แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๓๘ พระพุทธเจ้าองค์จริงไม่ได้อยู่ในโบสถ์ ไม่ได้อยู่ที่ประเทศไหนๆ แต่ท่านอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของเราทุกคน
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญพุทธบารมี 20 อสงไขยแสนมหากัป ใช้เวลานานหลายล้านชาติได้ตรัสรู้ ได้มาบอกมาสอนให้หมู่มวลมนุษย์ได้มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เป็นอริยมรรคคือหนทางอันประเสริฐในปัจจุบันในชีวิตประจำวัน เป็นศิลปะดำเนินชีวิตที่ประเสริฐความตั้งมั่นที่เที่ยงแท้แน่นอนต่ออริยมรรค เพื่อหยุดวัฏสงสารของตัวเองของเราทุกๆ คน มีความสุขความสะดวกความสบายก็ไม่หลงไป ด้วยสัมมาสมาธิที่มีสัมมาทิฏฐิที่มีความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องที่เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม พัฒนาบารมีความดีของหมู่มวลมนุษย์ทุกๆ ท่าน ด้วยภาวนาวิปัสสนาเอาพระไตรลักษณ์มาประพฤติมาปฏิบัติ เพื่อให้ทุกอย่างเป็นปัจจุบันเป็นปัจจุบันธรรม
ความหลงความอร่อยทำให้หมู่มนุษย์เพลิดเพลิน ตั้งอยู่ในความประมาท เปรียบเสมือนเสือที่ล่าเนื้อสัตว์ใหญ่แล้วกินไม่หมด เมื่อย่อยอาหารเสร็จก็กลับมากินเนื้อที่ยังไม่หมด เสือตัวนั้นก็ถูกกับดัก ด้วยหอกด้วยปืน หมู่มวลมนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลายหลงในเหยื่อความอร่อยของโลก ก็เป็นฉันนั้น ถ้าไม่อาศัยพระวินัยสิกขาบทน้อยใหญ่ ไม่อาศัยศีลข้อวัตรข้อปฏิบัติ เราก็ไม่มียานออกจากวัฏสงสารได้ ด้วยเหตุด้วยปัจจัยนี้ เราต้องเข้าสู่ยานได้แก่ศีลสมาธิปัญญาขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงมี ความเกิดความแก่ความเจ็บความตายนั้นย่อมมีสำหรับผู้หลงในเหยื่อ ทุกท่านจะหยุดมีเพศสัมพันธุ์ทางความคิดทางอารมณ์
พระศาสนาถึงเป็นระบบของศีลสมาธิปัญญา ทุกคนกว่าจะรู้ว่าตัวเองผิดพลาดก็ใช้เวลาตั้งหลายปี ทุกท่านทุกคนต้องเห็นความสำคัญของปัจจุบัน เข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ พากันปฏิบัติได้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักบวชหรือฆราวาส ทุกท่านทุกคนที่ไม่รวยทั้งวัตถุเพราะตัวของท่านเอง ที่ไม่รวยทางคุณธรรมเพราะตัวของท่านเอง ปัจจุบันน่ะ ถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่รีบด่วน ทุกท่านต้องปรับตัวเข้าหาธรรมะเข้าหาเวลา เอาธาตุเอาขันธ์เอาอายตนะเป็นการประพฤติปฏิบัติ ทุกคนจะได้มีความสุขที่สุดในโลก พัฒนาทั้งกายทั้งใจเพื่อให้เป็นสายกลาง เพื่อจะได้ไม่มีความทุกข์ทางกายทางจิตใจพัฒนาอย่างนี้ไปพร้อมๆ กัน ถ้าเราเอาความสุขทางวัตถุมันยังเป็นมิจฉาทิฏฐิเป็นความหลง ชีวิตของเรานั้นก็ยังเป็นสีดำสีเทาอยู่ พระพุทธเจ้าให้เราทำงาน 2 อย่างทั้งกายใจไปพร้อมๆ กัน ด้วยการไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่บุญแต่กุศล ทำจิตใจให้ผ่องใส ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท
นี่คือไฟท์ของการปฏิบัติของเราทุกคนในปัจจุบัน หมู่มวลมนุษย์จะได้ไม่เข้าถึงแต่แบรนด์เนมของความเป็นมนุษย์ จะได้เข้าถึงทั้งแบรนด์เนมทั้งภาคประพฤติปฏิบัติ ทหารตำรวจข้าราชการพ่อค้าประชาชนจะได้เข้าถึงทั้งทางภาคประพฤติปฏิบัติ มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติ ทุกคนอยู่ในการประพฤติทางกายอย่างเดียวทางวัตถุอย่างเดียวนั่นคือยา เป็นยาเสพติดอย่างเดียว เพราะเราไม่เสียสละ ศีลสมาธิปัญญาที่เป็นพรหมจรรย์ต้องเอามาใช้เอามาปฏิบัติ ผู้ที่ได้รับแบรนด์เนมแห่งร่างกายจะได้เป็นมนุษย์ที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นได้แต่เพียงคน ผู้เป็นข้าราชการทหารนักการเมืองประชาชนต้องเข้าสู่ธรรมะทุกคน ยกเว้นผู้มีระบบสมองผิดปกติหรือคนบ้า
ชีวิตของเราจะได้ถึงความดับทุกข์ยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะทุกคนไม่ใช่นิติบุคคลตัวตน แต่คือธรรมะ ธรรมะที่ทำให้หยุดการเวียนว่ายตายเกิด เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปถึงมี ทุกคนถ้าเอาธรรมะเป็นหลักเป็นการดำเนินชีวิต จะเป็นคนเก่งคนฉลาดพอๆ กันน่ะ อย่างพระอรหันต์ก็เก่งฉลาดพอๆ กัน ด้วยการหมดกิเลสสิ้นอาสวะเหมือนกันอย่างนี้เป็นต้น ทุกคนประพฤติปฏิบัติจะรู้แจ้งได้ด้วยตนเอง เพราะมันดับทุกข์ได้ในปัจจุบัน เหมือนบุคคลทานอาหารน่ะ ทุกคนนั้นก็รู้ได้ด้วยตนเอง ทุกคนต้องทำหน้าที่ของตนเองให้สมบูรณ์ ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในเมืองในชนบท ก็ปฏิบัติให้ดับทุกข์ด้วยตนเอง ทำหน้าที่ของตนเองให้สมบูรณ์ ทุกท่านทุกคนจะได้พากันเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา เป็นความมั่นคงของชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องไปหาความดับทุกข์ที่ไหน ให้มันอยู่ที่ตัวเรานี่แหละ พระพุทธเจ้าบอกว่าอย่าได้ตั้งอยู่ในความเพลิดเพลินความประมาท ต้องหยุดวัฏสงสารของตนเอง ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ ดูตัวอย่างแบบอย่างของพระอรหันต์ที่บรรลุด้วยศรัทธา ได้ฟังโอวาทของพระพุทธเจ้าเป็นหลักแล้ว เอาไปประพฤติปฏิบัติมันก็ง่าย คนเราจะเอาตัวตนเป็นหลัก มันไม่ได้ ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ให้ทุกคนท้าพิสูจน์ทั้งหลักเหตุผลและปฏิบัติ ถ้าไม่เอาตัวตนปฏิบัติเป็นที่ตั้ง ก็บรรลุได้ใน 7 วัน 7 เดือน 7 ปี
พระวักกลิเถระ อดีตชาติของพระวักกลิเถระ ได้ทำบุญเอาไว้แต่ปางก่อนแล้ว ตั้งแต่ในสมัยของ พระพุทธเจ้า องค์ที่พระนามว่า ปทุมุตตระ ในชาตินั้นได้เกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ ในพระนครหงสวดี มีอยู่คราวหนึ่งได้ฟังธรรมของพระปทุมุตตรพุทธเจ้า แล้วชอบใจ เกิดความยินดี ในการที่พระพุทธเจ้า ทรงแต่งตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ให้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในด้านการหลุดพ้น กิเลสด้วยศรัทธา โดยขวนขวายในการดูแลใกล้ชิดพระพุทธเจ้าเป็นอย่างดี
จากการพบเห็นคราวนั้น ก็เกิดแรงปรารถนาที่จะได้เป็นผู้เลิศยอดเช่นนั้นบ้าง จึงนิมนต์พระพุทธเจ้า กับพระสาวก ถวายอาหาร อันประณีตให้เสวยตลอด ๗ วัน ด้วยใจเต็มเปี่ยมด้วยปีติ แล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่พระมหามุนี ข้าพระองค์ปรารถนาได้เป็นเช่นภิกษุผู้สัทธาวิมุติ (หลุดพ้นกิเลสด้วยศรัทธา) ดังที่พระองค์ตรัส ชมเชยภิกษุรูปหนึ่งว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งปวงที่มีศรัทธาในพระศาสนานี้"
พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเขาแล้ว ตรัสขึ้นท่ามกลางพุทธบริษัทว่า "จงดูมาณพ (ชายหนุ่มในตระกูลพราหมณ์) ผู้นี้เถิด ในอนาคตกาลเขาจะได้ชื่อว่า วักกลิ เป็นพระสาวก ของพระศาสดา พระนามว่า โคดม เขาจะได้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านสัทธาวิมุติ" เขาได้ฟังคำตรัสนั้นแล้วมีปีติสุขยิ่งนัก กระทำบุญสร้างกุศลจนตลอดชีวิต เมื่อตายแล้ว ไปเกิดในภพชาติใด ก็มีแต่ความสุข ในที่ทุกสถาน
จนกระทั่งถึงชาติสุดท้าย จึงได้เกิดกับตระกูลพราหมณ์ในกรุงสาวัตถี นครหลวงของแคว้นโกศล บิดามารดาได้ตั้งชื่อให้ว่า วักกลิ (ผู้ขับไล่บาปโทษไปหมดแล้ว) ตั้งแต่วักกลิยังเป็นทารกน้อยนอนแบเบาะอยู่ มารดาถูกภัยจากปีศาจ (จิตตนหลอน) คุกคาม มีใจเกิดความหวาดกลัวว่า ลูกน้อย จะป่วยไข้เป็นอันตราย จึงนำเอาทารกวักกลิ ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า องค์สมณโคดม แล้ววางทารกน้อย ลงที่ใกล้พระบาท ของพระพุทธองค์ กราบทูลว่า "หม่อมฉันขอถวายทารกนี้แด่พระองค์ ขอพระองค์ทรงกรุณาเป็นที่พึ่งแก่เขาด้วยเถิด"
พระศาสดาผู้เป็นที่พึ่งของหมู่สัตว์ที่หวาดกลัวทั้งหลาย ทรงรับเอาทารกน้อยขึ้นมาจากพื้น ด้วยพระหัตถ์ ของพระองค์เอง ทารกน้อยเปรียบเสมือน ได้รับการดูแลรักษา โดยพระพุทธองค์ ทารกจึงเป็นผู้พ้นแล้ว จากความป่วยไข้ อยู่มาได้ ด้วยความสุขสำราญ และมีความรัก ความผูกพัน ต่อพระศาสดาเป็นอย่างมาก
อายุได้เพียง ๗ ขวบ จึงขอบวชเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา บวชแล้วก็เฝ้าติดตามพระศาสดา ด้วยศรัทธาตลอดมา คอยรับใช้ใกล้ชิด เพราะไม่อิ่มในความปรารถนา ที่ได้ดูพระสรีระอันงามประเสริฐของพระพุทธองค์ จิตของวักกลิภิกษุ ติดหลงในพระพุทธสรีระอยู่อย่างนี้
เมื่อพระศาสดาทรงทราบเหตุนั้นแล้ว ทรงดำริว่า "ภิกษุนี้หากไม่ได้ประสบความสลดสังเวชบ้าง ก็จะไม่อาจรู้แจ้งเห็นจริงได้" ดังนั้นจึงตรัสขับไล่ออกไป "วักกลิ เธอจงอยู่ให้ห่างเรา เธอจงหลีกไปเสีย"
พอถูกพระศาสดาขับไล่แล้ว วักกลิภิกษุไม่อาจจะอยู่ต่อพระพักตร์พระศาสดาได้ น้อยใจเสียใจอย่างรุนแรง คิดว่า "จะมีประโยชน์อะไร ที่จะมีชีวิตอยู่ห่างไกลโดยไม่ได้พบเห็นพระศาสดา"
จึงบุกป่าฝ่าดงด้วยความเศร้าโศก ป่ายปีนขึ้นสู่ปากเหวของภูเขาคิชฌกูฏ พยายามข่มอารมณ์ที่เศร้าหมอง เจริญวิปัสสนา (ฝึกอบรมปัญญา ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง) พระศาสดาทรงทราบความเป็นไปของวักกลิภิกษุ ทรงเล็งเห็นว่า "หากวักกลินี้ไม่ได้รับการคลายใจจากความเศร้าหมองแล้ว ก็จะทำให้ไร้มรรคผลนิพพานเป็นแน่"
พระศาสดาจึงเสด็จไปประทับยืนที่เชิงเขา ทรงปลอบโยนวักกลิภิกษุด้วยการตรัสเรียกหา "วักกลิจงมาเถิด วักกลิจงมาเถิด" เพียงได้ยินการตรัสเรียกหาเท่านั้น วักกลิภิกษุก็เกิดปีติและสุขใจยิ่งนัก รีบถลาวิ่งลงมาจากเงื้อมเขาสูง ถึงเชิงเขา ได้โดยสะดวก รวดเร็วทีเดียว แล้วพระศาสดาก็ทรงถามขึ้นว่า "ดูก่อนวักกลิ เมื่อเธออยู่ในป่าใหญ่ที่ไร้เส้นทางสัญจร เป็นที่เศร้าหมอง แล้วถูกโรคลมเข้าครอบงำ เธอจะทำอย่างไร"
"ข้าพระองค์จะทำปีติและความสุขอันไพบูลย์ ให้แผ่ไปสู่ร่างกาย จะครอบงำเหตุอันเศร้าหมอง นั้นเสีย จะเจริญสติปัฏฐาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ และโพชฌงค์ ๗ เพราะข้าพระองค์เคยได้เห็น ภิกษุทั้งหลาย ผู้ปรารภความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว มีความบากบั่น มั่นเป็นนิตย์ มีความพร้อมเพรียงกัน มีความเห็น ร่วมกันปฏิบัติอยู่
เมื่อข้าพระองค์ระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ซึ่งฝึกดีแล้ว มีพระหฤทัยตั้งมั่น ข้าพระองค์ จึงเป็นผู้ไม่เกียจคร้าน ตลอดทั้งวัน และคืน อยู่ในป่าใหญ่" "ดีล่ะ เธอจงตั้งใจปฏิบัติเถิด"
วักกลิภิกษุคลายใจได้แล้วว่า "พระศาสดามิได้รังเกียจเรา" จึงพากเพียรบำเพ็ญธรรมยิ่งขึ้นๆ จนกระทั่งเกิดการอาพาธ (เจ็บป่วย) หนัก ได้รับทุกขเวทนามาก ซึ่งขณะนั้น ได้มาพักอยู่ที่บ้าน ของนายช่างหม้อ คนหนึ่ง ครั้นอาการอาพาธรุนแรงสุดที่จะทนได้ วักกลิภิกษุ จึงเรียกเพื่อนภิกษุ ให้ช่วยไปทูลเชิญ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอนุเคราะห์เยี่ยม พระศาสดาทรงทราบแล้ว เสด็จมาเยี่ยมถึงที่อยู่ พอวักกลิภิกษุเห็นพระศาสดา ก็พยายามลุกขึ้นจากเตียง แต่พระศาสดารีบตรัสห้ามไว้ "อย่าเลยวักกลิ เธออย่าลุกขึ้นเลย" แล้วทรงถามถึงอาการอาพาธว่า "เธอยังพอทนได้หรือไม่ พอยังอัตภาพ (ร่างกาย) ให้เป็นไปได้หรือไม่ ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นนั้น ทุเลาลงหรือไม่"
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ไม่สามารถจะยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ทุกขเวทนาแรงกล้า มีแต่กำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย"
"ดูก่อนวักกลิ เธอมีความรำคาญ มีความเดือดร้อนหรือไม่"
"ข้าพระองค์มีความรำคาญไม่น้อย มีความเดือดร้อนอยู่ไม่น้อยเลย"
"ก็แล้วตัวเธอเองติเตียนตนเองได้ด้วยศีลหรือไม่"
"ไม่มีข้อใดเลย ที่ตัวข้าพระองค์เองจะติเตียนตนเองได้ด้วยศีล พระเจ้าข้า"
"ถ้าหากว่า ตัวเธอเองติเตียนตนเองด้วยศีลไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอยังจะมีความรำคาญ และ มีความเดือดร้อนอะไรอีกเล่า"
"พระเจ้าข้า จำเดิมแต่กาลนานมาแล้ว ข้าพระองค์ปรารถนาจะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ว่าร่างกาย ของข้าพระองค์ ไม่มีกำลังพอ จะไปเข้าเฝ้าได้"
"อย่าเลยวักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม (โย โข วกฺกลิ ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ โย มํ ปสฺสติ โส ธมฺมํ ปสฺสติ ฯ ธมฺมํ หิ วกฺกลิ ปสฺสนฺโต มํ ปสฺสติ มํ ปสฺสนฺโต ธมฺมํ ปสฺสติ ฯ) วักกลิเป็นความจริงแท้ บุคคลเห็นธรรมก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเราก็ย่อมเห็นธรรม ธมฺมํ หิ วกฺกลิ ปสฺสนฺโต มํ ปสฺสติ มํ ปสฺสนฺโต ธมฺมํ ปสฺสติ ฯ) เธอจงสำคัญความนี้ว่า รูป (เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ) เที่ยงหรือไม่เที่ยง" "ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า"
"สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุขเล่า" "เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า"
"สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา"
"ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า"
"เพราะเหตุนั้น อริยสาวกเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป (เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ) เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณ หยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ (การปฏิบัติมรรคองค์ ๘) อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี"
พระศาสดาตรัสสอนวักกลิภิกษุแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับ เสด็จไปทางภูเขา คิชฌกูฏ ส่วนวักกลิภิกษุ ก็เรียกเพื่อนภิกษุ ให้ช่วยกันอุ้มตนขึ้น ให้หามไปยังวิหารกาฬสิลา ซึ่งอยู่ข้างภูเขาอิสิคิลิ ด้วยคิดว่า "ภิกษุเช่นเรา ไม่สมควรที่จะต้องมาตายอยู่ในละแวกบ้านเช่นนี้" เช้าวันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเรียกภิกษุ ทั้งหลายมา แล้วรับสั่งว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงพากันไปหาวักกลิภิกษุถึงที่อยู่ แล้วจงบอกอย่างนี้ว่า เมื่อคืนมี เทวดาตนหนึ่ง ทูลกับพระศาสดาว่า วักกลิภิกษุกำลังคิด เพื่อความหลุดพ้น แต่มีเทวดาอีกตนหนึ่งทูลว่า วักกลิภิกษุนั้น หลุดพ้นดีแล้ว จะหลุดพ้นได้แน่แท้ ส่วนพระศาสดาเอง ได้ตรัสฝากให้ท่านว่า อย่ากลัวเลยวักกลิ เธอจะมีความตายอันไม่ต่ำช้า จะมีความตาย อันไม่เลวทรามเลย"
ภิกษุเหล่านั้นรับพระดำรัสแล้ว ก็พากันไปหาวักกลิภิกษุถึงที่อยู่ เพื่อบอกเล่าคำของพระศาสดา วักกลิภิกษุ ให้เพื่อนๆ ช่วยกันอุ้มตน ลงจากเตียง เพราะคิดด้วยศรัทธายิ่งว่า "ภิกษุเช่นเรา จะนั่งอยู่บนที่นั่งสูง แล้วฟังคำสั่งสอนของพระศาสดานั้น ไม่สมควรเลย"
วักกลิภิกษุ ได้ฟังแล้ว ก็บอกกับเหล่าภิกษุนั้นว่า "พวกท่านช่วยกันไปทูลพระศาสดา ตามคำพูดของผมด้วยว่า วักกลิภิกษุอาพาธเป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา กล้าเหลือเกิน ขอถวายบังคมลา เบื้องพระยุคลบาท ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยเศียรเกล้า ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า รูป (เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ) ไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ตาม ความกำหนัดก็ตาม ความรักใคร่ก็ตามในสิ่งนั้นๆ มิได้มีแก่ข้าพระองค์แล้ว"
ภิกษุเหล่านั้นรับคำของพระวักกลิเถระ เมื่อภิกษุเหล่านั้นออกจากที่นั้นแล้ว พระวักกลิเถระ ก็นำเอาศัสตรา (อาวุธมีคม) มาปาดคอตัวเอง
เมื่อภิกษุเหล่านั้นกลับมากราบทูลตามคำของพระวักกลิเถระแล้ว พระศาสดารีบรับสั่งว่า "ไปกันเถิด พวกเราพากันไปหาวักกลิ"
พอไปถึงวิหารกาฬสิลา พระศาสดาได้ทอดพระเนตรเห็น พระวักกลิเถระ นอนคอพับ อยู่บนเตียงนั้นเอง ที่ตรงนั้น มองเห็น มีกลุ่มควันลอยอยู่ ลอยไปทิศนั้นทิศนี้สับสนทั่ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอมองเห็นกลุ่มควันเหล่านั้น ลอยอยู่อย่างสับสนวุ่นวายหรือไม่"
"เห็น พระเจ้าข้า" "นั่นแหละคือ มารใจหยาบช้า เที่ยวค้นหาวิญญาณของวักกลิ ด้วยคิดว่า วิญญาณของวักกลินั้น อยู่ที่แห่งไหนหนอ แต่ที่แท้ วิญญาณของวักกลินั้น ไม่ได้ตั้งอยู่ในที่ใด เพราะวักกลิเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพาน (ดับวิญญาณ) แล้ว"
ดังนั้น ทรงประกาศท่ามกลางหมู่สงฆ์ ทรงแต่งตั้งให้พระวักกลิเถระ เป็นผู้เลิศกว่า ภิกษุทั้งหลาย ที่หลุดพ้นกิเลสได้ด้วยศรัทธา
สังฆาฏิสูตร : เมื่อเห็นธรรมย่อมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ภิกษุจับที่ชายสังฆาฏิแล้ว พึงเป็นผู้ติดตามไปข้างหลังๆ เดินไปตามรอยเท้าของเราอยู่ไซร้ แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้มีอภิชฌาเป็นปรกติ มีความกำหนัดแรงกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจชั่วร้าย มีสติหลงลืม ไม่รู้สึกตัว มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด ไม่สำรวมอินทรีย์ โดยที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ห่างไกลเราทีเดียว และเราก็อยู่ห่างไกลภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นย่อมไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรมย่อมชื่อว่าไม่เห็นเรา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ภิกษุนั้นพึงอยู่ในที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์ไซร้ แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่มีอภิชฌา ไม่มีความกำหนัดอันแรงกล้าในกามทั้งหลาย ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความดำริแห่งใจชั่วร้าย มีสติมั่น รู้สึกตัว มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว สำรวมอินทรีย์ โดยที่แท้ ภิกษุนั้นอยู่ใกล้ชิดเราทีเดียว และเราก็อยู่ใกล้ชิดภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นย่อมเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรมย่อมชื่อว่าเห็นเรา”
ภิกษุนั้น เมื่อไม่บำเพ็ญปฏิปทาที่เราตถาคตกล่าวแล้วให้บริบูรณ์ ก็ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ไกลเราตถาคตทีเดียว เราตถาคตก็ชื่อว่าอยู่ไกลเธอเหมือนกัน. ด้วยคำนี้พระองค์ทรงแสดงว่า การเห็นพระตถาคตเจ้าด้วยมังสจักษุก็ดี การอยู่รวมกันทางรูปกายก็ดี ไม่ใช่เหตุ (ของการอยู่ใกล้) แต่การเห็นด้วยญาณจักษุเท่านั้น และการรวมกันด้วยกายธรรมต่างหาก เป็นประมาณ (ในเรื่องนี้) ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าภิกษุนั้นไม่เห็นธรรมเมื่อไม่เห็นธรรม ก็ไม่เห็นเราตถาคต
ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ว่า “พระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ในโบสถ์ ไม่ได้อยู่ที่อินเดีย ไม่ได้อยู่ที่เมืองอื่น ลังกา พม่าไม่มี ท่านอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณเองทุกคน ทุกคนเอาความโง่ออกเสีย ไม่มีม่านแล้ว โอ้พระพุทธเจ้านั่งอยู่ตรงนี้นี่ เข้าไปในโบสถ์ก็พบแต่พระพุทธรูปซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า แม้แต่พระธาตุมันก็เป็นกากเศษที่เหลืออยู่แห่งอัตตภาพของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่องค์พระพุทธเจ้า องค์พระพุทธเจ้าคือความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาท
อย่างที่ท่านตรัสว่าเห็นปฏิจจสมุปบาทคือเห็นธรรม เห็นธรรมคือเห็นตถาคตนะฉะนั้นจงเห็นปฏิจจสมุปบาท ท่านจะเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง ที่ประทับนั่งอยู่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณ พอเห็นปฏิจจสมุปบาท ม่านแห่งความโง่ ม่านแห่งอวิชชามันสลายไป มันสลายไป ไม่มีอะไรบังพระพุทธเจ้า นี่จึงพูดให้จำง่ายและค่อนข้างจะหยาบคายหน่อยนะว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่หลังม่านแห่งความโง่ของคุณทุกคนเลย พอเอาม่านนี้ออกเสียได้ มันก็เป็นพระอรหันต์หมด มีพระพุทธเจ้า เห็นพระพุทธเจ้า กระทั่งว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์น้อยๆ เสียเอง” คำกล่าวของท่านพุทธทาสช่วยให้เราเข้าใจความสำคัญของหลักธรรมนี้ได้ชัดเจนมาก
คนเราจะบวชหรือไม่บวชก็ไม่สำคัญ แต่มันสำคัญที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ต้องมีความสุขในการหายใจ มีความสุขในการทำงาน มีความสุขในการขยัน ปิดอบายมุขของตัวเอง
ขอให้ทุกคนมีความรู้สึกว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่มีอะไรเป็นตัวตนอย่างแท้จริง ไม่น่าหลงด้วยกำลังใจทั้งหมดทั้งสิ้น ควรยับยั้งด้วยปัญญาเรียกว่าเป็นผู้รู้ด้วยปัญญามีความเห็นถูกต้อง ตามคำสอนแห่งพระพุทธศาสนา จึงสมควรจะเรียกว่า เป็นพุทธบริษัทโดยแท้จริง
แม้จะไม่เคยบวชไม่เคยรับศีล แต่ก็เป็นบุคคลที่เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแท้จริง เขามีจิตใจอย่างเดียวกับ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือมีความสะอาด สว่าง สงบในใจ เพราะเหตุที่ไม่ยึดถือในสิ่งใด ว่าน่าเอา หรือน่าเป็นนั่นเอง เขาจึงเป็นพุทธบริษัทขึ้นมาได้โดยสมบูรณ์ อย่างง่ายดายและอย่างแท้จริง ด้วยอาศัยอุบายถูกต้อง ที่พิจารณามองเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์และความไม่ใช่ตัวตน ของตัวของตน จนเกิดความรู้สึกว่าไม่มีอะไรที่ น่าเอา น่าเป็นสักอย่างเดียว การรู้ว่าอะไรเป็นอะไรถึงที่สุดนั้น คือรู้ว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนของตน เมื่อรู้โดยแท้จริงแล้ว ก็จะเกิดความรู้ชนิดที่จิตใจจะไม่อยากเป็นอะไรด้วยความยึดถือ แต่ถ้าต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใดๆ ที่เรียกว่า “ความมีความเป็น” บ้างก็เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยสติสัมปชัญญะ ด้วยอำนาจของปัญญา ไม่เกี่ยวข้องด้วยอำนาจของตัณหา เพราะฉะนั้น จึงไม่มีความทุกข์เลย
พระพุทธศาสนาเป็นวิทยาการที่สอนเน้นหนักไปในเรื่องของทุกข์ ชี้ให้เห็นทุกข์ทั้งหลายตลอดจนทุกข์ที่ละเอียด ที่ชาวโลกทั้งหลายมองเข้าไปไม่ถึง และสอนให้เห็นหนทางเดินที่จะพ้นไปจากทุกข์ไม่ต้องแก้ปัญหาให้แก่ชีวิตอีกต่อไป (ทุกข์ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่ใช่เพราะไม่มีจะกิน ไม่มีเงินจะใช้ หรือเจ็บป่วย ไม่สบายเท่านั้น) นั่นก็คือ ตัวการสำคัญที่สุดที่เป็นต้นเหตุทำให้คนโง่ คนหลง ทำให้ทุกข์เกิดขึ้นมาและสอนให้รู้จักทำลายต้นเหตุเหล่านั้นด้วย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเน้นในเรื่องสำคัญที่สุดของชีวิต พร้อมทั้งนี้แนะแนวทางเอาไว้ให้ด้วยว่าจะแก้ปัญหา คือ ทำลายโมหะหรืออวิชชา ณ ที่ตรงนี้ (ในขณะที่เห็น ได้ยิน) ได้อย่างไร เพราะที่ตรงรู้สึก “เห็น, ได้ยิน” นี่เอง ที่เป็นตัวการทำให้สัตว์ทั้งหลายได้รับความทุกข์โศกโรคภัย แล้วแก้ปัญหาของทุกข์กันไม่หวาดไหว ด้วยมันเป็นตัวการทำให้การเวียนว่ายตายเกิดอุบัติขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำอีกจนนับชาติที่เกิดไม่ได้
ผู้มีปัญญาพิจารณาปัญหาของชีวิตจากพระพุทธศาสนามาด้วยดี ก็จะกำหนดพิจารณา คือ โยนิโสมนสิการอารมณ์ตามทวารต่าง ๆ ให้บ่อยๆ จนชำนาญเป็นวสี เพราะเป็นการสร้างมหากุศลญาณสัมปยุต คือ มหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญาบารมี ซึ่งเป็นกุศลที่มีกำลังมากที่สุด ให้ติดตัวไปทุกชาติๆ จนกว่าจะถึงซึ่งความพ้นทุกข์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้หยิบใบไม้ในป่าขึ้นมากำมือหนึ่งต่อหน้าภิกษุจำนวนมากแล้วถามว่า ใบไม้ในป่าหรือใบไม้ในมือที่มีจำนวนมาก พระภิกษุทั้งหลายทูลว่าใบไม้ในป่ามีจำนวนมาก ใบไม้ในมือมีจำนวนน้อย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า จะแสดงธรรมเป็นส่วนน้อยเฉพาะใบไม้ในมือเท่านั้น นั่นก็คือ ปัญหาเรื่องชีวิตและความพ้นทุกข์ และได้แสดงมาตลอดเวลา ๔๕ พรรษา
พระองค์มุ่งหมายที่จะแสดงเรื่องของทุกข์และหนทางพ้นทุกข์เป็นหลักสำคัญจึงแสดงแต่ใบไม้ในมือ ไม่ใช่ใบไม้ในป่า แต่ถึงกระนั้น ผู้ศึกษาก็ได้พบกับความน่าอัศจรรย์ใจในความตรัสรู้ของพระองค์ แม้จะเป็นแต่เพียงใบไม้ในมือซึ่งเป็นส่วนน้อย ถึงกระนั้นผู้ที่จะเข้าถึงแก่นแท้ และกว้างขวางลึกซึ้งจริงๆ ก็จะต้องใช้เวลามากมายอาจตลอดชีวิตก็ได้
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee