใจเข้ามีความสุข หายใจออกมีความสุข นี้เป็นยานพาหนะที่จะนำเราไป เราอยู่บนเครื่องบินเราจะไปโดดเครื่องบินมันก็เกิดอุบัติเหตุ เราจะโดดเรืออย่างนี้มันก็เกิดอุบัติเหตุในมหาสมุทร....
เราต้องยึดมั่นในธรรมะ การยึดมั่นอย่างนี้เขาเรียกว่าละความเห็นแก่ตัว เราจะได้อบรมบ่มอินทรีย์ ถ้างั้นมันจะเสียหายมาก ปล่อยให้ตัวเองคิด ให้ตัวเองทำร้ายเผ่าพันธุ์แห่งพระพุทธเจ้า เผ่าพันธุ์ของพระอรหันต์ เผ่าพันธุ์ของพระอริยเจ้า โดยการที่เราไปคิดอย่างนั้น ไปเอาตัวตนเป็นหลัก ตัวตนเป็นใหญ่อย่างนี้ไม่ได้ เราต้องเห็นโทษในการเวียนว่ายตายเกิด ถ้างั้นมันไม่จบหรอก เมื่อเราทำไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้ เราจะไปมองดูหน้าลูกเรายังไง มองหน้าหลานเรายังไง เพราะเราจะให้แต่ทางวัตถุให้แต่อวิชชาให้แต่ความหลง ตัวเรายังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จะไปช่วยเหลือลูกหลานได้อย่างไร อย่างผู้ที่มาบวชนี้ก็มีลูกมีหลาน ลูกคืออะไร ลูกก็คือลูกศิษย์ที่มาบวชตาม
พระพุทธเจ้าจึงทรงบอกให้เราตัดเรื่องอดีต ตัดเรื่องอนาคต เน้นไปที่ปัจจุบัน เอาธรรมเป็นการดำเนินชีวิต ด้วยฉันทะ ความพอใจ ด้วยความสุข เป็นแบบนี้แล้ว ทุกข์มันจะมาจากไหน เราจะได้ชื่อว่าสุคโต อยู่ก็ดี ไปก็ดี จะได้ชื่อว่าเป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าเรานักบวชหรือเป็นฆราวาส ถ้าเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้น เราก็เข้าถึงนิพพานพอๆ กัน ไม่มีใครเหนือกว่ากันหรอก ที่เหนือกว่าก็เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติ ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ทุกคนต้องพากันเห็น เทวทูตทั้ง ๔ คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก ความสงบ เขาเรียกว่าเทวทูต ทุกคนต้องมีความสุขใน ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพลาก ไม่ช้าก็เร็วเราก็ต้องเจอ เราต้องมีความสุข เราจะได้มีสัมมาทิฏฐิ เราจะได้เป็นคนไม่หลงงมงาย กลัวแก่ กลัวเจ็บ กลัวตาย มันถูกที่ไหนเล่า เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เราต้องทำเหมือนท่าน มีความสง่างามในเบื้องต้นคือศีล มีความสง่างามในท่ามกลางคือสมาธิ มีความสง่างามในที่สุดคือปัญญา ชีวิตจึงจะประเสริฐอย่างแท้จริง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee