แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มนุษย์ที่สมบูรณ์ ตอนที่ ๓๔ ใช้สติ ปัญญา สัมปชัญญะ และสมาธิ ทั้ง ๔ ประการ เพื่อจัดการแก้ไขชีวิตให้เป็นปัจจุบัน
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราทุกคนนะต้องมีความเห็นถูกต้องความเข้าใจถูกต้องปฏิบัติถูกต้องปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้มาเพื่อที่จะเอามาบอกมาสอนหมู่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ให้มีความสุขในการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ถ้าเราทำตามใจตัวเองทำตามอารมณ์ตัวเองมันมีปัญหาแน่ มีทุกข์แน่ ให้ปรับตัวเข้าหาธรรมะเข้าหาเวลา ไม่ทำบาปทั้งปวงทั้งทางกายทั้งทางใจ มีความสุขมีความสะดวกความสบายก็ไม่หลง เห็นภายใน วัฏสงสาร มีสติมีความสงบมีสัมปชัญญะเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง ก้าวไปในชีวิตประจำวัน เอาความสุขเอาความดับทุกข์ในการทำงาน พร้อมกับการปฏิบัติธรรมไปพร้อมๆ กัน เราอย่าไปคิดว่าเราเรียนหนังสือเพราะด้วยความจำเป็น ให้ลูกให้หลานเรา พ่อแม่ผู้ปกครองให้ลูกให้หลานเรียนหนังสือเพราะจำเป็น ไปทำงานเพราะจำเป็น เพราะถือว่าการเรียนก็คือการปฏิบัติธรรม การทำงานคือปฏิบัติธรรม เราพยายามอยู่กับสติพยายามอยู่กับสัมปชัญญะ เรามีเทคโนโลยีเราก็เอามาใช้มาทำประโยชน์เพื่อให้มันรวดเร็วว่องไว เพื่อความสะดวกสบาย ถ้าเรามีความสุขในการเรียนมีความสุขในการทำงาน มันก็ได้ทั้งด้านจิตใจและก็ได้ทั้งงานไปพร้อมๆ กัน ทุกๆ ท่านทุกๆ คน ก็ต้องพากันประพฤติปฏิบัติสิ่งต่างๆ ถ้าเราไปติดไปหลงมันก็กลายเป็นสิ่งเสพติด มันจะกลายเป็นอาหารเสพติดเป็นยาเสพติด รูปเสียงกินรสลาภยศสรรเสริญจนสิ่งที่เสพติดต้องพากันเสียสละละทุกอย่างให้มันเป็นเลขศูนย์ เหมือนกับพระอรหันต์ท่าน ถึงแม้เรายังไม่ถึงพระอรหันต์ก็เราก็ต้องพากันเน้นที่ปัจจุบัน จะไปพากันขี้เกียจขี้คร้าน ถ้าเรายังไม่ปรับเข้าหาธรรมะเข้าหาเวลา ย่อมเป็นคนขี้เกียจเป็นคนขี้คร้านโดยไม่ตั้งใจ
ใจของเราในปัจจุบันเป็นสิ่งมีสมาธิเป็นปัญญา เป็นขณิกะสมาธิ จิตใจของเราในทุกอิริยาบถ ใจของเราเสียสละทุกอย่าง จะได้เป็นฌาน เป็นอุปจารสมาธิ ทุกคนทำได้ปฏิบัติได้ เอาการทำงานในครอบครัวหรือในโรงงานที่ส่วนราชการหรือว่าการเมือง เป็นการปฏิบัติธรรม เพราะว่าความสงบมันต้องอยู่กับงานอยู่กับหน้าที่การงาน เพื่อที่เราจะได้เอาสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาในปัจจุบัน เราจะได้พัฒนาตัวเองปฏิบัติตัวเอง
หมู่มวลมนุษย์ถึงต้องพัฒนาอย่างนี้ เขาเรียกว่าความรู้ของพุทธะ หลอมลงเป็นจุดเดียวทุกๆ ศาสนา เราอย่าไปคิดว่าอย่างนี้ผิด อย่างนี้ถูก เราต้องพากันมาแก้ตัวเอง ปฏิบัติตนเอง ถ้าไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มีสติสัมปชัญญะ ก็ไม่มีสมณะที่ ๑-๔ มันมีอยู่กับเราทุกๆ คนในปัจจุบัน ถ้างั้นหมู่มวลมนุษย์ไปกันไม่ได้ ทุกชีวิตของเราก็จะสงบเย็นเป็นพระนิพพาน ความเป็นพระก็จะเกิดกับผู้ที่ตามอริยมรรคมีองค์ ๘
ธรรมมะ ๔ เกลอ คือ สติ-สัมปชัญญะ-สมาธิ-ปัญญา
ท่านพุทธทาสพูดถึงธรรมมะ ๔ เกลอว่า “สติไปเอาปัญญามา เป็นสัมปชัญญะควบคุมเหตุการณ์อยู่ แล้วก็เพิ่มสมาธิลงไป เรื่องเลวร้ายนั้นก็จะแก้ได้” ขยายความว่า ไม่ว่าความเห็นแก่ตัวม้นจะสร้างปัญหาใดๆ ขึ้นมากี่อย่าง กี่ประการ กี่ชนิด ธรรมมะ 4 เกลอจะใช้แก้ปัญหาได้ กล่าวคือ มีสติเพียงพอ มีปัญญาเพียงพอ ให้สติขนออกมาเผชิญหน้าเหตุการณ์ เอามาทำให้เป็นสัมปชัญญะที่คมกล้าต่อสู้เหตุการณ์ ถ้ากำลังไม่พอ ก็เพิ่มสมาธิลงไป สัมปชัญญะก็ทำหน้าที่ได้ถึงที่สุด ปัญหาต่างๆ ก็จะหมดไป
ท่านพุทธทาสพูดคำว่า ๔ เกลอ (คำว่า “ เกลอ “ แปลว่าเพื่อน)
เพื่อนคนที่ ๑ มีชื่อว่า “สติ” เพื่อนคนที่ ๒ มีชื่อว่า “ปัญญา”
เพื่อนคนที่ ๓ มีชื่อว่า “สัมปชัญญะ” เพื่อนคนที่ ๔ มีชื่อว่า “สมาธิ”
ดังนั้น ธรรมมะ ๔ เกลอ จึงประกอบด้วย สติ สัมปชัญญะ สมาธิ และปัญญา
เมื่อคราวจะทำหน้าที่จริง ก็ต้องเรียงลำดับว่า มีสติไปขนเอาปัญญามา ทำเป็นสัมปชัญญะรบกันกับสิ่งเลวร้ายนั้น แล้วเพิ่มสมาธิลงไปจนชนะ
มารู้จักเพื่อนคนที่ ๑ มีชื่อว่า “สติ”
“สติ” คือ ระลึกรู้กาย โดยมีเวทนา (ทางใจ) เกิดขึ้น
“เวทนา” คือ ความรู้สึกต่างๆ จิตจะเปลี่ยนไปตามสภาวะ สุข ทุกข์ และ เฉยๆ
สติ อุปมาเปรียบเสมือนเรดาร์ หรือตัวชี้วัด วัดกิเลสเข้ามาทางไหน (อายตนะภายในทั้งหก ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ)
ที่จะบอกว่า “กิเลสมาแล้ว กิเลสมาแล้ว”
พูดง่ายว่า “สติ” จะเป็นตัวเตือน นั่นเอง
เมื่อ “ สติ” ไม่มีกำลัง จึงต้องทำเหตุปัจจัยให้มีสติบ่อยๆ
ดังนั้น เราจึงควรต้องฝึก “สติ” ให้ได้ก่อน ตั้งหลักให้ได้ มีอะไรเกิดขึ้น หายใจลึกๆ หายใจยาวๆ ตั้งสติก่อนคิด ไม่ใช่คิดก่อนทำ ตั้งสติก่อนคิดแล้วค่อยทำ ทำไมต้องมาดูลม เพราะเวลาที่อยู่ฐานลม เราก็จะเห็นความคิด ถ้าอยู่ที่ชานชลา ก็จะเห็นรถไฟแห่งความคิด แต่ถ้าไปอยู่บนรถไฟแห่งความคิด เราก็จะไม่เห็นรถไฟ แต่จะเห็นข้างทาง นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมต้องฝึกสติที่ฐานกายก่อน
การฝึกสติมีเทคนิคมากมายแล้วแต่ครูบาอาจารย์ท่านใดจะสอนโดยวิธีไหน เช่น พุทโธ สัมมาอรหัง ยุบหนอ พองหนอ ดูลมหายใจ (อานาปานสติ) ฯลฯ เป็นต้น
มารู้จักเพื่อนคนที่ ๒ มีชื่อว่า “ปัญญา” “ปัญญา” แปลว่า รู้ทั่ว รู้รอบ
“ปัญญา” คือ ความรู้อันถูกต้องแท้จริงขอบธรรมมะ หรือของธรรมชาติ (คือรู้ในเรื่องอริยสัจ และไตรลักษณ์ นั่นเอง)
“ปัญญา” เปรียบเสมือนกับ “ความคม”
พอเรามีสติแล้ว ตัวที่ ๒ สิ่งที่จะต้องฝึกไปพร้อมๆ กัน คือ “ปัญญา” ซึ่งปัญญาเป็นเพื่อนที่ดี มีปัญญาต้องคบบัณฑิต อ่านหนังสือธรรมะ เข้าวัด ฟังธรรม ฯลฯ “ปัญญา” เปรียบเสมือน “อาวุธ” นั่นเอง
ปัญญาเมื่อเก็บไว้ในคลัง เราเรียกว่า “ปัญญา” แต่ปัญญาที่เผชิญหน้ากับเหตุการณ์ เราจะเรียกว่า “สัมปชัญญะ”
คนที่รู้มากเป็นพหูสูต รู้มากเกินไป พอตั้งสติได้ “อาวุธ” พร้อม แต่เราต้องตัวที่ ๓ คือ “สัมปชัญญะ”
มารู้จักเพื่อนคนที่ ๓ มีชื่อว่า “สัมปชัญญะ”
“สัมปชัญญะ” แปลว่า การรู้ทั่วพร้อม (อยู่ในส่วนของปัญญา)
“สัมปชัญญะ” คือ รู้ตัว ทั่วพร้อม ดึงปัญญาที่ใช่มาใช้ในยามจำเป็น ท่านพุทธทาส อุปมา “สัมปชัญญะ” เหมือนการเลือกว่าจะใช้อาวุธชนิดใดให้เหมาะกับสถานการณ์ ถ้าเรามีสติ มีปัญญา คือมีเรดาร์จับข้าศึก มีอาวุธครบครัน แต่ดันเลือกอาวุธไม่เป็น เรียกว่า “ไม่มีสัมปชัญญะ”
บางคนอ่านหนังสือมาก แต่ไม่เคยฝึก ไม่เคยออกสนาม ไม่เคยไปสร้างประสบการณ์ จะไปสำเร็จได้อย่างไรกัน เพราะเลือกไม่เป็น มีความรู้ท่วมหัว แต่ดันเอาตัวไม่รอด
แต่ถ้าเครื่องบินมีตัววัด วัดกิเลสเข้าทางไหน เรดาร์คือ สติ มีปัญญาคือติดอาวุธ มีสัมปชัญญะ ก็คือมีกัปตันที่เก่ง เลือกยิงอาวุธที่เหมาะสม แต่ต้องมีน้ำมัน เครื่องบินถึงจะบินได้ ก็ต้องมีพลังงาน พลังงานที่ว่าคือ “สมาธิ”
มารู้จักเพื่อนคนสุดท้าย (คนที่ ๔) คือ “สมาธิ” “สมาธิ” แปลว่า ทรงไว้ด้วยดี ทรงไว้อย่างสม่ำเสมอ “ สมาธิ” คือ ภาวะที่จิตตั้งมั่น สงบ และจิตนิ่ง หรือ การจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้มั่นคง
“สมาธิ” เปรียบเสมือนกับน้ำหนัก หรือกำลัง สมาธิตัวนี้ที่เข้าไปเสริม “สติ” สมาธิที่เข้าไปเสริม “ปัญญา” สมาธิที่เข้าไปเสริม “สัมปชัญญะ”
ดังนั้น “สมาธิ” จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก นี่ปัญญามาแล้ว เป็นสัมปชัญญะเผชิญหน้าอารมณ์อยู่แล้ว แต่น้ำหนักยังไม่พอ ต้องเพิ่มสมาธิเข้าไป “สมาธิ” เอามาจากไหน ? มันก็เอามาจากที่เราฝึกไว้ดี ฝึกไว้คล่องแคล่ว
สรุป ธรรมมะ ๔ เกลอ จะมีกระบวนการตั้งแต่ เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น มันต้องมีอะไรไปหยิบเอามา สิ่งนั้นคือ “สติ” สติ ๆๆๆ สติมันระลึกได้ จึงไปขนเอา “ปัญญา” ที่ถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์มา ครั้งปัญญาถูกสติหยิบเอามาใช้เฉพาะเหตุการณ์ให้ตรงกับเรื่องราวแล้ว จึงมีชื่อเรียกใหม่ว่า “สัมปชัญญะ” ถ้าสัมปชัญญะมีกำลังน้อยๆ น้อยไป ก็เอากำลังของ “สมาธิ” มาเพิ่มให้ ให้สมาธิเพิ่มกำลังแก่สัมปชัญญะ ไอ้ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมหรือปัญญานั้นมันก็มีแรงมาก มีแรงมาก มันจึงจะสามารถขจัดปัญหาที่เกิดมาแต่อารมณ์นั้นๆ ได้
ดังนั้น ปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากเหตุการณ์นั้นๆ มันก็ถูกระงับไปได้ด้วยอำนาจของปัญญา ที่สมาธิเป็นเครื่องหนุนในทางกำลัง หรือสรุปเอาแบบง่ายๆ สั้นๆ ให้กระชับว่า “มีสติระลึกถึงปัญญาที่มีอยู่เพียงพอ เอาปัญญามาเป็นสัมปชัญญะ สู้หน้ากับเหตุการณ์ แล้วเพิ่มกำลังจิตคือสมาธิให้มัน”
สติกับปัญญามันจะเกี่ยวข้องกันตลอดน่ะ แล้วก็ตั้งมั่นอยู่กับสมาธิ สติสัมปชัญญะถึงเป็นตัว 'ศีล' ถึงเป็นตัว 'สมาธิ' ถึงเป็นตัว 'ปัญญา' น่ะ เค้าจะได้ชัขับเคลื่อนชีวิตจิตใจของเราสู่คุณธรรม บางคนไม่รู้การปฏิบัติน่ะ ปล่อยโอกาสปล่อยเวลาไปโดยไม่เจริญสติสัมปชัญญะ จิตใจของเราจึงไม่มี "พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน"
ถ้าใจของเราสงบ สติสัมปชัญญะสมบูรณ์น่ะ มันมีค่า มีราคากว่าทรัพย์ภายนอก เพราะนี้มันคือ 'อริยทรัพย์ ทรัพย์ภายใน' ทรัพย์ที่จะนำเราสู่มรรคผลพระนิพพานน่ะ มันข้ามพ้นสวรรค์ไป เพราะสวรรค์มันมีการเวียนว่ายตายเกิดน่ะ
ให้ทุกท่านทุกคนมีกำลังใจ มีความพอใจ อย่าไปคิด ว่าถ้าละความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้วชีวิตนี้มันจะหมดรสหมดชาติ อย่าไปคิดอย่างนั้น...!
คิดอย่างนั้น คือ คนไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับแห่งทุกข์ พากันสร้างปัญหา สร้างภพ สร้างชาติให้ตนเองอย่างนั้นไม่ถูกต้อง "ชีวิตนี้ก็เสียชาติเกิด ที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์" ทุกคนต้องทำได้ปฏิบัติได้
'หัวใจ' เราทุกคนน่ะต้องมี 'พระนิพพาน' เป็นที่ตั้ง... จุดมุ่งหมาย คือ พระนิพพาน คือ การไม่เวียนว่ายตายเกิด อย่าให้เงินทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ มันซื้อหัวใจเราได้ ทำไมถึงให้ซื้อไม่ได้ล่ะ...?
เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ คือการเวียนว่ายตายเกิด ต้องเป็นตัวของตัวเอง ต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ บุคคลที่หาได้ยาก ก็คือบุคคลที่เงินซื้อหัวใจไม่ได้ ลาภ ยศ สรรเสริญซื้อหัวใจไม่ได้ ความร่ำความรวยซื้อหัวใจไม่ได้พระพุทธเจ้าท่านเป็นตัวอย่างนะ ที่ท่านมีความสุข มีความดับทุกข์ที่สุดในโลก ไม่มีอะไรที่จะซื้อหัวใจของท่านได้ "ซื้อ ก็หมายถึงว่าให้รางวัลนะ"
ลาภ ยศ สรรเสริญ ข้าวของเงินทองน่ะ เค้าเรียกว่ามันให้รางวัลเรา มันให้ค่าจ้างเรา เพื่อให้เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฎสงสารนะ มันเป็นความเพลิน มันเป็นความหลง มันเป็นการผูกใจสัตว์โลกให้หลงอยู่ในวัฏฏสงสาร
จะมีประโยชน์อะไรล่ะ... เราหาอยู่หากินตั้งแต่เด็กๆ สุดท้ายเราก็แก่...เราก็เจ็บ...เราก็ตาย ไม่ได้อะไรเลย... ทุกอย่างลำบากเพราะเราหลงเหยื่อ เราคิดดูแล้วก็สมเพชเวทนาตัวเองนะ 'การเวียนว่ายตาย' เกิดนี้... มันเป็นเรื่องสลดใจ ต้องพลัดพรากจากพี่จากน้อง จากพ่อจากแม่ไปหาเหยื่อในสถานที่ต่างๆ แล้วก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย แล้วก็ไม่ได้อะไร เราพากันคิดดีๆ พากันทบทวนตัวเองดีๆ น่ะ พระพุทธเจ้าก่อนที่ท่านจะตรัสรู้น่ะ ท่านเข้าฌาน "บุพเพนิวาสานุสติญาณ" ระลึกชาติในการเวียนว่ายตายเกิดของตัวเองและสัตว์โลก เป็นที่สลดสังเวชมาก เราทั้งหลายที่หลงเหยื่อ พากันเพลิดเพลินอยู่น่ะ ต้องมาหยุดต้องมาตัดนะ มาปรับตัวเองเข้าหา 'ธรรมะ' ไม่ทำตามความอยาก... ความต้องการ... ถึงเรียกได้ว่าเป็นผู้มี 'สัมมาทิฏฐิ' มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องอย่างนี้
ขอเล่าถึง วาระสุดท้ายของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีป่วยหนักสองครั้ง (เท่าที่ปรากฏในพระไตรปิฎก)
ครั้งแรกท่านป่วยหนัก นึกถึงพระสารีบุตรเถระ จึงส่งคนไปนิมนต์ท่านไปยังนิเวศสถานของตน ขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟังเพื่อบรรเทาทุกขเวทนา เพราะอาการไข้กำเริบ สุดจะอดกลั้นเวทนาไว้ได้ สงสัยไม่รอดแน่ๆ
พระสารีบุตรอัครสาวกได้แสดงธรรมให้ฟังว่า ท่านคหบดี ท่านจะร้อนใจไปทำไม คนอย่างท่านเป็นคนเลื่อมใส มั่นคงในพระรัตนตรัย ถึงพร้อมด้วยศีล มีสัมมาทิฐิ ประกอบสัมมากัมมันตะ (การทำงานชอบ) ประกอบสัมมาอาชีวะ (อาชีพสุจริต) มีสัมมาวายามะ มีสัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ (ความหยั่งรู้ชอบ) และสัมมาวิมุตติ (ความหลุดพ้นชอบ) จะเดือดร้อนทำไม
ท่านกล่าวต่อไปว่า ปุถุชนมีกิเลสหนา ที่ไม่เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ไม่มีศีล มีมิจฉาทิฐิ มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ มิจฉาญาณะ (การหยั่งรู้ผิด) และมิจฉาวิมุติ (การหลุดพ้นผิด)
คนเช่นนี้ตายไปแล้วย่อมเข้าถึงอบาย ทุกคติ วินิบาต นรก ส่วนความไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยเช่นที่ว่านั้น ไม่มีแก่ตัวท่าน ท่านมีความเลื่อมใสมั่นคงในพระรัตนตรัย มีศีล ฯลฯ มีสัมมาวิมุติ ก็เมื่อท่านเห็นความดีเหล่านี้ในคน ทุกขเวทนาพึงสงบระงับได้โดยพลัน
พอพระสารีบุตรเทศน์จบลง ทุกขเวทนาของเศรษฐีก็สงบระงับ ท่านจึง “อังคาส” (ถวายภัตตาหาร) แก่พระสารีบุตรด้วยมือ (หมายถึงคอยเสิร์ฟด้วยมือของตน จนพระท่านฉันเสร็จ) เมื่อพระสารีบุตรฉันภัตตาหารเสร็จ ก็ได้กล่าวคาถาอนุโมทนา ความว่า “ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวในพระตถาคต มีศีลอันงามที่พระอริยเจ้าสรรเสริญแล้ว มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นตรง (เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม) บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่าเป็นคนไม่ขัดสน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์)”
ครั้งที่สอง ท่านป่วยหนักอีก ให้คนไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า บัดนี้ท่านป่วยหนัก ลุกไม่ขึ้น ขอน้อมเกล้าฯ ถวายบังคมมา ณ บัดนี้ด้วย กับขออาราธนาพระสารีบุตรไปแสดงธรรมให้ฟัง เพื่อระงับทุกขเวทนา จะได้เป็นการเห็นสมณะเพื่อเป็นทัสสนานุตริยะก่อนละสังขาร พระพุทธองค์ทรงส่งพระสารีบุตรไป พระอานนท์เป็น “ปัจฉาสมณะ” ตามเคย พระสารีบุตรไปแสดงธรรมโดยมีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ ท่านเห็น เวทนาของมหาเศรษฐี เป็นเวทนาชนิดที่มีความตายเป็นที่สุด ไม่มีใครสามารถห้ามได้
พระเถระได้ทักเศรษฐีว่า “ดูก่อนคฤหบดี อัตภาพของท่านพอเป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาของท่านทุเลาลงบ้างไหมหนอ” ท่านเศรษฐีเห็นพระมานั่งอยู่ข้างเตียง ได้ยินเสียงของพระเถระเจ้า รู้สึกปีติใจ ได้กล่าวตอบท่านไปว่า “ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ กระผมทนไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนักเหลือเกิน กำเริบขึ้นเรื่อยๆ อาการเจ็บปวดรุมเร้าไปทั่วทั้งเรือนร่าง ไม่ปรากฏว่าจะทุเลาลงเลย”
“ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ลมเหลือประมาณกระทบขม่อมของกระผมอยู่ เหมือนบุรุษมีกำลังเอาของแหลมคมทิ่มขม่อม กระผมจึงทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก ท่านผู้เจริญ ลมเหลือประมาณเวียนศีรษะของกระผมอยู่ เหมือนกำลังถูกคนขันชะเนาะที่ศีรษะ ลมปั่นป่วนท้องของกระผม เหมือนคนฆ่าโค เอามีดคมๆ มาคว้านท้องให้ทนทุกข์ทรมาน กระผมจึงทนไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว เหมือนตัวเองกำลังเข้าไปสู่ความตายทุกขณะ ท่านผู้เจริญ ความร้อนในกายของกระผมเหลือประมาณ เหมือนถูกย่างในหลุมถ่านเพลิง กระผมจึงรุ่มร้อน ทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบอยู่ตลอดเวลา คงจะมีชีวิตสืบต่อไปอีกไม่นาน”
พระเถระได้ให้กำลังใจท่านว่า “ดูก่อนคฤหบดี ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นเรื่องธรรมดา ความตายต้องย่างกรายเข้ามาหาเราไม่วันใดก็วันหนึ่ง ขอให้ท่านพึงพิจารณาว่า เราจักไม่ยึดมั่นจักษุ และวิญญาณที่อาศัยจักษุจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโสต และวิญญาณที่อาศัยโสตจักไม่มีแก่เรา เราจักไม่ยึดมั่นฆานะ และวิญญาณที่อาศัยฆานะจักไม่มีแก่เรา เราจักไม่ยึดมั่นชิวหา และวิญญาณที่อาศัยชิวหาจักไม่มีแก่เรา เราจักไม่ยึดมั่นกาย และวิญญาณที่อาศัยกายจักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นมโน และวิญญาณที่อาศัยมโนจักไม่มีแก่เรา ดูก่อนคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด”
ท่านเศรษฐีค่อยๆ ปล่อยใจไปตามเสียงของพระเถระ ทำตามคำแนะนำที่ท่านบอกไปเรื่อยๆ พยายามแยกกายกับใจ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย เอาใจหยุดนิ่งอยู่ในกลางให้ได้ตลอดเวลา จะได้ไม่ต้องทุกขเวทนา พระเถระเห็นว่าท่านเศรษฐีตั้งใจที่จะข่มทุกขเวทนาด้วยการฟังธรรม จึงได้แสดงธรรมให้ท่านเศรษฐีปล่อยวางในขันธ์ ๕ ว่า “ดูก่อนคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่าเราจักไม่ยึดมั่นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ กระทั่งวิญญาณที่อาศัยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ จักไม่มีแก่เรา”
พระเถระได้สอนธรรมะที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป ท่านสอนให้พิจารณาเห็นว่า ร่างกายนี้เป็นเพียงแค่ธาตุ และไม่ให้ยึดมั่นในธาตุดิน ธาตุนํ้า ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ให้ปล่อยวางในอรูปทั้ง ๔ คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานัญจายตนะ ให้ปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นในโลกนี้โลกหน้า ให้ใจดวงนี้อยู่กับปัจจุบันธรรมอย่างเดียว อารมณ์ใดที่ได้เห็น ได้ฟัง ได้ทราบ ได้รู้แจ้ง ได้แสวงหา ได้พิจารณาด้วยใจแล้ว อย่าได้ไปยึดมั่นในอารมณ์เหล่านั้น
ขณะที่พระสารีบุตรกล่าวสอนธรรมอยู่นั้น อนาถบิณฑิกคฤหบดีเกิดความปลื้มปีติถึงกับน้ำตาเย็นได้หลั่งออกมา พระอานนท์จึงถามว่า “ดูก่อนคฤหบดี ท่านยังอาลัยในสังขารร่างกายนี้อยู่หรือ” ท่านเศรษฐีบอกว่า “ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ กระผมมิได้อาลัยในสังขารนี้เลย แต่ว่ากระผมได้นั่งใกล้พระบรมศาสดา และหมู่ภิกษุสงฆ์มานาน ไม่เคยได้สดับธรรมิกถาที่ละเอียดลึกซึ้งถึงปานนี้เลย พระเถระช่างมีความกรุณา มีความเมตตามาให้ธรรมะกระผมก่อนจะหลับตาลาโลก ช่างเป็นบุญลาภของกระผมจริงหนอ”
พระสารีบุตรและพระอานนท์ เมื่อกล่าวสอนธรรมะเสร็จแล้ว ก็ถือโอกาสลากลับวัดพระเชตวัน เมื่อพระเถระทั้งสองรูปคล้อยหลังไปได้ไม่นาน ท่านเศรษฐีก็ได้ทำกาลกิริยาไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นเทพบุตรที่มีวิมานสว่างไสว แวดล้อมด้วยเทพบริวารมากมาย
การตายมีด้วยกัน ๔ ประเภท สิ้นอายุ สิ้นกรรม สิ้นทั้งสอง กรรมตัดรอน มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
๑. สิ้นอายุขัย (อายุกขยมรณะ) คือ ตายเพราะสิ้นอายุ ซึ่งเป็นไปตามกฎธรรมชาติของสรรพสิ่งที่เกิดมา กล่าวคือ ทุกสิ่งตกอยู่ในกฎแห่งการเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไป ชีวิตของมนุษย์ที่เกิดมานั้น แม้จะไม่มีโรคภัยหรือเหตุอื่นให้เสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร ก็ดำรงอยู่ได้ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ถ้าจะเปรียบก็คงจะเหมือนชิ้นส่วนอีเลคโทรนิคชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีอายุการใช้งานจำกัดอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อพ้นจากนั้นไป ชิ้นส่วนนั้นก็หมดสภาพ คือไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้ต่อไป ชีวิตของคนเราก็คล้ายกัน นั่นคือมีอายุขัยที่จำกัด นอกจากนี้ อายุขัยของคนเรายังไม่เท่ากัน และเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
การตายแบบนี้อาจเปรียบได้กับตะเกียงที่ไส้หมด แม้น้ำมันจะยังเหลืออยู่ แต่ก็ไม่สามารถจะให้เปลวไฟที่มีแสงสว่างต่อไปได้ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่สนับสนุนและเอื้ออำนวยหลายด้าน เช่นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการแพทย์ สภาพแวดล้อมในการทำงาน และรูปแบบตลอดจนพฤติกรรมการดำรงชีวิตเป็นต้น
๒. สิ้นกรรม (กัมมักขยมรณะ) คือ ตายเพราะสิ้นกรรม กรรมนั้นคือการกระทำซึ่งมีผลสืบเนื่องตามมา (consequences) อาจเป็นกรรมที่ทำในอดีต ซึ่งอาจไกลออกไปจนถึงในอดีตชาติ หรืออาจเป็นกรรมที่ทำในปัจจุบัน เช่น การดูแลอนามัยเป็นต้น และอาจเป็น กุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าการกระทำที่ได้ทำลงไปนั้นเป็นฝ่ายดีหรือไม่ดี กรรมที่ทำไว้นั้นมีหน้าที่ช่วยสนับสนุนรูปและนาม (ชีวิต) ในภพที่เราเกิดมา เมื่อผลกรรมสิ้นไป ชีวิตก็สิ้นไป เปรียบเหมือนตะเกียงที่น้ำมันหมด แม้ไส้ตะเกียงจะยังเหลืออยู่ เปลวไฟและแสงสว่างก็หมดไป
๓. สิ้นทั้งอายุและกรรม (อุภยักขยมรณะ) คือ ทั้งอายุขัยและกรรม สิ้นไปในเวลาเดียวกัน การตายในกรณีเช่นนี้ จะเห็นได้เช่น การตายของผู้สูงอายุที่แก่หง่อม รูปและนาม (ร่างกายและจิตใจ) หมดสภาพ อีกทั้งกรรม คือ การกระทำที่จะเป็นแรงสนับสนุนให้รูปและนามทำหน้าที่ของมัน ก็หมดไป เปรียบเหมือนตะเกียงที่ทั้งน้ำมันและไส้หมดไปด้วยกัน
๔. มีเหตุหรือกรรมอย่างอื่นมาตัดรอน (อุปัจเฉทมรณะ) ทำให้ชีวิตสิ้นไปกะทันหัน ทั้งที่น่าจะอยู่ต่อไปได้ ในกรณีนี้ ทั้งอายุและกรรมยังไม่หมด แต่เกิดเหตุทำให้เสียชีวิตกะทันหัน เช่นการตายด้วยอุบัติเหตุ หรือโรคระบาดเฉียบพลันร้ายแรง ท่านเปรียบการตายในกรณีเช่นนี้เหมือนกับตะเกียงที่ทั้งน้ำมันและไส้ยังคงมีอยู่ แต่ไฟดับไปเพราะเหตุอื่น เช่น มีลมพัดมาแรง (เหตุภายนอก) จนทำให้เปลวไฟดับไป เป็นต้น (เปลวเทียนละลายแท่ง เพื่อเปล่งแสงอันอำไพ ชีวิตมลายไป ทิ้งสิ่งใดไว้ทดแทน)
คนเราเกิดมาคนเดียว เมื่อถึงเวลาตายก็ตายไปคนเดียว ทุกสิ่งทุกอย่างที่มาเกี่ยวข้องนั้นมาจากกรรมสัมพันธ์ทั้งด้านดีและไม่ดี ด้านดีก็มาจากกุศลกรรม ด้านไม่ดีก็มาจากอกุศลกรรม คนเราเมื่อเกิดมาร้องไห้พร้อมกับกำมือไว้แน่นเหมือนเป็นเครื่องหมายบอกว่า เกิดมาเพื่อจะเอา เอาทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อหลับตาลาโลกก็แบมือออกจากไปคนเดียว พระพุทธองค์เคยตรัสไว้ว่า "ไม่ว่าพาล หรือบัณฑิต ไม่ว่ากษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร หรือจัณฑาล ในที่สุดก็ต้องบ่ายหน้าไปสู่ความตาย เหมือนภาชนะไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ในที่สุดก็ต้องแตกสลายเหมือนกันหมด"
ชีวิตของอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นชีวิตของชาวพุทธ (คฤหัสถ์) ตัวอย่าง เรียกว่าเป็น “อุบาสกรัตนะ” (อุบาสกแก้ว) เพราะมีคุณสมบัติล้ำเลิศ ๕ ประการ คือ ๑. มีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย ๒. มีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ ๓. เชื่อกรรมและผลแห่งกรรม ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว ๔. ไม่แสวงหาทักษิณานอกพระพุทธศาสนา (คือไม่ทำบุญนอกหลักการของพระพุทธศาสนา) ๕. อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง
น่าคิดว่า ท่านเป็นนักธุรกิจ แต่ท่านเชื่อมั่นในการทำธุรกิจที่ประกอบด้วยธรรม ค้าขายด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยมั่นคงในธรรม ท่านก็เจริญรุ่งเรืองด้วยโภคทรัพย์ แม้ว่าบางครั้งจะประสบภาวะวิกฤต แต่ก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยความมั่นคงในธรรมเสมอต้นเสมอปลาย ชีวิตของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นตัวอย่างที่พวกเราควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ท่านได้สั่งสมบุญบนโลกนี้คุ้มเกินคุ้ม ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านจึงได้ถูกจารึกไว้เป็นตำนานเล่าขานมานานกว่า ๒,๕๐๐ ปี ว่าเป็นยอดพุทธอุปัฏฐากฝ่ายอุบาสก เมื่อถึงคราวหลับตาลาโลก แม้สังขารร่างกายจะถูกโรครุมเร้า ต้องได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส ก็สามารถเอาชนะได้ด้วยธรรมโอสถ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee