แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๓๖ ปฏิบัติพัฒนาจิตใจให้เหมือนเรือนที่มุงดีแล้ว ฝนคือราคะย่อมรั่วรดไม่ได้
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราทุกคนที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ถือว่าเป็นผู้ที่ประเสริฐ ได้ทรัพยากรที่ประเสริฐหรือสัปปายะ ได้พบพระพุทธศาสนา ทุกท่านทุกคนต้องพากันเข้าใจ เราอย่าไปทำตามใจตัวเองตามอารมณ์ตัวเองตามความรู้สึกนึกคิดที่มันยึดมั่นถือมั่น เพราะพื้นฐานของเราเป็นผู้ที่เวียนว่ายตายเกิด พระพุทธเจ้าถึงตรัสสอน มนุษย์เราต้องพัฒนาเรื่องการเรียนการศึกษาทางหลักเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อจะได้ดำรงชีพ เพราะคนเรามีร่างกายที่ประเสริฐที่อายุไม่เกิน ๑๒๐ ปีก็ต้องจากโลกนี้ไป ก็มีการเรียนการศึกษา เพราะการเรียนการศึกษาความเข้าใจนี้ ทำให้เราเจริญด้วยโภคทรัพย์ รู้วิธีทำมาหากิน ส่วนทางจิตใจนั้นมนุษย์เราก็ต้องมีความเห็นถูกต้องปฏิบัติถูกต้อง เอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก เพราะอย่าง ปัณฑิตานัญจะ เสวนา การพบผู้ที่รู้ตามเป็นจริงถือเป็นสิ่งที่ประเสริฐ เพราะเราเกิดมาเราพบคนในโลกนี้ 7,000 กว่าล้าน เกือบ 8,000 ล้านคน ส่วนใหญ่ก็ถือว่ายังไม่ใช่ผู้รู้ที่แท้จริง ถือว่ารู้บางส่วน เราถึงต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้งอย่างนี้ ผู้ที่มีความเลื่อมใสพระพุทธเจ้า ผู้ที่เลื่อมใสร้อยเปอร์เซ็นต์นี้ได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้าถึงได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เยอะ เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงค้นคว้ามาดีแล้วปฏิบัติดีแล้ว พวกเราไม่ต้องไปคิดอะไร มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติผู้ที่บรรลุเป็นพระอริยเจ้าด้วยศรัทธาถึงมีมาก เพราะถือนิสัยของพระพุทธเจ้า หยุดถือนิสัยของตัวเองอย่างนี้ พวกเราต้องเข้าใจถึงแม้เราจะมีพ่อมีแม่มีเพื่อนมีฝูงอะไรต่างๆ นั้น ก็ยังถือว่ายังไม่ใช่ผู้รู้ที่แท้จริง ยังเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง เราถึงเข้าสู่พระรัตนตรัย เอาธรรมะเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่ ทุกคนทำได้ปฏิบัติได้ ต้องเข้าหาภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ปรับตัวเข้าหาธรรมะเข้าหาเวลา เข้าหาธรรมะยังไม่พอต้องเข้าสู่เวลา มีความสุขประพฤติการปฏิบัติ พอเรามีความสุขในการปฏิบัติแล้วมันจะไม่มีความทุกข์หรอก พอเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง มันมีความทุกข์
เราต้องประพฤติต้องปฏิบัติ เพราะเราทุกคนจะทำตัวเองเสียหายเราทำตามพระพุทธเจ้า เราจะเป็นมนุษย์รวยมีอยู่มีกินมีใช้เหลือใช้ และเข้าสู่ความเป็นเทวดาตั้งแต่ยังไม่ตายก็เป็นเทวดาแล้ว พระพุทธเจ้าถึงให้เรามีสติมีปัญญาไม่หลง ทุกอย่างนั้นมันมีความสุขอยู่สองอย่างนะ สุขทางกายและสุขทางใจ เราอย่าไปติดแต่ความสุขทางร่างกาย เราทุกคนก็เห็นเทวทูตอยู่แล้ว เกิดมาก็เห็นคนแก่คนเจ็บคนตายในชีวิตประจำวัน เราทุกคนต้องน้อมมาแก้ไขตัวเอง เพราะตัวเองอย่างนี้แหละให้ทำหน้าที่ของตัวเองแต่ละคน ต้องเริ่มต้นในชีวิตประจำวัน มีความสุขในการทำงาน งานคือความสุข ความสุขคือการเอาศีลเอาธรรมเป็นหลัก เอาคุณธรรมเป็นหลัก ความสุขอยู่ที่การเรียนหนังสือ ความสุขอยู่ที่มีศีลมีสมาธิมีปัญญา เห็นสมาธิปัญญาเป็นยาน ยานเหมือนเครื่องบินที่นำเราออกจากวัฏสังสาร ที่ทะยานออกจากอบายมุขอบายภูมิ ต้องทำต้องปฏิบัติ
ทุกคนต้องทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ติดต่อต่อเนื่อง คนส่วนใหญ่ก็จะติดก็จะหลง เอาตัวตนเป็นหลัก ไม่ได้ ทานข้าวก็ยังแก่อยู่ พักผ่อนก็แก่อยู่ มันผ่านไปทุกขณะจิต ทุกลมหายใจอย่างนี้แหละ พากันประพฤติพากันปฏิบัติ ความเป็นมนุษย์ของเราจะได้สมบูรณ์ เป็นพ่อเป็นแม่เป็นข้าราชการนักการเมืองเป็นนักบวชจะได้สมบูรณ์ ทุกคนจะได้เขาสู่ธรรมะ มีสติมีสัมปชัญญะด้วยพระพุทธเจ้าบอกเราให้ทำอย่างนี้ ทุกศาสนาก็คืออันเดียวกันคือธรรมะ ธรรมะคือศาสนา ทุกคนทำได้ปฏิบัติได้ทุกหนทุกแห่ง พระธรรมะมันเป็นชีวิตประจำวัน เป็นอริยมรรคทั้งทางเดินและส่วนจิตใจ ที่แยกออกมาน้อยใหญ่ เป็นกิริยาเป็นมารยาท ให้เราพากันเข้าใจอย่างนี้ ต้องมีความสุขกัน เราจะได้มีความสุขทั้งกายใจ เราตามอวิชชาตามความหลง เรียกว่ามีเพศสัมพันธุ์กับอวิชชามีเพศสัมพันธุ์กับความคิดทางอารมณ์ อย่างนี้ไม่ได้ มันคือความหลง หลงคือผิด เราทุกคนต้องปฏิบัติต่อเนื่องกันต้องหลายอาทิตย์ พระพุทธเจ้าบอกว่าอย่างเร็วก็ ๗ วัน อย่างกลางก็ ๗ เดือน อย่างมากก็ ๗ ปี ต้องมีความสุขกัน
เราพัฒนาทั้งเทคโนโลยี พัฒนาบ้าน พัฒนารถ พัฒนาของที่ใช้ให้มีความสุขพัฒนาคอมพิวเตอร์ ทุกอย่างเราต้องพัฒนาเพื่อเราจะได้สะดวกสบายในการดำรงชีพ เราก็อย่าไปติดอย่าไปหลง ใจต้องเข้มแข็งมีสัมมาทิฏฐิจนถึงสัมมาสมาธิ ละก็ปล่อยวางอย่างนี้ พากันมีความสุขกัน ทุกคนจะตามเพื่อนตามฝูงตามสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ได้ ต้องตามธรรม ประชาธิปไตยก็ต้องปรับตามธรรมะ ประเพณีนิยมหรือสังคมนิยมก็ต้องปรับเข้าหาธรรมะ เพราะว่าทุกอย่างมันเป็นธรรมะ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี ให้ทุกท่านทุกคนมีศรัทธามีความสุขในการปฏิบัติ อย่างเราพากันมาบวชต้องปรับตัวเข้าหาธรรมะเข้าหาเวลา เราอย่าตามใจตามอารมณ์ของเราเป็นเด็ดขาด เราจะไม่ได้เป็นคนเจ้าอารมณ์ เราจะได้ธรรมเป็นคุณธรรม ทุกอย่างเราต้องซักฟอกเข้าสู่พระไตรลักษณ์ เพราะทุกอย่างไม่แน่ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน นั้นคืออวิชชาคือความหลง พระพุทธเจ้าเป็นลูกหลานของพราหมณ์มาแต่ก่อน พราหมณ์ไปได้ถึงความสงบ ต้องพัฒนาไปให้ไกลกว่านั้น
การจะชำระจิตให้ผ่องแผ้ว ก็คือการล้างกิเลสออกจากจิตนั่นเอง สังคมในสมัยพุทธกาลนิยมการอาบน้ำชำระบาบตามคติความเชื่อเดิมของพราหมณ์ แต่พระพุทธเจ้าก็แสดง การล้างบาปเหมือนกันแต่มีหลักการและวิธีการการชำระล้าง ตามความเหนียวแน่นของกิเลส ๓ ระดับ ดังนี้
น้ำแรก : ล้างวีติกกมกิเลสด้วยศีล กิเลสอย่างหยาบที่ละเมิดออกมาทางกาย วาจา คือแสดงพฤติกรรมทุจริตออกมาทางกาย และทางวาจา ทำให้ล่วงละเมิดศีล กิเลสชนิดนี้ได้แก่ (๑) อภิชฌา คือ ความเพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น ความต้องการที่มากจนคุมไม่อยู่ จนต้องประพฤติทุจริต ด้วยการลักขโมย (๒) พยาบาท คือ ความปองร้าย เป็นความขุ่นแค้นอาฆาตมากจนคุมใจไม่อยู่ จนดุด่า ทำร้าย หรือเข่นฆ่าคนอื่น (๓) มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด บุญไม่มี บาปไม่มี ชาติหน้าไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี เป็นต้น จึงเสพสุขด้วยการร่ำสุรา คลึงเคล้านารี วีติกกมกิเลสเป็นกิเลสอย่างหยาบ ชำระล้างให้เบาบางลงได้ด้วยอำนาจของศีล เช่น ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ เป็นต้น แต่สงบได้เพียงครั้งคราว เฉพาะขณะที่ยังมีการรักษาศีลอยู่เท่านั้น การประหาณกิเลสในลักษณะนี้ เรียกว่า ตทังคปหาน
น้ำ ๒ : ล้างปริยุฏฐานกิเลสด้วยสมาธิ กิเลสที่กลุ้มรุมอยู่ในจิตใจ ยังไม่ล่วงละเมิดออกมาเป็นวีติกกมกิเลส เมื่อปริยุฏฐานกิเลสเกิดขึ้น จิตก็จะเป็นอกุศลขุ่นมัวและฟุ้งซ่าน กิเลสประเภทนี้ก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ นิวรณ์ ๕ และอุปกิเลสต่างๆ แต่ยังไม่แสดงพฤติกรรมออกมาทางกาย วาจา ยังไม่ล่วงละเมิดศีล ปริยุฏฐานกิเลสเป็นกิเลสอย่างกลาง ที่เกิดอยู่ภายในใจ สามารถข่มไว้ได้ด้วยอำนาจของสมาธิ เป็นเวลานานตราบเท่าที่สมาธิยังมีกำลัง การประหาณในลักษณะนี้ เรียกว่า วิกขัมภนปหาน
น้ำ ๓ : ล้างอนุสัยกิเลสด้วยปัญญา สตฺตสนฺตาเน อนุเสนฺติ อนุปวตฺตนฺตีติ อนุสยา กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานของสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าอนุสัย เป็นกิเลสอย่างละเอียดที่สะสมอยู่ในภวังคจิต หรือจิตไร้สำนึกของคนเรา ถ้ายังไม่มีอารมณ์ภายนอกมากระทบแล้ว กิเลสชนิดนี้จะยังนอนสงบอยู่ ไม่แสดงอาการมาให้เห็น จะแสดงตัวก็ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัยมากระตุ้น อุปมาเหมือนตะกอนที่นอนอยู่ก้นแก้วน้ำ ดูใสสะอาด ถ้าไม่สังเกตให้ดี จะมองไม่เห็นตะกอนที่สะสมอยู่เบื้องล่าง เปรียบได้กับอนุสัยกิเลส
อนุสัยกิเลส แบ่งรายละเอียดออกได้ เป็น ๗ ประการ คือ (๑) กามราคานุสัย กิเลสปรุงแต่งจิตให้เกิดความกำหนัด พอใจในวัตถุกามทั้งหลาย คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ (๒) ปฏิฆานุสัย ความหงุดหงิดไม่พอใจ เมื่อกระทบกระทั่งทางใจ อันอาศัยรูปเป็นต้น (๓) ทิฏฐานุสัย ความเห็นผิดว่าอารมณ์ที่มากระทบเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เมื่อได้รับอารมณ์อันเป็นฝ่ายเดียวกับตน ก็จะเพิ่มความเข้มข้นให้แก่ทิฏฐิที่เป็นอนุสัยภายในจิต ให้มีความเห็นผิดมากยิ่งขึ้น (๔) วิจิกิจฉานุสัย ความลังเลสงสัยตัดสินใจอะไรไม่ได้ว่าเป็นอย่างไร ความสงสัยนั้นอาจสรุปลงในความสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย ไตรสิกขา กาลทั้ง ๓ คือ อดีต อนาคต และกฎแห่งปฏิจจสมุปบาท (๕) มานานุสัย ความถือตัว ถือชาติ ตระกูล ทรัพย์ ตำแหน่งงาน ยศ ฐานะในสังคมเป็นต้น มาแสดงตนว่า สูงกว่าเขา เสมอเขา หรือเลวกว่าเขา เรียกว่า อติมานะ (ดูหมิ่นท่าน) อวมานะ (ดูหมิ่นตน) เป็นต้น (๖) ภวราคานุสัย อนุสัยคือการกำหนัดติดในภพ ได้แก่การพอใจในภาวะที่เป็นอยู่ ติดใจในความสุขที่ได้จากการอุบัติในฐานะความเป็น ชนชั้นต่างๆ (๗) อวิชชานุสัย ความไม่รู้แจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน อันได้แก่ โมหะ
กิเลสชนิดนี้นอกจากพระอรหันต์แล้ว ย่อมมีในสันดานของสัตว์ทุกชีวิต ตั้งแต่ปฏิสนธิ (เกิด) จนถึงจุติ (ตาย) กิเลสอย่างละเอียดนี้สามารถขจัดและทำลายให้สิ้นซากได้ด้วยมรรคญาณ ที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนาภาวนาเพียงเท่านั้น กิเลสประเภทนี้ นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของสัตว์ทั้งหลาย เป็นกิเลสละเอียดที่สะสมอยู่ในจิตของปุถุชนทุกคน ถ้ายังไม่มีอารมณ์ภายนอกมากระทบ กิเลสชนิดนี้จะยังนอนสงบอยู่ไม่แสดงอาการออกมา จะแสดงตัวก็ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัยมากระตุ้น อุปมาเหมือนตะกอนที่นอนอยู่ก้นแก้วน้ำ ถ้าไม่สังเกตให้ดี จะมองไม่เห็นตะกอนที่สะสมอยู่เบื้องล่าง กิเลสชนิดนี้นอกจากพระอรหันต์แล้วย่อมมีนอนเนื่องอยู่ในสันดานของสัตว์ทั้งหลาย ตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงจุติ (เกิดจนถึงตาย) อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสอย่างละเอียด ที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน ต้องประหาณด้วยวิปัสสนาปัญญาในมรรคจิตทั้ง ๔ เท่านั้น จึงจะไม่กลับมีขึ้นอีก การประหาณในลักษณะนี้เรียกว่า สมุจเฉทปหาน
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
“ยถา อคารํ ทุจฺฉนฺนํ วุฏฐิ สมติวิชฺฌติ เอวํ อภาวิตํ จิตฺตํ ราโค สมติวิชฺฌติ
ยถา อคารํ สุจฺฉนฺนํ วุฏฺฐิ น สมติวิชฺฌติ เอวํ สุภาวิตํ จิตฺตํ ราโค น สมติวิชฺฌติ
เหมือนอย่างว่า เรือนที่มุงไม่ดี ฝนย่อมรั่วรดได้ฉันใด จิตที่ยังมิได้อบรมให้ดี ก็ฉันนั้น ราคะย่อมเสียดแทงได้ ส่วนเรือนที่มุงดี ฝนย่อมรั่วรดไม่ได้ฉันใด จิตที่อบรมดีแล้วก็ฉันนั้น ราคะย่อมเสียดแทงไม่ได้”
ราคะ ตามตัวอักษร แปลว่า "ย้อม" มาจากรากศัพท์ว่า "รช" หมายความว่า ย้อมจิตให้แปรรูปไป เสียปกติภาพของจิต ทำให้เห็นวิปริตวิปลาสว่างาม แม้ในสิ่งอันไม่งาม เหมือนสัตว์เลี้ยงที่เจ้าของสวมแว่นเขียวให้ ทำให้มองเห็นหญ้าแห้ง ฟางแห้งเป็นเขียวสดไปหมด สิ่งที่ไม่งาม คือกายนี้ เพราะเต็มไปด้วยของไม่สะอาด ในภาษาไทย นิยมแปลราคะว่า "ความกำหนัด" กล่าวคือ ความใคร่ในรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ
ราคะ หรือความกำหนัดในกาม มีอิทธิพลต่อชีวิตคนมาก นักจิตวิทยาบางท่าน เช่น ซิกซ์มันด์ ฟรอยด์ ได้มีความเห็นถึงกับว่า พฤติกรรมทั้งปวงของมนุษย์ มีความกำหนัดในกามเป็นแรงกระตุ้น คนทั่วไปก็มองเห็นว่า ราคะมีแรงผลักดันรุนแรงเพียงใด เป็นสิ่งเสียดแทงจิตใจให้รุ่มร้อน และกลัดกลุ้มเพียงใด คนส่วนมากไม่สามารถเอาชนะได้ จึงต้องระหกระเหินและบอบช้ำด้วยความทุกข์นานาประการ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า สังกัปปราคะ คือความกำหนัด เพราะ การดำริถึง เป็นกามของบุคคล (สงฺกปฺปราโค ปุริสสฺส กาโม) กามเกิดจากความดำริตริตรึก (สงฺกปฺปา กาม ชายสิ ดูก่อนเจ้ากาม เจ้าเกิดจากความดำรินี่เอง)
ราคะ หรือกาม หรือกามราคะนั้น มีอิทธิพลเหนือจิตใจของคนเป็นอันมาก และขนบธรรมเนียมของโลก แต่บางคนควบคุมไม่ได้ในบางกาละ เทศะ ได้ประกอบกรรมอันน่าบัดสี เพราะกามราคะนั้น ต้องติดคุกบ้าง เสียทรัพย์สินบ้าง เสียชื่อเสียงบ้าง มันได้ทำให้คนเสียคนมามากแล้ว ตกนรกก็มากแล้ว
อย่างไรก็ตาม ราคะ จะทำพิษ ทำภัย หรือมีอำนาจครอบงำ ก็เฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้อบรมจิตด้วยดี ส่วนผู้ที่อบรมจิตดีแล้ว ราคะย่อมไม่สามารถเสียดแทงได้ เหมือนคนอยู่ในเรือนที่มุงบังดี ฝนตกเท่าไรก็ไม่เปียก ส่วนคนที่อบรมจิตไม่ดีหรือไม่ได้รับอบรมมา เมื่อประจวบกับอารมณ์อันน่าใคร่ครั้งใด ราคะก็เสียดแทงใจครั้งนั้น เหมือนเรือนที่มุงบังไม่ดี ฝนตกทีไร คนอาศัยก็เปียกทีนั้น การอบรมจิตจึงเป็นทางลดราคะให้น้อยลง จนสิ้นไปในที่สุด
ในอังคุตตรนิกาย ทุกนิบาตพระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ หน้า ๗๗ ท่านกล่าวว่า เจริญสมถะเพื่ออะไร? ตอบว่า เพื่ออบรมจิต ถามว่า อบรมจิตเพื่ออะไร? ตอบว่า เพื่อให้ละราคะได้ จึงได้ความว่า วิธีอบรมจิตก็คืออบรมด้วยสมถะ ได้แก่ การทำจิตให้สงบเป็นขั้นๆ ท่านเรียกว่าฌาน ตั้งแต่ฌานที่หนึ่ง (ปฐมฌาน) จนถึงฌานที่ ๘ เป็นภาวะที่จิตสงบประณีตขึ้นไปตามลำดับ เมื่อได้ฌานตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้นไป กามฉันทะคือความพอใจในกาม ก็สงบราบคาบลงชั่วคราว ท่านเปรียบเหมือนศิลาทับหญ้า แต่กามราคะจะถูกถอนรากถอนเชื้อก็โดยอนาคามิมรรค อันเป็นมรรคชั้นที่ ๓
เรื่องพระนันทะ พระนันทะมีความเกี่ยวข้องเป็นพระญาติของพระพุทธเจ้า เมื่อนันทกุมารเข้าพิธีมงคลสมรสกับนางชนบทกัลยาณีนั้น ได้ทูลเชิญพระพุทธเจ้าเสด็จมาเสวยในงานด้วย เมื่อเสวยเสร็จแล้วจะเสด็จกลับนิโครธาราม พระศาสดาทรงประทานบาตรไว้ในพระหัตถ์ของนันทกุมาร และไม่ทรงรับคืนนันทกุมารต้องถือตามเสด็จจนกระทั่งถึงพระอาราม ในระหว่างที่กำลังตามเสด็จนั้น เพื่อนของเจ้าสาวได้บอกเจ้าสาวว่า พระศาสดาสิทธัตถะ ได้พานันทกุมารไปเสียแล้ว นางได้ยินคำนั้นเสียใจนัก วิ่งออกมาขอร้องนันทกุมารว่า ขอให้รีบกลับ ท่านกล่าวว่า คำขอร้องของนางได้เป็นประหนึ่งตกลงไปขวางอยู่ในหทัยของนันทกุมาร กุมารนันทะ เกรงพระทัยพระศาสดา แม้ไม่สมัครใจอุ้มบาตรตามเสด็จ แต่ก็ไม่กล้าทูลขอให้รับคืน จึงต้องอุ้มตามไปเรื่อยๆ เมื่อถึงนิโครธาราม พระศาสดาตรัสถามว่า บวชได้หรือไม่? แม้พระทัยจะไม่สมัคร แต่ไม่กล้าทูลปฏิเสธ จึงทูลรับว่า "บวชก็ได้"
พระศาสดาจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลาย จัดการบวชให้นันทกุมาร แต่เมื่อบวชแล้วก็ไม่เป็นอันบำเพ็ญสมณธรรม สมณกิจอะไร เพราะใจของท่านมัวพะวงถึงแต่เจ้าสาวชนบทกัลยาณี เพราะคำพูดและกิริยาอาการของนางเป็นประหนึ่งตกไปขวางอยู่ในหทัยดังกล่าวมาแล้ว อนึ่งคู่แต่งงานย่อมหวังความสุขในการครองคู่ หวังการชื่นชมซึ่งกันและกัน เมื่อถูกพราก ทั้งๆ ที่ยังมิได้ชื่นชมเช่นนี้ ย่อมมีความสะเทือนใจมาก แต่พระศาสดาทรงหวังประโยชน์อันกว้างไกลลึกซึ้งแก่พระนันทะ จึงทรงยอมกระทำ
ตำนานกล่าวว่า พระนันทะบวช เมื่อพระศาสดามาถึงกบิลพัสดุ์ได้ ๓ วัน พอวันที่ ๗ นับแต่วันพระศาสดาเสด็จถึง พระมารดาของพระราหุล คือพระนางยโสธราก็ทรงตกแต่งราหุลกุมาร แล้วส่งไปขอสมบัติอันเป็นมรดกที่พระกุมารจะพึงได้ ในขณะที่พระผู้มีพระภาคเสด็จมาเสวยในพระราชวัง พระกุมารเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วมองดูพระศาสดาอยู่ ได้ความเสน่หาในพระบิดา (เป็นไปตามสัญชาตญาณ) ร่าเริงยินดีอยู่แล้วทูลพระศาสดาว่า "ข้าแต่พระสมณะ ร่มเงาของเสด็จพ่อสบายเหลือเกิน" และทูลคำอื่นๆ อีกมากตามประสาเด็ก พระศาสดาไม่ตรัสอะไร เสร็จภัตตกิจแล้ว ทรงอนุโมทนาแล้วเสด็จลุกจากอาสนะ เสด็จกลับ
ราหุลกุมาร ตามเสด็จมาข้างหลัง ทูลขอสมบัติว่า "ข้าแต่พระสมณะ ขอได้โปรดประทานมรดกแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด" พระศาสดามิได้ตรัสอะไร และไม่ได้ตรัสให้พระกุมารกลับ คนอื่นๆ ก็ไม่กล้าเชิญพระกุมารให้เสด็จกลับเหมือนกัน ราหุลกุมารจึงตามเสด็จจนถึงนิโครธาราม พระศาสดารับสั่งให้พระสารีบุตรบวชราหุลกุมารเป็นสามเณร ทั้งนี้เพราะทรงต้องการให้ อริยสมบัติ แทนโภคสมบัติ พระเจ้าสุทโธทนะ พุทธบิดา ทรงสดับข่าวเรื่องพระราหุลบวช ทรงโทมนัสอย่างยิ่ง เพราะทรงหวังให้พระราหุลครองราชย์ต่อจากพระองค์ เมื่อไม่สามารถกลั้นความโศก และความทุกข์นั้นได้ จึงเสด็จไปเฝ้าพระศาสดา ทูลขอพรว่า "พระเจ้าข้า หม่อมฉันขอประทานพระวโรกาส พระองค์และพระภิกษุสาวกของพระองค์ ไม่ควรให้บุคคลที่มารดาบิดายังไม่อนุญาต บวช" พระศาสดาทรงใคร่ครวญแล้ว ทรงประทานพรนั้นแด่พระเจ้าสุทโธทนะ และทรงประกาศให้สงฆ์ทราบว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป กุลบุตรผู้จะบวชจะต้องได้รับอนุญาตจากมารดาบิดา หรือผู้เกี่ยวข้องก่อนจึงให้บวชได้
วันรุ่งขึ้น พระศาสดาเสวยพระกระยาหารเช้าที่พระราชนิเวศน์เสร็จแล้วพระเจ้าสุทโธทนะทูลเล่าว่า "พระองค์ผู้เจริญ! เมื่อพระองค์บำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่นั้น มีผู้มาบอกข้าพระองค์ว่า พระองค์ทิวงคตเสียแล้ว แต่หม่อมฉันไม่เชื่อ หม่อมฉันคัดค้านว่า บุตรของหม่อมฉันจะไม่ทิวงคต หากยังมิได้บรรลุโพธิญาณ"
พระศาสดาตรัสว่า "แม้ในชาติก่อน พระองค์ก็ไม่ทรงเชื่อมาแล้วเหมือนกัน คือในสมัยที่อาตมภาพเป็นธรรมปาลกุมาร ไปศึกษาศิลปศาสตร์ที่เมืองตักกศิลา อาจารย์ทิศาปาโมกข์ใคร่ทดลอง จึงนำกระดูกแพะ ห่อผ้ามาให้พระองค์ดูว่า บุตรตายเสียแล้ว นี่คือกระดูก แต่พระองค์กลับทรงพระสรวล ไม่ทรงเชื่อ และบอกอาจารย์ทิศาปาโมกข์ว่า ตระกูลของเราประพฤติธรรม ไม่มีใครตายตั้งแต่ยังหนุ่มสาว อาจารย์ทิศาปาโมกข์จึงยอมบอกความจริง ธรรมปาลกุมารครั้งนั้นคืออาตมภาพ บิดาของธรรมปาล คือพระองค์"
พระศาสดาตรัสธรรมปาลชาดกโดยพิสดาร แล้วยังพระธรรมเทศนาให้วิจิตรด้วยคุณาลังการทั้งปวง เพราะทรงเป็นธรรมราชา และทรงประกอบด้วยคุณสมบัติ คือ เทศนาโกศล เมื่อจบเทศนา พระเจ้าสุทโธทนะได้บรรลุอนาคามิผล
หลังจากพระนันทะบวชที่กรุงกบิลพัสดุ์ พระศาสดาเสด็จกลับไปยังกรุงราชคฤห์ ทรงสำราญพระอิริยาบถอยู่ระยะหนึ่ง แล้วรับอาราธนาของอนาถปิณทิกเศรษฐีเสด็จไปยังกรุงสาวัตถี ประทับอยู่ ณ เชตวนาราม ในการเสด็จครั้งนี้ พระนันทะตามเสด็จด้วย ขณะเมื่ออยู่เชตวนารามนั่นเอง พระนันทะกระสันอยากสึก จึงบอกแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ท่านไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถสืบพรหมจรรย์ต่อไปได้ จักขอคืนสิกขาลาสึก
พระศาสดาทรงทราบเรื่องแล้วนี้ รับสั่งให้พระนันทะเข้าเฝ้า ตรัสถามเรื่องนั้น พระนันทะทูลรับว่าจริง ตรัสถามว่า เพราะเหตุไรจึงอยากสึก พระนันทะทูลว่า "ข้าแต่พระองค์! เมื่อข้าพระองค์ออกจากเรือนบวชนั้น นางชนบทกัลยาณี คู่แต่งงานของข้าพระองค์ มีอาการโศกอย่างลึกซึ้ง ได้ขอร้องว่า ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอจงรีบกลับนะ ข้าพระองค์หวนระลึกถึงคำนั้นอยู่ คำนั้นประหนึ่งลงไปขวางอยู่ในหทัยของข้าพระองค์ฯ จึงไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ใคร่สึก พระเจ้าข้า"
ตำนานเล่าว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงสดับคำนั้นแล้ว ทรงจับแขนพระนันทะนำไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วยกำลังฤทธิ์ ในระหว่างทางได้พบนางลิงลุ่นตัวหนึ่งนั่งเจ่าอยู่บนปลายตอไม้ที่ไฟไหม้ นางลิงนั้น หู จมูก และหางขาด พระศาสดาทรงให้พระนันทะพบกับนางเทพอัปสร ๕๐๐ ผู้มาสู่ที่บำรุงของท้าวสักกะเทวราช "นันทะ เธอเห็นอย่างไร นางชนบทกัลยาณี กับนางเทพอัปสรเหล่านี้ใครสวยกว่า" "เทียบกันไม่ได้เลย พระเจ้าข้า" พระนันทะตอบ "นางเทพอัปสรสวยกว่ามาก ถ้าจะเทียบแล้ว นางชนบทกัลยาณีเป็นเสมือนนางลิงลุ่นที่พบในระหว่าง อา! เทพอัปสรเหล่านี้สวยจริงๆ พระเจ้าข้า"
"เธออยากได้ไหม-นันทะ?" พระพุทธองค์ทรงถาม
"ข้าพระองค์ ต้องการ พระเจ้าข้า" พระนันทะตอบ
"ถ้าอย่างนั้น เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ จงยินดีบำเพ็ญสมณธรรม เราจะเป็นประกันให้เธอได้ นางเทพอัปสรเหล่านี้"
"ข้าแต่พระองค์! หากพระองค์ทรงเป็นประกัน ข้าพระองค์ก็จะยินดีประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป เพื่อให้ได้นางเทพอัปสรเหล่านี้"
พูดถึงพุทธวิสัยนั้นเป็นไปได้มากมายอย่างที่สามัญชนคาดไม่ถึง หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงจับแขนพระนันทะ นำไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยกำลังฤทธิ์ เพื่อให้ได้เห็นนางเทพอัปสร เป็นกุศโลบายให้ตั้งใจบำเพ็ญเพียรไม่คิดสึก
เมื่อภิกษุทั้งหลายทราบว่าพระนันทะประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อให้ได้นางเทพอัปสรก็พากันพูดต่อๆ กันไป ใครพบท่านก็ถาม บ้างก็ยิ้มเยาะ และมีกิริยาอาการอันส่อให้เห็นว่ามิได้นิยมชมชอบในพระนันทะแต่ประการใด บ้างก็ว่า พระนันทะเป็นพระรับจ้าง บ้างก็ว่า พระนันทะเป็นผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงเป็นประกันไว้ พระนันทะประพฤติพรหมจรรย์เพียงเพื่อให้ได้นางเทพอัปสร หาใช่เพื่อความหลุดพ้นอันแท้จริงไม่ ด้วยประการฉะนี้ พระนันทะ จึงละอายอยู่ ขวยเขินอยู่ รังเกียจอยู่ซึ่งคำพูดทำนองนั้นของภิกษุทั้งหลาย จึงปลีกตนออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มิได้อาลัยในชีวิต ไม่นานนัก พระนันทะก็สามารถบรรลุอรหัตตผล
ในคืนที่พระนันทะบรรลุอรหัตตผลนั่นเอง เทวดาองค์หนึ่งมายังวัดเชตวัน กราบทูลความที่พระนันทะได้บรรลุอรหัตตผลแล้วแด่พระศาสดา แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงรู้ความนั้นด้วยญาณของพระองค์แล้วเหมือนกัน รุ่งอรุณพระนันทะเข้าเฝ้าพระศาสดา ทูลว่า "ข้าแต่พระองค์! ข้อที่พระองค์ทรงเป็นประกันข้าพระองค์เพื่อให้ได้นางอัปสร ๕๐๐ นั้น บัดนี้พระองค์ได้หลุดพ้นจากภาวะผู้ประกันนั้นแล้ว"
พระศาสดาตรัสว่า "นันทะเรารู้แล้ว และเมื่อคืนนี้เทวดาองค์หนึ่งก็มาบอกเราว่า เธอได้หลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวงแล้ว นันทะ เมื่อจิตของเธอพ้นแล้วเพราะความไม่ยึดมั่น เราก็พ้นจากภาวะผู้รับรอง" พระศาสดาทรงอุทานด้วยความชื่นชมยินดีว่า "เปือกตมคือกาม หนามคือกาม อันผู้ใดย่ำยีได้แล้ว ข้ามได้แล้ว ผู้นั้นถึงความสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวในสุขและทุกข์"
วันหนึ่ง ภิกษุถามพระนันทะว่ายังอยากสึกอยู่หรือไม่? พระนันทะตอบว่า ความอาลัยในเพศคฤหัสถ์มิได้มีอีกแล้ว
ภิกษุทั้งหลายเข้าใจว่าพระนันทะพูดไม่จริง อวดอ้างอรหัตตผล จึงพากันไปทูลพระศาสดา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "จริงของนันทะเมื่อก่อนนี้ จิตของนันทะเหมือนเรือนที่มุงไม่ดี ฝนคือราคะรั่วรดได้ แต่บัดนี้ จิตของนันทะเหมือนเรือนที่มุงดีแล้ว นันทะบรรลุอรหัตตผลแล้ว" ดังนี้แล้วตรัสพระพุทธภาษิตที่ยกขึ้นกล่าวแล้วแต่เบื้องต้นว่า "เหมือนอย่างว่า เรือนที่มุงไม่ดี ฝนย่อมรั่วรดได้ฉันใด" เป็นต้น
เราต้องให้เข้าถึงมรรคผลนิพพาน เราจะเอาตัวเอาตนไม่ได้ เพราะสมาธิยังเป็นตัวเป็นตนอยู่ มันแก้ได้ ทุกคนแก้ได้ เพราะมันถูกต้อง เราทำไปปฏิบัติไป มันก็ย่อมมีความสุข ที่เราไม่มีความสุข เพราะเราเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง มันจะไปมีความสุขได้อย่างไร เพราะเราแก่เราก็เจ็บเราก็ตาย เพราะร่างกายนี้มันก็อยู่ได้ด้วยข้าวด้วยน้ำการพักผ่อน เพราะอันนี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แม้แต่การอยากจะรวย อันนี้ก็ตัวตนน่ะ ไม่อยากแก่ไม่อยากเจ็บไม่อยากตาย อย่างนี้มันก็ตัวตน พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีความเห็นถูกต้องมีความเข้าใจถูกต้อง สติคือความสงบ สัมปชัญญะคือธรรมะไม่ใช่นิติบุคคลตัวตน ทุกคนทำได้ปฏิบัติได้เพราะว่ามันเป็นเรื่องทางกายของเรา เป็นเรื่องทางใจของเรา จะไปตามตัวเองไม่ได้ ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติปฏิบัติ ความรู้ทั้งหลายทั้งปวง ความเข้าใจทั้งหลายทั้งปวง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราต้องลองรู้จักว่า เราเอาตัวผู้รู้นี้มาประพฤติปฏิบัติ เพราะธรรมะไม่ได้เพิ่มไม่ได้ตัด เป็นแต่สติคือตัวผู้รู้เป็นสัมปชัญญะตัวปัญญาเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม เราปฏิบัติไปมันจะอบรมบ่มอินทรีย์ไปเรื่อยๆ อย่างนี้ มันเติบใหญ่ขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เหมือนต้นไม้ที่เราปลูกเมล็ดน้อยๆ ให้น้ำให้ปุ๋ยดูแลสม่ำเสมอ มันก็เจริญเติบโตขึ้น เหมือนกรรมเวรชีวิตประจำวัน ไม่ว่าการดำเนินชีวิต กว่าจะรู้ตัวเองก็หลายปีว่า ตัวเองเป็นคนจน กว่าจะรู้ว่าตัวเองเป็นคนรวยทางวัตถุ ทางเรื่องความคิดก็เหมือนกันใช้เวลาหลายปี พระพุทธเจ้าถึงให้กระชับในเวลาปัจจุบัน ปัจจุบันนี้เราต้องปรับตัวเข้าหาธรรมะเข้าหาเวลา เป็นไฟท์เป็นไฟท์ติ้งเป็นความสุขความโชคดีของมนุษย์ ทุกท่านทุกคนต้องพากันเข้าใจอย่างนี้ อย่าถือแบรนด์เนมที่เราประเสริฐเกิดมาเป็นมนุษย์ เพื่อเรามาหลงใหลมาอย่างนี้ เราต้องถือนิสัยของพระพุทธเจ้า ถือนิสัยใครไม่ได้แล้ว
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee